แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : วันนี้มาแล้วก็คุยกันบ้าง แต่ก็อย่างที่บอกแล้วว่าได้แค่คุยกันพอเป็นเกร็ดความรู้ ไม่เอาเป็นเรื่องจริงจังมากนัก ระยะนี้เรื่องความรู้เล็กๆ น้อยๆ ก็ย้ำว่า ในเรื่องที่อยากให้ชาวพุทธ ซึ่งก็หมายถึงคนไทยทั่วๆ ไป ได้เรียนรู้ศึกษาอะไร และทำอะไรก็ให้รู้อะไรก็รู้ให้ชัดเจน ทำอะไรก็ทำให้จริงจัง รู้ให้ชัดเจน ทำให้จริงจัง แต่มันก็ต่อเนื่องกัน เราจะทำอะไรจริงจังได้ เราก็ต้องรู้เรื่องนั้นชัดเจนด้วย สองอย่างนี้สำคัญมาก ในวงการชาวพุทธ ดูๆ เรื่องธรรมะที่เราเกี่ยวข้องในขอบเขตของเรานี้ อยู่กันอย่างค่อนข้างคลุมเครือ มืดมัว สลัว เลือนราง อะไรๆ ก็ไม่ชักสักอย่าง ธรรมะนั้นมีเยอะแยะ ขอบเขตที่เราจะต้องปฏิบัติไปถึง ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่ต้องชัดเจน เพราะเราไม่รู้ แต่ขอบเขตที่เราเกี่ยวข้องต้องใช้ในการดำเนินชีวิต ต้องชัดเจน นี่ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็สะสมนิสัย อยู่กับความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน อย่างที่ย้ำบ่อยๆ ตอนนี้ เรื่องความอยาก เป็นคนพุทธ หลายคนพอพูดว่าอยาก ไม่ได้แล้ว เสียหาย ถ้าไม่อยาก แล้วทำไงทีนี้ อยากให้ลูกเจริญเติบโตไหม อยากให้ลูกเป็นคนดีไหม อยากให้ลูกเรียนสำเร็จการศึกษาไหม อย่างนี้ บอกอยากไม่ได้ อยากก็เป็นกิเลสตัณหาสิ เนี่ย เป็นเรื่องของความไม่ชัดเจน ก็เลยพูดบ่อย อย่างน้อยชาวพุทธต้องแยกได้ ว่าความอยากมันเป็นยังไง อยากประเภทหนึ่งที่ท่านเรียกว่าตัณหา กับอยากอีกอย่างที่ท่านเรียกว่าฉันทะ พูดแล้วพูดเล่า ไม่ใช่อะไรๆ ก็อยากไม่ได้นะ เป็นตัณหา นี่สำคัญมาก เรื่องนี้พูดไปแล้วบ่อยๆ หวังว่าต้องให้ชัดเจนให้ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก ชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งความอยาก คนเราก็อยู่ได้ด้วยความอยาก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ฉันทะมูลกา สัพเพ ธัมมา ธรรมทั้งปวงมีความอยากเป็นมูล หมายความว่าที่เราทำอะไรดำเนินชีวิตกันอยู่เนี่ย ก็อยู่กันด้วยความอยากเป็นต้นเค้า ทีนี้ความอยากมี 2 อย่าง ได้เคยอธิบายไว้เยอะแยะเลย ความอยากที่เป็นกุศล เรียกว่ากุศลฉันทะ ความอยากที่เกื้อกูลแก่ชีวิต แล้วก็อกุศลฉันทะเรียกว่าตัณหา ถ้าพูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ ตัณหาคืออยากเอาให้ตัวได้ นี่เป็นฝ่ายอกุศล อยากเอาให้ตัวได้ ทีนี้ความอยากที่เป็นกุศลฝ่ายดี อยากทำให้มันดี คู่กันนะ จำไว้ อยากเอาให้ตัวได้ นี่เป็นตัณหา อยากทำให้มันดี อันนี้เป็นฉันทะ ฉันทะนี่เรียกเต็มก็กุศลฉันทะบ้าง ธรรมฉันทะบ้าง กัตตุกัมยตาฉันทะบ้าง เอาละ ก็เป็นว่าฉันทะ เรียกสั้นๆ ความอยากทำให้มันดี แล้วก็ความอยากเอาให้ตัวได้ อยากให้ตัวได้นี่เรียกว่าตัณหา จะมีตัวตนขึ้นมารับทันที แล้วก็อยู่กับความรู้สึก ไม่ต้องมีความรู้ เห็นอะไรมันถูกหูถูกตา พวกนี้ ตาหู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็รวมถึงจิตใจ ถูกความรู้สึกนั้น ถูกตาหู เป็นต้น เป็นเรื่องของความรู้สึก มันไม่ต้องมีความรู้ อะไรดีไม่ดี จะเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ มันถูกหูถูกตา เราก็เกิดความชอบอยากได้อยากเอาเป็นต้น อันนี้เป็นตัณหา มันมากับความรู้สึกเท่านั้นไม่ต้องมีความรู้ ก็เลยอยู่กับ
อวิชชา ฉะนั้นตัณหาความอยากเอาให้ตัวได้ ก็อยู่กับอวิชชา มากับความรู้สึก มุ่งแต่ได้เสพความรู้สึกนั้น ทีนี้ความอยากทำให้มันดีตอนนี้ มันต้องมีอะไร ความรู้ความเข้าใจ อย่างนี้ดีนี่ แล้วจะทำยังไงให้มันดี ที่มันยังไม่ดี อะไรอย่างนี้ รู้แม้กระทั่งแค่ง่ายๆ ว่ามันดี หรือไม่ดีแค่นี้ พื้นนี่สะอาดไม่สะอาด มันน่าจะสะอาดถึงจะดี ต้องมีความรู้ อย่างน้อยนิดๆ ความรู้นี่ก็เป็นต้นทางของปัญญาและจากความรู้ที่ทำให้เกิดความอยาก ให้มันดี มันยังไม่ดี อยากทำให้มันดี อันนี้ก็เป็นความอยากที่เรียกว่าฉันทะ ความอยากที่เป็นฉันทะต้องมากับปัญญา เริ่มจากปัญญานิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่มากับอวิชชา ก็จะเห็นชัด ตัณหามากับอวิชชา ฉันทะมากับปัญญา ปัญญามากขึ้นก็ยิ่งดีใหญ่ ยิ่งรู้อะไรต่ออะไรว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้น อย่างนั้นจึงจะดี ยิ่งอยากทำให้มันดี ฉันทะก็ยิ่งเจริญงอกงาม เพราะฉันทะก็เจริญงอกงามไปด้วยกันกับปัญญา แล้วฉันทะนี่เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เราเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ในการที่จะบรรลุธรรมทั้งหลายจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์เนี่ย ถ้าไม่มีฉันทะก็จบกัน ไม่ต้องไม่ไหนแล้ว ฉะนั้นความอยากนี้เป็นตัวสำคัญมาก ต้องเน้นเหลือเกินตอนนี้ ถึงพูดบ่อยมากเรื่องนี้ให้เข้าใจ ไม่งั้นก็กลายเป็นคลุมๆเครือๆ พร่าๆ มัวๆ เป็นคนลังเล วิจิกิจฉา จะทำอะไรก็ไม่แน่ใจ ทำก็ไม่จริงจัง เพราะรู้ไม่ชัดเจน ต้องแยกให้ได้อย่างน้อยความอยากที่เป็นตัณหากับความอยากที่เป็นฉันทะ แล้วเราจะได้อยู่กับฉันทะ แม้แต่อยากไปวัดนี่ ท่านยังอธิบายให้ฟัง ยกตัวอย่างด้วยในพระไตรปิฏก มีคนหนึ่งบอกว่าอยากไปวัด มีฉันทะจะไปวัด ไปวัดนี่ก็หมายความว่ามีเรื่องจะไปฟังธรรม จะไปทำอะไรที่ดีๆ นี่เรียกว่าฉันทะ อยากไปวัดก็เป็นฉันทะ ไปจนได้สำเร็จ เราจะเรียกว่าสำเร็จผลตามฉันทะ ฉะนั้นอยากฟังธรรมก็เป็นฉันทะ ที่จะฟัง อยากฟังอะไรเนี่ย บอกอีกที ย้ำว่าตัณหานี่ละโดยไม่ต้องทำตามมัน แต่ว่าฉันทะละด้วยการทำให้สำเร็จ นี่ท่านว่าหลักของท่านนะ ฉันทะนี่ละด้วยการทำให้สำเร็จ เราอยากจะทำความดี จะละยังไง ก็ทำให้มันสำเร็จสิ ก็ละไปเอง ใช่ไหม เราอยากไปวัด มีฉันทะ จะไปวัด ก็ไปถึงวัดแล้ว ฉันทะก็ละไปเอง มีฉันทะที่จะปฏิบัติธรรมให้บรรลุผล ฉันทะมีสำเร็จบรรลุผลเมื่อไหร่ก็ ฉันทะก็จบไปเอง ละไปเอง เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนไว้ บอกฉันทะละด้วยการทำให้สำเร็จ นี่แหละ อันนี้สำคัญมาก ในการศึกษา ถ้าไม่มีฉันทะ จบ เมืองไทยนี้ต้องขอพูดว่าขาดความรู้ในเรื่องนี้มาก ไม่ทำให้คนมีฉันทะ การศึกษาไม่ฝึกคนให้มีฉันทะ มันจะไปรอดยังไง ก็อยู่กับตัณหา ความลังเล ความไม่แน่ใจ ก็เลยรู้ไม่ชัดเจน ทำอะไรก็ไม่จริงจัง มันก็เจริญงอกงามยาก การพัฒนาอะไรต่ออะไรมันก็ครึ่งๆ กลางๆ ก็ต้องชัดลงไปเลยว่าต้องมีฉันทะ ฝึกเด็กให้มีฉันทะขึ้นมา ทีนี้ถ้ายังไม่มีทำไง ท่านก็ให้บอกว่า ก็อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ อย่างไม่มีฉันทะ ก็พยายามปลุกฉันทะด้วยปัญญาตามปกติ ก็ให้ความรู้สิ ว่าอันนี้สิ่งทั้งหลาย ถ้าอย่างนี้ไม่ดี มันเสีย อย่างอาหาร กินอาหารอย่างนี้มันจะเป็นโทษ ทำให้ร่างกายเสียสุขภาพ เป็นโรคอะไรต่ออะไรยังไง ไม่ดี ไม่ควรกิน อาหารอย่างนั้นควรกิน เพราะมันช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดี ด้วยปัญญาความรู้นี้ ก็เกิดฉันทะ พอใจที่จะรับประทานอาหารที่มันมีคุณค่า เป็นประโยชน์ ฉันทะก็เกิดขึ้น ถ้าไม่งั้นก็เอาแต่ความรู้สึก เสพ อะไรอร่อยก็เสพ จะมีเป็นพิษเป็นภัย มีอะไรผสม เป็นสารที่เป็นเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตก็ไม่คำนึง เพื่ออวิชชากับตัณหา ก็กินเข้าไปๆ ก็เกิดโทษ พอเรามีปัญญา ฉันทะก็มาแทน เราก็ฝึก การศึกษาก็อย่างนี้แหละ ให้ฉันทะมันมาแทนที่ตัณหาซะ ทีนี้ถ้ายังไม่มี ถ้าบางคนไม่ไหวจริงๆ ท่านก็ให้เอาตัณหาเป็นปัจจัยแก่ฉันทะ ตัณหาที่มันไม่ดีก็ใช้ได้ หลักนี้ท่านเรียกว่า อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล เอาตัณหามาเป็นปัจจัยแก่ฉันทะ ทำไง พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านเรียกว่าใช้ระบบเงื่อนไข ทีนี้มันไม่สะอาด มันสกปรก ฝุ่นมันเยอะ หนูกวาดบ้านหน่อยดีไหม เด็กไม่เอาด้วยเลย มันไม่มีฉันทะ อยากจะกินอย่างเดียว อยากจะอร่อยอย่างเดียว มีแต่ตัณหา แล้วทำไง อยากทำให้สะอาด อยากทำให้ดี ต้องมีฉันทะ เด็กไม่มี ตอนนี้เรายังไม่สามารถให้เด็กมีฉันทะ ก็ใช้ตัณหา หนูกวาดบ้านให้สะอาด ครั้งนี้ให้เท่าไหร่ 10 บาท หรือให้ขนมเท่านั้น ล่อด้วยตัณหาแล้ว นี่จะเอาให้ตัวได้ เด็กจะเอาให้ตัวได้ ใช่ไหม อยากเสพ ก็เอา ก็ตัณหา มาแล้ว ให้เด็กกวาดบ้านด้วยตัณหา แต่ว่าถ้าทำด้วยตัณหาเขาเรียกว่าระบบเงื่อนไข ใจเขาไม่เอา เขาไม่มีฉันทะ เขาก็ไม่อยากกวาด เขาก็ไม่ได้นึกถึงบ้านสะอาดหรอก ตามไปตามเงื่อนไขที่ว่าจะได้รางวัล ก็ทำขอให้ได้รางวัล เพราะฉะนั้น ถ้าทำด้วยตัณหา ทำในระบบเงื่อนไขนี่ ไม่ได้ผล ผลเสียด้วย เด็กก็สักแต่ว่าทำให้ได้ชื่อว่ากวาด ดูสิว่าตาคนนี้ที่บอกให้รางวัลเรานี้คอยดูอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่ดู ก็ไม่ตั้งใจกวาด ใช่ไหม หาทางหลบ หาทางเลี่ยง แกไม่คิดถึงทำให้มันสะอาดหรอก กวาดไปงั้นเองจะเอาให้ได้ขนมให้ได้รางวัล อย่างนี้เรียกว่าระบบเงื่อนไข คือเอาตัณหามา ทีนี้เราจะทำให้เกิดฉันทะยังไง เราก็อาศัยตัณหานี่เป็นตัวสร้างเงื่อนไข พอสร้างเงื่อนไขแล้ว เงื่อนไขก็ทำให้เกิดโอกาส พอเกิดโอกาสเราก็ให้การศึกษาเลย ทีนี้เด็กจำเป็นต้องยอมฟังเราแล้ว เพราะไม่งั้นแกไม่ฟังหรอก ทีนี้แกอยากได้รางวัล แกก็ฟังเรา เราก็ได้โอกาสเราก็บอก ค่อยๆ แนะนำแก ไม่ต้องเอาจริงเอาจัง แกบอกเห็นไหมถ้ามันสะอาด แล้วมันจะดีงั้นๆ เนี่ย สกปรกไม่ได้ความเลยงั้นๆ ต่อไปค่อยๆ สอน ค่อยๆ แนะนำ ให้เกิดความรัก สิ่งที่ดีงาม สภาวะที่เป็นอุดม สภาวะที่ดีที่สุด อยากให้เด็กนี่ชอบใจ เด็กก็เห็น บ้านสะอาดมันดีอย่างนั้นอย่างนี้นะ เราจะนอนก็สะดวก เราจะทำอะไรก็ง่าย แล้วก็ไม่มีเชื่อโรค อะไรต่ออะไรก็ว่าไป อธิบายไป ปัญญาความรู้มันก็จะพาให้เด็กค่อยๆ เกิดฉันทะ ความอยากทำให้มันดี ตรงไหนสกปรกก็ทำให้มันสะอาด ต่อไปไม่ต้องให้รางวัลแล้ว แกฉวยไม้กวาดกวาดเองเลย เพราะแกอยากทำให้มันดี อยากทำให้มันสะอาด เรียกว่ามีฉันทะแล้ว ฉะนั้นตอนแรกเราก็อาศัยตัณหานี่ เป็นปัจจัยโดยวิธีสร้างระบบเงื่อนไข ทำให้เด็กได้ทำสิ่งนั้นยังไม่เต็มใจ ยังไม่ได้ผลดี แล้วเราก็ใช้โอกาสนั้นในการที่จะให้ปัญญาเพื่อปลูกฝังฉันทะขึ้นมา แล้วเด็กก็เจริญก้าวหน้า เด็กมีฉันทะแล้วทีนี้วางใจได้ ปล่อยได้เลย แกทำเองแล้ว สมัครใจ ก็เจริญก้าวหน้าในการศึกษา อย่างนี้ประเทศชาติก็จะพัฒนาได้ ถ้าอยู่ด้วยระบบเงื่อนไข ตอนนี้ปัญหาคือระบบเงื่อนไขเต็มไปหมด บ้านเมือง ใช่ไหม ทำงานทำอะไรก็ทำด้วยระบบเงื่อนไข ตัณหา จะเอาประโยชน์ส่วนตัว เอาให้ตัวได้ อยากเอาให้ตัวได้ ตัณหา ก็จึงทำอะไรต่างๆ นี่ก็คือต้องเอาเงื่อนไขมาตั้งให้ทำ พอทำ ใจมันไม่เต็มใจ เพราะมันอยากเอา อยาได้ด้วยตัณหา ก็ทำไปงั้น ทำพอให้เป็นไปตามเงื่อนไขว่าทำได้เท่านั้นวัน แล้วจะให้เท่านี้บาท ก็เลยไม่ได้ผล การพัฒนาประเทศมันจะไปรอดอะไร ก็เอาตัณหามาเป็นตัวเบื้องต้น แล้วมาสร้างระบบเงื่อนไข แล้วให้ระบบเงื่อนไขนั้นสร้างโอกาส แล้วเอาโอกาสนั้นมาใช้ในการให้การศึกษาคน ที่เขาจะได้เจริญฉันทะ พัฒนาฉันทะขึ้นมา แล้วพอฉันทะมาคราวนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว ประเทศชาติพัฒนาโดยไม่ต้องมาจ้ำจี้จ้ำไช ไม่ต้องมาพูดจาอะไรกันหรอก เขาแสวงปัญญาด้วย คนอยากจะทำดี มันเป็นปัจจัยให้เขาต้องหาปัญญา เพราะเขาจะทำยังไงจึงจะสำเร็จ เขาก็ต้องหาความรู้ เขาไปค้นคว้าเอง เขาค้นด้วยความอยากรู้ว่าเขาจะทำได้ เขาก็มีความสุขจากการหาความรู้ การศึกษาหาความรู้ก็เป็นความสุข ทำตามความอยาก ทำให้มันดี ก็เลยมีความสุข กระบวนการของฉันทะเป็นความสุขหมดตลอดเลย อยากทำให้มันดี ก็ต้องอยากรู้ว่าทำไงมันจึงจะดี แล้วก็หาความรู้ หาความรู้ค้นคว้าด้วยความมีฉันทะก็มีความสุข ตราบใดที่รู้แล้วสมใจก็มีความสุขเต็มที่ มีปิติแหละ ปิติอิ่มใจก็ไปทำ พอไปทำงานก็ได้ผลตามที่รู้มาเข้าใจมาด้วยเรียนมาศึกษา ก็ก้าวหน้า ก็ยิ่งมีความสุขใหญ่ ทำงานด้วยความสุข เรียนด้วยความสุข ศึกษาด้วยความสุข ฉะนั้นการศึกษามันจึงจะไปดีได้ ไม่ใช่การศึกษาระบบตัณหา เวลานี้คนไทยชาวพุทธยังแยกไม่ออก แค่ ฉันทะ กับ ตัณหา ยังแยกไม่ออก แล้วจะไปไหนได้ล่ะ ก็อยู่กับความมืดมัวสลัวคลุมเครือ อย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นไม่ได้แล้ว ต้องรีบ จ้ำจี้จ้ำไชบอกกัน ย้ำกันเตือนกัน อย่างน้อยขั้นต้น ตัณหา ฉันทะ ต้องแยกได้ แล้วปลุกฉันทะขึ้นมา ไม่ใช่มาพูดว่า อยาก ไม่ได้ๆ เดี๋ยวเป็นตัณหา อีกคนก็บอกว่าไม่อยาก ไม่มีตัณหา ประเทศชาติจะเจริญยังไง ก็แยกไม่ออก บอกไม่ถูกว่าอะไรมันทำให้เจริญ ทำให้มันเสื่อม คนจะพัฒนายังไง ประเทศชาติจะพัฒนายังไง ไม่รู้เรื่องทั้งนั้นเลย อยู่ในความสับสนมืดมัวสลัวคลุมเครืออย่างที่ว่าแล้ว ฉะนั้นต้องพูดกันให้เต็มที่เรื่องนี้ ธรรมะขั้นต้นๆ ขนาดพื้นฐานยังไม่ไปไหนเลย จะไปยังไง แยกให้ได้นะ ตัณหากับฉันทะ เมื่อพูดมาอย่างนี้คงเข้าใจ ทีนี้ก็เลยจะพูดเลยต่อไปนิดนึง ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีฉันทะ ความอยากเต็มที่เลย ก็ขอพูดนอกเรื่องไปนิดหนึ่ง เพื่อจะมาวนเข้าเรื่อง ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่าพระพุทธธรรม พุทธรรมแปลว่าอะไร แปลได้ 3 อย่าง ชนิดเป็นหลักๆ 3 อย่าง
พุทธธรรมอันที่หนึ่ง แปลว่า ธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมในที่นี้หมายถึงคุณสมบัติ ความดีงามของพระองค์ พุทธธรรมในแง่ว่าคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า มีชุดเล็ก 6 อย่าง ชุดใหญ่ 18 ประการ มีพุทธธรรม 18 ประการ เดี๋ยวค่อยว่า นี่วิธีที่หนึ่ง คำแปลที่หนึ่ง
คำแปลที่สองว่าไง แปลว่า ธรรมะที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกเต็มว่า พุทธการกธรรม ธรรมะที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่บารมี 10 ประการ มีอะไรบ้าง ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา 10 ประการ เรียกว่า พุทธการกธรรม เราพูดเรียกสั้นๆ ก็พุทธธรรม นี่คือพุทธธรรมในความหมายที่สอง
พุทธธรรมในความหมายที่สาม ก็คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ก็คือธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่ล่ะ ทั้งหมดเลย ศีล สมาธิ ปัญญา อะไรก็ว่าไป ไม่ว่า ศีล จาคะ ปัญญา อะไรก็ว่าไป ก็แล้วแต่ธรรมะ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนี่เป็นพุทธธรรมหมด
ทีนี้เรากลับมาสู้ความหมายที่หนึ่งของพุทธธรรม แปลว่าคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ว่าชุดเล็กมี 6 ชุดใหญ่มี 18 ประการ ไม่ต้องพูดให้เต็มเพราะว่ามากมาย ก็เกินจำเป็นที่จะมารู้กัน เอาง่ายๆ ชุด 6 ก่อน
หนึ่ง-กายกรรม ทุกอย่างเป็นไปด้วยญาณ ญาณก็คือความรู้ ถ้าภาษาชาวบ้านก็ความรู้ที่แจ่มแจ้งชัดเจน ไม่ใช่แค่ปัญญา ปัญญาก็รู้ชัดแล้วแหละ ปัญญานี้รู้แจ่มแจ้งชัดเจนเลย ก็ทำอะไรทางกายก็ทำด้วยความรู้เข้าใจ
สอง-วจีกรรม จะพูดอะไรก็พูดด้วยปัญญา พูดด้วยความรู้เข้าใจที่ชัดเจน
สาม-มโนกรรม จะคิดอะไรก็คิดด้วยความรู้เข้าใจที่ชัดเจน ความรู้ต้องเป็นฐานของความคิดนะ คนจำนวนมากคิดเพ้อเจ้อเพราะไม่มีความรู้เป็นฐาน ความคิดต้องมากับความรู้ คิดบนฐานของความรู้ ทีนี้พระพุทธเจ้าเป็นอันว่าจะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร ต้องเป็นไปด้วยความรู้เข้าใจชัดเจน ไม่ใช่ทำไม่ใช่พูดด้วยตัณหา อยากจะเอาโน่น อยากจะเอานี่
สี่-มานะ อยากจะได้อำนาจ
ห้า-ทิฐิ ถือรั้นตามความคิดเห็นของตัว ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ด้วยปัญญา รู้เข้าใจว่าอันนี้มันเป็นปัญหานะ ควรจะแก้ไข จะแก้ยังไง อันนี้มันยังไม่ดี ควรจะทำให้ดี อันนั้นควรจะช่วยเขายังไง นี่คือปัญญา รู้ เข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายมันดีหรือยัง มันควรจะปรับปรุงแก้ไขยังไง ให้มันดีอย่างนี้เรียกว่าความรู้ ถ้าเป็นตัณหาก็อยากจะเอาเข้าตัว ใช่ไหม เราไปเจออะไรก็ทำไงเราจะได้ เราจะเอายังไง ไปโน่นนะ ท่านเรียกว่าทำด้วยตัณหา ถ้าทำด้วยปัญญาก็ทำด้วยความรู้เข้าใจ อะไรมันควรจะเป็นยังไง จะแก้ไขยังไง จะทำให้มันดียังไง นี่แหละ ก็เป็นอันว่าชุดที่หนึ่ง กายกรรมเป็นไปด้วยญาณความรู้ วจีกรรม มโนกรรม ทำ พูด คิด ทุกอย่าง ทำด้วยปัญญาความรู้ที่แจ่มแจ้งชัดเจน
หก-ญาณ ความรู้ในเรื่องอดีต ก็ไม่ติดขัด ความรู้ในเรื่องอนาคตก็ไม่ติดขัด ความรู้ในเรื่องปัจจุบันไม่ติดขัด เอาแค่นี้ก่อน ไม่ต้องอธิบายมาก
ทีนี้ต่อไปชุดใหญ่ ชุด 18 ก็เอาชุดเล็กไปใส่ด้วย ได้ 6 แล้ว แล้วก็ไปว่า ท่านก็พูด ซึ่งที่จริงก็เป็นธรรมดาอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีกายทุจริต วจีทุจตริต ไม่มีมโนทุกจริต อันนี้ก็เป็นเรื่องของความประพฤติของบุคคล ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ผู้นำ ผู้ทำงานอะไรต่างๆ ท่านไม่มีทุจริตเหล่านี้ ก็เป็นฐานที่ดีงามที่สุดไว้ก่อน ทีนี้ทำอะไรก็ทำด้วยความรู้ พูดด้วยความรู้ ว่าไป ทีนี้ต่อจากนั้นแล้ว อันนี้ 3ชุดก็ได้เท่าไหร่แล้ว เมื่อกี้นี้ 3 ก็เป็น 9 แล้วใช่ไหม ทีนี้เหลืออีก 9 เป็น 18 จะไม่บอกให้หมดหรอก บอกแค่ 2-3 ข้อพอ เพราะมาถึงจุดที่ต้องการบอก ข้อต่อไปจากข้อที่ 9 ข้อที่ 10 คือพระพุทธเจ้านัตถิ???หานิ ไม่มีความลดถอยของฉันทะ นี่เป็นคุณสมบัตของพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าไม่มีความลดถอยของฉันทะ ความอยากจะทำให้มันดี คราวที่แล้วอธิบายให้ฟังแล้ว บอกว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มาจากไหน จุดเริ่มต้นมาจากฉันทะทั้งนั้น ใช่ไหม ฉันทะ อยากทำให้เขามีความสุข พ่อแม่อยากทำให้ลูกเป็นสุข ฉันทะตัวนี้แสดงออกมาก็เป็นเมตตา ฉันทะอยากทำให้ลูกพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ หายป่วย อยากทำให้ผู้คนพ้นจากทุกข์ นี่ก็อยากเหมือนกัน แล้วพอออกมาเป็นอยากให้เขาพ้นทุกข์ก็เรียกชื่อเป็น กรุณา ตัวจริงแกนคือฉันทะทั้งนั้น สาม- อยากทำให้เขามีความดีงาม ประสบความสุขความเจริญยิ่งขึ้น ก็ออกมาเป็นมุทิตา ยินดีด้วยได้เห็นเขาเจริญงอกงาม ก็เป็นมุทิตา ฉันทะเหมือนกัน ท่านอธิบายไว้ว่าฉันทะนี้เป็นตัวสำคัญต้นกำเนิดของเมตตา กรุณา มุทิตา แล้วก็สี่-อุเบกขา ฉันทะอยากให้เขาอยู่ในความดีงาม อยู่ในความถูกต้อง ไม่ทำอะไรผิดพลาด เรียกว่าอุเบกขา อุเบกขานี่มาจากความอยากนะ คนไม่รู้อุเบกขา เฉย พระพุทธเจ้า พระเรียก พระบอกเฉยแบบนั้นเขาเรียกว่าเฉยโง่ ขออภัย อัญญานุเบกขา นี่คนไทยยังแยกไม่ออก อุเบกขา แปลว่า เฉย วางเฉย แล้วไม่รู้เรื่อง เฉยอะไรก็ไม่รู้ กลายเป็นเฉยโง่ พระท่านเรียกอัญญานุเบกขา ฉะนั้นธรรมะเหล่านี้ศึกษาให้รู้ชัด จะได้ปฏิบัติได้ถูก ก็เป็นอันว่าอย่างน้อยเห็นไหม ฉันทะ อยากทำให้เขามีความสุขก็เป็นเมตตา อยากทำให้เขาพ้นทุกข์ก็เป็นกรุณา อยากทำให้เขาดีงามมีความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไปก็เป็นมุทิตา อยากให้เขาตั้งอยู่ในธรรม ในความถูกต้อง ไม่ทำอะไรผิดพลาด ก็เป็นอุเบกขา อย่างผู้พิพากษาจะต้องมีฉันทะในข้ออุเบกขามาก อุเบกขาไม่ใช่อยู่เฉยๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว กลายเป็นเฉยโง่ไปอย่างที่ว่า ห้ามเด็ดขาด เอาล่ะ นี่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธกิจ ก็คือจะไปแสดงธรรม จะไปช่วยคนโน้นคนนี้ให้เขารู้เข้าใจ ให้เขาหายทุกข์ ให้เขาพ้นจากปัญหา พระพุทธเจ้านี่พอยังไม่ทันรุ่งเช้าเลย ก่อนสว่างนี่ เขาไป ภาษาเก่าเขาเรียกว่า เล็งญาณ พระองค์จะต้องสอดส่องพระญาณว่าวันนี้ใครมีปัญหาที่เราควรจะไปช่วยแก้ไข ใช่ไหม แล้วพอเช้ารุ่งอรุณไปก็เสด็จออกแล้ว ก็ตรงไปที่คนนั้น ไปพูดจาสนทนาแสดงธรรมอะไร แก้ไขปัญหาให้เขา อย่างนี้ นี่แหละฉันทะ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่มีฉันทะ จะเสด็จเดินไปยังไง ใช่ไหม ฉันทะอย่างนี้ ของพระพุทธเจ้า ไม่มีเสื่อมถอยเลย ไม่มีลดถอยเลย บำเพ็ญพุทธกิจเท่าไหร่เท่ากัน ทีพระพุทธเจ้าประดิษฐานพระศาสนามาได้อย่างนี้ก็เพราะมีฉันทะ ไม่มีลดถอยเลยนะ นี่เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า จำไว้ให้แม่นว่าพระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติข้อที่ 10 ว่ามีฉันทะไม่ลดถอย ตั้งแต่ตรัสรู้ไปจนปรินิพพาน ไม่มีฉันทะลดถอยเลย กระทั่งสุภัททะปริพาชก ไปตอนที่ประชวรหนัก ใกล้จะปรินิพพานแล้วนะ สุภัททะปริพาชก มีข้อสงสัยในใจ พระพุทธเจ้าปรินิพพานเดี๋ยวเราไม่มีโอกาสถาม ไปหา พระอานนท์ก็นึกถึงพระพุทธเจ้าประชวรหนักลำบากขนาดนี้ จะหมดแรงแล้ว จะมาตอบคำถามยังไง ก็ขอร้องสุภัททะปริพาชกอย่าเข้าไปกวนพระองค์เลย เหมือนกับโต้ตอบกันไปโต้ตอบกันมา พระพุทธเจ้าทรงได้ยินเสียงโต้ตอบ ก็ถามว่า อะไรกัน พระอานนท์ก็กราบทูลบอกว่าเนี่ย สุภัททะปริพาชกอยากจะมาทูลถามปัญหา พระพุทธเจ้าก็บอกปล่อยให้เข้ามาเถอะ นี่ฉันทะแล้ว ฉันทะก็คืออยาก ปรารถนาจะแก้ไขปัญหาของเขา อยากให้เขาพ้นจากทุกข์ ฉันทะอย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่มีลดถอยนะ นี่ลักษณะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยได้โปรดตอบคำถามของสุภัททะปริพาชก สุภัททะปริพาชกก็เลื่อมใสเข้าใจดี แล้วขอบวช ก็ได้เป็นพระสาวกองค์สุดท้ายที่ทันเห็นพระพุทธเจ้า เราคงทำได้ สุภัททะปริพาชก ได้มาเป็น ภิกษุสุภัททะ คนละองค์กับ สุภัททวุทฒบรรพชิต ซึ่ง
สุภัททวุทฒบรรพชิตนั้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เป็นลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะ คนละเรื่องกัน เอานะ เป็นอันว่าต้องเข้าใจให้ชัด ฉะนั้นชาวพุทธอย่าให้พลาดเรื่องเหล่านี้ เรื่องพื้นฐานเหล่านี้อยู่ในขอบเขตของเราที่จะต้องทำ ต้องปฏิบัติ แล้วต้องให้ชัด แล้วสร้างนิสัยที่ว่า รู้ให้ชัดเจน ทำให้จริงจัง ถ้าคนไทยได้อันนี้นะ ไปได้ เดี๋ยวนี้มันทำ รู้ก็ไม่ชัดเจน คลุมๆ เครือๆ พร่าๆ มัวๆ เลือนราง เหลือเกิน อะไรๆ ธรรมะไม่รู้เรื่อง อะไรความหมายยังไง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พออุเบกขา ก็เฉยโง่ไปแล้ว ใช่ไหม ก็จบกันสิ แล้วเมืองไทยจะไปไหนรอด เพราะฉะนั้นต้องเอากันจริงๆ จังๆ เตือนกันหนักตอนนี้ อาจจะต้องพูดแรงๆ บ้าง โยมก็ต้องช่วยกัน เผยแพร่ธรรมะนี้เป็นประโยชน์ที่สุด ทำไมธรรมทาน การให้ธรรมจึงประเสริฐสุด เพราะมันช่วยให้ทุกอย่างดี แก้ปัญหา ทำให้ชีวิตคนมันเจริญงอกงาม คนได้พัฒนปัญญาเป็นต้น แล้วสังคมก็พลอยได้รับผลดีไปหมด ฉะนั้นแค่พื้นฐานอย่างที่เมืองไทยต้องทำให้ได้ ถ้าเมืองไทย คนชาวพุทธเป็นอย่างน้อย ยังแยก ตัณหา กับฉันทะ ไม่ได้ เมืองไทยจะไปรอดอะไร มันตั้งฐานไม่ได้แล้ว มันเริ่มไม่ถูกเลย เดินหน้าก็เป๋ๆ ขัดๆ ไถลไปทางโน้น ไถลไปทางนี้ ฉะนั้นวันนี้ก็เลยย้ำเรื่องนี้ เห็นไหม พุทธธรรม 18 ประการ ถึงข้อที่ 10 หยุดเลย เอาไว้ก่อน ไม่ต้องไปถึงข้อที่ 18 แล้ว เอาข้อ 10 ว่า พระพุทธเจ้ามีฉันทะไม่ลดถอย ถ้าเราจะแปลฉันทะว่าอยากทำให้มันดี ก็พระพุทธเจ้าก็อยากทำให้เขาดีไง ก็อยากทำให้คนนั้นดี ดีตั้งแต่มีความรู้เข้าใจ แล้วก็ทำสิ่งที่ถูกต้อง มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข อะไรอย่างนี้ ต้องมีเลยฉันทะนี่ ไม่มีฉันทะก็จบกันเท่านั้น ไปไหนไม่ได้ คุณแม่ไม่มีฉันทะ เมตตาจะมายังไง อยากให้ลูกเจริญเติบโตดีมีความสุข อยากให้ลูกมีปัญญา เจริญเติบโตเป็นคนดี อยากให้ลูกพ้นจากปัญหา ไม่มีความทุกข์ ไม่ตกไปในทางอบายมุขเสียหาย ต้องมีกรุณา มุทิตา เวลาเขาสอบได้ดีก็ส่งเสริมให้เขาเจริญงอกงามในการศึกษาเล่าเรียนยิ่งขึ้นไป เขาทำอะไรไม่ถูกต้อง อาจจะไปทางพลาดเราก็มีฉันทะ อยากให้เขาตั้งอยู่ในธรรม อยู่ในความถูกต้อง ไม่ทำอะไรผิดพลาด อยากในข้ออุเบกขา แล้วก็วางท่าที ไม่เอาแล้ว ไม่ตามใจ พออุเบกขา ก็ไม่ตามใจสิ วางใจเป็นกลาง ตั้งท่าทีเป็นตัวของตัวเอง เอาละ ปัญญาบอกว่ายังไง ทำตามนั้น ข้อ 1,2,3 นี่มันทำตามความรู้สึกรัก ใช่ไหม เมตตา กรุณา มุทิตา นี่รัก รักลูก ลูกอยากจะได้อะไร อยากจะเป็นยังไง อยากแล้วก็ทำตามใจเขา ให้เขาดีก็แล้วกัน แต่ถ้าแม่พ่อฉลาดหน่อยก็ต้องระวัง ถ้าอันไหนจะผิด เข้าอุเบกขาทันที ไม่ตามใจแล้ว พอว่าจะพลาดแล้วนะถ้าเกิดตามใจในกรณีนี้ เสียแน่ ความที่มีฉันทะ อยากให้เขาตั้งอยู่ในความถูกต้อง ไม่ทำอะไรผิดพลาด คือตั้งอยู่ในธรรมนั่นแหละ นี่ข้ออุเบกขามา พออยากให้เขาตั้งอยู่ในความถูกต้อง ไม่ตามใจแล้วใช่ไหม คราวนี้ก็รอปัญญาบอกแล้ว แล้วอะไรจึงจะถูกต้อง คราวนี้อุเบกขาก็ให้ปัญญามาทำงาน ไม่ตามใจตัวแล้ว ไม่ตามใจความรักไม่ใช่ตามใจตัว ตามใจความรัก ไปตามเมตตา กรุณา มุทิตา พออุเบกขานี่ตามใจปัญญาแล้ว ตามปัญญา ปัญญาต้องบอกแล้วว่าอย่างนั้นจึงจะถูก อย่างนี้จึงจะถูก อุเบกขาเป็นตัวที่ตั้งหลักให้เรา ทำให้เราดำรงอยู่ได้ วางตัวเป็นกลางก่อน ยังไม่ตามใจเขา ไม่เขว ไม่เป๋ ไปขวาซ้ายทั้งนั้น แล้วก็ปัญญาคือความรู้ ความจริง ความถูกต้อง ต้องมาเป็นตัวตัดสินว่าจะเอาไง นี่แค่พรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็โยงกับฉันทะก็ไม่ได้ ปฏิบัติก็ไม่ถูก ว่ากันวุ่นวายหมด ในครอบครัว ครอบครัวจะเจริญอยู่ดีมีความสุข ลูกจะเจริญงอกงาม ก็ต้องมีพรหมวิหาร 4 ให้ครบ ยามเขาเป็นปกติก็มีเมตตาอยากให้เขามีความสุข ยามเขามีปัญหา มีทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือไปทำอะไรที่พลาดอะไร ก็มีกรุณาอยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ แล้วเขายามเขาทำอะไรดีถูกต้องและเจริญงอกงาม สอบได้เป็นต้น ก็ส่งเสริมสนับสนุน ทีนี้ถ้าเขาจะทำอะไรพลาดก็อย่างที่ว่า ก็เข้าข้ออุเบกขา แล้วก็อะไรที่เขาจะต้องรู้จักฝึกธรรม เราก็ตั้งอุเบกขา แทนที่จะทำให้เขา ตามใจเขา ทำให้เขา นี่คือข้อเมตตา กรุณา มุทิตา พออุเบกขานี่ดูให้เขาทำ พ่อแม่ที่มีปัญญานี่จะไม่เอาแต่ทำให้เขา แต่จะมากไปในทางข้ออุเบกขา ดูให้เขาทำ เพราะดูให้เขาทำนี่ต้องมาจากปัญญา ปัญญาก็ต้องคิดพิจารณา ลูกต่อไปนี่เราไม่ได้อยู่ด้วยนะ เขาจะต้องเจริญเติบโต เขาจะต้องรับผิดชอบชีวิตเขาเอง แล้วเราเกิดล่วงลับไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทำไงเขาจึงจะรับผิดชอบตัวเองได้ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ดี มีความสามารถพึ่งตนเองได้ พ่อแม่ที่มีปัญญาคิดแล้ว จะต้องเตรียมฝึกไว้ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ เขาจะได้รับผิดชอบตัวเองได้ ปัญญาบอก อุเบกขาก็วางท่าทีเป็นกลาง อุเบกขาแปลว่าคอยดูอยู่ใกล้ชิด ดูยังไง ดูให้เขาทำ เอาลูกมา เรื่องนี้พ่อว่าดีนะถ้าลูกทำไว้เนี่ย เป็นไว้ หัดว่ายน้ำ อย่างนี้ ไหนว่ายน้ำให้พ่อดูหน่อย พ่อจะทำให้ดู หรือแม่จะทำให้ดู แล้วก็ให้ลูกหัดทำ ดูให้เขาทำนี่ข้ออุเบกขา พ่อแม่คนไหนรู้จักใช้อุเบกขานะ ลูกพัฒนาดีที่สุด ถ้าอยู่ที่เมตตา กรุณา มุทิตา บางทีลูกเหลวเลย เสียเลย เสียคนไปก็มี เพราะว่ามันตามใจซะมาก ฉะนั้นต้องระวัง ท่านจึงให้ 4 ข้อนี้ โดยเฉพาะข้ออุเบกขา ท่านเอาไว้คุมท้าย สังเกตว่าธรรมะอะไรที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่ข้อสุดท้ายนั้นคือตัวคุม ในระบบองค์รวม ตัวสุดท้ายนี้เป็นตัวคุม ธรรมะทุกหมวดมีปัญญาคุมท้ายแทบทั้งนั้น ใช่ไหม ปัญญาต้องเป็นตัวคุมหมด ทีนี้มาในชุด เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้ อุเบกขาคุมท้าย เพราะอุเบกขาเป็นตัวตั้งหลักให้ปัญญาทำงาน ก็ดูให้เขาทำสิ ทีนี้ถ้าพ่อแม่เก่ง ดูให้เขาทำ ลูกเป็นหมดเลย ไม่ใช่มัวแต่ทำตามใจเขา อะไรๆ ก็ทำให้เขา มีแต่เมตตา กรุณา ลูกเลยไม่เป็น ไม่เข้มแข็ง ไม่พัฒนา แต่ถ้ามีอุเบกขานี่ ลูกพัฒนาแน่ แต่เราไม่ไปทรมานเขานะ ทำด้วยความรักแท้เลย รักในข้อที่ 4 นี่สำคัญมาก รักด้วยปัญญาแล้ว เพราะฉะนั้นข้อที่ 4 เป็นตอนที่จิตกับปัญญามาบรรจบกัน อุเบกขาคือจุดบรรจบของภาวะจิตกับปัญญา แล้วให้ปัญญามาทำงาน ฉะนั้นในธรรมะข้อสำคัญๆ ก็ลงอุเบกขา ใช่ไหม โพชฌงค์ว่าไงลงท้าย จำได้ไหม สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ สติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ใช่ไหม อุเบกขาลงท้าย โพชฌงค์คืออะไร คือธรรมะที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ การตรัสรู้สำเร็จด้วยโพชฌงค์ 7 แล้วโพชฌงค์ 7 ลงท้ายด้วยอุเบกขา ใช่ไหม ใจมันไม่ไปเข้าข้างอะไรแล้ว มันเป็นกลาง มันอยู่กับวางท่าทีที่จะอยู่กับความจริงความถูกต้อง ฉะนั้นอุเบกขาจะมองอะไร มองด้วยใจที่เป็นกลาง แล้วก็จะดูตามความเป็นจริง นี่เรียกว่าอุเบกขา ให้จำว่าอุเบกขามาจาก อุอะ แปลว่า เข้าไป หรือใกล้ๆ อิขะ แปลว่าจ้องมอง อุเบกขาก็แปลว่ามองอยู่ใกล้ๆ คอยดูอยู่ใกล้ๆ ดูอย่างใกล้ชิด แต่ดูแล้วไม่ได้ไปลำเอียงเข้าข้างใช่ไหม ดูว่ามันยังไงจึงจะถูก ก็ว่าไปตามปัญญา เพราะฉะนั้นคนไทยนี่หายากที่จะเข้าใจอุเบกขา มีแต่เฉย ก็ต้องต่อให้ว่าเฉยโง่ จบ ก็ผิดหมดเลย ฉะนั้นวันนี้เลยต้องเอามาย้ำกัน ว่าไปว่ามา ฉันทะ มาถึง อุเบกขาแล้ว
เอาละ ที่จริงวันนี้ตั้งใจพูดเรื่องฉันทะ แต่ว่าจุดหมายรวมก็คืออยากจะให้มาเตือนกัน เตือนตัวเองด้วยว่าในขอบเขตที่เราต้องเกี่ยวข้อง เราต้องรู้ให้ชัดเจน ทำให้จริงจัง เมื่อรู้ชัดเจนแล้วก็ทำจริงจังได้ มันเริ่มจากความรู้ที่ชัดเจน ธรรมะต่างๆ ที่เราเกี่ยวข้อง ต้องตั้งใจ เราจะต้องรู้ให้ชัดเจน ฉะนั้นท่านจึงให้มีระบบของการศึกษา สืบค้นคว้าด้วยตนเอง หรือไม่งั้นมาถกกัน สากัจฉา ก็มาถกกันสิ มาคุยกันให้รู้ชัดไป ถ้าถกคุยกับญาติโยมเองไม่พอ ก็มาถกกับพระ ว่าพระ หลวงพี่ หลวงพ่อ หลวงลุง หลวงตา ท่านว่ายังไง ธรรมะข้อนี้ ถ้าพระไม่เข้าใจโยมก็บอกให้ โยมสมัยพุทธกาลนั้น โยมเป็นธรรมกถึกนะ เป็นเอตทัคคะ
ธรรมกถึก มีแสดงธรรมให้พระฟัง เพราะฉะนั้นท่านไม่ถือเรื่องอย่างนี้ เรื่องของความรู้ความเข้าใจ โยมก็มาแสดงธรรมให้พระฟังได้ แต่ว่าหน้าที่ของพระตามปกติ พระนี่มีโอกาสได้ศึกษา ได้เรียนรู้เข้าใจมาก ก็เหมือนกับเป็นหน้าที่ว่าพระนี่เป็นผู้ให้ธรรม เป็นธรรมทายก โยมก็เป็นอามิสทายก วัตถุทายก แปลว่าให้วัตถุ ให้อามิส ให้สิ่งของ ปัจจัยสี่ เรียกว่าทำอามิสทาน พระก็เป็นธรรมทายก ก็เป็นผู้ให้ธรรมทาน ให้ทาน อย่างนี้เราสัมพันธ์ให้ดีก็เจริญงอกงาม นี่แหละการศึกษาก็จะมีในชีวิตจริง แล้วก็จะทำให้ชีวิตก็เจริญงอกงาม ออกไปสู่สังคม ครอบครัวก็เจริญงอกงามดี มีความสุข ออกไปสู่สังคม สังคมก็เจริญงอกงาม พัฒนาอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ต้องมาจำจี้จ้ำไช คอยคุมกันด้วยกฎหมาย คอยคุมกันด้วยระบบเงื่อนไข เวลานี้ก็ระบบเงื่อนไขเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วก็ระบบเงื่อนไขก็ไม่ได้สามารถใช้เป็นเครื่องสร้างโอกาส เงื่อนไขมันควรจะเป็นตัวสร้างโอกาสในการที่จะให้การศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ในฉันทะ ระบบเงื่อนไขก็เป็นตัวข้อบังคับเฉยๆ เป็นระบบเงื่อนไขที่บังคับคนให้จำใจอยู่ จำใจทำ ไม่มีความสุข แล้วมันจะไปดีได้ยังไง ระบบเงื่อนไขนี่มันต้องเป็นตัว ที่มาเป็นฐานในการสร้างสรรค์ แล้วก็มาต่อให้บรรจบกับระบบการศึกษา ที่นำไปสู่กุศลกรรมให้ได้ อย่างที่ว่าเอาตัณหามาเป็นเงื่อนไข ในการสร้างโอกาสที่จะพัฒนาฉันทะ แต่ตัวที่ต้องการแท้คือฉันทะ แล้วฉันทะก็จะไปประสานกับปัญญา ตอนนี้จะพัฒนา ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะพัฒนาผิดทาง จะพัฒนาที่แท้จริงและยั่งยืนได้ เอาละวันนี้คุยซะยาวแล้ว ก็อนุโมทนาเอาเท่านี้ละ