แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ผู้ถาม : อยากให้หลวงพ่อช่วยเมตตานิดนึงนะคะว่า ในพระไตรปิฎกเนี่ยคะได้กล่าวถึงกำเนิดของโลกและจักรวาลไว้ว่าอย่างไรบ้างคะหลวงพ่อ
เรื่องนี้ความจริงไม่ใช่เรื่องที่ทางพระศาสนาท่านสนใจ นะฮะ ท่านจะสนใจเอาใจใส่สอนคนว่าทำยังไงจะให้ประพฤติดี พัฒนาตัวเองให้เจริญงอกงาม มีพฤติกรรมที่ดีจิตใจที่ดี มีปัญญารู้เท่าทันความจริงและดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะมาสอน เล่าเรื่องความเป็นมา กำเนิดโลกอะไรโดยตรงนี่ เรียกได้ว่าไม่มี แต่อาจจะมีพาดพิง โดยที่ว่าท้าวความไปถึงความเชื่อของคนสมัยก่อน คือคนทุกยุคทุกสมัยเนี่ยก็ย่อมมีเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องโลก เรื่องจักรวาล นะฮะ นี้ บางท่านก็อาจจะไปยกเอาเรื่องอย่างในอัคคัญญสูตร อัคคัญญสูตรนี่ก็จะพูดไปในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับกล่าวถึงแนวคิดของพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องวิวัฒนาการของโลก แต่ว่าเราต้องมองดูว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้นั้นตรัสขึ้นจากภูมิหลังว่าปรารภอะไร
ตามเรื่องก็ว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงว่า เดิมเนี่ยตอนที่สังคมมนุษย์จะเจริญขึ้นมา แต่เดิมนี่ก็ยังไม่มีมนุษย์ และก็ธรรมชาติต่างๆก็พูดถึงการที่โลกเนี่ย ใช้ ท่านใช้เวลาแปลเนี่ยจะใช้คำว่าเสื่อม แต่ว่าในภาษาบาลีใช้คำว่า สํวฏฺฏติ คือแสดงอาการที่มันเป็นวงกลมหรือหมุน หมายความว่ามีการหดตัว หรือว่ามีการที่ว่าม้วนกลับ แล้วต่อมามันก็คลี่คลายขยาย เรียกว่าวิวัฏ เขาเรียกว่าสังวัตรกับวิวัฏ นี้โลกก็เสื่อม ภาษาบาลีท่านใช้คำว่าสังวัฏ มันก็หดตัว แล้วก็ในทางเจริญ เราอาจจะแปลไม่ถูกก็ได้ คือเราแปลกันว่าเจริญ แต่ภาษาบาลีเรียกว่าวิวัฏ วิวัฏก็คือคลี่คลายออกไป นะฮะ ทีนี้ก็ถือว่าเรื่องของการจะหดตัวแล้วก็คลี่คลายออกไปอะไรเนี่ย ก็เป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ แต่ความสำคัญก็คือว่า มาสัมพันธ์กับมนุษย์ แล้วมนุษย์จะดำเนินชีวิตอยู่กันอย่างไร นะฮะ
อันนี้ตามเรื่องที่มาเกี่ยวกับมนุษย์เนี่ย ก็ว่าถึงว่าเดิมนี้ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ไม่มีมนุษย์ นี้โลกก็เสื่อมลงไป ต่อมาก็กลับคลี่คลาย ก็เรียกวิวัฏขึ้นมาอีก แทนที่วิวัฏก็พูดถึงการที่ว่า แต่เดิมก็มี เหมือนกับว่าโลกหรือจักรวาลมีความมืด ต่อมามีแสงสว่าง มีพระจันทร์ พระอาทิตย์อะไรตอนเนี้ย นะฮะ ก็ต่อมาก็มีสัตว์ที่มาเกิด แล้วก็สัตว์นั้นก็กินไอ้พวกสิ่งที่ลอยอยู่บนน้ำ นะฮะ คือน้ำมันก็ปนอยู่กับเรื่องของดิน ของอะไรพวกเนี้ย นะฮะ ความขุ่นข้น ก็มีเป็นสารที่ลอย และก็กินสิ่งเหล่านั้น
ต่อมาก็วิวัฒนาการในทางร่างกาย ต่อมาสังคมมนุษย์ก็เจริญขึ้น แล้วมีเกิดมีมนุษย์ นะฮะ และสังคมนุษย์ก็มีการที่อยู่กัน แล้วก็เกิดปัญหาความขัดแย้ง มีการเกิดของนักปกครอง เกิดของพระราชา แล้วเกิดของผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่เราเรียกว่าวรรณะสี่ของอินเดีย คือพระพุทธเจ้าตรัสในประเทศอินเดีย ก็ตรัสตามภูมิหลังของคนที่เขาอยู่กันอย่างงั้น ให้เห็นว่าเกิดมีผู้ปกครองขึ้นมาอย่างไร เกิดมีพวกพราหมณ์ นักวิชาการ นักบวช อย่างไร แล้วก็เกิดพวกผู้ประกอบอาชีพต่างๆอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น จนกระทั่งพวกกรรมกร หรือที่เรียกว่าวรรณะศูทร
ทีนี้สาระสำคัญในเรื่องนี้ มันอยู่ที่ว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสเนี่ย ตรัสเพราะปรารภทัศนะของพราหมณ์ แล้วก็ตรัสกับคนที่มาจากวรรณะพราหมณ์มาบวช คือมีเณรสององค์เป็นมาณพก็คือเป็นชายหนุ่มวรรณะพราหมณ์ แล้วเขามาเลื่อมใสพุทธศาสนา มาบวช ตอนนั้นท่านยังเป็นเณรอยู่ ทีนี้การที่เขามาบวชเนี่ย นะฮะ ก็อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งกับคนในวรรณะของเขาซึ่งไม่เห็นด้วย
แต่นี้วรรณะพราหมณ์นั้นนับถือพระพรหม พระพรหมนั้นก็เป็นเทพเจ้าที่พวกชาวอินเดียหรือพวกถือศาสนาพราหมณ์นั้น ถือว่าเป็นผู้สร้างโลก และเป็นผู้สร้างสังคมมนุษย์ บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างมนุษย์โดยแบ่งเป็นวรรณะสี่ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ใครเกิดมายังไงก็ถือว่าเป็นไปตามที่พระพรหมสร้าง ก็ต้องอยู่ในวรรณะตลอดไป สาระสำคัญมันอยู่ที่นี่ คือพระพุทธเจ้าต้องการตรัสให้เห็นว่า การที่มนุษย์มาแยก ที่เราเรียกเป็นแบ่งวรรณะ แบ่งพวก แบ่งอาชีพกันเนี่ย มันเป็นเรื่องของวิวัฒนาการของสังคม นะฮะ ไม่ใช่เป็นเพราะพระพรหมสร้าง สาระสำคัญมันอยู่ที่นี่ นะฮะ
ก็จะตรัสเล่าถึงการที่ว่ามนุษย์นั้นเดิมก็อยู่กินไปกันไป หาอาหารมากินในแต่ละวัน ว่าเช้าไปหาอาหารก็เก็บเอาพืชพรรณที่มีอยู่ แล้วก็เอามารับประทาน เย็นก็ออกไปก็เก็บเอามารับประทาน ต่อมาก็ มีบางคนก็มีความคิดขึ้นว่า เอ้อ แทนที่เราจะต้องไปทีละครั้ง ลำบาก ก็เก็บมาไว้ เอามากินซะทีเดียว ทั้งวัน ทั้งเช้า ทั้งเย็น แล้วก็เก็บทีเดียว ต่อมาก็ เอ้อ เก็บให้มันกินไปได้หลายๆวัน นะฮะ ไปทีเดียว อย่างงี้เป็นต้น เมื่อมีการเก็บสะสมขึ้นมาอย่างงี้ก็ต้องการทีละมากๆ ทำให้มนุษย์เนี่ยต้องมีการแบ่งเขต ก็เริ่มมีการจัดสรรค์ คล้ายๆจัดสรรค์เขตที่ดินกันขึ้น มีการครอบครอง
อันนี้ ต่อมา ในบรรดาคนเหล่าเนี้ย บางคนก็มีความโลภมาก นะ อยากได้มากๆ ในที่ของตัวในเขตที่ตกลงกันว่าเป็นของตนเองนั้น อาจจะมีน้อยไป หรือว่ามันเป็นที่ไม่ดี ก็พอคนอื่นมาเห็น ก็ละเมิดเข้าไปหยิบเอาของคนอื่น เนี่ย พอคนอื่นเข้าเห็นก็เกิดวิวาทกัน ทะเลาะกัน นะฮะ เกิดการทุบตีกัน ก็เริ่มมีปัญหาในสังคมความขัดแย้ง นี้ต่อมามนุษย์ที่มีสติปัญญาก็เห็นว่าจะปล่อยให้สังคมอยู่อย่างงี้ไม่ได้ ก็จึงมาประชุมกันแล้วก็มาคิดกันว่า เราควรจะตั้งใครซักคนหนึ่งในบรรดาพวกเรานี่แหละที่เป็นคนมีบุคลิกลักษณะดี มีสติปัญญาความสามารถที่คนจะเชื่อถือ แล้วก็มอบอำนาจให้ แล้วให้ท่านผู้นั้นนั้นตัดสิน เวลาเกิดเรื่องความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาทกัน
อันนี้เพื่อจะให้ท่านผู้นั้นทำหน้าที่นี้ได้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น ก็เลยไม่ให้มีภาระเรื่องอาหาร มอบที่ดินอะไรต่างๆให้นะฮะ และก็ให้ทำหน้าที่เนี้ย แต่ในต่อมาก็เพื่อให้การตัดสินสะดวกก็ถึงกับว่ามอบให้เหมือนกับเป็นใหญ่ในที่ดินทั้งหมด ก็จะได้พิจารณาตัดสินได้เต็มที่ แต่นี้ท่านผู้เนี้ยที่ทำหน้าที่อย่างเนี้ย ก็เรียกกันว่าเป็นมหาสมมติ แปลว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นใหญ่ นะฮะ เลือกตั้งก็ได้ แต่งตั้งก็ได้ นี้เรียกว่าราชา เพราะว่าเป็นผู้ที่ช่วยทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ ในการที่มาช่วยวินิจฉัยตัดสินคดีให้เกิดความสงบเรียบร้อย และก็เรียกว่ากษัตริย์ เพราะว่าให้เป็นใหญ่ในเขตในที่ดิน นะฮะ อันนี้ก็ถือว่าเป็นการกำเนิดของกษัตริย์ หรือการปกครอง
ทีนี้ในเมื่อสังคมมันมีความวุ่นวายอย่างงี้ มีการปกครองขึ้นแล้ว ก็มีคนจำพวกหนึ่งที่เห็นว่าสังคมนี้วุ่นวายไม่อยากยุ่งด้วย แหมมันมีความชั่วกันเหลือเกิน เราละเลิกสิ่งเหล่านี้ไป ออกไปอยู่ในป่าในดง นะฮะ พวกนี้ก็เกิดเป็นคนอีกพวกนึง ซึ่งมาเป็นพวกพราหมณ์ นะฮะ แล้วก็มีพวกที่ไปอยู่จำเพาะตัวปลีกหลีกลี้จากสังคมไปหาความสงบทางจิตใจ บำเพ็ญฌาน ก็อาจจะเป็นพวกคล้ายๆอย่างงี้อีกพวกนึง และก็เป็นพวกที่เอาไอ้ความรู้ต่างๆเหล่านี้ มาเที่ยวบอกคน นะฮะ ก็พวกนี้ก็จะไปอยู่ในสายของพวกพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ที่เป็นนักวิชาการ เป็นผู้ที่เป็นเจ้าพิธี เป็นผู้ที่ต่อมาก็ในแง่ของพราหมณ์ก็ผูกขาดการศึกษา นะฮะ
แล้วก็พวกที่อยู่มีครอบมีครัว มุ่งหน้าทำมาหาเลี้ยงชีพต่างๆ ประกอบการค้าอะไรต่างๆพวกนี้ ก็เป็นอีกวรรณะนึง เรียกว่าวรรณะแพศย์ แล้วก็มีวรรณะศูทรอะไรพวกนี้ก็ว่ากันไปตามที่เรื่องของการเป็นอยู่การประกอบอาชีพของคนนี้เอง ไม่ใช่ว่าพระพรหมณ์ท่านสร้างมาหรอก นี้พระพุทธเจ้าตรัส เรื่องราวก็ต่อมาก็เรื่องของสังคมมีความเสื่อมความเจริญ พระพุทธเจ้าก็บอกเนี่ยทั้งหมดเนี่ย มันเป็นเพราะแบบแผนความประพฤติของคนเป็นเครื่องวัด นะฮะ เป็นเรื่องหลักการต่างๆที่จะเป็นเครื่องตัดสินการที่คนจะเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ ศูทร ก็เป็นไปตามหลักการเป็นไปตามแบบแผนขนบธรรมเนียมที่มนุษย์ยึดถือตกลงวางเป็นข้อปฏิบัติ เป็นไป
ในที่สุดก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ความจริงของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย เขาเรียกว่าธรรม เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นพรหมผู้สร้างเนี่ย มิได้ มิใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เทพเจ้าสูงสุดบันดาลสิ่งต่างๆ แต่กฎแห่งความเป็นจริง ธรรมะนี่แหละเป็นใหญ่ นะฮะ เป็นเครื่องวัด เป็นเครื่องตัดสินสิ่งทั้งหลาย นั้นถ้าหากว่าคนจะเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ หรือเป็นศูทร จะทำความชั่วก็ชั่วทั้งนั้น ทำความดีก็ดีทั้งนั้น นะฮะ ไม่ใช่มาวัดด้วยชาติกำเนิด แล้วก็เมื่อมาพัฒนาตนอย่างดี เป็นพระอรหันต์แล้วก็ถือเป็นผู้สูงสุดในหมู่มนุษย์ไม่ขึ้นต่อวรรณะไหน จะเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นจัณฑาลอะไรมา พัฒนาตนได้อย่างนี้ก็สูงสุดในหมู่มนุษย์ แม้แต่เทพ มนุษย์ที่พัฒนาตัวอย่างนี้ก็สูงกว่า นะฮะ
เพราะฉะนั้น ประเด็นของเรื่องมันไม่ได้อยู่ที่การสร้างโลกหรืออะไร หรือกำเนิดโลก อา เรื่องสร้างโลกไม่มีอยู่แล้ว แต่เรื่องกำเนิดโลกก็ไม่ได้ถือเป็นสำคัญ แต่ให้เห็นว่า หนึ่ง ในแง่ธรรมชาติก็เป็นเรื่องของวิวัฒนาการ ความเป็นไป ความคลี่คลาย หดตัว อะไรของสิ่งทั้งหลาย และก็เรื่องของสังคมมนุษย์เป็นจุดเน้น มนุษย์สังคมก็เป็นไปตามการกระทำของมนุษย์ นะฮะ จุดเน้นจะอยู่ที่การกระทำของมนุษย์ อา อันนี้คือเรื่องของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้ามาถามกันเรื่องพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องกำเนิดโลกอย่างไรนี่ เดี่ยวจะเปลี่ยนประเด็นจุดสนใจไป นะฮะ เจริญพร
ถาม : แล้วอย่าง เอ่อ ความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่พระพุทธเจ้าทรง ทรงพยากรณ์ น่ะคะ อันนั้นเนี่ย เอ่อ เนื้อหาสาระโดยรวมแล้วเนี่ย คืออะไรบ้างค่ะ
อันนั้นยิ่งชัดใหญ่เลย เรื่องก็มีว่า วันหนึ่งตอนใกล้รุ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระมหาสุบิน ฝันครั้งใหญ่ ฝันเห็นสิ่ง 16 สิ่ง โดยมากจะเป็นสัตว์ เป็นสัตว์เป็นสิ่งของทั้งหลาย 16 อย่าง อันนี้เป็นของที่มันแปลก ไม่น่าจะเป็นไป เพราะความที่มันแปลก มันก็ตรงข้ามกับภาวะที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ก็ทำให้พระองค์ตระหนกพระทัยว่าจะเกิดเหตุร้ายอะไร นะฮะ ก็เลยพอเช้าขึ้นมา พอถึงเวลาที่พวกอำมาตย์มาประชุมกัน พราหมณ์ปุโรหิตเข้ามาเฝ้า เขาก็เป็นธรรมเนียมจะถามว่าพระองค์ทรงบรรทมหลับดีอะไรต่างๆหรือ พระองค์ก็บอกเปล่า จะไปหลับดีอะไรล่ะ ฝันร้าย นะ เขาก็เลยขอทูล กราบทูลให้ทรงเล่าให้ฟัง
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เล่าความฝัน 16 ประการ นะฮะ บอกว่าเนี่ย เรื่องมันเป็นอย่างเงี้ย จะดีจะร้ายก็ขอให้พราหมณ์ปุโรหิตช่วยทำนาย แล้วช่วยหาทางแก้ไข พราหมณ์ปุโรหิตก็ทำนายบอก โอ๊ นี่เป็นเรื่องใหญ่โตมาก นะฮะ จะมีอันตรายกับราชสมบัติ หนี่งเลยนะท่านเรียกว่าเป็นรัชชันตราย สองเป็นอันตรายเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ โรคันตราย สามก็เป็นอันตรายแก่พระชนมชีพแก่พระชีวิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลเอง เรียกว่า ชีวิตันตราย ก็แสดงว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง นะฮะ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยิ่งตกพระทัย ทำยังไงล่ะ ก็เลยขอถามว่าจะแก้ไขยังไง พราหมณ์ก็ถนัดนักบอกว่าต้องประกอบพิธีบูชายัญ นะ ก็เตรียมการ เอาละซิ พระเจ้าปเสนทิโกศล เพราะความที่ทรงเกรงภัยต่อพระองค์เองน่ะ อ้า ก็เตรียมการที่จะบูชายัญเป็นการใหญ่
แต่นี้ฝ่ายนางมัลลิกาเทวีเป็นพระมเหสีเนี่ย ทรงเลื่อมใสพุทธศาสนา ทรงรู้เข้าใจธรรมะ เห็นว่าเรื่องความเชื่อถืออย่างนี้ไม่ถูกต้อง แล้วก็ตามแนวทางของผู้ที่เข้ามานับถือทางธรรมะก็จะเห็นว่าพวกพราหมณ์นี่มีแรงจูงใจเบื้องหลัง คือ อยากได้ผลประโยชน์จะทำการบูชายัญ แล้วก็ไม่เข้าเรื่อง บูชายัญก็ต้องฆ่าสัตว์จำนวนมากมาย นะฮะ ตอนนี้ก็เป็นการทำเรื่องไม่เป็น เรื่องเบียดเบียนด้วย นะฮะ พระนางมัลลิกาเทวีได้ทรงทราบความเป็นไป เห็นความโกลาหล ก็เลยมากราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสถามว่าอะไรเกิดขึ้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเล่าให้พระนางมัลลิกาทราบ ว่าเรื่องมันเป็นอย่างเงี้ย นี้พระนางมัลลิกาก็เลยกราบทูลบอก เอ๊ นี่พระพุทธเจ้าก็ประทับอยู่ที่พระเชตวันเนี่ย เรา พระองค์ไปประ ไป ไปทูลถามพระพุทธเจ้าก็น่าจะดี นะฮะ
ก็เลยพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ตกลง ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่าพระองค์ได้มีความฝันอย่างงี้ แปลว่ายังไง พระพุทธเจ้าก็เลยตรัส บอกว่าไอ้เรื่องฝันเนี่ยมันไม่ได้เกี่ยวกับพระองค์ หรือแม้แต่กาลเวลาช่วงนี้หรอก มันเป็นเรื่องในอนาคตโน่น นะฮะ ทีนี้เรื่องฝัน 16 อย่าง ที่ว่าเป็นเรื่องอนาคตเนี่ย เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีเรื่องธรรมชาติเข้าไปเกี่ยวข้องมั่ง มันก็เกี่ยวกับเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมมนุษย์ นะธอ
ทีนี้ก็จะยกตัวอย่าง คงจะเคยได้ยินนะ 16 อย่างมีอะไร ก็เช่นอย่างบอกว่า เห็นวัวตัวใหญ่วิ่งมาจาก 4 ทิศ ทิศละตัว ยังกับจะเข้ามาชนกัน นะฮะ แต่เสร็จแล้วพอวิ่งเข้ามา ใกล้กันแล้วก็กลับออกห่างกันไปแล้วก็วิ่งหายไป นะฮะ อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง หรืออย่างอีกอันว่า ต้นไม้เกิดมาโผล่เหนือดินแทรกขึ้นมานิดเดียวมีลูกแล้ว หรือว่าแม่โคนี้กลับกลายเป็นมาดื่มนมลูก นะฮะ แล้วคนแทนที่จะเอาวัวตัวใหญ่ๆมีกำลังมาเทียม มาเทียมเกวียน ก็เอาตัวเล็กๆ นะฮะ มาเทียมเกวียน แล้วก็มีม้า มี 2 ปาก กินหญ้าเป็นการใหญ่ อะไรต่างๆนะฮะ หรือว่าเรื่องคนทั้งหลายนี่มีตุ่มน้ำอยู่ ตุ่มหนึ่งอยู่ตรงกลาง อยู่ที่วัง พากันเอาน้ำไปใส่เต็มล้นยังไงๆก็ไม่หยุด แต่ไอ้ตุ่มอื่นๆที่อยู่ข้างนอกออกไปไม่เอาใจใส่ ไม่เหลียวแล ปล่อยให้ว่าง นะฮะ
หรือว่ามีสระอยู่สระหนึ่งก็กลางสระนั้นน้ำกลับขุ่น ทีนี้ไอ้ตอนข้างๆขอบสระใกล้ตลิ่งซึ่งมีสัตว์ต่างๆไปเหยียบย่ำมาก กลับน้ำใส นะฮะ หรือว่ามีคนเอาแก่นจันทร์ที่มีค่ามีราคาสูงเนี่ยไปแลกกับเปรียงเน่า อย่างงี้เป็นต้น หรือตลอดจนกระทั่งว่า เขียดไล่งูเห่า น้ำเต้าจม ศิลาลอยอะไรต่างๆเหล่าเนี้ยนะฮะ แกะกวดเสือ เนี่ย เป็นธรรมดาเสือมันต้องไล่แกะ นะฮะ อันนี้เป็นตัวอย่างเรื่องของมหาสุบินของพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่ว่าพราหมณ์ปุโรปิตว่า จะเป็นอันตรายแก่พระองค์ต้องบูชายัญ พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่เป็นอันตรายแก่พระองค์หรอก มันเป็นเรื่องของความเป็นไปสังคมภายหน้า
ทีนี้ก็จะยกตัวอย่างที่ว่า อ้าวเช่นว่าเมื่อกี้ได้บอกว่า วัวตัวใหญ่วิ่งมาจากทิศทั้ง 4 เหมือนจะมาชนกัน พอใกล้กันก็ต่างก็ถอย แยกกันไปหมดเนี่ย อะไร ก็บอกว่าต่อภายหน้านี่ เมฆตั้งมาเหมือนกับมาจาก 4 ทิศมืดมัวหมด พอมาถึงจริงเดี๋ยว อ้าวเตรียมตัวจะรับฝน เดี๋ยวหายไปหมดไม่ตกซะนี่ อะไรอย่างงี้ นะฮะ หรือว่าม้า 2 ปาก ม้า 2 ปากอันนี้ก็บอกว่า ต่อไปเนี่ยนะ ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเป็นใหญ่ เช่นว่า ว่าคดีความ เป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีก็จะมีการที่ว่าหาผลประโยชน์เอาจากทั้งฝ่ายโจทย์ทั้งฝ่ายจำเลย กินทั้ง 2 ข้างอะไรอย่างงี้ เนี่ยๆ ม้า 2 ปาก
หรือตักน้ำใส่ตุ่มเดียวให้เต็มตุ่มกลาง ไอ้ตุ่มนอกไม่เอาใจใส่ ก็บอกว่าต่อไปภายหน้า ผู้ปกครองเนี่ยก็จะไปหากินกับชาวชนบท นะฮะ ไปเบียดเบียนชาวชนบท ตัวเองเนี่ยมันก็ตุ่มเต็ม นะฮะ แต่ชาวบ้านก็เอาแต่ผลประโยชน์มาให้ เสร็จแล้วไอ้ตุ่มชาวบ้านเองว่างไม่มีน้ำเลย แย่กันไปหมด นะฮะ นี่ยกเป็นตัวอย่าง
หรือว่า อย่าง น้ำกลางสระขุ่น น้ำที่อยู่ใกล้ๆขอบสระถูกสัตว์ทั้งหลายเหยียบย่ำ กลับใส ก็หมายความว่า ในตัวเมืองที่เป็นที่ชุมนุมของความเจริญเนี่ย กลับมีแต่ปัญหาความเดือดร้อน ข่มเหงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน นะ เหมือนกับน้ำที่ขุ่น คือว่าคนทั้งหลายที่หาความสงบสุขก็ต้องหนีออกไปข้างนอก นะฮะ ไปอยู่ตั้งชุมชนกัน มีความสุขสงบดีนะ เหมือนกันกับที่น้ำใสทั้งๆที่สัตว์ทั้งหลายไปเหยียบย่ำกันมาก นะฮะ
หรือบอกว่าแก่นจันทร์ไปแลกเปรียงเน่า ก็เหมือนอย่างพวกข้าราชการ ที่ว่า เอ้อ อันนี้จะเน้นไปที่พระภิกษุ ต่อไปพระภิกษุนี่จะเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นของมีค่าเนี่ย เอาไปหาผลประโยชน์ นะ เอาไปแลก เอาเป็นเงินเป็นทอง มุ่งลาภสักการะ อย่างนี้เป็นต้น นะฮะ
น้ำเต้าจม ก็คือว่าคนที่เป็นผู้ดีมิการศึกษาไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู นะฮะ แต่ว่าคนที่ไม่มีการศึกษา กลับมีกำลังมีอำนาจขึ้นมา นะฮะ เฟื่องฟูขึ้นมา นะฮะ ก็ตรงข้ามกับข้อที่ว่า ศิลาก็ลอย คนที่ควรจะมีน้ำหนักเป็นผู้ที่ควรได้ความเคารพนับถือเชื่อฟังนั้น ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ ถ้อยคำจะพูดเขาก็ไม่รับฟัง นะ เหมือนศิลาที่ลอยอะไรอย่างงี้ นะฮะ
เขียดไล่งูเห่า ก็ทำนองเดียวกันคือ ผู้มีอำนาจก็ไปอยู่ในอำนาจน่ะ ของคนที่เรียกว่า อันนี้จะเน้นไปที่เรื่องของผู้หญิง นะฮะ คือว่าผู้มีอำนาจอะไรต่างๆก็ไปอยู่ในอำนาจของราคะจริต หาความสุขสำราญ ก็เลยไปอยู่ในอำนาจของผู้หญิงที่ตัวเล็กๆน้อยๆ อะไรทำนองนี้ นะฮะ แทนที่ว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี นะฮะ
หรือแกะกวดเสือ ก็เป็นทำนองเดียวกันก็คือว่าพวกคนที่ควรจะมีความรู้ความสามารถ มีอำนาจก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในอำนาจ ให้อยู่ในหน้าที่ที่จะทำงานบริหาร กลับเอาคนที่ไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถ มี ขึ้นมาเป็นใหญ่ ไอ้เจ้าพวกเหล่านี้ก็เป็นผู้ไล่กวดข่มเหงไอ้พวกคนที่มีความดีงาม มีความสามารถ มีความรู้ มีการศึกษาดี อะไรทำนองเนี้ย นะฮะ หมายความว่าคนไม่มีการศึกษา อบรมอะไรก็ขึ้นเป็นใหญ่ เรื่องก็เป็นทำนองนี้
ให้ข้อสังเกตว่านี่เป็นเรื่องของความเป็นไปในสังคม ซึ่งจุดสังเกตอันหนึ่งก็คือให้เห็นวื่พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพระราชา ทำหน้าที่ปกครอง พระพุทธเจ้าตรัสนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกครองเข้าไปตั้งกี่ข้อแล้ว ก็เท่ากับเป็นการเตือนเลยเนี่ย เตือนเรื่องการที่จะปกครองแผ่นดินทำให้บ้านเมืองสงบสุข มันจะมีเหตุอะไรที่จะทำให้เกิดผลร้ายขึ้นมา ในลักษณะเนี้ยเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะต้องป้องกันแก้ไข เพราะฉะนั้นจุดสำคัญก็คือเรื่องความไม่ประมาท นะฮะ
แล้วก็อย่างพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องอนาคตภัย ก็ตรัสในมุมพระภิกษุสงฆ์ ก็จะเป็นทำนองเนี้ย จะเน้นเรื่องพระ
มีสูตรนึง เขาเรียกว่า อนาคตภยสูตร สูตรว่าด้วยภัยในอนาคต พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายบอกว่าเนี่ยนะ เรื่องของความเป็นไปในหมู่สงฆ์ ในพระศาสนาเนี่ยก็ต้องไม่ประมาท เรื่องแม้จะไม่เกิดในบัดนี้แต่ภายหน้าก็จะเป็นไปได้ ก็คือการที่ว่า ต่อไปในอนาคต พระภิกษุที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรม ไม่ได้ เขาเรียกว่า ไม่ได้พัฒนากาย ไม่ได้พัฒนาศีล ไม่ได้พัฒนาจิตใจ ไม่ได้พัฒนาปัญญา นะฮะ
อยู่มาก็ได้เป็นอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ ตัวเองก็ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษาอบรม ก็ไม่สามารถจะไปให้การศึกษาอบรมแก่ผู้ที่ตนบวช ผู้ที่มาอยู่ในปกครองได้ ต่อมาพระที่อยู่ในปกครองเหล่านั้นที่เข้ามาบวช ก็ไม่ได้รับ เมื่อไม่ได้รับการศึกษาอบรม ไม่ได้พัฒนากาย ไม่ได้พัฒนาศีล ไม่ได้พัฒนาจิตใจ ไม่ได้พัฒนาปัญญา ต่อไปก็ต้องขึ้นไปเป็นผู้บริหาร เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์อีก นะฮะ ก็ต่อไปก็อย่างงี้ก็ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าบอกว่าเนี่ย แม้มันยังไม่ได้เกิดในบัดนี้ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ในกาลเบื้องหน้า เพราะฉะนั้นให้รีบป้องกันแก้ไขเสีย นะฮะ นั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเนี่ย หนึ่งจะเน้นเรื่องการกระทำของมนุษย์ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่เป็นไปเนี่ยที่เกิดจากการกระทำมนุษย์เป็นสำคัญ เหตุปัจจัยอื่นนั้นยังอยู่ในอำนาจมนุษย์นั้นน้อยกว่าการกระทำของตน แล้วความเป็นไปในสังคมมนุษย์นี้ส่วนใหญ่ไปจากกระทำของมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามเจตจำนงและแรงจูงใจ เพราะฉะนั้นให้ระมัดระวังเอาใจใส่ให้มันมากในเรื่องการกระทำของมนุษย์นี้
และประการที่สองก็คือต้องการให้ไม่ประมาท เพราะฉะนั้นพระสูตรทั้งหลายนี้จะเน้นเรื่องเนี้ย ถ้าตรัสเกี่ยวกับเรื่องอนาคต ถ้าเตรียมการไว้ ให้วางแผนไว้ อย่านึกว่ามันจะสุขสบายเรื่อยไป นะฮะ ต้องเตรียมการให้พร้อมไว้อะไรต่างๆเหล่านี้ นั้นก็ควรจะจับเอาสาระสำคัญเหล่านี้ เจริญพร แล้วมีข้อสงสัยยังไงนะ
ถาม : อย่างพระคุณเจ้าคะ อย่างคำทำนายฝันของพระเจ้าปเสนทิโศกลเนี่ยคะ อ่า ถือเป็นพุทธพยากรณ์ในการทำนายโลกในยุคปัจจุบันได้มั้ยค่ะ
คือคิดว่ามันเป็นอนาคตที่มาเป็นไปได้เรื่อยๆ ถ้าเราจับสังคมในยุคสมัยต่างๆ ก็จะมีความเสื่อมความเจริญ และในยุคที่เสื่อมก็จะมีปัญหาแบบนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสนี้ก็มองได้เป็นกลางๆ ว่าเนี่ยนะ ภัยอันตรายมันจะเกิดขึ้นได้ อย่างเงี้ย สังคมจะเสื่อมและโดยเฉพาะของการปกครอง แล้วก็ผู้ที่อยู่ในวงการบริหารเนี่ยสำคัญ นะฮะ อย่างเมื่อกี้เนี่ยเรื่องตักน้ำใส่ตุ่มที่อยู่ตรงกลางเต็มแล้วเต็มอีกแล้ว ตุ่มน้ำที่อยู่นอกๆออกไปนั้นไม่มีใครเหลียวแลปล่อยให้ว่าง
ถาม : อย่างพระพุทธเจ้า เห็นมีคนหลายคนที่ที่พูดเหมือนกันนะคะว่า พระพุทธเจ้าทรงทำนายไว้ว่ากึ่งพุทธกาลไปแล้วเนี่ยโลกจะโกลาหล แต่เหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นทั่วๆไปตอนนี้ มันจะถือว่ามันโกลาหลตามที่พระพุทธเจ้าทรงทำนาย
ไม่มีคำนายว่า 2,500 ปีหรือเรียกกึ่งพุทธกาล คำว่ากึ่งพุทธกาลเราก็มาว่ากันเอาคือในอรรถกถาน่ะ ท่านมีการแบ่งเรื่องความเสื่อมการสูญสิ้นไปของพระศาสนา นะ เป็นช่วงระยะ 5 ช่วง เขาเรียกว่า อันตรทาน อันตรทานก็คือความเสื่อมสูญสิ้นไป นะ 5 อย่าง ก็ทีนี้อย่างละ 1,000 ปีก็ รวมแล้วก็เลยเป็น 5,000 ก็เลยถือกันว่าพุทธศาสนาจะอยู่ 5,000 ปี อันนี้ก็ว่าไปตามแนวคิดที่พระอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวไว้ ไม่ได้เล่าไว้ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ หรือพอไปบอกว่า 5,000 ปี ทีนี้พอถึง 2500 ก็เลยนึกว่ากึ่งพุทธกาล
ความจริงแม้แต่พระอรรถกถาจารย์ท่านก็ไม่ได้มาแบ่งในแง่ของกึ่ง แต่ท่านแบ่งเป็นระยะ 1,000 ปี ว่าพันปีที่ 1 นี้ เมื่อสิ้นสุดลงก็ท่านเรียกว่าปฏิเวธอันตรทาน แปลว่าความเสื่อมสูญของปฏิเวธ คือการที่บรรลุผล หรือมรรคผลนิพพาน แล้วก็พันปีที่ 2 เรียกว่า ปฏิปัตติอันตรทาน อันตรทานของการปฏิบัติเพื่อจะให้บรรลุผลสำเร็จนั้น ช่วงที่ 3 พันที่ 3 เรียกว่า ปริยัตติอันตรทาน อัตรทานของการเล่าเรียนศึกษาพระธรรมคำสอน และช่วงที่ 4 ท่านเรียกว่า ลิงคอันตรทาน อันตรทานของเพศ เพศพระภิกษุจะหมดไป นะฮะ แล้วก็ต่อไปที่ 5 ก็เรียกว่า ธาตุอันตรทาน อันตรทานของพระธาตุ ก็เลยถือว่าเมื่อนั้น สิ่งที่เป็นหลักฐานแสดงถึงการมีอยู่พุทธศาสนาก็จะหมดสิ้น อันนี้ก็เป็นมติของอรรถกถา
ก็เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทำนายไว้แม้แต่เรื่อง 5,000 ปีนี้ โดยเฉพาะ 2,500 ปี กึ่งพุทธกาลก็ยิ่งเลยไม่มีใหญ่เลย
ถาม : ก็คือสรุปแล้วนี่ไม่มีคำทำนายพระพุทธเจ้า
ไม่มี เจริญพร คือ พระพุทธเจ้า คิดว่าพระองค์ไม่ทรงสนพระทัยเรื่องนี้ สนพระทัยเรื่องที่ว่า ให้คนเนี่ยไม่ประมาท สร้างสรรค์สังคมของตน ให้หลักกลางไว้แล้วนี่ บอกว่าความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าในแง่ของมนุษย์เรามองเป็นความเสื่อมความเจริญ ความเสื่อมความเจริญก็เกิดจากการกระทำของมนุษย์นั่นเป็นสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นข้อสำคัญก็คือมนุษย์ ท่านทั้งหลายนี่แหละจะต้องมาเพียรพยายามในการที่ทำการที่ดีงามสร้างสรรสังคมของตัวเอง อย่าไปทำเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเสื่อม
ถาม : ถ้าอย่างนั้น เอ่อ จากสื่อที่ออกมาหลายกระแสมากนะคะว่า อ่า มีพุทธพยากรณ์เกี่ยวกับพุทธทำนายว่า เอ่อ ว่าโลกเนี่ยจะถึงการวิบัติ ถึงกาลอวสานนี่ก็ไม่จริงซิค่ะ
ไม่มีที่ไหนหรอก เจริญพร ก็อันนั้นก็จะเป็นไป คือ พระพุทธเจ้าจะตรัสเป็นกลางๆว่าโลกมันก็เจริญ โลกมันก็เสื่อมไป ว่าถึงโดยเฉพาะจะเน้นเรื่องสังคมมนุษย์ที่มีการเสื่อมมีการเจริญ อย่างในจักรวัตติสูตรก็มีตรัสเรื่องเนี้ย เรื่องที่มนุษย์มีการประพฤติดีงาม สังคมเจริญขึ้นไป เมื่อมนุษย์อายุยืนขึ้น ต่อมามนุษย์ประพฤติไม่ดี สังคมเสื่อมลง แม้แต่อายุก็เสื่อมลงไปด้วย อะไรต่างๆเหล่าเนี้ย นะฮะ นี้ก็เป็นเรื่องที่เน้นเรื่องของการเป็นอยู่ของมนุษย์ การกระทำของมนุษย์ การที่มนุษย์ทำยังไงจะให้สังคมเนี่ยดำรงอยู่ด้วยดี นะฮะ จะไม่ไปยุ่งกับไอ้เรื่องที่ว่าจะเกิดอะไรมา น้ำจะท่วมโลก แล้วจะทำไง จะทำให้คนมันแตกตื่นกัน ไม่เข้าเรื่อง นะ เจริญพร
ถาม : แล้วความจริงพระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องความเชื่อไว้ในกาลามสูตรน่ะค่ะ ใน แต่ในปัจจุบันเนี่ยด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีที่มีอยู่เนี่ย ทำให้คนหลายๆคนสับสนจากข่าวสารที่ได้รับนะค่ะ อย่างว่า เอ่อ ปี 2000 ค.ศ. 2000 เนี่ย โลกอาจจะเกิดโกลาหลเกิดอะไรขึ้นเนี่ย อยากรบกวนให้พระคุณเจ้าช่วยเมตตาแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อใน ในเรื่องเหล่านี้ด้วยค่ะ
ประเดี๋ยวของแทรกนิดนึงว่า บางทีเราก็ไปยกเอาคำพยากรณ์เช่นว่าไม่มีในพระไตรปิกฎก แล้วเกิดไปค้นพบที่ไหน นะฮะ จะเป็นคัมภีร์หรือจะเป็นศิลาจารึก จะค้นพบโดยบังเอิญ ใครไปเจอเข้ามาแล้วบอกว่ามีพระพุทธเจ้าตรัสทำนายไว้ ไม่เจอในพระไตรปิฎกอย่างไรเนี่ย เรื่องอย่างงี้ก็จะมีได้เป็นระยะๆ ไปดูตามร้านหนังสือแถวเวิ้งนครเขษมสมัยก่อนเนี่ย มีตำราหมอดูยังมีเลย พระพุทธเจ้าตรัสทำนายลักษณะคน ก็อ้างพระพุทธเจ้า คือ อย่างงี้เขาเรียกลักษณะใส่พระโอษฐ์ นะฮะ ก็มีมานานแล้วเรื่องอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือเป็นสำคัญที่จะต้องรักษาหลักธรรมคำสั่งสอนให้บริสุทธิ์ จึงต้องมีการสังคายนารวบรวมพระไตรปิฎก มิฉะนั้นมันจะยุ่งกันใหญ่ ก็ได้ยินมาเป็นครั้งคราวเรื่อยๆแบบที่ว่าอย่างเงี้ยน่ะ มีการเอาเป็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างโน้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นดัง ให้ดูว่าแม้แต่ตำรา ตำราทำนายลักษณะยังมีเลยว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ นะฮะ ซึ่งไม่เข้าเรื่อง มันเป็นไปไม่ได้ แต่เรื่องอย่างนี้ก็ มนุษย์นี่จะมีความแตกตื่นในเรื่องเหล่านี้ จะมีความเชื่อ
ข้อสำคัญก็คือว่า หนี่งก็อย่าไปเชื่อง่าย อย่าไปหลงงมงาย แล้วก็ ถึงแม้จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็อย่าไปตื่นตูม นะฮะ แต่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ทางพระคงไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่หรอก คือว่าไอ้เรื่องนี้เป็นความจริงไม่จริง เป็นไปตามเหตุปัจจัย นี้ข้อสำคัญก็คือเมื่อเราเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม หรือสิ่งเหล่านั้นจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตามเนี่ย ตัวเราแต่ละคนเนี่ย มนุษย์เนี่ยมีท่าทีต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร แล้วก็ยังเอาใจใส่ ทำชีวิตของตัวให้ดีมั้ย ทำหน้าที่การงานของตัวให้ดีมั้ย
ถ้าหากว่าเขายังพยายามดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ยังทำกิจทำหน้าที่ขวนขวายทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย อย่างน้อยในส่วนที่เขามีปัญญามองเห็นได้ เขาไม่ได้นิ่งเฉยดูดาย ตัวเขาจะไปเชื่อไปอะไรก็ไม่ได้ถือเป็นสำคัญนะ แต่อย่าไปลุ่มหลงก็แล้วกัน คือถ้าหากว่าเราพิจารณาเราฟังสิ่งเหล่านี้ เราก็ฟังๆไว้ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปเป็นปฏิปักษ์หรืออะไรทั้งนั้นนะ แต่ว่าข้อสำคัญก็คือว่าจับหลักไว้ให้ได้ คือทำหน้าที่ ทำกิจการงาน ทำความเพียร สร้างสรรค์ชีวิตของตัวเอง ทำสังคมให้มันดี
แม้แต่จะเกิดเหตุร้ายขึ้นมา มันก็ต่างจากกันที่เนี่ย ต่างกันที่ตัวคนแต่ละคน ในสถานการณ์เดียวกัน เกิดแผ่นดินไหวเหมือนกัน นะฮะ เกิดภูเขาไฟระเบิดเหมือนกัน เกิดน้ำท่วมเหมือนกันเนี่ย คนแต่ละคนก็จะมีท่าทีต่อสิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกัน อันเนี้ยที่สำคัญ มันเกิดสถานการณ์ใหญ่ที่จะเป็นเรื่อง เรื่องเลวร้ายอันเดียวกันเนี่ย ตัวเราจะปฏิบัติอย่างไรได้ดีที่สุดต่อสถานการณ์นั้น
ตัวอย่าง เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเนี่ย นะ มันก็เป็น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แล้วเราล่ะปฏิบัติตัวได้ถูกต้องมั้ย เราใช้สถานการณ์เนี้ยให้เป็นประโยชน์ได้แค่ไหน นะฮะ เราจะแก้ไขปัญหาได้แค่ไหน ก็ควรจะเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ไม่ใช่มัวตื่นตัวไปแล้วกลายเป็นว่า แล้วเสร็จแล้วสิ่งที่ควรจะต้องทำกลับไม่ได้กระทำ ท่านเรียกว่าตกอยู่ในความประมาท เพราะฉะนั้นเรื่องหลักความไม่ประมาทเนี่ยมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ถาม : เอ่อ อย่างลัทธิบางอันเนี่ย เอ่อ คือเกิดขึ้นมาในสังคมยุคปัจจุบันน่ะนะคะ เนื่องจากว่า อาจจะโดยเฉพาะคนขาดที่ยึดเหนี่ยว เอ่อ มีลัทธิบางลัทธิที่ตั้งขึ้นมาอย่างบอกว่า เอ่อ ถ้าสมมติว่าให้คนเราเนี่ยช่วยกันภาวนาสวดมนต์ มาช่วยกันบริจาคทรัพย์ทำบุญสร้างวัด อาจจะบริจาคโน่น บริจาคนี่ สร้างอะไรเพื่อตัวเองเนี่ย เอ่อ แล้วจะมีผลทำให้ เอ่อ หมายถึง โลกหรือว่าประเทศหรือว่าเราเนี่ยพ้นจากวิกฤต ตรงนี้เนี่ยค่ะ เอ่อ ท่านมองว่ายังไงคะ
การที่วิกฤติมันเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร มันเกิดจากพวกเรามนุษย์เนี่ยทำกันขึ้นใช่มั้ย เราทำให้เศรษฐกิจไม่มีแก่นสาร ไม่มีเนื้อหา กลวงใน ไม่มีไส้ นะฮะ ใช่หรือเปล่า เหตุมันอยู่ที่นั่น ในเมื่อเหตุมันอยู่ที่นั่นก็แก้ที่นั่น ไปแก้ที่อื่นมันจะไปสำเร็จได้อย่างไร นะฮะ เพราะฉะนั้นนี่คือตัวธรรมะ ธรรมะก็คือความจริงของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น เพราะฉะนั้นต้องใช้ปัญญาเรียนรู้ธรรมะ คือ เรียนรู้ความจริง เรียนรู้เหตุปัจจัยแล้ว แล้วก็สืบสาวหาเหตุปัจจัย แล้วแก้ที่เหตุปัจจัยนั้น มามัวทำอะไรต่ออะไรไปอ้อนวอน เดี๋ยวก็ดีไม่ดีก็เข้าไปลัทธิอ้อนวอนเทพเจ้าแบบศาสนาพราหมณ์อีก
ภาวนานี้มันก้ำๆกึ่งๆ ไม่ใช่คำที่ใช้ถูกต้อง ตามหลักพุทธศาสนาแล้ว ภาวนาของท่านไม่ได้มีความหมายอย่างที่ว่า ภาวนาแปลว่าอะไร ภาวนาแปลว่าการทำให้เป็นให้มี ถ้ายังไม่เป็น ก็ทำให้เป็น ทำให้ ไม่มีก็ทำให้มี เรียกว่าสติยังไม่มีในใจ ก็ทำให้มันเกิดให้มีในใจ สมาธิยังไม่มีในใจ ทำให้เกิดให้มีในใจ ปัญญาเรายังไม่เกิดไม่มี ก็ทำให้เกิดให้มี อย่างนี้เรียกว่า ภาวนา นะฮะ ก็คือการพัฒนา การทำให้คนเจริญงอกงามขึ้นในทางพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ท่านเรียกว่าเป็นภาวนา
ภาวนานี้จะมี 4 อย่าง หนึ่ง กายภาวนา พัฒนากาย พัฒนากายหมายถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านวัตถุ ด้านกายภาพ ตั้งแต่อาหารการกินเนี่ย เราพัฒ สัมพันธ์กับมันถูกมั้ย เรากินเป็นมั้ย เราบริโภคเพื่ออะไร เราอยู่ใต้อำนาจครอบงำของลัทธิบริโภคนิยม มีแต่ค่านิยมบริโภค ปฏิบัติต่อวัตถุแม้แต่เทคโนโลยีแบบเป็นนักเสพบริโภค ไม่เป็นนักผลิต แค่นี้ก็ไปแล้ว แสดงว่าไม่พัฒนากาย กายภาวนาไม่มี นะฮะ กาย ตา หู ใช้เป็นมั้ย สัมพันธ์กับโทรทัศน์ ดูทีวีเพื่อเสพบริโภค หาแต่การบันเทิง อย่างงี้ก็เรียกว่าไม่มีการพัฒนากาย
การพัฒนากายก็คือดูทีวีเป็น ดูเพื่อศึกษา ดูเพื่อเอาความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต พัฒนาสังคม อย่างงี้เขาเรียกพัฒนากาย แค่พัฒนากายก็ยังไม่ทำเลย ตั้งแต่เด็ก อาตมาถามเด็กมาวัด เด็กประถม ถามหนูดูทีวีวันละกี่ชั่วโมง เด็กบอกว่า หนูดูทีวีวันธรรมดาเท่านี้ชั่วโมง วันอาทิตย์ วันเสาร์ดูมากหน่อย นะฮะ อาจจะแทบเต็มวันเลย อ้าว แล้วที่หนูดูเนี่ย ดูเพื่อเสพหรือดูเพื่อศึกษา นะฮะ เอ๊ะ เด็กก็อะไรกันดูเพื่อเสพหรือดูเพื่อศึกษา นะฮะ อ้าว เดี๋ยวเข้าใจกันแล้ว ดูเพื่อ หนู อ้าว เป็นไง ดูเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ดูเพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ เด็กบอกหนูดูเพื่อ ดูเพื่อเสพ 99 เปอร์เซ็นต์ นะฮะ อันนี้เด็กตอบจริงๆ แต่นี้บางคนก็ 90 เปอร์เซ็นต์ อะไร โดยมากไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
แล้วก็ถามว่าหนู แล้วก็ดูทีวีเพื่อเสพ กับเพื่อศึกษาอย่างไหนถูกต้อง เด็กบอกว่าดูเพื่อศึกษาถูกต้อง อ้าว แล้วนี่ที่หนูดูเพื่อเสพแทบทั้งหมด 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เนี่ยถูกมั้ย เด็กบอก ไม่ถูก อ้าวแล้วไม่ถูกทำไงดี เด็กบอกต้องแก้ไข เอาแล้วแก้แล้วทำไงล่ะ อ้าวก็อย่างงั้นต้องมาช่วยกันคิดว่าต่อไปนี้จะเปลี่ยนแปลงแล้ว จะเปลี่ยนมาดูเพื่อศึกษามากขึ้น ดูเพื่อเสพให้น้อยลง มาช่วยกันคิด ตกลงก็เหมือนกับประชุมกัน นะฮะ กับเด็กเนี่ย ก็ในที่สุด เด็กก็บอกเอา 50-50 นะฮะ บอกว่าหนู ไม่ต้องมากอย่างนั้นหรอก นะฮะ
สังคมไทยมันเป็นอย่างเงี้ย ผู้ใหญ่ก็เป็นตัวอย่างในทางไม่ดี เพราะฉะนั้นก็เห็นใจเด็ก เอาเพิ่มขึ้นมาทางศึกษาให้มันมากซักหน่อยก็พอใช้ได้ ตกลงก็เลยเด็กบอกว่า เอา ตกลงกันได้ว่า เอา ดูเพื่อเสพ 70 เปอร์เซ็นต์ ดูเพื่อศึกษา 30 เปอร์เซ็นต์ เด็กไทยเนี่ยครอบ ในครอบครัวเนี่ย ถ้าดูทีวีเพื่อศึกษา 30 เปอร์เซ็นต์ ดูเพื่อเสพ 70 เปอร์เซ็นต์เนี่ย สังคมไทยไปได้ ไปรอด แล้วมีทางพัฒนา แล้วเด็กก็จะมีชีวิตที่ดีด้วย เพราะฉะนั้นนี่ก็คือตัวอย่างการพัฒนาที่เรียกว่า ภาวนา อันนี้ ภาวนาอันหนึ่งเลย เขาเรียกว่าภาวนาพัฒนากาย คือ พัฒนาอินทรีย์ การใช้ตา หู จมูก ลิ้น ให้เป็น ดูเป็น ฟังเป็น ดูแล้วให้ได้ประโยชน์ ได้ความรู้ ได้ปัญญา บริโภคเป็น บริโภคแล้วได้สุขภาพ ได้คุณภาพชีวิต ไม่ได้ ไม่ใช่บริโภคแล้วสูญเสียแต่เงิน มีแต่โก้เก๋แล้วก็ทำลายสุขภาพของตนเอง เป็นต้น นะฮะ นั้นเรียกว่าแค่กายยังภาวนา พัฒนากายเราก็ตกแล้ว นะฮะ
สอง พัฒนาศีล คือการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ เราไม่เบียดเบียนกัน ไม่ล่วงละเมิดศีล 5 นะฮะ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน และสาม พัฒนาจิตใจ นะฮะ ทำจิตใจให้มีคุณธรรม มีเมตตา มีความกรุณา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความคิดช่วยเหลือกัน มีศรัทธาในสิ่งที่ดีงาม มีอุดมคติ อะไรแบบเนี้ย มีกำลังใจมี แล้วมีสัมพันธภาพจิตใจ มีสติ มีความสามารถยับยั้งช่างใจตนเองได้ มีสมาธิ มีความเพียรพยายามสู้ปัญหา เป็นต้น
แล้วก็มีความสุขใจ ทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานผ่องใส ไม่ทุกข์ ไม่กลุ้ม ไม่เครียดอะไรต่างๆเหล่าเนี้ย นี่ก็เรียกว่าพัฒนาจิตใจ แล้วก็พัฒนาปัญญา นะฮะ เรียนรู้ศึกษาให้รู้เข้าใจ แล้วก็เอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ มาแก้ไขปัญหาต่างๆมาคิดสร้างสรรค์ จนกระทั่งเรียนรู้โลกและชีวิตให้เข้าใจความจริง จิตใจจะได้เป็นอิสระ นะฮะ ได้หายทุกหายร้อนแก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้ อย่างงี้เรียกว่าภาวนาที่แท้ ไม่ใช่มาบ่นพึมพำพึมพำมุบมิบมุบมิบกันอยู่ เจริญพร
ถาม : อย่างว่าการภาวนาหรือการสวดมนต์เพื่อที่จะจุดประสงค์ให้เราพ้นจากภัยพิบัติหรือว่าให้ประเทศชาติพ้นภัยนี่ก็มันเป็นสิ่งที่
คือมันไม่ใช่เป็นตัวเหตุที่เพียงพอ แต่ว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์ในแง่ที่ว่า ทำให้จิตใจดีขึ้น อย่างน้อยมีกำลังใจ แต่การมีกำลังใจเนี้ยน้า มันไม่ใช่เป็นจุดหมายในตัวเอง ถ้าเพียงแต่ปลอบใจให้มีกำลังใจ แล้วก็จมเพลินอย่างงั้น ก็เป็นยากล่อมไป นี้การที่ให้มีกำลังใจเนี่ย พระพุทธเจ้าให้เรามีกำลังใจ แม้แต่ต้องปลอบกันบ้างในตอนต้น ปลุกกันบ้างเนี่ย เพื่อให้คนนั้นตั้งหลักได้ พอตั้งหลักได้แล้วทีนี้ก็ต้องไปมีกำลังใจ ใช้กำลังใจนั้น ในการทำความเพียรพยายาม ในการแก้ปัญหา ในการทำการสร้างสรร ในการทำกิจหน้าที่ของตนเอง ตอนนี้แหละ มันจึงจะบรรลุผล นะฮะ คือกำลังใจมันต้องไปต่อกับกำลังการกระทำกำลังปัญญา ทำอะไรถึงกำลังปัญญาแล้วก็ไปได้
ถ้าคนไทยไม่พัฒนากำลังปัญญาแล้วก็จะไปอยู่ในระบบโลกปัจจุบันนี้ที่เป็นระบบแข่งขันเนี่ย ไปชนะเขาได้ยังไง มาพึมพำพึมพำกันอยู่ไปไม่รอด นะฮะ เมื่อสองสามวันนี้มีคนหนุ่มคนหนึ่งก็มา เอ้อ แกก็พูดดีเหมือนกัน ท่านบอก เอ้ย คนไทยเรานี่พัฒนาทำอะไรแต่ใหญ่โตข้างนอก แต่หัว หัวสมองไม่พัฒนา เออ อาตมาว่าแกก็พูดเข้าทีเหมือนกันนะ หัวสมองไม่พัฒนา ชอบไปทำอะไรใหญ่โตข้างนอก แต่สมองไม่ทำให้มันใหญ่ เพราะฉะนั้นให้คิดให้ดี ประเทศชาติที่จะเข้มแข็งมีกำลัง ต้องมีกำลังปัญญา นะฮะ กำลังจิตใจมาหนุนกำลังปัญญา เพื่อให้เราตั้งตัวได้ แต่กำลังใจอย่างเดียวไม่พอ มีกำลังใจแล้วมาเพลินจมอยู่ไม่มีทางไป ไม่รู้ทิศทางไปไหน ก็จะไปรอดอะไร
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ต้องมาแก้ไขคนไทยกันอย่างเอาจริงเอาจัง นะฮะ เวลานี้จมอยู่มากกับลัทธิยากล่อม นะฮะ เพราะฉะนั้นก็เรื่องภาวนาก็ดี เราไม่ได้ไปว่า คือภาวนาในความหมายนี้ ทำไมเรียกสวดมนต์ว่าภาวนา เพราะว่าเมื่อเราสวดมนต์เนี่ย มันกำให้จิตใจของเราห่างมาจากสิ่งที่เป็นความกลุ้มกังวล เป็นความเศร้าหมอง ความขุ่นมัว เรื่องเดือดร้อนใจเนี่ย มันทำให้จิตใจของเรานี่มีความสงบ แล้วเข้ามาอยู่กับบทสวดมนต์ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม จิตใจของเราก็มีปีติ มีความสุข อะไรต่างๆเหล่าเนี้ย นะฮะ ก็จิตใจอย่างนี้ดี ท่านจึงเรียกว่าภาวนา คือ เอาบทสวดมนต์นั้นมาเป็นตัวอย่าง เป็นเครื่อง เป็นเครื่องมือ เอาบทสวดมนต์มาเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาจิตใจของเราให้สงบให้ผ่องใส ให้อยู่กับคุณธรรมความดีงาม แต่ต่อจากนั้นก็ต้องเอาไปปฏิบัติต่อด้วย
เพราะฉะนั้น ไม่ได้ปฏิเสธว่าการสวดมนต์ไม่ใช่ภาวนา เป็นภาวนาในความหมายที่ว่าเป็นเครื่องมือแห่งภาวนา นะฮะ แต่ว่าไอ้การที่เพียงบ่นพึมพำพึมพำนั้น มันไม่ใช่ตัวภาวนาหรอก แต่ต้องโยงให้ชัดให้เข้าใจความหมายภาวนามันอยู่ที่ไหน ภาวนาก็คือต้องเกิดผลในชีวิตของเรานี่แหละว่าทำไงจะให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของเราขึ้นมา ทางด้านกาย ศีล จิต ปัญญา อย่างที่กล่าวมา อย่างงี้จึงจะเรียกว่าภาวนา ภาวนาทำให้เกิด ให้มี ให้เป็นขึ้นมา เพราะท่านก็แปลเป็นความหมายภาษาชาวบ้านเรียกว่าพัฒนา แต่เดี๋ยวนี้เราเอาภาษาชาวบ้านพัฒนามาใช้เป็นภาษาทางการไปซะนี่ นะฮะ คือภาษาทางการสมัยก่อนนะ ภาวนา แล้วก็แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า พัฒนา นะฮะ ทีนี้เดียวนี้คำว่าภาวนา มันกลายเป็นคำที่คนเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็เอาว่าคำว่าภาวนา อ้าว เอาคำว่าพัฒนาขึ้นมาเป็นคำหลักไป นะฮะ
อันนั้นเรื่องนี้ก็อย่าไปมัวยุ่งอะไรที่มันทำให้หมกมุ่น ทำให้ตกอยู่ในความประมาท ปล่อยเวลาให้ล่วงไป กิจที่ควรทำไม่ทำอะไรเนี่ย ต้องระวังไว้ก่อนเลยว่าจะเสีย นะฮะ พุทธศาสนานี้หลักการสำคัญ หนึ่ง ให้หวังผลจากการกระทำ อย่าหวังผลจากการรอคอยโชค อย่าหวังผลจากการดลบันดาล อย่าหวังผลจากการช่วยเหลือ การหยิบยื่นให้ของผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทำให้ ต้องหวังผลจากกระทำด้วยความเพียรพยายามโดยใช้สติปัญญา เมื่อเราทำอย่างงี้จะได้ ข้อที่ 2 ก็คือ เราจะพัฒนาขึ้นมา ชีวิตจิตใจจะพัฒนา ปัญญาจะพัฒนา พฤติกรรมทักษะพัฒนาหมด นะฮะ ข้อ 2 แล้ว พัฒนา ท่านเรียกว่า สิกขา นะฮะ
แล้วก็ 3 ต้องมีความไม่ประมาท ไม่ปล่อยปละละเลย ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า นอนรอคอยผลที่จะเกิดขึ้นมา ด้วยเกิดเองหรือว่าโดยการดลบันดาลผู้อื่น แล้วก็ 4 ก็คือทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่ไปหวังพึ่งความช่วยเหลือผู้อื่น ก็เลยตัวเองก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องขึ้นต่อเขาไป แล้วก็หมดอิสรภาพ เพราะฉะนั้น ถ้าจับหลักการนี้ไว้ได้ เราไม่ต้องไปห่วงหรอก เรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์จะจริงหรือไม่จริงเนี่ย ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรทั้งสิ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ปฏิบัติต่อมันให้ถูก พอเราเก่งอย่างงี้แล้วเราจะมีฤทธิ์ก็ได้ ไม่เห็นเสียหายอะไร นะฮะ ก็จะใช้ฤทธิ์ให้เป็นประโยชน์ด้วย อย่าเอามาหลอกกัน อย่าเอามาล่อหลอก เอามาหาผลประโยชน์อะไรเนี่ย ผิดทั้งนั้น นะฮะ
ข้อสำคัญมันอยู่ที่นี่ คือว่าเรื่องฤทธิ์เนี่ยมันมีทางเสี่ยงได้เยอะ อย่างที่ว่านอกจากตื่นเต้น หมกมุ่น หลง แล้วก็ขึ้นต่อผู้อื่นอะไรแล้วก็ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ก็คือเป็นทางของการหลอกลวงได้ง่าย นะ เพราะว่าคนที่เขาตื่นเต้นนี่ เขาไม่รู้ว่ามันจริงหรือไม่จริง เขาทำไม่ได้ นะฮะ ก็มาใช้หาลาภสักการะ เป็นต้น เป็นเรื่องที่เป็นมาแต่ไหนแต่ไร เรื่องอย่างงี้ไม่ใช่เกิดแต่บัดนี้ เป็นมากี่ เป็นพันๆปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นสังคมก็วนเวียนอยู่ไม่ได้ไปไหนเลย เพราะฉะนั้นควรจะมาทำสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระกันดีกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ไปสนใจนะ ท่านที่สนใจก็ ก็ เป็นเรื่องอิสระเสรี นะฮะ แต่ว่าตั้งท่าทีให้ถูกต้อง ก็สิ่งเหล่านี้ก็จะมีอยู่อย่างไม่เป็นปัญหา นะฮะ
ผู้ถาม : ผมมีอยู่คำถามเดียวครับ ( เจริญพร ) ขอรบกวน ขอความเมตตา ( เจริญพร ) คือในสังคมไทยเนี่ยฮะ พระไตรปิฎกเนี่ย ดูเหมือนว่าจะเป็นปรัชญาขั้นสูงที่ห่างไกลจากชาวบ้านมากขึ้นทุกที อย่างเท่าที่ผมทราบมาในอดีตเนี่ย ถึงกับต้องมีพระอรรถกถาจารย์ พระฎีกาจารย์ หรือในประเทศไทยอาจจะมีถึงต้องเขียนอนุฎีกาชั้นปกรณ์เพื่ออธิบายความในพระไตรปิฎก ทีนี้พอนานวันเข้าเนี่ย ข้อความในอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา หรือปกรณ์ต่างๆนี้ นิทานพื้นบ้านเนี่ยก็พยายามอิงพุทธศาสนา เอาพุทธศาสนาเป็นหลัก เอาพุทธวัจนะของพระพุทธเจ้ามาอ้าง เพื่อความน่าเชื่อถือ ในปัจจุบัน นะฮะ หลวงพ่อ เป็นไปได้มั้ยครับว่า เราคนไทยเนี่ยไปยึดเอาในส่วนที่เป็นหางแถวของพระไตรปิฎก แทนที่จะยึดเอาตัวแก่นแกนของพระไตรปิฎกจริงๆ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ในสังคม จึงขอนมัสการหลวงพ่อ
เจริญพร คืออันนี้ถ้าเรารู้ไปตามความจริง ปฏิบัติไปตามขั้นตอนก็ไม่มีปัญหาทุกอย่าง คำสอนหางแถว ปลายแถว หัวแถว ใช้ประโยชน์ได้หมด แต่อยู่ในฐานะที่ถูกต้อง แต่ข้อสำคัญก็คือเราไม่ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้องตามลำดับ ตามฐานะของมัน เช่นว่ายึดถือแต่คำสอนที่เรียกว่าหางแถวอย่างที่ว่าเมื่อกี้แล้วก็เลยเข้าไม่ถึงหัวแถว นี้ถ้าเราโยงกันได้ตลอดสายก็เป็นประโยชน์หมดเลย เพราะว่าคำสอนหัวแถวที่เป็นแก่น เป็นแกน เป็นศูนย์กลางนั้น บางทีเป็นเรื่องเก่าเกินไป เพราะว่านานตั้งสองพันกว่าปี
ทีนี้ก็พวกคนรุ่นหลังเนี่ย ไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึง พระอรรถกถาจารย์ที่เป็นรุ่นต่อมา ท่านก็มาอธิบายเพราะท่านใกล้เรา ใกล้พระพุทธเจ้ากว่าเรา โดยกาลสมัย เขาทำให้เราเนี่ย สามารถไปอ่านพระไตรปิฎกเนี่ยได้เข้าใจดีขึ้น แต่ว่าตัวเป้าหมายที่แท้จริงก็อยู่ที่พระไตรปิฎก หนังสือเหล่านี้ก็เป็นเครื่องประกอบเพื่อจะช่วยให้เราเนี่ยศึกษาพระไตรปิฎกได้ผล เพราะฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องตามฐานะของมันก็จบ ไม่มีปัญหา กลับได้ประโยชน์เท่านั้นเอง แต่ข้อสำคัญคือปฏิบัติผิด แทนที่จะไปศึกษาโดยมีเป้าหมายอยู่ที่พระไตรปิฎกก็ไปอยู่ที่คัมภีร์ที่ว่าตามๆกันมา จนกระทั่งว่ากลายเป็นคลาดเคลื่อนไป
เพราะฉะนั้น ความจริงพระไตรปิฎกก็ว่ากันไปก็ไม่ใช่เรื่องปรัชญาสูงที่ห่างไกลคนอะไรหรอก พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับชาวนาบ้าง ตรัสกับนักวิชาการบ้าน ตรัสกับผู้ปกครองแผ่นดินบ้าง ตรัสกับพ่อค้าบ้าง ตรัสกับคนทุกชนิด ตรัสกับพระภิกษุ ภิกษุณี คือหมายความว่าใครมาเกี่ยวข้องก็ตรัสทั้งนั้นแหละ นะฮะ เพราะฉะนั้นก็เป็นคำสอนที่มีสำหรับทั่วทุกคน เพราะฉะนั้นจัดว่าจะต้องศึกษา และจับ หยิบมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็คิดว่าอย่างงี้นะ เจริญพร
ผู้ถาม : ขออีกสักนิดนึงครับ ( เจริญพร ) คือ อยากจะถามหลวงพ่อเรื่อง เอ่อ พระศรีอาริยเมตไตรย ( เจริญพร ) นะครับ มัน ความเชื่ออันเนี้ยในสังคมไทยเนี่ย ( เจริญพร ) โยงใยกับความเชื่อในทางพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมมั้ยครับ
คือเรื่องพระศรีอาริย์ ในภาษาบาลีท่านเรียกว่า เมตไตรโย นะฮะ ก็มีในพระไตรปิฎกอยู่นิดหน่อย กล่าวถึง คือพระพุทธเจ้าจะตรัส คือ เราต้องจับสาระด้วยว่า คือพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องความเป็นไป วิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงสังคม ก็เห็นว่าโลกสังคมมันก็เปลี่ยนแปลงเขาไป มีความเจริญมีความเสื่อม ซึ่งในปัจจัยสำคัญทั้งหลาย ในบรรดาปัจจัยทั้งหลาย ปัจจัยสำคัญมากคือการกระทำของมนุษย์ ทีนี้โลกเจริญเสื่อมไปเนี่ย สิ่งหนึ่งก็คือว่า ในบางยุคบางสมัยเมื่อความเสื่อมความเจริญมันถึงระดับหนึ่ง ก็จะมีผู้ที่มาสั่งสอนให้มนุษย์ได้รู้จักสิ่งที่ถูกต้อง ให้รู้จักความจริง แล้วพระพุทธเจ้าเนี่ยไม่ได้มีเฉพาะพระองค์ มองในแง่นี้ก็คือไม่ผูกขาด เดี๋ยวจะเข้าใจว่า เอ้อ เป็นพระพุทธเจ้าได้แต่ฉันคนเดียว ไม่ใช่อย่างงั้น
พระองค์ก็ตรัสให้เห็นว่า ต่อไปก็มี เมื่อโลกมันเจริญมันเสื่อมไปถึงระยะหนี่ง แล้วก็มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้น นะฮะ ที่เรียกว่าพระเมตไตรยะ นะฮะ แล้วก็ พระองค์ยังตรัสด้วยว่า พระเมตไตรยะเนี่ยมีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นสาวกเนี่ยมากกว่าเราตั้งเยอะ อะไรทำนองนี้ คือหมายความว่าพระองค์จะไม่ให้หามาเที่ยวยึดติด แล้วมีการผูกขาดหรืออะไร นะฮะ เพราะฉะนั้นก็ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไปด้วย นะฮะ
แล้วก็เรื่องพระเมตไตรก็เป็นเพียงตรัสเป็นตัวอย่าง หมายความว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่มีเฉพาะพระพุทธเจ้าองค์นี้แล้วที่พระเมตไตรที่พระองค์ตรัสอันนั้น แต่มีองค์อื่นอีกเยอะแยะ ในอดีตก็มีมาแล้ว ในอนาคตก็มีได้ต่อไป แต่อย่างพระเมตไตรนี่ก็ไม่ใช่จะมาง่ายๆหรอก โลกเจริญจะเสื่อมไปอีกเยอะแยะท่านว่าเป็นไม่รู้กี่โกฏิปีเนี่ย นะฮะ เพราะฉะนั้นอย่า ใครอย่าไปหวังเลยเรื่องพระศรีอาริย์จะมาเนี่ย นะฮะ มีแต่คนโบราณนี่ เขาทำบุญ เขาอยากจะไปเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ คนโบราณเขาจะรู้คล้ายๆว่าอย่างน้อย ถึงเขาจะไม่มีการศึกษามาก เขาก็รู้คำสอนทางพระศาสนามากกว่าคนปัจจุบันเหมือนกันนะ โดยทั่วไป โดยเฉลี่ย
เพราะฉะนั้นเขาจะไม่นับถือพลาด พลาดแม้เขาจะนับถืออยากไปเกิดพระศรีอาริย์ เขาก็รู้ว่าพระศรีอาริย์นี่ยังไม่มาหรอก ยังอีกหลายโกฏิปี เพราะฉะนั้น เขาก็ได้แค่เพียงว่า เออ ทำบุญแล้วปรารถนาจะไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ นะฮะ ก็แค่นั้นแหละ ไม่ใช่ว่าจะมีพระศรีอาริย์มาได้ เป็นไปไม่ได้ เจริญพร นี้ตอนหลังๆมันมีความเชื่อคลาดเคลื่อนกันถึงกับตั้ง โอ้ จะมีพระศรีอาริย์เกิดที่นั่นที่นี่ ไปกันใหญ่ คือ ก็อะไรก็ตามที่มันจะทำให้เขว ทำให้คนถูกตกอยู่ในความประมาท ตื่นเต้น ไปหลุ่มหลง เพลิดเพลินไม่ทำการที่ควรทำแล้วก็ ให้ระวังให้ดีเถอะ ผิดหลักพุทธศาสนาหมด นะฮะ
นี้ ไอ้สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนกับยากล่อมใจ คือคนไปหวัง เวลามีทุกข์มีร้อนก็อยากให้มีผู้มาช่วยเหลือ หรือว่าจะมีผู้มาโปรด อะไรต่างๆเหล่าเนี้ย ลัทธิรอผู้มาโปรดนี่มีเรื่อย มีทุกยุคทุกสมัย นะฮะ ก็มีผีบุญเกิดบ้าง หรืออัศวินม้าขาวบ้าง ก็เลยบางทีก็มัวแต่หวังพึ่งผู้มาโปรดอย่างเงี้ย เลยอะไรที่ควรทำ ไม่ทำ เนี่ยอยู่กันด้วยความหวัง แล้วมันก็เลยเป็นยากล่อมไป เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้านี่เน้นมาก เขาไม่มามัวให้มายุ่งกับไอ้เรื่องเหล่านี้ นะฮะ คือให้รู้ตามเป็นจริง แต่ว่าสิ่งที่สำคัญก็คือปัจจุบัน ต่อหน้าเราเนี่ย เรามีชีวิตอยู่กับความเป็นจริงเนี้ย เราจะปฏิบัติกับมันยังไง เราจะดำเนินชีวิตอย่างไร
ชีวิตของเราจะต้องดำเนินก้าวหน้าไปเรื่อย เวลาไม่รอเรา ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ชีวิตเราก็ไม่ได้ยาวนักหนา ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ แล้วก็การที่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์นี่ก็ต้องทำให้มันถูก การที่จะทำให้มันถูกก็ต้องมีปัญญา ต้องรู้อะไร รู้เหตุปัจจัย รู้สภาพแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อ้าวแล้วก็ไปรู้พัฒนาปัญญาขึ้นมา แล้วก็มาแก้ไขปรับปรุงด้วยการกระทำ ด้วยความเพียรพยายามของตนเอง นะฮะ แล้วก็มนุษย์เราก็ด้วยการที่กระทำอย่างนี้ เราก็มาร่วมมือกัน เราก็สร้างสรรค์ แก้ไขปัญหาสังคม สังคมก็เจริญก้าวหน้า สังคมมันจะเจริญก็อยู่ที่พวกเรานี่แหละ ถ้าเราจะเสื่อมก็อยู่ที่พวกเรา
วิกฤตเศรษฐกิจที่เจอนี้ก็เป็นวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากเศรษฐกิจฟองสบู่ เศรษฐกิจฟองสบู่ก็คือเศรษฐกิจที่ไม่มีเนื้อใน นะฮะ เมื่อไม่มีเนื้อใน ทำไมไม่มีเนื้อใน เพราะคนไทยไม่ได้สร้างเนื้อ นะ เป็นเศรษฐกิจเงินกู้ เศรษฐกิจเงินยืม เศรษฐกิจเงินช่วยเหลือ เศรษฐกิจตามกระแส เศรษฐกิจอะไรก็ไม่รู้ นะฮะ เศรษฐกิจจากการขายทุนเก่าไม่ได้สร้างสรรใหม่ นะฮะ ขายที่ดิน ขายอะไรต่างๆ ขายตัวคน เป็นต้น นะฮะ คือมันไม่มีสาระ ไม่ได้เกิดจากการผลิตการสร้างสรรค์
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะให้มีเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนเราก็ต้องสร้างสรรค์ทำขึ้นมา นะฮะ เราจะไปมัวอ้อนวอนร้องระงมไปมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ นะฮะ ไอ้อย่างงั้นมันทำง่ายดี มันทำให้ใจคอสบายไปชั่วเวลาหนึ่ง แต่มันแก้ปัญหาไม่ได้ นะฮะ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุน เพราะฉะนั้นก็ให้เพียรพยายามทำการให้สำเร็จด้วยการกระทำของตน โดยใช้สติปัญญา อันนี้หลักการพุทธศาสนา แม้แต่เป็นอุบาสกอุบาสิกา คุณสมบัติมีอยู่ข้อหนึ่งเลย บอกว่าให้เชื่อการกระทำ เชื่อกรรม ไม่เชื่อ ไม่หวังผลจากมงคล สิ่งที่จะมาดลบันดาลจะให้มีโชคมีอะไรต่ออะไร ไม่ไปหวัง น่ะ หวังผลจากการกระทำของตนเอง แล้วจึงจะเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดีได้ ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดีได้ ก็สร้างชาติไทย สร้างสังคมไทยได้สำเร็จ วิกฤตนี้ก็จะผ่านไปได้
ถ้ามัวแต่อ่อนแอกันอยู่ ระทดระทวยท้อแท้อะไรกันอยู่แล้วก็ไม่ร่วมมือกัน ต่างคนต่างก็จะหาความสุข ไม่ร่วมทุกข์กัน ไปไม่รอด สังคมเวลาทุกข์ต้องร่วมทุกข์กัน เวลาร่วมทุกข์เราจะมีความสุขในความทุกข์ แต่เวลาทุกข์แล้ว แต่ละคนจะหาความสุข ทุกคนจะโดดเดี่ยวหมด แล้วจะทุกข์อย่างหนักเลย เวลานี้สังคมไทยไม่มีจิตใจร่วมทุกข์กัน นะฮะ แต่ละคนก็จะหาความสุขของตัวเอง นั้นต้องเปลี่ยน เตรียมเดินทางกันใหม่ให้ถูกต้อง วิกฤตจะกลายเป็นวิวัฏถ้าเราทำถูกต้อง แต่ถ้าเรายังขืน ไม่ฟื้นตัว ไม่แก้ไขพฤติกรรม ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่ทำคุณภาพคนให้ดีขึ้นเนี่ย วิกฤตมันต่อๆไปเป็นวิบัติ นะฮะ
เพราะฉะนั้นวิกฤตนี้คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือจุดหักเลี้ยว นะฮะ เขาเรียกว่าจุดวิกฤต จุดแตกหัก มันจะกลับดีหรือมันจะไปร้ายก็อยู่ตรงเนี้ย เพราะฉะนั้น ตอนนี้วิกฤตต้องมาช่วยกันทำให้เป็นวิวัฏ อย่าให้มันกลายเป็นวิบัติ คิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ควรจะมาเน้นกันที่นี่ เพราะฉะนั้น เลยไม่ค่อยสนใจเรื่องอะไรต่างๆ เพราะว่าเรามีหลักแล้วที่ว่า อิทธิฤทฺธิ์ปาฏิหาริย์ น่ะ มีก็ดี มาแสดงให้ดู โอ้ดี ก็ไม่ว่าอะไร เออจึงด้วย เออจริง เอออาจจะเป็นไปได้ แต่ว่ามันได้อะไรขึ้นมา แก้ไขเหตุการณ์ แก้ไขปัญหา ทำชีวิตให้ดีขึ้นมั้ย แม้แต่ทุกข์ในใจคนมีฤทธิ์เองก็ยังมีทุกข์อยู่ นะฮะ พวกโยคีฤาษีในอินเดียน่ะแกมีทุกข์ ถ้ามีฤทธิ์เยอะแยะอย่างพระเทวทัตเนี่ยฤทธิ์เก่งออก มีอภิญญา เหาะเหินเดินอากาศ เอาพระเจ้าอาชตศัตรูมาเป็นพวกได้
ผู้ถาม : อา ทีนี้อยากทราบเรื่องของ เอ่อ พุทธพยากรณ์กับพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วยคะหลวงพ่อ ที่ว่าเหตุการณ์นี้เนี่ยอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าเนี่ย ในความเห็นของหลวงพ่อเองเนี่ยคิดว่า ในยุคของเรานี่คะ มันเกิดขึ้นบ้างหรือยังคะหลวงพ่อ
มันก็คงจะหลายคนฟังแล้วคงจะเห็นว่า เออ มันเป็นเหมือนกันนะ อาตมาไม่ต้องไปวินิจฉัย อาตมาไม่ใช่ผู้ตัดสิน อาตมาเป็นเพียงผู้เล่าให้ฟัง แล้วก็ดูเอาเองนะ ดูเอาเองว่าเป็นมั้ย นะฮะ บางทีญาติโยมที่ฟังอาจจะตัดสินได้ดีกว่าอาตมา เพราะว่าได้รู้เห็นความเป็นไปมากกว่า นะฮะ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นคำเตือนน่ะ เตือนสติ ให้ผู้รับผิดชอบต่อสังคมจะต้องระวัง นะฮะ จะต้องคิดแก้ไขปัญหา หรือป้องกันภัยที่จะมีมา โดยเฉพาะพระเจ้าปเสนทิโกศลเนี่ยเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดิน จุดมุ่งหมายการปกครองเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของประชาราษฎร์ นี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลเกิดฝันขึ้นมาก็กลัวอันตรายต่อชีวิตพระองค์ จะบูชายัญก็เพื่อแก้ไขชีวิตของพระองค์ อันตรายต่อพระองค์ ก็กลายเป็นว่า ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็เห็นแก่ตัวไป ใช่มั้ย
นี่พระพุทธเจ้าบอก โอ้ย ไม่ใช่ภัยต่อพระองค์แล้ว มันเป็นเรื่องของความเป็นไปในสังคมเนี่ย มันจะเกิดไอ้ความผันผวนปรวนแปรไม่ปกติทั้งหลาย เพราะเท่ากับบอกว่าเนี่ย การปกครองที่ดีก็คือต้องระวังสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระเจ้าปเสนทิโกศลฝันเนี่ย เอาออกมาเป็นคำทำนายของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องทางด้านสภาพบ้านเมือง สังคม การปกครองแทบหมดเลย ใช่มั้ย นะฮะ เจริญพร เพราะฉะนั้นอันเนี้ย ทำไงเราจะสร้างสรรค์สังคมของเราให้ดีให้เรียบร้อย ควรจะเอาใจใส่เรื่องนี้ ให้คนไทยมาร่วมใจกัน นะฮะ อย่ามัวไปเที่ยววุ่นวายกันในเรื่องอะไรต่างๆ แต่ว่าไม่ได้ บอกแล้วนะว่าไม่ได้ปฏิเสธไม่ได้อะไรหรอกนะ ใครทำให้ดูก็บอก เอ้อ ดี ว่างั้นนะฮะ ก็ชมเขาด้วย แต่ว่าเราอย่าไปหลง อย่าไป แล้วๆจับหลักให้ได้ว่า หน้าที่ สิ่งที่ต้องทำคืออะไร อยู่ที่ไหน นะฮะ อย่าไปพลาดจุดนี้ก็แล้วกัน
ผู้ถาม : ขอบพระคุณ หลวงพ่อ
เอาล่ะ ขออนุโมทนา