แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพรท่านผู้สนใจภาวนาทุกท่าน วันนี้อาตมาจะได้พูดต่อไปในหัวข้อว่าด้วยวิธีทำจิตภาวนาโดยเลือกจากกรรมฐาน ๔๐ เป็นการต่อจากคราวที่แล้ว คราวที่แล้วได้พูดค้างไว้ในหัวข้อนี้โดยบรรจบลงที่เรื่องกรรมฐาน ๔๐ ซึ่งได้แจกแจงให้ทราบพอสมควรแล้วว่ากรรมฐาน ๔๐ นั้นมีอะไรบ้าง ทีนี้ก็มาถึงตอนที่เราจะมาเลือกกัน โดยจะมีหลักเกณฑ์ในการเลือก ทีนี้เข้าใจว่าความหมายของกรรมฐานนั้นก็คงจะชัดแล้ว ขออย่าให้สับสนระหว่างคำว่ากรรมฐานกับอารมณ์ ซึ่งในกรณีนี้ก็ใช้แทนกันได้ ก็ขอพูดทวนนิดหนึ่ง ก็คือสิ่งที่เรานำมาใช้หรือนำมาให้จิตกำหนด เพื่อจะทำให้จิตแน่วแน่เป็นอันหนึ่งอันเดียว นี้สิ่งนั้นเอง ถ้าใช้ในความหมายว่าเป็นที่ตั้งของการทำงานภาวนา เราก็เรียกว่าเป็นกรรมฐาน ถ้าหากว่าใช้ในความหมายว่าเป็นสิ่งที่จิตรับรู้ อันนั้นเราก็เรียกว่าเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าอารมณ์หรือเรียกว่ากรรมฐาน จะเห็นว่ามีความหมายก็เหมือนกัน บางทีก็เรียกซ้อนกันไปเลยว่าอารมณ์กรรมฐาน เพราะฉะนั้นถ้าใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ขอให้เข้าใจโดยไม่มีความสับสน ทีนี้จะพูดถึงข้อสังเกตอีกนิดหนึ่งว่า ที่ได้แสดงมาแล้วก็มีกรรมฐานมากมายตั้ง ๔๐ อย่าง ซึ่งเวลาจะปฏิบัตินี้เราก็เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทีนี้นอกจากว่าเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้แต่ในกรรมฐานอย่างเดียวกันนั้นก็ยังมีวิธีการและก็มีอย่างที่เรียกได้ว่าเทคนิคของพระอาจารย์ในการปฏิบัติต่างกันไปได้อีก อย่างสมมติว่าจะเลือกเอาลมหายใจมากำหนด บางสำนักอาจารย์ก็อาจจะให้กำหนดว่าพุทโธ บางสำนักก็อาจจะให้นับอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ วิธีการหรือเทคนิคนี้ก็อาจจะต่างกันไปอีก เพราะฉะนั้นความแตกต่างหลากหลายก็มีได้มาก ซึ่งขึ้นต่อเหตุผลต่าง ๆ ที่อาตมาเคยพูดไปแล้ว เช่น ความสะดวก แล้วก็ความเหมาะสมกับตัวบุคคลผู้ปฏิบัติซึ่งจะได้พูดต่อไป และก็ความชำนาญของพระอาจารย์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นความแตกต่างหลากหลายนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าสำนักต่าง ๆ นั้นมีความไม่ตรงกัน แตกต่างกัน ถ้าหากไม่เข้าใจหลักที่ว่ามานี้แล้ว ก็จะทำให้เกิดการที่ถึงกับขัดแย้งหรือว่าถกเถียงกันได้ เช่น มีการพูดถึงว่าที่นู่นถูก ที่นี่ไม่ถูก หรือว่าดีกว่า ที่นู่นดีกว่า ที่นี่ดีกว่า ซึ่งถ้าหากว่าเราเข้าใจหลักการว่าการปฏิบัติก็มีหลักการอันเดียว ก็คือว่าจะทำอย่างไรให้จิตนั้นได้แน่วแน่เป็นอันหนึ่ง อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว อยู่กับกรรมฐานอันเดียว อยู่กับอารมณ์อันเดียว ทำได้อย่างนี้แล้วก็เป็นเรื่องของสมาธิ สำเร็จผลที่ต้องการ หลักการก็มีเท่านี้ วิธีการแตกต่างกันได้ เทคนิคแตกต่างกันได้ เพราะฉะนั้นก็ให้สบายใจ ต่อไปนี้ก็จะได้พูดในเรื่องหลักเกณฑ์ในการเลือกกรรมฐาน หลักเกณฑ์นี้ก็ ในที่นี้คิดว่าพูดถึงหลักสำคัญสัก ๒ อย่างก็พอ อย่างที่ ๑ ก็คือ การลือกโดยพิจารณากรรมฐานนั้นให้เหมาะจริตของบุคคล คือตัวผู้เข้าปฏิบัตินั้นว่ามีจริตอย่างไร ได้แก่ มีลักษณะนิสัย พื้นจิตใจแบบไหน แล้วก็เลือกกรรมฐานให้เหมาะกับลักษณะนิสัยแบบนั้น นี่เรียกว่าการเลือกโดยพิจารณาให้เหมาะกับจริต ประการที่ ๒ ก็คือ ดูว่ากรรมฐานที่เราเลือกนั้น มีขีดคั่นให้ผลสำเร็จได้ถึงแค่ไหน เพราะกรรมฐานทั้ง ๔๐ อย่างนั้น ก็ให้ผลสำเร็จได้ไม่เท่ากัน บางอย่างก็ให้ได้สำเร็จผลสมาธิขั้นสูง บางอย่างก็ให้ได้แค่สมาธิขั้นต่ำ ๆ ขั้นต้น ๆ เท่านั้น อันนี้ผู้ที่จะเข้าปฏิบัติทราบไว้ก็เป็นประโยชน์ เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อประกอบการพิจารณาในการเลือกกรรมฐานด้วย เอาละทีนี้ก็จะพูดต่อไปในหัวข้อ ๒ หัวข้อนี้