แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พร้อมแล้วคุณต้นต้องมีอะไรต้องกล่าวนำหรือเปล่า ไม่มีอะไร ขอเจริญพร ญาติโยม สาธุชน ชาวคณะธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งโยมญาติมิตรทั้งหลายอื่นด้วย ที่ได้มาร่วมกัน มาฟังธรรม มาปฎิบัติธรรมด้วยกัน ก็ขออนุโมทนาทุกท่านที่มีศรัทธาในการที่ได้เดินทางมาเริ่มตั้งแต่เข้าโครงการที่ธรรมสถานจัดขึ้น ศรัทธานั้นเป็นเครื่องนำให้เรามีจิตใจมุ่งมาในการที่จะเข้าสู่โครงการ คือมีความเลื่อมใส มีความเชื่อในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และต่อจากนั้นก็ทำให้มีกำลังนอกจากนำแล้วก็มีกำลังด้วย ถ้าโยมไม่มีศรัทธา ก็ไม่มีกำลังที่จะเดินหน้ามาในการปฎิบัติ ทีนี้มีศรัทธาเป็นเครื่องช่วยให้เกิดกำลังแล้ว ก็มีฉันทะอีก มีความพอใจในการปฎิบัติ พอใจในความวิเวก ความสงบสงัด ในเรื่องของบรรยากาศเป็นต้น ตลอดจนตัวการปฎิบัตินั่นเอง คือมีความชอบที่จะทำ รักที่จะทำ รักที่จะปฎิบัติ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และโยมก็มีความเข้มแข็งในการปฎิบัติ ที่ได้เรียกว่ายืนหยัดหรือยืนยงจนกระทั่งถีงจบโครงการในปีนี้ นี่ก็ถือว่าเป็นการสืบเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน ปีนี้ก็มาต่ออีกจนกระทั่งจบพรรษา วันนี้อาตมาภาพลงมานี่ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาแสดงธรรมอะไรหรอก เป็นแต่เพียงว่าจะมาพบกับญาติโยม พระครูปลัดบอกเมื่อวานนี้ตอนเช้า บอกว่า โครงการของธรรมสถานครบแล้ว วันนี้จะเป็นวันสุดท้าย ก็มาพบกับโยมเพราะว่าปีที่แล้วก็พบครั้งหนึ่ง ก็ไม่รู้จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือก่อนสุดท้าย รองจากสุดท้ายแล้วก็จบโครงการ มาวันนี้ได้ทราบว่าเป็นครั้งสุดท้าย ครั้งที่ ๑๒ ก็มาพบกัน เมื่อมาพบกันก็เป็นเพียงกันคุยทั่วๆไป และเรื่องจะคุยอะไรบ้างก็อยากให้เป็นการพูดจา สนทนา โต้ตอบมากกว่าที่ว่าอาตมาจะเป็นผู้พูดให้ฟัง ทีนี่เรื่องของการมาพบปะนี่ พระครูปลัดบอกว่าเสาร์นี้เป็นเสาร์สุดท้าย อาตมามานึกอีกทีว่า เอ๊ะ เสาร์หน้านี่ยังไม่หมดไม่ใช่เหรอ ยังไม่ออกพรรษาใช่ไหม วันออกพอดี อ้อ วันออกแล้วก็ไม่มีใช่ไหม ตกลงก็เลยเอาวันนี้เป็นวันสุดท้าย และที่จริงบ่ายวานนี้อาตมายังนึก เอ๊ะ สงสัยวันนี้จะลงไม่ได้แล้ว ดูท่าไม่ค่อยดี นึกว่าจะผลัดโยมไปปีหน้าค่อยมาพบกัน คืออันนี้เล่าเป็นความรู้นะ ไม่ใช่ว่าจะให้มากังวลหรืออะไรทั้งนั้น ปีนี้เป็นปีที่ทรุดกว่าปีที่แล้วอีก ปีที่แล้วก็ว่าไม่ค่อยดี ปีนี้ทรุดมาก คือว่าเจ็บระบมหน้าอกมาตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษาประมาณหนึ่งเดือน แล้วเป็นมาตลอดจนกระทั่งบัดนี้ อันนั้นก็เรื่องหน้าอก สองก็ท้องเสียทุกวัน สิบวันเนื่ยจะเว้นสักวัน แล้วก็มาตอนนี้ที่ฉันในสิ่งที่ถือว่ามาช่วยให้ท้องดีขึ้น อยู่ตัวขึ้น ก็พอไปได้ แล้ววันนี้ก็อย่างที่บอก ยังไม่ได้ฉันอะไรหรอก ยังไม่ฉันข้าว พอฉันแล้วก็นอนเลย พอเดี๋ยวกลับไปแล้วก็ฉันแล้วก็ ภาคบ่ายตอนนี้ทำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะนอนแล้วตื่นขี้นมานี่ จะทำอะไรเดี๋ยวๆก็ต้องนอนอีก ทนไม่ไหว ต้องลงนอนหลับทั้งเย็นทั้งค่ำ นั่นก็เป็นเรื่องของสภาพร่างกาย แต่ไม่ใช่เรื่องเพลีย คนละเรื่อง บางท่านไปนึกว่าเป็นเรื่องเพลีย ถ้าเพลียนี่ไม่ค่อยสำคัญ เพลียนี่ถ้าไม่ใช่โชคก็เป็นโอกาส คือว่าทำให้ได้งาน ถ้าเพลียแล้วละก็ทำงานได้ดี แต่ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องเพลีย มันเป็นเรื่องที่ร่างกาย สมอง มันไม่เอาแล้ว ไหน อ๋อ ตา ตาไม่หายหรอก ตาก็เป็นต้อหินมันจะหายได้ยังไง ต้อหินมันไม่หาย แก้ไม่ได้ เป็นแต่เพียงว่าคุมไว้ไม่ให้มันเสื่อมลงไปกว่านั้น คือที่เสียไปแล้วก็เสียไป ไม่ให้เสียเกินกว่านั้น ตอนนี้ก็คือต้องใช้วิธีหยอดยาลดความดันตา ก็ไม่มีอะไรหรอก เล่าเป็นความรู้ โยมอย่าไปถือสา
ทีนี้เมื่อมาครบกันแล้วก็มาคุยกัน ก็อยากจะให้ทางฝ่ายโยมเป็นผู้ถาม ก็คุยกันก็ต้องโต้ตอบ ไม่ใช่พูดฝ่ายเดียว ถ้ายังไม่มีอะไรอาตมาก็พูดคุยไปพลางๆ นี่โยมมาปฎิบัติธรรมกันเนี่ย เราก็มีความรู้ เขาเรียกว่าปริยัติเป็นฐาน จะรู้มากรู้น้อยก็แล้วแต่ ก็ต้องรู้บ้างแหละ รู้ปริยัติ ปริยัตินี้คืออะไร ปริยัติเราก็มักจะแปลว่าการเล่าเรียน แต่ที่จริงความหมายอย่างนี้เป็นความหมายชั้นสองไม่ใช่ความหมายแท้ ปริยัติในความหมายที่แท้ พุทธพจน์ที่พึงจะเล่าเรียน ตัวพุทธพจน์นั่นแหละที่จะป็นปริยัติ ที่เรามาใช้เป็นความหมายแบบคลาดเคลื่อนนิดหน่อยหรือใช้แบบว่าหลวมๆ แต่เอาเป็นปริยัติเป็นการเล่าเรียนไป ก็ใช้ได้เหมือนกัน เลยกลายเป็นว่าจะเรียนอะไรก็เป็นปริยัติไปหมด ที่จริงไม่ใช่หรอก ความหมายในพระพุทธศาสนาที่แท้ ปริยัติหมายถึงพุทธพจน์พึงเล่าเรียน ก็หมายความว่าเราต้องการรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงปฎิบัติด้วยพระองค์เองแล้วก็ทรงบรรลุผล ถ้าจะพูดภาษาสมัยนี้ก็คือได้ทรงมีประสบการณ์ ประสบการณ์ที่เป็นผลจากการปฎิบัติ และพระองค์ก็ทรงนำเอาประสบการณ์ในการปฎิบัติและผลในการปฎิบัตินั้นมาเล่าให้พระสาวกทั้งหลายฟัง คำตรัสเล่าของพระองค์นี้ก็มาเป็นสิ่งที่เราจะเล่าเรียนกัน เพราะเราต้องการรู้ว่าพระองค์ได้ปฎิบัติมาอย่างไร ทรงรู้เข้าใจอะไร ได้ผลอย่างไร ประสบการณ์ของพระองค์ก็เป็นสิ่งที่มีค่า เพราะเราเชื่อพระองค์ เราอยากจะปฎิบัติตามพระองค์ ฉะนั้นเราก็คอยรอฟังคำสอนหรือคำบอกเล่าของพระองค์ คำบอกเล่าของพระองค์ก็เลยเป็นสิ่งที่เราจะต้องเล่าเรียน แล้วก็ถือว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าทั้งหมดนั่นแหละเรียกว่าปริยัติ และปริยัติจึงแปลว่าพุทธพจน์ที่พึงเล่าเรียน นี่คือความหมายที่แท้จริง ไม่ใช่การเล่าเรียนทั่วไป ก็แปลว่าต้องแยกความหมายเป็นสองชั้นว่าความหมายที่แท้ในพระศาสนา ปริยัติหมายถึงพุทธพจน์ที่พึงจะเล่าเรียน กล่าวคือประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าที่นำมาตรัสเล่าไว้ให้พวกเราได้นำมาใช้ประโยชน์ ถ้าเราถือว่าเราไม่ต้องพึ่งพระพุทธเจ้า เราก็ไม่ต้องอาศัยปริยัติ แต่ถ้าเราถือว่าเราเชื่อ เราฟัง เราพึ่ง เราอาศัยพระพุทธเจ้า ปริยัติก็มีความหมายและก็ขาดไม่ได้ เพราะว่าที่เราจะมาปฎิบัติอะไรนิดนึง เราก็ต้องอาศัยความรู้ที่ได้ยินได้ฟังมา จะอ่านจากพระไตรปิฎกโดยตรงหรือครูอาจารย์เอามาถ่ายทอดให้เราก็แล้วแต่ บางทีก็ถ่ายทอดต่อมาหลายชั้นกว่าจะถึงเรา บางทีก็บอกแค่ว่า เอ้า ไปนะเธอ ไปนั่ง นั่งอย่างนั้นนะ พอบอกว่านั่งอย่างนั้นนะ ก็ปริยัติแล้วใช่ไหม บอกว่าวิธีนั่งให้นั่งที่เราเรียกว่านั่งสมาธิ นั่งขัดสมาด เอ้า ให้หายใจหายใจออกนะ กำหนดลมหายใจอย่างนั้น นี้ก็ปริยัติทั้งนั้นแหละ ที่ครูอาจารย์บอก ถ้าบอกตรงก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่า ไม่ตรงอาจารย์ก็เพี้ยนก็แล้วแต่ ปริยัติเราก็ได้บ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ก็เป็นฐานของการปฎิบัติ พอเราได้ฟังคำตรัสเล่าของพระพุทธเจ้าจากประสบการณ์ของพระองค์แล้ว จากแหล่งที่เราเห็นว่าน่าเชื่อถือที่สุด ก็ถือพระไตรปิฎกนี้ที่เป็นพยายามจะรักษากันมาให้ดีที่สุด พระไตรปิฎกเป็นแหล่งที่รักษาไว้ดีที่สุด รักษาคำตรัสเล่าประสบการณ์ของพระพุทธเจ้า เราก็ถือพระไตรปิฎกเป็นหลัก แล้วก็เอามาเป็นฐานของการปฎิบัติ แล้วเราก็ปฎิบัติไปตามนั้น แต่ว่าคำสอนในพระไตรปิฎกมีมากเหลือเกิน บางทีเราดูไม่ทั่วถึง อาศัยท่านผู้เชี่ยวชาญชำนาญก็คือครูอาจารย์ ท่านมาช่วยบอกให้ เรื่องนี้ไม่ใช่มีเฉพาะตรงนี้ มีอยู่ตรงโน้นด้วย เข้าใจอย่างนี้ยังไม่ถูก ตรงนั้นจะบอกให้ชัดอย่างนั้นอย่างนี้ โยงให้เราอีก เราก็ชัดขึ้นมา นำมาใช้ปฎิบัติได้ดี เมื่อเราชัดในการปฎิบัติ เราปฎิบัติได้ผลดีแล้วก็ได้บรรลุผล ก็เรียกว่าปฎิเวธ ก็ครบกระบวนการ เรียกว่าปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวธ เป็นอันว่าปริยัติคือคำตรัสเล่าประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าที่ถ่ายทอดมาให้เรา แล้วเราก็มาเล่าเรียน แล้วก็จากคำบอกเล่าประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าอันนั้นที่เรียกปริยัติ เราก็มาใช้เป็นฐานเป็นหลักของการปฎิบัติ ปฎิบัติไปถ้าเราปฎิบัติถูกก็จะได้รับผลก็เป็นปฎิเวธไป ก็ครบสามขั้น พระศาสนาก็มีสามส่วนด้วยกันมีเท่านี้ มีปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวธ ปฎิเวธก็เป็นมรรคผลนิพพาน อันนี้บางทีพระพุทธเจ้าตรัส พระพุทธเจ้าไม่ค่อยนิยมตรัสปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวธ อันนี้อาตมาพูดเป็นความรู้ ให้โยมได้ยิน ได้ฟังไว้ พระพุทธเจ้าไม่ค่อยตรัสชุดปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวธ พระองค์จะตรัสชุดสิกขาแล้วก็ปฎิเวธเลย เพราะฉะนั้นเราจะเห็นในพระสูตรก็มีว่า สิกขา แล้วก็มักจะมีคำนำหน้าซะด้วยนะว่า บอกว่าอนุปุพพสิกขา แล้วก็ปฎิเวธ ปฎิเวธก็ใช้คำว่าอัญญาปฎิเวโธ โยมลองฟังก็เพราะดีเหมือนกันนะ อนุปุพพสิกขา อัญญาปฎิเวโธ นี่คำพระพุทธเจ้าเองแท้ๆ ปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวธ นี้ชุดนี้เป็นชุดที่พระอาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ท่านชอบใช้ ก็มาแยกให้พวกเราสะดวกในการเล่าเรียนศึกษา ในการกำหนด ชุดพระพุทธเจ้าเองมักจะตรัสอนุปุพพสิกขา อัญญาปฎิเวโธ อ้าวแล้วเป็นอย่างไรหละ อนุปุพพสิกขา อนุปุพพ แปลว่าตามลำดับ แล้วก็สิกขาก็แปลว่าการศึกษาหรือการเรียนรู้ก็แล้วก็ที่เราใช้ ปัจจุบันนี้การเรียนและการปฎิบัติ คำว่าสิกขาหรือศึกษา ในภาษาไทยความหมายมันก็เพี้ยนไปด้วย สิกขานี่คือเล่าเรียนให้รู้แล้วทำให้เป็นอย่างนั้น ทำให้ได้ ทำให้เป็น ทั้งเรียนให้รู้และทำให้ได้ให้เป็น จึงจะเป็นสิกขา ไม่ใช่แค่เรียนเป็นสิกขา ก็สิกขานั้นเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ลองคิดูสิ ถ้าศึกษาเพียงแค่เรียนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็ อ้าวแล้วไตรสิกขา ลองแยกดูสิว่ามีอะไร ศีล สมาธิ ปัญญา ใช่ไหม สิกขาการศึกษาประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่าไตรสิกขา แล้วดูสิว่าเป็นเรื่องปฎิบัติทั้งนั้นเลย เรียนที่ไหนหละ ใช่ไหม นี่สิกขาที่แท้มันอยู่ที่ปฎิบัติ แต่ว่าท่านรวมหมด ปฎิบัติได้มันต้องอาศัยเล่าเรียนให้รู้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เพราะฉะนั้นคำว่าสิกขานี้ มันเป็นคำที่เท่ากับปริยัติและปฎิบัติรวมกัน
นี่ก็อาตมากำลังจะโยงให้เห็นว่าชุดสองของพระพุทธเจ้า กับชุดสามที่พระอรรถกถาจารย์หรือโยมกล่าวก็อันเดียวกันนั่นแหละ แต่พระพุทธเจ้าตรัสรวบ คือสมัยที่พระอยู่กับพระพุทธเจ้า แน่นอนต้องฟังพระองค์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพระองค์ก็จะเน้นไปที่ภาคปฎิบัติ เอ้า ฟังฉันไปแล้วก็ไปปฎิบัตินะ ฉะนั้นก็เลยว่าเล่าเรียนแล้วปฎิบัติเรียกว่าสิกขา ที่ว่าศึกษานั้นต้องเล่าเรียนให้รู้ ก็คือปริยัติด้วยและก็ปฎิบัติด้วย พูดสั้นๆว่า ปริยัติและปฎิบัติรวมกันเรียกว่าสิกขาคือการศีกษา เวลานี้เราเอาปริยัติไปศึกษาไป ที่จริงพระพุทธเจ้าตรัสเน้นนะสิกขาเน้นที่ปฎิบัติ อย่าง เอ้าอันนี้นอกเรื่องแทรกไปอีกนิดนึง อย่างในแห่งหนึ่ง ท่านแยกพระศาสนาออกเป็นปฎิบัติ คือศาสนานี่ หรือปฎิบัติคือสัทธรรม ที่เราบอกปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวธ ที่เมื่อกี้บอก ปริยัติคือพุทธพจน์ที่จะพึงเล่าเรียนใช่ไหม ปริยัติ อ้าว แล้วปฎิบัติคืออะไร ปฎิบัติคือศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ปฎิบัติก็คือไตรสิกขา ตกลงปฎิบัติ ตัวสิกขานั่นเอง เพราะฉะนั้นตัวสิกขา มันเน้นที่ปฎิบัติ ขณะที่ท่านเอาไปใช้คำจำกัดความของการปฎิบัติเลยนะ ว่าการปฎิบัติคืออะไร การปฎิบัติก็คือไตรสิกขา ฉะนั้นตัวปฎิบัติที่แท้ก็คือไตรสิกขา ในการศึกษาอยู่ที่การปฎิบัติ อันนี้ไปดูเอาตัวแท้ๆ เลยนะ คำจำกัดความในคัมภีร์เลย ไม่ต้องมาพูดกันเองแล้ว โยมจะได้ชัด เอ้า เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพสิกขา สิกขาในที่นี้ก็ทั้งปริยัติทั้งปฎิบัติ ทั้งเล่าเรียนแล้วก็ไปปฎิบัติ ที่นี้มีอนุปุพพสิกขาก็แปลว่าศึกษาตามลำดับ หมายความว่ามีขั้นมีตอน การศึกษานี่มีขั้นมีตอน ไม่ใช่ว่าทำเรื่อยๆเปื่อยๆ สับสน ลักลั่น ทำมีขั้นมีตอน ท่านเรียกว่าอนุปุพพสิกขา แล้วบางครั้งพระพุทธเจ้าก็ใช้อนุปุพพปฏิปทา ย้ำ เป็นคำที่ใช้เป็นชุด อนุปุพพสิกขา อนุปุพพปฏิปทา สิกขานั่นแหละ ปฏิปทาก็เป็นการปฎิบัติ ปฎิบัตินั่นคืออะไร ก็คือมรรค เอาอีกแล้วก็ไม่ค่อยไปไหน ก็ตกลง สิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นอนุปุพพสิกขา ใช่ไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นอนุปุพพแล้วเป็นลำดับ แล้วก็เป็นอนุปุพพปฏิปทาเป็นปฎิปทาตามลำดับ แล้วปฎิปทาคืออะไร ปฎิปทาการปฎิบัติ การดำเนิน ปฎิปทาแปลว่าการดำเนิน การดำเนิน ดำเนินอะไร ดำเนินตามทาง ทางอะไร ทางก็มรรค ตกลงว่ามรรค มรรคมีองค์แปด สรุปเป็นอะไร ก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ตกลงอนุปุพพปฏิปทา ก็มรรคมีองค์แปดนั่นแหละ ก็ปฎิบัติตามลำดับ ดำเนินไปตามลำดับ มีขั้นมีตอน ก็อันเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ให้ ใช้คำต่างๆเหล่านี้ ให้เป็นคำเป็นชุด เราจะได้โยงธรรมะมาหากันได้ง่าย
เอาล่ะ ได้ความว่า อนุปุพพสิกขา อนุปุพพปฏิปทา ก็คือเรื่องสิกขา ๓ มรรคมีองค์แปด ก็เป็นเรื่องที่รวมหมดทั้งปริยัติ ปฎิบัติด้วยกัน แล้วก็เน้นที่ปฎิบัติ เพราะเรียนไปแล้ว ถ้าไม่ปฎิบัติก็ไม่ได้ผลอะไร
ทีนี้ต่อไป พระพุทธเจ้าก็ตรัส พอได้อนุปุพพสิกขาแล้วก็ อัญญาปฎิเวโธ ปฎิเวโธก็ตัวเดียวกัน คือการแทงตลอด นี่สำนวนโบราณนะ ปฎิเวโธก็การแทงตลอด การแทงตลอดก็คือการบรรลุผล คือหยั่งรู้ความจริงด้วยปัญญา ทีนี้ ทำไมจึงมีคำว่าอํญญา อัญญาตัวนี้แปลว่าพระอรหันตผล อัญญาแปลว่าอะไร อัญญามาจากตัว อาจุด บวกญาณ รวมกันแปลว่าความรู้ที่เป็นญาณ และอาแปลว่าทั่ว บวก อา กับ ญา เป็นอัญญาณ แปลว่าความรู้ทั่ว อันนี้แปลโดยรูปศัพท์เท่านั้นเอง ตวามหมายที่แท้จริงก็คือพระอรหันตผล ญา นี่พระอรหันตผล บรรลุอัญญาก็คือบรรลุอรหันตผล นี่คือจุดหมายของมัน
ตกลงว่านี่ก็คือหลักปฎิบัติ ไม่ใช่แค่ปฎิบัติแล้วหมดเลยทั้งชุด อนุปุพพสิกขา อัญญาปฎิเวโธ สิกขาตามลำดับ แล้วก็บรรลุความรู้แจ้งสมบูรณ์ที่เรียกว่าอรหันตผลอัญญาปฎิเวโธ ครบ งั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าจะสรุปอย่างไรก็ได้หลายแบบ นี้เป็นวิธีสรุปอย่างหนึ่ง
ตกลงวันนี้อาตมามาพูดเพียงเทียบให้เห็นสองชุด ชุดง่ายๆที่เราอาจจะได้ยินได้ฟังชินกว่าก็คือชุดปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวธ แล้วก็ต้องเข้าใจให้ชัดว่าแท้ว่าที่จริงปริยัติ หมายถึงพุทธพจน์ที่พึงจะเล่าเรียน แล้วก็ปริยัติ ปฎิบัติมารวมกันก็สิกขา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสชุดง่ายๆสั้นๆ แค่สองว่า อนุปุพพสิกขา อัญญาปฎิเวโธ การศึกษาตามลำดับขั้น แล้วก็นำไปสู่การบรรลุผล คือความรู้ทั่วตลอดที่เรียกว่า บรรลุอรหันตผล ก็เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา
จบ นี่ก็เป็นการสรุปอย่างหนึ่ง และโยมไม่ถามอะไรก็จะคุยต่อ คุยไปเรื่อยๆ