แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนทุกท่านวันนี้ก็อยู่ระหว่างงานวัดคืองานฝังลูกนิมิตผูกสีมาที่วัดญาณเวศกวัน
ซึ่งมีระยะเวลาค่อนข้างยาวหน่อย ถึง 9 วัน ญาติโยมก็ได้มาร่วมกันทำบุญ การทำบุญฝังลูกนิมิตผูกสีมาเป็นที่นิยมในประเพณีไทยมาก โดยเฉพาะการที่ได้มาปิดทองลูกนิมิต ทีนี้ตัวงานหลักก็อยู่ที่นั่น วันนี้ก็มีงานแทรกเข้ามา คือที่ประกาศกันเมื่อกี้ เกี่ยวข้องกับวันเกิดของอาตมาภาพ ความจริงนั้นไม่มีงานวันเกิดด้วยซ้ำ แล้วที่เป็นบอกปฐกถานี่ก็อาจจะเข้าใจกันคลาดเคลื่อนไปนิดหน่อย ความจริงเป็นเรื่องสลายๆ คือว่าในปีที่ผ่านๆ มา พอถึงวันที่ 12 มกราคม ญาติโยมที่มาวัดอุปถัมภ์เป็นประจำ ซึ่งก็มาอยู่แล้ว แล้วก็มีการเลี้ยงพระตลอดปี พอถึงวันที่ 12 ก็ถือโอกาสว่าทำบุญเลี้ยงเป็นพิเศษขึ้นหน่อยหนึ่ง ก็อาจจะนิมนต์พระมาสวดมนต์ โดยมากก็นิมนต์พระในวัดนี่แหละสวดมนต์แล้วก็เลี้ยงพระกัน เสร็จแล้วก็กล่าวอนุโมทนาแก่ญาติโยมที่มาทำบุญให้ ปีนี้ตอนแรกโยมก็กำหนดกันว่าให้มีงานฝังลูกนิมิตผูกสีมา แล้วกำหนดให้วันฝังลูกนิมิตผูกสีมาซึ่งเป็นตัวพิธีแท้ ที่อยู่ในวันที่ 12 เป็นวันสุดท้าย กำหนดไว้แล้วอาตมาก็เลยขอเปลี่ยน ขออย่าให้มาลงที่วันเกิดเลย เดี๋ยวก็จะเป็นการให้ความสำคัญวันเกิดมากไป ก็เลื่อนเป็นวันที่ 14 จะให้พ้นเกี่ยวกับเรื่องวันเกิด ญาติโยมก็เลยบอกว่าขอให้มีการเจริญพุทธมนต์ ก็ใช้วิธีว่าไม่ต้องนิมนต์พระเป็นพิเศษ พระที่มีอยู่ เช่นในวัดก็นิมนต์สวดมนต์ ฉันเพล ตามปกติ ทีนี้เมื่อมีการทำบุญอย่างนั้นแล้วเสร็จไปในตอนเช้า ก็จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่กล่าวอนุโมทนา ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการกล่าว สัมโมทนียกถา เพราะฉะนั้นก็อย่าให้ถือเป็นเรื่องปฐกถาอะไรเลย ก็จะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนักเกินไป ทีนี้ในเมื่อโยมให้โอกาส ให้วันนี้ทำบุญโดยปรารภตัวอาตมา ก็เท่ากับให้โอกาสกับส่วนตัว ก็เลยจะขอโอกาสพูดเรื่องส่วนตัวนิดหน่อย ก็ไม่มีอะไรมาก เป็นการทำความเข้าใจกัน แล้วก็เป็นการชี้แจงในการขออภัยไปด้วย ในตอนงานฝังลูกนิมิตผูกสีมานี้ก็ดี ก่อนหน้านี้ก็ดี ญาติโยมมาแล้วไม่ค่อยได้พบอาตมา ที่พูดตรงนี้แหละที่ต้องขออภัย คือไม่ได้มีความรังเกียจ หรือไม่อยากพบญาติโยม แต่ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ทีนี้หลายท่านก็สงสัยว่าที่ว่าปัญหาสุขภาพนั้นเป็นอย่างไร ก็ถือโอกาสทำความเข้าใจกัน คือโยมก็จะได้ปฏิบัติกับอาตมาได้ถูกต้อง อาตมาก็ปฏิบัติได้สบายใจขึ้น เมื่อออกมาพบกับญาติโยมนี่ก็เป็นธรรมดา จะต้องมีการทักทายกัน เมื่อทักทายหลายๆ ท่าน อาตมาจะมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือหลังจากนั้นจะเจ็บระบบหน้าอก ซึ่งเป็นมานานแล้ว อันนี้ก็อาจจะเป็นด้วยความบกพร่องของหลอดลม ซึ่งคุณหมอก็บอกว่า หลอดลมค่อนข้างตีบ แล้วก็มีความไวต่ออาการแพ้มาก ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าโดยไม่รู้ตัว เวลาพูดนี่ต้องใช้กำลังในการผลักดันเสียงออกมา เพราะฉะนั้นหลังจากนั้นไปแล้ว อย่างมาพูดกัน พบหลายๆ คนนี่ พอเย็นค่ำหรือวันรุ่งขึ้นก็จะเจ็บระบบหน้าอก ตลอดพรรษาที่ผ่านมานี้ แทบไม่มีเวลาที่ปราศจากหรือปลอดจากอาการเจ็บหน้าอก คือเป็นเกือบตลอด 5,6,7 เดือน ก็เป็นเรื่อย พอจะหายได้ 2 วัน ก็เป็นอีก แต่ว่าเมื่อพบกับโยมก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทักทาย แล้วก็ถือเป็นหลักว่าต้องทักทายให้รู้เรื่องได้สบายใจกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำความเข้าใจไว้ ทีนี้ประการที่สอง ก็คือเรื่องการพูด โดยเฉพาะเมื่อพูดเอาจริงเอาจัง เป็นงานเป็นการ แม้แต่ตอบปัญหาธรรมะกับญาติโยม ถ้าตั้งใจตอยจะต้องใช้กำลังมาก เพราะอย่างที่บอกเมื่อกี้ต้องใช้กำลังในการผลักดันเสียง อาตมาก็จะใช้ความดันเลือดสูง เพื่อจะให้มีกำลัง เมื่อพูดด้วยความตั้งใจไปสักครู่นี่ ก็จะมีกำลังขึ้นมา หมอก็มาวัดดู ในเวลาที่พูดนั้น ความดันก็อยู่ระดับ 192 ชีพจรก็อยู่ระดับ 120-140 คุรหมอก็บอกว่า ถ้าพูดยาวๆ ความดันสูง 190-200 ตลอดเวลา 2-3 ชั่วโมงนี่ ไม่ปลอดภัย คุณหมอก็ไม่ค่อยอยากให้เสี่ยง แต่มันก็เป็นธรรมดาของอาตมา จะมีแรงก็เมื่อความดันขึ้นมา พอความดันขึ้น 190-200 ก็มีแรง เสียงก็ดัง แล้วความเพลียก็หายไปหมด ก็ดีสำหรับอาตมา แต่คุณหมอเคยบอกว่าท่านสบายแต่หมอไม่สบาย คือหมอไม่สบายใจ อันนี้ก็เอามาเล่าให้ญาติโยมฟัง เพื่อความเข้าใจกัน ทีนี้สำหรับสัมโมทนียกถาหรือการกล่าวอนุโมทนาญาติโยมในวันนี้ ไปขอเท้าความเรื่องวันถอนสีมา วันที่ 19 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว วันนั้นตอนจบอาตมาได้พูดอนุโมทนาญาติโยมแล้วก็บอกเขาว่าเมื่อถึงตอนพิธีจริงตอนผูกสีมา คือถอนสีมาแล้วก็ผูกสีมา ทีนี้งานผูกสีมาก็เป็นจุดสำคัญสุดยอดของงานนี้ ซึ่งจะมาถึงในวันที่ 14 เมื่อพูดถึงเรื่องถอนสีมาแล้วก็จะต้องพูดถึงเรื่องการผูกสีมา ซึ่งเรียกว่าสมมติสีมา ก็ควรจะพูดในวันสุดท้ายนั่นแหละ แต่คิดว่าวันสุดท้ายคือวันที่ 14 มีกิจกรรมมาก จะหาโอกาสพูดได้ยาก ก็จึงจะถือโอกาสนำเรื่องสมมติสีมามาพูดในวันนี้ แต่ก็บังเอิญอีกแหละ มีเรื่องแทรกเข้ามา ก็ทำให้ต้องขอพูดเรื่องแทรกนิดหน่อยก่อน เรื่องแทรกนี่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลเหตุการณ์ความเป็นไป ซึ่งเพียงให้ญาติโยมได้ทราบไว้ เป็นการรู้เท่าทันว่าอะไรเกิดขึ้น ไม่ให้ถือเป็นเรื่องสำคัญนัก เดี๋ยวโยมจะบอกว่าเอาเรื่องอะไรที่ไม่น่าสบายใจมาพูดในวันนี้ด้วย ก็อย่าให้ถือเป็นเรื่องไม่สบายใจ ก็ถือเป็นเรื่องที่ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราก็ควรรู้เท่าทัน หรือรู้ว่ามีอะไร จะได้ไม่เข้าใจผิด ก็ขอเล่าแทรกอย่างที่บอกเมื่อกี้นิด ว่าเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม ปีที่แล้ว ก็คือวันส่งปีเก่า จะต้อนรับปีใหม่ ผู้คนไปพบเอกสารโจมตีวางอยู่ตามจุดต่างๆ ในบริเวณพุทธมณฑล เอกสารนี้ก็เป็นเอกสารเก่า ซึ่งเคยพิมพ์เป็นเล่ม นี่ที่แจกก็เคยพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ คือหนังสือเรื่องพุทธศาสนาชะตาของชาติ ฉบับคัดย่อ หนังสือชุดนี้ก็เขียนโดยคนที่ใช้ชื่อว่า ดร.เบญจ์ บาระกุล ซึ่งได้ออกมาหลายเล่มแล้ว ตั้งแต่ปีก่อนโน้นมาถึงเวลานี้ก็ปีกว่า ก็แจกเรื่อยมาก็เป็นหนังสือที่แสดงความไม่พอใจกรณีหนังสือธรรมกาย แล้วก็เล่าเรื่อง ต้องขออภัยต้องใช้คำว่าใส่ความป้ายสีอาตมาอย่างหนัก โจมีตีมากมาย ทีนี้หนังสือนี้ทางตำรวจก็ได้ตั้งกรรมการพิจารณาสอบสวนสืบสวน แล้วก็ประกาศให้เป็นหนังสือต้องห้าม ว่าให้ตำรวจยึด หมายความว่าห้ามเผยแพร่ด้วย แล้วก็เมื่อพบที่ใดก็ให้ยึด แต่ว่าเมื่อวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็ยังมีการเผยแพร่อย่างนี้ อาตมาก็เลยคิดว่าควรจะได้ทำเรื่องข่าวสารข้อมูลให้ชัดเจน คือเราไม่ไปทำอะไรหรอก เพียงแต่ว่าต้องการความชัดเจน เพราะว่าผู้เขียนชื่อดร.เบญจ์ บาระกุล แล้วก็มีผู้สนับสนุนที่เป็นผู้เผนแพร่ ชื่อพันเอกบรรจง ไชยลังกา เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ตอนนี้ก็ได้ทราบว่าย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ทีนี้พันเอกบรรจง ไชยลังกา นี้ ก็ใช้ตำแหน่งในการรับรองหนังสือและเผยแพร่หนังสือนี้ว่าเป็นประธานชมรมพุทธ 3 เหล่าทัพ ความจริงก็ได้ทราบมาพอสมควรว่าเป็นชมรมที่ไม่มีจริง แต่การที่จะปล่อยให้คุณบรรจงเผยแพร่อย่างนี้โดยที่ประชาชนไม่รู้ ไม่มีความชัดเจนว่าเขาเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงเนี่ย มันไม่ถูกต้อง เราก็ควรจะอยู่ในสังคมที่ใสสว่าง อาตมาก็เลยทำหนังสือไปถึงผู้บัญชาการสูงสุด ไม่ได้ทำอะไรหรอก ไม่ได้ต้องการเอาโทษเอาทัณฑ์ แต่ว่าต้องการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็เลยถือโอกาสมาอ่านให้ญาติโยมฟังด้วย หนังสือก็ออกจากวัดญาณเวศกวัน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2544 เรื่อง ขอความร่วมมือตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการอ้างสถาบันกองทัพไทย กระทำการที่เป็นภัยต่อวัด ต่อพุทธศาสนาและต่อสังคมไทย เจริญพรผู้บัญชาการทหารสูงสุด สิ่งที่ส่งมาด้วย หนังสือพระพุทธศาสนาชะตาของชาติ ฉบับคัดย่อ 1 ฉบับ ด้วยในวันที่ 31 ธันวาคม 2543 ต่อวันขึ้นปีใหม่ 2544 ได้มีการเผนแพร่หนังสือพระพุทธศาสนาชะตาของชาติ (ฉบับคัดย่อ) โดยวางแจกหลายจุดในบริเวณพุทธมณฑลและข้างเคียง เจ้าหน้าที่ผู้บังเอิญไปพบ ได้นำถวายตัวอย่างดังส่งมาด้วยนี้ หนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารเท็จ ในชุดที่มีการเผยแพร่ต่อเนื่องมานานเกิน 1 ปีแล้ว ผู้แต่งใช้ชื่อว่าดร.เบญจ์ บาระกุล แล้วพิมพ์เผยแพร่โดยพันเอกบรรจง ไชยลังกา (บางทีใช้พันเอกบรรจง ไชยลังการ) โดยใช้ตำแหน่งประธานชมรมชาวพุทธ 3 เหล่าทัพ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวเป็นความเท็จที่ก่อความเสียหายต่อวัดญาณเวศกวัน อันเป็นนิติบุคคล ซึ่งปฏิบัติศาสนกิจเกี่ยวกับประโยชน์สุขของประชาชน และหากชักจูงให้คนหลงเชื่อสำเร็จ จะก่อผลทำลายพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะบุคคลผู้รับรองหนังสือนี้ให้ดำเนินการเผยแพร่ เป็นนายทหารสัญญาบัตร และอ้างสถานะองค์กรที่โยงกองทัพกับสถาบันพุทธศาสนา ชื่อว่า ชมรมชาวพุทธ 3 เหล่าทัพ อาตมาภาพในฐานะเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน และในนามของพุทธบริษัทผู้มีหน้าที่ดำรงรักษาพุทธศาสนา จึงเจริญพรมาขอความร่วมมือจากท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาความจริง พร้อมทั้งร่วมมือกันแก้ปัญหา เกี่ยวกับกรณีทุจริตครั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชการทหาร และสถาบันกองทัพไทยดังนี้ หนึ่ง-ชมรมชาวพุทธ 3 เหล่าทัพ ตั้งขึ้นหรือยอมรับเป็นทางการโดยราชการทหารหรือกองทัพไทยหรือไม่ สอง - ถ้าชมรมชาวพุทธ 3 เหล่าทัพ เป็นองค์กร หน่วยงาน หรือกิจกรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับเป็นทางการ พันเอกบรรจง ไชยลังกา หรือ ไชยลังการ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานมรมชาวพุทธ 3 เหล่าทัพนั้น จริงหรือไม่ สาม- แม้ว่าปฏิบัติการของพันเอกบรรจง ไชยลังกา ทั้งนี้วิญญูชนย่อมรู้ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและพุทธศาสนา และมองได้ว่านายทหารผู้นี้ได้ใช้เกียรติภูมิกองทัพไทยเป็นฐานอ้างอิง เพื่อเชิดชูการเท็จทุจริตของตน ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ แต่โดยฐานะพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ประสงค์ให้เป็นโทษแก่ผู้ทำร้าย เพียงแต่ขอความร่วมมือว่าทางรายการทหารจะมีวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด หรือมีหน่วยงานใดของกองทัพที่จะร่วมรับผิดชอบ ในการทำความจริงให้ประจักษ์ หรือร่วมมือเผยแพร่ความจริง เพื่อป้องกันแก้ไข ไม่ให้กรณีนี้ก่อผลเป็นภัยต่อชาติและพระศาสนาสืบต่อไป ในนามวัดและพุทธบริษัท อาตมาภาพหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในกิจส่วนรวม เพื่อความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา ความมั่นคงของประเทศชาติ และประโยชน์สุขของประชาชน พร้อมทั้งขออนุโมทนา ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่ง ขอเจริญพร พระธรรมปิฎก วัดญาณเวศกวัน อันนี้ก็เป็นจดหมายไปถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ตอนนี้ก็รอคำตอบจากท่านอยู่ ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ ก็ได้ทราบมานานแล้วว่า เป็นชมรมที่ไม่มีจริง แต่ก็อยากจะให้ทางราชการทหารได้ตอบให้เป็นหลักเป็นฐาน คือสังคมของเรานี่ควรจะมีความชัดเจน การที่อาตมาอ่านให้โยมฟังก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ คือให้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นอะไรเป็นไป แล้วในแง่หนึ่งโยมก็จะได้ทราบบ้านเมืองของเราด้วยว่าเป็นอย่างไร ทีนี้การที่จะปล่อยทิ้งไว้ ก็ปล่อยได้ ก็ถือว่าอดทน แต่ว่าจะกลายเป็นอดทนที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา คือกลายเป็นว่าปล่อยปละละเลย คือปล่อยมันมีปล่อย 2 อย่าง ปล่อยวางต้องปล่อยวางด้วยปัญญา ทางจิตใจไม่ยึดติดถือมั่น แต่ปล่อยปละละเลยนี่เป็นความประมาท ฉะนั้นอะไรที่ควรทำให้เข้าใจรู้กันชัดเจนแจ่มแจ้งก็ทำ ไม่ได้หมายความว่าจะไปเอาโทษเอาทัณฑ์ ก็ได้ตั้งหัวข้อเรื่องให้โยมชัดแล้วว่า ให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็คือมุ่งให้รู้ความจริงกัน ไม่ใช่ปล่อยไว้คลุมๆ เครือๆ คุณคนนี้แกก็จะไปเที่ยวอ้างว่าแกเป็นประธานชมรมพุทธ 3 เหล่าทัพ แล้วแกก็ไปทำอะไรต่ออะไรของแก ชาวบ้านก็นึกว่าเป็นความจริง จริงอยู่บางทีอาจจะเป็นได้ว่าใครๆ ก็อาจจะตั้งขึ้นมาก็ได้ อยู่ในกองทัพ ตั้งเป็นชมรมส่วนตัว แต่ถึงอย่างนั้นทางราชการก็ควรจะบอกให้ทราบว่าอันนี้ไม่ใช่ของทางการนะ คือบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาก็บอกมา อันนี้อาตมาก็เอามาเล่าให้โยมฟังเป็นเรื่องแทรกเพื่อความรู้เท่าทันข่าวสารข้อมูล ความจริงก็บอกแล้วเมื่อกี้บอกว่าเรื่องนี้ก็เกิดมานาน เขามีความไม่พอใจ แค้นกรณีหนังสือธรรมกายนี้มาก แต่ก็อยากจะให้มาพูดกัน ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักด้วยความจริง เพราะว่าเราต้องทำนี่เพื่อรักษาพระศาสนา ถ้าเราทำไม่ถูกต้องยังไงก็มาพูดกันได้ ความจริงระหว่างนี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่ได้มีทั้งหนังสืออย่างนี้ออกมา แล้วก็มีใบปลิว ก็เลยถือโอกาส ไหนๆ พูดแล้ว ก็เล่าให้ญาติโยมฟังอีกนิดหนึ่ง จะได้มีความชัดเจน อย่างเรื่องหนังสือเนี่ย เขาออกมาหลายเล่มแล้ว เช่นบอกว่าอาตมานี่เป็นคอมมิวนิสต์ ว่างั้น ได้รับทุนจากคอมมิวนิสต์มา แล้วก็ได้รับทุนจากศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกมาทำลายพุทธศาสนา อันหนึ่งที่ว่าอ้างตอนต้นๆ เล่มหนึ่งบอกว่าเมื่อปี 2515 พระธรรมปิฏกเนี่ย ได้รับทุนจากองค์กรที่เขาบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เขาบอกในทำนองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โครงการหนึ่งเดินทางไปประชุมในต่างประเทศหรือในอเมริกา เขาบอกแต่ในต่างประเทศ ที่จริงปี 2515 เป็นปีแรกที่อาตมาเดินทางไปทางเมืองตะวันตก ก็คือไปอเมริกา ก็ไปกับเจ้าพระคุณสมเด็จวัดสระเกศ ที่ไปด้วยกันตอนนั้นก็เพราะว่า เจ้าพระคุณสมเด็จวัดสระเกศองค์ปัจจุบันนี้ ท่านเป็นเลขาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อาตมาก็เป็นผู้ช่วยเลขาธิการหรือเป็นรองเลขาธิการ จำไม่ได้แล้ว ทีนี้ทางประเทศอเมริกา รัฐบาลอเมริกัน สมัยนั้นเขากำลังรบอยู่ในเวียดนาม ตามที่พอทราบนี่รัฐบาลอเมริกันก็พยายามค่อนข้างมาก อยากให้คนในประเทศใกล้เคียงเวียดนาม มีทัศนะไปในทางโน้มเอียงไปทางพอใจประเทศอเมริกา จะเรียกว่าเอาอกเอาใจบ้างก็ได้ ปีนั้นเขาก็นิมนต์เลขาธิการ แล้วอาตมาก็เป็นผู้ช่วยเลขาธิการไปอเมริกา ไปแล้วเขาก็จัดคนๆ หนึ่ง ตอนสมัยรัฐบาลจอห์น เอฟ เคเนดี้ นั้น คือก่อนหน้านั้นนะ เขามีโครงการ peace for volunteer อาสาสมัครสันติภาพ ทีนี้ก็มีหนุ่มๆ สาวๆ อเมริกันมาช่วยเหลือ มาสอนภาษาอังกฤษ มาทำงานพัฒนาชนบทอะไรในประเทศไทยนี้เยอะ คนที่มาก็พูดไทยกันได้ดี แล้วกลับไปแล้วก็ไปอยู่ในประเทศอเมริกา เพราะพอไปที่โน่น ทางรัฐบาลอเมริกันเขาก็จัดคนที่เคยเป็น peace for volunteer หรืออาสาสมัครสันติภาพให้เราคนหนึ่ง ชื่อคุณไมค์ แกก็เป็นผู้ติดตาม ขับรถให้ จัดเป็นไวยาวัจกรให้ เดินทางในอเมริกาตลอด เราก็เลือกไปว่าเราขอไปดูมหาวิทยาลัยที่สอนพระพุทธศาสนา และเรื่อง south east asian study คือเรื่องที่เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถวประเทศเหล่านี้ เพราะตอนนั้นในประเทศอเมริกาเขาจะตั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น ??? อินลินอยด์ อะไรพวกนี้ จะตั้งพวกโครงการหรือศูนย์ พวกเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา ในเอเชียอาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กันมาก เราก็เลยว่าเรามีโอกาสแล้วเราก็ไปดูซะ ก็ไปเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยเหล่านี้ อันนั้นเป็นเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2515 นี่เขากล่าวหา เขาไปบิดเบือนซะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วตอนนั้นที่อาตมาไป นอกจากว่าไปเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเพนซีวาเนียอยู่ 1 เดือน นั่นเป็นโครงการพิเศษเขา อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านไป ก็กลายเป็นว่าที่เขากล่าวหานี่ก็เท่ากับกล่าวหาสมเด็จวัดสระเกศไปด้วย ต่อมาเราพูดกันไปเขาคงได้ยิน พอเขาพิมพ์เล่มเล็กๆ เขาก็ตัดเรื่องนี้ออก ทีนี้ก็มีใบปลิวบ้างอะไรบ้าง เพราะหนังสือนี้ถูกสั่งห้าม ก็มีใบปลิวเรื่อยแหละ กระทั่งเดี๋ยวนี้ยังมี ครึ่งเดือนบ้างอะไรบ้าง มีมา เช่นบางฉบับก็บอกว่าพระธรรมปิฎกเป็นโรคไมเกรน อาตมายังไม่รู้จักเลยว่าโรคไมเกรนมันเป็นยังไง ก็ไม่เคยเป็น ได้ยินแต่ญาติโยมบางท่านที่เป็น เล่าให้ฟัง หรือไม่งั้นก็อ่านจากตำรับตำรา บ้างก็มีบอกว่าพระธรรมปิฎกได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บริหารพุทธมณฑล แล้วบริหารล้มเหลว อันนี้วัดนี้อยู่ใกล้พุทธมณฑลพอดี พูดกันว่าอยู่ด้านหลังพุทธมณฑล บางทีเขาเข้าใจผิดว่าอยู่ข้างหลังหรือส่วนหลังของพุทธมณฑล จะเป็นในพุทธมณฑล นึกว่ามีส่วนในการบริหารรับผิดชอบพุทธมณฑล ที่จริงก็ไม่เกี่ยว เป็นวัดหนึ่งที่อยู่นอกพุทธมณฑล แต่ว่าใกล้หน่อยเท่านั้นเอง ก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไร หรือบางทีแกก็เขียนมา อย่างคราวที่แล้วก็บอกว่าวันหนึ่งพระธรรมปิฎกได้รับนิมนต์จากนายธรรมเกียรติ กันอริ คุณธรรมเกียรติ นี่ก็อยู่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ บอกว่าให้ไปฉัน เสร็จแล้วก็ไปทำผิดกฎหมายของคอมมิวนิสต์ขึ้น อะไรก็อยู่ใต้อาณัติคุณธรรมเกียรติตลอดมา อะไรทำนองนี้ คือสารพัดแหละ ก็มีเรื่องเรื่อย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คงจะมีต่อไปแหละ คือในรูปหนังสือบ้าง ใบปลิวเรื่อย เราจะอดทนมันก็อดทนได้ มันก็เป็นเรื่องของการจะถือว่าฝึก หรือเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมะก็แล้วแต่ แต่ก็อย่างที่กล่าวนั่นแหละ การอดทนก็ต้องทำด้วยปัญญา ในแง่ข่าวสารข้อมูลนี่ก็ให้ญาติโยมได้รับรู้กัน ก็จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรขึ้น อันนี้ก็เลยเหมือนกับว่ามาเล่าความเป็นไปในทางเหตุการณ์ให้ญาติโยมได้ฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องความอดทนก็เลยขอถือโอกาสพูดเพิ่มเติมนิดหน่อย ในแง่ธรรมะ ความอดทนคือขันติเนี่ย มีอย่างน้อย 2 แบบ คือตามปกตินี่เราเรียนกัน 3 แบบนะ โยมคงจำได้ ขันติ 3 แบบ ก็คือ หนึ่ง-อดทนต่อความลำบากตรากตรำในการทำการทำงาน เหนื่อยยากไม่ถอย กรำงานกรำแดดอะไรสู้ทั้งนั้น ทีนี้สอง-ก็เราอดทนต่อทุกขเวทนา เจ็บปวด เป็นเจ็บเป็นไข้ ก็ไม่ใช้โวยวายง่ายๆ มีความอดทน สาม-อดทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ เช่น อาการกิริยา ถ้อยคำพูดของผู้อื่นที่มากระทบกระเทือนจิตใจของเรา ก็อดทน แล้วก็เป็นเรื่องการอดทนที่พูดกันไว้ 3 แบบ ทีนี้มีการอดทนหมวดใหญ่ 2 ลักษณะ คืออดทนแบบผืนแผ่นดินอย่างหนึ่ง อดทนแบบผืนแผ่นดินนี่ก็พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบอย่างพระสารีบุตร พระสารีบุตรนี่ท่านเป็นพระอัครสาวก ต้องปฏิบัติศาสนกิจหนักมาก ทำทุกด้าน ก็มีคนที่ไม่ชอบใจท่านบ้าง เป็นธรรมดา บางคนก็มากล่าวว่าอะไรต่างๆ กระทบกระเทียบท่าน ท่านก็มีความอดทน พระพุทธเจ้าก็ตรัสเปรียบเทียบว่าพระสารีบุตรนี่ก็เหมือนกับผืนแผ่นดิน ที่มีความหนักแน่น ใครจะเอาสิ่งสกปรกมาเทมาราด ผืนแผ่นดินก็รองรับได้ จะเอาของดีงามของที่มีค่ามีราคา อย่างเอาเพชรเอาทองคำ เอาเงิน เอาขุมทองมาฝังในดิน แผ่นดินก็รับได้ ขออภัย จะขุดส้วมฝังแผ่นดินก็ได้ รับได้ รับได้ทั้งนั้น อันนี้ก็เป็นความอดทนหนักแน่นของผืนแผ่นดิน ทีนี้ความอดทนแบบนี้แบบอยู่นิ่ง รองรับ มีความอดทนอีกแบบหนึ่งคือแบบเดินไปข้างหน้า ฝ่าภัยอันตราย อันนี้ก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระองค์เองว่า อะหัง นาโควะ สังคาเม จาปาโต ปะติตัง สะรัง เป็นต้น อันนี้อยู่ในคาถาธรรมบท ที่บอกว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นเหมือนช้างศึก ออกสงครามแล้วมีแหลนหลาว ธนูเกาทัณฑ์ยิงรอบทิศ ตลอดทางก็ต้องฝ่าฝันอันตรายเหล่านี้ไป เพื่อทำหน้าที่ของตนเองให้สำเร็จ เหมือนพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน บางทีก็มีผู้กลั่นแกล้งทำร้าย พระองค์ก็ฝ่าไปในอันตรายเหล่านั้นด้วยความอดทน อดทนได้ ฝ่าฟันอันตรายไป เพื่อบรรลุจุดหมายที่เป็นธรรมะ ฉะนั้นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าก็มีความจำเป็นจะต้องอดทนในการที่จะทำงานการอย่างมีจุดหมาย ไม่ใช่ว่าอดทนไปเฉยๆ พอเรามีจุดหมายแล้วว่าเพื่อจะรักษาธรรม ก็ต้องทำงานทำการ มีภัยอันตรายอะไรมามันก็ต้องบุกฝ่าไป โดยที่ไม่ได้ทำร้ายอะไรต่ออะไรใครตอบ ถ้าเปรียบเทียบเรามองว่าทหารเนี่ยต้องมีความกล้าหาญ ธรรมดาทหารต้องมีความกล้าหาญ ถ้าทหารไม่มีความกล้าหาญ ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นทหาร แต่ในทำนองเดียวกันพระสงฆ์ก็มีหน้าที่ต้องรักษาธรรม ถ้าพระสงฆ์ไม่รักษาธรรม ก็เรียกไม่ได้ว่าเป็นพระสงฆ์ อันนี้ก็คล้ายๆ ว่าคุณสมบัติของทหารกับของพระเนี่ยคนละอย่าง ทหารนี่ต้องกล้าหาญ แต่พระก็รักษาธรรม แต่ความจริงแล้วจุดหมายอันเดียวกัน ทหารที่มีความกล้าหาญทำหน้าที่ของเขาในการศึกสงครามเป็นต้น อันนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อรักษาธรรมะ จุดยอดอยู่ที่นี่ เป้าหมายก็เพื่อรักษาความถูกต้อง ดำรงรักษาสังคมให้อยู่ในความดีงาม ในความสันติสุข จุดหมายสุดท้ายก็อันเดียวกันกับพระสงฆ์นั่นเอง ฉะนั้นไม่เฉพาะพระกับทหาร แต่ทุกคนก็จะมีจุดหมาย มีหน้าที่ในที่สุด อันเดียวกัน แล้วการรักษาธรรมะนี้ก็จะเป็นเครื่องตัดสินความกล้าหาญนั้นด้วย ว่าเป็นความกล้าหาญที่ชอบธรรมหรือไม่ ไม่ใช่สักแต่ว่ามีความกล้าหาญแล้วจะถูกต้อง ในทางธรรมะเนี่ย เราทราบกันดี พระที่เรียนหนังสือ พอเรียนธรรมบทประโยค 3 ก็เจอแล้ว คำบาลีว่า กากสูโร พูดเป็นไทยว่า กากสูร เป็นความกล้าแบบหนึ่ง เรียกว่ากล้าอย่างกา กล้าอย่างกาเป็นอย่างไร คือกล้าทำความชั่ว เพื่อเอาประโยชน์ให้แก่ตน ตัวเองมีผลประโยชน์ที่จะต้องทำแล้วกล้าทำเหมือนอย่างกาที่มาเกาะจับอยู่บนกิ่งไม้ หรือที่สูง คนก็อยู่นั่นแหละมันก็กล้ามาจับ มาคอยมองดูหาช่องเผลอ พอเผลอแป๊บหนึ่งมันลงมาเฉี่ยวโฉบเอาชิ้นเนื้อเป็นต้นไป อันนี้ท่านเรียกว่ากล้าแบบกา กากสูร ทีนี้มีกล้าอีกอย่างหนึ่ง คือท่านเรียกว่า สี-หะ-สู-ระ หรือ สี-หะ-สูร ก็แปลว่ากล้าอย่างราชสีห์ กล้าอย่างราชสีห์นี่ก็มีความกล้าที่แท้จริง คล้ายๆ กับคำว่า ทำ-มะ-สู-ระ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า กล้าโดยธรรม หรือกล้าเพื่อรักษาธรรม ทีนี้ลักษณะความกล้าของราชสีห์ กลับไปกลัวสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อะไรที่เป็นความชั่วความเสื่อมเสียหาย หรือเทียบเป็นรูปธรรมว่าความสกปรก ราชสีห์ก็ไม่กล้า ฉะนั้นเราก็ต้องแยกตวามกล้าหาญ ถ้าเป็นกล้าที่ถูกต้อง ต้องเป็นกล้าอย่างราชสีห์ ไม่ใช้กล้าแบบกา คือไม่เป็น กากสูร ให้เป็นสี-หะ-สู-ระ ก็เลยจะเล่านิทานชาดกประกอบให้ญาติโยมฟังนิดหนึ่ง มีชากดเรื่องหนึ่งเรื่องราชสีห์กลัวหมู เป็นยังไงราชสีห์ถึงกลัวหมู ในชาดกท่านเล่าไว้บอกว่า วันหนึ่งหมูตัวหนึ่งอ้วนพี แข็งแรง อันนี้ก็ต้องเป็นหมูป่าแล้ว อยู่ในป่า ก็ไปหากินอยู่ ขณะนั้นก็เหลือบไปเห็นราชสีห์ตัวหนึ่ง เดินทางผ่านมาใกล้ๆ ฝ่ายราชสีห์ก็เช่นเดียวกัน เดินมาสายตาก็เหลือบไปเห็นหมูเข้า ก็พอดีว่าราชสีห์นั้นได้กินอาหารมาใหม่ๆ กำลังอิ่ม แกก็เลยนึกว่าเจ้าหมูตัวนี้น่าจะเป็นอาหารของเราได้ในวันพรุ่งนี้ วันนี้เราต้องรีบหลบไปก่อน ถ้าไม่งั้นมันรู้ตัวเดี๋ยวจะกลัว ไม่มา ฉะนั้นราชสีห์ก็เลยหลบ ฝ่ายหมูนั้นเห็นราชสีห์หลบ ตอนแรกตกใจเห็นราชสีห์ พอเห็นราชสีห์หลบ ก็เลยนึกขึ้นมาว่าราชสีห์ตัวนี้กลัวเรา พอเห็นราชสีห์กลัว จะหลบ ก็เลยร้องท้าขึ้นมา บอกว่า นี่ท่านราชสีห์จะหลบไปไหนล่ะ เรามาลองกำลังกันสักตั้งเป็นไง ฝ่ายราชสีห์ก็มานึกว่าเจ้าหมูตัวนี้มันไม่นึกที่ตายของมัน แต่เอาล่ะ วันนี้เราก็อิ่ม อย่าเลย ก็บอกว่าเราขอไปก่อนเจ้าหมูก็ยิ่งได้ใจใหญ่ เจ้ากลัวอะไร มาเหอะ ราชสีห์ก็บอกว่าเอางี้ก็แล้วกัน อย่าเพิ่งเลยวันนี้ เอาไว้วันอื่นเถอะ เจ้าหมูก็คิดว่าเจ้าราชสีห์นี่หาทางหลบ หาข้ออ้าง เราต้องมากำหนดกันให้ชัดว่าเราจะมาสู้กันวันไหน ก็เลยตกลงกันว่าอีกสัปดาห์หนึ่ง บอกอีกสัปดาห์หนึ่งนะที่นี่ ขอให้ท่านมาพบกับข้าพเจ้า แล้วเรามาประลองกำลังกันดู แล้วราชสีห์ก็หลบไป ฝ่ายหมูตัวนี้ก็มีความภูมิใจมาก แกก็กลับไปที่พรรคพวก ที่ถิ่นของแก แกก็เที่ยวอวดใหญ่เลย วันนี้เราไปเจอราชสีห์ มันกลัวเรา เราเลยท้ามันว่าอีก 7 วันมาพบกัน จะประลองกำลัง ฝ่ายหมูผู้รู้ผู้แก่ผู้เฒ่าได้ยินแล้วก็พากันตกใจ เจ้าหมูตัวนี้จะพาพวกเราไปตายทั้งหมด พอเดี๋ยวมันติดใจรสเนื้อหมูแล้วมันก็คงตามหาพวกเรา พลอยย่อยยับไปด้วยกัน เจ้าหมูเหล่านี้ก็เลยเข้ามาบอกว่านี่แกมันจะหาที่ตาย พวกหมูผู้เฒ่าผู้รู้ก็มาพูดกันใหญ่ พูดกันไปกันมา เจ้าหมูตัวนี้เปลี่ยนเลย เปลี่ยนเป็นตกใจมาก ก็ตัวสั่นงันงก แล้วทำไงจะหาทางหลบได้ล่ะ แล้วถ้าเราไปหนีมัน มันก็ต้องค้นหาตัว ทีนี้พวกหมูผู้รู้ผู้เฒ่าก็เลยบอกวิธีการ บอกมีอยู่นะวิธีการ พวกมีประสบการณ์เขารู้ เขาบอกว่าเจ้าราชสีห์เนี่ยมันกลัวกลิ่นสกปรก ฉะนั้นเจ้าจงทำอย่างนี้ ในระหว่าง 7 วันนี้ เจ้าจงเอาตัวไปคลุกอุจจาระ ทุกวันๆ คลุกอุจจาระแล้วก็ตากให้แห้งชั้นหนึ่ง แล้วก็ไปคลุกใหม่อีกชั้นหนึ่ง อย่างนี้ 7 วัน ให้ได้หลายๆ ชั้น พอถึงเวลาที่จะไปที่ประลองกำลังก็เอาตัวไปลงน้ำ ลงน้ำให้กลิ่นกระจายไปทั่วเลย แล้วก็ไปที่สนามประลอง เจ้าหมูก็ปฏิบัติตามนั้น พอครบวันที่ 7 หมูก็ตัวก็หนาไปด้วยอุจจาระที่คลุก ก็ไปลงน้ำ แล้วเดินไปที่จุดนัดพบ เขาบอกด้วยนะให้ไปยืนอยู่เหนือลม นี่พวกหมูผู้เฒ่าเขามีประสบการณ์มาก เขาก็แนะนำให้อย่างฉลาด ฝ่ายหมูเจ้านี่ก็อยู่ที่เหนือลมแล้ว เจ้าราชสีห์มา ได้กลิ่นแต่ไกลเลย ไม่ยอมเข้าใกล้ เจ้าราชสีห์ก็บอกมาแต่ไกล เอาแล้วไอ้เจ้าหมูตัวฉลาด ไอ้เจ้าหมูเหม็น ข้ายอมยกชัยชนะให้แก ว่าแล้วราชสีห์ก็ไป เจ้าหมูก็เลยรอดปลอดภัย อันนี้ก็เป็นเรื่องของความกล้าหาญ เราก็จะเห็นว่าเจ้าราชสีห์มันก็ไม่ได้กล้าหาญทุกสถานการณ์ อันนี้ก็เป็นคติ ไม่ได้เพียงเอามาเล่าเป็นสนุก แต่หมายความว่าความกล้าหาญนั้นจะต้องเป็นไปโดยชอบธรรม เพื่อรักษาธรรมะ ฉะนั้นคนที่มีธรรมะ คนที่กล้าหาญจริงๆ เนี่ย เขาจะหวาดกลัวต่อความทุจริตความชั่ว เหมือนกับราชสีห์ที่กลัวของเหม็นฉะนั้น นี่อาตมาก็เลยมาเล่าให้โยมฟังเป็นเรื่องที่ประดับความรู้ แล้วก็เป็นคติธรรมไปด้วย เมื่อพูดมาถึงเรื่องธรรมะกับความกล้าหาญซึ่งมีความมุ่งหมายที่กล่าวมานี้ ที่บอกว่าให้กล้าหาญเพื่อรักษาธรรมะ แล้วธรรมะนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อสังคมนั่นเอง ก็เพื่อให้สังคมอยู่ด้วยเ เราจึงต้องรักษาธรรมะไว้ จะพูดให้กว้างก็เพื่อชีวิตและสังคมก็ได้ แต่พูดง่ายๆ พูดกว้างๆ ก็คือเพื่อสังคมนี้ เรารักษาธรรมะไว้ก็เพื่อให้สังคมนี้อยู่ เมื่อพูดมาถึงธรรมะกับสังคม หรือการรักษาธรรมะไว้เพื่อสังคมแล้ว ก็เลยมาบรรจบกับเรื่องที่บอกโยมไว้ว่าจะพูดคือเรื่องสมมติสีมา เรื่องสมมติสีมานี้ก็เป็นเรื่องของธรรมะกับสังคมนี่แหละ ก็อยากจะพูดให้ญาติโยมได้มองเห็นว่า ธรรมะกับสังคมมาบรรจบกันตรงไหน หรือมาบรรจบกันด้วยอะไร ถ้าฟังให้ดีโยมก็จะเข้าใจเรื่องสมมติสีมาว่ามีความสำคัญอย่างไร ในสาระเรื่องสมมติสีมา นี้จะเห็นจุดบรรจบของธรรมะกับสังคม ถ้าเราฟัง เราทำความเข้าใจให้ดีแล้วจะเห็นว่าเรื่องสมมติสีมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักการของพระพุทธศาสนาที่จะให้สังคมมาบรรจบกับธรรมะแล้วให้ธรรมะสามารถรักษาสังคมไว้ได้ ก็เลยมาพูดกันเรื่องสมมติสีมา การสมมติสีมานี้เป็นสุดยอดของงานฝังลูกนิมิตผูกสีมาทั้งหมดตลอด 9 วันนี้ เราใช้ว่าผูกสีมา ตัวแท้ตัวจริงของงานผูกสีมานี้ ก็คือการสมมติสีมา สมมตินี่ญาติโยมได้ฟังก็เอ๊ะ เป็นคำภาษาไทยที่ไม่เห็นจะน่าสำคัญอะไรเลย เวลาเราจะพูดถึงเรื่องสมมติก็คือเราจะพูดถึงเรื่องไม่เป็นจริง สมมติว่าอย่างนั้น สมมติว่าอย่างนี้ แล้วพระนี่เอาคำว่าสมมติมาใช้เป็นเรื่องสำคัญ งานนี้ตจุดยอดสูงสุดก็คือสมมติสีมา แล้วสมมติเป็นคำสำคัญในพุทธศาสนา การพูดเรื่องนี้ก็จะทำให้พุทธศาสนิกชน ได้มองเห็นความสำคัญของสมมติด้วย เวลานี้เราไม่ค่อยเข้าใจความหมายคำว่า สมมติ แล้วก็คลาดเคลื่อน ไขว้เขว แล้วก็หลงผิดไปก็ได้ คำว่า สมมติ นี่มีความสำคัญมาก เอาละ เริ่มต้นที่สมมติสีมา สีมาที่จะสำเร็จก็ด้วยการสมมติ แล้วในพระธรรมวินัยโยมก็ได้ยินว่าพระสงฆ์ที่นั่งกันอยู่นี้ ที่ครองผ้าเหลือง ปลงผม เนี่ย เขาเรียกว่าเป็น สมมติสงฆ์ ก็สมมติอีกเหมือนกัน สมมติสำคัญนะ อย่างจะตั้งพระทำหน้าที่การงานอะไรต่างๆ ก็เรียกว่าสมมติ สมมติให้พระสงฆ์องค์นี้ทำหน้าที่นั้น เป็นเจ้าหน้าที่รักษาจีวร เก็บจีวร แจกจีวร แจกอาหาร เป็นมัคคุเทศก์ นิมนต์พระ เป็นต้นเนี่ยสมมติทั้งนั้น แต่ไม่เฉพาะในธรรมวินัย ในประเพณีการปกครองของประเทศไทยก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้บางทีเราลืมกันไป คติของพระมหากษัตริย์ในประเพณีการปกครองของประเทศไทยที่เป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนา เราเรียกองค์พระมหากษัตริย์ว่าเป็นมหาชนะสมมติ หรือพูดเป็นภาษาชาวบ้านว่ามหาชนสมมติ มหาชนสมมตินี่ถ่าเรียกเป็นภาษาพระแท้ๆ ท่านตัดให้สั้นไปอีก เหลือแค่มหาสมมติ คือมหาชน คำว่า ชน ตัดได้ เหลือแค่ มหาสมมติ คำว่ามหาสมมตินี่เป็นคำเรียกองค์พระมหากษัตริย์ ทำไมจึงเรียกว่ามหาชนสมมติ โยมจะต้องเข้าใจความหมายคำว่าสมมติ เดี๋ยวจึงจะบอก หรืออย่างปัจจุบันเราเพิ่งสมมติกันไปเสร็จไม่กี่วัน วันที่ 6 ที่แล้วมาเป็นวันสมมติผู้แทนราษฎร ประเทศไทยเราพยายามเข้าถึงสมมติตัวนี้มา 69 ปีแล้ว ยังไม่ค่อยจะสำเร็จ สมมติตัวนี้คืออะไร มาทำความเข้าใจกันนิดนึง สมมติ ภาษาบาลีเรียกว่า สัม-มะ-ติ หรือ สัม-มุ-ติ มะ-ติ ก็ มติ ความรู้ การยอมรับ การตกลง สัง ร่วมกัน สัง-มะ-ติ เป็น สัม-มะ-ติ มาเป็นไทยเป็น สมมติ สมมุติ แปลว่าการยอมรับร่วมกัน รู้ร่วมกัน มีมติร่วมกัน เรื่องของสังคมมนุษย์นั้น สำเร็จด้วยเรื่องสมมติ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าสมมติในที่นี้ อย่างมหาชนสมมติ เรียกพระมหากษัริย์ก็คือว่า มหาชนได้เลือกตั้ง ได้แต่งตั้งพระองค์ อย่างในพระบรมราชจักรีวงศ์ ก็จะใช้คำนี้ เวลาจะสืบราชสมบัติ ก็จะให้มหาอำมาตย์เป็นต้น มีตัวแทนของราษฎรมา มีการที่ได้มาร่วมกันเลือกตั้งขึ้น เราก็ยังใช้นี้ ทีนี้จะต้องไปดูสาระในแนวคิดว่าเรามีประเพณีเรื่องที่เราเรียกปัจจุบันว่าเลือกตั้ง มีมานานแล้ว ในพระพุทธศาสนานี้ว่ามาตั้งแต่เรื่องพระสูตร การกำเนิดโลกเลย อัคคัญญสูตร ว่าถึงการกำเนิดคนประเภทต่างๆ ว่ามหากษัตริย์เกิดขึ้นอย่างไร เกิดจากความต้องการของสังคม คนที่อยู่ด้วยกันจำนวนมากมีการแย่งชิงทรัพย์สิน มีการทะเลาะเบาะแว้ง ต้องการผู้ปกครอง ก็เลยเลือกคนที่มีบุคลิกลักษณะดี มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดให้ขึ้นมาทำหน้าที่นี้เรียกว่ามหาสมมติ แปลว่าผู้ที่มหาชนเลือกตั้งขึ้นมา อันนี้ของพระเราก็ใช้หลักนี้เป็นธรรมดา ก็มีมติร่วมกัน จะทำอะไรก็ตามก็มีมติร่วมกันให้เป็นอย่างนั้น อย่างว่ามีพระภิกษุรูปหนึ่งจะบวช ก็เข้าที่ประชุมสงฆ์ ก็บวชขึ้นมาก็เป็นพระสงฆ์โดยสมมติ อย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ ก็โดยการยอมรับของที่ประชุม หรือโดยการยอมรับของสงฆ์ แล้วการเลือกตั้งปัจจุบันนี้ ถ้าจะใช้ศัพท์ให้ถูกก็คือสมมตินั่นแหละ แต่แค่สมมติเท่านี้เราก็ทำกันไม่สำเร็จ 69 ปีแล้ว เรายังไม่เข้าถึงสมมติเลย 69 ปีของสังคมประชาธิปไตยในประเทศไทย น่าจะศึกษาเรื่องสมมติกันให้ดี ถ้าศึกษาเรื่องสมมติให้ดีแล้ว มันจะทำให้ประชาธิปไตยของเราเป็นหลัก หลักเรื่องนี้คิดว่าสำคัญมาก หลักเรื่องสมมติเนี่ย ที่มันจะมาเป็นตัวที่บอกเมื่อกี้ ประสานธรรมะเข้ากับสังคมได้ เมื่อพูดถึงสมมติแล้วมันก็มีคำอันหนึ่งที่ใกล้กัน คือคำว่าบัญญัติ ก็เลยขอถือโอกาสทำความเข้าใจไปด้วย สมมติคือการยอมรับร่วมกัน มีมติร่วมกัน เป็นเรื่องของสังคมมนุษย์ เราอยู่ได้ด้วยสมมติทั้งนั้น อันนี้อย่างคนนี้เราจะพูดกันรู้เรื่อง เช่นเราพูดกับคนนี้มา พูดไปหยกๆ แล้วเราไปเจออีกคนหนึ่ง แล้วเราบอกเมื่อกี้เราได้พูดกับคนนั้น ถ้าเราไม่มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าการบัญญัติ ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วลำบากพิลึก เจอ 3 คน 4 คน ไม่รู้จะพูดยังไง บอกว่าเมื่อกี้ไปเจอคนกลุ่มหนึ่ง คนตัวแดงพูดว่าอย่างนั้น คนตัวขาวพูดว่าอย่างนั้น คนตัวเขียวพูดว่าอย่างนั้น คนผมยาวพูดว่าอย่างนั้น อะไรอย่างนี้ ใช่ไหม เราก็เคยมีบัญญัติกันว่า นาย ก. นาย ข. คุณนั่น คุณนี่ อย่างนี้เรียกว่าบัญญัติ พอบัญญัติเป็นชื่อว่าคนนี้ชื่ออะไรๆ บัญญัตินี้ต้องมีสมมติรองรับ ถ้าไม่มีสมมติคือการยอมรับร่วมกันแล้ว บัญญัตินั้นใช้ไม่ได้ ใช่ไหม ฉะนั้นก็ต้องมีสมมตินี้เป็นฐาน คือการยอมรับร่วมกัน แล้วก็มีบัญญัติ บัญญัตินี้แปลว่าจัดตั้ง วางแบบ กำหนดลงไป ทั้งจัดตั้งระบบ วางระเบียบอะไรต่างๆ เหล่านี้ สังคมมนุษย์อยู่ด้วยอันนี้ อย่างเมื่อกี้นี้ยกตัวอย่างเช่นบัญญัติชื่อคน ชื่อนาย ก. นาย ข. เป็นต้น แล้วสมมติก็ยอมรับกันตามนั้น ทีนี้จะให้สมมตินี้เป็นจริง จะต้องถึงกับบัญญัติกฎหมายเลยว่าต้องให้ไปขออนุญาติใช้ชื่อนี้จากทางราชการอำเภอ หรืออะไรอย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ต้องได้รับอนุมัติ มีการบัญญัติระเบียบแบบแผน ข้อกำหนดกฎหมาย แล้วก็ยอมรับกันตามนั้น ก็เกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา บัญญัติก็คู่กับสมมติ หรืออย่างนอกจากชื่อก็นี่เรื่องกฎกติกาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ สังคมของเรานี่อยู่ด้วยกฎกติกากฎหมาย สังคมจะอยู่ดีได้ต้องมีกฎหมายมีกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้น ก็เป็นเรื่องบัญญัติ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของสมมติ ก็คือการยอมรับร่วมกัน หรืออย่างที่เห็นชัดก็คือเรื่องเงินทอง เราก็บัญญัติขึ้นมาว่า กระดาษชิ้นนี้นะ รูปร่างอย่างนี้นะ ใช้แทนทอง หรืออะไรก็แล้วแต่ มีมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ บัญญัติกันลงไป แล้วก็ยอมรับกันตามนั้น ก็ใช้ด้วยกันได้ บัญญัติเรื่องเงินเรื่องทอง หรืออย่างบัญญัติ อย่างบอกว่าคนนี้เรียนไป ถึงปีแล้วสอบชั้นนั้นๆ แล้วจบ 4 ปี ได้คะแนนเฉลี่ยเท่านั้น ก็ให้ใบปริญญาบัตร เรียกว่าเป็นบัณฑิต อย่างนี้คำว่าบัณฑิตก็เป็นบัญญัติที่สำเร็จด้วยสมมติ คือการยอมรับร่วมกัน แต่ว่าการเป็นบัณฑิตที่แท้นั้น ที่จริงมันเป็นคุณสมบัติในตัวคน เช่นความมีปัญญา ความสามารถ การที่จะคิดได้ แก้ปัญหาได้ การมีคุณธรรมความดี ดำเนินชีวิตโดยชอบเป็นต้น อันนั้นคือความเป็นบัณฑิตที่แท้จริง แต่เพื่อให้สังคมมนุษย์เนี่ยดำเนินไปได้ มันต้องมีสมมติ แล้วสมมตินั้นก็ออกมาในรูปของการบัญญัติ เพราะฉะนั้นบัญญัติกับสมมติก็ไปด้วยกัน และสมมติ บัญญัติ นี้เป็นที่มาของอายรธรรมมนุษย์ เรื่องสมมติ บัญญัติ นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าเห็นเป็นเรื่องเหลวไหล ในพุทธศาสนาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง บางคนพอพูดถึงสมมติแล้วก็นึกว่าเป็นเรื่องม่าจริง เหลวไหลอะไรไป ฉะนั้นต้องระวัง เพื่อจะให้เห็นความยิ่งใหญ่ของสมมติและบัญญัติอีกประการหนึ่ง ก็ขอพูดถึงหลักพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ผู้ที่เป็นองค์พระศาสดาตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมาเนี่ย ก็คือพระพุทธเจ้า แต่ชาวพุทธเรียนกันมาว่าพระพุทธเจ้ามีหลายแบบนะ เราอาจจะแยกเป็น 3 แบบก็ได้ 4 ประเภทก็ได้ แต่ว่าทั่วไปก็จะใช้ 3 ประเภท ก็คือหนึ่ง-พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วประกาศธรรมะ ตั้งพระศาสนา บำเพ็ญพุทธกิจเพื่อให้คนจำนวนมากได้ตรัสรู้ตามได้ด้วย อย่างนี้เรียกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอง-พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แต่ไม่ประกาศพระศาสนา ไม่เผยแผ่บำเพ็ญพุทธกิจให้คนอื่นได้ตรัสรู้ตามตนได้ เรียกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เฉพาะตน สาม-ท่านผู้ที่มิได้ตรัสรู้เอง แต่อาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตรัสรู้ตาม เรียกว่า อนุพุทธะ หรือ สาวกพุทธะ พุทธะที่เป็นสาวกหรือเป็นอนุ ก็คือตรัสรู้ตาม ในสามประเภทนี้ที่เราควรจะทราบในที่นี้ก็คือ 2 ประเภทแรก คือความแตกต่างระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า ย้ำอีกทีหนึ่งว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพระองค์ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วบำเพ็ญพุทธกิจเผยแผ่พระธรรมให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ด้วย คือทั้งได้ด้วยตัวเอง ทั้งช่วยให้ผู้อื่นได้รู้ด้วย สอง-พระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสรู้เฉพาะตัว ไม่สามารถจะสอนผู้อื่นให้รู้ตาม อันนี้เป็นความหมายง่ายๆ แต่มันมีความหมายที่ลึกกว่านั้นอีกอัน ความหมายอย่างนั้นพูดกับชาวบ้านเข้าใจ แต่มีความหมายที่เป็นหลักการอีกอัน บอกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าคือผู้ที่ได้แต่รู้สัจธรรม แต่ไม่มีความสามารถในเชิงสมมติ บัญญัติ ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ทั้งตรัสรู้สัจธรรม และมีความเชี่ยวชาญในเชิงบัญญัติธรรมด้วย ที่พูดตอนนี้จะให้เห็นความสำคัญของสมมติ บัญญัติ ว่าแค่ไหน ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยทีเดียว พระปัจเจกพุทธเจ้านี่ก็ตรัสรู้สัจธรรมเท่ากับพระพุทธเจ้านั่นแหละ แต่ท่านไม่มีความสามารถในเชิงบัญญัติธรรม เรื่องเป็นยังไง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จริงอาตมาคิดว่าต้องใช้เวลากันหลายชั่วโมงที่จะพูดเรื่องนี้ ในแง่หนึ่งมันเท่ากับเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา หลายท่านคงเคยได้ยินว่า ในพระพุทธศาสนานั้นสอนว่าสัจจะมี 2 ประเภท คือหนึ่ง-สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ การยอมรับร่วมกัน หรือความจริงทางสังคม ในหมู่มนุษย์นี่ เช่นว่าจะสื่อสารกัน ต้องรู้ มีบัญญัติว่านี่เป็นโต๊ะ นี่เป็นเก้าอี้ นี้เป็นเรียกชื่อยังไง คนนั้น นาย ก. นาย ข. เป็นต้น อันนี้เป็นความจริงตามที่ยอมรับกัน เป็นความจริงอย่างหนึ่ง พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเลย เป็นจริง ยอมรับแล้ว เรียกว่าสมมติสัจจะ แล้วก็สอง-ปรมัตถสัจจะ ท่านแยกออกไปย่อยเป็น 2 เป็น สภาวสัจจะกับอาริยสัจจะ
แต่ในที่นี้เราพูดกันง่ายๆ เดี๋ยวโยมจะสับสน ก็บอก หนึ่ง-มีสมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ สอง-สภาวสัจจะ ความจริงตามสภาวะ อันนี้พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านได้อย่างเดียว ท่านได้เฉพาะตัวสภาวสัจจะ ก็เรียกว่าอริยสัจธรรม ตรัสรู้ แต่ว่าในด้านสมมติสัจจะ ความฉลาดสามารถในการบัญญัติ ท่านไม่มี เรื่องสมมติบัญญัติจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องพระวินัยทั้งหมดที่พระสงฆ์อาศัยอยู่นี่ เป็นเรื่องสมมติบัญญัติทั้งสิ้น แล้วมันเป็นเรื่องไม่ใช่เหลวไหล เป็นเรื่องที่เอาจริงเอาจัง แล้วถ้าใครปฏิบัติกับเรื่องสมมติได้ถูกต้อง คนนั้นจะเป็นผู้ที่บรรลุธรรมแท้จริงด้วย วิธีที่จะพิสูจน์คนที่บรรลุธรรมหรือไม่ ในแง่หนึ่งก็ดูที่การปฏิบัติต่อสมมติ ว่าถูกต้องหรือไม่ด้วย อันนี้หมายความมีวิธีหลายอย่าง การที่จะพิจารณาหรือประเมินวัดผลคนที่ได้ตรัสรู้บรรลุธรรม ฉะนั้นเรื่องสมมติบัญญัติมาเข้าคู่กับเรื่องของสภาวะเนี่ย เป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ซึ่งเราสามารถพูดในแง่หนึ่ง พุทธศาสนานั้นสามารถพูดได้หลายแบบ ทีนี้เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ อาตมาก็จะขอเล่าให้เห็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะ ว่าทรงปฏิบัติอย่างไร ทำไมจึงว่าพระองค์ได้ทั้งตรัสรู้สัจจะ 4 ที่เป็นสภาวสัจจะด้วย แล้วก็ทั้งทรงมีความสามารถในเรื่องบทบัญญัติด้วย เราก็มาเริ่มกันที่ว่าพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง อะนุปปาทา วาตะถาคะตานัง ก็แปลว่า ตถาคตคือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงมันก็มีอยู่เป็นธรรมดาของมัน มันว่าอย่างนั้นๆ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือการที่สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นพรั่งพร้อม เกิดขึ้นด้วยอาศัยปัจจัยพรั่งพร้อม อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็เป็นอย่างนั้น พระตถาคตคือพรพุทธเจ้าได้มาค้นพบ รู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดานี้ ก็เอามาเปิดเผยบอกกล่าวเล่าชี้แจงอธิบาย วางเป็นหลักให้ อันนี้แหละ ทีนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ก็ทรงรู้เข้าใจความจริงแล้ว ก็ทรงได้ประโยชน์จากการรู้ความจริงนี้ ก็คือพระองค์มีพระหฤทัยที่หลุดพ้น พ้นจากทุกข์ พ้นจากกิเลส มีความสุขแท้สมบูรณ์ พระองค์ได้ประโยชน์แล้ว เมื่อพระองค์ได้ประโยชน์ด้วยการตรัสรู้ธรรมะ พระองค์ก็ต้องการที่จะให้คนอื่นได้รับประโยชน์บ้าง ทีนี้พระพุทธเจ้าต้องการให้คนอื่นได้ประโยชน์ พระองค์ก็เที่ยวสั่งสอนชี้แจงแนะนำไป แต่ถ้าพระพุทธเจ้าไปแนะนำสั่งสอนไปทีละคนละคน วันหนึ่งอาจจะไม่ได้สักคน เพราะว่าพระองค์ต้องเสด็จเดินทาง บางทีไปเมืองหนึ่งนี่กินเวลาอาจจะหลายวันก็ได้ กว่าจะได้สักคน ได้สักกลุ่ม ช้าเหลือเกิน กินเวลามากมาย แล้วคนเหล่านั้นหลายคนฟังคำสอนของพระองค์เลื่อมใส แต่เขายังไม่รู้เข้าใจแจ่มแจ้งเต็มที่ รู้เข้าใจเพียงส่วนหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปที่อื่นซะแล้ว เขาก็เลยตัน จบอยู่แค่นั้น หรือบางทีเขาก็เลยค่อยๆ ลืม ค่อยๆ เลือน จางหายไป อย่างความที่จะตั้งใจประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พอห่างพระพุทธเจ้าไปอยู่ในกลุ่มคนเดิม เดี๋ยวก็ถูกกลืนไปอีก ก็กลายเป็นอย่างเก่า ฉะนั้นการปฏิบัติพุทธกิจของพระองค์ก็จะได้ผลน้อย ก็จึงมีคำถามว่าแล้วจะทำยังไงให้การบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้าได้ผลดี ตรงนี้แหละ เรื่องมันจะมาเรื่องสมมติแล้ว ทีนี้เมื่อมีคนที่ฟังพระพุทธเจ้า เลื่อมใส อยากจะรู้มากขึ้น อยากจะอยู่ใกล้ชิดพระองค์ ได้ฟังพระองค์อยู่เสมอ ก็ติดตามพระองค์ไป พอติดตามพระองค์อยู่กันมากๆ ขึ้น เกิดเป็นชุมชนขึ้นมา พอเกิดเป็นชุมชน จะอยู่ด้วยดี พระพุทธเจ้าก็ต้องการจะทรงสั่งสอนท่านเหล่านี้ให้ได้ผลดี ก็จะต้องมีการจัดระบบระเบียบ จัดระบบชุมชน จัดระบบความเป็นอยู่ จัดสถานที่เป็นต้น ให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อเกื้อหนุนต่อการที่เขาจะปฏิบัติได้ผลดี หรือว่าได้เจริญไตรสิกขาได้ผลนั่นเอง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ทำให้การมาอยู่ร่วมกันเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา แล้วต้องมีระเบียบ การจัดตั้งวางระบบระเบียบนั้น เรียกว่าวินัย แต่ว่าสิ่งที่ต้องการนั้นคืออะไร เมื่อกี้บอกแล้วว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะ แล้วก็จะให้คนอื่นเนี่ยได้รู้เข้าใจธรรมะด้วย ฉะนั้นจุดมุ่งหมายอยู่ที่ธรรมะ ก็คือการตรัสรู้ธรรม ได้ประโยชน์จากธรรม ประพฤติปฏิบัติตามธรรมะเนี่ย เป็นประโยชน์ที่แท้จริง แต่คนจะได้ประโยชน์จากธรรมะอย่างไร ถ้าไม่มีการจัดตั้งวางระบบ พระพุทธเจ้าก็จัดตั้งวางระบบให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนนี้มีกฎระเบียบต่างๆ ในการที่จะมีความสัมพันธ์กัน ในทางที่เกื้อกูลกัน ไม่ขัดแย้ง ไม่ขัดขวางซึ่งกันและกัน การที่จะก้าวไปสู่จุดหมาย การที่จะประพฤติปฏิบัติในการที่จะเจริญไตรสิกขา แล้วก็ให้สภาพความเป็นอยู่แค่เรื่องปัจจัยสี่นี้เกื้อหนุนด้วยการหาเลี้ยงชีพเป็นต้น ก็ต้องให้มีลักษณะที่เกื้อหนุน ไม่ใช่มาขัดขวางทำให้วุ่นวาย ทำให้เกิดความขัดแย้ง และความสัมพันธ์กับชุมชนภายนอกก็เช่นเดียวกัน ในที่สุดก็เลยต้องเกิดเป็นระบบการจัดตั้ง วางแบบแผนระเบียบชุมชนขึ้นมา อันนี้ก็เกิดเป็นวินัยขึ้นมา วินัยก็เป็นเรื่องของการจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์กติกา ในการอยู่กันเป็นสังคมเป็นชุมชนที่จะให้ชุมชนนั้นเป็นสภาพเอื้อต่อชีวิตของแต่ละคน การที่จะปฏิบัติกิจเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่เรามุ่งประสงค์ร่วมกันนั้น ทีนี้วินัยนี่เป็นเรื่องการจัดตั้งกฎกติกาเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่บัญญัติ ก็อยู่ที่การยอมรับร่วมกันที่เรียกว่า สมมติ ทั้งนั้น ฉะนั้นพระสงฆ์ที่มาอยู่ร่วมกันเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่ตัวเอง พระพุทธเจ้าก็ให้มีการยอมรับเข้าหมู่นะ ว่าเป็นพระภิกษุ แล้วการที่จะไปสำเร็จเป็นพระภิกษุต้องมีวิธีการอุปสมบทอย่างนี้ๆ ระเบียบแบบแผนกฎกติกาในการอุปสมบท การบวชนั้นก็เป็นบัญญัติ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของสมมติ คือการยอมรับร่วมกัน พระที่เกิดมาโดยทำนองนี้รวมกันก็เรียกว่าสมมติสงฆ์ คือสงฆ์โดยมติร่วมกัน โดยการยอมรับร่วมกัน แต่ว่าเป้าหมายที่แท้จริงนั้นก็คือเพื่อให้แต่ละคนมีชีวิตที่ดีงาม บุคคลที่มีชีวิตที่ดีงามได้ประโยชน์จากธรรมะนี้ เราเรียกว่าเป็นอริยะ เป้าหมายก็คือทำคนแต่ละคนให้เป็นอริยะ แล้วคนที่เป็นอริยะนี้รวมกันก็เรียกว่าอริยสงฆ์ การที่เรามีสมมติสงฆ์ก็เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างสมมติสงฆ์ อย่างน้อยในตอนแรกก็พระพุทธเจ้าทรงเป็นอริยะแล้ว ทรงรู้ว่าผู้ที่เป็นอาริยะนั้นมีชีวิตจิตใจอย่างไร ควรจะอยู่อย่างไร พระองค์ก็วางระเบียบแบบแผนกฎกติกาให้พระที่ยังอยู่ในขั้นที่ยังไม่เป็นอริยะ ยังไม่เข้าถึงธรรมเนี่ย แต่มาด้วยกฎกติกา ด้วยวินัยเนี่ย มามีชีวิตเลียนแบบอาริยสงฆ์ สมมติสงฆ์ก็มีชีวิตที่เลียนแบบอริยสงฆ์ เลียนแบบโดยอาศัยอะไร โดยอาศัยวินัย คือกฎเกณฑ์กติกาชุมชนที่วางไว้ แล้วชีวิตความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ เช่น มีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยวัตถุน้อย ทำประโยชน์ต่อชุมชนทั้งทางจิตใจและปัญญาอะไรต่างๆ เหล่านี้ พร้อมทั้งให้อยู่ในชุมชนที่มีสภาพความสัมพันธ์เป็นต้น ที่เกื้อหนุนต่อการประพฤติปฏิบัติการเจริญไตรสิกขาของแต่ละท่านแต่ละบุคคล ก็กลายเป็นว่าสองส่วนนี้มาสัมพันธ์กัน พระพุทธเจ้าตั้งสมมติสงฆ์โดยให้มีชีวิตเลียนแบบอริยสงฆ์ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พระภิกษุโดยสมมตินั้นพัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็นพระอริยะ ฉะนั้นสมมติสงฆ์นี้ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างอริยสงฆ์ขึ้นมา สมมติสงฆ์ก็คู่กับอริยสงฆ์ แล้วพร้อมกันนั้นเราก็จะเห็นว่า วินัยก็คู่กับธรรมะ สมมติสงฆ์นั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่โดยอาศัยวินัย แล้วอริยสงฆ์ก็เกิดขึ้นโดยธรรม เราจะเป็นอริยะก็โดยธรรม โดยที่ได้ประพฤติปฏิบัติ ทำคุณสมบัตินั้นให้เกิดขึ้นในตนเอง ทำศีลให้มีในตน ทำสมาธิให้มีในตน ทำปัญญาให้มีในตน พอเจริญขึ้นไปอย่างนี้แล้ว ก็เป็นอริยะ แต่ว่าในระหว่างนั้นพระแต่ละองค์ก็อยู่ในสมมติสงฆ์ ตอนนี้โยมก็คงพอจะเห็นแล้วว่าเรื่องของสมมติมันมาสัมพันธ์กันอย่างไร หนึ่ง-ในแง่สมมติสัมพันธ์กับสภาวะเป็นจริง ธรรมะสัมพันธ์กับวินัย แล้วเรื่องสมมตินี้ก็สัมพันธ์กับเรื่องสังคม เป็นตัวชักนำให้สังคมไปบรรจบกับธรรมะ พูดมาแค่นี้ก็บางท่านก็อาจจะพอนึกออกว่าสัมพันธ์กันอย่างไร แต่อยากจะให้ชัดยิ่งขึ้น ก็ขอทวนอีกทีหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ประองค์ได้ประโยชน์จากธรรมะที่มีอยู่เป็นความจริงตามธรรมดา พระพุทธเจ้าจะเกิดไม่เกิด มันก็มีอย่างนั้น พระองค์ตรัสรู้ พระองค์ก็ได้ประโยชน์จากธรรมะ พระองค์ก็ต้องการให้คนอื่นได้ประโยชน์บ้าง แต่จะให้คนอื่นจำนวนมากได้ประโยชน์ จะต้องมีระบบขึ้นมาโดยการใช้วินัย คือการจัดตั้ง วางบัญญัติกฎกติกาต่างๆ เป็นต้น แล้วก็เกิดชุมชนที่เรียกว่าสมมติสงฆ์ขึ้น สมมติสงฆ์นี้ก็เลียนแบบอริยสงฆ์และเป็นเครื่องมือในการสร้างอริยสงฆ์ด้วย เป็นอันว่าเรามีวินัยขึ้นมาเพื่ออะไร ก็เพื่อธรรมะ พระพุทธเจ้าต้องการให้คนเข้าถึงธรรมะ ได้ประโยชน์จากธรรมะ ก็จึงจัดตั้งวางระบบแบบแผน จัดตั้งชุมชนอะไรต่างๆ ขึ้นมา วินัยก็เกิดมีขึ้น วินัยก็คู่กับสมมติสงฆ์ แล้ววินัยก็จะช่วยให่สมมติสงฆ์เนี่ย ได้เป็นแหล่งที่จะสร้างอริยสงฆ์ต่อไป วินัยก็เป็นเครื่องมือที่จะได้ทำให้คนนี่เข้าถึงธรรมะต่อไป อาศัยธรรมะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะ พระองค์ก็ทรงบัญญัติวินัยเพื่อช่วยให้คนเข้าถึงธรรม เพราะฉะนั้นธรรมะนี่เป็นวัตถุประสงค์ของวินัย แล้ววินัยก็ต้องอาศัยธรรมะในการจัดตั้งเป็นฐานด้วย เพราะว่าธรรมะก็คือความจริงของสิ่งทั้งหลาย ถ้าเราจัดตั้งวางระบบในสังคมนี้ไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ตามหลักเหตุปัจจัย ตามหลักเหตุผลเป็นต้น ชุมชนนี้แม้แต่กฎกติกาที่วาง มันก็ไม่มั่นคง และไม่เกิดผลสมความมุ่งหมาย เพราะฉะนั้นการจะจัดตั้งวินัยคือกฎสมมติของมนุษย์นี่ก็ดี จะวางได้ดีต้องเกิดจากการรู้ธรรมะ คือความจริงของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ เพราะฉะนั้นธรรมะจึงเป็นฐานของวินัย แล้วการที่วางวินัยทั้งหมด จัดตั้งทั้งหมด ก็เพื่อให้คนได้พัฒนาตัวไปสู่การเข้าถึงธรรมะ เราจึงบอกว่าธรรมะเป็นทั้งฐานและทั้งจุดหมายของวินัย พูดมาตอนนี้ก็มองให้เห็นในแง่ของพุทธศาสนาโดยยกเรื่องการตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง อันนี้ก็ขอโยงอีกทีหนึ่ง ธรรมะเป็นของที่มีอยู่ในธรรมดา ก็เป็นเรื่องของสภาวะ เป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่วนวินัยนั้นเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของสมมติ อันนี้จะต้องจับให้ดี วินัยนี่เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น ตั้งแต่บวชพระก็สมมติ แต่ละข้อที่ว่าทำอย่างนั้นแล้วเป็นความผิดอย่างนั้น ก็เป็นสมมติทั้งนั้น แต่บอกแล้วว่าด้วยสมมตินี่แหละ จึงทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ไม่ใช่เป็นพระพุทธเจ้าแค่ปัจเจกพุทธเจ้า แต่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนเรานะมนุษย์อยู่ในสังคม เราจะดำรงสังคมด้วยดีเนี่ย เราจะต้องชำนาญในเรื่องสมมติ แต่คนที่จะสมมติได้สำเร็จจะต้องเป็นผู้รู้สภาวะ คือเข้าถึงความจริงด้วย ถ้าไม่เข้าถึงตัวธรรมะคือความจริง มันก็จัดตั้งวินัยระบบแบบแผนในสังคมไม่ได้ดี เหมือนกับคนไม่รู้ความจริงของกฎธรรมชาติ ไม่รู้ความจริงธรรมชาติของชีวิต ธรรมชาติของสังคมจะมาวางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีทางอาชญาวิทยา หรืออะไรก็ตาม มันก็ไม่ค่อยได้ผลจริง เราจึงตั้งพยายามคิดทฤษฎีขึ้นมา ทฤษฎีก็คือผลงานแห่งความคิดของมนุษย์ที่พยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ อันนี้ได้มาในระดับหนึ่งเราก็มาตั้งเป็นทฤษฎีกันขึ้นมา แต่ถ้าทฤษฎีนั้นไม่ถูกต้องตามธรรมะ คือความจริงที่แท้ หรือธรรมชาติ ทฤษฎีนั้นก็ไม่ได้ผลจริง ฉะนั้นเป้าหมายที่แท้ของเราก็คือการเข้าถึงตัวธรรมะนี่แหละ ธรรมดาของธรรมชาติเนี่ยที่จะทำให้เราสามารถมาวางสมมติบัญญัติต่างๆ ของเราได้ผล เรื่องของเศรษฐศาสตร์ เรื่องของการเมือง รัฐศาสตร์ เรื่องอะไรต่างๆ สังคมวิทยา ก็เป็นการพยายามเข้าถึงความจริงที่แท้ แล้วก็เอามาบัญญัติจัดตั้งในสังคมมนุษย์ เพื่อจะให้เกิดผลที่แท้จริงแก่ชีวิตกับสังคม แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้ ไม่เข้าถึงตัวธรรมะความจริงที่แท้นั้น การจัดตั้งวางระบบทั้งหลายเนี่ยมันไม่สามารถให้เกิดผลที่ดีแท้จริงแก่มนุษย์ได้ ไม่เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว วินัยก็เลยเป็นตัวที่มาประสานว่าทำไงจะให้มนุษย์นี่เอาประโยชน์จากธรรมชาติหรือความจริงได้ ความจริงของสิ่งทั้งหลายที่เราเรียกว่าสภาวะ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แล้วพร้อมกันนั้นมนุษย์นี้อยู่ในท่ามกลางธรรมชาติ แล้วมนุษย์มาสัมพันธ์กัน ก็เกิดเป็นสังคมขึ้นมา สังคมมนุษย์นี้ก็อยู่ในท่ามกลางของธรรมชาตินั่นแหละ แต่สังคมมนุษย์นี้ไม่ได้เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากธรรมชาติ ฉะนั้นบางทีมนุษย์ก็หลงเพลิดเพลินไป แล้วก็แปลกแยกจากธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดปัญหามากมาย เรามองเป็นสองอย่างก็คือ หนึ่ง-ธรรมชาติ นี่ด้านหนึ่งแล้ว สอง-สังคม นี่ด้านหนึ่ง แล้วมีอะไรตัวเชื่อมอยู่กลาง ก็คือมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนๆ มันมีสองด้านอยู่ในตัว ด้านหนึ่งของมนุษย์คือชีวิต มนุษย์นี่เป็นชีวิตแล้วชีวิตนี้เป็นธรรมชาติ อยู่ในธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ระบบการหายใจ ระบบการย่อยอาหารอะไรต่างๆ ของเราแต่ละคนนี่ มาเป็นคุณ ก. คุณ ข. อะไรก็ตาม ชีวิตของเขาต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น มนุษย์แต่ละคนนี่ด้านหนึ่งเป็นชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติ พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง แต่ละคนนี่เป็นบุคคล เป็นบุคคลที่อยู่ในสังคม บุคคลนี่เป็นส่วนประกอบของสังคม มนุษย์นี่เป็นตัวเชื่อมกลางระหว่างธรรมชาติกับสังคม เพราะว่าด้านหนึ่งก็เป็นชีวิตเขาก็เชื่อมกับธรรมชาติเข้ามา อีกด้านหนึ่งเป็นบุคคลเขาก็เชื่อมสังคมเข้ามา ทีนี้ถ้าเขาอยู่ดี เขาต้องไม่แปลกแยกจากทั้งสองด้าน เขาจะต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คือตัวธรรมะ แล้วเขาจึงจะทำให้สังคมของเขาอยู่ดีได้ด้วย แล้วชีวิตของเขาก็อยู่ดีไปได้ ยกตัวอย่างบ่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายดีเนี่ย อย่างคนกินอาหารก็กินในความหมาย 2 อย่าง กินอาหารในแง่เป็นบุคคล กับกินอาหารในแง่เป็นชีวิต ชีวิตมันก็มีความต้องการ บุคคลก็มีความต้องการ บุคคลนั้นอยู่ในสังคม ต้องการยังไง ต้องการฐานะ ต้องการความโก้เก๋ ต้องการแสดงตัวว่าฉันมั่งฉันมี อะไรเป็นต้น แล้วหลายคนก็กินอาหารเพื่อสนองความต้องการของบุคคล ก็แข่งกัน อวดโก้ อะไรต่ออะไร อีกด้านหนึ่งพร้อมกันนั้น มนุษย์เป็นชีวิต เขากินอาการเพื่อสนองความต้องการของชีวิต เขากินเพื่อให้ร่างกายของเขาแข็งแรง มีชีวิตอยู่ได้ ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ แล้วทำให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป นี่เราลองดู อันไหนเป็นความต้องการที่แท้จริงของตน การกินอาหารนี่ความต้องการที่แท้อยู่ที่ไหน ที่ชีวิตหรือที่บุคคล เราก็บอกว่าที่แท้มันอยู่ที่ชีวิต แล้วกี่คนที่กินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต คนจำนวนมากกินเพื่อต้องการเพียงเพื่อสนองความต้องการของบุคคลเท่านั้น กินเพื่อให้เห็นว่าโก้เก๋ เอร็ดอร่อย อะไรต่ออะไร เรื่องของบุคคล แต่เขาไม่เคยคำนึงถึงชีวิตเขาเลย ว่าชีวิตเขาต้องการอาหารเพื่ออะไร ต้องการอาหารอย่างไน ต้องการอาหารแค่ไหน แล้วคนไหนนฉลาดกว่ากัน ระหว่างคนที่กินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต กับคนที่กินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล พอเราใช้ปัญญาสักหน่อย อย่างที่พระท่านให้พิจารณาว่า พิจารณาแล้วโดยแยบคายจึงฉันอาหารนี้ว่า ที่ฉันนี้ไม่ใช่เพื่อเห็นแก่เพลิดเพลินสนุกสนาน เอร็ดอร่อย โก้เก๋ แสดงฐานะกัน แต่กินเพื่อจะให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ร่างกายมีสุขภาพดี จะได้เกื้อกูลกับชีวิตอันดีงาม จะได้เอาร่างกายนี้ไปทำสิ่งที่ดีงาม เอาไปใช้ปฏิบัติธรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ไปศึกษเล่าเรียนเป็นต้น อันนี้แค่นี้เราก็ถ้าได้คิดสักหน่อย ก็จะเห็นว่า อ๋อ ที่แท้นั้นการกินอาหารเพื่อสนองความต้องการของชีวิต ถ้าคนที่ฉลาดก็จะกินอาหารเพื่อสนองความต้องการของชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นก็ยอมรับกระแสค่านิยมในสังคมว่าคนเขาวัดฐานะกันอย่างนี้ก็กินพอไม่ให้เขาดูถูกเราเนอะ ก็กินไป แต่ว่ามันจะสิ้นเปลืองน้อยแล้วไม่เกิดโทษ คนที่กินเพื่อสนองความต้องการของบุคคลนี้ จะเกิดโทษ ชีวิตของตัวเองก็ไม่ได้สนองความต้องการ ชีวิตก็แย่ กินเข้าไปแล้ว สนองความต้องการของบุคคลแล้ว ร่างกายกลับทรุดโทรม เสียสุขภาพ เพราะกินอาหารโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ แต่เอาเอร็ดอร่อยเป็นต้น หรือเอาโก้เอาเก๋เป็นเกณฑ์ กินอาหารมื้อละหมื่นละแสน เสร็จแล้วสุขภาพเสื่อมโทรม แล้วก็เบียดเบียนกันในสังคม แย่งชิงกันมาก เพราะต้องเอาให้มาก ในขณะที่กินเพื่อตอบสนองความต้องการของชีวิตที่เป็นธรรมชาตินั้นแค่ 100 บาท แต่กินเพื่อสนองความต้องการของบุคคลเชิงสังคมเนี่ยกินตั้งหมื่นบาท อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็เบียดเบียนกันในสังคมมาก แล้วก็เอาจากธรรมชาติแวดล้อม ทำลายธรรมชาติให้เสื่อมโทรม นี่ก็เป็นตัวอย่าง ศาสตร์ต่างๆ มักจะแยกขาดออกไป เช่น พิจารณาเป็นศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ก็มองมนุษย์ในแง่เป็นบุคคล เป็นสมาชิกของสังคม เขาจะพพิจารณากันในแง่ของบุคคลเท่านั้นเอง ไม่เคยเข้าถึงชีวิต ฉะนั้นพุทธศาสนาที่สอนเรื่องสมมตินี้เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องนี้ว่าเรื่องของมนุษย์นี่มันเป็นเรื่องของ หนึ่ง-วินัย การบัญญัติจัดตั้ง แล้วการที่เราจัดตั้งนี่เพื่อให้มนุษย์ได้รับประโยชน์จากตัวความจริงของธรรมชาติ คือธรรมะ เพราะฉะนั้นจะต้องวางให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ สอง-สมมตินั้นมีขึ้นเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์แก่สังคม เช่นในการสื่อสาร จะได้พูดจากันรู้เรื่อง แล้วที่สำคัญก็คือเพื่อให้เราเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ สมมตินั้นจึงเป็นเรื่องของคนที่ฉลาด จะยกตัวอย่างอีกสักอันหนึ่งให้เห็นว่ามนุษย์นี่ใช้วินัย คือระบบสมมตินี้มาเอาประโยชน์จากความจริงของธรรมชาติอย่างไร พระพุทธศาสนาเนี่ย อาตมาขอยกตัวอย่างเรื่องกรรม กรรมมี 2 อย่าง กรรมตามธรรมะ กับ กรรมตามวินัย โยมมักจะมองกันไปด้านเดียว กรรมต้องมองให้ครบนะ ถ้าจะปฏิบัติพุทธศาสนาให้ถูก กรรมมี 2 อย่าง กรรมโดยธรรม คือ กรรมตามกฎธรรมชาติว่าที่ท่านเปรียบเทียบว่าปลูกมะม่วงเกิดเป็นมะม่วง อะไรอย่างนี้เป็นต้น ทำดีเกิดผลดี ทำชั่วเกิดได้ชั่ว ความชั่ว อะไรอย่างนี้นะ นี่เป็นเรื่องของกรรม ตามกฎธรรมชาติ หรือโดยธรรม ทีนี้มันมีกรรมอีกอย่าง กรรมโดยวินัย ก็เป็นกรรมจัดตั้ง เป็นกรรมโดยบัญญัติ พระพุทธเจ้าก็บัญญัติว่าพระภิกษุรูปนี้ทำความผิดอย่างนี้ ไม่ยอมรับ เอาเข้าที่ประชุมสงฆ์พิจารณาโทษ หรือทำสิ่งไม่ดีอย่างนี้ นำเข้าที่ประชุมแล้ว ที่ประชุมมีมติลงโทษ ทำนิคหกรรม นี่เรียกว่ากรรมตามวินัย กรรมตามวินัยนี่เป็นเรื่องสมมติ ไม่มีจริงในกฎธรรมชาติ แต่เอาว่าเป็นบัญญัติตามวินัยเพื่อผลธรรมะ เพื่อให้ความเป็นจริงของธรรมชาตินี้เกิดผลที่ดีต่อสังคมมนุษย์ แล้วกรรมนี้ที่เป็นสมมตินี่ก็กลายเป็นจริง อันนี้มองให้ดีนะ กรรมที่เป็นสมมติที่เป็นนิคหกรรมเป็นจริง พุทธศาสนาไม่ได้บอกว่าเขาทำชั่วอย่างนั้นแล้วปล่อยเขาไปเถอะ ต่อไปเขารับผลกรรมเอง อันนี้ต้องระวังนะ เป็นลัทธิแล้วแต่โชค ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าบัญญัติกรรมไว้ให้เสร็จ บอกคุณมีกรรมโดยธรรมชาติแล้ว ฉันได้บัญญัติกรรมโดยสมมติทางวินัยให้คุณอีก ทีนี้กรรมทางวินัยนี่มันคืออะไร อย่างที่บอกเมื่อกี้ เช่นพระภิกษุทำความผิด ท่านไม่รอหรอก จะรอให้พระองค์นี้ได้รับผลกรรมตามกฎกรรม ตามกฎแห่งกรรม พระท่านรอที่ไหน ท่านเอาเข้าที่ประชุมเลย จัดการเลย พิจารณาโทษ ลงโทษ นิคหกรรมนี่กรรมของสงฆ์ กรรมโดยสมมติ แล้วกรรมโดยสมมตินี้มันโยงไปกับกรรมตามกฎธรรมชาติอย่างไร ก็คือความฉลาดของมนุษย์ ที่รู้ความเป็นจริงของธรรมชาติแล้ว แล้วรู้ความประสงค์ของมนุษย์ว่าสังคมชุมชนของตนอยู่ดี เราจะต้องอยู่กันยังไง แล้วเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับผล มนุษย์ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างก้อนหินก้อนดินน้ำไหล หรือไม่ใช่เป็นจิ้งจกตุ๊กแกเนี่ย จะได้ไปรอ ไม่ได้ใช้สติปัญญษ ใช่ไหม มนุษย์มีสติปัญญา ก็เป็นสติปัญญาของมนุษย์ มนุษย์ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกฎธรรมชาติ ใช่หรือเปล่า เป็นรูปธรรม นามธรรม ใช่ไหม ปัญญามนุษย์นี่เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกฎหมายธรรมชาติอยู่แล้ว เป็นปัจจัยฝ่ายมนุษย์ และเป็นปัจจัยตัวสำคัญซะด้วย นอกจากนั้นมนุษย์มีเจตจำนง มีเจตนา เจตนามนุษย์นี่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติ มีเจตนาดีเจตนาร้าย เจตนาประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือเจตนาประกอบกุศลธรรม มีเมตตากรุณา มีศรัทธา เป็นต้น มนุษย์มีเจตนา มีปัญญา แสดงว่ามนุษย์นี่จะเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการของธรรมชาติ เราจะทิ้งปัญญาและเจตนาที่ดีของเราไปทำไม เราก็เอาปัญญาและเจตนาของเรานี่เข้ามาเสริมเข้าไปในกระบวนการของกฎธรรมชาติ เราก็จัดตั้งกรรมของเราตามวินัยขึ้นมา พอทำกรรมสมมติตามวินัยปั๊บ กรรมที่ทำนั้นการกระทำของมนุษย์ที่เกิดจากปัญญา เจตนา ก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเหตุปัจจัยของธรรมชาติทันทีเลย มันก็ช่วยให้กระบวนการของกฎธรรมชาตินั้น มันดำเนินไปในทิศทางที่มนุษย์ต้องการ ที่มนุษย์มีปัญญามีเจตนาดีต้องการ ฉะนั้นมนุษย์มีความสามารถอันนี้ จึงได้จัดตั้งวางระบบสมมติในทางสังคมขึ้นมา เพื่อเอาประโยชน์จากกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ เอากระบวนการของธรรมชาติมารับใช้มนุษย์ ฉะนั้นวินัยก็คือเทคโนโลยีทางสังคมนั่นเอง อย่างนักวิทยาศาสตร์นี่เขาเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติฝ่ายวัตถุใช่ไหม เขาก็เรียนรู้เรื่องธรรมชาติ ความลับของธรรมชาติ ความเป็นจริงของธรรมชาติ เขาก็ประดิษฐ์เทคโนโลยีขึ้นมา เพื่อจะไปดำเนินการตามกฎธรรมชาตินั่นแหละ แต่ในวิถีทางที่มนุษย์ต้องการ เทคโนโลยีก็เป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่สนองเจตนาและปัญญาของมนุษย์ใมการที่เข้าไปร่วมทในกระบวนการของกฎธรรมชาติให้เกิดผลที่มนุษย์ต้องการ แต่ถ้ามนุษย์เจตนาไม่ดีก็ไม่รับประกัน ทีนี้สำคัญว่ามนุษย์เวลานี้มีเทคโนโลยีฝ่ายวัตถุด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ความรู้ฝ่ายวัตถุเนี่ย มีเจตนาที่ร้าย ก็คือต้องการพิชิตธรรมชาติ เจตนานี้มันเป็นอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเกิดโทษร้านแก่มนุษย์เอง มันไม่ได้เป็นเจตนาเกื้อกูล แล้วปัญญาก็ไม่พอ มนุษย์ที่รู้วิทยาศาสตร์ก็รู้ไม่ทั่วถึง รู้เหตุปัจจัยด้านนี้ไม่รู้ด้านโน้น รู้แต่วิธีทำให้สำเร็จวัตถุประสงค์เฉพาะของตัวเอง แต่การกระทำของตัวเองที่ทำไปแล้วนี่ เกิดผลสะท้อนไปยังเหตุปัจจัยส่วนอื่น องค์ประกอบในธรรมชาติอย่างอื่น มันเป็นอย่างไร มนุษย์ไม่ได้ตามไปดู พอได้ผลที่ตัวต้องการ เทคโนโลยีอย่างนี้ พิชิตธรรมชาติได้ พออีก 10 ปีข้างหน้า ด้านอื่นที่มันส่งผลสะท้อนเป็นคลื่นไป มันออกไปในธรรมชาติ มันตีกลับมาเอามนุษย์ย่ำแย่ไปเลย ทีนี้ก็เกิดจากการที่มนุษย์เนี่ยมีปัจจัยตัวปัญญากับเจตนาที่ไม่เพียงพอ ปัญญารู้ไม่ทั่วตลอด แล้วก็เจตนาร้าย ต้องการพิชิตเอาชนะธรรมชาติ อันนั้นเป็นเทคโนโลยีฝ่ายวัตถุ ทีนี้เทคโนโลยีในทางสังคมก็อย่างนี้ คือมนุษย์รู้เข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ แล้วก็มนุษย์นี่มีปัญญามีเจตนาของตัวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยอันหนึ่งในกระบวนการของธรรมชาตินี้ มนุษย์นี่เป็นปัจจัยพิเศษในระบบธรรมชาตินะ พุทธศาสนาถือว่าอันนี้สำคัญมาก คือมันเป็นองค์ประกอบในธรรมชาติพิเศษที่พัฒนาได้ ไม่เหมือนอย่างองค์ประกอบอื่น อย่างก้อนดินก้อนหิน น้ำ หรือว่าจิ้งจกตุ๊กแกอย่างที่ว่าเมื่อกี้ มันพัฒนาไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นมันก็ไปทำอะไรในกระบวนการธรรมชาติไม่ค่อยได้ ทีนี้มนุษย์เรานี่พิเศษเลย ฝึกฝนพัฒนาได้ ท่านเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เกิดมาอย่างหนึ่ง ตายไปอีกอย่างหนึ่ง อย่างจิ้งจก ตุ๊กแก ช้าง ม้า เกิดมาอย่างไร ตายไปอย่างนั้น ทีนี้มนุษย์สามารถสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาได้เลย เป็นโลกมนุษย์ต่างหากจากโลกของธรรมชาติ เรียกว่าเป็นสังคม นี่แหละมนุษย์ก็จะใช้ปัญญาของตัวเองเข้าไปเอาประโยชน์จากระบบของธรรมชาติ ด้วยวินัย มนุษย์จะจัดสรรด้วยการเอาองค์ประกอบหรือปัจจัยฝ่ายตัวเอง คือปัญญาและเจตจำนง และการกระทำ ความจัดเจนต่างๆ เนี่ย เข้าไปเป็นส่วนร่วมในกระบวรการของธรรมชาติ เพื่อผันให้กระบวนการของธรรมชาตินั้น เป็นไปในทิศทางที่ตนต้องการได้ แต่ทั้งนี้อย่างที่ว่านะต้องมีปัญญารู้เข้าใจถึงธรรมะตัวความจริงนั้นทั่วตลอดจริงๆ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องมีเจตนาที่ดี ทีนี้ถ้าเขามีเจตนาที่ดีต่อส่งคม ก็อย่างที่ว่า อันนี้เราก็เลยให้มองเห็นว่าพระพุทธเจ้าทำไมจึงทรงสอนกรรมสองอย่าง กรรมทางธรรมะ นั่นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ แต่ทำไมเราจะต้องไปรอให้กฎธรรมชาติมันมีผลอย่างนั้นล่ะ มนุษย์มีความสามารถนี่ มีสติปัญญาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ปัจจัยพิเศษด้วย ถ้ารู้ปัจจัยในธรรมชาติแล้วก็เอาปัจจัยฝ่ายมนุษย์นี้เข้าไปใส่เข้าไปไปร่วมในกระบวนการของธรรมชาติ กระบวนการของธรรมชาติก็เกิดผลที่มนุษย์พึงประสงค์ เป็นผลดีต่อสังคมมนุษย์ทันทีเลย ฉะนั้นจึงอย่างที่บอกเมื่อกี้ มีพระประพฤติผิดนี่ท่านไม่รอหรอก ทีนี้ญาติโยมคนไหนที่พูดบอกรอเดี๋ยวกรรมก็ให้ผลของมันเอง แสดงว่าไม่รู้หลักพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนกรรมในทางวินัยนี้ก็เพื่อให้มนุษย์ใช้สติปัญญาเจตนาที่ดีของตัวเอง เอากรรมที่เป็นสมมตินี้เข้าไปร่วมในกระบวนการเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ กรรมตามวินัยก็ทำให้กรรม กฎแห่งกรรมที่เป็นฝ่ายธรรม หรือฝ่ายสภาวะ ฝ่ายธรรมชาติเนี่ย มันเกิดผลที่มันควรจะเป็น แต่ทั้งนี้เงื่อนไขอยู่ที่เจตนาและปัญญาของมนุษย์นั้น หนึ่ง-มีปัญญาเพียงพอไหม สอง- เจตนาดีไหม แต่สำหรับพระพุทธเจ้านี่ เราก็นเคารพนับถือพระองค์ว่าทรงตรัสรู้ธรรมะโดยสมบูรณ์แล้ว ฉะนั้นการที่พระองค์บัญญัติวินัย ตั้งระบบขึ้นมา เป็นจัดตั้งกรรมตามวินัยนี่ด้วยพระปัญญาที่สมบูรณ์แล้ว ฉะนั้นระบบสมมติของพระองค์นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการที่เอาเข้าไปร่วมในกฎธรรมชาติ ให้เกิดผลที่ดีต่อสังคมมนุษย์ ทีนี้มนุษย์ปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้หลักนี้แหละ คือหนึ่ง-ต้องรู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ ตัวธรรมะ ตัวสภาวะ ตัวธรรมชาติ สอง-จากความรู้เข้าใจนั้นมาจัดตั้งวางระบบสมมติ โดยบัญญัติกฎกติกาเป็นต้น เพื่อให้เกิดผลดีแก่สังคมของตนเอง แล้วตรงนี้ก็คือเป็นการที่วินัยมาประสานธรรมชาติกับสังคมมนุษ์ อย่างมนุษย์เราพัฒนาตัวเองอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ที่ว่ากิน สนองความต้องการของชีวิตด้านหนึ่ง สนองความต้องการของบุคคลอย่างหนึ่ง ถ้าเราใช้ปัญญาเราพัฒนาเด็กถูก ให้การศึกษาที่ถูก เด็กก็จะเริ่มรู้ แล้วเขาจะไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ แต่การศึกษาปัจจุบันนี้น่าเป็นห่วง ก็คือทำให้คนแปลกแยกจากธรรมชาติ เอาไปด้านเดียว ไปด้านบุคคลก็บุคคลสุดโต่งไปเลย งั้นเด็กก็ไม่รู้จักว่า แม้แต่กินว่าที่เรากินนี่เพื่ออะไร ถามทุกอย่าง ต่อไปอย่างพระนี่ต้องถาม เธอกินเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ที่แท้ ตอยให้ได้นะ ถ้าตอบไม่ได้ ท่านบอกว่ากินด้วยโมหะ ต้องกินด้วยปัญญา พอกินด้วยปัญญาแล้วเกิดอะไร ก็เกิดความดี เพราะปัญญาเป็นตัวบอกจุดประสงค์ เป็นตัวกำหนดขอบเขตปริมาณทุกอย่าง อย่างเราบอกว่ากินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี จะได้ไปดำเนินชีวิตที่ดีงาม ทำร่างกายชีวิตนี้ไปใช้ประโยชน์ อะไรอย่างนี้ พอเรากินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต มันเกิดจากปัญญา มันจะรู้เลยว่ากินแค่ไหนพอ ปริมาณของอาหารก็พอดี ประเภทของอาการก็พอดี เพราะว่าเรามีจุดหมาย แต่ถ้ากินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล มันเป็นจุดหมายเทียม มันเป็นไปตามค่านิยม เช่นว่าสังคมตอนนี้นิยมกันแบบนั้นแบบนี้ เป็นไปตามนั้น เสร็จแล้วก็สิ้นเปลืองมากมาย ไม่ได้ประโยชน์ กลับมาบั่นทอนทำลายชีวิตของตัวเองด้วย ฉะนั้นก็เลยเป็นการกินที่ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีความพอดี ไม่มีปัญญา อันเดียวกัน กินเพื่อชีวิต กินด้วยปัญญา กินพอดี อะไรนี่มันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้ากินไม่พอดี ก็กินด้วยโมหะ กินเพื่อสนองความต้องการของบุคคลอย่างเลื่อนลอยเป็นต้น นี่เป็นเพียงยกตัวอย่าง ศาสตร์ต่างๆ ระบบต่างๆ อะไรในสังคมเนี่ย ก็เป็นอันว่าอยู่ในสาระอันเดียวกัน ก็คือการที่ว่ามันเป็นเรื่องของ หนึ่ง-ธรรมชาติ ซึ่งมีตังธรรม ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เป็นเครื่องกำกับ มนุษย์นั้นอยู่ในท่ามกลางธรรมชาตินั้น ต้องเป็นไปตามกฎแห่งธรรมนี้ด้วย แล้วมนุษย์มาอยู่ร่วมกัน สร้างสังคมของตนเอง สังคมของตัวเองนี้จะไม่เป็นอิสระจากกฎธรรมชาติ จะให้สังคมขอตัวเองดี มนุษย์จะต้องรู้เข้าถึงกฎความจริงของธรรมชาติ แล้วก็มาบัญญัติจัดตั้งโดยสมมติ เพื่อให้เกิดผลดีแก่สังคมของตัวเอง ระบบบัญญัติสมมติ จะเป็นเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นระบบการเมืองการปกครอง เป็นระบบการศาลยุติธรรม เป็นระบบอะไรก็แล้วแต่เนี่ยทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องปัจจุบันก็คือเรื่องเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเศรษฐศาสตร์เวลานี้ดูจะคำนึงแต่บุคคล ไม่ได้คำนึงถึงชีวิต ก็โดยมากพวกสังคมศาสตร์จะเป็นสังคมที่แปลกแยกจากธรรมชาติ คือเอาแต่ด้านสังคม ซึ่งเป็นเรื่องสมมติ แล้วเป็นเรื่องของบุคคล สมมติ วินัย แบบแผน การจัดตั้ง ยกตัวอย่างบ่อยนะ โยมคงเคยอ่าน ได้ยินมาบ่อย อย่างเราจะตั้งกฎอะไรสักอย่างเนี่ย มันมีพร้อมกันเลยนะที่จะมีปัญญารู้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติหรือไม่ อย่างบอกว่า ฉันจัดตั้งส่วนงานขึ้นมาส่วนหนึ่ง ส่วนงานเรียกว่าทำความสะอาดกรุงเทพมหานคร มีคนที่จะทำหน้าที่กวาดถนน คนมารับสมัครกวาดถนน รับแล้ว มีเงินเดือน เท่าไหร่ดี ตอนนี้อาตมาไม่ทราบว่าเงินเดือนคนกวาดถนนเท่าไหร่ อาตมาก็ว่าเอาเองก็แล้วกัน ตีซะว่าได้เงินเดือน 7,000 บาท ถ้ากวาดถนน 1 เดือน ได้เงินเดือน 7,000 บาท เราก็บอกว่านี่ มีกฎแล้วใช่ไหม กฎนี่อาจจะวางเป็นกฎหมายก็ได้ หรืออาจจะแค่กฎกรุงเทพมหานคร บอกว่า กวาดถนน 1 เดือน ได้เงินเดือน 7,000 บาท การกวาดถนนเป็นเหตุ เงินเดือน 7,000 บาทเป็นผล อันนี้เศรษฐศาสตร์บ้าง สังคมศาสตร์ สังคมวิทยาบ้าง ก็เอาไปคิดกัน โดยมากก็อยู่กันแค่นี้ อันนี้เป็นกฎนะ ญาติโยมก็เห็น เป็นจริงนี่นา ต้องทำงาน 1 เดือนจึงได้เงินเดือน กวาดถนน 1 เดือน ได้เงินเดือน 7,000 บาท ถ้าไม่กวาดก็ไม่ได้ การกวาดถนนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน 7,000 บาท เป็นผล ทีนี้นี่ก็เป็นตัวอย่างของกฎสมมติ มันมีกฎอีกกฎหนึ่งซ้อนอยู่ ถามหน่อยเถอะว่าที่กวาดถนนนี่ต้องการอะไร ที่แท้แล้วต้องการให้ถนนสะอาด ใช่ไหม ถ้าพูดให้ถูก การกวาดถนนเป็นเหตุ ความสะอาดของถนน เป็นผล ใช่หรือเปล่า อันนี้คือเหตุผลที่แท้จริง ผลตามกฎธรรมชาติ ทีนี้เราต้องการผลที่ไหน เราต้องการผลตามกฎธรรมชาติ หรืผลตามกฎแห่งธรรมะ คือต้องการความสะอาด เราจึงให้มีการกวาดถนน การกวาดถนนเป็นเหตุ ความสะอาดเป็นผล อันนี้เป็นกฎธรรมชาติตรงไปตรงมาเลย แล้วทำไมมนุษย์ให้มีการกวาดถนนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน 7,000 บาทเป็นผล นี่แหละก็คือมนุษย์ที่ฉลาด รู้จักจัดตั้งวางสมมติขึ้นมา เพื่อเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติ เพื่อจะให้กฎธรรมชาติที่ว่าการกวาดถนนเป็นเหตุ ความสะอาดของถนนเป็นผลเกิดขึ้น ด้วยความฉลาดของมนุษย์เราก็มาตั้งกฎเกณฑ์เพื่อจะให้มีคนมาทำงานเอาจริงเอาจังใช่ไหม นี่คือการจัดระบบแบ่งงานแบ่งการกันเป็นต้น มันจะได้เป็นจริงขึ้นมา เพื่อสนับสนุนกฎธรรมชาตินั้น เราก็จัดตั้งเพื่อให้มีคนมาทำงานเอาจริงเอาจังในการกวาดถนน เขาก็เลยทำงานกวาดถนน 1 เดือน ได้เงินเดือน 7,000 บาท ตามกฎมนุษย์ นี่คือกฎสมมติ แล้วผลที่แท้ก็คือผลตามกฎธรรมชาติ คือความสะอาดของถนน ใช่ไหม ทีนี้สองอันนี้ทำไงมันจึงจะประสารชนกันได้ผลจริง เพราะผลที่แท้ต้องการเป็นจุดหมายนั้นคือความสะอาดของถนนนะ ไม่ใช่ เงินเดือน 7,000 บาทนะ เงินเดือน 7,000 บาทนั้นเป็นผลของบุคคลนั้นเท่านั้น ทีนี้ หนึ่ง-ต้องวิเคราะห์ออกไปว่าการกวาดถนน 1 เดือน ได้เงินเดือน 7,000 บาทนั้น เป็นกฎสมมติ ทำไมจึงเป็นกฎสมมติ บอกแล้วว่ากฎสมมตินั้นคือกฎที่อยู่ได้ด้วยการยอมรับร่วมกัน ถ้าไม่ยอมรับร่วมกันเมื่อไหร่ กฎนี้หายทันที ใช่หรือเปล่า ทำงาน 1 เดือน กวาดถนน 1 เดือน 7,000 บาท มาไหม ถ้าไม่มีการยอมรับร่วมกัน หมดเลยใช่ไหม ต้องมีการยอมรับ เช่นยอมรับโดยการเอาสกฎหมายมาวางโดยการยอมรับของรัฐของสังคมเป็นต้น ถ้าเกิดไม่ยอมรับซะอย่างหนึ่งก็ไปเลย กฎมนุษย์นี้หายทันที ฉะนั้นกฎมนุษย์เราจึงเรียกว่ากฎสมมติ เพราะมันอยู่ได้ด้วยการยอมรับร่วมกัน แต่กฏธรรมชาตินั้นเป็นกฎที่แท้ คือกวาดถนน แล้วถนนก็สะอาด ใช่ไหม ถ้าไม่กวาดหรือไม่ทำชำระมัน ก็ไม่สะอาด แต่ผลที่แท้นั้นก็คือเราต้องการผลตามกฎธรรมชาติ คือความสะอาดของถนน แต่เพราะความฉลาดของมนุษย์ ก็ตั้งกฎสมมติขึ้นมาหนุน เพื่อให้มนุษย์มีคนที่มาทำงานเอาจริงเอาจัง เพื่อจะให้ถนนสะอาด แต่ถ้ามนุษย์ไม่เข้าถึงกฎธรรมชาติ แปลกแยกจากธรรมชาติเมื่อไหร่ เขาจะต้องการผลเพียงตามกฎมนุษย์เท่านั้น ก็คือกวาดถนนเพียงเพื่อให้ได้เงินเดือน 7,000 บาท พอถึงตอนนี้ล่ะยุ่งแล้ว มนุษย์เริ่มแปลกแยกจากธรรมชาติเมื่อไหร่ เอาแต่ผลตามกฎมนุษย์เมื่อไหร่ เมื่อนั้นสังคมมนุษย์จะเริ่มเสื่อมโทรมทันที พอคนกวาดถนนกวาดเพียงเพื่อเงิน 7,000 บาท ไม่คิดถึงความสะอาดของถนน ตอนนี้แหละเริ่มเป็นปัญหาแล้ว ก็ตั้งคนคุม คนคุมเงินเดือนอีก 8,000 บาท แล้วคนคุมก็คอรัปชั่นอีก ตั้งอีก ซ้อนขึ้นมาอีก ตั้งกันไปตั้งกันมาเสือตาย อะไรที่มีโคลงโลกนิติ บาทสิ้นเสือตาย อะไรอย่างนี้ นี่คือกฎของมนุษย์ เมื่อมนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติแล้ว มนุษย์ก็จะเกิดความเสื่อมขึ้นในสังคมของตนเอง ฉะนั้นมนุษย์ที่ฉลาดนี่เอาประโยชน์จากธรรมชาติด้วยการจัดตั้งวินัย คือระบบสมมติของมนุษย์ขึ้นมา แล้วก็สามารถทำให้ผลตามกฎธรรมชาติเกิดขึ้นจริง ได้ผลดี แต่ว่าเมื่อมนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ อยู่กับกฎสมมติของตัวเอง ก็เริ่มเกิดปัญหาทันที เหมือนอย่างสังคมปัจจุบันนี้ ขอให้ดูเถอะ เป็นเพราะมนุษย์เนี่ยแปลกแยกจากธรรมชาติ เข้าไม่ถึงความจริงของธรรมชาติ ศาสตร์ต่างๆ ก็แปลกแยก ได้ด้านเดียว เช่นสังคมศาสตร์ก็ได้เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในแง่ที่เป็นตัวบุคคลอย่างเดียว มองแต่เรื่องสมมติในทางสังคมอย่างเดียว แม้แต่ชีวิตก็ไม่มอง คนแต่ละคน มนุษย์แต่ละคนเนี่ยก็ดำเนินชีวิตที่ผิด มองตัวเองในแง่บุคคลอย่างเดียว ไม่มองในแง่ที่เป็นชีวิต ว่าพื้นฐานที่แท้จริงของตัวเองนั้นมันเป็นชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติ ฉะนั้นอย่าได้แปลกแยกทีเดียวจากเรื่องของความเป็นจริงตามธรรมชาตินี้ เพราะไปไหนไม่พ้น มนุษย์แต่ละคนในที่สุดก็เป็นชีวิตที่เป็นธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ฉะนั้นเราจะต้องประสานสองอันนี้ให้ได้ วินัยนี่แหละเป็นความฉลาดของมนุษย์ วินัยก็คือระบบการจัดตั้งในสังคมมนุษย์ จะเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมืองต่างๆ เนี่ย แล้วระบบการเมืองของเราเนี่ย ก็คือระบบสมมติโดยประการทั้งปวงอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แล้วอย่างที่บอกเมื่อกี้ ทำกันมา 69 ปีแล้ว ยังเข้าไม่ถึงสมมติเลย ฉะนั้นสมมติมันยิ่งใหญ่แค่ไหน ขอให้พิจารณากันให้ดี อาตมาก็เลยได้พูดเรื่องเกี่ยวกับสมมตินี้มาก็เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจว่าที่พระท่านสมมติสีมาเนี่ย เป็นคำที่เราดูว่าเล่นๆ สมมติ สมมติ มันน่าจะเหลวไหลไม่จริงไม่จัง แต่ที่จริงคือเรื่องสำคัญ แล้วยิ่งเราอยู่กันเป็นสังคมเนี่ย สังคมเราจะอยู่ได้ด้วยดีก็ด้วยสมมตินี่แหละ ฉะนั้นก็ขอให้เราทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าเราทำความเข้าใจเรื่องนี้ถูกต้องนะ เราจะมองพวกศาสตร์ต่างๆ ถูกหมด ฉะนั้นเวลานี้เราแยกศาสตร์ต่างๆ เป็นมนุษยศาสตร์ มองในแง่คุณค่า ในด้านมนุษย์ ในด้านคุณค่า มองสังคมศาสตร์ในแง่มนุษย์ที่เป็นบุคคล แล้วก็มองวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในแง่ชีวิตด้านวัตถุ แล้วก็ทิ้งช่องว่างชีวิตมนุษย์ที่เป็นด้านจิตใจไว้ แล้วสอง-ก็ไม่โยงให้ทั้งหมดนี้มาประสานกัน เพราะฉะนั้นมันก็จะต้องเกิดเป็นปัญหาต่อชีวิตและสังคมมนุษย์เรื่อยไป จนกว่ามนุษย์จะสามารถโยงประสาน ความจริงในสมมตินี้ให้มาถึงตัวความจริงในปรมัตถ์ หรือสภาวธรรมนั้นให้ได้ ก็ได้พูดมาเป็นเวลาก็ไม่น้อยแล้ว ก็ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่ามนุษย์เรานี่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่ามนุษย์เรานี่เป็นตัวอยู่กลางระหว่างธรรมชาติกับสังคม แล้วเราอย่ามองแต่ด้านสังคมอย่างเดียว เพราะว่าตัวเรานี่เป็นสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นชีวิตที่เป็นธรรมชาติ ด้านหนึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคม ถ้าเราจัดการกับตัวเราดี เราจะเป็นตัวประสานสังคมกับธรรมชาติ หรือวินัยกับธรรมะให้ถึงกัน พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบ 2 เราเรียกชื่อพระพุทธศาสนาว่า ธรรมวินัย หมายความว่าจะเป็นพระพุทธศาสนานี้ต้องมีครบ มีธรรมะคือด้านความจริงของธรรมชาติ กับด้านวินัย การจัดตั้งวางระบบสมมติในสังคมมนุษย์ แล้วด้านวินัยอาศัยด้านธรรมะคือความจริงของกฎธรรมชาติเป็นฐาน ต้องรู้ความจริงของกฎธรรมชาติให้ดี ทั่วตลอดที่สุด แล้วมาจัดตั้งวางระบบได้ดีที่สุด แล้วจัดตั้งครั้งนี้ก็เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมะ จะได้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ได้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยสมบูรณ์ แล้วมนุษย์ก็จะพัฒนางอกงามไป ชีวิตและสังคมที่ดีก็เกิดขึ้น ไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ แล้วเราก็จะได้ระบบที่สมบูรณ์ของการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษยชาติ ก็คือทั้งธรรมชาติและทั้งสังคมมนุษย์ที่มีตัวมนุษย์เองเป็นตัวประสานอยู่ตรงกลาง อันนี้ตัวโยงที่สำคัญก็ได้บอกแล้วก็คือตัวปัญญา คนเราจะถึงธรรมะก็ด้วยปัญญา ปัญญาเรียนรู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้ามีปัญญาด้านหนึ่ง คือปัญญาตรัสรู้ธรรมะ รู้ความจริงที่มีอยู่ของมันตามธรรมดา แล้วมีปัญญาที่สอง ก็คือปัญญาที่จัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์ ปัญญาด้านที่หนึ่ง-รู้ธรรม ปัญญาด้านที่สองในการจัดสรรวินัย มันก็เลยเกิดอะไรต่ออะไรที่เป็นของสภาวะกับของสมมติคู่กันไปตลอด แม้แต่กรรมก็เป็นกรรมโดยสภาวะตามกฎธรรมชาติ แล้วก็มีกรรมโดยสมมติ ที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม อย่างสมมติสีมาให้โบสถ์นี้มีขอบเขตที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมได้เนี่ย กรรมที่พระสงฆ์ทำท่านเรียกสังฆกรรม เป็นกรรมโดยสมมติ กรรมโดยบัญญัติทางวินัยที่มีขึ้นมา แต่ว่าทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่การที่จะให้สังคมนี้ได้ประโยชน์จากความจริงของธรรมชาติ และอยู่ด้วยดีนั่นเอง ฉะนั้นก็ขอให้เข้าใจความมุ่งหมายอย่างที่อาตมาภาพได้กล่าวมา การปฏิบัติต่อสมมติก็เลยขอย้ำอีกนิดนึงว่าคนเรานั้นเมื่อมีสมมติขึ้นมาแล้ว ปฏิบัติให้ถูก ก็จะมีพวกสุดโต่ง 2 อย่าง หนึ่ง-พวกเห็นสมมติเป็นเหลวไหล อันนี้ก็ไปสุดโต่งหนึ่ง ก็เสีย ผมไม่รู้เรื่องว่าเขามีสมมติขึ้นมาทำไม สอง-ก็พวกหลงใหลในสมมติ คือหนึ่ง-เห็นเหลวไหล สอง-ก็หลงใหล พวกนี้สุดโต่งไปคนละทาง พวกเหลวไหลก็คือเห็นว่ามันไม่เป็นจริง แล้วสอง-หลงใหล ก็คือ ติด เห็นเป็นจริงเป็นจัง ความจริงมันเป็นความจริงระดับหนึ่ง ท่านเรียกสมมติสัจจะ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ จริงโดยการยอมรับร่วมกัน ใช่ไหม แล้วเราก็ต้องรู้เท่าทัน ท่านก็บอกว่าให้ปฏิบัติกับสมมติให้ถูกต้อง เรามีสมมติขึ้นมาด้วยเหตุผลเพื่อการอยู่ดีร่วมกันของสังคมมนุษย์ เมื่อวางสมมติแล้วต้องปฏิบัติให้ถูกตามสมมตินั้น ต้องปฏิบัติเอาจริงเอาจัง อย่างพระเนี่ย วินัยของพระเป็นสมมติทั้งนั้น แต่ต้องเอาจริงเอาจัง ปฏิบัติ แม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้ ผิดพลาดไม่ได้เลย ใช่ไหม สมมตินี่วางกันขึ้นมาโดยมีมติร่วมกัน หนึ่ง-ต้องเคารพในสงฆ์ ในสังคม ในมติร่วมกัน สอง-ก็คือโดยปัญญาที่รู้เหตุผลว่าวางขึ้นมาทำไม วัตถุประสงค์มันมี ไม่ใช่บัญญัติขึ้นมาเลื่อนลอย เพราะฉะนั้นสมมติขึ้นมาแล้วก็ต้องทำให้เป็นจริงเป็นตามนั้น ตกลงกันอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามนั้นจริงจัง เช่นในการสื่อสาร คนนี้ชื่อนี้ คนนั้นชื่อนั้น ตกลงกันแล้วก็เรียกกันไปตามนั้น แต่ว่าด้วยความรู้เท่าทัน คือว่าใช้ ปฏิบัติให้ถูกต้อง เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าตรัส คำว่าสมมตินี้มีตัวแทนคำหนึ่งของคำว่าโวหาร โวหารใช้กับเรื่องสมมติในเรื่องสื่อสาร เรื่องคำพูดจาต่างๆ นี้เป็นเรื่องของสมมติทั้งนั้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้ ทรงใช้ตามที่เขาใช้ ไม่ให้ผิด ใช้อย่างรู้เท่าทัน เพราะรู้ว่าบัญญัตินี้ ถ้อยคำนี้เขามีเพื่ออันนี้ สื่ออันนี้ ถ้าไปทำให้มันพลาด คนอื่นก็เข้าใจผิดพลาด ก็เป็นผลเสียในทางธรรมะนั่นแหละ ฉะนั้นก็ต้องว่าสมมติให้ถูกต้อง ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นด้วยความรู้เท่าทัน ต้องไม่ไปหลงมัน ไม่ไปหลงเอาเป็นจริงเป็นจังอีก ถ้าไปหลงเป็นจริงเป็นจังก็ขอเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ฟัง อาจจะใกล้ปิดท้ายแล้ว มีนิทานเรื่องลิง เมื่อกี้เรื่องหมูกับราชสีห์ คราวนี้เรื่องลิง ลิงตัวหนึ่งถูกราชบุรุษจับไปได้ ก็เอาไปถวายองค์พระมหากษัตริย์พระราชา เจ้าลิงตัวนี้ฉลาดมาก พระราชาก็ทรงโปรด ให้มันเป็นลิงตัวตลกประจำราชสำนัก ทีนี้มันอยู่ในนั้น มันฉลาดมันก็รู้เข้าใจ มองเห็นความเป็นอยู่ของผู้คน ต่อมาพระราชาก็ทรงสงสาร ลิงตัวนี้มันฉลาดแล้วมันก็เก่ง มันก็มาช่วยรับใช้งานการดีพอสมควรแล้ว ให้มันกลับไปอยู่ป่า อยู่บ้านอยู่ช่องของมันเถอะ ก็เลยทรงรับสั่งให้ราชบุรุษเนี่ย นำเอาลิงตัวนี้กลับไปปล่อยในป่า เจ้าลิงนี่ออกจากป่าไปหลายปี พอกลับไป เจ้าพี่น้องเพื่อนฝูงมันได้ยินข่าว มาห้อมล้อมกันเต็มหมดเลย แล้วก็มาถามข่าวว่านี่แกไปไหนมาตั้งหลายปี ว่างั้นนะ เจ้าลิงตัวนี้ก็บอกว่าไปอยู่ในวัง ว่างั้นนะ แล้วเป็นไงบ้างละวัง โลกมนุษย์สังคมมนุษย์เป็นไงบ้าง เจ้าลิงก็ว่านี่แกอยากฟังไหม ไม่น่าฟังเลย เจ้าลิงพวกพ้องก็อยากฟังใหญ่ มันเป็นยังไง เล่าให้ฟังไม่ได้รึ อูย เอามือปิดหูดีกว่า ว่างั้น มันเป็นยังไง บอกว่าพวกมนุษย์นี่เหล่ามนุษย์นี่มันไม่พบเห็นอารยธรรมแล้ว ทั้งวันทั้งคืนมันพูดกันอยู่ว่าเงินของข้าทองของข้า ว่างั้นนะ อาตมาเอาแค่นี้ เพราะว่ายังมีต่อ แต่ว่านี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าลิงมองคนยังไง คนหาว่าลิงไม่มีอารยธรรม วันนี้ลิงบอกว่ามนุษย์ไม่พบเห็นอารยธรรม แล้วคิดให้ดีนะ มนุษย์จะต้องคิดให้ดี ลิงมันบอกว่ามนุษย์นี้ไม่เคยพบเห็นอารยธรรม ทั้งวันทั้งคืนพูดกันอยู่ได้เงินของข้า ทองของข้า เงินทองนี่เป็นสมมติบัญญัติใช่ไหม มันไม่เป็นจริง กินไม่ได้ แต่ว่ามนุษย์มีความสามารถฉลาดในสมมติ ก็บัญญัติกันขึ้นมา รับรู้ร่วมกัน ยอมรับ นี่เงินบาทนะ เงินบาทมีค่าเท่านี้ ตอนนี้มีค่าเท่านั้น เหรียญหนึ่งมีค่า 40 กว่าบาท อะไรก็ว่ากันไป เป็นสมมติบัญญัติ แต่มนุษย์อย่าหลงใหลติดอยู่นะ ต้องเข้าถึงความจริงของธรรมะ ถ้าแปลกแยกจากธรรมะ ตัวความจริงก็มาติดหลงใหลอยู่แค่สมมติเท่านั้น แล้วมนุษย์เองก็จะเกิดอันตรายแก่ชีวิตและสังคมของตัวเองจากการที่หลงผิดติดสมมตินี้ ฉะนั้นก็ให้รู้เข้าใจปฏิบัติต่อสมมติให้ถูกต้อง อย่างเป็นจริงเป็นจัง ด้วยความรู้เท่าทันแล้ว ก็ไม่ได้เห็นมันเป็นจริงไปตามนั้นด้วย ถ้ารู้ด้วยปัญญาปฏิบัติถูกต้อง ก็เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติถูกต้องก็จะได้ประโยชน์อย่างที่ว่าแล้ว ก็ขอทวนอีกทีว่า เราเอาปัญญาและเจตนาที่ดีของมนุษย์เข้าเป็นปัจจัยร่วมในกระบวนการของกฎธรรมชาติ เพื่อให้กระบวนการของกฎของธรรมชาติออกผลในแนวทางที่เป็นผลดีกับชีวิตและสังคมของเรา นี่คือมนุษย์ที่ฉลาด เป็นผู้ประเสริฐอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องพัฒนามนุษย์ขึ้นมา เวลานี้เท่ากับว่าเรามีเทคโนโลยี 2 อย่าง เทคโนโลยีด้านวัตถุ ที่อาศัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติปัจจุบัน ก็คือเทคโนโลยีที่รู้กันทั่วไป อย่างที่เอามาถ่ายอาตมาปัจจุบันนี้ด้วย แล้วก็เทคโนโลยีทางสังคมก็คือวินัย แล้วมนุษย์นี่มีความฉลาดสามารถแค่ไหน มนุษย์จะทำเทคโนโลยีอย่างนี้ขึ้นมาได้ ก็ต้องรู้เข้าใจธรรมะ คือความจริงของธรรมชาติ แต่ว่าตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ว่า หนึ่ง-มนุษย์รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ หรือตัวธรรมนั้น ไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ สอง-มีเจตนามิชอบ เป็นอกุศล ฉะนั้นก็ทำให้เกิดผลร้ายแก่สังคมของตน ฉะนั้นจะให้ดีแล้วเทคโนโลยี แม้แต่เทคโนโลยีทางวัตถุนี่ก็ต้องไม่ประมาทในการศึกษา คือค้นหาความจริง ใช้อย่างไม่ประมาท ไม่ใช่ว่าคิดจะเอาแต่ได้ของตัวเอง แล้วก็เอามาใช้เลย ซึ่งเกิดผลเสียมากกว่าดี แล้วก็ต้องมีเจตนาที่ดีมิใช่เพียงเพื่อจะไปพิชิตเอาชนะธรรมชาติ ต้องมีเจตนาเพื่อความมุ่งหมายของมนุษย์ เดี๋ยวนี้แยกเป็นความมุ่งหมายหรือจุดหมายของบุคคลกับจุดหมายของมนุษย์ จุดหมายของมนุษย์เป็นจุดหมายที่กว้างขวาง มนุษย์อยากมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข อยากให้สังคมของตนอยู่กันดีมีความร่มเย็นเป็นสุข อยากให้โลกนี้น่าอยู่อาศัย รื่ยรนย์ งดงาม อันนี้คือจุดหมายของมนุษย์ เราเป็นมนุษย์กันมาตลอดประวัติศาสตร์พยายามจะให้เกิดภาวะที่ดีอันนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันมีจุดหมายของบุคคลก็คือ เช่นระบบธุรกิจ ต้องการกำไรสูงสุด อยากทำอะไรได้กำไรมากที่สุด คนอื่นจะเป็นอย่างไร สังคมจะเป็นอย่างไร ชีวิตจะเป็นอย่างไร แม้แต่ชีวิตของตัวเอง ก็เบียดเบียนชีวิตตัวเอง เบียดเบียนสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ฉะนั้นเวลานี้ปัญหาก็เกิดมีจุดหมายของบุคคลที่มาบั่นทอนจุดหมายของมนุษย์ ฉะนั้นมนุษย์จะต้องตระหนักในจุดหมายของมนุษย์ที่ว่าเพื่อให้ชีวิตดีงาม เพื่อให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เพื่อให้โลกนี้น่าอยู่อาศัย แล้วเราก็ทำการทุกอย่างด้วยอาศัยเทคโนโลยีทางสังคม คือวินัยนี้มีระบบจัดตั้งสมมติบัญญัติที่ดี ก็จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีทางวัตถุด้วยปัญญาและเจตนาอย่างเดียวกัน อันนี้ก็จะเป็นการนำธรรมะมาใช้อย่างได้ประโยชน์ที่แท้จริง
บัดนี้ญาติโยมทั้งหลายก็ได้มาร่วมงานทำบุญปิดทองลูกนิมิต แล้วก็จะตัดลูกนิมิต ฝังลูกนิมิต ผูกสีมา อย่างที่กล่าวแล้วว่า ตัวสาระสุดยอดของงานนี้คือการสมมติสีมา สุดท้ายจบด้วยการที่พระสงฆ์สวดสมมติสีมา พอสมมติเสร็จ งานนี้ก็จบ ฉะนั้นการสมมตินี่แหละเป็นจุดหมายของงานนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฉะนั้นก็ขอให้โยมทุกท่านได้เข้าใจตระหนักในความหมายและความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ของสมมตินี้ แล้วเราก็มาช่วยกันปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสมมติ โดยโยงให้ถึงธรรมชาติอย่างที่กล่าวแล้ว โดยเป็นมนุษย์ที่ฉลาด ที่สามารถเชื่อมสังคมกับธรรมชาติให้เข้าถึงกันได้ ด้วยปัญญาและเจตนาที่ดีของตัวเอง แล้วเอาตัวเองที่พัฒนาแล้วนี้ไปเป็นปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติอย่างถูกต้อง สมมติสีมาก็จะเป็นเครื่องเตือนระลึกให้ทุกท่านไปทบทวนความรู้เข้าใจเกี่ยวกับพุทธศาสนา ในแง่ที่กล่าวมานี้ ว่าสมมติสีมาเป็นกรรมอันหนึ่งที่เรียกว่าสังฆกรรม เป็นกรรมโดยสมมติ เป็นกรรมของสมมติสงฆ์ ที่ปฏิบัติการต่างๆ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะพยายามสร้างอริยสงฆ์ให้เกิดมีขึ้นในสังคมมนุษย์ให้ได้ ก็ขอให้โยมได้ช่วยกันนำหลักการนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป อย่างน้อยก็ถ้ายังไม่ชัด ก็ขอให้ไปศึกษากันต่อ นี่ก็เป็นสาระในแง่หนึ่งของพระพุทธศาสนา เพราะว่าเป็นตัวทำให้สำเร็จความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาตมาภาพก็ได้กล่าวมาในเรื่องสมมติที่เป็นตัวประสานธรรมะกับสังคมนี้พอสมควร แต่ว่าถ้าใช้ศัพท์ให้ตรงกว่านั้นก็คือวินัย นั่นเอง วินัยเป็นตัวประสานสังคมกับธรรมชาติ หรือสังคมกับตัวธรรมเข้าด้วยกัน แล้วเราก็จะอยู่ในสังคมที่ดี มีชีวิตที่ประเสริฐได้ ก็ขออนุโมทนาโยมทุกท่าน ก็ขออนุโมทนาหลายๆ อย่าง โมทนาทั้งการมาร่วมกันฟัง สัมโมทนียกถา อนุโมทนา หรือโยมจะเรียกปฐกถาก็แล้วแต่นี้ แล้วก็อนุโมทนาที่มาร่วมทำบุญฝังลูกนิมิตผูกสีมานี้ แล้วก็อนุโมทนาเมื่อกี้ก่อนจะเริ่มการพูดก็หมอจรูญ ผลนิวาส ก็นำกุญแจมาถวายกุฏิ มาสร้างกุฏิถวาย กุฏินี้เป็นกุฏิเรื้อรัง คือสร้างกันมา จะเริ่มคิดสร้างมา 5-6 ปี ก็กำลังจะสำเร็จ โยมก็นำกุญแจมาถวาย ที่จริงโยมจะถวายนานแล้วก็สร้างนานแล้ว ก็เลยช้ากันอยู่ ทางฝ่ายพระ ตอนนี้ก็กำลังจะสำเร็จ ก็ขออนุโมทนาโยมหมอจรูญ ผลนิวาส พร้อมกับโยมคุณหญิงกระจ่างศรี ??? เป็นต้นด้วย ที่ได้ร่วมให้สำเร็จในการทำกุฏินี้ให้เกิดขึ้น ก็มีทั้งช่าง คุณตัน อยู่ที่นี่ด้วย ที่เป็นสถาปนิก แล้วก็คุณหมอกาญจนา ??? ทุกท่านก็โยมทั้งหลายได้ร่วมกัน แล้วก็ในงานผูกสีมานี้ ที่สำคัญก็คือโยมทุกท่านี่ได้ร่วมกันอุปถัมภ์ เสียสละแรงกาย แรงใจ ได้ร่วมทุน อุปถัมภ์ภัตตาหาร อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ทำกันเต็มที่จนกระทั่งว่าก็ขออนุโมทนารวมๆ ไปก็แล้วกัน ว่าทำให้งานนี้ได้ดำเนินก้าวหน้ามาด้วยดี จนถึงบัดนี้ใกล้จะสำเร็จลุล่วงแล้ว ก็ขออนุโมทนา บุญกุศล ความตั้งใจดีของโยมทุกท่าน ก็ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นงอกงามในร่มพระพุทธศาสนา มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา กำลังความสามัคคีที่จะดำเนินชีวิตและกิจการให้ก้าวหน้าบรรลุผลสมหมาย ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตแก่ครอบครัวและสังคมประเทศชาติ และแก่โลกที่เราอาศัยร่วมกันนี้ ให้เจริญงอกงามอยู่ในธรรมและความสุขโดยทั่วกันตลอดปีใหม่ 2544 นี้ แล้วตลอดไปทุกเมื่อเทอญ