แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร วันนี้รายการที่บอกคุณโยม--โยมคุณหญิงไว้ว่าจะเรียกชื่อว่า “เล่าเรื่องให้โยมฟัง” คือ อาตมภาพมาปรารภนึกกับตัวเองว่า ตามปกติเมื่อฉันแล้ว โยมถวายภัตตาหารแล้วก็อนุโมทนา บางคราวก็มีกล่าวธรรมกถาด้วย แต่ว่าทั้งนี้ก็เป็นไปตามโอกาส มาคราวนี้โยมก็ได้อุปถัมภ์ในเรื่องสถานที่ แล้วก็ภัตตาหารในการที่จะทำงาน ให้ปลีกตัวมาจากวัดในขณะที่มีการก่อสร้าง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สถานที่ในวัดไม่เป็นสัปปายะ โยมก็ขวนขวายเพื่อให้ได้มีสัปปายะในการที่จะทำกิจพระศาสนา อาตมภาพก็มานึกว่า ในเมื่อโยมถวายภัตตาหารแต่ละวัน ๆ แล้วนี่ บางทีก็ไม่ได้กล่าวธรรมกถาเป็นประจำ ก็มานึกว่า ถ้าหากว่าจะมีการพูดธรรมะอะไรบางอย่างแบบง่าย ๆ กันเองสบาย ๆ ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นในทางธรรมะ
และก็มานึกถึงว่าตอนนี้กำลังทำงานเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะอยู่ โดยเฉพาะก็เรื่อง พุทธธรรม ถ้าหากว่าเอาเนื้อความที่เขียนอธิบายใน พุทธธรรม นั้น มาเล่าให้โยมฟังไปด้วยก็คงจะเป็นประโยชน์ คืองานก็ได้ด้วย แล้วเอามาเล่าให้โยมฟังเป็นระยะ ๆ ก็จะเป็นประโยชน์ในการที่จะได้เรียนรู้ธรรมไปด้วย แต่ว่าเรื่องสำหรับวันนี้ รู้สึกว่าจะหนักสักหน่อย คืออาตมภาพเขียน พุทธธรรม ไว้ ค้างถึงตอนว่าด้วยเรื่องไตรลักษณ์ ทีนี้ ในไตรลักษณ์นั้นก็มีกล่าวถึงคำว่า สังขาร คือไตรลักษณ์นั้นข้อที่ 1 บอกว่า “สัพเพสังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” ข้อที่ 2 ก็ “สัพเพสังขารา ทุกขา--สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์” และข้อที่ 3 ว่า “สัพเพธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา”
มาถึงคำว่า “สังขาร” ซึ่งเป็นคำเริ่มต้นที่บางทีก็เกิดความสับสน เพราะว่าญาติโยมเคยได้ยินในขันธ์ 5 ก็มีกล่าวถึงคำว่า “สังขาร” เหมือนกัน บางท่านก็เข้าใจเป็นว่า สังขารที่บอกในไตรลักษณ์ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” กับในขันธ์ 5 ที่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอันเดียวกัน ทีนี้ก็เกิดความสับสน ในหนังสือ พุทธธรรม ถึงตอนนี้ ก็เลยจะเขียนอธิบายไว้ให้ทราบว่าต่างกัน แล้วก็ต่างกันอย่างไรด้วย แล้วก็เขียนค้างไว้เท่านั้น ยังไม่จบ ก็มาติดงานเรื่องพจนานุกรมฯ เพราะฉะนั้น งานเขียน พุทธธรรม ก็เลยค้างเป็นเวลานาน เวลานี้ก็งานพจนานุกรมฯ ก็ถึงตอนที่กล่าวได้ว่าเสร็จสิ้น ก็เลยหันกลับมาเขียนเรื่อง พุทธธรรม ต่อ แล้วก็มาต่อเรื่องสังขารในขันธ์ 5 ต่างจากสังขารในไตรลักษณ์อย่างไร ก็จบที่นี่เอง เมื่อวานนี้ ก็เลยเอาเรื่องนี้มาเล่าให้โยมฟัง
อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วบอกว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” อันนี้เป็นสังขารที่กล่าวถึงในหลักไตรลักษณ์ ทีนี้ ที่กล่าวในขันธ์ 5 ก็มีคำว่าสังขาร คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ บางแห่งในพุทธพจน์บอกว่า “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง”
คำว่า”สังขารไม่เที่ยง” กับตัว”สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” ก็จะเกิดมาสับสนกัน เพราะฉะนั้น ตอนนี้จะต้องทำความเข้าใจให้ชัด ถ้าเข้าใจความต่างกันระหว่างสังขารในขันธ์ 5 กับสังขารในไตรลักษณ์แล้ว ก็จะช่วยให้ศึกษาธรรมได้สะดวกขึ้นอีกมาก จะไม่มีความสับสน
ทีนี้ จะเข้าใจได้อย่างไร ก่อนจะเข้าใจเรื่องนี้อาตมภาพ ขอย้อนกลับไปถึงคำว่า “ธรรมะ” ก่อน คำว่า “ธรรมะ” เป็นคำกลาง ๆ เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุดในพระพุทธศาสนา “ธรรมะ” แปลว่าอะไร “ธรรมะ” เป็นคำที่แปลยากที่สุด เราแปลกันว่าความดี ซึ่งก็ไม่พอ เพราะว่าบางทีเรามีคำว่า “กุศลธรรม”--ธรรมที่เป็นกุศล “อกุศลธรรม”--ธรรมที่เป็นอกุศล แสดงว่าธรรมที่ไม่ดีก็มี เพราะฉะนั้น จะแปล “ธรรมะ” ว่าความดีนี่ไม่ครบถ้วน เพราะธรรมที่ไม่ดีก็มีเหมือนกัน แล้วยังมี “อัพยากตธรรมา”--ธรรมที่เป็นอพยากฤต คือธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เพราะฉะนั้น ธรรมะมีทั้งดี ทั้งไม่ดี และก็ทั้งที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ไม่ดี
ก็หมายความว่า “ธรรมะ” เป็นคำที่กว้างที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างไม่พ้นคำว่าธรรมะ ในภาษาไทย บางทีเราจะหาคำที่ใกล้ที่สุดได้ก็คือคำว่า “สิ่ง” แต่ว่า “สิ่ง” ในภาษาไทย ก็ยังมองไปเป็นวัตถุเสียมาก บางทีก็แปลว่า “สภาวะ” ฉะนั้น คำที่จะแปลในภาษาไทยใกล้ ก็แปลว่า“สิ่ง”บ้าง “สภาวะ” บ้าง “สภาวะ” ที่จริงก็มาจากบาลีอีกนั่นแหละ รวมความว่า “ธรรมะ” นี่กว้างที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ จะกว้างอย่างไรก็แบ่งธรรมะออกไป เช่นว่า แบ่งธรรมะเป็น 2 อย่าง เป็นรูปธรรม กับอรูปธรรม รูปธรรมก็ธรรมะที่เป็นรูป หรือธรรมะที่มีรูป อย่างวัตถุสิ่งของ ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ก็เป็นรูปธรรม หรือร่างกายของเราก็เป็นรูปธรรม
อีกอย่างหนึ่งก็คือ อรูปธรรมหรือนามธรรม อรูปหรือนาม บางทีก็ใช้แทนกันได้ นามธรรมก็เช่นเรื่องจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ความดี ความชั่ว พวกนี้เป็นนามธรรม ในโลกนี้ไม่มีอะไรเกิน 2 อย่างนี้ คือไม่เป็นรูปธรรมก็ต้องเป็นนามธรรม ถ้าไม่เป็นนามธรรมก็เป็นรูปธรรม สองอย่างนี้ก็คือธรรมะนั่นเอง นี่ก็เป็นการแบ่งอย่างหนึ่ง
แต่ทีนี้บางทีท่านแบ่งอีกอย่างหนึ่ง ท่านแบ่งธรรมะเป็น 2 อย่าง บอกว่าเป็น 1) สังขตธรรม แปลว่าธรรมะที่ถูกปรุงแต่ง หรือเกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น และ 2) อสังขตธรรม แปลว่าธรรมะที่ไม่ถูกปรุงแต่ง หรือไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง
อย่างที่หนึ่ง สังขตธรรม แปลว่าธรรมะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง หรือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้จัก มันเกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทั้งนั้น จะเป็นร่างกายของเราก็ดี จิตใจของเราก็ดี วัตถุต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ทุกอย่างเกิดจากปัจจัยปรุงแต่งทั้งนั้น เรียกว่าเป็นสังขตธรรม มีอย่างเดียวที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ท่านเรียกเป็นอสังขตธรรม ธรรมะที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง หรือไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่พระนิพพาน เพราะฉะนั้นมีอสังขตธรรมอยู่อย่างเดียวคือพระนิพพาน นอกจากนิพพานแล้วเป็นสังขตธรรมทั้งสิ้น สังขตธรรมกับอสังขตธรรมรวมทั้ง ๒ อย่างก็เรียกอย่างเดียวกันว่า “ธรรมะ” ทีนี้คำว่า “สังขตธรรม” นั้น ท่านบอกว่าเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สังขาร” เพราะฉะนั้น คำว่า “สังขาร” กับ “สังขตธรรม” เป็นคำเดียวกัน มีความหมายเท่ากัน คำว่า “สังขาร” จึงแปลว่า สิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง หรือจะเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สังขตธรรม” สังขารที่ท่านพูดถึงในไตรลักษณ์ว่า “สัพเพสังขารา อนิจจา—สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” “สังขาร” ในที่นี้ก็คือสังขตธรรม หรือสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ที่ท่านบอกว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” ก็หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้จัก ที่เราเห็น เราได้ยิน เราได้ทราบถึง ทุกอย่างรวมอยู่ในคำว่า “สังขาร” คือสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งทั้งสิ้น เป็นอันว่า “สังขาร” ในไตรลักษณ์ มีความหมายกว้างที่สุด
ทีนี้ก็ย้อนมาถึง “สังขาร” ในขันธ์ 5 ท่านแบ่งว่าชีวิตของเราประกอบด้วยขันธ์ 5 อย่าง “ขันธ์” แปลว่ากอง คือชีวิตของเรานี้แบ่งเป็นองค์ประกอบย่อย ๆ เหมือนกับว่ามีส่วนประกอบอยู่ 5 ส่วน เรียกว่า “ขันธ์” แปลว่ากองของส่วนประกอบ 5 กอง
ห้ากองนี้มีอะไรบ้าง ก็มี 1) กองรูปคือ รูปขันธ์ เรียกสั้น ๆ ว่า “รูป” ได้แก่ ร่างกาย สิ่งที่มองเห็นได้ หรือสิ่งที่ว่ามีรูปมีร่าง 2) เวทนา แปลว่าความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ 3) สัญญา ความจำได้ หมายรู้ 4) สังขาร – “สังขาร” นี่เป็นศัพท์ที่ซ้ำกันในไตรลักษณ์ สังขาร ได้แก่ ความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ และ 5) วิญญาณ กองวิญญาณ หรือวิญญาณขันธ์ กองแห่งวิญญาณก็ความรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดนี้เรียกว่าขันธ์ 5
ขันธ์ 5 นี้ถ้าย่อลงก็มี 2 ส่วน คือรูปขันธ์ ส่วนรูปก็เป็นรูป เป็นรูปธรรรม ส่วนที่เหลือจากนั้นคือเวทนา สัญญา สังขารและ วิญญาณ เป็นนามธรรม จะเห็นว่าสังขารในขันธ์ ๕ อยู่ในส่วนที่เรียกว่านามธรรม กล่าวคือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดนี้เป็นนามธรรม สังขารก็เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งในสี่อย่างนั้น พอพูดอย่างนี้ก็จะเห็นชัดว่า สังขารในขันธ์ 5 นั้นมีความหมายแคบเหลือเกิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งในนามธรรมเท่านั้น เมื่อกี้ อาตมภาพพูดถึงสังขารในไตรลักษณ์ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรูปธรรมนามธรรมไม่มีอะไรนอกเหนือจากสังขาร ทีนี้พอมาถึงในขันธ์ 5 สังขารนี้เป็นเพียงนามธรรมอย่างหนึ่งในสี่อย่าง แล้วก็ไม่ใช่รูปธรรมด้วย เพราะรูปธรรมก็มีต่างหากแล้ว เพราะฉะนั้นสังขารในขันธ์ 5 นี่แคบ
ทีนี้จะต้องขยายความหมายอีก ทำไมท่านถึงเรียกว่า “สังขาร” ทำไมชื่อจึงไปซ้ำกับในไตรลักษณ์ สังขารในขันธ์ 5 ก็แปลว่าปรุงแต่งเหมือนกัน แต่เมื่อกี้นี้สังขารในไตรลักษณ์อาตมาแปลว่าสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนสังขารในขันธ์ 5 แปลว่าสภาพที่ปรุงแต่งจิตใจ หรือสิ่งที่ปรุงแต่งจิตใจให้ดีให้ชั่ว ก็ได้แก่ คุณสมบัติของจิตใจนั่นเอง เช่น ความชั่ว ได้แก่โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น พวกนี้ก็เป็นความชั่ว ก็ปรุงแต่งจิตให้ชั่ว หรือฝ่ายที่ดีก็มีเช่น มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีปัญญา มีศรัทธา มีสติ เป็นต้น พวกนี้เป็นฝ่ายดีก็ปรุงแต่งจิตให้ดี พวกนี้เป็นเครื่องปรุงแต่ง เพราะเหตุที่มันปรุงแต่งจิตใจให้ดีให้ชั่ว ตลอดจนกระทั่งให้เป็นกลาง ๆ มันจึงเรียกว่าสังขาร มันแปลว่าปรุงแต่งเหมือนกัน แต่มันแปลคนละความหมาย มันเป็นสภาพที่มาปรุงแต่งจิตใจให้ดีให้ชั่ว เมื่อปรุงแต่งจิตของเราแล้วมันก็ปรุงแต่งการกระทำของเราด้วย เรากระทำอะไรออกมา เป็นสิ่งที่ดี เรียกว่าทำดี ทำสิ่งที่ไม่ดี เราเรียกทำชั่ว ไอ้ที่จะดีจะชั่วก็เพราะว่ามีเจ้าพวกนี้มาปรุงแต่ง ปรุงแต่งจิตใจและปรุงแต่งการกระทำของเราให้มันดีมันชั่ว พวกสิ่งที่ปรุงแต่งอันนี้เรียกว่า “สังขาร” เพราะฉะนั้น สังขารในขันธ์ 5 คือนามธรรมที่มาปรุงแต่งจิตใจของเรา ตลอดจนการกระทำ หรือกรรมของเราให้ดีให้ชั่ว ให้เป็นกุศล ให้เป็นอกุศล นี่เรียกว่าเป็นสังขาร เพราะฉะนั้น อันนี้อาตมภาพก็เป็นอันว่าสรุปได้ สังขารในขันธ์ 5 ที่เราแปลว่าสภาพ หรือคุณสมบัติที่ปรุงแต่งจิตใจให้ดี ให้ชั่วเป็นต้นนี่ เราแปลกันง่าย ๆ ว่า “ความคิดปรุงแต่ง” เป็นเรื่องของความคิด เป็นเรื่องของจิตใจ ที่เราพูดว่าความคิดปรุงแต่ง ศัพท์พระเรียกว่า ”สังขาร” แต่ที่บอกว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” พูดกว้าง ๆ อย่างนั้นล่ะก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งวัตถุทั้งจิตใจทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม
เพราะฉะนั้น ก็จะต้องแยกกันให้ถูกเรื่องสองด้านเนี่ย คำว่า”สังขาร”ที่อยู่ในขันธ์ 5 กับ “สังขาร”ที่อยู่ในไตรลักษณ์ เมื่อเวลาอธิบายธรรมแล้ว ก็ต้องแยกให้ถูกว่าในกรณีนี้ท่านพูดถึงสังขารตัวไหน พูดถึง “สังขาร” ที่แปลว่าสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งอย่างที่พูดในไตรลักษณ์ หรือว่าท่านพูดถึง “สังขาร ที่แปลว่าสภาพที่ปรุงแต่งจิตใจให้ดีให้ชั่ว หรือความคิดปรุงแต่งอย่างที่อยู่ในขันธ์ 5
ถ้าแยกอย่างนี้ถูกล่ะก็ เวลาฟังธรรมะก็จะเข้าใจชัดเจน อาตมภาพก็เลยนำเรื่องที่ได้เขียนใน พุทธธรรม ตอนเฉพาะตอนนี้มาเล่าให้โยมฟัง ก็อาจจะเป็นหลักวิชามากไปหน่อย เพราะเรื่องนี้เป็นหลักวิชาแท้ๆเลย บทก่อนใน พุทธธรรม นี่เขียนเรื่องขันธ์ 5 ไปแล้ว ก็มี “สังขาร” มา พอถึงบทไตรลักษณ์ก็มี “สังขาร” อีก ก็เกรงว่าท่านผู้อ่านจะงง ก็เลยต้องมาอธิบายว่าต่างกันยังไง
เป็นอันว่า “สังขาร” ในขันธ์ 5 มีความหมายแคบ เป็นนามธรรมเท่านั้น เป็นเรื่องของจิตใจเท่านั้น เป็นเรื่องของคุณสมบัติที่ปรุงแต่งจิตใจให้ดีให้ชั่ว หรือเรียกง่ายๆว่าความคิดปรุงแต่ง ส่วน “สังขาร” ในไตรลักษณ์ที่บอกว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” นั้น เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อย่างนั้นเราเรียกว่า สังขารในไตรลักษณ์ และสังขารในขันธ์ 5 นั้นก็เป็นสังขารในไตรลักษณ์ด้วย เพราะเป็นเพียงส่วนย่อยนิดหนึ่ง เพราะว่าขันธ์ 5 ทั้งหมดนั้นน่ะเป็นสังขาร ขันธ์ 5 จะเป็นรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี ทั้งหมดนั่นแหละเป็นสังขารในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น เพราะว่าขันธ์ 5 นั้นก็ไม่เที่ยง เราพูดว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” แล้วที่จริงขันธ์ 5 ทั้งหมดก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ขันธ์ 5 ก็เป็นสังขารในไตรลักษณ์นั่นเอง
พอแยกอย่างนี้เราก็เห็นชัด อ๋อ มันมีสังขารอันย่อยอันหนึ่งอยู่ในขันธ์ ๕ เป็นนามธรรม เป็นตัวปรุงแต่งจิตใจให้ดีให้ชั่ว เป็นหนึ่งในห้าส่วน และทั้งห้าส่วนนี้ก็มาเป็นสังขารในไตรลักษณ์ พอเข้าใจอย่างนี้ก็ชัดเจน เรารู้เรื่องนี้ไว้ 1) ก็เพื่อศึกษาธรรมะจะได้เข้าใจง่าย 2) ก็รู้เรื่องสังขารนี้ไว้เพื่อความรู้เท่าทัน จะได้ปฏิบัติต่อโลก และชีวิตได้ถูกต้อง อันนี้เป็นประโยชน์ของการรู้เข้าใจเรื่องสังขาร พอรู้เรื่องสังขารแล้ว สังขารอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ชีวิตของเรา แล้วก็อยู่ที่โลกที่แวดล้อมเรา เรารู้ว่าสังขารมันเป็นยังไง ถ้าอยู่ในจิตใจนี้เป็นภาพปรุงแต่งจิตใจให้ดีให้ชั่ว เราก็รู้ เพื่อเราจะได้ทำแต่สิ่งที่ดีงาม หรือปรุงแต่งจิตในทางที่ดี หรือว่าจะให้ดีที่สุดก็พ้นจากการปรุงแต่ง ถ้ารู้สังขารในโลกภายนอกทั้งปวง หรือสังขารอย่างความหมายในไตรลักษณ์ เมื่อรู้เท่าทันแล้วจิตใจจะได้พ้นจากอุปาทาน ถ้าจะปฏิบัติถึงที่สุดรู้เท่าทันแล้ว ก็ทำให้พ้นจากความยึดติดถือมั่น ถ้าเข้าใจเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็จะต้องอธิบายว่า ที่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงนั้น” เป็นอย่างไร ที่ว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์” เป็นอย่างไร แล้ว “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” เป็นอย่างไร ซึ่งก็จะเป็นข้อที่จะต้องนำไปเขียนใน พุทธธรรม ต่อไป อาตมาภาพก็ขออนุโมทนานำเรื่องมาเล่าให้โยมฟังสำหรับวันนี้เพียงเท่านี้ก่อน