แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:00] พระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพของโลก
สันติภาพ นั้นเอง คือสู้เพื่อสันติภาพ คงได้ยินเค้าพูดกันเสมอว่า ต้องทำสงครามเพื่อสันติภาพ หรือ บางทีก็ถึงกับพูดว่า สันติภาพจะต้องได้มาด้วยสงคราม แต่ว่าเริ่มต้นมันก็ไม่มีสันติภาพเสียแล้ว เมื่อความหวังในสันติภาพเริ่มต้นด้วยการสงครามหรือการต่อสู้ สันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจจะมีได้ก็เพียงสันติภาพแบบขอไปที อันนี้ก็เป็นปัญหาของมนุษย์สืบมา ตั้งแต่อดีตสมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบัน
แต่ว่า ที่บอกว่าสู้ในวันนี้ในการปาฐกถานี้คงไม่เหมือนอย่างนั้น เป็นการสู้เพื่อสันติภาพจริงๆ ก็ขอออกนอกเรื่องนิดหน่อย คือว่า ท่านผู้มาเข้าร่วมประชุม เริ่มแต่ท่านผู้จัด เป็นต้นไป มีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่ามีความสามัคคี แต่ถึงอย่างนั้นก็เหมือนกับแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็ว่า จะให้อาตมาภาพปาฐกถา เห็นจะไม่ดี หยุดซะดีกว่า ไม่ต้องขึ้นปาฐกถา อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า ถ้าไหวก็เอาสักหน่อย ก็เท่ากับแยกเป็นสองฝ่าย
ถึงจะไม่แยกเป็นสองฝ่ายโดยตัวบุคคล แม้แต่ในใจของหลายท่าน ก็แยกเป็นสองใจ คือใจหนึ่งก็อยากจะให้พูด อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากให้พูด ความขัดแย้งนี้จะยุติได้ ก็ด้วยการที่อาตมาภาพมาพูดซะ พอพูดจบไปแล้ว ปัญหาความขัดแย้งก็จะสงบระงับไป เราก็บรรลุถึงสันติภาพ สันติภาพนี้ก็ได้มาด้วยการต่อสู้ แต่ว่าเป็นการต่อสู้แบบสันติวิธี
ที่กล่าวมานี้ทั้งหมด รวมแล้วก็คือว่า ที่อาตมาภาพขึ้นมาพูดได้นี้ก็เกิดจากน้ำใจหวังดีของทุกท่าน ที่ได้จัดงานขึ้น และก็ญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาร่วมฟัง เป็นการสนับสนุนกิจการของกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ เพราะฉะนั้นจึงต้องขอโอกาสอนุโมทนา ความมีน้ำใจหวังดีที่ได้ให้ความสำคัญ หรือจะเรียกว่าให้เกียรติแก่อาตมาภาพ โดยการจัดงานครั้งนี้ขึ้น ซึ่งดูในแง่หนึ่งก็เป็นการปรารภบุคคล ถ้ามาปรารภบุคคลให้ความสำคัญแก่บุคคลแล้วจัดงานนี้ขึ้น อาตมาภาพก็จะรู้สึกอึดอัด
แต่พอมองลึกลงไปในจิตใจของท่านผู้จัด เริ่มตั้งแต่ทางกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ ที่ท่านประธานเป็นต้น มีจิตใจเข้มแข็ง ได้เพียรพยายาม ดำเนินการให้กองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพนี้ได้ยั่งยืนมา และมีการงานที่ก้าวหน้ามาโดยตลอดนั้น และปีนี้ก็มาประสานบรรจบระหว่างทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กับทางสภาสถาบันราชภัฏได้จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น ทั้งหมดนี้ในน้ำใจที่แท้ ก็คือความปรารถนาดีต่อประชาชน หรือจะเรียกว่าหวังประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ หรือ จะใช้คำว่าเพื่อสันติภาพก็ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นการปรารภบุคคลเพื่อจะได้จัดกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ถ้าอย่างนี้ก็ทำให้ค่อยคลายใจ จะเข้าคติทางพระพุทธศาสนา อย่างที่เป็นมาแต่โบราณว่า พุทธศาสนิกชนปรารภเรื่องอะไร แม้แต่เล็กๆน้อยๆ แล้วก็ถือเป็นเหตุให้ทำบุญทำกุศล
เหมือนอย่างเรื่องในอรรถกาถาธรรมบทที่ว่า หลานของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำตุ๊กตาแป้งแตก เด็กก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เห็นผู้ใหญ่ว่ามีคนตายก็จะทำบุญอุทิศกุศลให้ เด็กนี่ก็อยากจะอุทิศกุศลให้แก่ตุ๊กตา ซึ่งเขารักเหมือนกับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือเป็นตัวบุคคล ทางท่านเศรษฐีก็ได้ปรารภเหตุนี้แล้วก็ทำบุญ ก็ถือว่าปรารภเรื่องอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่ เป็นเหตุให้ทำบุญทำกุศล ทำความดีได้ก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น อันนี้เราก็มาปรารภเรื่องราวเหตุการอะไรซักอย่างหนึ่ง แล้วเราก็มุ่งหมายประโยชน์สุขแก่สังคมแก่เพื่อนมนุษย์ และเราก็ทำกิจกรรมที่ดีงามนี้ ซึ่งเรียกในภาษาพระศาสนาก็คือ ทำบุญทำกุศลนั่นเอง เพราฉะนั้นวันนี้การที่ทางท่านผู้จัดและทางญาติโยมมาประชุมกัน ก็เป็นการมาร่วมกันทำบุญ
ก็ขอแทรกนิดนึงคำว่า “บุญ” ทำบุญ เป็นบุญ มีบุญ ได้บุญ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งมาก ในประเพณีวัฒนธรรมของเรา แต่ว่าเวลานี้น่าเสียดายว่า คำว่าบุญนั้น กำลังมีความหมายคลาดเคลื่อนไปมาก ถ้าอย่างไรก็คงถึงเวลาที่เราจะต้องมาทำความชัดเจนให้เกิดขึ้นแก่คำว่า บุญ กันอีกครั้งนึง แต่ว่าคำนี้ฟื้นความหมายที่แท้จริงขึ้นมาได้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยอย่างมาก
คิดว่าคำว่า [07:57] “บุญ” นี้แหละ เป็นคำที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับคำว่า “สันติภาพ” ถ้าบุญที่ถูกต้องเกิดมีขึ้น เราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า บุญ ว่า กุศล เราก็จะช่วยกันสร้างสรรค์สังคม สร้างสรรค์ชีวิตให้มีสันติสุข สังคมจะเข้าถึงสันติภาพแล้วมนุษย์ก็จะมีสันติสุขได้ ทั้งหมดนี้ก็มารวมที่วัตถุประสงค์เอาว่า งานทั้งหมดนี้จัดเพื่อสันติภาพ หรือจะเรียกอะไรก็ได้ ความจริงก็ไม่ใช่ว่าจะต้องมาถือจำกัดตายตัวในเรื่องถ้อยคำ
[08:51] เมื่อมีสันติภายในก็มั่นใจได้ว่า สันติภาพภายนอกจะเกิดขึ้น
[8:51] คำว่า “สันติภาพ” ถ้าเรียกกันอย่างพระแท้ ๆ เดิมเราก็เรียกกัน “สันติ” เท่านั้นเอง และ สันตินั้นความหมายที่แท้นี้ ก็เป็นไวพจน์ของพระนิพพานนั่นเอง วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน เป็นไวพจน์กัน เป็นคำที่มีความหมายแสดงถึง จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
[09:19] และสันตินี้ ในขั้นสุดท้ายย่อมหมายถึงสันติภายใน แต่ว่าเวลานี้เราใช้คำว่าสันติภาพ โดยหมายถึง ความสงบเรียบร้อยภายนอกในสังคมมนุษย์ หรือของประเทศชาติ บางทีก็มีความหมายแคบ ๆ เพียงว่าสันติภาพ ก็คือ “ภาวะที่ไม่มีสงคราม” เอาเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจความหมายกันแค่นี้มาก ถ้าจะให้ความหมายละเอียดอ่อนขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง ก็หมายถึงความปราศจากการขัดแย้ง หรือภาวะที่ไม่มีการขัดแย้ง
เราก็ต้องโยงสันติภายนอก กับสันติภายในเข้ามาด้วยกัน ซึ่งเวลานี้ก็ยอมรับกันมากแล้วว่า การที่จะมีสันติภาพภายนอกได้ ก็จะต้องมีสันติภายในจิตใจคน อย่างองค์การยูเนสโกนี้ ก็ได้แถลงหรือประกาศแนวความคิดออกมานี้อย่างชัดเจน แล้วก็เลยมาสอดคล้องกับคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่า ในขั้นสุดท้ายแล้ว จิตใจของทุกคนจะต้องให้บรรลุสันติ เมื่อมีสันติภายในก็มั่นใจได้ว่า สันติภาพภายนอกจะเกิดขึ้น
คำว่าสันติภาพภายนอกนี้ เราอาจจะใช้คำอื่น เช่นคำว่า ประโยชน์สุขของพหุชน เป็นต้น เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนาเราจะมีความประสานสอดคล้องว่า เมื่อบุคคลบรรลุสันติ คือ นิพพาน เป็นสันติขนาดที่ว่าแม้แต่ความเป็นตัวเป็นตนของตนเองก็หมดไป แล้วเค้าจะมีชีวิตอยู่เพื่อสันติภายนอก คือ เพื่อประโยชน์สุขแก่พหุชนได้เต็มที่ ถ้าคนใดไม่นิพพาน ไม่ดับความเร่าร้อนภายในไม่ถึงสันติแล้ว เขาก็ยังจะต้องมีอะไรเพื่อตัวตนเค้าอยู่ เพราะฉะนั้นการที่เค้าจะทำเพื่อประโยชน์สุขของสังคมนั้น ก็ไม่ได้โดยสมบูรณ์
[12:02] จุดหมายของพระพุทธศาสนาในชั้นสุดท้ายสำหรับบุคคล คือ นิพพาน หรือสันตินี้ จึงเป็นตัวเอื้อที่จะให้เกิดสันติภาพภายนอก คือสันติสุขของประชาชน หรือ ประโยชน์สุขของประชาชน หมายความว่านิพพานหรือสันตินั้น เป็นภาวะที่บุคคลถึงความสุขโดยสมบูรณ์แล้ว มีความสุขเป็นคุณสมบัติในตัวเอง จนกระทั่งว่าไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเอง ก็เมื่อบุคคลไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเอง ไม่เอาเพื่อตัวเองต่อไป แล้วเค้าจะทำอะไร เค้าก็มีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น หรือแก่ชาวโลก
เพราะฉะนั้นคติของพระพุทธศาสนาเนี่ย จะสอดคล้องกันที่ว่าบุคคลนิพพาน และเมื่อบุคคลนั้นนิพพาน ก็จาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหุชน คติชีวิตนิพพาน คติของสังคม “จรถ ภิกขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหูชนสุขาย” คนที่นิพพานแล้วก็จาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชนได้เต็มที่ ฉะนั้นสองอย่างนี้สอดคล้องกัน
อันนี้เราพูดในระดับจุดหมายว่า จุดหมายชีวิตบุคคลกับจุดหมายของสังคมนี้ ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก วันนี้ก็จะสงวนไว้ ขอไม่พูดเรื่องนี้ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสันติภายนอก กับสันติภายใน ซึ่งถือว่าเป็นการพูดด้วยหลักการ แต่ที่อยากจะพูดในวันนี้ ก็คือเรื่องปฏิบัติการที่จะทำให้เกิดสันติภาพ คือแทนที่จะพูดเรื่องการประสานสันติในระดับที่เป็นจุดหมาย คือสันติในใจคน กับสันติภาพในสังคม ก็จะมาพูดในระดับของปฏิบัติการที่จะให้เกิดสันติภาพนั้น
[14:16] พฤติกรรมสันติภาพเกิดด้วยเจตนาอันดีของใจ
เมื่อคนพูดถึงสันติภาพ อย่างที่กล่าวแล้วว่า เรามองไปที่เรื่องของสังคม เรื่องของภายนอก ที่ไม่มีสงคราม ไม่มีการขัดแย้ง ใช้ภาษาพระก็คือว่า ไม่มีการเบียดเบียนกันไม่รบราฆ่าฟันกัน ถ้อยคำอย่างนี้ ก็เป็นการมองไปที่ระดับพฤติกรรม คือ พฤติกรรมของคนที่แสดงออก ที่ดำเนินการเคลื่อนไหวกันอยู่เนี่ย ไม่เบียดเบียนกัน ไม่รบราฆ่าฟันกัน
[14:55] เรื่องพฤติกรรมนี้ พูดให้ตรงกับคำทางธรรมมะ ก็คือเรื่อง ศีล นั่นเอง เพราะฉะนั้น ที่เราพูดกันเรื่องสันติภาพในทางสังคมเนี่ย เราก็ต้องการศีล ศีลที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่เบียดเบียนกัน แล้วเหนือขึ้นไปก็ให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และศีลนี้ ถ้าดูลึกลงไป ที่เราบอกว่าเป็นเรื่องพฤติกรรม การแสดงออกทางกายวาจานั้น ตัวศีลที่แท้อยู่ที่ไหน ศีลที่แท้ก็อยู่ที่ เจตนา นั่นเอง เจตนาความตั้งใจที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำร้ายเขา อันนี้เป็นตัวศีล
[15:52] ทีนี้เจตนานี้อยู่ที่ใหน เจตนาก็อยู่ในใจ หมายความว่า ก่อนจะออกมาเป็นพฤติกรรมทางกายวาจานั้น ต้องเริ่มที่ใจ มีความจำนง มีความตั้งใจ แต่เจตนานั้นที่ว่าจะไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายผู้อื่นเป็นต้น ก็มี ๒ แบบ คือ เจตนาเชิงลบ กับ เจตนาเชิงบวก
เจตนาเชิงลบ ตั้งใจจะไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น อาจจะเป็นเพราะกลัวก็ได้ หวาดกลัวว่าจะเกิดผลร้ายอะไรต่างๆ กับตนเอง ไปทำร้ายเขา เพราะกลัวตนเองจะถูกลงโทษ อย่างกรณีระหว่างในตัวบุคคลที่ไม่กล้าละเมิดกฎหมาย เพราะกลัวถูกจับกุมคุมขัง เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเจตนาที่เกิดจากความหวาดกลัว หรือสูงขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะเป็นเพียงความตั้งใจที่จะรักษากฎกติกาไว้ ถ้ายังอยู่ในขั้นนี้เจตนาความตั้งใจนั้น ก็ถือว่าเป็นเจตนาเชิงลบ
ก้าวสูงขึ้นไป เจตนาอีกอย่างหนึ่งก็คือ เจตนาเชิงบวก ที่ว่า เมื่อจะออกมาเป็นเจตนาความตั้งใจนั้นจะมีคุณสมบัติภายในจิตใจก็คือ คุณธรรม เช่นเมตตาไมตรี ความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่นพ่วงอยู่ด้วย หรือเป็นตัวปรุงแต่งเจตนานั้น ถ้ามีเมตตาไมตรีความรักความปรารถนาดีเป็นตัวปรุงแต่งเจตนา เราก็มีความมั่นใจได้มากขึ้นว่าเจตนานั้นจะมีผลที่มั่นคงยั่งยืน
เพราะว่าเจตนาเชิงลบนั้น หมายความต้องคุมต้องบังคับอยู่เสมอ มีอะไรภายนอกที่กำกับอยู่ ถ้าขาดเครื่องกำกับควบคุมภายนอกเมื่อไหร่ หลักประกันหมดไป การเบียดเบียนทำร้ายก็เกิดขึ้น สันติภาพก็หมด แต่ถ้าเรามีจิตใจที่มีความรักความเมตตาปรารถนาดีต่อกันแล้ว อันนี้เราไม่ต้องมีสิ่งที่มาช่วยยับยั้งป้องกันควบคุมภายนอกเลย เจตนานั้นจะเป็นเจตนาที่ดี เพราะฉะนั้นเราจึงยอมรับว่า นอกจากพฤติกรรมแล้วเราจะต้องมีจิตใจที่ดีด้วย ตกลงว่าเรื่องสันติภาพนี้ต้องก้าวลึกลงไป จากพฤติกรรมไปสู่จิตใจ ก็คือจากศีลไปสู่ขั้นสมาธิ การฝึกฝนอบรมทางด้านจิตใจให้มีคุณธรรม มีความดีงาม มีเมตตากรุณา เป็นต้น
[19:04] สันติภาพสูญเสียเพราะใจที่สุดโต่ง
ตอนนี้ก็เป็นอันว่าเราพูดได้ว่า สังคมมนุษย์ก็เห็นความสำคัญของด้านจิตใจมากขึ้น องค์การระหว่างประเทศ องค์การสากลระดับโลก ก็เห็นความสำคัญของจิตใจแล้ว แต่ก็ต้องถามต่อไปว่า แค่นี้พอหรือไม่ แค่พฤติกรรมบวกด้วยจิตใจที่มีคุณธรรมความดีมีเมตตากรุณา แค่นี้พอหรือ ต้องระวังว่าเราอาจจะไปสู่ภาวะเอียงสุดหรือสุดโต่งก็ได้สุดโต่งที่เป็นตรงกันข้าม ความรักความเมตตาความปรารถนาดีนั้น ไปถึงขั้นหนึ่ง บางทีก็กลายเป็นการเอาอกเอาใจกัน กลายเป็นการคอยเอาอกเอาใจกัน ก็อาจจะเป็นการเอียงสุด ซึ่งจะต้องระวังมาก ดูเหมือนว่าแนวความคิดปัจจุบันจะมาถึงระดับนี้เป็นส่วนมาก คือมาถึงขั้นจิตใจ และก็ให้มีคุณธรรม ความรัก ความปรารถนาดี มีเมตตาไมตรี
[20:28] แต่เราต้องเตือนกันไว้ก่อนว่า เราคิดรอบคอบหรือยัง ที่ว่าเป็นความตรงข้ามนั้น อย่างไรคือสุดโต่งไปข้างหนึ่ง ก็คือการที่คนมีความแตกต่าง ให้ความแตกต่างนั้นเป็นความขัดแย้ง แล้วความแตกต่างที่เป็นความขัดแย้งนั้น ก็เป็นเหตุให้คนตีกัน ยอมรับกันไม่ได้ ทำไมตีกัน ก็ถ้าตนมีกำลังมากกว่า ก็ไปบังคับอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องเป็นอย่างตน อันนี้ก็คือสภาพที่เราเรียกว่า ขาดสันติภาพ ที่ว่าจิตใจนั้นไม่มีความหวังดีไม่มีเมตตาไมตรีต่อกัน ฉะนั้นก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ เมื่อแตกต่างก็ต้องทะเลาะกัน
แต่ทีนี้ว่า ถ้าหากว่ามีจิตใจดีงามมีเมตตากรุณาเป็นต้นแล้ว ที่บอกว่าต้องระวังอาจจะไปสุดโต่ง ก็คือว่า พอมีความแตกต่าง ก็เลยกล้อมแกล้มกลบเกลื่อนว่าเหมือนกัน เอาล่ะไม่เป็นไรน่ะ ก็อย่างเดียวกันแหละ ก็ดีเหมือนกัน ก็เลยกลายเป็นว่ามันจะเป็นการอำพรางและแฝงปมของปัญหาไว้หรือไม่
อันนี้มันมีทางอีกทางหนึ่งที่น่าจะเป็นไป ก็คือว่า คนนั้นแม้จะมีความแตกต่างกัน อาจจะถึงกับโต้เถียงกันแต่ไม่ตีกัน อย่างนี้หรือเปล่าที่เราต้องการ คือความแตกต่างเป็นความจริงอย่างหนึ่ง แม้แต่ความรู้ความเข้าใจ เมื่ออีกคนหนึ่งยังไม่ถึงระดับที่จะเห็นความจริงอย่างนั้น เค้าก็เห็นแตกต่างหรือตรงกันข้าม เราจะยอมรับบอกว่าเหมือนกัน หรือว่ารู้ตามที่แตกต่างนั้น หรือรู้ตามที่เป็น และก็ยอมรับกัน ถ้าหากว่าวิธีการนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง เราต้องการคุณสมบัติเพิ่มอีกอันนึง คือไม่ใช่ต้องการเพียงแค่พฤติกรรมและจิตใจเท่านั้น ไม่ต้องการแค่คุณธรรมเท่านั้น มันต้องมีองค์ประกอบเพิ่มอีกอันนึง
[23:16] ตอนนี้ก็ขอย้อนไปพูดว่า วิธีการที่เอาแค่พฤติกรรมและจิตใจนั้น มันจะมาสู่ขั้นตอนที่เราเรียกว่าการประนีประนอมกัน ซึ่งจะมีผลเสีย ๒ ประการ ประการที่หนึ่ง ก็คือ แฝงปมที่พร่ามัวเอาไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในภายหลังเพราะไม่มีความชัดเจน ก็อย่างที่ว่า กลบเกลื่อนกล้อมแกล้มกันไว้ เหมือนกัน เหมือนกัน ไปกันได้ อย่างเดียวกันแหละ และอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เรากำลังทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือมนุษย์กำลังจะเอาความจริงมาตกลงกัน แล้วก็ประนีประนอมกัน ซึ่งความจริงของสิ่งทั้งหลาย หรือความจริงของธรรมชาตินั้น มันย่อมไม่เป็นไปตามที่มนุษย์ตกลงกัน
ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์ล้านคนถกเถียงกัน แล้วในที่สุดเพื่อจะให้ไปด้วยกันได้ ก็เลยมาลงมติว่าโลกแบน ถึงแม้มนุษย์ซักกี่ล้านคนมาลงมติว่าโลกแบน ถ้าโลกมันกลมมันก็ไม่สามารถจะแบนไปได้ ทีนี้คนที่มาประนีประนอมกันในปัจจุบันนี้ กำลังทำสิ่งนี้หรือเปล่า ถ้ามนุษย์ทำอย่างนี้ ก็คือว่ามนุษย์มาสมคบกัน กักกั้นตัวเอง ไม่ให้ก้าวไปสู่การเข้าถึงสัจจธรรม หรือตัวความจริงนั่นเอง
อันนี้ที่ต้องพูดเรื่องนี้ ก็เพราะเวลานี้มันมีปัญหามาก เรื่องวิธีการที่จะเข้าถึงสันติภาพ ในการที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกัน เราจะต้องแยกให้ชัดว่า มนุษย์นั้นมีหน้าที่สองอย่างในระหว่างกันนะ ไม่พูดถึงแต่ละบุคคล ความจริงถ้าพูดเป็นกลางๆ ว่า มนุษย์เนี่ย เราต้องพูดเริ่มตั้งแต่แต่ละคน แต่ละคนเนี่ยมีหน้าที่ที่จะต้องทำชีวิตของตนให้ดีที่สุด หรือว่าให้เข้าถึงสันติ ให้เข้าถึงนิพพาน แต่ในกรณีนี้เรากำลังพูดถึงหน้าที่ระหว่างกันในหมู่มนุษย์ หรือหน้าที่โดยรวมของมนุษยชาติ
[25:53] มนุษย์นั้นมีหน้าที่ ๒ อย่าง คือ หนึ่ง จะต้องอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดแย้งกัน หรือสามารถยุติข้อขัดแย้งได้ดี ก็พูดง่ายๆ ก็คือ มนุษย์จะต้องทำหน้าที่ ที่ว่าให้อยู่ร่วมกันได้ดี ก็คือมีสันติภาพ แต่พร้อมกันนั้น มนุษย์ก็จะต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ หรือเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย เพื่ออยู่อย่างดีที่สุดท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นด้วย อันนี้หน้าที่สองอย่างนี้จะต้องให้ไปด้วยกันไม่ขัดกัน ถ้ามนุษย์ไม่เข้าใจเรื่องนี้ เรื่องสันติภาพ มนุษย์จะมุ่งไปในแง่อยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างกันเท่านั้น แต่กลายเป็นว่ามนุษย์มาสมคบกัน กักกั้นกีดขวางตัวเอง ไม่ให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ
[27:01] ปัญญานำพาความจริงก่อเกิดสันติภาพ
เมื่อมนุษย์ไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ การที่ตนเองจะอยู่อย่างดีท่ามกลางโลก ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม หรือ ท่ามกลางธรรมชาตินั้น ก็เป็นไปไม่ได้ งั้นจะต้องชัดเจนว่าเรามีหน้าที่สองอย่าง แล้วทำไงจะให้การทำหน้าที่ทั้งสองอย่างนี้ สำเร็จผลไปด้วยกันหรือกลมกลืนกัน ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า [27:27] มนุษย์มีหน้าที่จะต้องอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างกันเองโดยที่มีสันติภาพ แล้วก็สอง มนุษย์จะต้องอยู่อย่างดีท่ามกลางสิ่งแวดล้อมโดยเข้าถึงความจริงของธรรมชาติด้วย
[27:46] ถึงตอนนี้ก็เท่ากับพูดว่า พฤติกรรมกับจิตใจเนี่ยยังไม่พอ ที่จะให้มนุษย์เข้าถึงสันติภาพที่แท้จริง จะต้องมีอะไรอีกอย่างหนึ่งคือ จะต้องมีปัญญาด้วย ปัญญาคืออะไร เราอาจจะพูดว่า ปัญญาความรู้ความสามารถที่จะจัดทำดำเนินการสิ่งต่างๆ หรือว่าจะทำสิ่งที่มุ่งหมายให้สำเร็จ เวลาเราจะทำอะไรให้สำเร็จเราก็ต้องการปัญญา เช่น ต้องรู้วิธีการ เป็นต้น แต่ตัวแท้ปัญญาคืออะไร พูดง่ายๆ ปัญญาก็คู่กับความจริง ตัวแท้ของมันที่เป็นเป้าของปัญญา ก็คือความจริง ปัญญาคู่กับความจริง
[28:37] พระพุทธเจ้าที่เพียรพยายามบำเพ็ญบารมีนี้ ก็เพื่อเข้าถึงความจริงนี้ แต่ว่าเมื่อเข้าถึงความจริงนั้นแล้ว ก็ยังจะต้องมีความสามารถที่จะช่วยนำผู้อื่นเข้าถึงความจริงนั้นด้วย และก็มีความสามารถที่จะนำความรู้และความจริงนั้น มาจัดสรรดำเนินการเพื่อให้ชีวิตสังคมนี้มันดี อาจจะพูดได้ว่าเป็น ๓ ขั้นตอนด้วยกัน
เมื่อเรามีหน้าที่จะต้องเข้าถึงความจริงด้วยปัญญา เราก็จะต้องระวังอย่าให้ไมตรีระหว่างมนุษย์มาขัดขวางการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ด้วยการที่มนุษย์จะเขวหลงไปเอาไอ้ตัวความจริงของธรรมชาติมาประนีประนอมตกลงกันเอง จะขอยกตัวอย่าง ในเมื่อในที่นี้เป็นที่ประชุมของพุทธศาสนิกชนซึ่งอยู่ในพระศาสนา เราคงได้ยินคำพูดบ่อยๆ ที่บอกว่า ศาสนาในโลกนี้มีต่างๆ มากมาย ศาสนาไหน ๆ ก็สอนให้คนดี และสอนให้คนทำดีเหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น พยายามเข้าถึงสันติภาพให้อยู่ร่วมกันด้วยดี แต่ว่าวิธีอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้นเป็นวิธีแค่ขั้นจิตใจ แล้วกลายเป็นการขัดขวางปัญญา ก็คือว่า พอมาตกลงกันอย่างนี้ได้ เราก็เลยอำพรางตนเองที่จะไม่ค้นคว้าหาความจริงต่อไป
เราอาจจะพูดเป็นสำนวนแย้งนิดหนึ่งว่า ศาสนาไหน ๆ ก็สอนให้คนทำดีเหมือนกัน แต่ความดีที่ศาสนาต่างๆ สอนให้ทำนั้นไม่เหมือนกัน เราบอกว่าเป็นเรื่องความเชื่อ แต่ว่าความเชื่อนั้นต้องมีหลักการ ว่าหลักการพุทธศาสนาเป็นอย่างไร และยิ่งพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ถือว่า ศรัทธาและความเชื่อไม่เพียงพอต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย แล้วเราจะไปตัดสินว่าศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธาหรือความเชื่อได้อย่างไรนั้น เวลานี้คำพูดต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องคลุมเคลือ เมื่อคลุมเครือแล้ว อาจจะเป็นกระบวนการขัดขวางปัญญามนุษย์ก็ได้ และเมื่อขัดขวางปัญญาก็ไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงสันติภาพที่แท้จริง เพราะมนุษย์ที่ทำเช่นนี้ ย่อมแฝงปมของปัญหาไว้ตลอด ตนเองก็แฝงปมปัญหาไว้ระหว่างกัน ที่จะต้องขยายออกมาเป็นตัวปัญหาที่ก่อเหตุ เช่น ความขัดแย้งเป็นต้น ต่อไปข้างหน้าและพร้อมกันนั้น ก็เป็นการกีดกั้นขัดขวางมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ให้เข้าถึงตัวความจริงนั้น
[ 31:55] เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็ขอสรุปอีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่ว่าให้เป็นข้อสังเกต หรือเป็นสิ่งที่จะไปช่วยกันพิจารณาต่อไปก็ได้ว่า มนุษย์เรานั้น หนึ่ง จะต้องอยู่ดีมีสามัคคีระหว่างกันด้วย และพร้อมกันนั้น ก็จะต้องเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายที่จะอยู่ด้วยดีในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งสองอย่างนี้ เป็นสันติภาพที่ต้องมาประสานกันอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อกี้เราพูดว่าสันติภายในกับสันติภาพภายนอกต้องประสานกัน แต่ทีนี้แม้แต่สันติภาพภายนอกก็ยังมีความหมายอีก สันติภาพในหมู่มนุษย์ กับสันติภาพที่มนุษย์อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลายอื่น หรืออยู่ร่วมกับธรรมชาติที่จะต้องเข้าถึงความจริงของมัน และเราจึงจะอยู่กับมันด้วยดีได้ เพราะว่าธรรมชาติหรือความจริงของธรรมชาตินั้น มันไม่เข้าใครออกใคร มันไม่ยอมมันไม่เคยประนีประนอมกับคน คนนั้นประนีประนอมกันได้ เรามาตกลงกันด้วยน้ำใจเมตตาปรารถนาดีว่า เออ เอาอย่างนี้นะ ปรับความต้องการเข้ากันได้ แต่ว่าเราจะไปประนีประนอมกับตัวธรรมชาติหรือความจริงนั้นมันไม่ยอมกับเราหรอก เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเข้าถึงความจริงและปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง
[33:19] นั้นด้านความอยู่ร่วมกันในระหว่างมนุษย์ มนุษย์มีจิตใจที่มีเมตตาไมตรีปรารถนาดีต่อกัน แต่ต้องเปิดโอกาสแก่ปัญญาอยู่เสมอด้วย ด้านหนึ่งมนุษย์สัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยเมตตาไมตรี แต่มนุษย์จะสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยปัญญา ทั้งสองอย่างนี้จะต้องให้มาประสานกัน ไม่มาขัดแย้งกัน อย่าให้มนุษย์หลงผิดมาเอาเมตตาไมตรีระหว่างกัน ไปขัดขวางปัญญาที่จะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้ แม้มนุษย์จะมีความแตกต่างกัน แต่ด้วยจิตใจเมตตาปรารถนาดีอยู่กันได้ แล้วด้วยการที่ใฝ่รู้แสวงปัญญาอยู่เสมอนั้น ก็กลายเป็นว่า [34:11] โดยภาพรวมมนุษย์ทั้งปวงนี้ กำลังร่วมกันก้าวไปสู่ในวิถีทางของการแสวงหาความจริงของธรรมชาติต่อไป ซึ่งอันนี้เป็นภาระกิจของมนุษยชาติทั้งหมด ว่ามวลมนุษย์จะต้องอยู่ในกระบวนการหรืออยู่ในวิถีทางของการที่เข้าไปสู่ความจริงของธรรมชาติ
[34:30] ปัญหาของเสรีภาพในวิถีชีวิตคน
เราต้องยอมรับว่า มนุษย์โดยทั่วไปขณะนี้ยังอยู่ในวิถีทางนี้ยังไม่จบสิ้น แม้เราจะยอมรับว่า องค์พระศาสดาเข้าถึงแล้ว แต่พูดถึงมนุษย์ทั้งหลายรวมกันเนี่ย ยังไม่เข้าถึง อย่างวิทยาศาสตร์ อย่างศาสตร์ทั้งหลายนี่ ก็พยายามเข้าถึงความจริงอันนี้ งั้นเราจะต้องแยกอันนี้ให้ได้ แล้วมาประสานกันให้ถูกต้องด้วย
แล้วยิ่งยุคต่อไปนี้ ปัญญาจะมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น เพราะอะไร เพราะว่าข่าวสารข้อมูลมากขึ้น เวลานี้จะถึงยุคที่เกิดความขัดแย้งกัน หรือไม่ทันกัน ระหว่างข้อมูลกับปัญญา หรือจะเติมคำว่าข่าวสารเข้าไปก็ได้ว่า ข่าวสารข้อมูล ปัญญากับข่าวสารข้อมูลไม่ทันกัน ที่พูดอย่างนี้ก็จะต้องเข้าใจว่า ปัญญากับข่าวสารข้อมูลนั้นไม่ใช่อย่างเดียวกัน ถ้ามนุษย์มีปัญญาไม่พอ ข้อมูลข่าวสารยิ่งมาก มนุษย์ก็ยิ่งสับสนว้าวุ่น และดูเหมือนว่าปัจจุบันนี้มนุษย์กำลังจะเป็นอย่างนั้น มนุษย์บางทีก็เข้าใจผิดว่า การที่ตนมีข้อมูลข่าวสารมากนั้น คือตนมีปัญญามาก แต่ที่จริงไม่ใช่ ปัญญากับข่าวสารข้อมูลเป็นคนละอย่าง
ก็ขอย้ำว่า ถ้าปัญญาไม่พอ ข้อมูลข่าวสารยิ่งมาก มนุษย์ก็จะยิ่งสับสน และลุ่มหลงไปกันใหญ่ ถ้ามนุษย์ปัญญาไม่พอ คือไม่เข้าถึงตัวความจริง ไม่เข้าถึงสาระของตัวข่าวสารข้อมูลนั้น มองไม่เห็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างข่าวสารข้อมูลนั้น กับสิ่งทั้งหลายแวดล้อมอื่นๆ และมองไม่เห็นวิธีจัดการที่ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องต่อข้อมูลข่าวสารเป็นต้น เนี่ยก็จะยิ่งเกิดความสับสนวุ่นวายและก่อปัญหาแก่มนุษยชาติเอง เวลาเราไม่มีปัญญาเพียงพอเนี่ย สังคมเรายิ่งซับซ้อนขึ้น เราก็ยิ่งมีปัญหา ยกตัวอย่างแม้แต่เรื่องที่ปัจจุบันนี้เราพูดกันบ่อย อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนเนี่ย ก็จะต้องเป็นปัญหา
และก็เรื่องนี้แน่นอน สิทธิมนุษยชน หรือพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพทั่วไป ก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับเรื่องสันติภาพ เพราะว่าถ้ามนุษย์ไม่มีสิทธิมนุษยชน ไม่มีการปกป้องพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชน และก็สันติภาพเราก็ไม่สามารถจะบรรลุถึงได้ รัฐธรรมนูญก็ต้องย้ำเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยก็จะต้องถือเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นหลักการข้อใหญ่มาก แต่เราก็จะมีปัญหาอยู่เรื่อยไปแหละ ถ้าเราไม่สามารถแก้ปมในเรื่องนี้ได้ ในขั้นที่ว่าทั้งพฤติกรรมจิตใจและปัญญาที่มาประสานกันโดยสมบูรณ์ และโดยเฉพาะก็คือขั้นปัญญา
เราพูดถึงสิทธิเสรีภาพเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน พอพูดถึงว่าไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเนี่ย ศีลธรรมอันดีของประชาชนคืออะไรล่ะ อันนี้เราก็เริ่มเป็นปัญหาแล้ว มันก็เป็นปัญหาไปทุกอย่างแหละ คือถ้าตัวประสานที่ฐานมันไม่ดี มันก็ผูกปมไว้ทุกจุดเลย
ถ้าเรามองไปที่บางเรื่อง อย่างเรื่องเจ้าแม่กาลีเมื่อกี้เราอาจจะวินิจฉัยได้ง่ายว่า ตอนที่อังกฤษยังไม่ไปปกครองอินเดีย อินเดียยังไม่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ คนอินเดียมีสิทธิเสรีภาพที่จะเอาหญิงสาวพรหมจารีย์ไปฆ่าบูชายัญเจ้าแม่กาลี นี้พออังกฤษที่เป็นประเทศแม่บทของประชาธิปไตยประเทศหนึ่งเนี่ยเข้าไปปกครองอินเดีย อังกฤษก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้เอาหญิงสาวไปฆ่าบูชายัญเจ้าแม่กาลี อันนี้ก็จำกัดสิทธิเสรีภาพในทางศาสนาแล้วใช่ไหม อ้าวแต่อย่างในกรณีนี้เรามองเห็นง่าย ว่าโอ้ ไม่ดี แต่ว่าเราก็วินิจฉัยด้วยเกณฑ์ของเรานะ ว่าไปฆ่าฟันเบียดเบียนหญิงสาวพรหมจารีย์ทำลายชีวิตไม่ถูกต้อง อย่างนี้ อย่างสิทธิมนุษยชนปัจจุบันก็คือว่า ไปทำลายสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงของสตรีพรหมจารีย์นั้น
แต่ว่าเวลานี้มีเรื่องที่ซับซ้อนยิ่งกว่านั้นอีก ซึ่งในประเทศอย่างอเมริกาก็มีปัญหา แล้วก็สัมพันธ์กับเรื่องข่าวสารข้อมูลที่ว่า เรารู้ข่าวสารข้อมูลมากขึ้นแต่ปัญญาเราไม่พอ เรายิ่งมีปัญหาหนักเข้าไปทุกที ก็อย่างที่อเมริกาเมื่อ สามสี่ปีมาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งก็มีปัญหา เป็นตัวอย่างเท่านั้น ที่จริงมันมีปัญหาเยอะแยะเลยสิทธิเสรีภาพ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง วันหนึ่ง นักศึกษาหญิงผิวดำหลายคนน่าจะสี่ห้าหกคนเนี่ย ก็ไปยืนอยู่ หรือจะเป็นตึกหอพัก เรื่องนานแล้วจำไม่ค่อยแม่น แล้วก็พูดจาส่งเสียงเอะอะ พอดีตรงนั้นอยู่หน้าห้องนักศึกษาชายคนหนึ่ง หรือจะเป็นฝรั่งผิวขาว นายคนนั้นก็รำคาญ ก็เลยตะโกนออกมาบอกว่า “Shut up, water buffalo” เพราะว่านาง water buffalo ขออภัยไม่แปล “หุบปากซักทีเถิด” ว่างั้น อันนี้ก็เกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตเลย นี่เป็นเรื่องกรณีพิพาทเรื่องสิทธิเสรีภาพ ในมหาวิทยาลัยอเมริการะยะที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องนี้มาก เรื่องสิทธิเสรีภาพในการพูด ว่าจะมีเสรีภาพในการพูดแค่ไหน แล้วมันละเมิดกัน การละเมิดกันนี้จะจำกัดกันแค่ไหน อะไรเป็นต้น ถ้าไปเพื่อฝ่ายหนึ่งก็ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของฝ่ายหนึ่ง แล้วจะเอายังไง อันนี้เป็นปมปัญหาอยู่เรื่อย
หรือยกตัวอย่าง เมื่อมนุษย์มีความรู้ และสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ในบางสังคมก็มาคิดว่า อย่างคนที่มีสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สินของตน เราปลูกต้นไม้ในสวนของเรา เรามีต้นไม้ใหญ่ แล้วตัดต้นไม้นั้น ก็คนยุคนี้มีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ก็รู้ขึ้นมาว่าต้นไม้เนี่ย มันเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม คนที่ตัดต้นไม้ที่เป็นสมบัติของตนเอง โดยที่มีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในทรัพย์สินของตนเองนั้น อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์ที่เขาจะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ อย่างนี้เป็นต้น ก็กลายเป็นว่าการตัดต้นไม้ที่เป็นทรัพย์สมบัติของตัวเองนั้น ก็เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์ก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น
อันนี้เป็นเพียงตัวอย่าง เรื่องอย่างนี้จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเดี๋ยวนี้เรามีปัญหาเรื่องสิทธิของคนตาย ก็มีปัญหาว่าจะเอายังไง คนตายก็มีสิทธิที่จะตาย แล้วเราจะยอมให้เค้าตายเพื่อสิทธิเสรีภาพของเขาหรือไม่อะไรทำนองนี้ ในวงการแพทย์ก็มีปัญหามาก
นับวันแต่นี้ไป เราจะมีปัญหาที่ซับซ้อน ในเมื่อระบบข่าวสารข้อมูลมันละเอียดและเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น อันนี้อย่างที่กล่าวแล้วว่าปัญญามนุษย์ไม่ทันกับการเพิ่มพูนของข่าวสารข้อมูล แล้วยิ่งมนุษย์ไปหลงผิดเอาข่าวสารข้อมูลเป็นปัญญาก็ยิ่งยุ่งกันใหญ่ มนุษย์ยุคปัจจุบันเนี่ย ไปทะนงตนเองว่าเรามีปัญญามาก ความจริงมนุษย์ยุคนี้ว่าไปแล้วก็ไม่ได้มีปัญญาดีขึ้นเท่าไหร่ เป็นแต่เพียงว่ามีข่าวสารข้อมูลมากขึ้นเท่านั้นเอง ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงเรื่องของตัวอย่างบางอย่างที่เราจะต้องคิดกันต่อไป เพียงแต่ว่าให้เห็นความสำคัญของเรื่องปัญญา
[44:19] มนุษย์จะต้องมีปัญญา แสวงปัญญา เพื่อเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายให้ชัดเจนขึ้น เข้าถึงสาระความจริงของข่าวสารข้อมูล เข้าถึงความจริงที่กว้างออกไป ในเรื่องระบบความสัมพันธ์ ระหว่างข่าวสารข้อมูลแต่ละหน่วยละชิ้น กับสิ่งอื่นๆ ในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่และสำคัญ และก็ยากอย่างยิ่งทีเดียว มิฉะนั้นแล้วมนุษย์ก็ไม่พ้นสิ่งที่ทางพระท่านเรียกว่า “อคติ” อคตินี้เราแปลกันว่า “ความลำเอียง” ความจริงก็คือการที่ออกนอกทางของความถูกต้อง
[45:04] การที่มนุษย์ประพฤติหรือทำการที่ไม่ถูกทาง หรือออกนอกทางของความถูกต้องนั้นก็เป็นอคติ คืออคติหรือความประพฤตินอกทางที่ถูกเนี่ย อาจจะเกิดจากสิ่งที่เรียกว่าเป็น ฉันทาคติ อคติเพราะชอบก็ได้ โทสาคติเพราะชัง โมหาคติเพราะไม่รู้เพราะเขลา และภยาคติเพราะความกลัว แล้วโมหาคตินี้ก็จะเป็นไปได้มากในการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ และในการที่เอาเรื่องของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมาจัดการในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์เข้าไปอีก ปมปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสันติภาพทั้งสิ้น ก็คือเรื่องของความอยู่ดีของชีวิตและสังคมของมนุษย์นั่นเอง นี่ก็เป็นเรื่องของการตั้งข้อพิจารณาขึ้นมาฝากไว้ ก็จะขอผ่านไปอีก นี่ก็ขอพูด พอบอกอย่างนี้ก็คิดว่าจะพูดให้ไม่ยาว
[46:10] ปฏิบัติการครบ ๓ อย่าง จึงบรรลุสันติภาพอย่างแท้จริง
ขอย้อนไปเริ่มต้น คือเรื่องที่ว่า ในที่สุดแล้ววิธีปฏิบัติ หรือปฏิบัติการเพื่อจะให้บรรลุสันติภาพเนี่ย มันจะต้องครบองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่าง คือทั้ง พฤติกรรม จิตใจ และก็ปัญญา
พฤติกรรม ก็คือ เรื่องของศีลที่ตัวแท้ตัวจริง หรือแก่นของมันก็คือเจตนาที่ไม่เบียดเบียน ซึ่งเจตนานี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างพฤติกรรมกับจิตใจ จิตใจที่จะมาเชื่อมให้เจตนาออกไปสู่พฤติกรรม ก็คือคุณสมบัติในใจอย่างที่กล่าวแล้ว ซึ่งเราจะต้องพัฒนาคุณธรรมความดี เช่น เมตตากรุณาเป็นต้น ขึ้นมาในใจ ความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ต้องมีตัวนี้ ถ้าไม่มีแล้วพฤติกรรมจะดีจริง พฤติกรรมจะเกื้อกูลกันจริง จะไม่เบียดเบียนจริง มันเป็นไปไม่ได้ และไม่ยั่งยืน แต่ว่าพร้อมกันนั้นก็จะต้องมีปัญญา ความรู้จักเหตุปัจจัย รู้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องเพียงพอด้วย ถ้าเรามีองค์ประกอบทั้งสามอย่าง ก็จะทำให้สันติภาพนี้มีความหวังหรือเกิดขึ้นมาได้ แต่ว่ามาให้เราพิจารณาว่า ระบบชีวิต ระบบสังคม ความเป็นไปของหมู่มนุษย์ปัจจุบันเนี่ย มันเอื้อให้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
แม้แต่เพียงแค่ขั้นพฤติกรรมหรือศีล ที่เรามุ่งไปที่ตัวเจตนานี้ก็เป็นปัญหา เมื่อเราจะทำอะไรก็ต้องเริ่มต้นด้วยเจตนาไม่เบียดเบียน อันนี้มนุษย์ทำได้หรือเปล่า ถ้าไม่พูดถึงระบบสังคมระบบเศรษฐกิจของโลกปัจจุบัน ก็อาจจะมองไม่เห็น ระบบเศรษฐกิจระบบสังคมปัจจุบันเนี่ย ขอให้ดูเถิด มันเริ่มด้วยเจตนาอะไร เจตนาที่เกิดจากฐานความคิดความเชื่อ ซึ่งพันกันไปหมด แต่จะยังไงก็ตาม สิ่งที่ปรากฏออกมาสู่ขั้นเจตนาก็คือ เจตนามุ่งหาผลประโยชน์ให้แก่ตน อันนี้เป็นระบบของเศรษฐกิจ ระบบสังคมปัจจุบันที่ครอบงำโลกอยู่ การตั้งเจตนามันจะเริ่มที่อันนี้ มนุษย์จะทำอะไรก็เจตนามุ่งหาผลประโยชน์ให้แก่ตน และก็ขยายไปว่า เอาจากคนอื่นให้ได้มากที่สุด
[48:57] ในเมื่อเจตนามันเริ่มต้นอย่างนี้แล้ว มันก็ขัดแย้งกัน คือขัดแย้งกับสันติภาพ แล้วสันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้นระบบความคิด ระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้ มองไปแล้วเนี่ย ไม่เอื้อต่อการที่จะเกิดสันติภาพ ถ้าเรามองลึกลงไปฐานความคิดทิฐิอะไรต่างๆ เนี่ย มันคลาดเคลื่อนไปหมด ในที่สุดเราจึงไม่สามารถจะมาแก้เพียงที่พฤติกรรมของคนได้ ต้องแก้ไปถึงเรื่องของตัวทิฐิ ก็คือตัวปัญญานั่นเอง ความเชื่อ แนวคิด ความเห็น
อย่างการที่เรามีลัทธิทุนนิยม มันก็ต้องให้ตั้งเจตนาที่ว่า ให้มุ่งหาผลประโยชน์ อย่างของอเมริกัน ที่เราเรียกว่าปัจเจกชนนิยม Individualism ทางเศรษฐกิจ ก็ชัด ก็บอกว่าให้บุคคลแต่ละคนนี้ หาผลประโยชน์ให้แก่ตนให้มากที่สุด เมื่อแต่ละคนหาผลประโยชน์ให้แก่ตนให้มากแล้ว สังคมก็เจริญขึ้นมาเอง อันนี้เป็นการพูดถึงผลรวม เพราะว่าแต่ละคนหาเงินหาทองหาผลประโยชน์ได้มาก พอเอามารวมกันทั้งประเทศ สังคมนั้นก็เจริญพรั่งพร้อม
แต่เวลานี้เรากำลังมีปัญหากับระบบทุนนิยม โดยเฉพาะแนวคิดปัจเจกชนนิยมทางเศรษฐกิจแบบนี้ ซึ่งบอกว่าให้แต่ละคนหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด ก็ต้องแข่งขัน การแข่งขันก็เป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ความเจริญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอเมริกัน แบบที่รู้ๆ กันอยู่ แต่ว่าในที่นี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ตัวเจตนามันอยู่ที่ใหน เจตนาในที่นี้ก็คือเจตนาที่จะหาผลประโยชน์ให้แก่ตนให้มากที่สุด เอาจากผู้อื่นให้มากที่สุด ทีนี้เจตนามันไม่เริ่มที่เจตนาไม่เบียดเบียน หรือเจตนาที่จะเกื้อกูล พอเรามาพูดถึงขั้นนี้ เราจะรู้สึกว่าเรื่องปัญหาสันติภาพมันยากยิ่งขึ้น มันยากเหลือเกิน มันไปพันกับระบบเศรษฐกิจระบบสังคม เรื่องของระบอบของโลก ความเป็นไปในโลกาภิวัตน์ทั้งหมดเลย แล้วเราจะแก้ไหวหรือเปล่า จะแก้ไหวไม่ไหวก็ต้องแก้ ก็ต้องเพียรพยายาม แล้วเราก็มาบอกว่าเราจะต้องพัฒนาคน
[51:48] คือ การพัฒนาคนนี่ มันก็พัฒนาหมด ไม่ใช่เฉพาะพัฒนาพฤติกรรม การแสดงออกทางกายวาจา การเคลื่อนไหว การปฏิบัติต่อกันในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่ว่าพัฒนาจิตใจเค้าด้วย ให้มีความรักความปรารถนาดีมุ่งประโยชน์แก่กัน แทนที่จะมุ่งเอาจากกันให้มากที่สุด ก็มุ่งจะทำให้แก่ผู้อื่นให้มากที่สุด หรือมุ่งจะทำประโยชน์ มุ่งจะทำความสุขให้แก่ผู้อื่น แล้วก็พัฒนาปัญญาที่รู้เข้าใจ เห็นสุขเห็นทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ รู้จักเข้าใจระบบความสัมพันธ์ของสังคม ระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติแวดล้อม ให้เห็นถึงความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอะไรต่างๆ เหล่านี้ ปัญญาก็จะเป็นตัวที่มาช่วยแปรสภาพจิตใจ หมายถึงว่า ปัญญาที่เข้าใจเพียงพอและถูกต้อง พอเรามาพัฒนาพฤติกรรมคน พัฒนาจิตใจคุณสมบัติคุณธรรมในใจคน และการพัฒนาปัญญาคน มันก็คือการพัฒนาตัวมนุษย์นั่นเอง
[52:56] การศึกษาเพื่อสันติภาพเพื่อสันติสุข
และการพัฒนาตัวมนุษย์นั้น ก็คือการศึกษา และก็มีการศึกษา การศึกษามีองค์ ๓ คือ พัฒนาพฤติกรรมเรียกว่า ศีล พัฒนาจิตใจเรียกว่า สมาธิ พัฒนาปัญญาก็เรียก ปัญญา เราก็เรียกว่า “ไตรสิกขา” ผลที่สุดก็คือต้องพัฒนามนุษย์ให้ครบองค์รวมด้วยระบบไตรสิกขา พอพัฒนามนุษย์นี้ได้ แนวคิดความเห็นต่างๆ ความเชื่อ มันก็เปลี่ยนไป ถ้าสามารถแก้ได้ถึงขั้นนั้น แก้ได้ถึงฐานความคิดแล้ว ก็มีทางเป็นไปได้
แต่ถ้าเราแก้ได้แค่เรื่องของพฤติกรรม มันก็จะอยู่แค่เจตนาเชิงลบ ที่หวาดกลัวภัยต่อตนเองบ้าง แม้แต่ภัยธรรมชาติ อย่างเวลานี้ที่ไม่กล้ารุกรานทำลายธรรมชาติ ไม่ได้มีเจตนาที่ประกอบด้วยคุณธรรมใจรักธรรมชาติหรอกส่วนมาก แต่มันเจตนาเชิงลบ คือกลัวว่าถ้าไปทำลายธรรมชาติแล้วเนี่ย ผลร้ายมันจะตีกลับมาหามนุษย์เอง เพราะฉะนั้นเจตนาแบบนี้เป็นเจตนาเชิงลบ คือ ไม่ได้ตั้งใจดีต่อธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ได้รักธรรมชาติจริงหรอก แต่กลัวภัยแก่ตน เพราะฉะนั้นมันก็เลยเกิดเป็นจริยธรรมฝืนใจ ที่เคยพูดบ่อยๆ ว่า เพราะกลัวว่าตัวเองจะตาย ธรรมชาติมันเสียแล้วตัวเองอยู่ไม่ได้ ก็เลยต้องยับยั้งพฤติกรรมตนเอง ฝืนใจ ยอมให้ธรรมชาติอยู่ แต่ตนเองก็ต้องลดละยอมอด ยอมงดความสุขว่า ไม่ได้บริโภคตามใจปรารถนา ก็กลายเป็นว่า ไม่มีความสุขในการที่จะอยู่ในระบบสันติภาพแบบนี้ สันติภาพกับธรรมชาติในขณะนี้มนุษย์อยู่อย่างไม่เป็นสุข
ทีนี้สันติภาพมันจะอยู่ยั่งยืนได้ยังไงถ้าคนไม่มีความสุข มันก็เป็นไปไม่ได้อีก สันติภาพจะอยู่ยั่งยืนได้คนต้องมีความสุขด้วย คนจะมีความสุขได้ยังไง ระบบความคิดมันผิด มันตั้งความปรารถนาเจตนาผิด ว่าฉันจะมีความสุขต้องบริโภคมากที่สุด ไม่ได้บริโภคมากที่สุดก็สุขไม่ได้ ฝืนใจไปหมด ระบบมันเสีย งั้นก็จะต้องมองแม้แต่ความเข้าใจเรื่องความสุข เรื่องอิสรภาพของมนุษย์ ต้องเข้าใจกันใหม่ แม้แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพอะไรต่างๆ ถ้าเรามองจากฐานความคิดไม่ถูกต้องแล้ว ก็จะต้องเป็นเรื่องของการแย่งชิง แบ่งแยกกัน เรื่อยไป แล้วเรื่องสิทธิมนุษยชนจะเป็นปัญหากันไปอีกนาน
เราจะพัฒนามนุษย์ให้มองสิ่งนี้ได้ถูกต้องหรือเปล่า ถ้ามันแค่เจตนายังไม่ถูก อย่างเช่นเจตนาในเรื่องสิทธิเสรีภาพเนี่ย มองจากแง่มุมแนวคิดแบบความตั้งใจหาผลประโยชน์ให้แก่ตน แนวคิดเศรษฐกิจแบบนี้ มันจะมองสิทธิเสรีภาพเป็นแบบนึง แล้วเวลานี้คนจำนวนมากโดยไม่รู้ตัว มีแนวคิดนี้อยู่เบื้องหลังในการมองเรื่องสิทธิเสรีภาพ ก็คือมองแบบว่า เอาให้แก่ตนให้มากที่สุด ก็เป็นเรื่องระบบของการแย่งชิงและแบ่งแยก แต่ถ้ามันตั้งเจตนาที่ว่าจะไม่เบียดเบียนกัน จะเกื้อกูลต่อกัน หรือทำให้แก่กัน ทำความสุขให้แก่กันแล้วเนี่ย เรื่องการมองสิทธิเสรีภาพมันจะมีความหมายต่างออกไปเลย
ฉะนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ว่ามนุษย์ที่จะต้องพัฒนาแก้กันหลายขั้น แต่ก็รวมแล้วก็อย่างที่กล่าวเนี่ย ก็คือเรื่องของพฤติกรรม เป็นเรื่องตื้นๆ เผินๆ ระดับที่หนึ่ง โยงกับจิตใจด้วยเจตนาหรือเจตจำนง แล้วภายใต้เจตจำนงหรือเจตนานั้น ก็คือพัฒนาคุณสมบัติและจิตใจ เช่น เมตตาไมตรี และพร้อมกันนั้น ก็ไม่ให้มนุษย์หลงทางที่จะเอาเมตตาไมตรีนั้น มากักกั้นพวกตนจากการเข้าถึงความจริง ในการที่จะอยู่อย่างดีกับธรรมชาติกับทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ไม่ใช่มีแต่เพียงมนุษย์เท่านั้น และซึ่งไม่เข้าใครออกใครด้วย ก็จะต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา เข้าใจความจริง และก็เข้าใจเหตุปัจจัย เข้าใจระบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง แล้วก็สามารถที่จะนำความรู้ในความจริงนั้น มาจัดสรรชีวิตและสังคมของตนเองพร้อมทั้งการอยู่ร่วมกับธรรมชาตินั้นให้ถูกต้อง
[57:40] วันนี้ก็เลยขอเสนอความคิดในเรื่องที่ตั้งเป็นหัวข้อไว้ เป็นเพียงข้อพิจารณาก็แล้วกัน ที่บอกว่า [57:52] พระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพของโลก จะพูดแนวกว้างแนวแคบ สาระก็อย่างเดียวกัน คือ ในแง่หนึ่ง เราก็จะเน้นเรื่องของจุดหมายที่ว่า จะต้องประสานจุดหมาย คือภาวะแห่งสันติภายในและสันติภาพภายนอก ให้ประสานกลมกลืนกันให้ได้
แต่ในวิถีทางที่จะเข้าสู่จุดหมายที่ประสานสันติทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันนั้น มนุษย์จะต้องมีปฏิบัติการที่พร้อมทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา คือเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนามนุษย์ เราจึงบอกว่าต้องเอาการศึกษามา จึงจะช่วยให้สันติภาพที่แท้จริงเกิดขึ้น แล้วเราก็บอกว่านี้คือ การศึกษาเพื่อสันติภาพ
และเพราะว่าพระพุทธศาสนาสอนระบบการศึกษาแบบองค์รวม เราก็เลยบอกว่า พระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพของโลก ก็คือ ซ่อนคำว่าการศึกษาอยู่ในตัวพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนา หรือจะพูดให้เต็มที่บอกว่า “พระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพของโลก” ก็คือว่า พระพุทธศาสนาสอนระบบการศึกษาที่นำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงของโลก ซึ่งมีความหมายว่า ทั้งสันติภายใน สันติภายนอก ทั้งสันติภาพในความหมายแคบ ๆ ว่าไม่มีสงคราม หรือปราศจากความขัดแย้ง และสันติสุขที่มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยจิตใจที่เอิบอิ่มเบิกบานผ่องใสด้วย
ก็ขออนุโมทนาทางคณะกรรมการกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพผู้ประสานเป็นแกนกลาง ซึ่งในวาระนี้ ทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยมีท่านอธิการบดีเป็นประธาน พร้อมทั้งทางสภาสถาบันราชภัฏ มีท่านเลขาธิการเป็นประธานกับทั้ง ---จบเทปปาฐกถา