แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็คุยกันต่อ จะขึ้นเรื่องสังคหวัตถุ แต่ก็มานึกถึงเมื่อเช้าเลยแทรกก่อนนิดหน่อย เรื่องเกี่ยวกับเรื่องความเจริญและความเสื่อม พูดถึงสังคมไทยที่ว่าก้าวเข้าสู่หลักการของพระพุทธศาสนา เอาพุทธศาสนาหรือเอาหลักธรรมมาใช้ยังไม่ได้เท่าที่ควร หรือว่าบางทีก็ใช้เขวๆ ไป อันหนึ่งก็จะเห็นได้จากการที่ว่าเราจะไปอยู่ในความเชื่อแล้วก็หลักคำสอนในขั้นพวกตำนานพวกชาดกอะไรต่ออะไรนี่มาก แล้วก็คัมภีร์ยุคหลังๆ เช่นอย่างคัมภีร์สมัยสุโขทัย ก็ไตรภูมิ คือไตรภูมิพระร่วง มีอิทธิพลมาก ก็เรียกว่าเมืองไทยในยุคที่ผ่านมา อดีตนี่ คติเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เราเชื่อเราปฏิบัตินี่ไปในแนวนี้ ในแนวของไตรภูมิแทบทั้งนั้นเลย ทีนี้ไตรภูมินี้ก็เป็นคัมภีร์ของไทยเรานี่เอง แต่ว่าเป็นการประมวลจากคัมภีร์เก่าๆ ซึ่งเป็นรุ่นหลัง พวกคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ฎีการุ่นหลังๆ มาใช้ เราไม่ได้ใช้ถึงคัมภีร์ดั้งเดิมที่เป็นแท้ๆ พระไตรปิฎก คือเป็นพระไตรปิฎกที่ผ่านมาจากคัมภีร์รุ่นอธิบายอีกทีหนึ่ง ก็ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างที่เขามาวิจารณ์กันเรื่องความชอบธรรม ของผู้ปกครองประเทศ ตามไตรภูมินี่ก็จะพูดถึงเรื่องบุญญาธิการว่าพระเจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์นั้นเป็นผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน ก็จึงได้มาเกิดขึ้น มาเกิดในฐานะอย่างนี้ เป็นกษัตริย์ หมายความว่าความชอบธรรมของพระองค์คือการที่ทำบุญไว้ในชาติก่อน แล้วก็มาเกิดเป็นกษัตริย์ ฝรั่งก็ศึกษาเรื่องนี้ นักวิชาการสมัยก็บอกว่าเนี่ยพุทธศาสนาก็ถือเอาความชอบธรรมของกษัตริย์อยู่ที่กรรมดีที่ได้ทำไว้ในชาติก่อน แต่ว่าถ้าเราไปดูตามพระไตรปิฎกนี่ ความชอบธรรมของผู้ปกครองอยู่ที่ไหน ก็จะเห็นว่าอยู่ที่ธรรมะ อยู่ที่ธรรม ธรรมเป็นตัวตัดสิน เช่นอย่างใน อัคคัญญสูตร นี่จะชัดมาก เพราะอัคคัญญสูตร จะพูดถึงเรื่องวรรณะต่างๆ ก็ไม่ถือว่า คือของพราหมณ์เขาถือชาติกำเนิดเป็นตัวตัดสิน ชาติกำเนิดนั้นเป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าหรือพระพรหม ท่านสร้างมาอย่างนั้น ฉะนั้นความชอบธรรมก็เกิดที่วรรณะของเขาเองที่เกิดมา ทีนี้พระพุทธศาสนาบอกว่าไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด อยู่ที่การกระทำ แต่ว่าการกระทำนั้นเอาอะไรตัดสิน กรรมที่ถูกต้องก็คือกรรมที่เป็นธรรม ธรรมเป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้าย เพราะฉะนั้นในอัคคัญญสูตร จะมีคาถาที่สรุป หรือข้อความ ทั้งร้อยแก้วเลยที่สรุปอยู่เรื่อยๆ ว่าธรรมเป็นสูงสุดทั้งในหมู่มนุษย์และเทวดา จะมีข้อความนี้อยู่เรื่อยเลย ในพุทธศาสนานี้ถือธรรมสูงสุด แต่ถ้าเราเอาตามไตรภูมิ ไตรภูมิจะไม่มีคำสอนถึงระดับนี้ ไตรภูมิจะอยู่แค่เรื่องกรรมดีที่ได้ทำไว้ในปางก่อน คติที่ถือแบบนี้ทำให้โน้มเอียงไปในทางที่ว่าไปเอียงด้านกรรมเก่า ใช่ไหม จนกระทั่งคนไทยเข้าใจเรื่องกรรม เชื่อเรื่องกรรม ในความหมายแบบกรรมเก่าซะมาก จนบางทีกลายเป็นเชื่อแบบนิครนถ์ไปเลย ก็เลยกลายเป็นออกนอกพุทธศาสนาเพราะว่าลัทธิกรรมเก่าก็คือลัทธินิครนถ์ ที่พระพุทธศาสนาติเตียน คือไม่ได้ติเตียน คัดค้าน เพราะนิครน์เขาถือว่าอะไรจะเป็นยังไง คนจะได้สุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นเพราะกรรมที่ทำในชาติปางก่อน ลัทธินี้เรียกว่าลัทธิ ปุพเพกตเหตุวาท พระพุทธเจ้าค้านไว้หลายแห่ง ก็มีลัทธิอยู่ 3 ลัทธิที่ถือว่าเป็นลัทธิที่ไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ไม่สนับสนุนการกระทำ หนึ่ง-ลัทธิกรรมเก่า ที่ว่านี้ ที่เป็นลัทธิของพวกนิครนถ์ สอง –ลัทธิพระผู้เป็นเจ้าบันดาล ว่าอะไรต่ออะไรก็เป็นเพราะพระผู้เป็นเจ้าที่ยิ่งใหญ่บันดาล สาม-ลัทธิแล้วแต่โชค ทีนี้เมืองไทยเรานี่เราไปเน้นเรื่องกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน ไม่ว่าจะเน้นเรื่องการที่ให้พยายามทำกรรมดีกรรมชั่ว เอามาโยงกับปัจจุบัน ให้คนนี่นึกถึงผลกรรมที่ดีชั่วจากอดีต แล้วก็เตือนตัวเองให้ทำกรรมดีเว้นกรรมชั่ว แต่ไปๆ มาๆ จุดเน้นไปอยู่ที่กรรมในชาติก่อน แล้วก็อย่างที่เคยพูดไปแล้ว คนไทยเอาหลักธรรมมาใช้ในแง่ที่ว่า ให้มาอยู่สุขสบาย ชีวิตจะสบายแล้วก็สังคมก็อยู่กันสันติสุข ไม่เบียดเบียนกันในปัจจุบัน ก็ดีแล้ว มันก็เลยกลายเป็นว่ามาใช้หลักธรรมในเชิงของการหยุดนิ่งมากกว่า มากกว่าที่จะเดินหน้า ทีนี้เรื่องกรรมก็มาเน้นในแง่เรื่องบุญเรื่องบาป กรรมที่ดีเป็นกรรมที่เป็นบุญ กรรมชั่วเป็นบาป ให้เว้นบาป ทำบุญ ก็อยู่ในระดับนี้ ทีนี้ก็ถือว่าคนที่มาเกิดดีชาตินี้ก็เพราะกรรมดีเป็นกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน เพื่อเป็นคนมีบุญ ซึ่งมันเป็นเพียงด้านหนึ่งของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ตัวตัดสินที่เด็ดขาด ตัวเด็ดขาดที่ให้กรรมนั้นเป็นกรรมที่ดีก็คือธรรม เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกนี่จะชัดมาก อย่างอำนาจของผู้ปกครอง ก็จะไปอยู่ที่ธรรม เพราะธรรมเป็นตัวตัดสิน ธรรมก็ดูได้ในบัดนี้เลย ในปัจจุบัน ฉะนั้นนี่ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่าสังคมไทยนี้เรายังก้าวไปไม่ถึงหลักการที่แท้ของพุทธศาสนา มาได้ในระดับหนึ่ง เสร็จแล้วพอมาได้ระบดับหนึ่ง เกิดไปยึดติดอันนั้น ก็เลยตัวการยึดติดกลับไปถ่วงตัวเองไว้ไม่ให้เดินหน้าต่อ ฉะนั้นในสังคมไทยที่ผ่านมานี่ก็ไตรภูมิพระร่วง หรือ เตภูมิกถา ของพระเจ้าลิไทก็มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาตลอด ความเชื่อในทางพระพระศาสนาก็อยู่ในระดับของไตรภูมิซะมาก อีกอย่างที่มีอิทธิพลมากก็ชาดก นี่ก็ทศชาติ ทศชาติก็มายึดในเรื่องของชาติเป็นพระเวสสันดร ที่เราเรียกว่ามหาชาติ ซึ่งเน้นเรื่องทานบารมี อันนี้เราจะมีวรรณคดีที่เกี่ยวกับเรื่องมหาชาตินี้ตั้งแต่ยุคอยุธยาเลย อย่างมหาชาติคำหลวง ต่อมาก็มีกาพย์มหาชาติ แล้วก็มีประเพณีเทศน์มหาชาติแผ่ไปทุกถิ่นเลย ทั้งภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือมีไหม เรียกอะไรภาคเหนือ ภาคอิสานเรียกว่าทำบุญผะเหวด ใช่ไหม แล้วทางภาคกลางก็มีเทศน์มหาชาติ ทางภาคใต้ก็มี ทางภาคเหนือเรียกว่าอะไร แต่ก็มีนั่นแหละ มีอิทธิพลไปทั่ว เราก็ใช้หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในระดับของชาดก แล้วก็มีการเทศน์ชาดกอื่นๆ ในโอกาสต่างๆ ก็เรื่องเป็นเรื่องของศีลธรรม การอยู่ร่วมกันในสังคมทั่วๆ ไป จะมีคนจำนวนน้อยที่จะเข้าถึงหลักธรรมที่เป็นเรื่องของปัญญาสุขุมลึกซึ้ง ซึ่งไม่ใช่ไม่มีนะ บางยุคก็จะเอาจริงเอาจังกัน ก็จะมีคนจำนวนน้อย อันนี้มันก็ต้องยอมรับเรื่องของสังคมคนหมู่ใหญ่ จะให้มาเข้าถึงคำสอนทั้งหมดเป็นไปได้ยาก แต่ว่าถึงหลักการโดยทั่วไปนี้คนส่วนใหญ่ก็มาอยู่แค่ระดับนั้น ทีนี้ทานที่เรามาเน้นกันในชาดกเทศน์มหาชาตินี้ ก็ได้ผลในสังคมไทย ทำให้คนไทยนี้มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาก แล้วเราเน้นเรื่องเมตตากรุณาอยู่แล้ว แถมทานนี่ก็เข้ามาเป็นคำสอนใหญ่ทีเดียว แต่ปรากฏว่าคนไทยนี้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความพร้อมที่จะบริจาคให้แก่กัน เป็นคนที่ให้อย่างมีจิตใจกว้างขวาง ไม่ว่าจะช่วยเหลือกันทั่วไป เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันทั่วไป หรือว่าจะบำรุงพระศาสนา เวลาทำบุญทำกุศลต่างๆ ก็เน้นเรื่องทาน ฉะนั้นเรื่องทานคนไทยจะเลี่ยงว่าแทบไม่อั้นเลย จนกระทั่งว่าเราพูดว่าทำบุญนี่จะเน้นไปที่ตัว ก็คือไปถวายทาน ไปเลี้ยงภัตตาหารพระนี่แหละ คือเรื่องทานนี้แหละ แล้วก็ลักษณะพร้อมที่จะบริจาคให้นี่ ถ้าไปเทียบกันกับคนตะวันตกแล้วจะเห็นชัด ยกตัวอย่างเช่นอย่างวัดไทยไปตั้งในอเมริกา บางวัดก็มีตู้บริจาค ที่ตู้บริจาคนี้ คนไทยเราไปอยู่อเมริกา ก็มีฐานะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เวลามาวัดจะหย่อนในตู้บริจาคคนไทยจะใส่เป็นธนบัตรอเมริกันทีละ 5 เหรียญ 10 เหรียญ หรือบางคนอาจจะ 20 เหรียญก็ได้แล้วแต่ จะ 5 เหรียญ 10 เหรียญ ก็มักจะทั่วไป แต่ฝรั่งมาจะหยอดเหรียญเดียวก็เป็นไปได้ยาก ทั้งๆ ที่คนไทยไปอยู่ที่นั่น ก็ย่อมไม่ได้มีฐานะดีกว่าฝรั่ง ใช่ไหม เงินฝรั่งก็แพง เหรียญหนึ่งตั้ง 20 บาท 25 บาท ทีนี้คนไทยนี่รู้สึกว่ามันง่ายเหลือเกิน คนไทยก็จะเรียกเงินเหรียญหนึ่งว่าบาท ใช่ไหม ก็เรียกว่าบาทเดียว บางหนึ่งก็คือเหรียญหนึ่งนั่นเอง ฉะนั้นจะเป็นเรื่องคล้ายๆ ว่าธรรมดาของคนไทยเลย ที่มีจิตใจที่พร้อมที่จะให้ อย่างการที่ว่าอยู่ในกลุ่มเพื่อนฝูงก็เลี้ยงกันใช่ไหม ไปเลี้ยงกันก็แย่งกันเลี้ยง แย่งกันออกเงิน ซึ่งสำหรับฝรั่งเป็นไปไม่ได้ เราก็ได้ยินคำว่าอเมริกันแชร์ ต่างคนต่างออก นี่ก็กลายเป็นเรื่อง
ของวัฒนธรรมไปด้วย ที่ว่ามานี่ก็เป็นเรื่องของการจะพูดให้เห็นถึงว่าคนไทยเรานี่นำพระพุทธศาสนามาใช้ หรือนำหลักธรรมมาปฏิบัตินี่ เป็นเพียงการพยายามก้าวมาเข้าสู่พระพุทธศาสนา แต่ว่าต้องพิจารณาว่าก้าวไปได้แต่ไหน อย่างไร เรื่องไตรภูมิพระร่วง เรื่องเทศมหาชาติก็เป็นตัวอย่างในระดับสังคม ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า การที่คนไทยเอาธรรมะมาใช้ในลักษณะที่ว่าพอให้อยู่สบายในลักษณะเชิงหยุด สงบนิ่ง อันนี้อาจจะเป็นด้วยอิทธพลสภาพแวดล้อมด้านการเกษตรด้วยก็ได้ ชีวิตที่มีสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ทำให้คนก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ทีนี้ธรรมะนี้มาใช้ก็เพื่อว่าอยู่ร่วมกันสงบสุข ไม่เบียดเบียนกัน ก็พอใจแล้ว ใช่ไหม ทีนี้ธรรมะต่างๆ เหล่านี้ก็เอามาใช้ อย่างสันโดษ เอามาใช้ก็ให้สบาย อยู่สบายก็พอแล้ว จะสันโดษในแง่ที่ว่าจะได้เป็นพื้นฐานให้พร้อมที่จะก้าวไป อันนั้นเราก็ไม่ได้เอามาใช้ อันนี้อาจจะเป็นเพราะลักษณะชีวิตแบบชีวิตเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ มันมีแนวโน้มที่เป็นวงจรแบบว่าซ้ำเดิมอยู่เรื่อยๆ ถึงเวลาหน้าทำนาก็ทำมาหากินทำไร่ไถนาไป พอถึงฤดูแล้งก็เสวยผล ก็อยู่สบายพักผ่อน บางทีก็ตีไก่ แล้วก็มาสนุกสนาน จะหนักในเรื่องประเพณี เรื่องของสนุกสนานบันเทิง จะมีพวกประเพณีเกี่ยวกับเรื่องของความสนุกสนานนี้มาก สมัยปัจจุบันนี้เสื่อมลงหนักไปหน่อยก็คือว่าพอถึงหน้าแล้งก็ตั้งวงเหล้า กินเหล้าเมายา เป็นมากในชนบท ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวายอะไร สภาพชีวิตมันก็สบายพอสมควร พอถึงฤดูทำมาหากินทำนาก็ทำไป พอเสร็จงานทำนาก็พักผ่อน พอถถึงหน้านาก็ทำกันใหม่ เราก็ใช้ธรรมะแค่ว่าเอาพอมาให้อยู่สบายร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกันก็พอแล้ว ฉะนั้นก็ไม่มีการโน้มเอียงไปในการที่จะใช้ธรรมะในเชิงเป็นฐานของการก้าวไปข้างหน้า นี่ก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งคือปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม ชีวิตที่มีการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ แล้วก็อย่างเทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ก็อาศัยความจำเป็นในการดำเนินชีวิต อย่างความขาดแคลน การที่จะต้องหาทางดิ้นรนเพื่อจะให้อยู่ได้รอดหรือดีขึ้น ทำให้พวกนี้ต้องพยายามหาทางออก ก็ทำให้เกิดการประดิษฐ์สร้างสรรค์เทคโนโลยีได้ก้าวหน้า ทีนี้การที่เทคโนโลยีก้าวหน้า มันก็ค่อยๆ ก้าวไปทีละน้อยๆ ไม่ใช่ว่าพรวดเดียวไปได้มากมาย เมื่อก้าวไปทีละน้อยๆ เรามาดูในคนไทยที่มีชีวิตสบายๆ หนึ่ง-ความจำเป็นบีบคั้นที่จะทำให้สร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีก็ไม่มีอยู่แล้ว สอง-ถ้าใครทำอะไรได้แปลกเป็นเทคโนโลยีแบบชาวบ้านขึ้มมาได้นิดหน่อย คนอื่นจะไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยตื่นเต้น พอทำไปแล้ว ทำแล้วก็แล้วกัน เห็นแล้วก็อย่างนั้น แต่ถ้าเป็นเมืองฝรั่งนี่ ความจำเป็นมันทำให้เกิดความต้องการ ถ้าทำอะไรได้ใหม่ มันรู้สึกตื่นเต้นเลย มันมีความสำคัญมาก แต่ในสังคมไทย คนอื่นก็จะไม่ค่อยเอาใจใส่ด้วย ทำได้ก็ทำไป แล้วเสร็จแล้วถ้าหากว่าจะต้องทำมันต้องใช้ความเพียรพยายามอีก ใช่ไหม ก็เลยไม่อยากเอาใจใส่ ฉะนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีก็เป็นไปได้ยาก อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราควรนำมาพิจารณา เป็นเพียงเรื่องของตัวอย่างที่ให้เห็นว่าปัจจัยด้านต่างๆ เช่นสภาพแวดล้อมเป็นต้น ก็มีอิทธิพลในเรื่องของการสร้างความเจริญแบบที่เราเรียกกันในปัจจุบัน ซึ่งเน้นความเจริญทางด้านวัตถุ อันนี้ก็เป็นเรื่องแทรกเสริมจากเรื่องที่พูดมาแล้ว ก็เห็นจะพอสมควร
ทีนี้มาเข้าเรื่องสังคหวัตถุ เป็นเรื่องต่อเนื่องจากพรหมวิหาร 4 ประการ ที่พูดไปแล้ว ทีนี้พรหมวิหาร ธรรมประจำใจของพรหม ซึ่งเป็นธรรมะที่เป็นคุณสมบัติของคนที่จะอยู่ร่วมสร้างสรรค์สังคมนี้ หรือว่าสร้างโลก อภิบาลโลก ก็มี 4 อย่างที่ว่าไปแล้ว เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ว่าพรหมวิหารเป็นเพียงธรรมะที่เป็นคุณสมบัติในใจเท่านั้น ยังไม่ได้ออกมาในภาคปฏิบัติการจริงๆ เวลาเราพูดกัน อธิบายกันนี่ พูดเหมือนกับว่าออกมาสู่การปฏิบัติด้วย เพราะว่ามันเนื่องกันอยู่ อยู่ในใจแล้วก็แสดงออก แต่ที่จริงมันเป็นเพียงขั้นคุณสมบัติในใจที่เป็นขั้นพื้นฐานในการแสดงออกอีกทีหนึ่ง การแสดงออกนี้มันไม่ใช่ตัวพรหมวิหารแล้ว ถ้าเรามีแค่พรหมวิหาร ก็เป็นเพียงท่าทีของจิตใจ แล้วก็เป็นคุณธรรมภายใน ทีนี้ถ้าไม่ออกสู่การปฏิบัติเนี่ย ก็จะมีผลน้อย เหมือนอย่างว่ามาแผ่เมตตากันอย่างนี้ ก็ปรารถนาดีอยากให้คนอื่นเป็นสุข เหมือนเรานั่งสมาธิเสร็จก็แผ่เมตตาว่า สัพเพ สัพตาฯ เป็นต้น ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ทีนี้มีฝรั่งที่มาเรียนรู้พุทธศาสนาผิวๆ เผินๆ ในแง่ของหลักธรรม แล้วก็มาเรียนจากพฤติกรรมของชาวพุทธบางส่วน ก็ไปเขียนหนังสือ อย่างนายอัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงของตะวันตก ก็ไปเขียนว่า ดูคำจำกัดความคำว่าทำดี ในพุทธศาสนาเนี่ย ทำดีในพุทธศาสนาก็คือเว้นชั่ว แล้วก็ให้มีเมตตากรุณา เมตตากรุณาก็ไม่เห็นออกมาเป็นการปฏิบัติ ฉะนั้นการทำดีของชาวพุทธนี้มันไม่มีผล ไม่มีการปฏิบัติในระดับสังคม เหมือนกับว่านอนแผ่เมตตาอยู่ในมุ้งก็เป็นการทำความดีแล้ว นี่นะทัศนะของอัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ ซึ่งprofesser โรเบิร์ต ไอ.ซัตตัน ที่มาร่วมในการก่อตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น ได้เอามาตั้งเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ปัจจุบัน หรือนิด้า professer โรเบิร์ต แอลซัตตัน ก็ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า public administration in Thailand แกก็ไปอ้างเอาคำของอัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ นี้มา ให้เห็นว่าพุทธศาสนานี่ไม่ได้ช่วยให้พัฒนาสังคมเลย การทำดีในพุทธศาสนาก็แค่ไม่ทำชั่ว แล้วมีเมตตากรุณา เมตตากรุณาก็แค่นอนแผ่เมตตาอยู่ในมุ้ง อย่างที่ว่า แกไม่ได้พูดใช้คำนี้หรอก แต่ผมพูดเอาสาระสำคัญ สรุปได้ว่าแกพูดทำนองนี้ เพราะฉะนั้นเอาแค่มีเมตตาอยู่ในใจ แค่นอนแผ่เมตตาอยู่ในมุ้งก็เป็นการทำดีแล้ว ชาวพุทธก็ไม่ต้องไปทำอะไรที่เป็นปฏิบัติการในสังคม ใช่ไหม เพราะฉะนั้นแล้วจะทำให้สังคมเจริญพัฒนาได้อย่างไร เขาก็บอกว่าพุทธศาสนาก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ขัดขวางการพัฒนาประเทศ นี่เป็นทัศนะของโรเบิร์ต แอลซัตตันนะ ที่มาเป็นprofesser ที่สอนด้วยแล้วก็ร่วมในการก่อตั้งดำเนินงานของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่ว่าต่อมาได้มาตั้งเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ทีนี้ชาวพุทธเองต้องมาตรวจสอบตัวเองด้วย การที่เขาเขียนอย่างนั้นก็เป็นโอกาสให้เราได้มาสำรวจตัวเองเหมือนกัน ทีนี้ชาวพุทธเราก็มีไปโกรธตาแอลซัตตันนี่ ด่าทอแอลซัตตันกันเยอะเหมือนกัน ถ้าเราไปมัวด่าทออยู่ ก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่ ถ้าเขาพูดผิดมาก็ชี้แจง เป็นไปด้วยเหตุผล ด้วยปัญญา แล้วตัวเองก็ต้องสำรวจตัวเองว่าเรามีข้อบกพร่องอย่างไรหรือเปล่าด้วย พระพุทธเจ้าก็สอนไว้ ถ้าใครมาติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่าไปโกรธเขานะ แล้วถ้าหากว่าเขาติเตียนไม่ถูก ก็ชี้แจงไปตามเป็นจริงว่าความจริงเป็นยังไง ทีนี้เราก็ควรจะสำรวจตัวเอง ที่จริงชาวพุทธก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ บางทีการนำเอาธรรมะมาใช้ก็ใช้ไม่ครบถ้วน อย่างพรหมวิหารก็ใช้ไม่ครบ หรืออย่างการเชื่อมต่อจากภาพคุณสมบัติในใจออกมาสู่การปฏิบัติการ เราก็ไม่ค่อยชัดกัน ทีนี้ก็เอามาพูดว่าพรหมวิหารเป็นธรรมะที่เป็นคุณสมบัติในใจ ทีนี้จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติมันก็ต้องมีธรรมะอื่นมารับช่วง ธรรมะที่จะรับช่วงนะมีเยอะ แต่ว่าชุดหนึ่งที่รับกันโดยตรงเลย ก็คือสังคหวัตถุนี่แหละ สังคหวัตถุนี้ก็แปลว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์ สังคหะ แปลว่า การสงเคราะห์ วัตถุ แปลว่า ที่ตั้ง ถ้าใช้เป็นภาษาไทย ธรรมะเป็นที่ตั้ง คือหลักนั่นเอง วัตถุก็คือหลัก แล้วสังคหะ แปลว่าการสงเคราะห์ ทีนี้การสงเคราะห์แปลว่าอะไร ในภาษาไทยเราก็จะมองว่าการสงเคราะห์ก็คือการช่วยเหลือกัน แต่ที่จริงไม่ใช่ความหมายที่แท้ในภาษาบาลี คำว่าสังคหะหรือสงเคราะห์นี่ แปลตามตัวแปลว่าจับมารวมเข้าด้วยกัน จับมารวมเข้าด้วยกันแปลว่าสังคหะหรือสงเคราะห์ พอมาใช้ในภาษาไทยเรามาใช้ในความหมายว่าช่วยเหลือกัน ทีนี้พอใช้ความหมายใกล้กว่าเดิม เราก็ใช้ว่าสังเคราะห์ ที่จริงจะเป็นสังเคราะห์หรือสงเคราะห์ ตัวศัพท์เดิมมันก็คืออันเดียวกัน แต่พอมาใช้เป็นไทยแล้ว สังเคราะห์ไปความหมายหนึ่ง สงเคราะห์ไปอีกความหมายหนึ่ง ทีนี้สังเคราะห์ก็เป็นรูปที่ไปทางสันสกฤต บาลีเป็นสังคหะ บอกแล้วว่าจับรวม จับรวมก็คือประมวล หมายถึงหลักการที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจคน แล้วรวมให้คนนี้อยู่มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ทำให้คนนี่ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันนั่นเอง ฉะนั้นสังคหะนี้สร้างความเป็นปึกแผ่น ความมั่นคง ความมีเอกภาพขึ้นมาในสังคม สังคมนั้นข้อสำคัญคือทำไงให้มันรวมกันได้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ฉะนั้นก็เวลาพูดเรื่องสังเคราะห์เนี่ย เราจะเห็นได้ในหลักธรรมหลายอย่าง พระพุทธเจ้าจะตรัสไว้ ซึ่งจะมีคำชุดว่าสังคหะ แล้วก็ไม่วิวาท แล้วก็สามัคคี แล้วก็เอกีภาพ จะมาเป็นชุดเลย อย่างสาราณียธรรม เป็นต้น พอมีสาราณียธรรมแล้วก็จะทำให้เป็นไปด้วยสังคหะ ก็คือการที่ร่วมกัน รวมกัน หรือเป็นปึกแผ่น แล้วก็ไม่วิวาทกัน แล้วสามัคคีกัน แล้วก็เป็นเอกภาพ ฉะนั้นตกลงว่าหลักการสังเคราะห์หรือสังคหวัตถุ ก็คือหลักการที่ว่าจะยึดเหนี่ยวให้หมู่ชนนี่อยู่รวมกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเอกภาพนั่นเอง ทีนี้การที่จะยึดเหนี่ยวกันเป็นเอกภาพนี้ การช่วยเหลือนี่เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นความหมายที่ขยายออกมาก็เป็นนัยรองลงมาว่าช่วยเหลือกันนั่นเอง สงเคราะห์ แต่ความหมายแท้ก็คือว่ายึดเหนี่ยวรวมประสาน ประสานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความหมายรองว่าช่วยเหลือกัน เพราะการช่วยเหลือกันนั้นจะนำไปสู่การยึดเหนี่ยวใจกัน และประสานให้อยู่ร่วมกันได้ดี ทีนี้ดูว่าแล้วหลักการสงเคราะห์ ที่ว่ายึดเหนี่ยวให้รวมกันได้ มีอะไรบ้าง ก็มี 4 ข้อ ก็คงจะได้ยินกันมาแล้วนะ ว่าได้ไหม หนึ่ง-ทาน สอง-ปิยวาจา สาม-อัตถจริยา สี่-สมานัตตตา แต่เข้าใจว่าทุกท่านคงรู้ความหมายด้วย แต่ว่ามาพูดวันนี้ก็ถือว่ารู้แล้วมาทวนเท่านั้นก็พอ อันนี้เราต้องการชี้ให้เห็นว่า สังคหวัตถุนี้เป็นธรรมะภาคปฏิบัติการ แล้วก็มาชี้ว่ามันโยงไปหาภาคคุณสมบัติในจิตใจอย่างไร
หนึ่ง-ทาน การให้ การแบ่งปัน ถ้าพูดในแง่ช่วยเหลือก็ช่วยเหลือกันด้วยวัตถุสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง ใช่ไหม ทานคือช่วยเหลือด้วยสิ่งของ เราพูดว่าการให้
สอง-ปิยวาจา มีวาจาเป็นที่รัก หรือวาจาที่เกิดจากน้ำใจรัก อันนี้เป็นด้านคำพูดแล้ว ถ้าเราจะเอาคำว่าช่วยเหลือกันมาใช้ ก็จะช่วยเหลือด้วยถ้อยคำ อันที่หนึ่งนี้ช่วยเหลือด้วยเงินทองสิ่งของ ข้อที่สองนี้ช่วยเหลือด้วยวาจา ถ้อยคำ
สาม-อัตถจริยา แปลว่าการบำเพ็ญประโยชน์ อันนี้หมายถึงการช่วยเหลือกันด้วยเรี่ยวแรงกำลังกาย
คนจะช่วยเหลือกันก็มีหลักสามด้านนี้นะ หนึ่ง-ช่วยเหลือด้วยสิ่งของเงินทอง สอง-ช่วยเหลือด้วยถ้อยคำ สาม-ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลัง
สี่- อันนี้ไม่เห็นเป็นการช่วยเลย ลองดูในพรหมวิหาร สามข้อแรกจะมีลักษณะสอดคล้องกัน แต่พอข้อสี่ไม่เหมือนแล้ว อย่างเมตตา กรุณา มุทิตา นี่จะไปในแนวเดียวกัน พอมาข้อสี่นี่มีลักษณะพิเศษออกไปแล้ว อันนี้ก็เหมือนกันในสังคหวัตถุ สามข้อแรกเป็นเรื่องช่วยเหลือกันอย่างที่ว่า แต่มาข้อสี่ ไม่เห็นเป็นการช่วยเหลือเลย สมานัตตตา แปลว่า ความมีตนเสมอ หรือภาษาไทยที่เอามาจากบาลีก็แปลว่าสมาน เพราะว่าสมานัตตตา ศัพท์เองก็บอกว่า สมานะ อยู่แล้ว สมานัตตตา สมานะ อัตตะ ตา ตาแปลว่าความหรือภาวะ อัตตะแปลว่าตน สมานะแปลว่าเสมอ คำว่าเสมอก็คือสมานะ สมานะอ่านเป็นไทยว่าสมาน สมานตัวนี้คิดว่าคงไม่ผิด ต้องมาจากบาลีตัวนี้ สมานในภาษาไทยที่ปัจจุบันนี้เรามาแปลกันว่าประสาน ใช่ไหม สมานกลมกลืนกัน จนกระทั่งว่าคนไทยนี้ไม่ได้เข้าใจความหมายของสมานะว่าเสมอแล้ว เวลาเห็นคำว่าสมานนี่คนไทยไม่ได้มองความหมายว่าเสมอ แต่คนไทยมองความหมายว่าประสานกลมกลืน ถ้าเรายอมรับว่าสมานในภาษาไทย มาจากสมานะในภาษาบาลี ก็แสดงว่าความหมายของคำว่าสมานะที่แปลว่าเสมอเนี่ย สำหรับคนไทยแล้วเน้นแง่ของการประสานกลมกลืน ซึ่งสอดคล้องของความหมายเดิมของภาษาบาลีที่ว่า สมานะเป็นความเสมอในเชิงประสาน เป็นข้อสังเกตให้เห็นว่าต่างจากยุคปัจจุบันที่คนมองความเสมอในทางแบ่งแยก ขอใช้คำว่าแบ่งแยกและแก่งแย่ง คนปัจจุบันมองความเสมอถาคในลักษณะแบ่งแยกและแก่งแย่ง คือจะมองด้วยความรู้สึกแข่งกัน หรือว่าจ้อง เช่นว่าเพ่งว่าเขาได้เท่าไหร่ เราได้เท่าเขาหรือเปล่า ใช่ไหม นี่คำว่าเสมอก็คือเท่า ถ้าเขาได้ 50 เราต้องได้ 50 ถ้าเขาได้ 50 เราไม่ได้ 50 แสดงว่าเราไม่เสมอภาค จะมีการจ้อง เมื่อจ้องก็คือตัวเองก็อยากจะได้ อยากจะเอา ต้องได้เท่ากัน เมื่อต่างคนต่างจะเอาแล้ว มองว่าได้เท่ากัน จะมองไปในลักษณะที่แบ่งแยกกัน แล้วก็แก่งแย่งกัน ทีนี้ลองดูความหมายของคำว่าเสมอแบบเดิม เสมอแบบเดิมที่มาจากพุทธศาสนา ซึ่งใช้คำว่าสมานะ แล้วอ่านเป็นไทยว่าสมาน กลายเป็นประสานกลมกลืน ทำไมเสมอมีความหมายเป็นเชิงประสานได้ ก็ดูความหมายเดิม สมานัตตตนา ท่านอธิบายว่าสมานัตตตนา ความที่ผู้มีตนเสมอ คือเสมอในสุขและทุกข์ หรือมีสุขและทุกข์เสมอกัน ท่านอธิบายความหมายหนึ่งว่า สมานะ สุขะ ทุกขะ ตา ความเป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกัน พอสุขและทุกข์เสมอกัน ก็เสมอในสุขและทุกข์ คือยังไง เขาสุขก็สุขด้วย เขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ใช่ไหม เสมอในสุขและทุกข์นี้มีลักษณะร่วมทันทีเลย เพราะฉะนั้นแปลเป็นไทยนี่ มีสุขและทุกข์เสมอกันจะแปลเป็นไทยว่า ร่วมสุขร่วมทุกข์ ใช่ไหม เพราะร่วมสุขร่วมทุกข์นี้มันประสานทันทีแล้ว หมายความว่ามีสุขก็สุขด้วย แต่มีทุกข์ก็ไม่ทิ้งกัน ความหมายแต่เดิมมามันน้อมให้รู้สึกว่าเสมอนั้นคือร่วม ใช่ไหม ฉะนั้นไปๆ มาๆ สมานะที่แปลว่าเสมอเนี่ย อ่านเป็นไทยว่าสมาน ก็มีความหมายเป็นประสานกลมกลืนกันเลย จนกระทั่งเวลานี้แล้ว สมานก็จะมีความหมายต่างกับเสมอไปแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเดิมมันคือที่มาของเสมอ แต่พจนานุกรมคำว่าสมานะในภาษาบาลี ที่อ่านเป็นไทยเป็นสมาน ก็เลยมีความหมายเป็นว่าประสานกลมกลืน ต่างจากคำว่าเสมอไปแล้ว ทีนี้ในพจนานุกรมราชบัญฑิตสถานนี้ไม่แน่ใจว่าจะให้รากศัพท์ที่มาของศัพท์ไว้ว่าสมานในภาษาไทยมาจากสมานะในภาษาบาลีหรือเปล่า อาจจะไม่ให้ก็ได้นะ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะหาว่าลากเข้าวัด แต่คิดว่าไม่ผิด สมานะ สมาน สมานในไทยน่าจะมาจากสมานะในภาษาบาลีนี่แหละ แล้วมันมีเค้าที่ชัดเจน ก็เป็นกันว่าคำว่าเสมอคือสมานในภาษาบาลีนั้น มาในคำว่า สมานัตตตา มีตนเสมอกัน หมายถึงความเสมอภาค แต่เป็นความเสมอที่มีความหมายเชิงประสานกลมกลืน เพราะว่าความหมายเบื้องต้นก็คือว่ามีสุขและทุกข์เสมอกัน หมายความว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ บางคนร่วมสุขร่วมทุกข์มันก็ประสานกลมกลืนแล้วใช่ไหม มันไม่มีแบ่งแยกมาจ้องกันว่าในแง่แย่งชิงผลประโยชน์ว่าใครได้มากกว่ากัน ถ้าหากว่าไปแก่งแย่งผลประโยชน์แล้วมันก็ต้องแบ่งแยกกัน ทีนี้ความเสมอภาค คนปัจจุบันบางทีแทบจะนึกไม่ออกว่ามันจะมีความหมายเชิงประสานได้อย่างไร ใช่ไหม แสดงว่าไปมากแล้ว เหตุที่ไปมากอย่างนี้เพราะคนปัจจุบันนั้นมีหลักการของเรื่องของความเสมอภาคอยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิทุนนิยม ลัทธิเศรษฐกิจที่แสวงหาผลประโยชน์ของแต่ละบุคคล ก็ทำให้แต่ละคนนั้นเพ่งจ้องหาผลประโยชน์ของแต่ละคน ความเสมอภาคก็มีความหมายมาสนองความต้องการอันนี้ ความต้องการแย่งชิงผลประโยชน์ก็ทำให้แบ่งแยกจากกัน แล้วก็แก่งแย่งกัน ก็กลายเป็นว่าถ้าแกได้ 50 ฉันต้องได้ 50 ถ้าแกได้ 100 ฉันต้องได้ 100 ความหมายอย่างนี้ก็คือความหมายเชิงแก่งแย่งผลประโยชน์และแบ่งแยก แต่ถ้าความหมายแบบสมานัตตตาก็เสมอแบบประสานที่ว่า เสมอในสุขและทุกข์ มีสุขและทุกข์เสมอกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ ต่อจากนั้นยังมีความหมายไปอีกว่า ที่ว่าเสมอกัน หนึ่ง-ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน การไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน เป็นความเสมอชนิดหนึ่ง ทำให้ประสานได้ ใช่ไหม พอไม่ดูถูกดูหมิ่นกันมันก็ทำให้เกิดความเสมอภาคเชิงสมาน เชิงประสาน ต่อไปไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ไม่เลือกที่รักผลักที่ชังนี่ก็ช่วยให้คนประสานกันได้ ก็เป็นความเสมอภาคเชิงประสานอีกแหละ ต่อไปไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ก็เป็นความหมายเชิงประสาน คนเราแม้จะช่วยกันได้ดี มีการให้ การพูดดี แต่พอไม่มีความเสมอภาคในข้อสุดท้าย ก็รักษาสังคมไว้ไม่อยู่ ใช่ไหม แตกแยกหมด ฉะนั้นลองเลือกที่รักผลักที่ชังสิ ทั้งๆ ที่ทานก็ให้ วาจาก็พูดดี แต่ลงเลือกที่รักผลักที่ชัง ก็จบ ไม่สามาระรักษาความสามัคคีไว้ได้ แตกแยกอีก เพราะฉะนั้นข้อสุดท้ายคลุมหมดเลย แล้วมันก็คือการรักษาความเป็นธรรมนั่นเอง ถูกต้องตามหลักการ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นสมานัตตตานี่จะสอดคล้องกับหลักเรื่องอุเบกขา เพราะรักษาธรรมะ รักษาความถูกต้อง รักษาความควรจะเป็น รักษาความเป็นเหตุเป็นผล รักษาตัวความยุติธรรม ตัวธรรมะความชอบธรรมทั้งหมด ก็เลยพูดได้ว่าหลักสังคหวัตถุ 4 ประการนี้ สืบเนื่องสอดคล้องกันกับหลักพรหมวิหาร 4 พรหมวิหาร 4 ก็อยู่ในใจ ออกมาเป็นภาคปฏิบัติก็สังคหวัตถุ ทีนี้เราก็มาดูความสอดคล้องกัน เริ่มตั้งแต่
ข้อหนึ่ง- ทาน การให้ช่วยเหลือกันด้วยวัตถุสิ่งของเงินทอง เราก็ช่วยด้วยเมตตา หนึ่งให้ด้วยเมตตา ให้ด้วยความรักในยามเขาเป็นปกติ เราก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เขาไม่ได้มีทุกข์มีเดือดร้อนอะไร ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นว่าสมัยก่อนนี้คนไทยเราเวลาทพกับข้าวอร่อยๆ เป็นพิเศษ เราจะมีการแบ่งไปให้เพื่อนบ้าน วันนี้บ้านนี้แกงนี้ ก็จะเอาแบ่งไปให้บ้านโน้น พอวันพรุ่งนี้บ้านโน้นทำกับข้าวนี้ อร่อยพิเศษก็มาแบ่งให้บ้านนี้ อย่างนี้เรียกว่าให้ด้วยเมตตา ด้วยไมตรี เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนี่ ให้เขา หรืออย่างเราอยู่กันธรรมดา บางทีเราก็แบ่งปันให้กันทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เดือดร้อน การให้กันอย่างนี้เรียกว่าให้ด้วยเมตตาหรือไมตรี ที่นี้สองเขาตกทุกข์ได้ยากเดือดร้อน น้ำท่วม ไฟไหม้ เราก็บริจาคเงินทองสิ่งของไปช่วย อย่างนี้เรียกว่าให้ด้วยกรุณา การให้ก็ต่างกันไปตามคุณธรรมในใจก็คือพรหมวิหาร ให้ด้วยกรุณา สามเขาทำความดี เขาขาดเงินขาดทอง เราก็ไปให้เงินบริจาคเพื่อช่วยสนับสนุนการกระทำความดีนั้น อันนี้เรียกว่าให้ด้วยมุทิตา ใช่ไหม แต่ว่าในสังคมของเรานี้ เราจะเห็นว่าการให้ด้วยมุทิตานี้อาจจะน้อย การให้ด้วยเมตตากรุณานี้มาก การให้เพื่อส่งเสริมการกระทำความดีนี้อาจจะเบาไปหน่อย แต่เดิมเราให้โดยที่ว่าเป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรม แล้วกลายเป็นเรื่องทำบุญทำกุศล ที่ทำบุญส่วนมากนี่เป็นการให้ด้วยมุทิตานะ ก็วัดนี่เป็นแหล่งของการศึกษาเป็นต้น เป็นแหล่งของการทำความดีและสร้างสรรค์ กิจกรรมในวัด การให้การศึกษา การอบรมแก่พระสงฆ์ กิจกรรมสร้างสรรค์มาอยู่ที่วัดมากเพราะว่าวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา และศูนย์กลางของสังคม ฉะนั้นเราจะต้องการว่งเสริมการกระทำความดีงามหรือการสร้างสรรค์ในสังคม เราก็เลยนิยมไปบริจาคให้วัด เช่นว่าไปสร้างกุฏิก็คือที่อยู่ของกุลบุตรกุลธิดาอยู่ชนบท ในชุมชนในหมู่บ้านนั้นทั้งหมดซึ่งทุกคนมีสิทธิ์จะมาอยู่ทั้งนั้น หมุนเวียนกันมาอยู่ ทำไมสร้างวัด กุฏิสวยงาม ตอนหลังคนไม่เข้าใจ เอ ทำไมวัดนี้สร้าง พระนี่อยู่ดีกว่าชาวบ้าน ชาวบ้านรอบวัดยากจน ที่อยู่แย่ วัดนี่สร้างกุฏิสบาย ซึ่งปัจจุบันก็อาจจะเลยเถิดไปนะ เพราะว่ามันกลายเป็นส่วนตัวไป พระอยู่อย่างสบาย อย่างนี้ไม่ใช่ แต่ของเดิมไม่ใช่อย่างนั้น ของเดิมก็คือกุฏิเนี่ย ก็เป็นสมบัติส่วนรวมของชุมชนนั้น เพราะวัดทั้งวัดเป็นสมบัติของชุมชนอยู่แล้ว แล้วไม่เป็นของผูกขาด พระที่อยู่ในวัดก็ไม่ได้เป็นเจ้าของกุฏิ เวลาสร้างขึ้นมาแล้ว ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน แล้วคนในหมู่บ้านนั้นก็หมุนเวียนกันไป บวชมาตั้งแต่ปู่แต่ทวด มาพ่อก็ไปบวชที่วัดนั้น มาลูกก็ไปบวช แล้วลูกไปบวชก็ไปเรียนหนังสือ ก็ไปอยู่ที่กุฏิ ใช่ไหม ก็ใช้กุฏินั้น กุฏินั้นก็เป็นสมบัติร่วมกันของหมู่บ้าน เป็นสมบัติของส่วนรวม ฉะนั้นชาวบ้านเขาก็เห็นความสำคัญของสมบัติส่วนรวมนี้ สมบัติของส่วนตัวก็ช่างมันเถอะ แต่ว่าส่วนรวมที่เราใช้ประโยชน์ร่วมกัน แล้วใช้เพื่อความดีงามนี้ก็ต้องเอาใจใส่ ฉะนั้นการทำด้วยมุทิตานั้นมีมาแล้ว ก็คือการทำบุญที่วัด ถ้าเป็นเมตตากรุณาก็อยู่ในหมู่ชาวบ้าน ตกทุกข์ได้ยากก็ช่วยเหลือกันไป พอจะสร้างสรรค์ทำบุญ ให้ทาน แบ่งปันให้ด้วยมุทิตาก็จะไปส่งเสริมกิจกรรมของวัด เช่นการสร้างกุฏิ ที่อยู่ ศาลา เป็นที่ประชุมของชุมชน ใช่ไหม ศาลาการเปรียญเป็นที่ชาวบ้านจะมาทำกิจกรรมของชุมชนร่วมกัน จะมาฟังธรรม มารักษาศีล มาอยู่ค้างคืน มารักษาอุโบสถ มาเป็นที่ประชุมของชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน แถมเวลาสงครามก็มาประชุมกันที่ลานวัดอีก ใช้ศาลาวัดอีก ใช่ไหม สมัยก่อนนี้ ลองดูสิ ตอนที่มีสงคราม ในหลวงจะยกทัพออกไปก็ต้องหาวัดใหญ่ๆ ไปประชุมกันที่ลานวัด ฉะนั้นวัดเป็นศูนย์กลางกิจกรรมของชุมชน ต่อมาเราไม่สามารถเข้าใจความหมายเดิมนี้ มันเพี้ยนไปหมด แม้แต่ว่าพระเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองนี้มีวัดเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน เป็นประโยชน์แก่สังคม ก็กลายเป็นของตัวเอง เอาใจใส่การที่ตัวเองจะอยู่ให้สบาย กุฏิกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปเลย ฉะนั้นก็มีส่วนมีเหตุผลให้ชาวบ้านเขาไปติเตียนเหมือนกันว่าพระนี่อยู่สบาย สร้างกุฏิอยู่หรูหราดีกว่าชาวบ้าน แต่ที่จริงนั้นความหมายเดิมไม่ใช่อย่างนั้น ความหมายเดิมนั้นคนไทยจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าอันนั้นก็คือสมบัติร่วมกันของชุมชน หรือสังคม แล้วก็เป็นทางที่จะทำให้สังคมนั้นมีความเจริญก้าวหน้า เป็นแหล่งของการสร้างสรรค์ทำความดี จึงเรียกว่าไปทำบุญ ไปบริจาคให้วัดก็นี่แหละเข้าหลักที่เรียกว่าให้ด้วยมุทิตา เอาละครับทีนี้ก็เป็นอันว่าข้อทาน ให้ ก็มาจากพรหมวิหารได้ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา
ข้อสอง- ปิยวาจา พูดหรือช่วยเหลือกันด้วยถ้อยคำ ก็เช่นเดียวกัน ยามปกติเขาไม่ได้เดือดร้อนเป็นทุกข์ เราก็พูดจาไพเพราะอ่อนหวาน เจอกันก็ทักทายปราศรัย พูดดีต่อกันเป็นมิตรไมตรีนี่แสดงว่าปิยวาจา พูดดีด้วยเมตตา ต่อมาเขาประสบทุกข์เดือดร้อน ตกต่ำมีปัญหา เราก็ไปช่วยด้วยวาจาคือไปพูดปลอบโยนให้กำลังใจ ให้ต่อสู้ อย่าไปท้อถอย หรือว่าเรามีสติปัญญา เราก็ใช้คำพูดแนะนำว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างนี้ บอกวิธีแก้ปัญหา ให้ความรู้ในการแก้ปัญหา ปิยวาจาในกรณีนี้ก็เป็นการปิยวาจา พูดดี ช่วยด้วยวาจา ซึ่งเกิดจากกรุณา ใช่ไหม นี่แปลว่าพูดดีด้วยกรุณาแหละ ต่อไปเขาทำความดี เราก็ไปพูดส่งเสริมให้กำลังใจให้เขาทำความดียิ่งขึ้น เขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่ดีงาม แล้วก็ไปพูดจา แสดงความพลอยยินดีด้วย ส่งเสริมให้กำลังใจ สนับสนุนยิ่งขึ้นไป อันนี้แสดงว่าพูดดีด้วยมุทิตา ใช่ไหม ก็ครบแล้ว ปิยวาจาก็มาจากเมตตาก็ได้ กรุณาก็ได้ มุทิตาก็ได้
สาม-อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือด้วยเรี่ยงแรงกำลัง อันนี้ก็เช่นเดียวกัน เขาอยู่เป็นปกติก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เราก็ช่วยเหลือ มีแรงกำลัง ก็มาช่วยกัน ยกข้าวยกของให้ ยกเก้าอี้ให้ อะไรอย่างนี้นะ ก็เหมือนอย่างกับเพื่อนเรานี่แหละ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เดินไปด้วยกัน เขาถือของหนักกว่าเรา ถ้าเขาไปคนเดียว เราไม่ไปด้วย เขาก็ถือไหว เราไปด้วย มือเราว่างกว่า เราก็เดี๋ยวๆ ช่วยถือ แบ่งเบาเขาอย่างนี้ก็เรียกว่าช่วยกันด้วยเมตตา ก็สละแรงงานของเราให้แก่เขา ต่อมาคนอื่นเขาประสบความทุกข์ ความเดือดร้อน ตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น เราแข็งแรงว่ายน้ำเป็นด้วย เราก็สละเรี่ยวแรงกำลังของเรา กระโดดน้ำลงไปช่วยคนตกน้ำ นี่แสดงว่าอัตถจริยาด้วยความกรุณาแล้ว บำเพ็ญประโยชน์ เอาเรี่ยวแรงช่วยด้วยกรุณา ต่อไปเขาทำความดีกัน ทำความดี สร้างอะไรที่เป็นประโยชน์ เราก็ไปช่วย เอาแรงเข้าไปช่วยสนับสนุน อย่างสมัยโบราณนี้บอกแล้วว่าวัดนี่เป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นแหล่งที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน การสร้างกุฏิก็คือสร้างที่อยู่อาศัยของทุกคนที่จะได้ไปบวชไปเรียน ไปเรียนคนละ 3 เดือนได้ใช้กุฏินั้นกันมา เป็นต้น ทีนี้พอเขาสร้างกุฏิกันชาวบ้านจะสละแรงไปช่วยกัน ในกรณีนี้การที่ตัวเองสละแรงงาน เอาแรงงานไปช่วย ก็เป็นการสนับสนุนการทำความดี ในกรณีนี้เรียกว่าช่วยด้วยมุทิตา ไปช่วยสร้างกุฏิ ไปช่วยขุดบ่อน้ำ หรืออย่างประเพณีประจำปีก็คือขนทรายเข้าวัด การที่ชาวบ้านไปสละแรงงานช่วยขนทรายเข้าวัดก็เป็นการช่วยอัตถจริยาด้วยมุทิตา นี่เป็นตัวอย่าง ตกลงครบแล้วนะ สังคหวัตถุเป็นภาคปฏิบัติการในสังคมชัดเลย แล้วก็เอาไปคูณกับพรหมวิหารในใจ สามข้อแรก ทาน-ให้ ปิยวาจา-พูดดี อัตถจริยา-การช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลัง บำเพ็ญประโยชน์ แล้วเอาไปคูณกับพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา แสดงออกอย่างละ 3 เป็น 9 สถานการณ์ ออกแล้วนะ เป็นอันว่า ทาน-ให้ด้วยเมตตาก็ได้ ให้ด้วยกรุณาก็ได้ ให้ด้วยมุทิตาก็ได้ ปิยวาจา-พูดดีด้วยเมตตาก็ได้ พูดด้วยกรุณาก็ได้ พูดด้วยมุทิตาก็ได้ อัตถจริยา-เอาแรงกายเข้าช่วยบำเพ็ญประโยชน์ ทำด้วยเมตตาก็ได้ ด้วยกรุณาก็ได้ ด้วยมุทิตาก็ได้ ใช่ไหม ก็เป็นอันว่า 9 สถานการณ์แล้ว สอดคล้องกันหมด
ข้อสี่-สมานัตตตา แปลว่าความมีตนเสมอ นี่บอกแล้วว่าต้องอาศัยอุเบกขาเป็นสำคัญ สามข้อแรกนี้เป็นการปฏิบัติต่อกัน ให้ก็ให้แก่กัน ปิยวาจาก็พูดต่อกัน แล้วอัตถจริยาก็เอาแรงกายมาช่วยต่อกันอีก แต่พอข้อสี่ สมานัตตตานี้เอาตัวเข้าคลุกเลย เอาตัวเข้าร่วมเลย ข้อสี่จึงมีลักษณะต่างไป ไม่ใช่ต่อกันซะแล้ว เข้าร่วมเลย ข้อสี่นี้เข้าร่วม แต่ก็มีลักษณะคือความเท่าเทียมกัน ความเสมอภาค แต่เป็นแบบประสาน อาศัยอุเบกขามาช่วย ที่จริงมันข้อหนึ่ง สอง สาม เมตตา กรุณา มุทิตา มาเสริมสมานัตตตาได้หมด ตัวที่เป็นหลักสำคัญ เป็นฐานก็คืออุเบกขา เพราะมันเป็นตัวรักษาธรรมะ รักษาความเป็นธรรม ความเสมอภาคนี้ต้องอาศัยความเป็นธรรมใช่ไหม อย่างที่บอกแล้วว่า มีสุขก็สุขด้วยกันแล้ว เวลาทุกข์ไปทิ้งกันมันก็ไม่เป็นธรรมแล้วใช่ไหม ทีนี้พอเราเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย สุขก็สุขด้วย ร่วมสุขร่วมทุกข์ก็มีความเป็นธรรม ก็เสมอภาค ก็ประสานกัน แล้วก็ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ไม่ใช่ว่าคนโน้นแล้วก็ให้พิเศษแต่คนนี้ไม่ให้ อะไรอย่างนี้นะ หรือเวลาตัดสินวินิจฉัยอะไรก็เข้าข้างคนโน้นคนนี้ เลือกที่รักผลักที่ชัง ก็เสียความเสมอภาค เสียสมานัตตตา แล้วก็ไม่ดู ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน พอว่ามีความเสมอภาคแบบนี้แล้ว มันก็เข้ากันได้หมด ฉะนั้นสมานัตตตา ความมีตนเสมอก็ทำให้เข้ากันได้กลมกลืนเลย ความเสมอภาคจึงเป็นเรื่องของการประสานกลมกลืนอย่างที่ว่ามานี้ ก็สอดคล้องกันหมดนะ เป็นอันว่านี่คือหลักสังคหวัตถุ หลักการสงเคราะห์ 4 ประการ ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติการ ไปสืบเนื่องรับกันกับคุณธรรมในใจ 4 ประการ ที่เรียกว่าพรหมวิหาร 4 ฉะนั้นถ้าไม่มีสังคหวัตถุ 4 พรหมวิหารก็อยู่แค่ในใจ ก็ไม่ออกผลต่อสังคมเท่าที่ควร แต่ถ้าไม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นพรหมวิหารอยู่ในใจ สังคหวัตุ 4 ประการที่เป็นภาคปฏิบัตินี้ ก็จะ หนึ่ง-เกิดขึ้นได้ยาก มันไม่ค่อยเกิดขึ้น ทีนี้จะทำให้เกิดขึ้น ทำยังไง ก็ต้องมีแรงจูงใจอื่น เช่นว่าทาน การให้ ไม่เกิดจากเมตตา ไม่มีเมตตา ความรัก หรือกรุณา ความสงสารอยากช่วยเหลือมาเป็นแรงจูงใจ แล้วทำไง จะให้ก็ต้องกลายเป็นแรงจูงใจอย่างอื่น เช่น อยากจะได้หน้าได้ตา เอาละสิ ใช่ไหม ต้องมีแรงจูงใจอย่างอื่นแล้ว กลายเป็นว่าให้เพราะอยากได้หน้าได้ตา หรือมีผลประโยชน์ตอบแทน หวังผลประโยชน์จากเขาระยะยาว เสียน้อย จ่ายน้อย เพื่อให้ได้มาก หรือว่าหวังได้ผลตอบแทนเป็นยศ เป็นเงินตรา เป็นเหรียญตรา อะไรอย่างนี้เป็นต้นใช่ไหม เป็นอันว่าถ้าไม่มาจากพรหมวิหารเป็นคุณสมบัติเป็นฐานอยู่ในใจแล้ว ภาคปฏิบัติการในสังคม หนึ่ง-เกิดขึ้นได้ยาก สอง-ถ้าเกิดขึ้น ไม่จริงใจ ใช่ไหม เมื่อไม่จริงใจ ไม่พอดี ถ้ามันเกิดจากคุณธรรมมันจะพอดีใช่ไหม เขามีสถานการณ์อย่างนี้ เราก็ให้เขา แล้วมีอุเบกขาไปคุมให้อยู่ในเหตุในผล แต่พอว่าเช่นถ้าให้โดยแรงจูงใจต้องการผลตอบแทน หรือต้องการได้หน้าได้ตาเนี่ย มันจะไม่ให้ชนิดพอดีหรอก ใช่ไหม อันนี้ได้หน้าได้ตาก็ให้ ให้จนกระทั่งว่าเกินที่ควรจะให้ ทีนี้ที่ไม่ได้หน้าได้ตาก็ไม่ยอมให้ หรือให้นิดๆ หน่อยๆ ทีนี้ถ้าให้ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีธรรมอยู่ในใจแล้ว พอดีเลย ก็เป็นอันว่าเกิดขึ้นได้ยาก และเกิดขึ้นแล้วไม่จริงใจ แล้วไม่มั่นคง เมื่อใดที่ตัวไม่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นต้น ก็ไม่ช่วย ไม่มีสังคหวัตถุออกมา ฉะนั้นจะวิปริตไปหมด ไม่สามารถจะดำรงสังคมนี้ให้อยู่ให้ดีได้ ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องประสานกันระหว่างคุณธรรมในใจกับปฏิบัติการในสังคม ถ้ามีแต่คุณธรรมในใจ ไม่มีปฏิบัติการทางสังคม มันก็ไม่เพียงพอที่จะให้สังคมนี้อยู่ดี แต่ถ้าปฏิบัติการทางสังคมไม่มีคุณธรรมอยู่ในใจ ก็อย่างที่ว่าแล้ว มันจะไม่จริงใจ ไม่มั่นคงยั่งยืน ไม่พอดี และก็แถมเกิดขึ้นได้ยากด้วย ฉะนั้นนี่ก็เป็นเรื่องการประสานสอดคล้องคุณธรรม ที่ว่าต้องมีทั้งภาคที่อยู่ในใจเป็นคุณสมบัติ แล้วก็แสดงออกเป็นภาคปฏิบัติการ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่รับกันของธรรมะ 2 ชุด ซึ่งมีจำนวนเท่ากันเลย ก็เห็นจะพอสมควรนะ เรื่องสังคหวัตถุ มีอะไรสงสัยไหม
พระนวกะ : ยังไม่ค่อยกระจ่างเรื่องอุเบกขา ???
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต): อุเบกขาเป็นตัวรักษาความเป็นธรรม เป็นตัวรักษาดุลอยู่แล้ว ให้พอดี ถ้าไม่มีอุเบกขา การรักษาความเป็นธรรม ความเสมอถาคไม่มีแล้ว รักคนนี้มาก ให้คนนี้มาก ช่วยคนนี้มาก คนนี้ไม่ค่อยชอบก็เลยกลายเป็นว่าคนนี้ถูกละเลย ไม่ค่อยได้เอาใจใส่
พระนวกะ : ท่านพระคุณอาจารย์ครับ ผมเสนอว่าถ้าอุเบกขามองในแง่ของตัวทาน ปิยวาจา สามข้อแรกมันต้องเป็นตัวสร้างสมดุลด้วย เพราะว่าคล้ายๆ เป็นขอบเขตว่าไม่ให้มันมากหรือไม่ให้มันน้อยเกินไป
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต): ใช่ๆ แน่นอน คลุมหมด แต่ทีนี้หมายความว่าตัวรับกันในเชิงปฏิบัติการ ตัวไหนที่เด่น ??? ตัวเด่น หมายความว่าตัวแสดงออกที่เด่นมันอยู่ที่ข้อไหน คือฐานนั่นเอง ฐานในใจที่แสดงออก ตัวไหนเป็นตัวหลักให้ เมตตา กรุณา มุทิตา ก็มาเด่นที่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา เพราะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือกัน ทีนี้พอมามาอยู่ร่วมกันที่จะให้ประสานกลมกลืนนี่มันจะต้องหนักที่ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ถ้าเสียความเป็นธรรมเมื่อไหร่ทั้งๆ ที่ช่วยกันดีเนี่ย ไม่อยู่นะ ไปทันทีเลย ลองเอารัดเอาเปรียบหรือว่าไม่เสมอภาค เลือกที่รักผลักที่ชังปั๊บ ถึงแม้จะพูดดียังไงก็ไม่อยู่ ใช่ไหม ความสามัคคีไม่อยู่ แตกทัน ฉะนั้นอุเบกขาจึงเป็นตัวที่คุมเรื่องสมานัตตตาอย่างสำคัญ ความเสมอภาคก็คือการรักษาความเป็นธรรม
พระนวกะ : บางครั้งผมลองพิจารณาเปรียบเทียบสังคมตะวันตกมา ผมมีความรู้สึกว่าถึงแม้จะเรียกเขาว่าชาวคริสตร์ แต่จริงๆแล้วเขามีความเป็นพุทธะมากกว่าคนไทย ยกตัวอย่างคำว่ามุทิตา คนเหล่านี้เข้าใจคำว่ามุทิตาได้ค่อนข้างชัดเจน แล้วในภาคปฏิบัติเขาก็ทำได้ดี ยกตัวอย่างอย่างนักกีฬาของเขา การตอบแทนนักกีฬาเขา เขาก็จะได้ผลประโยชน์ในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีและชื่อเสียง ??? แต่สังคมไทยเราไม่ใช่ ของเราพอจะมุทิตาอะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็โหมให้จนละเลยขอบเขตไป สำหรับคนที่เราหมั่นไส้หรืออิจฉา เราก็พานที่จะไม่ใช้มุทิตาเลย ผมก็เลยว่าสังคมไทยเราจริงๆ แล้ว จะต้องหันกลับมาเน้นเรื่องมุทิตาให้เหมาะสม
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต): ก็คือพูดบ่อยอยู่แล้ว ว่าคนไทยปัจจุบันเน้นเรื่องเมตตา กรุณา ใช่ไหม จนกระทั่งคำว่าเมตตากรุณามาเป็นคำสามัญในภาษาไทย ก็หมายความว่าในหลักพรหมวิหาร 4 เราใช้สองข้อแรกมาก แต่มุทิตาเราแทบไม่พูดถึงที่จะมาใช้ในการแสดงออก ก็กลายเป็นพิธีกรรมเป็นรูปแบบไป แสดงออกเท่านั้นเอง เป็นแสดงออกในเชิงสังคม ได้หน้าได้ตาบ้าง บางทีไปแสดงมุทิตา ให้เงินนี่ไม่ใช่ว่าให้ด้วยใจจริงหรอก ไปแสดงเอาหน้าเอาตา ไม่ใช่มุทิตาที่เป็นธรรมะในใจ กลายเป็นเอามุทิตามาเป็นปฏิบัติการทางสังคมไปแล้ว ผิด ด้วยศัพท์นี้ไม่ถูก ถูกไหม พิธีมุทิตาจิตเอาของไปให้ มุทิตามันเป็นคุณธรรมในใจ ที่ไปให้มันเป็นทาน ที่เอาเงินให้ เอาของไปให้ เป็นทาน ถูกไหม แต่ทานนั้นเกิดจากมุทิตา แล้วเกิดจากมุทิตาจริงหรือเปล่า ต้องไปดูในใจแล้ว ใจยินดีส่งเสริมหรือเปล่า ถูกไหม ที่ไปให้นั้น ที่บอกว่ามุทิตานั้น ไม่ใช่ เป็นเพียงพิธีกรรม มุทิตามันเป็นคุณสมบัติในใจ ทีนี้ว่ามันอาจจะเป็นการขาดตอนอย่างหนึ่งในสังคมไทยหรือเปล่า คือเมื่อกี้ได้ยกตัวอย่างแล้วว่ามุทิตาสมัยก่อนนี้ พอสังคมไทยเรามีศูนย์กลางอยู่ที่วัด วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน แล้วการทำความดีสร้างสรรค์เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสังคม ก็ไปเด่นอยู่ที่วัดใช่ไหม อย่างที่ว่าจะสร้างที่เล่าเรียนศึกษากุฏิให้ ผู้เล่าเรียนก็คือลูกหลานไปอยู่ มันก็อยู่ที่วัดทั้งนั้น ฉะนั้นคนก็เลยไปให้เงินบริจาคกันที่วัดเพื่อไปสร้างสรรค์ทำอะไรต่างๆ สนับสนุนการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าของชุมชน ไปทำที่วัด เราเรียกกันว่าการทำบุญ เวลาต่อมาคำว่าทำบุญนี่ก็มีความหมายเหลืออยู่แค่ว่าได้ผลตอบแทนของตัวเองคือทำบุญแล้วตังเองก็หวังว่าจะได้เกิดดี ไปสวรรค์อะไรต่างๆ ให้ความหมายในเชิงที่เป็นประโยชน์ปัจจุบันว่าที่จริงก็เป็นการไปสนับสนุนส่วนรวมของเราที่วัด ให้ได้มีสิ่งดีงามเกิดขึ้น มันหายไป ถูกไหม ฉะนั้นตอนนี้กิจกรรมเดิม แนวทางการสร้างสรรค์ที่เป็นเรื่องของการแสดงออกของมุทิตา มันก็เลยค่อยๆ เลือนหาย ทั้งความหมายทั้งกิจกรรมด้วย ใช่ไหม เพราะคนปัจจุบันก็ไม่รู้แล้วว่าที่วันนี่ที่เราไปบริจาคนี่คือการไปร่วมสร้างสรรค์ทำความดีอย่างหนึ่ง ถูกไหม มันเลือนหายไปหมดแล้ว ทีนี้ก็เท่ากับว่ามาตั้งต้นใหม่ เพราะสังคมมันย้ายออกมาจากวัดแล้ว ทีนี้พอมาสังคมส่วนข้างนอก มันขาดตอนเลย ไม่รู้จะแสดงมุมทิตากันยังไงแล้ว คนไทยก็เคว้งคว้างเลย คำว่ามุทิตาเดิม มันอยู่ในรูปของการคำว่าทำบุญ ใช่ไหม ส่วนปัจจุบันนี้มันหายไป ทำบุญก็ความหมายก็กลายไปแล้ว ส่วนมุทิตาก็คำนี้มันก็ไม่ได้ใช้มาตั้งนานแล้ว พอมาใช้ก็ใช้สักแต่ว่าเป็นพิธีไปเลย ทีนี้เมื่อเอามาใช้แล้วก็ทำไงเราจะให้พิธีมุทิตาที่เป็นเรื่องเชิงสังคมกลับเป็นตัวมากระตุ้นเร้าให้เกิดมุทิตาที่แท้ในจิตใจขึ้นได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ใช้ได้ เป็นอันว่าจะต้องมาหนุนกระตุ้นให้คนไทยนี้มีพรหมวิหารให้ครบ 4 ข้อ ไม่ใช่มาหนักอยู่แค่ เมตตากรุณา มุทิตาก็ต้องเสริมขึ้นมา แล้วก็อย่าลืมอุเบกขานะ ถึงแม้มีมุทิตาแล้ว แต่อุเบกขายังไม่มี ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ใช่ไหม นอกจากนั้นก็เอาพรหมวิหารนี้มาเชื่อมต่อเข้าสังคหวัตถุให้เป็นปฏิบัติการทางสังคมด้วย
พระนวกะ : พระเดชพระคุณอาจารย์ครับ ผมตั้งข้อสังเกตคุณธรรม 3 หมวด ที่พระเดชพระคุณอาจารย์ได้แสดงมา 3 วัน ตั้งแต่เรื่องอิทธิบาท 4 พรหมวิหาร 4 แล้วก็ สังคหวัตถุ 4 ผมสังเกตว่าข้อ 4 ในข้อสุดท้ายของแต่ละหมวด เป็นข้อที่เน้นเรื่องปัญญาอยู่เสมอเลย
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต): ปัญญาเป็นตัวคุมนี่ พุทธศาสนาจะเน้นปัญญาข้อสุดท้าย ธรรมะหมวดไหนมีศรัทธามา ศรัทธาจะมาเป็นตัวต้น แล้วจะต้องมีปัญญามาควบปิดท้ายอีกที ใช่ไหม ก็ให้ดูเลยว่า ศรัทธามาที่ไหน ปัญญาจะมาที่นั่น แล้วก็ปัญญาจะเป็นตัวสุดท้าย
พระนวกะ : แล้วลักษณะเช่นนี้ พระเดชพระคุณอาจารย์จะเน้นอยู่ตลอดก็คือว่าต้องใช้ธรรมะดำรงชีวิต
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต): ก็ใช่สิ เพราะคนไทยเราธรรมะมันกระจัดระจายหมด ก็เป็นข้อเสีย เป็นความผิดพลาด แล้วพอจัดหลักสูตรกระทรวงศึกษาฯ ก็มายิ่งแยกหนักไปอีก มาเอาธรรมะเป็นตัวๆ เลย แล้วมาเลือกเอาแต่ละตัวจะเอาตัวไหน เอาเมตตาเอาไป แล้วข้ออื่นก็อาจจะไม่เอาเลย หรือเอากรุณาไปด้วย ไม่พูดถึงข้ออื่น ฉะนั้นธรรมะก็แตกกระจัดกระจายหมด เสียระบบ แล้วมาถึงยุคนี้ ก็บอกว่าที่ผ่านมานี่ วิชาการ แนวความคิดอะไรต่างๆ มันเป็นความคิดแยกซอย แบ่งส่วนไปหมด แยกส่วน แบ่งซอย ต้องเป็นระบบบูรณาการ มีดุลยภาพ เป็นองค์รวมอะไรต่างๆ พูดกันเยอะ แต่ไม่ได้มาดูว่าที่จริงตัวเองก็ยังชอบแบ่งแยกส่วนอยู่นั่นแหละ ก็สักแต่ว่าเป็นความนิยมของยุคสมัย จะบูรณาการ จะเป็นองค์รวม จะเป็นดุลยภาพ แต่ว่าในทางปฏิบัติก็ไม่รู้จุดว่าอะไรบ้างที่จะต้องเป็นองค์ แม้แต่การพิจารณาชีวิตคน เรื่องการพัฒนาเรื่องการศึกษาอะไรเนี่ย ก็ยังมองกันไม่ค่อยออก ว่าองค์รวมนั้นอยู่ที่ไหน บูรณาการอะไร หลักธรรมของพระพุทธเจ้าตรัสไว้นี่มันเป็นหลักธรรมที่ออกมาจากพื้นฐาน คือการมองความจริงของชีวิต แล้วก็มาดูว่า ทำยังไงชีวิตจะเจริญไปได้ดี สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็มาวางเป็นระบบ ก็เป็นระบบที่สอดคล้องกับชีวิต ซึ่งเป็นระบบ ชีวิตของคนมันเป็นระบบอยู่แล้ว การดำเนินชีวิตก็ตาม ตัวชีวิตก็ตาม เป็นระบบทั้งนั้น ฉะนั้นธรรมะที่เข้ามาเกี่ยวข้องมาใช้ในชีวิตมันก็เป็นระบบ ใช่ไหม มันเป็นตั้งแต่ระบบใหญ่คลุมทั้งหมด เรามองไปที่ธรรมะไหนก็เป็นระบบ เช่นว่าอริยสัจ 4 ก็ระบบ ใช่ไหม ซอยมาเป็นภาคปฏิบัติเฉาะในข้อ 4 ของมรรค ก็เป็นระบบไตรสิกขาอีก ในไตรสิกขาแยกย่อยออกไปแต่ละอย่างก็เป็นระบบ อย่างพรหมวิหาร 4 เป็นระบบย่อย ซอยไปก็มีระบบย่อยๆๆ