PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
  • เรามีความสุขไว้ในตัวเลยดีกว่า
เรามีความสุขไว้ในตัวเลยดีกว่า รูปภาพ 1
  • Title
    เรามีความสุขไว้ในตัวเลยดีกว่า
  • เสียง
  • 4611 เรามีความสุขไว้ในตัวเลยดีกว่า /somdej-payutto/14-53-18.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันอาทิตย์, 26 เมษายน 2563
ชุด
ฟังทีไรได้สุขทุกที
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ

    ก็มาต่อกันเรื่องความสุข  ความสุขที่พูดไปแล้วก็พูดถึงความสุขขั้นพื้นฐาน ชีวิตของคนทั่วไปต้องเกี่ยวข้องอยู่  แต่แม้แต่ความสุขขั้นพื้นฐานมนุษย์ก็ยังปฏิบัติไม่ถูก  ก็ทำให้เกิดปัญหาทำให้เกิดโทษเกิดพิษเป็นภัยแก่ตนเอง  อันนี้ความสุขส่วนที่มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้แสวงหากันมากจนกระทั่งกลายเป็นแนวทางหรือวิถีของสังคมไปเลยก็คือสามิสสุข  สุขที่อาศัยอามิสหรือสิ่งเสพหรือพวกความสุขจากวัตถุ  หรือพูดอีกอย่างหนึ่งเรียกว่ากามสุขนั่นเอง  จนกระทั่งยุคนี้มีชื่อว่าเป็นยุคบริโภคนิยม  ปัญหาต่างๆเราก็ได้พูดกันไปพอสมควรแล้ว  ทีนี้การปฏิบัติในเรื่องของกามสุขนี้ซึ่งจะเชื่อมไปสู่ความสุขอื่นๆ ก็คือว่าประการที่หนึ่งก็คือ  การปฏิบัติต่อตัวสามิสสุขหรือกามสุขนี่เอง  ในทางที่จะทำให้เกิดโทษทุกข์ภัยน้อยด้วยความรู้เท่าทันปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง  ก็จะทำให้เราหรือชาวโลกทั่วไปนี้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้น   แต่ว่าจะให้มีความสุขแท้จริงมันก็เป็นไปไม่ได้  เพราะว่าพวกสามิสสุขนี่ก็เป็นเรื่องของวัตถุ  โดยธรรมชาติของมันเองก็มีสภาวะที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา  เป็นสิ่งภายนอกมีลักษณะที่ต้องขึ้นต่อมันอย่างที่กล่าวแล้ว  ผู้ที่ยังยุ่งอยู่กับสิ่งเหล่านี้ก็ต้องรู้เท่าทันอย่างที่ว่าก็คือปฏิบัติต่อมันให้เกิดโทษน้อยที่สุด  ให้ได้ความสุขแล้วก็มีทุกข์น้อย  แล้วก็ทุกข์ในที่นี้ก็รวมไปถึงเวรภัยกับผู้อื่นด้วย ทุกข์แก่ตัวเองเวรภัยแก่เพื่อนมนุษย์สังคมและก็การทำลายต่อธรรมชาติแวดล้อม  อันนี้ประการต่อไปก็คือว่า มีสิ่งที่จะมาช่วยสร้างดุลยภาพให้เกิดความรู้จักประมาณหรือความพอดี   อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะมาช่วย  และประการต่อไปก็คืออย่าหยุดอยู่เท่านี้  พยายามพัฒนาชีวิตโดยเฉพาะด้านจิตใจและด้านปัญญา  เพื่อจะให้ได้มีอิสรภาพมากขึ้น  มีความสุขที่เป็นอิสระเป็นไทแก่ตนและเข้าถึงความสุขที่ประณีตไปตามลำดับ  ก็เข้ากับหลักที่พูดไปแล้วว่าวิธีปฏิบัติต่อเรื่องสุขทุกข์สี่ประการ  ทีนี้เราก็มาดูเรื่องของวิธีปฏิบัติ  เท่าที่เราพูดกันมาแล้วนี่มีเยอะ  ไปพูดแทรกอยู่ในเรื่องต่างๆอยู่หลายเรื่อง   ก็เป็นเพียงว่าเอามาสรุปอีกทีหนึ่ง  น่าจะเป็นไปในลักษณะที่เพียงแต่หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงคงไม่จำเป็นต้องอธิบายพิสดาร  ทีนี้ที่พูดมาแล้วก็คือหนึ่งก็อย่าสูญเสียแหล่งความสุขพื้นฐานสามประการ  หนึ่งก็คือว่าการอยู่ร่วมกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เป็นตามธรรมชาติทั่วๆไปทางด้านวัตถุ  และสองก็คืออย่าสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่าแปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์จากสังคม  และสามก็คืออย่าแปลกแยกจากกิจกรรมชีวิตของตนเอง  แล้วการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี  การที่จะทำให้ได้รับประโยชน์จากแหล่งความสุขพื้นฐานสามประการนั้นก็จะไปสัมพันธ์กับการพัฒนาความสุขขั้นต่อไป  เพราะว่าเวลาปฏิบัติทั้งหมดนี้มันก็อยู่ในเรื่องของการพัฒนาตามหลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือพัฒนาพฤติกรรมจิตใจและปัญญา  ในเมื่อพฤติกรรมจิตใจและปัญญามันแยกออกจากกันไม่ได้  สิ่งที่เราไปเกี่ยวข้องมันก็เลยโยงไปเอง  อย่างเราไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อนมนุษย์ สังคม ธรรมชาติ และกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเองถูกต้อง  มันก็ได้ความสุขจากแหล่งความสุขพื้นฐานไปด้วย  พร้อมกันนั้นก็พัฒนาชีวิตของตนเองพัฒนาจิตใจและปัญญาไปด้วย  มันเลยไปด้วยกัน  แต่ว่าอย่างน้อยก็อาจจะยกมาพูดเป็นจุดสังเกต  อย่างเรื่องของการไม่แปลกแยกจากธรรมชาติแวดล้อมนี่  ก็ยุคนี้คนก็เห็นความสำคัญมากขึ้นว่ามนุษย์ยุคที่ผ่านมานี่ห่างเหินจากธรรมชาติแล้วก็ทำลายธรรมชาติ  ทำยังไงจะให้รักษาธรรมชาติไว้ได้  อย่างน้อยคนก็ยังคิดในแง่นี้เพราะว่าอันตรายถึงตัวเพราะว่าไปทำลายธรรมชาติ   อย่างน้อยก็กลัวอันตรายจะมาถึงตัวก็จำเป็นต้องรักษาธรรมชาติ  แต่ที่จริงไม่ใช่แค่รักษาธรรมชาติมันหมายถึงรักษาตัวเองด้วย  รักษาตัวเองไม่ใช่เฉพาะในแง่ภัยอันตรายที่เกิดจากธรรมชาติแวดล้อมเสียแล้วมันทำให้เกิดผลร้ายต่อชีวิต  แต่หมายถึงแม้แต่ความสุขด้วยพอรักษาธรรมชาติไว้ก็รักษาทางความสุขของตัวเองด้วย  การที่รักษาธรรมชาติได้ดีนี่ความจริงมันต้องโยงมาถึงจิตใจ  เขาบอกว่าจะรักษาธรรมชาติคืออนุรักษ์ธรรมชาติได้ก็ต้องให้คนรักธรรมชาติ  ทีนี้จะให้คนรักธรรมชาติได้ยังไง  รักธรรมชาติมันก็ต้องเกิดมาจากปัจจัยภายในคือ  ถ้าทำถูกต้องตามเหตุปัจจัยแล้วความรักธรรมชาติมันเกิดเอง  ทีนี้ตอนนี้ก็สอนกันให้รักธรรมชาติรักธรรมชาติ  แต่ถ้าไม่ทำเหตุปัจจัยของความรักให้ถูก  ความรักมันจะเกิดได้ยังไง  อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะไปบังคับฝืนใจได้  ความรักธรรมชาติเกิดขึ้นเมื่อคนเรานี้มีความสุขจากการอยู่กับธรรมชาติ  ถ้าคนเกิดมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติแล้วเขารักธรรมชาติเองเลย  เพราะฉะนั้นอย่างสอนเด็กสมัยนี้การศึกษาว่าเอานะ มาช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติเราต้องรักธรรมชาติ  แล้วทำยังไงจะให้รักธรรมชาติ  วิธีที่ดีที่สุดก็คือสร้างเหตุปัจจัยที่จะให้รักธรรมชาติ  ก็คือว่าให้เด็กมีความสุขจากการอยู่กับธรรมชาติ  ถ้าเขามีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติแล้ว  การรักธรรมชาติก็เป็นไปเอง  เมื่อรักธรรมชาติแล้วการอนุรักษ์ก็ตามมา  มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่ต้องไปบังคับฝืนใจ  ปัจจุบันนี้วิถีของอารยธรรมมันทำให้คนรักธรรมชาติได้น้อย  เพราะว่าแต่ละคนมุ่งหวังสิ่งเสพ  เอาสิ่งเสพให้กับตนเอง แล้วก็ยิ่งมองธรรมชาติเป็นที่มาของสิ่งเสพวัตถุที่จะมาบริโภค  มันมองธรรมชาติด้วยสายตาที่จะไปเอามาจัดการ  ก็คือมองแบบเป็นสิ่งที่จะต้องทำลายหรือเบียดเบียนนั่นเองที่เรียกว่าเอาชนะธรรมชาติ  เอาชนะในความหมายหนึ่งก็กลายเป็นกำจัดและก็สร้างสิ่งที่ตัวเองปรารถนาที่จะบำรุงบำเรอความสุข  เพราะฉะนั้นทัศนคตินี้มันเป็นทัศนคติที่มองธรรมชาติเป็นปฏิปักษ์  เมื่อมองเป็นปฏิปักษ์เป็นศัตรูมันก็รักไม่ได้  แล้วก็เจอกันมันก็ไม่เป็นสิ่งที่จะทำให้มีความสุข  บางทีสร้างค่านิยมกันถึงกับการที่ว่าถ้ามีธรรมชาติอยู่ก็แสดงว่าเรายังไม่เจริญ  เห็นธรรมชาติก็มองเป็นปฏิปักษ์  มีความรู้สึกว่าธรรมชาตินี่นะมาขัดขวางความสุขของตัวเองเลยก็มี  ในยุคหนึ่งเคยไปถึงขนาดนั้น  อย่างถือว่าป่าต้นไม้เป็นเครื่องหมายของความเถื่อนของความไม่เจริญ  จะเจริญก็ต้องสร้างบ้านสร้างตึกสร้างถนนหนทางวัตถุเทคโนโลยีมากๆ  ใครมีป่ามีต้นไม้มากก็แสดงว่ายังไม่เจริญ  พอเห็นป่าเห็นต้นไม้ก็มีความรู้สึกไม่ดีขึ้นมาทันที  เป็นปฏิปักษ์จะต้องกำจัดและจะต้องสร้างเป็นคอนกรีตขึ้นมาแทนจนกลายเป็นป่าคอนกรีต  ระยะนั้นแม้แต่ตามวัดต่างๆ ก็เลยทำลายต้นไม้กัน  ต้นไม้ที่เคยปลูกกันไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษก็เลยมาหมดลงในยุคพัฒนานี่ล่ะ  เมื่อ พ.ศ. 2503 ขึ้นมานี่หมดไปเยอะแยะเลย  ทัศนคติค่านิยมแนวความคิดวิถีชีวิตก็อยู่ในลักษณะนี้มาเป็นเวลายาวนาน  เวลานี้ก็มาถึงตอนที่คนเกิดความสำนึกว่าที่เป็นมาอย่างนั้นผิด  ทีนี้การปลูกฝังความรู้สึกความเชื่อความคิดนี้มันปรุงแต่งมานาน  เพราะฉะนั้นก็เกิดความขัดแย้งในตัว  คนก็ไม่ค่อยมีความสุขจากธรรมชาติเท่าไหร่  เพราะฉะนั้นก็จะต้องว่ากันใหม่ก็ต้องสร้างทำให้เด็กนี่มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ  อย่างที่ว่าแล้วนี้อย่างไปเห็นกระรอกหรือเห็นนก  ก็มีความสุขจากการที่ได้เห็นมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวการบินการขยับมือเท้า  การที่มันอยู่ในสิ่งแวดล้อมบรรยากาศต้นไม้อะไรต่างๆเหล่านี้  เห็นแล้วก็มีความชื่นชมมีความสุข  ไม่ใช่ว่าไปเห็นกระรอกก็นึกถึงการที่จะเอามันไปลงหม้อแกงแล้วจะได้กินอร่อย  หรือว่าไปเห็นนกก็นึกถึงอย่างเดียวกันว่าจะเอามาปิ้งมาย่างแล้วจะได้กินอร่อย  ก็เลยพอมองเห็นนกก็ไม่ได้มีความรู้สึกมีความสุข  ไม่ได้มีความสุขจากธรรมชาติ  แต่มีความสุขจากการเสพ  ซึ่งจะต้องไปเอาหนังสติ๊กหรือไปเอาอะไรมาสักอย่างมาขว้างมายิงมาปาฆ่ามัน  เพราะฉะนั้นเรื่องการที่จะทำให้คนมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาตินี่  สังคมไทยนี่จะมีปัญหาเหมือนกัน  เพราะว่าเด็กไทยเราเจอนกปั๊บนี่จะไล่ปาแล้วเจอกระรอกก็ไล่ขับเอาไม้ขว้าง  ความรู้สึกที่จะชื่นชมในความงามในความสวยงามมีความสุขกับธรรมชาติไม่ค่อยมีนะเป็นปัญหาอยู่  เพราะฉะนั้นอันนี้ต้องทำขึ้นก็ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ  ก็ให้เด็กมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติแวดล้อม  ก็ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยในการที่ชักจูงในทางโยนิโสมนสิการ  ให้เด็กได้เกิดความคิดรู้จักมอง  มองเห็นความงามของมันมองเห็นชีวิตความเป็นอยู่  รู้จักพูดจักจาให้เด็กเห็นรู้สึกว่าพอเห็นมองเห็นนกนี่สิ่งที่ผู้ใหญ่พูดไว้มันโยงไปหาชีวิตของสัตว์  ความเป็นอยู่และธรรมชาติแวดล้อมที่สวยงาม  เด็กก็จะมีความสุขจากธรรมชาติได้  พอเด็กมีความสุขกับธรรมชาตินี่แกก็รักธรรมชาติเอง  เมื่อรักธรรมชาติแล้วการอนุรักษ์ก็ตามมา  เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งจะต้องไปคิดหาวิธีเทคนิคกัน  ตอนนี้ก็มีคนเริ่มคิดหาทางกันเยอะมากขึ้น  แต่ว่าอย่างน้อยว่าไม่ให้มีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ที่มองว่าธรรมชาติแวดล้อมเป็นสิ่งขัดขวางความสุขของมนุษย์  จะต้องทำลายหรือว่ามองในแง่ว่าจะต้องเอามันมาเป็นวัตถุดิบ  แล้วก็มาผลิตเป็นสิ่งบริโภคโดยเข้าโรงงานอุตสาหกรรมแล้วจึงจะมีความสุข  ก็ถือคติเรื่องกระรอกลงหม้อแกงนี่แหละ  นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อมก็ไปคิดหารายละเอียดกันเอา  และทีนี้ด้านอื่นๆ ก็คือเรื่องของการสร้างดุลยภาพจากการหาความสุขด้วยการเสพ  อันนี้หลักที่พูดมาแล้วก็โภชเนมัตตัญญุตานี่ก็ชัด  โภชเนมัตตัญญุตาก็คือการบริโภคด้วยปัญญา  การที่มองให้เห็นว่าที่เราบริโภคสิ่งนั้น เช่น บริโภคอาหารหรือบริโภคใช้สอยเครื่องนุ่งห่ม  โดยเฉพาะก็คือเริ่มจากอาหารนี่  บริโภคเพื่ออะไรจุดมุ่งหมายอยู่ที่ไหน  พอใช้ปัญญาพิจารณาก็มองเห็นว่าความมุ่งหมายของการบริโภคนั้นอยู่ที่การทำให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี  และเราจะได้เอาร่างกายแข็งแรงสุขภาพดีนี้ไปใช้ประโยชน์ ไปดำเนินชีวิตที่ดีไปสร้างสรรค์ไปทำการอะไรต่างๆที่ทำให้ชีวิตเจริญงอกงามยิ่งขึ้น  ทีนี้พอมองอย่างนี้แล้วมันก็จะทำให้มาช่วยสร้างดุลยภาพ  ทำให้การที่จะมุ่งบริโภคเพื่อเอร็ดอร่อยเพื่อบำรุงบำเรอปรนเปรอตาหูจมูกลิ้นนี้น้อยลงเบาบางลง  อันนี้ก็เป็นหลักง่ายๆ คือถ้าเริ่มมีการศึกษาก็จะฝึกกันตั้งแต่ในบ้าน  ก็ถ้าได้นี้แล้วดุลยภาพเกิดขึ้นเยอะเลย  เพราะเวลานี้คนกินอาหารนี่  หนึ่งกินด้วยตัณหาเพื่อเสพรสอร่อย  โดยเฉพาะบางทีพ่อแม่ก็ไปตามใจเด็กและปรนเปรอในเรื่องนี้  นึกว่านี่เป็นการรักลูกอันนี้เป็นการทำลายลูก  มากกว่า  จะต้องชี้กันให้เห็นเลยว่าทำลายลูกอย่างไร  ถ้าไปตามใจลูกด้วยการปรนเปรอด้วยสิ่งเอร็ดอร่อย  เพราะว่ามันไม่ทำให้เกิดปัญญาเลย  บริโภคด้วยโมหะสักแต่ว่าสนองตัณหาความปรารถนาเสพรส  แล้วมันไม่ใช่แค่นั้นมันไปสนองมานะ  มานะก็คือการที่ยึดถือค่านิยมในการที่จะโก้เก๋ยิ่งใหญ่เด่น  จะได้กินอาหารฝรั่งแล้วก็โก้  อันนี้คือสนองมานะเคยกินอาหารที่สถานที่ที่โก้เก๋เป็นค่านิยมก็กลายเป็นว่าตัวเองก็สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ  แล้วก็สนองกิเลสคือมานะ  เกิดความภาคภูมิใจว่าโก้แล้วเป็นโมหะคือความหลง  ไม่ได้ใช้ปัญญา  แล้วกลายเป็นเหยื่อของพวกนักโฆษณาของพวกหาเงินหาผลประโยชน์ใช่มั้ย  พวกนั้นก็สบายสิเอาพวกนี้เป็นเหยื่อโฆษณาเข้าไปว่าที่นี่ต้องไปกินที่นี่จึงจะโก้กินต้องกินอาหารประเภทนี้จึงจะโก้  อันนี้ตัวเองก็นึกว่าที่ทำอย่างนี้โก้จริงๆ ภูมิใจแสดงว่าไปตามค่านิยมตามกระแสของความชอบใจไปตามเสียงชักจูงของผู้อื่น ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองไม่ใช้ปัญญา  ทีนี้พอเราสอนให้เด็กเข้าใจว่าเออที่กินนี้กินเพื่ออะไร  อย่างน้อยก็ให้เขาถามตัวเองมีคำตอบมองเห็นด้วยปัญญาว่า  อ๋อที่อาหารนี่ที่แท้มันเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรงมีสุขภาพดี  อย่างที่ว่าเมื่อกี้แล้วจะได้เอาร่างกายไปใช้ประโยชน์ทำสิ่งที่ดีงามแล้วก็ดำเนินชีวิตที่เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป  พอแกมองเห็นอย่างนี้แกเห็นเลยมันชัดมันถูกต้องมันเป็นความจริงพอแกเห็นว่าเป็นความจริงแล้ว  เราก็หนุนได้ว่านี่เห็นมั้ยการที่บริโภคเพื่อจุดมุ่งหมายนี้เป็นการกินด้วยปัญญา  เด็กจะมีความมั่นใจในตนเองภูมิใจในการกินอย่างนี้  แล้วแกก็จะไม่ตกไปใต้อำนาจค่านิยมก็จะช่วยถ่วงดุลได้เป็นดุลยภาพ  อย่างการเสพรสการโก้เก๋มันก็จะถูกควบคุมให้อยู่ในอัตราที่เบาลงหรือเกิดความพอดีขึ้นมา  เพราะฉะนั้นการกินด้วยปัญญาก็เป็นการกินที่พอดี  เพราะทำให้เกิดการพอดีในแง่หนึ่งก็ปริมาณของสิ่งเสพบริโภคพอดีกับความต้องการของชีวิต  แล้วก็สองก็โดยประเภทของสิ่งที่บริโภคเช่นอาหารก็บริโภคสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์  ก็ทำให้ประหยัดไม่สิ้นเปลืองไปในตัว  ก็เป็นการสนองความต้องการของชีวิตที่แท้จริงซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ  ไม่ใช่เป็นการสนองความต้องการของอัตตาตัวตนที่เกิดจากตัณหา  อันนี้ได้ดุลยภาพแล้วนะแบบนี้ก็หลักที่หนึ่งเรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา  ก็ขยายไปสู่เรื่องการใช้เทคโนโลยีเป็นต้น  ให้เด็กถามตัวเองหรือถามเด็กก็ได้ว่า เอาอันนี้นะประโยชน์ของสิ่งนี้ใช้เพื่ออะไรประโยชน์มันอยู่ที่ไหน  แล้วเมื่อแกมีปัญญาแกรู้เข้าใจก็ทำให้ได้ตามวัตถุประสงค์นั้นมีความมั่นใจในตัวเอง  เพราะฉะนั้นคนมีปัญญาก็หมายถึงมีการศึกษาขึ้นมาด้วย นี้ถ้าไม่มีปัญญาไม่บริโภคด้วยปัญญาแล้วจะเรียกว่ามีการศึกษาได้ยังไง  ปัจจุบันนี้เราก็ไม่แน่ใจว่าที่ทำทำกันอยู่นี่เป็นการศึกษารึเปล่า  เอาล่ะครับโภชเนมัตตัญญุตาอันนี้ก็พูดกันไปเยอะแล้วนะ  เราก็มาทวนกันอีกก็เป็นตัวที่มาช่วยสร้างดุลยภาพในยุคของการเสพบริโภคนี้  ได้ตัวนี้มาก็ช่วยโลกได้เยอะแยะแล้ว  ทีนี้ต่อไปก็อะไรล่ะ  ข้อที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เป็นหลักการพื้นฐานในการพัฒนามนุษย์ก็บอกแล้วว่า  มนุษย์นี้เป็นอยู่ชีวิตประจำวันก็อยู่กับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม  แล้วเราก็เรียนหลักมาแล้วว่าการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย  นี้ใช้สองอย่าง  หนึ่งใช้เพื่อเสพสนองตัณหา  สองใช้เพื่อศึกษาสนองฉันทะใช่มั้ย  ทีนี้คนที่ยังไม่มีการศึกษาเลยก็มีแต่ตัณหาซึ่งตั้งอยู่บนฐานของอวิชชา  ก็ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย  เพื่อเสพ  พอเสพแล้วมีความสุขจากสิ่งเสพนั้น  ทีนี้สิ่งที่เจอเป็นวัตถุภายนอกก็มีสองแบบคือสิ่งที่ชอบใจกับไม่ชอบใจ  เจอสิ่งที่ชอบใจได้เสพก็มีความสุข  เจอสิ่งไม่ชอบใจก็ทุกข์  ก็เลยมีสุขทุกข์ที่วนเวียนอยู่กับเรื่องของสิ่งชอบใจไม่ชอบใจ  ทีนี้ต่อมาเราพัฒนาเด็กขึ้นมาให้รู้จักใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย  เพื่อการศึกษาคือเพื่อการเรียนรู้ว่า  ที่จริงแล้วชีวิตมนุษย์จะอยู่ดีได้นี่ก็คือการรู้จักสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอะไรคืออย่างไรมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเราอย่างไร  มันเป็นคุณเป็นโทษแก่เราอย่างไร  เราจะต้องปฏิบัติต่อมันอย่างไร  ซึ่งการที่จะรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องดำเนินชีวิตได้ดีอย่างนี้  มันจะต้องอาศัยปัญญาซึ่งจะเกิดขึ้นจากการเรียนรู้โดยใช้ตา หู จมูก ลิ้น ถูกต้อง  เมื่อเราใช้ตาดูหูฟังเป็น  แทนที่จะไปติดอยู่แค่การเสพมันก็กลายเป็นว่าใช้ตาดูหูฟังให้ได้ความรู้คือการเรียนรู้  พอเด็กเริ่มเรียนรู้เด็กก็จะมีความสุขจากการได้รู้  เมื่อมีความสุขจากการได้รู้ก็ทำให้พัฒนาความอยากรู้มากขึ้น  ความอยากรู้เกิดเป็นความใฝ่รู้  พอเป็นความใฝ่รู้อยากรู้สนองความต้องการในการเรียนรู้ก็ยิ่งมีความสุข  พอความใฝ่รู้ทวีขึ้นพัฒนาขึ้นเข้มขึ้นความสุขจากการเรียนรู้ก็มากขึ้นทุกที  มันก็มาช่วยสร้างดุลยภาพกับการใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพื่อเสพ  แล้วก็ขยายมิติแห่งการมีความสุขตอนนี้เริ่มพัฒนาแล้ว  แต่ก่อนนี้มีความสุขจากการใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพื่อเสพอย่างเดียว  ตอนนี้มีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้  ใช้ตาดูหูฟังเพื่อจุดมุ่งหมายใหม่คือการเรียนรู้แล้ว  ทีนี้อย่างที่เคยบอกไว้แล้วว่าการเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อสิ่งชอบใจไม่ชอบใจ  สิ่งชอบใจก็ได้เรียนรู้  สิ่งไม่ชอบใจก็ได้เรียนรู้  เพราะฉะนั้นจากการพัฒนาในเรื่องของความใฝ่รู้  การใช้ตาดูหูฟังเพื่อการศึกษาก็เลยทำให้เด็กนี่พ้นจากวงจรแห่งสุขทุกข์จากสิ่งชอบใจไม่ชอบใจ  กลายเป็นว่าสามารถมีความสุขได้จากประสบการณ์ทุกอย่างไม่ว่าชอบใจไม่ชอบใจ  เพราะมองในแง่การเรียนรู้แล้วมันไม่เกี่ยวกับชอบใจไม่ชอบใจ  การเรียนรู้นั้นเรียนจากประสบการณ์ได้ทุกอย่าง  ยิ่งสิ่งที่ไม่ชอบใจก็อาจจะได้เรียนรู้มากด้วย  เพราะฉะนั้นก็เปิดช่องทางของความสุขเพิ่มขึ้น  ได้มาเอาความสุขชนิดใหม่ไปดุลยภาพกับความสุขจากการเสพด้วย  แล้วยังแถมทำให้เป็นความสุขที่ประณีตที่เป็นอิสระมากขึ้น  เพราะว่ามันพ้นจากวงจรแห่งความสุขทุกข์จากความชอบใจไม่ชอบใจ  นี่คือความสุขจากการใช้ตาหูเพื่อการศึกษาก็จะตาดูหูฟังดูเป็นฟังเป็นเป็นต้น  ดูเป็นฟังเป็นก็พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง  ทีนี้ความอยากชนิดใหม่คือความอยากรู้ใฝ่รู้นี้เราเรียกว่าฉันทะ  ตอนเดิมก็ใช้ตาดูหูฟังเพื่อสนองตัณหาคือการเสพ  ตอนนี้ก็ใช้ตาดูหูฟังเพื่อสนองฉันทะคือความใฝ่รู้  ต่อมาก็พอพัฒนาความใฝ่รู้ขึ้นมาแล้วความรู้นี้จะทำให้เราก้าวไปสู่ความอยากความต้องการอีกขั้นหนึ่ง  คือเมื่อรู้แล้วจะสามารถแยกสิ่งที่อยู่ในภาวะที่ดีที่ควรจะเป็นกับสิ่งที่ไม่ดีในภาวะที่ไม่ควรจะเป็น  แยกได้ระหว่างสิ่งที่อยู่ในภาวะสมบูรณ์กับสิ่งที่อยู่ในภาวะบกพร่อง  ทีนี้ความรู้นี้จะทำให้เกิดการอยากจะให้สิ่งนั้นมันอยู่ในภาวะที่มันดีที่มันสมบูรณ์ที่มันควรจะเป็น  ทีนี้เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วแยกได้แล้ว  อยากจะให้มันอยู่ในภาวะที่ดีที่ควรจะเป็น  พอเห็นสิ่งที่ไม่ดีบกพร่องไม่เต็มไม่บริบูรณ์ก็อยากจะทำการแก้ไข  ทำให้มันดีให้มันเต็มให้มันสมบูรณ์  ตอนนี้ก็เกิดความใฝ่ชนิดใหม่ความอยากชนิดใหม่เรียกว่าใฝ่ดี  ความอยากให้มันดีพออยากให้มันดีก็เลยอยากทำให้มันดี  เพราะว่าสิ่งที่มันยังไม่ดีไม่สมบูรณ์ยังบกพร่องอยู่เห็นแล้วก็อยากทำให้มันดี  เห็นพรมปูพื้นไม่สะอาดก็อยากให้มันสะอาด  เห็นพื้นที่มันไม่เรียบร้อยมันขรุขระก็อยากให้มันเรียบร้อย  เห็นต้นไม้เฉาเหี่ยวก็อยากให้มันเขียวขจี  พอความรู้อันนี้มาก็อยากให้มันดี  อยากทำให้มันดีพอทำให้มันดีการกระทำนั้นก็ทำให้เกิดความสุข  ตอนนี้ก็ได้ความสุขอีกขั้นหนึ่งความสุขขั้นนี้ก็คือความสุขจากการกระทำ  แต่เป็นการกระทำให้มันดีก็เลยเรียกว่าการสร้างสรรค์  ก็เกิดมีความสุขชนิดใหม่ก้าวอีกขั้นหนึ่งเรียกว่าความสุขจากการสร้างสรรค์  เป็นการก้าวจากความสุขจากการศึกษาก็ต่อเนื่องกัน  ความสุขจากการศึกษามาแล้วความสุขจากการสร้างสรรค์ก็ตามมา  อันนี้ความสุขจากการสร้างสรรค์ก็มาทำให้คนมีช่องทางมีความสุขเพิ่มขึ้น  แล้วข้อดีของมันก็คือว่ามันทำให้การกระทำมีความสุขซึ่งต่างกับฝ่ายเสพ  ถ้าเด็กอยู่ในขั้นของการหาความสุขจากสิ่งเสพแกต้องได้รับการบำรุงบำเรอเป็นฝ่ายรับจึงจะมีความสุข  ถ้าแกต้องทำอะไรแกก็จำใจฝืนใจแกก็ทุกข์  จนกระทั่งทำให้การกระทำนี้เป็นความทุกข์ไป  การกระทำจะมีความหมายเป็นความทุกข์สำหรับนักเสพ  เพราะฉะนั้นพอมาเป็นนักสร้างสรรค์อยากจะทำอะไรต่ออะไรให้มันดีนี่การกระทำกลายเป็นความสุข  เมื่อการกระทำเป็นความสุขการสร้างสรรค์เป็นความสุขเด็กก็จะเข้มแข็ง  เด็กที่เป็นนักเสพไม่อยากทำอะไรการกระทำเป็นความทุกข์ก็จะอ่อนแอลงไปใช่มั้ยแล้วก็วนเวียนอยู่ในทุกข์  เพราะว่าไม่สามารถจะสร้างสรรค์อะไรได้  ก็จะต้องแย่งชิงอย่างเดียว  ต้องหาต้องเอาต้องรับต้องได้  ตอนนี้สามารถเป็นผู้กระทำทีนี้เราก็สามารถฝึกต่อไปอีก  พอเด็กมีความใฝ่รู้ใฝ่ดีใฝ่ศึกษาใฝ่สร้างสรรค์มีความสุขแบบใหม่ขยายมิติแห่งความสุขออกไป  แกก็สามารถมีจิตสำนึกในการศึกษาจิตสำนึกในการฝึกตนอีก  พอเราสามารถพัฒนาถึงขั้นนั้นได้เด็กมีจิตสำนึกในการฝึกตน  เด็กที่มีความใฝ่สร้างสรรค์ชอบทำการสร้างสรรค์อยู่แล้วเจอสิ่งที่ทำยากแกก็ชอบ  แกก็มีความสุขจากการทำสิ่งที่ยากอีก  ตอนนี้ไม่กลัวความยากแล้ว  มีความเข้มแข็งขนาดที่ว่าสิ่งที่จะทำให้คนทั่วไปเกิดความทุกข์คนพวกนี้ไม่ทุกข์ซะแล้วนี่ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง  สิ่งที่ยากสิ่งที่เป็นปัญหาคนทั่วไปนั้นเมื่อไม่ได้ฝึกก็แน่นอนว่าต้องเกิดความทุกข์  แต่คนที่ฝึกแล้วพัฒนาแล้วเจอปัญหาเจอสิ่งที่ยากมีจิตสำนึกในการฝึกตนมองเห็นว่า โอ้! นี่เราจะได้ฝึกตนก็ชอบ ชอบก็เอาเลย  พอทำเค้าก็มีความสุขมีความยินดีได้เจอสิ่งที่ยาก  ถึงขั้นมีจิตสำนึกในการฝึกตนก็มีความสุขในการทำสิ่งที่ยาก  เพราะว่ายิ่งยากยิ่งได้ฝึกตนเองมากดีใจชอบใจมีความสุข  ตอนนี้สบายเลยโอกาสที่จะทุกข์ก็น้อยเหลือเกินแล้ว  คนที่เป็นอย่างนี้  ถ้าคนที่เป็นนักเสพไม่พัฒนาก็อยู่เท่าเดิมอยู่ขั้นพื้นฐาน  แกอยากเจอแต่สิ่งที่ได้ที่ชอบใจจะเสพท่าเดียวมีทุกข์เหลือเกิน  แล้วไอ้สิ่งที่เสพนี่มันต้องเพิ่มปริมาณดีกรีด้วยมันเลยยิ่งลำบาก  สิ่งที่เคยให้ความสุขในปริมาณเท่านี้ดีกรีเท่านี้  ต่อมาก็ไม่มีความสุขแล้วเกิดทุกข์จากการเบื่อหน่ายจากการรอคอยจากการไม่ได้ผิดหวังอย่างที่พูดมาแล้วนี่เยอะแยะ  แล้วแถมมาจะต้องทำอะไรก็ทุกข์เจอสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ทุกข์มันวุ่นวายไปหมด  แล้วก็เจออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  สิ่งที่ตัวได้มาครอบครอง  ห่วงกังวลกลัวจะพลัดพราก พอพลัดพรากสูญเสียก็เกิดความทุกข์  ยังไม่สูญเสียไปก็มีความหวาดหวั่นอะไรอีกทุกข์มันเยอะ  ทีนี้พอเราพัฒนาเด็กขึ้นมานี่ตอนนี้หลายช่องทางแล้ว  มิติแห่งความสุขขยายไปเยอะเลย  ตอนนี้เรามีอะไรบ้างล่ะ  เรามีหนึ่งสุขพื้นฐานเราไม่เสียจากแหล่งของความสุขของชีวิตคือธรรมชาติแวดล้อม เพื่อนมนุษย์แล้วก็กิจกรรมแห่งชีวิต  แล้วก็มามี       โภชเนมัตตัญญุตาการบริโภคด้วยปัญญา  การบริโภคพอดีเข้ามาสร้างดุลยภาพแล้วก็มีการพัฒนาชีวิต  ใช้ตาดูหูฟังไม่ใช้เพียงเพื่อเสพแต่เพื่อการศึกษาสนองความใฝ่รู้ แล้วก็พัฒนามาสู่การที่ว่ามีความสุขจากการสร้างสรรค์จากการทำสิ่งทั้งหลาย  คือการมีความสุขจากการกระทำนั่นเอง  มีความสุขจากการกระทำก็เข้มแข็งขึ้นมาแล้วมีจิตสำนึกในการศึกษา  มีความสุขแม้จะได้เกิดจากเจอสิ่งที่ยากสุขไปหมด  ทีนี้ต่อมาก็กิจกรรมในชีวิตก็ดีไปหมด  ตอนนี้จะโยงกลับไปหากิจกรรมชีวิตใช่มั้ย  เพราะการกระทำของเขาทำให้เขามีความสุข  เพราะฉะนั้นเขาก็อยู่กับกิจกรรมในชีวิตของเขาได้สบายไปหนุนในข้อนี้  อีกอันหนึ่งก็คือการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ที่เรียกว่าอยู่ด้วยไมตรีจิตมิตรภาพมีความจริงใจไม่หวาดระแวงก็เป็นความสุขสบายอย่างหนึ่ง   ทีนี้ก็พัฒนาต่อไปว่ามนุษย์อยู่กับสิ่งเสพคิดจะได้จะเอา  ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อเพื่อนมนุษย์มีความหวาดระแวง  เพราะกลัวการแย่งชิงกลัวได้เปรียบเสียเปรียบ  ทีนี้เราก็พัฒนาว่าอย่าเอาแต่คิดได้คิดเอาให้คิดให้ด้วยก็มาพัฒนาในเรื่องทานกัน  จากการที่มนุษย์อยู่กับวัตถุแสวงหาวัตถุมุ่งจะได้จะเอา  ก็เลยให้มีด้านการให้เข้ามาดุลยภาพ  พอมีการให้คิดจะให้ก็จะมองเพื่อนมนุษย์ด้วยความเข้าใจ  มองเห็นสุขทุกข์ของผู้อื่นก็เอื้อต่อการที่จะเกิดคุณธรรมคือเมตตากรุณา  ตอนนี้เมตตากรุณาก็มาความเมตตากรุณาก็เป็นการอยากให้ผู้อื่นมีความสุขอยากช่วยให้คนอื่นให้พ้นทุกข์  พอมีตัวนี้ขึ้นมาก็จะทำให้เราให้ด้วยความสุข  การให้กลายเป็นความสุขมนุษย์ก็จะมีความสุขจากการให้อีก  จิตใจของผู้มีความสุขจากการให้ก็เป็นประดุจจิตใจของบิดามารดาที่รักลูก  รักลูกให้แก่ลูกก็มีความสุข  ทีนี้พอมีความรักเพื่อนมนุษย์มีเมตตากรุณาให้แก่เพื่อนมนุษย์ก็มีความสุข  ต่อไปพัฒนาคุณธรรมอื่นเช่นศรัทธาเชื่อซาบซึ้งในคุณค่าของการทำความดี  เห็นว่าการบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์บำรุงพระศาสนานี้ช่วยให้โลกมีสันติสุขเป็นการดำรงธรรมะไว้แก่สังคม  มองด้วยปัญญาเห็นกว้างไกลขึ้นมา  พอเกิดศรัทธามีการให้ไปช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์หรือไปบำรุงกิจการที่เป็นกุศลบำรุงพระศาสนาก็มีความสุขอีก  จิตใจก็มีความสุขจากการให้  เพราะฉะนั้นคุณธรรมที่พัฒนาตอนนี้ก็ทำให้เรามีความสุขจากการให้มาหนุนในการอยู่ร่วมสังคมให้อยู่ด้วยความสุขยิ่งขึ้น  มนุษย์ก็จะไม่แปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแถมมีความสุขมากขึ้นจากการอยู่ร่วมด้วย  ตกลงว่าเราก็ได้ความสุขจากอีกแหล่งหนึ่งคือจากทานคือการให้  โยงไปหาคุณธรรมในใจคือเมตตากรุณาก็พัฒนาไปพร้อมกัน  ด้านนอกพัฒนาทานคือการให้ด้านในพัฒนาเมตตากรุณาที่เป็นคุณธรรมก็เยอะแล้ว  ทีนี้ต่อไปก็ยังมีการฝึกอีกฝึกยังไงฝึกว่าให้เป็นผู้ที่ว่าสามารถมีความสุขได้มากจากวัตถุน้อยๆ  แต่ก่อนนี้ก็ต้องมีวัตถุเสพมากที่สุดจึงจะมีความสุขมากที่สุด  ต่อมาก็มีดุลยภาพไม่จำเป็นต้องเสพมาก  เพราะมันอาจเป็นอันตรายเป็นโทษทั้งแก่ชีวิตและสังคมและแก่ธรรมชาติแวดล้อม  แต่ว่ามันก็ยังอยู่ในขั้นเสมอตัว  ทีนี้ก็พัฒนาต่อไปสิพัฒนาการที่ว่าเราเก่งสามารถ   มีความสุขได้มากด้วยวัตถุน้อย  นี้เป็นความสุขในด้านวัตถุอันนี้หลักนี้เรียกว่าสันโดษ  สันโดษก็คือความพอใจในสิ่งที่มีที่ได้มีได้มาเท่าไรมีความสุขได้ทั้งนั้น  วัตถุนี้พอเพียงจำเป็นแก่การมีชีวิตอยู่  ถ้าใช้วัตถุน้อยมีความสุขได้มากหรือว่าสามารถมีความสุขได้ด้วยวัตถุน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นก็เป็นความมักน้อยไปเลยเรียกว่า อัปปิจฉตา ก็ไม่ต้องการเกินจำเป็น  ถ้าสันโดษนี่ยังเอาแค่ได้เท่าไรก็ยินดีเท่านั้น  อันนี้ก็จะได้ประโยชน์พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง  แต่ว่าตอนนี้ก็ต้องถามแทรกเข้ามาว่าเรื่องความสุขก็ต้องระวัง  บอกแล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่าแม้ในความสุขที่ชอบทำก็อย่าได้ไปสยบหลงมัวเมาใช่มั้ย  ไปติดไปหลงตอนนี้สันโดษนี้เป็นต้น  เป็นตัวอย่างของการที่อาจจะเกิดความหลงความเพลินติดในความสุข  พอได้วัตถุมาเป็นของตนเท่าที่ได้ที่มี      ก็สันโดษก็มีความสุขได้ก็พอใจก็สบายแล้ว  สบายแล้วติดหลงเพลินในความสุขไม่นำเอาสันโดษไปเป็นปัจจัยแห่งการพัฒนาชีวิต  ก็ตกอยู่ในความประมาททำให้เกิดความเสื่อม  เพราะฉะนั้นสันโดษที่ไม่มีความสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่นที่จะก้าวต่อไปก็เป็นตัวความประมาทไป  เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสเรื่องสันโดษว่าเป็นความประมาทได้  เพราะไปสันโดษในแง่อะไร  เพราะไปสันโดษในกุศลธรรมนั่นเอง  ถ้าสันโดษในวัตถุเองมันก็ไม่ได้เสียหาย  แต่ว่ามันไม่ไปต่อเชื่อมเป็นปัจจัยแห่งการพัฒนาชีวิตหรือเพียรพยายามเข้าถึงสิ่งดีงาม  ตอนนี้ก็เลยต้องเอาสันโดษไปโยงกับเรื่องกิจกรรมแห่งชีวิตเลย  เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่งสันโดษนั้นทำให้เรามีความสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย  ถ้าพูดง่ายๆว่าสันโดษทำให้สุขง่ายด้วยวัตถุน้อยเพื่ออะไรก็เพื่อได้ออมเวลาแรงงานและความคิดเอาไว้  เพราะว่าเมื่อสันโดษด้วยวัตถุสิ่งเสพเราก็ไม่ต้องไปมัวครุ่นคิดไม่ต้องไปมัวเที่ยวทะยานดิ้นรนแสวงหาสิ่งเสพ  ไม่เสียทั้งเวลาแรงงานและความคิดในการไปแสวงหาวัตถุเสพ  เราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อยวัตถุเท่าที่มีเราสุขแล้ว  เราก็เอาเวลาแรงงานและความคิดนั้นไปทุ่มเทให้แก่การทำสิ่งที่ดีงามที่เรียกว่า กุศลธรรม  อันนี้สันโดษก็จะมีประโยชน์เป็นตัวเชื่อมเป็นปัจจัยแห่งการพัฒนาชีวิต  เป็นสันโดษที่ไม่ลอยไม่หลุดไม่ขาดตอนไม่ตัน  ถ้าเป็นสันโดษชนิดที่ว่า เออ! มีวัตถุแค่นี้ฉันก็สุขแล้วสุขแล้วสบายก็เลยนอนก็เป็นสันโดษขี้เกียจเป็นสันโดษประมาทเป็นโทษ  ที่นี้สันโดษที่เป็นคุณก็อย่างที่ว่าสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย  เสร็จแล้วก็เอาเวลาแรงงานและความคิดที่ออมไว้ได้นั้นไปอุทิศทุ่มให้แก่การทำสิ่งที่ดีงามที่เรียกว่ากุศลธรรมต่อไป  ก็ไปรับกันกับเรื่องความไม่สันโดษในกุศลธรรมก็ไปรับกับเรื่องฉันทะความใฝ่รู้ใฝ่ดี  แล้วก็รับกับเรื่องของการมีจิตสำนึกในการศึกษา  พอรับกันดีก็ทีนี้ตัวมีงานมีการอะไรมีหน้าที่สิ่งที่ดีงามที่จะทำก็เลยเอาเวลาแรงงานและความคิดที่สงวนได้จากการสันโดษในวัตถุนี้ไปทุ่มเทให้แก่การทำงานทำการทำหน้าที่ของตัวเอง  ทำงานทำการด้วยจิตใจที่รักมีความใฝ่ดีมีฉันทะรักงานนั้นด้วย  แล้วทำใจก็ไม่ห่วงไม่กังวลกับเรื่องวัตถุเสพด้วยก็เลยมีความสุขกับการทำงาน  มีความสุขกับการทำการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม  งานก็เลยได้ผลด้วยจิตใจก็เป็นสุขในการทำงานด้วยเลยได้อีกอันหนึ่ง  เพราะฉะนั้นสันโดษก็จะเชื่อมสองอันเข้าด้วยกัน  คือหนึ่งได้ความสุขจากวัตถุแม้น้อยเท่าที่มี  สองทำให้ไปมีความสุขจากการทำการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามทำกิจการงานหน้าที่ได้สองเลย  แล้วประโยชน์ก็คือการเบียดเบียนกันน้อยลง  แล้วพร้อมกันนั้นก็มาช่วยสร้างสรรค์สังคมด้วยการทำกิจการงานหน้าที่ได้ผลด้วย  เพราะฉะนั้นสันโดษนี่เป็นตัวเชื่อมเป็นตัวฝึกที่สำคัญ  เป็นทั้งในแง่ของการได้สุขจากวัตถุแม้น้อย  แล้วก็เป็นตัวหนุนการทำสิ่งที่ดีงามทำการสร้างสรรค์ให้ได้ความสุขจากด้านนี้ด้วย  แล้วผลประโยชน์แก่สังคมหรือส่วนรวมก็เกิดขึ้นมาด้วยนี่ก็ก้าวไปอีกขั้น  เป็นอันว่าสันโดษนี้ทั้งช่วยในแง่ของการสัมพันธ์กับวัตถุสิ่งเสพ  ทั้งช่วยในแง่หนุนความสุขจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเองก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งล่ะนะ  ทีนี้เอาล่ะเรื่องสันโดษนี้เคยพูดไปเยอะแล้ว  เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องมาพูดมากอีก  พอพูดไปก็อดไม่ได้คอยจะลงไปในรายละเอียดมากเกินไป  พอสันโดษมาช่วยแล้วเราก็พัฒนาไปได้  ทีนี้ก็พระพุทธเจ้าก็สอนแล้วให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมก็ไปเร่งสร้างสรรค์กุศลธรรมทำความดีงามมีความสุขจากการบำเพ็ญกุศลธรรมในการพัฒนาชีวิต  ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา  ก็พัฒนากันใหญ่  ทีนี้ต่อไปก็เข้ามาสู่ภายในบ้าง  สันโดษนี่ยังคาบเกี่ยวโยงระหว่างภายในภายนอกเพราะเป็นความสัมพันธ์กับวัตถุด้วย  อันนี้ความสุขยังไม่หมดพัฒนาต่อไปก็ความสุขจากศักยภาพของมนุษย์ที่มีความสามารถในการประดิษฐ์ในการประดิษฐ์ในการปรุงแต่งซึ่งสัตว์ทั้งหลายอื่นไม่มี  สัตว์ทั้งหลายอื่นนี่มันอยู่ยังไงก็อยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติ  เกิดมายังไงก็ตายไปอย่างนั้น  แต่มนุษย์ไม่ใช่อย่างนั้น  มนุษย์มีความสามารถในการปรุงแต่งในการประดิษฐ์  เพราะฉะนั้นแกก็คิดสร้างสรรค์สิ่งโน้นสิ่งนี้  ทำให้วัตถุเจริญงอกงามขึ้นมาเป็นเทคโนโลยีเป็นอารยธรรมเป็นสิ่งก่อสร้างประดิษฐกรรมอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมด  เป็นโลกของมนุษย์ขึ้นมานี่เกิดจากความสามารถในการประดิษฐ์และปรุงแต่งสร้างสรรค์  ทีนี้การประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์อันนี้มาจากไหน  ก็มาจากความคิดนั่นเอง  ความคิดด้านหนึ่งของมนุษย์นั้นมาประดิษฐ์ปรุงแต่งวัตถุภายนอกเพื่อจะช่วยให้การเป็นอยู่ของตนเองนี้ได้ปลอดภัยสะดวกเกื้อหนุนเป็นปัจจัยแห่งการมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น  แต่อีกอันหนึ่งก็คือมาประดิษฐ์สิ่งสำหรับเสพบำรุงบำเรอตัวเอง  ไอ้ตรงนี้นะในการประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์วัตถุนี่นะ  มนุษย์ก็แยกกันไม่ค่อยออกระหว่างสองอย่างว่าแค่ไหนจะเป็นการประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์เพื่อมาเป็นปัจจัยแห่งชีวิตที่ดีงาม  แค่ไหนจะเป็นการประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์เพียงเพื่อมาสร้างสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเอง  เมื่อมนุษย์แยกไม่ได้อย่างนี้  ไอ้จุดเด่นมันก็จะไปอยู่ที่การประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์เพื่อหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเอง  พอไปอย่างนี้ลัทธินิยมบริโภคก็เจริญงอกงาม  ต่อไปมนุษย์ก็เสื่อมเพราะว่ามนุษย์ก็กลายเป็นนักเสพใช่มั้ย  ความเป็นนักสร้างสรรค์ก็จะหมดไปเพราะว่าไม่ได้ไปพัฒนาตัวเอง เราไปสนองความอยากความปรารถนาในวัตถุ  นี่ก็คือวงจรของสังคมที่ว่ามาทำไมเจริญแล้วก็เสื่อม  แต่ก่อนนี้ขาดแคลนทำให้ตัวเองต้องคิดค้นหาทางประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์  เพื่อจะให้มีปัจจัยมาช่วยให้มีชีวิตอยู่ได้ดีก็เลยทำให้เจริญงอกงาม  ต่อมาไปคิดว่าการประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์นี้เพื่อจะได้มีสิ่งเสพให้มากกลายเป็นนักเสพ  การสร้างสรรค์ก็อ่อนกำลังลงไป  ตกลงมนุษย์ยุคปัจจุบันก็แยกไม่ค่อยออก  เพราะฉะนั้นถ้าแกแยกออกแกก็จะหันไปสร้างสรรค์ประดิษฐ์เพื่อให้วัตถุที่ได้เจริญงอกงามขึ้นมานี่ได้เพิ่มพูนขึ้นมาเพื่อเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่การมีชีวิตที่ดีงามและการสร้างสรรค์ให้สังคมนี้อยู่ดีมีสันติสุข  ไม่ใช่เป็นการที่ไปสร้างสรรค์ประดิษฐ์เพื่อจะได้มีสิ่งเสพมาบำรุงบำเรอตนเองใช่มั้ย  นี่จุดแยกที่สำคัญ  ทีนี้อันหนึ่งแล้วก็เป็นอันว่ามนุษย์นี้จากความคิดความสามารถในการปรุงแต่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ก็มาประดิษฐ์วัตถุปัจจัยภายนอกเป็นวัตถุปัจจัยหรือเป็นวัตถุสิ่งเสพ  เราแยกเป็นสองศัพท์นะ  สร้างสรรค์ปัจจัยแห่งชีวิตที่ดีงามกับสร้างสรรค์สิ่งเสพสิ่งบริโภคบำรุงบำเรอ  สองอย่างนี้นะถ้ามองในแง่พุทธศาสนาต้องสร้างปัจจัยไม่ใช่สร้างสิ่งเสพไม่ใช่สร้างสิ่งบำรุงบำเรอ  ทีนี้ยังไงก็ตามทั้งสองนี้ก็ยังเป็นข้างนอกอยู่  แต่ว่าอันที่สร้างวัตถุภายนอกเป็นปัจจัยนี่นะมันจะไปเชื่อมกับข้างในได้  พอเราสร้างวัตถุประดิษฐ์ภายนอกให้เป็นปัจจัยนี่มันก็ไปหนุนการพัฒนาชีวิตในด้านภายใน  การแสวงหาปัญญาการพัฒนาจิตใจให้ดีงามให้มีความสุขขึ้นมา  ในด้านภายในจิตใจเราก็มีการปรุงแต่งการปรุงแต่งภายใน  ในตอนนี้แยกระหว่างการปรุงแต่งภายในกับภายนอก  คิดปรุงแต่งเพื่อสร้างสรรค์วัตถุปัจจัยสิ่งเสพด้านหนึ่ง  ภายในก็คือปรุงแต่งสุขทุกข์นี้เอง  มนุษย์ก็มีความสามารถอันนี้ด้วย  มนุษย์ก็จะมีการปรุงแต่งจิตใจของตัวเองอยู่ตลอดเวลา  ปรุงแต่งกุศลธรรมอกุศลธรรม  ปรุงแต่งความสุขและความทุกข์  ทีนี้มนุษย์ที่เพ่งมองไปข้างนอกในการหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเองก็จะไม่ได้พิจารณาไม่รู้จักแยกแยะว่าตัวเองไม่ได้เอาใจใส่ว่าในเวลาเดียวกันภายในจิตใจของตัวเองนี่ตัวเองปรุงแต่งอะไร  ปรุงแต่งสุขหรือปรุงแต่งทุกข์  เมื่อไม่เอาใจใส่ปรากฏว่าคนส่วนมากนี่ปรุงแต่งทุกข์ทั้งๆที่ความสามารถปรุงแต่งได้ทั้งสุขทั้งทุกข์  แต่แกชอบปรุงแต่งทุกข์  แกก็ปรุงแต่งเรื่องความคิดที่ประกอบด้วยตัณหา อุปาทาน ความอยากสนองความต้องการในการเสพ ความยึดสำคัญมั่นหมายในสิ่งต่างๆ  เกิดเป็นความห่วงความกังวลความหวาดระแวงการกลัวจะเสียผลประโยชน์การกลัวจะแพ้เขาการกลัวว่าอะไรต่างๆมากมาย  การกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้จะไม่สำเร็จ  แล้วก็เกิดความเครียดความกังวลความกลัดกลุ้มใจ  แล้วก็รับสิ่งอารมณ์เข้ามาทางตาหูจมูก  อะไรก็ตามที่มันกระทบในทางไม่สบายใจเก็บมาแล้วก็เอามาปรุงแต่ง  เวลามานั่งเงียบหรือแม้แต่เวลานอนบางคนก็ไปเก็บเอาแต่อารมณ์ที่มากระทบกระทั่งแล้วไม่สบายใจมาคิดปรุงแต่ง  ตอนนี้ความสามารถปรุงแต่งก็เอามาใช้ในทางที่ปรุงแต่งทุกข์  ก็ปรากฏว่าคนจำนวนมากที่ไม่ได้ฝึกฝนพัฒนาตนเองไม่รู้ตัว  ข้างนอกตัวเองก็ประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์วัตถุเสพไอ้ข้างในใจก็ปรุงแต่งทุกข์คู่กันไป  ไอ้ข้างนอกก็จะหาสุขจากสิ่งเสพไอ้ข้างในก็ปรุงแต่งทุกข์ให้ตัวเองอยู่เรื่อยเลยตลอดเวลาคู่กัน   เดี๋ยวนี้คนเป็นอย่างนี้กันมากเลย  เพราะฉะนั้นไอ้ข้างนอกก็ทะยานหาวัตถุเสพนักหนาไม่สุขซักที  ไอ้ข้างในก็ทุกข์ใจก็เครียดไม่มีความสบายใจเลยใช่มั้ย  เพราะฉะนั้นถ้าไปอย่างนี้แล้วมันจะบรรลุจุดหมายชีวิตดีงามมันจะมีความสุขได้ยังไงไม่มีทางเพราะว่าใช้ความสามารถในทางที่ผิด  รวมความก็คือมนุษย์ปัจจุบันนี้เพราะว่าไม่ได้ศึกษาก็ใช้ความสามารถในทางที่ผิด  ข้างในตัวเองก็ปรุงแต่งทุกข์เอาอะไรต่ออะไรมาก็เก็บมาก็มาปรุงแต่งเรื่องความเครียดความกระวนกระวายจนกระทั่งเป็นลักษณะสังคมยุคนี้เลยเป็นสังคมที่คนมีจิตใจเครียดมากแล้วก็เอาการปรุงแต่งนี้ก็มาจากความสัมพันธ์ในสังคมด้วยในการที่ว่าเป็นระบบแข่งขันแย่งชิง  เรื่องของระบบสังคมก็มาหล่อหลอมจิตใจทำให้เพิ่มความเครียดยิ่งขึ้น  กลายเป็นทุกข์ในจิตใจแล้วก็ออกมาระบายก็เป็นทุกข์ในสังคม  เพราะว่าคนที่มีความทุกข์ก็มีความโน้มเอียงในการที่จะระบายทุกข์ให้แก่ผู้อื่น  เราก็บอกว่าอ้าว! ให้ท่านเปลี่ยนซะ  ให้ใช้ศักยภาพความสามารถในการปรุงแต่งนี่นะมาปรุงแต่งสุขซะแทนที่จะปรุงแต่งทุกข์ก็ปรุงแต่งกุศลธรรมและปรุงแต่งความสุข  สิ่งที่เรามองเห็นสิ่งเดียวกันนี่ถ้ามองในแง่ไม่ดีก็ทำให้ไม่สบายใจปรุงแต่งใจก็ทุกข์  แต่ถ้าเรารู้จักมองเราอาจจะหาผลประโยชน์จากมันได้  ปรุงแต่งใจให้เป็นสุขก็ได้ใช่มั้ย  หรือว่าสิ่งที่ได้พบได้เห็นมากมายจิตใจมักจะไปติดกับสิ่งกระทบที่ไม่สบายใจไม่ชอบใจ  สิ่งที่น่าสบายใจไม่เก็บเอามา  เราก็ไปเก็บเอาสิ่งที่ดีๆ น่าชอบใจสบายใจเอามาปรุงแต่งจิตใจของตัวเอง  หรืออะไรที่มันเข้ามาแล้วจะรบกวนจิตใจไม่มีประโยชน์เราก็ใช้สติกันมันเสีย  เราไประลึกเอาสิ่งที่ดีงามมา  นี่พระพุทธเจ้าก็เลยสอนวิธีปรุงแต่งจิต  นี่คือเรื่องของสมถะทั้งหมด  เรื่องของสมถะกรรมฐานการฝึกสมาธิเรื่องจิตตภาวนานี้เป็นการที่ทำให้มนุษย์ได้สามารถใช้ศักยภาพของตนเองในการสร้างสรรค์ปรุงแต่งความสุขให้แก่ตนเองในภายในก็สร้างปรุงแต่งจิตภายใน อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องพุทธานุสติ  ธัมมานุสติ ทำไมคุณไประลึกเรื่องไม่เข้าเรื่องล่ะ  ทำให้ทุกข์โดยใช่เหตุ  ก็เอามาระลึกเรื่องที่ดีๆสิ  ถ้ายังนึกไม่ออกนะก็เอาล่ะพุทธานุสติบ้าง  ธัมมานุสติบ้าง  สังฆานุสติบ้าง   ศีลานุสติบ้าง  จาคานุสติบ้าง  เทวตานุสติบ้าง  แม้แต่มรณานุสติ  มรณสติระลึกถึงความตายที่คนเค้าว่าน่ากลัวนั้น  ระลึกเป็นมันก็ได้ความสุข  เออ! แปลกดีเหมือนกัน  รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ  พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ปรุงแต่งจิตในแง่ดีแล้วรู้จักเอาประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่างแม้ที่เลวร้ายที่สุดที่เราไม่ชอบใจน่ากลัวที่สุดก็เอามาระลึกก็ทำให้ใจสบายได้นะถ้าระลึกเป็น  ตกลงว่าพระพุทธเจ้าสอนเยอะนะแม้แต่หายใจ  คุณไม่รู้จะทำอะไรใจไม่สบายก็ใช้สติไม่เอาอารมณ์นั้นมานึกคิด  อ้าว! คุณหายใจเป็นซะ หายใจมาตลอดทุกวันไม่เคยหายใจโดยความรู้ไม่เคยหายใจเป็นหายใจเรื่อยเปื่อยไปหายใจตามอารมณ์  เวลาโกรธก็หายใจแรงฟืดฟาดนะทำให้เสียสุขภาพ  หรือว่าเวลากลัวก็กลั้นหายใจซะทำให้หายใจไม่ได้ประโยชน์  ก็หายใจให้เป็นหัดหายใจหายใจอย่างมีสติ  ต่อมาก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อร่างกายต่อสุขภาพด้วยนะ  แล้วเวลาไม่มีอะไรจะทำเดี๋ยวจะไปกลุ้มกังวลไปปรุงแต่งไม่เข้าเรื่อง  ก็ไม่ต้องนึกอะไรก็กำหนดลมหายใจซะเอาจิตอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออกสบายๆ  หายใจสบายสม่ำเสมอ  ได้ประโยชน์แก่ร่างกายตัวเองด้วยและรักษาจิตใจทำให้จิตใจนั้นอยู่กับสติอยู่กับสิ่งไม่มีโทษ  ก็ไม่ปรุงแต่งในเรื่องร้ายไม่มีความทุกข์ด้วยหรืออย่างปรุงแต่งจะให้ดีกว่านั้นอีก  เวลาหายใจก็ปรุงแต่งไปด้วยว่าทำจิตให้เบิกบานหายใจเข้า ทำจิตให้โล่งเบาหายใจออก  เวลาหายใจเข้าก็ทำใจให้สบายชื่นบานผ่องใส  เวลาหายใจออกก็ทำใจให้ปลอดโปร่งโล่งเบา  ภาวนาใช้คำภาวนาแบบภาษาไทยก็ได้เอามาใช้ปรุงแต่ง  เวลาหายใจก็ปรุงแต่งใจไปด้วย  ก็อย่างที่ว่านะนี่ก็เป็นวิธีหนึ่งง่ายๆ ทำจิตเบิกบานหายใจเข้า  ทำจิตโล่งเบาหายใจออก  ทำอย่างนี้ไปทำใจของตัวเองทำตามคำที่ว่าก็สบายมีความสุข  ไม่เอาเรื่องไม่เข้าเรื่องมานึกมาคิดการปรุงแต่งจิตนี่เยอะ  อย่างน้อยอย่างที่เคยพูดไปแล้วว่าทำใจให้มีปราโมทย์  ความร่าเริงเบิกบานใจ  ปิติความอิ่มใจ  ปัสสัททิความสงบเย็นผ่อนคลายกายใจ  แล้วก็สุขความโล่งโปร่งเบาคล่องใจสะดวกใจ  แล้วก็สมาธิความมีจิตสงบแน่วแน่ตั้งมั่นอยู่ตัวไม่ถูกรบกวนด้วยอะไรทั้งสิ้น   นี่อย่างนี้ถ้าได้ภาวะจิตห้าอย่างนี้ประจำอยู่ก็สบายมีความสุข  นี่ก็การปรุงแต่งทั้งนั้น  ใช้ความสามารถในการปรุงแต่งที่มนุษย์มีอยู่นี้ให้เป็นประโยชน์  อย่าไปปรุงแต่งให้เกิดโทษแก่ตนเอง  ปรุงแต่งอย่างนี้แล้วก็จะไปเชื่อมกับการทำให้เกิดปัญญา  พอจิตมันเป็นสมาธิจิตที่ดีเป็นกุศลนี้มันจะคิดอะไรต่ออะไรมันก็โล่งเบาก็คิดคล่อง  ก็เอาจิตที่มีสมาธิจิตที่ดีนี้ไปใช้ประโยชน์  ที่เรียกว่าเป็นจิตที่กัมมนียจิตที่เหมาะกับการใช้งาน  ก็ไปสู่การพัฒนาปัญญา  พัฒนาปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง  ตอนนี้แหละก็จะถึงสุขขั้นสุดท้ายเรียกว่าสุขเหนือปรุงแต่ง  เมื่อกี้สุขในขั้นปรุงแต่งนะพวกสมถะ  ต่อไปสุขขั้นสุดท้ายสุขเกิดจากปัญญาเหนือปรุงแต่งเรียกว่าวิปัสสนา  พอวิปัสสนาตอนแรกก็ยังปรุงแต่งเอาปัญญามาปรุงแต่งจิตให้ก้าวไปในกุศลธรรมให้พ้นจากทุกข์ให้มีแต่ความสุขเป็นประจำใจ  จนกระทั่งพอปัญญานี้เจริญงอกงามพรั่งพร้อมสมบูรณ์รู้เข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายแล้วก็จะเป็นจิตที่เป็นอิสระ  ตอนนี้เป็นจิตเหนือปรุงแต่งเป็นความสุขที่ไม่ต้องปรุงแต่งเป็นขั้นสูงสุด  อันนี้เอาไว้ครั้งต่อไป

               

     

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service