แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสมเด็จฯ : มีอะไรสงสัยไหม .. เชิญเลยนะ
โยม : ผมขออนุญาตกราบเรียนถามถึงเรื่องของกิจที่ดีต่ออริยสัจ 4 นะครับ อยากจะเรียนถามอย่างนี้ว่า ‘กิจ’ ในอริยสัจ 4 ที่มีอยู่ทั้งหมด 4 ข้อ คือ กิจกำหนดรู้ กิจละ กิจทำให้แจ้ง และกิจเจริญ หมายความว่าเราจะต้องทำกิจทั้ง 4 นี้ให้ครบทั้ง 4 กิจ หรือเปล่าครับ .. ผมเคยได้ยินบางท่านอาจารย์ท่านสอนว่า ให้ทำกิจ 'กำหนดรู้' อย่างเดียวก็ถือว่าครบถ้วนเพียงพอแล้ว เพราะว่าเมื่อทำกิจในการกำหนดรู้ ต่อไปก็จะเกิดการละ ทำให้แจ้ง แล้วก็ไปถึงมรรคเอง .. ในข้อแรกนี้ผมขอเรียนถามเท่านี้ก่อนครับ
ท่านสมเด็จฯ : อันนี้เป็นเทคนิคการสอนของพระอาจารย์ ความจริง ‘กิจ’ นี่อยู่ใน 'มรรค'-ปฏิบัติภาวนาอย่างเดียว คือ ทุกข์-เรากำหนดรู้ เวลาเราไป 'กำหนดรู้' นั้นก็คือเราอยู่ในข้อ ‘มรรค’ .. การ ‘ปฏิบัติ’ มีอยู่ในข้อเดียวคือ ข้อ 'มรรค' ซึ่งเป็นข้อที่ 4 เพราะการปฏิบัติลงมือทำก็คือข้อ 4 ข้ออื่นไม่เป็นการปฏิบัติ .. พอเราปฏิบัติในข้อ 4 นี่เราก็กำหนดรู้ทุกข์ เราก็กำจัดสมุทัย เราก็ประจักษ์แจ้งนิโรธพร้อมไปเอง แต่สิ่งที่เราทำคือเราทำอยู่ใน ข้อ 4 คือข้อ 'มรรค' หรือ 'ไตรสิกขา' .. พูดตามแนวอริยสัจก็คือ เราปฏิบัติตามมรรค เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนว่าการปฏิบัติก็อยู่ที่ ‘มรรค’ อันเดียว เมื่อท่านปฏิบัติตามมรรคแล้ว อันอื่นก็มาตามกันหมด.. 'กำหนดรู้ทกข์' ที่จริงก็ปฏิบัติอยู่ใน'มรรค' นั่นเอง .. การปฏิบัติตามมรรค ก็คือ 'เจริญปัญญา’.. เจริญปัญญาถูกต้อง ‘ปัญญา’ นั้นก็คือ การรู้ทุกข์ คือท่านบอกเพื่อให้จับจุดให้ถูก ว่าหน้าที่แต่ละข้อเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำหน้าที่อย่างไร แต่เวลาเราปฏิบัติเพื่อให้เกิดหน้าที่นั้น เราทำที่ข้อที่ 4 ท่านจึงบอกว่า 'ภาเวตัพพธรรม' ก็คือ ต้องปฏิบัติ
ดังนั้นเวลาท่านอธิบายอย่างนี้ก็คือ ต้องปฏิบัติไปสิ 'ปฏิบัติตามมรรค' แล้วคุณก็จะได้กำหนดรู้ทุกข์ และคุณก็จะละสมุทัย และคุณก็จะบรรลุประจักษ์แจ้งนิโรธไปด้วยพร้อมกัน กระบวนการทั้งหมดจะเป็นไปในขณะเดียวกัน ไม่ใช่แยกกันนะ คือถ้าทำถูกนี่ในขณะเดียวกันกับที่ทำ 'มรรค' ก็ได้ทำทั้ง 4 ข้อไปด้วยกัน เป็นเรื่องเดียวกันแต่ท่านแยกเพื่อจะให้เรามีความชัดเจน .. การวิเคราะห์ไม่ใช่การแยกส่วนเพื่อที่จะแยกจากกันไปเลย แต่แยกเพื่อให้เกิดความชัดเจน แล้วจะได้ปฏิบัติด้วยความจะแจ้งตระหนักรู้อยู่ในใจ และเวลาปฏิบัติจริงก็ทำตามกระบวนการ .. ก็คือเจริญมรรค ก็คือไตรสิกขา—ปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะตัว ‘ปัญญา’ จะเป็นตัวกำกับตลอด ตัว 'ปัญญา' นี้ก็อยู่ในข้อ 'มรรค' นั่นเอง
ที่พูดไปนั้นเป็นการพูดแบบกว้าง อันที่จริงคำถามนี้มีแง่ที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับถ้อยคำด้วย คือคำว่า 'กำหนดรู้ทุกข์' เมื่อใช้ในการปฏิบัติต้องระวัง ไม่เอามาสับสนกับคำว่า ‘กำหนดรู้ทุกข์' ในคำว่า 'ปริญญา' ซึ่งเป็นกิจในอริยสัจข้อที่ 1 .. คือพระอาจารย์เวลาท่านสอนว่า ‘กำหนดรู้ทุกข์' คำนี้โดยทั่วไปก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นเรื่องของมรรคโดยตรง คือเป็นการปฏิบัติ เป็นการเจริญภาวนา ไม่ใช่เรื่องของปริญญาในทุกข์ แต่เป็นเรื่องของมรรคแท้ๆ คำว่า 'กำหนดรู้' ในที่นี้เป็นคำในภาษาไทยที่สื่อความหมายไปยังภาษาบาลี โดยไม่ใช่หมายถึง 'ปริญญา' แต่เป็นคำแปลของคำว่า 'สติสัมปชัญญะ' คือ 'สติ' = กำหนด 'สัมปชัญญะ' = รู้ เรียกว่า กำหนดรู้ .. ส่วน 'กำหนดรู้ทุกข์' ในที่นั้น 'ทุกข์' ก็คือ 'ทุกขเวทนา' เป็น 'เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน' = ทุกข์-ก็กำหนดรู้ทุกข์ ถ้าสุข-ก็กำหนดรู้สุข กำหนดรู้ อทุกขมสุข-ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ กำหนดรู้ทุกข์อันนี้เป็นเรื่องของการกำหนดรู้ 'เวทนา' เป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะ .. อันนั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติ 'สติปัฏฐาน' เป็นเรื่องของมรรคแท้ๆ ก็จะอยู่ในกระบวนการปฏิบัติโดยตรง .. ด้วยการปฏิบัติตามมรรค ก็จะมีความก้าวหน้าในการปริญญา-ทุกข์ ปหานะ-สมุทัย สัจฉิกิริยา-นิโรธ ในขณะที่ 'ภาวนา' ของมรรคหรือ 'มรรคภาวนา' ก็เจริญก้าวหน้าไปด้วย หรือเป็นตัวที่ดำเนินไปโดยตรงแล้วก็ทำให้ตัวอื่นก้าวหน้าไปด้วยกัน
ก็เป็นว่า ที่พระอาจารย์ท่านสอนว่า 'กำหนดรู้ทุกข์' ในที่นี้ไม่ใช่ ปริญญา ไม่ใช่เรื่องของหน้าที่หรือกิจในอริยสัจ .. แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติใน 'สติปัฏฐาน' ข้อ 'เวทนานุปัสสนา' โดยที่คำว่า 'กำหนดรู้' นั้นหมายถึง 'สติสัมปชัญญะ' และ 'ทุกข์' ในที่นี้ก็หมายถึง 'ทุกขเวทนา' ก็เลยกลายเป็นว่า 'มีสติ-กำหนด สัมปชัญญะ-รู้ ต่อทุกขเวทนานั้น' .. ก็ตอบแค่นี้ก็เพียงพอ ขอเจริญพร
โยม : ขออนุญาตกราบเรียนถามอีกข้อนึงครับ ผมสนใจในหัวข้อ 'กตญาณ' ที่ว่าทำกิจในอริยสัจได้แล้ว จะหมายความว่าอย่างไรครับ
.. เราจะสังเกตว่ามีอะไรเป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าการปฏิบัติในอริยสัจ 4 นั้น เราปฏิบัติสำเร็จจนเป็นกตญาณแล้ว ขอกราบเรียนถามครับ
ท่านสมเด็จฯ : ถ้าตอบง่ายๆ ก็กำหนดรู้ทุกข์ก็รู้แล้วรู้เท่าทัน เข้าใจว่าขันธ์ 5 เป็นอย่างไร ซึ่งโยมก็จะเข้าใจเป็นขั้นๆไป นักเรียนอภิธรรมก็จะรู้รูปนามเป็นยังไง กำหนดแยกได้เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แยกรูปแยกนามได้เป็นขั้นๆไป ก็คือเวลาเอาจริงนี่ถ้ามาว่าไปตามขั้น ก็ไปแยกญาณละเอียดลงไปอีก เช่น วิปัสสนาญาณ 9 โสฬสญาณ--ญาณ 16 แล้วก็ไปแยกเป็นทีละขั้น เช่น นามรูปปริจเฉทญาณ ท่านรู้เข้าใจหรือยัง ก็ต้องไปสอบแต่ละขั้น อย่างนามรูปปริจเฉทญาณก็อยู่ในปริญญา ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือดูว่า รูปธรรม นามธรรม หรือเรื่องขันธ์ 5 นี่เรารู้เข้าใจเท่ากันดีแล้วหรือยัง แล้วก็สมุทัยนี่ อันนี้เป็นเรื่องประจักษ์แจ้งแก่ตนเอง ว่าเรากำจัดกิเลสได้จริงหรือยัง กำจัดที่บอกว่าอวิชชา ภวตัณหา อันนั้นอาจจะลึกไปเราก็เอาง่ายๆ โลภะ โทสะ โมหะ วิธีตรวจสอบง่ายๆ ก็ดูสิในใจเรายังมีโลภะ โทมะ โมหะไหม ถ้าเรายังมีอยู่ก็แสดงว่าเรายังทำหน้าที่ไม่เสร็จใช่ไหม ก็ง่ายๆ นี่แหละ ดูเห็นประจักษ์แก่ตนเอง โกรธเรายังมีไหม โลภะเรายังมีไหม โมหะเรายังมีไหม ถ้ายังมีก็แปลว่ายังทำหน้าที่ไม่เสร็จ ประจักษ์แจ้งผล จิตใจเราไร้ทุกข์ไหม ความไม่มีกิเลสก็ดูจากปหานะ และไม่มีความทุกข์ จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาผ่องใส สงบเย็น เราได้ไหมบรรลุภาวะเช่นนี้
แต่เราไม่จำเป็นจะต้องไปรอถึงขั้นสิ้นเชิง เพียงแต่ว่าเราบรรลุผลแต่ละขั้น วันหนึ่งๆ เรารู้จักทำใจให้มีปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานปลอดโปร่งผ่องใสบ้าง มีปีติ มีปัสสัทธิบ้าง มีใจสงบตั้งมั่นคงบ้าง เราก็ได้ประจักษ์ผลบ้างแล้ว เราก็บอกว่าเราได้ประจักษ์ในระดับหนึ่ง ยังไม่ถึงกับสิ้นเชิง ก็ยังดีนะ อย่างนี้ก็แปลว่าโยมพอจะวัดผลตัวเองได้อยู่ ก็วัดผลไปในขั้นแต่ละระดับไป อย่างง่ายๆ นี่พระพุทธเจ้าจะตรัสบ่อยมาก ปีที่แล้วก็ย้ำอยากจะให้โยมจำให้แม่นเลย ธรรมะชุดที่เรียกว่า ธรรมสมาธิ 5 พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระหรือโยมก็ตามที่ปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติได้ผลแล้วจิตใจจะเกิดภาวะ 5 อย่าง
1. ปราโมทย์ -- จิตใจชาวพุทธจะเป็นอย่างนี้ ปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบาน
2. ปีติ -- ความอิ่มใจ ปลาบปลื้มใจ
3. ปัสสัทธิ -- ความสงบเย็นผ่อนคลาย อันนี้ถ้าใครปฏิบัติได้อยู่ในโลกสมัยนี้สบาย เพราะคนอื่นเขาเครียด คนที่เป็นชาวพุทธจะไม่มีความเครียด .. ข้อที่ 3 ปัสสัทธิ พระพุทธเจ้าตรัสไว้คู่กัน ปัสสัทธิ เป็นรูปนาม ถ้าเป็นคุณนามเรียกว่า ปัสสัทธะ ที่ตรงข้ามกับ สารัตถะ--แปลว่าเครียด ปัสสัทธะ แปลว่า ผ่อนคลาย สงบเย็นผ่อนคลาย ท่านพูดไว้ว่า คนถ้าเครียดจิตกายก็จะเครียดไปด้วย ถ้าเครียดกายจิตก็จะเครียดด้วย เครียดเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างกายกับจิต เป็นจุดต่อเลยนะ ถ้าจิตเครียดกายจะเครียดด้วย กล้ามเนื้อเส้นประสาทเครียดไปหมด พอเราทำจิตให้ปัสสัทธิ-ผ่อนคลาย กายก็จะผ่อนคลายด้วย แล้วก็จะดีไปหมด เลือดลมก็จะเดินดีขึ้น คู่กันนะ บาลีพระพุทธเจ้าตรัสไว้คู่กันเวลาปฏิบัติ สารัตถะ กับ ปัสสัทธะ ถ้ายังปฏิบัติผิดอยู่หรือยังไม่ปฏิบัติยังไม่ได้ผล สารัตถะ-ก็คือเครียด ปฏิบัติถูกก็ปัสสัทธะ-ผ่อนคลาย
4. สุข -- ฉ่ำชื่นรื่นใจ ไม่มีอะไรติดขัด ไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่มีอะไรกดดัน คับข้อง สุข แปลว่า คล่อง สะดวก ฉ่ำชื่นใจ
5. สมาธิ -- จิตตั้งมั่นสงบไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีอะไรระคายเคืองจิตใจ เป็นจิตใจที่อะไรๆ รบกวนไม่ได้ แล้วจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ .. หมายความว่าเราต้องการจะให้จิตพิจารณาอะไรอยู่กับเรื่องอะไรก็อยู่กับเรื่องนั้น .. ถ้าอยู่ได้ก็มีสมาธิ อยู่ได้ตามต้องการแสดงว่าสมาธิแข็ง ถ้าเก่งจริงก็ต้องอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ คือสมาธิที่เชี่ยวชาญ .. พอสมาธิดีจิตก็จะเป็น 'กัมมนิยะ' เหมาะแก่การใช้งาน ตอนนี้จะเอาปัญญามาพิจารณาอะไรก็ง่าย เหมือนกับน้ำที่ใส นิ่งสงบ ไม่มีตะกอนที่เที่ยวฟุ้งคลุ้งว่อนไปว่อนมา ไปบังโน่นบังนี่ ฝุ่นละอองตกตะกอนนอนก้นจนหมด น้ำใสไม่มีอะไรบัง ฉะนั้นก็มองเห็นชัด ปัญญาก็อาศัยจิตที่เป็นสมาธินี้พิจารณาอะไรก็มองเห็นชัดเจน
ตกลงว่าจิตที่ดีต้องมี 5 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสบ่อยมาก ธรรมะชุดนี้เรียกว่า ธรรมสมาธิ คือ สมาธิต้องแยกเป็น 2 อย่าง คือ ธรรมสมาธิ กับ จิตสมาธิ ธรรมสมาธิก็ 5 อย่างนี้ หมายความว่าธรรมะ 5 อย่างนี้เข้ามาบรรจบประสานกันมั่นแล้วก็จะเกิด จิตสมาธิ คือข้อสุดท้ายของ 5 อย่างนี้ ทวนอีกที ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ .. ข้อปราโมทย์ข้อเดียวก็ประเสริฐเลิศแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคาถาธรรมบทหลายแห่ง "ปาโมชชะ พาหุโล ภิกขุ ทุกขะ สันตัง กะริสันติ" ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป .. ฉะนั้นชาวพุทธที่มีจิตใจปราโมทย์อยู่เสมอ เดินทางเข้าสู่วิถีแห่งพระนิพพานแล้ว อีกแห่งหนึ่งก็ตรัสคล้ายๆ อย่างนี้แต่ลงท้ายว่า "สังขา รูปะ สะมัง สุขัง" ก็คือ ผู้ที่มากด้วยปราโมทย์จะบรรลุความสุขที่ปราศจากการปรุงแต่งที่ระงับสังขาร ก็คือบรรลุนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นโยมต้องทำจิตให้ปราโมทย์อยู่เสมอ
นี่เป็นบทพิสูจน์เบื้องต้น 5 อย่าง ให้จำให้แม่น พระพุทธเจ้าตรัสเวลาใครปฏิบัติธรรมไป แม้แต่ฟังธรรมะของพระองค์ พอฟังไปแล้วปฏิบัติถูก พิจารณาเช่นนี้ก็เกิดปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ ผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนามีแต่ทุกข์จะหมดไป สุขมากขึ้นๆ ทุกข์นั้นท่านให้เรารู้ทันเท่านั้น คือหน้าที่ต่อทุกข์ ใครว่าเข้าถึงอริยสัจข้อ 1 แล้วยังป็นทุกข์ก็คือทำผิดหน้าที่ หน้าที่ต่ออริยสัจยังไม่ค่อยพูดกันทำให้ปฏิบัติผิด ชัดแล้ว ทุกขัง ปริญญายัง ให้จำไว้เลย ทุกข์นี้ต้องปริญญา--ให้รู้เท่าทันทุกข์ เป็นอันว่า ธรรมสมาธิ 5 ประการนี้สำคัญ ต้องยกขึ้นมาเน้นเพื่อปรับสภาพจิตของเราให้พร้อม .. ธรรมสมาธิมาแล้ว จิตสมาธิเกิด เมื่อจิตตสมาธิเกิดก็น้อมจิตที่เป็นสมาธิไปใช้ในทางปัญญา ก็เจริญวิปัสสนา ก็ก้าวหน้าไปเกิดวิชชาถึงวิมุตติ นั่นแหละบรรลุผล ก็เข้าใจแล้วนะ
ก็อยากจะฝากโยมอีกนิดนึง คือการปฏิบัติในพุทธศาสนานี้ มีอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต คือไม่ว่าเรื่องที่เราถือว่าดีหรือร้ายนี่อยู่ที่การปฏิบัติต่อมัน .. เรื่องร้ายปฏิบัติต่อมันให้ถูกก็กลายเป็นดี ต้องเลือกให้เป็นประโยชน์ เรื่องดีถ้าปฏิบัติต่อมันผิดก็กลายเป็นเรื่องร้าย ฉะนั้นจะไปติดว่ามันดีแล้วคิดว่าดีบางทีก็กลายเป็นร้ายไป ยกตัวอย่างง่ายๆ นิวรณ์ 5 นี่เป็นกิเลส ถ้าเราเอานิวรณ์ 5 มาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา พูดให้แคบก็คือเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน พูดจำเพาะอีกก็คือเป็นอารมณ์ของธัมมานุปัสสนา .. ในธัมมานุปัสสนานี้เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นมาก็ไปตามดู ตัวร้ายแท้ๆ นี่ พอธัมมานุปัสสนาไปตามดูก็กลายเป็นดีไปเลย กลายเป็นว่าทำให้เกิดปัญญา กลายเป็นว่าเป็นเครื่องทำให้เกิดความเจริญในการปฏิบัติ ดีไม่ดีก็เลยบรรลุธรรมด้วยการดูนิวรณ์ เจ้าตัวร้ายนี่ก็เป็นประโยชน์ เราใช้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น จะดีจะร้ายนี่เอามาใช้ประโยชน์ได้ นี่ตัวร้ายนะเอามาใช้ได้กระทั่งในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ ไม่ว่าอะไรก็ใช้ได้หมด
ทีนี้ทางดีถ้าเราปฏิบัติผิดก็ร้ายหมด อย่างเราปฏิบัติไปแม้จะบรรลุธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เอาง่ายๆ พระสูตรหนี่งเรียกว่า 'สัปปุริสสูตร' ก็คือสูตรที่ว่าด้วย สัตบุรุษ/อสัตบุรุษ ถ้าบุคคลหรือพระภิกษุได้เจริญสมาธิ เก่งในฌาน หรือเป็นนักเทศน์เป็นธรรมกถึกเอก หรือเป็นพหูสูตมีความรู้ดีอะไรก็แล้วแต่ เกิดความลำพองตัวเองขึ้นมาว่าเราเก่งปฏิบัติสมาธิคนอื่นสู้เราไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัส "เธอเป็นอสัตบุรุษ" นี่เสียทันทีเลย นี่แหละสิ่งที่ดีก็กลายเป็นร้ายไป..ปฏิบัติต่อมันผิด หรือว่า พระภิกษุหรือว่าโยมปฏิบัติธรรมไปได้บรรลุโสดาปัตติผล ในอริยมรรคอริยผลได้บรรลุโสดาบัน เกิดความพอใจพระพุทธเจ้าใช้คำว่า "ภิกษุนั้นบรรลุสันโดษ" .. 'สันโดษ' อันนี้ใช้ตามบาลี แต่คนอ่านพระไตรปิฎกไม่รู้บาลี อ่านแล้วไม่รู้ว่าศัพท์ของท่านคืออะไร พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยก็แปลสันโดษว่า พอใจยินดี แล้วเราก็ไม่รู้ก็แปล ภิกษุสันโดษว่า = พอใจ ก็ว่าภิกษุพอใจว่าเรานี้ได้บรรลุธรรมถึงขั้นนี้แล้ว พอสันโดษพอใจเท่านี้แหละ พระพุทธเจ้าตรัส "เธอประมาทวิหาร"--เป็นผู้อยู่ในความประมาทแล้ว .. นี่โดนประณามแล้ว ก็ไม่เห็นทำอะไรเสียเลยใช่ไหม ก็แค่ยินดีพอใจสันโดษในธรรมที่บรรลุแล้วเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงติเตียนทันที -- เฉื่อยเลย เพราะว่าคนที่พอใจว่าตนได้บรรลุธรรมขั้นไหนก็ตาม พอใจขึ้นมานี่จะเฉื่อย พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ตราบใดที่ยังไม่บรรลุอาสวขยญาณ--ความสิ้นไปแห่งอาสวะ อย่าได้นอนใจเป็นอันขาด" ในคาถาธรรมบทก็มี .. จะได้บรรลุธรรมแค่ไหน จะได้ฌานได้อะไร ได้ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมะ ถึงขั้นไหนก็ตามเป็นอนาคามีก็แล้วแต่ ตราบใดที่ยังไม่ถึงอาสวักขยญาณอย่าได้ถึงความนอนใจ พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ฉะนั้นให้ปฏิบัติไป ถ้าหากว่าไปพอใจสันโดษขึ้นมาที่ท่านเรียกว่าสันโดษในกุศลธรรม .. 'สันโดษในกุศลธรรม' นี่ผิดนะ สันโดษในวัตถุเสพบริโภค นี่ถูกต้อง แต่สันโดษในกุศลธรรมนี่ผิด.. กรณีนี้ก็คือพระภิกษุไปสันโดษในธรรมที่ได้บรรลุ พระพุทธเจ้าบอกว่า "เธอประมาทวิหาร"--เป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท เตือนให้เร่งรัดปฏิบัติต่อไป คือ เพียรพยายาม .. คือสิ่งที่ดีที่ปฏิบัติผิดต่อมันนิดเดียวก็เสียแล้ว หรือความสุขนี่เราได้สุขเราปฏิบัติไปได้สุขที่ดีขึ้นประณีตขึ้น เราไปติดสุขนี่เสียทันที ไปติดสุขเท่านั้นก็เกิดความประมาท เกิด 'โกสัชชะ' ขึ้นมา ติดสมาธิติดอะไรก็เสียหมดทั้งนั้น มัวเมาในปัญญาก็ผิดอีกกลายเป็นคนพาลไป เป็นอสัตบุรุษ
ก็หมายความว่าเราจะต้องตรวจสอบตัวเองอยู่เรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นเครื่องที่จะให้เรารู้จักใช้ประโยชน์ หลักการนี้คือ หลักปฏิบัติ .. ใช้ไม่ว่าดีหรือร้ายให้เป็นประโยชน์ ที่ท่านเรียกว่า 'โยนิโสมนสิการ'นั่นเอง ไม่ว่าจะดีจะร้ายใช้ให้เป็นประโยชน์ให้หมด คือ
1.หาความจริง หาความรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้
2.หาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้เรียกว่า 'โยนิโสมนสิการ' ไม่ว่าดีว่าร้ายต้องหาทาง หาความรู้จริงและหาทางใช้ประโยชน์ให้ได้ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือร้าย แล้วจะได้หมดทุกอย่าง แต่ถ้าว่าสิ่งนั้นจะดีหรือไรก็ตาม แม้จะดีมากแต่ปฏิบัติธรรมต่อมันผิดก็เสียอีก เสียหมด เป็นคติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ทำให้เราใช้หลักความไม่ประมาท ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเน้นเรื่องความไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็ใช้โยนิโสมนสิการอยู่เรื่อย โยนิโสมนสิการก็สามารถทำให้เราใช้ประโยชน์ได้จากทุกอย่าง หาความรู้ได้จากทุกอย่างแล้วก็เจริญพัฒนาต่อไป
วันนี้ก็ได้พูดกับโยมมามากแล้ว โยมก็ไม่ถามอะไรเลย ก็พอดีแหละ .. เป็นว่าท่านอาจารย์ระวีท่านจะมาตอนบ่าย ก็ฝากอนุโมทนาท่านด้วย อนุโมทนาท่านที่ได้มาสนับสนุนโครงการนี้ ญาติโยมได้ปฏิบัติก็ถือว่า เป็นผู้ปฏิบัติเองและชวนให้ผู้อื่นปฏิบัติด้วย ทั้งปฏิบัติเองและชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรม ท่านถือว่าเป็นการที่ทำกุศลอย่างสูงนะ โยมทุกท่านก็เหมือนกัน ทั้งปฏิบัติเองและชวนกันปฏิบัติ เมื่อชวนกันปฏิบัติก็เกิดความสามัคคี เมื่อสามัคคีก็เกิดกำลังแข็งขันปฏิบัติก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา วันนี้อาตมาก็ได้มาพบกับโยม ชาวธรรมสถานและญาติมิตรที่ได้มาปฏิบัติธรรม ก็อย่างที่กล่าวข้างต้น แล้วก็อนุโมทนาทั้งศรัทธาและฉันทะ พร้อมทั้งคุณธรรมความดีอื่นที่เป็นผลจากการที่ได้ปฏิบัติ หวังว่าโยมปฏิบัติแล้วก็ได้ประจักษ์แจ้งได้ สัจฉิกิริยา ทำผลนั้นให้ประจักษ์แก่ตนเองไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็ผลในจิตใจที่เบิกบานผ่องใส คลายความเศร้าหมองขุ่นมัวลง มีจิตใจสงบ และนอกจากนั้นก็จะมีผลงานทางด้านศีลเอง เมื่อจิตใจดีแล้วสมาธิดี ออกมาทางศีล ทางการปฏิบัติ กาย วาจา ก็พลอยดีสงบเย็น ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันและเกื้อกูลต่อกัน ทำให้สังคมของเรานี้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ถ้าแผ่ขยายต่อไปอย่างนี้ สังคมเราก็จะมีสิ่งที่เราเรียกว่าสันติภาพ คงไม่ใช่แค่สันติภาพแต่มีสันติสุขทีเดียว สิ่งหนึ่งที่โยมคิดว่าได้แน่ก็คือปัญญา ปัญญาตัวนี้จะมาเป็นตัวหนุนให้จิตของเราก็จะพัฒนาก้าวหน้าไป ศีลเราก็จะพัฒนาก้าวหน้าไป ก็คือไปด้วยกันทั้งหมดทั้งชุดทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา
วันนี้อาตมภาพในนามของพระสงฆ์และพุทธบริษัท ก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันจบครบ 12 ครั้งของคณะโยมผู้ปฏิบัติ ก็ได้เจริญกุศลมาจนครบเวลา ก็ถือว่าเป็นผู้มีความเพียรพยายามเข้มแข็ง แล้วก็สืบต่อจากปีที่แล้ว ส่วนกาลข้างหน้าก็เป็นเรื่องที่จะได้ตกลงกันดำเนินต่อไป แต่เฉพาะบัดนี้ก็ขออนุโมทนาไว้ แล้วก็ขอตั้งใจปรารถนาดีต่อกัน ความปรารถนาดีต่อกันที่เรียกว่าเป็นพร เกิดขึ้นมาแล้วก็ใจสบาย ก็คือชวนกันให้เกิดกุศลนั่นเอง .. อาตมาให้พรก็คือตั้งใจเป็นเมตตาต่อญาติโยม และโยมก็เมื่อได้ตั้งใจรับพรนั้นก็ทำใจให้เป็นกุศลไปด้วย ให้แช่มชื่นเบิกบานผ่องใส ก็ขอคุณพระรัตนตรัยอภิบาลอวยชัยให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพร มีความร่มเย็นงอกงามในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสุข มีความเจริญงอกงามในชีวิตของตน ในครอบครัว ในชุมชน ในหน่วยงานองค์กรต่างๆ จนกระทั่งถึงสังคมส่วนรวม และก็แผ่ความสงบร่มเย็นนี้ไปกับชาวโลกด้วย ให้โลกที่กำลังมีปัญหากันมากมายนี้ ได้ผ่อนคลายลงบ้าง ก็จะเป็นแรงอย่างน้อยก็มาดุลกันไว้ ก็ขอให้อย่างน้อยในใจของทุกท่านมีความสุข และก็มีความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้นๆ คือเป็นความสุขที่เป็นนิรามิส อิงอาศัยขึ้นกับอามิสน้อยลง เป็นอิสระเป็นไทยแก่ตนมากขึ้น จนเป็นสุขที่แท้จริง ก็จะเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอให้ทุกท่านจงได้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ ได้บรรลุผลอันดีงามดังที่กล่าวมานี้โดยทั่วกัน ทุกท่านทุกเมื่อเทอญ