แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ทีนี้ก็มาคุยเรื่องอื่นต่อไป เอาเริ่มด้วยถ้าจะมีคำถาม มีคำถามก็ถาม ไม่มีผมก็คุยไปเรื่อยๆ มีไหม
พระนวกะ : มีคำถามครับ มีสองคำถาม แต่ว่าเอาคำถามแรกก่อนแล้วกัน คือว่าวันก่อนผมมีโอกาสมีโยมเพื่อนมาเยี่ยมที่วัดนี้ แล้วเขาเพิ่งสึกมาเหมือนกันเมื่อกลางปีที่แล้ว คือสึกมาได้ไม่กี่เดือนครับผม ก็คุยกันว่าอยู่วัดนี้มีกิจอะไรบ้างที่ทำ ก็อย่างผมก็คุยว่ามีเรียน แต่อย่างเพื่อนผมที่เขาเพิ่งสึกมา ไม่มีเรียนเลย ตื่นเช้ามาทำวัตรเช้า แล้วก็ว่างถึงเย็นทำวัตรเย็น ก็จบ เขาก็อยู่อย่างนั้นถึงครึ่งเดือนแล้วก็สึกมา ถ้าพูดตรงๆ ก็บวชเหมือนไม่ได้บวชครับ เสร็จแล้วผมก็คิดว่า เอ๊ะ อย่างนี้มันถูกแล้วเหรอครับที่จะเป็นแบบนี้ มันจะเป็นไปได้ไหมที่คุณบวชเรียนแล้วต้องได้อะไรไปบ้าง หรือว่าจะต้องมี course syllabus ของการบวชเรียนน่ะครับ แล้วได้ยินจากท่านครรชิตมาว่า ท่านเจ้าคุณก็เคยออกแบบ course syllabus ให้กับทางสงฆ์แล้วแต่ว่าเขาไม่ตอบรับ ก็เลยอยากทราบว่าเหตุผลคืออะไรครับผม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือคณะสงฆ์ก็ในแง่ของการเน้นท่านก็มีเน้นอยู่เรื่องการเรียน แต่ทีนี้ว่ามันก็มีหลักสูตรของคณะสงฆ์ เป็นหลักสูตรที่เราเรียกว่าเป็นเหมือนตามประเพณี ทีนี้ที่เป็นของคณะสงฆ์ก็มีหลักสูตรนักธรรม ถ้าเป็นของคฤหัสถ์ญาติโยมเขาเรียกธรรมศึกษา แล้วก็มีสูงขึ้นไป หรือว่าลึกลงไปก็คือเรียนบาลี นี่เป็นเรื่องของหลักการ แต่ทีนี้ว่าในทางปฏิบัติจริงก็มีปัญหาเยอะ คือมีแต่หลักสูตร แล้วก็มีการจัดสอบ การเรียนการสอนบางทีไม่มี เหตุปัจจัยก็มีเยอะแยะ อันหนึ่งก็ถ้าเอาเป็นเรื่องราว เป็นสาระก็คือว่าขาดแคลนครูอาจารย์ แต่ที่ไม่เป็นสาระคือไม่เอาใจใส่ อันนี้ถ้าหากว่าขาดแคลนครูอาจารย์ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันไป ถ้าใจเราอยากเรียน ก็ขวนขวาย แต่ทีนี้ว่าไม่ใส่ใจในการเล่าเรียนศึกษา ถึงแม้มีครูก็ไม่อยากเรียน ก็ไม่ใส่ใจจับ ทีนี้คณะสงฆ์ของเรานี้ก็ที่แล้วมาเราก็พูดบ่นกันเรื่อยแหละ ก็พูดไปก็เหมือนกับมาต่อว่า หรือแม้กระทั่งด่าว่ากัน มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ก็พูดกันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว คือการเอาใจใส่ในเรื่องการศึกษาน้อย แล้วก็จะได้ยินเสียงบ่นว่าพระนี่ชอบแต่ก่อสร้าง ได้ยินใช่ไหม เดี๋ยวสร้างโบสถ์ แล้วแถมไม่ได้สร้างเฉยๆ สร้างแข่งกันซะด้วย อำเภอนี้ ตำบลนี้ หรือแม้แต่จังหวัดนี้ วัดฉันจะต้องมีโบสถ์ใหญ่ที่สุด พอถึงอีกยุคหนึ่งก็สร้างเมรุ เอาเรามาแข่งเมรุกันว่า เมรุใครจะสวยกว่ากัน แล้วก็ใหญ่ที่สุด ใช้เงินสร้างมากที่สุด ในจังหวัดนี้ แล้วก็มาอวดกัน มันก็เลยกลายเป็นว่าบางยุคก็ถูกญาติโยมข้างนอกเขาต่อว่าพระนี่ทำให้เสียเศรษฐกิจ สร้างสรรค์อะไรก็ไม่สร้าง มันเป็นปัญหามาเรื่อย ทีนี้ความไม่เอาใจใส่ในเรื่องการศึกษามันก็แพร่ไปทั่ว เอาล่ะ หนึ่ง-ก็ไปนิยมด้านก่อสร้างวัตถุ สอง-ก็เรื่องพิธีกรรมกันให้โอ่อ่า หรูหรา สวยงามในเรื่องนี้ เด่นโก้ แล้วก็อะไรอีกอย่าง เมื่อกี้นึกขึ้นมาก็ลืม
พระนวกะ : วัตถุมงคลหรือเปล่าครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ใช่ๆ ไสยศาสตร์ วัตถุมงคล เดี๋ยวก้ปลุกเสกที่นั่นเดี๋ยวก็ปลุกเสกที่นี่ มีพุทธาภิเษก นั่นเราว่าแย่แล้วเนอะ เดี๋ยวนี้หนักเข้าไปอีก เดี๋ยวนี้เทวาภิเษกแล้ว ใช่ไหม แล้วนึกกันไหมนี่แหละนานๆ เข้า หลักไม่มี ความเอาใจใส่การศึกษาไม่มี ก็ไม่รู้หลักพุทธศาสนา ไม่รู้อะไรเป็นพุทธ อะไรเป็นพราหมณ์ อะไรเป็นศาสนาไหนแล้ว เอาเรื่องเทวดามาเป็นพุทธไปแล้ว พระไปปลุกเสกเทวดาซะนี่ พระไปปลุกเสกได้ไงเทวดา ใช่ไหม เทวดาต้องไหว้พระอยู่แล้ว นี่พระไปไหว้เทวดา เสียเลย นี่มันไปไกลมาก เราก็ได้แต่บ่นไปสิ แต่ว่ามันก็ต้องพยายามมาเตือนหรือให้สติกัน ใช่ไหม ก็ทำได้อย่างนี้ โบราณท่านก็บอกอยู่แล้วว่าบวชเรียน คำมันก็ชัดนะ มันอยู่ในตัวเสร็จเลยบวชเรียน บวชก็คือต้องเรียน บวชเพื่อเรียน การที่ได้บวชก็คือการที่จะได้เรียน สมัยโบราณคนก็ยังไม่มีการศึกษาแบบตะวันตก ก็ยิ่งชัดใหญ่เลย การที่จะบวชก็คือการที่จะเรียน เด็กไปอยู่วัดตั้งแต่ 7 ขวบ บางทีบางคนก็ไม่ไปอยู่ เด็กสมัยก่อนนี้ 7 ขวบ ไปอยู่วัดก็มี หรือไม่งั้นก็ไปวัดประจำวัน ไปส่งปิ่นโตหลวงพี่ หลวงน้าหลวงอาบวชเป็นพระ เด็กก็เป็นลูกศิษย์ เด็กก็ไปส่งปิ่นโต แล้วก็ไป-กลับ แล้วก็ได้เรียนหนังสือกัน ทางวัดก็เป็นแหล่งวิชาการ สอนทุกอย่างแม้กระทั่งวิชาฟันดาบ ใช่ไหม อย่างอะไรที่มีชื่อเสียง เดี๋ยวนี้ยังมีชื่อเสียงติดมาแต่โบราณ มีอยู่วัดหนึ่ง เขาเรียกวัดอะไร เก่งนัก ดาบที่นั่นมีชื่อเสียงมาก
พระนวกะ : วัดพุทไธสวรรค์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : วัดพุทไธสวรรค์เนี่ย ก็คือโบราณวัดเป็นแหล่งศูนย์กลางของการศึกษา เพราะฉะนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงรับระบบการศึกษาจากตะวันตกมา ก็จึงให้วัดเป็นศูนย์กลาง จัดเลย บอกว่าต่างจังหวัดทั่วประเทศให้ไปดูวัด แล้วก็จัดการให้วัดนี่เป็นที่เล่าเรียนศึกษา แม้แต่สมัยใหม่ก็เอาวัดเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วก็เอาพระเป็นผู้บัญชาการ ก็คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรวจการดูแลการศึกษาของประชาชนด้วย ไม่ใช่เฉพาะพระ ทั่วประเทศ โดยเพราะว่าวัดเป็นศูนย์กลางแล้วก็พระจะต้องเป็นอันดับหนึ่งในการที่จะมาช่วยสอน เพราะพระนี่ในชนบทก็เป็นผู้มีการศึกษามากกว่าใครหมด ฉะนั้นเมื่อเริ่มการศึกษาก็ต้องเอาพระก่อน พระก็เท่ากับว่าสอนทั้ง ที่เขาเรียกสมัยก่อนว่าวิชาทางโลกและวิชาทางธรรม ก็สอนทั้งวิชาทางพระศาสนา แล้วก็เรื่องของวิชาภาษาไทย เลข คณิต อะไรต่างๆ ก็เป็นมาอย่างนี้ แล้วก็สังคมไทยเรานี่เรื่องการศึกษาเราไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง มันมีเรื่องคติความชอบ สนุกสนาน มันไปๆ มาๆ พอถึงยุคหนึ่งมันก็มีปัญหาอื่นแทรกเข้ามาเหมือนกัน ไม่ใช่โทษพระฝ่ายเดียว พอเปลี่ยนรัชกาล สิ้นรัชกาลที่ 5 แล้วก็เริ่มแยกพระออกจากการศึกษา จะเห็นว่าแม้แต่หน่วยราชการก็เปลี่ยน สมัยรัชกาลที่ 5 นี่ ตั้งกระทรวง การมีกระทรวง ทบวง กรม แบบสมัยปัจจุบัน ก็เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สมัยก่อนรัฐมนตรีเรียกเสนาบดี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อย่างกรมพระยาดำรงราชานุภาพนี่นะ ทีนี้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็เป็นผู้ที่ร่วมอุปถัมภ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทางฝ่ายพระ ดำเนินการศึกษาก็เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ แล้วก็ทางกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทยนี้เป็นฝ่ายช่วยอุดหนุน ร่วมกันสองกระทรวงนี้ ทีนี้ในทางกระทรวงที่เกี่ยวกับการศึกษาตอนนั้น เรียกกระทรวงธรรมการ รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งกระทรวงธรรมการ แล้วในกระทรวงธรรมการก็มีกรมหนึ่งชื่อกรมธรรมการซ้อนอีกทีหนึ่ง ทีนี้พอสิ้นรัชกาลที่ 5 แล้ว ก็แยกการศึกษากับพระออกจากกัน ก็เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ นี่คือสิ้นรัชกาลที่ 5 แล้วก็ย้ายกรมธรรมการนี่ไปไว้วัง ไปขึ้นต่อวัง ก็เป็นอันว่าเรื่องพระก็อยู่กับกรมธรรมการไป ซึ่งเป็นหน่วยย่อยนั่นแหละ ส่วนกระทรวงธรรมการก็หมดไป เปลี่ยนเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนี้พระก็ต้องค่อยๆ ถอนตัวออกจากการศึกษา ทีนี้ต่อมาเราก็ประสบปัญหาว่าชนบทการศึกษาไปไม่ถึง เป็นปัญหาขาดความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นมานานมาก อันนี้เป็นปัญหาซับซ้อนมากในสังคมไทย ซึ่งทำให้ หนึ่ง-พระเองก็ไม่สนใจการศึกษา เพราะถือว่าตัวไม่มีหน้าที่ แต่เสร็จแล้วทางรัฐเองก็ไม่สามารถจะจัดบริการการศึกษาให้ทั่วถึงได้ ชนบทก็ขาดแคลนการศึกษา คมนาคมสมัยก่อนไปลำบากยากเย็นมาก เด็กในชนบทจะมาเรียนนี่ต้องมาอยู่วัด ก็ได้วัดได้อย่าง คือเป็นที่อยู่ของเด็กที่เรียนกับพระ ไม่ไปเกี่ยวข้องกับการสอน แต่เป็นที่อยู่ของเด็กที่ไปเรียน ทีนี้เด็กในชนบทไกลก็ไม่มีที่เรียน หนึ่ง-ก็ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ แล้วเด็กโดยมาในชนบทก็ไม่มีญาติคนกรุงเทพฯ น้อยเหลือเกินที่จะมี ฉะนั้นมันก็ไปอยู่วัดกัน สมัยก่อนเด็กชนบทที่จะได้เล่าเรียนก็มาอยู่ในกรุง โดยอยู่วัด แต่ว่าพระไม่ได้สอน ก็ไปเรียนโรงเรียน ทีนี้ถ้าหากว่าเข้ามาไม่ถึงกรุง ก็ไปอยู่ที่ตัวเมือง ไปอยู่วัดในเมือง ไปอยู่วัดในตัวอำเภอ สมัยก่อนนี้จะมีลูกศิษย์พระเยอะเลย เพราะว่าเด็กมาเรียนหนังสือ นี่มันเป็นไปตามสภาพเหตุปัจจัยทางสังคม เยอะแยะหมดตามวัดเนี่ย ก็มีเด็กวัด ลูกศิษย์วัดบ้าง ก็คือเด็กที่มาอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ เป็นมัธยม ในโรงเรียนประจำอำเภอหรือประจำจังหวัด หรือโรงเรียนในกรุงเทพฯ แต่ทีนี้ว่าในชนบททำไง ชนบทที่จะมาเรียนกรุงเทพฯได้ แม้จะมาอยู่วัดก็มักจะเป็นผู้ที่มีฐานะหน่อย ถ้าเป็นชาวบ้านจริงๆ ลูกชาวไร่ชาวนา มาอยู่ในเมืองไม่ต้องพูดถึง มาไม่ได้ แม้จะมาอยู่วัดก็ไม่ไหว ก็ทำไง พอจบประถม 4 ก็จบการศึกษาภาคบังคับ อยากจะเรียนทำไง ก็ไปฝากวัด ก็ไปเป็นเด็กวัด เลยบวชเณรเลย กลายเป็นว่าผู้ที่บวชเณรก็คือลูกชาวบ้านชาวไร่ชาวนาที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐ ก็ไปอยู่วัดพอจะได้เล่าเรียนบ้าง พ่อแม่ก็บอกว่าเผื่อจะได้มีทางได้เล่าเรียนบ้าง พระท่านก็สอนไปตามระบบเก่าก็คือแบบนักธรรมอะไรที่มีมา นักธรรมก็มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สืบมาตั้งแต่สมัยนั้น ทีนี้ก็เรียนไป ต่างจังหวัดพระก็ไม่ค่อยมีพวกทุนอะไรจัดการ ก็สอนกันไปตามมีตามเกิด บางทีก็บวชมาเอาหนังสือตำราเอาไปท่อง บางวัดก็จัดสอนบ้าง แต่ถึงขนาดนั้นนะ สมัยก่อนก็ยังเอาใจใส่กว่าสมัยนี้ ก็ตั้งใจ สอนเท่าที่สอนได้ เรียนกันไป ได้แค่ไหน นักธรรมตรี โท เอก ก็สอบเองทั้งนั้น แทบจะไม่มีสอนแล้ว อย่างดีก็สอนอยู่ชั้นนักธรรมตรี พระอาจารย์เก่าๆ มีความรู้ก็มีน้อยด้วย อาจจะเป็นเจ้าอาวาสเอง รองเจ้าอาวาส ก็สอนนักธรรมตรี พอพรรษาที่สอง ถ้าเกิดว่าได้นักธรรมตรีไปแล้ว พรรษาที่สองจะสอบโท คราวนี้ต้องเรียนเอง ก็ให้ตำราเอาไปอ่าน ก็อยากได้ เพราะว่าได้นักธรรมมันก็ยังดี ก็ได้มีชั้นมีอะไรบ้าง ต่อมาก็มีการเทียบ ได้นักธรรมตรีนั้นได้ประถม4 อะไรอย่างนี้ ก็ประถม 4 ก็ต้องได้อยู่แล้ว ได้การศึกษาขั้นบังคับ มันก็มีเทียบกันต่อๆ ไป แล้วก็เอาไปสมัครราชการ แต่ก่อนนักธรรมตรีก็ไปสมัครเป็นพลตำรวจได้ เป็นต้นอย่างนี้นะ ก็มีฐานะอะไรบ้าง ต่อมาก็มีการเทียบชั้นนั้นชั้นนี้ ก็เป็นกันมาอย่างนี้ คือทางฝ่ายรัฐตอนนี้เมื่อมีการศึกษาในระบบบังคับแล้ว ก็ไม่ได้เหลียวแลเอาใจใส่การศึกษาของคนอีกส่วนหนึ่งที่มาบวช แล้วโดยเฉพาะก็คือว่าเด็กชาวชนบทเข้าสู่ระบบของรัฐไม่ได้ ไม่มีทุนรอน แล้วก็ไปบวชเณรอยู่ เด็กพวกนี้ก็ถูกตัดขาดจากระบบการศึกษาของวัดเลย ทีนี้วัดจะดูแลยังไงก็เรื่องของวัด คณะสงฆ์ก็ไม่มีกำลัง ก็ถือว่าฉันเอาละจัดสอบให้ก็ยังดี คณะสงฆ์ท่านยังบอกเลยนะ ท่านมีแม่กอง แม่กองนักธรรม ก็มีหน้าที่จัดสอบ ไม่มีหน้าที่จัดสอน ฉันจัดสอบให้ก็แล้วกัน ถึงเวลาฉันจะออกข้อสอบให้ทั่วประเทศ แล้วก็มีธรรมเนียมว่าจัดพระที่มีความรู้ในกรุงเทพฯ นำข้อสอบไปจังหวัดต่างๆ แล้วก็ไปจัดการสอบ สอบเสร็จก็เก็บเอาใบตอบมากรุงเทพฯ แล้วก็มีการตรวจอะไร ถ้ามากนัก ต่อมาก็ให้ตรวจกันระดับจังหวัด แต่ข้อสอบต้องไปจากศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ก็มีหน้าที่จัดสอบ ทีนี้เรียนไม่มีที่เรียน บางวัดก็เรียน บางวัดก็ไม่เรียน ถึงเวลาก็สอบเอาท่องเอา ต่อมามันก็ชิน กลายเป็นว่าการเรียนนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีความจริงจัง กลายเป็นชินเป็นนิสัย กลายเป็นเรื่อง เอา คอยสอบเอาก็แล้วกัน ระยะยาวมันก็เสียนิสัยเหมือนกัน ความจริงจังไม่มี ความกวดขันก็ไม่ค่อยมี ทีนี้ต่อมาเมื่อมันไม่ค่อยเอาใจใส่ มันไปเป็นความเคยชินแล้ว ก็สักแต่ว่าสอบ ต่อมาก็เป็นว่าสอบแล้วได้เทียบเป็นชั้นนั้นชั้นนี้ เผื่อมีโอกาสก็สึกไป เป็นตำรวจ เป็นอะไรไป อย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนเพื่อรู้ธรรมะ เพราะตัวเองเรียน ไม่มีอาจารย์ ก็ท่องไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้เข้าใจอะไรหรอก เอาไปท่องจำไปสอบได้ เขาถามาว่าธรรมมีอุปการะว่ามากี่อย่างอะไรบ้าง ก็ตอบไป ว่าธรรมมีอุปการะมากมี 2 อย่างคือ สติ ระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ก็จบ ต่อมาก็มีความสัมพันธ์กับญาติโยม ก็ไปเรื่องอื่นๆ ที่สนใจในท้องถิ่น ญาติโยมก็พลอยไม่ค่อยสนใจธรรมะด้วย เพราะพระก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แล้วก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก ทีนี้ก็พูดกันไปเรื่องอะไร ก็เรื่องชีวิตประจำวัน เรื่องยากจนจะร่ำรวยยังไง ท่าน ทำไงจะรวย เลยไปๆ มาๆ ก็เล่ยหวย รัฐบาลก็มีลอตเตอรี่ให้ ต่อมาพระก็ชักจะหวังดีต่อญาติโยม ก็ลองแนะนำเลขดู ไปๆ มาๆ พระก็ชักถนัดให้หวย พอให้หวยมีชื่อเสียงถูกเข้า ทีนี้ยุ่งกันใหญ่ เอาละทีนี้ ไปทางหาลาภแล้ว พระก็เบนความสนใจมาเรื่องให้หวย แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งก็ทางพระศาสนา คนมีปัญหา มีความทุกข์ มาปรับทุกข์กับพระ พระก็ไม่มีธรรมะจะสอน ทำไงดี ของเก่าติดมากับประเพณีก็สิ่งเคารพนับถือ ไสยศาสตร์อะไร เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ก็เอาอันนี้มาช่วยปลอบขวัญให้เขาหลักศาสนาโบราณไปกันได้ ที่ว่ามีอาจารย์ตำรามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งบอกว่า พระก็มีบทบาทเหมือนหมอผี นี่ตำราสังคมวิทยามหาวิทยาลัย บอกว่ายกตัวอย่าง นานแล้ว พระก็เลยคล้ายๆ หมอผีไป ก็เป็นผู้ที่ปลอบประโลมใจคน ช่วยให้หายทุกข์เวลามีปัญหาอะไรต่ออะไร ช่วยไล่ผีให้ซะ อะไรอย่างนี้ บางทีก็มีตำรายาเก่า ก็เอาตำรายาบ้าง ไล่ผีบ้าง ช่วยกันทางต่างๆ พระก็ต้องสัมพันธ์กับโยม คือก็อยากช่วยโยม ใจก็ดี มีเมตตา ช่วยยังไง ไม่มีความรู้จะแนะ มันก็ออกไปทางไสยศาสตร์ ต่อมาพระเองแหละ งานไม่มีอะไรจะทำชัดเจน ก็เราอยู่วัดนี่ ทาสีอาสนะมันก็เก่าคร่ำคร่า ก็ต้องเป็นในการก่อสร้าง พระก็ซ่อมกันเองเพราะว่าไม่ต้องใช้ทุนรอนอะไร มีแรงงานของพระเณร ต่อมาเมื่อไม่มีการเล่าเรียนอะไรกัน ก็เอาเวลามาใช้ในการซ่อมแซมกุฏิ พระขยันก็ต้องทำสิ ใช่ไหม จะไปอยู่เฉยๆ ไง ก็เลยเก่งกันในการก่อสร้าง การปีนหลังคามุงกระเบื้องอะไรต่ออะไร เอาเลย พระเก่งกันใหญ่ ก็ดีไปอย่างท่านก็ช่วยวัดวาอารามได้ ทีนี้เมื่อสร้างกันมากก็มานึกกันสิ วัดเรามันต้องสวย ใช่ไหม ใครจะมีฝีมือดีกว่ากัน ก็สร้างให้สวย เอาละสิทีนี้ ไม่มีอะไรทำ ก็นึกถึงเรื่องการก่อสร้าง ต่อมาก็แข่งกันเลย ทีนี้วัดใครจะโบสถ์สวยกว่ากัน ใช้ทุนมากอะไรต่ออะไร ก็มีเป็นจังหวัดเลย จังหวะฉัน เดี๋ยวนี้ยังมีคุยเลย วัดเรานี่แหมโบสถ์ใหญ่ที่สุด หรือว่าวัดนี้ศาลาเสาใหญ่ที่สุด ยังคุยกันอยู่เลยนะเสาไม่มีวัดไหนใหญ่เท่าวัดนี้ ก็โก้กันที่นี่ ตกลงก็เนี่ย ไปๆ มาๆ พระก็เหลือ หนึ่ง-ก่อสร้าง สอง-วัตถุมงคล ไสยศาสตร์ สาม-พิธีกรรม พิธีกรรมก็จัดงานวัด เพราะว่าเวลามีงานประจำปี วัดก็เป็นศูนย์กลางชุมชน ทีนี้ญาติโยมมีอะไรก็มาวัด สนุกสนาน มหรสพก็มาจัดที่วัด พระก็เลยเป็นศูนย์กลาง อำนวยความสะดวก ก็จัด เป็นผู้ชำนาญในการจัดบริการ ก็ต้องทำพิธีกรรมให้หรูหราโอ่อ่า ก็คุยกันได้ในเรื่องเหล่านี้ มันก็เลยกลายเป็นจุดเด่นของพระไป เรื่องก่อสร้างให้ยิ่งใหญ่สวยงาม พิธีกรรมให้โอ่อ่าหรูหรา แล้วก็วัตถุมงคลให้มีขึ้นชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่นี่ขลังที่สุดเลย ก็มาแข่งกันเรื่องเหล่านี้ ไปๆ มาๆ สิ่งเหล่านี้ก็ชักจะบดบังเนื้อตัวพุทธศาสนา ใช่ไหม เนื้อตัวพุทธศาสนาก็ชักเลือนหายไป ไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่ แล้วแม้แต่ว่ามีรูปวัตถุ คือในทางรูปธรรม เหมือนกับพุทธศาสนานี้เป็นหลักเป็นฐานมากมาย พระก็เยอะ วัดวาอารามก็มากมายใหญ่โต แต่เนื้อตัวพุทธศาสนาอยู่ที่ไหนไม่รู้ ดีไม่ดีเนื้อไม่มีเลย มีแต่เปลือก ฉะนั้นก็เป็นเรื่องน่าคิดกันมาก เราก็ต้องช่วยกันเตือนสติ ทำอะไรได้ ท่านก็พอจะเห็นนะ พอเห็น อันนี้ก็คือเหตุปัจจัย คือสังคมของเราสร้างขึ้นมาเอง ก็ระยะที่แล้วปัญหาหนักเรื่องนี้ ที่เรียกว่าความไม่เสมอภาคอะไรต่างๆ การศึกษา โอกาสในทางการศึกษา ความไม่เสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา แล้วพอถนนหนทางไปถึงก็เลยวัดไม่มีเด็ก เกิดปัญหาใหม่อีก หนึ่ง-ไม่มีเด็กอยู่วัด ลูกศิษย์พระไม่มี เดี๋ยวนี้ขาดกันไปทั่วเลย สอง-ไม่มีเณรจะบวช วัดปัจจุบันนี้หาเณรแทบไม่ได้เลย สมัยก่อนนี้มีแต่เณรเต็มไปหมดวัดนี่ เพราะเด็กมาบวชเณรเพื่อเรียนหนังสือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ จะเห็นความแตกต่างแม้แต่เรื่องอัตราส่วนระหว่างพระกับเณร ภาคเหนือนี่เณรจะมีมากกว่าพระ จะสองสามส่วนต่อหนึ่ง ภาคเหนือจะเรียกพระว่าตุ๊ พระนี่เรียกตุ๊เจ้า ส่วนเณรนี่เรียกว่าพระ เขาเรียกว่าพระคือเณร เราถือการบวชเณรนี่เรื่องใหญ่ บวชพระจะรู้สึกเป็นรอง บวชเณรนี่ให้ความสำคัญมาก เณรนี่เยอะแยะไปหมดเลยภาคเหนือ เดี๋ยวนี้พระทางเชียงใหม่เชียงรายบอกไม่มีเณร ต้องไปเอาเด็กจากสิบสองปันนา เพราะทางโน้นยังขาดแคลนการศึกษา ก็จะได้เล่าเรียนมาก็อยู่วัดในเชียงใหม่เชียงราย นี่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทางภาคอีสานนี่พระกับเณรพอๆ กัน ทางภาคกลางนี่พระชักจะมากกว่าเณร ภาคใต้ก็ไม่ทราบแน่ ผมไม่ได้จำไม่ได้สังเกตแยกแยะ แต่เป็นที่รู้กันว่า โดยเฉพาะภาคอีสานกับภาคเหนือเป็นอย่างนี้แหละ ก็เป็นอันว่าภาพนี้หายไป คือภาพเณรกับเด็กวัด แทบจะหมด เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นว่าคนจะบวชเณรก็เป็นบวชเณรภาคฤดูร้อน บวชพระก็ไปบวชเมื่อไม่มีทางไปบ้างอะไรบ้าง หรืออยากจะหาความสงบ เลิกทำการงานอาชีพ ปลงภาระแล้วก็อยากจะอยู่สงบ ก็มาบวช ก็เลยเป็นหลวงตาไป จนกระทั่งมาพูดกันว่าเมืองไทยเรานี้เกิดวัดหลวงชนิดใหม่ งง ว่าวัดหลวงอะไร เฉลยว่า วัดหลวงตา เกิดขึ้นมาในระยะหลัง เด็กวัดก็มีพระน้อย เพราะว่าไม่มีคนจะมาบวชมาเรียน ก็เลยทำให้วัดขาดเจ้าอาวาสอยู่ประมาณ 5,000 วัดไม่มีเจ้าอาวาสประมาณ 5,000 วัด ไม่มีคุณสมบัติ ไม่ได้เล่าเรียนหนังสือ แล้วสถานการณ์พุทธศาสนาจะเป็นยังไง วัดเจ้าอาวาสเยอะแยะไม่มีความรู้ ก็เป็นหลวงตามาบวช ได้หลวงตามาเฝ้าวัด ถ้าท่านรู้เข้าใจเรื่องนี้ ถ้าท่านจะเห็นและเข้าใจพุทธศาสนาว่าหนักขนาดไหน เราอยู่ในนี้เราก็ไม่ค่อยได้ทราบหรอก ออกไปชนบทไกลๆ จึงจะรู้ ว่ามันทรุดขนาดไหน ผมเคยพูดไว้ที่ว่าพุทธศาสนานี้ถ้าไม่ระวังให้ดี จะเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตาย ต้นไม้ต้นเบ่อเริ่มเลย แหม ดูใหญ่โตจริงๆ ต้นไม้ต้นนี้ แต่ไม่มีชีวิต ก็น่าเป็นห่วง น่าเป็นห่วงมานานแล้ว จะฟื้นกันไหวไหม คือเราจึงต้องการผู้บริหารที่รู้สังคมไทย รู้ปัญหาของสังคม เวลานี้มันปัญหาหนักมาก คือผู้บริหารบ้านเมืองก็ต้องพูดตรงๆ ว่า ไม่รู้ปัญหาเหล่านี้