แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพร วันนี้คุณพ่อคุณแม่พร้อมทั้งญาติมิตรที่เคารพนับถือ ได้มาร่วมทำบุญกับคุณภิญญาและคุณคริสเตียน ในโอกาสของงานมงคลสมรส การทำบุญวันนี้ เป็นการทำบุญในการแต่งงาน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งจะให้บุญ คือความดีนี้ เป็นเครื่องส่งเสริมเชิดชูชีวิตสมรสต่อไปภายหน้า การทำบุญอย่างนี้ก็เป็นธรรมมงคล คือถือว่ามงคลนั้นมี 2 อย่าง มงคลที่เรารู้จักกันทั่วไปนั้นก็เรียกว่าพิธีมงคล พิธีมงคลก็คือในด้านกิจกรรม เราจัดกิจกรรมให้เป็นที่รับรู้กัน ของสังคม เป็นรูปธรรมที่มองเห็น เมื่อทำได้ถูกต้องแล้ว เราก็สบายใจว่าระเบียบแบบแผนวัฒนธรรมประเพณีของสังคมมีมาอย่างไร เราก็ได้ปฏิบัติตามนั้น แล้วก็เป็นเหตุการณ์ที่จะเป็นเครื่องระลึกต่อไปภายหน้า เมื่อเราได้ทำถูกต้อง ปฏิบัติดีแล้ว ก็จะได้ความประทับใจ นึกเมื่อใดก็เป็นเครื่องเตือนใจตัวเอง คือทั้งให้เกิดการระลึกด้วยความสุข มีความปิติ อิ่มใจ เป็นต้น แล้วก็เป็นเครื่องเตือนใจเราให้เห็นความสำคัญของชีวิตแต่งงานที่เราจะต้องพยายามดำรงรักษาให้มีความสุขความเจริญมั่นคง อันนั้นเป็นด้านที่เรียกว่าพิธีมงคล แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ ธรรมมงคล ก็คือมงคลที่เกิดจากธรรมะ เป็นส่วนของนามธรรม เป็นเรื่องของความดีงาม ความรู้ความเข้าใจ ทั้งความดีคือคุณสมบัติในจิตใจความรู้สึกต่อกัน และความรู้ความเข้าใจ เช่นความเข้าใจต่อความมุ่งหมายในชีวิตสมรสเป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นด้านที่ว่าถ้าถูกต้องดีแล้วก็จะเป็นธรรมมงคล จะเป็นเครื่องช่วยให้ชีวิตสมรสนั้นมีความสุขอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นด้านธรรมมงคลนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ในทางพระศาสนานอกจากว่าเราประกอบพิธีมงคลแล้ว เราจะต้องมีธรรมมงคล แล้วธรรมมงคลนี้เป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติต่อไปตลอดชีวิต พิธีมงคลเราปฏิบัติก็จบเสร็จในวันนี้พรุ่งนี้ แต่ธรรมมงคลนั้น ก็ยังอยู่คู่กับชีวิตเราตลอดไป ทีนี้ธรรมมงคล หรือมงคลเกิดจากธรรมะ เกิดจากความรู้ความเข้าใจ แล้วก็ความดี คุณสมบัติต่างๆ นี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ในเรื่องของชีวิตสมรส ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อให้เราประพฤติปฎิบัติก็มีมากมาย แต่ว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ การแต่งงานนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องของการเริ่มต้นใหม่ เป็นการเริ่มต้นซึ่งหมายถึงการที่บุคคล 2 คนได้มามีชีวิตร่วมกัน นอกจากมีชีวิตร่วมกันแล้วก็มีความรับผิดชอบร่วมกันด้วย ในทางโบราณก็ถือว่าเป็นการที่เริ่มต้นมีชีวิตเป็นผู้ใหญ่ เป็นหลักเป็นฐาน เคยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยดูแลรับผิดชอบ ต่อไปนี้จะต้องรับผิดชอบตัวเอง แม้แต่ในทางหลักธรรมสำคัญในชีวิตร่วมกันที่เป็นความดีงามความประพฤติของบิดามารดาที่เราได้พูดว่าหลักพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ท่านก็ให้หลักไว้ว่า พอลูกแต่งงานแล้วพ่อแม่ก็ใช้หลัก 3 ข้อแรกน้อยลง จะเน้นในข้อที่ 4 เพราะถือว่าลูกจะต้องรู้จักรับผิดชอบตัวเองแล้ว แล้วก็มีความสามารถที่จะรับผิดชอบชีวิตของตนได้ แต่ก่อนนี้ก็ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ คอยเลี้ยงแล้วก็คอยดูแลความทุกข์ยากลำบาก จะต้องแก้ไขปัญหาให้ แล้วก็จะต้องคอยส่งเสริมในการเล่าเรียนศึกษาเป็นต้น ต่อไปนี้ก็ให้ลูกรับผิดชอบตัวเอง พ่อแม่ก็มาหนักในข้ออุเบกขา อุเบกขาก็หมายความว่าวางใจเป็นกลาง คอยดูอยู่ ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ว่าไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง เพราะว่าชีวิตของคู่แต่งงานตอนนี้เขาต้องรับผิดชอบตัวเองแล้ว เพราะพ่อแม่จะเข้ามาวุ่นวายก็กลายเป็นเสียไป ทีนี้ก็หมายความว่าแม้แต่ความสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ก็ยังเปลี่ยน ทีนี้การรับผิดชอบตัวเองนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ การมองความหมายของชีวิตสมรสนั้นก็มองได้หลายอย่าง แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวก็คือว่าความรัก ความรักนี้ก็เป็นคำที่เราสืบเนื่องต่อมาจากคุณพ่อคุณแม่ ก่อนที่เราจะมีชีวิตครอบครัวนั้น มีคนที่เป็นศูนย์กลางสำคัญที่ให้ความกับเราก็คุณพ่อคุณแม่ ความรักมีความหมายอย่างไร ก็ดูที่คุณพ่อคุณแม่ ความรักที่แท้ของคุณพ่อคุณแม่นั้นก็มีความหมายว่าอยากให้ลูกเป็นสุข ทีนี้ความรักแบบนี้ เป็นความรักที่เราถือว่าเป็นคุณธรรม ช่วยผดุงรักษาธรรมให้โลกร่มเย็นเป็นสุข ถ้าคนเรามีความรักแบบนี้คืออยากให้คนอื่นเป็นสุขเนี่ย เราก็จะต้องพยายามทำให้เขาเป็นสุข คืออยากให้เขาเป็นสุข ก็อยากเห็นเขาเป็นสุข เมื่อเขายังไม่เป็นสุข ก็อยากทำให้เป็นสุข พอเห็นเขาเป็นสุข แล้วเขาเป็นสุขได้สมใจเรา เราก็มีความสุขไปด้วย ความสุขแบบนี้เรียกว่าความสุขแบบร่วมกัน สุขทั้งสองฝ่าย ลูกก็เป็นสุข แม่ก็เป็นสุข เพราะว่าความสุขของคุณพ่อคุณแม่นั้น บางทีก็มาฝากไว้กับลูก ถ้าลูกไม่สุขเป็นทุกข์ พ่อแม่ก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย อันนี้ก็เป็นความรักที่เราเรียกกันว่าเมตตา แต่ว่าเราก็ต้องทำความรู้จักว่าที่จริงความรักยังมีอีกแบบหนึ่ง ก็หมายความว่ารวมแล้วความรักมี 2 ชนิด ความรักอีกประเภทหนึ่งก็คือความรักที่ถูกใจ พอใจ อยากได้เขามาเพื่อให้ตัวเราเป็นสุข เพื่อให้ชัด จะแยกจากความรักแบบแรก ที่พูดไปแล้ว ก็ย้ำซะอีกทีหนึ่งว่าความรักแบบที่หนึ่ง อย่างของคุณแม่ก็คือว่าความรักอยากให้เขาเป็นสุข อันหนึ่งอยากให้เขาเป็นสุข อีกอันหนึ่งก็คืออยากให้เราเป็นสุข แปลว่าอยากได้เขามาเพื่อให้เราเป็นสุข ที่นี้ความรักแบบอยากได้เขามาเพื่อให้เราเป็นสุขเนี่ย ก็เป็นความรักที่ต้องระวัง ถ้าหากว่าเราไม่พัฒนาตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือว่าไม่ทำให้ความรักแบบที่อยากให้เขาเป็นสุขเนี่ยมาเกิดขึ้นในใจของตัวเองด้วย ความรักแบบอยากได้เขามาเพื่อให้เราเป็นสุขนี่ อาจจะเกิดปัญหา เพราะว่าเป็นความรักประเภทที่พูดง่ายๆ ก็คือยังมีความเห็นแก่ตัว ถ้าเรามีความรักประเภทนี้อย่างต่อไปก็จะเป็นทางมาของความขัดแย้ง และปัญหา ก็คือจะมีการเรียกร้อง แล้วมุ่งเพื่อตนเอง เพราะฉะนั้นคนที่จะมีชีวิตเกิดความรับผิดชอบในการสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญงอกงาม ก็จะต้องพัฒนาความรักแบบที่เป็นคุณธรรมที่เป็นความอยากให้เขาเป็นสุขนี่ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีคุณธรรมมีจิตใจดีงามนี้ ความรักประเภทนี้จะมีความเป็นชื้นใจอยู่ด้วย พอมีความรักประเภทว่าถูกใจ พอใจแล้ว ก็จะไปหนุนความรักที่อยากให้เขาเป็นสุขให้เกิดเพิ่มขึ้น ก็เลยความรักสองอย่างก็ไปด้วยกัน ก็จะเป็นเครื่องดำรงรักษาให้ชีวิตที่มีความรับผิดชอบร่วมกันและอยู่ได้ ฉะนั้นการมองชีวิตสมรสด้วยการแต่งงานนี้ เราจึงไม่มองแค่เพียงว่าในการที่ได้มาสนองความใฝ่ปรารถนาความสุขของตนเอง
แต่มองในแง่ของการที่ได้มาร่วมกันในการทำการสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นว่าจะมองไปที่ชีวิตของเราที่มาอยู่ร่วมกัน ช่วยกันสร้างสรรค์ให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป หรือแม้มองกระทั่งว่าเรามีจุดหมายที่ดีงามของชีวิต เรามีจุดหมายเพื่อสังคมอะไรต่างๆ นี้ การแต่งงานก็เท่ากับว่าได้กำลัง 2 คนมาเพิ่ม แต่ก่อนเราทำคนเดียว มีกำลังน้อย ก็ทำได้จำกัด พอเรามี 2 คนเราก็ร่วมแรงร่วมกำลังกัน ก็ทำได้มากขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่าการแต่งงานนั้นเป็นการรวมกำลังกันในการสร้างสรรค์ แล้วก็มีจุดหมายที่จะทำต่อไป อีกอย่างหนึ่งก็คือการแต่งงานนี้ก็เป็นโอกาสในการพัฒนาชีวิตของตนเองด้วย หมายความว่าคนเราแต่ละคนเนี่ย ต้องทำชีวิตให้ดีงามมากขึ้น ในการอยู่ในโลกให้ประสบความสำเร็จ พฤติกรรม กาย วาจา ของเราก็ต้องพัฒนา จิตใจของเราเช่นความเพียร ความอดทน ความรับผิดชอบ ความมีสติ ความมีสมาธิ ความเข้มแข็งต่างๆ เหล่านี้ เราก็ต้องพัฒนา แล้วก็ปัญญา ความรู้ความเข้าใจ ความสามารถในการคิดพิจารณาวิเคราะห์แยกแยะอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องพัฒนา ทีนี้การมามีชีวิตแต่งงาน แยกแยะรับผิดชอบครอบครัว รับผิดชอบตั้งแต่ชีวิตของตนเอง และร่วมกันสร้างสรรค์ต่างๆ นี้ ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้พัฒนาสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าเรามองชีวิตแต่งงานอย่างนี้ก็จะมีความหมายมากขึ้น คือไม่ได้มองแค่ว่าการที่เราจะได้มีความสุข ความปรารถนาของตน หรืออะไรต่างๆ เหล่านั้น ถ้าเรามองจำกัดแค่นั้น ก็จะเป็นปัญหา ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่สังคมมีปัญหามาก ปัญหาในแง่ที่ความสับสนไม่ลงตัวด้วย คือมีความคิดใหม่ๆ ขึ้นมาซึ่งถกเถียงกันมาก แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เป็นเรื่องที่วุ่นพอสมควรว่าอะไรแค่ไหน สิทธิมนุษยชนก็เป็นเรื่องของการมองที่ในแง่หนึ่งก็เน้นเรื่องตัวเองด้วย ก็หมายความว่าเราจะต้องระวังไม่ให้คนอื่นมาล่วงล้ำสิทธิของเรา แต่พร้อมกันนั้นมันก็ต้องหมายถึงการมองผู้อื่นด้วยว่ามีสิทธิอะไรที่เราไม่ควรไปก้าวก่ายแทรกแซง แต่มันจะเป็นการมองที่ค่อนไปในทางลบนิดหนึ่ง คือคอยดูว่าใครมีสิทธิแค่ไหน ถ้าหากว่าเป็นคนอื่นเขาทำ เราก็ดูแค่ว่าเขามีสิทธิแค่นั้น ได้แค่นั้นก็จบ เลิก ทีนี้ในแง่ตัวเองก็อย่ามารุกล้ำสิทธิของฉัน หรือว่าฉันสิทธิ์ฉันก็เรียกร้องเอาให้ได้ ซึ่งในแง่นี้มันเป็นหลักประกันให้มนุษย์มีสังคมที่ไม่เดือดร้อนเกินไป แต่ว่าค่อนข้างแห้งแล้ง จะไม่ค่อยมีน้ำใจไม่ค่อยมีความสุข ถ้าหากพ่อแม่เลี้ยงลูกเพียงเพื่อสิทธินี้ก็คงยุ่ง ก็ดูว่าลูกของเรามีสิทธิอะไรบ้าง ได้อะไร แล้วทำแค่นั้นตามสิทธิ ก็คงไม่ได้ชีวิตครอบครัวที่มีความสุขร่วมกันแน่ แต่ว่าพ่อแม่ก็ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิ แต่ว่าทำให้ลูกด้วยความรัก อยากให้ลูกเป็นสุข แม้ตัวเองจะลำบาก จะทุกข์ พ่อแม่ก็ยอม บางทีถ้ายิ่งความรักมาก แม่แต่การที่ตัวต้องเรียกได้ว่าเสียวสละเป็นทุกข์ลำบากนั้น พ่อแม่ก็เป็นสุข เป็นสุขเพราะเห็นลูกเป็นสุข เขาอยากทำให้ลูกเป็นสุข ก็เช่นเดียวกัน คนที่มีจิตใจที่มีความรักเพื่อนมนุษย์ ความรักคนอื่น อยากเห็นคนอื่นเป็นสุขเนี่ย ก็ทำได้ ให้แก่คนอื่นได้ จนกระทั่งตัวเองลำบาก หรือว่าต้องเสียสละมากเหลือเกิน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขามีความสุขที่จะทำอย่างนั้น อันนี้มันก็กลายเป็นเรื่องของคุณธรรม ทีนี้เรื่องสิทธิมนุษยชนนี่ก็เป็นหลักประกันเบื้องต้นว่าเพื่อเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันว่าคนเรานี้เขาจะมีชีวิตที่ดี อย่าให้เขาเดือดร้อน ต้องให้เขามีได้ตามสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าทำกันแค่นั้นแล้วก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ ก็อยู่กันด้วยความแห้งแล้ง อย่างเรื่องนี้ก็เหมือนกัน สิทธิมนุษยชนก็โยงไปเรื่องสิทธิ ความเสมอภาคระหว่างหญิงระหว่างชายอะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้ก็เป็นด้านหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงในสังคม เพราะเราคงอยู่แค่นั้นไม่ได้ สมัยที่อเมริกากำลังเริ่มพูดกันเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิงระหว่างชายกันมาก สัก 10 กว่าปีมานี้ เคยอ่าน บอกว่าคู่แต่งงานคู่หนึ่งเขาตกลงกันได้แล้วเขาก็มาเขียนอวด เขาบอกว่าเราได้ตกลงกันว่าเรามีลูกเนี่ย เราสองคนฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะแบ่งหน้าที่กันอย่างไรให้เท่ากันเพื่อความเสมอภาค ก็บอกว่าผลัดกันซักผ้าอ้อมให้ลูก คนละ 5 วัน 7วัน ผลัดกันเลี้ยงคนละ 5 วัน 7 วัน ให้เสมอภาคกัน อันนี้เขาก็ได้พอใจว่าเขาได้ตกลงกันสำเร็จ เป็นความเสมอภาค เราอ่านแล้วเราก็มาคิดว่านี่เขามองเรื่องสิทธิความเสมอภาคจนกระทั่งลืมเรื่องจุดหมายของการเลี้ยงลูกหรือยังไง เพราะการเลี้ยงลูกจุดหมายมันควรจะอยู่ที่ลูก เพื่อให้ชีวิตของลูกเป็นสุข เพื่อให้ชีวิตของลูกดีงาม เจริญเติบโตอย่างดี เราควรทำยังไง มันควรจะเน้นไปที่นั่นมากกว่า ว่าลูกของเรานี้นะต้องการอะไร ต้องการแม่แค่ไหน ต้องการพ่อแค่ไหน แล้วก็ทำไงจะเลี้ยงให้ลูกเนี่ยเจริยเติบโตอย่างดี ทำอย่างนั้น แทนที่จะมาแบ่งกันว่าฉันเป็นฝ่ายชาย ฉันเป็นฝ่ายหญิง มีสิทธิเท่านั้นมาแบ่งกัน พอดีเท่ากันแล้วก็จบ เลยมองข้ามเรื่องจุดหมายของการเลี้ยงลูก แล้วก็มองข้ามลูกไปด้วยนะ คือมัวมาคิดถึงสิทธิส่วนตัวซะ อย่างนี้ถ้าเรามองไปอีกทีก็คนนี้เริ่มจะเห็นแก่ตัวมาก แทนที่ว่าจะทำเพื่อจุดหมายที่ดีงาม แล้วก็ทำได้ โดยตัวเองก็มีความสุขด้วย อย่างที่พระมีการศึกษาการพัฒนาตัวเอง เราก็พัฒนาไปสู่การหมดตัว หมดตัวนั้นมีความหมาย 2 อย่าง หมดตัวในแง่หนึ่งก็คือว่าหมดเงินทอง ไม่มีเหลือ ไม่มีจะใช้ อันนี้ก็หมดตัว ทีนี้หมดตัวอีกอย่างก็คือหมดความยึดถือในตัวตน จุดหมายของการพัฒนาชีวิตของคนเราในทางพระศาสนา ก็พัฒนาไปได้จนหมดความยึดถือในตัวตน เพราะฉะนั้นพระอรหันต์อย่างพระพุทธเจ้าก็ทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ ไม่มีอะไรจะต้องเอาเพื่อตัวเอง แต่ที่จริงคือตัวเองมีความสมบูรณ์ มีความสุข มีชีวิตที่เต็มเปี่ยมแล้ว ก็เลยไม่ต้องคำนึงถึงตัวเอง ท่านเรียกว่ามีอะไรต้องทำเพื่อนตัวเองต่อไป ก็เดินทางไป จาริกไป นอนกลางดินกินกลางทรายยังไงก็ได้ นึกถึงแต่ว่าคนนั้นเขาควรจะพัฒนาตัว ควรจะได้รู้หลักธรรมนี้ เขามีความทุกข์อันนี้ คิดแล้วก็เดินทางไปเพื่อช่วยเขา ไปสอนเขา ก็ทำอย่างนั้นพระองค์ก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะเสียสิทธิเสียอะไร ก็มีความสุขที่จะทำอย่างนั้น ฉะนั้นการคำนึงในเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่านี้ มันจะเป็นสุดโต่งไปข้างหนึ่ง ซึ่งมนุษย์จะต้องระวัง คล้ายๆ ว่ามันเป็นหลักประกันของสังคมในขั้นเบื้องต้นหรือพื้นฐาน แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องหมายของสังคมที่ดี สังคมที่ดีก็ต้องเจริญงอกงามอไปกว่านั้น คืออยู่กันไม่ใช่เป็นเพียงการรักษาสิทธิ์ มีสิทธิแต่ว่าให้ได้เหนือกว่านั้น ก็คือเป็นสังคมของความดีงามและคุณธรรม แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราต้องละทิ้ง เราก็ต้องมีด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ว่าเรามาประสานกันเรื่องความหมายของความรักที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าเรามีแต่ความรักอย่างที่ว่าอยากได้เพื่อให้ตัวเองเป็นสุข มันก็จะต้องพูดกันมากเรื่องสิทธิ สิทธิของเขาสิทธิของเรา เสมอภาคกันไหม อะไรต่ออะไร แต่ว่ามองไปในแง่หนึ่งก็จะเป็นการแย่งชิง แล้วก็มีความขัดแย้งได้ง่าย แต่ถ้าเมื่อไหร่ใจมีความรักอีกประเภทหนึ่งคือความอยากให้เขาเป็นสุข ตอนนี้เราไม่คำนึงถึงตัวเองแล้ว เรามีแต่คิดว่าทำยังไงให้เขามีความสุข แล้วก็พยายามทำเพื่ออย่างนั้น ถ้าอย่างนี้แล้วก็ทำให้มีน้ำใจและความสดชื่น ไม่แห้งแล้ง แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเรียกร้องสิทธิก็เป็นเรื่องของความแห้งแล้ง อันนี้เป็นเรื่องของการที่จะดำเนินชีวิตให้เจริญงอกงาม โดยเฉพาะชีวิตสมรสจะต้องมีความรักประเภทที่เราเรียกว่าเป็นคุณธรรมหรือเมตตา หรือความรัก ความอยากให้เขาเป็นสุข คือว่าอย่างน้อยก็พัฒนาไปสู่อันนี้ให้มีความรักประเภทนี้เข้ามา ได้เป็นส่วนร่วม หรือเป็นส่วนให้เกิดดุลยภาพ แล้วก็ก้าวไปสู่คุณธรรมหรือความรักประเภทนี้ให้ยิ่งขึ้น เมื่อคนเรามีความรัก มีคนใกล้ชิด อยากให้เขามีความสุขแล้ว ต่อไปก็พัฒนาต่อไปยังเพื่อนมนุษย์ อยากให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข ก็จะสามารถทำเพื่อผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น คือคนเราไม่ควรติดอยู่ที่การทำเพื่อให้ตัวเองมีความสุข แต่ว่าทำยังไงจะให้ผู้อื่นเป็นสุขได้ คนที่คิดอย่างนี้ก็จะเป็นคนที่มีความสุขไปด้วย ถ้าคนที่คิดแต่เพียงว่าทำให้ตัวเองเป็นสุข มันก็ได้แค่ว่าเมื่อตัวเองเป็นสุข ได้ตามต้องการก็มีความสุข เมื่อไรจะต้องทำเพื่อผู้อื่น หรือจะต้องให้ออกไป ก็จะเป็นการสูญเสีย ก็เป็นทุกข์ แล้วคนที่แผ่ขยายความรักอันนี้ออกไปความรักบ้างอยากให้คนโน้นคนนี้เป็นสุข พอทำให้คนนั้นคนนี้เป็นสุข แม้แต่ให้แก่เขาที่เราเรียกว่าตามปกติเป็นการสูญเสียนั้นกลายเป็นการที่ทำให้ตัวเองเป็นสุขไปด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยกลายเป็นคนที่สุขได้มาก สุขได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ก็เป็นการพัฒนาความสุขของตัวเองไปด้วย ฉะนั้นเรื่องของชีวิตสมรสเนี่ย ก็เป็นอันว่าต้องมีความรักให้ครบ 2 ประเภท ความรักประเภทที่ 1 ก็ย้ำอีกที ความรักพื้นฐาน ก็คือความถูกใจ พอใจ อยากได้เขาเพื่อให้เราเป็นสุข ส่วนความรักประเภทที่ 2 ที่มีคุณธรรม คือความรักอยากให้เขาเป็นสุข อยากเห็นเขาเป็นสุข และอยากทำให้เขาเป็นสุข ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างจากคุณพ่อคุณแม่ แล้วถ้าพัฒนาไปก็จะช่วยให้โลกนี้ร่มเย็นเป็นสุขยิ่งขึ้น ความรักทั้งสองประเภทนี้ต้องมีพร้อม ต่อไปก็จะทำให้เกิดความรักที่เป็นคุณธรรมนี้ก็จะทำให้ช่วยให้จุดมุ่งหมายของชีวิตสมรสนั้นก้าวต่อไปสู่ความดีงาม ที่เป็นการสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น นี่เป็นการที่แต่งงานนี้ไม่ใช่เป็นเพียงว่ามีชีวิตคู่ครองเท่านั้น แต่หมายถึงการได้มารวมกำลังกันในการทำการสร้างสรรค์อะไรที่เป็นจุดหมายที่ดีงามในชีวิตจของเรา ที่เราตั้งขึ้น แม้แต่รวมกำลังทำเพื่อสังคมเพื่อมนุษยชาติกว้างออกไป เราก็มีกำลังเพิ่มขึ้น แล้วพร้อมกันนั้นก็เป็นโอกาสหรือเป็นเวทีในการพัฒนาชีวิตของตัวเองด้วย เพราะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ตั้งแต่อยู่กัน 2 คนขึ้นไปนี่ ตัวเองต้องฝึกตัวเอง ต้องพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เลยจะขอพูดถึงธรรมะที่เป็นหลักในชีวิตครองเรือนสักชุดหนึ่ง ชุดนี้ก็เป็นหลักธรรมง่ายๆ เรียกว่า ฆราวาสธรรม แปลว่าธรรมะสำหรับการครองเรือน หรือการอยู่เป็นชาวบ้านนั่นเอง ก็มี 4 ข้อ ด้วยกัน
ข้อที่หนึ่ง-ก็เป็นหลักง่ายๆ ก็เรียกว่า สัจจะ นี่ก็คือ ความจริง นั่นเอง ความจริงอันนี้เป็นรากฐานของชีวิตที่อยู่ร่วมกัน คนเราอยู่ร่วมกันต้องมีสัจจะ สัจจะก็เริ่มจากอะไร สัจจะก็ความจริงใจ ก็มีความจริงใจต่อกัน ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ต่อกัน ความรักที่แท้ต่อกัน อันนี้ก็เริ่มจากในใจ พอมีความจริงใจต่อกันแล้วก็ออกมาทางวาจาก็พูด แล้วก็ออกมาทางการกระทำจริงตามที่พูด อันนี้ก็จะทำให้ไม่ต้องหวาดระแวง คนเราพอเริ่มถ้าเสียข้อนี้แล้วก็เรรวนง่อนแง่นหมด เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบมันเป็นรากแก้วของชีวิตสมรส เพราะถ้าหากว่าไม่มีความสัจจะ หรือเริ่มระแวงต่อสัจจะความจริงใจต่อกันเมื่อไหร่ ง่อนแง่นทันที ไม่มั่นคง ฉะนั้นสัจจะนี้เป็นตัวรักษาฐานทำให้เกิดความมั่นคง ก็ต้องมีเป็นอันดับที่หนึ่ง ก็คือสัจจะความจริง
ต่อไปนอกจากสัจจะความจริงก็คือที่มาอยู่ร่วมกันนี้จะต้องมีการปรับตัว เพราะว่าคนเราเมื่อมาอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ เริ่มตั้งแต่อยู่กับผู้อื่น ย่อมมีความผิดแผกแตกต่างกันเป็นธรรมดา แม้แต่สถานที่ เราขึ้นบ้านใหม่ เราอยู่บ้านใหม่ เราก็ต้องมีการแปลกที่ ปรับตัวเข้ากับสถานที่ บุคคล คนใหม่ก็ต้องมีการปรับตัว แม้แต่คนนั้นเราบอกว่าอยู่มาเก่านานเน บางทีก็ยังมีอะไรที่ยังแปลกตาเราอยู่ อย่าว่าแต่คนอื่นเลยตัวเราเองยังแปลกตัวเลย มีอะไรต่ออะไร เราเองก็เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นเราต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงอันนี้ ด้วยความแปลกใหม่ที่เราจะต้องปรับตัว ทีนี้ความสามารถของคนก็พิสูจน์ได้ด้วยการรู้จักปรับตัว การปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นไม่ใช่เพียงเพื่ออยู่กันด้วยดีเท่านั้น แต่เป็นการทดสอบตัวเองด้วยว่าเรามีความสามารถแค่ไหนในการที่จะอยู่ด้วยดีในโลกนี้ พัฒนาตัวเองได้แค่ไหน ก็มาปรับตัว มาอยู่กับคนอื่นก็ต้องปรับตัว แล้วก็ปรับใจเข้าหากัน การปรับตัวปรับใจนั้นต้องใช้ความเข้าใจ ไม่ใช่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้ความรู้สึก ใช้ความเข้าใจ พยายามเข้าใจคนอื่น แล้วก็เข้าใจก็ดีแล้ว แม้ยังไม่เข้าใจก็พยายามเข้าใจ โดยใช้วิธีการของปัญญา เช่น พูดจากัน ไม่ใช้อารมณ์ความวู่วาม
ฉะนั้นหลักธรรมข้อที่สองก็คือหลักที่ท่านเรียกว่า ทมะ การรู้จักปรับตัว ทีนี้ปรับตัวแล้วก็ปรับปรุงตนด้วย ก็หมายความว่าอะไรที่อาจจะบกพร่อง ขาดไป เกินไป ก็ปรับปรุง ทำให้เกิดความพอดี โดยใช้ปัญญารู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรเหมาะสม อะไรพอดี ก็ปรับตัวให้ได้อย่างนั้น ก็จะทำให้อยู่กันได้ด้วยดี อันนี้ก็เป็นเรื่องของการปรับตัว แล้วก็ปรับปรุงตนเอง ต่อจากนั้นเมื่อปรับปรุงตัวเองเข้าด้วยกันได้ดีแล้ว ปรับตัวเขากับสถานที่สิ่งแวดล้อม ปรับตัวเข้ากับญาติพี่น้องตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ทั้งสองฝ่าย ปรับตัวเข้ากับการงานอะไรต่างๆ พอปรับตัวได้ดีก็เดินหน้าปรับปรุงตนเอง พัฒนายิ่งขึ้นไป ตอนนี้ชีวิตก็เจริญงอกงาม อันนี้หลักนี้ท่านเรียกว่า ทมะ ข้อที่สองแล้ว ภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ ฝึก นั่นเอง คนเรานั้นมีชีวิตเจริญงอกงามได้ต้องมีการฝึกตน คนไหนไม่ฝึกก็จะอยู่ยาก เพราะฉะนั้นคนที่เจริญก็จะเอาอะไรต่ออะไรมาเป็นเครื่องฝึกตนหมด เจอสถานการณ์ใหม่ อะไรใหม่ๆ หวังว่าจะได้โอกาสฝึกตน เจอทุกข์ เจอปัญหาก็คือแบบฝึกหัด การฝึกตัวเอง คนเราที่จะเก่งก็ต้องมีแบบฝึกหัด นักเรียนที่จะสามารถก็เป็นคนขยันทำแบบฝึกหัด ชีวิตคนที่เจริญงอกงามก็เป็นคนที่รู้จักทำแบบฝึกหัด เกิดปัญหาไม่ย่อท้อ เจอเรื่องที่ต้องทำ ไม่ถอย มองเป็นแบบฝึกหัดเอามาฝึกตัวเองให้หมด แล้วจะมีจิตใจที่ดีด้วย คือมีสุขภาพจิตดี ถ้าคนที่ไม่ได้เตรียมใจไว้อย่างนี้ พอเจออะไรยาก เจออะไรต้องทำ เจอปัญหา ใจก็ท้อถอยเป็นทุกข์ไปหมด ใจไม่ดี เสียสุขภาพจิต แล้วก็ไม่ได้ผลด้วย เพราะมัวแต่ทุกข์ ย่อท้อ ทีนี้พอมองเป็นแบบฝึกหัด เป็นโอกาสในการฝึกตน เจออะไรยากก็ดีใจว่าได้แบบฝึกหัดแล้ว เจอปัญหาเจออะไรต่ออะไรก็ใจก็พร้อม ก็มีสุขภาพจิตดี แล้วก็ทำให้ได้ผลดีแก่ชีวิต ก็คือมีความเจริญงอกงาม ได้ฝึกตนยิ่งขึ้นไป พัฒนาไปเรื่อย ฉะนั้นข้อที่สองนี้ก็เป็นหลักสำคัญ ทั้งชีวิตในระหว่างคู่ครอง แล้วก็ชีวิตที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นที่กว้างขวางออกไป นี่ก็ข้อที่สอง ทมะ การฝึกตน
ต่อไปก็มีข้อที่สาม- ในการฝึกตนในการเจริญก้าวหน้า บุกฝ่าไปในชีวิตเนี่ย ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้มันก็ต้องเจออุปสรรคเจอความทุกข์ยากลำบาก แม้แต่มรสุม ก็ต้องมีคุณธรรมอย่างหนึ่งก็คือความอดทน ความอดทนนี้หมายถึงความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปข้างหน้า ความอดทนนี้มี 2 แบบ คือ อดทนแบบตั้งรับ กับอดทนแบบแกฝ่าไปข้างหน้า ตั้งรับนี่ก็หมายความว่า ถ้ามันในโอกาสที่สมควร เราต้องมีความมารถที่จะตั้งรับ ถ้าเปรียบเหมือนอย่างกับแผ่นดิน แผ่นดินนี่ใครจะทิ้งของดีของเสียมา ฉันรับได้หมด ไม่ร้องโอดครวญเลย อันนี้ก็เป็นความอดทนแบบหนึ่ง ผืนแผ่นดิน ความอดทนอีกแบบหนึ่งเปรียบเหมือนอย่างกับช้างศึก ช้างศึกก็หมายความว่ามีจุดหมายที่จะรบให้สำเร็จ บุกฝ่าไปในสงคราม เขายิงลูกศรเกาทัณฑ์ อาวุธอะไรต่างๆ มา ก็ต้องไม่ย่อท้อ ทนต่อความเจ็บเป็นต้น บุกฝ่าไปข้างหน้าให้งานสำเร็จให้ได้ อันนี้ก็เรียกว่าอดทนแบบเดินหน้า ก็ต้องมี ขันติ คือความอดทนทั้งสองแบบนี้ คนเราจึงจะเดินไปในชีวิตได้ หรือเหมือนอย่างกับของที่จะมาใช้ทำสิ่งต่างๆ แม้แต่บ้านเรือนนี่ เราจะใช้ไม้ก็ใช้ไม้ที่แข็งแรงทนทาน ทนน้ำ ทนแดด ทนฝน เป็นต้น ทีนี้คนเราสำคัญต้องมีความเข้มแข็ง สามารถอดทนได้ ทีนี้ความอดทนของคนจะแสดงในลักษณะ 3 อย่าง คือ หนึ่ง-อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เช่น การงาน การทำการงานก็ต้องมีความลำบากตรากตรำบ้าง บงทีจะต้องทนแดดทนฝนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แล้วก็ทนเรื่องของงานหนักบ้าง หรือทนทำในเวลาที่มันยังไม่เสร็จ จะต้องทำให้มันเสร็จ ก็ต้องพยายามสู้ความลำบากตรากตรำอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็ต้องมีความอดทน ก็คือความเข้มแข็ง อดทนแบบที่หนึ่ง ทำให้ลุล่วงไปได้ อดทนแบบที่สองก็คือว่า อดทนต่อทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็คือความเจ็บปวดเมื่อยล้าทางร่างกาย อย่างเจ็บไข้ คนที่มีความอดทนก็คือถ้าบอกให้อดทนไปตามเหตุผล ก็หมายความว่าเราไม่วู่วาม ไม่โวยวาย แล้วก็รักษาแก้ไขปัญหาไปตามเหตุผล ไม่ใช่ทิ้งไว้ ถ้าทิ้งไว้ท่านก็เรียกว่าประมาท แต่มันก็ต้องทำ แต่ว่าไม่ใช่วู่วามโวยวาย ก็กลายเป็นว่าทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยไม่สมควร คนอดทนก็จะมีลักษณะอย่างนี้ เข้มแข็ง ทนได้ ให้ทนต่อทุกขเวทนา บางทีเจ็บเมื่อยล้าอะไรต่ออะไร มันก็ต้องทน ต่อไปก็ทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ สิ่งกระทบกระทั่ง เช่น ถ้อยคำวาจากิริยาของผู้อื่น อย่าว่าแต่คนอื่นเลย คนอยู่ใกล้ชิดกันที่สุด คู่ครองกันนี่ก็มีเรื่องกระทบกระทั่งได้ คนหนึ่งพูดมา อาจจะไม่ได้ตั้งใจเลย นึกไม่ถึงว่าไปกระทบใจอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการเคลื่อนไหวกิริยาอาการก็กระทบได้ ทีนี้ถ้าหากว่าเราไม่มีความอดทน มันก็เกิดเรื่อง ก็เรียกว่าวู่วามไปตามอารมณ์ อันนั้นก็ต้องแก้ไขโดยที่ว่ามีตัวนี้ตัวความอดทน มีความอดทนเข้มแข็ง ทนทานได้ ตั้งรับได้ก่อน ไม่เอาอารมณ์ขึ้นมาเป็นใหญ่ แล้วให้ใช้ปัญญาข้อที่สองมาแก้ไขปรับปรุง เพื่อจะให้เรื่องสงบเรียบร้อยลงไปด้วยดี อันนี้เป็นเรื่องของขันติ ความอดทนก็ต้องใช้มากตลอด
ต่อไปก็ข้อที่สี่- จาคะ แปลว่าความเสียสละ แต่เราพูดในเชิงบวกว่าความมีน้ำใจ พอพูดว่าเสียสละนี่ความรู้สึกเชิงลบ บางทีก็รู้สึกเหมือนว่าต้องเสีย แต่ถ้าพูดในทางบวกมันเป็นน้ำใจ อย่างคู่ครองมีข้อนี้เป็นยังไง ถ้าพูดในแง่เสียสละ เช่นว่าพร้อมที่จะเสียสละความสุขของตนเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ อย่างนี้เรียกว่าเสียสละแล้ว อย่างบางทีอีกฝ่ายหนึ่งเขามีธุระมีเรื่องที่จะต้องให้เราช่วยเหลือ ถ้าเราตามใจตัวเองเราอาจจะเอาแต่ความสุขของตัวเอง แล้วก็ไม่ร่วมมือ แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีน้ำใจ เราก็พร้อมจะเสียสละความสุขของตัวเองให้อีกฝ่านหนึ่ง อยากเห็นเขาเป็นสุขนั่นเอง คือตัวนี้มันก็มากับความรักที่แท้ ความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข พอนึกว่าอยากให้เขาเป็นสุขนะ มันก็ทำเพื่อเขาได้เพราะอยากให้เขาเป็นสุข แต่ว่าถ้าหาว่ามีแต่ความรักแบบว่าฉันเป็นสุข ฉันไม่อยากทำให้คุณหรอก ก็ต้องเสียสละไม่ได้ ก็ไม่มีน้ำใจ ทีนี้ถ้าเรามีตัวนี้เป็นหลักยืนอยู่ ก็คือความอยากให้เขาเป็นสุขเนี่ย มันลืมที่จะคิดถึงความสุขของตัวเอง เพราะความสุขของตัวเองเหมือนกับไปฝากไว้กับอีกฝ่ายหนึ่ง อยากให้เขาเป็นสุข เราก็ต้องรอว่าให้เขาเป็นสุขแล้วเราจึงเป็นสุขด้วย ใช่ไหม พออยากให้เขาเป็นสุข เราต้องทำให้เขาเป็นสุข แล้วเราจึงสุขด้วย แล้วเราก็พร้อมที่จะทำเพื่อเขา วันนี้เขาอาจจะเจ็บไข้ แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ มานอนเฝ้า เราก็ต้องยอมอดหลับอดนอน ก็เสียความสุขของเรา แต่ถ้าเราอยากให้เขาเป็นสุข เราก็ทำได้ เพราะเราอยากเห็นเขาเป็นสุข เราฝากความสุขไว้กับเขานี่ รอให้เขาเป็นสุขเมื่อไหร่ เราก็สุขด้วย อย่างนี้มันก็หมดปัญหา เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เรียกว่า จาคะ คือความเสียสละ ก็ได้แก่การที่ยอมเสียสละความสุขของตนเพื่ออีกฝ่ายหนึ่ง หรือเพื่อความสุขของเขา คนที่คิดอย่างนี้แล้วก็มีน้ำใจ อีกฝ่ายหนึ่งจะมีความซาบซึ้ง แล้วก็จะทำให้เกิดความสดชื่น ไม่แห้งแล้ง ไม่มัวแย่งความสุขกัน ฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่าอันนี้เราเรียกว่าน้ำใจ ความมีน้ำใจ อยากให้เขาเป็นสุข ยอมให้แก่เขาได้ อย่างพ่อแม่ก็เสียสละเพื่อลูก แม้แต่ตัวเอง อย่างได้ขนมมา ตอนเด็กเล็กๆ ลูกขอเอาหมด แม่ต้องยอมอดทั้งหมดเลย แล้วก็อยากให้ลูกเป็นสุข ก็ยอมได้ ให้ลูกทั้งหมดเลย ลูกอยากกินหมดก็ให้เขากินไป ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรักแบบที่ว่าอยากให้ลูกเป็นสุขเนี่ย พ่อแม่ก็ทำไม่ได้ ก็เอาแต่แค่สิทธิ ถ้าเธอมีสิทธิเท่านี้ฉันทำให้แค่นี้นะ เกินสิทธิฉันไม่เอา แกไปฟ้องเอา ว่างั้นเถอะ ลูกก็ต้องมาจดกัน ถ้าเอาแต่สิทธินี่ก็ต้องคอยจดกันแหละ ฝ่ายนั้นเขามีสิทธิแค่ไหน เรามีสิทธิแค่ไหน อย่าล้ำกันนะ อย่างนี้ชีวิตอย่างนี้แย่ ใช่ไหม ฉะนั้นก็อย่าเอาแค่นั้นเลย ต้องมีเรื่องตัวคุณธรรม มีเมตตา มีความรักความปรารถนาดีอย่างที่ว่า
อันนี้คุณธรรม 4 อย่าง ก็ขอทวนอีกครั้งหนึ่ง ก็คือหนึ่ง-สัจจะ ความจริง จริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน ทางวาจา ทำจริงตามที่พูด สอง-มีทมะ การรู้จักปรับตัวและปรับปรุงตน แล้วก็พัฒนาธรรมให้เจริญก้าวหน้างอกงามขึ้น แล้วก็สาม-ขันติ ความอดทน หมายถึงความเข้มแข็งทนทาน ที่จะรับสถานการณ์ต่างๆ แล้วก็ที่จะบุกฝ่าไปเพื่อความเจริญงอกงาม คือคำนึงถึงจุดหมาย เรื่องจุกจิกไม่เก็บเป็นสาระ ถ้าคนที่ไม่มีตัวนี้แล้วก็เก็บเรื่องเล็กเรื่องน้อยมาวุ่นวายไปหมด แต่คนที่เขามีใจอยู่กับจุดหมายเนี่ย เขาทำอะไรไม่เกี่ยวกับจุดหมาย จุกจิกๆ เขาไม่ถือเป็นอารมณ์ มันก็ทำงานได้สำเร็จ แล้วก็อย่างที่ว่า จาคะ ความมีน้ำใจ ยอมเสียสละความสุขของตัวเองเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ เมื่อมีคุณธรรม 4 อย่างนี้ท่านเรียกว่ามี ฆราวาสธรรม คือธรรมะสำหรับการครองเรือน ที่จะทำให้ชีวิตครองเรือนมีความเจริญมั่นคงและมีความสุข นอกจากว่ามีความสุขในครอบครัวแล้วก็จะแผ่ความสุขไปให้แก่สังคม มีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ เพราะว่าเรามองว่าครอบครัวไม่ใช่แค่เพียงชีวิตของคนภายใน เพียงแต่สามีภรรยาเท่านั้น แล้วก็ไม่ใช่รวมทั้งลูกเท่านั้น แต่ว่าครอบครัวนี้เป็นสังคมย่อยๆ หรือเป็นรากฐาน เป็นฐานของสังคม สังคมต่างๆ ก็มาจากครอบครัว ฉะนั้นถ้าหากว่าครอบครัวดีแล้ว สังคมก็ดี ฉะนั้นถ้ามองในแง่นี้ ครอบครัวสำคัญมาก เราต้องการให้สังคมประเทศชาติของเราเจริญมั่นคง มีความร่มเย็นเป็นสุข ก็ทำได้โดยทำครอบครัวแต่ละครอบครัวนี้ให้ดี เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเน้นนักเรื่องหน้าที่ของพ่อบ้านแม่บ้าน โดยเฉพาะเมื่อเป็นบิดามารดา เพราะว่าเป็นผู้ที่จะสร้างโลก พรหมวิหารนี่ก็คือธรรมประจำใจของพระพรหม พระพรหมศาสนาพราหมณ์เขาถือว่าเป็นผู้สร้างโลก แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ต้องไปรอพระพรหมที่ไหนพระเจ้าสร้างโลกหรอก คนนี่แหละเป็นผู้สร้างโลก โดยเฉพาะคนที่สำคัญก็คือ บิดามารดาเป็นผู้สร้างโลก เพราะโลกจะเป็นยังไงเริ่มที่สร้างครอบครัวให้ดี ถ้าสร้างครอบครัวดีแล้ว เราจะได้สังคมที่ดี แล้วโลกนี้จะร่มเย็นเป็นสุข โลกของมนุษย์ก็คือสังคมมนุษย์นี่เอง โลกมนุษย์ สังคมมนุษย์ ก็เกิดจากการสร้างของมนุษย์ มนุษย์ที่ดีก็จะสร้างโลกที่ดี สร้างสังคมที่ดี สังคมที่ดีก็มาจากครอบครัวที่ดี เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็ต้องมองอันนี้ด้วย ว่าเริ่มชีวิตครอบครัว เริ่มชีวิตสมรสก็คือเริ่มอันนี้ เริ่มความรับผิดชอบต่อสังคมที่สำคัญคือการที่จะต้องสร้างครอบครัวที่ดีงามมีความสุขความมั่นคงขึ้นให้ได้ ก็เหมือนกับว่ามันท้าทายเราอยู่ในบัดนี้แล้ว เพราะว่าทั้งสองคนจะต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ก็จึงได้บอกว่า การสมรสนี้ไม่ใช่เป็นการมามีชีวิตคู่ครองเท่านั้น แต่หมายถึงการได้มาร่วมกำลังกันในการทำการสร้างสรรค์ สร้างสังคมเป็นต้น หรือมีจุดหมายที่ดีงามอื่นๆ มาร่วม มีกำลังร่วมกันมาทำ อย่างนี้แล้วจิตใจของเราจะมองกว้างและมองไกล ไม่ใช่มองกันอยู่แค่ชีวิต 2 คน ใครจะได้ยังไง ใครจะเสียยังไง อย่างนี้มันเป็นเรื่องปลีกย่อย อย่ามัวคิดเลย เราทำไงสองคนนี่จะมารวมกำลังกันทำการสร้างสรรค์ มีจุดหมายที่ดี เพื่อชีวิตเพื่อสังคม เรามองไปข้างหน้า แล้วมารวมกำลังกันสร้างสรรค์ ในระหว่างนี้เราก็พัฒนาชีวิตของเราไป เพราะชีวิตของมนุษย์นั้น ทางพระท่านถือว่าชีวิตคือการศึกษา เพราะคนเรานี่มีชีวิตอยู่ ทำไมชีวิตจึงคือการศึกษา เราจะมีชีวิตอยู่ได้เราต้องพบเห็นประสบการณ์ใหม่ ตาเราก็เห็นสิ่งใหม่ หูเราก็ได้ยินสิ่งใหม่ เราเดินไปเจอสิ่งใหม่ ไปสถานที่ใหม่ พบสถานการณ์ใหม่ ชีวิตของคนเราก็อย่างนี้ พอเราเห็นสิ่งใหม่ เจอสถานการณ์ใหม่ เป็นไง เราก็ต้องคิดหาทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้น เราต้องเรียนรู้มัน ต้องปฏิบัติต่อมัน แก้ไขปัญหา ปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อให้เดินไปด้วยดี การทำอย่างนี้เรียกว่าการศึกษาทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นชีวิตที่เราเป็นอยู่ได้เนี่ย ต้องศึกษาตลอดเวลา แล้วชีวิตของเราที่ดีก็ประเสริฐได้ก็ด้วยการศึกษา หรือการฝึกนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีคติมาตลอด เราพูดกันมาในสังคมไทยว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ว่าคำพูดของเรานี่เป็นคำพูดที่พูดง่ายๆ เราตัดข้อความที่สำคัญอันหนึ่งทิ้งไป คือคำเต็มนั้นว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ มนุษย์นี่ไม่ใช่สัตว์ที่อยู่ดีๆ ประเสริฐหรอก ทางพระท่านไม่ได้ยอมให้เป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์ที่ไม่ฝึก แย่ที่สุด มนุษย์ที่ไม่มีการฝึกเป็นสัตว์ที่แย่ที่สุด กว่าสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้น มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก อันนี้เป็นหลักของศาสนา เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธพจน์ว่า ทัน-โต-เสด-โถ-มา-นุด-เส-สุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ฝึกแล้วจึงประเสริฐ ฝึกก็คือศึกษา ได้พัฒนาชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้น มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์ที่ว่าถ้าไม่ฝึกไม่ศึกษาแล้วอยู่ไม่รอด ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นที่อยู่ได้ด้วยสัญชาติญาณ มนุษย์เราเอาดีได้ด้วยการฝึก ด้วยการศึกษาเรียนรู้ แม้แต่จะนั่งจะยืนจะเดิน รับประทานอาหาร มนุษย์ต้องเรียนทั้งนั้น ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น ฉะนั้นมนุษย์นี้ฝึกได้ แล้วต้องฝึก เมื่อเราอยู่ไป เราฝึกเราก็สามารถเป็นสัตว์ที่ประเสริฐจริงๆ เป็นมหาบุรุษก็ได้ เป็นนักประดิษฐ์ค้นคว้า เป็นอะไรก็ได้ เป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้ ถ้าฝึกดี เพราะฉะนั้นมนุษย์จะได้แค่ไหน อยู่ที่การฝึกตัวเอง เพราะฉะนั้นการมีชีวิตคู่ครอง ครอบครัวนี้ เป็นชีวิตที่เรารับผิดชอบตัวเอง แล้วเป็นเวลาส่วนสำคัญที่จะฝึกฝนพัฒนาชีวิตตัวเอง ฉะนั้นก็ต้องมองเรื่องของการแต่งงานนี้ ไม่ใช่อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไม่ใช่แค่การมีชีวิตคู่ครอง หมายถึงการมารวมกำลังกันทำการสร้างสรรค์ ตั้งจุดหมายอะไรก็ตามขึ้น แล้วก็มารวมกำลังกันทำสิ่งนั้น ใจของเราก็จะมองกว้างและมองไกลออกไป แล้วเราจะไม่ถือสาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วเราก็มีคุณธรรม คือความรักที่มีต่อกัน ที่อยากให้กันมีสุข แล้วต่อไปก็ขยายไปอยากให้คนอื่นเป็นสุข อยากให้เพื่อนมนุษย์ อยากให้คนทั้งโลกเป็นสุข เราทำแม้กระทั่งเพื่อโลก เพื่อมนุษย์ทั้งหมด แล้วก็ใช้ครอบครัวนั้นเป็นโอกาส หรือจะว่าเป็นสนามฝึกก็ได้นะ สนามฝึกในการพัฒนาตัวเอง ให้ชีวิตของเราดีงาม เมื่อชีวิตของเราดีงาม ฝึกตัวเองขึ้นไป เราก็ยิ่งทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำการสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้มันก็เอื้อต่อกัน นี่ก็เป็นเรื่องของคุณธรรม รวมแล้วก็มาอยู่ที่หลักฆราวาสธรรม 4 การที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ควรจะประพฤติปฏิบัติให้ได้ ก็ขอลงท้ายด้วยการเปรียบเทียบอีกครั้งหนึ่งว่าเปรียบเทียบการแต่งงานนี้ เหมือนกับ 2 คนนี้มาร่วมกันปลูกต้นไม้ ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้มงคลสมรส ซึ่งเราปลูก เราก็แน่นอนต้องมุ่งหมายให้ต้นไม้นี้เจริญเติบโตงอกงาม ทีนี้คุณสมบัติของต้นไม้ที่ดีที่จะเจริญงอกงามอันนี้มี 4 อย่าง
ข้อที่หนึ่ง- ก็คือมีรากแก้วที่แข็งแรง ที่จะให้ต้นไม้ดำรงอยู่ได้ ก็ต้องมีรากแก้วแข็งแรง อันนี้ข้อที่หนึ่ง ท่านเปรียบกับ สัจจะ ความจริง นั่นเอง ถ้าหากว่าขาดสัจจะ ขาดตัวความจริง เริ่มจากความจริงใจแล้ว ง่อนแง่น อะไรต่ออะไรโลเล มันเดินหน้าไปไม่ได้
ต่อไปข้อที่สอง- ก็คือต้นไม้นี้มีศักยภาพแห่งความเจริญงอกงามที่จะเจริญขึ้นไปจนกระทั่งเต็มสมบูรณ์ เป็นต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ อันนี้เรียกว่าธรรมะนั่นเอง มีศักยภาพในการเจริญงอกงาม ความรู้จักความสามารถในการปรับตัว แล้วปรับปรุงพัฒนาตนเอง
แล้วสาม- ก็มีความแข็งแรงทนทาน ที่จะอยู่ได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อม บางทีมันไม่เอื้อ เช่น อากาศร้อน อากาศเย็น แม้กระทั่งลมพายุ ลมมรสุม แล้วก็มีพวกพืชพวกสัตว์มากัดมาแทะอะไรต่างๆ เหล่านี้ หนอนมาไชบ้างอะไรบ้าง เพลี้ย อันนี้ก็ต้องมีขันติ ความแข็งแรงทนทาน อันนี้ข้อที่สามคือขันติ ก็ต้องมีคุณสมบัติอันนี้ สู้ได้หมด มรสุมอะไรต่างๆ มา มรสุมสังคม ชีวิตมา ต้องสู้ได้ ความเข้มแข็ง
แล้วก็สี่- มีน้ำหล่อเลี้ยงบริบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้สดชื่นแข็งแรง เขียวขจี ใบพรั่งพร้อม เขียว มีดอก มีผล สะพรั่ง ซึ่งเป็นความสมบูรณ์ของต้นไม้ อันนี้ก็จะทำให้เกิดผลดีแก่ต้นไม้เอง ต้นไม้ก็สมบูรณ์ แล้วคนอื่นมาเห็นก็พลอยสบายใจด้วย คนอื่นเดินมาเห็นต้นไม้ต้นนี้ ใบเขียวสะพรั่ง ดอกก็สวยงาม ผลก็มี เขาก็ชื่นใจ คนเห็นก็สดชื่น เหมือนครอบครัวที่มีความสุข คนอื่นเห็นก็พลอยสบายใจไปด้วย แล้วยังได้อาศัยอีกด้วย ต้นไม้นี้แข็งแรงใบสะพรั่งดี คนเดินมาเหนื่อย ร้อนแดด ก็ได้เข้ามานั่งในร่มไม้อาศัย แล้วยังมีดอกให้ชื่นชม แล้วยังมีผลให้ได้กินแก้หิวด้วย เกิดว่าเขาหิวขึ้นมาก็ได้อาศัยผลไม้นี้กินอีก ก็เผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่น แก่สังคม นี่แหละต้นไม้ที่เจริญงอกงาม ข้อที่สี่-ก็คือ จาคะ ความมีน้ำใจ ความรู้จักเสียสละ เห็นแก่ความสุขของผู้อื่น เห็นแก่คู่ครอง และแก่เพื่อนมนุษย์ อันนี้ก็จะเป็นต้นไม้ที่ดีที่สมบูรณ์ เป็นอุดมคติ เราก็มาแต่งงานก็คือเริ่มปลูกต้นไม้ต้นนี้ เราจะต้องพยายามดูแลรักษาและบำรุงให้ต้นไม้ต้นนี้เจริญงอกงาม มีคุณสมบัติ 4 ประการนี้ให้ได้ ต่อไปต้นไม้นี้ก็อย่างที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดี ว่าจะได้ช่วยให้เกิดความสุขในครอบครัว และแผ่ความสุขไปให้ผู้อื่นในสังคม ก็อย่างดีทีเดียว
วันนี้ก็ขออวยชัยให้พรแก่คุณภิญญาแล้วก็คุณคริสเตียน ในโอกาสมงคลนี้ ต้องขอมอบเอาธรรมะที่พระพุทธเจ้าให้เป็นธรรมมงคล ว่าเรามาประกอบพิธีมงคลแล้วก็ขอให้ได้ครบทั้งสองอย่าง ให้ได้ทั้งพิธีมงคลและธรรมมงคล แล้วตัวเองก็จะรู้สึกว่าวันนี้เราได้ทำการมงคลครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่าธรรมมงคลนี้ไม่ใช่เฉพาะหน้า เป็นสิ่งที่จะต้องทำตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นธรรมมงคลเนี่ย ไม่จบแค่วันนี้ พิธีมงคลจบ ก็อยู่ในความระลึกความทรงจำ แล้วก็เป็นตัวกระตุ้นเตือนว่าเราจะต้องสร้างธรรมมงคลต่างๆ ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ อาตมาในนามของพระสงฆ์ ก็ขอร่วมตั้งจิตประกอบด้วยเมตตา ร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ของคู่บ่าวสาว แล้วก็ท่านผู้ใหญ่ญาติมิตร ผู้หวังดีปรารถนาดีทุกท่าน อวยชัยให้พรแด่คุณภิญญาแล้วก็คุณคริสเตียน ก็ขอให้คุณพระรัตนตรัยอภิบาลรักษาให้ทั้งสองเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกายกำลังใจ กำลังปัญญา กำลังความสามัคคี ที่จะดำเนินชีวิตทำกิจการงานต่างๆ ให้ก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งหมาย มีชีวิตที่อบอุ่น ผาสุก มั่นคง ยั่งยืน พรั่งพร้อมด้วยธรรมะทั้ง 4 ประการ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แล้วเป็นส่วนที่จะเผื่อแผ่ความสุข ความร่มเย็นให้แก่สังคมนี้กว้างขวางออกไป ก็ขอให้มีความเจริญวัฒนา ในสรรพมิ่งมงคลทั้งหลาย ยังประโยชน์แก่ชีวิตของตน ของครอบครัว ของสังคม และหมู่มนุษย์ทั้งหมด ให้สำเร็จและมีความเจริญเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ