แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เป็น Illusion นั่นเอง เป็นเรื่องหลงผิดโดยสิ้นเชิง หมายความว่าไอ้ที่ผ่านมานี่ไม่มี Pure Science เลย นี่พวกนี้ลงมติว่างั้น ที่เราเคยเชื่อกันว่า Pure Science นั้นไม่มีเลย ไอ้ความเข้าใจว่า Pure Science เนี่ยเป็นความหลงผิด แถมบอก Entirely ด้วยโดยสิ้นเชิงเลย เป็นความหลงผิดโดยสิ้นเชิง นี่ Pure Science ไม่มี ฉะนั้นความใฝ่ปรารถนาความจริงแท้ของธรรมชาติแบบไอน์สไตน์นี้ถือว่าเป็นความคุณค่าที่บริสุทธิ์ แต่เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ได้เอาใจใส่เรื่องนี้ก็เปิดช่องเรียกว่าทำปลายเปิดไว้ คุณค่าอื่นก็เข้ามาครอบงำ คุณค่าของการที่เข้ามาครอบงำคืออะไร ก็คือคุณค่าที่พูดมาแล้ว จากภูมิหลังวัฒนธรรมเก่าของตนเอง ก็คือการที่จะพิชิตธรรมชาติ ก็มีคุณค่าที่สำคัญคือความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ แล้ววิทยาศาสตร์ตะวันตกกับยอมรับอันนี้สำคัญเด่น อย่างใน Encyclopedia Britannica นี่เขียนบอกเลย บอกการที่วิทยาศาสตร์ตะวันตกได้พัฒนามาล้ำหน้าตะวันออกได้ ก็เพราะความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ เค้าย้ำอย่างนี้เลย แล้วไม่ใช่ตำราเดียว อาตมาเคยอ่านที่อื่นด้วย แล้วก็ลืมๆไป พวกนี้มีความเชื่ออย่างนี้เลย คือเค้าบอกว่าแต่ก่อนนี้ทางตะวันออกมีวิทยาศาสตร์เจริญกว่าตะวันตก แต่เพราะไอ้แรงจูงใจอันนี้ คือความใฝ่ปรารถนาจะพิชิตธรรมชาติเนี่ย ทำให้วิทยาศาสตร์ของเขานี่ เจริญล้ำหน้าตะวันออก ฉะนั้นตอนนี้วิทยาศาสตร์อาจจะพูดบอกว่า ฉันมีหน้าที่ค้นพบความจริง หาความจริง เอาความจริงขึ้นมาแสดง ใครจะเอาความรู้นั้นไปใช้อย่างไรเป็นเรื่องของเขา เทคโนโลยีไม่เกี่ยว ฉันไม่รับผิดชอบอะไรเนี่ย แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น คุณค่าที่แฝงหรือเสริมซ้อนเข้ามาได้มีอิทธิพล เป็นแรงจูงใจสำคัญอยู่เบื้องหลัง ซึ่งผลักดันการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เบนวิถีและทิศทาง แง่มุม จุดเน้นในการค้นคว้าของวิทยาศาสตร์ให้ไปสนองแรงจูงใจที่เป็นคุณค่าเหล่านั้น อย่างที่อาตมาได้ยกตัวอย่างแล้ว แม้แต่ผลประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมก็เป็นตัวเบนทิศทาง และให้จุดเน้นแก่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ นี้เมื่อกี้ได้พูดถึงคุณค่ามูลฐานคือแรงจูงใจใฝ่รู้ คือต้องการรู้ความจริงของธรรมชาติที่เป็นความ เป็นคุณค่าที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ นี้ก็คุณค่าใหญ่ต่อมาที่แฝงซ้อน เราเรียกว่าคุณค่าซ้อนเสริมเข้ามา ก็อย่างที่อาตมาบอกแล้วก็คือ ไอ้ตัวที่มีอิทธิพลเบื้องหลังเข้ามาอันใหญ่ที่สุด เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนวิทยาศาสตร์แล้วมันตามเข้ามามีอิทธิพล ก็อันเมื่อกี้ คือคุณค่าแฝงจากภูมิหลังเดิมในวัฒนธรรมตะวันตก เป็นพื้นฐานที่ครอบงำตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน ได้แก่ความใฝ่ปรารถนาจะพิชิตธรรมชาติและครองโลก ทำให้คนยุคปัจจุบันและวิทยาศาสตร์เนี่ยมองโลกด้วยท่าทีที่เห็นธรรมชาติเป็นสิ่งปฏิปักษ์ หรือคนละพวก ที่ตนเองจะเข้าไปครอบงำ ทีนี้คุณค่าแทรกซ้อนอันที่ 2 ก็คือความเชื่อในยุคอุตสาหกรรมที่บอกไปแล้วว่าความใฝ่ปรารถนาจะเข้าถึงความสุข ด้วยการเอาธรรมชาติมาจัดการจัดสรรปรุงแต่ง สร้างวัตถุบำรุงบำเรอให้พรั่งพร้อม หมายความว่าเชื่อว่ามนุษย์จะมีความสุขได้แท้จริง ต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม แล้วก็จัดการจัดสรรปรับแปลง ธรรมชาติมาบำรุงบำเรอมนุษย์นั้น ก็ทำให้มนุษย์โดยอิทธิพลความรู้ของวิทยาศาสตร์นี้ ไป Exploit ธรรมชาติ ก็เอาเปรียบธรรมชาติ แต่ว่าในเวลาเดียวกันถ้ามองอีกทีก็กลายเป็นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูก Exploit หมายความว่าถูกพวกนักอุตสาหกรรมเป็นต้น เอาไป Exploit เอาไปใช้แล้วก็กลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์กลายเป็นเบี้ยล่าง เป็นตัวรับใช้เทคโนโลยีและก็อุตสาหกรรมไป อันนี้ก็เลยกลายเป็นว่าที่เกิดคำพูดที่บอกว่า Concept ว่า Pure Science นั้นไม่จริงเลย อย่างที่ว่าเนี่ยก็มาจากอันนี้ อ้าวทีนี้เมื่อพูดไปนั้น อันนั้นเป็นคุณค่าที่มีอิทธิพลต่อวิทยาศาสตร์ ทีนี้ต่อไปคุณค่าประเภทที่ 2 คุณค่าที่เกิดจากวิทยาศาสตร์ คุณค่าอันนี้สำคัญกว่าที่ 1 คุณค่าที่เกิดจากวิทยาศาสตร์ก็เป็นคุณค่าทางด้านความรู้หรือสติปัญญา เพราะวิทยาศาสตร์นี่เป็นเรื่องของความรู้ เป็นเรื่องของปัญญา นี้เวลาเรามองคุณค่าที่เกิดจากวิทยาศาสตร์เนี่ย เรามักมองคุณค่าของความรู้วิทยาศาสตร์ในแง่เอาไปใช้สร้างสรรทำสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่าเทคโนโลยี เราถือว่าเป็นประโยชน์ของความรู้วิทยาศาสตร์ แต่ที่จริงคุณค่าแบบนี้เป็นคุณค่าระดับ 2 เป็น Secondary ยังมีคุณค่าโดยตรงยิ่งกว่านั้น คุณค่าอีกอย่างหนึ่งที่เป็นคุณค่าอยู่ในตัวของความรู้วิทยาศาสตร์เองคืออะไร คุณค่าที่อยู่ในตัวของวิทยาศาสตร์เอง ก็คือตัวความรู้ที่เป็นตัววิทยาศาสตร์นั้น มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันพร้อมด้วยในทันที พอมีความรู้ในวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น ก็มีคุณค่าอันนี้เกิดขึ้นทันทีเลย โดยยังไม่ต้องเอาไปใช้ คุณค่านี้คืออะไร อันนี้จะต้องไขกันต่อไป เอ้าก็ขอย้ำอีกทีเพื่อจะทวนความ เพราะตอนนี้มันอาจยุ่งสับสนนิดหน่อย เป็นอันว่าวิทยาศาสตร์บอกว่าฉันแสวงหาแต่ตัวความรู้ ความจริงล้วนๆ บริสุทธิ์นะ อันนี้คือตัววิทยาศาสตร์ แต่พร้อมกับความรู้ที่เกิดขึ้นนี้ วิทยาศาสตร์ก็ไม่รู้ว่า แท้จริงพร้อมกับความรู้บริสุทธิ์นั้น ก็มีคุณค่าพ่วงมาด้วยในตัว คุณค่าอย่างนี้สำคัญมากและคุณค่าอันนี้แหละ ที่บอกว่ารวมอยู่ในความเข้าใจธรรมชาติด้วย หมายความที่เราจะเข้าใจความจริงของธรรมชาติ จะต้องรู้เข้าใจไอ้ธรรมชาติของคุณค่าอันนี้ด้วย นี่แหละเรื่องคุณค่าจึงรวมอยู่ในการเข้าใจความจริงของธรรมชาติ ตอนนี้ขอสรุปเดี๋ยวจะสับสน สรุปว่าคุณค่าที่เกิดจากวิทยาศาสตร์มี 2 อย่าง 1. คุณค่าที่เป็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ผู้รู้ความจริงนั้นเองทันทีโดยอัตโนมัติ เรียกง่ายๆว่ามีค่าเป็นการพัฒนามนุษย์ หรือเป็นการพัฒนาตัวมนุษย์เอง ได้แก่ การพัฒนาปัญญา ซึ่งจะมีผลในทันทีต่อไปนี้ 1. ทำให้มีท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายที่ตนเกี่ยวข้องเปลี่ยนไปจากเดิม ถ้ารู้ถูกก็เปลี่ยนไปในทางที่ถูกต้อง 1. เปลี่ยนท่าที 2. ทำให้ปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ไปตามความรู้นั้น ก็เราพูดว่าทำให้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้องขึ้น และ 3. พ่วงมาด้วยทำให้เกิดมีอิสรภาพในระดับต่างๆ คุณค่า 3 อย่างนี้โดยสรุปเลย นี้เป็นคุณค่าที่มีอยู่ตัวความรู้นั้น ที่เกิดขึ้นทันที เป็นคุณค่าของมันเองแท้ๆ ของวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากวิทยาศาสตร์ จะต้องยกตัวอย่าง เวลาเรามีความรู้ในวิทยาศาสตร์ รู้อะไรขึ้นมาเนี่ย ท่าทีต่อสิ่งนั้นเปลี่ยนทันที ชาวนาคนหนึ่งตอนมีฝนตกฟ้าคะนอง ฟ้าร้อง ฟ้าลั่น ฟ้าแลบใหญ่ เดินไปในทุ่งนาที่ท้องทุ่งโล่ง แกเดินไปในท้องทุ่งโล่ง แกก็เดินสบาย เดินไปเรื่อยๆ เด่นเชียวตัวเด่น ไม่ได้นึกอะไรเลย ไม่สะพรั่นสะพรึง ไม่รู้สึกอะไร ก็หวาดกลัวไอ้ฟ้าฝ่าเหมือนกัน แต่ก็เปล่ากลัวเหมือนกับอยู่ในที่อื่น แต่พอมีความรู้วิทยาศาสตร์ขึ้นมาว่าไอ้ตัวเด่นอย่างงั้น อาจจะเป็นที่ทำให้ไฟลงมา อะไรทำนองนี้ เพียงแต่มีความรู้นี้ ท่าทีต่อธรรมชาติแวดล้อมเปลี่ยนทันที มันไม่ได้มีความรู้เฉยๆ ท่าทีเปลี่ยนไป อาจจะเดินไปโดยความไหวหวั่นแล้วตอนนี้นะ ไม่ได้รู้สึกอย่างเดิมแล้ว เดินไม่สะพรั่นสะพรึงไม่มีแล้วตอนนี้ หวาดแล้ว ชักใจไม่ดีละ หรืออีกอันหนึ่ง ชาวนาอีกคนหนึ่งเดินไปอย่างงั้นแหละในท้องทุ่ง แกจะถือท่อนไม้หรือแกจะถือท่อนโลหะก็ตาม แกก็ไม่รู้สึกแตกกัน แกก็เดินไปอย่างงั้น แต่พอเรามีความรู้วิทยาศาสตร์ขึ้นมา ไอ้การถือท่อนไม้กับถือท่อนโลหะนี่มันไม่เหมือนกันแล้ว ในจิตใจนี้มีท่าทีเปลี่ยนไปเลย นี้คุณค่านี้มาพร้อมกับความรู้ ไม่ใช่มีแต่ความรู้เฉยๆ คุณค่ามาทันที ทีนี้ท่าทีเปลี่ยนไปแล้ว 2. ตามด้วยการปฏิบัติต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนไปอีกใช่มั๊ย พอเปลี่ยนไป แกมีท่าทีเปลี่ยนไปแล้ว แกเดินในท้องทุ่งโล่ง แกเด่นแกไม่เอาละ แกต้องหาทางหลบ แกอาจจะต้องรีบวิ่งไปหาสิ่งที่สูงใหญ่กว่าแกในโพรงอะไรก็ตาม หรือถ้าแกถือท่อนโลหะอยู่ แกอาจจะเลิกทิ้งมันหรือวางหรืออะไรก็แล้วแต่ นี่ก็คือการปฏิบัติก็เกิดขึ้น แล้วก็ 3. ก็คือการก้าวสู่อิสรภาพ คือความไม่รู้ ความไม่รู้ของมนุษย์นี่เมื่อประสบปัญหาต่างๆ จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความบีบคั้น ติดขัด คับข้อง อันนี้เราเรียกว่าขาดอิสรภาพ หรือทางพระ เรียกว่าเป็นทุกข์ พอเรามีความรู้ขึ้นต่อสิ่งนั้น หนึ่งในใจของเราก็เกิดความร่ม เราเห็นทางออกแล้ว ความติดขัด บีบคั้น คับข้องหายไป อันนี้เรียกว่าอิสรภาพเกิดขึ้นในจิตใจก่อน แล้วก็เกิดอิสรภาพภายนอก คือเราปฏิบัติแก้ปัญหาได้ตามนั้น ความติดขัดคับข้องนั้นก็หายไป นั้นไอ้ความรู้นี้ก็ตามมาด้วยอิสรภาพ เพราะฉะนั้นความรู้นี้จะมีคุณค่า 3 ประการอย่างน้อย 1.ท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนไป 2.การปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนไป ทำให้ปฏิบัติถูกต้อง 3.ทำให้เกิดอิสรภาพ อันนี้เราถือว่าเป็นคุณค่าโดยตรงในตัวของมันเองที่เกิดจากความรู้ ซึ่งจะเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ก็ตาม แต่ว่าวิทยาศาสตร์จะต้องตระหนักในคุณค่าอันนี้ คุณค่าระดับนี้เป็นคุณค่าที่เรียกว่าคุณค่าทางการศึกษา เป็นคุณค่าทางการศึกษาซึ่งมองว่าการเข้าถึงความจริงมีความหมายเท่ากับการเดินก้าวเข้าถึงอิสรภาพของมนุษย์ การศึกษามีคุณค่าในความหมายนี้นะ คือเป็นตัวความรู้พัฒนาปัญญาเพื่ออะไร เพื่อการที่มนุษย์จะเข้าถึงอิสรภาพผ่านพ้นจากการถูกสิ่งทั้งหลายจำกัด บีบคั้น ทำให้ติดขัดคับข้อง ความหมายของการศึกษาอยู่ที่นี่ นี้คุณค่าของวิทยาศาสตร์จะไปสัมพันธ์เป็นคุณค่าโดยตรง วิทยาศาสตร์จะต้องให้เกิดคุณค่าโดยตรง คือคุณค่าทางการศึกษา ต่อไปคุณค่าที่ 2 เป็นคุณค่ารอง เป็นคุณค่าที่เกิดจากวิทยาศาสตร์ คือคุณค่าในระดับการนำเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์สนองความต้องการของมนุษย์ คุณค่านี้แหละที่เราพูดกันมากคือคุณค่าในระดับเทคโนโลยี มนุษย์ไปสนใจคุณค่าของวิทยาศาสตร์ในระดับเทคโนโลยีมากกว่า ซึ่งเป็นคุณค่าระดับรอง ทีนี้ถ้ามนุษย์เข้าใจเรื่องระบบคุณค่าจะไปสนใจคุณค่าระดับที่ 1 คือคุณค่าของวิทยาศาสตร์ที่มีผลโดยตรงคือคุณค่าทางการศึกษา ซึ่งเป็นการพัฒนามนุษย์เข้าสู่อิสรภาพ แล้วคุณค่าทางการศึกษานี้เป็นการพัฒนามนุษย์ ก็จะทำให้มนุษย์เนี่ยพัฒนาตัวไปด้วย เมื่อมาใช้คุณค่าที่ 2 ทางเทคโนโลยี การใช้คุณค่าทางเทคโนโลยีนั้นจะเป็นไปในทางที่ถูกต้องด้วย ทีนี้เราไม่ใช้คุณค่าระดับที่ 1 ไปเอาแต่คุณค่าระดับที่ 2 ไอ้เทคโนโลยีปราศจากการควบคุม ก็เลยเทคโนโลยีนั้นกลับเป็นโทษแก่มนุษย์ไป ก็เป็นอันว่าคุณค่าแท้ที่เราต้องการคือคุณค่าระดับที่ 1 ซึ่งเป็นคุณค่าแท้ในตัวของมันเอง ซึ่งมีมาพร้อมกับความรู้ในวิทยาศาสตร์ มีผลมาช่วยควบคุมคุณค่าระดับที่ 2 ด้วย โดยที่จะเป็นตัวบอกให้รู้ว่าถ้าเราจะเอาความรู้ในวิทยาศาสตร์ไปใช้ทางเทคโนโลยีนั้น จะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรดี จึงจะเกิดประโยชน์ที่แท้จริงเป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์ เป็นเรื่องของการศึกษาอย่างที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้เราก็นำมาบรรจบกับพุทธศาสนา เมื่อพูดในแง่พุทธศาสนา ความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติมีความหมายที่รู้อยู่แก่ใจ ตระหนักอยู่พร้อมกัน 2 ประการ คือเราจะมีคุณค่า 2 ประการมาด้วยกัน คือ 1. ใฝ่ปรารถนารู้ความจริงของธรรมชาติ ที่บอกแล้วว่าเป็นคุณค่าที่บริสุทธิ์อย่างไอน์สไตน์พูด แล้วก็ 2. ความใฝ่ปรารถนาที่จะพัฒนามนุษย์ให้เข้าถึงอิสรภาพ หรือพูดให้ตรงคือความใฝ่ปรารถนาอิสรภาพนั่นเอง เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนานั้น ถือว่าการที่เราต้องการเข้าถึงความจริงของโลก ของชีวิต ของสังขาร ของรูปธรรม นามธรรม เรามีความมุ่งหมายหรือมีความหมาย ที่จริงไม่ต้องพูดมุ่งหมายเลย มีความหมาย 2 ประการ ที่มันเป็นเหตุผลในตัว ทำไมจึงต้องการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คือ 1. เราต้องการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แต่มันมีความหมายพร้อมกัน เพราะการเข้าถึงความจริงของธรรมชาตินั้น มันหมายถึงอิสรภาพของมนุษย์ใช่มั๊ย เพราะว่าเมื่อมนุษย์รู้อะไร ก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นถูกต้อง เมื่อทำถูกต้องมันก็พ้นจากความติดขัดคับข้องที่บีบคั้นตัว ก็เลยจึงบอกว่าวิทยาศาสตร์นั้น ยอมรับแต่คุณค่าประการที่ 1 ง่ายกว่า คือคุณค่าในแง่ที่ว่าใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ แต่ตอนที่บอกว่าและใฝ่ปรารถนาจะแก้ปัญหาพัฒนามนุษย์ สร้างสรรประโยชน์สุขแก่มนุษย์ อันนี้วิทยาศาสตร์อาจจะบอกว่า โอ้ อันนี้ไม่ได้มันเป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่ที่จริงนั้นถ้ารู้คุณค่าแท้อันที่ 1 แล้ว วิทยาศาสตร์จะยอมรับได้ เพราะที่แท้แล้วคุณค่าไอ้ตัวความรู้เอง มีความหมายโยงกับอันที่ 2 ในตัว เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนาในการที่เรามาปฏิบัติทางพุทธศาสนานี่ เราตระหนักในคุณค่า 2 ประการนี้พร้อมกัน คือเราต้องมีทั้งใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ และใฝ่ปรารถนาที่จะเข้าถึงความหลุดพ้น อันนี้มีมาด้วยกันพร้อมกัน เพราะว่ามันเป็นอันเดียวกันนั่นเอง มีความหมายเป็นอันเดียวกัน อ้าวทีนี้ก็ ในตอนนี้ก็มาสรุปว่าวิทยาศาสตร์จะต้องทำตัวให้ชัด และยอมรับตรงๆ ในเรื่องคุณค่านี้ จะมัวเลี่ยงหลบอยู่ไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะมาถึงยุคนี้ที่วิทยาศาสตร์จะพัฒนาต่อไปได้ เพื่อจะให้พ้นจากไอ้ความติดตันในเรื่องโลกวัตถุนี้ จะต้องมายอมรับเรื่องคุณค่า แล้วก็เราจะได้เลือกได้ว่าจะเอาคุณค่าไหน ไม่เอาคุณค่าไหน เพราะคุณค่านั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าใจความจริงของธรรมชาติด้วย เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินั้นเอง เอาละทีนี้ก็ต่อไป ก็มามองภาพรวมของพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์อีก ทีหนึ่ง เป็นอันว่าในทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมานี้ เพราะว่าฐานความคิดหรือคุณค่าเดิมผิดพลาดมาแต่ต้น พัฒนาการของวิทยาศาสตร์ภายใต้อิทธิพลของระบบคุณค่านั้น จึงเขวและผิดพลาดไปหมด เริ่มด้วยมองตัวเองสำคัญครองธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของจักรวาล อันนี้มันก็จะมีผลมา พอว่าเห็นว่าตัวเองไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ก็มีผลกระทบไอ้ความเชื่อ ความปรารถนาอันนั้น ก็กลับมาบีบคั้นใจตัวเอง พอตัวเองกลายเป็นตัวเล็กๆน้อยๆกระจ้อยร่อยแล้ว ก็ห่อเหี่ยวเกิดความแปลกแยก เค้าเรียกว่าเกิด Alienation ขึ้นมา อันนี้พอว่าตัวเองกับธรรมชาติแยกกัน รู้กฎธรรมชาติก็มาจัดการกับธรรมชาติ ก็ไอ้ความใฝ่ปรารถนาคุณค่าเดิมก็มามีอิทธิพลอีก ในการที่มาจัดการ Exploit ธรรมชาติ คราวนี้พอมาถึงปัจจุบันว่า รู้เพียงด้านวัตถุอย่างเดียว ไม่รู้ความจริง ตอนนี้ก็เคว้งคว้างอีกครั้งหนึ่ง อันนี้ก็คือภาพรวมของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา นี้ถ้าฐานความคิดเดิมถูกต้อง มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราก็ไม่รู้สึกห่อเหี่ยว แปลกแยกอะไรมันเป็นธรรมดาอย่างงั้น ถึงวิทยาศาสตร์จะบอกว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ มนุษย์เป็นตัวเล็กๆอยู่อะไร แล้วถือกันมานานแล้วยังงั้นไม่เห็นมีความรู้สึกอะไร จะต้องห่อเหี่ยวแปลกแยกอะไร เพราะว่าเรามองด้วยความรู้สึกว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่ง ด้านหนึ่งของธรรมชาติ มีอยู่ในธรรมชาติ แล้วก็ มองด้วยความรู้เท่าทันตามความเป็นจริง เป็นจริงยังไงก็รู้ตามนั้น ความรู้นั้นก็ทำให้เป็นอิสระ ทำให้มนุษย์มีอิสรภาพในตัวเอง ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปคิดเรื่องการที่ว่ามีความสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร จะเอายังไงกับมัน มันเป็นปฏิปักษ์ต่อเรา มันเป็นคนละพวก เราจะต้องเข้าครอบงำจัดการกับมันอะไรเนี่ย อันนี้เป็นแนวความคิดที่เรากำลังจะพูดมาถึงแนวความคิดแบบพุทธศาสนา อันนี้ก็จะมาขึ้นหัวข้อ ที่ 5 ข้อเสนอแนะบางประการในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ตอนนี้จะเพลครึ่งอยู่แล้ว ยังเหลือ 2 หัวข้อใหญ่ เอาแล้วเอาเป็นสรุปเป็นบางข้อ ข้อที่ 1 วิทยาศาสตร์จะต้องตกลงว่า จะยอมคงสถานะของตนในขอบเขตที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำได้พูดไว้ว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติได้ จะยอมรับคงสถานะของตัวแค่นี้มั๊ย ถ้าเอาอย่างนี้ก็พอใจแค่นั้น ให้ตัวเองเป็นเพียงวิชาการสาขาที่เกี่ยวกับธรรมชาติแห่งโลกฝ่ายวัตถุอย่างชัดเจน อาจจะให้คำจำกัดตัวเอง จำกัดความทำนองว่าวิทยาศาสตร์นั้น เป็นศาสตร์ว่าด้วยระบบความสัมพันธ์แห่งปรากฎการณ์ แห่งโลกวัตถุก็ได้ อาจจะทำนองนี้ แต่ถ้ายังยืนหยัดจะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ก็จะต้องก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมของตนออกไปโดย 1. ศึกษาทั้งรูปธรรมและนามธรรม แล้วก็ศึกษาเรื่องจิตและคุณค่าให้ชัดด้วย โดยถือว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้ว 2. ยอมรับอินทรีย์ที่ 6 และประสบการณ์ทางอินทรีย์นั้นคือทางจิตใจ แล้วก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องจิตใจอย่างมีวิธีการ ก็ต้องมีวิธีการด้วย เอาทีนี้ต่อไป ถ้าเอาอย่างหลัง ถ้าตกลงว่าจะต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาติให้ได้ คือเอาอย่างหลัง ก็อย่ามัวเพลินจำกัดตัวเองแคบอยู่กับ Specialization เพราะตอนนี้บางทีนักวิทยาศาสตร์ลืมตัว ไปเป็นนัก Specialize เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะเรื่อง ดิ่งลึก แคบลงแคบลง จนกลายเป็นไม่ใช่แม้แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญพิเศษเฉพาะเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะวิชาแล้วนะเดี๋ยวนี้ เป็นเฉพาะเรื่องแล้ว นี้ไปไปอย่างนี้ก็จะลืมจุดหมาย จุดหมายเดิมของตน เพราะแคบลงแคบลงก็ลืมจุดหมายเดิมของตน จุดหมายเดิมของตนก็คือการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นนักแสวงหาความจริงของธรรมชาติก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องไป เราจะต้องตระหนักว่ามองลึกอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมองกว้างโยงให้ได้ด้วย การที่เราศึกษาให้มองลึกเนี่ยที่จริงเราต้องการอะไร เพื่อเราจะได้โยงได้ ให้มาบรรจบรวมอีกทีหนึ่ง ทีนี้ข้อที่ 3 ก็คือจะต้องปิดช่องโหว่แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องต่อระบบคุณค่า ก็สรุปอีกทีหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์ในตะวันตกเจริญก้าวหน้าอย่างมีพลัง เพราะมีคุณค่าแรงจูงใจที่จะพิชิตธรรมชาติอยู่เบื้องหลัง เขายอมรับ เขาเองก็ยอมรับว่าวิทยาศาสตร์ตะวันตกเจริญได้อย่างมีพลังก้าวหน้าไวเนี่ย เพราะมีแรงจูงใจที่ใฝ่ปรารถนาจะพิชิตธรรมชาติอยู่เบื้องหลัง แต่ว่าความเจริญของวิทยาศาสตร์แบบนี้ก็มีผลร้าย ที่ทำให้ทำลายธรรมชาติ เอาเปรียบธรรมชาติ Exploit ธรรมชาติ ทำให้เกิดผลเสียหายธรรมชาติแวดล้อมเสีย เป็นปัญหาแก่มนุษย์ ฉะนั้นความก้าวหน้าด้วยแรงจูงใจหรือคุณค่าแบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง แต่ว่าตรงกันข้ามในสังคมใด คนไม่มีแรงจูงใจเป็นพื้นฐานเลย วิทยาศาสตร์ก็พัฒนายาก แม้เราจะต้องการเรียนวิทยาศาสตร์ ศึกษาวิทยาศาสตร์ ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าไม่มีแรงจูงใจเป็นพลังอยู่เบื้องหลัง วิทยาศาสตร์เจริญยาก พัฒนายาก จะไม่มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเกิดขึ้นในสังคมนั้น จะเป็นอย่างที่บางคนบอกว่า จะมีแต่ผู้เรียนตำราวิทยาศาสตร์ หรือจะมีแต่ผู้เรียนคัมภีร์วิทยาศาสตร์ เดี๋ยวนี้จะเป็นคัมภีร์วิทยาศาสตร์ ก็จะได้เท่านี้เองในสังคมที่ไม่มีแรงจูงใจ อ้าว วิทยาศาสตร์ก็ไม่พัฒนา ทีนี้จะทำไง ถ้าไม่มีแรงจูงใจเป็นคุณค่าวิทยาศาสตร์ก็ไม่พัฒนา จะเอาแรงจูงใจแบบตะวันตกที่จะพิชิตธรรมชาติก็เกิดผลร้ายอีก ทางแก้จะทำไง จะให้วิทยาศาสตร์พัฒนาด้วย ไม่เกิดผลเสียด้วย วิธีแก้ก็คือว่า ก็ต้องส่งเสริมรักษาแรงจูงใจมูลฐานเดิม คือแรงจูงใจใฝ่ปรารถนารู้ความจริงแท้ที่บริสุทธิ์ อย่างที่ไอน์สไตน์ย้ำเน้นเป็นต้น อันนี้ช่วยได้ ถ้าพวกสังคมใดมีแรงจูงใจอันนี้ คือความใฝ่รู้อย่างมากเนี่ย มันจะช่วยให้เราพัฒนาวิทยาศาสตร์ไปได้ แล้วก็พร้อมกับการใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาตินั้น ก็ต้องมีความตระหนักด้วยว่าความรู้นั้น มีความหมายเป็นการพัฒนามนุษย์เข้าสู่อิสรภาพด้วย ก็เป็นอันว่าเราจะต้องเลิกความใฝ่ปรารถนาจะพิชิตธรรมชาติและการที่จะเอาธรรมชาติมาจัดการ จัดสรร ดัดแปลง เพื่อสร้างความพรั่งพร้อมทางวัตถุบำรุงบำเรอตน แล้วอย่างนี้เราก็จะได้ Pure Science ที่แท้จริง แล้วก็จะได้เข้าถึงความจริง แล้วใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงด้วย อันนี้ตอนนี้มันก็จะมาถึงการที่เราจะวางความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีให้ถูกต้อง แล้วก็พอดี อันที่ 1 ก็คือการที่ว่า เราต้องแยกให้ถูก อย่าภูมิใจที่คนให้เกียรติวิทยาศาสตร์ในภาพของเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยไปภูมิใจโดยที่ยอมรับความหลงผิดของคนเหล่านั้น คือเขาสรรเสริญความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเขาบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์แต่ที่จริงนั่นคือเทคโนโลยี หมายความว่าเราภูมิใจวิทยาศาสตร์ในภาพของเทคโนโลยี ฉะนั้นเราจะต้องแยกและยอมรับความแตกต่างอันนี้ ไม่ภูมิใจไปด้วย ก็แยกให้ถูกนั่นเอง แล้วก็ตระหนักรู้ถึงการที่วิทยาศาสตร์เอื้ออำนวยให้เทคโนโลยีนั้น มีผลต่อโลกและชีวิตทั้งในแง่บวกและแง่ลบ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้จะต้องตระหนักถึงปัญหาในแง่ลบด้วย ผลในทางบวก ก็เมื่อเราตระหนักอย่างนี้แล้ว เราก็จะได้พยายามเอื้ออำนวยความรู้วิทยาศาสตร์นั้นในแง่ที่เป็นไปในทางบวก ในขณะนี้ที่เทคโนโลยีได้สร้างปัญหาแก่ธรรมชาติแวดล้อมมาก วิทยาศาสตร์ก็อาจจะพยายามเอื้ออำนวยความรู้ในด้านที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดเทคโนโลยี ในด้านที่มาแก้ปัญหาการทำลายธรรมชาติแวดล้อม ก็พลิกกลับเสีย ฉะนั้นวิทยาศาสตร์ก็กลับมาช่วยได้ นั้นวิทยาศาสตร์ก็กลับมาเน้นในด้านนี้ เน้นในด้านที่ส่งเสริมการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม แล้วก็พร้อมกันทั้ง ก็คือคุณค่าทางด้านจิตใจ คือจริยธรรม คิดว่าทางวิทยาศาสตร์จะต้องมาสนใจ เพื่อจะรู้จริยธรรมแบบธรรมชาติเป็นอย่างไร ถ้าเราพูดถึงพุทธศาสนา จริยธรรมในพุทธศาสนาไม่เหมือนจริยธรรมตะวันตกเลย รากฐานความคิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จริยธรรมในแบบตะวันออก แบบพุทธศาสนาเนี่ยเป็นจริยธรรมธรรมชาติ แล้วถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติ เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งด้วย อันนี้เราจะต้องหาจริยธรรมที่ถูกต้อง เนี่ยที่ยอมรับได้เนี่ย มาคู่เคียงกันไป แล้วเอาจริยธรรมเนี่ยมานำการพัฒนาเทคโนโลยี ฉะนั้นเทคโนโลยีนี่ก็คือส่วนประยุกต์ของความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้ เหมือนกับจริยธรรมก็คือส่วนประยุกต์ของความรู้ในความจริงของธรรมชาติเหมือนกัน พุทธศาสนานั้น 2 ระดับ 1. การรู้ความจริงของธรรมชาติคือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้วพอเอาความรู้นั้นมาใช้ ใช้ปฏิบัติในชีวิตของมนุษย์ตามความรู้นั้นเกิดเป็นจริยธรรม จริยธรรมก็คือการนำความรู้ในความจริงหรือกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ฉะนั้นจริยธรรมก็คู่กับตัวนามธรรมในฝ่าย ความจริงของธรรมชาติด้านนามธรรมมาเป็นจริยธรรม ในโลกวัตถุก็เอามาพัฒนาเทคโนโลยีได้ เทคโนโลยีต้องเป็นไปตามวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับจริยธรรมต้องเป็นไปตามสัจธรรมของนามธรรมเหมือนกัน อันนี้เราจับอันนี้ให้ได้ แล้วจริยธรรมหรือประยุกต์ฝ่ายนามธรรมก็มาคู่กับฝ่ายรูปธรรม แล้วจริยธรรมก็มาคู่เคียงกับเทคโนโลยีจึงจะไปได้ ก็เราก็ยังยอมรับเทคโนโลยี ถ้าอย่างนี้แล้วเราไม่ต้องปฏิเสธเทคโนโลยีด้วย เพราะเทคโนโลยีนั้นแม้จะเกิดจากวิทยาศาสตร์ในส่วนรูปธรรมในโลกวัตถุ ที่ไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติ แต่มันก็เป็นความรู้ความจริงระดับหนึ่งในระดับอินทรีย์ 5 ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งยังมีประโยชน์มาก แต่ใช้ให้ถูกโดยประสานกับด้านนามธรรมเสีย อ้าว แล้วก็จุดเน้นก็เลยมาอยู่ที่เรื่องคุณค่าในด้านที่ว่าให้การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มีคุณค่าเป็นการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นคุณค่าทางการศึกษาอย่างที่ว่ามานี้ เช่นในปัจจุบันนี้เราก็นำคุณค่านี้มาอันนี้มาในการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นต้น ให้คนมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล พัฒนาประชาธิปไตยก็ต้องให้คนมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย แต่การกระทำอย่างนี้ ก็ต้องเป็นไปอย่างมีท่าทีวิทยาศาสตร์จริงๆด้วย เพราะเราอาจจะมีความงมงายต่อวิทยาศาสตร์ขึ้นมา แล้วก็ทำให้เดินทางผิดก็ได้ สมัยก่อนนี้เรารักษาจริยธรรม คนจำนวนมากนะ ซึ่งเป็นเรื่องของศาสนาโบราณ คือรักษาจริยธรรมศีลธรรมอยู่ได้ด้วยความกลัว ในบางสังคมก็กลัวมนุษย์ด้วยกันเอง สร้างเป็นกฎหมายมาลงโทษ บางทีเราก็กลัวต่ออะไร ต่อเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์จะมาลงโทษ คนก็ไม่กล้าไปตัดต้นไม้เพราะกลัวรุกขเทวดาจะทำโทษอย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็กลัวอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันนี้ก็ทำในสังคมโบราณที่คนยังไม่มีความรู้เป็นวิทยาศาสตร์ สังคมมันก็อยู่ได้เพราะว่าคนเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อในเทพเจ้าเป็นต้น แต่เราบอกว่าไอ้ความเชื่อแบบนี้มันงมงาย แล้วมันไม่เข้ากับประชาธิปไตยหรอก เพราะอะไร มันพานิสัยเสีย คือเราจะต้องรักษาจริยธรรมด้วยความกลัว กลัวเทพเจ้า กลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นิสัยเสีย พอไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นหลักก็ทำตามชอบใจ ก็หมายความมันอยู่ได้ด้วยความกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีความกลัว ไม่มีเทพเจ้า แต่ก็ไม่มีระเบียบวินัยของตนเอง ไม่เกิดจากในตัวเอง งั้นเราต้องการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้ มันจะต้องเกิดจากภายในตัวเอง จะต้องเกิดจากการรู้ เข้าใจสิ่งผิดสิ่งถูกต้อง แล้วปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยสติปัญญา แต่นี้วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมาก็ทำให้คนมาเชื่อในเหตุผล พร้อมกันนั้นก็ทำลายความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อไม่กลัวในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าผลมันไม่เกิดอย่างนี้หละ ถ้าคนไม่สามารถควบคุมตนตามความรู้วิทยาศาสตร์ได้จะเกิดอะไรขึ้น ได้แต่บอกว่า เอ้ยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าไม่มีจริง แต่ไม่ต้องเชื่อ แต่พร้อมกันนั้นทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดก็ไม่ทำ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็กลับร้ายยิ่งกว่ายุคเดิมอีก คือคนในยุควิทยาศาสตร์มีความรู้เนี่ย รู้เหตุ รู้ผล รู้ความจริงพอสมควรเนี่ย กลับจริยธรรมเลวร้ายหนักเข้าไป เพราะว่าไม่ทำตามที่รู้ แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่กลัวด้วย ไม่มีผลบังคับด้วย มันจะเสียทั้ง 2 อย่าง เพราะฉะนั้นการพัฒนาประชาธิปไตย ที่เกิดจากความรู้วิทยาศาสตร์นี้จะต้องทำให้ถูกต้อง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกระบวนการที่เข้าใจถึงการที่ว่าวิทยาศาสตร์นั้นคุณค่าที่แท้ของมันคือการพัฒนามนุษย์ด้วย เมื่อตรงจุดนั้นแล้วนั่นแหละ จึงจะมาบรรจบกัน ที่จะทำให้ไอ้ความรู้ที่เกิดขึ้นหนะมีผลในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง แล้วจะเรามาใช้ในการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นต้น ก็ถึงจะสำเร็จผลได้ เพราะฉนั้นไม่งั้นก็จะต้องขึ้นกับภูมิหลังทางวัฒนธรรม ถ้าเราตัดภูมิหลังทางวัฒนธรรมด้วย ไอ้สิ่งใหม่ก็ทำไม่ได้ ก็เสียผลทั้ง 2 ทาง ซึ่งอาตมาว่าสังคมไทยปัจจุบันก็ได้รับผลอันนี้อยู่ไม่น้อย นี้เวลาจะหมดจะเที่ยงด้วยซ้ำ