แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
กราบขออนุญาตถามคำถามเนื่องด้วยตรงนี้กับหลวงพ่ออีกนิดนึงครับ และกราบขอโอกาสเพื่อนพระนวกะนิดนึง อยากจะ กระบวนการทำงานตรงนี้ครับ ผมอยากจะสอบทานตามความเข้าใจที่ผมปฏิบัติมานิดนึงครับ หลวงพ่อครับ คือตอนนี้เจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นหลักอยู่ เสร็จแล้วเนี่ย ความเข้าใจของผมในขณะเจริญสติ มันเกิดความเข้าใจขึ้นในโพชฌงค์ขึ้นตรงที่ว่า ตัวสติตัวแรกในโพชฌงค์คือสติสัมโพชฌงค์ มันก็มาจากการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งต่อเนื่องลงมานี้ ก็คือธัมมวิจยะนี้ ก็คือการพิจารณาสภาวธรรม ที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เมื่อพิจารณาสภาวธรรมไปในกาย เวทนา จิต ธรรม นี้ ก็เป็นธัมมวิจยะตรงนั้น แล้วก็เพียรทำไปเรื่อย ๆ ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ แล้วก็ปีติ ปัสสัทธิ รวมถึงสมาธินี้ก็จะเกิดตามมา แล้วท้ายที่สุดถ้าเรารู้ลงได้ด้วยความเป็นกลางก็เกิดอุเบกขา ทีนี้เนี่ย ความเข้าใจที่ผมยังเข้าใจต่อเนื่องไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าถูกหรือเปล่าก็คือว่า ถ้าเราหมั่นทำตัวสติปัฏฐานไปเรื่อย ๆ ก็จะเจริญให้องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้คือโพชฌงค์นี้เจริญขึ้นมาด้วย แล้วเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมเนี่ย ตัวอินทรีย์ทั้ง ๕ ก็คือ ศรัทธา วิริยะ สติ แล้วก็สมาธิ กับปัญญาเนี่ย เมื่อมันคลิกรวมกันเมื่อไหร่ ก็จะเป็นสภาวธรรมที่ทำให้เราสามารถรู้แจ้งเห็นจริงได้ตรงนั้น นี่มันมีข้อที่ยังคาดเคลื่อนไปตรงไหนหรือเปล่าครับ ถ้าเกิดว่าผมจะเข้าใจองค์ธรรมที่เนื่องด้วยกันอย่างนี้ ๓ อย่างนี้ครับ
ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ คือพูดรวม ๆ เนี่ย เราปฏิบัติในชุดไหน เอาชุดสติปัฏฐานเป็นหลัก เวลาปฏิบัติไป ก็เรียกว่าเจริญใช่ไหม เจริญสติปัฏฐาน ก็คือภาวนา มันเจริญมันก็พัฒนาไปหมดสิ องค์ประกอบ องค์ธรรม ตัวส่วนย่อยน่ะ มันก็พัฒนาไปด้วยกันหมดเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ทีนี้เวลาเราไปพูดบอกโพชฌงค์เนี่ย ก็หมายความว่าใช้กันเลย การที่จะพัฒนาไปด้วยกันในกระบวนการหรือองค์ธรรมย่อย มันก็เป็นธรรมดาอยู่แล้ว เมื่อเราปฏิบัติในกระบวนไหนมันก็พัฒนาไปด้วยกัน เพราะมันเป็นส่วนย่อยอยู่ในนั้น แต่ว่าทีนี้อย่างในโพชฌงค์ก็คือทำตรงไปตรงมาในแง่ที่เรียกว่าโพชฌงค์ ท่านก็ยกตัวอย่างเช่นว่า สติโพชฌงค์ก็หมายความในกรณีนั้น ใช้กระบวนการแบบที่เรียกว่าโพชฌงค์ ๗ เหมือนกับเดินไปตามสายของมันเลย ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง ยกตัวอย่าง ภิกษุได้เรียนธรรมมาแล้วนี้ ฟังพระสูตรหรือว่าอาจารย์สอน ไปนั่งในที่สงัดหรือโคนไม้ นึกถึงทบทวนระลึกถึงหลักธรรมคำสอนที่ได้เล่าเรียนมานั้น หรือที่ไปอ่านพระสูตรอะไรก็แล้วแต่นะ นั่นสติแล้ว นี่ดึงมา ดึงมา ผมบอกไว้แล้วดึงมาดึงไว้ ตอนนี้ดึงมาแล้ว มันอยู่ในความจำ ดึงเอามา ข้อธรรมอันนี้ที่เราเรียนตรงนี้ เป็นที่น่าสนใจ เราก็ดึงเอามา นี่เรียกว่าสติเริ่มต้น สติเราดึงเรามีจุดหมายแล้วนี่ ก็เพื่อเราจะมาพิจารณา เราจะมองเราจะศึกษา พอเราดึงมาปั๊บ ปัญญาก็ทำงาน นี่แหละธัมมวิจยะ ก็พิจารณาไตร่ตรองเฟ้นคั้น อะไรต่าง ๆ พยายามหาความหมายให้เกิดความเข้าใจให้มันชัดเจน เฟ้นเค้นให้มันชัด จะวิเคราะห์ จะอะไรก็แล้วแต่ อยู่ในนี้หมด ก็คือหาความเข้าใจ หาความชัดเจนให้มันเกิดขึ้น หรือแม้แต่สถานการณ์อะไรสักอย่างนึกขึ้นมาแล้ว มองให้เห็นแง่มุมที่มันเป็นความจริง ทำให้เราเห็นความจริงเกี่ยวกับมัน เห็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมันชัดขึ้นมา ตอนนี้เป็นธัมมวิจยะ ก็คือต่อจากสติ สติมันดึงมา เหมือนกับมันมารับใช้ปัญญาอยู่แล้วใช่ไหม เราเอามาเพื่อให้เจ้าปัญญานี้ทำงาน พอปัญญามันทำงาน มันเห็นแง่มุมอะไรชัดเนี่ย จิตมันมีทางไป เหมือนกับเรามองเห็นทางเนี่ย จิตคนเรานี่ ถ้ามันไม่มีอะไร มันเฉยต่อไป มันนิ่ง หรือมันอั้น มันก็วน แล้วมันก็เฉื่อย แล้วบางทีก็อัดอั้น ก็อึดอัด เป็นทุกข์ แต่พอปัญญามันมานะ มันมองเห็นละ เช่น ทางไปหรือแง่มุมที่จะใช้ประโยชน์ พอมันเห็นเท่านั้นแหละครับ อย่างเห็นทางไป จิตเนี่ย พอมันเห็นทางไป มันก็อยากไปเลย วิริยะมาทันทีเลย พอมองเห็นทางไป เห็นช่อง เห็นแง่ไป กำลังเกิด กำลังที่จิตมันจะเดิน จิตเหมือนเดินได้แล้วตอนนี้ ไม่งั้นจิตมันอั้น ถ้าจิตอั้นนี้ทุกข์ จิตวก จิตวน จิตอั้น อึดอัด ติดขัด คับข้อง นี้ทุกข์ ทีนี้ พอปัญญาเปิดทาง ปัญญาเป็นตัวเปิดช่องให้ เห็นทางไปแล้ว จิตมันมีทางไป มันก็มีกำลังที่จะเดิน ที่จะมุ่งไป นี่วิริยะมาแล้ว วิริยะความเพียรก็เกิด กำลังมาแล้ว จิตเกิดกำลัง กำลังวิริยะมันแปลว่าการก้าวไป ความเพียรนี้หมายถึงการที่จะเดินหน้า เพียรนี้ความหมายท่านมุ่งไปที่การเดินหน้า จิตเดินหน้าได้แล้ว เอาละ ปัญญามันบอกให้ มันส่องให้เห็นว่าเดินได้ วิริยะพอมันเดินหน้านะ มันเกิดความสมใจ อันนี้มันเป็นกระบวนการทำงานของจิตเอง มันสมใจที่มันไปได้ใช่ไหม กำลังมันมีแล้วมันเดินหน้าไป พอเดินหน้าไปมันสมใจ ปีติเกิดเลย อิ่มใจ ปลื้มใจ ปีติเกิดขึ้น ปลื้มใจ สมใจแล้ว ปัสสัทธิ สงบลงได้ ตอนนี้ผ่อนคลายหมด ถ้าจิตมันอั้นมันไปไม่ได้เนี่ย อึดอัดดิ้นรน ทีนี้พอมันปลื้มใจ มันไปได้ดีแล้ว มันก็สมใจ มันก็ผ่อนคลายสงบ พอมันผ่อนคลายสงบ สุขก็มา พอสุขมาในตอนนี้ก็คือจิตมันอยู่ตัวดีแล้ว มันได้ที่ สมาธิไม่ต้องพูดถึง มันก็จะไปว่า จิตมันลงตัวของมันแล้ว ก็เป็นอุเบกขา อุเบกขาก็คือภาวะที่จิตลงตัว ผมใช้คำว่าสมาธิจิตอยู่ตัว อยู่ตัวละ พอลงตัวก็เป็นอุเบกขา คือทุกอย่างมันได้ที่หมดแล้ว อะไรต่ออะไรมันลงตัวเข้าที่ พอดีอะไรทุกอย่าง มันไม่มีติดขัดอะไรของมัน มันก็เรียกว่าอุเบกขา ภาวะจิตอุเบกขานี่จึงสูงมาก เป็นภาวะจิตที่ดีที่สุด พระอรหันต์จึงมีลักษณะที่จิตอยู่ด้วยอุเบกขาเป็นประจำเลย คือจิตลงตัวนั่นเอง ลงตัวกับโลกและชีวิตเลยในที่สุด คนเรามันไม่ลงตัวก็โลกและชีวิต มันยุ่งไปหมดใช่ไหม นี่มันลงตัวไม่ได้ พอดีปัญญาไปถึงจุดหนึ่งเนี่ย ลงตัวหมดเลย ทุกอย่างเข้าที่ของมันหมด นี่ภาวะจิตที่เป็นอุเบกขา แม้แต่เวลาจิตทำงานในระบบโพชฌงค์ ๗ นี้ ในช่วงสั้น ๆ ก็จะไปตามกระบวนการเอง จิตมันเดินหน้าไปได้ดีแล้ว สมใจมัน มันก็สบาย มันก็สงบ มันไม่มีอะไรที่จะต้องปรับต้องจัด ลงตัวเดินหน้าไปดี เหมือนอย่างที่เขาเคยอุปมา ท่านอุปมาอุเบกขาเหมือนคนขับรถสารถีที่ชำนาญ ถ้าคนขับรถไม่เป็น ไม่เก่งนะ ใจไม่สบายเลย จะออกรถ จะอะไรต่ออะไร รถวิ่งไป ใจไม่ดีเท่านั้น เป็นห่วงเป็นกังวล เป็นอะไรต่ออะไรใช่ไหม ทีนี้พอชำนาญขับรถ ก็ขับรถเข้าไป เข้าที่ เข้าทาง ปรับความเร็วให้ได้พอเหมาะอะไรแล้ว พอทุกอย่างลงตัวแล้วตอนนี้ ก็คือความชำนาญนี้มันรู้หมด ปัญญามันอยู่ ปัญญามันเป็นตัวทำให้จิตลงตัวได้ พอมันชำนาญรู้เข้าใจทันหมด ถ้าจะมี ตอนนี้รถวิ่งความเร็วเท่านี้พอดี เข้าอยู่ในทาง ขับอย่างนี้ดี แต่ว่าถ้าจะมีการผิดเพี้ยนหรือจะเกิดอะไรขึ้นเนี่ย จิตที่มีปัญญาพร้อมอยู่นี้ มันมีความพร้อมความไวที่จะแก้ไขใช่ไหม มันก็เกิดความมั่นใจตัวเอง เพราะฉะนั้นคนที่ชำนาญขับรถ พอวิ่งรถเข้าทางเข้าที่ได้ความเร็วพอดีแล้ว จิตมันก็ลงตัว จิตลงตัวนิ่ง อะไรทำนองนี้นะ ก็วิ่งรถสบาย เหมือนกับคนที่มีจิตเป็นอุเบกขา ถ้าเทียบเหมือนกับสารถีที่ชำนาญและขับรถวิ่งเข้าที่ด้วยความเร็วพอดี จิตเป็นอุเบกขาไปสบาย ถ้าจะมีอะไรต่ออะไรก็แก้ไขได้ทันการณ์ ไม่เหมือนคนที่ขับรถยังไม่เป็น จิตใจก็ไม่สบาย จิตมันลงตัวไม่ได้ นี่มีปัญญาก็หมายความเหมือนกับเรานี้อยู่ในโลกนี้ เราก็เดินทางไปในวิถีชีวิต จิตเราลงตัวหมดใช่ไหม ความรู้เข้าใจชีวิตอะไรต่ออะไรมันลงตัว วางใจได้เลยสบาย ก็เป็นอุเบกขา จะเจออะไรต่ออะไรก็เป็นอุเบกขาหมด ที่มีความเป็นอุเบกขาลงตัวอย่างนั้นได้ เพราะปัญญามันมีอยู่ ความรู้เข้าใจมันพร้อมหมด ต้องเป็นอิสระด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าอุเบกขานี้เป็นสภาพจิตที่เป็นพื้นของพระอรหันต์ จึงสูงมากนะ โพชฌงค์นี้ไปอยู่ข้อสุดท้ายเลย คล้าย ๆ มันบอกในตัวว่าตอนนี้มันมีอะไร ปัญญาก็พร้อม สมาธิก็มี องค์ธรรมอะไรต่ออะไรก็อยู่ในนั้น ทำงานก็ได้พอดีลงตัวหมดแล้ว หมายความว่าองค์ธรรมทุกอย่างมันทำหน้าที่ของมันหมด จัดปรับได้พอดีหมดเลย ก็เลย จิตก็อยู่ในภาวะอุเบกขา เหมือนกับว่าไม่รู้มันทำงานยังไง อย่างคนที่ขับรถใช่ไหม แต่จะมีอะไรขึ้นมาปั๊บ มันทันทีเลย อ้าวแล้วมันมายังไง ความพร้อมอันนั้น เนี่ย ความพร้อมที่มันลงตัวพอดี มันพร้อมอยู่เลยใช่ไหม ความพร้อมนั้นมายังไงน่ะ เกิดอะไรขึ้นมามันก็จัดการได้เลย เหมือนกับจิตของพระอรหันต์ที่ว่าลงตัวหมดเลย อะไรต่ออะไรนั้น เวลาเราดูเฉย ๆ ดูไม่ออก แต่มันมีความลงตัวของมันอยู่ อะไรเกิดขึ้นมันก็ปฏิบัติของมันไปเองได้ อธิบายยากเลยตอนนี้ ใช่ไหม เหมือนกับในชีวิตประจำวัน ท่านไปอธิบายยังไงล่ะ คนที่ขับรถเก่งจนกระทั่งลงตัวอย่างนี้ แล้วจิตมันทำงานยังไง มันก็พร้อมของมันอย่างนั้น ใช่ไหม ท่านก็เลยใช้วิธีอุปมา เป็นประโยชน์ดีไหมเมื่อจิตเป็นอุเบกขา ดีแน่ใช่ไหม ดี ฉะนั้นจึงเหนือกว่าสุขอีก สุขยังสู้ไม่ได้ สุขสู้อุเบกขาไม่ได้ ทีนี้ผู้ที่มีอุเบกขาอย่างนี้แล้วเนี่ย จะเสวยสุขก็เสวยได้เต็มที่ มีจิตเป็นพื้นเป็นอุเบกขาลงตัวอย่างนี้ พอต้องการจะเข้าฌานก็เข้าฌาน ลงตัวไปด้วย จะฌานก็ลงตัวไปด้วย ก็เลยเป็นฌานพิเศษไม่เหมือนปุถุชน ปุถุชนเข้าฌานก็เข้าฌานไป จิตก็อยู่ระดับสูง แต่มันก็ไม่เหมือนจิตพระอรหันต์ที่เข้าฌาน มันได้ผลไม่เต็มที่ ได้ประโยชน์จากฌานไม่เต็ม ถ้ามีแง่มุมอะไรก็นิมนต์ครับ แล้ว ๆ เดี๋ยวผมตอบรึยังที่พูดไปนี้ ทีนี้มีแง่อะไรจะถามต่อ นิมนต์
ขอความยืนยันจากหลวงพ่อหน่อยครับ ไม่ทราบว่าในการปฏิบัติธรรมตามที่หลวงพ่อได้กล่าวมาในการปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ และก็โพชฌงค์ ๗ ประการ ที่รวมทั้งหมดเป็นโพธิยะ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้น่ะครับ ถ้าเกิดเราปฏิบัติตามนั้นไปเรื่อย ๆ เป็นประจำอยู่แล้ว บุคคลที่ไม่ได้โน้มจิตที่จะไม่อยากเกิดอีก บุคคลที่ไม่ได้โน้มจิตว่าไม่อยากเกิดอีกนี่น่ะครับ มีสิทธิ์ที่จะบรรลุ
ก็ไม่ต้องไปโน้มจิตโน้มจิตมันเลย เราก็ปฏิบัติไปโดยที่อยู่กับความเป็นจริงนี้ พอจิตมันถึง มันก็เกิดปัญญามารู้เข้าใจ มันก็ปัญญาปรับจิตเอง ปัญญานี้เป็นตัวปรับจิต พอเรารู้เข้าใจอะไรเนี่ย จิตมันเป็นไปเองครับ อ้าว เคยอุปมาให้ฟังนะ มีคนเอาทองคำมาแท่งหนึ่ง หรือเอาเป็นทองแท่ง หรือทองรูปพรรณ เป็นแหวน เป็นสร้อย อะไรก็แล้วแต่มาเนี่ย เอามาแล้ว ทีนี้ก็ใจเรายังมีกิเลสใช่ไหม โลภ เราจะบอกว่าไม่โลภได้ไหม จิตอยากเนี่ย มันก็อยากได้ใช่ไหม มันก็ฝืนไม่ได้ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นใช่ไหม มันก็เป็นไปของมันตามเหตุปัจจัย เพราะเราอยากมีปัจจัยก็คือโลภ อ้าวทีนี้มันเป็นเพียงอุปมานะ ไม่ใช่ของจริง แต่ว่าจะให้เข้าใจ เกิดรู้ขึ้นมาอีตาคนนี้เอาทองเก๊มา พอรู้เท่านั้นแหละครับ ใจอยากไหม อ้าวแล้วความอยากหายไปไหน บังคับใจให้อยากได้ไหม ไม่ได้อีกใช่ไหม ปัญญามันรู้แล้ว เกิดรู้แล้วมันเป็นไปเองเลย เปลี่ยนจิตไปแล้ว ทำไงก็ บอกให้มันอยาก มันก็ไม่ยอมอยาก ถูกไหม ไม่รู้จะทำไง เป็นไปเอง ถ้าปฏิบัติไปถึงจุด ปัญญามันเกิดขึ้นแล้ว จิตมันก็ไปตามปัญญานั่นแหละ ไม่ต้องไปห่วงมัน ก็เนี่ย ที่ว่าไม่ยึดมั่นเนี่ย ถึงได้บอกว่าระวังนะ อย่าไป คนปุถุชนเนี่ย บอกว่าไม่ยึดมั่นเนี่ย เตือนกันอยู่เรื่อย เดี๋ยวจะยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น ก็ถือความไม่ยึดมั่นของตัวนี้ มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เอาความไม่ยึดมั่นมายึดไว้ ถ้าเป็นความไม่ยึดมั่นที่แท้เนี่ย เป็นไปเอง จิตมันไม่ยึดของมันเอง เหมือนอย่างกรณีทองคำเมื่อกี้ ทองจริงทองเก๊นั่นแหละ นี้ก็ คนเรานี้ไปฟังท่านสอนมาก็เชื่อเห็นด้วยโดยเหตุผลทั่วไป ความยึดมั่นนี่มันไม่ดีนะ มันเกิดโทษอย่างนั้น ๆ แล้วเราก็มองตามเหตุผลที่ท่านว่ามันก็จริงตามว่า งั้นต่อไปนี้เราจะไม่ยึดมั่นแล้ว กลับไปบ้านก็ไม่ใช่บ้านของเรา รถยนต์นี่ก็ไม่ใช่ของเรา เงินทองก็ไม่ใช่ของเรา ไม่เอาใจใส่มันเลย ตอนนี้ก็คือยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น ความไม่ยึดมั่นเงิน ไม่ยึดมั่นรถ ไม่ยึดมั่นบ้าน มันเป็นความไม่ยึดมั่นในความยึดมั่นของเรา ใช่ไหม มันไม่ใช่ความไม่ยึดมั่นที่แท้จริง ถ้าความไม่ยึดมั่นที่แท้จริงก็คือปัญญามันรู้เข้าใจว่าสิ่งนี้มันก็เป็นของธรรมชาติ มันก็เกิดของมัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็ เมื่อมันเป็นของมีอย่างนี้ มันมีเพื่อประโยชน์อะไร เราก็ใช้ไปตามนั้น แต่ถ้ามันมีอันเป็นไป ใจเรารู้เข้าใจ เราก็ไม่ทุกข์เพราะมัน อะไรอย่างนี้นะ อย่างนี้เรียกว่าไม่ยึดมั่น เหมือนกับเอาทองมาเนี่ย ก็ที่ว่านะ ใจเรายังมีโลภอยู่ ก็จะฝืนยังไง จะบอกฉันไม่ยึดมั่น ความไม่ยึดมั่นอันนั้น ก็เป็นเพียงความไม่ยึดมั่นในความยึดมั่นเท่านั้นแหละ ก็ได้แค่นั้น ทีนี้ถ้าคนปุถุชนก็หมายความตอนนี้รู้แล้วว่าทองนี้เก๊ ไม่ใช่ของจริง มันก็หลุดเองเลย ปัญญามันก็ทำให้หลุด ทีนี้ว่าสำหรับผู้ที่มีปัญญาถึงขั้นอีกขั้นหนึ่ง ทองเก๊ไม่เก๊ก็มีค่าเท่ากันใช่ไหม ตอนนี้มันก็หลุดจริง ๆ ก็เป็นไปด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นตัวปัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่มันก็เป็นไปเองตามเหตุปัจจัย ตอบหรือยัง ตอบแล้วนะ เรียบร้อยแล้ว งั้นก็เจริญปัญญากันไป เพราะฉะนั้นท่านจึงให้วิปัสสนาให้เกิดปัญญารู้เข้าใจ แล้วก็ไป ๆ มา ๆ มันก็กลายเป็นว่าทุกขณะไปเลย เข้าใจชีวิตที่เป็นจริง แล้วมันก็ไปตอบคำถามเรื่องชาติหน้า ชาติอะไรไปหมด ไปด้วยกัน คุณจะไปพูดชาติหน้ากี่ชาติ ถ้าคุณไม่เข้าใจชีวิตที่เป็นไป จิตใจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนะ คุณก็ไม่มีทางจะชัดเจนได้ ตอนนี้ก็ปฏิบัติไปให้ถึงขั้นที่ว่าคลายความห่วงใย ไม่ต้องห่วงใย แล้วก็ หรือไม่งั้นก็มีความมั่นใจในตนเอง อย่างที่ท่านบอกว่าตั้งอยู่ในธรรมแล้วไม่ต้องกลัวปรโลก นิมนต์ครับ
ผมขอรบกวนเวลาท่านอาจารย์ ท่านหลวงพ่อเพียงแค่นี้ครับ ขอให้พวกเรากราบลาท่านอาจารย์โดยพร้อมเพรียงกัน
วันนี้เอาเท่านี้ก่อน เออ เอาละ พร้อมกันดี ๆ ก็ขอให้ได้ปฏิบัติธรรม ได้ก้าวหน้า ได้ประโยชน์กันทุกท่านนะ เอาละ แต่พอมองเห็นนะ มาบวชนี้ เห็นประโยชน์นะ เห็นแล้วก็ดีละ เอาละครับ โมทนาขอบใจ ไว้นั่น โอเค แล้วก็เดี๋ยวขอโทษเถิด ท่านญาณวชิโร เข่าไม่ดีใช่ไหม แล้วนั่งอย่างนี้ไม่ลำบากแย่เหรอ (พอตอนหลัง ๆ ผมก็ขยับบ่อยครับ) เหรอ แล้วทำยังไงดีล่ะ ก็ต้องอย่ามัวเกรงใจนั่งนะ ให้ได้ประโยชน์ด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวทุกขเวทนามันมารบกวน ทำให้การฟังอะไรต่ออะไรเสียสมาธิ เพราะจิตดิ้น พอมีทุกข์แล้วมันดิ้น ทีนี้จะมีทางแก้ยังไง เช่น นั่งขัดสมาธิ (ผมคิดว่าคราวหน้าถ้ามีโอกาสมา ผมก็ขอนั่งพิง) เหรอ ออ ๆ ไหวนะ ไม่งั้นก็เอาแบบนี้ (ไม่ต้อง) ไม่ต้องนะ เออ ๆ เอาละ ก็พอเอาให้ได้สัปปายะนะ เพราะการนั่งนั่นก็อิริยาบถสัปปายะ อิริยาบถที่มันเกื้อหนุน ไม่งั้นท่านก็เสียสัปปายะข้อนี้ ก็จะทำให้ไม่ได้ผลเต็มที่ เอาละครับ