แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นี่ก็มาคุยกันต่อ ความจริงที่พูดไปแล้วก็พูดเยอะแล้ว แต่ก็มีอีกเยอะเลยที่ควรจะพูด ที่ควรจะย้ำก็คือเรื่องนี้ที่ว่า หลักการใหญ่ เนี่ยๆ การพัฒนาปัญญานี่เรื่องใหญ่ที่สุด ถ้าเราพัฒนาคนกันจริงจัง ตามหลักพุทธศาสนาในเรื่องปัญญานี่ เราจะได้นะจะได้ประชาธิปไตยที่ดี แต่เราไม่ได้เอาใจใส่เท่าที่ควร ทีนี้ก็การพัฒนามันเป็นขั้นตอน อันนี้แหละที่อยากจะพูดอีก อย่างสังคมอเมริกันเองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสังคมอุดมคติอะไร เขาก็ไปได้เยอะในเรื่องประชาธิปไตย อย่างน้อยว่าในแง่หนึ่งเขายึดถือกฎกติกาเป็นใหญ่อันนี้ที่เขาอยู่ได้เนี่ย เขาอยู่ได้ด้วยการยึดถือกฎกติกา จนกระทั่งคุยว่าเป็นสังคม Rule of Law ใช่ไหม เป็น Rule of Law เราก็แปลกันว่า นิติรัฐบ้างอะไรบ้าง ที่จริง Rule of Law เนี่ย ท่านว่าแปลว่าอะไร Rule เนี่ยมันแปลว่าการปกครอง แต่อีกความหมายหนึ่งมันแปลว่าเป็นใหญ่นะฮะ ที่ปกครองก็คือ เอาอันนี้เป็นใหญ่ Rule of Law Law ก็กฎเกณฑ์กติกา กฎเกณฑ์กติกามี 2 อย่าง กฎเกณฑ์กติกา กฎธรรมชาติ กับ กฎมนุษย์ ไง แล้วตัวกฎเนี่ยทางพระท่านเรียกว่า ธรรมะทั้งนั้นแหละ กฎหมายเราก็เรียกธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ก็คือวิชาธรรม วิชาธรรมก็คือกฎหมาย แต่ในทีนี้เป็นกฎมนุษย์เป็นมนูธรรม ก็กฎ ของพระเจ้ามนู
ทีนี้ธรรมศาสตร์ อีกอย่างก็คือ ธรรมะที่เป็นกฎธรรมชาติ ทีนี้พวก Rule of Law นี่ก็เอากฎเป็นใหญ่เอากฎหมาย กฎมนุษย์ก็คือ กฎหมาย กฎหมายเป็นใหญ่ Rule ตัวนี้ที่จริงแปลว่า อธิปไตยก็ได้ แปลว่า ความเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น Rule of Law ก็คือ ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือกฎกติกาเป็นใหญ่ก็สองชั้น กฎมนุษย์ในสังคมประชาธิปไตยขั้นแรกก็ต้องถือ กฎมนุษย์ บัญญัติกันไว้อย่างไร เช่น รัฐธรรมนูญว่าอย่างไรก็ต้องว่าตามนั้น เอากฎหมายกติกาเป็นใหญ่ถือตามนั้น ทีนี้ถ้าลึกลงไปก็ถึงกฎธรรมชาติ ความจริงที่เป็นธรรมดาของมัน ทีนี้สังคมอย่างอเมริกันแกก็อยู่ได้ด้วยกฎหมาย แต่ว่าในใจแกยังแก้ไม่ตกเยอะเลยใช่ไหม อย่างเช่น ปัญหาเรื่องผิวก็หนักเหลือเกินเนี่ย ก็ได้แค่อยู่กันด้วยกฎหมาย กำหนดกฎหมายให้มีสิทธิมีเสียงอย่างนั้น แต่ว่ามันก็ยังเลี่ยงกัน อย่างเรื่องกฎหมายเนี่ย บอกว่าให้เท่ากันใช่ไหมฮะ แต่ว่าในทางปฏิบัติจริงก็หาทางเลี่ยงกันต่างๆ อย่างเราจะได้ยินเรื่อย แม้แต่เรื่องกฎหมาย ต้องบัญญัติเพราะว่ามีการถือสีผิว เช่นแม้แต่ซื้อบ้านก็มีกฎหมายบัญญัติว่าไม่ให้คนขายเนี่ยจะไปเกี่ยงไม่ยอมว่าไปกีดกันไม่ให้คนผิวอื่นซื้อ ก็ต้องมีกฎหมายมาช่วย ทั้งๆที่ในบางสังคมอาจจะไม่ต้องมีเลย เพราะว่ามันไม่มีปัญหานี้ ไอ้กฎหมายก็มีอย่างนี้ขึ้นมา เนี่ย เพราะมันมีปัญหาของตัวเองต้องแก้ปัญหา แต่ว่าแก้ปัญหาในจิตใจมันแก้ไม่ได้ แก้ด้วยกฎหมายมันก็ไม่สำเร็จผลจริง ทำไม ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไปอยู่อเมริกาก็จะเล่าได้ อย่างว่าประกาศขายบ้าน ก็ต้องเป็นธรรมแก่คนที่จะซื้อ ใช่ไหม ประกาศขายบ้านแล้วทีนี้ ก็หาทางที่จะเลี่ยง คนขาวบางคนก็เลี่ยง ทำอย่างไรจะไม่ให้คนดำมาซื้อ ต้องหาทางแล้วยิ่งบางชุมชนนี่เขาไม่อยากให้ผิวสีอื่นเข้ามา ก็หาทางกันด้วยวิธีต่างๆ ก็เคยมีตัวอย่างที่ว่า อ้าวในที่สุดขายไป ตาคนนั้นเองอาจจะไม่หวงยอมขายให้คนผิวอื่น อย่างคนผิวดำ เสร็จแล้วพอคนผิวดำเข้ามาอยู่ อยู่ๆ มาวันหนึ่งก็บ้านนั้นก็ไหม้ไม่รู้เลย ไม่รู้ว่าใครเผาอย่างนี้เป็นต้น นี่แสดงว่า กฎหมายมาพยายามแก้ปัญหาของมนุษย์ แต่มันแก้ไม่ถึงจิตใจในจิตใจมันแก้ไม่ได้มันก็ไม่จบปัญหา ฉะนั้นปัญหาเรื่องผิวในอเมริกายังมีปัญหาเยอะแยะ กฎหมายบัญญัติอย่างนี้ แต่เอาจริงมันก็ยังไม่ได้ตามนั้น อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่อง Freedom of Speech เรื่องเสรีภาพในการพูดอะไรเนี่ย ยกตัวอย่างมีปัญหา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้
อย่างในทศวรรษ 1990 ก็ปี 1990 เป็นต้นมานะ มีคำหนึ่งที่เกิดขึ้น คือคำว่า Political Correctness ใครเคยได้ยินบ้าง ท่านได้ยินใช่ไหม นี่ละครับ นี่ก็เป็นปัญหาโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย วันหนึ่งมีนักศึกษาผู้หญิงผิวดำ 5 คน ไปยืนอยู่ในหอพัก แต่ไปยืนอยู่ที่ข้างๆ หรือหน้าห้องของนักศึกษาอีกคนหนึ่งที่เป็นผิวขาว ทีนี้คน 5 คนนักศึกษาหญิงผิวดำ แกก็คุยกันเสียงดังเอ็ดตะโรหมด เจ้าของห้องอยู่ตรงนี้หนวกหู ก็เลยพูดออกไปว่า Shut Up You Bother Buffalo เข้าใจไหมฮะ Shut Up หุบปากสะ ยัยพวกอะไร ยัยพวก Bother Buffalo ควายนี่แหละ แหมโกรธ เรียกตำรวจมาจับก็เกิดเป็นคดีขึ้นมา ทีนี้ในช่วงนั้นละครับเกิดปัญหาเรื่องนี้มากในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ก็ต้องออกระเบียบของมหาวิทยาลัยขึ้นมา คือไม่ให้พูดหรือแสดงอาการที่กระทบกระเทือนใจของพวกผู้หญิงบ้าง คนผิวสี แล้วก็พวกเกย์ พวกอะไรพวกเนี้ย คือพวกนี้ก็มีปมของตัวเองคล้ายๆ อย่างนั้นน่ะ ทีนี้มีคำพูดบางคำที่ไปกระทบกระเทือนใจ หลายมหาวิทยาลัยต้องประสบปัญหานี้ก็ออกระเบียบกัน บางมหาวิทยาลัยอีกฝ่ายหนึ่งก็เถียง บอกว่าอย่างนี้มันเป็นการละเมิด สิทธิ เสรีภาพในการพูด แล้วก็เสรีภาพในทางวิชาการในมหาวิทยาลัย Academic Freedom บางมหาวิทยาลัยถึงกับมีการนำขึ้นฟ้องศาล แล้วมหาวิทยาลัยแพ้ มหาวิทยาลัยต้องยกเลิกกฎที่ห้ามไม่ให้พูดคำที่ไปกระทบกระเทือนใจพวกคนกลุ่มน้อยหรือ พวกผู้หญิง พวกเกย์ หรืออะไรยังนี้ เนี่ยนี่ก็เป็นปัญหาเป็นความขัดแย้งกันระหว่างเรื่องของเสรีภาพในการพูด แล้วก็เรื่องของคำพูดที่รู้สึกไม่ดีเป็นปัญหาในเป็นอยู่ร่วมกัน เรื่องอย่างนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ไม่จบทีเดียว เพราะฉะนั้นอเมิรกาก็ยังไม่พ้นเรื่องเหล่านี้ มันก็ต้องพัฒนาจิตใจคนด้วยใช่ไหม ว่าทำอย่างไรคนจึงจะมีจิตใจดีต่อกัน เออมีรู้สึกดี เป็นมิตรกัน การใช้วาจาก็มันก็อยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ ถ้าหากว่าเจตนามันดี บริสุทธิ์แล้ว มันต้องพูดกันได้ เพราะว่าเราแสวงหาปัญญา เมื่อแสวงหาความจริงมันก็ต้องพูดได้หมด ในเง่หนึ่งที่รัฐธรรมนูญเค้าตราไว้ก็เพื่อให้มนุษย์เนี่ย ในแง่หนึ่งก็เหมือนให้มนุษย์มีโอกาสพัฒนาในการใช้ปัญญา การแสวงหาความจริงก็ต้องมี Freedom of Speech พูดด้วยกัน พูดได้เต็มที่ แต่ว่ามันก็มาขัดอันนี้ พอมามีปัญญายังงี้ อ้าว พอจะบัญญัติตรงกันข้ามก็กลายเป็นว่า มาลิดรอนเสรีภาพในการพูดอะไรอีกขัดรัฐธรรมนูญอีก เนี่ยมนุษย์จะทำอย่างไรก็ยังพัฒนาไปไม่จบ ประเทศสังคมที่เจริญก็ยังมีปัญหาเยอะ บางอย่างมีปัญหามากกว่าเราปัญหาของเรานี่ คือเป็นคนที่ยึดถือกฎกติกาไม่ค่อยได้ใช่ไหม เมืองไทยใช่ไหม อย่างที่พูดกัน แม้แต่กฎจราจรก็ยังถือไม่ได้ อะไรอย่างนี้ว่ากันมานานแล้ว ก็ทีนี้ประเทศของเขาเค้าดีในแง่นี้ ที่เขารักษาบ้านเมืองได้ก็ด้วยการรักษา กฎ กติกา นี่ของเรานี่มันจุดอ่อนอยู่ตรงนี้ แต่ว่าของเราอาจจะมีดีกว่าในแง่อื่น การพัฒนาบางแง่บางด้านไม่เหมือนกันน่ะ ข้อดีของตัวเองก็ควรจะใช้ประโยชน์ที่ยังไม่ได้ก็ควรพัฒนาขึ้นไป หรืออย่างทั่วไปเดี่ยวนี้เราก็พูดกันว่า เนี่ยเถียงกันไม่ได้นะเรื่องการเมืองกับเรื่องศาสนา ใช่ไหม เดี๋ยวนี้ก็ยังว่าอย่างนั้นใช่ไหมฮะ เรื่องการเมืองกับเรื่องศาสนานี่ เอามาเถียงกันไม่ได้ เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน เอ้าแต่ถ้ามนุษย์พัฒนาจริง ต้องได้ จริงไหม เราจะมายอมกับการที่ว่า เอ่อมนุษย์มันเป็นแบบนี้ เดี๋ยวนี้แล้วจะต้องหยุด ก็ยอมอย่างนั้นมนุษย์จะพัฒนาได้อย่างไร อเมริกา ฝรั่งก็ยังไปไม่ได้ตลอดหรอกอันนี้ การถกเถียงกันในเรื่องเหล่านี้มันยังติดในเรื่องทิฐิกันมาก ก็ต้องพัฒนาต่อไปถ้าพัฒนาได้ มันต้องถึงขั้นที่ว่า ไม่ว่าเรื่องการเมือง เรื่องศาสนาต้องเถียงกันได้หมด เมื่อไหร่เถียงได้หมดนั่นแหละ มนุษย์จึงจะเป็นที่ยอมรับได้ว่ามีการพัฒนาจริง จะทำได้ไหมนั่นนะ แต่ถ้าถือตามหลักพุทธศาสนาต้องได้ แล้วมนุษย์ก็มาติดตรงนี้
เอ้าก็เอาง่ายๆ อย่างพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกทำสำเร็จเป็นตัวอย่าง พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์ ก็เป็นว่าพระองค์ก็นับถือพุทธศาสนา แต่ว่าอุปถัมภ์ทุกศาสนา แล้วให้เสรีภาพหมดเลย ไม่ว่าทั้งนั้น เว้นแต่ ทำอะไรมันเป็นการเบียดเบียน ไม่ถูกอย่างนี้ บูชายัญด้วยเอาชีวิตสัตว์นี่พระองค์ก็ห้าม มันก็กลับไปทำลายผลประโยชน์ของพราหมณ์อย่างที่เคยเล่า ในที่สุดวงศ์พระเจ้าอโศกก็ล้มเพราะพราหมณ์ เพราะว่าไม่ใช้อภิสิทธิ์แก่พราหมณ์ แล้วก็ห้ามการฆ่าสัตว์บูชายัญ ประกาศในศิลาจารึกนี่มีเยอะหลายแห่ง ทีนี้พระเจ้าอโศกนี่ก็เปิดโอกาสเต็มที่ แล้วศิลาจารึกก็มีที่บอกไว้ บอกว่าให้ให้เกียรติ พูดถึงศาสนาอื่น ด้วยวาจาที่ไพเราะให้อยู่ร่วมกันด้วยดี แล้วก็ให้รับฟังธรรมของกันและกัน อันนี้ละครับเนี่ยที่ว่านี่ พระองค์มีอันหนึ่งนะฮะที่ว่านี่ อันนี้จุดสำคัญ ให้ฟังธรรมของกันและกัน ก็ฟังกันได้อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ ต่อมาก็ไม่ได้อีกเพราะพระเจ้าอโศกสิ้น พอถึงหลาน เหลน พระองค์ก็ถูกกำจัดวงศ์ก็ขึ้นมาสู่ระบบวรรณะ ระบบบูชายัญกันต่อไป เนี่ยมนุษย์จะพัฒนาได้ไหม จนกระทั่งว่าแม้แต่เรื่องศาสนาก็รับฟังกันได้ ไม่ว่าอะไร เถียงก็เถียงกันไป เพราะมนุษย์จะเถียงกันยังไงนะ ทะเลาะกันไปเนี่ย เรามาตบตีด่ากัน ฆ่ากันเนี่ย ไอ้ความจริงมันก็เป็นของมันอย่างนั้น มันก็นอนอยู่เฉยๆ มันไม่เห็นเปลี่ยนแปลง ถ้ามันเป็นอย่างไรมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น แล้วมนุษย์มาด่ามาเถียงมาฆ่ากัน เอ้ามันเรื่องอะไรล่ะ ใช่ไหม ความจริงมันก็เป็นอยู่ของมัน มันนอนอยู่เฉยๆ ถ้ามันเป็นตัวอะไรสักอัน มันก็นอนอยู่อย่างนั้นแหละ มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่ได้หันเหไปไหนเลย มันก็อยู่อย่างนั้น คนมาเถียงกันเอาเป็นเอาตาย เอ่อมันเรื่องอะไร มนุษย์ก็แก้ไม่ได้เพราะกิเลสเรื่องยึดติดในทิฐิ ต้องแก้ให้ได้ต้องพัฒนาคนให้ได้ เนี่ยตอนนี้คิดว่าปัญหาเรื่องทิฐิกำลังแรงเลย ไม่ใช่ปัญหาอื่นแรงหรอก ปัญหาอื่นก็มีอยู่แล้ว คือเค้าเอาไอ้เรื่องปัญหาเรื่องตัณหามานะเนี่ยมาเป็นจุดสำคัญที่ว่า ไอ้การเมืองที่ผ่านมาเนี่ยยุ่งนักเรื่องตัณหามานะ หาผลประโยชน์กันแล้วก็หาอำนาจ นี่คือตัณหามานะ มันทำให้เกิดคอร์รัปชั่นเกิดอะไรต่างๆที่ไม่ดี ก็เราก็ต้องแก้อันนั้นแน่นอน ใช่ไหม
ถ้าเราได้นักการเมืองที่บริสุทธิ์ การเมืองที่มีจิตใจที่ดีงาม มุ่งทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตามอุดมคติของการปกครองเนี่ย เพื่อประโยชน์สุข อย่างพระมหากษัตรยิ์ของไทยเรา พระองค์ขึ้นครองราชย์ก็ตรัสคำนี้ เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่ นี่คือ อุดมคติจุดหมายของการปกครอง ทีนี้เราต้องการให้นักปกครอง นักการเมืองเป็นอย่างเงี้ย ก็ดีแล้วละ ทีนี้พอมีตัณหามานะ ทิฐิ ก็เลยมีปัญหาว่า ไม่ทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนแล้วมันกลายทำเพื่อตนเอง เพื่อสนองตัณหา เพื่อผลประโยชน์ เพื่อสนองมานะความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ทีนี้เราก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้องแล้วในแง่นี้ แต่ระวังอีกอันหนึ่งจะมาติดทิฐิสิ ตัวนี้จะเป็นตัวใหญ่อีกอันหนึ่ง ที่มันจะไปไม่รอด เพราะฉะนั้น จะต้องมีสติที่ต้องระวังตัวเองด้วยบอกว่า เรากำลังแก้ปัญหาตัณหามานะ แต่ว่าระวังตัวด้วยนะอย่าไปติดทิฐิ แล้วมาทะเลาะกันเพราะทิฐิ ต้องเปิดโอกาสอย่างน้อยก็รับฟังซึ่งกันและกัน โอ้ เรื่องเยอะเหลือเกิน เอาละนี่ก็เรื่องแง่มุมต่างๆที่นึกขึ้นมา ก็พูดไป เอ้า ท่านมีถามอะไรอีกไหม อ๋อ เดี๋ยว เพื่อท่านมีอะไรเสริม เรื่อง Political Correctness จะมีไหมฮะ (เสียงพระนวกะตอบ) ไม่มีนะ
เอ่อ แต่ทีนี้คำนี้ Political correctness ดูเหมือนยังไม่ได้แปล Political Correctness ก็คือความถูกต้องแบบการเมือง คือมันไม่ใช่ถูกต้องจริง แต่ว่ามันเป็นเพราะ การอยู่ร่วมกันเอาอกเอาใจกันรักษาน้ำใจ กลัวจะกระทบกระเทือนใจก็เลยต้องพูดแบบนั้น เลี่ยงคำที่จะกระทบกระเทือนใจ พูดคำที่จะทำให้สบายใจ มันก็เลยทำให้อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าเนี่ยมันผิด มันขัดต่อ Freedom of Speech เสรีภาพในการพูด แล้วบางทีเพราะว่าใช้วาจาที่เอาอกเอาใจ รักษาน้ำใจ ก็เลยไม่มีโอกาสที่จะพูดความจริงกัน นี่ก็เป็นปัญหาของอเมริกาที่เป็นมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็เถียงกันอยู่ อย่างไม่ให้มี Hate Speech วาจาแสดงความเกลียดชังแล้วก็ Non Sexist Language ไม่เป็นภาษาที่เอียงเพศ ทั้งเอียงเพศ เอียงผิวนี่เป็นภาษาที่เป็นปัญหากับเรื่อง Political Correctness ทีนี้ Non Sexist Language ภาษาไม่เอียงเพศ ก็คือตอนช่วงนั้นเราจะเห็นว่า ในอเมริกาเนี่ยเกิดปัญหาเรื่องนี้ เรื่องการใช้ถ้อยคำ ในอดีตนี่ใช้กันมา พอพูดถึงคนก็ Man ยุคนั้นละเริ่มเกิดปัญหานี้ เค้าบอกไม่ได้แหละต่อไปนี้จะใช้ Man ไม่ได้ ถ้าใช้ต้องใช้ทั้ง Man and Woman แต่ก่อนใช้ He อย่างเดียวก็แทนหมด มาถึงยุคนั้นก็เริ่ม จะเห็นว่าหนังสือต่อจากนั้นก็ เป็น He or She หรือย่างเป็น Man ถ้าพหูพจน์เป็น Men ก็ให้ใช้ People มั่งอะไรมั่งแทน แต่ก่อนเรียกประธานก็เรียก Chairman ไม่ได้แล้ว ต้องใช้ Chairperson หรือไม่งั้นก็ต้องเป็น Chairman Chairwoman โดยมาก็เลี่ยงเป็น Chairperson ไป ก็เนี่ยก็เป็นปัญหาในยุค Political Correctness ดูอย่างพวกคนดำนี่ก็ แต่อันนั้นเป็นมาก่อน เช่น เรียก Negro นี่ถือว่า เหยียด ก็ต้องเรียกเป็น Black เป็น African American อะไร พวกภาษาช่วงนี้ช่วงที่ว่า 1990 กว่าๆ นี่จะเป็นช่วงที่เกิดปัญหานี้ที่เรียกว่า Political Correctness แล้วเกิดความขัดแย้งในสังคมมาก เพราะว่าในแง่หนึ่งก็ใช้ภาษาเอาอกเอาใจกัน รักษาน้ำใจกัน แต่กลายเป็นว่า ไม่เป็นตามหลักเสรีภาพในการพูด แล้วบางทีก็ไปทำให้ไม่กล้าพูดความจริง ในการถกเถียงอะไรบางอย่าง เพราะรักษาเกรงใจอะไรต่ออะไรเนี่ย เรื่องมันยุ่ง พอสมควร เรื่องที่ไม่มีในสังคมไทยก็เกิดขึ้นที่นั่นได้ เนี่ยก็คิดว่าปัญหายังไม่จบทีเดียว แต่ว่าก็เบาลงแล้วในช่วง ทศวรรษ 1990 ปัญหาหนักมาก มันก็แน่ละเพราะว่า เค้ายังแก้ปัญหาจิตใจมนุษย์ไม่ได้ เรื่องสีผิวก็ตาม เรื่องไอ้พรรณ์นี้ บางทีกระทบกระทั่งกัน ในที่สุดมันกลายเป็นแม้แต่กระทบกระทั่งใจ ใช่ไหม สะเทือนใจ มันก็ไปไม่รอด อ้อ แล้วอย่าง Political Correctness เนี่ยมันมีอิทธิพล แม้กระทั่งไปมีปัญหาเรื่องการตัดสิน ผลงานทางวิชาการ อะไรต่างๆ บางรายก็ตัดสินออกมาแล้ว มีผู้กล่าวหาว่าเนี่ย การตัดสินนี้เอนเอียงด้วยเรื่องติดใน Political Correctness เห็นแก่อย่างนั้นเห็นแก่อย่างนี้ กลัวว่าจะไปกระทบกระเทือนใจฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ กลุ่มชนน้อยพวกนี้ก็เลยตัดสินแบบนี้ อะไรอย่างนี้นะฮะ เนี่ยเพราะฉะนั้น มันจะมีผลกว้างไปเยอะเลย เรื่องเยอะเหลือเกิน เกร็ดเหล่านี้ เรื่องพูดไปก็เรื่องโน้นมา เรื่องนี้มา
ทีนี้ก็ การพัฒนาที่ว่าเป็นขั้นตอน สำหรับปุถุชนเนี่ยเราต้องยอมรับเขาตามที่มันเป็น เค้าอยู่ในระดับการพัฒนาขั้นนี้ เราจะช่วยเค้าได้อย่างไร เครื่องมืออุปกรณ์ เรามีเจตนาดีต่อเขา ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าก็วางแนวไว้ให้แล้ว ระดับศีล5 ท่านบอกว่าเอ้า เอามาใช้ แต่ว่าใช้ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนากุศล ทีนี้พอเราจะฝึกต่อไปก็อย่างที่ว่า ตอนนี้ชักจะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอกให้อยู่กับใจตัวเองได้ ให้เป็นสุขภายใน พัฒนาสุขที่เป็นอิสระ แล้วก็เจริญจิตเจริญเจริญปัญญาขึ้นไป มันเป็นขั้นตอน เวลาพระพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ที่ปฏิบัติธรรมเนี่ย จะเริ่มจุดไหนก็แล้วแต่ พอเขาเริ่มแล้ว เช่นว่า เขาไปพิจารณาธรรม หรือไปสดับธรรมะมาแล้วมาไตร่ตรองแล้วเค้าเกิดปราโมทย์ ปราโมทย์นี่เป็นสภาพจิตที่ดีครับ เป็นสภาพจิตที่ร่าเริง เบิกบาน พอร่าเริงเบิกบานเนี่ย มันก็จะไม่มีความขุ่นมัวเศร้าหมอง หนึ่งในแง่ของสภาพจิตก็ดี เช่นมีความสุข ฉะนั้นปราโมทย์มานี่ก็นำไปสู่สมาธิ แล้วพอมันไม่ขุ่นมัวเศร้าหมองมันร่าเริงเบิกบานมันก็เป็นจิตที่เปิด สองจิตที่เปิดมันก็ให้โอกาสแก่ปัญญา ตอนนี้แหละครับมันจะพัฒนาไปทั้งด้านจิตด้านปัญญา เพราะฉะนั้นเนี่ยให้ตั้งหลักไว้เลยเนี่ย มีจิตปราโมทย์ ทำจิตให้บันเทิง ใครจะมายั่วให้โกรธก็อย่าไปโกรธ เอ้อ เราเสียปราโมทย์ไม่ได้ ใช่ไหม ถ้าเราไปพลอยโกรธเขาก็เสียปราโมทย์สิ แค่รักษาปราโมทย์ได้ จิตปราโมทย์ได้ ดีถมไปแระ นี้เอาอย่างง่ายเลย บอกญาติโยมเนี่ยทำใจให้ปราโมทย์ไว้ เรารู้นี่ที่เราปราโมทย์นี่มันเพื่อส่งเสริมคุณภาพจิตใจ จิตใจจะได้ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ไม่มีอำนาจกิเลสเข้ามายุ่งใจปราโมทย์นี่มันใจผ่องนะ มันร่าเริงเบิกบาน โล่ง ผ่อง ทีนี้มันก็ดีสิ มันก็เป็นสภาพจิตที่ดี แล้วก็จะมีกิเลสมีอะไรเกิดได้ยากเหมือนกับเกิดเหตุการณ์ร้ายนี่นะ เราก็รักษาปราโมทย์ไว้อย่าไปพลอยโกรธกับเขาด้วย ทีนี้ถ้าพวกที่ไปอยู่ในฝ่ายเหล่านี้มีปราโมทย์ไว้ได้เนี่ย แกก็จะไม่ทะเลาะกันหรอก ถึงจะเถียงกันอย่างไรก็ไม่ทะเลาะและไม่ตบตีกัน ใช่ไหม บอกเอ้ยพวกเราปราโมทย์ไว้ก่อนไปบอกทุกคนในนั้นน่ะ บอกปราโมทย์ไว้ ๆ ปราโมทย์ไว้มันก็ไม่ทุบตีกันน่ะใช่ไหม แค่นี้ก็ได้ความแล้วรักษาสังคมได้เลย ท่านให้ปราโมทย์ไว้ เอาละครับหนึ่งละปราโมทย์สำคัญเพราะมันอยู่ในกระบวนการพัฒนาปัญญาด้วย เราก็พัฒนาปัญญา ทีนี้ด้วยจิตที่ปราโมทย์เนี่ยเราก็รับฟังใช่ไหม จะพูดอะไรมาจิตเราปราโมทย์เราก็ฟังได้ดีสิครับ ไม่ไปมัวติด มัวยึดถูกใจเราไม่ถูกใจเรามันไม่มี มันก็ไม่โกรธไม่อะไรกัน ไม่งั้นไม่มีปราโมทย์แล้ว มันยุ่งไปหมดแหละ รับฟังกันก็ไม่ได้ ตั้งปราโมทย์เป็นหลักใจไว้ก่อนเลย เอาๆ อันนี้ก่อนนะครับตกลง การพัฒนามันเป็นขั้นตอน อันนี้แหละที่อยากจะพูดอีก การพัฒนามนุษย์ในแนวพุทธศาสนา คือ พุทธศาสนานี้ไม่ถือการเป็นสังคมอย่างเดียวตายตัว นี่เป็นจุดสำคัญนี่เรื่องของทิฐิ ทิฐิของนักอะไรทั้งหลายเนี่ยที่เขามีความหวังดีต่อสังคมเนี่ย มันไปจบตรงนี้ คือสังคมจะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วก็ห้ำหั่น ฆ่าฟัน จะต้องทำให้สังคมเป็นอย่างที่ฉันคิดให้ได้ อย่างพรพจน์ นี้เด่นมาก ต้องการให้เป็นสังคมอุดมคติตามลัทธิคอมมิวนิสต์ของแก แกไม่ทันใจ รอไม่ไหวแล้ว แกก็เลยฆ่าชนิดที่เรียกว่า ไม่ยั้งเลยใช่ไหม ฆ่าเป็นล้านๆ ก็เพราะทิฐิเนี่ย ทีนี้พวกที่แม้แต่มีความหวังดีต่อสังคม มีจริยธรรมดี แต่เป็นพวกที่มีปัญหาติดทิฐินี่มาก แล้วถ้าไม่เบียดเบียนห้ำหั่นคนก็ไม่ประสบความสำเร็จในที่สุด ท่านเหมาเจ๋อตุง ก็ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็น่าจะอยู่ในข่ายนี้ด้วย ท่านก็หวังดีแน่ต่อประชาชน ใช่ไหมฮะ แต่แนวคิดคอมมิวนิสต์ก็ตามสังคมเสรีประชาธิปไตยเนี่ย ก็มีทิฐิคนละแบบที่ตรงกันข้าม แต่ก็เป็นทิฐิชนิดหนึ่ง คือทิฐิที่ว่าเหมือนกับมีแบบตายตัว เป็นแบบแผนอย่างเดียวว่าต้องเป็นอย่างนี้ ทีนี้ก็ทะเลาะกันแล้ว ท่านเหมาเจ๋อตุงก็สังคมอุดมคติของท่านนี่ต้องเหมือนกันเลย ประชาชนตอนนั้นนี่แต่งตัวเหมือนกันหมดเลย ทั้งประเทศจีนนึกออกไหมฮะ แต่งตัวรู้สึกก่า ใช้เสื้อผ้า นุ่งกางเกง เสื้อชุดสีเทาๆ มั้งแทบจะเป็นพระจีนขออภัยพระเกาหลี พระจีนยังเทาบ้างเหลืองบ้าง แต่ว่าพระเกาหลีนี่เทาหมด ถ้าว่าไปก็เหมือนกับว่า ถ้าเราพูดนะท่านเหมาเจ๋อตุงนี่จะให้คนจีนนี่เป็นพระเกาหลีหมด แต่งชุดสีเทาหมด เสร็จแล้วไปไม่ได้ในที่สุด พอมันระเบิดนี่มันไปสุดกู่เลยใช่ไหม กลายเป็นว่าจีนนี่หนักเข้าไปอีก พอพ้นจากอำนาจท่านเหมาเจ๋อตุง แล้วมาตอนหลังนี่เป็นไงฮะไปกันใหญ่เลย หรูหรา ฉูดฉาด ฟุ้งเซ่อ อะไรต่ออะไรกัน เต็มที่เลยมันกลายเป็นสุดโต่ง มันกลายเป็นว่าสุดโต่งสองทาง นี่แหละครับที่เป็นจุดที่สำคัญ ทิฐิมนุษย์
ก็จะมีความยึดถือแม้แต่ในแง่ผู้ที่มีความหวังดีต่อสังคม พวกนี้โดยมากจะมีจริยธรรมดี พวกที่มีปัญหาเรื่องทิฐิ ไม่คอรัปชั่น ไม่อะไรเป็นนักการเมืองที่ดีเลย แต่ว่ามีความคิด ติดในทิฐของตัวเช่นว่า สังคมจะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วพอมันยึดแรงเข้า มันทนรอไม่ได้นะครับ ทนคนอื่นก็ไม่ได้ ทนเวลาก็ไม่ได้ พรพจน์ก็ทนเวลาไม่ไหว ไอ้พวกนั้นมันเข้าไม่ได้จับฆ่าหมด สังคมไม่เป็นอย่างงี้จะเป็นยังไง คนในเมืองพนมเปญนี่เอาออกนอกเมืองไปอยู่ชนบทหมด เอาทั้งเมืองจะครับ แล้วก็ให้ทุกคนในประเทศเปลี่ยนชื่อหมด เอากันชนิดเรียกว่าถอนรากถอนโคนเลย นี่คือสร้างสังคมใหม่ในฉับพลันทันที เสร็จแล้วเวียดนามทนไม่ไหว สามสี่ปีส่งกองทัพมาสู้ยึดได้พนมเปญเลย พรพจน์ก็ต้องออก อย่างท่านเหมาเจ๋อตุงท่านยังไม่รุนแรงเท่านี้ แต่ว่ารวมแล้วก็คือ จะมีทิฐิแบบว่ายึดถือ ต้องเป็นอย่างนี้
ทีนี้ท่านจะต้องมาเทียบกับพุทธศาสนา พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์นี่อยู่ในระดับต่างๆ ของการพัฒนา แม้แต่ความสุขก็ยังต้องการไม่เหมือนกันเลย นี้ไปบังคับจะให้เขามีความสุขแบบเดียวกัน จิตเขาไม่ถึงจะไปบังคับเขาได้อย่างไรเป็นไปไม่ได้ มันอยู่ไม่รอด ฉะนั้นท่านต้องคู่กันไป สร้างระบบสังคม ที่ในนั้นมีภาวะหลากหลายที่จะเหมาะกับคนที่พัฒนาในระดับนั้นๆ คนก็ต้องการความสุขไม่เท่ากัน คนต้องการความสุขระดับนี้ ก็มีแต่ขอบเขตว่าไม่ให้ละเมิดไม่ให้เสียหายละเอาได้ ยอม แต่ว่ามีเกณฑ์อย่างหนึ่งเงื่อนไขว่าคุณต้องพัฒนาตลอดเวลา ก็คือว่ายอมรับคนตามที่เขาเป็นทุกระดับ แต่ขออย่างเดียวว่าคุณอย่าหยุดการพัฒนา แล้วเราก็จัดสังคมที่เหมาะกับคนที่มีพัฒนาการในระดับต่างๆ ต้องเป็นสังคมแบบนี้ อันนี้ผมพูดง่ายๆ เลยท่านลองไปคิดดูสิครับ ระบบสังคมในพุทธศาสนาเนี่ยเป็นสังคมที่จัดโดยมีอะไรทุกอย่าง ที่มันสนองความต้องการ ที่เหมาะกับคนที่มีพัฒนาการในระดับนั้นๆ โดยมีกรอบ เกณฑ์อย่างต่ำว่าไม่ให้ละเมิดอันนี้ๆ นี้ เช่น ศีล5 ที่จะทำให้เกิดการเบียดเบียนอยู่กันไม่ได้ แล้วก็กรอบอย่างสูง อย่างเของพระนี่ก็มี เกณฑ์อย่างต่ำ เกณฑ์อย่างสูง มีหลายอย่างที่ท่านให้เลือกเอาพระบวชเข้ามาแล้ว ถือศีล 227 เหมือนกันแต่ อัธยาศัย ความต้องการการพัฒนาไม่เท่ากันก็ต่างกันอย่างนี้ก็ให้เลือกเอา อย่างธุดงค์ที่ผมเล่าให้ฟัง ก็เป็นตัวอย่างของการให้เลือกได้ในข้อปฏิบัติ จะอยู่ป่าอยู่บ้านเลือกเอา จะอยู่นานหรืออยู่สั้นก็เลือกเอา พระองค์นี้อยากจะถือธุดงค์ไปอยู่ป่าเอ้าไปอยู่ อยู่สามเดือนก็พอเอ้าก็พอ องค์นี้อยู่ตลอดชีวิตก็เอาท่านไม่ว่า ให้เลือกได้ทั้งนั้น เนี่ยๆๆ คือระบบแบบนี้จะเป็นที่ว่ามีกรอบในระดับหนึ่ง แต่ผู้ที่จะเข้าสู่กรอบนั้น ถามก่อนคุณสมัครใจไหม เมื่อสมัครใจก็ยอมรับ ฉันเอากรอบนี้ใช่ไหม แล้วกรอบนี้ก็เป็นเครื่องฝึกเรา เนี่ยทำไงเราจะสร้างสังคมแบบพุทธได้ ยากไหม พอเห็นไหมฮะ พอเห็นนะฮะ ไม่เหมือนเลย เราอย่าไปเทียบสังคมคอมมิวนิสต์ สังคมทุนนิยม เสรีอะไรเนี่ยไม่เหมือนพุทธศาสนาหรอก เอ้าเดี๋ยวจะเกินไป พูดท่านเตือนหลาย พูดมากไปแล้ว ญาติโยมคฤหัสถ์อะไรยังไม่ได้ถาม ที่จริงเตรียมคำถามมาใช่ไหม ไหน ถ้าจะมีอะไรถามก็ถามสะนิดหน่อย
(เสียงพระนวกะ) มีคำถามค้างครับ เรื่องความหมายของตุลาการภิวัฒน์
(หลวงพ่อ) โอ้ย แล้วจะมาตอบตอนนี้อะไรไหว ถ้าจะไม่ไหวนะ แต่ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตอบ สำหรับผมก็เห็นว่าไม่มีอะไรจะตอบมาก ถ้าหากว่าไม่มีศัพท์เป็นหลักเดิม ที่ตกลงกันไว้ว่าอันนี้แล้วเค้ามาตั้งศัพท์ใหม่ เพื่อให้หมายถึงอันนั้นอย่างนี้เราก็พูดได้ แต่ถ้าเขาตั้งศัพท์ขึ้นมาใหม่ ความหมายเป็นของเขา อย่างนี้เราต้องไปถามเขาใช่ไหมฮะ เราไม่สามารถอธิบายเพราะว่าเป็นความหมายของเขาเป็นผู้บัญญัติ เราอธิบายได้เหมือนกันแต่อธิบายอีกแง่หนึ่ง อย่างผมจะอธิบายผมก็พูดในแง่ตัวศัพท์ คุณเอาศัพท์นี้มาจากภาษาบาลี ภาษาบาลีตัวนี้แปลว่า อย่างนั้นๆ นั้น อย่างนี้ผมเล่าย่อก็ได้อย่างเช่น ตุลาการภิวัฒน์เนี่ย ก็แสดงว่าศัพท์นี้กร่อน คือหมายความว่า เพื่อให้เข้ากับลิ้นไทย เค้าใช้ว่า ตุลาการภิวัฒน์เหรอ ไม่มีอภิวัฒน์ ใช่ไหม แสดงว่า เขาตัด อะ ออก คือศัพท์เต็มมันต้องเป็นอภิวัฒน์ ก็ตัด ภิ เหมือนในภาษาไทย ศัพท์ที่เราต้องการให้เข้ากับลิ้นเรา บางทีเราก็ตัดไอ้ตัวที่เราไม่สะดวกปากนี้ออกไปเสีย เพราะว่าหากว่าศัพท์เดิมแท้มาเข้ากับตุลาการเนี่ย มันจะต้องพูดแบบเต็มทั้งสองศัพท์เป็น ตุลาการอภิวัฒน์ หรือมิเช่นนั้นก็เป็น สนธิ สนธิบวกเข้าไปก็เป็น ตุลากาลาภิวัฒน์ ซึ่งก็ยืดยาด เขาก็เลยตัดเอา อะ ออกเลยเป็นตุลาการภิวัฒน์ ก็คือ อภิวัฒน์นั่นเอง ทีนี้คำว่า อภิวัฒน์เนี่ยมาใช้ในคำสมัยใหม่ในทางการเมืองอะไรพวกเนี้ย ก็ไม่ทราบว่าคนที่คิดตั้งตอนนี้ เค้ามาคิดอันนี้หรือเปล่า คือศัพท์ว่า อภิวัฒน์เนี่ยเป็นศัพท์ที่นานมาแล้ว สมัยที่ท่านปรีดีท่านยังเป็นผู้บริหารอยู่เนี่ย ท่านอยู่ในประเทศเนี่ย ท่านเสนอว่าน่าจะใช้แทนคำว่าปฏิวิติ คือในทัศนะของท่านปรีดีเนี่ย ท่านไม่เห็นด้วยกับคำว่า ปฏิวัติ ท่านว่าควรใช้อภิวัฒน์มากกว่า ปฏิวัติมันก็หมุนกลับ ปฏิ กลับ วัติ แปลว่า หมุน ก็หมุนกลับ ท่านว่าอภิวัฒน์ไปข้างหน้าว่างั้น อภิวัฒน์มันจะตรงข้ามกับปฏิวัติ แต่ว่าตัววัฒน์ เขียนคนละอย่าง แต่ว่าจะเขียนอย่างเดียวกันก็ได้ก็แล้วแต่จะใช้ คือ ปฏิวัติ วัติแปลว่าหมุน เป็นไปแล้วก็ปฏิกลับ ก็หมุนกลับ ย้อนกลับ ทีนี้เราตีความไปในแง่ว่า พลิก แล้วไปเข้ากับศัพท์ฝรั่ง Revolution Revolution อันนั้นมันหมุนมันก็เลยหมุนกลับ คล้ายว่าศัพท์มันเข้ากันดี แต่ทีนี้ท่านปรีดี ท่านเห็นว่ามันควรจะเป็นอภิวัฒน์ เพราะมันเป็นการก้าวไปข้างหน้า เพราะ อภิ นี่แปลว่าข้างหน้า ปฏิ กลับสวนกลับย้อน อภิ ไปข้างหน้า แต่ว่าแปลว่า ยิ่งใหญ่ ทับ ก็ได้ เนี่ยศัพท์เนี่ยมันก็เลยมีความหมายได้กว้าง อภิวัฒน์ก็ต้องดูว่าเขาเขียนแบบไหน เป็นอภิวัฒน์ หรือ อภิวัตน์ อภิวัฒน์ไหน อภิวัฒน์ ถ้าอย่างนั้นก็เป็น อภิวัฒน์ แบบเจริญก้าวไปข้างหน้า อภิวัฒน์แบบนี้ก็เป็นศัพท์เก่าเลย เจริญ ก้าวไปข้างหน้าเนี่ย ทีนี้เรามาเจออภิวัตน์ ที่ใช้แบบ วัตน์ ตอนโลกาภิวัตน์ แต่ก่อนไม่ได้ใช้เลย คำว่า อภิวัตน์ นี่ไม่มีการใช้มีแต่ อภิวัฒน์ ก็เลยมามีคำว่า โลกาภิวัตน์ โลกาภิวัตน์ก็เป็นคำว่า โลกะ กับ อภิวัตน์ วัตน์ แปลว่า ความเป็นไป แล้วอภิ ก็แปลว่า ทับ เลยก็ได้มันก็ครอบเลย ก็หมายความว่าแผ่ไปทับทั้งโลก โลกาภิวัตน์แผ่ไปทับโลกก็เอาความหมายว่า มันแผ่ไปคลุมโลกแต่เราก็สามารถตีความ เอ้าถ้าอย่างนั้นคุณใช้โลกาภิวัตน์ในความหมายอย่างนี้นะ ฉันสามารถตีความว่า โลกาภิวัตน์มันแผ่ไปครอบงำโลกเหมือนกับมี พวกอะไรก็ตามเวลานี้ที่เป็นโลกาภิวัตน์เนี่ย มันไม่ได้แค่แผ่ไปทั่วโลกเฉยๆ นะ มันไปครอบงำด้วย อย่างลัทธิทุนนิยมเวลานี้ก็เป็นโลกาภิวัตน์ก็ไปครอบงำโลกเลย ครอบคลุมครอบงำธุรกิจก็ไปครอบงำโลก แล้วก็พวกไอทีก็แผ่ ไปทั่วโลก ไม่แผ่ไปทั่วโลกเฉยๆ ไปครอบงำสะด้วย ให้คนอยู่ใต้อำนาจมัน เอ่ออะไรต่ออะไรเดี๋ยวนี้มันไปในลักษณะที่แผ่ไปทั่วจริง แต่มันไปครอบงำซะด้วยนะ มนุษย์แทนที่จะได้ประโยชน์มันแผ่ถึงกันเราก็ดีสิ ใช่ไหม เรากลับไปถูกมันครอบสะนี่ งั้นโลกาภิวัตน์ในความหมายนี้ก็เลยไม่ดี ทีนี้เค้าก็เอาอภิวัฒน์ ตกลงว่าใช้ อภิวัฒน์ นะไม่ใช้อภิวัตน์ ทีนี้ถ้าใช้อภิวัฒน์ตัวนี้ก็เป็นอันว่าเจริญก้าวหน้า ตุลาภิวัฒน์ ก็เป็น ตุลาการนี้เจริญก้าวหน้าไปอีก หมายความว่าแต่ก่อนนี้ เคยอยู่แค่นี้ เช่นมีอำนาจทำการได้เท่านี้ ตอนนี้ก้าวไปอีก ก้าวไปมีอำนาจเพิ่มขึ้นเป็นต้น หรือมาทำงานทำอะไรให้แก่ประเทศชาติมากขึ้น แล้วแต่ตีความหรือถ้าคิดไปถึงว่า อภิวัฒน์ตัวนี้ก็คือ ศัพท์ที่ท่านปรีดี ต้องการใช้ สำหรับคำว่า Revolution ก็คือแทนคำว่าปฏิวัติ ถ้าอย่างนี้ก็คือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบตุลาการให้มันมีอะไรต่างๆ ที่มันแปลกไปจากเดิม อภิวัฒน์ในความหมายอย่างนี้ ก็กลายเป็นว่าเป็นอะไร จะเรียกว่า Judicial Revolution ไปเลยหรือไงดี กลายเป็นการปฏิวัติทางด้านตุลาการไปเลย แต่ว่าก็แล้วแต่จะใช้อันไหน อภิวัฒน์โดยมองว่าท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง คือท่านปรีดี เคยใช้สำหรับ Revolution ก็จะมีความหมายแบบนั้น หรือจะไม่ได้นึกในแง่นั้น ก็นึกในแง่ตัวเองในแง่ อภิวัฒน์ ก้าวหน้าก็เป็นว่าระบบตุลาการนี่เจริญก้าวหน้า ยิ่งขึ้นไปไม่ใช่ Revolution แต่ทีนี้ได้ยินว่ามี ประชาภิวัฒน์ อะไรต่ออะไรอีกใช่ไหม ก็แบบเดียวกันแหละ แล้วแต่จะใช้ในความหมายอย่างไร ถ้าท่านนึกถึง ถ้าท่านผู้ตั้งศัพท์คราวนี้ เอาคำว่า อภิวัฒน์ มาใช้โดยนึกถึงท่านปรีดี ก็จะมีความหมายแทนคำว่าปฏิวัติ ก็เปลี่ยนระบบ ก็เป็นปฏิวัติของประชาชนไปเลยใช่ไหม เป็นประชาภิวัฒน์ ก็เท่ากับประชาปฏิวัติ ประชาปฏิวัติอ้าวจะใช้อย่างไรล่ะ ก็แล้วแต่จะแปลสิ เช่นแปลว่า People Revolution ใช่ไหม เอาสิแล้วแต่จะแปล ก็แล้วแต่อันนี้เราพูดอะไรไม่ได้ เราบอกฉันได้แต่พูดถึงศัพท์ว่ามันเป็นไปได้อย่างงี้ๆ แต่คุณใช้ ฉันไม่สามารถรู้ได้เรื่องของคุณ คุณคิดอย่างไรก็ว่าเอา
(เสียงพระนวกะ) People Revolution เนี่ยทำให้นึกถึง Communism (เสียงหลวงพ่อ) ไม่รู้สิ (เสียงพระนวกะ) เกี่ยวข้องไหมครับ (เสียงหลวงพ่อ) ผมไม่ทราบเพราะว่าเป็นเรื่องของเขานี่ อันนี้เราวิเคราะห์ศัพท์อย่างเดียว คือหมายความว่า เราพูดในแง่ศัพท์ว่าสำหรับศัพท์นี่มันมีความหมายอย่างนี้ มันมีความเป็นไปได้อย่างนี้ เคยมีท่านที่ใช้ในความหมายนี้ แล้วตอนที่เขามาตั้งศัพท์นี้เขาคิดถึงอันนี้หรือเปล่า แล้วเค้าคิดในแง่อันนี้หรือในแง่อันโน้นใช่ไหม บอกอันนี้ฉันไปตัดสินคุณไม่ได้เป็นเรื่องของคุณเอง แต่ฉันบอกว่าโดยศัพท์แล้วในทางภาษามันเป็นอย่างงี้ ต้มีเรื่องไปถามแล้ว ต้องไปถามแล้ว คุณจะ ประชาภิวัฒน์นี่หมายถึงอะไรกันแน่ เป็น People Revolution หรือเปล่า เพราะว่ามันอาจจะเป็นได้ด้วย แต่ว่าถ้าใช้เป็นความเจริญเฉยๆ มันเป็นอะไรล่ะ ก็เป็น Evolution หรือไงฮะ ก็ไม่มี Revolution ก็เป็น Evolution เฉยๆ เอ่อไม่รู้แหละจะเอาไงนะ กลายเป็นว่าแม้แต่ศัพท์ก็ต้องไปเถียงกัน ว่าจะเอาไง เอาล่ะครับท่านเตือนหลายครั้ง ก็เอาเป็นเกร็ดไปแล้วกันนะ เรื่องอภิวัฒน์เนี่ย อย่าเอาไปถือเป็นเรื่องสำคัญ ตกลงว่าตัวประเด็นลงท้ายว่า ต้องไปถามเขาเพราะเขาเป็นผู้คิดศัพท์นี้ขึ้นมาจะเอายังไง เอาละครับ ก็โมทนา นึกว่าจะไม่อะไรพูดมาก พูดเละๆ เทะๆ เลยว่าไปสะยาว เอานะครับอย่างนั้น วันนี้เอาเท่านี้ก่อนแล้วค่อยมาคุยกันอีก