แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อย่างที่บอกเมื่อกี้บอกว่าจะพูดพอให้เห็นภาพเท่านั้น ตอนนี้ขอให้ผู้ฟังนั้นก็ฟังแบบผ่าน ๆ ไป ไม่ต้องเอาใจใส่มากนักกับเรื่องชื่อศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะทำให้จำยาก ถ้าเป็นตั้งใจมากกับศัพท์เหล่านี้แล้วก็จะทำให้เกิดความสับสนได้ขอให้เป็นการฟังผ่าน ๆ หูไป พอให้เห็นภาพอย่างที่กล่าวเบื้องต้น ถ้าต้องการรายละเอียดจริง ๆ ก็มีหนังสือพิมพ์มีตำรับตำราสำหรับค้นคว้าได้
ก็เริ่มตั้งแต่หมวดที่ 1 ก็คือกสิณ 10 กสิณ 10 เมื่อกี้บอกแล้วว่าเป็นของสำหรับเอามาเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ ความจริงกสิณนั้นแปลว่าทั้งหมด คำว่าทั้งหมดนี้หมายความว่าของอย่างนั้นมาจัดเข้าในรูปที่เราจะมองเห็นทีเดียวหมดเลย เมื่อมองเห็นหมดแล้วก็เห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียว มันจะได้ช่วยจิตให้เป็นสมาธิได้ นี้กสิณโดยมากเนี่ยจะไปของที่เราจัดทำขึ้นไม่ใช่ของตามธรรมชาติ แม้ว่าท่านจะให้หลักการไว้ว่าจะใช้ของตามธรรมชาติก็ได้แต่ว่ามีข้อไม่สะดวกหลายประการ คือว่าที่เราต้องจัดทำกสิณขึ้นมาโดยเฉพาะนี่ก็เพราะว่า
1 ก็เพื่อความสะดวกของนั้นเราจะได้ติดตัวไปเก็บไว้กับตัวเราจะใช้ปฏิบัติเมื่อไหร่ก็ออกมาใช้ได้ ถ้าเป็นของธรรมชาติอย่างกสิณที่เพ่งดินเพ่งน้ำเราก็ต้องออกไปมองดินมองน้ำนั้นและก็อีกประการหนึ่งคือรูปร่างแล้วก็อาการลักษณะของสิ่งนั้นจะไม่เป็นไปตามที่เอื้ออำนวยเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ เพราะว่าสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ กสิณจะต้องเป็นดินล้วน เป็นของบริสุทธิ์อย่างนั้นอย่างเดียว อย่างถ้าเราไปเพ่งดินตามธรรมชาติอาจจะมีอะไรปะปนอยู่แล้วก็ไม่เรียบร้อย กสิณที่ท่านต้องการของบริสุทธิ์เป็นของวัตถุอย่างเดียวล้วน แล้วก็เรียบทำเสียอย่างที่ว่าเป็นดินก็จัดให้เรียบเป็นหน้ากลองเลย ฉะนั้นของตามธรรมชาตินี้เป็นไปได้ยาก ก็เลยนิยมว่าจัดทำขึ้นซึ่งสิ่งที่จัดทำสำหรับให้เพ่งนี้โดยมากก็จะมีขนาดบอกว่า 1 คืบ 4 นิ้ว ขนาด 1 คืบ 4 นิ้วนี่ถ้าหากว่าเทียบกับมาตราปัจจุบันนี้ก็ประมาณ 1 ฟุต ก็พูดกันง่าย ๆ ประมาณ 1 ฟุต ที่จริงก็ไม่เท่ากันทีเดียว อ้าวละสิ่งที่นำมาใช้ในการเพ่งกสิณนี่โดยมากก็จะจัดทำขึ้นในรูปร่างที่มีขนาดเป็นวงกลมแล้วก็มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 คืบ 4 นิ้วหรือประมาณ 1 ฟุต แล้วเป็นของล้วนเป็นของบริสุทธิ์แล้วก็เรียบทำให้จิตนี่จะได้ไม่วอกแวกไม่คิดฟุ้งซ่าน คือไม่มีสิ่งที่มันสะกิดจิตให้จิตคิดอะไรต่ออะไรฟุ้งซ่านขึ้นมา ทีนี้เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นก็ขอให้ดูว่ากสิณที่ว่า 10 อย่างมีอะไรบ้าง กสิณ 10 อย่างนี้ก็
ประเภทที่ 1 จะเป็นพวกที่เราเรียกกันว่าธาตุ 4 ธาตุ 4 นี้ภาษาพระเรียกว่า ภูตกสิณ กสิณคือธาตุ 4 นั่นเอง ธาตุ 4 ในที่นี้ไม่ใช่ธาตุที่แท้จริงหรอก เป็นธาตุที่ชาวบ้านพูดกันคือหมายความว่า ก็เอาธาตุนี้มาสมมติเรียกสิ่งที่เรารู้จักกันซึ่งจัดเป็นประเภทได้เป็นของแข็งของเหลว แล้วก็เป็นไฟเป็นแก๊สอะไรนี้ เป็นความร้อน ทีนี้ก็พูดกันภาษาชาวบ้านก็เรียกดินน้ำลมไฟ เวลาทำกสิณก็เอาสิ่งที่สมมติเหล่านี้แหละที่เรียกกันว่าธาตุ 4 นี่มากำหนด
อันที่ 1 ก็เรียก ปฐวีกสิณ กสิณคือดิน ก็เอาดินนั่นแหละมาจัดทำเป็นวงกลมขึ้นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ให้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 คืบ 4 นิ้วอย่างที่ว่าเมื่อกี้แล้วหรือประมาณ 1 ฟุต ดินนั้นท่านบอกว่าควรจะเป็นสีอรุณสีตอนรุ่งเช้าคือสีของอรุณนั่นเอง แล้วก็ทำให้เรียบเป็นหน้ากลอง แล้วก็ทำขอบจะเอาอะไรมาทำขอบกันไว้ให้วงกลมนั้นตั้งอยู่ได้มั่นคงซึ่งขอบนี่ก็จะ ควรจะมีสีเขียวประมาณ ¼ นิ้ว หมายความว่า ขอบความกว้างของขอบนั้นอย่างนั้นความหนาของขอบขนาดนั้น เพื่อจะให้เป็นส่วนที่ช่วยให้ตัวกสิณคือดินนั้นเด่นชัดขึ้นมาแล้วก็เพ่งมองไปที่ดินนี้ ซึ่งสายตาทอดไปวางอยู่ข้างหน้ามันจะพอดี สายตาจะมองเห็นทีเดียวหมด แล้วนี่ก็เพ่งที่ดินนี้จนกระทั่งว่าภาพดินที่จัดเป็นวงกลมนั้นติดตาหลับตามองเห็นอันนั้นก็เป็นการเริ่มในการเจริญภาวนา ที่เรียกว่าทำกสิณ แต่นี่ตอนนี้อาตมาจะไม่พูดวิธีปฏิบัติจะพูดให้เห็นแนววิธีนิดหน่อยก็เป็นอันว่านี่คือกสิณที่ 1 ปฐวีกสิณ เอาดินมาจัดขึ้น ถ้าไม่เพ่งของที่จัดทำขึ้นก็ไปเพ่งของธรรมชาติ เช่น ลานดิน แม้แต่ลานนวดข้าวเป็นต้น ซึ่งเขาก็มีความราบพอสมควร อันนั้นก็มองไกลหน่อยก็ใช้ของใหญ่ได้ แต่ก็ไม่สะดวกอย่างที่ว่ามาแล้ว ต้องคอยเดินไปหาก็รวมแล้วควรจะใช้ของจัดทำขึ้นอันนี้ต่อไป
ข้อที่ 2 ก็คือน้ำ อาโปกสิณ กสิณคือน้ำ ก็เอาน้ำที่ใสบริสุทธิ์นี่มาใส่ขันหรือภาชนะที่มีความกว้างเป็นเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 คืบ 4 นิ้วหรือประมาณ 1 ฟุตอย่างที่ว่านี่เป็นภาชนะกลม ต่อไปก็เตโชกสิณคือไฟ ไฟนี่ทำยังไง วิธีที่จะเพ่งดูไฟนี้ก็ใช้วิธีว่าให้ไฟอยู่ข้างนอกแล้วเราก็เจาะแผ่นผ้าหรือแผ่นหนัง หรือแผ่นอะไรก็แล้วแต่เป็นวงกลม ขนาดที่ว่าเมื่อกี้ 1 คืบ 4 นิ้ว แล้วก็ไปขึงไว้ระหว่างเรากับไฟนั้นให้ภาพไฟนั้นปรากฏแก่เราในวงกลมแล้วก็เพ่งไปที่ไฟ แล้วต่อไปก็วาโยกสิณ เพ่งลม เอาลมมาเป็นกสิณนี่ ท่านบอกว่าให้เพ่งดูที่ยอดไม้ใบไม้ที่ไหว หรือแม้จะลมที่มาสัมผัสกาย วันนี้คือวิธีที่จะเพ่งลม นี่ก็เป็นอันว่าหมดกสิณในหมวดที่เกี่ยวกับธาตุ 4
ต่อไปหมวดที่ 2 เป็นกสิณเกี่ยวกับสี ท่านเรียกกันว่า วรรณกสิณ มี 4 อย่าง กสิณที่เป็นเรื่องของสี ก็มีสีเขียว เรียกว่า นีลกสิณ วิธีทำนีลกสิณสีเขียวก็คือเอาแผ่นผ้าสีเขียวนั้นมาทำเป็นวงกลมขึ้นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็แบบเดียวกันนั่นเองแต่มุ่งที่สี ต่อไปก็เป็นปีตกสิณ กสิณคือสีเหลือง ก็เอาผ้าเหลืองมาตัดเป็นวงกลมเข้าแล้วก็เพ่ง ต่อไปก็โลหิตกสิณ กสิณเป็นสีแดง ก็เอาแผ่นผ้าสีแดงมา หรือจะไม่เอาแผ่นผ้าก็ได้ ก็เอาดอกไม้สีแดงมาแล้วก็จัดเข้าอาจจะเอามาอัด ๆ กันเข้าแล้วทำเป็นวงกลมก็ได้แล้วก็สุดท้ายก็โอทาตกสิณ กสิณคือสีขาวก็เอาผ้าสีขาวมาตัดเป็นวงกลมเข้าแล้วก็เพ่ง นี่ก็เป็นกสิณซึ่งว่าเพ่งไปแล้วจะทำให้จิตนี่อยู่กับสิ่งนั้นได้ง่ายแล้วก็เกิดภาพในใจ ท่านเรียกเป็นนิมิตรขึ้นมา ก็หมดวรรณกสิณ
ต่อไปก็เป็นสิ่งที่นอกจากนี้ ก็มีอีก 2 อย่าง นอกจากว่ากสิณคือธาตุ 4 หรือภูตกสิณ แล้วก็นอกจากกสิณคือ สีทั้ง 4 แล้วก็มีอีก 2 อย่าง ได้แก่ อากาสกสิณ กสิณคือช่องว่าง ก็เจาะฝาเรือนหรือเจาะผนังเข้าไปเป็นวงกลม 1 คืบ 4 นิ้ว อย่างที่ว่านี่ แล้วก็ใช้เป็นที่เพ่งมองดูช่องว่างคือความว่างเปล่า อันนี้ก็เรียกว่าอากาสกสิณ แล้วสุดท้าย อาโลกกสิณ กสิณคือแสงสว่างอันนี้ก็ใช้วิธีเจาะฝาหรือเจาะผนังเหมือนกันแล้วก็ให้แสงอาทิตย์หรือแสงไฟนี้ลอดเข้ามาอาจแม้แต่เป็นแสงจันทร์ก็ได้ลอดเข้ามาแล้วเราก็มองดูแสงที่ลอดเข้ามาจับนั้น อันนี้ก็ตรงกันข้ามกับไฟที่เราเพ่งออกไปผ่านช่องนั้นไปที่ตัวไฟ อันนี้เรากลับมาเพ่งที่แสงที่เข้ามา นี้ทั้งหมดก็คือ กสิณ 10 อย่าง โบราณนี้การทำสมาธิจะพูดถึงกสิณมากบ่อย ๆ แสดงว่าในสมัยโบราณนี่คงนิยมเรื่องการใช้กสิณในการทำสมาธิหรือการเจริญจิตภาวนาด้วยกสิณเป็นอารมณ์นี้มาก ก็ขอผ่านไป
ทีนี้ต่อไปก็หมวดที่ 2 ที่เรียกว่าอสุภะ 10 ประการ อสุภะนั้นแปลตามตัวแปลว่าสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม แต่ว่าในที่นี้ใช้ในความหมายจำกัด สิ่งที่ไม่สวยไม่งามในที่จำกัดว่าเป็นศัพท์วิชาการหมายถึงซากศพ แล้วก็ที่ว่าเป็น 10 ก็คือซากศพที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ในสภาพต่าง ๆ กัน หมายความว่าคนตายแล้วร่างกายนี้จะเปลี่ยนไปเป็นระยะระยะ แล้วก็เอามาซากศพที่อยู่ในระยะต่าง ๆ นี่มาใช้เป็นอารมณ์สำหรับพิจารณาคือเป็นกรรมฐานเพื่อจะทำให้จิตเกิดสมาธิขึ้น เวลาพิจารณาซากศพ เราก็ดูซากศพไปในใจก็พูดว่าในใจพูดถึงสภาพศพอย่างนั้น เพื่อว่าให้จิตนี่จะได้อยู่กับสิ่งที่เราเพ่งมองเป็นการที่ว่าช่วยกำกับจิตเพิ่มขึ้นไม่ให้จิตร่องลอยไปที่อื่น อันนี้ก็จะต้องมาดูว่าซากศพ 10 ระยะนั้นมีอะไรบ้าง อ้าวก็ขอพูดรายการไปเลยซึ่งก็อย่างที่ว่าไม่จำเป็นจะต้องจำผ่าน ๆ ไป 1 ก็ท่านเรียกว่า อุทธุมาตกะ ซากศพขึ้นอืดคนตายไปแล้วระยะแรกไม่ช้าก็จะขึ้นอืดคือพองบวมขึ้น ต่อไป 2 วินิลกะ แปลว่าซากศพที่ขึ้นสีเขียวคล้ำ แล้วก็ต่อไประยะที่ 3 เรียกว่าวิปุพพกะ ศพที่มีน้ำเหลืองเยิ้ม แล้วก็ 4 วิจฉิททกะ ซากศพที่ขาดเป็นท่อนในที่นี้หมายถึง 2 ท่อน ต่อไปก็ 5 วิกขายิตกะ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดทึ้งอันนี้ในสมัยโบราณเขาเอาศพไปทิ้งในป่าช้า มันก็จะมีสภาพอย่างนี้คือ ถูกสัตว์ทั้งหลายกัด แต่ในสมัยปัจจุบันนี้จะหาได้ยาก เพราะฉะนั้นกรรมฐานแบบนี้บางที่ก็สภาพชีวิตสังคมปัจจุบันก็ทำให้เราไม่มีโอกาสใช้ ต่อไปก็วิขิตตกะ แปลว่าศพที่กระจุยกระจายแยกเป็นส่วน ๆ ชิ้นส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจายกันออกไป แล้วต่อไปก็ หตวิกขิตตกะ แปลว่าศพที่ถูกสับเป็นท่อน ๆ แล้วก็โลหิตตกะ ศพที่มีเลือดอาบ ลำดับที่ 9 ปุรุวกะ ศพที่หนอนขึ้นคาคล้ำศพที่เป็นหนอน แล้วสุดท้าย 10 อธิกะ ซากศพที่เหลือแต่ร่างกระดูกหรือโครงกระดูก คือเป็นโครงกระดูกหรือกระดูกเป็นท่อนก็ได้ นี่แหละทั้งหมดนี้นำเอามาใช้พิจารณาได้ ซึ่งมันจะเหมาะสำหรับสภาพจิตใจคนบางแบบ
มันบอกว่าคนที่จะไปพิจารณาเป็นซากศพเป็นอารมณ์กรรมฐานนี่จะต้องระวังเหมือนกัน คือถ้าหากทำไม่ดีแล้วเกิดความกลัวขึ้นมาจิตฟุ้งซ่านนี่กลายเป็นว่าเห็นภาพไปต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาพปรุงแต่งในใจของตัวเองแล้วถึงกับเสียสติได้ ท่านก็เลยบอกว่าเวลาจะไปป่าช้าไปพิจารณาซากศพนี่ถ้ากลัวผีควรจะไปกันสอง สามคนแล้วพิจารณาด้วยกัน ท่านยังมีวิธีอีกบอกว่า เวลาพิจารณาให้ยืนตรงนั้นทำอย่างนั้น เช่นว่าไม่ยืนเหนือลมไม่ยืนใต้ลมอะไรต่าง ๆ เป็นต้นนี่ อันนี้ก็เป็นวิธีการซึ่งเป็นเรียกว่าเป็นเทคนิคละ เพื่อจะให้การภาวนานั้นได้ผล แต่ท่านยังมีบอกไว้อีกอย่างหนึ่ง แม้ว่าคนอาจจะกลัวผี แต่ว่าคนที่กลัวผีนี่แหละกลับพิจารณาอสุภะนี่ได้ผลดีก็คงไม่กลัว เพราะอะไร เพราะว่าภาพมันติดตาคือการพิจารณาเพื่อให้เกิดสมาธินี่สิ่งที่ต้องการอย่างหนึ่งคือสิ่งท่านเรียกว่านิมิตร นิมิตรก็คือภาพที่เกิดขึ้นในใจของเรา ซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งที่เราเพ่งมองนั้น นี้คนที่กลัวผีเนี่ยจะเกิดนิมิตรได้ง่าย นิมิตรที่เหมือนของจริงแล้วจะใช้ได้จะดี นั้นยิ่งผีก็ได้นิมิตรง่าย ก็เลยกลายเป็นว่าได้สมาธิง่ายไป แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็ท่านบอกว่าก่อนที่จะได้นิมิตรที่ถูกต้องนี่มันจะเกิดนิมิตรภาพที่จิตปรุงแต่งเอาเองที่ไม่เหมือนของจริงกลายเป็นว่าศพลุกขึ้นมาวิ่งมาอะไรจะทำอะไรอันตรายเป็นต้นจะทำให้เสียสติได้ แต่ถ้าเป็นนิมิตรที่ถูกต้องแล้วคือภาพของจริงนั่นแหละปรากฏขึ้นในใจของเราเหมือนของจริงอย่างนั้น อันนั้นคือสิ่งที่ต้องการ นี้เวลาที่จะไปพิจารณาซากศพ ท่านก็เลยแนะนำบอกว่าให้เอาไม้เท้าไปด้วย ที่เอาไม้เท้าไปนี่คงคิดว่าจะไปสู้ผี แต่ว่าท่านบอกว่า วัตถุประสงค์ประการที่หนึ่ง ก็คือจะได้เอาไปจัดซากศพ คือซากศพนี่บางทีมันอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การที่เราจะพิจารณาที่จะดูก็เลยเราเอาไม้ไปจับไม่ให้เอามือจับ ที่ท่านไม่ให้เอามือไปจับไปจัดนี่ก็นอกจากเรื่องสุขภาพอนามัยน่ารังเกียจก็ท่านบอกว่า วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งก็คือว่า เพื่อจะไม่ให้เกิดความรู้สึกชินชา คือถ้าเราเอามือไปจัดศพบ่อย ๆ วันนี้ไปก็จัด พรุ่งนี้ไปก็จัด จัดบ่อย ๆ ท่านบอกว่ามันจะเกิดความชินชา พอเราเกิดความชินชาขึ้นเลยหายกลัว พอหายกลัวแล้วก็เลยทำให้กรรมฐานไม่ค่อยได้ผล ท่านบอกเหมือนสัปเหร่อที่เห็นศพจนชินจับอยู่ทุกวันก็เลยไม่ได้สมาธิจากศพนั้น นี้ก็เลยเอาไม้เท้าไปด้วยจะได้เอาไปเขี่ยไปจัดศพแล้วก็เราก็ยังกลัวอยู่อย่างเดิม อันนี้ก็เป็นความมุ่งหมายอย่างหนึ่งแล้วก็เป็นกำลังใจด้วยรู้สึกว่ามีอะไรที่จะช่วยตัวเอง ถ้าเกิดผีลุกขึ้นมาจริง ๆ ก็จะได้ฟาดผีให้ล้มลงไปอันนี้ก็แล้วแต่ นี้ก็ขอผ่านไปแล้ว
ตกลงว่าเวลาพิจารณามองดูศพนั้นก็นอกจากดูไปแล้วก็ให้มีอะไรกำกับใจไม่ฟุ้งซ่านก็เลยให้ว่าคำพิจารณาไปด้วย อย่างศพชนิดที่ 1 นั้นเราเรียก อุทุมาทะกัง ศพที่ขึ้นอืด เราก็ว่าในใจ อุทุมาทะกัง อุทุมาทะกัง หรือท่านเติมว่า อุทุมาทะกังปฏิกุรัง แปลว่าศพขึ้นอืดน่ารังเกียจหรือน่าเป็นปฏิกูลอะไรนี่ว่าไปในใจ เพื่อจะให้มันกำกับจิตไม่ฟุ้งซ่าน อันนี้ก็เป็นวิธีการในการที่จะปฏิบัติ แม้แต่ในเรื่องกสิณที่ว่ามาอาตมาก็ลืมบอกไปก็ใช้วิธีปฏิบัติอย่างเดียวกันเวลาเพ่งกสิณนี่เราก็ต้องว่าไปในใจด้วย ว่าในใจอย่างเพ่งกสิณดินหรือปฐวีกสิณ เราก็บอกในใจว่าในใจของเราเพ่งไปก็ว่าไปในใจ ปฐวี ปฐวี ปฐวี คือมันจะได้ช่วยกันให้จิตนี้ไม่ฟุ้งซ่านไปไหน นี่พิจารณาซากศพก็ว่าไปตามสภาพซากศพนั้น ๆ จนกระทั่งอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ว่าเกิดเป็นภาพนิมิตรขึ้นมาในใจ เวลาเกิดเป็นภาพนิมิตรในใจแล้ว นิมิตรนี่มันจะละเอียดปราณีตขึ้นไป จนกระทั่งถึงขั้นที่เป็นนิมิตรปราณีต นิมิตรปราณีตนั้นจะไม่น่ากลัวจะเป็นของที่สอาดบริสุทธิ์ แม้แต่เป็นซากศพแต่ปรากฏขึ้นในจิตของคนเราที่ได้นิมิตรในทางสมาธินี่เป็นภาพที่สอาดบริสุทธิ์ แต่ท่านก็บอกว่าให้เข้าใจสภาวะที่เราต้องการคือให้เห็นความปฏิกูล เห็นความเป็นของน่ารังเกียจ อะไรเป็นต้นเพื่อจะให้แก้ปัญหาของจิตใจในบางอย่างซึ่งจะได้พูดต่อไป เอาละนี้ก็เป็นเรื่องของอสุภะ 10 ประการ ซึ่งจะเหมาะสำหรับลักษณะจิตใจของบางประเภทที่จะได้พูดข้างหน้า
ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่ 3 ได้แก่อนุสสติ 10 อนุสสติก็แปลว่า สิ่งที่ดีงามที่ควรหมั่นระลึกถึงเอามาให้จิตระลึกถึงบ่อย ๆ เป็นอารมณ์ของจิตใจ อันนี้ก็เป็นขอไล่ชื่อไปเลย ก็มี 1 พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าพิจารณาพระคุณความดีของพระองค์ อ้าวเช่นว่าระลึกคุณพระพุทธเจ้าอ้อพระองค์มีพระคุณ 3 ประการมี พระปัญญา พระวิสุทธิกรุณา หรือขยายไปตามบทอิติปิโส ภะคะวา เป็นพุทธคุณ 9 พุทธคุณแต่ละอย่าง อะระหังก็ขยายไปทำไมจึงเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ อันนี้บางทีเราต้องอาศัยไปเรียนด้วย ไปเรียนจากครูอาจารย์หรือ ตำหรับตำราขยายความเรื่องพุทธคุณแล้วก็มาพิจารณาตามนั้นมันก็ทำให้จิตของเรานี่ก็อยู่กับความดีงาม สิ่งที่เราศรัทธาใจก็สงบ แล้วทำให้เกิดสมาธิได้ ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง 2 ธัมมานุสสติ ระลึกถึงพระธรรมพิจารณาคุณความดีของพระธรรม 3 สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์พิจารณาคุณความดีของท่าน ต่อไปก็มี สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตนความประพฤติปฏิบัติของตนเองที่ดีงามบริสุทธิ์ เช่นเรารักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์ดีงาม ระลึกถึงศีลของตนที่ตนประพฤติได้ก็เป็นการสำรวจตัวเองด้วยเป็นการเตือนใจตัวเองไปด้วยให้ทำแต่สิ่งที่ดีงาม แล้วก็เมื่อระลึกขึ้นมาแล้วเราก็ทำดีประพฤติความดีบริสุทธิ์เกิดปิติขึ้นมาทำให้เกิดสมาธิได้ เกิดความอิ่มใจสบายใจ ต่อไปก็จาคานุสสติ ระลึกถึงการเสียสละการบริจาคก็ระลึกถึงว่าเราได้ทำทาน ได้ให้ทานไปแล้วก็ระลึกถึงความเผื่อแผ่เสียสละคุณความดีนี่ที่มีในใจของเรานี่เรามีความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ระลึกขึ้นมาแล้วใจก็จะได้มีปิติอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็เป็นทางทำให้ใจสงบ แล้วก็ต่อไปข้อที่ 6 เทวตานุสสติ ระลึกถึงเทวดา การระลึกถึงเทวดานี้ไม่ใช่หมายความไประลึกถึงเทวดาองค์นั้นองค์นี้ เก่งอย่างงั้นอย่างงี้มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ระลึกในแง่ว่าเทวดาท่านนั้นมีคุณความดีอย่างนี้ อ๋อแล้วนึกมาเทียบในตัวเอง บอกว่าคุณความดีนี้มีในตัวเราไหม เราก็มีคุณความดีนี้ทำให้เป็นเทวดาอย่างนั้นเหมือนกันก็ให้โน้มมาหาตัวเอง คือแทนที่จะนึกถึงเทวดานั้นวิเศษวิโสอย่างไรกลับไปนึกถึงคุณความดีของเทวดา แล้วนำเอามานึกโน้มเข้ามาในตนเองว่าคุณความดีที่ทำเป็นเทวดาอย่างนั้นมีในตนเองมันเป็นการระลึกที่แก้ปัญหาจิตใจคือเปลี่ยนแนวทางความคิดของคนไม่ให้ไปยุ่งกับเรื่องที่จะไปเกิดโลภะ ไปหวังการดลบันดาลเทวดาหรือเกิดความหลงงมงายไปกับฝากชะตากรรม แต่ให้มองมาในแง่สิ่งที่ตนจะต้องทำพอระลึกถึงเทวดาก็แทนที่จะไประลึกในทางอื่นก็ระลึกถึงสิ่งที่ตนจะต้องทำต่อไป คือคุณความดีที่ต้องบำเพ็ญ อันนี้ก็เรื่องระลึกเทวดาในทางที่ถูกต้อง เป็นวิธีการพุทธศาสนาเพราะว่าคนนี่เชื่อเทวดากันมากยิ่งสมัยโบราณด้วย เราก็ชักจูงจิตคนให้มาในทางที่ถูกต้อง ต่อไปก็มรณสติ ระลึกถึงความตาย อันนี้ก็ระลึกถึงเรื่องของธรรมดาของชีวิตที่ชีวิตของทุกคนรวมทั้งตัวเรานี่ โดยเฉพาะตัวเรานี่ก็ต้องมีความตายเป็นเรื่องธรรมดา ระลึกแล้วเราจะได้มีความไม่ประมาทเร่งทำความดีไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า และอีกอย่างหนึ่งก็จะได้ไม่หลงในชีวิตไม่ระเริงในการดำเนินชีวิตไม่หลงไปทำความชั่วจะได้ทำชีวิตให้มีคุณค่า อันนี้การระลึกถึงความตาย อย่างน้อยก็ทำให้เกิดจิตใจที่สงบได้ถ้าระลึกถึงอย่างถูกต้องเกิดความเข้าใจความจริงของชีวิตก็สงบจากกิเลส
ต่อไปก็ข้อที่ 8 กายคตาสติ สติระลึกถึงที่ไปในกายของตัวเอง หมายความว่าสตินี้เหมือนกับเดินไปในตัวของเรานี่แหละระลึกไปในตัวของเรานี่ ในตัวของเรามีอะไรบ้าง ร่างกายของเราประกอบด้วยอะไร คนเรานี่มองแต่สิ่งภายนอก บางทีไม่เคยนึกเลยถึงตัวเราเอง นึกถึงชีวิตของเราโดยเฉพาะสิ่งที่หยาบที่สุดก็คือร่างกายก็มองก่อนในการทำกรรมฐานอย่างง่าย ๆ ก็มาใช้สตินี่ระลึกถึงร่างกายของเรา อ้อในกายของเรามีอะไรหนอระลึกขึ้นไปแล้วก็มีอาการ 32 มีแต่แบ่งกับปัจจุบันก็แล้วแต่โบราณนี้ท่านแบ่งเป็นอาการ 32 ประกอบด้วยอะไรบ้าง ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกเยื่อในกระดูกเป็นต้นมากมายหลายอย่าง อ้อชีวิตร่างกายของเรามันก็ประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้เท่านั้นเอง ก็เราจะได้ทำให้ตัดความลุ่มหลงมัวเมาต่าง ๆ ทำให้จิตสงบไปได้ด้วย แล้วการที่จิตอยู่ที่เป็นสิ่งเหล่านี้แม้แต่ว่าไม่เกิดผลในทางคุณธรรมอะไรขึ้นมามันก็ทำให้เกิดที่ว่าจิตรวมอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่พิจารณาแล้วทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา
แล้วก็ต่อไปข้อ 9 อุปสมานุสติคือการระลึกถึงพระนิพพานอันเป็นที่สงบหรือเป็นสันติธรรม อุปสมะแปลว่าความสงบ นี้มองนิพพานในแง่ความเป็นสงบภาวะที่มีความสงบ ก็คือเป็นที่สงบกิเลสและความทุกข์ การระลึกถึงนิพพานนี้ก็ใช้เป็นกรรมฐานได้สำหรับสมถะ ซึ่งการในระลึกถึงพระนิพพานในที่นี้ไม่ได้มุ่งถึงจะได้บรรลุถึงนิพพานเพราะว่ากาลนิพพานมาระลึกอย่างนี้เป็นการที่แน่นอนว่าเราไม่ได้บรรลุนิพพาน แต่เป็นการทำจิตใจให้คุ้นให้น้อมไปแล้วก็เข้าใจความหมายของนิพพานอย่างน้อยในระดับของเหตุของผลของความคิด ให้มองเห็นคุณค่า ให้มองเห็นสภาวะที่เราสบายใจสงบใจ อันนี้ก็เป็นการทำจิตให้คุ้นในเรื่องของนิพพานเป็นเบื้องต้นเป็นพื้นฐานและก็ทำให้เกิดความสงบเป็นสมาธิได้ แล้วก็สุดท้ายอานาปานสติ อันนี้จะได้ยินกันมากที่สุดก็คือระลึกถึงลมหายใจเข้าออกใช้สติกําหนดลมหายใจเข้าออก อย่างที่ว่าหายใจเข้ายาวก็รู้ว่ายาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้นอะไรเป็นต้น อันนี้ก็เป็นรายละเอียดที่จะต้องพูดในกรณีอื่นในที่อื่น แต่ว่าก็คือสาระกำหนดลมหายใจ อันนี้ก็ใช้กันมาก
ที่นี้ก็ทั้งหมดนี้เรียกว่า อนุสติ 10 ประการ จะมีข้อสังเกตหน่อย บอกว่าในอนุสติ 10 นี่มีอยู่ 3 ข้อที่เป็นลงท้ายสติเฉย ๆ ไม่ลงว่าอนุสติ คือส่วนมากจะลงว่าอนุสติ เช่น พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ แต่มี 3 ข้อลงสติเฉย ๆ ได้แก่อะไรบ้าง ก็มีมรณสติ ระลึกถึงความตาย กายคตาสติ สติที่ไปในกาย แล้วก็อานาปานสติ สติกําหนดลมหายใจเข้าออก ทำไมใช้แค่สติ ก็อธิบายได้ว่าเพราะว่าสิ่งเหล่านี้ที่เรากำหนดในกรณีนี้มันเป็นของหยาบของปรากฏเด่นชัด มองเห็นทีเดียวเลยหรือเป็นรูปธรรม อย่างอานาปานสตินี่เป็นลมหายใจนี่มันเป็นของที่เคลื่อนไหวเป็นของหยาบกระทบที่จมูกเป็นต้น มันก็เลยใช้แค่สติไม่ต้องใช้คำว่าอานุซึ่งแปลว่า ตามหมั่น ตามหมั่นระลึกไม่ต้องคอยเอาใจตามไปแล้วก็หมั่นระลึกขึ้นมาให้เป็นภาพ อย่างพุทธานุสตินี่เป็นของละเอียดปราณีตยิ่งมีนิพพานกับสมานุสตินี่ เป็นของละเอียดปราณีตนี่มีความกว้างขวางลึกซึ้งยากที่เราจะเอาจับมาวางให้จิตมองเป็นอันเดียวได้มันไม่เป็นภาพชัดเจนเหมือนของที่ละหยาบ ๆ เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นท่านใช้คำว่าอนุสติ อันนี้ก็ขอให้เข้าใจความหมายนี้ด้วย ตกลงว่ากายคตาสติ สติไปในกายก็มองพวกอวัยวะต่าง ๆ มรณสติระลึกถึงความตายก็นึกได้ปุบปั้บทันที อนาปานสติก็ของปรากฏอยู่กับตัวชัด ๆ อยู่นี่ก็ใช้แค่สติ อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตอย่างที่ 1 ทีนี้อยากย้ำอีกนิดหนึ่งบอกว่าอนุสตินี่เป็นสิ่งที่ว่าดีงามควรระลึกมันเหมาะที่จะใช้มาทำให้ใจสบายเวลาเราระลึกถึงอนุสตินี่พุทธานุสตินี่ทำให้ใจสบาย ไม่คิดฟุ้งซ่าน แล้วเป็นของที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา หรือเกี่ยวกับความเชื่อถึงของเรานี่ เราก็เอามาใส่ในใจของเราพิจารณาให้เป็นประโยชน์ไม่ต้องไปเที่ยวจัดหาสิ่งของภายนอกไม่ต้องไปจัดเตรียมอะไรไม่ต้องมายุ่งในการเก็บงำ อย่างกสิณนี่ยุ่งต้องจัดต้องเตรียม ต้องมีที่เก็บ ต้องระวังรักษา แต่ว่าพวกอนุสตินี้ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สะดวกอย่างหนึ่ง แล้วก็อย่างที่กล่าวเมื่อกี้เนี่ยเวลาระลึกขึ้นมาแล้วมันเป็นเครื่องสำรวจตนเองบ้าง ตั้งเตือนใจตัวเองบ้าง เตือนใจเราให้ทำความดีบ้าง หรือว่าสำรวจตัวเองว่าเราได้ทำความดีไว้อย่างนั้นหรือเปล่าอะไรต่าง ๆ เหล่านี้จิตมั่นคงแน่นอยู่กับความดีงาม อย่างสีลานุสสติ จาคานุสสติ เหมือนกับสำรวจจิตใจความเผื่อแผ่โอบอ้อมอารี สำรวจศีลความประพฤติปฏิบัติของเราไปด้วยเตือนใจให้ทำสิ่งนั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ เช่น เทวตานุสสตินีก็เป็นการชักความคิดมาในทางที่ถูกต้อง เมื่อเชื่อเรื่องเทวดาหรือนึกถึงเรื่องเทวดาบ่อยแทนที่จะไปนึกในแง่ของฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไรหรือการที่จะฝากโชคชะตาสิ่งเหล่านั้นไปขออำนาจดลบันดาลอะไรต่าง ๆ ก็ไม่เอาแล้วก็ไปมองในแง่คุณธรรมของท่านแล้วก็สิ่งที่ท่าจะต้องทำก็คือคุณความดีให้ตัวเราเองที่จะทำเป็นเทวดาอย่างนั้น อันนี้ก็เข้าหลักกรรมนั่นเอง ก็น้อมเขามาสู่หลักกรรมแล้วอย่างอุปสมานุสสตินั้นก็จะทำให้เราได้มีความคุ้นเคยกับสิ่งที่เป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนาทำให้เรามีความรู้สึกว่ากลมกลืนขึ้นมีความเข้าใจมากขึ้นจิตน้อมไปในสิ่งนี้ในทางที่ดีงามที่เป็นความสุขสบายเพราะว่าบางทีเรานึกถึงนิพพานไปนึกในที่ไม่ถูกต้องทำให้ใจปฏิเสธ ความจริงนั้นนิพพานในความหมายนั้นก็มีหลายอย่างความหมายหนึ่งก็เป็นความสงบภาวะที่จิตใจสงบสบาย
ซึ่งคนเรานั้นความสุขมักจะเกิดจากการที่หาสิ่งปรนเปรอตาหูจมูกลิ้นอย่างเดียว คนเราโดยมากนี่ไปนึกถึงเรื่องความสุขจากการหาสิ่งของมาปรนเปรอประสาทสัมผัสให้ตาดูหูฟังรูปสวย ๆ เสียงเพราะ ๆ อะไรเป็นต้น แต่ว่าความสุขของเรานี่ไม่ได้อยู่กับสิ่งเหล่านี้เสมอไป แล้วก็บางทีบางครั้งก็กลายเป็นเฟ้อกลายเป็นไม่สบายใจกับสิ่งเหล่านี้เหมือนกันเขาเรียกว่าอืดเฟ้อขึ้นมา บางครั้งคนเราก็ต้องการความสุขแบบดี แต่ ความสุขแบบอื่นที่อยู่ในใจนี่เป็นพื้นฐานของการที่จะมีความสุขอย่างแท้จริงกับสิ่งที่มีเอามาปรนเปรอประสาทสัมผัสด้วย อย่างคนธรรมดานี่ความสุขอย่างอื่นที่ไม่ใช่ต้องอาศัยสิ่งที่มาบำรุงบำเรอตาหูจมูกลิ้นก็มี ยกตัวอย่างเช่นว่า อย่างเรานอนหลับสบาย ๆ บางทีมีคนมาปลุกบอกว่า ทำอาหารเสร็จแล้ว อาหารอร่อยเชิญไปรับประทาน แหมกำลังหลับสบาย ๆ ถูกปลุกขึ้นมาทั้ง ๆ ที่เขาบอกอาหารอร่อยมาตั้งไว้แล้วไม่เอา บอกว่าเดี๋ยว ๆ ไม่เอาอย่างเพิ่งอย่างปลุกขอหลับต่อ แสดงว่าตอนนี้เห็นว่าหลับสบายดีกว่า มีความสุขจากการหลับมากกว่าการที่ไปกินอาหารนั้นรสอร่อยด้วยซ้ำไป ซึ่งในชีวิตคนธรรมดาก็มี แต่ถ้าเอามาเทียบความสุขนิพพานกลับหลับจะเป็นขี้เกียจไป ก็เทียบอย่างอื่น เทียบอย่างอื่นเช่นคนเรามีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรง ความมีร่างกายแข็งแรงนี่มันเป็น ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มันเป็นความสุขอยู่ในตัวเขาจึงเรียกสุขภาพ แล้วเป็นความสุขพื้นฐานด้วย ถ้าหากว่าเราไม่มีความสุขของกายที่ไร้โรคที่ว่ามีสุขภาพดีแล้วนี่ มันอาจจะกลายเป็นว่าทำให้เรานี่ไม่สามารถหาความสุขได้ให้กับสิ่งที่เราเรียกว่าเอามาบำรุงบำเรอเหล่านั้น โทรทัศน์เรื่องราวภาพสวยงามเสียงไพเราะอะไรต่าง ๆ ถ้าเกิดไปป่วยเป็นโรคร่างกายสูญเสียสุขภาพไปแล้ว สิ่งเหล่านั้นไม่ให้ความสุขที่แท้จริงได้เลย ไม่อยากเอาเบื่อหน่ายเพราะฉะนั้นต้องมีความสุขของสุขภาพความไร้โรคนี่เป็นฐาน ความสุขของนิพพานนั้นก็เหมือนกับความสุขจากการไร้โรค ซึ่งเป็นทั้งความสุขในตัวเองด้วยแล้วก็เป็นพื้นฐานในการที่จะมีความสุขกับสิ่งอื่นด้วย เพราะฉะนั้นเราจะต้องได้มีความสุขประเภทนี้ไว้เป็นฐานของจิตใจเพื่อจะได้ว่ามีความสุขภายในเมื่อไม่มีสิ่งภายนอกแล้วก็เป็นฐานในการที่จะเสวยความสุขภายนอกได้อย่างเต็มอิ่ม อันนี้ก็เป็นข้อคิดต่าง ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับอนุสสติ อัอแล้วข้อสุดท้ายได้กล่าวแล้ว อานาปานสติ อันนี้เป็นที่นิยมมากเพราะมีข้อดีหลายอย่าง คือว่าลมหายใจนี่มีอยู่กับตัวทุกคนใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปเตรียมนึกจะทำอานาปานสติเมื่อไรก็ทำได้ทันทีที่ไหนก็ได้ แล้วก็มีผลดีต่อสุขภาพด้วย เวลาเรากำหนดลมหายใจเข้าออกทำอานาปานสตินี้มันช่วยสุขภาพไปด้วย แล้วก็เป็นอารมณ์ที่ชัดกว่าอนุสติข้ออื่น ๆ เพราะว่ามันเป็นลมหายใจเป็นรูปธรรมมีการสัมผัส มีการแตะต้อง มีการเคลื่อนไหว ถูกริมฝีปากถูกตาจมูกให้เรากำหนดได้ง่าย แล้วก็ท่านบอกว่าเป็นกรรมฐานที่ค่อนข้างสากลคือใช้ได้กับคนทุกแบบ ลักษณะจิตใจทุกแบบซึ่งอันนี้เราจะพูดต่อไปนั้นว่ากรรมฐานบางอย่างนั้นใช้ได้กับจิตใจหรือพื้นนิสัยบางอย่างจึงจะเหมาะ สำหรับอานาปานสตินี้ก็เป็นกรรมฐานที่เรียกว่าใช้ได้กับคนทุกแบบแม้แต่จะไม่ได้ผลชะงักทีเดียว คือเป็นกรรมฐานแบบกลาง ๆ ใช้ได้ทั่วไป แล้วก็ประการสุดท้ายผลดีก็อานาปานสติ นี้ให้ผลในการเจริญภาวนานี้ได้ถึงขั้นสูงสุดคือสมาธินี่ก็มีหลายระดับ แล้วก็อานาปานสตินี้จะให้ผลทางสมาธินี่ไปถึงขั้นสูงสุดได้ที่เรียกว่า ฌานขั้นที่ 4 ที่เราจะพูดต่อไป อันนี้ก็เป็นข้อดีของอานาปานสติคงจะเป็นด้วยเหตุผลเหล่านี้มากมายหลายประการก็เลยนิยมกันมาก เอาละขอผ่านไป ใช้เวลากับหัวข้ออนุสสติ 10 มาก
ต่อไปก็อัปปมัญญา 4 อัปปมัญญา 4 นั้นรู้จักกันในชื่อทั่วไปว่าพรหมวิหาร แต่ทำไม่เรียกว่า อัปปมัญญา พรหมวิหารคืออะไรต้องพูดอันนั้ก่อน พรหมวิหารที่จริงก็คือ ท่าทีของจิตใจของเราต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทีนี้ท่าทีอันนี้เป็นท่าทีที่ดีงาม เช่น ความปรารถนาดี ความรักใคร่ ความสงสารอะไร คราวที่คิดจะช่วยเหลืออะไรต่าง ๆ ท่าทีของจิตใจเหล่านี้ ทีนี้ท่าทีของจิตใจเหล่านี้ถ้าเราแผ่ไปต่อเพื่อนมนุษย์ต่อสัตวทั้งหลายได้แบบที่ว่า กว้างขวางไม่จำกัดขอบเขตเลย จนกระทั่งแม้แต่คนที่เขาเป็นศัตรูกับเรา เราก็มีเมตตาต่อเขาได้ ถ้าเรามีท่าทีอย่างนี้แผ่ไปได้อย่างไม่จำกัดขอบเขตอย่างนี้ อาการอย่างนี้เรียกว่าเป็นอัปปมัญญา อัปปมัญญาแปลว่าไม่มีประมาณ คือไม่มีขอบเขตนั่นเอง ไม่จำกัดขอบเขต เพราะฉะนั้นท่าทีของจิตใจที่ดีที่แผ่ไปสู่เพื่อนมนุษย์สัตว์ทั้งหลายอย่างกว้างขวางไม่มีขอบเขตไม่จำกัดประมาณนี้เรียกว่าอัปปมัญญา ซึ่งตรงกับพรหมวิหาร 4 ทีเรียกพรหมวิหารนั้นเรียกในฐานะที่เป็นธรรมประจำใจของบุคคลผู้ประเสริฐเหมือนอย่างพรหม ถ้าใครมีธรรม 4 ประการนี้ในใจก็เหมือนกับเป็นพระพรหม แต่พรหมในที่นี้ก็หมายถึงบุคคลที่ดีงามประเสริฐ มีจิตใจยิ่งใหญ่กว้างขวางเหมือนอย่างพระพรหม หรือมีจิตใจประเสริฐนั่นเอง นี้ก็เลยตกลงเรียกได้ 2 อย่าง พรหมวิหารและอัปปมัญญา อันเดียวกันแต่ใช้ในความหมายคนละแบบ ทีนี้พรหมวิหารนี้ก็ขอตั้งข้อสังเกตุอีกอย่างหนึ่งว่า บางทีเราใช้ในความหมายที่แปลไปในวงการสังคมไทยนี้ใช้ในธรรมะเหล่านี้ในความหมายที่คลาดเคลื่อนไปไม่น้อย อย่างเราบอกว่าพรหมวิหารเป็นธรรมประจำใจของพระพรหม เราก็มองไปในแง่ว่าผู้ใหญ่ควรจะมีธรรมเหล่านี้ เช่นเมตตา แล้วก็เลยบอกว่าเมตตาเป็นธรรมะของผู้ใหญ่ ที่จริงนะทุกคนจะต้องปฏิบัติเมตตาทั้งนั้น เมตตาคือไมตรีความรักความปรารถนาดีต่อกันความต้องการให้ผู้อื่นมีความสุขไม่ใช่เป็นของที่ผู้ใหญ่จะมีต่อผู้อื่นต่อเด็ก เด็กก็ต้องมีต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ต้องเมตตา เด็กก็ต้องเมตตาต่อผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่เมตตาต่อเด็ก ในทางธรรมะนั้นข้อปฏิบัติบางอย่างท่านบอกว่า คฤหัสต์ปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยเมตตา อ้าวคฤหัสต์ชาวบ้านก็ต้องมีเมตตาต่อพระสงฆ์ เพราะอันนี้มันเป็นความหมายของท่าทีของจิตใจที่ปรารถนาดีต่อกัน ไม่ใช่ว่าจะต้องมีเฉพาะผู้ใหญ่ต่อผู้น้อย ในสังคมไทยนี้จะใช้คาดเคลื่อนไปความเป็นผู้ใหญ่ในที่นี้หมายถึง ความมีจิตใจใหญ่กว้างขวางนั่นเอง และบางข้อนี่เราถึงกลับเข้าใจผิดเลย หรือไม่งั้นไม่รู้ไม่เข้าใจ อย่างคำว่าอุเบกขานี่ เข้าใจว่าเป็นวางเฉย ไม่เอาเรื่องเอาราว ซึ่งอันนี้จะต้องพูดไป จะต้องเข้าใจกันอีกนิดหน่อย
เอาละอาตมาก็จะของพูดถึงพรหมวิหาร 4 หรืออัปปมัญญา 4 ตามรายข้อ ก็คือ
1 เมตตาความรักความปรารถนาดีต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข คือความมีไมตรีนั่นเอง แล้วก็ 2 ก็กรุณา ความสงสารคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ข้อ 3 มุตทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีประสพสุขความสำเร็จ แล้วข้อ 4 อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางในเมื่อผู้อื่นจะต้องรับผิดชอบผลการกระทำของตนเอง อันนี้ 4 ประการ
อันนี้บางคนแยกไม่เป็น เช่นเมตตากรุณาแยกไม่ออก ก็เลยจะขอแยกให้ชัดเจน วิธีแยกง่าย ๆ ก็คือมองดูที่สัตว์อื่นหรือคนอื่นที่เราจะเมตตากรุณาต่อเขา เรามองเอาคนอื่นสัตว์อื่นนี้เป็นหลักในการแยก 4 ข้อนี้ ก็จะได้ความอย่างนี้ ถ้าคนอื่นเขาอยู่ในภาวะเป็นปกติอยู่สบาย ๆ ไม่มีปัญหาอะไรอยู่ในสภาวะเป็นปกตินี้เรามีเมตตา คือมีความรักความปรารถนามีไมตรี ต่อไปเมื่อเขาเกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์นี่เพื่อนมนุษย์คนอื่นนี่เกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์ สภาวะที่ 2 แล้วตอนนี้จะมีกรุณา กรุณาก็คือสงสารคิดช่วยเหลือ นี่เราจะแยกได้ชัดเจนระหว่างเมตตากรุณา เมตตาใช้กับคนที่เป็นปกติ กรุณาใช้กับคนที่เดือดร้อนเป็นทุกข์ ต่อไป 3 มุทิตา เมื่อคนอื่นนั้นเขาประสพความสุขความสำเร็จก้าวหน้ายึ่งขึ้นทำความดีหรือว่าสอบไล่ได้ทำงานได้เลื่อนขั้นได้เป็นผลความดีของเขา เราก็พลอยยินดีด้วย อันนี้เรียกว่ามุทิตา มุทิตาใช้กับคนที่เขาได้ในทางบวก เมตตานี่ใช้กับคนปกติไม่บวกไม่ลบ พอลบเป็นกรุณา พอบวกเป็นมุทิตา ทีนี้ต่อไปอุเบกขาใช้เมื่อไหร่ อ้าวใช้ในกรณีที่คนอื่นนั้นเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเองละ จะต้องรับผิดชอบการกระทำของเขาเพื่อเขาจะได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเอง หรือเป็นเรื่องของความยุติธรรม อันนี้เราวางใจเป็นกลางเรียกว่าอุเบกขา บางทีก็แปลกันว่าวางเฉย เช่นอย่างเขาทำความผิดมาต้องให้ความยุติธรรมต้องพิจารณาไปตามกฏตามเหตุ หรือว่าเช่นว่าพ่อแม่ดูลูกเวลานั้นลูกจะต้องพัฒนาตัวเองต้องรู้จักรับผิดชอบตัวเองถ้าเราไปช่วยเขา เขาจะทำอะไรไม่เป็นในกรณีนี้ใช้อุเบกขาต้องวางใจเป็นกลาง ถ้าไปมัวเมตตากรุณาอยู่กลัวลูกจะเจ็บ กลัวลูกจะล้มลูกก็เดินไม่เป็นลูกก็ทำการบ้านไม่ได้เป็นต้น ทำอะไรก็กลัวลูกจะไม่สบายไปหมดรักไปหมด รักใช้ความรักผิดเลยลูกไม่โตซะที หรือเช่นว่าลูกเขาไปมีครอบครัวแล้วเขาต้องรับผิดชอบครอบครัวของเขา พ่อแม่รักมากเกินไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตครอบครัวของเขาเพราะความรักนั่นแหละทำให้เกิดปัญหาแก่ครอบครัวของเขา แล้วเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกด้วย อย่างนี้เรียกอุเบกขาไม่เป็น อุเบกขานี้ใช้กรณีต้องรักษาธรรมะ 3 ข้อนั้นรักษาคน ข้อที่ 4 รักษาธรรมะคือความถูกต้องดีงาม เราก็ต้องใช้ปัญญา 3 ข้อต้นนั้นไม่ค่อยต้องใช้ปัญญาใช้ความรู้สึกได้ แต่ข้อที่ 4 นี้ต้องใช้ปัญญารู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องวางทีเฉยดูไปก่อนให้เขารับผิดชอบตัวเองได้ อันนี้ก็คือหลักธรรม 4 ประการ อันนี้จะขยายความ 4 ข้อนี้นิดหน่อยในสิ่งที่ควรจะพูด ก็ข้อสังเกตบางประการอย่างเมตตาเป็นข้อที่ 1 เนี่ย ท่านก็บอกว่าบางทีก็มันไปมีสิ่งที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งทำให้เข้าใจผิดแล้วก็เสียแทนที่จะเป็นเมตตาก็เป็นอื่น ถ้าเมตตาอันนั้นเสียท่านเรียกวิบัติ เมตตาวิบัติเมื่อเกิดอะไรขึ้น เมื่อเกิดเสน่หาขึ้นมาคือแทนที่จะเป็นความรักปรารถนาดีในฐานะเป็นบุคคลหนึ่งแต่ว่าเกิดความรักติดพันธ์เป็นส่วนตัวขึ้นมา อันนี้เรียกว่าเกิดเสน่หา อันนี้ก็เรียกว่าคลาดเคลื่อนจากเมตตาแล้วเป็นวิบัติของเมตตาไป นั้นก็ต้องระวัง แล้วสมบัติของเมตตาก็คืออะไร ระงับความพยาบาท ระงับความขัดเคืองแค้นใจอะไรต่าง ๆ ได้ ทำให้ไม่มีจิตคิดร้ายต่อผู้อื่น ทำให้มีการมองในแง่ดี อันนี้ตกลงว่าการใช้เมตตานั้นมุ่งที่จะทำให้จิตใจเป็นจิตใจที่มีความรักไม่คิดร้ายไม่มองคนในแง่ร้ายเป็นต้น แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดเสน่หาเป็นการรักส่วนตัวนั้น
ในการแผ่เมตตาท่านมีข้อสังเกตว่า ถ้าเริ่มต้นแผ่เมตตาแก่ตนเองก่อน ทำไมจึงแผ่เมตตาแก่ตนเองก่อนแผ่ให้คนอื่น อันนี้ก็มีหลักเหตุผลว่าเป็นการสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์เพราะมนุษย์รักตนเองมากกว่าคนอื่น ถ้าพูดไปในทางจิตลึกซึ้ง แล้วบอกว่าคนที่รักตัวเองไม่เป็นจะรักคนอื่นไม่ได้ คือไม่รักตนเองจะรักคนอื่นไม่เป็นด้วย ท่านให้ยอมรับความจริงให้รักตนเอง ให้แผ่ ขอโทษ รักตนเองรักอยู่แล้วให้แผ่เมตตาตนเองก่อนอื่น ทีนี้การแผ่เมตตาแก่ตนเองนี้ก็สนองความต้องการที่มีตามธรรมชาติด้วยทำให้จิตไม่พร่อง ถ้ามัวไปแผ่เมตตากับคนอื่นพร้อมที่ในตัวเองก็ยังเป็นปมเป็นพร่องอยู่ก็จะเกิดปัญหาได้และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ ท่านบอกว่าการที่มีเมตตากับคนอื่นเนี้ยจะเกิดขึ้นได้เมื่อเอาตัวเข้าเปรียบเทียบ เมื่อรู้จักความรักในตัวเอง รู้จักความปรารถนาความสุขของตัวเองแล้วเนี่ยจะเข้าใจผู้อื่นแล้วก็มีเมตตาต่อผู้อื่นได้ง่าย พูดง่าย ๆ ว่าเมตตาจิตต่อผู้อื่นเกิดง่ายขึ้นเมื่อเอาตัวเองเป็นที่เปรียบเทียบ พอตัวเองเปรียบเทียบว่าเราต้องการความสุข เราปรารถนาความสุขเราจะเข้าใจผู้อื่นและมีเมตตาต่อผู้อื่นได้ง่าย ท่านก็เลยให้แผ่เมตตาแก่ตนเองก่อน ก่อนจะแผ่เมตตาตนเองแล้วก็แผ่ไปสู่บุคคลอื่น ๆ ซึ่งจะแยกได้เป็น 4 พวก พวกที่ 1 ให้แผ่ เมตตาไปยังคนที่รักก่อน คนที่รักเราชอบใครก็แผ่เมตตาไปให้คนนั้น ต่อไปก็แผ่เมตตาต่อคนที่รักมากอย่างยิ่งรักเป็นพิเศษ คนที่รักทั่ว ๆ ไปก่อนแล้วก็รักเป็นพิเศษ แล้วต่อจากนั้นก็แผ่เมตตาไปให้คนที่เป็นกลาง ๆ ที่เฉย ๆ แล้วสุดท้ายก็แผ่เมตตาไปยังคนที่มีเวรกัน ถ้าเป็นศัตรูกันคนที่ไม่ชอบกันนี้เอาไว้สุดท้ายเพราะยากมาก ท่านบอกถ้าแผ่เมตตาไปให้ศัตรูนี่มันคอยจะเกิดโทสะมันแทนที่จะเกิดเมตตา เพราะฉะนั้นยากมาก ถ้าเมื่อไหรแผ่เมตตาแก่คนที่เป็นศัตรูคนมีเวรกันได้สำเร็จ ท่านบอกว่านี่คือการทำลายเขตแดนที่กีดกั้นเมตตาออกแล้ว พอทำลายเขตแดนนี้ออกไปได้ก็เป็นอัปปมัญญาไม่จํากัดขอบเขตประมาณ แล้วจะนำจิตไปสู่สมาธิได้ง่ายขึ้น
อ้าวละอันนี้อาตมาก็เอามายกตัวอย่างให้ดู คือให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ บางประการที่ควรจะรู้เท่านั้น ในพุทธศาสนานี้ย้ำเรื่องเมตตามากเพราะเป็นคล้าย ๆ ว่าสภาพจิตพื้นฐานที่มันมีผลดีทั้งแต่ตนเองและแก่การอยู่ร่วมสังคมมนุษย์ด้วย คือในพื้นใจตัวเองเมื่อมีเมตตาใจตัวเองก็เป็นสบายทำให้เป็นใจที่พร้อมที่ง่ายที่จะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมอื่น ๆ ได้ แล้วพร้อมกันนั้นมันก็เป็นพื้นใจในการที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมที่มีสันติสุขด้วย เพราะฉะนั้นเราก็จะมีการนิยมแผ่เมตตากันบ่อย เช่นว่าเวลาเราสวดมนต์ บางทีเราก็มีการแผ่เมตตาด้วย หรือนั่งสมาธิก่อนนั่งบ้าง หลังนั่งบ้าง ก็มีการแผ่เมตตากัน แต่การแผ่เมตตานี่พอว่าไปจริง ๆ บางทีก็สักแต่ว่าไป คือแผ่เมตตา คำแผ่เมตตาออกจากปากไปไม่ซึมเข้าในใจคือมันออกไปจริง ๆ มันออกจากปากเราไป เมตตามันออกจากปากก็เลยหลุดหายไปเลยมันไม่ซึมเข้าไปในใจ ทีนี้ทำยังไงปากว่าเมตตา แต่ว่าตัวไม่เมตตานั้นจะซึมเข้าในใจด้วย อันนี้ก็คือต้องทำใจตามไปด้วย แล้วก็มีปัญหาเหมือนกันถ้าเราว่าแผ่เมตตากันไปชินชาก็เลยว่าแต่ปาก ก็ต้องทำใจให้มีเมตตาจริง ๆ ถึงกับวางเป็นแบบเดียวกันเช่นบอกว่า สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ อัพะยาปัชฌา อะนีฆา สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ แล้วแถมยังมีคำแปลอีกอันนี้ก็สุดแต่จะว่ากันไป นี้ซึ่งเวลาเข้าปฏิบัติเจริญภาวนาก็คงจะมีการแผ่เมตตาด้วย
ต่อไปข้อที่ 2 กรุณานี่ขอพูดสั้นนิดเดียว กรุณานี้ก็ถ้าหากว่าทำสำเร็จท่านเรียกว่าเป็นสมบัติ สมบัติของกรุณาก็คือว่า ระงับการเบียดเบียน ระงับการข่มเหงผู้อื่น เรียกว่าระงับด้วยอหิงสาได้ ก็เป็นอหิสานั่นเอง แล้วก็ข้อเสียของกรุณา ท่านเรียกวิบัติของกรุณาก็คือเกิดความโศก โศกเศร้าขึ้น ไปเห็นคนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อนไอ้กรุณานั้นก็สงสารแล้ว สงสารเสร็จตัวเองเศร้าโศกด้วย ท่านบอกถ้าหากว่าเกิดความเศร้าโศกขึ้นมาแล้วกรุณาเสียแล้ว กรุณาของท่านผู้มีจิตที่ถูกต้องนี่เป็นความสงสารที่จะช่วยเหลือโดยไม่มีความโศกเศร้า อันนี้ก็เป็นเรื่องยากอยู่สำหรับมนุษย์ปุถุชนนี่มันคอยจะไปด้วยกันแล้ว พอสงสารก็พลอยเศร้าไปเสียด้วย เพราะฉะนั้นต้องเตือนใจไว้ว่า สงสารคิดช่วยเหลือแต่จะไม่เศร้า ถ้าเศร้าก็พลาดไป
ต่อไปก็ 3 มุทิตา มุทิตาก็พลอยยินดีกับเขา ก็ทำให้คนนี่มีการส่งเสริมกันในสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ข้อที่ 1 ก็ง่ายกว่า ข้อที่ 2 ข้อที่ 2 ยากขึ้นมา ข้อที่ 3 ยิ่งยากหนักเข้าไปอีก คือคนเรานี่เห็นคนอื่นได้ดีแล้วจะมุทิตานี้ยากที่จะส่งเสริมนี่ยาก นั้นพุทธศาสนาให้ก้าวสู่ข้อที่ 3 ด้วยคือมีมุทิตาเห็นผู้อื่นได้ดีประสพความสำเร็จก็ยินดีแล้วพลอยส่งเสริมให้เขาทำความดีก็ส่งเสริม อันนี้มุทิตานี้จะช่วยให้ทำลายสิ่งที่ท่านเรียกว่าความริษยา ทำให้ไม่เกิดอรติ อรติคือความริษยา ถ้าหากว่ามุทิตามาช่วยให้แก้ความริษยาได้ ก็แสดงว่าเป็นความสำเร็จในการเจริญมุทิตา แต่ข้อเสียของมุทิตาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็คือเกิดความสนุกสนานรื่นเริงหมายความว่า กลายไปเป็นร่าเริงโอ้อวดในเรื่องนั้นไป คือมันไม่พอดี ถ้าหากว่าเกินไปกลายเป็นสนุกสนานร่าเริงโอ้อวดกันไปแล้วก็แสดว่ามุทิตานี้วิบัติ
ต่อไปข้อที่ 4 อุเบกขา ก็ความมีใจเป็นกลางอย่างที่ว่าเมื่อกี้ก็จะทำให้ไม่เกิดความยินดียินร้าย ในเมื่อผู้อื่นได้เป็นความดีความสุขความสำเร็จก็ตามหรือความตกต่ำก็ตามนี้ ถ้ามันเป็นเรื่องตอนนั้นเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเองนี่เราจะต้องวางใจ โดยไม่ยินดียินร้ายได้แล้วก็พิจารณาจัดการไปตามธรรมะตามความยุติธรรมต่อไป แต่ตอนนี้คือตอนแรกอุเบกขาก็คือวางใจเป็นกลาง ทีนี้อุเบกขาจะผิด ท่านเรียกวิบัติของอุเบกขาจะพลาดไม่ใช่อุเบกขา ก็คือท่านเรียกว่าเกิดอัญญานุเบกขา อัญญานุเบกขา คืออุเบกขาที่ไม่ประกอบด้วยความรู้ ไม่ประกอบด้วยปัญญา อัญญาณแปลว่าความไม่รู้ หรือขาดปัญญาแล้วอุเบกขา รวมกันเป็นอัญญานุเบกขา เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ ถ้าเมื่อไหรเฉยโง่แสดงว่าผิดแล้วไม่อุเบกขาที่แท้แล้ว ทีนี้คนทั่วไปนี่มักจะมองอุเบกขาแบบไม่เอาเรื่อง หรือไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นไม่ใช่อุเบกขาที่เราต้องการ ไม่ใช่ธรรมะ ถ้าเมื่อไหร่เกิดอัญญานุเบกขาคือเฉยโง่ เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง แสดงว่าผิดแล้ว อุเบกขาที่แท้นั้นต้องประกอบด้วยปัญญาแล้วก็วางทีเฉยดู เพื่อให้เขารับผิดชอบตัวเอง คนอื่นนั้นเขาต้องการการรับผิดชอบตัวเองแล้วเขาจะได้พัฒนาตัวเองได้ฝึกตัวเองได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรจะทราบเกี่ยวกับเรื่องหลักที่เรียกว่าอัปปมัญญา 4 ประการ ก็ขอผ่านไป
ต่อไปก็เข้าสู่หมวดที่ 5 อาหาเรปฏิกูลสัญญา การกำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร อาหารที่เรากินนี่แหละ บางที่ก็ท่านก็แนะนำเหมือนกันบางคนนี้ให้พิจารณาอาหารเห็นเป็นปฏิกูล อันนี้ท่านบอกเหมาะสำหรับการใช้แก้ความผิดในรส บางคนนนี้ติดรสอาหารมากเกินไปให้พิจารณา เห็นอาหารเป็นปฏิกูล ซึ่งถ้าพิจารณาโดยเนื้อแท้แล้วก็มองเห็นปฏิกูล แล้วท่านก็แนะนำวิธีที่จะพิจารณาไว้ได้มากมายเหมือนกัน ในที่นี้จะไม่กล่าวถึง ตกลงจะช่วยให้ถอนความติดรสอาหารได้แล้วก็เป็นพื้นในการที่จะเข้าใจสภาวะธรรมตามเป็นจริงด้วย
แล้วต่อไปก็จตุธาตววัฏฐานเป็นหมวดที่ 6 ก็คือการกำหนดพิจารณาร่างกายของเรานี้ให้เห็นว่าเป็นที่ประชุมของธาตุ 4 อย่างที่ว่ามาแล้ว เพราะว่าธาตุ 4 ในที่นี้ก็เป็นธาติแบบสมมติ คือเป็นธาตุโดยเอามองให้เห็นเป็นรูปร่างว่า ถ้าอวัยวะหรือส่วนอะไรในร่างกายของเราที่มันเป็นพวกประเภทที่อยู่ในประเภทที่เป็นของแข็งเป็นเนื้อเป็นหนังก็เป็นปฐวีเป็นดิน ถ้าหากว่าเป็นของเหลวเป็นน้ำก็เรียกว่าเป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ ถ้าหากว่าเป็นความร้อนก็เรียกว่าเตโชธาตุ ถ้าหากว่าเป็นลมเป็นแก๊สก็เรียกว่าเป็นวาโยธาตุ ทีนี้เรามองร่างกายของเราพิจารณาให้เห็นว่า อ้อก็มันเป็นเพียงการประชุมเข้าของธาตุ 4 อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายนี่ก็เป็นเรื่องของ จำแนกไปแล้วก็เป็นธาตุ 4 เท่านั้นเอง เมื่อเราเห็นความจริงอันนี้แล้ว เราจึงได้ไม่มีความลุ่มหลงมัวเมาในชีวิตในร่างกายของเราแล้วก็เป็นทางของการเข้าใจความจริงต่อไป ก็เป็นทางที่จะลดกิเลส ความโลภ ความโกรธ ตลอดจนกระทั่งความหลง
แล้วต่อไปหมวดสุดท้ายก็อรูป 4 อรูป 4 นี้ก็คือภาวะในอรูปฌานซึ่งเป็นฌานชั้นสูงแล้ว คือเป็นอารมณ์ หรือเป็นกรรมฐานพิเศษสำหรับฌานชั้นสูง ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นจะต้องรู้จัก เพราะฉะนั้นก็ว่ากันไปแล้วเนี่ย ในกรรมฐาน 40 นี้กรรมฐานที่เราควรจะต้องรู้จักกันอย่างแท้จริงที่เราจะมาเลือกได้ปฏิบัติได้นี่ มันมีแค่ 36 เท่านั้นเอง 36 อย่างแรก แต่ข้อสุดท้าย หมวดสุดท้าย 4 อย่าง เรายังไม่อยู่ในฐานะที่จะมาปฏิบัติได้เพราะต้องไปถึงฌานชั้นสูงเสียก่อน แต่เพราะมันเป็นอารมณ์ เป็นกรรมฐาน ก็ต้องเอามารวมไว้ในหมวดนี้ด้วย แต่ให้เข้าใจอย่างที่ว่ามานี้ ก็เป็นอันว่าเราจะเลือกกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 36 อย่างแรก แล้วก็มาให้จิตกำหนดที่จะพิจารณาจนกระทั่งว่าจิตนี้อยู่กับสิ่งนั้นอยู่กับอารมณ์นั้น หรือเรียกว่ากรรมฐานนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวต่อเนื่องกันไปก็เรียกว่าได้สมาธิประสบความสำเร็จในการเจริญกรรมฐาน อันนี้อาตมาได้พูดมาในเรื่องกรรมฐาน 40 เรียกเต็มว่าวิธีทำภาวนา วิธีทำจิตภาวนาโดยเลือกจากกรรมฐาน 40 นี้ก็กินเวลายาวนานมากคิดว่าจะตัดตอน ตอนต่อไปนี่เป็นตอนที่สำคัญ คือตอนที่จะมาเลือกแล้ว เพราะเราบอกว่าโดยเลือกจากกรรมฐาน 40 เมื่อกี้นี้พูดถึงตัวกรรมฐาน 40 ทีนี้ต่อไปก็จะต้องพูดถึงเรื่องการเลือก เรามีหลักเกณฑ์ในการเลือกอย่างไรก็เป็นหัวข้อต่อไปที่จะพูดสำหรับตอนนี้ อาตมาคิดว่าจะขอยุติไปช่วงหนึ่งก่อน แล้วก็เมื่อถึงเวลาสมควรแล้วก็จะได้พูดต่อในหัวข้อเดียวกันนี้เป็นตอนต่อไปว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการเลือกกรรมฐานใน 40 อย่างนั้นว่าจะใช้วิธีการกำหนดหรือเลือกอย่างไร สำหรับคราวนี้ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน ขอเจริญพร