แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นี่ก็มาคุยกัน ก็ไม่รู้จะคุยอะไรดี เรื่องมันเยอะแยะเหลือเกิน ก็เลยชักเรื่อยๆ เปื่อยๆแระ ว่าไงท่าน ถือไมค์ไว้แล้ว เตรียมจะถาม มีอะไร
กราบขออนุญาตครับ ที่ตั้งแต่กราบเรียนครั้งที่แล้วว่า ตอนที่เราพูดกันถึงเรื่องว่าจะทำอย่างไร กับปัญหาการเมืองในปัจจุบันเนี่ยครับ แล้วพระเดชพระคุณหลวงพ่อ บอกว่าเรายังค้างไว้อีก 2 ประเด็นที่ยังไม่ได้กล่าวถึง อ้อ ครับ ก็เลยวันนี้ จะขออนุญาตให้หลวงพ่อพูดถึงประเด็นที่ยังค้างไว้ ชักลืมแล้วนะ ไปๆ มาๆ เนี่ย พอเรื่องอื่นเข้ามา มีคำถามอื่นเข้ามา
มันก็อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับระบบการพัฒนามนุษย์เนี่ย แต่ผมนึกไม่ออกหมดนะ ตามที่ว่าสองอย่างเนี่ย มันปนเปกันไปหมด เรื่องการพัฒนาคน แล้วก็ได้บอกว่า ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่าการพัฒนาที่สำคัญที่สุด หรือสุดยอดการพัฒนาก็คือการ พัฒนาปัญญา
ว่ามนุษย์นี่มันจะเอาดีได้ด้วยปัญญานี่แหละ แม้แต่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ด้วยปัญญา พัฒนาปัญญาไปจนเป็นโพธินั่นเอง โพธิก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ก็เรียกว่า โพธิปัญญา ปัญญาตรัสรู้ เพราะปัญญาเป็นตัวที่ เหมือนกับว่า เป็นตัวโยงมุนษย์เข้าไปถึงความจริง ปัญญามันก็ทำให้เรารู้ความจริง พอรู้ความจริงก็หมด จบ
ทีนี้ว่า ทำไงจะพัฒนาปัญญานี่เรื่องใหญ่มาก ทีนี้มันก็เลยโยงมาเรื่องประชาธิปไตยว่าเป็นระบบการปกครองที่ให้มนุษย์แต่ละคนนี้ ที่เราเรียกว่าประชาชนน่ะ แยกไปเป็นแต่ละคนๆ ได้มีส่วนร่วมในการปกครอง เมื่อมีส่วนร่วมในการปกครองก็ต้องมีความสามารถในการคิดพิจารณา ตัดสินใจ การที่จะคิด พิจารณา ตัดสินใจอะไรได้ดี มันก็ต้องมีปัญญา ต้องมีความรู้ รู้ในระดับต่างๆ จนกระทั่งเข้าถึงความจริงนั่นแหละ ถ้ามันขาดความรู้ มันก็คิดผิด ตัดสินใจผิดหมด ทีนี้ก็ประชาธิปไตยก็ต้องเน้นการพัฒนาคน โดยเฉพาะพัฒนาปัญญา นี่ก็เลยคล้ายๆ มาบรรจบกับพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็เน้นเนี่ย เรื่องการพัฒนาปัญญา
ทีนี้ในการพัฒนาปัญญานี่ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก มนุษย์เดิมนั่นก็ เมื่อคนยังค่อยไม่พัฒนา ไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ เราก็อาศัยคนที่เค้าประสบการณ์ มีความรู้ เข้าใจดีกว่า เช่น คนเกิดก่อน ที่เรียกว่า ผู้ใหญ่ เป็นต้นน่ะ แล้วก็คอยฟังหาความรู้จากเขา ทีนี้ไอ้ตัวที่จะเชื่อมโยงระหว่างผู้ฟังกับผู้พูด ผู้แนะนำ ก็คือ ศรัทธา ความเชื่อ ก็เหมือนกับว่า เราฝากปัญญาของเราไว้ที่เขา เพราะเราไม่มีปัญญา เราก็เชื่อในปัญญาของเขานั่นเอง ก็เป็นแบบพึ่งพา ระบบศรัทธา ระบบศรัทธามันก็เป็นระบบพึ่งพา ต้องขึ้นกับผู้อื่นในเรื่องความรู้ ความเข้าใจ ก็คือขึ้นต่อเขาในเรื่องปัญญา ก็เอาศรัทธาเนี่ย เป็นตัวไปฝากความเชื่อมั่น หรือ การพึ่งพาปัญญาไว้ ทีนี้สังคมมนุษย์ก็ได้อยู่ด้วยระบบศรัทธานี้มาก บางทีก็เลยลืมไป ว่าเพลิน แล้วก็ระบบสังคมมันก็ซับซ้อน พอฝากปัญญาไว้กับผู้อื่นด้วยศรัทธา คอยพึ่งพาอาศัยปัญญาของเขา ตัวเองก็ประมาท ปล่อยเรื่อยเปื่อยไม่พัฒนาปัญญาของตัวเอง ก็ต้องคอยพึ่งเขาให้เขาบอก ไอ้นี่ระบบศรัทธาก็เป็นไปในแง่ของคนทั่วไปนี่ด้วยที่ประมาท แล้วก็ไม่มีวิธีการในการพัฒนาปัญญาด้วย แต่นั่นเป็นรายละเอียด
แต่ทีนี้ฝ่ายผู้ที่เขาฝากศรัทธาพึ่งพาปัญญาเนี่ย ตัวเองก็มีกิเลส ไปๆ มาๆ มันก็โยงไปเรื่องอื่น เช่น ความมีอำนาจ ความมีสถานะอะไรต่างๆ ขึ้นมา ก็ชอบที่จะให้คนอื่นเนี่ย ต้องพึ่งพาตัวเอง ต้องมาอาศัยปัญญาของตัวเอง มนุษย์มันมีอีกอันก็คือว่า คนที่เจ้าปัญญาหน่อย ก้าวหน้าไปในการค้นคว้าหาความจริงเนี่ย มันก็อาจจะได้ความจริงเป็นระดับๆ พอได้ถึงความจริงในระดับหนึ่งๆ เนี่ย มันจะเกิดมีอันหนึ่งก็คือ ความเห็นว่าเป็นอย่างนั้น เหมือนกับไปสรุปความจริง จากการที่ตนได้รู้ไปส่วนหนึ่ง แง่หนึ่ง ก็สรุป ว่าเนี่ยเป็นความจริงแล้ว อันนี้ท่านเรียกว่าทิฐิ ก็เอาไอ้ความเห็นของตัวเอง ที่ข้อสรุปของตัวเอง เป็นความจริงไป พอตัดสินเอาเป็นความจริง แล้วทีนี้ตัวเองก็หยุดแล้ว เพราะนึกว่า ตัวเองถึงความจริง แล้วทีนี้ก็ เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้อีก ใครมาเห็นอย่างอื่นก็เกิดความขัดแย้ง มีปัญหาเรื่องความยึดถือที่เป็นกิเลสของคนเข้าไปอีก มันก็เลยซับซ้อน ก็ต้องให้เขาเชื่ออย่างที่ตัวเชื่อ ต่อมามันขยายไปเป็นเรื่องความเชื่อที่ เป็นของหมู่ชนมากมาย ทีนี้ก็เพราะเหตุที่ว่าหวงแหนความยิ่งใหญ่ สถานะของตน เป็นต้น ก็ไม่ยอมให้คนเชื่ออย่างอื่นถึงกับต้องบังคับกัน เข่นฆ่ากัน ต่อมาก็เป็นปัญหาเนี่ย เรื่อง ทิฐิ ที่พูดมาแล้วว่า ตัณหา อยากได้ผลประโยชน์ อยากได้ลาภ ก็ทำให้คนทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน ฆ่าฟันกัน ทำสงครามกัน จนกระทั่งถึงระหว่างประเทศ มานะต้องการความยิ่งใหญ่ ต้องการอำนาจ ก็เช่นเดียวกันทำให้คนขัดแย้งกัน จนกระทั่งถึงรบเป็นสงครามใหญ่ แล้วตัณหามานะก็มาประสานเข้าด้วยกันอีก ทำให้แรงยิ่งขึ้นทั้งตัณหาทั้งมานะ พอได้ผลประโยชน์มากก็มีอำนาจมาก ถ้ามีอำนาจมากก็ยิ่งหาผลประโยชน์ได้มาก ก็ซ้ำซ้อนเข้าไปก็ทำให้รบหาฆ่าฟันเข่นฆ่าขัดแย้งกันมาก
ทีนี้พอมาเรื่อง ทิฐิ นี่ก็เอาไปอีกเรื่องหนึ่ง คนก็ขัดแย้งกันด้วยเรื่องทิฐิ จนกระทั่งเป็นระบบความเห็นใหญ่ๆ ก็คือเป็นลัทธิ ศาสนา เป็นอุดมการณ์ แบ่งค่าย แบ่งอะไรกัน เกิดสงครามระหว่างประเทศ แทบจะเป็นสงครามโลก เรื่องทิฐิ ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นในการพัฒนาปัญญาเนี่ย มันก็มีไอ้นี่ตัวเนี้ยด้วย คือว่า เอาละ คนเนี่ยไปฝากไอ้ศรัทธาไว้กับผู้ที่มีปัญญานั่นก็อันหนึ่ง ทีนี้ว่าผู้นั้นก็เกิดติดทิฐิ ก็มีปัญหาขั้นหนึ่งแล้ว ทีนี้พอ ท่านบอกว่าต้องให้คนรู้จักคิด พิจารณา เข้าถึงความจริงด้วยตนเอง พอเข้าสู่ระบบที่แสวงหาปัญญา แต่ละคนๆ ก็มีปัญหา ที่จะมีติดเรื่อง ทิฐิ อีก เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาก็จะต้องมาวางระบบการพัฒนามนุษย์ยังไงว่า นอกจากจะไม่ขึ้นต่อศรัทธาแล้วเนี่ย ยังไม่มาติดในทิฐิของตัวเองอีก ตอนแรกน่ะไปยึดถือไปศรัทธาในเขา ไปเชื่อในทิฐิของคนๆ เดียวใช่ไหม ก็ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ คนนั้นเป็นเจ้าทิฐิ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ทั้งหมด ทุกคนก็ไปเชื่อที่เดียวกัน ก็มีกำลัง รวมสามัคคีได้ แต่ก็มีอย่างที่ว่า มีโทษมาก แต่ละคนไม่พัฒนา แล้วก็อย่างที่ว่า มันทำให้หมู่ชนนี้ ที่มีคนนี้ เป็นต้น เป็นหัวหน้าเชื่ออย่างงี้ ก็ขัดแย้งกับผุ้อื่นรุนแรงมาก เกิดสงคราม อะไรต่างๆ มีโทษทั้งชีวิตตนเอง และทั้งสังคม
ทีนี้พอให้มาเข้าสู่ระบบปัญญา แสวงปัญญา ก็ชักอาศัยศรัทธาน้อย ทีนี้พอมาเข้าสู่ระบบปัญญา พอตัวเองชักคิดไป มองไป เห็นอย่างงั้นอย่างงี้ก็ติดทิฐิของตัวเองอีก ก็กระจัดกระจายทีนี้ยิ่งทะเลาะกันใหญ่อีกใช่ไหม พวกนี้ก็ทะเลาะกันวุ่นไปหมดเลย สามัคคีกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกพัฒนาปัญญาก็ต้องระวัง ที่ว่าไปติดในทิฐิ ก็เกิดปัญหาไม่ใช่น้อยเหมือนกัน เนี่ยท่านจึงต้องวางระบบการพัฒนามนุษย์อย่างมาก
อย่างคราวที่แล้วเนีย ยกตัวอย่างไว้เยอะใช่ไหมฮะ ในพุทธศาสนานี่ เค้าว่าเน้นมากเรื่องการพัฒนาปัญญา อย่างเอาง่ายๆ การแสวงหาปัญญานี่ อันหนึ่งก็คือว่า ไม่ให้ความรู้สึก โดยเฉพาะความชอบใจ ไม่ชอบใจ ความชอบชัง หรือที่เราเรียกว่า อารมณ์ต่างๆ นี่เข้ามาครอบงำ ไอ้พวกนี้มันจะเป็นเหมือนกับ ถ้าเป็นแว่นตาก็เหมือนสี มันทำให้เห็นผิดเพี้ยนไป ทีนี้ก็เลยว่าไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของความรู้สึกหรืออารมณ์ โดยเฉพาะชอบใจไม่ชอบใจ ยกตัวอย่างเช่น อย่างหยาบๆ ที่พูดไปแล้ว ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ ขนาดนั้นนี้ก็ยังแก้ไม่ได้ ว่าเราชอบคนไหนหรือชอบพวกไหน คนนั้น พวกนั้น ฝ่ายนั้นทำอะไรดีหมด แล้วก็เราไม่ชอบคนไหน ฝ่ายไหน พวกไหน คนนั้น ฝ่ายนั้น พวกนั้นทำอะไรเสียหมด ใช่ไหมนี่ๆ อคติเกิดแล้ว เนี่ย ง่ายๆ ก็คือ ด้านกิเลส ชอบใจ ไม่ชอบใจเนี่ย ความรู้สึกเข้ามามิอิทธิพล มันก็ทำให้การแสวงหาทางปัญญาไม่ก้าวหน้า คือทางพระนี่จะเน้นว่า เห็นตามความมันเป็นจริง แต่ที่จริง ภาษาของท่านไม่ใช้อย่างนี้ด้วยซ้ำ เรามาแปลกันเอง ตามที่ ตามเป็นจริงเนี่ย ภาษาของท่านก็คือ เห็นตามที่มันเป็น มันเป็นยังไงก็เห็นไปตามนั้น คือ ต้องรู้ เข้าใจ มองเห็นตามที่มันเป็น กับเห็นตามที่เราคิดให้มันเป็นอย่างนี้ละก็ ยุ่ง แล้วมนุษย์จำนวนมากก็จะมีปัญหาเรื่องนี้ คือเห็นตามที่คิดให้มันเป็น ถ้าอยู่ในประเภทพวกนี้ก็คือ คิดตามที่เชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น ก็เลยเอาไอ้ความเชื่อมาเป็นตัวตั้งไป มันก็ขัดขวาง เอาละนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ พูดไปแล้วว่าอย่างง่ายๆ แค่ระหว่างมนุษย์เนี่ย เราก็ไม่สามารถที่จะถอนตัวออกมาให้พ้นจากอิทธิพลของเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกได้และ ตัวนี้มันจะนำไปสู่ศรัทธาที่เป็นปัญหา เช่นเราชอบคนนี้ ก็เหมือนว่า ชักจะเข้าทางศรัทธาแล้ว ทีนี้พอเชื่อแล้ว ทีนี้คนนี้พูดอะไรก็เชื่อหมด ดีหมด
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ให้ระวังไว้ อย่างว่าพระอรหันต์นี่ มีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ อัสสัทโธ แปลว่า ผู้ไม่มีศรัทธา อ้าวทำไมเป็นอย่างงั้นล่ะ ไม่ต้องเชื่อใครแล้ว อย่างพระสารีบุตร อันนี้ก็เคยเล่าบ่อยๆ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตอนนั้น พระสารีบุตรก็อยู่ด้วย ทีนี้พระองค์ได้ตรัสถามธรรมะว่า ธรรมะข้อนี้ หลักการเรื่องนี้ มันเป็นอย่างงี้ๆ ใช่ไหม พระสารีบุตรก็ว่าใช่ แล้วพระองค์ก็ตรัสถาม อันนั้นๆ ใช่ไหม พระสารีบุตรก็ว่าใช่ ถามไปถามมา พระองค์ก็ตรัสถามว่า สารีบุตรที่เธอพูดนี่ เธอพูดด้วยความเชื่อต่อฉันหรือเปล่า พระสารีบุตรก็บอกว่า ข้าพระองค์มิได้พูดอย่างงี้เพราะเชื่อต่อพระองค์ แต่เพราะข้าพระองค์ก็ได้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น นี่คือพระอรหันต์ หมายความว่า เนี่ย พระพุทธเจ้าสอน จนกระทั่งพระสารีบุตรเนี่ยได้ฝึกตนเอง ได้เข้าถึงความจริง มองเห็นสิ่งนั้นด้วยตัวท่านเอง เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเห็นแล้ว พระสารีบุตรพูดอย่างนั้นก็เพราะว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นมันไปตรงกับความจริง มันเป็นอย่างนั้น ท่านก็ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่า พูดอย่างนั้นเพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัส มันไม่ใช่จริงเพราะพระพุทธเจ้าตรัสแต่ มันจริงเพราะว่า พระพุทธเจ้าตรัสตรงกับความจริง
ทางพุทธศาสนา นี่ก็ต้องไปถึงขนาดนี้ก็เป็นอิสระด้วยปัญญา มีปัญญา รู้ความจริงของตนเอง ต้องเป็นอิสระทางปัญญาด้วยนะ ท่านจึงมีคำว่า เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ พระอรหันต์ต้องได้ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ พวกนี้ คือทางจิตก็หลุดพ้น เป็นอิสระ ปัญญาก็หลุดพ้น สองอัน เราสามารถเป็นเจโตวิมุตติ ได้ด้วยการบำเพ็ญฌาน หลุดพ้นด้วยกำลังจิต ด้วยกำลังสมาธิ ก็คือหลุดพ้นจากกิเลส ทำให้จิตใจสงบ และก็ผ่องใส แต่มันไม่เด็ดขาดต้องมีปัญญาวิมุตติ หลุดพ้นด้วยปัญญาจึงจะจบ
แต่ว่าท่านที่เก่งในทาง เจโต ในทางจิต ในทางฌาน เนี่ย ก็ยังเรียกต่อไปเรื่อยแม้แต่ตรัสรู้แล้ว โดยถือว่าท่านเก่ง ถนัดในทางเจโตวิมุตติ ก็เลยให้ชื่อ เจโตวิมุตติ ถ้าเป็นพระอรหันต์เนี่ยก็จะเรียกเจโตวิมุตติ แต่ที่จริงนั่นก็คือต้องมี ปัญญาวิมุตติด้วย ตัวทำตรัสรู้ ตัวทำให้เป็นพระอรหันต์อยู่ที่ปัญญาวิมุตติ ไม่ใช่เจโตวิมุตติ แต่เพราะว่าท่านเด่นทางนั้นก็เลย เรียกเจโตวิมุตติ แต่ว่าพระอรหันต์ที่ไม่ได้เก่งทางเจโต ทางฌานอะไรเลย ได้แค่ปฐมฌาน คือเดิมไม่ได้ฌานอะไร ตอนตรัสรู้ นี่จิตจะดิ่งเป็นฌานเอง ไอ้เนี่ยก็เรียกว่าเป็น พระอรหันต์ปัญญาวิมุตติ ก็คือ ท่านทีได้ฌานได้อะไร ได้แค่ปฐมฌานเมื่อตรัสรู้ ก็เป็นปัญญาวิมุตติ ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็หลุดพ้นด้วยปัญญา อ้าว ทีนี้ผมพูดไปก็ลึกลงไปแล้ว แต่ทีนี้จุดสำคัญเมื่อกี้ก็คือให้เห็นตัวอย่างว่า จิตของเราเนี่ยเมื่อมันถูกครอบงำแล้ว จิตก็ไม่เหมาะกับการใช้ปัญญา กลายเป็นว่าตัวเอง หรือสภาพจิตของตัวเองเนี่ย มาขัดขวางการพัฒนาปัญญา แล้วมนุษย์ก็จะเป็นอย่างงี้มาก กิเลสในใจนั่นเองมาเคลือบคลุมปิดบังปัญญา ทีนี้เอานอกจากว่า ชอบใครหรือชอบฝ่ายไหนอะไรก็พวกนั้น คนนั้น ฝ่ายนั้นทำอะไรก็ดีหมด ถูกหมด ไม่ชอบใคร อันนั้นก็ เสียหมด ผิดหมดนี่ก็อย่าง
ทีนี้ยังมีอีก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอีกแห่งหนึ่ง บอกว่าคนที่เราชอบ เรารักเนี่ย แล้วคนไหนมาชอบคนนั้น มาสนับสนุนคนนั้น มาเอาอกเอาใจคนที่เราชอบเรารักน่ะ เราก็พลอยชอบคนนั้นด้วย ทีนี้คนไหนมาทำไม่ดี เช่นมาพูดว่ากล่าว มาเถียงกันกับคนที่เรารัก ที่เราชอบ เราก็พลอยโกรธ คนที่มาเถียง คนที่มาไม่เข้ากันกับคนที่เรารัก เราชอบด้วย มันไม่จบเท่านั้น เท่านี้ใช่ไหม เอาอีก นี่ก็ลำเอียงอีกล่ะ อคติเกิด ทีนี้คนที่เราไม่ชอบ เกิดมีคนมาชอบคนนั้น ชอบคนที่เราไม่ชอบ เราก็เลยพลอยไม่ชอบคนที่ชอบ คนที่เราไม่ชอบนั่นน่ะ ใช่ไหม ทีนี่คนไหน ไม่ชอบคนที่เราไม่ชอบ เราก็พลอยชอบคนที่ไม่ชอบ คนที่เราไม่ชอบ ใช่ไหมฮะ เอาอีกนี่ก็อคติเกิดอีก นี่มันซับซ้อนกันไปอีก เนี่ย ท่านก็ให้ระวังอีกนะ เนี่ยเป็นเรื่องที่ ขัดขวางกระบวนการ การพัฒนาทางปัญญาทั้งสิ้น นี่แค่ขั้นความรู้สึก เรื่องของอารมณ์กิเลส ภาวะทางจิตใจตัวเองเนี่ย จึงต้องพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิเพราะอะไร เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิเนี่ย มันจะสงบจากพวกอารมณ์ กิเลส เหล่านี้ ความชอบใจ ไม่ชอบใจ ความโกรธ ความเกลียด กามฉันทะ พยาบาท อะไรเนี่ยระงับหมด พอจิตมันผ่องใส แล้วจึงมองเห็นได้ตามที่มันเป็น มิฉะนั้นก็เกิดปัญหา
เอาละนะ ชอบใครก็กลายเป็นว่าคนนั้นว่าไงดีหมด ไม่ชอบใครคนนั้นว่าไงเสียหมด ผิดหมด และก็ยังซับซ้อนที่ว่า คนไหนมาชอบคนที่เราชอบ เราก็พลอยไปเห็นด้วยกับคนนั้น คนไหนไม่ชอบคนที่เราชอบเราก็พลอยไม่เห็นด้วยกับตาคนนั้น ทีนี้คนไหนมาชอบคนที่เราไม่ชอบ เราก็พลอยไม่เห็นด้วยกับตาคนนั้น คนไหนไม่ชอบคนที่เราไม่ชอบ เราพลอยไปชอบ เห็นด้วยกับคนนั้น นี่นะ เนี่ยออกไปมีอิทธิพลในทางสังคม ทีนี้ในจิตของตัวเอง พระพุทธเจ้าก็ตรัสเตือนบ่อย เช่นบอกว่า กุทฺโธ อตฺถํ น ชานาติ กุทฺโธ อตฺถํ น ชานาติ โกรธขึ้นมาแล้วใจมืดมัว มองไม่เห็นอรรถ มองไม่เห็นธรรม นี่ก็เช่นเดียวกันนะ คนเราเกิดโกรธขึ้นมาเนี่ย มองผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิดหมด ก็เกิดปัญหา ไม่รู้ดี รู้ชั่วแล้ว พระพุทธเจ้าจึงเน้น ว่าแม้แต่เป็นราชาเป็นผู้ปกครองเนี่ย ต้องมี อโกธโน ไม่โกรธ และอย่าตัดสินใจเวลาที่โกรธ ต้องให้หายโกรธก่อน ถ้ากำลังกริ้ว ตัดสินใจก็ พลาดเลยใช่ไหม อาจจะสั่งประหารชีวิตปุบปั๊บขึ้นมา นี่ก็เรื่องของด้านจิตกับปัญญาสัมพันธ์กันมาก ฉะนั้นจะต้องทำจิตให้เอื้อต่อการพัฒนาปัญญาซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่ ออกไปทางสัมพันธ์กับสังคมอะไรต่ออะไรด้วย
ทีนี้ในแง่ของกระบวนการคิดอีก ก็มาเน้นในแง่ของการใช้ปัญญา ก็เป็นอันว่าที่เราพูดไปเนี่ย ก็คือต้องระวังการคิดที่เป็นไปด้วยอำนาจความชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือความรู้สึกต่างๆ ก็ต้องตัดต้องแก้ปัญหานี้ อย่างน้อยก็มีสติมาคอยเป็นตัวยับยั้ง หรือทำให้เราสามารถป้องกันกำจัด ไล่ไอ้พวกความรู้สึกออกไป ไม่ให้ตกอยู่ใต้อำนาจความรู้สึกนั้น ทีนี้อีกไอ้ตัวปัญญาเองที่จะคิดพิจารณานี้ ก็ต้องระวังว่า ในการแสวงหาปัญญานั้นก็จะมีอันหนึ่งต้องระวัง คือการคิดเนี่ย การคิดนี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแสวงหาปัญญาที่ว่า
หนึ่งก็คิดโดยไม่มีข้อมูล ไม่หาความรู้ อันนี้ก็เป็นปัญหามาก ยุคปัจจุบันก็เป็นปัญหาเยอะ คิดไป ก็คิดเรื่อยเปื่อย เหมือนกับคนเพ้อเจ้อ ก็คิดไปไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้เป็นฐาน ถ้าไม่มีความรู้สึก ชอบใจ ไม่ชอบใจ เข้ามานำพามันก็คือ เพ้อเจ้อ คิดฝันอะไรไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะฉะนั้นท่านก็ต้องเน้น เรื่องการคิดบนฐานของความรู้ อย่างน้อยข้อมูล ต้องค้นข้อมูลให้ได้ชัดเจน ตอนนี้การใช้ผัสสะ ก็จะมาช่วย ตาดู หูฟัง สิ่งที่รู้ด้วยการเห็น โดยใช้ตาก็ให้มันเห็น สิ่งที่จะรู้ด้วยการได้ยินก็ให้มันได้ยิน ได้ฟัง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช้คิดเอา บางคนคิดเอา สิ่งที่จะรู้ได้ด้วยตาก็ไปคิดเอาแค่ด้วยใจ ไอ้สิ่งที่ควรจะรู้เอาด้วยหู ก็ไปคิดเอาด้วยใจอะไรอย่างนี้นะฮะ ก็พลาดอีก อันนี้ก็เป็นปัญหาของมนุษย์อีก แม้แต่เรื่องนิพพาน
ตอนนี้ก็เป็นปัญหาว่า เอ่อ มนุษย์จะต้องรู้เข้าใจด้วยการเห็นประจักษ์เนี่ยตอนเนี้ย ก็คือต้องไปถึงขั้นประจักษ์ ทีนี้ในกรณีที่ ตัวเองยังไม่สามารถประจักษ์สิ่งนั้น ก็ต้องคิดเอา ใช่ไหม นี่ก็จะเกิดปัญหาอีก เพราะฉะนั้นอย่างที่ท่านเล่าไว้ไง เรื่อง ว่านิพพานเป็นอย่างไร คนธรรมดาเนี่ย ก็ไม่เคยเห็นนิพพาน เมื่อไม่เห็นนิพพานก็ต้องคิดเอา การคิดของคนก็คือเทียบกับสิ่งที่ตนเคยมีประสบการณ์ เหมือนกับเราว่า เอ่อ ช้างเป็นอย่างไรเนี่ย คนที่เห็นแล้วก็จบไป หมดเรื่อง ทีนี้คนที่ไม่เคยเห็นช้าง เอาแหละมีคนมาเล่าบอกว่า เอ่อได้เห็นสัตว์ชนิดหนึ่งเรียกว่า ช้าง คนที่ไม่เคยเห็นก็ถามว่า เอ่อช้างมันเป็นอย่างไร ตอนนี้จะประสบปัญหาละ ที่ว่าไม่ได้ประจักษ์ ไม่ได้เห็นตามที่มันเป็นด้วยตนเอง ช้างมันคืออะไร ก็บอกเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง อ้าว ก็อาศัยอย่างที่เรื่องว่า คอนเซ็ปต์ ที่มีอยู่ ตัวเองมีอยู่แล้ว ไอ้คอนเซ็ปต์ว่าสัตว์ ก็นึกขึ้นมาละ เอาแล้วได้ภาพสัตว์ขึ้นมาละ ก็จำกัดขอบเขตของสิ่งที่ตัวเองคิด แล้วก็มองเป็นว่าจะได้ข้อสรุปความจริงเนี่ยแคบเข้ามา ก็นึกถึงตั้งแต่ มด ขึ้นไปเลยจนถึงปลาวาฬ สัตว์ เอ่อ มันก็อยู่ในขอบเขตเนี่ย ทีนี้เขาบอกว่า ไม่ได้เป็นสัตว์เฉยๆ เป็นสัตว์ใหญ่ งั้นนะ สัตว์ใหญ่ก็นึกขึ้นไปแล้ว พ้นมดแล้วตอนนี้ ก็ยังไม่รู้ขนาดไหน บอกว่า มันใหญ่กว่า วัวอีก เอาละทีนี้ ก็ได้ภาพนะฮะ ก็คิดไปชั้นๆ มันเป็นสัตว์บก สัตว์บกก็ได้ภาพเป็นขั้นหนึ่ง เป็นสัตว์บกสี่เท้าก็ได้อีก ว่าไปเรื่อยก็วาดภาพเอาละกัน จนกระทั่งว่าในที่สุด ตอนนี้บอกว่า มันมีงา ตอนนี้นึกไม่ออกแล้ว ไม่มีตัวเทียบ แล้วมันมีงวง เอาละ จะต้องถามแล้ว ไอ้งา มันเป็นอย่างไร งวงมันเป็นอย่างไร หาตัวเทียบไม่ได้ พอหาเทียบไม่ได้ มันคิดไม่ออก มันก็วาดภาพเอาในใจ คนที่ฟังด้วยกันที่มาถึงขั้นนี้ ก็จะได้ภาพต่างกัน ซึ่งไม่เหมือนกันแล้วนะ เนี่ยตอนนี้เรียกว่าเกิดทิฐิ ถ้าเกิดทิฐิละก็ ยุ่งละนะ เถียงกันละทีนี้ อาจจะทะเลาะกัน ดีไม่ดี ตีกันละทีนี้ ตอนนี้ละ ช้างรูปร่างเป็นอย่างไร ใช่ไหม ตีกันได้เลย เพราะต่างคนก็ต่างไม่เห็นตามเป็นจริง จนกระทั่งเอาช้างมาให้ดู แล้วเรื่องอย่างนี้มันก็มีในพระไตรปิฎกเอง เรื่อง ตาบอดคลำช้าง เคยได้ยินใช่ไหมฮะ
เนี่ยพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง พระองค์ก็ชอบสนุก วันหนึ่งก็เอาคนตาบอดมา ในวังน่ะ หลายคนเลย แล้วก็เอาช้างมา แล้วก็ให้คนตาบอดเนี่ยจับ เอ้า เอาช้างมาให้ ช่วยกันหน่อย ไปสัมผัสช้างกันมาแล้วบอกสิว่า ช้างมันเป็นอย่างไร รูปร่างมัน เอาละทีนี้ก็จับ ช้างมันใหญ่นี่ใช่ไหมฮะ มันก็จับได้ไม่ทั่ว จับได้คนละส่วน สองส่วน ทีนี้จับ เอ้า พอรึยัง ทีนี้บอก พอแล้ว ทีนี้ก็ พระองค์ก็ตรัสถามทีละคน เอ้า คนนี้ช้างเป็นอย่างไร คนนี้คลำขา ช้างเหมือนเสาว่างั้นนะ ทีนี้อีกคนหนึ่งไปคลำที่งวง ว่าช้างเหมือนอะไร บอกเหมือนอะไรก็ไม่รู้ ผมจำไม่ได้แล้ว ก็ว่ากันไปคนละอย่างสองอย่าง จับที่หูก็ว่าเหมือนกระด้ง อะไรอย่างนี้ เป็นต้น โอ้พระองค์ก็ตรัสถามต่างๆ ทีนี้พอพระองค์ตรัสถามอย่างงี้ใช่ไหม คำตอบก็ต่างกัน พอคำตอบต่างกัน ชักฉุนแล้ว พวกที่ตอบไม่เหมือนกันน่ะ ก็เราคลำมาหยกๆ มันว่าอย่างงี้ นายคนนั้นทำไมว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ ชักเถียงกันแล้วนะ เอาแล้ว คนตาบอดก็เถียงกัน เถียงกันว่าแกผิด มันเป็นอย่างงี้ ไอ้ตาคนนั้นก็ว่า มันอย่างงี้ แกสิผิด เถียงกันไปกันมา ลุกขึ้นจะตีต่อย แล้วพระราชาก็ทรงพระสรวล หัวเราะ เอิ๊กอ้ากๆ ใหญ่นะ นี่ละครับ นี่คือ ทิฐิ คือเราไม่เห็นความจริง เราเห็นความจริงบางส่วนแล้วก็สรุป นี่ละครับ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าอย่าไปติดในทิฐิ เมื่อเห็นตามที่มันเป็น เมื่อไหร่จึงจะเอาละ ตอนนี้เรายังเห็นตามที่เราคิดให้มันเป็นนะ เพราะเรายังเห็นไม่จบใช่ไหม เนี่ย ทีนี้มนุษย์ก็จะติดในทิฐิแล้วก็ทะเลาะกัน ปัญหาในโลกนี้ก็เป็น ปัญหาเรื่องทิฐิเนี่ยมาก เพราะฉะนั้น การปกครองแบบประชาธิปไตยที่พัฒนาปัญญา ให้มนุษย์คิดพิจารณาตัดสินใจ ด้วยความรู้ของตนเอง มีความคิดใช้ปัญญาจึงยากมาก มันจะไปติดเรื่องทิฐิ เนี่ยเรื่องสำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิดปัญหา
ในขั้นต้นท่านก็ต้องหาหลักมาช่วยไว้ก่อน เช่นว่า เอ่อ อย่าสรุปง่ายๆ นะให้หาข้อมูลให้เต็มที่ก่อน เราพูดบนฐานความรู้ แล้วก็อย่าเพิ่งยึดติด รับฟังคนอื่น จึงให้หลัก ???โสวจัสสตา ไว้ ให้รับฟังกัน พูดด้วยง่าย ไม่ติดในทิฐิของตนเอง แล้ว แม้ติดทิฐิก็อย่าละเมิด อย่าไปเอาทิฐิเป็นเหตุให้ไปทำร้าย ฆ่าแกงกัน ต้องยับยั้งได้
ที่จริงท่านมีอีกในชาดกน่ะ แล้วเอามาเล่าเป็นไทยระยะนี้ด้วย ผมเอามาเล่าสะหน่อยก็ได้นะ คือพระราชาเนี่ย ให้หาตัวชนิดหนึ่ง ภาษาไทยก็เลยมาแปลกัน ตัว ห่า ว่างั้นนะฮะ บาลีผมลืม นึกไม่ออก คือว่า เรื่องมันเป็นอย่างนี้ พระราชาพระองค์นี้ ตามที่เอาละ จับความ ตานี้ผมก็ไม่ได้ไปทวนดูอีก ว่าพระราชาองค์นี้ เคยเสร็จไปที่เมืองหนึ่งแล็วก็เห็นความงามรุ่งเรืองมาก พระองค์ก็ประทับพระทัย ติดใจอยู่ ต่อมาวันหนึ่งก็ อยากจะไปดูอีก ก็ไป ปรากฎว่า เมืองนั้น พินาศล่มจม ไม่มีเหลือแล้ว แหลกลานหมดแล้ว โอ้ น่าเศร้า ก็เลยถามคนแถวนั้น หาคนก็แทบจะไม่มี ตายกันหรือหนีกันไป ก็เจอคนหนึ่งก็ถามว่า เอ่อ มันเป็นยังไง บ้านเมืองนี้เราเคยมาเมื่อนั่น มันเจริญ รุ่งเรืองน่าอยู่ดีเหลือเกิน งดงาม สวยเหลือเกิน นายคนนี้ก็บอกว่า เอ่อ มันเป็นอย่างงี้เพราะ ห่าลงว่างั้นนะ เอ๊ะ ห่าลง นี่มันเป็นอย่างไร ไม่รู้จัก ไอ้ตาคนที่บอกนั่นก็อธิบายไม่ได้ พระราชาก็กลับมาเมือง โอ้ ไอ้ตัวห่านี่มันร้ายจริงนะ มันทำให้บ้านเมืองพังพินาศหมดเลย ต้องหา รู้จักมันให้ได้ ไม่งั้นเดี๋ยวบ้านเมืองเราจะป้องกันไว้อะไรอย่างนี้ ผมเล่าผิดก็ให้ยกโทษให้ด้วยนะฮะ ก็เอ้าพระองค์ก็เลยบอกพวกอมาตย์ บอกเนี่ยไปหาตัวห่า มาหน่อยว่ามันเป็นอะไร เราจะได้แก้ไขปัญหา ทีนี้ก็ให้เวลาไปช่วยกัน คือตอนแรกก็ไป หาแล้วเจอก็เลยให้เวลา ก็ต้องหาให้ได้ในเมื่อนั้น อมาตย์นี่ก็ไปหากันใหญ่ หาอย่างไรก็ไม่สำเร็จจะหมดกำหนดแล้ว ถึงวันสุดท้ายแล้ว แย่แล้วสิ จะตายแน่แล้วนะ เพราะว่าพระราชานี่กฎเกณฑ์แรงมาก พระราชอาชญา ก็ไปจนถึงในป่า และในที่สุดก็หมด หมดหวังทอดอาลัยนึกว่าตายแน่แล้วเรา ค่ำแล้ว วันรุ่งขึ้นก็ครบกำหนด ไม่มีตัว ห่าไปให้นี่ หมด พระราชาคงสั่งประหารชีวิตแน่ ก็เลยนอนทอดอาลัย พอดีไปอยู่ที่อาศรมพระฤาษี เอ้อ เจอพระฤาษีก็ดีใจ ก็ถามพระฤาษีว่า เอ่อ จะเรียกหลวงพ่อ หลวงปู่ หรืออะไรก็แล้วแต่นะ ว่า หลวงปู่รู้จัก ตัวห่าไหม อ้าวท่านถาม เรื่องอะไรเป็นยังไง บอกพระราชาท่านให้มาหา ผมจะแย่แล้วเนี่ย ถ้าไม่ได้ไป ฝ่ายพระฤาษี ก็เลยเอ้าๆ มานี่ ก็ให้เอากระบอกไม้มา กระบอกยาวๆ เอากระบอกมาให้ท่าน ท่านก็เข้าไปในอาศรม แล้วก็เสร็จเรียบร้อยก็เอามาให้เนี่ย บอกเนี่ยตัวห่า อยู่ในเนี้ยะ ท่านปิดไว้ บอกอย่าเปิดนะ เอาไปให้พระราชา อย่าเปิด ทีนี้ก็ดีใจละ ก็เพราะฤาษี ท่านเป็นคนมีสัจจะ มีศีลธรรมน่ะ ไม่หลอกเราแน่ละ ดีใจเหลือเกิน ก็พากลับไป เอาไปถวายพระราชาวันรุ่งขึ้น บอกว่าได้ มาแล้ว ตัว ห่า อ้าว พระราชาก็บอกว่า แล้วมันเป็นยังไง ไอ้ตัวห่าน่ะ อ้าวพระฤาษีท่านไม่ให้เปิด ตอนนี้พระราชาเป็นใหญ่นี่ บอกเปิดดูสิ ก็ให้พวกอมาตย์เปิดดู บอกดูสิมันเป็นอย่างไร มันอยู่ในกระบอก เปิดดูแล้วก็ กระบอกมันยาว มันก็ไม่เห็นไม่ชัดเจน มัวๆ มืดๆ อมาตย์คนนี้มองเห็นบอกว่า เอ่อ รูปร่างมันเป็นเหมือนกบว่างั้น อ้าวๆ คนโน้นดู แกดูสิ อมาตย์อีกคนหนึ่งดู บอกว่ามันเหมือนจิ้งเหลน ว่างั้นนะ อีกคนดูก็เหมือนตัวโน้น ตัวนี้ ไปๆ มาๆ ชักทะเลาะกันแล้ว เนี่ยทิฐิเกิดแล้วนะ ชั้นว่าเหมือนอย่างงี้ แกว่าเหมือนอย่างงี้ๆ แกไม่ถูก ต่อมาๆ ชักลืมตัว ทั้งๆ ที่อยู่ต่อพระพักตร์พระราชา ด่ากันแล้วสิ เอ่อ คราวนี้บางคนก็เป็นผู้ใหญ่ใช่ไหม เด็กกว่ามาว่าไม่เหมือนตัวเองว่าก็โกรธ ก็เลย จะทุบ จะตีกัน เอ๋อนี่ พระราชาเลยบอก นี่เอง ตัวห่า มันอยู่ที่นี่ นี่แหละ ถ้าเป็นอย่างนี้บ้านเมืองก็พินาศแน่ พระราชาก็ให้เอากระบอกมา เปิดดูสิเป็นอะไร เทกระบอกออกมาเป็น ชันหมากของพระฤาษี พระฤาษีท่านเคี้ยวหมากเสร็จ ท่านก็ใส่กระบอกปิดไว้ นี่ก็ไอ้ตัวเนี้ยะก็เลยเป็นตัวห่า นะฮะ ตัวที่เห็นกันไม่ชัดทั้งนั้นใช่ไหม เนี่ยแหละครับ นี่คือสรุป นี่คือ ทิฐิ
ก็เห็น กันคนละนิดละหน่อย ว่าเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ก็สรุป ว่าไอ้ตัวนี้เป็นอย่างงั้นๆ นี่สรุปออกมาเป็น ทิฐิ แล้วก็ยึด ยึดแล้วก็ทีนี้ก็ เกิดการทะเลาะวิวาทกัน ขัดแย้งกัน ขัดแย้งกันเพราะเรื่องทิฐิ เรื่องร้ายแรงมาก มนุษย์ แม้แต่ผู้มีปัญญาก็ยังมาติดปัญหาเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นที่มีทฤษฎีอะไรกัน คิดอะไรต่ออะไรกันเนี่ย ในประชาธิปไตยต้องระวังให้ดี ตัวเองละยังไม่เห็นชัดละว่าอันนั้นมันจะดีแน่ไม่ดีแน่ ใช่ไหม เนี่ย ตอนนี้ก็เป็นทิฐิของฉันขึ้นมาแล้ว จะเอาอย่างงี้ ฉันจะวางระบบอย่างนี้ แกไม่เห็นด้วยไม่ได้แล้ว ทะเลาะกันแล้ว เอามาเป็นคตินะ แม้แต่เวลาปัจจุบันเนี่ยใช้ได้ไหมครับ ได้เลยนะ เนี่ย คนมันติดในทิฐิ ฉะนั้นบ้านเมืองก็พังพินาศแน่นอนละ ถ้าถึงขนาดนี้ เพราะคนติดในทิฐิ ในระดับชาติ ระดับโลก ได้ทั้งนั้นเลย เรื่องใหญ่มาก
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่า เอ้า ทั้งไม่ติดในทิฐิ ก็หาความรู้ไป ฟังกันไป รับฟังกันไป มีหลักในการอยู่ร่วมกัน เราต่างก็แสวงปัญญาด้วยกันแล้ว พูดกันดีๆ ถ้าพูดไม่ดี อ้าว ท่านก็กำกับไว้อีกในกระบวนการหาปัญญาเนี่ย ต้องใช้คำพูดให้ดี เพื่อจะได้ไม่ให้คำพูดเนี่ยมาเป็นตัวขัดขวาง กระบวนการแสวงปัญญาอีกใช่ไหม ถ้าพูดไม่ดี โกรธกัน จิตมันก็ไม่เที่ยง มันก็ไม่ตรง มันก็ขุ่นมัว มันก็ไม่เห็นตามเป็นจริงอีก อย่างคนที่พูดด้วยความโกรธที่ท่านให้ วจีสุจริต4 เนี่ย หนึ่งพูดจริง ทีนี้ก็มีตัวประกอบ เพราะหาความจริงบางทียังไม่ได้ก็พูดกัน ไม่พูดคำหยาบ พูดวาจาสุภาพ แล้วก็ไม่พูดคำส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดคำที่พูดด้วยความคิด พูดแต่พอประมาณ อันนี้น่ะเป็นตัวช่วยกำกับ วาจาจะมาช่วยกำกับจิตอีกที ทีนี้ถ้าเราพูดด้วยถ้อยคำหยาบคายนี่ มันก็ยั่วยุอารมณ์ แล้วตัวเองอีก ถ้าพูดอย่างงั้นจิต มันก็โกรธ ทีนี้ท่านก็กันไว้บอกว่า คนที่โกรธแล้วมองไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม อ้าวก็คุณโกรธอย่างงี้ จิตมันก็บังตัวเอง มันมืด มันมืดมัว มันเอนเอียง มันก็มองไม่เห็นความจริง เพราะฉะนั้นคุณพูดกำลังโกรธเนี่ย ฉันยังเชื่อไม่ได้ ฉันรับฟังแต่ฉันยังไม่ยอมเอาหรอกให้คุณหยุดโกรธก่อน ให้คุณสบายใจดีก่อน เราเตือนได้อย่างนี้ เราเรียกว่า เรียกร้องธรรมะจากคนนั้น คนไหนพูดด้วยความโกรธ เราบอกว่า ฉันยังไม่รับนะ ที่คุณพูดเนี่ยเพราะว่า หลักมันบอกไว้แล้วมันเป็นความจริงอย่างนั้น ว่าถ้าพูดด้วยความโกรธอยู่นี่ มันแสดงว่า จิตนี้มีกิเลสครอบงำอยู่ เพราะฉะนั้น มันจะไม่เห็นตามความเป็นจริง เราก็มีสิทธิที่จะไปทวงได้ แล้วก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าเราพัฒนาประชาธิปไตย หรือพัฒนาคนในระบบประชาธิปไตยอย่างถูกต้องน่ะ จะเป็นการพัฒนาชาวพุทธไปด้วย
ถ้าบ้านเมืองนี้เป็นชาวพุทธ เมื่อเขาต้องการประชาธิปไตย เขาจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการแสวงปัญญาเนี่ย หลักการเหล่านี้มันจะมาคุมให้เขาปฏิบัติตัวให้ถูก เมื่อเขาปฏิบัติตัวให้ถูก อ้าว มันก็เข้าหลักของพุทธศาสนาที่พัฒนาปัญญาอยู่แล้ว ก็เลยพัฒนาความเป็นชาวพุทธไปด้วย ก็เราก็ได้ทั้งสองอย่าง อันนี้ก็เป็นวิกฤตเป็นโอกาสเหมือนกันนะฮะ วิกฤตเป็นโอกาส ก็คือ ได้โอกาสพัฒนาชาวพุทธในฐานะที่เป็นคนที่อยู่ในสังคมประชาธิปไตย ถ้าพัฒนาคน หรือ คุณภาพคนในระบบประชาธิปไตยดี เราก็พลอยได้ชาวพุทธดีด้วย แต่ที่จริง พัฒนาชาวพุทธนั่นแหละ ก็เป็นพัฒนาคนในสังคมประชาธิปไตย เราก็ประมาทกันน่ะ เรื่อยเปื่อย ความเป็นชาวพุทธก็ไม่ค่อยได้พัฒนา มันก็เลย แย่ ถ้าพัฒนาชาวพุทธให้ดี นี่ก็เราก็น่าจะได้ประชาธิปไตยที่ดีด้วย
อ้าวนี่ก็เลยมา เรื่องปัญหาทิฐิ เรื่องทิฐินี่ เรื่องเยอะแยะ เหลือเกินนะฮะ ปัญหาหนัก หนักที่สุดในสังคม ที่มีการเจริญพัฒนา เพราะมันจะมาติดอยู่ตรงนี้ แม้แต่ประชาธิปไตยอย่างที่พูดวันก่อนน่ะ ก็มาติดไอ้เรื่องทิฐิ ว่าต้องเอาไอ้ตัวระบบเศรษฐกิจแบบนั้น แบบนี้ไปกำกับอยู่กับระบบประชาธิปไตยอีก แล้วประชาธิปไตยมันก็เหมือนกับว่า มันไม่บริสุทธิ์ มันต้องไปโยง ไปเอียง ข้างทิฐิไหน เหมือนอย่างที่พูด อย่างอเมริกันปัจจุบันนี่ก็บอกว่าต้อง Free Market Democracy อย่างนี้นะฮะ เป็นประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี ก็กลายเป็นว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ต้องเป็นแบบทุนนิยม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็ต้องเป็น Peoples Democracy เป็นประชาธิปไตยของประชาชนและก็ว่ากันเอาละว่าไอ้ประชาธิปไตยที่ว่าเป็นของประชาชน หรือเป็นของนั้นมันเป็นอย่างไร แต่ตราบใดที่สภาพจิตมันยังไม่บริสุทธิ์เนี่ย มันจะเป็นประชาธิปไตยบริสุทธิ์ไปไม่ได้ เพราะปัญญามันก็ไม่บริสุทธิ์ มันไม่หลุดพ้นเนี่ย ปัญญามันไม่หลุดพ้นจากไอ้ตัวแฝง ตัวมาป้าย มาคลุมทำให้เกิดสีสันต่างๆ เนี่ยๆ การพัฒนาปัญญานี่เรื่องใหญ่ที่สุด ถ้าเราพัฒนาคนกันจริงจัง ตามหลักพระพุทธศาสนาในเรื่อง ปัญญา เนี่ย เราจะได้นะฮะ เราจะได้ประชาธิปไตยที่ดีแต่เราไม่ค่อยได้เอาใจใส่เท่าที่ควร เอานะวันนี้ แล้วถ้ามีโอกาสก็มาคุยเรื่องนี้ต่ออีกหน่อย ก็ดีเป็นการที่ได้มองกว้างๆ ไม่มีอะไรสงสัยนะฮะ ไม่มีนะ เอ้าไม่มีสงสัย วันนี้ก็เอาเท่านี้ก่อน