แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร วันนี้อาตมภาพจะพูดเรื่องพุทธคุณข้อต่อไป คือข้อที่ 3 ได้แก่ข้อว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน แปล ว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เมื่อวานนี้ได้พูดหัวข้อว่า สมฺมาสมฺพุทโธ แปลว่า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ อันนั้น แสดงคุณสมบัติว่าพระองค์ได้ค้นพบพระธรรม หรือความจริงสัจธรรมด้วยพระองค์เอง ไม่ได้ความเป็นพุทธะนี้ โดยการสอนของผู้อื่น แต่ก็ยังไม่ได้บอกชัดเจนว่าตรัสรู้ธรรมะอะไร ถึงวันนี้มาถึงหัวข้อ วิชชาจรณสัมปันโน นั้น เข้าไปในเนื้อหามากยิ่งขึ้น คือจะบอกชัดขึ้นว่าธรรมะที่ตรัสรู้นั้นเกี่ยวข้องกับอะไร
วิชชาจรณสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ จะเห็นว่ามีคำอยู่ 2 คำ คือคำว่า วิชชา กับคำว่า จรณะ วิชชานั้น ปกติเราก็มักจะแปลกันว่าความรู้ และจรณะก็แปลกันว่าความประพฤติ วิชชาจรณะก็แปลว่า ความรู้และความประพฤติ
เพราะฉะนั้น วิชชาจรณสัมปันโน ถ้าแปลง่ายๆ อย่างนี้ ก็ต้องหมายความว่า ถึงพร้อมหรือสมบูรณ์ด้วย ความรู้และความประพฤติ ทีนี้ก็จะมีข้อสงสัยว่า ความรู้นั้นความรู้อะไร หรือความประพฤติอย่างไร
ถ้าว่าถึงไม่ได้เอาความหมายลึกซึ้งแล้ว เราก็หมายถึงว่าความรู้ต่างๆ มีปัญญารู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายมากมาย และก็ประพฤติดีงาม ถ้าพูดกันอย่างนี้ เราก็เรียกว่าใช้ในความหมายง่ายๆ จะเห็นว่าบางทีเราเอามาใช้กับคนทั่วๆ ไปก็มี คือไม่ต้องเป็นพระพุทธเจ้าหรอก แม้แต่ว่า คนทั่วไปนี่ก็พูดกันว่า ถ้าหากว่ามีพร้อมทั้งความรู้และความ ประพฤติแล้วก็ถือว่าเป็นคนดี เพราะฉะนั้นก็เป็นคำที่สรรเสริญยกย่องคนที่นับว่าเป็นคนดีในโลกนี้ เพราะถ้าเรียน รู้แล้วก็มีความประพฤติดีด้วย ก็ดีครบสมบูรณ์ทุกอย่าง
แต่ในความหมายที่ท่านต้องการในที่นี้ลึกซึ้งกว่านั้น คือไม่ใช่หมายถึงว่า เพียงความรู้และความประพฤติ ทั่วๆ ไป อย่างที่ว่าเล่าเรียนหนังสือจบชั้นนั้นชั้นนี้ และก็มีความประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในศีลธรรม แต่ในที่นี้ท่านมี ความหมายพิเศษในทางวิชาการ ท่านขยายความบอกว่า วิชชานั้น สำหรับในพุทธคุณข้อนี้ หมายถึงวิชชา 3
วิชชา 3 คืออะไรบ้าง วิชชา 3 ก็มี
1.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อนได้ ก็หมายถึง ระลึกชาติได้
และข้อที่ 2. ว่า จุตูปปาตญาณ ญาณรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย อันนี้หมายถึงการรู้ว่า สัตว์ทั้งหลาย
จุติอุบัติกันไปแล้ว เป็นไปตามกรรม คือจะไปเกิดอย่างไรก็แล้วแต่กรรมที่ตนทำไว้ ถ้าทำกรรม ดีก็ไปเกิดในที่ดี ทำ กรรมชั่วก็ไปเกิดในที่ไม่ดี ก็มองเห็นความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตาม กรรมอย่างนั้น นี่เรียกว่า จุตูปปาตญาณ
และก็ 3. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะกิเลส อันนี้หมายถึงความรู้ในอริยสัจ 4 หรือถ้าพูด อย่างง่ายๆ ก็คือว่า ได้เจริญวิปัสสนาจนรู้เห็นเข้าใจไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าใจ ตลอดในอริยสัจ ก็ทำให้กิเลสหมดสิ้นไป เป็นญาณประการที่ 3 หรือวิชชาที่ 3
นี่คือวิชชาที่ท่านมุ่งหมายในที่นี้ ที่ว่าพระพุทธเจ้าสมบูรณ์ด้วยวิชชานั้นก็คือวิชชา 3 บางทีท่านขยาย ความออกไปอีกว่า หมายถึงวิชชา 8
วิชชา 8 ก็เพิ่มไปจากวิชชา 3 นั่นเอง แต่ในที่นี้อาตมภาพว่าจะไม่พูดถึง เพราะว่าจะทำให้ฟั่นเฟือ จำยาก ขึ้น เพราะเพียง 3 อย่างนี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่ายเท่าไรอยู่แล้ว ทีนี้ และก็วิชชา 8 นั้นก็ขยายออกไปจาก 3
3 นี่เป็นหลัก เป็นแกนกลาง แต่จะยังไม่อธิบายในวิชชา 3 จะพูดเลยไปถึงจรณะ
นอกจากวิชชา 3 แล้ว พระพุทธเจ้าก็ประกอบด้วยจรณะ จรณะนี้มีทั้งหมด 15 อย่าง จรณะนั้นแปลว่า ความประพฤติก็ได้ หรือแปลว่าธรรมเครื่องดำเนินก็ได้ ข้อที่ว่าประพฤติก็คือเป็นไป เป็นไปก็คือดำเนินนี้ ธรรม เครื่องดำเนิน ดำเนินยังไง ท่านบอกว่า หมายถึงธรรมเครื่องดำเนินให้ถึงวิชชา เพราะฉะนั้น จรณะก็คือตัวที่จะ ให้บรรลุวิชชานั่นเอง
ก่อนที่จะพูดถึงวิชชา จึงควรจะพูดถึงจรณะก่อน เพราะจรณะเป็นตัวเหตุ จรณะนั้นมีถึง 15 อย่างด้วย กัน เมื่อมีจรณะ 15 แล้ว ก็จะทำให้ถึงซึ่งวิชชา 3 เพราะท่านจัดว่าวิชชานั้น ก็อยู่ฝ่ายปัญญาเพราะเป็นเรื่อง ความรู้ ส่วนจรณะเป็นด้านธรรมเครื่องดำเนิน เป็นด้านความประพฤติ ท่านหมายเอาศีลและสมาธิ เพราะฉะนั้น วิชชาจรณะนี้ ก็มีทั้งศีล สมาธิ ปัญญาครบถ้วนบริบูรณ์
ทีนี้จรณะ 15 ที่เป็นฝ่ายศีลและสมาธินั้น มีอะไรบ้าง อาตมภาพจะค่อยๆ นำมาชี้แจงพอย่อๆ เพราะ มันมากเหลือเกินตั้ง 15 อย่าง
อย่างที่ 1 ก็คือท่านบอกว่า สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล คือความมีศีลบริบูรณ์หรือประพฤติถูกต้อง ในศีลบริบูรณ์ ถ้าเป็นพระสงฆ์ก็ประพฤติตามพระบัญญัติของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า พระวินัย ซึ่งในปาติโมกข์ก็มี 227 ข้อ และก็ยังมีนอกปาติโมกข์อีกมากมาย ก็ประพฤติให้ถูกหลักของปาติโมกข์ เคร่งครัดในสิกขาบทต่างๆ มี ความสำรวมระวัง ก็ท่านเรียกว่าสำรวมในปาติโมกข์ และก็ระมัดระวังตน ไม่ละเมิดบัญญัติต่างๆ อันนี้เป็นของ พระ ทีนี้ของญาติโยมนั้น ตามปกติก็หมายเอาศีล 5 ถ้าโยมประพฤติในศีล 5 ถูกต้องดีแล้วก็เรียกว่ามีสีลสัมปทา สมบูรณ์ หรือถึงพร้อมด้วยศีลได้ ก็เอาความหมายที่ง่ายๆ อย่างนี้ ทีนี้ต่อไป
ประการที่ 2 เรียกว่า อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ สำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ก็หมายถึงว่าสิ่งที่เป็นเจ้า การในการรับรู้ต่างๆ ก็ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เอง นี้เรียกว่าอินทรีย์ ทีนี้ว่าอินทรีย์ที่รับภายนอกนั้น มี 5 อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนใจนั้นอยู่รับอยู่ข้างใน นี้สำรวมอินทรีย์นั้นหมายความว่ายังไง
สำรวมแปลว่าระมัดระวัง สำรวมอินทรีย์ เราสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย พร้อมทั้งใจ เราระมัดระวังตาไม่ ให้ดูอะไร หูไม่ฟังอะไรหรืออย่างไร เราไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น ก็มองดู รับฟังอะไรต่างๆ ไปอย่างปกติ แต่ว่ารับ เข้ามาแล้วไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจ อันนี้จึงจะเรียกว่าสำรวม เพราะฉะนั้น สำรวมอินทรีย์ก็คือว่า เมื่อตา เห็น หูได้ยิน ลิ้นรับรส เป็นต้นแล้ว ไม่ยอมให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความรักความชัง คือว่า ไม่ให้ เป็นไปทั้งยินดีและยินร้าย ภาษาเก่าเขาเรียกว่ายินดียินร้าย ก็ทำใจให้ผ่องใสอยู่ได้ ไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิต ของตนเอง ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าสำรวมอินทรีย์
อันนี้สำคัญมากเรื่องสำรวมอินทรีย์นี่ เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น คนเรานั้นแต่ละวันละวัน ก็ต้องได้ยินได้ฟัง ได้ เห็นอะไรต่างๆ ถ้าหากว่าไม่รู้จักสำรวมอินทรีย์ ก็จะถูกอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ากระทบกระทั่ง แล้วก็จิตใจของตน เองก็จะถูกกิเลสครอบงำ เกิดความทุกข์เกิดความไม่สบายใจ หรือว่าเศร้าหมองไปต่างๆ แต่ถ้ารู้จักสำรวมอินทรีย์ แล้ว จิตใจก็จะเป็นอิสระอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านสอนข้อปฏิบัติเบื้องต้นอย่างหนึ่งก็คือ การสำรวมอินทรีย์ไม่ให้ กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจเมื่อรับรู้อารมณ์ภายนอก ประการต่อไป
โภชเนมัตตัญญุตา แปลว่าความรู้จักประมาณในการบริโภค อันนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติสำคัญมาก ก็ยังอยู่ในขั้น ต้นๆ เหมือนกัน อย่างพระนี่ท่านจะสอนตั้งแต่เริ่มเข้ามาบวช พอบวชสมัยโบราณนี้ ยังไม่ทันบวชเลย มาอยู่วัด หลวงพ่อก็จะให้ท่องบทสำหรับพิจารณาเวลาฉันข้าว เวลาใช้ปัจจัย ๔ ทั้งหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะเน้นที่การฉัน อาหาร ให้พิจารณาเขาเรียกว่า ปฏิสงฺขา โย
ปฏิสงฺขา โย ก็คือพิจารณาก่อนที่จะใช้ปัจจัย 4 ก่อนที่จะบริโภคอาหาร ให้พิจารณาว่า ที่เรารับประทาน นี้ รับประทานเพื่ออะไร เพื่อจะให้ชีวิตเป็นอยู่มีความผาสุก ร่างกายสุขภาพดีอย่างไร ไม่ใช่มุ่งความเอร็ดอร่อย มัวเมา ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วก็จะระมัดระวังตัวเอง ไม่ให้เห็นแก่รสอาหาร เป็นต้น ก็จะเป็นความรู้จักประมาณ ในการบริโภค ความรู้จักประมาณในการบริโภคก็เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยรักษาสุขภาพของ ตนเองด้วย แล้วก็เกื้อกูลในการที่จะปฏิบัติต่อไป
โดยเฉพาะเป็นพระสงฆ์นั้น ถ้ามัวแต่เห็นแก่อาหารแล้ว ก็จะมาแสวงหาปัจจัย หาลาภ ไม่เป็นอันตั้งใจ ปฏิบัติธรรม ถ้าจะเป็นผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรม ก็จะต้องไม่เห็นแก่การรับประทาน เพราะฉะนั้น ท่านก็สอนอันนี้ไว้ เป็นหลักปฏิบัติสำคัญประการหนึ่ง เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของตนได้เต็มที่
ประการที่ 4 เรียกว่า ชาคริยานุโยค ชาคริยานุโยคก็แปลว่าการประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ นี่แปล ตามศัพท์สมัยเก่า การประกอบความเพียรในการตื่น ก็ท่านแปลง่ายๆ ว่า ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน คือถ้าเป็นคน ธรรมดาก็เห็นแก่หลับแก่นอน ก็กลายเป็นว่าเป็นคนเกียจคร้านไป ถ้าไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ก็จะได้ใช้เวลาในการ ทำกิจ ทำหน้าที่ของตนได้ ก็สำหรับความหมายของพระนั้น ไม่ใช่มีเพียงเท่านั้น คือไม่ใช่มีเพียงว่าไม่เห็นแก่หลับ แก่นอน แต่ยังมีความหมายไปถึงว่า ในเวลาที่ตื่นอยู่นั้น ไม่ใช่ตื่นแล้วก็จิตใจมัวหมอง เป็นต้น แต่ว่ายังสามารถทำ จิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใสได้ด้วย คือถ้าเพียงแต่ว่าไม่เห็นแก่หลับแก่นอนแล้วก็ตื่นขึ้นมา แต่ตื่นแล้วก็จิตใจวุ่นวาย ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะตื่นแล้วก็ต้องชำระจิตให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ด้วย เพราะฉะนั้น ท่านก็จึงบอกว่าให้ชำระจิตให้ปราศจากนิวรณ์ คือ เดี๋ยวขอประทานอภัยนิด หยุดนิดหนึ่งก่อน
ก็เป็นอันว่าเรื่องการตื่นอยู่นี้ ไม่ใช่ตื่นอยู่เฉยๆ แต่ว่าตื่นด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งผ่องใสด้วย การที่จะปลอด โปร่งผ่องใสนั้นก็คือว่าไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองเข้ามาครอบงำ ตัวเศร้าหมองที่ครอบงำจิตใจของคนอยู่เสมอ หรือบ่อยที่สุดก็คือสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์
นิวรณ์แปลว่าสิ่งที่กีดกั้นจิต หรือกำบังจิตไว้ไม่ให้เกิดปัญญา ทำให้จิตอ่อนแอ ไม่สามารถจะก้าวหน้าไปใน คุณธรรมความดี ก็มี 1) กามฉันทะ คิดอยากได้โน่นอยากได้นี่ 2) พยาบาท ความคิดร้ายขัดเคืองคนโน้นคนนี้ และก็ 3) ถีนมิทธะ ความหดหู่เซื่องซึมท้อแท้ระย่อท้อถอยอะไรต่างๆ ตลอดจนกระทั่งความง่วงเหงาซึมเซา และ ก็ 4) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ความเดือดร้อนใจต่างๆ และก็ข้อ 5) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
อันนี้ก็ทำให้จิตเนี่ยไม่ก้าวหน้า จิตก็ไม่สามารถจะเดินหน้าไปในความดี และก็ถูกปิดบังถูกกั้นไว้ ไม่ให้ สามารถมีปัญญาได้ คิดอะไรก็ไม่แล่นไม่โปร่ง เพราะฉะนั้น ท่านให้ตื่นอยู่นี้ก็ให้ชำระจิตให้ปราศจากนิวรณ์เหล่า นี้ ให้จิตใจผ่องใสด้วย
สามอย่างนี้คือ ความสำรวมอินทรีย์ ความรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร และก็การประกอบความ เพียรเครื่องตื่นอยู่ สามประการนี้ท่านมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า อปัณณกปฏิปทา แปลว่าข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดพลาด ไม่ผิดพลาดยังไง หมายความว่า ถ้าใครปฏิบัติหลักการ 3 ประการนี้แล้ว มีหวังแน่นอนว่าจะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ก้าวหน้าในคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น
ทีนี้ต่อจากนี้ไปก็มีอีก 7 ข้อ เมื่อกี้นี้ 1 กับ 3 ก็เป็น 4 แล้ว ทีนี้ต่อไปอีกชุดหนึ่งมี 7 ข้อ
7 ข้อนี้ตามปกติเรียกว่า สัทธรรม 7 อันนี้อาตมภาพได้พูดแล้วในวันคล้ายวันเกิดของโยมคุณหญิง คือ ธรรมหมวดนี้นะซ้ำกัน อันนี้สัทธรรม 7 เนี่ยก็เป็นคุณธรรมของสัตบุรุษของคนดี และก็มาอยู่ในหมวดที่เรียกว่า จรณะนี้อีก 7 ข้อด้วยกัน
ก็มี ศรัทธา ความเชื่อความมั่นใจ เพราะเป็นพุทธศาสนิกชนต้องมีความมั่นใจในปัญญาตรัสรู้ของพระ พุทธเจ้า คือถ้าเรามีความมั่นใจในปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ เราก็มั่นใจในคำสอนของพระองค์ และก็มั่นใจใน การประพฤติปฏิบัติต่างๆ ตามมา นี้ถ้าความหมายอย่างง่ายๆ ก็มั่นใจในการทำความดีงาม ถ้าไม่มั่นใจแล้ว มันก็ ไม่มีกำลังใจที่จะทำ ต้องมีความมั่นใจมีศรัทธา
และก็มี หิริ ความละอายแก่ใจ ละอายต่อบาป และก็มี โอตตัปปะ ความกลัวต่อบาป คือเกรงกลัวต่อ ความชั่ว ไม่ยอมทำความชั่ว เพราะว่าเห็นว่ามันจะเกิดผลร้าย ต่อไปก็ พาหุสัจจะ มีความรู้ ได้ยินได้เล่าเรียน สดับตรับฟังมาก นี้เป็นข้อมูล เป็นตัวที่จะช่วยให้เราปฏิบัติต่อไปได้ คนที่ได้เล่าเรียนสดับ เช่นว่า ถ้าจะปฏิบัติ ธรรมก็ได้เรียนรู้ธรรมมากๆ แล้ว เราก็มีข้อมูลในการที่จะเอาไปใช้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็ต้องมีพาหุสัจจะด้วย
ข้อต่อไปก็มี วิริยะ มีความเพียร ต้องเป็นผู้มีความเพียร มีใจเข้มแข็งแกล้วกล้า ไม่ท้อถอย และก็มีสติ มีสติที่ระลึกระมัดระวังตนในการที่ว่า จะระงับยับยั้งตนเองไม่ให้ทำผิดพลาด ตลอดถึง จนกระทั่งทำให้ไม่ละทิ้ง โอกาสที่จะทำความดี นี่เรียกว่าเป็นตัวสติที่จะคอยเร้าเตือนตนเองให้ไม่พลาด และก็ทำให้ไม่เสียโอกาสด้วย และก็ต่อไปในหมวดนี้ข้อที่ 7 ก็ ปัญญา ปัญญาก็ความรู้ความเข้าใจ ความรู้ในเหตุในผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้อะไรเป็นโทษ เป็นคุณ เป็นประโยชน์มิใช่ประโยชน์เป็นต้น ข้อนี้ก็รวมเป็น ๗ ข้อด้วยกัน ก็เรียกว่า สัทธรรม ๗ ประการ
อีก 7 เมื่อกี้นี้ 4 ก็เป็น 11 สิบเอ็ดแล้วก็ไปสุดท้ายก็คือฌานอีก 4 ข้อ ฌานที่ 1 ฌานที่ 2 ฌานที่ 3 ฌานที่ 4 เรียกว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌานและจตุตถฌาน ฌาน 4 นั้นก็เป็นเรื่องของสมาธิโดยตรง ก็เป็น สมาธิขั้นที่เรียกว่าสูง ก็พอถึงฌานนี้แล้วก็ครบถ้วน ก็เป็นการสร้างความพร้อมที่จะให้ได้วิชชา 3 ประการที่กล่าว มาข้างต้น รวมเป็นจรณะ 15 ประการ
นี้คือหลักที่เรียกว่า วิชชาและจรณะ ถ้าพร้อมด้วยจรณะ 15 นี้ท่านเรียกว่ามีข้อปฏิบัติของพระเสขบุคคล คือผู้ที่กำลังศึกษาในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้พร้อมที่จะได้วิชชา
เรื่องวิชชาจรณะนี้ท่านแสดงไว้ในพระสูตรที่เรียกว่า เสขปฏิปทาสูตร ที่พระอานนท์ได้เป็นผู้แสดง และก็ เลยมาพอดีตรงกับเรื่องคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าข้อนี้ ก็เป็นอันว่าเมื่อบำเพ็ญหลักธรรมที่เรียกว่าจรณะ 15 ประการแล้ว ก็พร้อมที่จะบรรลุวิชชา เมื่อบรรลุ วิชชาก็กลายเป็นผู้พรั่งพร้อมหรือสมบูรณ์ด้วยทั้งวิชชาและจรณะ เป็นวิชชาจรณสัมปันโน ซึ่งพระพุทธเจ้านี้เป็น แบบอย่างของผู้ที่สมบูรณ์แล้วด้วยวิชชาและจรณะ
ทีนี้พระพุทธศาสนานั้นสรรเสริญผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะในที่ทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะที่เป็นพระพุทธ เจ้าเท่านั้น เราจะเห็นว่าในที่อื่นๆ ดังที่อาตมภาพกล่าวว่าในเสขปฏิปทาสูตร หรือในอัคคัญญสูตร พระพุทธเจ้าก็ ตรัสไว้ถึงข้อความที่ว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส แปลว่า ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
ก็หมายความว่า พุทธศาสนานี้เอาความสมบูรณ์ด้วยวิชชา หรือตัวความรู้ที่กล่าวมา และก็จรณะ ความ ประพฤติหรือทางดำเนินของชีวิตนั้นเป็นเครื่องวัด ไม่ได้เอาชาติกำเนิดมาวัด คือจะเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้วัดด้วย กำเนิดว่า ถ้าจะเป็นในอินเดียก็ไม่ได้วัดว่าจะเกิดในวรรณะกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือแพศย์ หรือศูทร แต่วัดด้วย การถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะนี้ หรือแม้จะเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดาเป็นเทวดาเป็นพระพรหม ก็ไม่ได้วัดกันด้วย กำเนิด ก็วัดด้วยความสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะนี้แหละ
เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ก็จึงต้องเป็นที่เคารพแม้แต่ของเทวดาของพระพรหม ทั้งหมด ก็เลยพุทธศาสนาเอาหลักที่ว่านี้ ที่ว่าสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะเป็นเกณฑ์ ก็เลยกล่าวไว้ในหลักคำสอน ทั้งพุทธคุณที่ว่านี้
พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ประเสริฐเพราะว่าสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ และก็ในคำสรรเสริญทั่วไปก็บอกว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา ทีนี้สำหรับความหมายทั่วไป เราก็เลย เอามาใช้ว่า คนเราก็ให้ดีทั้งความรู้และความประพฤติ ก็เป็นคนที่นับว่าสมบูรณ์ นี้เป็นความหมายอย่างสามัญ ที่สุด
ก็เป็นอันว่าในตอนนี้ ก็ให้เข้าใจว่าความหมายที่แท้จริงนั้น ท่านหมายถึงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าทีเดียว ที่ว่ามีวิชชา 3 และจรณะ 15 ประการดังที่กล่าวมาแล้ว รองลงมาก็คือผู้ดำเนินตามพุทธปฏิปทานั้น ก็จะเป็น พระอรหันต์ก็มีวิชชาและจรณะนี้ได้เหมือนกัน สำหรับความหมายสามัญก็คือว่า มีความรู้และความประพฤติ พร้อมบริบูรณ์ ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา
ก็คิดว่าพุทธคุณข้อวิชชาจรณสัมปันโนนี้ ก็คงจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และก็เป็นแนวทางที่ช่วยให้เกิดคติในทางดำเนินชีวิตในทางความประพฤติแก่ท่านผู้เป็นพุทธศาสนิกพอสมควร
วันนี้ อาตมภาพก็ขออนุโมทนาโยม และขอจบเรื่องพุทธคุณข้อวิชชาจรณสัมปันโน เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร