แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อันนั้นก็ด้านหนึ่ง แต่ว่าเอาไม่ต้องเน้นจิตใจหรอก อาตมาว่าแม้แต่รู้ปัญหาสภาพสังคมของตัวเองก็ไม่รู้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันเป็นปัญหาที่ไหน อย่างวัดก็เป็นของโบราณ เหมือนกับมรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้ใช่ไหม มันก็มีอยู่ทั่วประเทศทุกชุมชน วัดตั้งแต่ ร.3 หมื่นวัด เดี๋ยวนี้เกือบสี่หมื่น แล้ววัดที่เป็นมรดกมีความหมายทางวัฒนธรรม และก็ในทางวัตถุก็ใหญ่โต ก็เป็นทรัพยากรของประเทศชาติ แม้แต่มองในแง่ทรัพยากรก็ต้องมองในแง่อื่น ก็เหมือนกับว่าเป็นของที่มีราคามากมาย เป็นสมบัติชิ้นใหญ่โตเป็นวัตถุมโหฬาร แล้วเราทิ้งไว้เปล่า ๆ ไม่ใช้ประโยชน์ อย่างนี้ก็ถือว่าไม่รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีใช่ไหม แล้วมันมีไว้ทำไมอยู่กลางชุมชน เกะกะสายตา มันก็ต้องใช้สิ หนึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ เป็นมรดกตกทอดกันมา แล้วเราใช้เป็นประโยชน์ให้คุ้มค่าแก่ชุมชนไหม สมบัตินี้เป็นของประเทศชาติ แต่ในแง่มองเฉพาะก็คือสมบัติของชุมชนนะ แล้วก็จะทำประโยชน์อะไรให้แก่ชุมชนได้ หรือใช้ยังไงให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชน ต้องคิดใช้ให้มันเป็น แค่คิดใช้ในแง่เป็นทรัพยากรก็ไม่ได้ผิด ทีนี้มองลึกลงไปอีกในความหมายเชิงวัฒนธรรม นี่มันเป็นการสืบต่อ เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นที่สืบทอดถ่ายทอดรักษาวัฒนธรรมของสังคมไว้ใช่ไหมฮะ ทำไงจะให้ไอ้ตัวนี้เป็นที่สืบต่อได้ดี ทำหน้าที่ได้ต่อไป ลึก ๆ เข้าไปมองในแง่ศีลธรรม เรื่องของการรักษาความดีงามของสังคมประเทศชาติ ทำไงจะให้ทำหน้าที่นี้ในการช่วยให้ประชาชน ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ไม่ทำความชั่ว ไม่เบียดเบียนกัน ลดอาชญากรรม อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็น่าจะต้องคิดถึงว่า นี่หน้าที่ก็ใกล้เข้ามาแล้วนะ ชักโดยตรงและ เข้ามาถึงเรื่องศีลธรรม ต่อมาก็ลึกเข้าไปอีกก็ให้การศึกษาแก่ประชาชนใช้ประโยชน์ อันนี้ก็เป็นหน้าที่บทบาทเก่าในโบราณ เดี๋ยวนี้วัดก็สักแต่ว่ามีไปเสียเยอะเลย ก็เป็นวัตถุทิ้งอยู่อย่างนั้น แล้วทรัพยากรบุคคลนี่ก็ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือไม่งั้นในฐานะที่วัดเป็นศูนย์กลางแล้วก็มีบุคคลเข้ามา ก็ต้องมากวดขันพัฒนาคุณภาพผู้ที่อยู่วัดนั้นให้ทำบทบาทในฐานะผู้ที่เป็นตัวแทนของวัดได้ใช่ไหม ทำหน้าที่ของวัดต่อชุมชน ท่านจะมาบวชเป็นพระ ในแง่หนึ่งก็คือวัดนี้เป็นสมบัติของชุมชน เป็นศูนย์กลางชุมชนมาแต่โบราณ ต้องทำบทบาทของวัดต่อชุมชนให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ รัฐมีหน้าที่ต้องไปกำกับ ไปกวดขัน ไปกระตุ้นเตือนหรืออะไรก็แล้วแต่ ให้ทำบทบาทให้ได้ เพราะว่าบางทีผู้บริหารประเทศชาติเองก็มองพระแค่บทบาทหมอผี บทบาทของพระก็คือทำพิธีกรรมให้ ก็จบ พระก็จะกลายเป็นพราหมณ์ เป็นผู้ทำพิธีบูชายัญ เมื่องั้นก็เรื่องพุทธศาสนาคืออะไร ผู้ใหญ่บางทีก็มองว่า คือเราไปทำพิธียกช่อฟ้า อย่างงี้คือเรื่องงานพุทธศาสนาใช่ไหมฮะ บางท่านอาจนึกไปอย่างนั้น พุทธศาสนามีอะไรแค่ไหนความหมายพุทธศาสนา หนึ่งก็ไปยกช่อฟ้า ตัวไปเป็นประธาน สองก็ไปร่วมพิธีปลุกเสก ทำพระอะไรกันเนี่ย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องช่วยกัน ต้องตระหนักรู้ปัญหา ถ้าสามารถก็ช่วยกันตักเตือนให้รู้บอกหลักที่ถูกต้อง พุทธศาสนา แน่นอนบวชเรียนนี่ คำนี้มันเป็นคำที่สื่อความหมายอยู่ในตัวเลย ชัดแล้ว รัชกาลที่ 1 ที่ผมยกมาให้แล้วนะ ยกมาอีกทีก็ได้บอกว่าสมัยก่อนสองร้อยกว่าปีมาแล้ว 2325 นี่ 2551 เท่าไหร่แล้ว 226 ปี นี่สองร้อยยี่สิบหกปีมาแล้วนะ ประมาณนั้นนะรัชกาลท่านก็หลายปี สมัยนั้นยังชัดเจนอยู่ว่าหน้าที่ของพระคืออะไร ไม่เพี้ยน เพราะฉะนั้นก็รักษาได้ เพียงแต่รู้จุดนี้เท่านั้นแหละ รักษาอยู่ ลองฟังกันอีกทีก็ได้บอกว่าอะไร ‘เป็นประเวณีในพุทธศาสนาสืบมาแต่ก่อน มีพระพุทธฎีกาโปรดไว้ ให้ภิกษุสามเณรอันบวชแล้วในพระศาสนารักษาธุระสองประการ คือ คันถธุระ วิปัสสนาธุระ เป็นที่ยึดหน่วง’ นี้จบตอนหนึ่งแล้วนะ นี่ก็ชัด ‘แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้มีภิกษุโลเล ละวัตรปรนนิบัติ แลปฏิญาณตัวว่าเป็นกิจวัตร’ อันนี้มีอะไรเพี้ยนแล้วนะ แต่เขียนว่าอย่างนี้ เราก็ว่าไปตาม ‘มิได้ร่ำเรียนธุระทั้งสองฝ่าย อย่าให้มีได้เป็นอันขาดทีเดียว’ นี่ละ คำเด็ดขาดของรัชกาลที่ 1 ‘ถ้าสามเณรรูปใดมีอายุควรจะอุปสมบทแล้ว ก็ให้บวชเข้าร่ำเรียนคันถธุระ วิปัสสนาธุระ อย่าให้เที่ยวไปมา เรียนความรู้อิทธิฤทธิ์ ให้ผิดธุระทั้งสองไป ถ้าแลสามเณรรูปใด มีอายุถึงอุปสมบทแล้วมิได้บวช เที่ยวเล่นโวเวอยู่ จับได้จะเอาตัวสามเณรแลชีต้นอาจารย์ญาติโยมเป็นโทษจงหนัก’ นี่แหละครับ ชัดไหมฮะ แค่นี้แหละ เอาของรัชกาลที่ 1 มาแค่นี้ก็รักษาพุทธศาสนาในประเทศไทยได้ เชื่อไหม จับจุดได้ตรงเป๋ง ไม่มีพลาดเลย พุทธศาสนาอยู่ตรงไหน บทบาทของพระคืออะไร ตอบในนี้เสร็จหมดเลย ก็เป็นกฎพระสงฆ์ กฎพระสงฆ์นี้หมายถึงกำกับญาติโยมด้วยนะ นี่เวลานี้เมื่อถามใคร พุทธศาสนาคืออะไร อยู่ที่ไหน ตรงไหนเป็นพุทธศาสนา ก็นี่แหละ บางคนก็ไปพระเครื่อง บางคนก็ไปพิธีกรรม ใช่ไหม อะไรอย่างนี้ จับจุดไม่ได้ แล้วพุทธศาสนาจะอยู่ได้ยังไง ก็มองเห็นเป็นฉาก ๆ นั่นก็จำเป็นจะต้องมากระตุ้นกัน ก็คือว่าบวชเข้ามาแล้วเราต้องเรียน บวชก็คือเรียน บวชเพื่อ แล้วก็จากการเรียนก็หมายถึง ว่าเรียนคือการศึกษา ภาษาพระ ศึกษาคืออะไร ศึกษาก็สิกขา สิกขาก็ฝึก ฝึกให้ชีวิตดีงามขึ้น มีคุณสมบัติที่ไม่ดีก็ให้เปลี่ยนเป็นดี มีคุณสมบัติดีน้อยก็เพิ่มให้มีคุณสมบัติดีมากขึ้น ก็กลายเป็นการพัฒนา ก็เลยเป็นความหมายของคำว่า ‘ภาวนา’ ภาวนาก็ว่าทำให้เป็นให้มี ที่ยังไม่เป็นก็ทำให้เป็น ที่ยังไม่มีก็ทำให้มี เรียกว่าภาวนา ภาวนาก็เป็นศัพท์คู่กับสิกขา สิกขาก็สาม ภาวนาก็สี่ คงทราบกันแล้วใช่ไหม แยกกันยังไง สิกขาสามแล้วก็ไปวัดผลเป็นภาวนาสี่ แล้วก็เรียกกลาง ๆ ทั่ว ๆ ไป เขาเรียกว่า ‘ทมะ’ ฝึก แล้วก็ตั้งคติพุทธศาสนาบอกว่า ??? ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด ถ้าไม่ฝึกแล้วสู้สัตว์ก็ไม่ได้ นี่เราเติมเอานะ อันนี้ก็เป็นความจริง ถ้าไม่ฝึกก็เสร็จ มนุษย์นี่ ใช่ไหม ไม่ฝึกทำอะไรไม่เป็นเลย เดิน พูด มันก็ไม่ได้ จะไปทำอะไรก็แพ้สัตว์อย่างอื่น สัตว์อย่างอื่นเขามีสัญชาตญาณช่วย มนุษย์นี้ดีได้ด้วยการฝึก ก็บอกว่าอย่าไปพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ พุทธศาสนาไม่เคยสอน แต่ว่าพุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึกหรือว่ามนุษย์นี้ฝึกแล้วประเสริฐ (ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ได้) ก็ต้องชวนกันนะ ช่วยให้พูดบอก อย่าไปพูดเลยว่ามนุษย์เป็นสัตวที่ประเสริฐ ต้องพูดให้เต็ม มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ฉะนั้นก็จะมีพุทธพจน์มาสนับสนุนเยอะแยะ อย่างเมื่อกี้ ??? แล้วอีกบทหนึ่งก็พูดถึงพระอรหันต์ พระอรหันต์คำที่เรียกท่านอย่างหนึ่งใช้คำว่า ‘ภาวิตัตตะ’ คำจำกัดความของพระอรหันต์ก็คือภาวิตัตตะ แปลว่าอะไร ภาวิตัต กับ อัตตะ อัตตะตน ภาวิตะที่พัฒนาแล้ว ภาวนาแล้ว ภาวนานี่เป็นรูปนาว เป็นนาม เป็นรูปกิริยาช่องสามว่าภาวิตะ ภาวิตะก็แปลว่าได้พัฒนาแล้วหรือภาวนาแล้ว นี้พระอรหันต์ก็จะมีคำจำกัดความอย่างหนึ่ง โดยมากเราเองคิดในแง่ลบ ที่จริงท่านมีแง่บวกด้วย คือเราจะเรียนว่าพระอรหันต์คือพระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ กำจัดธุระสังโยชน์นั้น ๆ ไม่ค่อยพูดในแง่บวก แง่บวกท่านจะพูดอย่างนี้ ภาวิตัต พระอรหันต์เป็นภาวิตัตตะ ผู้ที่มีตนโดยพัฒนาแล้วหรือภาวนาแล้ว แล้วก็ขยายความภาวิตัตตะ คืออะไร ภาวิตฺตโต ก็เป็น ภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตฺโต ภาวิตปญฺโญ ก็ภาวิตะ ที่เป็นอัตตะ ตนนี่ก็คือแยกเป็นสี่นะ หนึ่งพัฒนาแล้วทางกาย มีกายที่พัฒนาแล้ว มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ เช่นอาหารการบริโภค การดูทีวี การฟัง อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นที่พัฒนาแล้ว พัฒนาแล้วได้ประโยชน์ได้ผลดี ไม่เกิดผลเสีย สัมพันธ์กัน ตาดู หูฟัง แล้วต้องได้ประโยชน์หมด ไม่ได้ปัญญาแล้วก็ได้คติอะไรต่ออะไรมา ไม่ใช่ดูแล้วก็ไปลุ่มหลงหมกมุ่น เสียงานเสียการ เสียการเล่าเรียนอย่างนั้นเรียกว่าไม่ภาวิตะ ภาวิตะกาย เสพบริโภคอาหารการกินก็ต้องได้ประโยชน์ มีความมุ่งหมายว่าเรากินอาหารเพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้ซ่อมแซมบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีกำลัง แล้วจะได้เอากายนี้ไปใช้ทำประโยชน์ ไปเล่าเรียนหนังสือ ไปศึกษา ไปพัฒนาชีวิตช่วยเหลือกัน มันไม่ได้เป็นจุดหมายในตัว การกินอาหาร การเสพบริโภค ไม่ได้เป็นจุดหมายในตัว มันเป็น??? ไม่ใช่เป็นเอง เศรษฐกิจในพุทธศาสนาถือเป็นปัจจัย ไม่ใช่เป็นจุดหมาย อันนี้ถ้าจับให้ได้ที่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือมันเป็นปัจจัย เลยขอโอกาสพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงสักหน่อย ยังพูดกันวุ่นอยู่เนี่ยต้องจับจุดให้ได้ พอเพียงยังไง พวกหนึ่งก็สุดโต่งไปไม่รู้จักพอ ก็คือว่ากินเสพเพื่อบริโภคเอร็ดอร่อยบำรุงบำเรอสนุกสนาน อย่างนี้กินไม่รู้จักพอเสพไม่รู้จักพอ แล้วก็พวกสักแต่ว่าพอ คือหมายความว่าพอ พอแล้วก็จบไม่มีจุดหมาย เอาละฉันพอแค่นี้พอ หรือสักแต่ว่าพอมีชีวิตอยู่ได้ ไอ้พวกนี้ก็ยังใช้ไม่ได้ มันเป็นสุดโต่งสองอัน คือไอ้พวกหนึ่งไม่รู้จักพอนี่ กินเสพเพื่อเอร็ดอร่อยเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ แล้วอีกพวกหนึ่งก็พอแค่มีชีวิตอยู่ได้ ไอ้พวกนี้ก็สุดโต่งเหมือนกัน ที่นี้พอที่แท้ที่เป็นปัจจัยคืออะไร แล้วมีจุดหมายที่ดีงามประเสริฐยังไงที่ว่านั่น ก็เราจะเป็นสิกขานั่น เราต้องการไตรสิกขา เช่นเราบวชจะเรียนหนังสือ ถ้าเราไม่ฉันไม่นิสัย แล้วละก็จะไปเรียนได้ยังไง อาหารเป็นต้น หรือทั้งสี่อย่าง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ก็ได้เป็นนิสัย เป็นที่อาศัยของเรา เพื่อเราจะได้อาศัยมัน มีกำลังที่จะไปเล่าเรียนศึกษา เจริญไตรสิกขาต่อไปได้ อันนี้ก็คือว่าเรามีจุดหมายที่ดีงามประเสริฐสูงขึ้นไป แล้วปัจจัยเศรษฐกิจมันพอเพียงไหม ที่จะทำให้สำเร็จตามจุดหมายนั้น ไม่ใช่สักแต่ว่ากินบริโภคไปพอให้มีความสุขสนุกสนาน จบ ไม่มีจุดหมายอะไรชัด หรือว่าพอเป็นอยู่ได้ชีวิตฉันอยู่ได้ก็ไม่มีจุดหมายอะไร จบ นี้เรามีจุดหมายชีวิตว่าเป็นอยู่ เป็นมนุษย์ก็ต้องเป็นมนุษย์ที่ดีงาม เป็นมนุษย์ที่ได้พัฒนาแล้ว ประเสริฐ อยู่ในสังคมก็เป็นสังคมที่ดีงาม เราจะมีชีวิตที่ดีงาม พัฒนา มีจิตใจดีงามพัฒนาแล้ว มีปัญญาอะไรต่ออะไรได้ต้องมีการศึกษา เราจะทำได้ยังไง เราต้องมีปัจจัยสี่ให้เพียงพอ ปัจจัยสี่แค่ไหนพอที่จะให้เราศึกษาได้ผลอย่างดีที่สุด นั่นคือเพียงพอ พอเพียงมันต้องพอเพียงเพื่ออะไร พอเพียงที่จะทำอะไร มันเป็น??? ศัพท์มันบอกอยู่แล้ว พอเพียงที่จะ พอเพียงที่จะไปเรียนหนังสือ พอเพียงที่จะพัฒนาชีวิต อะไรก็ว่าไป หรือเพื่อจะทำความดีอะไร เอามองแง่สังคมมันก็พอเพียงนี่แหละ สังคมนี้จะต้องเป็นสังคมที่อยู่กันดี สงบเรียบร้อย มีวัฒนธรรม มีความเจริญงอกงามในทางที่เป็นคุณค่าเป็นประโยชน์ในศิลปะ วิทยาการ อะไรก็ตาม เศรษฐกิจนี่มันพอเพียงไหมที่จะทำให้สังคมเจริญพัฒนาอย่างนี้ได้ อย่างนี้เรียกว่าพอเพียง พอเพียงเพื่อสนองจุดหมายที่ดีงามนั้น ไม่ใช่อยู่กันอย่างเลื่อนลอยแล้วก็กินเสพบริโภคสนุกสนาน ลุ่มหลงเพลิดเพลิน จบ แล้วก็ที่จริงมันไม่จบ ก็คือมันไม่พอสักที มันก็ยิ่งต่ำลงไป ยิ่งเสื่อมลงไป เนี่ยทำไงจะให้เข้าใจจะได้ชัด ๆ ว่าเศรษฐกิจเป็นปัจจัย พุทธศาสนาเน้นคำว่าปัจจัย ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องเกื้อหนุน แล้วเป็นนิสัยย้ำเข้าไปอีก พอบวชพระ นิสัยสี่นะว่างั้น มันเป็นที่อาศัยของเรา ก็เหมือนกับพวกเรามาสัมพันธ์กัน ท่านก็มาอาศัยอุปัชฌาอาจารย์ ก็บอกอาจารย์ก็เป็นนิสัย อุปัชฌาก็เป็นนิสัย ท่านทั้งหลายก็อาศัยอุปัชฌาอาจารย์ ก็เพื่อจะได้ก้าวไปสู่การศึกษา แล้วถ้าไปอาศัยอาหารเครื่องนุ่งห่ม ก็เพื่อจะได้ก้าวไปสู่จุดหมายเดียวกัน ใช่ไหม นี่ก็คือปัจจัยต่าง ๆ รวมแล้วก็เป็นปัจจัยภายนอก บุคคลอื่น ครู อาจารย์ เป็นกัลยาณมิตร ก็เป็นปัจจัยภายนอกที่จะมาหนุนให้ชีวิตเราสามารถพัฒนาเจริญงอกงาม วัตถุอาหารก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนเรา สภาพสังคมที่ดีงามเป็นระเบียบไม่มีอาชญากรรมอยู่กันดีก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน ก็อย่างนี้ ทีนี้ถ้าเราไม่มองเรื่องความหมายของชีวิตที่ดีงาม คือชีวิตต้องมีการพัฒนาสูงขึ้นไป ยังมีอะไรที่ชีวิตควรจะพัฒนาก้าวไปอีก ไม่ใช่แค่นี้มันก็จบ มันก็กินเสพพอแค่ให้ได้สนองประสาทสัมผัส แล้วก็สนุกสนานก็จบ ไม่มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าได้ ตอนนี้จะเอาเศรษฐกิจเป็น aim ใช่ไหม จะเอาเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย สักแต่ว่าให้ได้มีกินเสพ เอาวัตถุเป็นจุดหมายก็จบ สังคมอย่างนี้ก็ต้องเสื่อมแน่นอน จะไปเจริญได้ยังไง สมัยเดิมแม้บางทีจะไม่ตระหนักในจุดหมาย แต่สภาพสังคมมันมุ่งไปสู่จุดหมาย เราจะเห็นว่าสังคมที่เจริญเนี่ย มันมีจุดหมายทั้งนั้น อย่างญี่ปุ่นนี่มีจุดหมายจะเอาชนะฝรั่งให้ได้ ชนะมันก็ต้องมีชนะในเรื่องอะไรใช่ไหม ชนะในการสร้าง ในการผลิต ในการทำอะไรต่าง ๆ อุตสาหกรรมในการผลิต ทำผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี มันโยงกันไปหมดแหละ ฉะนั้นเมื่อพระไม่เข้าใจพระก็บอกหลักพุทธศาสนากับชาวบ้านไม่ได้ สังคมก็ไม่รู้พุทธศาสนาคืออะไร ก็เขวเฉไฉไป ก็ออกไปกันใหญ่ ต่อมาก็หมด แล้วก็อริยธรรมต่างประเทศเข้ามาก็จับจุดเขาไม่ถูกอีกใช่ไหม มันพอดีว่าเขาต้องการขายสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ก็ต้องให้คนอยากบริโภคมากจะได้ซื้อมาก แต่ของนั้นผลิตมาแล้ว การผลิตนั้นไม่ตามมา มันมีแต่ของมาให้บริโภค เราก็เลยเจอแต่เรื่องบริโภค เรื่องผลิตก็เลยไม่สนใจ มันก็เลยไปกันอย่างนี้ ฉะนั้นต้องช่วยกันเต็มที่เลยนะ ต้องมาคิดกันสังคมไทยนี่มองในแง่หนึ่งก็คือตกอยู่ในความประมาท มานานแล้ว ทำไงจะตื่นกันสักที ขมีขมันกระตือรือร้นขวนขวาย ตอนนี้ต้องถึงขั้นเร่งรัดเลยนะ ตอนที่เริ่มยุคพัฒนาใหม่ ๆ เราก็มีนะ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชุมชน เร่งไปเร่งมาเดี๋ยวนี้เป็นไงก็ไม่รู้ ถ้ามีอะไรสงสัยก็ถาม
เคยได้ยินข่าวว่าพระอรหันต์ เคยมีพระองค์นี้มรณภาพไปแล้ว ตั้งศพไว้ร้อยวันแล้วศพไม่เน่าไม่เปื่อย คนก็พูดกันว่าพระองค์นี้เป็นพระอรหันต์ อยากทราบว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือว่าอรหันต์แล้วต้องทำให้ศพไม่เน่าจริงหรือเปล่า หรือว่ายังไงครับ
ถ้าบอกกันตรง ๆ พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสให้สนใจเรื่องนี้ คือไม่ได้สนใจให้ความสำคัญ มันจะเป็นยังไงก็คือสังขาร เราอาศัยร่างกายนี้เพื่อจะได้มาทำชีวิตให้ดีขึ้น อาศัยร่างกายนี้ทำประโยชน์เห็นไหม จะทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น เมื่อยังมีชีวิตอยู่เราก็พัฒนาชีวิตนี้ให้ดี ด้วยการศึกษา แล้วก็ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นพระก็เอาธรรมะมาแนะนำสั่งสอน ช่วยให้โยมศึกษากันไป การที่ได้ฝึกฝนตนได้พัฒนาชีวิตดีงาม ทำสังคมให้ดีงามเรียบร้อย จะร่างกายไม่เน่าไม่เปื่อยแต่ว่าสังคมมันก็แย่อย่างนี้อยู่ มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร อนาคตวัดก็โทรมใช่ไหม ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงไม่ให้สนใจเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มันก็รวมอยู่ในเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ถ้าเราเอาหลักใหญ่นี้มา พระพุทธเจ้าก็ตรัสปาฏิหาริย์นี้มีสามนะ หนึ่งอิทธิปาฏิหาริย์ สองอาเทศนาปาฏิหาริย์ สามอนุสาสนีปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าตรัส เรารังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์ รังเกียจอาเทศนาปาฏิหาริย์ เรายกย่องเฉพาะอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ก็เป็นผู้ที่ลือชื่อว่าทำได้เก่ง แต่ว่าปกติแล้วพระองค์มีฤทธิ์ไว้ปราบ เพราะว่ายุคนั้นนิยมฤทธิ์กันเหลือเกิน ถ้าใครไม่มีฤทธิ์คนเขาก็ไม่เชื่อถือ ก็เหมือนที่พระพุทธเจ้าไปที่สำนักชฎิล ถ้าไม่มีฤทธิ์ชฎิลก็ดูถูก เริ่มตั้งแต่พอไปถึงก็ดูถูก ท่านองค์นี้จะมีอะไร เลยแกล้งให้ไปอยู่ในที่ที่ว่าจะต้องเกิดปัญหาให้ได้ พระพุทธเจ้าก็ผ่านมา ชฎิลก็ว่าอะไรกันเนี่ย ยังอยู่หรือเนี่ย ว่างั้น ก็ชักจะทึ่งละสิ ก็เลยสนใจก็พูดกันรู้เรื่อง พอรู้ว่าท่านแน่กว่าเราเรื่องฤทธิ์ ฟังเลยคราวนี้ จะพูดอะไรก็ฟัง พอฟังพระพุทธเจ้าก็บอกว่าเหมือนกันให้เลิกฤทธิ์ ไม่ต้องสนใจแล้วเธอ หันมาสนใจหลัก หลักความจริง แล้วก็จะอยู่ยังไงให้มันดี มาช่วยกันทำอะไรต่ออะไรให้เป็นประโยชน์ โดยหลักการก็อยู่ที่เนี่ย เรื่องฤทธิ์มันก็ต้องรู้จักใช้ ปกติก็คือท่านใช้เป็นเครื่องมือ หรือเครื่องประกอบ เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่โยงไปหาตัวหลักธรรมคำสอน อย่างที่ว่าตอนแรกเขาไม่ยอมรับฟัง เพราะคนนี่มันต้องมีศรัทธากันก่อน ไม่งั้นมันไม่ฟัง เมื่อเขานิยมฤทธิ์ ก็ทำฤทธิ์ให้เขายอม พอเขาศรัทธา เขาฟังแล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่พูดเรื่องนี้อีกต่อไป พูดเรื่องธรรมะ จบเรื่องฤทธิ์ไปแล้ว แล้วก็คนนั้นเขาก็ไม่สนใจอีกแล้ว เขาก็ถึงธรรมะ นี่ถ้าพระรู้จักใช้ก็หมายความว่า เอาฤทธิ์มาเป็นเครื่องอุปกรณ์ขั้นต้น เหมือนพระโบราณไทยเราเนี่ย ก็ใช้เหมือนกัน แต่ว่าท่านใช้อย่างที่ว่าผมเคยเล่าไว้แล้วตามพระใหม่ไปเรียนธรรม ไม่ทราบว่าใครฟังหรือเปล่า หลวงพ่อสมัยก่อนเนี่ย ผมยกตัวอย่างให้ ท่านปกติไม่มีพูดถึงเลยเรื่องนี้ เรื่องความขลัง แต่ว่าเขาลือกันไปทั่วว่าองค์นี้ขลังจัง แต่มีเรื่องเดือดร้อนมา ท่านก็ทำให้ ทำให้เฉพาะรายที่มีปัญหา แต่ว่านอกนั้นขอจะไม่ให้เลย แล้วก็ไม่มีมูลค่าเป็นเงินทอง เนี่ยเข้าใจตัวความหมายก็เพี้ยน แล้วก็ใช้ก็ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าหากว่าเข้าใจความหมายถูก รู้ตำแหน่งแห่งที่ความสำคัญคุณค่าของมัน แล้วใช้ปฏิบัติให้ถูก มันก็สอดคล้องเข้ากันหมด กลายเป็นระบบ สำหรับมนุษย์เราระดับนี้ เขายังไม่พร้อม เราก็ต้องทำให้เขาพร้อม นี่ก็คือวิธีการทำให้คนพร้อม ปัจจุบันก็ถือสำคัญ เรื่องคนต้องให้พร้อม ภาษาบาลีก็มี อย่างที่คนจะบรรลุธรรมก็ต้องบอก มีอินทรีย์แก่กล้าคือสุกงอมนั่นเอง สุกงอมก็ปริปักกินทรียะ ปริปักกะ อินทรียะก็อินทรีย์ มีศีลที่ปริปักกะแปลว่าสุกงอม พระพุทธเจ้าก็เลยว่า คนไหนยังไม่งอม ก็คือยังไม่พร้อม พระองค์ก็บ่มอินทรีย์ ก็มีวิธีปฏิบัติโดยการบ่มอินทรีย์ ไม่ใช่ไปรอให้เขาพร้อม อันนั้นก็ไปรอเหตุปัจจัย มนุษย์ความสามารถ ตัวเองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เจตนาและปัญญาของตัวนี่แหละเป็นปัจจัยธรรมชาติที่สำคัญที่สุด ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักใช้ ไปมองแต่ธรรมชาติส่วนอื่น ก็คือธรรมชาติที่ตัวมีพิเศษไม่เอาไปใช้ ธรรมชาติ กุศลเจตนา เจตนาที่ดี เป้าหมาย จุดหมายที่ดี ยอดเยี่ยม ซึ่งถ้าไม่ตั้งขึ้นมามนุษย์ไม่รู้จักคิด อันนี้มันมีไม่ได้นะ จุดหมายที่ดีที่ประเสริฐ มนุษย์เนี่ยมี แล้วที่มีได้อย่างนี้เพราะมีปัญญา และจะสนองให้สำเร็จ เจตนาที่ตั้งคือจุดหมายที่ดีนั้นก็ต้องอาศัยปัญญาที่รู้เข้าใจแล้วมาดำเนินการ มนุษย์มีปัจจัยในตัวที่สำคัญที่จะร่วมกระบวนการธรรมชาติคือปัญญาและเจตนา ฉะนั้นเราก็ไม่รอให้ธรรมชาติมันเป็นไป แม้ว่าไปรอธรรมชาติส่วนอื่น แต่ส่วนที่เราไม่เกี่ยวข้องไปรอให้มันเป็นไปเอง เออ ไปรออยู่ได้ยังไง ก็ถือนี่แหละ ท่านบอกว่าเป็นคนประมาท ก็ปัญญาเจตนาของตัวเป็นปัจจัยแสนวิเศษมีก็เอาเข้าไปใช้สิ นี่แหละท่านจึงไม่ให้รอ เอาปัญญาและเจตนาที่ดีเป็นกุศล เข้าไปร่วมเป็นปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติ ผลักดันเหตุปัจจัยอื่นให้ไปสู่จุดหมายที่ดีที่ประเสริฐ คนไม่ค่อยเข้าใจพุทธศาสนาที่ว่าพระพุทธศาสนาก็อยู่ไปตามธรรมชาติเนี่ย ถ้าไม่มองดูตัวเองเป็นธรรมชาติ มีปัจจัยธรรมชาติสำคัญไม่เอาไปใช้ เออ อยู่ไปตามธรรมชาติก็หมายถึงธรรมชาติอื่น นก ต้นไม้ ลิง ค่าง อ้าว ปล่อยไปตามลิงค่างจะบันดาลไปก็ไม่ได้ความใช่ไหม ก็มีเรื่องอื่นเยอะถ้าคุยกันต่อไป เรื่องโน้นเรื่องนี้มันก็โยงกันไปเรื่อย แต่ทุกเรื่องโยงกันนะ ถึงกันหมด เอาไว้คุยกันต่อ ถ้าท่านไม่มีคำถาม วันนี้เราก็คุยกันเท่านี้ก่อน อนุโมทนาทุกท่าน