แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นี้เอาเป็นว่าสมาธิใจอยู่กะสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการแน่วแน่เนี่ย ท่านใช้อิทธิบาทมาเป็นตัวธรรม ถ้าใจเราใฝ่รักปรารถนาจะทำเรื่องอะไรแล้ว อย่างเด็กชอบวิชานี้ ชอบหนังสือนี้อยากอ่านมีหวังใจเป็นสมาธิง่าย แต่ถ้าใจเค้าไม่ชอบเนี่ยสมาธิเกิดยาก นั้นฉันทะก็ทำให้เกิดสมาธิ
ทีนี้ วิริยะ ความเพียร ใจสู้ เห็นสิ่งนั้นท้าทาย อย่างบางคนเนี่ยชอบสิ่งที่ท้าทาย เห็นสิ่งที่ท้าทายอยากจะทำให้สำเร็จ จะเอาชนะให้ได้ ใจมันจะจ่อ แล้วก็เกิดสมาธิ อันนี้เรียกว่าใช้ วิริยะ
นี้ต่อไปข้อที่ ๓ ใช้จิตตะ ก็อย่างที่ว่า เช่นว่า กู้ระเบิด สิ่งนั้นมีความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นความตาย จะทำให้เกิดจิตตะง่าย ก็สมาธิก็มาเหมือนกัน
แล้วคนสุดท้าย วิมังสา ก็คือว่า ชอบทดลอง อยากรู้ว่าทำไง เป็นยังไง คอยตรวจตรา คอยสอบสวน ชอบคิดค้นคว้าอะไรต่างๆเหล่านี้ ความคิดที่ใช้ปัญญาไตร่ตรองเนี่ย มันทำให้จิตแน่วแน่ได้ จิตที่จะอยู่กะสิ่งนั้นก็จะได้ผลขึ้นมา
เพราะฉะนั้น อิทธิบาท๔ นี่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นข้อสำคัญที่จะทำให้ เมื่อกี้พูดไปถึงเรื่องของอิทธิบาท๔ เป็นตัวทำให้เกิดสมาธิ ฉะนั้น ถ้าเรามีอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ ข้อนี้ มีฉันทะก็ตาม มีวิริยะก็ตาม จิตตะก็ตาม วิมังสาก็ตาม จะเป็นตัวช่วยให้เกิดสมาธิได้ง่าย พระพุทธเจ้า ก็จึงตรัส สมาธิที่เกิดจากอิทธิบาท๔ เรียกตามตัวธรรมะที่เป็นปัจจัยให้เกิด
สมาธิที่เกิดจากอิทธิบาทข้อฉันทะ ก็เรียกว่า ฉันทะสมาธิ สมาธิที่เกิดจากฉันทะ
สมาธิที่เกิดจากวิริยะ ก็เรียกว่า วิริยะสมาธิ
สมาธิที่เกิดจากจิตตะ ก็เรียกว่า จิตตะสมาธิ
สมาธิที่เกิดจากวิมังสา เรียกว่า วิมังสาสมาธิ
อันนี้ก็เป็นความสัมพันธ์ในเรื่อง องค์ธรรมะ ซึ่งมันจะหนุนกัน เอาละอาตมาก็ผ่านไปก่อน เป็นอันว่าอิทธิบาท๔ ก็จบละ
ทีนี้ต่อไปอะไรล่ะ อินทรีย์๕ แล้วก็ พละ๕ ให้สังเกตว่า ธรรมะสองหมวดนี้ องค์ธรรมนั้น ชื่อเดียวกันหมด อินทรีย์๕ มีอะไรบ้าง มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วพละ๕ มีอะไรบ้าง ก็มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน ชื่อตรงกัน อ้าวแล้วทำไมมาซ้ำกันล่ะ แล้วไปเรียกชื่อแยกทำไม ท่านก็อธิบาย อินทรีย์แปลว่าอะไร อินทรีย์แปลว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตนของตน แปลเป็นไทยง่ายๆ แปลว่า เจ้าการ หมายความว่า เป็นเจ้าของเรื่องใดเรื่องนั้น ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในเรื่องนั้น นี่เรียกว่า อินทรีย์
อินทรีย์ ก็มี ศรัทธา ความเชื่อ ก็เป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ของมัน ในการกำจัดธรรมะที่เป็นปฏิปักษ์ แล้วก็ วิริยะ ก็เป็นธรรมะเจ้าการเป็นใหญ่ในหน้าที่ของมันในการทำงาน สติก็ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในเรื่องของมัน สมาธิก็เป็นใหญ่ในเรื่องของมัน ปัญญาก็เป็นใหญ่ในเรื่องของมัน แต่ละอย่างเป็นฝ่ายรุกออกไปทำการกำจัดอกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์
ทีนี้พอทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นพละ เป็นกำลัง เป็นพลังที่จะรักษาตัวให้ยืนหยัดอยู่ได้ อกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ ไม่สามารถเข้ามาครอบงำ โจมตี รุกได้ เรามีพลังยืนหยัด ตั้งตัวอยู่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็น พละ
เพราะฉะนั้น ธรรมะชุดเดียวกัน ๕ ข้อ
ถ้าทำหน้าที่ ในฝ่ายรุก ออกไปกำจัดศัตรู ออกไปกำจัดปฏิปักษ์อธรรม เรียกว่าอินทรีย์
ถ้าทำหน้าที่ฝ่ายรับ ยืนหยัดอยู่ได้ ต้านทานได้ ไม่ให้ฝ่ายปฏิปักษ์ ธรรมะที่เป็นอกุศลเข้ามาโจมตีได้ เรียกว่าเป็นพละ
ตกลงว่าธรรมะชุดเดียวกัน เรียกชื่อ ๒ อย่าง แยกโดยการทำหน้าที่ ทำหน้าที่เป็นใหญ่ เจ้าการในการกำจัดปฏิปักษ์อธรรมเป็นอินทรีย์ ทำหน้าที่เป็นพลังในการต้านทานยืนหยัดให้อกุศลธรรมเข้ามาครอบงำไม่ได้ เรียกว่า พละ เอาล่ะ เริ่มเข้าใจ
ทีนี้ก็มาดูแต่ละข้อ อธิบายไปพร้อมกัน นี้ ๑ ศรัทธา ความเชื่อ เชื่อในอะไรล่ะ สำหรับพุทธศาสนิกชนก็ต้องมีศรัทธาในรัตนตรัย แต่ศรัทธาพระรัตนตรัยนี้โยงไปหาอะไร ไปหากุศลธรรมทั้งหมด กุศลธรรมทั้งหลายนี้ก็คือ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และตรัสรู้แล้วก็สอนกุศลธรรม ตรัสรู้ด้วยการปฏิบัติตามกุศลธรรม แล้วก็ตัวธรรมะนั้นเอง เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง คือ เจริญกุศลธรรมจึงจะบรรลุผลได้ อะไรอย่างนี้เป็นต้น นั้นพระรัตนตรัยก็โยงมาหากุศลธรรม เมื่อเราเชื่อในพระรัตนตรัย เราก็เชื่อในกุศลธรรม มันแน่นอน มันโยงกันอยู่ เมื่อเชื่อในกุศลธรรมก็จะเอาจริงในกุศลธรรม เราก็จะเชื่อ มั่นใจในปฏิปทาในข้อปฏิบัติที่จะเจริญกุศลธรรมนี้ พอเรามีความเชื่อ ความมั่นใจในกุศลธรรม เราก็มีฐานมั่นคงในการที่จะปฏิบัติ ถ้าเราไม่เชื่อซะอย่างเดียวแล้วมันก็หมดแรงเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นศรัทธาต้องสำคัญ ศรัทธามีขึ้นมาก็เดินหน้าได้เลย ศรัทธานี้ทำให้เกิดกำลัง ศรัทธานี่สำคัญมาก โยมมีศรัทธา ถ้าศรัทธายิ่งแรงเท่าไรก็ยิ่งมีกำลังมากเท่านั้น อย่างเรามีศรัทธาใน สมมติว่าจะไปไหนไปทำบุญซักแห่งโยมมีศรัทธา ถ้ามีศรัทธามาก ไกลถึงข้ามน้ำข้ามทะเลก็ไป ไปเชียงใหม่ก็ไปได้ ไปจังหวัดไหนก็ไปได้ แต่ถ้าหมดศรัทธา วัดนั้นอยู่ข้างบ้านโยมก็ไม่ไป ไปไม่ไหว ฉะนั้นศรัทธานี่สำคัญมาก ถ้าหมดศรัทธาเมื่อไร ก็หมดแรงเมื่อนั้น
นี้ศรัทธาก็เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้คนทำได้ทุกอย่าง และศรัทธานี้ผิดก็ร้ายแรงถึงกะคนรบราฆ่าฟัน เราจะเห็นว่าคนที่เชื่อในศาสนา บางทีเชื่อผิดๆ กลายเป็นว่า ศรัทธาทำให้เกิดความรุนแรง รบราฆ่าฟันกันก็ได้ ฉะนั้นศรัทธาในทางพุทธศาสนา ท่านจึงให้มีปัญญาประกอบ แล้วก็ศรัทธาในกุศลธรรม มั่นใจในข้อปฏิบัติที่ดี เพื่อเราจะได้เดินหน้าไปได้ ตกลงว่า
๑ ต้องมีศรัทธาละ ศรัทธาในพระรัตนตรัย โยงไปหากุศลธรรม โยงไปหาการปฏิบัติ พอโยมมีศรัทธาก็มีกำลังมุ่งแล่นมุ่งหน้าไปในการปฏิบัติเต็มที่
ที่นี้ ๒ พอมีศรัทธาแล้ว อ้าวต่อไปมีอะไร มีวิริยะ วิริยะก็ความเพียร เมื่อกี้อธิบายไปแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องอธิบายอีก มันซ้ำชื่อ
ต่อไป ๓ สติ สติแปลว่า ความระลึก คือ จิตจับอยู่ กำหนดอยู่ ตรึงอยู่กะสิ่งนั้นที่ต้องการจะกำหนดพิจารณา อันนี้เดี๋ยวจะอธิบายอีกทีหนึ่งถ้ามีเวลา ว่าสตินี้เป็นองค์ธรรมที่มีความหมายอย่างไร ถ้าจะให้ชัดต้องไปอธิบายโดยสัมพันธ์กะสมาธิและปัญญา ถ้าอธิบายโดยเทียบกะสมาธิและปัญญาแล้วโยมจะเห็นชัด อธิบายแยกบางทียังไม่ชัดเท่า ก็สติก็เป็นตัวที่ระลึกนึกไว้ จับอารมณ์ไว้ ซึ่งจะทำให้เราทำงานกะสิ่งนั้นได้ ถ้าสติไม่จับสิ่งนั้นไว้ มันเลื่อนลอยหายไป ทำอะไรมันไม่ได้ ก็เอาง่ายๆกันแค่นี้ก่อน สติ
ทีนี้ก็ต่อไป สมาธิ สมาธิก็เป็นตัวใจแน่วใจอยู่กะสิ่งนั้น ที่บอกเมื่อกี้ ใจอยู่กะสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ ไม่ไปไหนละ อยู่ที่เลย
แล้วก็ ปัญญา ปัญญาก็ตัวความรู้ ความรู้ตามเป็นจริง รู้สภาวะ รู้เข้าใจสิ่งนั้นๆ รู้สิ่งที่ตนกำหนดที่พิจารณาอยู่ ก็มี ๕ ข้อเนี่ย เรียกว่าเป็นพละ๕ก็ได้ อินทรีย์๕ก็ได้
ถ้าเป็นอินทรีย์๕ เวลาปฏิบัติเนี่ยมีหลักการสำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องอินทรีย์ ๕ ก็คือ ท่านเรียกว่าต้องปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ เรียกว่า (อิน ทรี ยะ สะ มัต ตา) ความสม่ำเสมอแห่งอินทรีย์ หมายความว่า อินทรีย์๕ เนี่ย มันมีธรรมะที่เป็นคู่กันอยู่ ว่า ศรัทธาตัวแรก แล้วลงท้ายอะไร ปัญญา สองตัวนี้คู่กัน ตัวแรกกะตัวท้ายนี่ได้คู่หนึ่ง สองตัวนี้ต้องปรับให้พอดี ถ้าไม่พอดีแล้วเกิดปัญหา ฉะนั้นเวลาปฏิบัตินี่เค้าบอกว่าต้องคอยปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ ศรัทธาแรงไปก็จะงมงายต้องมีปัญญาคอยปรับไว้ ปัญญาก็จะรักษาคอยคุมให้ศรัทธาพอดี ไม่งมงาย ให้มีเหตุมีผล ให้เชื่อในแนวทางที่ถูกต้อง เดินหน้าไปได้ไม่พลาด ถ้าหากไม่มีปัญญาคุมศรัทธางมงายอาจจะพลาดไปเลย เชื่อออกนอกลู่นอกราวไป เขว
ทีนี้ปัญญาถ้าไม่มีศรัทธาคุม ปัญญาจับจด หมายความว่า อันนั้นก็รู้ อันนี้ก็รู้ จะรู้อันโน้นอันนี้ แต่รู้ไม่จริงซักอัน จับไม่ได้เรื่อง ฉะนั้นพอมีศรัทธาแล้ว ปัญญามีเป้า พอเรามีศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปัญญาความรู้ของเรามีจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนา เราก็อยากจะฟังต่อ ถ้าเราอันนี้ก็รู้แล้ว รู้นิดหน่อยแล้วก็ไปเรื่องอื่น ไปหาเรื่องอื่นต่อ ไม่ได้เรื่อง พอมีศรัทธาก็อยากจะฟังต่อ พิจารณาต่อ ศึกษาต่อ ค้นคว้าต่อ ปัญญาก็พัฒนาเพิ่มพูน ปัญญาก็มีจุด มีเป้า มีทางที่ชัดเจน ฉะนั้นก็ปัญญาก็พัฒนาได้อาศัยศรัทธามาช่วยด้วย ศรัทธา ปัญญานี่ต้องคู่กัน ต้องปรับให้มา ???เหมือนกัน พอดีๆกัน
ทีนี้คู่ที่สอง ก็วิริยะ ข้อที่๔คือ สมาธิ วิริยะความเพียร ถ้าความเพียรนี้จะเดินหน้าเรื่อยไป เอาแต่จะเดินหน้าไปเรื่อย เพราะฉะนั้นเกินไปไม่มีตัวมาช่วยมันจะฟุ้ง ดีไม่ดีก็จะกลายเป็นคล้ายๆกระสับกระส่วยกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข เป็นไปได้ท่าเดียวไปเรื่อย ทีนี้ตรงข้ามสมาธิ สมาธินั้นอยู่นิ่ง อยู่กะที่เลย จิตแน่วแน่คือสติที่กำหนด สมาธิอยู่เลย พออยู่แล้วสบาย ท่านบอกว่าสมาธินี่มีโทษเหมือนกันถ้าไม่ระวัง โทษของมันคืออะไร คือ (โสต โผฏ ฐัพ พะ) แปลว่า ความคิดผิด โทษของสมาธิมี(โสต โผฏ ฐัพ พะ) พอใจหยุดสงบแล้ว สงบมันก็สบาย พอสบายก็ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากทำอะไรหมดความเพียรเลย ตรงข้ามกับความเพียร ฉะนั้นท่านเลยเอาวิริยะมาช่วย วิริยะก็หนุนให้เดินหน้า สมาธิก็พอจะอยู่ ถ้าสองตัวนี้มาด้วยกันก็เลยพอดี นี้ถ้าวิริยะอย่างเดียวเกินไปก็แล่นเรื่อยไป ทีนี้สมาธิก็ไม่ไปไหน หยุดกะที่ สองอันก็ไปแล้วพอดีๆ ไปอย่างมีหลัก ไปอย่างที่ว่าแน่วแน่มั่นคง ก้าวไปไม่ต้องไปนับ เพราะว่า ก้าวอย่างมั่นคง เรียกว่า มีวิริยะกะสมาธิ
ส่วน สติ นั้นต้องใช้ตลอดเวลา อยู่ตรงกลาง สตินี้จะตรวจดูว่า อันไหนต่ออันไหนเกินไป ศรัทธาพอดีมั้ยมากไปมั้ย หรือว่า ปัญญามากไปมั้ยพอดีมั้ย แล้วก็มาปรับให้พอดี สติเป็นตัวระวังคอยตรวจ สติทำหน้าที่ตรวจแล้วก็มาบอกให้ปรับให้พอดี ตกลงว่านี่คือ เรื่องอินทรีย์๕ และก็พละ๕ ก็พูดไปแล้ว ต่อไปก็ โพชฌงค์๗
โพชฌงค์๗ อะไรล่ะทีนี้ แปลว่า องค์ธรรมของผู้จะตรัสรู้ หรือ องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ มี ๗ ข้อ ตอนนี้วันนี้คงจะได้เฉพาะหัวข้อล่ะ แต่ว่าจะพยายามพูดให้ได้เรื่องที่ควรจะทราบ เรื่องโพธิปักขิยธรรมเท่าที่เป็นไปได้ นี้โพชฌงค์๗ มีอะไรบ้าง ก็มี
๑ สติ สติก็คือความระลึก เอามาเป็นตัวแรกเลย ตอนนี้สติมาเป็นตัวแรก แต่ว่าไม่ใช่สติอย่างเดียวอย่างในสติปัฏฐาน ทีนี้สติมาเริ่ม
และต่อมาตามด้วย ธัมมวิจยะ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ให้เราเห็นลำดับ เช่นว่า ภิกษุไปอยู่ในที่สงัด ระลึกถึงธรรมะที่ได้เล่าเรียนมา เช่นได้สดับจากองค์พระศาสดา ระลึกขึ้นมาตอนนี้เรียกว่า สติ ระลึกถึงธรรมะที่เราเล่าเรียนมา อันนี้เป็นสติ แล้วก็พิจารณาไตร่ตรองธรรมะนั้น พอสติดึงออกมาแล้ว ปัญญาก็พิจารณา ปัญญาที่พิจารณาธรรมะนี้เรียกว่า ธัมมวิจยะ เรียกเป็นไทยว่า ธรรมวิจัย แปลว่า เฟ้นธรรม วิจัย แปลว่า เฟ้น บางทีเราแปลกันว่า เลือกเฟ้น เฟ้นนี่น่าจะแรงกว่า เลือกเฟ้น นะโยม เฟ้นน่ะ ขอให้นึกกันดูก็แล้วกัน ความหมายศัพท์มันแน่นอยู่แล้ว เฟ้นธรรม โยมก็ธรรมะอันนี้มีความหมายเป็นยังไง มันมีความสัมพันธ์กะข้ออื่นอย่างไร ในกรณีอย่างนี้จะต้องใช้ธรรมะข้อไหน ธรรมะปฏิปักษ์อันนี้เกิดขึ้น อกุศลอันนี้จะใช้ธรรมะอันไหนมาแก้ไข อะไรอย่างนี้เป็นต้น ในสถานการณ์ของเราขณะนี้ เรายังขาดข้อไหน เฟ้นธรรม นี่ธัมมวิจยะ ต้องใช้ปัญญา เพราะฉะนั้น ธัมมวิจยะเป็นชื่อหนึ่งของปัญญานั่นเอง ก็เป็นอันว่า สติระลึกธรรมะมาแล้ว ก็ธัมมวิจยะก็เฟ้นธรรม ก็ใช้ปัญญาพิจารณา
นี้พิจารณาไปแล้วทำไง ธรรมมี ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ ๓. วิริยะ ต้องมีความเพียรด้วย พอเฟ้นธรรมเห็นเข้าใจดีขึ้น มีความเพียร ถ้าไม่เพียรไม่ก้าวหน้า การเฟ้นธรรมไตร่ตรองมันจะเกิดปัญญา มันต้องค้นคว้า ต้องสืบต้องสวน ไตร่ตรองพิจารณาต้องใช้ความเพียรไปด้วย เพราะฉะนั้นวิริยะมาในโพชฌงค์เป็นข้อที่ ๓ มีความเพียรก้าวหน้าไป
ต่อไปพอมีความเพียรก้าวหน้า ยิ่งไตร่ตรองธรรม ยิ่งเฟ้นธรรม พิจารณา ยิ่งเห็นความจริง ยิ่งเกิดความเข้าใจ ยิ่งเดินหน้าไป เกิด ปีติ อิ่มใจ ล่ะทีนี้ ปีติ อิ่มใจ พอปีติ แสดงว่า เดินหน้าได้ผลละ ตอนนี้สภาพจิตจะดี ปีติ อิ่มใจ ปลื้มใจ ในการที่ได้เห็น ได้เข้าใจธรรมะ ได้ก้าวหน้าไป
พอปีติอิ่มใจแล้วจะเกิด ปัสสัทธิ กายใจจะสงบเย็น ผ่อนคลาย สบาย เป็นข้อที่ ๕ ละ
พอปัสสัทธิแล้ว ทีนี้สมาธิก็เกิด จิตก็ตั้งมั่นแน่วแน่ พอเกิดสมาธิแล้วพิจารณาธรรมะทุกอย่าง เห็นเข้าใจดี ทุกอย่างลงตัวพอดี จิตลงอุเบกขา อุเบกขานี่จิตเป็นไง สภาพจิตเป็นไง สภาพจิตที่แปลกันง่ายๆ วางเฉย แต่ต้องระวังนะ เฉยนี่ พระพุทธเจ้าให้ระวัง เฉยมี ๑๐ อย่าง อุเบกขามี ๑๐ อย่าง
ทีนี้อย่างใหญ่ๆ เป็น ๒ ฝ่าย คือเป็นฝ่ายกุศล กะฝ่ายอกุศล แต่ที่เป็นกลางๆก็มี ทีนี้เอากุศลกะอกุศล อุเบกขาเฉยที่เป็นอกุศลนี้ต้องระวังมาก คือ เฉยโง่ เฉยไม่รู้ เฉยโดยไม่มีปัญญา ไม่รู้แล้วก็เลยเฉย อย่างนี้ท่านเรียกว่า “อัญญานุเบกขา” โง่ เสีย ต้องระวัง เป็นโทษ ฉะนั้นเฉยนี่ต้องเฉยด้วยปัญญา ในโพชฌงค์จะเห็นว่ามี ธัมมวิจยะ เป็นตัวกำกับอยู่แล้ว เฉยนี่ต้องเกิดจากปัญญาที่ไตร่ตรองรู้เข้าใจธรรมะ จนทุกอย่าง จิตจะอยู่ตัว แน่วหมดแล้ว แล้วจิตมันเป็นอุเบกขาเนี่ย คือ จิตที่ลงตัว อยู่ตัว เรียบสนิท
อาตมาจะเทียบให้ฟัง บางทีโยมจะเข้าใจเรื่องอุเบกขาชัดขึ้น อุเบกขาคือสภาพที่จิตมันลงตัว ทุกอย่างมันเข้าที่หมดแล้ว สภาพจิตนี้หาได้ยาก ดีอย่างยิ่งเลย ถ้าใครไม่รู้แล้วเข้าใจผิด นึกว่าวางเฉยมันจะไปดีอะไรล่ะจิตคนวางเฉย อุปมาที่ท่านให้ไว้อันหนึ่งนี้โยมอาจจะมองเห็น สภาพจิตที่เป็นอุเบกขา เปรียบเหมือน สารถี แต่ก่อนนี้ขับรถม้า สารถีผู้ชำนาญขับรถม้า เขาบังคับม้าให้วิ่งเข้าสู่ทาง ตอนแรกเขาก็จะต้องยุ่งนิดหน่อย ต้องใช้แส้หรือดึงบังเหียนหรืออะไรต่างๆให้ม้ามันวิ่งเข้ามาบนถนน แล้วให้มันวิ่ง ๑.วิ่งเข้าทิศเข้าทางพอดี ๒.ความเร็วพอดี พอว่ามันวิ่งเข้าทางดีแล้ว ความเร็วพอดีแล้ว สารถีตอนนี้นั่งนิ่งเลย แต่สารถีนั้นต้องหมายถึง ผู้ชำนาญนะ คือ รู้เจนจบเรื่องการขับรถ พอทุกอย่างลงตัว ม้าวิ่งได้ความเร็วดีตรงทิศทางดีแล้ว สารถีผู้เชี่ยวชาญผู้นี้มีปัญญารู้อยู่ ถ้าม้าวิ่งผิดความเร็ว ออกนอกทางเนี่ยแกแก้ได้ทันทีนะ แกไม่มีความหวาดหวั่นกระวนกระวาย ไม่มีความกลัวไรๆ จิตของสารถีที่ว่า ม้าวิ่งพอดีทุกอย่างลงตัวแล้ว เรียบสนิท อย่างนี้ ภาวะจิตนี้เรียกว่า อุเบกขา ถ้าคนที่ยังไม่มีความรู้จัดเจน ลองไปขับรถใหม่ๆเนี่ย ใจไม่นิ่งไม่สงบ หวั่นหวาด กลัวอะไรต่างๆเนี่ย อาจจะลุกลี้ลุกลน มันไม่อยู่ตัว ไม่เข้าที่
ฉะนั้น สภาพจิตที่เป็นอุเบกขา คือว่า เป็นสภาพจิตที่เกิดจากปัญญา รู้ จัดเจน เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรจะเป็นยังไง จิตลงตัวกับเรื่องนั้น เข้าที่ทุกอย่าง สภาพที่ทุกอย่างลงตัวเข้าที่หมดแล้ว โดยมีปัญญารู้เจนจบหมด อย่างนี้เรียกว่า อุเบกขา โยมพอจะเห็นมั้ยโยม เป็นสภาพจิตที่เป็นยากสำหรับมนุษย์ปุถุชน อย่างพระอรหันต์นี่จิตของท่านจะอยู่ด้วยอุเบกขาเป็นปกติ เพราะอะไร เพราะว่าท่านมีปัญญาที่รู้เข้าใจสังขาร รู้เข้าใจโลกชีวิตนี้ตามความเป็นจริง จนกระทั่งวางจิตวางใจกับสังขาร กะโลก กะชีวิตนี้ได้ลงตัวหมดแล้ว คนเราปุถุชนนี่จิตมันยังไม่ลงตัวกะสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง มันยังความหวั่น ความหวาด ความระแวง ความขุ่น ความข้อง ความติดอะไรอยู่ไม่มากก็น้อยเนี่ย มัน อุเบกขาได้ยาก
นั้นอุเบกขาได้แค่ในพรหมวิหารก็ดีมากแล้ว นี้อุเบกขานี่ลงไปถึงในขนาดโพชฌงค์ อุเบกขาต่อธรรมะ อุเบกขาในพรหมวิหารคืออุเบกขาต่อบุคคล อุเบกขาในโพชฌงค์นี่อุเบกขาต่อธรรมเลย ทุกอย่างมันลงตัวหมดแล้ว ปัญญารู้เจนจบหมดแล้ว มันจึงลงอุเบกขา ปัญญาปรับสภาพจิตให้ลงอุเบกขาได้อย่างนี้
โยมก็ลองนึกอีกทีว่า เปรียบเหมือน สารถีผู้เจนจบเชี่ยวชาญในการขับรถ เมื่อรถนั้นวิ่งเข้าที่สนิททุกอย่างลงตัวพอดี จิตลงเรียบสงบ เย็นสนิท เป็น อุเบกขา ชีวิตของคนก็เช่นเดียวกันแหละ ชีวิตของคนที่ถึงสัจธรรมแล้ว เหมือนสารถีที่เจนจบ ชีวิตของเรา เราจะวางตัวกะโลก ชีวิตของเรายังไงซะ จิตมันลงตัวหมดแล้ว นั้นอุเบกขาเป็นจิตที่ไม่มีอะไรขุ่นมัวมารบกวนเลย สบาย เพราะฉะนั้นจะเสวยความสุขอะไรก็เสวยเต็มที่ นั้นอุเบกขาเป็นสภาพจิตปกติของพระอรหันต์ เวลาท่านจะเสวยฌาน ท่านก็เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร ท่านก็เข้าฌานเสวยความสุขเต็มที่ ไม่มีอะไรรบกวนเลย ไม่เหมือนจิตมนุษย์ปุถุชน จิตมนุษย์ปุถุชนนี่ เวลาจะเสวยสุขอะไรเนี่ยมีตัวกวน มีความหวั่น มีความหวาด มีความระแวง มีความกังวลอะไรต่างๆเนี่ย กวนอยู่ตลอดเวลา เสวยสุขนั้นไม่เต็มที่ ฉะนั้นแม้แต่ไปได้ฌาน ได้อะไรต่างๆเนี่ย มันไม่เป็น โลกุตระฌาน นั่นก็เสวยสุข สุขมีหลายระดับ เพราะฉะนั้นก็จิตของผู้ที่เป็นพระอรหันต์เนี่ย ท่านมาเสวยสุข เช่นเสวยสุขในระดับฌานได้ แต่ว่าจิตของท่านไม่เหมือนปุถุชน หมายความว่า จิตนั้นไม่มีอะไรมารบกวนแล้ว เสวยสุขอะไรก็เสวยเต็มที่เลย ไม่เหมือนจิตปุถุชนที่มีความขุ่นข้อง ขุ่นมัว ระแวงหวั่น อะไรกวนอยู่เรื่อยๆ เอาละอาตมาก็อธิบาย อุเบกขา พอให้โยมเห็นว่าเป็นสภาพจิตที่สำคัญ ก็จบแล้ว โพชฌงค์๗
ทีนี้ต่อไปก็มรรคมีองค์๘ มรรคมีองค์๘ ก็มี ข้อ ๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ ปัญญาเห็นชอบก็เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งเป็นหลักการของความเป็นจริงตามเหตุตามผล ด้วยเห็นในพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่าเห็นใน ปฏิจจสมุปบาท ก็เรื่องของหลักของความเป็นจริงความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย อธิบายได้หลายอย่าง สัมมาทิฏฐินี้ ท่านอธิบายได้หลายแง่ แม้กระทั่งเป็นโลกียสัมมาทิฏฐิ เป็นความเชื่อในเรื่องกรรม อย่างนี้ก็เป็นโลกียสัมมาทิฏฐิ
ทีนี้สัมมาทิฏฐิ เอาง่ายๆก็แล้วกัน หมายความว่า การเชื่อ ความเข้าใจ ในหลักแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน นี้มันเป็นเรื่องปัญญา พอเรามองสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยเราจะมีปัญญาเกิดทันที เวลาเรามองอะไรมองตามเหตุปัจจัย อ๋อ เหตุปัจจัยมันเป็นยังไง ก็สืบสวนดู ก็เกิดปัญญาขึ้น แล้วสัมมาทิฏฐิเป็นจุดตั้งต้น มันเป็นตัวปัญญาแล้วก็นำมาซึ่งปัญญาต่อ ทีนี้ไม่ไปเชื่องมงายในสิ่งที่ไม่มีเหตุมีผล ซึ่งพอไปเชื่อเข้า ทิฏฐิผิดนี่ เช่นว่า อะไรต่ออะไรมันก็เป็นไปเอง ไม่มีเหตุปัจจัย พออย่างนี้เราก็เลิกกันละ เป็นอันว่า ตัดไปเลยใช่มั้ย พอเราเชื่อว่า สิ่งนั้นไม่มีเหตุปัจจัย เลื่อนลอย แล้วแต่โชค อะไรทำนองเนี้ย เราก็ปล่อยละ เราไม่เอาเรื่องละ แต่ถ้าเราบอกว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยเนี่ย เราจะทำต่อ เราจะใช้ปัญญาพิจารณาสืบสาวเหตุปัจจัย แล้วปัญญาจะเจริญ แล้วเราก็จะมีทางปฏิบัติ หรือว่าเราเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามแล้วแต่เทพผู้เป็นใหญ่บันดาล อย่างเงี้ยมันก็หมดหน้าที่เรา เป็นเรื่องของเทพไป ใช่มั้ย เราไม่เกี่ยว แต่ว่าถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิเนี่ยมันจะเป็นทางให้เราเดินหน้าต่อ ว่าเราจะคิดพิจารณาอะไรต่อๆไป เกิดปัญญา
นี้สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวเริ่มต้นทำให้เรามีทางเดิน เนี่ยมีความเข้าใจถูกต้อง เป็นตัวเริ่มต้นมรรค ทำให้เกิดมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลาง ยกตัวอย่างยังไงล่ะ ปัญญาเห็นชอบแม้แต่เรื่องในชีวิตประจำวันเนี่ย ถ้าเรามีปัญญาเห็นชอบ มีสัมมาทิฏฐิ เข้าใจถูกต้องปั๊บเนี่ย การปฏิบัติของเราจะเกิดเป็น มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลางพอดีขึ้นมาทันทีเลย
อาตมายกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นว่า พระพุทธเจ้าตรัสหลัก โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค อ้าวทำไมจึงเป็น รู้จักประมาณในการบริโภค คือ รู้จักพอดีในการกิน บริโภคพอดี ก็เป็น มัชฌิมาปฏิปทา เกิดจากอะไร เกิดจากปัญญา สัมมาทิฏฐิ เพราะเห็นชอบว่ากินเพื่ออะไร ถ้าหากว่าเราเห็นผิดว่า กินนี่เพื่ออร่อย เพื่ออร่อยลิ้นนะ การกินนี่จะไม่พอดีเลย เชื่อมั้ย เวลากินเพื่ออร่อย อร่อยลิ้น ตราบใดที่อร่อยก็กินเข้าไปใช่มั้ย เกิดโทษต่อร่างกาย กินจนกระทั่งว่าลุกไม่ขึ้น กินจนอาหารไม่ย่อย แล้วกินสิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกายก็ได้ อร่อยก็กินเข้าไปใช่มั้ย บางทีสิ่งนั้นเป็นโทษ มีสารเคมี มีอะไรก็แล้วแต่ แล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์แต่มันไม่ค่อยอร่อยไม่ได้กิน ก็เลยร่างกายขาด บางคนนี่ กินตามอร่อย มีอาหารกินมาก ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สิ้นเปลืองเยอะ แต่เป็นโรคขาดอาหาร กินมากแต่เป็นโรคขาดอาหาร นี่เรียกว่า กินไม่เป็น เพราะว่าอะไร เพราะว่ามีความเห็นผิด ไม่รู้ว่าที่จริงเรากินเพื่ออะไร
พอเรามีปัญญารู้ถูกต้องเกิด สัมมาทิฏฐิ ว่ากินเพื่ออะไร โยมจะเห็นเลย พอถามเป็นโยนิโสมนสิการ ว่ากินเพื่ออะไรเนี่ย ถามไปถามมา เราจะรู้เลยใช่มั้ย เรากินเพื่อร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี นี่คือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการกิน พอเราจับได้เกิดความเข้าใจถูกต้องว่า กินเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดีแข็งแรง เท่านั้นแหละ คราวนี้ปรับพอดีหมด อ้าวกินอาหารนี่เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงนี่ กินแค่นี้พอแล้ว ปริมาณการกินก็จำกัด นี้อาหารอร่อยหรือไม่อร่อย มันไม่ใช่เป็นตัวตัดสิน ต้องตัดสินด้วยมีคุณค่าประโยชน์ ก็ดูว่าอาหารอันไหนกินแล้วจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดี เป็นคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ก็เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่เป็นโทษแม้จะอร่อยก็ไม่กิน อาหารที่เป็นคุณประโยชน์แม้จะไม่ค่อยอร่อยก็พยายามหามากิน เป็นปุถุชนแม้ยังมีกิเลส ก็รู้จัก รู้จักดำเนินชีวิตดีขึ้น ทั้งๆที่ยังอยากอร่อย ก็ยังเอาอาหารที่มีคุณค่ามาทำให้อร่อย ก็ยังดีขึ้น แต่ตกลงว่า พอเราเข้าใจว่า กินเพื่ออะไร เกิดความเข้าใจถูกต้อง เห็นถูกต้อง การกินก็พอดีใช่มั้ย ทำให้กินเป็นประโยชน์ เรียกว่าเป็น มัชฌิมาปฏิปทา รู้จักประมาณในการบริโภค เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐินี้เป็นตัวสำคัญ ปัญญาเห็นชอบ อ้าวทีนี้ต่อไป ต่อไปไม่อธิบายมากละ
ข้อที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ พอเราเข้าใจถูกต้อง การดำริในการกิน อย่างเช่น การกินใช่มั้ย เห็นว่าการกินเพื่อสุขภาพ การดำริจะกินอะไร มันก็เป็นไปตามความที่เข้าใจความเห็นนั้น สัมมาทิฏฐิก็ทำให้สัมมาสังกัปปะตามมา สัมมาสังกัปปะก็เป็นการดำริที่ถูกต้องตามสัมมาทิฏฐินั้น โดยไม่ไปทำเป็นการที่มุ่งจะบำรุงบำเรอตัว ไม่เป็นการเบียดเบียนคนอื่น ไม่ไปข่มเหงรังแกใคร อะไรทำนองนี้
ต่อมาก็ สัมมาวาจา เจรจาชอบ
แล้วก็ สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ เว้นปาณาติบาต เป็นต้น
แล้วก็ไป สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
จากสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะหมวดปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นหมวดศีล แล้วก็ต่อไปก็ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ สติชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ก็เป็นหมวดสมาธิ ก็จบมรรคมีองค์ ๘ ประการ นี้ไม่มีเวลาจะอธิบายรายละเอียดละ มรรคมีองค์๘ ก็จบ
อ้าวทีนี้ มีจุดที่ควรรู้พิเศษ เป็นอันว่า โพธิปักขิยธรรม นี่ครบ ๓๗ ข้อละ ๓๗ ข้อก็จริง แต่ว่าเอาองค์ธรรมแท้ๆเนี่ยมี ๑๔ ตัว โยมลองดูสิ เพราะมันซ้ำกันเยอะนี่ ซ้ำเราก็เอาตัวซ้ำออก เอาตัวซ้ำออกไปมาเหลือ ๑๔ ตัว มี ๑๔ ตัวมีอะไรบ้าง อาตมาจะลองไล่ให้ฟัง มี ๑. ฉันทะ ตัวสำคัญนะ เป็นตัวเริ่มต้น บอกแล้ว แล้วมี จิตตะ แล้วก็มีปีติ มีปัสสัทธิ มีอุเบกขา มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ๙ ตัวนี้มาตัวละครั้งเดียว ใน ๓๗ ข้อเนี่ย ๙ตัวนี้มาตัวละครั้ง
อ้าวทีนี้ต่อไป ตัวที่ ๑๐ คืออะไร ตัวที่ ๑๐. ศรัทธา ศรัทธามา ๒ ครั้ง ในอะไร ในอินทรีย์๕ ในพละ๕ ทีนี้ต่อไปศรัทธาแล้ว
ตัวต่อไปก็คือ สมาธิ สมาธินี้มา ๔ ครั้ง สมาธิ๔ครั้ง มาในอะไรบ้าง มาใน อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค
ต่อไปปัญญามา ๕ ครั้ง ก็เริ่มจากอิทธิบาท๔มาในวิมังสา แล้วก็มาใน อินทรีย์๕ พละ๕ โพชฌงค์๗ มรรค๘ จะเห็นว่าปัญญามา ๕ ครั้ง แล้วก็
ต่อไปก็ สติ มา ๘ ครั้ง เพราะมาในสติปัฏฐานทีเดียว ๔ เลย แล้วก็มาใน อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค
แล้วก็ วิริยะ มา ๙ ครั้ง วิริยะมามากที่สุด ความเพียร มาในอะไรบ้าง มาใน สัมมปธาน๔ แล้วก็มาใน อิทธิบาท และก็ในอินทรีย์๕ พละ๕ โพชฌงค์๗ มรรค๘ มา๙ครั้ง สำหรับวิริยะ
ตกลงว่ามีองค์ธรรม ๑๔ ข้อครบแล้วนะ ไล่อีกที มีฉันทะ มีจิตตะ ปีติ ปัสสัทธิ อุเบกขา สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ แล้วก็มี ศรัทธา แล้วก็มี สมาธิ มีปัญญา มีสติ วิริยะ นี่นับตามจำนวนที่เพิ่มขึ้น ที่ว่าตัวไหนมามากครั้งก็เลยเอาไปไว้ท้าย
ทีนี้ที่เป็น โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เนี่ยไม่ใช่ว่าปฏิบัติทีละอย่าง มันเป็นธรรมเกื้อหนุนกัน เวลาปฏิบัติจริงเนี่ยมันมาด้วยกันเลย มันมาหนุนกัน มาช่วยกัน สุดแต่ว่าเราจะใช้อันไหนเป็นตัวเด่น เช่นว่าเราปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน เอาสติปัฏฐานเป็นตัวเด่น มันไม่ใช่สติมาตัวเดียว ตัวอื่นมาหมด เราต้องมีศรัทธาเป็นฐานแล้วใช่มั้ย ฉันทะเราก็ต้องมีเป็นฐานอยู่แล้ว เป็นเรี่ยวแรง ฉันทะเป็นตัวแรง เสร็จแล้วไอ้ตัวที่ต้องมาตลอดเวลาในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ “อาตาปี สัมปชาโน สติมา” ทุกครั้ง ทุกตัว ทุกตอน พระพุทธเจ้าจะต้องตรัส ๓ อันนี้
อาตาปี คือ วิริยะ มีความเพียร
สัมปชาโน ก็คือ สัมปชัญญะ ได้แก่ ปัญญา
และสติมา ก็มีสติ
แสดงว่า ในสติปัฏฐาน๔ นี่ก็ไม่ใช่สติอย่างเดียว ตัวอื่นก็มา พลั่งด้วยกันนั่นแหละ ตัวหนุน แต่ตัวที่เด่นมาก สติเป็นตัวเด่นสุด เพราะเอาสติเป็นตัวนำ แล้วก็ตัวที่ต้องเป็นกำลังสำคัญก็มี วิริยะกับปัญญาสัมปชัญญะมา และตัวอื่นก็หนุนเข้าไป
หรือเราจะปฏิบัติตามแนวโพชฌงค์ โพชฌงค์ก็เริ่มด้วยสติระลึกธรรมะ แล้วก็เอาธัมมวิจยะ ปัญญามาไตร่ตรอง ปฏิบัติแนวใดก็ตามเนี่ย คือเอาธรรมะหมวดนั้นเป็นหลัก แล้วตัวอื่นก็หนุนเข้าไป ไม่ใช่ว่าปฏิบัติไปทีละอย่าง ตกลงว่าให้รู้ว่าทั้งหมดเนี่ยมันมาหนุนกัน
พอหนุนกัน พอไปถึงขณะแห่งมรรค หมายความว่า ขณะที่จะบรรลุธรรม สำเร็จอริยมรรคอริยผลเนี่ย ในขณะจิตเดียวเนี่ย องค์ธรรม ๓๗ ครบบริบูรณ์ ครบบริบูรณ์ทั้ง ๓๗ ในขณะแห่งมรรค นี้คือ ท่านเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ธรรมที่เกื้อหนุนต่อโพธิ ทำหน้าที่มาช่วยกันตลอดเวลาในระหว่างปฏิบัติ แล้วพอไปลงท้ายมันก็พร้อม ท่านเรียกว่า “ธรรมสามัคคี” ธรรมสามัคคี ท่านหมายความว่า ความพรั่งพร้อมแห่งธรรมะ องค์ธรรมะที่เกี่ยวข้องต้องมาทำหน้าที่ในกิจของตนสำเร็จบริบูรณ์ ก็เป็นขณะแห่งมรรคผล
นี้มีข้อธรรมะบางอย่างที่โยมควรจะเข้าใจ อาจจะใช้เวลาอีกนิดหน่อยเพื่อจะเรียนรู้เกี่ยวกะเรื่องของลักษณะธรรมะพวกนี้ เมื่อกี้อาตมาพูดถึงอะไร เรื่อง สติ สมาธิ ปัญญา ก็เอาซักนิดนึง ก็เอาว่าลักษณะขององค์ธรรมเหล่านี้ เพื่อโยมจะได้ชัดเจน เพราะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่เป็นธรรมะที่เป็นองค์ธรรมสำคัญอย่างยิ่ง แล้วบางทีก็ไม่ชัดว่าความหมายมันอย่างไร มันต่างกันอย่างไร
สติ คือ อะไร สติ เราแปลกันว่า นึกว่า ระลึก นึก ระลึกเนี่ยมันทำหน้าที่ยังไง ที่ว่านึกระลึกเนี่ยใช้ศัพท์เป็นรูปธรรมก็คือ ดึง ดึงตรึง แม้กระทั่งจับเอาไว้ ดึง หมายความว่ายังไง เรียกว่า ดึงอะไรไว้กะอะไร เวลาดึงเนี่ยมันต้องมีดึงอะไรไว้กะอะไร ดึงอะไร คือว่า จิตของคนเราเนี่ย เวลารับอารมณ์สิ่งที่ผ่านเข้ามา พอรับปั๊บมันแล้วก็ลอยไปหายไป บางอย่างมันก็ลงไปในความจำ พอลงไปความจำมันก็หายไป พอมาแล้วมันก็ไป มาแล้วก็ไป ไปเลยไปบ้าง ลงไปความจำบ้าง ทีนี้เราต้องการจะทำงานกะมัน สิ่งนั้นเราต้องการทำงานกะมัน เอาละ สิ่งที่เราจะทำงาน เช่นว่าจะพิจารณา ต้องอยู่ต่อหน้า ถ้าสิ่งนั้นไม่อยู่ต่อหน้าเราทำงานไม่ได้ ใช่มั้ย ทีนี้อารมณ์ผ่านเข้ามาแล้วมันก็ลอยไป เราต้องการจะทำงานกะอารมณ์เนี้ย จะพิจารณาเนี่ย สิ่งเห็นตาเห็น เห็นสิ่งนี้แล้วมันก็ผ่านไป
เราจะทำงานกะสิ่งนี้ทำไง ก็ต้องดึงมันไว้ จับมันไว้ การที่ดึงมันไว้ จับมันไว้ ไม่ยอมปล่อยให้หลุดหายไป นี้คือ สติ สติทำหน้าที่ จับ ดึง ตรึงไว้ กำกับไว้ให้อยู่ ให้อยู่อะไร ให้อยู่กะจิต ให้จิตอยู่กะสิ่งนั้น หรือให้สิ่งนั้นอยู่กะจิต ไอ้ตัวที่ดึงสิ่งนั้นไว้กะจิต นั่นเรียกว่า สติ ทำให้จิตอยู่กับสิ่งนั้นได้ อยู่กะอะไร ก็คืออยู่กับอารมณ์ ดึงสิ่งที่มาต่อหน้าจะผ่านไปไม่ให้ผ่านไป หรือสิ่งที่ล่วงลงไปแล้วในความจำ สิ่งที่ผ่านไปแล้วในความจำ ขณะนี้ไม่อยู่ต่อหน้าทำอะไรกับมันไม่ได้ สติก็ไปดึงเอามา สติดึงเอาสิ่งที่ผ่านล่วงไปแล้ว ให้มาอยู่ต่อหน้าจิตอีกครั้งหนึ่ง อาการที่ดึงกลับมาเนี่ย เรียกว่า สติ เหมือนกัน ซึ่งแปลว่า ระลึก
เพราะฉะนั้นสติทำหน้าที่ดึงทั้งสองประการ ทั้งปัจจุบันและอดีต อารมณ์ปัจจุบันก็ดึงไว้ไม่ให้ลอยหายไป ไม่ให้หลุดไป สิ่งนี้มาแล้ว เราไม่ยอมให้ปล่อยหาย เราจะพิจารณามัน สติก็ดึงไว้ให้อยู่กะจิต หรือสิ่งที่ผ่านล่วงไปอยู่ในความจำ อ้าวเราก็ดึงมันกลับเข้ามาให้อยู่กะจิตใหม่ นี้คือ สติ สติทำหน้าที่เท่านี้ ดึงเข้ามา
อย่างมีผ้าผืนหนึ่ง เราจะดูภาพบนผ้านี้ ทีนี้มันเป็นผ้ามันก็โดนลมพัดพาไป พาไปเราก็ไม่เห็น เราต้องการจะดู จะดูยังไง เราก็เอาเชือกดึงไว้ เอาเชือกดึงไว้ไอ้เชือกที่ดึงเปรียบเหมือนสติ ดึงไว้ให้อยู่กะตาเรา เอาละเข้าใจเรื่องสติ
ทีนี้บางครั้งท่านเปรียบบอกว่า เหมือนอย่างกะว่า วัวพยศ วัวป่า เราต้องการจะให้มันอยู่ มันไม่อยู่มันจะไปเรื่อย เราก็ทำไงล่ะ เราจะให้อยู่กะหลักสิทีนี้ เราก็เอาเชือกมาผูก ผูกไอ้เจ้าวัวพยศตัวนี้วัวป่าตัวนี้ไว้กะหลัก เจ้าวัวนั่นไปไหนไม่ได้ ก็อยู่กะหลัก แต่มันก็จะออกไปอยู่เรื่อยแต่มันไปไม่ได้เพราะไอ้เจ้าเชือกดึงไว้ เชือกที่ดึงนี้เปรียบเหมือนสติ วัวพยศนั้นเหมือนจิตของเรา จิตของเราเนี่ยจะไปเรื่อยไม่อยู่ หลักนั้นคือสิ่งที่เราต้องการ เป็นอารมณ์ที่เราต้องการจะใช้งาน ที่จะพิจารณาเป็นต้น นี้สติก็คือเชือกดึง ดึงไว้ให้หยุดไปไหนไม่ได้
ทีนี้พอสติดึงไว้แล้ว อ้าวทีนี้อะไรล่ะ อะไรจะทำได้ ปัญญาก็พิจารณาได้ ปัญญาเหมือนกะตาเรา ถ้าแผ่นภาพนั้นมีผ้าอยู่แล้วมันถูกลมพัดพาไปไหน นั่นคือไม่มีสติดึงไว้ พอเอาเชือกสติดึงไว้ก็อยู่ต่อหน้า พออยู่ต่อหน้า ตาเราก็มองดูได้ ตาก็คือปัญญา ถ้าหากว่าสิ่งนั้นไม่อยู่มีตาก็ดูไม่ได้ ไม่เห็น นั้นปัญญาทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีสติ สติจับดึงตรึงอารมณ์นั้นไว้ให้อยู่กะจิต อยู่ต่อหน้า แล้วปัญญาก็เลยพิจารณาได้ นั้นปัญญาจึงต้องอาศัยสติ จึงต้องพูดคู่กันว่า สติกะปัญญา แต่ว่า สติมาบางทีปัญญาไม่ใช้ ทั้งที่ดึงสิ่งนั้นไว้ต่อหน้า ตาหลับซะ ไม่มอง ไม่มองก็ช่วยไม่ได้มันก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้นต้องใช้ปัญญาด้วย สติเป็นตัวเอื้อโอกาสช่วยดึงจับสิ่งนั้นไว้ให้แล้ว ก็ขอเชิญปัญญาพิจารณาดูซะ ตกลงว่าปัญญาจะทำงานได้ต้องอาศัยสติ
ทีนี้สมาธิเป็นยังไง สมาธิต่างกะสติยังไง พอสติจับดึงตรึงไว้ มันก็ไอ้เจ้าสติเนี่ยมันเหมือนกะคอยดึงไว้ ทีนี้สติเนี่ยมันคอยดึงไว้แต่มันต้องดึงอยู่เรื่อย ไอ้เจ้านั่นจิตมันก็คอยจะไปเรื่อย มันก็ดึงกันอยู่อย่างเงี้ย ทีนี้ถ้าหากว่ามันอยู่โดยไม่ต้องดึงเมื่อไหร่ เช่นว่า เจ้าวัวตัวพยศวัวป่านั่นน่ะ ผูกเชือกดึงไว้กะหลัก มันก็จะออกไปเรื่อยเลย แต่เชือกก็ดึงไว้ๆ สติก็ทำหน้าที่ ต่อมาเจ้าวัวตัวเนี้ยเชื่องลง หรือชักจะหมดแรงก็แล้วแต่ ก็คือว่าไม่ไปละ มันนอนหมอบอยู่ข้างเสาเลย นอนหมอบตอนนี้เชือกไม่ต้องทำหน้าที่ ไม่ต้องดึงละ สภาวะที่มันยอมอยู่โดยไม่ต้องดึงละ หลักอันนั้นเรียกว่าภาวะสมาธิ เมื่อจิตอยู่ตัว ไม่ต้องใช้สติดึงอีกก็เป็นอันว่าสมาธิมา สมาธินี้แน่วแน่
นี้ถ้าหากว่าอารมณ์หยาบ เราจะใช้ปัญญาพิจารณาเนี่ย สติก็พอ ดึงอยู่ แต่ว่าไอ้เจ้าของน่ะแกว่ง มันจะไปเรื่อย ภาพบนแผ่นผ้าเนี่ยมันหยาบเป็นภาพคนตัวใหญ่ เป็นตัวหนังสือโตๆเนี่ย ถึงจะแกว่งจะอะไรบ้าง มันอยู่ก็แล้วกัน อย่าให้ลอยหายไป มันอยู่ต่อหน้า มันจะแกว่งบ้างก็เห็น อ่านออก
แต่ทีนี้ถ้ามันเป็นภาพเล็กรายละเอียดล่ะ ตัว ก ตัว ข ตัวนิดเดียว หรือลวดลายละเอียดมาก เอาล่ะสิทีนี้ แกว่งนิดเดียวก็ไม่รู้เรื่อง ตอนนี้ต้องการ สมาธิ ยิ่งภาพนั้นละเอียด สิ่งนั้นซับซ้อนเท่าไร ยิ่งต้องการความแน่วสนิทเท่านั้น พอนิ่งแน่วแน่สนิท ตอนนี้เราต้องการสมาธิที่ลึก ฉะนั้นสมาธิจึงจำเป็นสำหรับการใช้ปัญญาที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าหากว่าเป็นเรื่องธรรมดาเล็กๆน้อยๆ สติพอแล้ว พอต้องการความละเอียดก็ต้องการสมาธิ ฉะนั้นท่านจึงต้องใช้สมาธิเพื่อจะเข้าถึงปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้ง สภาพสมาธิก็คือจิตอยู่ตัวแน่วเลย อย่างที่ว่าเมื่อกี้โยมคงเห็นละ
นี้อาตมาพูดอย่างนี้ก็อยากจะให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง สติ สมาธิ ปัญญา ตกลง ๓ ตัวนี่สัมพันธ์กันหมดใช่มั้ย ๑. สมาธิเป็นตัวต้นทาง ก่อนจะเกิดสมาธิ ก็ต้องอาศัยสติใช่มั้ย สติมันดึงไว้ก่อน พอดึงแล้วจนอยู่ตัวแล้ว ไม่ดิ้นแล้ว คราวนี้ก็สมาธิก็มา เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติในการฝึกสมาธิ โดยมากจึงมีคำว่า สติ อานาปานสติ อ้าวชื่อวิธีฝึกสมาธิ ทำไมชื่อเป็นสติ เพราะว่าจะเอาสมาธิมาได้ต้องใช้สตินำ ใช่มั้ย อานาปานสติ ก็สติกำหนดลมหายใจ อย่างนี้เป็นต้น เอาสติมานำ นั้นสตินี้เป็นตัวนำให้เกิดสมาธิ ตัวดึงไว้ ดึงๆไว้ก่อน พอดึงพออยู่ตัว สมาธิก็มา ก็ตกลงว่าสติก็เป็นตัวต้นทางให้สมาธิ
ทีนี้อ้าวปัญญาล่ะ ปัญญาก็เหมือนกัน ปัญญาจะทำงานได้ เหมือนกะตา สิ่งนั้นต้องอยู่ต่อหน้า ก็หมายความสติต้องช่วยดึงไว้ให้ ต้องกำกับให้สิ่งนั้นอยู่ต่อหน้า ปัญญาจึงทำงานได้ ตกลงว่าปัญญาฝ่ายวิปัสสนาก็เหมือนกันต้องอาศัยสติ ฝ่ายสมถะมุ่งสมาธิ ก็ต้องอาศัยสติมานำ ฝ่ายวิปัสสนาเป็นปัญญาก็ต้องอาศัยสติมาช่วยส่ง เป็นตัวจับอารมณ์มาให้ ปัญญาจึงทำงานได้ เพราะฉะนั้น ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ต้องอาศัยสตินำ สตินำสมาธิ สติจับอารมณ์ให้ปัญญาทำงาน
ทีนี้พอใช้ปัญญาลึกซึ้งเข้า สติต้องเอาสมาธิมาให้ด้วย เพราะว่าต้องการความแน่วสนิท ตกลงว่า สมาธิก็เลยเป็นตัวฐานให้ปัญญา เพื่อจะให้เกิดปัญญาที่ลึกซึ้ง ที่มีความละเอียดซับซ้อน ตกลง สติ สมาธิ ปัญญา มีความสัมพันธ์โยงกัน แล้วความหมายความแตกต่างโยมคงเห็นชัดแล้วนะ ไม่สงสัยแล้วจะได้ชัดเจน ก็อาตมาว่า วันนี้เอาแค่นี้ก็พอ พูดกันมาก็ยาวแล้ว จึงบอกว่า เรื่องโพธิปักขิยธรรมเรื่องใหญ่ วันนี้เราไม่สามารถจะพูดหมดหรอก พูดแค่เอาหัวข้อแต่ละหมวด แล้วก็เอามาหยิบยกเน้นเฉพาะบางหัวข้อที่สมควรจะเข้าใจชัดเอามาอธิบายเน้นไป ส่วนรายละเอียดทั้งหมดนั้นต้องพูดกันทีละหมวดๆ ฉะนั้นวันนี้ก็พูดให้เป็นความรู้ทั่วไป จะถือว่าเป็นข้อเบ็ดเตล็ดอะไรก็แล้วแต่โยม แล้วก็โยมก็พิจารณาว่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
อาตมาก็ขออนุโมทนาคณะโยมแห่งชมรมศิษย์กรรมฐานที่ได้มีศรัทธามาเยี่ยมเยียน ที่วัดญาณเวศกวัน แล้วก็ได้มาฟังธรรม ก็จะแสดงถึง กุศลจิต จิตใจที่ประกอบด้วย ศรัทธาเป็นต้น ซึ่งจะเป็นเครื่องเกื้อหนุนในการปฏิบัติ อาตมาก็ขอส่งเสริมกำลังใจ แล้วก็อารธนาคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร ขออานุภาพ คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ พร้อมทั้งคุณธรรม มีศรัทธาและฉันทะ เป็นต้น ในใจของโยมทุกท่าน จงเป็นปัจจัย มีกำลัง ให้ทุกท่านได้เจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมะยิ่งๆขึ้นไป เพื่อความร่มเย็นงอกงามในสัมมาปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ก็ขอทุกท่านจงประสบจตุรพิธพรชัยโดยทั่วกันทุกท่านตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ