แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพรท่านสาธุชนทั้งหลาย ระยะนี้เป็นเทศกาลสำคัญในทางพระพุทธศาสนา คือเทศกาลกฐิน ซึ่งมีระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 และวันนี้ก็เป็นวันสำคัญสำหรับวัดญาณเวศกวันที่ทางไทยธนาคารโดยมีท่านประธานกรรมการ คือ คุณประมล สุธีวงศ์ เป็นผู้นำ พร้อมด้วย บริษัท บีทีประกันภัย จำกัด บริษัท หลักทรัพย์บีที จำกัด และบริษัท บีทีที่ปรึกษาธุรกิจ จํากัด ได้พร้อมใจกันร่วมศรัทธานำผ้ากฐินมาทอดทำบุญถวายที่วัดญาณเวศกวันนี้โดยมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากมาร่วมอนุโมทนาในกุศลครั้งนี้ด้วย อาตมาภาพในนามของพระสงฆ์วัดญาณเวศกวัน และในนามของพุทธบริษัททั้งปวง ขออนุโมทนาทางธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด มหาชน พร้อมทั้งบริษัทลูกทั้ง 3 ที่กล่าวนามมา ซึ่งได้มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันทำบุญใหญ่ในครั้งนี้
การทำบุญทอดกฐินนี้มีความหมายทั้งทางพระศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของสังคมไทยเรา ในทางพระศาสนานั้นกฐินเป็นพุทธบัญญัติสำคัญในทางพระวินัย ซึ่งพระสงฆ์ผู้ได้จำพรรษาแล้วครบ 3 เดือน ในอาวาสคือวัดเดียวกัน ถ้ามีจำนวนครบ 5 รูปขึ้นไปก็จะได้ทำสังฆกรรมที่เรียกว่า การกรานกฐิน และในแง่ของวัฒนธรรมประเพณีก็เป็นความสามัคคีพร้อมเพรียงกันแสดงศรัทธาของพุทธบริษัทในการที่จะอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อจะได้ช่วยทำนุบำรุงถวายกำลังแก่พระสงฆ์ในการปฏิบัติศาสนกิจเป็นการแสดงความสนับสนุนในการที่พระสงฆ์ที่จะได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น ซึ่งสังคมไทยได้ปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลายาวนานในประวัติศาสตร์ ถ้านับเฉพาะสมัยสุโขทัยเป็นต้นมาก็ 7 800 ปีเข้าแล้ว จึงเป็นประเพณีที่มั่นคงยั่งยืนโดยสาระสำคัญนั้นกฐินถือว่าเป็นบุญใหญ่มากถ้าพูดตามคำในทางพระศาสนาก็ใช้คำสั้น ๆ ว่าเป็นสังฆทานและเป็นกาลทาน ที่ว่าเป็นสังฆทานนั้นก็คือทานเพื่อสงฆ์ส่วนรวม ไม่จำเพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่งดังที่ปรากฏในพิธีถวายผ้ากฐินที่ผ่านไปสักครู่นี้ ซึ่งเจ้าภาพได้นำผ้ากฐินมาวางไว้เป็นของกลางของพระสงฆ์สุดแต่พระสงฆ์จะพิจารณาแล้วพระสงฆ์ก็จะมีการมีการอุปโลกน์ มีการเสนอเพื่อแสดงมติร่วมกัน ทั้งนี้สังฆกรรมในด้านนี้ยังไม่จบ หลังจากนี้พระสงฆ์ก็ยังต้องเข้าสู่ที่ประชุมมีการทำสังฆกรรมถวายผ้ากฐินจะเรียกว่าเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ในบางวัดนั้นก็จะประกอบสังฆกรรมต่อเนื่องไปเลยในขณะที่ญาติโยมเจ้าภาพยังมาอยู่ในที่ประชุมแต่ว่าต้องใช้เวลานานการถวายผ้ากฐินในเวลาเช้าเวลาจำกัดก็จึงกระทำเฉพาะพิธีอุปโลกน์ คือ กล่าวบอกกล่าวกันให้ทราบว่าได้มีผ้ากฐินเกิดขึ้นดังนี้ดังนี้ และมีพระภิกษุที่ตั้งข้อเสนอขึ้นมาเพื่อจะได้หารือกับที่ประชุมสงฆ์ว่าควรจะถวายแก่ท่านผู้ใดโดยเสนอนามของท่านผู้ที่สมควรจะรับและเมื่อที่ประชุมหรือสงฆ์ส่วนรวมได้เห็นชอบก็ได้กระทำสาธุการ คือกล่าวคำสาธุขึ้นพร้อมกันดังที่ได้ประจักษ์แก่ญาติโยมไปแล้ว ส่วนสังฆกรรมนั้นจะทำเป็นภาษาบาลีอีกครั้งหนึ่ง สังฆกรรมในส่วนที่เรียกว่าญัตติทุติยกรรมวาจา อันนี้ก็คือสังหกรรมได้แก่เรื่องราวกิจการงานของส่วนรวมที่ต้องสำเร็จด้วยมติที่ประชุมมีการตั้งญัตติเป็นต้น ซึ่งพระสงฆ์จะต้องกระทำภายในวันนี้ให้เสร็จสิ้นไป โดยปกติก็จะทำในเวลาค่ำ
สังฆทานหรือทานเพื่อสงฆ์นั้นพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญไว้ว่าเป็นทานที่มีผลมากที่สุด แม้แต่เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ก็จะสนับสนุนให้ถวายเป็นสงฆ์เป็นส่วนรวมไม่ถวายเฉพาะพระองค์เพราะว่าในระยะยาวผู้ที่จะดำรงพระศาสนาก็คือสงฆ์ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เมื่อสงฆ์ยังอยู่พระศาสนาก็ยังอยู่ และการที่ถวายสังฆทานนั้นเมื่อถวายกับสงฆ์เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาแล้วพระศาสนาก็จะได้ดำรงอยู่ตามวัตถุประสงค์ของตัวพระศาสนาเองก็คือเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน นั้นการถวายสังฆทานก็ถือว่าเป็นการทำบุญทั้งเพื่อดำรงพระศาสนาด้วยและเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมหรือแก่ชาวโลกทั้งหมดคือขยายธรรมะแผ่ออกไป เพื่อความอยู่ร่มเย็นเป็นสุขให้ประชาชนอยู่ดีมีศีลธรรม อันนี้ในแง่นี้เรียกว่าเป็นสังฆทาน
ส่วนในแง่ที่ 2 เรียกว่าเป็นกาละทานเพราะว่าเป็นทานที่ถวายได้จำกัดเวลาจำเพาะในเวลาที่กำหนดไว้ก็คือเทศกาลกฐินในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่กล่าวแล้วก็คือหลังจากสิ้นสุดพรรษาไป 1 เดือนเต็ม ๆ หลังจากนั้นแล้วก็ไม่อาจจะถวายกฐินได้ ก่อนหน้านั้นก็ถวายไม่ได้เพราะฉะนั้นก็เป็นทานที่มีเวลาเฉพาะก็จึงถือว่าเป็นทานสำคัญ
เมื่อประกอบกันด้วยเหตุผลสองประการนี้พุทธศาสนิกชนก็ถือว่าการถวายผ้ากฐินนั้นเป็นทานที่มีบุญยิ่งใหญ่แล้วการที่ประจักษ์ชัดก็คือ เพราะว่าพระสงฆ์ถึงอย่างไรก็ต้องขวนขวายประกอบสังฆกรรมกฐินอยู่แล้วถ้าญาติโยมไม่นำผ้ากฐินมาถวายพระสงฆ์ก็ต้องขวนขวายหากันเองแล้วพระสงฆ์จะหาผ้ากฐินมามอบแก่กันนั้น จะทำใบ้บอกหรือจะขอจะอะไรอย่างไรไม่ได้ทั้งนั้นกฐินนั้นจะเป็นโมฆะ ต้องเป็นเรื่องของญาติโยมมีศรัทธาเอง มาบอกกล่าว มาแจ้งมาจอง แล้วก็นำมาถวาย ถ้าพระไปบอกไปชวนหรือว่าทำเครื่องหมายให้เลศนัยอย่างใดอย่างหนึ่งกฐินนั้นเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ ฉะนั้นก็ถือว่าเป็นการร่วมศรัทธาของประชาชนของญาติโยมอย่างแท้จริง ญาติโยมไม่มีศรัทธาแล้วกฐินก็ไม่เกิดขึ้น ก็จึงถือกันว่ากฐินนี้เป็นการแสดงความสามัคคี สามัคคีในหมู่ของพระสงฆ์เองที่ว่าอยู่ร่วมกันมาแล้วมีผ้าเกิดขึ้นผืนหนึ่งหรือทำผ้าขึ้นเองผืนหนึ่งก็นำมามอบให้แก่กันโดยที่ตัวเองผู้มอบนั้นไม่ได้มีส่วนไม่ได้สิทธิ ไม่ได้มีโอกาสที่จะใช้เลย แล้วก็เวลาทำถ้าหากโยมไม่นำเอามาถวายพระต้องร่วมมือกันทำ ต้องช่วยกันทำทุกองค์ทำเสร็จแล้วก็นำไปถวายแก่องค์หนึ่งแสดงความสามัคคีพร้อมใจกันนี้ญาติโยมมาสนับสนุนพระก็นำมาถวายตัดขั้นตอนที่พระจะต้องลำบากในการทำผ้าขึ้นไปก็กลายเป็นความสามัคคีร่วมใจกันของพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ร่วมกับฝ่ายบรรพชิต อย่างที่กล่าวแล้วว่าเป็นการสนับสนุนพระสงฆ์ให้ปฏิบัติได้ตามพระธรรมวินัยอันนี้เป็นข้อที่ย้ำกล่าวมาทุกปีว่าสาระของกฐินนั้นอยู่ที่ความสามัคคีประเพณีนี้ก็เลยได้ขยายไปจนกระทั่งเป็นความสามัคคีในหมู่ญาติโยมด้วยกันมีการนำผ้ากฐินจากจังหวัดหนึ่งไปถวายทอดอีกจังหวัดหนึ่งโดยเฉพาะญาติโยมกรุงเทพฯก็นำกฐินไปทอดในต่างจังหวัด อันนี้ก็เป็นความพร้อมเพียงสามัคคีที่ว่าคนในเมืองก็ไปสนับสนุนช่วยคนท้องถิ่นอย่างนี้เป็นต้น สำหรับความหมายที่เป็นสาระสำคัญของเรื่องกฐินในแง่ความสามัคคีปีนี้ก็จะไม่กล่าวพรรณาเพิ่มเติมเพราะว่าได้กล่าวมาบ่อยครั้งแล้ว
ปีนี้อยากจะพูดถึงความหมายของกฐินอีกแง่หนึ่งคือกฐินในแง่ตัวศัพท์ คำว่ากฐินแปลว่าอะไร เมื่อพูดถึงคำว่ากฐินโดยตัวความหมายของศัพท์นี้ก็จะเป็นเรื่องแง่ของความรู้ ซึ่งอาจจะน่าเบื่อสักหน่อยแต่ว่าญาติโยมก็ฟังไว้จะได้มีความเข้าใจ คำว่ากฐินนัยที่หนึ่งก็แปลว่าสะดึง สะดึงนันก็คือไม้กรอบที่ประกบผ้าสำหรับตัดเย็บ ไม้สะดึงที่เย็บจีวรนี้ใหญ่มากก็คือขึง ขึงจีวรทั้งผืน เวลาจะตัดเย็บผ้าจีวรนั้นให้สำเร็จต้องใช้สะดึง คำว่าสะดึงนี่แหละกลายเป็นชื่อของสังฆกรรมนี้ไปด้วย คือเอาเครื่องหมายหรือสิ่งที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของกิจกรรมทั้งหมดนี้มาเรียกเป็นชื่อของสังฆกรรมตลอดจนกระทั่งเป็นชื่อของพิธีทําบุญนี้คือการทอดกฐิน ก็ให้รู้กันว่ามีความหมายกว้างขยายไปโดยเฉพาะก็คือผ้าที่สำเร็จจากไม้สะดึงนั่นเอง แต่ตัวกฐินนี่แปลว่าไม้สะดึง นี่เป็นความหมายหนึ่งอย่างง่าย ๆ
ต่อไปยังมีความหมาย 1 คำว่ากฐินนี่แปลว่าแข็งนี่เป็นศัพท์สามัญ คำว่าแข็งก็มองได้สองแง่ คือแง่บวกกับแง่ลบ แง่บวกหรือแง่ดี แข็งก็หมายถึงแข็งแรงเข้มแข็งหนักแน่นเป็นต้น อันนี้ซึ่งเป็นความหมายในแง่ที่ดี แต่ว่ากฐินที่แปลว่าแข็งนั้นอีกความหมายหนึ่งก็ไม่ดีเป็นความหมายในเชิงลบ เช่นว่ากระด้าง หยาบ รุนแรง ถ้าแข็งแรงโดยมากเราหมายถึงแง่ดี ถ้ารุนแรงก็มักจะหมายถึงในแง่ไม่ดี แต่ว่าคำว่ากฐินนี้ก็ใช้ได้ทั้งสองความหมาย อย่างคำว่ากฐินนวจน คำพูดที่แข็งหมายถึงคำพูดที่กระด้างระคายหู ได้ฟังแล้วไม่สบายเลยนี่เรียกว่าคำที่เป็นกฐิน หรือกฐินนภูมิพื้นแผ่นดินที่แข็งหมายถึงที่หยาบที่ขรุขระ กระด้างเดินเหยียบแล้วไม่สบายเจ็บเท้าเป็นต้นนี่ก็เรียกว่ากฐินเหมือนกันพื้นดินเป็นกฐิน จนกระทั่งว่าใจกฐินเป็นกฐินนจิต ใจกฐินก็หมายความว่าใจหยาบช้าแข็งกระด้างไม่มีเมตตากรุณาอันนี้ในความหมายในแง่ไม่ดี แต่ในความหมายในแง่ดีกฐินนั้นก็แสดงถึงภาวะที่เข้มแข็ง แข็งแรงมั่นคง อาจจะหมายถึงการที่ว่าส่วนประกอบต่าง ๆ นั้นได้เข้ามาประมวลกันเรียกว่าอัดแน่นทำให้เกิดความแข็งแรงขึ้นมา แม้แต่เรื่องแสงสว่างอย่างแสงพระอาทิตย์นี้ถ้าเป็นภาษาบาลีก็เรียกตรงข้ามว่าแสงอ่อนแสงแข็ง ภาษาไทยนี่เปลี่ยนไปหน่อยนึงสำนวนแทนที่จะคู่อย่างอ่อนแข็งนี่เวลาพูดถึงแสง แสงไฟฟ้าแสงพระอาทิตย์ไม่พูดว่าแสงแข็งแสงอ่อน พูดว่าแสงอ่อนแต่เวลาเป็นแสงแข็ง ไม่พูดว่าแสงแข็ง แต่พูดว่าแสงจ้าหรือแสงแรงกล้า อันนี้เป็นเรื่องของสำนวนภาษา แต่ภาษาบาลีนั้นใช้กับแสงพระอาทิตย์ด้วยว่าแสงอ่อนกับแสงแข็ง คือแสงกฐิน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มองได้ในความหมายอย่างที่กล่าวแล้วว่าทั้งดีและไม่ดี ทีนี้ว่าถึงในแง่ของแสงก็มีตัวอย่างหลายท่านคงรู้จักคัมภีร์มิรินทปัญญาที่พระนาคเสนได้ถวายวิสัชนาแก่พระยามิลินท์หรือกษัตริย์เมนันเดอร์กษัตริย์กรีกแห่งแคว้นโยนก ซึ่งเป็นนักปราชญ์หรือนักปรัชญา คราวหนึ่งพระยามิลินท์หรือพระเจ้าเมนันเดอร์นั้นได้ตรัสถามพระนาคเสนว่า พระคุณเจ้า นี่ว่าเป็นภาษาบาลีว่า สุริโยสับพะการังกะฐินังตาปัตติ นี่คำว่า กะฐินัง ว่าพระอาทิตย์ส่องแสงกฐินแข็งกล้าหรือเจิดจ้านี่ตลอดเวลาหรือเปล่า พระนาคเสนก็ถวายวิสัชนาว่า มหาบพิตรเป็นเช่นนั้นพระอาทิตย์ส่องแสงเจิดจ้าตลอดเวลา พระยามิลินท์ก็ตรัสถามกลับมาว่า เอ้า ถ้าอย่างนั้นบางครั้งทำไมแสงพระอาทิตย์อ่อนฟ้าครึ้มเชียว แต่บางครั้งแสงกระจ่าง พระนาคเสนก็ทูลตอบถวายวิสัชนาว่าที่พระอาทิตย์ส่องแสงจ้าเป็นบางเวลาแล้วก็แสงอ่อนเป็นบางเวลานี่เป็นเพราะถูกโรคเบียดเบียน เอ้พระอาทิตย์หรือแสงพระอาทิตย์นี่มีโรคด้วยหรือ ท่านบอกโรคของแสงอาทิตย์มี 4 อย่างด้วยกัน คือ เมฆหมอก ฝุ่นควัน ละอองน้ำที่มีธุลีเจือปน และราหูคือสุริยคราสหรือสุริยุปราคา นี่ 4 ประการนี้ เป็นโรคของแสงอาทิตย์ทำให้แสงอาทิตย์ที่ตามปกติโดยธรรมชาติก็เจิดจ้าอยู่แต่ว่ามันบดบังปรากฏแก่มนุษย์เราไม่เจิดจ้าแต่กลายเป็นแสงอ่อนไป ต่อจากนี้พระยามิลินท์ก็ยังได้ตรัสถามต่อไปอีกถึงว่าทำไมแสงอาทิตย์ในฤดูคิมหันต์ฤดูร้อนจึงไม่เจิดจ้าสว่างเหมือนอย่างในฤดูเหมันต์คือฤดูหนาว พระนาคเสนก็ทูลตอบต่อไป แต่ตอนนี้อาตมาภาพจะไม่ยกมาพูดแล้ว จะขอย้อนเรื่องที่พระนาคเสนทูลตอบเรื่องของโรคพระอาทิตย์ 4 อย่างนี้ กลับไปหาพุทธพจน์ เพราะการที่พระนาคเสนได้ทูลตอบพระยามิลินท์ไปดังนี้ก็มีเรื่องราวอ้างอิงอยู่ในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าตรัสเอง พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่าสิ่งที่ทำให้แสงอาทิตย์มัวหมองไปนั้นมี 4 ประการ ซึ่งเป็นหลักที่พระนาคเสนนำมาอ้างอิง แต่พระพุทธเจ้าตรัสครั้งนี้
พระองค์ตรัสเป็นข้อเปรียบเทียบว่าแสงอาทิตย์นั้นต้องเศร้าหมองอ่อนแรงลงไปด้วยตัวโรค 4 ประการนี้ฉันใดพระภิกษุก็ฉันนั้นพระภิกษุก็จะมัวหมองด้วยเหตุ 4 ประการ
ประการที่ 1 ก็คือเสพสุราเมรัยสิ่งเสพติด
2 ประพฤติผิดเสียหายในทางเพศ
3 ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินทองทรัพย์สมบัติและ
4 ประกอบมิจฉาชีพประกอบมิจฉาชีพก็คือหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย พระภิกษุนั้นอาชีวะที่ถูกต้องก็คือการประพฤติตนปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแล้วประชาชนมีศรัทธาเลื่อมใสนำเอาจตุปัจจัยมาถวายนั้นถือว่าเป็นอาชีพโดยถูกต้อง แต่ถ้าไปเที่ยวหาเลี้ยงชีพก็กลายเป็นว่าเป็นมิจฉาไป
พระภิกษุก็จะต้องระวังก็คือทำให้ตัวเองเป็นผู้มีแสงอย่างกฐินอยู่ กฐินอย่างนี้ก็กฐินในแง่ดีกฐินก็คือยังเจิดจ้า เรียกว่าเป็นกฐินตบะ กฐินตบะก็หมายความว่า เป็นตบะหรือแสงสว่างที่ยังเจิดจ้าแข็งแรงเข้มแข็งอยู่เพราะฉะนั้นถ้าโยงความหมายในแง่นี้เทศกาลกฐินก็เหมือนกับเตือนพระไปด้วยว่าระวังนะอย่าทำให้เกิดความมัวหมองของขึ้นโดยที่ว่าให้ดำรงรักษากฐินตบะหรือแสงสว่างที่เป็นกฐินไว้ให้ดีโดยละเว้นความประพฤติเสียหายทั้งสี่ประการเหล่านั้น อันนี้ก็เป็นความหมายหนึ่งในแง่ของกฐิน กฐินในแง่ของความหนักแน่นแข็งแรงเหมือนกับว่าเอาองค์ประกอบต่าง ๆ มาอัดบรรจุเข้าไว้ อันนี้ก็เป็นความหมายที่คัมภีร์ในทางวิจัยชั้นหลังก็ได้อธิบายไว้ ท่านบอกว่าที่เรียกว่ากฐินเพราะว่าประมวลรวมเอาอานิสงส์ 5 ประการเข้ามาประจุไว้คือว่าพระภิกษุเมื่อประกอบสังฆกรรมเรียกรานกฐินแล้วก็จะได้รับอานิสงส์คือสิทธิพิเศษ 5 ประการ อันนี้อาตมาภาพกล่าวเป็นภาษาบาลีเพราะเป็นเรื่องของพระสงฆ์ญาติโยมไม่จำเป็นต้องจำคือฟังไว้เป็นเพียงความรู้ อนิสงส์ของกฐินนั้นสืบต่อจากพรรษา ว่าเมื่อพระภิกษุจำพรรษาแล้วได้อานิสงส์แล้วต่อจากนั้นเมื่อกรานกฐินก็ยืดอานิสงส์ไปอีก 4 เดือน อนิสงส์ก็มี
1 อนามันตจาโร แปลว่าเที่ยวไปไม่ต้องบอกลา
2 อสมาทานจาโร เที่ยวไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ
3 คณโภชนัง ฉันคณะโภชน์ ฉันเป็นหมู่ได้
4 ยาวทัพถจีวรัง จีวรที่พระภิกษุนั้นสามารถเก็บใส่จีวรเอาอดิเรก อดิเรกเป็นจีวรได้ตามปรารถนาคือตามปกตินั้นพระภิกษุใช้ผ้าจีวรได้ 3 ผืน เป็นผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าห่มผืนหนึ่ง แล้วผ้าซ้อนผืนหนึ่งเรียกว่าไตรจีวรใช้ได้เท่านั้น ถ้าได้ผ้าอดิเรกคือเกินจากนั้นมาเนี่ยใช้ได้แค่ 10 วัน ถ้าเกินจากนั้นไปเป็นอาบัติ นี่ก็คือให้พระภิกษุได้อยู่ง่าย ๆ มีความสันโดษ แต่เมื่อกรานกฐินแล้วนี่พระภิกษุจะได้รับอานิสงส์ก็คือมีอดิเรกกับจีวรญาติโยมถวายผ้าพิเศษเพิ่มมาก็เก็บไว้ได้ตามปรารถนาจนกระทั่งหมดเขตอานิสงส์ 4 เดือน อันนี้อนาถจีวะรัง
ต่อไปข้อสุดท้าย โยจะตะถะจีวรรูปโทโสจะโตจะเสสังวีสติ แปลว่าจีวรที่เกิดขึ้นในวัดนั้นหรือในเขตนั้นเป็นของพวกเธอ ข้อนี้หมายความว่าตามปกติชีวิตของพระสงฆ์นั้นเมื่อพระสงฆ์มาอยู่ร่วมกันแล้วมีลาภเกิดขึ้นก็ต้องเฉลี่ยแบ่งปันกันให้สม่ำเสมอ แต่ว่าพระที่มาเป็นสงฆ์เป็นส่วนร่วมก็ได้มาจากที่ไหนก็ได้ ท่านเรียกจาตุทิศ ทิศทั้ง 4 มาอยู่ร่วมในวัดเดียวกันก็มีสิทธิในลาภเสมอกัน แต่ว่าในกรณีของกฐินนี้ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสไว้ว่า ในช่วงเวลานี้ที่จะทอดกฐินได้ 1 เดือนนี่ จีวรตอนนี้เป็นสิทธิพิเศษแล้ว เมื่อกรานกฐินในช่วงเวลานี้ไปแล้วเนี่ย พระภิกษะที่มาจากที่อื่น ถ้ามีจีวรเกิดขึ้นนี่ไม่มีสิทธิ์ได้รับด้วย ให้เป็นสิทธิของพระที่จำพรรษาที่นี่ อันนี้ก็เรียกว่าได้สิทธิพิเศษเพิ่มขึ้น ท่านบอกว่าเพราะประมวลเอาอานิสงส์ทั้ง 5 นี้ประจุเข้าไว้เหมือนกับอัดแน่นก็เรียกว่ากฐินนี่เป็นความหมายของกฐิน ท่านก็อธิบายความหมายของกฐินอย่างนี้ไปอีกหลายนัยจนอาตมาภาพคิดว่าไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวเพราะว่าจะกลายเป็นฟั่นเฟื่อไปก็กลายเป็นว่า กฐินในความหมายนี้ก็แปลว่าแข็ง แปลว่าเป็นที่ประจุอัดไว้แน่นหนาหรือหนักแน่นมั่นคงในความหมายที่ดี ถ้าความหมายไม่ดีก็เป็นความหมายที่หยาบกระด้างเป็นต้นดังที่กล่าวมา นี้สำหรับพระสงฆ์นั้นก็ได้อนิสงส์ที่เป็นกฐินจะเรียกว่าประจุประมวลไว้ 5 ประการดังกล่าวแล้ว
หันมาดูทางญาติโยมบ้างแล้วโยมจะได้อานิสงส์อะไรที่จะเป็นกฐินเอามาประมวลบรรจุไว้ก็เลยมาลองพิจารณาหามาให้โยม โยมก็ควรจะได้อานิสงส์กฐินบ้าง อนิสงส์กฐินในที่นี่ก็ดูเทียบจากของพระ ของพระเมื่อกี้นี้อาตมาภาพบอกพระได้อนิสงส์จากกฐิน 5 ข้อมาบรรจุรวมกันที่กฐินนี่ 5 มารวมอยู่ในโอกาสเดียว นี่ของโยมนี้ก็หาชุด 5 มา ปรากฏว่าของโยมนี่เช่นเดียวกับพระแหละพระก็มีชุดอย่างนี้ด้วยได้ชุด 5 3 ชุดด้วยกัน เป็น 3 ระดับ คุณสมบัติที่ดีงามที่ควรจะมาบรรจุให้เป็นกฐิน ซึ่งจะเกิดผลดีในการทอดกฐินนี้ แล้วสำหรับทุก ๆ คน สำหรับทุก ๆ ชีวิตขอจัดเป็น 3 ชุด ชุดละ 5 ชุดที่ 1 เป็นชุดข้างในใจ ชุดที่ 2 เป็นชุดที่แสดงออกเป็นเรื่องของบุคคลที่ปรากฏตัวในสังคมเช่นเรียกว่า อากัปกิริยา แล้วชุดที่ 3 เป็นชุดของความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์หรือกับผู้อื่น นี่ 3 ชุด นี้คุณสมบัติดี ๆ 3 ชุดนี้มีอะไรบ้าง ในด้านที่ 1 ที่บอกแล้วว่าเป็นเรื่องภายในจิตใจ เริ่มด้วย
ข้อที่ 1 มีจิตใจที่เหมาะกับงานเขาเรียกว่าอย่างงั้น จิตใจที่เหมาะแก่งานคือยังไง คือจิตใจที่พร้อมจะใช้งาน งานในที่นี้ไม่ใช่หมายเฉพาะการงานอาชีพเท่านั้น แต่งานทุกอย่างตั้งแต่งานคิดในจิตใจของตัวเอง คนเรานี่ข้อสำคัญจะต้องมีจิตใจที่เหมาะแก่งาน เหมาะที่จะใช้งานแม้แต่งานคิด ถ้าจิตไม่เหมาะแก่การใช้งาน เช่น ไม่เหมาะกับการใช้งานคิดก็คิดไม่ได้ผลดี ฉะนั้นจิตที่ดีจะต้องเป็นจิตที่เหมาะแก่งาน เป็นจิตเช่น จิตที่ไม่ขี้เกียจ เป็นจิตใจที่ไม่ละเหี่ย ไม่หดหู่ ไม่ท้อแท้ ไม่ละย่อ เป็นจิตใจที่มีฉันทะมีความกระตือร้นเป็นต้น อันนี้เรียกว่าจิตเหมาะงาน ลักษณะประการที่ 1 คุณสมบัติทางจิตใจ
ต่อไปข้อที่ 2 จิตนั้นอ่อนโยนไม่แข็งกระด้างประกอบด้วยเมตตามองเพื่อนมนุษย์ด้วยความปรารถนาดีโดยมีไมตรี จิตอย่างนี้ก็เป็นคุณสมบัติที่ดี ที่ว่าใช้งานแล้วแต่ว่าก็จะไปจำกัดด้วยข้อที่ 2 ว่าใช้ด้วยจิตใจที่มีคุณสมบัติอ่อนโยนมีเมตตากรุณา
ต่อไป 3 คุณสมบัติที่ดีของจิตเป็นจิตที่ปลอดโปร่ง โปร่งโล่ง ไม่มีอะไรมาบีบคั้นครอบงำเช่นไม่มีความเครียดเป็นต้น เป็นจิตที่เบาสบายโปร่งโล่งนี่เป็นคุณสมบัติประการที่ 3
ต่อไปประการที่ 4 จิตนั้นเป็นจิตที่ร่าเริงเบิกบาน ร่าเริงเบิกบานเป็นจิตที่ไม่เป็นใจตก ใจไม่หดหู่ไม่ซึม ใจร่าเริงยินดี ภาษาบาลีท่านเรียก อุทักจิต ขออภัยถ้าใช้ภาษาอังกฤษนี่เขาเรียกว่า High Spirited เป็นจิตใจที่ร่าเริงเบิกบานยินดี
แล้วก็ประการที่ 5 ก็เป็นจิตที่ผ่องใส จิตที่ผ่องใส ๆ สะอาดไม่ขุ่นมัวเศร้างหมอง เป็นจิตที่มีความมั่นใจในสิ่งที่ดีงามเช่นหลักการ ตัวทำอะไรก็มีหลักการมีความมั่นใจในสิ่งที่จะทำนั้นเป็นต้น นี้ใจอย่างนี้ก็จะมีความผ่องใสด้วยความมั่นใจ อันนี้ข้อสำคัญข้อที่ 5 นี่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างจิตใจไปถึงปัญญา คือคุณสมบัติ 5 ข้อ 4 ข้อแรกนั้นจะเป็นเรื่องของจิตใจโดยตรง พอถึงข้อ 5 นี้จะเชื่อมจิตใจกับปัญญา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่ง คือเรื่องจิตใจกับปัญญานี้ในทางพุทธศาสนาแยกไว้ชัดเจน จริงอยู่ปัญญานั้นเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งในใจของคน อย่างเวลาแสดงเรื่องของชีวิตนี่ก็จะแสดงปัญญาไว้ในคุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิตใจ แต่เวลาดำเนินชีวิตทำกิจการต่าง ๆ นี่ ในพุทธศาสนาจะแยกปัญญาออกมาเป็นหมวดหนึ่งต่างหากถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แยกปัญญากับจิตใจจากกันชัดเจน แต่ไม่ใช่แยกอย่างเดียวต้องโยงให้ตรงจุดด้วยได้ทั้งแยกทั้งโยง ปัญญากับจิตใจหรือในแง่หนึ่งก็คือความรู้กับความรู้สึก ต้องรู้จักบทบาทของทั้งสองอย่างนี้ให้ชัดเจน ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเรื่องทุกข์ หรือปัญหาต่าง ๆ ในแง่ของปัญญาแล้วพุทธศาสนาบอกว่า ทุกข์มาปัญหาเจอ ปัญญาสู้หมด ปัญญารับหน้าหมดไม่มีหนีเลย ทุกข์มาปัญหามาปัญญาสู้เผชิญหน้าไม่หนีเลย ปัญญาจะเรียนรู้ รู้ทันหาทางแก้ไขจัดการให้หมดสิ้นไป แต่ในแง่จิตใจแล้วไม่ยอมให้ทุกข์ตั้งอยู่ในจิตใจเลยที่พุทธศาสนานิยมต้องแยกให้ถูก เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาพูดถึงทุกข์เป็นเรื่องของปัญญา เรียกวว่าทุกข์นั้นสำหรับปัญญารู้และแก้ไขแต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของจิตใจ ใครเอาทุกข์มาเป็นเรื่องของจิตใจคือเป็นด้านความรู้สึกของคนนั้นจะลำบาก พุทธศาสนาไม่ยอมถือว่าปฏิบัติผิด ถ้าเอาทุกข์มาเป็นเรื่องของจิตใจให้ทุกข์มาอยู่ในใจมาครอบงำใจแสดงว่าปฏิบัติผิดแล้ว ทุกข์เป็นเรื่องสำหรับปัญญารู้ ท่านเรียกว่าทุกข์สำหรับปัญญารู้เท่าทันอย่างในอริยสัจ ข้อที่ 1 เนี่ย เริ่มด้วยทุกข์ คนไม่เข้าใจก็นึกว่าพุทธศาสนานี่อะไร อะไรเริ่มด้วยทุกข์ เปล่า ท่านบอกต่อไปด้วยคุณต้องรู้กิจต่ออริยสัจนะ ทุกขังอริสัจจัง ปริญเญยยัง ทุกข์เป็นสิ่งที่พึงปริญญา ทุกข์นั้นต้องรู้เท่าทันมัน นั้นปัญญาเจอทุกข์แล้วไม่หนีเลยเจอแล้วสู้เรียนรู้ ๆ ให้ทันแล้วจัดการแก้ไข แต่ในด้านจิตใจไม่ยอมให้ทุกข์มาอยู่ในใจเลย อันนี้ถ้าแยกถูกแล้วจะเข้าใจอะไรต่ออะไรชัดเจน อ้าวละทีนี้ด้านรู้กับรู้สึกเนี่ยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในแง่โยงก็คือปัญญานี่ต้องมาช่วยจิต มาช่วยจิตใจในการแก้ปัญหาในการกำจัดความขุ่นมัวเศร้างหมองตลอดจนกระทั่งความทุกข์นี้ให้หมดไป นั้นด้านรู้กับด้านรู้สึกนี่ รู้สึกจะเป็นได้แค่ปัจจัยแก่ความรู้หรือการแสวงหาปัญญา แต่ไม่ให้ความรู้สึกว่ามามีอิทธิพลครอบงำปัญญา เป็นปัจจัยแก่ปัญญายังไง เรารู้สึกสงสัยแคลงใจไม่แน่ใจอะไรก็ตามเนี้ยท่านให้เป็นปัจจัยแก่ปัญญาที่จะแสวงหาความรู้อันนี้คือเป็นปัจจัยได้ แต่ไม่ให้มีอิทธิพลครอบงำจิตเพราว่าถ้าความรู้สึกเข้ามามีอิทธิพลครอบงำปัญญาแล้วเนี่ยจะมองอะไรผิดเพี้ยนบิดเบือนเอนเอียงเหมือนกับสีแม้แต่แว่นตามีสีแล้วก็มองอะไรต่าง ๆ ก็สีไม่ตรงตามเป็นจริง เพราะฉะนั้นท่านให้ความรู้สึกเป็นปัจจัยแก่การแสวงปัญญาได้ แต่ไม่ให้ความรู้สึกว่ามามีอิทธิพลครอบงำปัญญาเป็นอันขาด ตรงกันข้ามปัญญาคือความรู้นี้จะต้องมาแก้ไขปัญหาให้จิตใจ เป็นตัวปลดปล่อยจิตใจให้พ้นจากปัญหา พ้นจากความขุ่นมัวเศร้าหมอง พ้นจากความทุกข์ พ้นจากกิเลสที่มาบิดเบือนทำให้มองอะไรต่าง ๆ ผิดพลาดจากความจริง ทีนี้ก็เป็นเรื่องของปัญญากับเรื่องจิตใจ ซึ่งจะต้องแยกให้ได้
ทีนี้ในธรรมะทางพุทธศาสนา นี้ตามปกตินี่จะลงข้อท้ายด้วยปัญญาคุมแทบทุกหมวด ธรรมะในพุทธศาสนาจะจัดเป็นหมวด ๆ มี 1, 2, 3, 4, 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ โดยมากจะลงข้อท้ายด้วยปัญญา ในกรณีนี้ข้อสุดท้ายก็จะลงท้ายด้วยปัญญา คือคนที่จะมีจิตใจดีเนี่ยในที่สุดต้องมีปัญญา ปัญญาความรู้เข้าใจจะทำให้เกิดความมั่นใจและเกิดความผ่องใสเป็นอิสระที่แท้จริง ถ้าคนใดยังไม่มีปัญญาไม่รู้เข้าใจอะไรแจ่มชัด จิตใจมันตันมันถูกบีบคั้นมันอัดอั้นไม่มีอิสรภาพ เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นตัวปลดปล่อยทำให้เกิดอิสรภาพ ปัญญามาเมื่อไหร่จิตที่ติดขัดไม่สบายอะไรต่าง ๆ โล่งโปร่งหมด นั้นข้อสุดท้ายในคุณสมบัติของจิตข้อที่ 5 ก็เป็นตัวโยงไปหาปัญญา ปัญญาก็คือความรู้เข้าใจ เช่น รู้เข้าใจหลักการที่จะทำพออันนี้มาแล้วก็ใจก็เกิดความมั่นใจแล้วก็เกิดความผ่องใสได้ นี่เป็นชุดที่ 1 ด้านคุณสมบัติภายในใจ ต่อไประดับที่ 2 ชุดอากัปกิริยาการปรากฏตัว คนที่อยู่ในสังคมที่ดีควรจะมีคุณสมบัติในแง่อากัปกิริยาการปรากฏตัวในสังคม 5 ข้อต่อไปนี้ก็คือ
1 คล่องแคล่ว คล่องตัว เขาเรียกคล่องตัวเปรียบเหมือนอย่างกับท่านใช้คำว่าเหมือนเตรธารา เหมือนสายธารในน้ำมันที่ไหลเรื่อยไม่มีขาดตอนเลย อันนี้ความคล่องตัว
2 ความนุ่มนวลละมุนละไม คือนอกจากคล่องตัวแล้วก็เป็นความนุ่มนวลละมุนละไม ไม่เกะกะระราน ไม่ก่อความกระทบกระทั่ง อาการที่แสดงออกนี้ก็เป็นความนุ่มนวลละมุนละไม
แล้วต่อไปประการที่ 3 ขอใช้คำว่าเกลี้ยงเกลา คือคำบาลีนี่บางทีก็แปลยาก เกลี้ยงเกลาหรือแนบเนียนอะไรทำนองนี้ ไม่เก้งก้างเกะกะกระโดกกระเดก อันนี้เป็นอาการด้านหนึ่งของบุคคลที่ปรากฏภายนอก ซึ่งเป็นด้านที่จิตใจนี่แสดงออกทางพฤติกรรมที่ปรากฏในสังคม
แล้วต่อไปประการที่ 4 แปลว่าน่าดูน่าชม ชวนให้อยากพบอยากเห็นอีก หมายความว่าพอพบเห็นแล้วก็อยากจะเห็นอีก อยากเจอ อยากมาหา เรียกภาษาไทยคล้าย ๆ คำว่ามีเสน่ห์ อันนี้ลักษณะประการที่ 4
ต่อไปประการที่ 5 แปลว่าน่าชื่นชมนิยมนับถือชวนให้เลื่อมใส หมายความว่า เห็นแล้วอยากเห็นอีกนอกจากเห็นอีกแล้วยังทำให้เกิดความชื่นชม เช่นชื่นชมในสติปัญญาของเขา ชื่นชมในความดีงามความสามารถมีความมั่นใจในตัวบุคคลนั้น คนไหนที่คนอื่นเห็นแล้วเกิดความรู้สึกเลื่อมใสนิยมชื่นชมเกิดความมั่นใจน่าเชื่อถืออย่างนี้เรียกว่าเป็นคุณสมบัติข้อที่ 5 ในการปรากฏตัวและเช่นเดียวกันข้อที่ 5 นี้ก็เป็นข้อที่ไปโยงกับปัญญา หรือความสามารถต่าง ๆ มีความรู้ความสามารถ มีสติปัญญาไม่ใช่เฉพาะแค่น่าดูน่าชมอยากเห็นเท่านั้นเห็นแล้วจะต้องเกิดความชื่นชมนิยมนับถือเชื่อถือด้วย อันนี้ก็คือจะต้องมีความสามารถมีสติปัญญาจึงจะได้ นั้นบางคนนี่เป็นผู้ที่คนอื่นเห็นว่ามีเสน่ห์แต่ว่ามันไม่ได้ข้อที่ 5 คือไม่ได้ข้อที่ว่าเห็นแล้วเกิดความเชื่อถือมั่นใจ นี้ถ้าได้ข้อที่ 5 แล้วมั่นใจเลยว่าคนนี้ก็คล้าย ๆ เป็นลักษณะผู้นำไปเลย เพราะฉะนั้นต้องให้ได้ข้อที่ 5 ข้อที่ 5 ก็จะมาเชื่อมปัญญาเข้าไปด้วยเอง อันนี้เป็นลักษณะสำคัญ ข้อที่ 4 นี้ที่จริงใช้คำบาลีก็ได้ อาตมาภาพไม่ได้กล่าวข้อที่ 4 ก็คือคำว่าทัศษนียะ แปลว่าเป็นบุคคลที่น่าเห็นน่าดูหรือ ชวนให้ชม ชวนให้เห็น ข้อที่ 5 นี้เป็นปาษาติกะน่าเลื่อมใส น่าเลื่อมใสก็คือว่ามีอะไรดีที่เขาเกิดความชื่นชมนับถือ อ้าวละนี่เป็นคุณสมบัติชุดที่ 2 ชุดที่นี้ 2 นี้ก็เช่นเดียวกันถ้าโยมเอามาประจุรวมเข้าในตัวได้ก็เป็นกฐินอีกชุดหนึ่ง กฐินในระดับปานกลางแล้ว ต่อไปชุดที่ 3 เป็นระดับความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์
เริ่มด้วยข้อที่ 1 มีความนบน้อมสุภาพนบน้อมรู้จักให้เกียรติคนอื่น เมื่อคบหาสัมพันธ์กับผู้อื่นแล้ว คนไหนควรเคารพนบไหว้ก็เคารพนบไหว้ ไม่แข็งกระด้างแล้วก็ให้เกียรติกับผู้อื่น อันนี้เป็นข้อที่ 1
ต่อไปข้อที่ 2 ท่านบอกว่าหน้ารับแขก หน้ารับแขกนี่ก็หมายความว่า ใบหน้ายิ้มแย้มพร้อมที่จะต้อนรับทักทายปราศรัย ภาษาบาลีท่านใช้คำที่แปลเป็นภาษาไทยว่ามีใบหน้าดังบุษบาแย้มบาน ว่าอย่างงั้น ก็หมายความว่า โยมจะเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่จะเข้าลักษณะกฐินในชุดที่ 3 ในข้อ 2 ต้องมีใบหน้าดังบุษบาแย้มบาน ว่าอย่างงั้นนะ อันนี้ใครเห็นก็อยากจะเข้าหาเลย หน้าตาต้อนรับแขก
ต่อไปข้อที่ 4 ข้อที่ 4 ขออภัย ข้อที่ 3 สิ 3 นี่ว่าไม่ปากเปราะเรอะราน ว่าอย่างงั้นนะ หมายความไม่เอาวาจาไปเที่ยวก้าวร้าวอะไรต่ออะไรยุ่งว่าใครง่าย ๆ โดยไม่มีเหตุผลรู้จักพูดให้ดีให้งามสุภาพเรียบร้อย อันนี้ก็ไม่ต้องพรรณายาว
ต่อไปข้อที่ 4 จากนั้นก็ไปภาษาพระท่านใช้คำว่า เลี้ยงง่าย เป็นคนเลี้ยงง่ายหมายความว่าไม่ชอบทำตัวให้เป็นภาระแก่ใครไม่อยากรบกวนใครคือทำตัวง่าย ๆ สบาย ๆ ท่านเรียกว่าเป็นคนเลี้ยงง่าย อันนี้ก็จะไปสัมพันธ์ข้อสุดท้าย
ข้อสุดท้ายก็คือว่า ในเมื่อไม่ต้องการทำตัวให้เป็นภาระแก่ใคร ไม่รบกวนใครแล้วก็เป็นผู้ที่ใฝ่พร้อมจะช่วยคนอื่น อยากจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอยู่เสมอ นี่เป็นลักษณะท่าทีที่ดีงามข้อสุดท้าย แล้วข้อสุดท้ายนี้แหละก็มาโยงเข้าหาปัญญาอีก ปัญญาความรู้ความสามารถก็มาอยู่ที่ข้อสุดท้ายก็คือว่าคิดจะทำประโยชน์แก่ผู้อื่นก็ต้องมีปัญญารู้อะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ก็ต้องมีปัญญาอย่างน้อยอะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ ในทางพระศาสนานี่ท่านถือว่าแม้แต่ทรัพย์สินเงินทองสิ่งเสพบริโภคต่าง ๆ ที่ได้มามันไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้มันเป็นประโยชน์ระดับปัจจัยเท่านั้น ประโยชน์ระดับปัจจัยก็คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนที่เราอาศัยเพื่อจะได้ทำสิ่งที่ดีงามขึ้นไป แต่ประโยชน์ที่เป็นสาระที่แท้ของชีวิต เช่น ความเจริญงอกงามด้วยสติปัญญาความรู้ความสามารถคุณความดีต่าง ๆ อันนี้เป็นประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิต คนไหนคิดจะสร้างประโยชน์ที่แท้ก็ต้องพัฒนาสติปัญญา พัฒนาความรู้ความสามารถ พัฒนาคุณสมบัติดี ๆ ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในตัวที่ว่าประโยชน์ที่แท้ อันนี้คนที่จะทำประโยชน์ข้อที่ 4 ได้นี่ก็ต้องมีปัญญารู้ประโยชน์อะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ แล้วก็สามารถเชื่อมประสานประโยชน์ตนกับประโยชน์ผู้อื่นได้ด้วย ว่าเอ้อทำยังไงจะให้โลกนี้อยู่ด้วยดี แม้แต่เราทำการอาชีพต่าง ๆ เราก็ต้องการผลประโยชน์ของตัวเอง แต่พร้อมกันนั้นเราก็ต้องทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ทำยังไงจะให้ประโยชน์สองฝ่ายนี่ได้มาประสานกัน เกื้อหนุนซึ่งกันและกันเป็นไปในทางที่ดีที่ให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม เช่น ให้ประเทศชาติสังคมนี้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขเจริญงอกงามไปด้วยดีอะไรเป็นต้นอะไรอย่างนี้ แล้วก็ข้อที่ 4 นี้ก็เป็นการประสานระยะเฉพาะหน้าระยะยาว ข้ออื่น ๆ มันก็ได้เฉพาะหน้าเท่านั้นเองจากระยะยาวก็คือว่าเมื่อรู้จักประโยชน์คิดจะทำประโยชน์ตรงนี้มันยืดมันมีเรื่องต้องทำต่อไปยาวนานไม่ใช่เฉพาะเวลานั้น ก็เป็นอันว่าชุดที่ 3 นี้ก็เป็นคุณสมบัติในการติดต่อเกี่ยวข้องกับสัมพันธ์กับผู้อื่น แล้วก็ทำให้เป็นกฐินซะ ก็คือประจุให้เป็นคุณสมบัติของเราตกลงได้ 3 ระดับแล้ว
อันนี้แหละถ้าหากว่าโยมญาติมิตร ท่านสาธุชนสามารถสร้างคุณสมบัติ 3 ชุดใน 3 ระดับนี้ขึ้นมาให้ประจุเข้าไปในชีวิตของตนได้นี่แน่นอนว่าจะมีความเจริญงอกงาม อย่างผู้นั้นอยู่ในธุรกิจการงานก็จะทำให้ธุรกิจการงานนั้นเจริญก้าวหน้าแน่นอนไม่ต้องสงสัยเลย ก็เป็นอันว่ามี 3 ชุดด้วยกัน แล้วก็เป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 ก็เป็นชุดภายในใจ ชุดที่ 2 ก็เป็นระดับปรากฏอากัปกิริยาอาการปรากฏแก่ผู้อื่น และชุดที่ 3 ก็เป็นชุดของความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์อย่างคนที่ทำงานในกิจการต่าง ๆ ก็สัมพันธ์กับลูกค้า ถ้ามีคุณสมบัติ 3 ชุดนี้แน่ใจได้เลยว่าจะทำให้ชีวิตเขาตนเองเจริญงอกงามก้าวหน้า แล้วกิจการงานของส่วนรวมจะเป็นธุรกิจหรือราชการก็ตามก็เจริญงอกงามแน่นอนรับประกันได้ จะเรียกว่าท้าพิสูจน์ก็ได้นะ เพราะฉะนั้นก็ลองไปพิจารณาดูว่าโยมจะรับไหมอานิสงส์กฐินนี้ เพราะว่าพระนี่ได้อานิสงส์กฐิน ท่านบอกว่ากฐินนี่ก็คือว่าประจุอนิสงส์ 5 ประการของพระเข้าไปแล้ว นี้โยมก็ต้องประจุเข้าไปชุดละ 5 ละ 5 เป็น 3 ชุดเป็น 15 ข้อ ถ้าได้อย่างนี้ก็ไปอันว่าชีวิตดี สังคมดีแล้วก็โลกนี้น่าอยู่น่าอาศัย เพราะว่าเป็นความเจริญงอกงามที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันคือคนนั้นก็ดีด้วยแล้วก็ดีต่อผู้อื่นต่อกิจการส่วนรวมต่อสังคมประเทศชาติไปด้วยกันหมดเลยเป็นการประสานประโยชน์ที่แท้จริง
วันนี้อาตมาภาพจึงได้นำเอาเรื่องความหมายของกฐินอีกแง่หนึ่งมาให้โยมฟัง เพราะว่าโยมอาจจะไม่เคยได้ยินก็ได้ความหมายของกฐินในแง่ของความหมายที่ว่าแข็ง แล้วก็แข็งตั้งแต่พระอาทิตย์ แข็งคือแสงจ้ามาจนกระทั่งถึงแข็งเพราะว่ามั่นคงหนักแน่นบรรจุไว้ซึ่งคุณสมบัติต่าง ๆ ทั้ง 5 ประการและก็โยมก็พยายามทำให้ได้ 3 ชุดที่กล่าวมานี้กฐินก็จะเกิดอานิสงส์มั่นคงยั่งยืนอย่างแน่นอน เราทำบุญกฐินนี้เราได้อานิสงส์ของการทำบุญโดยทั่วไปแล้วต้องได้อานิสงส์พิเศษของกฐินโดยเฉพาะอีกด้วย ถ้าได้ทั้งสองประการนี้ก็บริบูรณ์
สำหรับวันนี้อาตมาภาพขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่งในการที่ท่านประธานกรรมการธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด มหาชน ชื่อ คุณประมล สุธีวงศ์ พร้อมด้วยบริษัท บีที ทั้งบีทีประกันภัย ทั้งหลักทรัพย์ บีทีทั้งบีที ที่ปรึกษาธุรกิจนี่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าได้ร่วมศรัทธาก็ร่วมศรัทธา ก็หมายถึงร่วมสามัคคีด้วยนั่นแหละได้มาทำบุญทอดกฐิน มาทำบุญทอดกฐินแล้วก็ไม่ใช่เฉพาะเจ้าภาพเท่านั้น ญาติโยมสาธุชนชาวพุทธทั้งหลายพอได้ทราบว่าเจ้าภาพมีจิตศรัทธาทำบุญทอดกฐินทุกท่านก็พลอยอนุโมทนา พลอยปราบปลื้มยินดีไปด้วยก็เหมือนกับว่ามาอวยชัยให้พรแสดงไมตรีจิตมิตรภาพก็ด้วยมีศรัทธาร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระศาสนา เพราะฉะนั้นก็ขอให้ท่านเจ้าภาพได้มีความปลื้มปิติว่าเราได้ทำบุญวันนี้ก็ได้รับความร่วมใจทุกคนก็พลอยยินดีด้วย เพราะว่าเป็นการที่ได้มาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาช่วยให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงต่อไป เพื่อว่าพระศาสนานั้นจะได้เผยแผ่ความดีงามหลักธรรมคำสอนออกไป เพื่อให้ประชาชนได้ตั้งมั่นอยู่ในความดีงามประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วสังคมก็จะได้ร่มเย็นเป็นสุขดั่งที่ท่านได้กล่าวว่า พระศาสนานี้ดำรงอยู่มั่นคงยั่งยืนก็เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก อันนี้คือวัตถุประสงค์ของพุทธศาสนา ขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง วัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนานั้นมี 2 ระดับเหมือนกันคือ 1 ระดับบุคคล 2 ระดับโลก ระดับบุคคลก็คือนิพพาน แล้วเมื่อบุคคลนิพพานก็จะสามารถมาบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกได้เต็มที่ เพราะอะไรเพราะนิพพานก็คือว่า ดับความรู้สึกเป็นต้น ในเรื่องตัวตนจะต้องหาโน่นหานี่มาบำรุงบำเรอเป็นต้น เพราะตัวเองนั้นเต็มอิ่มไปแล้ว เต็มอิ่มบริบูรณ์ไปแล้วแม้แต่ความสุขก็มีอยู่ในตัว เมื่อมีความสุขในตัวเต็มบริบูรณ์ก็เลยเลิกหาความสุขก็คนมีความสุขอยู่ในตัวแล้วจะไปหาความสุขทำไม นี้คนโดยมากจะต้องหาความสุข เพราะว่าไม่ค่อยจะมีความสุข นี้พอเป็นพระอรหันต์ก็นิพพานดับทุกข์หมดมีแต่สุขอย่างเดียว สุขมีอยู่ในตัวเป็นคุณสมบัติประจำตัวเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าตรัสกับพระองค์จะนั่งจะนอนจะอยู่ที่ไหนก็เป็นสุขตลอดเวลา เมื่อเป็นสุขตลอดเวลาก็เลยไม่มีตัวตนที่จะต้องมาบำรุงบำเรอมาหาอะไรให้แล้วก็เรียกว่านิพพานก็คือหมดแล้วเรื่องตัวตน พอบุคคลหมดนิพพานแล้วนี้ก็อยู่เพื่อโลกแล้ว เพราะฉะนั้นพระพทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายก็บำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาก็มีวัตถุประสงค์ 2 อย่างนี้คือ 1 ให้บุคคลนิพพานแล้วจะได้ทำการประโยชน์สุขเพื่อแก่โลก ในระหว่างนั้นในระหว่างฝึกก็แม้จะพยายามทำตนให้นิพพานดับทุกข์แก่ตนเองก็ขวนขวายในการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นไป และการขวนขวายทำประโยชน์แก่ผู้อื่นก็เป็นการฝึกตนเองเป็นการดับทุกข์ของตนเองไปด้วยเพราะการทำดีแก่ผู้อื่นตั้งแต่ทานเป็นต้นไปนี่ นี้ก็เป็นการที่ว่ามาพัฒนาตนเองทำความดีให้แก่ตน ด้วยการทำให้แก่ผู้อื่นพัฒนาตนไปด้วยทำให้เพื่อผู้อื่นไปด้วย จนกระทั่งพอถึงสุดท้ายแล้วก็ไม่มีตัวตนที่จะต้องมาบำรุงบำเรอ หรือแม้แต่จะมาพัฒนาแล้ว ต่อไปนี้ก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียวอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าอยู่เพื่อโลก ฉะนั้นคติพุทธศาสนาครอบคลุมหมดพระพุทธเจ้าก็ตรัสย้ำเสมอบอกว่า พะหูชะนะหิตายะ พะหูสุขายะ โลกานุกัมปายะ ว่าพระศาสนานี้หรือพระพุทธเจ้าอุบัติมาหรืออะไรก็ตามนี้ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณต่อชาวโลก วันนี้ที่ทางคณะเจ้าภาพได้มาทำบุญถวายผ้ากฐินก็เป็นการอนุวัติตามพุทธคติดังได้กล่าวมาอย่างน้อยก็ได้มาสนับสนุนพระสงฆ์ให้ท่านมีกำลังที่จะได้ศึกษาเล่าเรียนรู้ธรรมแล้วไปเผยแผ่ธรรมะเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกต่อไป เมื่อมองในแง่นี้แล้วโยมก็จะเห็นว่า อ้อที่เราได้ทำบุญนี้ก็คือได้ดำรงพระศาสนาด้วยแล้วก็ทำประโยชน์สุขแก่ชาวโลกไปพร้อมกัน บุญที่ได้ทำวันนี้ก็ได้ทั้งทานก็คือในด้านการให้การบริจาคการเผื่อแผ่ถวายกำลังแก่พระสงฆ์อย่างที่กล่าวแล้ว นี่พระสงฆ์ได้รับทานของถวายปัจจัย 4 แล้วก็มีกำลังที่จะบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกเล่าเรียนศึกษาธรรมะเผยแผ่สั่งสอนอย่างที่กล่าวมา อันนี้ก็เป็นเรื่องของทาน แล้วต่อไปศีลก็คือญาติโยมได้มาทำบุญนี้ก็ได้บุญจากศีลด้วย ได้บุญจากศีลก็คือการสำรวมกายวาจาเว้นจากการเบียดเบียนอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีมีระเบียบวินัย ช่วยสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งความเป็นระเบียบดีงามของสังคม ทำให้สังคมของเรานี่มีความงดงามอยู่ต่อไป การสืบต่อวัฒนธรรมประเพณีการรักษาสังคมให้อยู่ในระเบียบเรียบร้อยในครรลองที่ดีงามตลอดจนกระทั่งให้สังคมเรียบร้อยในเรื่องอยู่มีจิตใจโน้มเอียงไปในทางทีดีอย่างนี้ก็ทำให้ไม่เบียดเบียนกัน หรือเบียดเบียนกันน้อยลง หรือมีเครื่องเตือนสติยั้งไว้บ้างก็เป็นเรื่องของบุญที่เกิดจากศีล แล้วก็ต่อไปบุญที่เกิดจากภาวนาอนิสงส์ก็คือการที่ว่า โยมได้ทำบุญแล้วทำบุญด้วยความเข้าใจถูกต้องก็ความปลาบปลื้มใจอย่างที่กล่าวแล้วว่า ได้ทำนุบำรุงพระศาสนาบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาวโลกอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่ใจคอก็มีความปลื้มใจมีความปิติมีความสุขอย่างนี้เรียกว่าด้านจิตใจก็ดี หรือมาทำบุญนี้มีศรัทธามีเมตตามีไมตรีต่อกันจิตใจโน้มไปสู่ความสงบมีความผ่องใสไม่ขุ่นมัวเศร้าหมองนี่เป็นบุญที่เกิดจากภาวนา ก็สุดท้ายภาวนาอีกด้านก็คือปัญญาแล้วก็ได้เรียนรู้ได้เข้าใจคำสอนหลักพระศาสนา อย่างเรื่องความหมายของกฐินเป็นต้น แล้วการที่ว่าจะนำกฐินไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริงอย่างไร โยมได้อย่างนี้ก็ได้อนิสงส์จากภาวนาก็เป็นด้านปัญญาภาวนาก็ครบถ้วนบริบูรณ์ ก็ขอให้โยมญาติมิตรเริ่มตั้งแต่ท่านเจ้าภาพเป็นต้นไป ได้รับอนิสงส์ของกฐินทั้งอนิสงส์จำเพาะของกฐินไปรวมเข้ากับอนิสงส์ทั่วไปที่เป็นพื้นฐานของการทำบุญ ก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่งในโอกาสนี้ ระตนัตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัยพร้อมทั้งบุญกุศล คือทอดกฐินอันเป็นสังฆทานและกรานทานในโอกาสนี้จงเป็นพละปัจจัยคือปัจจัยมีกำลังเกื้อหนุนให้ท่านเจ้าภาพมีคุณ ประมล สุธีวงศ์ ประธานกรรมการ ไทยธนาคาร พร้อมทั้งชาวบริษัทที่เป็นบริษัทลูกทั้งหมดและญาติมิตรสาธุชนทั้งหลายตลอดกว้างขวางออกไปทั้งคนไทยทั่วสังคมประเทศชาติแม้แต่ชาวโลกทั้งหมดจงเจริญงอกงามด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคีที่จะได้ดำเนินชีวิตและกิจการทั้งหลายให้ก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จด้วยดี แลจงมีความพรั่งพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัยคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณคุณสาระสมบัติทุกประการจงมีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่านตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ