แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพรท่านกงสุลใหญ่ ประเทศไทยประจำนครชิกาโก พร้อมทั้งคุณนาย ญาติโยมสาธุชนผู้อุปถัมภ์วัดธัมมาราม และชาวเมือง ทั้งเมืองชิคาโกและเมืองใกล้เคียงทุกท่าน แม้แต่ท่านที่บังเอิญ เดินทางมาจากประเทศไทย วันนี้อาตมาภาพได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนวัดธัมมารามอีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลาที่ค่อนข้างถี่หน่อยคราวนี้ คือว่าปีเดียวได้มาอีกแล้ว ไม่เหมือนยุคก่อนๆนั้นที่ว่า บางทีเว้นตั้ง 11 ปีจึงได้มา มาช่วงสามปีนี้มาทุกปี ถือว่ามาเยี่ยมเยียนทั้งวัดและญาติโยม แม้เวลาจะล่วงไปนาน โยมหลายท่านซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์วัดแต่เดิมมา ก็ยังมาช่วยเหลืองานของวัดกันอยู่ อย่างเข้มแข็งมั่นคง กิจการของวัดก็เจริญงอกงามขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลักฐานก็คือ อาคารสถานที่ ซึ่งมีทั้งพร้อมเช่น อาคารศาลาเอนกประสงค์ที่ได้สร้างเสร็จ ฉลองไปแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถก็ได้ทรงเสด็จเปิด ก็ได้ทราบว่าได้พระราชทานพระนามไว้ ทำให้ศาลาของวัดนั้นมีพระนามเป็นเกียรติยศสืบไป คือพระนามว่าสิริกิต ซึ่งเป็นศาลาเอนกกประสงค์ ซึ่งทำให้งานของวัดดำเนินไปด้วยดี แต่ก็ไม่ได้หมายว่ามีเฉพาะอาคารเท่านั้น อาคารนี้เป็นที่รองรับกิจการ อาคารต่างๆ ชื่อว่าเป็นศาสนากิจของวัดเนี่ย เจริญก้าวหน้ามาเรื่อยๆ ทั้งด้านการเผยแผ่ และการศึกษาเล่าเรียน และการปฏิบัติธรรม อาศัยสถานที่เหล่านี้ ทั้งสองอย่างนี้ดำเนินการไปด้วยดี เกื้อกูลซึ่งกันและกัน อาคารต่างๆนั้นเป็นรูปแบบภายนอก จะมีความหมายขึ้นมาก็เพราะว่า มีเนื้อหาที่บรรจุอยู่ก็คือ สิ่งที่เรียกว่ากิจการเกี่ยวกับธรรมะดังทีว่าไปแล้ว จะเป็นการศึกษาเล่าเรียน หรือการปฏิบัติหรือการเผยแผ่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้แหละเป็นเนื้อที่ ถ้าเรามีแต่อาคารเปล่าๆก็คงไม่มีประโยชน์อะไร ทีนี้กิจการต่างๆที่ดำเนินไปได้ด้วยดีนั้น ก็ต้องอาศัยพุทธบริษัทร่วมกัน ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายญาติโยม ฝ่ายพระสงฆ์นั้นก็เป็นเหมือนแกนกลางที่จะปฏิบัติศาสนากิจให้เป็นไปได้ และฝ่ายญาติโยมก็เป็นอุปถัมภ์มาร่วมช่วยเหลือกิจการ ตลอดจนกระทั่งมาใช้วัดให้เป็นประโยชน์ ใช้วัดให้เป็นประโยชน์เนี่ยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าวัดเกิดประโยชน์ขึ้นมาก็สมตามที่พระพุทธเจ้าทรงพระประสงค์เพราะว่าพระพุทธศาสนานี้มีไว้เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน คือย้ำบ่อยๆว่า จะได้มีเพื่อตัวพระศาสนาเอง เราไม่ได้ทำให้พระศาสนาเจริญงอกงามรุ่งเรืองแล้วก็มาภูมิใจว่าพระศาสนานี้เจริญ การที่พระศาสนาเจริญนี้ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อความสุขของประชาชน พระพุทธเจ้าจะตรัสอยู่เสมอ พุทธพจน์ ทุกช่วงระยะเวลาที่ตรัสเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในพระศาสนา เช่น ตรัสเกี่ยวกับเหตุการณ์สังคยานาว่า สังคยานาก็คือการร้อยกรองตรวจชำระพระธรรมวินัย ทำไปเพื่ออะไร ก็เพื่อให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ มั่นคงยั่งยืน แล้วพระศาสนาดำรงอยู่มั่นคงยั่งยืนเพื่ออะไร เพื่อ พหุชนะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ เพื่อประโยชน์สุขแด่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์แก่ชาวโลก อันนี้เป็นจุดหมายที่แท้จริงของพระศาสนา เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าพระศาสนาไม่ได้มีเพื่อตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทีนี้เราก็ ใช้วัดให้เป็นประโยชน์อันนี้เป็นสำนวนชาวบ้าน ก็คือพระศาสนาจะได้เป็นประโยชน์สมตามพุทธประสงค์ดังที่ได้กล่าวมา อาตมาภาพได้เดินทางมาเยี่ยมเยียน เท่ากับว่าได้เห็นความเจริญมั่นคงของวัดที่มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นตามกาลเวลา การมาครั้งนี้ท้าวความนิดหน่อย ตัวเองนี้ก็ไม่ได้มีศาสนกิจอะไรพิเศษ ที่ได้เดินทางมา เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากปีก่อนๆ ก็คือมีโยมนิมนต์มาเกี่ยวกับเรื่องการตรวจโรคตั้งแต่ปีก่อน สามปีล่วงมาแล้ว ก็คือคุณหมอสุนทร และโยมคุณประจวบ สีหงส์ คุณหมอสุนทรก็เป็นอดีตสมาคมแพทย์ไทยในอเมริกา เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมแพทย์ไทยในอเมริกา ท่านก็เกษียณแล้ว เดินทางไปมาระหว่างไทยและอเมริกา รู้จักกันมาตั้งแต่อาตมามาอเมริกาเที่ยวแรก เมื่อปีพ.ศ.2515 ก็นานมากแล้ว 24 ปี ตอนหลังนี้ตอนที่ท่านเกษียณแล้วท่านไปเมืองไทย ว่างจากภารกิจก็เลยได้มีโอกาส ได้พบปะกันบ่อยขึ้น และนิมนต์มาเนื่องจากมีโรคภัยไข้เจ็บ ทีนี้ที่เมืองคาพอยต์นี้ก็มีแพทย์ไทยมากท่าน และก็เป็นผู้มีศรัทธา ก็เลยนิมนต์มาตรวจที่เมืองคาพอยต์ที่อยู่ในรัฐอินเดียนา แต่อยู่ใกล้เขตติดต่อกับรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งก็ใกล้เมืองชิคาโก้ด้วย ก็มาพักอยู่ที่บ้านคุณหมอสุกรี และคุณหมอหน่อย ซึ่งปีนี้ก็ได้นิมนต์มาเช่นเดียวกันว่า ถึงปีแล้ว ท่านควรจะมาตรวจทบทวนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่ตรวจในปีที่แล้ว อันนี้ก็เป็นเหตุให้เดินทางมา พอมาถึงที่นี่แล้ว ประการหนึ่งก็ใกล้กับวัดธัมมาราม เมืองคาวพอยต์ อยู่ไม่ไกลดังกล่าวมาแล้ว และประการที่สองก็คือ มีความคุ้นเคยกันมาแต่เดิม ที่ว่าอาตมาเคยมาที่นี่ สมัยก่อนนี้ก็ มาหลายครั้ง ตอนนี้ก็อาจจะถึงเจ็ดครั้งเข้าไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงแรกที่ตั้งวัดใหม่ๆ เมื่อพ.ศ.2519 2520 นั้น อาตมาก็เคยมาพักอยู่ที่วัดธัมมาราม สมัยยังอยู่ในสถานที่ตั้งแห่งเก่า คือที่???? พักอยู่เป็นเวลาประมาณครึ่งปีก็ได้ร่วมกิจการงานของวัด ก็มีความคุ้นเคยกับพระสงฆ์และญาติโยมด้วย อันนี้ก็เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่เมื่อทางวัดได้ทราบ ทางคณะสงฆ์ท่านก็มีน้ำใจ ไปนิมนต์มา โดยเฉพาะท่านเจ้าคุณศรีวีรวงศ์ ท่านมีน้ำใจมาก เพียงแต่ว่าโทรศัพท์ไปบอกว่านิมนต์มา อาตมาก็คงต้องมาอยู่แล้ว ทีนี้ท่านมีน้ำใจมากเสียสละเดินทางไปที่อาตมาพัก ไปนิมนต์ด้วยตัวเอง อันนี้ก็ต้องขอบคุณในน้ำใจของท่านในนามของคณะสงฆ์ วัดธัมมารามเป็นอย่างยิ่ง ทีนี้เมื่อมาเยี่ยมเยียนกันอย่างนี้แล้ว มาพบปะพร้อมๆกัน นอกจากจะได้ถวายภัตตาหารเพลแล้วก็เลยนิมนต์ให้แสดงธรรมด้วย แสดงธรรมนี้ก็มาทุกครั้งก็มาแสดงกันแต่ละครั้งก็ แล้วแต่จะหาเรื่องมาพูด คราวนี้อาตมาก็นึกว่าจะพูดเรื่องอะไรดี โยมบางท่านก็อยากจะให้พูดเรื่องการเมืองไทย อาตมาก็นึกดูว่า ทางเมืองไทยก็การติดต่อกับที่วัดนี้ก็มีอยู่เสมอ พระสงฆ์ของเราก็ไปมาบ่อยๆ ก็คงจะไม่ขาดข่าวสารข้อมูลอะไร ก็อาจจะมีการพูดได้ในบางเรื่องบางแง่ แต่ว่าเวลาพูดไปบางทีก็กลายเป็นปรับทุกข์กันก็มี อย่างเมื่อเช้านี้คุณหมอท่านรองประธานมาคุย คุยไปได้สักครู่กลายเป็นเรื่องปรับทุกข์ ก็เลยว่า อย่าไปพูดเลย วันนี้เอาเรื่องธรรมะดีกว่า ทีนี้เอาเรื่องธรรมะอะไรดี อาตมาก็มานึกถึงว่า ในปัจจุบันนี้ ในเมืองฝรั่งประเทศอเมริกานี้เอง คนเขาก็สนใจในพุทธศาสนามากขึ้น แต่ที่อาตมาได้ทราบด้วยตัวเองก็ดี หรือได้สดับตรับฟังกับการที่มาพบปะพระสงฆ์ญาติโยมที่นี่หรือแม้กระทั่งญาติโยมที่เป็นฝรั่ง ต้องบอกว่าคนเมืองนี้สนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น ทีนี้จุดสนใจอย่างหนึ่งก็คือเรื่องสมาธิ เรื่องสมาธินี้ฝรั่งสนใจกันมานานแล้ว ในเมื่อฝรั่งสนใจพุทธศาสนาและสนใจเรื่องสมาธิ มาในฐานะชาวพุทธที่ใกล้ศูนย์กลาง ใกล้คำสอน ใกล้สถานบันพระศาสนา คือใกล้วัดวาอาราม ใกล้พระสงฆ์มากนี้ ก็น่าจะมีความรู้เป็นหลักแก่เขาได้ อย่างน้อยก็คือว่า รู้ทันความเป็นไปแล้วก็รู้เข้าใจสิ่งที่เขาสนใจ เผื่อมีอะไรเกี่ยวข้องก็จะได้แนะนำเขาถูก ถ้าเขาเข้าใจผิดก็จะได้แก้ไข ชี้แจงแนะนำไป หรือแม้แต่ว่าตัวเองเข้าใจให้ถูกต้อง ก็เลยมาคิดว่า วันนี้ก็มาพูดกันเรื่องสมาธินิดหน่อย พูดกันในแง่ของหลักการทั่วๆไปกว้างๆ เวลาเราพูดถึงคำว่าสมาธิเนี่ย คำฝรั่งที่เรามักจะได้ยิน ที่เขาใช้สำหรับสมาธิ โยมมักจะนึกถึงคำว่า Meditation คำว่า Meditation ก็ใช้กันเกร่อเลย แต่ความจริงคำว่า Meditation มันไม่ใช่คำแท้จริงสำหรับสมาธิ เป็นคำที่มีความหมายคลุมเครือมากนะ เป็นคำภาษาอังกฤษที่มีมาแต่เก่าก่อน ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยก็คล้ายๆคำว่าความครุ่นคิดพิจารณา ซึ่งก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่าครุ่นคิดพิจารณาอย่างไร เวลาคำว่าสมาธิของเราเข้ามานี้ก็ ไม่รู้จะใช้คำอะไรก็ใช้คำว่า Meditation ไปก่อนเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นมันก็ไม่สามารถสื่อความหมายที่แท้จริงได้ ทีนี้คำว่าสมาธิ ความหมายที่แท้ของเรานี้ ฝรั่งเขาไม่มีการปฏิบัติแบบนี้ เคยคุยกับโปรเฟสเซอร์อเมริกันที่สอนพุทธศาสนาในประเทศอเมริกา ท่านก็บอกว่าในประเทศนี้ หรือเมืองฝรั่งนี้ ไม่มีหรอก สมาธิในความหมาย ที่ฝึกกันพุทธศาสนา มีอย่างใกล้เคียงที่สุดก็น่าจะดูได้จากศาสนาคริสต์นิกายเกรกเกอร์ พวกเกรกเกอร์เนี่ยเขามีการมาประชุมกัน เขาไม่ได้มีการทำ การสวดการอะไรของนิกายอื่น เขามาประชุมกันในโรงประชุมของเขา ซึ่งเขาไม่เรียกว่าเชิญด้วยซ้ำ แล้วก็มานั่งนิ่งๆ นั่งกันไปแล้วก็ให้สงบๆ ใครมีความคิดอะไรผุดขึ้นมาในระหว่างที่กำลังนั่งกันอยู่นั้น ก็ให้คนนั้นลุกขึ้นมาพูดเลย พูดถึงความคิดของตัวเองที่ผุดขึ้นมา อันนี้เขาก็เป็น Meditation ของเขา บอกว่าเนี่ย จะเรียกสมาธิของฝรั่งคล้ายๆกับมีอย่างนี้ ซึ่งถ้าเทียบกับทางพุทธศาสนาแล้วยังไม่ใช่เลย ต่อมาฝรั่งที่ใช้ภาษาอังกฤษมาศึกษาพุทธศาสนา รู้เข้าใจหลักธรรมะดีขึ้น และวงการชาวพุทธเองที่ใช้ภาษาอังกฤษ ก็ได้ตกลงกันว่า สำหรับคำว่าสมาธิ ซึ่งเป็นข้อธรรมสำคัญในพุทธศาสนานี้ เราก็ให้ศัพท์ที่ใช้ที่ตรงลงไปมากกว่า คำว่า Meditation ก็คือคำว่า Concentration คำนี้เป็นคำแปลสำหรับคำว่าสมาธิ ทำไมจึงใช้คำว่า Concentration เป็นคำภาษาอังกฤษสำหรับคำว่าสมาธิ เดี๋ยวค่อยพูดกันต่อไป ทีนี้คำว่า Meditation นั้น ก็มีความโน้มเอียงอันหนึ่งว่า เป็นการใช้แบบกว้างๆ ก็เลยเอาไปใช้กับคำว่าภาวนา คำว่า Meditation ก็เป็นอันว่าเดี๋ยวนี้ มักจะใช้สำหรับคำว่า ภาวนา ซึ่งก็ไม่ได้ตรงทีเดียวหรอกเพราะคำว่าภาวนานั้นมันแปลว่าการเจริญ หรือการทำให้เพิ่มพูนขึ้นมา หรือแปลตรงศัพท์ว่าทำให้มีให้เป็น สภาพจิตที่ดีคุณธรรมที่ดี ในจิตใจของเรายังไม่มีก็ทำให้เป็นให้มีขึ้นมาอย่างนี้เรียกว่าภาวนา จะศรัทธายังไม่มี ทำให้มีขึ้นมา เมตตายังไม่มีทำให้มีขึ้นมา อะไรต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ดี ทำให้มีขึ้นมา แม้แต่สมาธิยังไม่มีทำให้มีขึ้นมา ก็เรียกว่าภาวนา หรือปัญญาความรู้ความเข้าใจ ยังไม่มีทำให้มีขึ้นมา ทำให้เป็นขึ้นมาก็เรียกว่าภาวนา นอกจากทำให้มีให้เป็นแล้วก็ทำให้เพิ่มพูนขึ้นไปด้วย ในภาษาไทยเราก็แปลภาวนาว่าเจริญ เช่นว่า เจริญเมตตา ก็เรียกว่า เมตตาภาวนา เจริญสมาธิก็เรียกว่าสมาธิภาวนา เจริญวิปัสสนาก็เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา เจริญปัญญาก็เรียกว่าปัญญาภาวนา คำว่าภาวนาก็แปลว่าเจริญ ฝรั่งแปลอีกนัยหนึ่ง แปลให้ตรงแท้ เขาแปลว่า Development แปลคำว่าภาวนาว่า development ศัพท์เหล่านี้มันเป็นการใช้แบบว่า บางทีไม่ลงตัวแน่นอน อย่างที่ว่าไปแล้ว ภาวนาหรือการเจริญในทางจิตใจทางปัญญานี้ รวมแล้วก็มีสองด้าน ที่สำคัญ ที่เรารู้กันมาก เราเรียกว่า กรรมฐาน การเจริญกรรมฐาน ก็มีสายสมถะ สมถะก็ทำจิตให้สงบ ก็เรียกกันว่าสมถะภาวนา แล้วก็อีกด้านหนึ่งก็คือว่า เจริญปัญญา ทำปัญญาให้เกิดขึ้นมาให้รู้แจ้ง ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงและเป็นไปตามเหตุปัจจัย การรู้ความจริงนี้เรียกว่าวิปัสสนา ก็เลยมีภาวนาใหญ่ๆ ที่เป็นหลักอยู่สองอย่าง คือสมถะภาวนา เจริญสมถะทำจิตใจให้สงบมุ่งให้เกิดสมาธิ แล้วก็เจริญวิปัสสนาทำปัญญา ความรู้ เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย โลกและชีวิตเนี่ยให้เกิดขึ้น เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา บางทีก็ใช้คำว่า Meditation เนี่ย เอาละ ใช้แทนคำว่าภาวนาก็มี meditation สองแบบ สำหรับสมถะภาวนานี้ก็ใช้ไปว่า tranquility meditation หมายถึงว่าการทำให้ความสงบเกิดขึ้น tranquility แปลว่าความสงบ บางทีก็ใช้คำว่า clam คือความสงบเนี่ยแหละ หมายถึงสมถะ มุ่งที่ตัวสมาธิ อีกด้านหนึ่งก็วิปัสสนาภาวนา วิปัสสนาในที่นี้เขาใช้คำว่า insight แปลว่าการหยั่งรู้หยั่งเห็น insight development ก็แปลว่าการเจริญวิปัสสนา ตอนนี้ก็ เอาคำว่า meditation มาใช้ในความหมายของภาวนาก็แบ่งเป็นสองอย่างนี้ อันนี้เป็นตัวอย่างของการเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องศัพท์แสงซึ่งต้องให้โยมแน่ใจทำใจไว้ก่อนว่ามันไม่ได้ลงตัวนะ อย่างที่ว่านี้ นี่เป็นความนิยมอย่างหนึ่ง แต่เป็นอันว่าให้รู้ว่า คำว่า meditation นี้เป็นศัพท์นี่ไม่ชัดเจน แล้วแต่ว่าเราจะไปตกลงว่าจะเอาอย่างไรมาใช้อย่างไร ตอนนี้มีความโน้มเอียงว่า ให้มาใช้กับคำว่าภาวนาแล้วก็แบ่งเป็นสองอย่าง เป็น meditation สองแบบ เป็น tranquility meditation เป็นการเจริญความสงบเรียกว่าสมถะภาวนา กับเรื่องของ insight meditation การเจริญเรื่องของปัญญาหยั่งรู้หยั่งเห็น เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา ส่วนตัวสมาธินั้น ก็นิยมให้ใช้จำกัด จำเพาะลงไปว่า concentration พอเห็นคำว่า concentration ภาษาอังกฤษนี้จะชัดขึ้นมา เราจะศึกษาอะไรเราจะพิจารณาอะไร จิตต้อง concentrate ก็หมายความว่า ต้องแน่วแน่ ต้องมุ่งแน่วปักลงไปที่สิ่งนั้น ถ้าไม่ concentrate แล้วมันจะเข้าใจมองเห็นสิ่งนั้นได้ยาก มันจะไม่ชัดเจน ความหมายนี้จะใกล้เข้ามา ทีนี้เราดูสมาธิของเรา สมาธินั้นก็แปลง่ายๆว่า ความมีจิตตั้งมั่น พุทธศาสนิกชนก็จำแม่นทีเดียว อย่างในองค์ของมรรค สัมมาสมาธิแปลว่าจิตตั้งมั่นชอบ จิตตั้งมั่นเป็นอย่างไร จิตตั้งมั่นก็หมายความว่าจิตนี้เรียบสม่ำเสมอ จับอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มั่นคง อยู่กับสิ่งนั้นเดินเรียบ ไม่วอกแวก ไม่กระสับกระส่ายกระวนกระวาย อยู่ตัวเลย จิตที่ลงตัวแน่วแน่ ถ้าจะพิจารณาคิดเรื่องออะไรก็อยู่กับสิ่งนั้นสิ่งเดียว สิ่งอื่นเข้ามาไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าสมาธิ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็บอกว่า การที่จิตของเรานี้อยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ แค่นี้แหละแล้ว โยมเอาง่ายๆอย่างนี้พอแล้ว บอกว่าสมาธิเนี่ยก็คือจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ ทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็แสดงว่าสมาธิเกิดขึ้น แต่ว่าถ้าแปลตามภาษาเป็นวิชาการก็จะบอกอย่างที่ว่าเมื่อกี้ บอกว่าความมีจิตตั้งมั่น คือจิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว ก็ต้องอธิบายอีก มีอารมณ์หนึ่งเดียวเป็นอย่างไร หมายความว่า จะคิดจะกำหนดจะจับอยู่กับเรื่องใดก็อยู่กับเรื่องนั้น ไม่ฟุ้งซ่านหลุดลอยไปเรื่องอื่น ให้ใจอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ทีนี้จะให้เข้าใจเรื่องสมาธิดีนี่ อาตมาว่า เราไม่ต้องพูดความหมายกันมากมาย เอาในแง่คุณประโยชน์ แล้วเวลาพูดถึงคุณรปะโยชน์แล้วจะมองเห็นความหมายชัดขึ้น ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิเนี่ย จะมีสำคัญๆ สามประการ ซึ่งเป็นประโยชน์ของมันด้วย เรามาดูว่าทางหลักการของพระศาสนานั้นกล่าวถึงคุณลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิอย่างไร เอาที่เป็นหลักสำคัญสามประการ ประการที่หนึ่งก็คือว่าจิตที่มีสมาธิเนี่ย เป็นจิตที่มีกำลัง เรียกว่ามีพลังมาก เอาคำเปรียบเทียบของพระพุทธเจ้าเลย ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า เหมือนอย่างว่า คนบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเนี่ย เอาน้ำใส่ถังขึ้นไปถังหนึ่ง พอแบกพอหามขึ้นไปไหว ก็ขึ้นไปบนยอดเนิน แล้วพอถึงยอดเนินแล้วก็สาดโครมลงไป ไม่ได้กำหนดทิศทางเรียกว่าสาดส่งๆไป น้ำที่สาดไปทั้งถังซึ่งมากพอสมควร กระจัดกระจายปรากฏว่าหายไปไหนหมดไม่รู้ แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย น้ำหมดไปเปล่าๆ ต่อมาเปลี่ยนวิธีใหม่ คนๆเดียวกันเนี่ย เอาน้ำขึ้นไปอีกถังหนึ่ง ถังเท่ากันเอาถังเดิมใส่น้ำขึ้นไปเลย เท อย่างมีจุดมุ่งหมาย มีทิศทาง เทลงในท่อ ในร่องหรือในราง ปรากฏว่าน้ำนั้นวิ่งแล่นไหลลงไปอย่างแรง ตามท่อตามทาง ที่เป็นทิศทางเดียวกันนั้น ปรากฏว่ามีกำลังแรงมา สามารถพัดพาสิ่งที่ขวางหน้าเช่นกิ่งไม้ใบไม้ไปได้ อันนี้เป็นคำอุปมาเรื่องจิตที่เป็นสมาธิที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเอง กรณีที่ 1 ที่ว่าขึ้นไปยอดเขาแล้วเอาน้ำสาดโครมลงมาไม่มีทิศทางก็เหมือนจิตของคนธรรมดาที่ไม่มีสมาธิ มันฟุ้งซ่าน มันไม่มีทิศทาง ฉะนั้นมันกระจัดกระจายหมด ไม่มีกำลัง หายไปหมด ทีนี้น้ำที่เทลงไปในร่องในรางหรือในท่อที่มีกำลังไหลไปในทางเดียวนั้น ก็เปรียบเหมือนจิตที่เป็นสมาธิ มีกำลังมาก เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นสมาธินี้ คุณสมบัติที่สำคัญประการที่หนึ่งก็คือมีกำลัง อุปมาสมัยหลังอย่างหนึ่งเขาบอกว่า เหมือนเรามีแว่นขยาย โยมพอรู้จักเลนส์นูนดี ที่ใช้ส่องขยายดูสิ่งต่างๆเช่นหนังสือให้ตัวโตขึ้นเนี่ย ถ้าเราเอาไปส่องในแสงแดด เอาไปรับแสงแดดเนี่ยนะ มันจะมีจุดโฟกัสแล้วอาจจะแรงพอทำให้เกิดไฟไหม้ได้ แดดที่ร้อน เหมือนอย่างกับจิตของเราที่เป็นสมาธิเนี่ย มันมีจุดรวมทำให้มีพลังเข้มแขง นี่เป็นอุปมาในแง่ของสมาธิในแง่ของพลังจิต นี่เป็นคุณสมบัติ ทีนี้ต่อไปคุณลักษณะที่สองของจิตที่เป็นสมาธิ ท่านเปรียบอีก ใช้วิธีเปรียบเทียบ เปรียบเหมือนว่าโยมไปตักเอาน้ำมาจากที่หลุมน้ำแห่งหนึ่งที่ขังอยู่ ซึ่งน้ำในนั้นยังขุ่นมัว เพราะว่ามันเป็นที่ที่สาธารณะคนเดินไปเดินมา มีความกระฉอกมีความหวั่นไหวอะไรต่างๆ เดี๋ยวก็ถูกสิ่งนั้นลงไปพัดพา มันก็ขุ่นมัว ทีนี้เราเอาภาชนะเช่นแก้วน้ำใหญ่ๆไปตักมา แล้วเอามาวางบนพื้นที่แน่นหนา นิ่งสนิท แล้วก็ไม่มีลมพัดไหว ไม่มีลมพัดทำให้ผิวน้ำพลิ้วไป ต่อมาน้ำที่นิ่งสนิทนี้ ก็จะปรากฏว่าค่อยๆใสขึ้น เพราะอะไร เพราะว่า ตะกอนที่มันขุ่นมัว ฝุ่นละอองดินอะไรต่างๆที่ละลายปนอยู่ มันก็จะนอนลงไป นอนก้นหมด พอตะกอนนอนก้นหมด น้ำก็ใสแจ๋วเลย จิตของเราก็เหมือนกัน มันมีอารมณ์อะไรต่างๆ อยู่ในใจมากมาย แล้วใจของเราวอกแวกหวั่นไหว ส่ายไปโน่นส่ายไปนี่อยู่เรื่อย มันไม่ได้อยู่นิ่ง สิ่งที่กวนอยู่นี้มันก็ขุ่นข้น มันก็ไม่ใส มันก็เป็นที่ว่าเศร้าหมองขุ่นมัวไป ลักษณะที่เศร้าหมองขุ่นมัว ก็ทำให้มองเห็นอะไรไม่ชัด ทีนี้พอจิตของเราเป็นสมาธิ เราจะสามารถเอาจิตของเราเนี่ย อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ต้องการได้ สิ่งอื่นๆที่มันคลุ้งคละ ไหลไปมา อะไรขุ่นมัวเนี่ยมันก็ตกตะกอน มันก็หายหมดนั่นเอง มันก็ไม่บัง มีสิ่งเดียวที่เราต้องการเหลืออยู่ สิ่งอื่นนั้นลงไปหลบนอนก้นหมด ไม่มีอะไรมาบัง พอไม่มีอะไรมาบัง เราก็มองเห็นสิ่งที่เราต้องการดูชัดเจน เหมือนน้ำก็ใสเลย นี่คือคุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธิประการที่สอง เหมือนน้ำที่ใสเพราะว่ามันนิ่งสงบ จะทำให้เรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน อันนี้เกื้อกูลต่อปัญญา ประการที่ 2 ต่อไปประการที่สาม ก็มาจากหนึ่งสองนี่แหละ พอจิตของเราสงบไม่มีอะไรกวน ไม่มีอะไรวุ่นวาย จิตของเราก็ไม่กระสับกระส่ายไม่วอกแวกไม่กระวนกระวาย มันสงบ พอสงบไม่มีอะไรกวนมันเป็นอย่างไร มันก็สุขใช่ไหม ดังนั้นพอคนที่มีจิตเป็นสมาธิก็สงบและมีความสุข อันนี้เป็นคุณสมบัติที่น่าปรารถนาอีกประการหนึ่ง อันนี้เป็นคุณสมบัติหลักๆสำคัญของจิตที่เป็นสมาธิสามประการ ถ้าดูจากนี้แล้ว เราจะเห็นเลยว่า เวลานี้เราเอาสมาธิมาใช้ประโยชน์อะไรกันบ้าง แล้วเราจะต้องดูว่าในสามอย่างเนี่ย อันไหนเป็นคุณสมบัติที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เราใช้ อันที่หนึ่งพลังจิต พลังจิตนี่ไปไกล ในเมืองฝรั่งเวลานี้ก็ชอบกันเยอะ เอามาทดลองกันว่าจิตที่เป็นสมาธินี้มีพลังใช่ไหม สามารถทำให้พุ่งดิ่งไปทางใดทางหนึ่ง พอพุ่งดิ่งไปแล้วมีกำลังทำให้มีการเคลื่อนไหว แม้แต่ว่าทำให้วัตถุเคลื่อนไหวได้ หรือว่าทำให้มองดิ่งไปเฉพาะจุด ทำให้มองเห็นสิ่งไกลๆ จนกระทั่งเกิดตาทิพย์จนกระทั่งได้ยินเสียงไกลๆ หรือว่าหูทิพย์ อันนี้เป็นเรื่องของพลังจิต ปรากฏว่าในเมืองฝรั่งพวกหนึ่งก็ชอบเรื่องนี้มาก สนใจในแง่หนึ่งนะ ประโยชน์ของสมาธิด้านหนึ่ง อันที่สามทำให้เกิดความสงบ มองดูสังคมฝรั่งก็ชอบอันนี้เยอะ เพราะว่าในสังคมฝรั่งนี้มีปัญหาเรื่องจิตใจมาก มีความกังวล มีความกระวนกระวายใจ แล้วก็มีความเครียด การแข่งขันกัน การแย่งชิงผลประโยชน์ ระบบสังคมต่างๆมันบีบคั้นจิตใจคน จิตใจที่ไม่สบายในที่สุดก็มีความทุกข์มาก ฝรั่งปรากฏว่าเมื่อเจริญด้วยวัตถุมากเนี่ย จิตใจกลับมีความทุกข์มา พอมีความทุกข์มากก็หาทางออก แกก็ดิ้นหาทางออกไปมา ไปเจอเรื่องสมาธิ จากพุทธศาสนาบ้าง จากศาสนาฮิตดู จากโยคะบ้าง จากตะวันออก ก็เห็นว่าสมาธินี้เป็นวิธีปฏิบัติทางจิตใจที่ทำให้จิตใจสงบมีความสุข ก็เลยชอบใจ เพราะฉะนั้นก็จะปรากฏว่าฝรั่งเนี่ยหันไปหาสมาธิเพราะจุดมุ่งหมายคือต้องการประโยชน์ในแง่ความสงบ ความสุขนี้เยอะ แก้ปัญหาด้านจิตใจนั้นเอง อันนี้ก็เป็นอันว่าเป็นจุดสนใจของฝรั่งอันหนึ่ง แต่ว่าอันที่สอง คุณประโยชน์ที่สำคัญของสมาธิคือเรื่องการที่จิตนี้ใส และมองเห็นสิ่งที่ต้องการได้ชัดเจน ก็คือเรื่องของปัญญา สมาธิเป็นเรื่องของจิต ทำจิตให้สงบ พอสงบแล้วจิตใส ก็เลยใช้ปัญญาได้ดี มองเห็นอะไรได้ชัดเจน ก็หมายความว่าสมาธิเป็นตัวฐาน เป็นตัวเอื้อ เป็นตัวปัจจัย เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การใช้ปัญญาได้ผลดี อันนี้เป็นคุณประโยชน์ที่บางทีถูกมองข้าม แล้วอันนี้แหละกลายเป็นจุดหมายที่สำคัญ เป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายในพุทธศาสนานะ จึงจะต้องระวังเหมือนกันว่า เรามาสัมพันธ์กับฝรั่งเนี่ย บางทีไม่แน่นะ ฝรั่งจะเข้าใจถูกและใช้สมาธิถูกต้อง แม้แต่คนไทยเราเองก็เป็นเยอะ คนไทยเราจะสนใจสมาธิในแง่ของพลังจิตเยอะเลย ชอบเรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์มาก ถ้าหากว่าเรื่องของสมาธิมีประโยชน์เพียงเพื่อพลังจิต ให้มีฤทธิ์มีความสามารถแล้ว พุทธศาสนาไม่ต้องเกิดขึ้น เพราะในอินเดียเขามีความชำนาญเรื่องนี้มานานแล้ว ลัทธิโยคะการปฏิบัติโยคะนี้เกิดมีก่อนพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้นี่ไปเข้าสำนักโยคะด้วยนะ ไปหาอาจารย์ต่างๆสำนักต่างๆ อย่างไปที่อาฬดาบส กาลมโคตรเนี่ย ท่านที่เรียนพุทธประวัติก็จะได้ยิน ก็ไปเรียนเรื่องการบำเพ็ญสมาธิจนกระทั่งได้ฌานสมาบัติชั้นสูง เรื่องฌานสมาบัติมี 8 ขั้น เป็นรูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 ท่านอาฬดาบส กาลามโคตรเนี่ย ได้สมาธิได้ฌานถึงขั้นอรูปฌานถึงขั้นที่ 3 เรียกว่า อากิญจัญญายตนะสมาบัติ พระพุทธเจ้าก็ไปเข้าสำนักของท่านนี้ ก็ได้ฌานสมาบัติถึงขั้นนี้ ก็เรียกว่าได้สมาบัติ 7 พระพุทธเจ้าไม่ทรงพอพระทัย เสด็จออกไปจากสำนักนี้แล้วก็ไปสำนักงานอุทกดาบสรามบุตร ท่านนี้สามารถได้ฌานสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ครบสมาบัติ 8 คือจบเนวสัญญายตนะสมาบัติ พระพุทธเจ้าก็จบด้วย พอจบด้วยพระอาจารย์ก็นิมนต์ว่าท่านน่ะจบความรู้ของสำนักนี้ ขอให้อยู่ช่วยกันสอนลูกศิษย์ต่อไป พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นแล้วนี่ยังไม่ใช่จุดหมาย พระองค์ก็เลยขอลาออกไปแสวงหาด้วยพระองค์เอง พวกโยคีฤาษีดาบสสมัยก่อนพุทธกาลมีฤทธิ์มีฌานได้กันเยอะแยะ พระพุทธเจ้าไม่ทรงพอพระทัย ถ้าหากว่าเราเอาแค่ฤทธิ์ แค่ฌานสมาบัติแล้ว ไม่ต้องมีพุทธศาสนาเพราะเขาได้กันมาก่อนแล้ว อภิญญา 5 แต่ว่าพระพทูเจ้าไม่ทรงพอพระทัยเสด็จไปแสวงหาต่อไป นี่แหละเป็นจุดที่จะต้องระวัง และมีพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ เรื่องของการใช้สมาธิในทางของฤทธิ์ปาฏิหาริย์ โยมคงจำได้ดีว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าปาฏิหาริย์ นี้มีสามอย่างหนึ่งคืออิทธิปาฏิหาริย์ คือการแสดงฤทธิ์ได้ เหาะเหินเดินอากาศดำดินอะไรต่างๆ เดินน้ำดำดิน สองอาเทสนาปาฏิหาริย์ คือการทายใจได้ คนนี้คิดอะไรคิดยังไง คิดจะทำอะไรต่างๆเหล่านี้ มีจิตใจมีสภาพต่างๆอะไรอย่างไรทายใจได้ นี่ก็เป็นปาฏิหาริย์ ชนิดหนึ่ง สามอนุสาสนียปาฏิหาริย์ คือการสั่งสอนให้เกิดปัญญารู้ความจริงด้วยตัวเองของเขาเอง อันนี้ปาฏิหาริย์ข้อที่สาม ที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ปาฏิหาริย์ที่หนึ่งและสอง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าทรงรังเกียจ ทรงสรรเสริญแต่อันที่สามเพราะอะไร หลักการสำคัญเพราะว่า ปาฏิหาริย์ที่หนึ่งที่สองนั้น ใครทำได้เป็นเรื่องคนนั้นแล้วคนอื่นก็มาทึ่งมาอัศจรรย์แล้วมาหวังพึ่ง พอหวังพึ่งแล้วพึ่งตัวเองไม่ได้ ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ปาฏิหาริย์ที่สามพระพุทธเจ้าสอนให้เขาเกิดปัญญา เป็นอัศจรรย์คือเขาเกิดปัญญาแล้วเขาเห็นความจริงด้วยตัวเอง พอเขาเห็นความจริงแล้วเขาเป็นอิสระจากพระองค์ เพราะว่า พระองค์เห็นความจริงอย่างไรก็สอนเขาอย่างนั้น แล้วเขาเกิดปัญญาเขาก็เห็นความจริงอย่างเดียวกับที่พระองค์เห็น พอเขาเกิดปัญญาเห็นเหมือนที่พระองค์เห็นเขาก็เป็นอิสระไม่ต้องขึ้นกับพระองค์ต่อไป แต่ถ้าเป็นปาฏิหาริย์หนึ่งสองแล้วเขาก็ต้องขึ้นต่อพระองค์ หวังพึ่งพระองค์ตลอดไป ฉะนั้น พระองค์ต้องการให้เขาเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นพระองค์ไม่ทรงสรรเสริญ ฉะนั้น ปาฏิหาริย์หนึ่งสองนี้ มีประโยชน์ใช้ได้เฉพาะเรื่องเฉพาะราวแต่ต้องระวังในระยะยาว เพราะว่ามันทำให้เกิดการประมาทถ้าเรามีผู้ที่มีฤทธิ์เราเคารพนับถือเราก็ไปหวังพึ่งท่านสิ อยากจะได้อะไรก็ให้ท่านบันดาลแล้วตัวเราเองล่ะ ไม่รู้จักเผชิญปัญหาไม่รู้จักแก้ปัญหาไม่รู้จักทำอะไรให้เป็น อยู่เท่าไรก็เท่านั้นเพราะฉะนั้นไม่พัฒนา พุทธศาสนาไม่ต้องการอันนี้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้เลยว่าพระพุทธเจ้าเนี่ย เป็นยอดของผู้มีฤทธิ์ ใช่ไหม พระพุทธเจ้านี่พระองค์สรรเสริญอนุสานีปาฏิหาริย์ คือการสอนให้เกิดปัญญา ข้อเดียวก็จริงแต่สำหรับพระองค์เองนั้นพระองค์มีทั้งอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์ มีครบหมดเลย เรียกได้ว่าเป็นยอดของผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์ มีฤทธิ์มากแต่ขอให้โยมสังเกตดู ตลอดพุทธประวัติ 45 ปี เคยมีปรากฏครั้งใดไหม ที่พระพุทธเจ้าเอาฤทธิ์ของพระองค์บันดาลผลที่ต้องการให้แก่ใครผู้ใดผู้หนึ่ง มีไหม นี่เป็นจุดสังเกตที่สำคัญนะหลายคนไม่เคยคิด พระพุทธเจ้าเป็นยอดของผู้มีฤทธิ์ไม่มีใครมีฤทธิ์เท่าพระองค์แต่พระองค์ไม่เคยใช้ฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการให้แก่ใครเลย ตลอด 45 พรรษา ทำไม เพราะพระองค์ไม่ต้องการให้ใครมาอยู่มาขึ้นมาหวังพึ่งอยู่กับพระองค์ ถ้าขืนเขามาหวังพึ่งพระองค์ได้อย่างนี้ ต่อไปเขาประมาท เขาไม่คิดพึ่งตนเอง เขาไม่คิดพัฒนาตัวเอง ไม่คิดแก้ปัญหา คนเราลองไม่สู้ปัญหา ไม่ทำอะไรด้วยตัวเอง มันไม่พัฒนาหรอก อยู่เท่าไรก็เท่านั้น ฉะนั้นนี่หลักการสำคัญพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทั้งที่มีฤทธิ์พระองค์จึงไม่เอาฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการให้แก่ผู้ใดเลย ถ้าเรามาชอบเรื่องฤทธิ์เราต้องระวังมาก อย่าให้ขัดหลักพุทธศาสนาเป็นอันขาด ถ้าจะชอบบ้าง อย่าให้ผิดหลักพึ่งตน อย่าให้ผิดหลักฝึกฝนพัฒนาตนและต้องเพียรพยายามทำการให้สำเร็จตามเหตุตามผลนี่เป็นหลักการพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาเนี่ยจึงเลยจากลัทธิฤาษีชีไพรในสมัยโบราณ ที่เขานิยมเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อาฬดาบสจนกระทั่งฤาษีในปัจจุบันก็ยังแข่งฤทธิ์กันอยู่ตามเดิม พระพุทธศาสนาไม่เอา ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วคนไม่พัฒนา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าใช้ฤทธิ์ทำอะไรบ้าง พระพุทธเจ้าใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ใช่ไหม เพราะเขาถือกันว่าฤทธิ์นี้สำคัญ สมัยนั้นถือกันว่าถ้าใครไม่มีฤทธิ์ก็ไม่เป็นพระอรหันต์ มีค่านิยมอย่างนี้ ถ้าใครเป็นพระอรหันต์ก็ต้องมีฤทธิ์ ทีนี้พระพุทธเจ้าถือว่าฤทธิ์ไม่ใช่เป็นเครื่องหมายของความเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าพระองค์อยู่ท่ามกลางค่านิยมของสังคมและความเชื่ออย่างนั้น พระองค์ก็เป็นพระศาสดาเป็นผู้ประกาศพระศาสนาพระองค์ก็ต้องทำได้ เพื่อจะให้เขายอมรับเชื่อถือก่อน เพราะฉะนั้นพระองค์ก็มีฤทธิ์ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกาศพระศาสนา ให้เหนือกว่าพวกที่มีฤทธิ์เหล่านั้น พอไปเจอกันแล้ว เขาทดลองฤทธิ์ เพราะถ้าหากไม่มีฤทธิ์ เขาไม่ยอมฟัง เขาไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าไปเจอชฎิล พวกนี้เป็นที่นับถือของประชาชนว่ามีฤทธิ์เก่งกาศ พวกนี้ก็ถือว่าใครจะเป็นพระอรหันต์ต้องมีฤทธิ์ พระพุทธเจ้าไปเชียว ไปหาสำนักนี้ ถ้าไม่ไปปราบพวกนี้ก่อนแล้วประชาชนไม่ฟังพระองค์ เพราะว่าเขาถือว่า ถึงอย่างไรก็สู้อาจารย์ของเราชฎิลไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ไปหาชฎิลก่อนเลย พอไปถึงก็โดนชฎิลลองดีเลย เอาฤทธิ์มาแกล้ง แกล้งตั้งหลายคืน พระพุทธเจ้าผ่านทุกคืนเลย จนกระทั่งในที่สุดชฎิลยอมรับเลยว่าสู้ไม่ได้ พอชฎิลสู้ไม่ได้ ยอมรับแล้วเขาก็ยอมฟัง แต่ก่อนนั้นแล้วเขาไม่ยอมฟังหรอก พูดอะไรเขาก็ไม่สู้เรา ทำไม่ได้อะไรอย่างนี้ พอเขายอมทำพระองค์ปราบเขาแล้วเขายอมรับในเรื่องฤทธิ์แล้ว พระองค์ก็เลิกใช้ฤทธิ์แล้วก็หันมาใช้อนุสาสนียปาฏิหาริย์ ก็คือสอนให้เกิดปัญญาให้เขารู้ถึงความจริง ให้ถึงสัจธรรมก็เลิกใช้ฤทธิ์ พอไปเจอรายใหม่ก็ใช้ฤทธิ์ปราบใหม่ พอเขายอมรับแล้วพระองค์ก็เลิกใช้ฤทธิ์ แต่พระองค์ไม่ใช้ฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการให้แก่ผู้ใดทั้งสิ้น นี่ขอให้ถือเป็นหลักสำคัญ โยมไปศึกษาดูพุทธประวัติดีไหม ไม่มีเด็ดขาดใช่ไหม นี่แหละพระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ชาวพุทธไปเสียนิสัยไปหวังพึ่งแล้ว เสร็จแล้วก็งอมืองอเท้ารอคอยผล ไม่ทำอะไรไม่ฝึกตัวเอง สำหรับประชาชนชาวบ้านเรานี้ บางทีใจไม่แข็งพอ พระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปแล้ว บางทีก็หวังพึ่งฤทธิ์อะไรๆต่ออะไรกันบ้าง พอได้กำลังใจ แต่ว่าสำคัญอย่างเดียวก็คือว่าอย่าให้เสียหลักพึ่งตนเอง และอย่าให้เสียหลักการทำการให้สำเร็จด้วยความเพียร ถ้าหากว่าไปหวังพึ่งสิ่งเหล่านี้แล้ว นอนคอยผลงอมืองอเท้าแล้วผิดหลักพระศาสนาทันที เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเนี่ยถืออันนี้สำคัญอย่างยิ่ง ทีนี้การที่ใช้สมาธิทำให้มีฤทธิ์มีพลังปาฏิหาริย์นี่นะ มันมีข้อสำคัญนอกจากการที่ว่าพอเรามีฤทธิ์แล้วนี่ เสียนิสัยทำให้คนหวังพึ่ง แล้วเขาไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่พึ่งตนเอง ทีนี้ตัวเองฤทธิ์มันทำให้หมดกิเลสไม่ได้ ฤทธิ์ไม่สามารถกำจัดกิเลสได้ แล้วก็ฤทธิ์ก็ทำให้หมดทุกข์ไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นท่านที่มีฤทธิ์มีอำนาจใช้สมาธิในแง่นี้อย่างเดียวนะ ไม่เป็นหลักประกัน อย่างดีได้จิตมันสงบ แล้วกิเลสสงบไปชั่วคราว ด้วยกำลังสมาธินั้น ท่านเรียกว่าวิขัมภนวิมุติ หลุดพ้นชั่วคราว แต่ถ้ามีอะไรมาล่อ กระทบขึ้นมาอีก กิเลสฟูได้อีก ฉะนั้นไม่มั่นคง มีพระเถระองค์หนึ่งเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในยุคหลังพุทธกาล สอนเก่งแล้วตัวเองก็หลงผิด เพราะว่าตัวเองเนี่ยเข้าสมาธิได้ชั้นสูง ได้สมาบัติ ชำนาญมากเพราะการที่ว่าบำเพ็ญสมาธิอยู่ตลอดเวลาเนี่ย จิตมันสงบอยู่เสมอ กิเลสมันก็สงบไม่มีโอกาสฟูขึ้นมา ไม่รู้ตัวก็นึกว่าฉันสำเร็จเป็นพระอรหันต์ อาจารย์ที่ไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์สามารถสอนลูกศิษย์ให้เป็นพระอรหันต์ได้นะ เพราะการเป็นพระอรหันต์มันขึ้นต่อตัวเองใช่ไหม เพียงแต่เขารู้หลักแล้วก็มีลูกศิษย์ของท่านบางท่านเนี่ย ได้มาปฏิบัติรู้หลักจากท่านแล้วไปปฏิบัติด้วยตนเอง ลูกศิษย์กลับบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ลูกศิษย์ท่านน่ะรู้ว่าพระอาจารย์ยังไม่สำเร็จ ก็จะเตือนเพราะจะไปบอกตรงๆว่าท่านก็ถือตัวเป็นอาจารย์ ก็จะไม่ดี ก็จะเกิดกิเลสขึ้นมา เกิดแรงต้าน ก็จะเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติ ลูกศิษย์ท่านนี้ก็เลยใช้อุบายวิธี ทำให้เกิดนิมิตเป็นรูปช้าง วันหนึ่งขณะนั่งอยู่เพลินๆเนี่ย ให้เห็นเป็นช้างเนี่ย วิ่งเข้ามาเหมือนอย่างช้างตกมันเนี่ย อาจารย์ตกใจตั้งสติไม่ทัน พระอาจารย์ลุกขึ้นกระโจนหนีเลย ลูกศิษย์ท่านนี้ซึ่งเป็นพระอรหันต์ก็จับชายจีวรกระตุกไว้ พอกระตุกไว้พระอาจารย์ก็ได้สติ เพราะท่านก็เจริญธรรมปฏิบัติมานานนี่ ก็เรียกว่าสติมันไม่ทันนิดเดียวแหละ พอลูกศิษย์กระตุกปั๊ป พอได้สติรู้ตัวเลย ก็รู้ตัวว่าเรานี้ยังไม่สำเร็จ เพราะพระอรหันต์นี้ไม่ตกใจ คือไม่มีกิเลสคือเหตุให้เกิดความกลัว เหตุที่ทำให้เกิดความกลัวนี้ก็คือโลภะโทสะโมหะ ยังมีตัณหาอยู่ ถ้าไม่มีกิเลสแล้วไม่มีความกลัว ฉะนั้น ท่านรู้หลักการนี้อยู่ ท่านก็รู้ว่ากิเลสท่านยังไม่หมด ก็เลยหันมา บอกมาให้ลูกศิษย์เป็นที่พึ่ง ช่วยเป็นหลักให้แล้วปฏิบัติต่อ พระอาจารย์เลยได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วย แต่ที่อาตมาพูดนี้ต้องการให้เข้าใจว่า การมีฤทธิ์ ฌานสมาบัติ ฝ่ายพลังจิตเนี่ย ไม่ได้ช่วยให้สำเร็จเป็นพรอรหันต์ ไม่หมดกิเลส ไม่หมดความทุกข์ แต่ว่าสามารถทำให้จิตสงบแล้วเหมือนกับหมดกิเลสไปได้ชั่วคราว ก็เป็นสิ่งที่ดีมากมีประโยชน์ อย่างบางท่านเพราะเหตุที่ได้พวกสมาธิอะไรต่างๆ แล้วกิเลสยังไม่หมด เกิดความลำพองใจตัวเอง กลับไปหนุนมานะขึ้นมา เลยยิ่งหนักเข้าไปอีก คราวนี้กิเลสกลับฟูเลย เพราะคนเรานี้ถ้าเราไม่มีกำลังไม่มีอำนาจเนี่ย กิเลสของเราก็ถึงมีอยู่เนี่ย มันจะไม่มีกำลัง พอเรารู้ว่าเรานี้มีอำนาจมีพลังมากอะไรต่างๆ เราจะรู้สึกฮึกเหิมใจ คนที่มีฤทธิ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็เกิดความฮึกเหิมใจ ก็กลับทำการร้ายได้ ยิ่งใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัต พระเทวทัตนี่ได้ฌานสมาบัติได้อภิญญา ที่เป็นโลกียมีฤทธิ์มาก แต่ว่าเพราะไม่หมดกิเลสแล้วเกิดไปฮึกเหิมใจลำพองในฤทธิ์ของตัวเอง แล้วเกิดไปนึกถึงการมีอำนาจการที่จะได้ลาภสักการะอะไรคิดกันไปใหญ่โต ก็เลยเอาไอ้พวกฤทธิ์นี้มาหนุน เลยไปกันใหญ่เลยแล้วกลายเป็นพระเทวทัตเสียไปเลย เป็นพระเสียในที่สุดก็กลายไปทำการร้ายไปคิดปฏิวัติ ไปคิดที่จะปกครองคณะสงฆ์เอง ไปคิดปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าอะไรต่างๆ ไปสมคบกับพระเจ้าอชาตศัตรู ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรูก็ไปปลงพระชนม์พระราชบิดา ไปกันใหญ่เลย เรื่องราวนี้ ทำให้มีปัญหาทางบ้านเมืองไปด้วย ฉะนั้นเรื่องฤทธิ์นี้ก็จึงต้องระวัง แต่รวมความก็อย่างที่ว่าแล้วเนี่ย ในพระพุทธศาสนาเนี่ย ท่านให้ไม่ประมาท อย่าไปหวังพึ่ง ถ้าเราจะใช้ก็เป็นเพียงเครื่องช่วยให้จิตรวมตัวได้ คือคนธรรมดานี่เราก็ต้องเห็นใจอย่างหนึ่ง ยังไม่มีจิตมั่นคงพอ กิเลสก็ยังไม่หมด ความกลัวความรู้สึกตื่นเต้นหวั่นไหวยังมีเนี่ย สมมติว่าเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นมาอย่างหนึ่ง จิตมันเตลิดมันตระหนกตกใจ พอเตลิดไปเท่านั้นแหละ ตั้งสติไม่อยู่ พอตั้งสติไม่อยู่ทำการอะไรไม่ถูกเลย ถ้าหากว่าจิตมีที่ยึดสักอย่างหนึ่ง เช่นว่า เรานับถือแม้แต่นับถือพระพุทธรูปในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เนี่ย พอเราเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นมา เรามีสิ่งที่นับถือยึดเหนี่ยวจิตใจจิตของเราก็มีจุดกำหนด ตรึงอยู่ไม่เตลิดเปิดเปิง พอจิตไม่เตลิดเปิดเปิงมีจุดกำหนดใช่ไหม เรายึดมั่นพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้า พระพุทธรูปนี้ศักดิ์สิทธิ์ จิตของเราอยู่ที่ท่าน พอจิตของเรารวมตัวได้ ก็ตั้งสติได้ไว ตั้งสติได้ก็ทำอะไรถูกต้อง ไม่เตลิดเปิดเปิง อันนี้ก็เป็นประโยชน์สำหรับคนที่ยังใหม่อยู่ ยังไม่ได้พัฒนาตน แต่ว่าท่านไม่ยอมให้ติดอยู่แค่นี้นะ ใช้ประโยชน์ในขั้นต้นๆได้ อย่างน้อยว่าปุถุชนที่ยังไม่ได้พัฒนาจิตใจพอเนี่ย อาศัยสิ่งที่นับถือเป็นศักดิ์สิทธิ์เนี่ยเป็นที่รวมจิตใจทำให้จิตตั้งมั่นได้ไว ก็ยังดี สติมา สมาธิมา และกำลังใจมามันก็ไปได้ ถ้าเราไม่มีจุดรวมจิตเลย ฟุ้งซ่าน ทำอะไรไม่ถูกก็ขวัญเสียขวัญหายไปเลย แต่ว่าก็ต้องมีขอบเขต ถ้าใช้แค่นี้แล้ว ต้องถือว่าเตือนตัวเองอยู่เสมอว่านี่เรายังอยู่ในขั้นต้นนะ ยังไม่ไปไหนเลย แล้วพัฒนาตัวเองตอ่ไปจนกระทั่งว่าจิตตั้งมั่นด้วยตัวเอง จนกระทั่งว่า ถ้าเป็นพระอรหันต์มันก็มีสติเป็นประจำของท่านได้ด้วยกำลังที่ไม่มีกิเลสที่จะมาชักจูงทำให้พลาดทำให้เขว ทำให้หลงไป ฉะนั้น จิตไม่เลื่อนลอย จิตอยู่กับตัว คนที่มีปัญหาก็คือจิตมันเลื่อนลอยขาดสติ ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เป็นอันว่า เรื่องของจิตที่มีพลังนี้ ก็เป็นประโยชน์ในระดับหนึ่งแล้วมันจะมาเป็นประโยชน์จริงในเมื่อมันมาหนุนอันที่สอง ก็ให้เข้าใจความหมายขอบเขต ก่อนที่จะมาพูดอันที่สองอาตมาก็อยากจะไปพูดถึงอันที่สามอีกทีหนึ่ง ที่บอกว่าเรื่องของการใช้สมาธิในแง่ของความสงบและความสุข ซึ่งบอกแล้วว่าเมืองฝรั่งนี้ จะมามุ่งหมายประโยชน์ในข้อนี้มาก แล้วเราจะต้องระวังเพราะว่าบอกแล้วว่านี่ไม่ใช่จุดหมายพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้มีการเพลินกันมา เดี๋ยวจะไปตื่นแล้วฝรั่งมาสนใจสมาธิอะไรต่างๆ สนใจนี่ไม่ใช่ว่าจะแน่ใจว่าเขาสนใจถูกนะ เขาอาจจะมาสนใจเพื่อจะมาใช้สมาธิแก้ปัญหาจิตใจเขา แก้ความทุกข์เขา ถ้าใช้สมาธิในความหมายนี้ไปๆมาๆ ไม่ระวังให้ดีนะ ก็กลายเป็นว่าสมาธินี้เป็นสิ่งกล่อมชนิดหนึ่ง สิ่งกล่อมนั้นมีความหมายอย่างไร กล่อมมันก็ทำให้สบาย ใช่ไหม ใจเพลินแม้แต่ยากล่อมประสาทใช่ไหม ประสาทเราไม่สบายเราตื่นเต้น เรากระวนกระวาย เราเครียด เรานอนไม่หลับ เราก็เอายานอนหลับมากิน พอกินยานอนหลับเข้าไปก็สบายใช่ไหม นอนหลับได้ ก็ดีนี่ แต่ว่า สิ่งที่กล่อมน่ะมีขอบเขต มันมีโทษไปด้วย ถ้าขืนกล่อมอยู่อย่างนั้นต่อไปตลอดไม่ดีแน่ กล่อมได้ชั่วคราว กล่อมพอให้หายอาการนั้น หายจากความกระวนกระวายกระสับกระส่ายเดือดร้อนชั่วคราวนั้น เช่นนอนไม่หลับก็แก้ปัญหา แต่อย่าอยู่ด้วยยานอนหลับตลอดชีวิตไม่ดีแน่ ฉันใดก็ฉันนั้น สิ่งกล่อมของมนุษย์น่ะมีมาก ยิ่งมนุษย์ที่มุ่งหาความสุขจากสิ่งเสพทางวัตถุเนี่ย ต่อไปจะมีปัญหามาก คือวัตถุเนี่ย มันให้ความสุขได้ระดับหนึ่ง แล้วเมื่อได้ความสุขจากมันบางทีเบื่อ เกิดความเบื่อหน่าย หรืออีกคนพวกหนึ่งก็วิ่งหาความสุขจากวัตถุไม่สมใจซักที ไม่ถึงจุดหมายสักที ก็วิ่งไล่ความสุขอยู่นั่น ชีวิตที่เร่งรัดแข่งขันหาผลประโยชน์หาความสุขจากวัตถุนั้น มันเกิดสภาพจิตที่เครียดกระวนกระวาย ฟุ้งซ่าน กังวล กังวลในผลประโยชน์ลาภที่ยังไม่ได้ หวาดกลัวหวั่นใจในสิ่งที่ได้มาแล้วว่าจะหลุดลอยหาย อะไรอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นความสุขจากวัตถุที่เสพเนี่ยมันรบกวนสภาพจิตตลอดเวลาด้วยประการต่างๆ จนกระทั่ง แม้แต่ขั้นสุดท้ายก็คือว่า คนที่มุ่งหวังความสุขจากการเสพวัตถุเนี่ย ก็เอาความสุขไปฝากไว้กับวัตถุอย่างเดียว วัตถุมันมีเวลาที่สุข บางเวลามันก็เบื่อหน่าย พอเราเอาความหวังในความสุขไปฝากไว้กับวัตถุอย่างเดียวเนี่ย ต่อไปเนี่ย ชีวิตจะมีความหมายด้วยวัตถุหรือว่าสิ่งเสพอันนั้น พอเบื่อหน่ายวัตถุก็เบื่อหน่ายชีวิตด้วย พอผิดหวัง วัตถุก็ผิดหวังชีวิตด้วย พอวัตถุหมดความหมายชีวิตก็หมดความด้วย นี่คือปัญหาในสังคมที่เจริญแล้ว มากไปด้วยวัตถุนิยม เสพสิ่งบริโภค เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่อยู่ในสังคมที่เจริญ มีสิ่งบริโภคมากมายพรั่งพร้อม ไม่ได้เป็นหลักประกันของความสุข แต่กลับปรากฏว่า ฆ่าตัวตายมากด้วย คนในสังคมที่ยากจนไม่ค่อยฆ่าตัวตายหรอก แต่คนในสังคมที่พรั่งพร้อมมั่งมีนี่แหละจะฆ่าตัวตายมาก ในสังคมอเมริกันเนี่ย เดี๋ยวนี้ก็คงจะทราบกันอยู่แล้วว่า คนที่ฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นในระยะนี้ คือคนหนุ่มสาววัยรุ่น สถิติของ USA Today บอกมาในช่วงเวลาสามสิบปีที่ผ่านมานี้ เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวอเมริกันฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสามร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็คือสามเท่านี่แหละ เป็นยังไงอายุสิบห้าถึงสิบเก้าเขาบอกเลยนะ นี่เป็นสถิติของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติของอเมริกัน เป็นที่งงงงันกันไปเลยว่าทำไมหนุ่มสาววัยรุ่นฆ่าตัวตายในขณะที่สังคมมั่งคงพรั่งพร้อม สังคมก็มั่งคั่งพรั่งพร้อม จะเอาอะไรก็เอาได้หนุ่มสาวก็อยู่ในวัยที่กำลังสดใส มีกำลังวังชาจะหาความสุขแล้วไฉนจึงมาฆ่าตัวตายเสียล่ะหนีความสุขไป สังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมไม่เป็นหลักประกันในเรื่องการที่จะมีความสุข เพราะฉะนั้นสังคมแบบนี้ก็ไปฝากความสุขไว้กับการเสพวัตถุ เพราะฉะนั้นต่อมาพอเบื่อหน่ายวัตถุก็อย่างที่ว่า ก็คือเบื่อหน่ายชีวิตด้วย เบื่อหน่ายผิดหวังวัตถุก็ผิดหวังชีวิต วัตถุหมดความหมายชีวิตก็หมดความหมายด้วย เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นอันตรายที่สำคัญของสังคม แม้แต่ขั้นอารยธรรมปัจจุบัน มนุษย์ยุคสมัยก่อนนั้นความสุขเขาฝากไว้กับวัตถุเสพนั้นน้อย เพราะว่าคนสมัยก่อนเขาไม่ค่อยมีวัตถุบริโภคมาก เพราะฉะนั้นความสุขเขาอยู่ที่แหล่งอื่น แต่วันนี้ไม่มีเวลาพูดกันเรื่องนี้ แหล่งความสุขของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่สิ่งเสพอย่างเดียว มนุษย์สมัยก่อนนี้ความสุขมาขึ้นกับวัตถุเสพน้อย เพราะฉะนั้นเขาผิดหวังกับสิ่งเหล่านี้เขาไม่ฆ่าตัวตาย มนุษย์เรามีช่องทางของความสุขนี้มากมายหลายอย่าง แต่ตอนนี้มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ มาพัฒนาด้วยมุ่งความเจริญพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจทางวัตถุจนกระทั่งเป็นบริโภคนิยม เห็นแก่การบริโภค ความสุขอยู่ที่การบริโภค อยู่ที่สิ่งเสพ เพราะฉะนั้นมันก็เอาตัวความหมายของชีวิตมาไปรวมเป็นอันเดียวกัน เรียกว่า identify กับวัตถุเสพไปเลย เพราะฉะนั้นจึงบอกเมื่อกี้ไง บอกว่า เมื่อไรวัตถุหมดความหมายชีวิตก็หมดความด้วย เมื่อไรผิดหวังวัตถุเสพ ก็ผิดหวังชีวิตด้วย เมื่อไรวัตถุเสพหมดความหมายชีวิตก็หมดความด้วย นี่คือสภาพสังคม อเมริกันเป็นต้นในปัจจุบัน ที่กำลังจะเป็นมากขึ้น แล้วเป็นพิษเป็นภัยของอารยธรรมที่เดินมาในทางที่ผิดพลาด อาตมาขอหันกลับไปพูดถึงเรื่องสิ่งกล่อม การใช้สมาธิเป็นสิ่งกล่อมก็ในสังคมที่มีปัญหาจิตใจมาก แกต้องการความสุขจากวัตถุเสพแกไม่ได้ดั่งใจบ้าง หรือแกได้แล้วแกไม่สุขสมหวังบ้าง พอมีวัตถุหวังว่าจะมีความสุข พอได้จริงหาได้มีความสุขอย่างนั้นไม่ ทำยังไงชีวิตนี้จะไม่มีความหมายถ้าอย่างหนึ่งก็คือเบื่อหน่ายชีวิตอาจจะฆ่าตัวตาย ถ้าไม่เอาอย่างนั้น หันไปหาสิ่งกล่อมเพราะฉะนั้นสิ่งทางออกสำคัญ สำหรับคนเหล่านี้ที่ไม่ได้ความสุขสมหมาย เป็นสิ่งกล่อมคือยาเสพติด เพราะฉะนั้นสังคมแบบนี้ก็มียาเพสติดเป็นที่พึ่ง ยาเสพติดก็เป็นทางออก ช่วยให้มีความสุข สังคมแบบนี้ก็จะปรากฏว่าสิ่งเสพติดนี้เกลื่อนกลาดไปหมดเลย ตอนนี้เข้าไปเมืองไทยด้วยนะ แม้แต่ในโรงเรียนยาม้ากำลังระบาดแม้แต่ในโรงเรียน โรงเรียนนี้ พอถึงวันเหมาะๆก็ต้องตรวจปัสสาวะกันนักเรียนทุกคนเลย ว่าคนไหนติดยาม้าบ้าง เวลานี้ปัญหาเมืองไทยกำลังหนักยาเสพติดไประบาดขนาดในโรงเรียน เยาวชนของเราก็จะแย่ ทีนี้สังคมปัจจุบันมุ่งหวังความสุขจากสิ่งเสพก็เป็นอันว่า ไม่ได้ความสุขจากสิ่งเสพ ก็หาสิ่งกล่อมมาแทนก็คือยาเสพติด ถ้าไม่ต้องอาศัยสิ่งเสพติด มีสิ่งอื่นอีก สิ่งที่เป็นสิ่งกล่อมที่มีในสังคมมีมานานแล้ว ก็สุรา ถ้าไม่สุราก็การพนัน ไม่การพนันก็สิ่งกล่อมที่ประณีตขึ้นมา สำหรับคนที่หาความสุขยังไม่ได้ ไม่สมหวังจากสุขจากวัตถุบริโภคอะไรอีก ก็ดนตรี สิ่งบันเทิง กีฬา ใช่ไหม ซึ่งเป็นสิ่งกล่อมที่ประณีตขึ้นมา มีทั้งคุณทั้งโทษ อย่างใช้ในทางเป็นประโยชน์ อย่างดนตรีเนี่ย ใช้เป็นก็เป็นประโยชน์ สิ่งบันเทิง กีฬาพวกนี้ ใช้ประโยชน์ได้ด้วย แต่ถ้าใช้ในแง่เป็นสิ่งกล่อมแล้ว ถ้าไปติดเพลินไปกล่อมเมื่อไรก็มีโทษทันที สิ่งกล่อมที่ประณีตขึ้นมาทางจิตก็สมาธินี่ ไม่ต้องไปหันพึ่งสิ่งเสพติด ไม่ต้องหันไปพึ่งดนตรี เอาสมาธิมาช่วย มีปัญหามีความเครียดมีความทุกข์ใจกระวนกระวายกลุ้ม เข้าสมาธิซะ สบาย สงบ เนี่ยก็หนีไปจากสิ่งเดือดร้อนกลุ้มใจได้ เพราะฉะนั้นสมาธิก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความสงบ แต่ถ้าใช้ในความหมายนี้ ใช้ไปใช้มาไม่ระวังก็กลายเป็นสิ่งกล่อม สิ่งกล่อมก็เป็นอย่างไรล่ะ ก็ทำให้เราเนี่ยหายจากความเครียดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ มีความสุขหลบปัญหาได้ หนีปัญหาได้ พ้นไปจากทุกข์ชั่วคราว แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้แก้ กิเลสในใจส่วนลึกยังไง ปัญหาภายนอก ปัญหาในครอบครัว ปัญหาในสังคมไม่ได้แก้ ทีนี้อย่างนี้เวลาเราเกิดทุกข์ขึ้นมาไม่สบายใจก็มานั่งสมาธิหลบไปสักที ก็กล่อมใจไปที ปัญหาไม่ได้แก้ ถ้าอย่างนี้ลำบาก เกิดปัญหาแล้ว ทีนี้สังคมฝรั่งนี้ไม่น้อยเลยที่หันมาสนใจสมาธิ ในฐานะเป็นสิ่งกล่อม เพราะฉะนั้นชาวพุทธเราจะต้องระวัง อย่าได้ไปหลงเพลินกับฝรั่งว่าฝรั่งถูกต้อง เดี๋ยวจะไปตื่นว่าฝรั่งสนใจสมาธิกัน ก็ดีในแง่หนึ่งแต่อย่าให้เขาจมอยู่ในแง่นั้น ถ้าขืนจมอยู่ในแง่เป็นสิ่งกล่อมก็ผิด ผิดอย่างไร ผิดหลักการสำคัญสองประการคือหนึ่งตกอยู่ในความประมาท เพราะกล่อมได้ สบายแล้ว หลบปัญหาได้ หลบทุกข์ได้ชั่ว่คราว ก็เท่ากับคนหนีปัญหา ปัญหาที่แท้จริงไม่แก้ หลบปัญหา ก็เกิดความประมาทสิ พอมันสบาย ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว สิ่งที่จะต้องทำก็ไม่ทำ ปัญหาที่ควรจะแก้ก็ไม่แก้ ความเพียรพยายามที่จะกระทำการก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้นก็จะหยุด เกิดความประมาท อันนี้ผิดหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา แต่ว่าที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคืออะไร คือหลักของพระพุทธศาสนานั้น ธรรมะทั้งหมดอยู่ในระบบของหลักการที่เรียกว่าสิกขาสาม สิกขาคือการฝึกฝน การเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย คือความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ตราบใดที่ยังไม่ถึงจุดหมายหยุดไม่ได้ กระบวนการปฏิบัติเรียกว่าไตรสิกขา ไตรสิกขานี้ เป็นระบบที่รวมองค์ธรรมต่างๆมากมายเนี่ยมาสัมพันธ์กันเพื่อจะเดินหน้าไปสู่จุดหมายที่ว่า องค์ธรรมะทุกอย่างในไตรสิกขาเนี่ย ซึ่งเป็นข้อย่อยๆเนี่ย จะต้อง... (จบ)