แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:49] ขอเจริญพร สิทธิมนุษยชนนี้ก็ เป็นเรื่องของการที่ มนุษย์เรานี้มาตกลงยอมรับกัน ให้บุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์แต่ละคน ๆ นั้น ได้รับความเคารพนับถือ เอาใจใส่ดูแล คุ้มครองรักษา และให้เขาได้รับประโยชน์ ในการที่เขามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ อาจจะพูดว่าอย่างดีที่สุด แล้วก็มนุษย์ที่มาตกลงกันในที่นี้ก็หมายถึงว่า เป็นชุมชนระดับโลก ก็คือองค์การสหประชาชาติ ได้แก่ชาติต่าง ๆ ทั้งหลายในโลกนี้ มาตกลงกันแล้วก็ได้วางเป็นข้อกำหนดขึ้น ซึ่งยอมที่จะให้บุคคลยกขึ้นมาเป็นข้ออ้าง เพื่อจะเป็นหลักประกันหรือเป็นมาตรฐานในการที่เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างดี ได้เข้าถึงความดีงามและประโยชน์สุขที่ควรจะได้รับ เมื่อมองอย่างนี้ละก็จะเห็นได้ว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ที่เจริญงอกงามหลายอารยธรรม ที่รู้จักมาคำนึงถึงชีวิตของกันและกัน เอาใจใส่ในความสุขความทุกข์ของกันและกัน ก็เป็นเรื่องที่ดีงาม แล้วก็แสดงถึงการรู้จักมีกฏ มีเกณฑ์ มีกติกา วาง จัดวาง กฎกติกานี้ เพื่อให้อยู่ด้วยกันด้วยดี อันนี้ก็อย่างที่กล่าวแล้วเมื่อกี้นี้ อันนี้เป็นเครื่องหมายการเจริญก้าวหน้าทางอารยธรรม
[02:40] แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องรู้ว่าสิทธิมนุษยชนนี้ กว่าจะได้มาก็ผ่านภูมิหลัง ของเหตุการณ์ความเป็นไปของประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกหรือมนุษยชาติ แล้วก็ภูมิหลังนี้ก็เต็มไปด้วยการที่มนุษย์นี้มีการเบียดเบียน แย่งชิงกดขี่ข่มเหงซึ่งกันและกัน มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าสิทธิมนุษยชนนี้ได้มาด้วยการต่อสู้ แล้วก็มนุษย์ที่เป็นเราเรียกได้ว่า คริสต์ ที่ทำให้เกิดมีการจัดวางสิทธิมนุษยชนขึ้นเป็นกฎกติกานั้นก็เป็นมนุษย์ชาวตะวันตก แม้เราจะบอกว่าเป็นองค์การสหประชาชาติซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ พูดได้ว่าทั่วโลก แต่ว่าผู้นำชาวคริสต์ก็เป็นเรื่องของชาวตะวันตก ในภูมิหลังในการเบียดเบียนบีบคั้นซึ่งกันและกันนี้ ก็เป็นไปอย่างรุนแรงมากในสังคมตะวันตก สังคมตะวันตกนั้น มีประวัติศาสตร์แห่งการรบราฆ่าฟันและสงครามนี้มากมาย แล้วก็ในเรื่องของการเบียดเบียนกันทั้งระหว่างมนุษย์ในสังคมเดียวกัน แล้วก็มนุษย์ต่างสังคม ในสังคมเดียวกันยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ระหว่างผู้ปกครองกับราษฎรหรือผู้อยู่ใต้ปกครอง มีกันถึงขนาดที่ว่ายกตัวอย่างในทางศาสนา ในยุโรปรวมทั้งในอังกฤษก็เคยมีการวางกฎกติกากันว่า ถ้าผู้ปกครองนับถือศาสนาไหนนิกายใด ราษฎรจะต้องนับถือนิกายนั้นศาสนานั้น มิฉะนั้นก็อยู่ไม่ได้ แล้วเกิดมีการรบราฆ่าฟันกันในเรื่องศาสนานี้รุนแรง มีการหนีภัยไปต่างประเทศ จนกระทั่งแม้แต่ประวัติศาสตร์ของประเทศอเมริกาก็มาจากเรื่องนี้ด้วย
ในการที่มนุษย์หนีภัยสงครามศาสนาด้วยการกดขี่เบียดเบียนกัน เขาเรียกว่า Persecution อันนี้มนุษย์ในสังคมเดียวกันก็เบียดเบียนกดขี่กันมาก หรือในระหว่างสังคมเราก็เห็นได้ชัด มนุษย์ชาวตะวันตกนั้น มีเมืองขึ้นมีอาณานิคมมากมาย ชาวมนุษย์ที่อยู่ในอาณานิคมหรือเมืองขึ้นนั้นก็เรียกได้ว่าถูกกดขี่ข่มเหง ถ้าพูดภาษาปัจจุบันก็ไม่มีสิทธิ ในประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกเป็นมาอย่างนี้ เขาผ่านประสบการณ์ในเรื่องการเบียดเบียนกันมาก การต่อสู้ดิ้นรนก็ย่อมมีมาก จนกระทั่งทำให้ต้องมีการวางกติกา กฎเกณฑ์ เป็นขอบเขตให้ชัดเจนว่าไม่ให้มีการละเมิดซึ่งกันและกัน หรือแม้แต่ประเทศอเมริกาที่เราเห็นว่าปัจจุบันเป็นประเทศที่เป็นผู้นำ ยกย่องเชิดชูในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ถอยหลังไปร้อยปีที่แล้วนี้เอง ก็ยังมีความเชื่อถือมากในลัทธิที่เราเรียกว่า ดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) ลัทธิดาร์วินนี้ก็ถือหลักว่าธรรมชาตินั้นมีการคัดเลือกในตัวของมันเอง ซึ่งจะทำให้สัตว์ที่แข็งแรง เก่งกล้ามีความเหมาะสมอยู่ได้ ส่วนสัตว์ที่อ่อนแอไม่มีความสามารถก็ล้มหายตายไปหรือสูญพันธุ์ไป
ลัทธิดาร์วินนี้เขามาใช้ในเชิงสังคม และประเทศอเมริกานี้เป็นประเทศที่เชื่อถือได้รับอิทธิพลของลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้ อย่างชนิดที่เรียกว่าลึกซึ้งมาก อาจจะที่สุดยิ่งกว่าดินแดนยุโรปที่เป็นที่เกิดของลัทธินี้ด้วยซ้ำ และถ้านำมาใช้ในทางธุรกิจการแข่งขันกันในเรื่องการค้าขาย อิทธิพลของลัทธินี้ก็ยังมีอยู่แม้กระทั่งในปัจจุบัน แต่ภูมิหลังของการดิ้นรนต่อสู้กันเบียดเบียดข่มเหงกันมากเนี่ยก็อย่างที่ว่าแหละ ทำให้มนุษย์ต้องมาวางกรอบขอบเขตกฎเกณฑ์กติกา แล้วชาวตะวันตกก็มีความถนัดความชำนาญในเรื่องการวางกฎกติกา ก็เพราะว่าจะต้องพิทักษ์รักษาสิทธิของตน เพื่อป้องกันอีกฝ่ายหนึ่งจะมาละเมิด อันนี้ก็ภูมิหลังอย่างหนึ่งที่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญของการเกิดขึ้นของสิทธิมนุษยชน การรู้ภูมิหลังนี้จะทำให้เราวางท่าทีได้ถูกต้อง เมื่อสิทธิมนุษยชนเกิดมาอย่างนี้แล้วก็เท่ากับเป็นของดี ที่ทำให้มนุษย์เราเนี่ยอย่างน้อยก็ไม่ละเมิดต่อกันและกัน และให้โอกาสแก่กันและกัน เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่รอด นอกจากอยู่รอดแล้วก็อยู่ได้ด้วยดีที่สุด มีโอกาสที่จะเข้าถึงประโยชน์ความดีงามที่เกิดขึ้นในสังคมหรือในโลกนี้ แต่อย่างไรก็ตามสิทธิมนุษยชนนั้นก็คงจะไม่จบเท่านี้ มันจะต้องมีวิวัฒนาการต่อไปอีก
[08:34] สิทธิมนุษยชนที่เราเรียกกันว่า ปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ก็เกิดขึ้นนานแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปี คือปี 1948 ก็หลังสงครามโลกจบไปได้ 3 ปี แล้วก็ตกลงกันในวันที่ 10 ธันวา ขอแทรกนิดว่าเป็นเกร็ดความรู้ก็มาตรงกันพอดีกับวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเรา ทีนี้หลังจากที่เกิดมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 1948 นี้แล้ว โลกก็เจริญงอกงามต่อ เราจะเห็นว่ามีปัญหาใหม่ ๆ ขึ้น ในสมัยนั้นยังไม่ได้รู้ ยังไม่ได้ตระหนัก ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งก็ขอยกตัวอย่าง คือปัญหาธรรมชาติแวดล้อม เมื่อปีประมาณ 1970 ในระยะนั้นเป็นระยะที่เมืองฝรั่งประเทศที่พัฒนาโดยเฉพาะอเมริกานี้ เริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหาของธรรมชาติแวดล้อมที่เสื่อมโทรม มีมลภาวะและเป็นภัยอันตรายที่ย้อนกลับมาถึงมนุษย์ และความตื่นตัวนี้ก็กว้างขวางออกไปทั่วโลก จนกระทั่งมีการบันทึกสุดยอดในเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ เมื่อปี 1972 ด้วยกันเป็นครั้งแรก อันนี้ ต่อจากนั้นมนุษย์ก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก ก็เรื่องที่ว่าเราจะต้องพยายามพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องธรรมชาติเนี้ย ก็จะต้องโยงเข้ามาหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็มีทางเป็นไปได้ต่อไปเนี่ย อาจจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงหรือจะอาจจะมีการวางเพิ่มเติมขึ้นมาในเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ใช่แต่เรื่องของมนุษย์ต่อกันเท่านั้น
เราจะมองเฉพาะเรื่องของมนุษย์ต่อมนุษย์เท่านั้นไม่ได้แล้ว ตอนนี้จะต้องมองออกไปถึงมนุษย์กับธรรมชาติด้วย
ที่จริงเราก็มุ่งเพียงเพื่อให้มนุษย์อยู่ดีแหละ เวลานี้มนุษย์ก็ยังสนใจแต่ในแง่นี้ ความจริงที่จะไปพิทักษ์รักษาธรรมชาตินั้น ใจจริงนี้ต้องมุ่งประโยชน์ของมนุษย์ คือเพื่อให้มนุษย์เองได้อยู่ดีอยู่รอด เป็นต้น นี้ก็ เมื่อเห็นว่าธรรมชาติเสียหายและอันตรายก็มาถึงตน ต่อไปก็มนุษย์ที่มายึดครองที่ดินหรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในธรรมชาติมาเป็นสมบัติของตน ซึ่งสามารถจะปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนอย่างไรก็ได้เป็นสิทธิในทรัพย์สิน ต่อไปก็จะมีปัญหาว่า คนนั้นจะทำต่อทรัพย์สินที่ว่าเป็นของตนนั้นแหละ มันมีผลกระทบส่งมาทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่โลกถึงมนุษยชาติ กลายเป็นว่าเขาทำต่อทรัพย์สินของตนแต่เป็นการละเมิดต่อมนุษยชาติก็ได้ หรือบางคนอาจจะมองกว้างไปกว่านั้นอีก อาจจะมองไปว่า ธรรมชาตินั้นเองมันมีสิทธิของมันหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น อันนี้ก็มีบางคนก็เริ่มมองไปอย่างนี้แล้ว ว่าสัตว์ต่าง ๆ ที่เราเอามาใช้งานหรือเอามาเป็นเครื่องประกอบอาชีพของเรา อย่างคนที่เอาปลาโลมานี้มาฝึกให้เล่นแสดงต่าง ๆ ก็เริ่มมีผู้ที่เกิดความรู้สึกว่าปลาโลมานั้นก็น่าจะมีสิทธิในชีวิต หรือในความเป็นอิสระเสรีของมัน ก็เคยมีเรื่องเหมือนกับว่ามีคนหนึ่งเนี่ย ไปลักเอาปลาโลมา 2 ตัวออกไปจากที่เขาเลี้ยงไว้ ก็เกิดการพิพาทซึ่งกันและกัน เพราะว่าคนที่ลักปลาโลมาไปนี้ก็ถูกฟ้องว่าละเมิดต่อทรัพย์สินของอีกฝ่าย ก็คือลักทรัพย์ แต่ว่าคนที่ลักปลาโลมาไปนี้เขาถือว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเขาเอง เขาช่วยเหลือสัตว์นั้นให้ได้รับอิสรภาพ ปลาโลมาก็ควรจะมีสิทธิในชีวิตและในอิสรภาพของมัน อย่างนี้เป็นต้น
ปัญหาอย่างนี้ก็คงจะต้องขยายต่อไป แต่มันเป็นปัญหาที่กระทบถึงความอยู่ดีของมนุษยชาติด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของปัญหาสิทธิมนุษยชนนี้คงขยายกว้างขวางออกไป เพราะโลกเวลานี้ก็ไร้พรมแดนกว้างขวางออกไปเรื่อย ๆ แล้วก็มนุษย์ก็มีความรู้ตระหนักเพิ่มขึ้นด้วย งั้นสิ่งที่ไม่เคยรู้ว่าเป็นปัญหาก็เป็นปัญหา หรืออย่างเรื่องเกร็ดขำ ๆ อันหนึ่ง ก็อย่างง่าย ๆ ช่วงมาไม่กี่ปีเนี่ย ในฝ่ายผู้ที่นิยมสิทธิสตรีก็เกิดความตื่นตัว เขาเรียกว่าเป็น เฟมินิสซึ่ม (feminism) ก่อนที่จะมาถึงแม้กระทั่งถ้อยคำ คำพูดต่าง ๆ ที่มาในภาษาอังกฤษ เวลาพูดถึงมนุษย์ก็ใช้คำเรียกเป็นเพศชาย เป็น man หรือแม้แต่ว่าใช้คำกลาง ๆ อย่าง one หรือ everyone แต่เวลาใช้สรรพนามก็อาจจะใช้ว่า His อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ขำ ๆ ว่า สิทธิมนุษยชนที่ออกเป็นปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ ออกในยุค 1968 ยังไม่มีความตื่นตัวเรื่องนี้ ก็ปรากฏว่าในปฏิญญาสากลนี้เองก็เขียนสรรพนามไว้โดยใช้คำว่า his ซึ่งเป็นผู้ชาย ต่อไปฝ่ายผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิก็อาจจะกล่าวขึ้นมาได้หรือเปล่าว่า แม้แต่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ ก็ละเมิดสิทธิมนุษยชน คือไม่ให้ความเสมอภาคในความเป็นชายและเป็นหญิง อันนี้เป็นตัวอย่างขอให้ไปดูทั่วไปเลย เช่นใน article thesis เป็นต้น ก็จะมีชัดว่าใช้คำว่า his ไม่มี her อันนี้เป็นเรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างให้ขำ ๆ ถึงอย่างไรก็ตาม ก็การมีปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนก็เป็นหลักประกัน อย่างน้อยก็เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะช่วยให้มนุษย์อยู่กันด้วยดียิ่งขึ้น แล้วก็เป็นความเจริญงอกงามอย่างหนึ่งซึ่งเราไม่ถือว่าสิ้นสุด ก็คงจะต้องมาพิจารณาแล้วก็มาปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป แต่ข้อสำคัญก็คือเราจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ ของการมีสิทธิมนุษยชน ที่พูดถึงว่าจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ก็เพราะว่าถ้าเราไม่รู้ตระหนักไม่คอยเอาใจใส่อันนี้แล้ว วัตถุประสงค์อาจจะแปรไปก็ได้ พอวัตถุประสงค์แปรไปการใช้ประโยชน์ก็อาจจะไม่ถูกต้อง
[15:59] การมีสิทธิมนุษยชนนั้นเพื่ออะไร ก็แน่นอนว่า เพื่อชีวิตที่ดีงามแล้วก็ความอยู่อย่างมีสันติสุขของโลกหรือของมนุษยชาตินี้ อันนี้ ในการที่ว่าเรามีสิทธิมนุษยชนนี้ก็เป็นหลักประกันให้มนุษย์มีชีวิตดีงาม อยู่ร่วมกันร่มเย็นมีสันติสุข ถ้าว่ากันไปแล้ว แม้เราจะยอมรับว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่าคงไม่เพียงพอ ก็หมายความว่าสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการที่จะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามมีความสุข แต่การมีเพียงสิทธิมนุษยชนนั้น ก็คงไม่เพียงพอ ทำไมถึงว่าอย่างนี้ ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างที่พ่อแม่เลี้ยงลูก พ่อแม่เลี้ยงลูกนั้นคงไม่ได้เลี้ยงเพียงเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิของลูก แต่พ่อแม่ให้เกินกว่าสิทธิที่ลูกจะต้องได้รับ ที่เรากำหนดว่าเป็นหลักประกันพื้นฐานที่ต่ำกว่า แล้วด้วยจิตใจที่ให้แก่ลูกอย่างนี้แหละ ที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ได้ด้วยดี ก็หมายความว่าเราต้องมอง 2 ด้าน ด้านหนึ่งด้านสิทธิ เป็นหลักประกันพื้นฐาน เราพยายามไม่ให้ขาด แต่เราไม่ได้หยุดแค่นี้ เราต้องไปเกินกว่าสิทธิ เพราะว่าอย่างที่บอกมนุษย์อย่างพ่อแม่ที่ให้แก่ลูกนั้น ไม่ใช่เพราะเพียงลูกมีสิทธิ แต่ให้ด้วยน้ำใจซึ่งให้โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของลูกเลย ว่าเขาได้แค่นี้ก็พอ แต่ว่าให้เกินกว่านั้น ฉะนั้น โลกจะเป็นอยู่ด้วยดีนี้ก็คงจะต้องมีเรื่องของจิตใจอย่างที่ว่า เช่น ความมีเมตตากรุณา เป็นต้น อย่างที่พ่อแม่มีต่อลูก ฉะนั้น เรื่องสิทธิมนุษยชนนี้เป็นเพียงด้านหนึ่ง หรือระดับหนึ่งแห่งความเจริญงอกงามของมนุษย์
แต่ว่าอย่างที่กล่าวแล้วว่าไม่เพียงพอ ถ้าหากว่าเราไม่ตระหนักในเรื่องนี้ไว้ให้ดีแล้วเนี่ย ก็อาจจะมีการปฏิบัติที่เป็นสุดโต่ง 2 แบบ สุดโต่ง 1 ก็คือ การที่ว่าบางถิ่นบางสังคมนี้ ไม่คำนึงเลยถึงชีวิตมนุษย์ ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย อิสรภาพอะไรสำคัญ มีการละเมิดต่อชีวิตทรัพย์สินเป็นต้นอยู่เสมอ แต่ว่าอีกสังคมหนึ่งก็อาจจะไปสุดโต่งตรงกันข้าม ก็คือเพียงแต่ว่า เอาแต่การรักษาเรียกร้องสิทธิเป็นอยู่กันแค่ให้เป็นไปตามสิทธิ ทีนี้ภาวะที่สุดโต่งนี้ก็จะเกิดปัญหา สำหรับฝ่ายที่ว่าไม่คำนึงถึงสิทธิอะไรเลยนี่ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ดีแน่ ต้องเกิดปัญหาเป็นอันตรายต่อสังคมมนุษย์ แล้วก็มีตัวอย่างคงจะพอให้เห็น ก็คงไม่ต้องยกมาที่นี้ ทีนี้สุดโต่งในทางตรงข้ามบางทีเราจะหมกหมุ่น แล้วก็คำนึงแต่เรื่องสิทธิเนี่ยซึ่งเป็นเรื่องของการที่ว่าจะได้จะเอา ต้องคอยเรียกร้องคอยพิทักษ์สิทธิของตนเอง ซึ่งมีในบางประเทศเหมือนกัน อาจจะเป็นในลักษณะที่สุดโต่ง ก็ขอยกตัวอย่าง อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีความโน้มเอียงในด้านนี้อยู่พอสมควร จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกก็มีความโน้มเอียงอยู่ ในการที่ว่าเป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อกันเพียงเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิ ถ้าหากว่าอย่างนี้อะไรเกิดขึ้น แต่ละฝ่ายก็จะเอาให้แก่ตนให้มากที่สุด จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งก็เพราะเป็นสิทธิของเขา แต่ฉันก็ต้องรักษาสิทธิของฉันด้วย
เช่นว่า พ่อแม่ก็อาจจะดูว่า ลูกนี้มีสิทธิแค่ไหนทำให้แค่นั้น อย่าให้มาละเมิด อย่าให้มากระทบสิทธิของฉันในการพักผ่อน หาความสนุกสนานบันเทิง เราเรียกว่าสิทธิใน lecture ถ้าพ่อแม่คิดอย่างนี้ การเลี้ยงลูกจะเป็นอย่างไร ก็เลี้ยงไปตามสิทธิ ต่างฝ่ายต่างจะเอาจากกันให้มากที่สุด และคอยปกป้องพิทักษ์สิทธิของตน ลูกก็ต้องคอยพิทักษ์สิทธิของตน ว่าพ่อแม่ให้ฉันครบหรือเปล่า ถ้าไม่ครบฉันก็เรียกร้อง มาละเมิดต่อฉันไหม ฉันจะฟ้องตำรวจ ซึ่งเวลานี้ในสังคมอเมริกันเป็นมาก พ่อแม่ทำอะไรลูกนิดหนึ่ง ลูกก็อาจจะโทรศัพท์ไปฟ้องตำรวจหรือว่าไปฟ้องครู ให้ครูเรียกตำรวจมาจับพ่อแม่ ซึ่งเวลานี้เป็นปัญหาและก็เป็นมาหลายปีแล้ว เวลานี้สังคมอเมริกันก็รู้กันพอสมควรว่าเป็นสังคมที่ครอบครัวแตกสลายแล้ว สถาบันครอบครัวนี้แทบจะดำรงอยู่ไม่ได้ แล้วก็ถือกันว่าสถาบันครอบครัวนั้นเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมมนุษย์ ถ้าหากว่าครอบครัวแตกสลายแล้วก็เป็นภาวะเตือนภัยสำหรับสังคมนั้น ฉะนั้นเวลานี้อเมริกาก็ขาดความมั่นใจมากในสังคมต้น ๆ คือเรื่องนี้ก็ต้องรู้กัน คือบางคนอาจจะไปนึกว่าสังคมอเมริกานี้เป็นสังคมที่เรียบร้อยดีงาม ถ้าหากว่าเข้าใจอย่างนั้นก็ ก็อาจจะต้องใช้คำรุนแรงว่าเป็นคนที่หูป่าตาทึบ คือไม่รู้ทัน ความจริงนั้นสังคมอเมริกันก็อยู่ในภาวะที่ง่อนแง่นพอสมควร ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้เข้าใจภาวการณ์เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อได้ถูกต้อง ก็เอาเป็นว่าระวังอย่าให้ไปสุดโต่ง 2 อย่าง โดยที่เราจะต้องมีความตระหนักในวัตถุประสงค์ที่แท้ของการที่ต้องมีสิทธิมนุษยชน ซึ่งในที่นี้หมายถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
[22:35] ถ้าเรามองโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ว่า การมีขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันที่จะช่วยเป็นพื้นฐานให้มนุษย์เนี่ย ได้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามสังคมที่มีสันติสุขแล้ว เราก็ไม่หยุดอยู่แค่เรื่องของการมีสิทธิ ใช้สิทธิ พิทักษ์สิทธิ รักษาสิทธิ แต่เราใช้สิทธินี้เป็นหลักประกันพื้นฐานอย่างที่ว่า เป็นฐานที่เราจะก้าวไปสู่สังคมที่ดีงามกว่านั้น ก็อาจจะเรียกว่าเราก้าวขึ้นไปสู่สังคมแห่งการเอื้ออาทรต่อกัน สังคมอย่างนี้แหละจึงจะอยู่ได้และมีสันติสุขที่แท้จริง ถ้าหากว่าเราไม่พิจารณาในแง่นี้ บางทีการใช้สิทธิ พิทักษ์รักษาสิทธินี้ ก็อาจจะเขวคลาดเคลื่อนเพี้ยนออกไป ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาจากการใช้สิทธิที่เอากฎหมายหรือกติกานั้นมาเป็นหลักสำคัญ เช่น เพื่อนบ้านคอยระวังอีกฝ่ายหนึ่งจะมาละเมิดสิทธิของกันและกัน แล้วก็พอละเมิดหรือมีข้ออ้างหรือมีข้อปรารภนิดหน่อย มีมูลนิดหน่อย ก็ไปปรึกษาทนายนักกฎหมาย เพื่อยกเป็นคดี แล้วก็ฟ้องกันในศาลเพื่อเรียกเงินกับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเวลานี้ในประเทศอเมริกาก็ได้เกิดมีแล้ว มีทนายความบางคนนี้ติดป้ายรับปรึกษาความฟรี เขาใจดีมาก ในสังคมอเมริกันนั้นปกติมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะมาว่าความให้ฟรี แม้แต่ว่าไปปรึกษาด้วยถ้อยคำวาจาพบนิดหน่อยก็เรียกเงินมากมายแล้ว อันนี้มีการรับให้บริการปรึกษากฎหมายฟรี ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าปรึกษาแล้วก็จะได้มาพิจารณาตั้งคดีขึ้น เพราะถ้าคุณมีข้อขัดแย้งกับเพื่อนบ้านก็มาปรึกษาฉันนะ แล้วก็มาดูสิว่าเรื่องของคุณนี้ ตั้งเป็นคดีได้ไหม ถ้าตั้งเป็นคดีก็ขึ้นศาลว่าความ ในกระบวนการนี้จะไม่เอาเงิน ไม่เรียกร้องเงินจากคุณ แต่ว่าเมื่อคดีนั้นตัดสินแล้ว ถ้าคุณชนะคุณได้เงิน แบ่งกับฉันครึ่ง ก็ไปจบที่นี่ ก็คือไปจบที่ผลประโยชน์นั่นเอง อันนี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการที่ว่า ถ้าเราอยู่กันใช้เพียงสิทธิแล้ว แล้วจิตใจปรับไม่ถูกต้อง ก็จะต้องเกิดปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน
ฉะนั้นมนุษย์เรานี่คงไม่ได้อยู่แค่นี้ ในด้านหนึ่งนั้นสิทธิเป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญงอกงาม วิวัฒนาการของสังคม การมีอารยธรรม ด้านหนึ่งเราจะพูดว่า โอ้สังคมอะไรกันแม้แต่แค่สิทธิพื้นฐานก็ยังไม่มี นี่แสดงว่าสังคมอย่างนี้ก็เป็นสังคมที่ด้อยอย่างมาก ขาดวัฒนธรรม ขาดความเจริญ ไม่มีความเป็นศิวิไลซ์ แต่อีกด้านหนึ่งเราก็อาจจะพูดตรงข้ามว่า โอ้สังคมอะไรกันอยู่กันได้แค่รักษาสิทธิเท่านั้นหรือ จะเป็นสังคมที่ดีงามกว่านี้ไม่ได้เลย จึงได้กล่าวว่า จะต้องระวังเรื่องสุดโต่ง 2 อย่าง แล้วเราก็ไม่หยุดอยู่แค่การมีสิทธิเท่านั้น ก็ต้องก้าวต่อไป การที่มนุษย์จะก้าวต่อไปนั้น ก็กลายเป็นว่ามนุษย์จะอยู่เพียงด้วยกฎเกณฑ์กติกาไม่ได้ กฎเกณฑ์กติกานั้นเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม เป็นของดีจริง ๆ สังคมใดไม่มีกติกา ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีกฎหมาย ก็เป็นสังคมที่ป่าเถื่อน เราก็ต้องมีกรอบอยู่ แต่ก็อย่างว่าแหละ เพียงแค่นั้นก็ยังไม่พอ มันจะต้องมีทั้ง 2 ด้านมารับซึ่งกันและกัน ก็คือด้านนามธรรมซึ่งขาดไม่ได้
ในสังคมอเมริกันนั้นยังมีปัญหาตัวอย่างอีกเยอะแยะไป ในการเสมอภาคกันตามกฎหมาย เมื่อเสมอภาคกันแล้ว ก็ต้องการให้สังคมนั้นมีเอกภาพ อย่างเช่น ระหว่างคนผิวขาวผิวดำ เป็นต้น ก็ออกกฎหมายมามากมายเพื่อจะรักษาสิทธิ แล้วก็ให้เกิดความสันติภาพ แต่กฎหมายก็คือแค่กฎหมาย เป็นเพียงรูปแบบไม่สามารถจะเชื่อมจะประสานใจคนได้ ทั้งที่จะออกกฎหมายมามากมาย ก็ไม่สามารถทำให้คนขาวกับคนดำนี้ เข้ามาประสานเป็นอันเดียวกัน มีแต่หนังสือที่ออกมากล่าวว่า รอยแยกระหว่าง 2 ผิวนี้ยิ่งห่างกันออกไป ฉะนั้น เราจะต้องคำนึงไว้เสมอว่ากฎเกณฑ์กติกาเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะสมานมนุษย์หรือประสานเขาให้อยู่ในสามัคคีที่แท้จริง ในการที่โลกจะอยู่ดีนั้นจะต้องมีความประสานกลมกลืน มีความสามัคคีปรองดอง มีความเป็นเอกภาพ แต่ขณะนี้มนุษย์ยังมีปัญหามาก ว่าจะทำอย่างไรจะสร้างเอกภาพนี้ให้เกิดขึ้นได้ เราใช้สิทธิมนุษยชนเป็นต้นมาเป็นเครื่องมือ เราก็มุ่งหวังว่าเราจะเดินหน้าพามนุษยชาติไปสู่สังคมที่ดีงามร่มเย็นเป็นสุข อย่างที่ว่ามีเอกภาพ แต่ถ้าเราใช้ไม่เป็น มีท่าทีไม่ถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นว่าเราก็จะมาจบกันแค่เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นข้ออ้าง แล้วก็กลายเป็นเครื่องแบ่งแยกกันก็ได้ ฉะนั้นการที่เราจะก้าวต่อไปนี้ เราก็จะต้องมีการพัฒนาคน ฉะนั้นการศึกษาที่แท้จริงนั้นหยุดไม่ได้ อย่างที่กล่าวแล้ว
เราไม่ได้หยุดแค่สังคมที่มนุษย์ไม่ละเมิดต่อกันและก็ไม่ปิดกั้นโอกาสต่อกันเท่านั้น แต่ต้องสร้างกติกาที่ว่าให้โอกาสต่อกัน เอื้อต่อกันด้วย อย่างที่กล่าวว่า ถ้าใช้คำที่บางคนชอบว่าคำว่า เป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทรนั่นเอง
[28:38] สำหรับชาวพุทธนั้น เรื่องสิทธิมนุษยชนก็เป็นเรื่องที่เราคงจะได้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่ดีงาม เรามองในแง่ที่ดีงาม อย่างน้อยก็มาเปรียบเทียบกันเรื่อง ศีล 5 เราจะเห็นว่าศีล 5 นั้นก็เป็นหลักประการสำคัญ ถ้าหมู่มนุษย์ประพฤติอยู่ในศีล 5 มันก็มีสิ่งที่เขาเรียกว่าสิทธิมนุษยชน ถ้าเรามองให้ละเอียดลงไป แยกแยะ เราจะเห็นว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาตินั้น ข้อโน้นข้อนี้ที่ได้กระจายไปละเอียดนั้นก็ ก็อยู่ในขอบเขตของศีล 5 เสียมากมาย หรือพ้นจากนั้นไปก็มีเช่นอย่างเรื่อง ทิศ 6 เป็นต้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น การทำงานอะไรเงี้ย ก็เป็นข้อดีที่ว่า เออถ้าหากว่าหลักการเหล่านี้ซึ่งเป็นเพียงคำสอน เราไม่ได้มาวางเป็นกติกาของสังคมกันให้ชัดเจน แล้วมีผู้นำมา หนึ่งวางเป็นกฎกติกาให้ชัดเจนลงไปที่จะต้องปฏิบัติ มีมาตรการในการที่จะควบคุมดูแลก็ยิ่งดีใหญ่ ก็เป็นการสนับสนุนนี้ สนับสนุนให้ศีล 5 นี้มีผลจริงขึ้นมาในสังคม นอกจากวางเป็นกฎเกณฑ์และมีผลชัดเจนแล้วก็ ประการที่สองก็คือว่า ยังแยกแยะรายละเอียดต่าง ๆ ให้เห็นชัด เช่นอย่างข้อที่ 1 ศีลในเรื่องการไม่ละเมิดกับชีวิตและร่างกาย ว่าเราจะเอาอย่างไรเป็นข้อย่อย อาจจะแยกจากศีลข้อเดิมไปตั้ง 4-5 ข้อก็ได้ หรืออย่างทรัพย์สินก็แยกแยะออกไป แล้วพูดซะให้ชัดให้เหมาะกับยุคสมัย เพราะว่าศีลศีล 5 นั้นก็เป็นกลาง ๆ ว่า 1) ไม่เบียดเบียนชีวิตร่างกาย 2) ไม่ละเมิดทรัพย์สิน แต่ว่าในแต่ละยุคสมัยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือลักษณะอาการความเป็นไปของสิ่งเหล่านี้นั้นไม่เหมือนกัน ต้องวางให้มันเหมาะสม เป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนลงไป ที่จะปฏิบัติได้จริงในกาลเทศะนั้น ก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น
อันนี้ก็ยกเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเรื่องของสิทธิมนุษยชนนี้ ขยายขอบเขตกว้างขวางได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น แล้วก็การกำหนดเป็นสิทธิมนุษยชนนี้ ให้ได้ความรู้สึกความเข้าใจ อย่างหนึ่งก็กลายว่าเป็นเหมือนกับว่าสิ่งนี้เป็นสมบัติของคน คือของตัวแต่ละคนเขาไปใช้เป็นข้ออ้างได้ ถึงแม้จะเป็นเพียงว่าเราไม่ไปละเมิดเขา แต่มองในแง่สิทธิมนุษยชนได้ว่าเขานั้นมีสิทธิ ก็คือเขามีสิ่งที่จะใช้อ้างต่อสังคมต่อผู้อื่น เช่นในทางกฎหมาย เป็นต้น ฉะนั้นก็ได้ประโยชน์ แต่ว่าอย่างที่กล่าวแล้วก็คือว่าเราอย่าหยุดแค่นี้ และถ้าเทียบกับพระพุทธศาสนาที่ว่าเหมือนกับหลักศีล 5 หรือทิศ 6 เนี่ยเราก็จะเห็นชัดว่า ศีล 5 และทิศ 6 นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพียงพอแต่เป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งจำเป็น เป็นขั้นพื้นฐาน หรือเป็นหลักประกัน เป็นมาตรฐานของสังคม อย่างน้อยที่จะให้โลกนี้อยู่กันได้ดี ไม่ลุกเป็นไฟ และแต่ละคนมีโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตให้เข้าถึงสิ่งที่ดีงามสูงขึ้นไปแต่การที่จะเข้าถึงชีวิต สังคมที่ดีงามสูงขึ้นไปได้รับประโยชน์แห่งชีวิตนี้นั้น เรายังมีข้อปฏิบัติอื่นที่จะต้องทำต่อไปอีกมาก ก็คือเราต้องก้าวไปเรื่องศีล 5 หรือทิศ 6 เรื่องอบายมุข เหล่านี้ขึ้นไปพัฒนาชีวิตขึ้นไปอย่างที่ท่านเรียกว่า จากศีลแล้วไปสมาธิปัญญา และเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องในระดับที่เราเรียกว่าศีลนั่นเอง แล้วก็ แต่ก็ต้องระวังด้วยเวลาพูดถึงศีลเนี่ยก็เป็นเรื่องของจริยธรรมแล้วก็สิทธิมนุษยชนเนี่ย ที่เป็นมาเนี่ยจะมองเน้นในแง่ของการระวังปกป้องตัวเองไม่ยอมให้ผู้อื่นมาละเมิด คล้าย ๆ กับการพิทักษ์สิทธิ เรียกร้องสิทธิ เป็นต้น เมื่ออยู่ในลักษณะเนี้ย ท่าทีก็จะเป็นลักษณะจริยธรรมในเชิงลบ ซึ่งจะต้องระวัง คือจะต้องมีการพัฒนาให้เป็นจริยธรรมเชิงบวกให้ได้ เป็นจริยธรรมเชิงสร้างสรรค์ ก็เป็นอันว่าในที่นี้อาตมาก็กล่าวโดยทั่วไปว่า
สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นหลักประกันพื้นฐาน ที่จะช่วยให้สังคมชีวิตมนุษย์นี้มีความดีงาม มีสันติสุข แต่ว่าเราอย่าหยุดแค่นี้ แล้วเราก็เอามาใช้ประโยชน์สนองวัตถุประสงค์ที่ดีงามที่ถูกต้องด้วย
แล้วการที่มนุษย์จะสามารถรักษาสิทธิมนุษยชนนี้ไว้ได้ก็ดี ในการที่เขาจะก้าวเป็นฐานของสังคมที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นมาตรฐานแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มสังคมแห่งการเอื้ออาทรกันก็ดี เราจะต้องอาศัยการพัฒนามนุษย์ ที่เราเรียกว่าการศึกษา อย่างที่กล่าวมา ก็อาตมาก็คงจะกล่าวเรื่องสิทธิมนุษยชนวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ก็ขออนุโมทนาทางท่านอาจารย์ที่ได้ให้โอกาสได้พูดในเรื่องนี้ด้วย ขอเจริญพร