แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร วันนี้อาตมภาพจะพูดเรื่องพุทธคุณต่อ นี่ได้พูดเรื่องพุทธคุณมา 3 หรือ 4 บทแล้ว คือพูดที่นี่ บท อรหํ และก็บท สมฺมาสมฺพุทฺโธ และก็ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน นี้อีกบทหนึ่งบท สุคโต นั้น ได้พูดเป็นพิเศษไป ก่อนที่บ้านโยมหมอ ก็เป็นอันว่าพูดที่นี่ 3 บท และพูดที่บ้านโยมหมอ 1 บท เป็น 4 บท ก็มาถึงบทที่ 5 คือบท โลกวิทู
โลกวิทู นั้นก็แปลว่าผู้รู้แจ้งโลก รู้แจ้งโลกอย่างไร คำว่าโลกนั้น ตามคติแล้วก็หมายถึงโลกที่เราอยู่อาศัย กันนี้ แต่ว่าในพระพุทธศาสนา คำว่าโลกนั้น บางทีมีความหมายกว้าง บางทีเข้ากับคำที่เราพูดกันว่าจักรวาลหรือ ว่า สิ่งที่มีทั้งหมดนี้เรียกว่าโลก เลยในทางพุทธศาสนาท่านก็แบ่งคำว่าโลกออกเป็น 3 อย่าง
อย่างที่ 1 เรียกว่า สังขารโลก แปลว่าโลกแห่งสังขาร โลกแห่งสังขารก็หมายถึงว่า บรรดาสังขารทั้ง หลายทั้งหมดเท่าที่มี คำว่าสังขารนั้นก็แปลว่าสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะรู้จัก ได้ จะเป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ยกเว้นอย่างเดียวคือพระนิพพาน นอกนั้นเป็นสังขารทั้งหมด นี้คำว่า โลกในข้อที่ 1 ก็หมายสังขารทั้งหมดอย่างที่กล่าวนี้
อย่างที่ 2 ได้แก่ สัตตโลก หรือ สัตวโลก โลกแห่งหมู่สัตว์ ก็หมายถึงว่าหมู่มนุษย์ เทวดาตลอดถึงสัตว์ ต่างๆ สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรกอะไรต่างๆ เท่าที่มีทั้งหลายนี่ ก็อยู่ในโลกที่ 2 นี้ แม้ในภาษาไทยเรา เวลาพูดถึง โลกบอกว่ารู้กันไปทั่วโลกนี่ บางทีเราก็หมายถึงคน หมายถึงว่าผู้อาศัยอยู่ในโลกรู้กันทั่ว หรือชาวโลกนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายของโลกอย่างที่ 2 หรือสัตวโลกก็ได้แก่ชาวโลกนั่นเอง แต่ว่าในพุทธศาสนานั้น คำว่า ชาวโลกไม่ใช่จำกัดเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่หมายถึงสัตว์ทุกชนิด ก็คือ ประดาสัตว์เท่าที่มี แต่ว่าที่เกี่ยวข้องมาก ที่สุดก็คือหมู่มนุษย์
ก็อย่างที่ 3 โอกาสโลก คำว่า โอกาสะ นั้น แปลว่าช่องว่าง คล้ายๆ กับที่เราเรียกว่าอวกาศ อวกาศนั้น เป็นสันสกฤต โอกาสะ หรือ อากาสะ นี่เป็นภาษาบาลี ก็มีความหมายในบางกรณีก็เหมือนกัน นี้โลกในโอกาส โอกาสโลก โลกในโอกาส ถ้าพูดอย่างภาษาสมัยนี้ก็เหมือนกับคำว่าโลกในอวกาศ ก็คือโลกที่ลอยอยู่ในจักรวาลนี้ อันนี้ก็คือโลกที่เป็นวัตถุ เป็นแผ่นดิน เป็นที่อาศัย ตลอดจนสิ่งธรรมชาติทั้งหลายเท่าที่มีอยู่ อันนี้เป็นโลกใน ความหมายที่ 3 ซึ่งอาจจะกินความกว้างไปถึงหมู่ดาวอะไรต่างๆ ทั้งหมดด้วย ไม่ใช่จำกัดเฉพาะโลกนี้ ก็เป็นอัน ว่าโลกเนี่ยมี 3 อย่าง
ทีนี้ที่บอกว่าพระพุทธเจ้ารู้แจ้งโลก ท่านบอกว่าหมายถึงรู้แจ้งโลกทั้ง 3 อย่างนี้
อย่างที่ 1 รู้แจ้งสังขารโลก รู้แจ้งโลกคือสังขาร รู้อย่างไร ประดาสังขารเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น พระองค์ ตรัสรู้ตามความเป็นจริงตามหลักไตรลักษณ์ เป็นต้น หรือตามหลักความเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เรียกว่า ปฏิจจ- สมุปปบาท รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหมือนกับว่ามีกฎธรรมชาติคุม อยู่ และกฎนั้นก็คือกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล และรู้ว่าสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นก็มี ความไม่เที่ยง แท้ ไม่คงที่ เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตา มิใช่ตัวมิใช่ตน ที่เราเรียกว่า ไตรลักษณ์ อันนี้ ก็คือพระพุทธเจ้าตรัสรู้สังขารโลก ความรู้เกี่ยวกับสังขารโลกในลักษณะต่างๆ นี้ เกี่ยวกับความเป็นไปของสังขาร หรือสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ก็เรียกว่ารู้จักโลกตามความเป็นจริง
นอกจากรู้ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ทำให้พระองค์เนี่ยมีจิตเป็นอิสระหลุดพ้นด้วย เพราะว่าไม่ยึดอยู่ เมื่อตรัสรู้จริงแล้วก็ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน จิตก็หลุดพ้นเป็นอิสระ ก็นำมาสอนหมู่มนุษย์ทั้งหลายให้ รู้ตาม ให้รู้ตามเป็นจริงว่าสังขารทั้งหลายในโลกที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ตลอดจนขั้นสูงก็สอนถึงหลักอนัตตา อย่างที่มีนักปราชญ์สมัยนั้นไปถามพระพุทธเจ้า บอกว่า เป็นอยู่อย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่แลเห็น พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า จงมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง แล้วมัจจุราชจะแลไม่เห็น
ก็หมายความว่า ถ้าเราเข้าใจเรื่องสังขารทั้งหลายเนี่ยจนมองเห็นอนัตตาได้ ก็จะเกิดความหลุดพ้นเป็น อิสระ จิตจะไม่ยึดถือ จะปล่อยวาง แล้วก็จะไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของมัจจุราช ถึงร่างกายแน่นอนว่าต้อง ตายไป ต้องแตกทำลาย อันนั้นเป็นกฎธรรมชาติ แต่ว่าจิตใจที่ไม่ยึดติดถือมั่นเป็นอิสระนั้น จะทำให้เราไม่อยู่ใน อำนาจครอบงำของมัจจุราช แม้แต่ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ต้องกลัวต่อมัจจุราช เวลาจะถึงแก่สิ้นชีวิตก็ไม่เกรงกลัว เพราะท่านถือว่า ถึงภาระที่หลุดพ้นจากการครอบงำของมัจจุราชที่ว่านั้น
อันนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังขารโลก ก็ขอผ่านไปเลย
ข้อที่ 2 สัตวโลก พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แจ้ง คือรู้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสัตวโลกด้วย รู้ในหลายแง่หลายมุม เช่นว่า รู้สัตวโลกทั้งหลายว่ามีความสุข มีความทุกข์เป็นยังไง ที่เป็นอยู่ดำรงชีวิตกันนั้น มีปัญหาในชีวิตส่วนตัว บ้าง มีปัญหาในส่วนรวม ในความสัมพันธ์ระหว่างกันบ้าง
ในแง่ส่วนตัวนั้น มนุษย์ก็มีความทุกข์ด้วยประการต่างๆ เกิดมาแล้วก็ประสบปัญหาในการดำรงชีวิต ใน การที่จะพ้นจากภัยเบียดเบียนทั้งธรรมชาติ ทั้งภัยเบียดเบียนจากจิตใจของตนเองที่มีกิเลสเข้ามาครอบงำ พระองค์ก็เรียนรู้โลกคือมนุษย์นี้ตามความเป็นจริง
และมนุษย์ที่เข้ามาสัมพันธ์กันก็มีปัญหาอีก เกิดความกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล ไปจนกระทั่งถึงใน โลกนี้ ที่แบ่งเป็นหมู่เป็นคณะเป็นประเทศ ก็มีการขัดแย้งกันจนกระทั่งมีการสงคราม เป็นต้น อันนี้ก็เป็นอยู่ ตลอดเวลาหมู่มนุษย์นั้น ไม่มีว่างเว้นทุกยุคทุกสมัย
พระองค์ได้ทรงเห็นหมู่มนุษย์อย่างนี้แล้ว รู้ว่ามนุษย์นั้นมีความทุกข์ พระองค์ก็มีความกรุณา จากความรู้ก็ทำให้เกิดความกรุณา คือความสงสาร ความคิดที่จะช่วยเหลือ ก็ทำให้พระองค์เจริญด้วยพระมหา กรุณาธิคุณ ซึ่งก็เกิดขึ้นมาจากพระปัญญาคุณนั่นเอง
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้เสด็จไปบำเพ็ญพุทธกิจด้วยประการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวโลกให้พ้นจาก ทุกข์ ทุกข์จากความบีบคั้นด้วยกิเลสภายในจิตใจของตนเอง ให้พ้นจากทุกข์ในการที่จะผจญเกี่ยวข้องกับการ ดำเนินชีวิต รู้จักธรรมะในการที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงาม และถ้ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันก็สอนให้มีความ สัมพันธ์กันในทางที่ดีงาม ที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ อะไรให้ สำเร็จด้วยดี อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งของโลกวิทูในแง่สัตวโลก
นอกจากนั้นพระองค์ก็รู้ว่าสัตวโลกทั้งหมดนั้นเป็นไปตามกรรม อย่างคำที่ว่า กมฺมุนา วตฺตตี โลโก แปล ว่า ชาวโลกเป็นไปตามกรรม โลกในที่นี้หมายถึงสัตวโลก หมายความว่า กรรมหรือการกระทำนั่นเอง เป็นตัว สร้างสรรค์ เป็นตัวปรุงแต่งชีวิต แต่ละคนนั้นมีกรรมก็คือการคิดนึกที่เรียกว่า มโนกรรมบ้าง คิดอย่างไรแล้วก็ แสดงออกมาทางวาจาพูดเป็นวจีกรรม แล้วแสดงออกมาทางกายเป็นกายกรรม คือจะทำตามที่เกี่ยวข้องกับ โลกภายนอก
จากกรรมของตนเองก็ทำให้ชีวิตของเรานี้เป็นไปต่างๆ แล้วมนุษย์เหล่านั้น แต่ละคนๆ ทำกรรมร่วมกัน ก็ทำให้วิถีของสังคมเป็นไป สังคมนั้นก็จะมีความเป็นไปยังไง ก็เป็นผลรวมของมนุษย์ที่กระทำนั้น
อันนี้ก็คือการที่บอกว่าสัตวโลกหรือชาวโลกนี้เป็นไปตามกรรม แล้วจากกรรมของมนุษย์นั่นเองก็ทำให้ เกิดเป็นความสุขความทุกข์อย่างที่กล่าวมาข้างต้น
พระพุทธเจ้าก็ต้องการให้มนุษย์เนี่ยทำแต่กรรมที่ดีงาม เพื่อจะได้ประสบแต่ความสุขไม่มีความทุกข์ พระองค์ก็เลยเที่ยวสั่งสอนไป ทั้งในการสั่งสอนนี้พระองค์ก็รู้จักสัตวโลกในอีกแง่หนึ่ง รู้จักโลกในความหมายที่ 3 ของสัตวโลก ก็คือรู้จักความแตกต่างของมนุษย์ แต่คนที่มาอยู่ร่วมๆ กันนั้น มีพื้นเพภูมิหลังอะไรต่างๆ กัน พระองค์ก็ทราบว่าเขาได้ปรุงแต่งจิตใจบุคคลิกลักษณะนิสัยอะไรต่างๆ เข้ามาอย่างไร อันนี้เป็นประโยชน์ในการ สั่งสอน เรียกว่ารู้คนที่มานี้มี ท่านเรียกว่า อธิมุติ มีความโน้มเอียง มีความสนใจต่างกันอย่างไร คนนี้สนใจ
ถ้าเป็นพราหมณ์อาจจะสนใจทางวิชาการ สนใจปรัชญา สนใจหลักศาสนา ถ้าเป็นกษัตริย์ก็อาจจะสนใจ เรื่องการปกครอง เรื่องการรบ ถ้าเป็นพ่อค้าก็สนใจเรื่องการค้าขาย ทำเลสถานที่ๆ จะเดินทางไป เป็นต้น อะไร นี้ พระองค์ก็รู้จักความแตกต่างของมนุษย์ รู้ความเป็นไปของความสนใจในแง่ต่างๆ นี้ และก็รู้ความยิ่งหย่อน แห่งอินทรีย์ของมนุษย์เหล่านั้นด้วย ที่ว่ารู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็รู้ว่าคนนี้มีศรัทธามาก คนนี้มีศรัทธาน้อย คนนี้มีวิริยะคือความเพียรมาก ความเพียรน้อย ถ้าน้อยก็อาจจะกลายเป็นคนเกียจคร้าน ถ้ามีความเพียรมากก็ขยันขันแข็ง รู้ว่าคนนี้มีสติมาก มีสติน้อย มีสมาธิมาก มีสมาธิเข้มแข็ง หรือว่ามีสมาธิอ่อน มีปัญญามาก มีปัญญาน้อยอะไรงี้เรียกว่าอินทรีย์ต่างๆ กัน
พระองค์มีพระญาณที่กำหนดรู้สิ่งเหล่านี้ ที่รู้ความแตกต่างแห่งความสนใจ หรือแนวโน้มของจิตใจนั้น เรียกว่า นานาธิมุตติกญาณ และก็ที่รู้ความแตกต่างยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายก็เรียกว่า อินทริย- ปโรปริยัตตญาณ เพียงแค่นี้ก็ช่วยให้พระองค์ได้สามารถทำการสั่งสอนได้ผลสำเร็จด้วยดีแล้ว แต่ยิ่งกว่านั้น ยังมี พระญาณอีกญาณหนึ่งเรียกว่า เจโตปริยญาณ ญาณที่กำหนดรู้ใจของผู้อื่นได้ เมื่อคนอื่นมาหาพระองค์นั้น พระองค์ดักใจเขาได้ ก็สามารถสอนให้ตรงกะสิ่งที่เขากำลังสนใจหรือตรงกับความคิด ทำให้การสอนได้ผลดี
พระญาณในแง่ของความรู้จักสัตวโลกในความหมายที่ 3 นี้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การทำหน้าที่ของ พระศาสดาในการสั่งสอนชาวมนุษย์ทั้งหลาย ก็รวมแล้วก็คือว่า ในแง่ของสัตวโลกนั้น พระองค์มีความรู้ความ เข้าใจเป็นอย่างดีทั้ง 3 แง่ ดังที่กล่าวมาแล้ว
ก็ประการที่โลกอย่างที่ 3 ก็คือโอกาสโลกหรือโลกในอวกาศ โลกในอวกาศก็คือโลกที่เป็นดาวดวงหนึ่ง หรือเป็นดาวพระเคราะห์ดวงหนึ่งนี้ แต่ในความหมายที่กว้าง ก็ดังที่อาตมาได้กล่าวไปแล้ว ก็คือหมายถึง จักรวาลทั้งหมด
โลกคือจักรวาลทั้งหมดนี้ ในแง่หนึ่งมันก็เป็นสังขารอยู่แล้ว รู้ความเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง เป็น ทุกขัง อนัตตา นั้นก็รู้ในแง่สังขาร แต่รู้ในแง่สภาพของมันว่าโลกนี้รูปร่างเป็นยังไง กลมหรือแบน มีความกว้าง เท่าไร มีเส้นรอบวงเท่าไร เส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไร มีดาวกี่ดวงอะไรต่างๆ เป็นต้นเหล่านี้ เรียกว่าเป็นการรู้จัก โอกาสโลก
ในแง่ของการรู้จักแบบโอกาสโลกนี้ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์บ้าง ดาราศาสตร์บ้าง ซึ่งก็ไม่ค่อย จำเป็นในทางธรรมะเท่าไหร่ ก็จะมีประโยชน์บ้างในแง่ภูมิศาสตร์ทั่วๆ ไป อย่างที่ว่าถ้ารู้จักภูมิสถาน รู้จักท้อง ถิ่นดี จะไปไหนก็สะดวก เช่นว่า จะเดินทางต้องเลือกเดินทางว่า เอ๊ะ ไปทางไหนจะสะดวกได้รวดเร็ว และก็ ปลอดภัยกว่ากันอะไรเป็นต้น การรู้จักภูมิศาสตร์ก็เป็นประโยชน์ในแง่นี้เกี่ยวกับการสั่งสอน แต่ในแง่อื่น ก็ไม่ ค่อยจำเป็นเท่าไหร่นัก
อย่างไรก็ตาม พระอรรถกถาจารย์นี่ท่านก็บรรยายว่า พระพุทธเจ้านั้นก็ทรงรอบรู้ในเรื่องโอกาสโลกด้วย ท่านก็บรรยายไปตามแบบเก่าๆ บรรยายว่า มีเขาพระสุเมรุ มีพระจันทร์ มีพระอาทิตย์ พระอาทิตย์กว้างใหญ่ เท่าไร พระจันทร์เท่าไรอะไรอย่างงี้ เป็นต้น ภูเขาไหนในป่าหิมพานต์สูงกี่โยชน์ๆ อะไรนี้เป็นต้น ท่านก็บรรยาย ไป แต่อาตมภาพว่าก็ไม่ค่อยมีความจำเป็น ท่านต้องการแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้านั้นก็ทรงรอบรู้ครบทั้ง 3 โลกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
นี้อาตมภาพก็ได้พูดในเรื่อง โลกวิทู ก็เป็นการบรรยายคุณสมบัติข้อหนึ่งของพระพุทธเจ้า แต่จุดสำคัญที่ จะพึงเน้นก็คือสิ่งที่จะนำมาใช้ปฏิบัติได้ ก็คือความรู้ความเข้าใจในเรื่องสังขารโลก
สังขารโลกนั้น ความรู้เข้าใจเท่าทันสังขาร สังขารที่เป็นเรื่องโลกทั่วไปนั้น เราอาจจะมองเพ่งไปที่ข้าง นอก แต่ความจริงนั้น คำว่า สังขารโลกนั้น ก็รวมอยู่ที่ตัวเราด้วย ตัวเราทุกๆ คนนี้ก็เป็นสังขาร ร่างกายทั้งหมด แม้แต่จิตใจของเราอย่างที่เรารวมเรียกว่าขันธ์ 5 นั้น ก็เป็นสังขารทั้งสิ้น หากว่าเราจะดำเนินตามพุทธปฏิปทานี้ ก็คือรู้จักตัวเราตามความเป็นจริง และก็มีพุทธพจน์ตรัสไว้ด้วยว่า พระองค์ก็บัญญัติโลกอยู่ที่กายยาววาหนาคืบ กว้างศอกนี่เอง หมายความว่าตัวเราแต่ละคนๆ นี้แหละ คือโลกๆ หนึ่งของเรา เพราะว่าเราจะรู้จักโลกทั้งหมด ก็รู้จักด้วยตัวเราเนี่ย แม้แต่ถ้าเราหลับซะ โลกนั้นก็หายไปไหนหมดไม่รู้ เวลาเราตื่นขึ้นมาเราจึงจะมองเห็นโลก โลกปรากฎขึ้นมาทั้งโลกแก่เรา ฉะนั้น แต่ละคนนั้นต้องรู้จักตัวเองเป็นสำคัญในการที่จะรู้จักโลก เมื่อรู้จักโลก รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง รู้จักความเป็นสังขารที่มีอยู่ในตนแล้ว ก็จะเกิดความรู้เข้าใจเท่าทันโลกและชีวิต นี้ ก็เป็นการปฏิบัติที่จะดำเนินให้งอกงามในธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าได้
เพราะฉะนั้น หลักแม้แต่เรื่องโลกวิทูนี้ ก็เป็นเครื่องเชื่อมโยงเข้ามาสู่ทางธรรมะ ถ้าเราพิจารณาให้เข้าใจ โดยถูกต้องแล้ว ก็จะเป็นการเกื้อกูลในการที่จะปฏิบัติธรรม เช่น การบำเพ็ญวิปัสสนา เป็นต้น ให้รู้เข้าใจหลัก เรื่องไตรลักษณ์ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือตลอดจนว่าในแง่ของการดำเนินชีวิตทั่วไป รู้จักตนเอง ตามความเป็นจริง ท่านเรียกหลักธรรมข้อหนึ่งว่า อัตตัญญุตา เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว รู้จักว่าตนเองมีลักษณะนิสัย อย่างไร มีความชอบอย่างไร มีความถนัดอย่างไร มีความสามารถมากน้อยแค่ไหนในแนวทางใด ก็จะได้ประพฤติ ปฏิบัติตนให้เหมาะสมและทำในสิ่งที่เหมาะสมกับตน ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้างอกงามในการดำเนินชีวิตได้
ตกลงว่าการรู้จักโลก ถ้าน้อมเข้ามาในขอบเขตที่แคบคือตนเองแล้ว ก็เป็นประโยน์เกื้อกูลแก่ชีวิตของตน ทั้งในการอยู่ในโลก และในการที่จะงอกงามในทางธรรม ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมานี้
วันนี้ก็จะขอจบพุทธคุณเรื่องโลกวิทูเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนา เจริญพร