แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร โยมผู้ใฝ่ใจในธรรมแห่งชมรมศิษย์กรรมฐานทุกท่าน วันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาที่คณะโยมได้เดินทางมาที่วัดนี้อีกครั้งหนึ่ง เป็นพรรษาที่ ๒ ในการมาครั้งนี้ อาจารย์ก่องแก้ว ประธานชมรม ได้ปรารภมาในหนังสือนิมนต์ ว่าอยากจะฟังเรื่องโพธิปักขิยธรรม อาตมาภาพก็มานึก ว่าเรื่องโพธิปักขิยธรรมนี้เป็นเรื่องใหญ่ ความจริง คณะของอาจารย์ก็ได้ปรารภเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้โอกาส คิดว่าถ้าแสดงเรื่องโพธิปักขิยธรรมเป็นเรื่องยาวมาก ความจริงน่าจะต้องแสดงเป็นชุดเลย ทีนี้ถ้าเรามาพูดกันวันเดียวนี้ก็คงไม่จบ แต่ว่าอาจารย์ปรารภมาแล้วก็เลยนึกว่าอย่างไรๆ ก็อาจจะพูดเป็นแนวเป็นพื้นไว้ก่อน แต่ว่าจะนำไปพิมพ์เนื่องในปีใหม่หรือไม่ คงจะต้องดูเนื้อหาอีกที คือ ถ้าพูดไปได้แต่เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด บางทีก็อาจจะไม่เหมาะที่จะไปเป็นหนังสือแจกในงานปีใหม่ ซึ่งผู้รับไปแล้วอาจจะอ่านแล้วก็ไม่ได้เนื้อหาเป็นเรื่องเป็นราวลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง กลายเป็นความรู้รอบตัวไป ฉะนั้นวันนี้ก็คงพูดกันไปเท่าที่พูดได้ ถือว่าเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องโพธิปักขิยธรรม มาทำความเข้าใจตั้งแต่ชื่อธรรมะหมวดนี้ เรียกว่าโพธิปักขิยธรรม มี ๓๗ ประการ “โพธิปักขิยธรรม” แปลว่าอะไร “โพธิปักขิยะ” แล้วก็ “ธรรมะ” ธรรมะ นั่นก็ชัดอยู่แล้ว ก็คือธรรมะล่ะ ไม่ต้องอธิบาย ทีนี้ก็มีคำว่า “โพธิปักขิยะ” “โพธิปักขิยะ” ก็มาจาก “โพธิ” แล้วก็ “ปักขะ” แล้วก็ต่อท้ายด้วย “อิยะ” หรือ “อิกะ” ก็ได้ บางครั้งท่านเรียกว่า “โพธิปักขิกธรรม” ก็มี “โพธิปักขิยธรรม” ก็มี ก็เหมือนกัน ทีนี้ “โพธิ”นั้นทราบกันแล้ว แปลว่า ความตรัสรู้ อย่างในคำว่า “โพธิญาณ” ปักขะ แปลว่าอะไร ปักขะ แปลว่า ฝ่าย หรือ ข้าง แล้วก็ อิยะ ตัวนั้นไม่มีอะไรหรอก เป็นเพียงคำทางพระท่านเรียกว่า ปัจจัย ปัจจัยก็เป็นตัวเรื่องทางไวยากรณ์ เอามาประกอบ มีความหมายว่า เนื่องใน หรือ อยู่ใน ถ้ารวมกันเข้า “โพธิปักขิยะ” ก็แปลว่า อยู่ในฝ่ายแห่งโพธิ ก็หมายความว่าธรรมที่อยู่ในฝ่ายแห่งโพธิ หรือ ธรรมที่เนื่องในฝ่ายแห่งโพธิ เนื่องในฝ่ายหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าคนไหนเป็นฝ่ายเป็นพวกเดียวกันก็ต้องเกื้อหนุนกัน ช่วยเหลือกัน ทีนี้ธรรมะที่อยู่ในฝ่ายของโพธิ ก็จึงแปลว่าธรรมะทั้งหลายที่เกื้อหนุนต่อโพธินั่นเอง เกื้อหนุนต่อโพธิก็หมายความว่าช่วยเกื้อกูลในการที่จะตรัสรู้ ในการที่จะบรรลุสิ่งที่เราเรียกว่าโพธิญาณ ก็คือในการบรรลุมรรคผลนั่นเอง จนกระทั่งถึงนิพพานคือโลกุตรธรรม ๙ ก็คิดว่าโยมคงจะเข้าใจความหมายละ โพธิปักขิยธรรมะ สรุปอีกหนึ่งทีว่า ธรรมะที่อยู่ในฝ่ายของโพธิ หรือธรรมะที่เกื้อหนุนต่อการบรรลุโพธิ คือการตรัสรู้ การบรรลุอริยมรรค อริยผล ทีนี้โพธิปักขิยธรรมนั้นมี ๓๗ ประการ ๓๗ ประการนี้ก็เกิดมาจากธรรมะที่มีหลายหมวดมารวมกันเข้า ทั้งหมดมี ๗ หมวดด้วยกัน โยมหลายท่านก็คงทราบอยู่แล้ว อาตมาก็มาทบทวนความรู้ มีอะไรบ้าง ก็เริ่มมี สติปัฏฐาน ๔ แล้วก็ อิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔ นี่หมวด ๔ นี่สามสี่แล้ว แล้วต่อไปก็ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นี่หมวดห้า ๒ หมวด แล้วก็โพชฌงค์ ๗ เจ็ดมีหมวดเดียว แล้วก็มรรคมีองค์ ๘ ครบแล้ว ๗ หมวด ก็มี ๓๗ ประการ แต่ละหมวดนี่จะเห็นว่าเป็นธรรมะสำคัญๆทั้งนั้น พูดหัวข้อเดียวก็หมดเวลาแล้ว ทีนี้เราก็เลยมาเรียนความรู้ทั่วไปกัน โพธิปักขิยธรรมนี้ว่าความจริงแล้วเป็นชื่อยุคหลัง เป็นชื่อที่พระอรรถกถาจารย์นำมาใช้เรียกธรรมะชุดนี้ ๓๗ ประการ ทีนี้ธรรมะ ๓๗ ประการนี้มาในพระไตรปิฎก แต่ว่าตอนนั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ครั้งหนึ่งก็ตรัสในตอนใกล้ปรินิพาน คือตอนที่ใกล้จะทรงปลงพระชนมายุสังขาร ตอนนั้นจะเรียกได้ว่าเป็นตอนสำคัญที่ตรัสเรื่องนี้ ธรรมะ ๓๗ ข้อนี้ ที่ต่อมาเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ แต่ในพระสูตรตอนนั้นที่ต่อมาเรียกว่า มหาปรินิพานสูตร ก็เรื่องประวัติของพระพุทธเจ้าตอนใกล้จะปรินิพานจะมาในมหาปรินิพานสูตร ท่านก็เล่าถึงว่าพระพุทธเจ้านี่เสด็จไปถึงป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ที่นั่นก็มีกูฏาคารศาลา แล้วก็มีศาลาที่ประชุมพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสให้พระอานนท์นิมนต์พระสงฆ์ที่อยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมดมาประชุมกันที่ศาลา เป็นหอประชุม เรียกเป็นภาษาพระว่า อุปัฏฐานศาลา อุปัฏฐานศาลานี้ก็เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นหอฉัน แล้วก็เป็นที่พระมาประชุมกัน หลังเพลหลังฉันแล้วก็มาแสดงธรรมให้กันฟัง หรือว่ามาถก มาสากัจฉา มาสนทนาธรรมอะไรต่างๆ ในอุปัฏฐานศาลา ก็เป็น เรียกง่ายๆ ก็คล้ายๆหอประชุม ใช้เป็นทั้งหอฉัน หอประชุมด้วย ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้พระอานนท์นิมนต์พระทั้งหมดที่เมืองเวสาลีมาประชุมกันที่อุปัฏฐานศาลา ในป่ามหาวัน เสร็จแล้วพระองค์ก็ได้ตรัสธรรมะหมวดนี้ขึ้นมา พระองค์ก็ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายที่เราได้แสดงไว้ด้วยอภิญญา อภิญญาในที่นี้ก็แปลว่าด้วยความรู้ยิ่ง เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อภิญญาเทสิตา ธรรมะที่แสดงด้วยปัญญาอันยิ่ง หรือด้วยความรู้ยิ่ง เธอทั้งหลายพึงตั้งใจเรียน แล้วก็ปฏิบัติธรรมให้มากเพื่อให้ธรรมจริยะ คือพระศาสนานี่ ดำรงอยู่ยั่งยืนนาน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก นี่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ แสดงว่าธรรมะหมวดนี้สำคัญ ให้ตั้งใจเรียน ปฏิบัติ พระศาสนาจะได้ดำรงอยู่ยั่งยืน ดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก ธรรมะเหล่านี้คืออะไร ก็คือที่เราพูดกันเมื่อกี้ ๓๗ ประการ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงเรียกชื่อไว้ ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ นี่แหละ... แล้วพอตรัสเสร็จอย่างนี้แล้วพระองค์ก็ตรัส อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ มีความเริ่มต้นว่า วยธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ แปลว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม แล้วพระองค์ก็ปลงประชนมายุสังขาร บอกว่า นับแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน เราจะปรินิพาน นี่ ธรรมะหมวดนี้มากับพุทธพจน์ตอนใกล้จะปรินิพานแล้ว ก่อนปรินิพาน ๓ เดือน นี่เป็นจุดที่สังเกตอันหนึ่ง แล้วก็พุทธพจน์ที่ว่า วยธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ พระองค์ตรัสอีกครั้งหนึ่งตอนจะปรินิพานจริงๆ แสดงว่าตรัส ๒ ครั้ง ตอนปลงประชนมายุสังขารก็ตรัส แล้วก็ตอนจะปรินิพานก็ตรัส ตอนจะปรินิพานตรัสบนเตียงที่บรรทมที่เราเรียกว่า อนุฏฐานไสยาสน์ ที่บรรทมแล้วก็ไม่เสด็จลุกขึ้นอีกเลย ตรัสพระวาจานี้เราเรียกว่าเป็น ปัจฉิมวาจา วาจาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก็นนี้อาตมาก็เล่าเรื่องให้ฟัง ให้โยมได้เห็นเรื่องราวความเป็นมาของธรรมะหมวดนี้ นี้เป็นแห่งหนึ่ง แต่เท่าที่ทราบนี่ ธรรมะหมวดนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้นี่มาในพระไตรปิฏก ๓ ครั้ง นี่ครั้งหนึ่งแล้ว ทีนี้ถอยหลังไปอีกครั้งหนึ่ง อาตมาก็เอามาเล่าเป็นความรู้รอบตัวให้โยมฟังที่ว่า อันนี้ฟังประดับความรู้ไปก่อน ไม่จำเป็นต้องจำ
ทีนี้ถอยหลังไปก่อนหน้านี้ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองของเจ้าศากยะเมืองหนึ่ง เจ้าศากยะนี่มีหลายกลุ่ม เจ้าศากยะกลุ่มหนึ่งอยู่ที่เมืองชื่อว่าวิธัญญา เจ้าศากยะกลุ่มนี้ก็จะเรียกชื่อว่า เวธัญญะ เจ้าศากยะเวธัญญา คืออยู่ที่เมืองวิธัญญา ทีนี้พระพุทธเจ้าประทับที่นั่น คราวนั้น พระมหาจุนทะ เป็นต้น มหาจุนทะ นี่โยมคงเคยได้ยินชื่อบ้าง พระมหาจุนทะนี่ก็เป็นพระอรหันต์ มหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นน้องของพระสารีบุตร ตอนนั้นพระสารีบุตรปรินิพานไปแล้ว มหาจุนทะนี่ได้ปรารภเรื่องที่ว่าตอนนั้น นิครณฐ์นาฏบุตร ก็เป็นศาสดาท่านหนึ่งในหก ก็เรียกได้ว่าเป็นศาสดาทั้งหก อาจารย์ทั้งหกในสมัยพุทธกาล ท่านนิครณฐ์นาฏบุตรนี่ได้ถึงแก่มรณกรรม สิ้นชีวิตไป พอศาสดานิครณฐ์นาฏบุตรถึงแก่กรรมไป ลูกศิษย์ก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน เถียงกันว่าอันนี้เป็นธรรมะคำสอนของศาสดาของตัว ลูกศิษย์คนอื่นก็ไม่ยอม บอกไม่ใช่ อาจารย์ของเราแสดงว่าอย่างนี้ไม่ใช่อย่างนั้น คนนั้นก็ว่าอย่างนั้นไม่ใช่อย่างนี้ เถียงกันไปก็ยุ่งกันใหญ่ ทะเลาะแตกแยกกัน วิวาทกัน มหาจุนทะท่านปรารภเหตุการณ์อันนี้ก็นึกว่า เอ้อ เป็นบทเรียนที่เตือนใจก็เลยไปชวนพระเถระองค์อื่นๆ แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปปรารภเรื่องนี้ ให้พระพุทธเจ้าทรงสดับ พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสธรรมะโดยปรารภเหตุการณ์อันนี้ พระองค์ก็ตรัสถึงเรื่องที่ว่าพระศาสนาจะชื่อว่าบริบูรณ์ได้อย่างไรบ้าง องค์ประกอบต่างๆที่ชื่อว่าพระศาสนาบริบูรณ์ และตรัสไว้โดยนัยต่างๆแล้วมาถึงตอนหนึ่งก็ตรัสว่า ธรรมะทั้งหลายที่เราได้แสดงไว้ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อภิญญาเทสิตา นี่ เธอทั้งหลายพึงสังคายนา นี่พระองค์ตรัส เธอทั้งหลายพึงสังคายนา พึงร้อยกรอง เพื่อให้พระศาสนาดำรงนี้อยู่ยั่งยืนนาน เพื่อเป็นประโยชน์สุขแด่ชนจำนวนมาก นี่ตรัสคล้ายๆกัน แต่ตอนก่อนปรินิพาน ตอนที่ปลงพระชนมายุสังขารนั้นตรัสในความหมายให้เล่าเรียนให้ปฏิบัติ ตอนนี้ให้สังคายนา สังคายนาก็หมายความว่าให้รวบรวม ประมวล ให้เป็นหลัก เป็นมาตรฐานไว้ จะได้เป็นแนวทางของการปฏิบัติ แล้วก็เป็นเครื่องวัด ใช้เป็นเกณฑ์ในการที่จะวัดการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน เพราะฉะนั้นธรรมะหมวดนี้ก็สำคัญมาก และก็แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าก็เคยปรารภเรื่องการสังคายนา แม้แต่ตอนที่พระองค์ดำรงพระชนม์อยู่ นี่ก็เป็นเรื่องอันหนึ่งที่สืบเนื่องมาถึงสังคายนา เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว หลังจากปรินิพานได้ ๓ เดือน พระมหาสาวกทั้งหลายก็ได้จัดสังคายนาขึ้น ที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เขาเวภารบรรพต ที่ใกล้เมืองราชคฤห์ นี่โยมก็คงได้ทราบกันอยู่ แต่ว่าอันนี้เป็นเหตุการณ์ก่อนปรินิพาน ก็รวมความก็คือว่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้กับพระมหาจุลทะ เป็นต้น แต่ว่า ตรัสจำเพาะเรื่องสังคายนานี้ไปอยู่ที่ธรรมะที่ชื่อว่า โพธิปักขิกธรรม ๓๗ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เรียกชื่อย่างนี้ นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง นี่สองละ
ทีนี้มีอีกครั้งหนึ่ง นี้เล่าเป็นประวัติให้ฟัง อีกครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองกุสินารา ซึ่งก็น่าจะเป็นตอนปลายพุทธกาลเหมือนกัน แต่ว่าในนั้นท่านก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเวลาเมื่อไหร่ ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายเลย ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ธรรมะที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ด้วยปัญญาอันยิ่งคือ อภิญญาเทสิตาเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลายพึงมีความสามัคคีปรองดองกัน ตั้งใจศึกษา อันนี้พระองค์ใช้คำว่าตั้งใจศึกษา ใช้คำว่า ??? (สิ-กิด-ตะ-พัง) อันคราวนี้ก็ตรัส ตรัสมุ่งไปที่ภิกษุทั้งหลายเลย ให้ตั้งใจศึกษากัน อาตมาก็นำมาเล่าให้เห็นว่า ธรรมะหมวดนี้ ๓๗ ข้อนี่ มาในพระไตรปิฎก เท่าที่พบก็มีสำคัญ ๓ ครั้ง แล้วพระองค์ก็ใช้คำว่าธรรมะที่พระองค์แสดงด้วยปัญญายิ่ง เป็นภาษาบาลีว่า อภิญญาเทสิตา ไม่มีชื่อว่า โพธิปักขิยธรรม อ้าวแล้วทีนี้ถามว่า โพธิปักขิยธรรมล่ะ พระพุทธเจ้าไม่ใช่ว่าไม่เคยตรัส เคยตรัสเหมือนกันแต่ว่าไม่ได้ตรัสไว้กับธรรมหมวดนี้ทั้งหมด เคยตรัสไว้โดยใช้เรียกชื่อ อินทรีย์ ๕ ประการโดยเฉพาะเลย ความจริงอินทรีย์ ๕ ก็อยู่ในชุดของ ๓๗ นี้ด้วย เมื่อกี้นี้ได้ลำดับหมวดให้ฟังแล้ว มีอินทรีย์อยู่ด้วย มีว่า สติปัฏฐาน สัมมัปปทาน อิทธิบาท อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ทีนี้ในพระไตรปิฎกพระองค์ใช้คำว่า โพธิปักขิยธรรม เรียกชื่ออินทรีย์ ๕ โดยเฉพาะ พระองค์ตรัสไว้ ธรรมเหล่าไหนเป็นโพธิปักขิกะ แล้วพระองค์ก็เฉลยว่า คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่ละอย่าง ตกลงว่าในพระไตรปิฎกเอง โพธิปักขิยธรรม นี้เป็นชื่อเรียกของอินทรีย์ ๕ อ้าว ทีนี้ต่อมาในคัมภีร์พระอภิธรรม เมื่อกี้น่ะพระสูตร ในพระสูตรนั่นอยู่เล่ม ๑๙ ทีนี้ไปในอภิธรรม อภิธรรมคือคัมภีร์วิภังค์ เล่ม ๓๕ มีข้อความกล่าวถึงโพธิปักขิยธรรมอีก แล้วว่าโพธิปักขิยธรรมนี้ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ นี้ในอภิธรรมปิฎก มาแล้ว โพธิปักขิยธรรมได้แก่ โพชฌงค์ ๗ คำว่าโพชฌงค์กับโพธิปักนี่ชื่อคล้ายกันมาก โพชฌงค์แปลว่าอะไร โพชฌงค์มากจากโพธิ แปลว่าความตรัสรู้ แล้วก็ อังคะ แปลว่า องค์ หรือองค์ประกอบ ก็องค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ หรือองค์ประกอบองค์คุณ คุณสมบัติของคนที่จะตรัสรู้ ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ แล้วก็โพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นเครื่องเกื้อหนุนความตรัสรู้ คล้ายๆกัน ในอภิธรรมปิฎกท่านเรียกโพธิปักขิยธรรมนี้ว่า ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ ตกลงว่า โพชฌงค์ ๗ ก็อยู่ใน ๓๗ ข้อนี้เหมือนกัน ได้ ๒ ข้อแล้ว มาในพระไตรปิฎก พอมาถึงอรรถกถา ท่านเลยมาเรียก ประมวลเลยคราวนี้ว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ได้แก่ ๗ หมวดที่ว่ามานี้ เอาละมาได้ที่มา ได้มามีข้อยุติว่าคำว่าโพธิปักขิยธรรมนี้เกิดมาใช้เรียกทั้ง ๓๗ ข้อนี้ในยุคอรรถกถา เมื่อกี้อาตมาก็เล่าให้โยมฟังว่า ในพระไตรปิฎกเอง ในพระสูตรที่มาครบ ๓๗ ข้อ พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยมีพุทธพจน์ว่า ธรรมที่เราแสดงไว้ด้วยปัญญาอันยิ่ง หรือด้วยความรู้ยิ่ง ภาษาบาลีว่า อภิญญาเทสิตา พระอาจารย์รุ่นหลังเวลามาเรียกชื่อภาษาไทย ก็เลยเรียกธรรมะชุดนี้ว่าเป็น อภิญญาเทสิตธรรม โยมบางท่านนี่อาจจะเคยได้ยินชื่อ อภิญญาเทสิตธรรม นี้ก็เลยเป็นชื่อที่ตรงกับพุทธพจน์ หมายถึงธรรมะ ๓๗ ข้อนี้ที่เรียกในอรรถกถาว่าโพธิปักขิยธรรม ตกลงว่า อภิญญาเทสิตธรรม กับโพธิปักขิยธรรม เป็นชุดเดียวกัน โยมก็คงจะเห็นแล้ว
ทีนี้ความสำคัญอะไรต่างๆ ความเป็นมานี้อยู่ด้วยกันอย่างที่อาตมาเล่าไปแล้วนี่ พระพุทธเจ้าตรัสถึงธรรมะหมวดนี้ไว้มีความสำคัญขนาดไหน ก็โยมก็ได้เห็นแล้ว ทีนี้ก็มาสู่เนื้อหากันบ้าง
อภิญญาเทสิตธรรม หรือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ก็มาลำดับหัวข้อกันดู เอาความหมายโดยย่ออีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าโยมจะผ่านไปแล้วก็ตามแต่เวลาจะมาอธิบายกันอีกมันก็จำเป็น ทีนี้ว่า ๓๗ ประการก็ทวนกันอีกครั้งหนึ่งว่ามี ๗ หมวด ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปทาน ๔ อิทธิบาท ๔ แล้วก็อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ถ้าโยมจะฟังเรื่องนี้จริงๆนะโยมควรจำได้ทั้ง ๗ หมวดก่อน ถ้าจำไม่ได้แล้วเดี๋ยวก็สับสนสิ เพราะฉะนั้นก็เลยจำเป็นต้องได้ว่า ๗ หมวดนี้มีอะไรบ้าง ทีนี้ในแต่ละหมวดนั้นจะได้ไม่ได้ก็ยังเป็นเรื่องรองลงไป เมื่อได้ตัวหมวดแล้วก็มาดูในหัวข้อ มีอะไรบ้างล่ะ หนึ่ง สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มีอะไรบ้าง เอ้า ตัวสติปัฏฐาน ๔ ก่อนแปลว่าอะไร สติปัฏฐานแปลว่าการตั้งสติหรือแปลว่าการปรากฏของสติ การปรากฏของสติก็หมายความว่าสตินี่ทำงานอยู่ไม่ได้หายไปไหน สติแสดงตัว ทำงานอยู่ตลอดเวลานั้น ถ้าใครทำได้อย่างนั้นก็สติปัฏฐานก็มี แต่ว่าคนทั่วไปนี่สติไม่ค่อยอยู่ สติมันไม่ค่อยมาปรากฏตัวเสียนี่ มันหายไป อันนั้นมันก็เลยไม่เป็นสติปัฏฐาน โยมจะให้เป็นสติปัฏฐานโยมก็ตั้งสติจนกระทั่งสตินี่ปรากฏตัวอยู่ตลอดเวลา ทำงานอยู่เรื่อยเลย สตินี้เป็นธรรมะสำคัญมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่าสติ ท่านกล่าวเป็นคาถาภาษาบาลีว่า “สติ สัพพัตถะ ปัตถิยา” แปลว่าสตินั้นเป็นธรรมที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง ในทุกกรณีต้องใช้สติหมด ธรรมะอื่นจะทำงานได้ต้องมีสติ ถ้าสติไม่มาทำงานแล้ว ธรรมะอื่นก็ไม่มีที่จะมาตั้งอยู่ได้ มันก็ลอยไปเลื่อนไป หายไปหมด พอสติมา มันดึงไว้หมดเลย สตินี้ทำหน้าดึงไว้ตรึงไว้ จับไว้ให้อยู่ เพราะฉะนั้นอะไรต่ออะไรที่จะทำงานได้นี่ต้องอาศัยสติ ทีนี้สติปรากฏตัวอยู่ท่านก็ให้สตินี้ทำงานกับสิ่งที่ชีวิตเกี่ยวข้อง ๔ ด้านด้วยกัน ก็แบ่งเป็น หนึ่ง กายานุปัสสนา สอง เวทนานุปัสสนา สาม จิตตานุปัสสนา สี่ ธัมมานุปัสสนา แล้วก็ต่อคำว่า สติปัฏฐานเข้าไปทุกอัน กายานุปัสสนาก็สติตามดูให้ปัญญาได้พิจารณาด้านกาย ความเคลื่อนไหว ความเป็นไป ส่วนประกอบอะไรต่างๆ ของกายนี่ รู้เข้าใจหมด อันนี้รายละเอียดอาตมาจะยังไม่พูด เพราะพูดแล้วเดี๋ยวโยมสับสน เดี๋ยวค่อยไปพูดรายละเอียดอีกที ตอนแรกก็สตินี้จะต้องตามดูรู้ทันกาย เอาง่ายๆก็แล้วกัน ตามดูรู้ทันกาย คือสตินี้มันจะมากับปัญญานะ ในกรณีนี้ถ้าเราพูดสตินี่ให้รู้ว่าหมายถึงปัญญาด้วยนะ สติกับปัญญาที่มาในกรณีนี้หมายถึงสัมปชัญญะ สัมปชัญญะนี้เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา เรื่องนี้โยมคงเข้าใจแล้วว่า ปัญญานั้นมีชื่อเยอะแยะไปหมด ชื่อหนึ่งของปัญญาที่ต้องใช้เรื่อยก็คือสัมปชัญญะ ทีนี้เวลาเรามีสตินี่ สติปัฏฐานนี่ ก็หมายถึงว่ามีปัญญาด้วย ปัญญาที่รู้เข้าใจ ฉะนั้น กายานุปัสสนา คำว่าอนุปัสสนานั้นแปลว่า ตามเห็น ตามเห็นนี้ก็แสดงถึงปัญญาแล้ว แต่ปัญญาทำงานได้ต้องอาศัยสติ สติเป็นตัวจับไว้ แล้วปัญญาจึงดู ถ้าสติไม่จับไว้ให้ดู มันไม่อยู่ ของนั้นไม่อยู่ อารมณ์นั้นไม่อยู่ ปัญญาดูไม่ได้ ไม่เห็น สติจับให้ปัญญาดู เราก็แปลกายานุปัสสนาสติปัฏฐานว่า การปรากฏตัวของสติ หรือสติมันทำงาน ตั้งสติไว้ให้ปัญญาตามดูรู้ทันกาย ว่าอย่างนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตามดูรู้ทันกาย การเคลื่อนไหวของกาย สิ่งที่เป็นไปในกายอยู่ในกาย รู้มันตามเป็นจริง ไม่หลงใหลไป ไม่หลงไปยึดถือ ไม่ติดในสมมติ ไม่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แต่รู้ตามสภาวะเป็นรูปเป็นนามอย่างนี้ เป็นต้น นี่เริ่มด้วยกาย ของหยาบ ก็ให้รู้ตามเป็นจริง ก็หนึ่งละ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สอง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นการตั้งสติจนกระทั่งสติปรากฏตัวอยู่ตลอดเวลา ให้ปัญญาได้ตามดูรู้ทันเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นเวทนาที่อาศัยอามิส หรือเป็นเวทนาที่ไม่อาศัยอามิส มันจะเป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร สติตามทัน แล้วปัญญาดูรู้ตามเป็นจริง รู้ตามปรมัตถ์ รู้ตามสภาวะ ไม่หลงตามสมมติ ไม่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นี่ก็เวทนา ต่อไปจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ตั้งสติให้สติปรากฏทำงานอยู่ตลอดเวลา โดยมีปัญญาตามดูรู้ทันสภาพจิต ว่าจิตของเราขณะนี้เป็นอย่างไร จิตของเรามีราคะหรือจิตไม่มีราคา มีโทสะหรือไม่มีโทสะ มีโมหะหรือไม่มีโมหะ เป็นจิตฟุ้งซ่านหรือเป็นจิตเป็นสมาธิ เป็นจิตหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น อะไรเป็นต้น คือรู้สภาพจิตตามเป็นจริง จิตขุ่นมัวเศร้าหมองรู้ตามเป็นจริง รู้ตามเป็นจริงมันเป็นอย่างไร ก็รู้ไปตามนั้น ไม่ต้องไปคิดปรุงแต่งอะไรทั้งนั้น รู้ตามที่มันเป็นในปัจจุบันขณะนั้น นี่เรียกว่ารู้ทันจิต ต่อไปก็ท้าย ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติโดยมีปัญญาตามดูรู้ทันธรรมะ ธรรมะก็คือสิ่งที่ปรากฏในใจ ใจคิดนึกเรื่องอะไร นึกถึงเรื่องอะไร มีนิวรณ์หรือไม่ มีนิวรณ์ มีกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา มันมีอยู่ในใจไหม มันเกิดขึ้นอย่างไร มันหมดไปอย่างไร อะไรต่างๆเหล่านี้ ทำอย่างไรมันจึงจะไม่เกิดขึ้น นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ ในสภาวะชีวิตของเรามันมีขันธ์ ๕ มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคืออย่างไร เวทนาคือย่างไร มันเกิดขึ้นอย่างไร มันดับไปอย่างไร นี่ขันธ์ ๕ แล้วก็อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ พร้อมทั้งอารมณ์ที่มันรับเข้ามา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันเกิดขึ้น มันเป็นไป มีการรับรู้ แล้วอาศัยอายตนะเหล่านี้เกิดกิเลสคือสังโยชน์ เกิดขึ้นอย่างไร กิเลสสังโยชน์เกิดขึ้นอย่างไร มันดับไปอย่างไร รู้ตามเป็นจริง แล้วก็โพชฌงค์ นี่ฝ่ายดีโพชฌงค์ นี้เอาละ ตอนนี้จะเห็นว่าธรรมะในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ นี่บางที่มันมาบรรจบกัน สติปัฏฐานกำลังปฏิบัติอยู่ เอ้า โพชฌงค์เข้ามาแล้ว ดูโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นในใจของเรานี้มีไหม มีไหมสติ มีไหมธัมมวิจยะ มันเกิดขึ้นอย่างไร มันเป็นไปอย่างไร ทำอย่างไรมันจึงจะเจริญบริบูรณ์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็อริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ มีอะไร เป็นอย่างไร เข้าใจ รู้ตามเป็นจริง คือสิ่งที่จิตจะนึกจะคิด นำมาพิจารณาให้รู้ทันตามเป็นจริง รวมทั้งหมดคือสิ่งที่คนเกี่ยวข้องในชีวิตของเรานี่ไม่พ้นไปจากสี่ด้านนี้ คือเป็นด้านเกี่ยวกับกายบ้าง เกี่ยวกับเวทนาความรู้สึกสุขทุกข์บ้าง เกี่ยวกับเรื่องสภาพจิตบ้าง เกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ในใจบ้าง มันก็มีอยู่แค่ ๔ อย่าง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ให้เอาสตินี่ไปตามดูรู้ทันด้วยปัญญา เอาสติไปจับไปกำหนด ทันมัน เห็นอารมณ์ปัจจุบัน แล้วปัญญารู้ทัน ตามเป็นจริง ไม่ปรุงแต่ง ไม่มีความยินดียินร้าย ชอบชัง คือรับรู้ด้วยปัญญาจริงๆ ดู รู้ เห็นตามที่มันเป็น ไม่ใช่ตามที่เราอยากจะให้มันเป็น หรือว่าตามที่เราคิดให้มันเป็น คือคนเรานี้ชอบมองอะไรก็มองตามที่อยากให้มันเป็น ไม่อยากให้มันเป็น หรือเราคิดให้มันเป็น แต่ว่าท่านไม่เอาท่านบอกว่าให้มองตามที่มันเป็น มองตามที่มันเป็นก็คือตามสภาวะของมัน อันนี้แหละจะได้เกิด ยถาภูตญาณ รู้เห็นตามเป็นจริง นี่ (สะดุด 31.13) เรื่องสติปัฏฐานก็ต้องพูดเรื่องสติปัฏฐานจำเพาะอีกทีหนึ่ง ตอนเราเอาแต่เพียงเห็นหัวข้อเท่านั้น แต่อาตมาชักจะเป็นอธิบายไปเสียแล้ว สติปัฏฐาน ๔ ได้หัวข้อแล้ว มี กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วก็ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ครบแล้วนะเรื่อง... ทีนี้ต่อไปอะไร สัมมัปปธาน ๔ อันนี้สัมมัปปธานมาจาก สัมมา กับ ปธานะ เรียกสั้นๆ ก็เลยเรียกแค่ ปธานะก็พอ ปธานะแปละว่าอะไร ปธานะก็แปลว่าความเพียร การตั้งความเพียร เพียรเอาจริงเอาจังมาก เรียกว่า ตั้งใจเด็ดเดี่ยวเลย ในการที่เพียรพยายาม อย่างที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ตรัสรู้ พระองค์บอกว่า ถ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดไปเหลือแต่หนังเอ็นกระดูก ก็จะไม่ลุกขึ้น นี่แหละการตั้งความเพียรขนาดนี้เป็นประธาน ทีนี้ประธานคือความเพียรนั้นมีองค์ ๔ หรือ ๔ ด้าน ความเพียรมี ๔ ด้าน เอาไปใช้ได้ทุกเรื่อง ความเพียร ๔ ด้านมีอะไรบ้าง หนึ่ง เป็นด้านที่เกี่ยวกับสิ่งไม่ดี ปฏิบัติต่อสิ่งไม่ดี ก็คือ บาป อกุศล เราความเพียรของเรานี้จะจัดการกับบาปอกุศลอย่างไร หนึ่ง ก็คือว่า บาป อกุศลที่ยังไม่เกิดก็ไม่ให้เกิดขึ้น ป้องกัน ระวังไว้ การป้องกันระวังไม่ให้บาปอกุศล ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้นนี่ก็เป็นความเพียรที่หนึ่ง ทีนี้ สอง บาปอกุศลเป็นอย่างไร อ้าว ถ้าบาปอกุศลเกิดขึ้นแล้วล่ะ บาปอกุศลเกิดขึ้นแล้วก็เพียรพยายาม ละมัน กำจัดมัน ทำให้หมดไปเสีย นี่สอง ตกลงว่าฝ่ายบาปอกุศล ฝ่ายไม่ดีนี้มีสองข้อ คือข้อระวังป้องกันไม่ให้เกิด ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น แล้วก็สองที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้หมดไป กำจัดละ ข้อหนึ่งที่แปลว่า ระวังป้องกันนี่ท่านใช้คำว่า สังวระ เอาไปต่อกับคำว่า ปธาน ก็เป็น สังวรปธาน (สัง-วะ-ระ-ปะ-ทาน) หรือ สังวรปธาน (สัง-วอน-ปะ-ทาน) เรียกแบบชาวบ้านก็ สังวร (สัง-วอน) สังวร แปลว่า ระวัง ป้องกัน แต่เรียกเป็นภาษาพระเรียกว่า สังวรปธาน (สัง-วะ-ระ-ปะ-ทาน) ความเพียรในการระวังป้องกัน แล้วก็ ส่วนที่ละ กำจัด อกุศลที่เกิดขึ้นแล้วก็เรียกว่า ปหานปธาน ความเพียรในการละ หรือกำจัด ปหานะ แปลว่า ละ หรือ กำจัด ทีนี้ฝ่ายอกุศลฝ่ายบาปสองข้อหมดไปแล้ว ทีนี้ฝ่ายกุศลฝ่ายดีล่ะ ฝ่ายดีก็มีสองเช่นเดียวกัน กุศล ความดีที่ยังไม่เกิด ทำอย่างไรล่ะ ก็ปฏิบัติ บำเพ็ญให้เกิดขึ้น การปฏิบัติ บำเพ็ญให้เกิดขึ้นนี่ภาษาพระเรียกว่า ภาวนา ภาวนาแปลว่าการทำให้เป็นให้มี ภาวนา แปลตามศัพท์แปลว่า การทำให้เป็นให้มี หมายความว่า อะไรยังไม่เป็น ทำให้เป็น หมายถึงที่ดีๆนะ ที่ดีๆที่ยังไม่เป็นก็ทำให้เป็น ที่ยังไม่มีก็ทำให้มี ก็เลยแปลกันว่า เจริญ ในภาษาโบราณไทยแปลว่าเจริญ ทำให้เป็นให้มี ให้มันเกิดขึ้นมา พูดง่ายๆก็คือทำให้เกิดให้มีนั่นเอง ทีนี้ก็เป็นอันว่ากุศลธรรมสิ่งที่ดีที่ยังไม่เกิดก็ทำให้เกิดให้มีขึ้นเรียกว่า ภาวนาปธาน อันนี้ สอง ที่มีแล้วละ กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว กุศลที่เกิดขึ้นแล้วทำอย่างไร ก็บอกว่าต้องรักษา รักษาแล้วทำให้เจริญเพิ่มพูนจนไพบูลย์ ท่านเรียกว่าจนไพบูลย์เลย ให้ถึงไพบูลย์เชียวนะ ถ้าไม่ไพบูลย์ก็ไม่หยุด อันนี้การที่คอยรักษาและบำเพ็ญให้ไพบูลย์ ท่านใช้ศัพท์สั้นๆว่า อนุรักขนาปธาน อนุรักษ์เรามาใช้ อย่างในปัจจุบันนี้เราเรียกว่าอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างนี้เป็นต้น อนุรักษ์ตัวนี้แหละ อนุรักขนาปธาน แต่อนุรักษ์ในความหมายของท่านไม่ใช่แค่รักษาไว้เฉยๆ นะ ทำให้มันเจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ ท่านใช้คำว่า ปิโยเลย ปิโยก็แปลว่ายิ่งขึ้นไป ทำให้มันถึงเวปุลลังเลย จนกระทั่งไพบูลย์ ตกลงว่าความเพียรนี้มี ๔ อย่าง อาตมาก็ทวนอีกอย่าง สัมมัปปธาน ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบมี ๔ ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง เพียรป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เรียกว่า สังวรปธาน สอง เพียรละ กำจัดอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เรียกว่า ปหานปธาน สาม เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นเรียกว่า ภาวนาปธาน สี่ เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่และเจริญยิ่งๆขึ้นไปจนไพบูลย์เรียกว่า อนุรักขนาปธาน ก็ครบแล้วสี่ข้อ ในการปฏิบัติอะไรก็ตาม ความเพียรนี่ควรจะให้ครบสี่ แม้แต่มาใช้ในชีวิตประจำวันก็ควรจะเป็นสี่อย่างนี้ ของไม่ดีหนึ่งป้องกันไม่ให้เกิด ถ้าเกิดแล้วละให้ได้ ของดีต้องทำให้เกิดถ้ายังไม่เกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้เจริญไพบูลย์ เป็นหลักการทั่วไปเลย อันนี้ ความเพียรนี้เป็นสิ่งสำคัญ จะต้องใช้ในการปฏิบัติธรรมตลอด เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้ามาตรัสไว้เป็นหมวดหนึ่งเลย เรียกว่า สัมมัปปธาน แล้วเอาไปใช้ให้ครบสี่ด้าน มันจะต้องไปหนุนในการปฏิบัติทุกอย่าง เอ้า ทีนี้ต่อไป ที่นี้ก็มาถึงอะไรล่ะ หมวดที่สามก็อิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ นี้ก็แปลว่าทางแห่งความสำเร็จ หรือทำให้ถึงความสำเร็จ อิทธินี่แปลว่าความสำเร็จ อิทธิที่แปลว่าฤทธิ์นั่นแหละ ฤทธิ์นี่ที่จริงแปลว่าความสำเร็จ สิ่งที่มันไม่มีไม่เป็น ทำให้สำเร็จให้บรรลุผลจริงจังได้ ความสำเร็จในเรื่องอะไรก็ตาม แต่ในที่นี้ท่านมุ่งในการปฏิบัติ ทีนี้ปาทะแปลว่าอะไร ปาทะนี่แปลว่าบาท บาทนี่คืออะไรก็คือเท้า ทำไมเรียกว่าเท้า เท้านั้นใช้สำหรับเดิน เดินเพื่อให้ถึง เพราะฉะนั้นคำว่า บาท หรือเท้านี่ ภาษาบาลีแปลว่า เครื่องให้ถึง สิ่งที่ช่วยให้ถึง ให้ถึงจุดหมาย เท้าเรานี่แปลว่าสิ่งที่ทำให้ถึงจุดหมาย ฉะนั้น อะไรที่มีความหมายว่าให้ถึงจุดหมายก็เลยเรียกว่าบาทได้ ทีนี้ ธรรมะชุดนี้นั้นจะให้ช่วยให้ถึงความสำเร็จ ท่านก็เลยเรียกว่าบาท ก็คล้ายๆธรรมะที่เป็นเหมือนเท้าที่จะให้ถึงความสำเร็จได้ เอาละ อิทธิบาทก็แปลว่าธรรมให้ถึงความสำเร็จ ก็มีสี่อย่าง มีอะไรบ้าง มีหนึ่ง ฉันทะ ฉันทะนี่แปลว่าอะไร แปลว่าความพอใจ ความรัก ความปรารถนา เป็นความปรารถนาหรือความอยากนั่นเอง พูดง่ายๆ ฉันทะนี่คือความอยาก แต่ความอยากที่เป็นฉันทะนี่มันตรงข้ามกับความอยากอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าตัณหา ฉันทะเป็นความอยากที่เป็นกุศล ส่วนตัณหานั้นเป็นความอยากที่เป็นอกุศล อันนี้แหละ ตอนนี้เรามาถึงตอนสำคัญ คือความอยากที่เป็นกุศล ตรงข้ามกัน แต่พอโยมนึกถึงฉันทะนี่ให้นึกถึงตัณหาด้วย เพราะมันเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน ตัณหาเป็นฝ่ายอกุศลคือมันมุ่งจะได้ จะเอา ปรารถนาในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจ อันนั้นจะเรียกว่าตัณหา ทีนี้ฉันทะนี้เป็นความอยากที่เป็นกุศล คือเป็นความอยากในความดี ในกุศลธรรม ความปรารถนาในกุศลธรรม ท่านเรียกกุศลฉันทะ หรือบางที่เรียกว่าธรรมฉันทะ แปลว่าความปรารถนาหรือความรักในธรรมะ ธรรมะคืออะไร คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความจริงเราก็อยากจะรู้ เราใฝ่ที่จะรู้ความจริงรู้สัจธรรม แล้วก็ความดีงามเราก็อยากจะให้เกิดให้มีขึ้น เราก็อยากจะทำ สร้างความดีขึ้นมา ฉะนั้น อยากรู้ความจริงหนึ่ง อยากจะทำสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นหนึ่ง นั่นเรียกว่าอยากในธรรมะ เรียกว่าธรรมฉันทะ มันก็เป็นกุศลด้วย เรียกว่ากุศลฉันทะ ก็เลยเป็นความอยากที่เป็นกุศล ก็ง่ายๆก็อยากรู้ อยากทำ เพราะฉะนั้นในคำอธิบายท่านจะแปลฉันทะตัวนี้ว่า กัตตุกัมยตาฉันทะ หรือแปลว่า กัตตุกัมยตา ความปรารถนาอยากจะทำ อยากจะทำ ถ้าเป็นตัณหานี่มันไม่อยากทำอ่ะ มันอยากจะได้จะเอา อยากจะเสพรส บำเรอตาหูจมูกลิ้นกายเท่านั้น แต่ถ้ากัตตุกัมยตา ตัวฉันทะนี่มันอยากจะทำคือสร้างความดีให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมันเป็นตัวแรก เราจะก้าวหน้าไปในธรรมนี่เราต้องอยากทำ ถ้าไม่อยากทำนี่เราไม่ปฏิบัติหรอก ต้องมีตัวฉันทะเป็นจุดเริ่มต้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฉันทมูลกา สัพเพ ธัมมา ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูลหมายความว่าอย่างไร ก็มีฉันทะนี่ตัวความอยากเป็นตัวเริ่มต้น เป็นตัวต้นเค้าเป็นตัวรากเลย เราจะเจริญในธรรมะอะไรถ้าโยมไม่มีตัวฉันทะเป็นแรงให้ ไม่มีตัวความอยากนี่มันไม่เอาด้วยหรอก ใจมันไม่เอา พอมีฉันทะแล้วใจมันเอา แต่ว่าฉันทะนี่บอกแล้วว่ามันคู่กับตัณหา ฉันทะที่เป็นอกุศล เพราะว่าฉันทะนี่ตัวมันเองแปลว่าความอยาก ถ้าเป็นฉันทะที่เป็นอกุศลก็คือตัณหา มันก็เป็นมูลฝ่ายอกุศล ฝ่ายอกุศลมันก็เป็นมูลเหมือนกัน ทีนี้ฝ่ายกุศล ฝ่ายดี ก็เป็นฉันทะที่เป็นกุศล ฉันทะนี่ก็เป็นมูลเหมือนกัน ฉะนั้นราจะเจริญในธรรมะได้เราต้องมีฉันทะ ท่านก็เลยให้เอาฉันทะมาเป็นตัวแรก พระพุทธเจ้าตรัสไว้อีกแห่งหนึ่งบอกว่า ฉันทะนี่เป็นเหมือนแสงอรุณ แสงอรุณคืออะไร คือก่อนที่พระอาทิตย์จะอุทัยขึ้นมานี่ จะมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ถ้าเห็นแสงเงินแสงทองแล้วก็มั่นใจได้ว่าดวงอาทิตย์จะอุทัย อันนี้ฉันใด ถ้ามีฉันทะแล้วก็มั่นใจได้เลยว่ามรรคจะเกิดขึ้น มรรคก็คือเหมือนพระอาทิตย์ เป็นวิถีชีวิตหรือว่าการปฏิบัติที่ถูกต้อง การปฏิบัติที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นถ้ามีฉันทะ เพราะฉะนั้นฉันทะนี้สำคัญมาก ท่านเอามาวางไว้เป็นข้อแรกในอิทธิบาท ๔ เอากันว่าฉันทะคือความอยากที่เป็นกุศล ก็คือความต้องการจะทำ ใผ่จะรู้ธรรม ความจริง แล้วก็เลยต้องใฝ่จะทำ จะทำก็คือทำให้ความดีนั้นเกิดขึ้น ก็จะบำเพ็ญแหละ ก็ต้องมีความปรารถนาที่จะบำเพ็ญแหละ พอมีฉันทะก็เริ่มต้นได้ ใจเอาละ นี่ฉันทะหนึ่ง ต่อไปก็อิทธิบาทข้อสองก็วิริยะ แล้วก็ความเพียร ความเพียรนี้มาจากคำว่า วีระ บวกกับ อนิยะ วีระนี่โยมทุกท่านรู้ วีระแปลว่ากล้าหาญ แกล้วกล้า ในคำว่า วีรชน วีรบุรุษ วีรสตรี เป็นต้น นี่แหละวิริยะนี่มาจากคำว่าวีระตัวนี้ วีระแปลว่า กล้าหาญ แกล้วกล้า ใจสู้ไม่ถอย เจออะไรแล้วไม่ยอมระย่อ ไม่ท้อแท้ ไม่หนี เดินหน้าอย่างเดียว แบกภาระ ถ้าอย่างนี้เรียกว่ามีวิริยะ วิริยะนี่ไม่ใช่แค่ขยันนะโยม จุดสำคัญมันอยู่ที่ใจสู้ เข้มแข็ง ไม่ยอมถอย เดินหน้าอย่างเดียว อย่างนี้เรียกว่าวิริยะ จะเอาแค่ขยันไม่พอหรอก วิริยะนี่ยิ่งกว่าขยันอีก ฉะนั้นวิริยะความเพียร ต้องแปลให้ออก เพราะว่าถ้าเราแปลวิริยะ ความเพียรนี่ก็ไม่ได้แปลนั่นเองแหละ เพราะว่าวิริยะความเพียร มันก็เป็นภาษาบาลีตามเดิม เพราะว่าวิริยะ แปลง ว เป็น พ เป็น พ ก็เป็น พิริยะ พิริยะแปลงอีกเป็นเอีย ก็เป็น เพียร วิริยะนั้นแปลงเป็นไทยแผลงเป็นเพียร ตกลงไม่ได้แปล ถ้าแปลต้องแปลว่าความเป็นผู้มีใจแกล้วกล้า หาญสู้ ไม่ระย่อ เดินหน้าอย่างเดียว นี่เรียกว่าวิริยะ คนที่ปฏิบัติธรรมต้องมีความเพียร ใครมีความเพียร ได้ฉันทะมาเป็นตัวเริ่มต้นแล้วนี่ เอาละนะฉันเอาด้วย นี่ฉันทะใช่ไหม ใจเอา รักชอบ ใฝ่จะทำ แล้วมีวิริยะ เพียร ไม่ถอย เดินหน้าได้แน่นอน สองแล้ววิริยะ สามจิตตะ จิตตะคืออะไร จิตตะคือใจฝักใฝ่ เอาใจใส่ไม่ไปเรื่องไหนละ ใจฝักใฝ่เหมือนอย่างกับอะไร เหมือนอย่างกับคนที่กู้ระเบิด คนที่กู้ระเบิดนี่ใจใฝ่มากนะ ใจไม่นึกไปอื่นเลยเพราะว่ามันเรื่องเป็นเรื่องตายนี่นะ ใจมันอยู่กับเรื่องของการกู้ระเบิดไม่ไปฟุ้งซ่านอย่างอื่น ใจเรามีจิตตะ เราจะใฝ่อย่างนั้นล่ะ ใจเราจะจดจะจ่อ เราจะเอาใจอยู่กับสิ่งนั้นจริงจัง ทีนี้คนที่ปฏิบัตินี่จะได้ผลไปสู่ความสำเร็จ ใจต้องไม่เที่ยวเลื่อนลอยไปเรื่องโน้นเรื่องนี้นะ จะเอาอะไรใจก็ใฝ่จ่ออยู่กับเรื่องนั้น เป็นสภาพจิตที่จะทำให้เกิดสมาธิได้ดี เอ้า ทีนี้ต่อไปข้อสุดท้าย วิมังสา วิมังสาก็แปลว่าเป็นเรื่องปัญญาแล้ว วิมังสานี้ออกทางปัญญา เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ปัญญามีหลายชื่ออย่างที่บอกไปแล้ว ทีนี้ชื่อหนึ่งของปัญญาก็วิมังสา วิมังสาแปลว่าทดลอง ไตร่ตรองพิจารณา ที่ว่าทดลองคืออยากจะรู้ว่า เอ้อ ถ้าทำอย่างนี้จะเป็นอย่างไร ทำอย่างนั้นจะเป็นอย่างไร อะไรอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าทดลอง คอยตรวจตราว่า เอ้อ ที่ทำไป ปฏิบัตินี่มันมีจุดอ่อนอย่างไร มันมีข้อบกพร่องอย่างไร มันจะต้องไปแก้ไปเสริมไปเติมอย่างไร ปรับปรุงอย่างไร คนที่ใช้วิมังสานี้จะทำให้การปฏิบัติไม่พลาด ถ้าปฏิบัติจะพลาดก็รู้สิ แก้ไขได้ ก็จะทำให้เกิดความสำเร็จ เพราะฉะนั้นข้อนี้ก็สำคัญเป็นเรื่องปัญญา สามข้อแรกนี้เป็นเรื่องของสภาพจิตใจ ส่วนของสี่นี่เป็นเรื่องของปัญญา ก็เป็นอันว่าครบแล้ว วิมังสา วิมังสานี่พระพุทธเจ้าตรัสเน้นในเรื่องเป็นวิธีการสร้างสมาธิ เป็นวิธีสร้างสมาธิอย่างไรล่ะ สมาธิก็คือจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ หมายความว่าจิตแน่วแน่ จิตตั้งมั่น ใครมีจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ อันนั้นคือการเป็นสมาธิ ใจคนฟุ้งซ่านคือมันไม่อยู่กับสิ่งที่ต้องการ มันควรจะอยู่กับสิ่งนี้มันไม่อยู่ มันไปที่อื่นเสีย ถ้าเมื่อไหร่ใจเราอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการนั่นคือใจเราเป็นสมาธิ พูดง่ายบอกให้ใจเราอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการก็นี่แหละคือสมาธิแหละ แต่ว่าทำยากนะ ลองทำดูสิให้ใจอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ ไม่ใช่ง่ายๆ เลย แต่ลองทำสำเร็จนั้นคือสมาธิ ทีนี้เอาเป็นว่าสมาธิ ใจอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการแน่วแน่นี่ ท่านใช้อิทธิบาทมาเป็นตัว (จบ)