แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
กฐินทานวันนี้เป็นกฐินพระราชทานซึ่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่พลโทนายแพทย์ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ ซึ่งได้อัญเชิญมาถวายแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาช่วงไตรมาสที่วัดญาณเวศกวันนี้ เป็นพระราชศรัทธาและพระมหากรุณาธิคุณซึ่งได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณนั้นแก่ชุมชนพุทธบริษัทที่ได้มาอุปถัมภ์บำรุงวัดนี้ด้วยพร้อมกันเป็นสัญลักษณ์ของการที่องค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาในพระราชอาณาจักร พุทธบริษัททั้งพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาขอถวายพระพรอนุโมทนา ขอคุณพระรัตนตรัยอภิบาลสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนทุกท่าน วันนี้ก็เป็นวันทำบุญพิเศษที่เราเรียกกันว่ากาลทานในช่วงท้ายพรรษาหรือต่อจากการจำพรรษาของพระสงฆ์ ที่เรียกว่าท้ายพรรษาก็คือท้ายฤดูฝน ความจริงพรรษานั้นฤดูฝนยังไม่จบจริงเพราะฤดูฝนนั้นมีสี่เดือนก็จะไปจบเอากลางเดือน 12 กฐินนี้เป็นงานบุญในเทศกาลของช่วงสุดท้ายของฤดูฝนนี้ก็เรียกว่าท้ายพรรษาหรือต่อจากการจำพรรษาของพระสงฆ์ ก็หมายความว่าพระสงฆ์นั้นจำพรรษาในสามเดือนแรกของฤดูฝน เมื่อจำพรรษาครบสามเดือนเราเรียกกันว่าไตรมาสแล้วก็มีอานิสงส์ เรียกเป็นภาษาปัจจุบันว่ามีสิทธิพิเศษที่จะกรานกฐินซึ่งเป็นหน้าที่ของพระเองที่จะจัดทำขึ้นแต่เมื่อมีโยมผู้ศรัทธาในฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาพุทธบริษัทจัดขึ้นและนำมาถวายก็สามารถรับผ้ากฐินที่สำเร็จแล้วนำมากรานกฐินได้ ก็เป็นประเพณีในประเทศไทยของเรานี้ที่พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์อุบาสกอุบาสิกาตั้งแต่องค์สมเด็จพระมหากษัตริย์ลงมาได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาโดยการแสดงออกให้เห็นชัดที่ประเพณีเรื่องการทอดกฐินนี้ กล่าวได้ว่าสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าคือที่ญาติโยมได้ถวายพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำในเรื่องของการทอดกฐินนี้ เท่าที่ทราบนั้นกฐินในส่วนขององค์พระมหากษัตริย์ก็มีทั่วไปสามอย่างคือ หนึ่ง “กฐินหลวง” กฐินหลวงนั้นก็เป็นกฐินที่เป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นงานการแผ่นดินแล้วก็จัดไปถวายเฉพาะพระอารามหลวงไม่กี่วัด สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าจะเสด็จด้วยพระองค์เองบ้าง รับสั่งให้พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ไปในพิธีแทนพระองค์บ้าง อันนี้ก็เป็นเรื่องของระดับประเทศชาติหรือระดับการแผ่นดิน
ต่อจากนั้นก็มี “กฐินต้น” กฐินต้นก็คือกฐินส่วนพระองค์ที่สมเด็จบรมบพิตพระรราชสมภารเจ้าจะโปรดไปพระราชทานไปถวายที่วัดใดก็ได้สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แล้วก็อย่างที่สามนี่ก็ “กฐินพระราชทาน” ซึ่งเป็นกฐินที่เป็นของพระองค์แต่ว่าได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้บุคคลก็ตาม หน่วยราชการก็ตาม องค์กรต่างๆ ก็ตาม สามารถขอพระราชทานไปถวายในวัดที่สมควร สามอย่างนี้ก็เป็นกฐินในส่วนของในหลวงที่จะทำให้ทรงสามารถบำรุงพระพุทธศาสนาได้ทั่วถึง ในประเภทที่หนึ่งกฐินหลวงนั้นก็เป็นการที่ให้เห็นเป็นสัญลักษณ์เลยในระดับของประเทศชาติที่เป็นเรื่องของสถาบัน ให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หรือองค์พระประมุขของชาติเนี่ยได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา วัดเรานั้นก็เหมือนกับว่าเป็นตัวแทนของวัดทั้งหมดในพระราชอาณาจักรเพราะเป็นวัดใหญ่ๆ ทั้งนั้นเช่นอย่างวัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ วัดประจำรัชกาลที่ 1 หรืออย่างวัดเบญจมบพิตร วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น
ในส่วนกฐินประเภทที่เรียกว่ากฐินต้น ก็เป็นการที่ในหลวงจะได้ทรงใกล้ชิดประชาชน ได้เข้าถึงพระสงฆ์ในท้องถิ่นต่างๆ ประชาชนมีโอกาสเฝ้าอย่างใกล้ชิด อันนี้ก็เป็นการที่ว่าได้ทรงใกล้ชิดกับประชาราษฎรก็เป็นโอกาสที่เปิดกว้างที่สุดเหมือนกันก็ว่าได้ที่ว่าจะทรงเสด็จไปที่ไหนก็ได้ และในอย่างที่สามที่เรียกว่ากฐินพระราชทานนั้นก็เท่ากับว่าพระองค์จะถวายอุปถัมภ์บำรุงแก่วัดทั่วไป แต่ว่าก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเสด็จไปด้วยพระองค์เองทั้งหมดแล้วก็เป็นการที่พระราชทานโอกาสแก่บุคคลหน่วยงานราชการองค์กรต่างๆ ได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดีด้วย แล้วก็ได้มา..เหมือนกับมาช่วยรับสนองพระมหากรุณาธิคุณในการที่จะนำเอาผ้าพระกฐินนั้นทอดตามวัดต่างๆ เมื่อได้สามอย่างนี้ก็เท่ากับว่าบุญในกฐินของในหลวงก็ทั่วถึงหมดทั้งประเทศ อันนี้ก็เป็นประเพณีสืบมา
ส่วนในด้านประชาชนเราก็มีกฐินกันทั่วไปซึ่งก็มีเรียกกันหลายอย่าง วันนี้ก็คงจะไม่มาพรรณาเรื่องของรายละเอียดของกฐินเหล่านั้นเพราะมีชื่อเรียกต่างๆ ที่รู้จักกันมากก็คือกฐินสามัคคี แล้วก็ยังมีจุลกฐิน กฐินตกค้าง อะไรต่างๆ เหล่านั้นอีก ก็เป็นเรื่องที่รวมแล้วแสดงออกถึงศรัทธาของประชาชนที่ขวนขวายในบุญกุศลและการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เมื่อมีการทอดกฐินก็จะเห็นชัดว่าญาติโยมเนี่ยจะจัดเตรียมการกันเป็นการใหญ่ และในการเตรียมการต่างๆ นั้นก็มีเรื่องของการจัดทุนรอนไว้เอาไว้ถวายวัด อาจจะมีวัตถุประสงค์ว่าถวายเพื่อให้วัดจัดทำสาธารณกิจด้านนั้นด้านนี้โดยมากก็จะเน้นไปที่การก่อสร้างเพราะใช้ทุนมาก สร้างโบสถ์สร้างวิหารสร้างศาลาการเปรียญ สร้างอะไรต่างๆ แม้กระทั่งที่โยมพูดถึงเมื่อตะกี้ก็มีเรื่องการสร้างหอสมุดด้วย ก็ถือว่างานการใหญ่ๆ ที่เป็นเรื่องของวัดต้องการทุนรอนมากก็อาศัยกฐินนี้มากทีเดียว เพราะฉะนั้นกฐินก็เลยเป็นโอกาสสำคัญที่ว่าญาติโยมจะอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาวัดวาอาราม จนกระทั่งบางทีความเด่นก็เลยไปอยู่ที่ตรงนี้ ในแง่ของการอุปถัมภ์บำรุงแสดงศรัทธาของโยมนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีงามมากเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องระวังอย่าให้ลืมสาระเดิมที่แท้จริงของการกฐิน หมายความว่าเรามีศรัทธาเราอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาวัดวาอารามก็ทำกันไป แต่ว่าตัวแท้ตัวความหมายเดิมของกฐินนี้ก็ลืมไม่ได้ด้วยต้องทวนกันไว้เสมอ
ทีนี้ตัวกฐินนั้นอยู่ที่ไหน เราก็ต้องมีการทำให้ชัดขึ้นมาเพราะฉะนั้นในพิธีทอดกฐินส่วนสำคัญก็คือตอนที่ประธานมากล่าวหรือนำกล่าวถวายผ้ากฐิน อันนั้นเป็นการบอกชัดว่าตัวกฐินอยู่ที่นี่นะ คือผ้ากฐินเนี่ยที่ประธานท่านประคองหรืออุ้มขึ้นมากล่าวนำถวายแต่ประธานก็มักจะอุ้มทั้งไตร ในไตรนั้นก็ไม่ใช่เป็นกฐินทั้งหมด ในนั้นก็จะมีผ้ากฐินอยู่ผืนเดียวซึ่งต้องไปแยกอีกทีหนึ่ง ตอนนั้นก็เป็นเรื่องของพระแล้วว่าในผ้าไตรผืนนั้นหน่ะผืนใดจะเป็นตัวกฐิน ผ้ากฐินก็จะอยู่ในนั้นตอนที่พระไปทำสังฆกรรมก็จะได้แยกออกมาแล้วก็จะนำเอาผ้าผืนนั้นซึ่งอยู่ในชุดที่เรียกว่าไตรจีวรซึ่งมีผ้าสามผืนเราเรียกเป็นภาษาไทยว่าสบง จีวร สังฆาฏิ ถ้าภาษาพระก็เรียกสบงว่า “อันตรวาสก” จีวรก็เรียกว่า “อุตราสงค์” สังฆาฏิก็เรียกชื่อตามเดิม ก็สามผืนนี้ก็ผืนใดผืนหนึ่งก็นำมาใช้เป็นตัวผ้ากฐิน นิยมใช้สังฆาฏิก็นำเอาสังฆาฏิมาเรียกว่ากรานกฐินเรียกว่าทำกฐินให้สำเร็จ อันนั้นเป็นเรื่องของสังฆกรรมซึ่งบางวัดก็ทำการกรานกฐินนี้ในโบสถ์ให้เสร็จไปเลยตอนที่โยมมาทำพิธีถวาย แต่หลายวัดนี่อย่างวัดหลวงใหญ่ๆ มีพระลงพร้อมกันหมดไม่ได้ ตอนที่มีพระราชพิธีอยู่ก็จะมีพระลงส่วนหนึ่ง แล้วเสร็จแล้วหลังจากนั้นอาจจะเป็นตอนค่ำพระทั้งวัดก็จะมาลงพร้อมกันแล้วก็ประกอบสังฆกรรมที่เป็นเรื่องของการกรานกฐินจริงๆ อีกทีหนึ่ง ก็จริงทั้งนั้นแหละแต่ว่าเป็นตอนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ อันนี้ก็เป็นความรู้ประกอบแต่ว่าให้เป็นที่ทราบกันว่าตัวกฐินที่แท้อยู่ที่ผ้าผืนหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วผ้าผืนนี้นั้นมีสาระอะไร บรรจุความหมายอะไรไว้ตรงนี้ที่สำคัญ
ผ้ากฐินนี้บรรจุสาระสำคัญไว้ก็คือเอ้า.. ที่หนึ่งมองง่ายๆ ก็คือ “พุทธบัญญัติ” ผ้ากฐินผืนนี้เป็นตัวแทนแสดงถึงพุทธบัญญัติคือข้อที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ในทางพระวินัยว่าพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสแล้วให้ทำการกรานกฐิน ก็คือว่าจัดทำผ้าขึ้นผืนหนึ่งในไตรจีวรนั้นหน่ะเอามาประชุมแล้วก็มอบให้แก่กัน แต่ที่จริงก็คือว่าผ้าที่มอบให้หน่ะยังไม่เสร็จหรอก เอามามอบให้ในที่ประชุมแล้วก็ต่อจากนั้นก็ยังต้องไปทำต่ออีก เดิมนั้นพระต้องทำเองเรื่องกฐิน พระที่ไปจัดทำกันนี้ก็ให้พระทุกองค์ในวัดเนี่ย องค์ที่ได้ก็ตามองค์ที่ไม่ได้ก็ตาม ซึ่งส่วนมากจะไม่ได้เพราะได้องค์เดียว อาจจะมีสัก 50 องค์ ก็ถวายแก่องค์เดียวเสร็จแล้ว 49 องค์ก็มาช่วยทำต่อไป อันนี้ก็คืออะไร สาระนี้ก็วินัยที่บัญญัติไว้ว่าให้มีการกรานกฐินนี้ก็เป็นพุทธบัญญัติ เป็นวินัย เป็นข้อกำหนดในเชิงปฏิบัติว่าให้ทำอย่างงั้นๆ เป็นข้อกำหนดลงมา แล้วสาระที่เป็นแก่นในนั้นก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือความสามัคคีว่าให้พระสงฆ์ได้อยู่ด้วยกันแล้วนะ เราอยู่กันมาทั้งพรรษานี่ต้องมีน้ำใจต่อกันไม่โกรธเคืองกัน บางทีชุมชนที่อยู่ด้วยกันนานๆ เข้าบางทีก็เกิดการขัดแย้งบางทีถึงกับทะเลาะวิวาทกัน ชุมชนสงฆ์นี่จะต้องเป็นตัวอย่างอยู่กันด้วยน้ำใจที่ดีงามเป็นเหมือนเป็นพี่เป็นน้องมีความสามัคคีต่อกัน เพราะฉะนั้นเวลาออกพรรษาแล้วบางทีจะแยกย้ายกันไปนี้ก็แสดงน้ำใจกันด้วยการมากรานกฐิน มาช่วยกันเก็บผ้ามารวมกันมาตัดมาเย็บมาย้อมอะไรๆ เนี่ยเป็นน้ำใจเพื่อถวายแก่องค์เดียวนี่แหละ ก็แสดงถึงความสามัคคี ก็พุทธบัญญัตินี้ก็เป็นเรื่องของพระวินัย วินัยนั้นก็บรรจุไว้ซึ่งสาระอีกชั้นหนึ่งก็คือธรรมะได้แก่ความสามัคคี อันนี้เป็นเรื่องที่แสดงหลักการสำคัญทางพระพุทธศาสนา แม้แต่กฐินอย่างเดียวนี่ก็แสดงให้เห็นถึงหลักทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ที่เราเรียกว่าพระพุทธศาสนานั้นมีชื่อเรียกว่าพระธรรมวินัยนี่ก็เป็นตัวอย่าง กฐินก็มีทั้งพระธรรมวินัย ตัวที่ปรากฏออกมาให้เราเป็นพิธีกรรมแต่ที่จริงเรียกว่าสังฆกรรม เป็นงานของส่วนรวมของพระสงฆ์หน่ะ เป็นเรื่องของวินัยเป็นเรื่องของพุทธบัญญัติ แต่ว่าทำไมจึงมีพุทธบัญญัตินี้ก็เพราะต้องการให้ได้เอากิจกรรมในเชิงปฏิบัติของส่วนรวมเนี่ยมาเป็นที่ปรากฏมาเป็นที่แสดงออกของธรรมะอีกทีหนึ่ง หรือให้มีโอกาสนำเอาธรรมะออกมาปฏิบัติเพราะธรรมะก็สอนให้เป็นนามธรรม สอนไปแล้วจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน
ทีนี้จะทำยังไงให้มีการปฏิบัติจริงจัง ในด้านสังคมก็ต้องมีวิธีการนี้แหละที่เรียกว่ามีวินัย ถ้าทางบ้านเมืองก็เรียกว่ากฎหมายหรือกติกาของชุมชนของสังคม อะไรก็แล้วแต่คือเรื่องของข้อกำหนด ระเบียบ กติกา วินัยทั้งหลายเนี่ย สิ่งเหล่านี้ถ้าใช้ศัพท์พระเขาเรียกกันตัวเดียวว่าวินัย วินัยก็เป็นการนำเอาสาระที่ต้องการในทางธรรมะเนี่ยมาจัดตั้งวางรูปเป็นระบบระเบียบขึ้นมาให้มีการปฏิบัติจริง เมื่อมีธรรมะเป็นตัวสาระที่แท้จริงแล้วมีการปฏิบัติในเชิงวินัยก็รวมกันเป็นพระพุทธศาสนา อย่างเดียวไม่พอที่จะเป็นพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นเครื่องเตือนใจพุทธศาสนิกชนไว้ว่าพระพุทธศาสนานั้นต้องครบทั้งสองอย่าง เพราะบางทีเราเนี่ยเพลินไป ไปมองเอาอย่างเดียว ส่วนมากเราไปเน้นธรรมะบางทีก็ไปนึกว่าธรรมะ เรื่องพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องในใจ ก็เลยไปอยู่แต่เรื่องภายในจิตใจของแต่ละคนไป ทำไงจะให้เรื่องของธรรมะที่เป็นเรื่องของความดีงามที่เป็นนามธรรมเนี่ยมันออกมาสู่การปฏิบัติมีประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ก็ต้องมีวิธีการที่เรียกว่า..สมัยนี้เขาเรียกว่าจัดตั้ง จัดตั้งก็คือวินัยนี่แหละพระพุทธเจ้าทรงทำมาก่อน ก็คือต้องทำให้มันมีการปฏิบัติจริงก็ทำกติกาขึ้นมาสำหรับพระพุทธองค์ก็ทรงมีพุทธบัญญัติว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา พอมีพุทธบัญญัติแล้วก็ต้องมีการปฏิบัติจริง พอการปฏิบัติจริงแล้วธรรมะนั้นก็มีที่ออกมีทางแสดงออกขึ้นมาก็ทำให้ปรากฏขึ้นมา ในเรื่องของสังคมก็จะต้องเป็นอย่างนี้ในเมื่อมนุษย์ ถ้าอยู่กับธรรมะก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลแต่ละคน แต่ถ้าเราอยู่กันเป็นสังคมก็จะต้องมีเรื่องของวินัยการจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผน แล้วระบบระเบียบแบบแผนที่เรียกว่าวินัยเนี่ยเมื่อได้ปฏิบัติกันดีจนกระทั่งลงตัวเรียกว่า..เหมือนกับว่าอัตโนมัติ ไม่ต้องตั้งใจหรอก มันเป็นไปเอง เคยชิน มันก็กลายเป็นวัฒนธรรมไปอย่างนั้นเองเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมนั้นก็คือวินัยที่ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเอง วินัยได้มาเป็นวัฒนธรรมได้เมื่อไรก็ดี อย่างวัฒนธรรมชาวพุทธที่เป็นมาเนี่ยก็คือการที่ว่าเราพยายามนำเอาหลักของพระพุทธศาสนาที่เป็นรูปของบัญญัติต่างๆ ที่เป็นวินัยเนี่ยให้มาเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชน พอวินัยเป็นวัฒนธรรมได้คราวนี้ก็ยืนอยู่ลงตัวแล้ว เหมือนกับกฐินเนี่ยที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไป แต่ว่าวัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบเนี่ยถ้าหากว่าเราไม่มาทบทวนเนื้อหาสาระไม่มีการศึกษา ความหมายที่แท้เดิมมันก็เลือนลางหายไปบางทีก็เหลือแต่รูปแบบ รูปแบบนั้นก็เลยต่อมากลายเป็นว่าสาระไม่มีกลายเป็นไปเอาความหมายอื่นมาใส่ รูปแบบอยู่แต่ความหมายที่เป็นสาระนั้นไม่ใช่ตัวซะแล้ว ก็เลยเปรียบเทียบเหมือนอย่างกับว่า..การที่เราจะรักษาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้อยู่ยืนยงหน่ะ เช่นว่าเรามีน้ำปานะเนี่ยหรือว่าโยมมีน้ำธรรมดาอะไรเนี่ยหรือน้ำดื่ม หรือว่ามีน้ำอะไรที่ดีๆ เนี่ยโยมจะรักษาไว้ได้ยังไง น้ำนั้นก็คือธรรมะสิ่งที่เป็นสาระที่ต้องการ จะเอามาใช้จะเอามาดื่มก็ไม่สะดวกแล้วจะเก็บรักษาไว้ก็ไม่ได้ ทำไงก็ต้องหาขวดมา พอมีขวดมาก็บรรจุน้ำดื่มน้ำปานะน้ำอะไรที่ดีๆ นั่นหน่ะ แม้แต่น้ำอบน้ำหอมที่โยมต้องการบรรจุก็ได้ใช้รักษาก็เอาไว้ใช้สะดวก ขวดนั้นก็คือวินัย น้ำนั้นที่ต้องการก็คือธรรมะ ทีนี้ต่อมาๆ เราก็รักษาขวดเราก็ติดตัวขวด ไปๆ มาๆ ลืมเนื้อไม่เห็นความสำคัญไม่รู้ว่าเนื้อคืออะไร บางทีแต่งขวดซะสวยสิวาดภาพระบายสีเลยรักขวดมาก ต่อไปๆ ไม่รู้ว่าไอ้ตัวสาระที่ต้องการบรรจุน้ำในขวดคืออะไรลืมไปในที่สุดเหลือแต่ขวดเปล่าๆ ก็มีไม่มีเนื้อ บางทีลืมไปๆ เอาขวดนั้นไปใส่เหล้าซะเลย เลยกลายเป็นว่าจีงไอ้รูปแบบข้างนอกเป็นอย่าง แต่เนื้อในมันกลายไปแล้ว นี่แหละวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างก็เป็นอย่างนี้เหลือแต่รูปแบบ แล้วบางทีรูปแบบนั้นไปบรรจุอะไรอื่นที่มันไม่ใช่เนื้อหาสาระเดิม กฐินนี่ก็เหมือนกันถ้าหากว่าเราไม่รักษาให้ดีก็อาจจะกลายเป็นรูปแบบที่บรรจุความหมายอื่นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการทบทวนศึกษาความหมายสาระที่แท้เดิมไว้ด้วย ก็โยมก็ไปอย่างนี้เนี้ยวัฒนธรรมที่เรามีประเพณีไปทำบุญทอดกฐินจนกระทั่งกลายเป็นกฐินทัศนาจรก็มี นี่แหละถ้าไม่ระวังไปก็เหลือแต่รูปแบบ ก็สาระก็ไม่มีกลายเป็นเนื้ออื่นไป ทีนี้พอเราทบทวนกันไว้ดีก็รู้ว่าอ๋อ..สาระที่แท้นี้ตัวแกนของกฐินอยู่ที่ผ้ากฐิน ผ้ากฐินนี้เป็นพุทธบัญญัติสำหรับพระสงฆ์และก็ญาติโยมก็มาร่วมอุปถัมภ์ไม่อยากให้พระสงฆ์ลำบากต้องมาจัดมาทำผ้าก็เลยทำให้สำเร็จเลยเอามาถวาย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตทำมามอบถวายแก่กันแก่องค์เดียวนั้นแหละแล้วก็สำเร็จแล้วก็เป็นสามัคคีอยู่นั้นแหละ แต่ขยายสามัคคีนอกจากในหมู่พระสงฆ์ที่พร้อมใจกันยกให้องค์หนึ่งแล้ว ญาติโยมก็ได้สามัคคีกับพระสงฆ์ได้ร่วมมือได้จัดทำมาถวายด้วยก็ขยายความสามัคคี กฐินก็เลยกลายเป็นเครื่องหมายของความสามัคคี ที่เรานิยมเรียกกันว่ากฐินสามัคคีก็คือเปิดโอกาสให้ประชาชนจำนวนมากมายได้ร่วมกันแล้วก็กฐินจากที่นี้ไปก็ถวายที่โน้น ถวายที่จังหวัดนี้จังหวัดโน้นอะไรต่างๆ นี่เป็นน้ำใจของถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่งก็จนกระทั่งทั่วประเทศเลย เพราะฉะนั้นสาระสำคัญของกฐินก็อยู่ที่ความสามัคคี
เรื่องอย่างนี้ก็เป็นสองด้านของพระพุทธศาสนาที่เราจะต้องไม่ลืม ด้านเนื้อหาสาระที่เป็นนามธรรมเป็นธรรมะ กับด้านปฏิบัติการที่เป็นวินัยที่เอามาบัญญัติกันในเชิงสังคม ตัวความจริงสาระแท้นั่นเป็นธรรมะแท้เป็นธรรมชาติ แต่ว่าเวลาเอามาปฏิบัติทางสังคมเป็นสมมติ เป็นสมมติตกลงกันว่าเป็นอย่างโง้นอย่างงี้ แต่ว่ามันก็เป็นสื่อเพื่อจะให้ธรรมชาติที่เป็นสาระนั้นเป็นผลออกมาจริงๆ ในสังคมมนุษย์นั่นเอง ต้องแยกกันให้ถูกสองส่วนเนี่ย เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจะมีคำสอนประเภทที่มีสองอย่างที่แตกต่างกัน แต่ว่าสองอย่างที่แตกต่างกันนั้นเป็นส่วนที่มาประสานเสริมเติมเต็มให้กัน เป็นอย่างนี้มากมาย เพราะฉะนั้นคำสอนเนี่ยให้โยมสังเกตุดู อาตมาจะขอยกตัวอย่างมีเยอะแยะ เริ่มต้นคำสอนพื้นๆ พระพุทธเจ้าก็จะตรัสมาว่า เอ้า..ให้ดำเนินชีวิตปฏิบัติกิจทั้งหลายโดยไม่เบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่นเป็นคู่กันนะ ไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนผู้อื่นนี่เป็นคู่หนึ่งแล้วต้องให้ครบ ไม่เบียดเบียนตนด้วย เอ้า..แค่นี้จะพอไม่ได้เดี๋ยวจะ....ต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย เดี๋ยวจะคิดแต่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ไม่ถูกอีก ต้องไม่เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น ขยับต่อไปอีกก็มีว่า.. พระองค์ก็จะตรัสเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่นก็ทั้งสองฝ่าย ก็ต้องทำให้ได้ก็ทั้งเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสองอย่างนี้ต้องให้มาประสานเสริมเติมเต็มให้กันด้วยนะไม่ใช่ว่าแยกกันไปเลย ทำไงจะให้ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นมาเสริมกัน อันนี้แหละเป็นเรื่องที่ต้องไปคิด คนที่มีการศึกษาก็จะรู้จะเข้าใจว่าเอ้อ..เราพัฒนาตนเองให้มีประโยชน์ตนเพิ่มขึ้นมีสติปัญญาความสามารถ มีคุณความดียิ่งขึ้น เก่งยิ่งขึ้นหน่ะ แล้วจะช่วยเสริมประโยชน์ผู้อื่นยังไง อ้าว..เรามีความสามารถมากขึ้นเป็นผู้มีปัญญาที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตั้งแต่ครอบครัวญาติพี่น้องจนกระทั่งถึงเพื่อนร่วมชาติเพื่อนร่วมโลกได้ดียิ่งๆ ขึ้น อ้าวแล้วไปทำประโยชน์ผู้อื่นแล้วมันดีกับตัวยังไง เอ้า..มันก็ทำให้สังคมดีส่วนรวมอยู่ดีมีความสามัคคีอยู่ร่มเย็นเป็นสุขเราก็พลอยไม่เดือดร้อนอยู่ดีไปด้วย แล้วก็อยู่ร่มเย็นเป็นสุขจิตใจก็เป็นสุขสงบ นี่แหละประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นทำให้ครบด้วยแล้วก็มาประสานเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน ธรรมะต่างๆ ก็จะเป็นอย่างนี้เรื่อยไป หรืออย่างต่อไปอย่างเรื่องสมาธิกับวิริยะพระพุทธเจ้าก็ต้องให้เป็นคู่กัน คนที่จะเป็นสมาธิเนี่ยทำให้จิตใจสงบ จิตใจสงบต่อไปก็จะมีความสุขแล้วต่อไปก็ใช้สมาธินั้นเป็นฐานในการก้าวไปสู่การเจริญปัญญาอะไรต่างๆ ด้วย
ทีนี้ท่านก็วางไว้ว่าสมาธินี่มันก็ดีหรอก แต่ว่ามันเป็นพวกเดียวกันกับความขี้เกียจ หลักธรรมท่านว่าไว้อย่างนั้นนะ สมาธิเนี่ยภาษาพระนี่ท่านเรียกว่า “โกสัชชะปักขัตตา” มันเป็นพวกเดียวกันกับความขี้เกียจ เพราะฉะนั้นคนที่มาเป็นสมาธินี่พอเพลินสบายใจแล้วชักจะโน้มไปในทางนิ่งเฉยไม่อยากขยับเขยื้อนเสวยความสุขไปเรื่อย พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่าต้องให้มี “อินทรีย์สมตา” ให้มีความสม่ำเสมอ ปรับอินทรีย์ให้เสมอสมดุลย์ซะก็ต้องมีคู่เข้ามาคือมีวิริยะความเพียร เพราะฉะนั้นคนจะต้องมีความเพียรด้วย ความเพียรก็คือความมีใจแกล้วกล้าจะเดินหน้าทำโน่นทำนี่ขมีขมันกระตือรือร้น ไม่หยุดนิ่งมีอะไรจะทำต้องทำ ใจสู้ไม่ระย่อท้อถอยเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องของวิริยะความเพียรต้องคู่กัน ถ้าคุณมีสมาธิและความเพียรแล้วไปได้ แต่ถ้ามีแต่สมาธิไม่มีความเพียรมาคู่เดี๋ยวดีไม่ดีก็เลยเพลินเป็นขี้เกียจไปแล้วก็ประมาทเสียอีก ทีนี้คนที่มีวิริยะมากจะเดินหน้าท่าเดียวกลายเป็นคนพลุ่งพล่านร้อนรนกระวนกระวายและพลาดพลั้งได้ง่าย ก็ต้องมีสมาธิมาช่วยทำให้หนักแน่นมั่นคง เย็น ก็จะก้าวไปอย่างมั่นคงหนักแน่น ตอนนี้ละก็จะทำให้กิจการงานสำเร็จ ต้องไปคู่กัน หรืออย่างศรัทธากับปัญญาก็ต้องคู่กัน พุทธศาสนิกชนทั่วไปก็ต้องมีศรัทธา และอย่ามีศรัทธาอย่างเดียวนะเดี๋ยวก็มืดบอด ต้องมีปัญญาด้วย ปัญญาอย่างเดียวจับจดอีก เอาโน่นเอานี่ นี่ก็รู้โน่นก็รู้ อะไรต่ออะไรไม่เชื่อไม่ฟังใครอีกนะขาดศรัทธาไม่เอาแน่ไม่เอานอนก็เลยไม่ได้ผลอีก ก็ให้มีทั้งศรัทธาและปัญญามาหนุนซึ่งกันและกัน
ทีนี้สำหรับปุถุชนทั่วไปก็จะเน้นคู่นี้ แต่พอบำเพ็ญบารมีไปจนกระทั่งสมบูรณ์เช่นเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ศรัทธา-ปัญญาไม่ต้องแล้ว คู่นี้ไม่มีแล้ว เปลี่ยนเป็นกรุณากับปัญญาแล้ว เพราะฉะนั้นสำหรับคนทั่วไปเนี่ยผู้ศรัทธากับปัญญา พอไปเป็นผู้บรรลุธรรมสูงสุดแล้วก็เปลี่ยนจากคู่ศรัทธา-ปัญญาเป็นคู่กรุณากับปัญญาแล้ว ศรัทธานี่เป็นฝ่ายจิต ปัญญาก็เป็นปัญญา ทีนี้กรุณากับปัญญา กรุณาก็เป็นฝ่ายจิต ปัญญาก็เป็นฝ่ายของปัญญานั่นแหละต้องคู่กัน ฝ่ายจิตใจต้องดีด้วย ฝ่ายจิตใจกรุณาเป็นตัวที่จะมาคุมให้เจตนาของเราดี เจตนาของเราก็จะมุ่งไปในการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ รักกันอยากช่วยเหลือเขา ถ้าอยากให้เขาเป็นสุขก็มีเมตตา ถ้าอยากให้เขาพ้นทุกข์ผู้ที่พ้นทุกข์ไปแล้วนี่ก็สูงเหนือเขา คนที่สูงเหนือเขามองลงมาก็จะมีกรุณา เมตตาที่ปกติก็ใช้ต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีเหมือนกับว่าเสมอๆ กันอยากให้เขาเป็นสุข ถ้าตัวเองขึ้นไปอยู่สูงแล้วกลายเป็นคนอื่นนี้เอยู่ในทุกข์ อยู่ในทุกข์พอมองลงมาก็กรุณา เพราะฉะนั้นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นผู้บรรลุธรรมสูงสุดแล้วนี่มองเพื่อนมนุษย์เข้าก็เห็นคนอื่นตกอยู่ในความทุกข์ เพราะฉะนั้นก็คุณธรรมที่เด่นก็เป็นกรุณา กรุณาก็จะสำเร็จได้ก็ต้องมีปัญญา กรุณาอยากช่วยเหลือเขาให้พ้นทุกข์แต่ตัวเองไม่มีปัญญาจะไปช่วยเขาได้อย่างไร ก็ต้องมีปัญญาที่จะมีแสงสว่างรู้จักจัดรู้จักทำรู้จักดำเนินการอันนี้ต้องคู่กัน ทีนี้ก็สำหรับคนทั่วไปก็ต้องมีศรัทธาแล้วก็เดินหน้าไปได้สำหรับก้าวตนเอง ทีนี้ก็อยู่กับผู้อื่นเรามีเมตตาเป็นทุนสำคัญ แต่ว่าเมตตานี่ก็อย่างที่ว่าต้องมีปัญญามาคู่ด้วยนะ ชาวพุทธเรานี่ก็มีน้ำใจดีมีเมตตากรุณา อยากจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันหน่ะก็ดีแล้วแต่ว่าก็ต้องระวังคืออย่าให้ขาดปัญญา ปัญญาความรู้มันจะเป็นตัวบอก อันไหนควรช่วยไม่ควรช่วย ช่วยแค่ไหน ช่วยอย่างไร ช่วยอย่างไรถูก ช่วยอย่างไรไม่ถูก เพราะบางทีบางกรณีช่วยไปกลายเป็นว่าไปทำร้ายเขาก็มี หรือช่วยคนนั้นไปทำร้ายสังคมก็มี เพราะงั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญา ดีไม่ดีมีแต่เมตตาแต่ว่าไม่มีปัญญา แทนที่ว่าไปช่วยเขามันไม่ใช่เมตตาแท้แต่มันเป็น...เขาเรียกว่า “ฉันทาคติ” มันเป็นอคติไปเลยก็เสียอีก เพราะงั้นก็ต้องมีปัญญา และก็ปัญหาสังคมปัจจุบันคงต้องเน้นเรื่องนี้เรื่องปัญญาเพราะสังคมชาวพุทธนี่คำว่าพุทธะนี่คุณสมบัติเด่นที่จะเป็นพุทธะนี้ก็คือปัญญา ปัญญาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าก็คือเป็นโพธิ โพธิพุทธะมาจากปัญญาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นความสำคัญของการเป็นพระพุทธเจ้าได้จะสำเร็จความสำคัญทางพุทธศาสนานี้ได้ด้วยปัญญานะ แต่ปรากฏว่าชาวพุทธเนี่ยกลับเป็นชุมชนที่ไม่ค่อยจะเอาใจใส่กับปัญญา ก็เป็นเรื่องที่จะต้องกระตุ้นกันเลยแหละ ถึงเวลาที่จะต้องมาเตือนกันอย่างหนักว่าชาวพุทธนี่หลักธรรมที่เด่นที่สุดของตัวเองคือ “ปัญญา” กลับทิ้ง เวลานี้ทิ้งซะมาก แม้จะได้ดีหนึ่งส่วน อ้ะ..หนึ่งส่วนคือศรัทธา ศรัทธาก็ไม่เอาปัญญามาด้วยก็เลยเถลเฉไฉง่ายไปเชื่ออะไรต่ออะไรไม่เข้าเรื่องเข้าราว หรือใช้เมตตาก็เมตตาไปโดยไม่มีปัญญาก็เสียอีก ก็ทำให้ทำการไม่สำเร็จ ไม่รู้จริงทำผิดๆ พลาดๆ บางทีก็ทำแบบเอาอกเอาใจกันโดยไม่รู้ความจริงกัน เนี่ยสังคมปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างเนี๊ย เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้รู้จริงคนที่จะทำการสำเร็จนี่มันสำเร็จได้ด้วยปัญญา ไอ้ตัวกรุณาเมตตามันเป็นตัวกำกับเจตนาไม่ให้พลาดทำให้เราตั้งจุดหมายไว้ได้ดีว่าเออจะทำเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยสันติหรือการช่วยเหลือกันหรือความสุขร่วมกันอะไรต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน ตั้งเจตนาดีไม่ได้เจตนาร้ายแล้วก็มาช่วยทำการให้สำเร็จ เวลานี้ต้องอาศัยเรื่องปัญญา เวลานี้ต้องเน้นเรื่องปัญญาให้มาก ปัญญาความรู้เข้าใจเป็นเรื่องใหญ่อย่าให้ชาวพุทธขาดเป็นอันขาด สังคมปัจจุบันมีเรื่องข่าวสารข้อมูลเป็นจำนวนมากจะต้องช่วยกันแสวงหาปัญญาหาความรู้เอาความรู้มาใช้ให้เป็นอย่าไปหลงตามข้อมูลข่าวสาร เป็นคนที่ถูกข่าวสารข้อมูลนั้นล่อหลอกเอาไปในทางที่ผิด เวลานี้ข่าวสารข้อมูลเนี่ยมันไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญญาเสมอไป ข่าวสารข้อมูลเนี่ยชักจูงล่อหลอกให้เกิดโมหะซะมาก ทีนี้ถ้าคนที่มีปัญญาหรือพัฒนาให้มีปัญญารู้จักวิเคราะห์พิจารณาข่าวสารข้อมูลนั้นมาใช้ให้เป็นก็จะเกิดปัญญาได้ เพราะงั้นคนที่อยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรเลยว่าจะเป็นคนมีปัญญา อาจเป็นคนที่..เป็นคนที่ถูกเขาหลอกมากกว่านะ เพราะฉะนั้นจะต้องเป็นคนที่มีปัญญาเพื่อจะนำข้อมูลข่าวสารนั้นมาใช้ได้ นี่ตอนนี้เลยถึงยุคที่เราจะต้องนำพระพุทธศาสนามาใช้กันจริงๆ จังๆ ซักที พระพุทธศาสนานั้นเน้นเรื่องปัญญา ถ้าเรารู้จักหลักพระพุทธศาสนาเอาหลักเรื่องการพัฒนาปัญญามาใช้ได้เนี่ยประเทศไทยเราเจริญอย่างยิ่งเลยทีเดียว ก็เลยวันนี้ก็ต้องมาเน้นเรื่องที่ว่าธรรมะที่เป็นคู่เหล่านี้เนี่ยเอามาปฏิบัติซะให้เต็ม อย่างน้อยก็รู้หลัก รู้ว่าธรรมะที่เป็นเหมือนสองอย่างเป็นคู่กันแต่แตกต่างกันและต้องมาประสานเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน ซึ่งรวมทั้งคู่ศรัทธากับปัญญา และคู่กรุณากับปัญญา หรือที่คนทั่วไปก็เมตตากับปัญญา อย่าให้ไปข้างเดียว แล้วก็เคยเน้นบ่อยๆ บอกว่าเมตตานั้นดีเป็นธรรมะฝ่ายจิตใจ ถ้าใครมีเมตตามากๆ ยิ่งถ้าครบชุดเป็นพรหมวิหาร 4 ก็ได้เป็นพระพรหมนะฮะ พรหมวิหาร 4 มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ใครเจริญได้เต็มที่ก็ได้เป็นพระพรหมก็ดีแล้ว คนไทยนี่ใจดีมาก เพราะฉะนั้นคนไทยนี่เป็นพระพรหมกันได้เยอะเลย โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นพระพรหมได้ดี
แต่ทีนี้ว่าพระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่จบแค่ที่เป็นพระพรหม ต้องไปเป็นพระพุทธ ทีนี้จะไปเป็นพระพุทธได้เป็นด้วยอะไร ก็ต้องเป็นด้วยปัญญา เป็นพระพรหมเป็นด้วยเมตตาแต่เป็นพระพุทธเจ้าเป็นด้วยปัญญา ทีนี้ถ้าหากคนไทยได้เมตตาได้เป็นพระพรหมก็ดีแล้วแต่ถ้าเป็นพระพุทธยังเป็นไม่ได้ ไม่พอ ต้องมีปัญญาด้วย ก็เลยจะบอกว่าอย่าหยุดแค่เป็นพรหมต้องก้าวไปเป็นพุทธ จงก้าวไปเป็นพุทธอย่าหยุดแค่เป็นพรหม ก้าวไปเป็นพุทธก็คือต้องพัฒนาปัญญาอย่าหยุดแค่เป็นพรหมที่มีใจดีอย่างเดียว แต่ก็ไม่ใช่ไม่เอานะต้องเอาทั้งสองอย่าง เราก็ต้องภูมิใจว่าเราได้พัฒนามาได้ดีมีวัฒนธรรมที่ดีมีน้ำใจประกอบด้วยน้ำใจที่ดีงามมีเมตตาประกอบด้วยเป็นพรหมได้เยอะ แล้วก็ขอให้ก้าวต่อไปอย่าหยุดแค่นี้ ไปเป็นพุทธะด้วยตามอย่างพุทธจริยาของพระพุทธเจ้า แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็ขอเน้นไปด้วยกันเลยก็คือธรรมะที่เป็นคู่ซึ่งก็ย้อนไปที่ธรรมวินัยเพราะว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องของด้านจิตใจ แล้วจิตใจนี้เวลาจะอยู่ก็อยู่ด้วยตัวเองแต่ว่ามนุษย์เราไม่ได้อยู่ด้วยตัวเองต้องไปอยู่กับเพื่อนมนุษย์ต้องไปอยู่กับสังคมไปทำนู่นทำนี่ อย่างน้อยก็มีหน้าที่การงานกิจการทั้งหลายที่จะต้องทำหน่ะ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มีแต่จิตอย่างเดียวเรามีกิจด้วย เราจะอยู่กับจิตอย่างเดียวไม่พอต้องอยู่กับกิจ ทีนี้จะอยู่กับจิตกับกิจนี้จะต้องให้ดีก็ต้องทั้งสองอย่าง แล้วถ้าเราอบรมจิตของเราได้ดีเราก็ทำกิจได้ดีด้วย ถ้าเราทำแต่กิจไม่ทำจิตของเราให้ดีอย่างน้อยจิตของเราไม่ดีมีทุกข์มาก บางคนนี่ทำกิจการงานขยันขันแข็งหมั่นเพียรแต่เครียดจิตใจไม่สบายมีทุกข์มากเพราะจิตใจไม่ดีไม่พัฒนา ทีนี้บางคนจิตใจดีแต่ว่าทำงานไม่ดีไม่ได้ผลกิจไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องให้ทั้งสองอย่างมาคู่กันให้ได้ผล ก็เรียกว่าทั้งจิตทั้งในและกิจข้างนอกต้องให้ประสานกัน ในทางพุทธศาสนาส่วนที่จะมาหนุนให้พัฒนาจิตใจของเราได้ดีก็คือธรรมะ แล้วออกมาเป็นกิจการต่างๆ อย่างกฐินนี่ก็เป็นกิจการอย่างหนึ่งก็ถือด้านของวินัยก็คือภาคปฏิบัติการ แล้วเรามาพูดโดยทั่วไปก็คือต้องให้ทั้งจิตดีและกิจดี อย่าไปอยู่แค่ด้านเดียวพัฒนาจิตใจดีแล้วก็สบายมีความสุขดี แต่ว่ากิจการภายนอกปล่อยปละละเลยตกอยู่ในความประมาท บางทีก็ทำให้เกิดความเสื่อมเสียได้ ก็ต้องให้กิจการดี แล้วก็อย่างที่ว่าไม่ใช่แค่ให้กิจการงานข้างนอกดีอย่างเดียวจิตใจมีแต่ความว้าวุ่นมีความทุกข์ก็ไม่ได้ผลอีก ต้องให้ได้ทั้งสองอย่างดีด้วยกัน แล้วจิตใจยิ่งดีมีความสงบมีความเยือกเย็น ปรับจิตใจของตัวเองได้ดีแก้ปัญหาของจิตใจได้ดีแล้วจิตใจมีความเข้มแข็งมั่นคงสงบก็กลับมาทำกิจหน้าที่การงานได้ผลดียิ่งขึ้นอีกให้หนุนกันขึ้นไปอย่างเนี้ยทั้งด้านจิตภายในและกิจภายนอกต้องเดินไปด้วยกัน เรื่องของชาวพุทธก็อย่างเนี้ย บางคนไปปฏิบัติธรรมชอบไปอยู่ที่วัดอย่างเดียวก็น่ายกย่องสรรเสริญ เวลาว่างวันไหนหยุดก็อ้าว..ช่วงวันหยุดก็ไปอยู่วัดปฏิบัติธรรม แต่ว่าระวังอย่าเพลิน ปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดอย่างเดียวนี่เสร็จแล้วเวลาไปอยู่สังคมไปอยู่หน้าที่การงานไม่เอาธรรมะไปใช้จิตใจก็ไม่สงบด้วย แล้วก็การอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอะไรต่ออะไรก็ไม่พัฒนาขึ้นไป ก็แสดงว่าธรรมะไม่ได้ออกไปสู่ชีวิตจริง ก็ทำไงมันต้องให้ได้ทั้งสองอย่าง ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับคนที่ไปหัดว่ายน้ำก็ไปหัดในสระว่ายน้ำ บางคนก็อยู่ในสระว่ายน้ำตลอดเลยแล้วก็มาคุย แหม..ชั้นไปอยู่ในสระว่ายน้ำชั้นว่ายเก่งอย่างโน้นชั้นเก่งอย่างนี้ ชั้นกระโดดไปบนอะไรที่มันมีที่กระโดด..ที่มันสปริงได้แล้วก็กระโดดลงมานะ.. ก็เก่ง แต่เก่งแต่ในสระว่ายน้ำ แต่ถ้าออกไปแม่น้ำไม่แสดงสักที มันต้องเก่งที่ว่าไอ้สระว่ายน้ำนั้นต้องถือเป็นขั้นต้นเป็นที่ฝึกที่หัด เสร็จแล้วจะเก่งจริงมันต้องออกไปสู่แม่น้ำออกไปสู่ทะเลนะ เรือแตกเรือเติกอยู่ในทะเลต้องว่ายน้ำได้ใช่ไม๊ อย่างนี้เรียกว่าเอ้อ..อันนี้คือว่ายน้ำได้จริง
นี่ก็เหมือนการปฏิบัติธรรมบางท่านก็ปฏิบัติได้แต่ว่าไปอยู่ในวัด เสร็จแล้วพอไปอยู่ในชีวิตจริงไม่ออกสักทีเหมือนอยู่ในสระว่ายน้ำนั่นแหละ อยู่ในสระว่ายน้ำหรืออ่างก็ไม่พอแล้ว เพราะฉะนั้นต้องระวังกันไว้อย่าให้เป็นธรรมะประเภทสระว่ายน้ำตลอดไปนะต้องออกไปสู่ชีวิตจริงต้องออกไปว่ายน้ำในแม่น้ำต้องออกไปว่ายน้ำในทะเลได้ด้วย ทีนี้ก็ญาติโยมบางทีก็เพลินไปเหมือนกันนะคุยกันแต่เรื่องไปปฏิบัติธรรมที่วัด ที่วัดโน้นวัดนี้ทีนี้ก็เลยอยู่กันแค่นั้นแหละ แต่ว่าในชีวิตจริงธรรมมันไม่ออกมาสู่ความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจะต้องให้ธรรมะมามีผลต่อชีวิตจริงเพราะธรรมะที่แท้เวลาปฏิบัติแท้ก็คือว่าต้องออกมาสู่ชีวิตที่ดำเนินอยู่ตามปกติในชีวิตประจำวันหรือความเป็นอยู่ทั่วๆ ไปตั้งแต่ในครอบครัวอะไรต่างๆ เนี่ย เพราะฉะนั้นการที่เราออกไปหาโอกาสไปอยู่วัดไปหาที่สงัดก็เหมือนเราไปหาสระว่ายน้ำไปหาที่ๆ เหมาะแก่การที่จะฝึกจะหัดให้ได้ผลดียิ่งขึ้น บางคนเค้าอาจจะไปฝึกในที่ที่มันยากเลยก็ได้เช่นไปฝึกในแม่น้ำเนี่ยบางทีแทบตาย ถ้าไปฝึกในทะเลบางทีตายไปเลย เพราะฉะนั้นก็เลยว่าไปหาที่ที่เหมาะก็คือไปฝึกในสระว่ายน้ำ ก็เอาเป็นว่านี่เป็นเรื่องของความเป็นจริงที่เราจะต้องมาพิจารณาเรื่องของการใช้ธรรมะต่างๆ ธรรมะที่แท้นั้นที่เรียกว่าการปฏิบัติก็คือการดำเนินการเอาไปใช้ในชีวิตที่เป็นจริง ที่เป็นจริงที่เป็นธรรมชาติเนี่ยให้มันเป็นธรรมชาติของตัวเรา ธรรมะนั้นจะเป็นจริงขึ้นมาเป็นการปฏิบัติจริงก็คือกลายเป็นธรรมชาติที่เป็นชีวิตของเราที่มันพัฒนาไปเป็นอย่างนั้นเอง แล้วมันก็จะดำเนินไปเองจนกระทั่งมันเป็นตัวเราเป็นเนื้อตัวของเรา มันดำเนินไปอย่างนั้น เหมือนกับปัญญามันพัฒนาในจิตใจของเราแล้วมันดำเนินไปเป็นเนื้อเป็นตัวของเราอย่างนั้นเอง
ก็วันนี้ก็พูดเรื่องธรรมะที่เป็นเหมือนกับคู่กัน คล้ายๆ แตกต่างกันแต่ที่จริงนั้นมาเสริมกัน เติมเต็มกันทำให้บริบูรณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมองพุทธศาสนาให้ครบซึ่งใช้ประโยชน์ทั้งในแง่การปฏิบัติให้เกิดความสมบูรณ์ ก็ในแง่พุทธศาสนาด้วยในการมองว่าอย่ามองให้ผิดเดี๋ยวจะไปมองแง่เดียวแล้วก็ไปเน้นด้านเดียว เหมือนอย่างเราพูดว่า เอ้อ..คนทั้งหลายนี่จะดียังไงบอกว่าให้ทุกคนดีมันก็ดีไปเองแหละ นี่ก็เรียกว่านี่พูดในแง่ธรรมะใช่ไม๊ มันก็เป็นความจริงคือแต่ละคนถ้าเขาดีมันก็ดี ทีนิ้ก็มีคำถามต่อไปอีกแหละว่าแล้วทำยังไงถึงจะให้คนแต่ละคนดีขึ้นมา นี่ละคือปัญหาของวินัยคือระบบการจัดตั้งในทางสังคม ในทางวินัยพระพุทธเจ้าจึงต้องจัดตั้งชุมชนตั้งกติการะเบียบแบบแผนข้อบัญญัติต่างๆ เพื่อให้คนได้ดำเนินตามวิถีชีวิตที่จะให้ธรรมะปรากฏออกมาสู่การปฏิบัติที่แท้จริง เรานำเอาหลักนี่ไปใช้ได้หมดทุกระดับเลย แล้วก็มองออกด้วยว่าระดับไหนเป็นธรรมะ ระดับไหนเป็นวินัย แล้วไม่ต้องมาเถียงกัน อย่างเถียงกันตั้งแต่ว่า...อย่างเถียงกันว่าจริยธรรมนี่มันเป็นความจริงตามธรรมชาติรึเปล่าหรือว่าเป็นเรื่องบัญญัติของมนุษย์ มนุษย์สังคมนี้ว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี ไปอีกสังคมหนึ่งว่าอันที่สังคมโน้นว่าดี สังคมนี้ว่าไม่ดีอะไรเนี่ย เนี่ย..อย่างนี้มนุษย์ก็เถียงกันเพราะแยกไม่ออกแม้แต่ระหว่างจริยธรรมที่เป็นระดับธรรมชาติกับระดับที่เป็นบัญญัติของสังคมมนุษย์ พอเรารู้เราเข้าใจแล้วเราก็แยกได้แล้วเราก็จะเข้าใจพระพุทธศาสนาด้วย หรืออย่างที่แม้จะเกี่ยวกับในหลวง อย่างชาวบ้านเนี่ยก็จะเห็นในหลวงที่ประชาชนจงรักต่อในหลวง ประชาชนจงรักภักดีต่อในหลวงเพราะพระองค์สเสด็จไปในที่ต่างๆ โดยไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ไปเยี่ยมเยียนราษฎรไปแนะนำในเรื่องของการทำมาหาเลี้ยงชีพอะไรต่างๆ ในเวลาเสด็จไปทุกถิ่นในแว่นแคว้นต่างๆ ก็เสด็จไปที่ชาวบ้านด้วย โครงการต่างๆ ในเรื่องทำมาหาเลี้ยงชีพชาวบ้านด้วย ทางวัตถุด้วย แต่พร้อมกันนั้นก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านด้วย ไปตามวัดวาอารามไปเยี่ยมพระสงฆ์ไปนมัสการไปสนทนาธรรม นี้เราก็จะมองแต่ในแง่ว่าในหลวงนี่ทรงมีพระราชศรัทธาในพระศาสนาด้วยแล้วก็ทรงมีการที่ทรงสงเคราะห์ราษฎรอย่างจริงจังด้วยทั้งสองด้านแล้วก็ไปมองแต่ที่พระองค์ แค่นี้ยังไม่พอ ต้องน้อมมาที่ตัวเองด้วย น้อมมาที่ตัวเองนี้คือตัวเรานี่แหละก็จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็คือว่าด้านหนึ่งก็คือการทำมาหาเลี้ยงชีพก็ต้องทำให้ดีขยันหมั่นเพียร อีกด้านหนึ่งก็คือด้านจิตใจของเรานี่แหละเราก็ต้องทำให้ดีด้วย ไม่ใช่ว่าไปทำมาหากินเสร็จแล้วก็เวลาว่างก็มากินเหล้าเมายาเล่นการพนันอะไรต่างๆ นี้ มันก็พัฒนาจิตใจไม่ได้ จิตใจไม่เจริญงอกงามต้องได้ทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้นได้เห็นพระราชจริยาวัตรแล้วก็โน้มมาที่ตัวเองด้วยว่าเราต้องทำให้ครบทั้งสองอย่างทั้งเรื่องของวัตถุการทำมาหาเลี้ยงชีพดูแลครอบครัวอะไรเป็นต้นไป ให้ชุมชนของเรามันอยู่กันดี แต่ว่าจะให้มันอยู่กันดีได้จริงก็ต้องพัฒนาจิตใจของแต่ละคนให้เจริญงอกงามไปด้วย ถ้าได้ทั้งสองอย่างไปด้วยก็ได้ทั้งธรรมะและด้านวินัย แล้วก็เข้าหลักพระพุทธศาสนาข้างในข้างนอกก็มาประสานซึ่งกันและกันก็เกิดความสมบูรณ์
วันนี้อาตมาภาพก็ได้กล่าวธรรมกถามาก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้พูดอะไรที่เป็นเรื่องหลักการใหญ่ แต่ว่าพูดหลักการใหญ่นั้นในระดับที่เป็นภาพคร่าวๆ พอให้เห็นรูปร่างลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนาก็อยากจะนำเอาสิ่งเหล่านี้มาเหมือนกับว่าบางครั้งเป็นการเตือนสติกันเพราบางทีเราก็มองข้ามเรื่องเหล่านี้ เพราะเวลาเราเน้นลงไปในบางจุดแล้วลงลึกไปแล้วเราก็ลืมว่าในส่วนหลักใหญ่นั้นเป็นอย่างไร วันนี้กฐินก็มาเตือนใจเราในเรื่องคู่สำคัญ เพราะพระพุทธศาสนาในชื่อใหญ่ว่าพระธรรมวินัย และพระธรรมวินัยนี้ก็มาปรากฏในงานกฐินปีนี้แล้ว กฐินนี้ก็..ส่วนวินัยเราก็มาปฏิบัติการกันอยู่ แล้วก็สาระที่อยู่ในนั้นเป็นนามธรรมก็คือธรรมะที่เป็นตัวที่ต้องการที่แท้เลย ถ้าเราทำกิจการงานแม้แต่สังฆกรรมที่ต้องการสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้วไม่ได้ตัวสาระเราจะต้องรู้ตัวว่าเราไม่ได้เข้าถึงตัวพระพุทธศาสนาที่แท้จริง เพราะฉะนั้นจะเข้าถึงธรรมะ พระธรรมวินัยก็เอาประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมก็หมายความว่าได้เป็นส่วนที่คืบเคลื่อนออกมา คลี่คลายขยายออกมาจากพระธรรมวินัย แล้ววินัยนั้นก็ลึกเข้าไปบรรจุสาระไว้คือธรรมะ งั้นเรามาที่นี่มาในกิจกรรมนี้โดยอาศัยวัฒนธรรมประเพณีและเราก็มองให้ถึงวินัย พอถึงวินัยเสร็จแล้วก็ให้วินัยนั้นสื่อไปถึงตัวสาระของพระธรรมที่แท้จริง พอธรรมะกับวินัยประสานกันก็สำเร็จความมุ่งหมายที่ทำให้เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นในชีวิตของในสังคมของเรา ก็หวังว่าโยมพุทธศาสนิกชนทุกท่านจะได้ช่วยกันปฏิบัติเพื่อให้จุดหมายของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้นี้ได้ปรากฏผลเป็นจริงซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงแสดงไว้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณคือทรงปรารถนาดีต่อทุกคนนั่นเอง ให้เราได้ประโยชน์ การที่บูชาะพระคุณที่แท้ของพระองค์ก็คือการที่เรานำมาปฏิบัติทำให้เกิดผลดีแก่เราตั้งแต่ศึกษาให้รู้เข้าใจและนำมาใช้ให้เกิดผลเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อชีวิตสืบต่อไป อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านในการที่ได้มาร่วมในงานกฐินพระราชทานครั้งนี้ซึ่งเป็นการร่วมการอนุโมทนาด้วย และก็ร่วมด้วยตนเองในการทำบุญทำกุศลนั้นก็เป็นบุญกิริยาหลายประการให้ครบทั้งทาน ศีล และภาวนา ก็ขออนุโมทนาท่านเจ้าภาพใหญ่ที่เป็นผู้อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานมาคือพลโทคุณหมอธำรงค์รัตน์ แก้วกาญจน์ ซึ่งได้มาพร้อมด้วยคุณหญิงยี่ภู่ แก้วกาญจน์ แล้วก็ได้ขอให้โยมคุณหญิงลลิลทิพย์ ทานวนิชกุล เป็นผู้ร่วมอนุโมทนาเป็นผู้ร่วมในการนำผ้าพระกฐินพระราชทานมาทอดด้วย กับทั้งโยมผู้อุปถัมภ์บำรุงวัดญาณเวศกวันทั้งหมดซึ่งโยมเองก็ได้เป็นผู้ที่จองกฐินไว้ก็คือโยมคุณหญิงกระจ่างศรี รัตกนิษฐ์ แต่ว่าเมื่อได้ทราบว่าคุณหมอธำรงค์รัตน์จะนผ้าพระกฐินพระราชทานมาถวายก็เลยยกวาระการจองกฐินมอบให้แก่คุณหมอ แล้วก็อีกท่านหนึ่งก็คือคุณโยมสายสนิท พุกกะเวศก์ ก็เป็นผู้ที่จองกฐินและก็ในวันนี้ก็มาเป็นผู้ทอดผ้าป่า พอทอดผ้าป่าเราก็นิยมกันว่าในงานกฐินก็มักจะมีการทอดผ้าป่าด้วย วันนี้ก็เลยได้ทำบุญกันครบถ้วนทุกประการ จะยังไงก็ตามก็รวมแล้วก็ได้โดยเสด็จพระราชกุศลในการที่ได้มาทำบุญร่วมกันก็เลยเป็นความสามัคคีครั้งใหญ่เป็นความสามัคคีทั้งแผ่นดินเลย คือญาติโยมนี้ก็เหมือนกับเป็นตัวแทนประชาชนชาวไทยแล้วก็มาร่วมในเรื่องการทอดกฐินพระราชทานก็ถือว่าเป็นเรื่องของในหลวงได้พระราชทานมา งั้นก็ได้ร่วมกันที่เรียกว่าสามัคคีตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ลงมาแล้วก็มาร่วมอุปถัมภ์บำรุงถวายกำลังแก่พระสงฆ์ ก็เลยครบพุทธบริษัททั้งสี่ทั้งพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาด้วย ก็เป็นที่น่าอนุโมทนา ก็ถือว่าถ้าเราทำได้ถูกต้องตามนี้ก็ถือว่านี่แหละได้สาระของกฐินแล้ว ส่วนว่าจะให้ลึกซึ้งลงไปกว่านี้ก็เป็นเรื่องของแต่ละท่านที่ว่าจะช่วยกันปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจ หนึ่งคือรู้เข้าใจ และสองคือทำให้ประจักษ์แก่ตัวจิตใจของแต่ละท่านเอง ให้ซาบซึ้งในใจเอง เมื่อซาบซึ้งแล้วก็จะเกิดความปิติปลื้มใจก็จะเป็นบุญเป็นกุศลที่เป็นกำลังแก่จิตใจตนเอง ทำให้ได้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ยั่งยืนนานสืบไปก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง และขอคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้อภิบาลรักษาให้โยมญาติมิตรตั้งแต่เจ้าภาพและท่านผู้ร่วมอนุโมทนา ผู้ร่วมกิจกรรมสนับสนุนกันทุกท่านตลอดจนกระทั่งประชาชนทั้งหมดทั่วราชอาณาจักรไทย จนกระทั่งชาวโลกจงได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ร่มเย็นงอกงามในธรรมโดยทั่วกันทุกเมื่อเทอญ.