แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ :ทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยตัวดิฉันเองและท่านที่ปรึกษาบุญนำ ทานสัมฤทธิ์ และคณะ ได้พยายามที่จะดำเนินการหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรพระพุทธศาสนา ทำชุดฝึกอบรม ฝึกอบรมครูและวิทยากรทีมงาน จึงได้คิดว่ามีเวลาที่จะมากราบท่านเจ้าคุณเป็นระยะๆ เพื่อที่จะเล่าให้ฟังถึงความคืบหน้าในการดำเนินงาน เผื่อว่าท่านเจ้าคุณจะมีข้อแนะนำประการใดก็จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมนะคะ คือนอกจากอยากจะกราบเรียนให้ท่านทราบถึงความคืบหน้าของการทำหลักสูตรพุทธศาสนาซึ่งท่านพระครูปลัดก็ได้กรุณาไปร่วมคณะในการพัฒนาหลักสูตร แล้วก็ได้ทำชุดฝึกอบรมครูและก็วิทยากรทีมงานลุล่วงไปแล้ว 4 รุ่น เป็นจำนวนประมาณ 1,000 รูปและคน ตรงนี้ก็คิดว่าจะเป็นแกนในการนำไปขยายผลให้ครอบคลุมทั้ง 175 เขตพื้นที่การศึกษา ให้ทันกับที่หลักสูตรพระพุทธศาสนาจะใช้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ แล้วก็กำลังดูเรื่องของสื่อต่างๆ ที่มีลักษณะที่ทันสมัย ให้เด็กเรียนวิชาพระพุทธศาสนาแล้วเบื่อ ขณะนี้ทางคณะทำงานอยู่ในช่วงของการทำแบบเรียนหลักให้กับวิชาพระพุทธศาสนา คือให้เด็กมีหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา แล้วก็กำหนดไว้ว่าเรียนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ซึ่งดิฉันก็คิดว่าเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งของการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมนี้ กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกว่าหลักสูตรใหม่นี้ทั่วประเทศ แล้วก็การทำหลักสูตรครั้งนี้ ทางวิชาพระพุทธศาสนาก็เหมือนเป็นต้นแบบ คือเป็นคณะแรกที่มีการพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง อย่างที่ขณะนี้พูดกันว่า 70/30 ก็นำหน้าวิชาวิทยาศาตร์ค่ะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ที่จริงมันก็ควรจะนำ เพราะว่าพูดในแง่จิตใจ ก็ควรจะนำในด้านวัตถุไป หรือจะพูดในแง่ของคุณธรรมความดีก็ควรจะนำในแง่ของการดำเนินชีวิต กิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ ให้มันไปทางที่ถูกต้อง
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ดิฉันก็มีความหวังมากกับการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ ทั้งในแง่ของการพัฒนาสาระให้เป็นระบบ แล้วก็ในแง่ของการฝึกอบรมครู แล้วก็การทำสื่อให้มีชีวิตชีวา ในระยะต่อไปคงจะไปถึงจุดที่ทำสื่อเป็นภาษาอังกฤษ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ในเรื่องพุทธศาสนานี่นะ
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ค่ะ มีความหวังนะคะว่าทำตรงนี้เสร็จปีหน้า ก็จะเริ่มพัฒนาสาระภาษาอังกฤษ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ถ้าเป็นภาษาอังกฤษแล้วเรามีทางไปเชื่อมกับพวกโรงเรียนนานาชาติ ร่วมมือยังไงได้หรือเปล่า เพราะว่าฟังดูบางทีก็เป็นห่วง มีเด็กๆ ที่เรียนโรงเรียนนานาชาติมา ก็เด็กไทยเราก็ไปเรียนกันเยอะ เสร็จแล้วเรียกว่าไม่ได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา เกี่ยวกับเมืองไทยเลย หลักสูตรของเขาก็ต่างหากไปเลย
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ค่ะ นี่ก็เป็นวัตถุประสงค์ของการที่จะพัฒนาสาระพุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ผู้ปกครองที่มีอันจะกิน ก็มักจะนิยมส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ หรือว่าโรงเรียนสองภาษา ถ้าเรามีสื่อเป็นภาษาอังกฤษนี้จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นั่นสิ ถ้าหากว่าสามารถประสานกันได้จะดี ทีนี้ถ้ามาช่วยทางด้านการศึกษาของเด็กด้วย แล้วก็ทัศนคติด้วย เพราะถ้าหากว่าไม่รีบเดินหน้าให้ดี ความภูมิใจในวัฒนธรรม ในสังคมประเทศชาติมันจะยิ่งลดลงไป ความนิยมไปเรียนหลักสูตรต่างประเทศ เรียนนานาชาติ ความรู้สึกไปภูมิใจกับการเป็นต่างประเทศ อะไรไปหมด ก็เลยความรู้สึกในความภูมิใจในวัฒนธรรมในประเทศชาติก็ยิ่งลดลงไป ซึ่งมันจะแผ่ไปถึงเด็กอื่นด้วย เพราะว่าเด็กพวกนี้จะรู้สึกตัวเองภูมิใจ เรียนโรงเรียนนานาชาติ International แล้วเด็กอื่นๆ ก็มองด้วยความรู้สึกว่า เหมือนกับว่าเขาโก้กว่า อะไรอย่างนี้ ตัวเองก็เสียความภูมิใจ มีความรู้สึกเหมือนกับด้อยไปในตัวโดยไม่รู้ตัว ทีนี้ว่าถ้าหากว่าเราสามารถสร้างหลักสูตรที่ให้เด็กเกิดความมั่นใจในตัวเอง ในเนื้อหาการศึกษา ความรู้ ความมั่นใจทางปัญญาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ละก็ จะแก้ปัญหานี้ได้เลย เรื่องเมืองไทยสำคัญตอนนี้ก็คือความเข้มแข็งทางปัญญา เรียกว่าต้องมีความมั่นใจตัวเองในเรื่องนี้ ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องวิชาการอะไรต่างๆ มีความมั่นใจขึ้นมาแล้วก็จะแก้ปัญหาเรื่องความรู้สึกด้อยได้
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : จุดประสงค์อีกประการหนึ่งของการพัฒนาสาระพระพุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษก็คือ ให้เด็กไทยสามารถที่จะเล่าเรื่องราวของคนไทย ของความเป็นไทย ตลอดจนพระพุทธศาสนาให้แก่ชาวต่างประเทศได้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว โดยส่วนตัวดิฉันเองเมื่อครั้งที่จากไปเรียนต่างประเทศ จะเล่าเรื่องของความเป็นไทย หรือเรื่องพระพุทธศาสนานี้เล่าไม่เป็น ไม่รู้ว่าศัพท์อย่างนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษอย่างนี้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เจริญพร อันนี้ก็เป็นกันมานานแล้ว ก็ได้ยินมาเสมอแหละ เพราะว่าของเรานี่เราไม่ได้เตรียมตัว คือเรานึกแต่เพียงว่าเราจะไปเรียน ได้รับของเขามา จากประเทศชาติที่มีการศึกษาวิชาการที่เจริญก้าวหน้า คือนึกแต่ในแง่นี้ แง่ว่าไปรับ ทีนี้ของตัวที่มีดีอะไรก็เลยไม่ทันนึกถึง ถ้าจะให้สมดุลก็ต้องนึกทั้งสองด้าน ไปเอาดีของเขา แต่ต้องมีความดีของตัวที่มั่นใจที่จะไปแสดง หรือไปให้เขา ถ้าสามารถทำได้ ถ้ามีสองด้านมันก็ดุลอยู่ ทีนี้มันเสียดุลเพราะว่ามองไปรับอย่างเดียว มองไปรับ ก็มองเขาสูง ตัวเองก็ด้อยลงไป ต่อมาสังคมระยะยาวก็จะมีปัญหาทางด้านทัศนคติ เจตคติ อะไรเนี่ย
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : วันนี้นำคณะของกระทรวงศึกษาธิการมากราบท่านเจ้าคุณ เพื่อจะขอคำแนะนำแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียนแนวพุทธ ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่อง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เจริญพร อาตมาก็อยากจะฟังว่าเริ่มกันมาอย่างไร เรื่องโรงเรียนแนวพุทธนี้ จุดเริ่มคิดยังไง
อาจารย์ด็อกเตอร์กมล : เรียนสั้นๆ ว่าโรงเรียนแนวพุทธนี้มีที่มาจากนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงว่าอยากจะเห็นโรงเรียนลักษณะนี้ในเมืองไทยนะครับ ท่านบอกว่าสังคมเรียกร้องที่จะเห็นเด็กเยาวชนมีคุณภาพ มีคุณธรรมจริยธรรม แต่ว่าเราไม่เคยทำโรงเรียนแนวนี้กันอย่างจริงจัง เมื่อไปดูโรงเรียนของศาสนาคริสตร์ หรืออิสลาม นี่เขามีการทำกันอย่างชัดเจน ทีนี้โดยกรอบแนวคิดก็พยายามไปศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลหนูน้อย แล้วก็โรงเรียนทอสี ทีนี้ในเชิงแนวคิดก็ใช้กรอบแนวคิดที่ท่านเจ้าคุณวางกรอบไว้เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ทีนี้จุดที่มีปัญหาคงจะมี 2 จุด ที่เรายังไม่มีความชัดเจนนัก ก็คือเมื่อพูดถึงเรื่องศีล ในเรื่องของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมประจำวันออกเป็นภาพชัดว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไรบ้าง แต่ไปเรื่องของสมาธิ เรื่องของสติ หรือเรื่องของการพัฒนาเด็กให้มีปัญญา มันจะผนวกเข้าไปสู่การเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งตรงนี้ไม่ค่อยมีความชัดเจนนักในแง่ของผู้ปฏิบัติว่า ควรจะทำอย่างไร ให้ครูผู้สอนสามารถที่จะเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าไปสู่กระบวนการเรียนการสอน จะสอนมากน้อยขนาดไหน จะเน้นเนื้อหาสาระอย่างไร อันนี้เป็นปัญหาหลักอันที่หนึ่ง ปัญหาหลักประการที่สองก็คือรูปแบบขงโรงเรียนควรจะมีความเข้มข้นขนาดไหน เพราะว่าในขณะที่สังคมเรียกร้องให้มีโรงเรียนแนวพุทธ แต่ว่าถ้าเปิดเป็นโรงเรียนแนวพุทธจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าผู้ปกครองอยากจะมาเรียนหรือไม่ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็อยากจะเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ อยากเรียนโรงเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจะไปอีกแนวหนึ่ง ก็เลยอยากรบกวนท่านเจ้าคุณว่า แนวคิดในการทำโรงเรียนลักษณะนี้จะมีความพอดีอยู่ตรงไหนที่จะถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ต้องขออนุโมทนา ทีนี้ก่อนจะพูดต่อไปก็อยากจะขอโอกาสแทรกนิดหนึ่ง ตอนเชื่อมข้อปรารภรัฐมนตรีมาถึงโรงเรียนหนูน้อยนี่ ไม่ทราบว่าโยงกันยังไง
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ปรารภของท่านนายกฯ แนวคิดในเรื่องของโรงเรียนแนวพุทธนี้เกิดขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม ครั้งที่ปลายปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ท่านนายกฯ ได้เป็นประธานในการรับฟังความคิดความคืบหน้าของการพัฒนาหลักสูตรขั้นพื้นฐาน วันนั้นท่านชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ได้เสนอว่า ปัจจุบันนี้เรามีโรงเรียนคาทอลิก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองนิยมที่จะส่งบุตรหลานไปเรียนมาก ทำไมเราไม่ทำโรงเรียนในลักษณะทำนองนี้ แต่ว่าอิงวิถีพระพุทธศาสนา ให้เป็นแบบแผนชัดเจน ท่านอ.ชันอนันต์เองยกตัวอย่างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งบูรณาการพระพุทธศาสนาเข้าไปในวิถีชีวิตของเด็กที่อยู่ประจำที่นั่น โดยที่โรงเรียนวชิราวุธนี่ไม่ได้สอนวิชาพุทธศาสนาเป็นกิจลักษณะ แต่ทุกคนจะต้องสวดมนต์ไหว้พระเป็น จะต้องมีรายชื่อหนังสือธรรมะ เช่นของท่านพุทธทาส หรือของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเป็นต้น ให้เด็กว่า เด็กเมื่อจบชั้นนั้นชั้นนี้ จะต้องอ่านหนังสือจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แล้วในชื่อของเทอม ก็จะเป็นเทอมวิสาขะ เหมือนกับที่ในโลกตะวันตกนั้นมี range terms มี ??? term แต่ส่วนวชิราวุธวิทยาลัยก็เป็นแนวพุทธ ในลักษณะที่บูรณาการเข้าไปในวิถีชีวิตนั้น เพราะฉะนั้นเด็กของวชิราวุธนั้นจบมาแล้ว ก็จะมีความเป็นพุทธ ถึงแม้ว่าจะไม่มีวิชาพุทธศาสนาเป็นชั่วโมงเรียนก็ตาม แต่ครูทุกคนของวชิราวุธวิทยาลัยจะสอนพระพุทธศาสนาได้ และเป็นแบบอย่างได้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็เรียกว่าก้าวไปได้เยอะทีเดียว ที่นี้ก็เข้าสู่วัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตแล้ว แล้วก็เป็นเนื้อเป็นตัวไปเลย
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ค่ะ เราก็ได้ประมวลข้อคิดเห็นของท่านนายกรัฐมนตรีในวันนั้น มาเป็นข้อๆ ว่ามีข้อใดที่ควรจะมาพัฒนาต่อ ทำให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เป็นระบบ มีการพัฒนาวิชาภาษาอังกฤษ จึงได้นำมาสู่เรื่องโรงเรียนสองภาษาฉบับย่อ เรื่องของการดูแลเด็กปัญญาเลิศ เพราะดิฉันคิดว่าโรงเรียนแนวพุทธนี้ก็มีประชาชนยินดีที่จะได้เห็น ในขณะเดียวกันก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะสงสัยว่าจะแตกต่างจากโรงเรียนธรรมดาอย่างไร บางคำถามก็ถามว่าเรียนแล้วจะพับเพียบเรียบร้อยมาก คือเด็กวัยรุ่นได้ยินชื่อแล้วอาจจะกลัว แต่ดิฉันว่าสิ่งหนึ่งที่ควรจะชัดเจนก็คือโรงเรียนแนวพุทธนั้นมีอยู่แล้วในประเทศ มีโรงเรียนการกุศลของวัดบางแห่งที่ทำได้ดีมาก มีโรงเรียนหลายแห่งที่เริ่มแล้ว เช่นโรงเรียนทอสี เป็นต้น เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้เป็นระบบตั้งแต่อนุบาลไปจนกระทั่งถึงมัธยมปลาย อีกประการหนึ่งก็คือ ต้องชัดเจนว่าในโรงเรียนแนวพุทธคงจะเหมือนกับโรงเรียนคาทอลิก เช่น เซนโยเซฟคอนแวนต์ หรือมาแตร์เดอี หรือ เซนต์คาเบรียล ซึ่งวิชาการแข็ง แต่ว่าเด็กต้องแข็งทางด้านธรรมะด้วย คือ 8 สาระ เด็กจะเรียน ท่านที่ปรึกษาบุญนำ ได้กรุณาเขียนประเด็นนี้ไว้แล้วก็ชัดเจน ดิฉันคิดว่าตรงแนวนี้คงจะต้องยึดเป็นหลัก นั่นก็คือเด็กจะเรียน 8 สาระครบถ้วน แต่ว่าจะมีหลักธรรมะที่ถูกต้องและชัดเจนเพื่อพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญาค่ะ ท่านที่ปรึกษาบุญนำอาจจะเพิ่มเติมบางประเด็นนะคะ
ท่านที่ปรึกษาบุญนำ : กราบนมัสการค่ะ ดิฉันคิดว่าไม่ใช่ของใหม่ เพราะเหตุว่าประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทย แม้แต่กระทรวงที่เริ่มต้นการศึกษา ก็ชื่อว่ากระทรวงธรรมการ เอาธรรมะมาเป็นเรื่องของธุระที่จะต้องจัดการใช่ไหมคะ แล้วก็รากฐานก็คือว่ามีการศึกษาในวัง ในวัด อันนี้ทำให้ดิฉันมั่นใจว่ารูปแบบหรืออะไรเนี่ย เราคงต้องมององค์รวมทั้งหมด ใช่ไหมคะ อย่างที่ด็อกเตอร์กมลห่วง ในจุดที่เข้มข้นคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ดิฉันมองว่า โรงเรียนของเราขณะนี้ทั้งประถม มัธยม ก็อยู่ในวัด ถ้าหากว่าเราปรับปรุงที่จะให้มีรูปแบบทั้งสถานที่ ทั้งจริยธรรม หรือว่ามารยาทของคนที่อยู่ตรงนั้นให้เข้มข้น คงจะทำได้ ดิฉันมีความรู้สึกว่าไม่ยาก อันนี้ก็เป็นกำลังใจที่ดีว่า เราเริ่มต้นการศึกษาที่ในวัด แล้วก็เรียนอยู่ในวัด ดิฉันคิดว่าอุปกรณ์อะไรจะเท่ากับของจริงที่ปรากฏในวัดน่ะไม่มี อย่างศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนพิธี ถ้าเด็กที่อยู่โรงเรียนนั้นแล้วเลือกที่จะเป็นโรงเรียนแนวพุทธ เขาจะได้ทำพิธีแทนที่จะอยู่ในห้องประชุมที่เป็นคอนกรีตของอาคารเรียน อาจจะได้ใช้ศาสนสถานของวัดมาทำพิธี แล้วดิฉันยังคิดต่อไปถึงว่า ถ้าเราร่วมมือกันดีนะคะ ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ถวายความรู้พระด้วย ใช่ไหมคะ ที่จะให้มีการพัฒนาไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นมีความหวังว่าท่านนายกฯบอกว่าอย่าเพิ่งเปิดมากนะ ดิฉันบอกความจริงแล้วอาจจะเปิดได้เยอะทีเดียวค่ะ แทบทุกจังหวัดยังได้ ถ้าหากว่าท่านเจ้าคณะจังหวัด หรือองค์การสงฆ์ที่จะชี้ว่าตรงนี้ควรจะพัฒนาไปสู่ตรงนั้น ใช่ไหมคะ แล้วดิฉันคิดว่าผู้บริหารหรือครูเนี่ย ก็ต้องเข้าใจว่าเราจะต้องปรับอะไรบ้างตรงจุดนั้นค่ะ อันนี้เป็นกำลังใจที่ย้อนไปถึงอดีต
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อย่างนั้นเดี๋ยวอาตมาก็ขอโอกาสพูดเลยตอนนี้ คือเท่าที่ฟังนี่ โดยเฉพาะเริ่มจากท่านนายกรัฐมนตรี อาตมาก็มองเป็น 2-3 เรื่อง
อันที่หนึ่ง-ก็คือข้อปรารภสำคัญที่เด่น การที่มองเห็นว่าคนไทยที่เป็นชาวพุทธ เด็กนักเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ ชื่ออย่างนั้นแต่ไม่รู้เรื่องพุทธศาสนา ปฏิบัติตนไม่สมกับความเป็นชาวพุทธ ทำไวจะให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ ได้เรียนรู้เรื่องพุทธศาสนา ประพฤติตนเป็นชาวพุทธที่ดี ให้สมกับการเป็นชาวพุทธได้
สอง-ก็คือ มองกว้างออกไป การจัดการศึกษาแนวพุทธนี้ หมายถึงตัวแนวคิดหลักการในการจัดการศึกษา ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องการมองชีวิตมนุษย์ ธรรมชาติทั้งหลาย ก็คือพูดถึงตัวหลักการ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เหมือนกับเราพูดถึงการจัดการศึกษาตามแนวคิดของดิวอี้ หรือ
เปสตาลอสซี่ หรือ รุสโซ่ หรืออะไรก็ว่าไป ทีนี้เราก็ดูว่าการจัดการศึกษาแนวไหน จึงจะถูกต้องตามความเป็นจริง เราเอาความเป็นจริงเป็นที่ตั้ง ที่อาตมาเขียนอะไรต่ออะไร อาตมาก็มอง นี่หมายถึงตัวเอง ว่าแนวคิดพุทธศาสนานี้มองตรงตามความเป็นจริงที่สุด มองเห็นชีวิตของนนุษย์เป็นยังไงๆ แล้วจากความเป็นจริงนั้นก็มาจัดการศึกษาให้มันสอดคล้อง ว่าหลักพุทธศาสนาที่เราเรียกแนวพุทธก็คือแนวของคนที่มีปัญญารู้ความจริงเท่านั้นเอง เพราะพระพุทธเจ้าก็ตรัสแล้วว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ ความจริงก็มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้าก็ค้นพบความจริงนั้นแล้วก็มาเปิดเผยแสดง เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาที่เรียกว่าแนวพุทธ ก็คือการจัดตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ คือทางพุทธศาสนาเราถือว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติอะไร ไม่ได้มาสั่งอะไร แต่พระองค์มาค้นพบความจริงตามธรรมชาติ แล้วก็มาสอน เรื่องของพระพุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องของธรรมดาธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันจะไปอีกขั้นหนึ่ง คือมันไม่มีการแบ่งแยก ว่าเป็นศาสนาไหนศาสนาไหน เวลานี้มันมีปัญหามาก มนุษย์ยังข้ามไม่พ้น เจริญมาจนกระทั่งกี่พันปีแล้ว ยังมาติดแบ่งแยกศาสนานั้นศาสนานี้ อย่างบอกว่าใช้หลักพุทธ อ้าว ทำไมไปชื่อศาสนานั้นศาสนานี้ กลัวซะแล้ว แล้วเราไม่เคารพหรือว่าความคิดของใคร ใครเป็นผู้แสดงหลักการ ก็พูดไปตามตรง แล้วทำไมเราพูดได้ จอห์น ดิวอี้, เปสตาลอสซี่ , รุสโซ่ เราทำไมพูดได้ แล้วทำไมบอกของพระพุทธเจ้าพูดไม่ได้ ทำไมใจไม่ยอมรับความเป็นจริงอันนี้ มครแสดงมาก็ว่าไปตามนั้น เราเห็นว่าหลักการนี้มันตรงตามความเป็นจริง ก็พุทธศาสนาก็ว่าไปตามธรรมชาติ ใช่ไหม ถ้ามันไม่เป็นจริงเราก็เถียง ก็เขาเปิดโอกาสให้เถียงอยู่แล้ว ไม่ไปบังคับใคร ทีนี้เราก็เลยดูว่าชีวิตคนเป็นยังไง มาอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมเป็นยังไง มันมีความเป็นไปและธรรมดาของมันยังไง แล้วเพื่อให้ชีวิตมนุษย์พัฒนาอยู่ได้ดีในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอะไรต่างๆ เหล่านี้ เขาควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร ก็ดูตามความเป็นจริงนั้น ทั้งของโลกและชีวิต แล้วก็มาจัดระบบพัฒนาคนให้อยู่ได้อย่างดี มันก็เลยเกิดเป็นการศึกษาแนวพุทธอย่างที่พูดกันเท่านั้นเอง ทีนี้เวลาเป็นการศึกษาแนวพุทธอย่างนี้ขึ้นมา มันก็จะมีสองระดับ ระดับหนึ่งก็คือรูปแบบ รูปแบบก็หมายความว่าเป็นธรรมดามนุษย์อยู่ในสังคมหรือชุมชนอันใดอันหนึ่ง ก็ย่อมมีวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาโดยวัฒนธรรม โดยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันก็ลงตัวจนกระทั่งสังคมนั้นเขาถือว่าดี เหมือนกับชาวพุทธชาวไทยเราก็พัฒนาเป็นวัฒนธรรมแบบพุทธไทยขึ้นมา ลังกาเขาก็มีพุทธแบบลังกา อะไรอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นรูปแบบที่ถือว่าดีแล้ว เราก็อาจจะเน้นว่าเป็นคนไทยนี่เป็นชาวพุทธในความหมายและรูปแบบอย่างนี้ แล้วก็จะมีภาพรูปแบบของชีวิตที่มีวัฒนธรรมการกราบการไหว้อะไรต่ออะไร อันนี้ถือว่าเป็นรูปแบบเท่านั้น แต่ว่าเรายอมรับกันแล้วว่าเป็นรูปแบบที่ดี ซึ่งเหมาะสมกับคนที่เรียกว่าเป็นชาวพุทธ ส่วนตัวแท้ตัวจริงนั้นก็คือความเป็นจริงตามธรรมดาธรรมชาติ ซึ่งอยู่ลึกลงไปอันนี้อีกที ซึ่งอันนั้นจะเป็นของกลางไม่ขึ้นต่อประเทศชาติวัฒนธรรมไหนทั้งสิ้น ใครจะไปจัดระบบวัฒนธรรมยังไง วิถีชีวิตยังไงก็จัดไป ฉะนั้นในแง่นี้เราก็จะไม่มีปัญหา ไม่ใช่ว่าชื่อว่าพุทธแล้วจะต้องมีรูปแบบอย่างนี้ ทีนี้เราก็ต้องพูดกันเป็นระดับๆ ว่าพูดระดับกว้างที่สุด ก็คือตัวหลักการ ความจริงที่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมดาธรรมชาติ เราจะจัดการศึกษากันอย่างไร อันนี้เราก็ใช้ชื่อคำว่าแนวพุทธ แนวพุทธในความหมายที่ว่ารู้เข้าใจถึงความจริงของธรรมชาติ แล้วสองก็คือในแง่ของรูปแบบว่าเราจะจัดสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยที่ชื่อว่าชาวพุทธให้เป็นอย่างนี้ๆ อาจจะเห็นว่าเมื่อดีแล้วยอมรับแล้ว ก็มาทำให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วอันไหนที่ควรจะปรับปรุงเพิ่มเติม วัฒนธรรมก็ควรจะแก้ไขปรับปรุงให้มันมีการเจริญก้าวหน้า ไม่งั้นจะเป็นวัฒนธรรมประเภทปกป้องตัว เคยพูดบ่อยๆ ว่าวัฒนธรรมต้องระวังนะ การรักษาวัฒนธรรม ถ้าเป็นวัฒนธรรมแบบปกป้องตัวเมื่อไหร่ แสดงว่าเป็นฝ่ายตั้งรับ แล้วแย่ละ ไม่เจริญก้าวหน้า วัฒนธรรมที่ดีงามมันต้องมีความเจริญก้าวหน้า พัฒนาตัวเองต่อไปได้ ก้าวไปสู่สังคมโลกได้อย่างดี สามารถเป็นผู้นำแก่ผู้อื่น ให้เขาอยากจะทำตาม ไม่ใช่กลัวต้องคอยปกป้องตัวเอง ฝ่ายอื่นจะบุกเข้ามา แสดงว่าแย่แล้วถ้าอย่างนั้น ทีนี้วัฒนธรรมขณะนี้เรารักษาวัฒนธรรมแบบปกป้องตัวซะมากนะ คล้ายว่าเราแย่แล้ว สู้เขาไม่ได้แล้ว เขาบุกเข้ามา แสดงว่าเราไม่มีความเป็นผู้นำ ถ้าเราเก่งจริงวัฒนธรรมของเรานี้จะต้องน่าชื่นชม คนอื่นเขาอยากจะรับ อยากจะตาม ทีนี้ตัวอะไรบ้างที่จะเป็นสาระที่จะทำให้เราภูมิใจแล้วเขาอยากจะตามเรา ก็ต้องมีอะไรที่จะให้แก่เขาใช่ไหม ตอนนี้สังคมของเราเนี่ย มันในแง่ที่ว่า มองไม่เห็นอะไรดีของตัวเองที่จะให้แก่คนอื่น มีแต่มองว่าคนอื่นเขามีดีอย่างนั้นๆ อยากจะไปรับของเขาๆ มันก็ด้อยเรื่อยไป ทีนี้มองในแง่การศึกษาแนวพุทธที่ว่า ก็ถือว่าพุทธศาสนาสอนความจริงธรรมดาธรรมชาติ แล้วเราก็มาดูว่าหลักการที่มีชื่อศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ก็วางขึ้นตามความจริงตามธรรมดาธรรมชาติ แต่พอมาอยู่ในวัฒนธรรมไทยแล้วมันมาเข้าวิวัฒนาการเป็นรูปแบบขึ้นมาเช่นวัฒนธรรม เราก็ชักมองแคบ ความหมายของศีล สมาธิ ปัญญา ก็เหลือเป็นรูปแบบต่างๆ ไป อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องแยกให้ได้ชัดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นรูปแบบ ซึ่งอาจจะแคบลง รัดตัว เพี้ยน มันยังไง แล้วก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่แท้จริง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าสอนแท้ๆ นั้นคืออะไร ตอนนี้ก็ต้องแยกให้ได้ อย่างเวลาพูดถึงศีล เราก็จะมองไป เช่น ศีล 5 บางทีพูดกันถึงว่าเป็นข้อห้าม ห้ามอย่างนั้นอย่างนี้ๆ ซึ่งที่จริงถ้าว่ากันโดยเคร่งครัด พุทธศาสนาไม่มีศีลที่เรีบกว่าข้อห้าม ถ้าเอาเคร่งครัดไม่มี เพราะว่าศาสนาอื่นเขาเป็นข้อห้ามเพราะเขาเป็นบัญญัติ มีพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างเป็นผู้บันดาล เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้สร้างผู้บันดาล ท่านก็วางบัญญัติว่าเธอต้องทำตามนี้ เธอต้องไม่ทำอันนี้ ก็ห้าม ก็สั่ง แล้วก็เมื่อทำและไม่ทำ ก็ให้รางวัลลงโทษไปตามนั้น แต่พระพุทธเจ้าสอนบอกว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดไม่เกิด ความจริงเป็นอย่างนี้ พระองค์มาค้นพบแล้วก็มาเปิดเผยแสดง ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ความจริงมันก็เรียกร้องเราว่าเราควรดำเนินชีวิตอย่างนี้ ถึงจะได้ผล เหมือนกับไฟ ความจริงมันร้อน ถ้าคุณไม่อยากให้คุณเป็นอันตราย คุณก็อย่าเอาไฟมาเผาตัว ถ้าคุณต้องการให้ได้ประโยชน์จากไฟ คุณก็เอาไปใช้อย่างนี้ ยิ่งรู้เท่าไหร่ก็ยิ่งดี ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนก็เป็นอย่างนี้ ก็สอนความจริง แล้วก็มีข้อเรียกร้องจากความจริงนั้นต่อเราว่าเราต้องการดำเนินชีวิตให้ดีเราต้องทำยังไง ก็เท่านั้นเอง อันนี้ก็เลยเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ระบบของพุทธศาสนามันก็ไม่มีคำสั่งห้าม และไม่มีการลงโทษและให้รางวัล แต่ว่าได้รับผลเองตามกฎธรรมดาธรรมชาติ กฎแห่งกรรมอะไรต่ออะไรก็เป็นเหตุเป็นผล หมายความว่าทำเหตุอย่างนี้ ผลเกิดขึ้นอย่างนั้น ไม่มีใครมาตัดสินโทษ ลงโทษกัน อันนี้ก็คือหลักพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันมีแง่คิดทั้งนั้นเลย เวลาให้ศีล ในตัวศีลที่เรารับ ไม่มีคำว่าห้ามกับสั่ง เราเองเป็นผู้ตัดสิน ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอรับถือปฏิบัติการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้ามาสอนความจริงสัตว์ทุกคน ทั้งมนุษย์ทั้งสัตว์อื่นรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เราฉันใดเขาก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นไม่ควรเบียดเบียนกัน จริงไหม เราว่าจริง ถ้าอย่างนั้นเราไม่ควรเบียดเบียนกันใช่ไหม ตกลง แต่ว่าฉันยังใจไม่เข้มแข็ง มีโลภ มีโกรธมาก เพราะฉะนั้นก็คล้ายๆ มาสัญญากับพระหน่อย ขอให้ข้าพเจ้าได้ปฏิญาณต่อท่าน ข้าพเจ้าขอถือข้อปฏิบัติงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ มันก็ไม่มีคำสั่งของใครทั้งนั้น แต่ว่าเราเองเป็นผู้ที่ยอมรับปฏิบัติอย่างนั้น เมื่อเรารับปฏิบัติอย่างนั้น ผลมันก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แล้วเราก็ปฏิบัติไปตามนั้น ก็เกิดเป็นศีลอยู่เป็นความประพฤติประจำตัว อาตมาก็ล้อพระบ่อยๆ บอกว่าโยมมาขอศีล พระไม่เคยให้ศีล พระจะบอกว่าศีลให้ไม่ได้ บอกว่าข้าพเจ้าขอศีล 5 มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ
ยาจามะ บอกเลยข้าพเจ้าขอศีล 5 แต่ว่าพระไม่มีให้ศีล ให้ดูเถอะ บอกว่าคุณขอศีลนะ ฉันให้ ให้ไม่ได้ ใครปฏิบัติก็ได้เอง คุณต้องการมีศีล คุณก็เอาข้อฝึกหัดเหล่านี้ไปปฏิบัติ เมื่อคุณปฏิบัติตามคุณก็เป็นผู้มีศีล ใช่ไหม เพราะฉะนั้นพระแทนที่จะให้ศีล ก็บอกข้อปฏิบัติตามสิกขาบท ชาวบ้านขอศีล พระบอกสิกขาบท สิกขาบทแปลว่าอะไร แปลว่าข้อฝึก ข้อเรียนรู้ ข้อฝึกตัวเอง สิกขาปะทัง สมาทิยามิ ภาษาพระเรียกสิกขาบท 5 ไม่เรียกศีล 5 เพราะศีลเป็นคุณสมบัติที่เกิดในตัว คุณปฏิบัติถูกต้อง แล้วคุณก็มีความประพฤติแบบนั้น นั่นก็คือศีลของคุณ แต่ว่าข้อปฏิบัติอะไรที่จะทำให้คุณมีศีล พระก็บอก อ้าว คุณ สิกขาบทข้อฝึกนี้ ถ้าคุณปฏิบัติตามคุณก็มีศีล ก็ ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอถือข้อปฏิบัติ ข้อฝึกตน สิกขาบท ที่จะงดเว้นจากการทำลายชีวิต ทุกข้อเหมือนกันหมด มีแต่สิกขาบท พระบอกสิกขาบท ชาวบ้านก็รับไปปฏิบัติ เมื่อรับไปปฏิบัติก็เกิดเป็นศีล พระไม่เรียกศีล 5 แต่เรียกสิกขาบท เรียกว่าข้อฝึก 5 ข้อฝึกเพื่อให้มีศีล ทุกอย่าง สมาธิ ปัญญา ให้ไม่ได้ทั้งนั้น แต่ทุกคนจะต้องไปพัฒนาฝึกหัดให้เกิดขึ้นในตัว ชาวบ้านขอ บอกฉันจะมีสมาธิได้ยังไง ฉันให้คุณไม่ได้ คุณเอากรรมฐานไปฝึก ขอศีล บอกสิกขาบทให้ ขอสมาธิ ให้กรรมฐานไปทำเอา แล้วเกิดสมาธิ ขอขอปัญญา ให้ข้อมูลความรู้ ให้สุตตะ พระท่านเรียกให้สุตตะ สุตตะแปลว่าสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟัง ก็บอกสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังถ่ายทอดให้ไป คุณก็ไปคิดไปพิจารณา ปัญญาก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาธรรมชาติ ทีนี้ชีวิตเรามี 3 ด้าน ชีวิตเรา หนึ่ง-มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยอะไรบ้าง การรับรู้ดูฟังทางอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็โดยการสื่อสารสัมพันธ์ทางกาย วาจา ใจ ทางด้านการกระทำ หมายความว่าความสัมพันธ์กับโลกภายนอกทางด้านการรับรู้นี้อันหนึ่ง แล้วก็ทางด้านของการกระทำ เรียกว่ากรรม หรือ ??? กรรม3 เนี่ย นี่ก็คือแดนของศีลทั้งหมดเลย ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ถ้ามองอย่างนี้เราจะรู้เลยว่ามันไม่ใช่แค่ศีล 5 การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ แต่ว่าเอาเฉพาะด้านที่ออกข้างนอก เริ่มตั้งแต่ว่าตัวพฤติกรรมสัมพันธ์กับโลกภายนอกจะเป็นไปได้อย่างไร ก็เกิดจากเจตจำนง มีความตั้งใจ แล้วเบื้องหลังเจตจำนง ความตั้งใจนั้น มีแรงจูงใจ มีคุณสมบัติต่างๆ ในจิตใจ แล้วก็มาเชื่อมออกจากพฤติกรรม เป็นต้น ตลอดจนการรับรู้ทางอินทรีย์ต่างๆ แดนนี้ก็เป็นแดนที่เรียกว่าจิตใจ แล้วอีกแดนหนึ่งก็คือว่าจะมีพฤติกรรม จะสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อย่างไร จะมีจิตใจที่แคบกว้างได้แค่ไหน จะมีความรู้สึกได้แค่ไหน สภาพจิตใจจะเป็นอย่างไร อยู่ที่ความรู้ ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อเรา จิตใจของเราจะมีปฏิกิริยาอย่างหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้เราจะจัดการอย่างไร เราก็จะมีความสบาย รู้สึกปลอดโปร่ง เป็นอิสระ แต่ถ้าเราไปเจออะไรแล้ว เราไม่รู้จะทำยังไง ปัญญาไม่มี ความรู้ไม่มี เราจะรู้สึกอึดอัด เป็นทุกข์ทันที เพราะฉะนั้นตัวความรู้นี้เป็นตัวที่ทำให้สภาพจิตเปลี่ยนแปลงไปหมด และเป็นตัวจำกัดและขยายขอบเขตพฤติกรรม เราจะทำอะไรต่ออะไรได้แค่ไหน อยู่ที่ความรู้ ปัญญา ฉะนั้นพุทธศาสนาก็บอกว่าชีวิตมี 3 แดน การติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก แดนของจิตใจที่ออกทางเจตจำนง แล้วก็แดนของความรู้เข้าใจ 3 แดนนี้ทำงานตลอดเวลาเลย ฉะนั้นมนุษย์จะต้องพัฒนา 3 แดนนี้ เพื่อจะดำรงชีวิตได้ดี การพัฒนาแดนที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเราเรียกว่าศีล เพราะฉะนั้นศีลจึงได้แยกออกเป็นหมดย่อย หนึ่ง-อินทรีย์สังวร การใช้อินทรีย์ ดู ฟัง แค่นี้เราก็ไม่รู้จักแล้ว ศีลในเมืองไทยเนี่ย ทั้งๆ ที่ในพุทธศาสนาถือสำคัญมากเลย ดูเป็นฟังเป็น คุณดูมีสติไหม คุณดูได้ความรู้ไหม ถ้าดูแล้วลุ่มหลง ได้แต่ชอบใจ ไม่ชอบใจ แสดงว่าไปแค่ความรู้สึก ทั้งๆ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา มันทำหน้าที่ 2 อย่างพร้อมกัน แต่เราไม่รู้ เราก็เรียกแต่รับรู้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเนี่ย ในเวลาเดียวกันมันมีความรู้สึกกับรู้ ตาดูเราก็รู้สึกสวยงาม สบายตา ไม่สบายตา แล้วก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ นี่รู้สึก ด้านรู้ก็คือสีขาว ดำ แดง ยาว ใหญ่ กว้าง เป็นแถวเป็นแนว เป็นต้นไม้เป็นอะไร สองอันนี่ หูฟังก็รู้สึกไพเราะไม่ไพเราะ สบายหูไหม เดี๋ยวก็ไปชอบใจไม่ชอบใจ แล้วก็ด้านรู้ว่าเป็นอะไรเป็นอะไร สองด้านนี้การศึกษาเรา ขออภัยพูดตามตะวันตก แยกไม่ได้เลย แต่พุทธศาสนาพอพูดถึงอินทรีย์นี่ ปั๊บเลย เราบอกว่าอินทรีย์ทำหน้าที่ 2 ด้าน ด้านรู้กับด้านรู้สึก ถ้ารู้สึกปั๊บ ถ้าคุณไปตามชอบใจ ไม่ชอบใจ รับรู้ด้วยยินดียินร้าย ชอบชังปั๊บ อยู่แค่นี้ถ้าไม่ไปทางความรู้นะ ตันเลย การศึกษาไม่มี การพัฒนาไม่มี การเรียนรู้ไม่มี มันก็ต้องไปทางการเรียนรู้ พอรู้ปั๊บ เขียว ขาว ดำ แดง ไปแล้วทีนี้ แล้วโยนิโสมนสิการเข้ามาเลยไปกันใหญ่ จะสืบสาวหาเหตุปัจจัยได้ แยกวิเคราะห์องค์ประกอบไปได้หมด ฉะนั้นการใช้อินทรีย์ก็เป็นจุดเริ่มที่มนุษย์จะเรียนรู้ การศึกษาอยู่ที่นี่ ฉะนั้นก็อยู่ที่เรื่องธรรมดา การศึกษาไม่มีอะไรมาก เพราะฉะนั้นการศึกษาก็ต้องเป็นเรื่อง หนึ่ง-ก็คือว่าเป็นเรื่องของธรรมดา ตามความจริงของธรรมชาติ สอง-เป็นเรื่องง่ายๆ อยู่กับชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้นการศึกษาก็ต้องเริ่มตั้งแต่บ้าน ตั้งแต่การกินอยู่ การสัมพันธ์กับสิ่งงแวดล้อม การใช้ตาดูหูฟัง ดูทีวี ดูสิ่งต่างๆ ใช้หูฟังอะไรต่างๆ ได้ความรู้ หรือได้ความลุ่มหลง หรือได้ความชอบใจไม่ชอบใจเหล่านั้นเป็นต้น ก็แค่นี้ แล้วก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง พุทธศาสนาก็แยกศีล ศีลก็แยกเป็นหมวดๆ ใช่ไหม หนึ่ง- อินทรีย์สังวร การใช้อินทรีย์ตาดูหูฟัง ดูเป็น ฟังเป็น ดูให้ได้ความรู้ มีสติ ไม่เป็นไปตามความยินดียินร้าย ชอบชัง เท่านั้น แล้วทีนี้ต่อมาก็แดนที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมสำคัญก็คือการเสพบริโภค ชีวิตจะเป็นอยู่ได้อาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ปัจจัยเครื่องใช้สอยต่างๆ ก็ต้องมาสัมพันธ์กับปัญญาทันทีเลย บอกว่าถ้าเสพได้แค่อร่อยเป็นต้น ไม่ปลอดภัย อันนั้นเป็นแค่รู้สึก ต้องมีปัญญารู้เข้าไป พอรู้ว่าที่เรากินนี่กินเพื่ออะไร สัมพันธ์กับอาหารแล้ว กินเพื่ออะไร พุทธศาสนาสอนทันทีเลย ปะ-ติ-สัง-ขา-ยา-นิ-โส-บิน-ตะ-ปา-ตัง บอกว่ารับประทานอาหาร พิจารณาเข้าใจแล้วว่ามิใช่เพียงเพื่อเท่านี้ๆ มิใช่เพียงเพื่อเอร็ดอร่อย โก้เก๋สนุกสนานมัวเมา แต่รับประทานเพื่อดำเนินชีวิตนี้ให้เป็นไป มีสุขภาพดี แข็งแรง เอาชีวิตนี้ไปใช้ทำประโยชน์ได้ อะไรอย่างนี้ แค่นี้ก็ชื่อว่า ศีล แล้ว ศีล นี่เรียกว่า ปัจ-จา-ยะ-ปัจ-จา-เส-วะ-นา-ศีล หรือ ปัจ-จา-ยะ-สา-นะ-สิท-ศีล ศีลอย่างนี้เป็นศีลเบื้องต้น ยิ่งกว่าศีล 5 อีก แต่ว่าคนไทยไม่เคยรู้จัก อันนี้ศีลหมวดใหญ่ๆ 2 แล้ว การใช้อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมพันธ์กับสิ่งแวล้อมเหมือนกัน การเสพบริโภคสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา รู้เข้าใจ ให้มันได้ประโยชน์ที่แท้กับชีวิต ไม่ใช่เพียงเพื่อสนุกสนาน เอร็ดอร่อยโก้เก๋ เท่านั้น แล้วก็ไปเรื่องของการทำอาชีวะ การเลี้ยงชีพ ฉะนั้นอาชีวะ เป็นสัมมาอาชีวะ เป็นสิ่งสำคัญในมรรคมีองค์ 8 เราจะเห็นเลย แต่คนไทยเราเอาศีล 5 ก็เลยไม่รู้จัก ศีลคืออาชีวะ ถ้าเราเอาศีลในองค์มรรคออกมาเราจะเห็นชัด ศีลด้านอาชีวะ การเลี้ยงชีพ การทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมมนุษย์ จนกระทั่งถือว่าโลกมนุษย์เป็นไปตามกรรม กรรมใหญ่ก็คือการเลี้ยงชีพของมนุษย์ การประกอบอาชีพต่างๆ ที่ทำให้โลกเป็นไป และมีอารยธรรม มีความเจริญในแนวหนึ่ง นี่ก็เป็นเรื่องอาชีพ เรื่องใหญ่ ถ้าเด็กๆ ก็หมายความว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้สมกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ใช่ไหม อย่างนี่เรียกว่ามีสัมมาอาชีวะ หรืออย่างพระก็ทำหน้าที่อยู่ในธรรมวินัยสืบต่อพระศาสนา แล้วญาติโยมเขามีศรัทธาเห็นว่าธรรมะจำเป็นสำหรับสังคม ก็เลยมาอุปถัมภ์บำรุงให้พระสามารถอยู่ได้ เพื่อที่จะได้รักษาธรรมะไว้ให้แก่สังคม อย่างนี้ก็เป็นสัมมาอาชีวะของพระ ถ้าพระไปขอชาวบ้านเมื่อไหร่ ผิดทันที เป็นมิจฉาชีพ เขาไม่ได้ถวายด้วยศรัทธา อันนี้สัมมาอาชีพนี่ก็เรื่องใหญ่ของชาวบ้าน ประกอบอาชีพต่างๆ อาชีพทุกอย่างมีขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาชีวิตสังคม และสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง ใช่ไหม ถ้าทำตามวัตถุประสงค์นั้นปั๊บ เช่นว่าแพทย์มีเพื่ออะไร เพื่อบำบัดโรค ช่วยให้คนมีสุขภาพดี ทำเพื่อการนี้ ก็เป็นสัมมาอาชีพแล้ว แต่ถ้าทำเพียงเพื่อเงิน ก็แสดงว่าเผลอแล้ว แล้วก็อาชีพที่ไม่เบียดเบียนเพื่อน ไม่ก่อความเดือดร้อนอะไรอย่างนี้ เป็นสัมมาอาชีวะ ก็เป็นศีลอีกบทใหญ่ แล้วอีกบทที่สำคัญก็คือ ศีลที่เป็นหลักกำกับชุมชน ก็หมายความว่าชุมชนแต่ละชุมชน แม้แต่สังคมประเทศชาติก็ต้องมีระบบระเบียบในการเป็นอยู่ มีหลักการ มีกฎ มีกติกา หลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ที่คุมให้ชุมชนอยู่กันดี เราก็เรียกศีลประเภทที่เรียกว่าปาฏิโมกข์ อันนี้ก็คือศีลที่เราเรียกว่าศีล 5 ชาวบ้านมีศีล 5 พระมี
ศีล 227 ก็คือศีลประเภทนี้ ก็หมายความว่าอย่างน้อยชาวบ้านนี้ สังคมของตัวเองจะอยู่ได้ไม่ลุกเป็นไฟ ด้วยการอยู่ในศีล 5 ไม่ทำร้ายร่าง
กาย ทำลายชีวิตกัน ไม่ลักขโมย ละเมิดกรรมสิทธิ์กัน ไม่ล่วงละเมิดผิดทางเพศกัน แล้วก็ไม่ทำลายผลประโยชน์กันด้วยการกล่าวเท็จหลอกลวง
แล้วก็ไม่ขู่คุกคาม สร้างความรู้สึกพรั่นพรึง สูญเสียความมั่นคงปลอดภัยด้วยการที่เสพยาเสพติด เพราะใครเสพยาเสพติดปั๊บ คนอื่นสูญเสียความมั่นคงปลอดภัยทันที นี่ก็คือการช่วยให้สังคมนี้ปลอดภัย อยู่กันได้ เพราะฉะนั้นศีล 5 ก็เป็นฐาน แล้วจากศีล 5 ก็พัฒนาเป็นกฏหมาย อะไรต่ออะไรขึ้นไปอีกทีหนึ่ง โดยมากกฎหมายของเราก็อาศัยศีล 5 เป็นฐาน ถ้าออกไปแล้วก็เรื่องนี้ เรื่องชีวิตร่างกาย เรื่องทรัพย์สิน เรื่องของครอบครัว เรื่องทางเพศ แล้วก็เรื่องของการใช้วาจา แล้วก็เรื่องสิ่งเสพติด มัวเมาอะไรต่ออะไรพวกนี้จะเป็นหลักใหญ่ในการสร้างกฎหมาย แล้วกฎหมายก็ขยายไปจากเรื่องศีล 5 ตกลงว่าศีลแค่นี้ 4 หมวดนี่ เร่มตั้งแต่เด็กเลย ในบ้าน ใช่ไหม เจริญพร พอเด็กเกิดมาก็ต้องรู้จักกินอยู่แล้ว กินอาหาร เครื่องนุ่งห่ม นุ่งห่มเสื้อผ้าเพื่ออะไร ความหมายที่แท้คุณค่ามันอยู่ที่ไหน ถ้าเด็กทำได้ มีศีล ดูโทรทัศน์เป็น ฟังวิทยุเป็น ก็มีศีล ศีลประเภทนี้เราไม่ได้เอาใจใส่ มันเป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดา ที่ว่าแนวพุทธก็คือเนี่ย ก็คือความจริงของชีวิตว่าไปตามธรรมดาเนี่ย ทีนี้เราก็เอาความจริงธรรมดาเนี่ยมาจัดเพื่อพัฒนามนุษย์ เราก็เรียกว่าการศึกษา ก็คือการศึกษานี้ก็เป็นระบบที่ว่า เราจะให้การพัฒนาด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แล้วก็ด้านจิตใจเจตจำนงออกมาสู่พฤติกรรม และการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แล้วก็ปัญญาที่รู้เข้าใจที่จะมาพัฒนาเจ้าพฤติกรรม ให้ทำได้ผลดียิ่งขึ้น แล้วก็ทำให้จิตใจมีขอบเขตขยายออกไป แล้วมีสภาพที่ดีขึ้น เช่นว่ารู้เข้าใจเหตุผล รู้ว่าคนอื่นเขาก็รักชีวิตของเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ควรไปทำร้าย ให้มีเมตตากรุณา การพัฒนาเมตตากรุณาก็ต้องอาศัยปัญญา ความรู้เข้าใจ ถ้าไม่งั้นแล้วมันก็ได้แต่ความเคยชิน แล้วแค่ความเคยชินมันก็แค่พัฒนาระดับศีล อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้ก็ต้องให้ 3 ส่วนนี้ ซึ่งการพัฒนาระดับความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราก็เรียกว่า ศีล แล้วก็เรื่องของด้านเจตจำนง รวมไปถึงคุณสมบัติทางจิตใจ ก็เป็นเรื่องสมาธิ เป็นเรื่องคุณธรรมความดี เรื่องของสมรรถภาพ ประสิทธิภาพของจิตใจ ความเข้มแข็ง อะไรต่ออะไร ได้สติ สมาธิ แล้วก็เรื่องของความสุข ความร่าเริ่งเบิกบาน ผ่องใส คุณสมบัติสำคัญของจิตใจ อันนี้เป็นเรื่องสมาธิ แล้วก็เรื่องปัญญาความรู้ความเข้าใจ การรู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แล้วก็ท่านสามารถแยกแยะสืบสาวหาเหตุปัจจัยอะไรนี้ 3 แดนนี้ต้องพัฒนาไปด้วยกันเป็นระบบ เพราะฉะนั้นที่เราเรียกว่าบูรณาการนี้ มันมาในระบบที่เรียกว่าไตรสิกขา แล้วพอไตรสิกขาพัฒนาคนไปอย่างนี้แล้ว ก็ไปวัดผลด้วยภาวนา 4 ที่โรงเรียนทอสี กับโรงเรียนหนูน้อย ก็เลยบอกว่าขอใช้อันนี้ คือตอนพัฒนาเพราะว่ามันเป็นองค์รวม 3 อันนี้ในแต่ละเรื่องมันใช้ทั้ง 3 เพราะฉะนั้นท่านเลยถือหลัก 3 ไม่ว่าเรื่องใด ทุกเรื่องเรามีทั้ง 3 ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมาพร้อมกัน เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเรามีเจตจำนงต่อสิ่งนั้น มีความตั้งใจกับมัน อย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมกันนั้นเราทำได้ในขอบเขตของความรู้ เราต้องเรียนรู้มันไปตลอดเวลา แล้วเราก็พัฒนาได้ด้วยการที่เราเรียนรู้เพิ่มขึ้น สภาพจิตเราก็เปลี่ยนไป แล้วการมีพฤติกรรมสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน จะพัฒนาไปด้วย ก็ไปด้วยกัน ฉะนั้นต้องมี 3 แต่พอไปวัดผลท่านแยกเป็น 4 เลย แยกเป็นภาวนา 4 เพราะตอนแยกนี้ ไม่ใช่ตอนทำงานแล้ว ต้องการความชัดเจนว่าด้านไหนไปได้แค่ไหน ก็แยกเป็น กายภาวนา การพัฒนาด้านความสัมพันธักับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นกายภาพทางวัตถุ แล้วก็ ศีลภาวนา การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านสังคม ด้านเพื่อนมนุษย์ รวมทั้งกษัตริย์ทั้งหลายด้วย แต่ว่าอันนี้แยกได้ชัด กายภาวนา ก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ พวกธรรมชาติ พวกวัตถุ พวกสิ่งเสพบริโภคอะไรพวกนี้ สิ่งที่ตาดู หูฟังอะไรต่างๆ แล้วก็ ศีลภาวนา สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้านสังคม แล้วก็ จิตภาวนา การพัฒนาด้านจิตใจที่อาศัยสมาธิในการฝึกเป็นตัวแกน แล้วก็ปัญญาภาวนา พัฒนาด้านปัญญา อันนี้แปลกมากที่ว่าเรามาเจอทีหลังว่า ฝรั่งมี physical development แล้วก็ mental development แล้ว emotional development และ social development ของพุทธศาสนามี 4 แล้วว่ามาตั้ง 2,000 กว่าปีแล้ว แปลก มาเจอกันตรงกันเป๋งเลย แต่ว่าขอบเขตไม่เท่ากัน ของฝรั่ง physical development เน้นเรื่องสุขภาพร่างกายแข็งแรง ของพุทธศาสนา กายภาวนา หมายถึงการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้ายกายภาพทั้งหมด พัฒนาความสัมพันธ์ว่า สัมพันธ์เป็นไหม เสพบริโภคเป็นไหม กินอาหารเป็นไหม อย่างนี้เป็นต้น กินเป็น สุขภาพดีก็มาเอง ใช่ไหม นี่ก็กายภาพ ศีลภาวนา นี่ก็ด้าน social development แล้วก็จิตภาวนา emotional development แต่เราไปแปล mental development เป็นพัฒนาจิตใจ ขออภัย พลาดมาก เพราะ mental development ของฝรั่งเขาใช้เป็น alternative term กับ intellectual development ลองไปดู ฝรั่งจะใช้ mental development, intellectual development ว่าสองตัวนี้แทนกัน หมายถึงด้านสติปัญญา แล้ว emotional development นั้น ด้านจิตใจ ก็พัฒนาด้านกาย พัฒนาด้านสังคม ของเราเรียงไม่ตรงกับฝรั่ง ของเราเรียง social development หรือว่ามองจากข้างนอกเข้ามา แล้วก็พัฒนาด้าน emotional development ด้านจิตใจ แล้วก็ intellectual development หรือ mental development แต่อันนี้เราไม่นิยมใช้ เราจะใช้ว่า wisdom development การพัฒนาปัญญา แต่ว่าตอนนี้ใช้ในการวัดผล ภาวนา 4 แต่เวลาการศึกษานี่ ขณะปฏิบัติในชีวิตจริงเป็นไตรสิกขา 4นี่คือใช้ในการที่แยกให้ชัด ได้ 4 ด้าน เพราะว่าเวลาปฏิบัติจริงเนี่ย กายภาวนา ศีลภาวนา ข้อเดียวกัน ในเรื่องหนึ่งในขณะหนึ่งเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นกายภาพ หรือเป็นสังคม ใช่ไหม ก็ต้องเอาอันเดียว ฉะนั้นสองอันนี้ในภาวนา 4 เนี่ย 2 ข้อแรกนี่เป็นไตรสิกขา มันจะรวมเป็นข้อเดียว เพราะว่าเอาตามที่มันเป็นจริงตรงนั้น อันนี้ก็คือเรื่องของระบบง่ายๆ อาตมาภาพก็พูดในแง่ที่เห็นว่านี่คือความเป็นจริงตามธรรมดาธรรมชาติ การศึกษามันก็มาจากนี้ มนุษย์มีชีวิตที่แบ่งได้เป็น 3 แดน ต้องไปด้วยกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาจึงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมา ก็เท่านั้นเอง ต่อจากนี้ก็ไปซอยเอา ก็ขอพูดต่อไปว่า อย่างที่อาจารย์ด็อกเตอร์กมลถามเมื่อกี้ว่า เรื่องศีล ก็พอจะเห็น แต่ศีลที่พอจะเห็นนี่ยังไม่ค่อยครบนะ อย่างเรื่องการรับประทานอาหารด้วยการรู้เข้าใจว่าเรารับประทานเพื่ออะไร ไม่เคยถามกันเลย อาตมาเดี๋ยวนี้ยังอยากเสนอให้เอาไปใช้เลย เพราะเวลาพระฉัน บางแห่งก็ให้ว่าในใจ จนกระทั่งไม่รู้ นึกว่าเสกข้าว คือท่านให้พิจารณา บทปฏิสังขาโย ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงรับประทานอาหารนี้ว่ามิใช่เพียงเพื่อเอร็ดอร่อยสนุกสนานมัวเมา แต่เพื่อให้อาหารนี้เป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุนแก่การดำรงชีวิตที่งอกงาม และเพื่อการที่ดำรงอยู่โดยไม่มีความหิว การเบียดเบียนทางกาย แล้วก็เพื่อเป็นอยู่โดยไม่ก่อเกิดความเสียหาย หมายความว่าการรับประทานของเรานี้ ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคมสิ่งแวดล้อม อะไรเนี่ย แล้วก็ให้การรับประทานของเรานี้เป็นไปเพื่อชีวิตที่เป็นอยู่ผาสุก ไม่เกิดโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คำพิจารณาอาหารอย่างนี้ เดี๋ยวนี้อย่างที่วัดเวลาจะฉันก็ให้ว่าดังๆ เลย แต่ว่าเป็นภาษาบาลี ของฝรั่งนี้เขาสวดอ้อนวอนพระเจ้าก่อน ขอขอบคุณพระเจ้า แล้วก็รับประทานอาหาร แต่ของพุทธเรามีมานานแล้วก็คือว่า ให้เราพิจารณาก่อน ก็คือว่าเพื่อให้เป็นการรับประทานด้วยปัญญา ตอนนี้ก็เลยเสนอบางแห่งที่จัดกิจกรรมอบรมเด็กบอกว่า เราไม่ลองเหรอ อาจจะแปลเป็นภาษาไทยก็ได้ พอเด็กจะรับประทานก็ท่องพร้อมกันนะ กล่าวคำพิจารณานี้เลย ว่าเรารับประทานอาหารนี้เพื่ออย่างนี้ๆ ของพระนั่นท่านให้ว่าหมด เป็นประเพณีมาแต่โบราณ เพราะว่าคนจะบวชจะต้องท่องบทปฏิสังขาโย เวลาจะฉันนี่พระจะตักข้าวเปล่ามาช้อนหนึ่งแล้วก็ว่าในใจ ก็เป็นธรรมเนียมไปเลย แล้วเวลาเย็นค่ำก็จะสวดบทนี้เป็นย้อนอดีตอีกทีหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าศีลจะมาช่วยโยงกับสมาธิ แต่ว่าตอนนี้จะต้องมองศีลให้กว้างขึ้น กิจกรรมในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ทั้งกายภาพ วัตถุ ธรรมชาติ แล้วก็ทั้งเพื่อนมนุษย์ แล้วทีนี้ก็มาสมาธิ ด้านจิตใจในที่นี้สมาธิเป็นตัวแทนของเรื่องคุณสมบัติทางจิตใจทั้งหมด ไม่ใช่หมายถึงสมาธิอย่างเดียว เรื่องสมาธิสำหรับเด็กๆ เนี่ย ควรจะเน้นกิจกรรม เพราะเด็กต้องการเคลื่อนไหว ไม่อยากไปเน้นว่าให้เด็กนั่งนิ่งๆ นั่งนิ่งๆ เอาบ้างแต่ว่าให้น้อยๆ หน่อย อย่าไปเน้น หนึ่ง-กิจกรรม เพราะฉะนั้นโบราณเขาทำมาดีแล้ว โบราณเขาเน้นสวดมนต์เพราะอะไร เพราะสวดมนต์นี้เป็นตัวโยงพฤติกรรมให้เรียบร้อยด้วย แต่ในเวลาเดียวกันเป็นตัวทำให้จิตสงบ สำหรับพระเราอย่างผู้เข้ากรรมฐานเขามีการสวดมนต์เพื่อเตรียมจิต เพราะจิตมันวุ่นวายพบอารมณ์ข้างนอกมาเยอะแยะ มานั่งสวดมนต์ไปก่อน จิตมันก็จะสำรวมอยู่กับคำว่าที่มันเป็นสิ่งดีงาม โน้มจิตใจไปอยู่กับสิ่งที่ดีงาม ก็สงบขึ้น จิตก็เริ่มเข้าสู่แนวของสมาธิ ฉะนั้นบทสวดมนต์สำหรับเด็กจะเหมาะกว่า แล้วเราก็เลือกเอาบทสวดมนต์ที่มีความหมาย ให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบัน ในการดำเนินชีวิตของเขา เอาพุทธภาษิตที่ดีๆ แล้วมาเลือก เคยให้ตัวอย่างไป ที่ทำเป็นบทสวดมนต์ง่ายๆ มีเป็นพุทธภาษิตที่แปลได้ด้วย พอนัดสวดมนต์ด้วยกันกับครู เด็กสวดด้วยกันกับครู หรือกับคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ พอสวดจบ คุณพ่อคุณแม่หรือครูก็อธิบาย มาคุยกันเรื่องบทสวดมนต์วันนี้ ในนั้นมีสาระหมดเลย ว่าเราจะดำเนินชีวิตกันอย่างไร เช่นว่าบทสวดที่เป็นเรื่องของ อาตมาเรียกว่า วัฒนมุข มีอบายมุขเป็นฝ่ายไม่ดี แล้วเรามี วัฒนมุข 6 เป็นความเจริญ ก็มีรักษาสุขภาพดี มีระเบียบวินัย ได้คนดีเป็นแบบอย่าง ตั้งใจเรียนให้รู้จริง ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม มีความขยันหมั่นเพียร เรามาเป็นบทสวดเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูก็ได้อาศัยอันนี้มาเป็นข้อปรารภในการคุยกับเด็ก อธิบายให้ฟัง แล้วเด็กก็ได้มีส่วนร่วม มันก็เป็นกิจกรรมที่ว่าเป็นเรื่องสมาธิด้วย เป็นเรื่องศีลด้วย ได้ความรู้ ได้ปัญญา ไปด้วยกันหมดเลย สมาธิแบบนี้น่าเน้น แล้วจะนั่งสงบในสมาธิรูปแบบนั้นซักกี่นาทีก็แล้วแต่ตกลง ก็ได้ด้วยเป็นส่วนหนึ่ง อย่าลืมว่าส่วนที่จะได้แท้เนี่ย โบราณเขาเน้นที่สวดมนต์ แล้วโบราณเนี่น อาตมาจำได้ตัวเองเมื่อเด็กๆ โยมนี่พอทานอาหารเสร็จเรียบร้อย ล้างถ้วยล้างชามแล้วก็มาตั้งวงคุยกัน คุยกัน โยมก็จะเล่าเรื่องนิทาน เช่นชาดกให้ฟัง เราเด็กก็สนุกสนาน บางทีลุกขึ้นเต้นเลยนะ อะไรอย่างนี้เป็นประจำวันเลย ทีนี้ในครอบครัวถ้ามีอย่างนี้ได้ การศึกษาด้วยความคุ้นเคยสนิทสนมกัน ความสัมพันธ์ที่ดี ความรักผูกพันมันก็เกิดขึ้น เดี๋ยวนี้กิจกรรมอย่างนี้มันหายไป เด็กไปอยู่กับทีวี ไปอยู่กับอะไรหมดเลย ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่มี เพราะฉะนั้นต้องฟื้นนะ เจริญพร นี่คือการศึกษาที่เป็นชีวิตจริงนะ เพราะฉะนั้นคิดว่าสวดมนต์นั้นต้องเน้นในแง่กิจกรรม แล้วให้โยงไปหาเรื่องของสมาธิ เรื่องของจิตใจ แล้วก็โยงไปหาเรื่องปัญญา แล้วศีลโยงในแง่ความสัมพันธ์ของครอบครัว เพราะว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ก็เป็นศีลนั่นเอง แล้วก็ในครอบครัวสามารถมีวินัยตั้งกติกาขึ้นมาอะไรต่างๆ เหล่านี้ มันก็เป็นเรื่องของศีลนั่นแหละ ศีลในหมวดที่เรียกว่าข้อปฏิบัติ หรือกฎปฏิบัติ กติกากำกับชุมชน เราก็หัดกันตั้งแต่วินัยในบ้าน ในครอบครัว วินัยในโรงเรียนอะไรต่างๆ เนี่ย ทีนี้ก็เรื่องสมาธิที่อยากจะให้เน้นในแง่การเคลื่อนไหวในกิจกรรม แล้วสมาธิอีกอันหนึ่งก็คือ ซึ่งก็หมายถึงไม่ติดในรูปแบบด้วย คือเราไปติดแค่รูปแบบนั่ง ความจริงนั่งคือเป็นวิธีฝึก การนั่งเป็นรูปแบบ เป็นวิธีในการฝึกจิต จุดมุ่งหมายอยู่ที่การพัฒนาในจิตใจ ทีนี้รูปแบบมันก็เยอะ แต่อย่าลืมว่าสมาธิในพุทธศาสนา เป็นสมาธิในไตรสิกขา ในมรรค ซึ่งเป็น dynamic การเคลื่อนไหว แล้วเป็นการประสานกับองค์ประกอบอื่น สมาธิมันจะเกิดผลก็ต่อเมื่อไปเชื่อมประสานกับปัญญา แล้วได้ศีลมาเป็นตัวคอยค้ำจุน มันไม่ใช่ตัวลำพังนี่ ทีนี้สมาธิมันก็ต้องมาใช้ในเรื่องของการพัฒนาชีวิต ก้าวเข้าไปในมรรค ซึ่งประสานกับองค์ประกอบอื่น ยังไง เช่นอย่างนี้ เราต้องการให้เด็กทำความดี การก้าวหน้าไปในความดีในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี แน่นอนแล้วเป็นสิ่งที่เราต้องการ เราต้องให้เด็กมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ แล้วมีจิตใจที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่พลุ่งพล่าน ไม่กระวนกระวายในการที่เดินหน้าไป เพราะมีจิตใจมั่นใจ มีความสงบมั่นคงในการทำความดีแล้ว เขาไปได้ดี สภาพจิตนี้เราต้องการ ทำไง เช่นว่าให้เด็กรู้เข้าใจ ให้สร้างความเข้าใจแก่เขาว่าสิ่งนี้ที่เราจะสร้างสรรค์มันดีมันเป็นคุณประโยชน์กับชีวิตกับสังคมอย่างนั้น มีเหตุผลอย่างนั้น เด็กทำด้วยความรู้ความเข้าใจ เด็กก็มีความมั่นใจขึ้นที่จะทำ จิตใจก็มีความสุขในการที่จะทำ มีศรัทธาเชื่อมั่นในสิ่งที่จะทำ มีความเพียรพยายามที่จะทำ แล้วจิตก็สงบมุ่งมั่นแน่วไป นี่คือสมาธิ สมาธิในการทำความดี ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมานั่งแล้วก็ใจแน่ว อย่างนั้นเรียกว่าสมถะ คือจิตอยู่กับอารมณ์หนึ่งเดียว แต่ในกรณีนี้เป็นสมาธิที่จิตมุ่งแน่วสงบไปในสิ่งที่ทำ สมาธินี้เป็นสมาธิที่ dynamic และจะพัฒนาไปเรื่อย และจะประสานองค์ประกอบอื่น สมาธิแบบนี้เราต้องการมากเหมือนกันนะโยม เราต้องการให้เด็กของเรานี่มีความแน่วแน่มันใจในการทำความดี ทำสิ่งสร้างสรรค์ ในเขาเกิดสมาธิแบบนี้ได้ สบายใจเลย ทำไงจะมีล่ะ เด็กตอนนี้พลุ่งพล่านกระวนกระวาย ใช่ไหม ฟุ้งซ่าน นึกโน่นี่ ใจไม่แน่วแน่ ไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำ เพราะปัญญามันก็ไม่มี ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนี้มีเหตุผลยังไง เป็นความจริงของมันดีอย่างยิ่งแล้ว ดีต่อชีวิต ดีต่อสังคม ถ้าเด็กเกิดความรู้ มั่นใจในปัญญาแล้วจะมั่นใจที่แท้ เพราะตัวปัญญามันเป็นตัวที่มาสร้างสภาพจิตใช่ไหม มันเป็นตัวปรับเปลี่ยนสภาพจิต ถ้าคนเรามีความรู้อะไร ชัดเจนแน่ใจแล้ว ความมั่นใจมันเกิดเต็มที่ แต่ถ้าแกไม่รู้ ไอ้นี่มันดีไม่ดี แกก็ต้องไหวไปตามเสียงบอก กระแสค่านิยมบ้าง อะไรบ้าง เด็กไทยเดี๋ยวนี้ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรชัดเจน เพราะฉะนั้นแกก็หวั่นไหวไปตามกระแสค่านิยม ใช่ไหม เขาว่าดีก็ดีตามไป เพราะฉะนั้นก็ไม่มีหลักของตัวเอง อย่างนี้เราก็หมด สมาธิไม่มี เด็กก็หวั่นไหวไป วอกแวกไปตาม คอยตื่นคอยดูกระแสจะเป็นยังไง อย่างนี้พัฒนายาก พอพัฒนาเด็กยาก พัฒนาสังคมก็พัฒนายาก ถ้าเด็กของเรามีความรู้ความเข้าใจ มั่นใจในสิ่งที่ทำ รู้ด้วยเหตุผล รู้ว่าความจริงมันเป็นอย่างนี้ แล้วใจมันแน่ว สมาธิมันไปพร้อมกับปัญญา พฤติกรรมมันจะดีด้วย มันก็แน่นแฟ้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไปด้วยกันสบายไปเลย เพราะฉะนั้นสมาธิแบบนี้อาตมาว่าต้องการมาก ที่ท่านอาจารย์ดอกเตอร์กมลถาม เอาไหม สมาธิแบบนี้ มันเชื่อมหมด คือเราจะต้องมองศีล สมาธิ ปัญญา ให้เห็นในการดำเนินชีวิตแต่ละขณะนี้ไปเลย ลองแยกดูส่วนไหนเป็นศีล ส่วนไหนเป็นสมาธิ ส่วนไหนเป็นปัญญา แล้วเราจะเห็นทุกกิจกรรมเลย ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ก็คือการดำเนินชีวิตของเรา มันก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม มันก็ต้องมีเจตจำนง ประกอบด้วยคุณสมบัติทางจิตใจ แรงจูงใจ เป็นต้น แล้วก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจ 3 แดนนี้มันสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฝึก 3 แดนนี้ แดนที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเรียกว่าศีล แดนที่เป็นด้านจิตใจออกมาทางเจตจำนงก็เรียกว่าสมาธิ แดนที่เป็นความรู้ความเข้าใจก็เรียกว่าปัญญา แล้วก็เอา 3 แดนนี้มาประสานกันเข้าไป ก็พัฒนามนุษย์ ก็ไปได้ดี เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ใช่ศีลเฉยๆ เพราะศีลเฉยๆ เดี๋ยวก็เข้าระบบบังคับน่ะสิ ใช่ไหม อันนี้จะรับประทานอาหารให้มีศีลในการใช้เสพบริโภคปัจจัยสี่ อ้าว กลายเป็นว่าให้พิจารณา การพิจารณาก็คือใช้ปัญญาน่ะสิ กลายเป็นว่าเอาปัญญามาทำให้เกิดศีล ใช่ไหม ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคายจึงรับประทานอาหารนี้ว่ามิใช่รับประทานเพียงเพื่อเอร็ดอร่อยสนุกสนานโก้เก๋มัวเมา แต่รับประทานเพื่อจะเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงาม อะไรต่ออะไรก็ว่าไป เนี่ยปัญญามันมา ปัญญามันมาก็ทำให้เรารับประทานอาหารนี้มันได้คุณค่า เรารู้สึกพอใจ มีความสุขในการรับประทานอาหารที่มีคุณค่า แม้มันจะไม่อร่อยเท่าไหร่ ใช่ไหม ปัญญามันทำให้เกิดสภาพจิตที่เป็นสุข ความสุขไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเสพรสอย่างเดียว แต่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่าประโยชน์ที่แท้จริง พอเห็นคุณค่าประโยชน์ที่แท้จริงแล้ว อาจจะรับประทานอาหาร มื้อนั้นอาจจะไม่ค่อยอร่อย แต่เรารู้สึกว่าเราได้ประโยชน์กับสุขภาพของเรา เราก็มีความสุขได้ ปัญญาก็มาปรับสภาพจิต แม้แต่ความสุข ความทุกข์ หรือคนที่เจอความทุกข์ พอมีโยนิโสมนสิการ คิดในทางปัญญา เราเจอความทุกข์ คนที่เจอความทุกข์นี้ต่อไป หนึ่ง-ใช้มันเป็นบททดสอบตัวเองว่าเราจะเข้มแข็ง ผ่านไหม สอง-คนเรานี่จะเจริญพัฒนาด้วยการเจอแบบฝึกหัด ทำแบบฝึกหัด คนที่เจอแต่ความสุขสะดวกสบาย ไม่ได้ทำแบบฝึกหัด พัฒนายาก เราเจอทุกข์นี้ดีแท้ เราก็จะได้ฝึกตัวเองในการแก้ปัญหา จะเข้มแข็งด้วย ปัญญาก็พัฒนาในการแก้ปัญหาต่อไป ก็ชีวิตดีพัฒนามาก พอปัญญามาปั๊บ ทุกข์กลายเป็นสุขเลย เพราะฉะนั้นคนที่ฉลาดก็สามารถหาสุขจากทุกข์ได้ อันนี้ก็คือระบบพัฒนามนุษย์ที่ไปด้วยกัน พร้อมกันหมด ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไปพร้อมๆ กัน อาตมาชักพูดคนเดียวแล้ว
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ไม่ค่ะ รู้สึกว่าผู้ฟังจะได้เกิดปัญญา แล้วท่าน
ด็อกเตอร์กมลก็ไม่ข้องใจอีกต่อไปแล้ว ใช่ไหมคะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ต้องมองว่าเรื่องการศึกษาแนวพุทธ ในที่นี้เราไม่พูดแบ่งแยกเป็นเรื่องศาสนาอะไรทั้งนั้น เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมดา แล้วเราได้ความคิดนี้มา เราเห็นว่าโยงไปหาความจริงได้ เอามาจับกับสภาพชีวิต การพัฒนามนุษย์ สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ สอง-มันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่อยู่กับชีวิตทุกขณะตั้งแต่เกิดมา การศึกษาก็ต้องเริ่มที่บ้าน กับกิจกรรมของชีวิตทุกขณะ การกินอยู่ รับประทานอาหาร ใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ใช้สอยสิ่งต่างๆ จะซื้ออะไรก็อาจจะถามสักหน่อย หนูลูกที่หนูจะซื้อเนี่ย ประโยชน์ของสิ่งนี้มีประโยชน์ต่อชีวิตของเราอย่างไร ความมุ่งหมายที่แท้จริงคืออะไร อย่างนี้ ให้เขารู้จักใช้ปัญญาคิด เพื่อจะฝึกศีล ก็เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่มีอยู่ในชีวิตธรรมดาของเรา แล้วก็เรื่องที่ว่าสมาธิให้เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับกิจกรรมการเคลื่อนไหว สำหรับเด็กนะ มุ่งสำหรับเด็ก แล้วก็ให้ประสานกับองค์ประกอบอื่นในระบบของมรรค หรือไตรสิกขาเนี่ย ให้มันเป็นเรื่องที่คืบเคลื่อนหรือ dynamic ไม่ใช่ว่าจะต้องมานิ่ง ถ้าสมาธินิ่งอยู่อย่างเดียว เป็นสมาธิแบบโยคีในอินเดีย โยคีอินเดียเขาทำสมาธิเพื่อเขาจิตนิ่ง ดื่มด่ำ แล้วต่อไปจิตเขาจะได้ไปรวมกับอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเขาก็ดูดดื่มลงไปในนั้น แล้วเขาก็ทำฌานกีฬา เล่นฌาณ แล้วเขาก็ไม่ไปไหน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ ก็เรียกว่าตัดขาดจากสังคมไปเลย ทีนี้สมาธิในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้บทเรียนจากสมาธิของโยคีว่ามันไม่ถูก พระพุทธเจ้าจึงมาจัดสมาธิที่มันโยงในระบบการศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธินั้นจะต้องเกื้อหนุนปัญญา โดยสร้างสภาพจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน ต่อไปจิตที่เหมาะแก่การใช้งานก็คือการใช้ปัญญา พัฒนาปัญญา แล้วก็โยงกันไปทั้งระบบนะ ในไตรสิกขานั้นเป็นระบบใช่ไหม เจริญพร แล้วก็เป็นองค์รวมในตัว มันก็เป็นบูรณาการเสร็จ มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ ทีนี้ที่อยากจะย้ำอันหนึ่งก็คือว่าสังคมไทยเรานี้ อาตมาภาพมองอย่างนี้นะ เจริญพร คือมองว่าเรารับพุทธศาสนาเข้ามา แต่เราว่าโดยรวมนะ คือบุคคลอาจจะมีบางท่านที่เข้าถึง แต่โดยสังคมส่วนรวมนี่เราพยายามก้าวไปหาพุทธศาสนา เราก้าวไปได้ระดับหนึ่ง ที่เราก้าวไปได้ดีพอสมควรนี้ ด้านหนึ่งก็คือด้านจิตใจ ด้านเมตตากรุณานี้ ก้าวไปได้ดี จนกระทั่งเป็นสังคมที่มีน้ำใจ เป็นสังคมที่เด่นในเรื่องของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขอใช้คำว่ามีวัฒนธรรมมีเมตตาสูง สังคมไทยนี้ แต่อันหนึ่งที่พระพุทธศาสนาเน้นมาก แล้วเป็นตัวยืนของพุทธศาสนา ซึ่งเลยขั้นจิตใจ ตัวที่จะมาทำให้จิตใจพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง ก็คือด้านปัญญา สังคมไทยยังก้าวไม่ค่อยถึงเท่าไหร่ หมายความว่าพูดโดยรวมนะ สังคมไทยรับพุทธศาสนาเข้ามา แล้วเราก็พยายามนำสังคมไปในวิถีพุทธศาสนา เรามาได้แค่ระดับจิตใจ ได้วัฒนธรรมเมตตา ต้องภูมิใจตัวเอง แต่วัฒนธรรมทางปัญญา แม้แต่ความใฝ่รู้ การแสวงปัญญานี้ เราอ่อนเหลือเกิน ทำไม ทั้งๆ ที่พุทธศาสนาเน้นเรื่องปัญญา ทำไมสังคมไทยอ่อนนักในเรื่องการแสวงปัญญา ต้องถามแล้วนะ เพราะฉะนั้นอาตมาว่าเราต้องเดินหน้าอันนี้ ถ้าจะใช้แนวพุทธ ต้องก้าวไปสู่วัฒนธรรมระดับปัญญาให้ได้ แต่ว่าอย่าทิ้งวัฒนธรรมเมตตานะ ตอนนี้เรากำลังจะสูญเสียอันเก่าที่ได้แล้ว และอันที่ยังไม่ได้ทำ ก็ไม่เดินหน้าด้วย วัฒนธรรมเมตตาที่เคยได้ดีมาแล้ว ก็กำลังจะเสียหมด คนไทยกำลังจะโหดร้าย ไม่มีความเมตตากรุณาแม้แต่คนในครอบครัว ทิ้งกันได้ แม่ทิ้งลูก ลูกฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ อะไรต่างๆ เหล่านี้ วัฒนธรรมแห่งเมตตา ความเป็นพี่เป็นน้องกำลังจะหมด ในขณะที่วัฒนธรรมแห่งปัญญาก็ไม่พัฒนา ก็เสียสองเลย ดีที่มีอยู่ก็รักษาไว้ไม่ได้ ดีที่ยังไม่ได้ก็ไม่พยายามทำให้ดี ฉะนั้นจะต้องไปให้ได้ หนึ่ง-รักษาวัฒนธรรมแห่งเมตตาไว้ สอง-ก้าวไปในวัฒนธรรมแห่งปัญญาที่ยังไม่ถึง สำหรับอาตมานะ ความคิดส่วนตัว มั่นใจว่าถ้าเราพัฒนาให้ดี ด้านปัญญานี้เราไปได้ดีกว่าฝรั่ง เชื่อมั่นมาก คือวัฒนธรรมฝรั่งนี้ วัฒนธรรมแห่งปัญญาเขาเน้นมาก ถ้าความเมตตานี้เขาไม่ค่อยได้ วัฒนธรรมแห่งปัญญา คือวัฒนธรรมแสวงปัญญา ทำได้เก่ง แต่การแสวงปัญญาของเขา เกิดจากบีบคั้นในภูมิหลังใช่ไหม เรื่องของภูมิหลังทางสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ อะไรนี่ เขาบีบคั้นมาก ทำให้เราต้องคิดหาทางแก้ปัญหา แล้วก็ทำให้เขาเกิดการใฝ่รู้ แล้วก็พัฒนาระบบในการที่จะแสวงปัญญาขึ้นมา ตลอดจนวิทยาศาสตร์ แล้วเขาก็ไปพัฒนาวัฒนธรรมแสวงปัญญาในทางวัตถุ ก็เจริญในทางวิทยาศาสตร์ แต่มันไม่เป็นองค์รวม ปัญญาของเขามันเป็นปัญญาแยกส่วน ปัญญาแยกส่วน ไม่ใช่ปัญญาองค์รวม ทีนี้ถ้าเราเข้าทางแนวนี้นะ เป็นปัญญาองค์รวมเลย คนไทยเราจะต้องรักษาสิ่งดีที่ตัวมีให้ได้ แล้วก้าวไปเอาสิ่งดีที่ยังไม่มีให้ได้ด้วย คิดว่าต้องทำยังไง
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ดิฉันคิดว่าประเด็นนี้ชัดมากเลย เป็นแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการต้องยึดและเดินหน้าต่อไป การพัฒนาคือรักษาวัฒนธรรมแห่งเมตตา แล้วก็พัฒนาวัฒนธรรมแห่งปัญญา ตรงนี้คิดว่าจะเป็นแนวของเรา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : การเข้าถึงพุทธศาสนา พุทธศาสนานี่ตัดสินอยู่ที่ปัญญา ถ้าไม่พัฒนาปัญญา โพธิไม่เกิดใช่ไหม การตรัสรู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ตรัสรู้ด้วยเมตตา เมื่อมีปัญญาถึงที่สุดแล้ว จะกลับมาเป็นเมตตากรุณาที่แท้ ถ้าเราไม่มีปัญญาเต็มที่เข้าถึงสัจธรรมนี่ เมตตากรุณาของเราเป็นแต่เพียงการสร้างสภาพจิตด้วยการเคยชินเป็นต้นเท่านั้น และสร้างความโน้มเอียงเท่านั้น แต่ไม่เป็นเมตตากรุณาที่แท้ด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องประสานด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นคนไทยจะต้องก้าวไปในนั้นให้ได้ ก็ขออนุโมทนาท่านรัฐมนตรีด้วย อาตมาพูดไปแล้วก็ไม่รู้ท่านมีธุระอะไรต่อหรือเปล่า
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : มีความรู้สึกว่าทุกคนจะเพลิน เพราะทำให้ชัดเจนขึ้น เพราะว่าเมื่อเราได้แนวคิดของการพัฒนาโรงเรียนแนวพุทธ ซึ่งครั้งแรกเนี่ย แม้แต่ชื่อเราก็ยังลังเลว่าจะเป็นอิงวิถีพุทธหรือจะเป็นแนวพุทธ ในวันที่ 25 ธันวาคม เมื่อปลายปีที่แล้วนั้น เราก็พูดกันเล่นๆ ว่า ยังมีแต่เชื่อเล่น แต่วันนี้คงจะมีชื่อจริงที่ชัดเจน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ต้องใช้ให้ไม่มีความรู้สึกรังเกียจ สบายใจที่จะใช้ เพราะว่าเข้าใจความหมายชัด
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ค่ะ มีความรู้สึกภูมิใจที่จะทำโรงเรียนนี้ ทำให้เป็นโรงเรียนที่เป็นหลัก คงไม่ได้คิดถึงว่าต้องเป็นโรงเรียนที่ยอดนิยม เป็นโรงเรียนที่เด็กปลอดภัย แล้วเจริญเติบโตด้วยปัญญา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ทีนี้ถ้าเราตกลงในหลักการนี่ก็มาหลักการปฏิบัติในระดับกาลเทศะ ตอนนี้เราก็จะดูสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม โลก สังคมไทยเป็นยังไง มีความต้องการในระดับไหนมาก จะต้องเน้นวิชาการแง่ไหน อันนี้เป็นเรื่องเฉพาะกาลเทศะ แล้วก็คนที่รู้หลักการพื้นฐาน ก็คือการศึกษาระยะยาวตั้งเป็นหลัก แล้วก็การศึกษาเพื่อกาลเทศะก็เข้ามา คือจัดเพื่อสนองความต้องการสังคม เป็นต้น ก็จะได้ทั้งสอง คือการศึกษานำสังคม กับการศึกษาที่ตอบสนองสังคม เวลานี้เราจะไปเน้นการศึกษสนองความต้องการสังคม ซึ่งเป็นการศึกษาแบบตามสังคม อย่างนี้การศึกษาช่วยสังคมไม่ได้มาก ใช่ไหม เจริญพร ก็สังคมมีความต้องการแรงงานด้านนี้เท่านี้ ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เท่านี้ การศึกษาก็ไปจัดการศึกษาพัฒนาคนให้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านนั้นขึ้นมา ถ้าสังคมเดินทางผิด การศึกษาก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เป็นการศึกษาตามสังคม สนองเขาเท่านั้นเอง การศึกษาที่ดีต้องนำสังคมใช่ไหม เป็นตัวปรับตัวแก้ สังคมอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เดินทางผิดแล้ว ก็ต้องนำสังคม เพราะฉะนั้นจะต้องทำสองอันนี้ไปด้วยกัน ควบคู่กัน การศึกษาที่นำสังคมนี้จะต้องเป็นตัวยืน แล้วการศึกษาที่ตามสนองสังคมตามความต้องการนี้ ก็ตามเฉพาะกิจเฉพาะหน้า ก็คือตอนนี้เราพูดถึงหลักการใหญ่ที่จะนำสังคมแล้ว แล้วก็มาพูดถึงว่าตามสนองความต้องการเฉพาะหน้า เวลานี้เราอยู่ท่ามกลางโลกที่เป็นอย่างนี้ ประเทศที่พัฒนาเขาไปอย่างนี้ กระแสเขาเป็นอย่างนี้ ประเทศของเรามีความขาดแคลานด้านนี้ บกพร่องด้านนี้ จะต้องเน้นอย่างนี้ อะไรอย่างนี้ อันนี้ก็ต้องเอานะ ทิ้งไม่ได้เหมือนกัน ตรงนี้ก็เป็นจุดที่เราจะต้องมาสร้างความชัดเจนเหมือนกัน ในสังคมไทยขณะนี้ จุดอ่อนจุดบกพร่องอะไร เปรียบเทียบกับสังคมอื่น แล้วก็ต้องสร้างความแน่นหนาความเข้มแข็งด้านนั้นขึ้นมา แต่คิดว่าความเข้มแข็งทางปัญญาต้องเป็นอันดับหนึ่ง แล้วถ้าความเข้มแข็งทางปัญญาที่แท้เกิดแล้ว ความเข้มแข็งทางจิตใจ ความมั่นใจก็จะมาจริงๆ ทีนี้เราจะให้คนเข้มแข็งทางจิตใจ ถ้าปัญญามันง่อนแง่น มันไปไม่รอดหรอก แล้วเข้มแข็งทางพฤติกรรมมันก็ไม่ไหว จิตใจไม่เข้มแข็ง ปัญญาไม่เข้มแข็ง มันไม่รู้ชัด มันทำไปในที่สุดพฤติกรรมก็ง่อนแง่น
ท่านที่ปรึกษาบุญนำ : สมมติว่ามีโรงเรียนที่ผู้บริหารเขาเอาใจใส่มาตั้งแต่ต้น มีรากฐานของโรงเรียนที่ดีนะคะ แล้วก็มีความเมตตากรุณาดูแลเด็กอย่างดี ไม่ทิ้งภาระหน้าที่ อันนั้นน่าจะจัดว่าเป็นโรงเรียนแนวพุทธแล้วไหมคะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็คืออย่างน้อยในแง่วิถีชีวิตวัฒนธรรมทั่วไประดับจิตใจ ระดับจิตภาวนาหรือสมาธิ แล้วระดับจิตใจมักจะพาศีลมาด้วย เพราะเขามีจิตใจดีงามอย่างนั้น แล้วก็รักษาความประพฤติความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้ดีด้วย แต่ว่าศีลของเขานี่อาจจะเป็นในแง่สังคม และศีลในการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม ต่อวัตถุเสพบริโภค อาจจะยังหย่อนก็ได้นะ อาตมาว่าเวลานี้สังคมไทย ศีลอันนี้หย่อนมาก ศีลในเรื่องการรู้จักปฏิบัติต่อสิ่งเสพบริโภคเนี่ย จึงไหลไปตามกระแสค่านิยมไง จึงได้เน้นตอนนี้ว่า การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น กินด้วยความรู้เข้าใจด้วยปัญญา กินเพียงได้เสพได้บริโภคด้วยตัณหา ใช่ไหม เด็กไปตามกระแสค่านิยม กินเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย ได้คุณภาพหรือเปล่าไม่รู้ กินตามค่านิยม โก้เก๋ อวดมั่งมีฐานะ ไปแล้ว ไม่มีปัญญา ไม่รู้ความมุ่งหมายที่แท้ของการกิน ศีลปั๊บมาเลยบอกว่าคุณกินเพื่ออะไร ต้องให้ได้คุณค่าที่แท้ ก็คือการได้สุขภาพ ปริมาณอาหารคุณกินพอดีที่จะให้สุขภาพดีไหม ประเภทอาหารได้ไหม คนกินมีศีล ก็กินด้วยความรู้เข้าใจความมุ่งหมายของการกิน ก็กินพอดี แล้วก็หมดปัญหาเลยไอ้เรื่องที่จะทำตามค่านิยม ก็รู้เท่าทัน ว่าเราอยู่ในสังคมนี้ เขานิยมกันอย่างนี้ เราก็อย่าให้เขาดูถูกได้ แล้วก็ปฏิบัติพอเหมาะพอสม เข้าในสังคมชุมชน แต่ว่าเราอย่าไปหลงนะ เด็กก็มีหลักสิ ทีนี้เด็กตอนนี้ไม่มีหลัก มีแต่โดนเขาล่อ จูง เร้าใจ ยั่วยุ ไปที่มันเสพบริโภคตามกระแสค่านิยม ก็เลยไม่ได้อะไรขึ้นมา ฉะนั้นเรื่องเสพบริโภค ศีลข้อนี้อาตมาว่าต้องเน้นในโลกปัจจุบัน จึงว่าถ้าเด็กไทยนะ ได้ศีลแค่ กิน อยู่ ดู ฟังเป็น เท่านั้นแหละ สังคมไทยอยู่ได้เลย กินอยู่เสพบริโภค ดูฟังก็ศีลอิทรีย์สังวร ใช่ไหม การปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม ดูฟังเป็น ดูโทรทัศน์เป็น ฟังอะไรต่ออะไรเป็น ใช้สื่อพวกอินเทอร์เนตอะไรต่ออะไรเป็น เท่านี้แหละ สังคมไทยก็เดินหน้าเลย ใช้เพื่อปัญญาแล้ว ใช่ไหม เจริญพร ก็จึงต้องถามเด็กบ่อยๆ หนูดูทีวีเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ดูทีวีเพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ พอถามเด็กนะ เด็กประถม ตอบหนูดูเพื่อเสพ 99 เปอร์เซนต์ ใช่ไหม เจริญพร แค่นี้ เด็กไม่เคยคิด พอถามเด็กรู้เลย แป๊บเดียวเด็กเข้าใจ เริ่มได้ความคิด บอกเอาแล้วหนู ดูเพื่อเสพ 99 เปอร์เซ็นต์ ดูเพื่อศึกษาไม่ถึงเปอร์เซ็นต์เนี่ย แล้วหนูทำถูกไหม เด็กบอก ไม่ถูก แล้วไม่ถูกแล้วทำไง หนูจะต้องแก้ไข แล้วตกลงสิหนูลองคิดดูจะเอายังไง ต่อไปนี้ เด็กบอกหนูจะดูเพื่อเสพ 50 ดูเพื่อศึกษา 50 บอกว่ามากไปๆ สังคมไทยเวลานี้เขานิยมไปทางเสพมาก ตอนนี้ยอมให้หนูเสพมากๆ ก็ได้ ตกลงหนูบอกว่าเอาเสพ 70 ศึกษา 30 บอกไม่เป็นไร เริ่มแค่นี้ก็ได้ ต่อไปก็ค่อยๆ ปรับ
ท่านที่ปรึกษาบุญนำ : มีคำถามได้ไหมคะ ท่านคิดว่าที่เราเตรียมจะทำเนี่ย เป็นไปได้ไหมคะ น่าวิตกไหม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ไม่น่ากลัวเลย เพราะว่ามันเป็นของสอดคล้องความเป็นจริงธรรมชาติ ชีวิตมันต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือการศึกษาที่อยู่กับชีวิตความเป็นจริง ก็กินอยู่ดูฟัง การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การมีเจตจำนง จิตใจ คุณสมบัติอย่างไร มีสุขมีทุกข์ มีปัญญาความรู้เข้าใจใช่ไหม ก็เป็นเรื่องของชีวิตประจำวันทุกขณะ เพราะฉะนั้นแต่เพียงว่าเอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ปฏิบัติต่อมันให้ถูกแค่นั้น
ท่านที่ปรึกษาบุญนำ : เพราะฉะนั้นดิฉันมีความรู้สึก เอ นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่เกิด แล้ว 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของเราเป็นชาวพุทธ แต่ทำไมเวลาเราพูดถึงโรงเรียนแนวพุทธ เราจะยกตัวอย่างแค่ 2 โรงเรียน ดิฉันรู้สึกอึดอัดขัดข้องมากๆ เราน่าจะคิดว่ามีหลายโรงเรียนแล้วขณะนี้ แต่ว่าเราไม่ได้ชูประเด็นขึ้นมา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ไม่เป็นไร มี แต่ว่าเรายังไม่ได้ไปตามดู แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คือหลายแห่งอาจจะจัดมา แต่จะจัดตามตามวัฒนธรรมเอื้อ ถือกันมา สืบกันมา รู้ตามกันมาว่าอย่างนี้เป็นชาวพุทธ ก็เลยทำอย่างนี้ ใช่ไหม อันนี้ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมเอื้อ แต่ตอนนี้ 2 โรงเรียนนี้หมายความว่าการศึกษาในแง่หลักการ ว่าหลักการพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ ทีนี้ก็คิดอย่างหนึ่งเพราะการศึกษามันเป็นอย่างนี้ มันก็เริ่มตั้งแต่เด็กเกิด แล้วคนที่ให้การศึกษาสำคัญ พุทธศาสนาก็บอกแล้วว่าพ่อแม่เป็นบูรพาจารย์ เป็นครูต้น เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องเริ่มต้นที่บ้าน ที่นี้ก็มานึกว่าในแง่นี้ ทำยังไงจะให้โรงเรียนโยงการศึกษาไปถึงบ้าน เป็นตัวกระตุ้นให้บ้านทำหน้าที่ ถ้าทำอันนี้ได้นะ อาตมาว่าสังคมไทยประสบความสำเร็จมาก คือโรงเรียนนี้จะไม่จำกัดบทบาทอยู่เฉพาะที่โรงเรียน โรงเรียนนี้จะเป็นตัวกระตุ้น หรือจะเรียกว่านำ หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้การศึกษาที่บ้านต้องดำเนินไปด้วย แล้วเป็นพี่เลี้ยงพ่อแม่ด้วย ในเรื่องของการจัดการศึกษาให้กับลูก พอมีลูกก็ให้ตระหนักในบทบาทของพ่อแม่ในฐานะเป็นครูต้นแบบ ที่พระท่านเรียกว่าเป็นบูรพาจารย์ เป็นอาจารย์คนแรก แล้วก็ช่วยเด็กให้พัฒนาชีวิตได้อย่างดี เป็นอยู่ กินอยู่เป็น ดูเป็น ฟังเป็น อะไรเป็นต้น ถ้าหากว่าโรงเรียนทำหน้าที่นี้ได้ อาตมาว่าก็เป็นก้าวใหญ่ของการศึกษา ซึ่งเป็นก้าวที่น่าจะเป็นเนื้อแท้ด้วย คิดว่าอย่างนั้นนะ คือต้องไปประสานกับบ้าน
ท่านที่ปรึกษาบุญนำ : ฟังแล้วมีกำลังใจขึ้นเยอะ
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : จากมีกำลังใจแล้วมีหลักที่ชัดเจนมาก ที่จริงโรงเรียนหลายๆ โรงเรียนก็มีเรื่องของการกระตุ้นไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง หลายโรงเรียนก็มีเรื่องของความเป็นพุทธอยู่ บางโรงเรียนก็มีเรื่องของการนำไปสู่ปัญญา แต่ว่าถ้าเรานำจุดเด่นๆ ต่างๆ เหล่านี้มาพัฒนาให้เป็นองค์รวม แล้วอยู่ในโรงเรียนเดียวกันได้ ดิฉันคิดว่าเหมือนจะเป็นโรงเรียนที่จะนำชัยชนะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ทีนี้ขอเติมอีกนิดหนึ่ง คือด้านสมาธิเรามักจะไม่ค่อยเน้นกัน คือคุณสมบัติที่คู่กับสมาธิที่เราพูด สมาธิที่เราพูดคือคำว่า จิตสมาธิ เป็นสมาธิของจิต เป็นสมาธิของจิตใจก็คืออาการที่จิตใจมันแน่วแน่มั่นคง อยู่กับสิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่วอกแวกฟุ้งซ่านไป แต่ทีนี้ว่าการที่จิตสมาธิจะเกิดนั้น มันมี ธรรมสมาธิ พระพุทธเจ้าตรัสไว้สำคัญ พอคนปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา เจริญในไตรสิกขานี่ มันจะมีธรรมสมาธิเกิดขึ้น ธรรมสมาธิเกิด แล้วก็จะเกิดจิตสมาธิ ธรรมสมาธิก็คือการที่ประสานแน่วของธรรมะคือคุณสมบัติต่างๆ ที่ท่านมีไว้ 5 ประการ ฉะนั้นเด็กก็จะมีคุณสมบัตินี้ ซึ่งเป็นสุขภาพจิตที่ดีนะ 5 ตัวนี้สร้างให้ได้ พระพุทธเจ้าเน้นไว้บ่อย หนึ่ง-ปราโมทย์ แปลว่าความร่าเริงเบิกบานใจ นี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของจิตใจ คือสภาพจิตสามัญเด็กจะต้องเป็นอย่างนี้ มีปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานใจ เป็นคนที่มีจิตใจร่าเริงเบิกบาน ปราโมทย์นะ พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าผู้ที่มากด้วยปราโมทย์จะทำทุกข์ให้หมดสิ้น จะบรรลุนิพพาน ใครมีปราโมทย์อยู่เสมอนี่ใกล้นิพพานแล้ว หนึ่ง-ปราโมทย์ สอง-ปิติ ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ทำอะไรทำด้วยใจรัก ทำแล้วพอทำได้ก้าวไป คืบหน้าไป ก็มีปิติอิ่มใจ ปลื้มใจ แม้แต่กวาดบ้าน กวาดไปก็ทำด้วยใจรัก อยากให้มันสะอาด พอเห็นความสะอาดหน่อย ก็ปิติ อิ่มใจ ปลื้มใจ เนี่ยได้เรื่อยเลย เขาจะไม่ทำงานด้วยความเครียด เขาจะไม่ทำงานด้วยความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ จะมีกำลังใจทำด้วยความสุข สุขภาพจิตดี สอง-ปิติ ทำอะไรก็ปิติอิ่มใจ สาม-ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย อันนี้คู่ตรงข้ามกับสภาพจิตของคนปัจจุบัน เครียด อันนี้ผ่อนคลาย ปัสสัทธิ แปลกันว่าความสงบเย็นผ่อนคลาย กายใจผ่อนคลาย ไม่เครียด ก็พอมีปราโมทย์ มีปิติ แล้วนี่ ปัสสัทธิ ก็มา ผ่อนคลาย สบาย แล้วก็สุข สุขก็คือความฉ่ำชื่นรื่นใจ คล่องใจ ไม่มีอะไรบีบคั้น สุข แล้วก็สมาธิ ใจก็อยู่กับสิ่งที่ทำแน่วแน่ไป ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก มั่นคง ยิ่งมีปัญญามาช่วย เราเห็นเหตุผล เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำ ยิ่งมั่นใจใหญ่ สมาธิยิ่งแน่วเลย แล้วสมาธิตัวนี้ก็จะมาทำให้พฤติกรรมนี้มั่นคง ได้ผล สมาธิก็จะมาเป็นตัวประสานเลย ที่เราพูดๆ กันว่า การพัฒนาด้าน emotion นั้น ก็นี่แหละจุดสำคัญ คือเรื่องปิติปราโมทย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาจิตใจด้านภายใน เป็นสภาพจิตที่ต้องการ หรือเป็น emotion ที่พึงประสงค์ พร้อมกันนั้นที่คู่กันก็คือ emotion หรือสภาพจิตที่แผ่ออกไปภายนอก มีเมตตากรุณาเป็นต้น สองด้านนี้เป็น emotion หรือสภาพจิตที่พึงประสงค์อย่างแท้จริงที่ควรจะพัฒนาให้เกิดขึ้น ก็เรียกว่าเป็นการพัฒนาด้านจิตใจ หรือจิตภาวนา นี่ก็ให้ธรรมสมาธิเกิด ให้เด็กมีอยู่เรื่อย ปราโมทย์ ปิติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ ที่พระพุทธเจ้าเน้นอยู่เรื่อย ถ้าก้าวไปในหลักปฏิบัติของพระองค์แล้วเนี่ยมีอยู่ 5 อย่างนี้ เจริญพร
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : คือปราโมทย์ ปิติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นี่คือสภาพจิตที่ประสงค์ 5 ประการ
ท่านที่ปรึกษาบุญนำ : ท่านเจ้าคุณค่ะ ด็อกเตอร์กมลก็เป็นหัวหน้า เป็นประธาน คงต้องทำคู่มือไหมคะท่าน เพราะอย่างที่ท่านเทศน์มาเมื่อกี้ ความจริงก็ถ้ามีคู่มือด้วย ที่ทางปฏิบัติควรจะไปในจุดนั้นใช่ไหมคะ ดิฉันว่าหนักใจตอนทำคู่มือ เราจะใช้ขอบเขตยังไงดีนะ
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ไม่หนักใจ เพียงแต่นำที่มีอยู่แล้วบางจุดเป็นหย่อมๆ เราคงจะสำรวจในประเทศของเรานะคะ ว่ามีที่ไหน แล้วก็จัดระบบตามแนวที่ท่านเจ้าคุณได้กรุณาให้ไว้ตรงนี้นะคะ แล้วก็ควรจะเป็นกรอบที่ยืดหยุ่น คงจะไม่ใช่เหมือนที่เขาชอบพูดกันว่าเป็นเสื้อตัวเดียวที่ใส่กันทุกโรงเรียน โรงเรียนคงจะไปปรับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือหลักการนี่อันเดียวกัน ทีนี้พอไปสู่รายละเอียดแล้ว มันไปสัมพันธ์กับกาลเทศะ ทีนี้จัดได้สบายเลย ขอให้เข้าใจหลักการพื้นฐานแล้วกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำ หนึ่ง-ก็คือพูดถึงความเป็นจริงของโลกและชีวิต ใช่ไหม พูดถึงสภาพความเป็นจริง สอง-พูดถึงหลักการพื้นฐานให้ได้ก่อน แล้วสาม-ก็จุดเน้นสำหรับสังคมไทย อันนี้ก็เป็นเรื่องกาลเทศะ ก็ขาดไม่ได้เหมือนกัน ขอเติมอีกนิดเดียว คือเรื่องความสุขนี้เรื่องใหญ่ คือเราลืมแง่ของพระพุทธศาสนาอันนี้ ถ้าเปิดดูในพระไตรปิฎก ความสุขเป็นเรื่องใหญ่มาก ผู้ปฏิบัติในพุทธศาสนา จะเจริญในความสุข แม้แต่ 5 ตัวนั้น สุขก็เป็น 1 ใน 5 ปราโมทย์ ปิติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ ที่นี้สุขเนี่ย เช่นอย่างพระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็นนิพพานเป็นทุกข์ ผู้นั้นไม่มีทางจะได้บรรลุ ผู้ใดมองเห็นนิพพานว่าเป็นสุข ก็มีทางที่บรรลุได้ แล้วผู้บรรลุเป็นอรหันต์ ก็จะมีการอุทานว่าสุขจริงหนอนี้อยู่เรื่อยๆ หรืออย่างพระพุทธเจ้าก็ยืนยันพระองค์ว่าเราเป็นสุข คือมีผู้เทียบถามว่าพระองค์มาเที่ยวจาริกไป ไม่มีที่อยู่ที่สบาย อะไรต่ออะไร เที่ยวจาริกเดินทางไปเที่ยวโปรดคนนอนกลางดินกินกลางทราย อย่างนี้จะมีความสุขอะไร พระพุทธเจ้าก็ถามแล้วใครมีความสุข เขาก็บอกว่าพระเจ้าพิมพิสาร เขานึกไม่ออก เขาไม่รู้จะเอาใคร เขาเอาพระเจ้าแผ่นดินแคว้นนั้น มีทุกอย่าง สุขที่สุด พระพุทธเจ้าก็ตรัสถาม จริงเหรอ บอกว่าพระเจ้าพิมพิสารจะนั่งเสวยสุขทั้งวันได้ไหม เขาคิดไปคิดมาก็ตอบ ทำไม่ได้ แต่เราสุขตลอดเวลาเลย จะนั่งเฉยๆ ให้เป็นสุขตลอดวัน ก็สุขได้ คือพุทธศาสนาเน้นมากเรื่องความสุข เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาถ้าจะพูดในแง่หนึ่ง พุทธศาสนาก็คือ การพัฒนาความสุข ทีนี้เราเริ่มจากสุขจากเสพบริโภค นี่สุขของปุถุชน ต่อมาสุขจากการกระทำ วันนี้อาตมาว่าต้องทำให้ได้นะเด็กไทย เด็กไทยไม่ใช่เป็นแต่เพียงนักบริโภค ต้องเป็นนักผลิต แล้วเป็นนักสร้างสรรค์ ทีนี้ที่จะก้าวไปสู่ขั้นสร้างสรรค์นักสร้างสรรค์เนี่ยมันต้องมีความสุขจากการกระทำด้วย ตอนนี้เด็กไทยกำลังขาดมาก ไม่มีความสุขจากการกระทำ มีความสุขจากการเสพบริโภค เห็นการกระทำเป็นเรื่องทุกข์ ถ้าอย่างนี้จบ สังคมไทยไปไม่รอด ต้องพัฒนา การศึกษาจะต้องช่วยให้เด็กมีความสุขจากการกระทำได้ พอเด็กมีปัญญารู้เข้าใจ ที่ท่านเรียกว่าฉันทะ อยากเห็นสิ่งนั้นๆ มันดี คือเดี๋ยวนี้คนไทย ขออภัยนะ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วก็แคบมาก พอพูดถึงความอยาก ก็พบว่าความอยากนี้ก็ไม่ดี ที่จริงพระพุทธศาสนาก็บอกไว้ชัด ความอยากมี 2 อย่าง ความอยากที่เป็นกุศล กับความอยากที่เป็นอกุศลอย่างเราไปเห็นกระรอก เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ ใช่ไหม เห็นกระรอก ถ้าคิดว่าจะทำยังไงจะเอากระรอกมาลงหม้อแกงจะได้กินอร่อย อย่างนี้เรียกว่าเป็นความอยากแบบอกุศล เรียกว่าตัณหา ถ้าเห็นกระรอกแล้วชื่นชมในความงามของมัน โอ มันวิ่งไปวิ่งมา มันทำท่าอย่างนั้นอย่างนี้น่าดู แล้วก็อยู่ในธรรมชาติแวดล้อมรื่นรมย์ แหม ชื่นชมกับสภาพที่ดีอันนี้ และอยากให้มันมีสุขภาพดี สวยงามอย่างนี้ต่อไป ความอยากเหล่านี้ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย ความอยากต่อสิ่งนั้น ชื่นชมให้มันดี อย่างนี้ท่านเรียกว่าฉันทะ ตัวนี้มาเมื่อไหร่พระพุทธเจ้าตรัสว่ารุ่งอรุณของการศึกษา เป็นความอยากที่ถูกต้อง ถ้าอยากเห็นอะไรได้อยากจะเสพอย่างนี้ ไปไม่รอดเลย เพราะสุขทุกข์อยู่กับชอบใจไม่ชอบใจ แต่พออยากชอบทำในสิ่งที่ดีและอยากให้มันดีต่อไป ยิ่งดียิ่งขึ้น นี่ฉันทะมาแล้ว ความอยากต่อสิ่งนั้นๆ ไม่ได้เกี่ยวกับตัวตน ไม่ได้อยากจะได้จะเอานี่ ใช่ไหม พอไปเห็นหญ้าเรียบเขียวสวยงาม ชื่นชม อยากให้มันดีอย่างนี้ต่อไป ถ้ามันรก มันมีอะไรเกะกะ รับไปหยิบเอาไปทิ้ง จัดให้เรียบร้อย อย่างนี้ฉันทะเกิด อยากทำให้มันดี อยากทำให้มันสมบูรณ์ เห็นต้นไม้นี้สวยงาม เขียวร่มรื่น ใบดอกก็สวย ชื่นชม ฉันทะ อยากให้มันเป็นอย่างนี้ ไปเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งมันห่อเหี่ยวเฉา ไม่ได้ ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ต้องรีบไปรดมัน ไปแต่งมัน อย่างนี้ฉันทะมา มีแต่ดีสร้างสรรค์ แล้วเด็กที่มีฉันทะอย่างนี้จะอยากทำ เพราะฉะนั้นท่านแปลฉันทะว่าอยากทำ เพราะอยากให้มันดี ชื่นชมที่มันดี อยากทำให้มันดี แล้วเมื่ออยากทำให้มันดี ก็ไปทำให้มันดี พอทำให้มันดี ก็สนองความต้องการของตัวเอง ก็มีความสุขในการกระทำ ฉะนั้นคนไหนมีฉันทะจะมีความสุขจากการกระทำทันที แล้วเด็กไทยจะก้าวหน้าในการสร้างสรรค์ แน่นอน ไม่มีปัญหาเลย รุ่งอรุณของการศึกษานะ เจริญพร อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าเมื่ออาทิตย์จะอุทัย มีแสงเงินแสงทองมาก่อนฉันใด เมื่อภิกษุจะก้าวไปในมรรคมีองค์ 8 ประการ ต้องมีฉันทะเป็นบุพนิมิตมาก่อนฉันนั้น
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : มีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง เรื่องพ่อแม่ที่เป็นครูต้นแบบของลูก ผมว่าทุกวันนี้เราแยกส่วนกัน คือครูกับพ่อแม่จากกัน พ่อแม่ก็ตั้งป้อมเป็นศัตรูกับกระทรวงศึกษาฯ วิจารณ์ โจมตี เราต้องไปจับตัวคนพวกนี้มาเป็นครู เราต้องไปคิดกระบวนการให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วม ประสานกัน
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : แต่ก็คงต้องทั้งสองอย่าง วันนี้เรามีคณะกรรมการสถานศึกษา แต่ก็บ่นกันมากว่าทางผู้บริหารโรงเรียนมักจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญ มันจะไม่ค่อยเปิดใจเปิดประตูให้ผู้ปกครองเข้ามาด้วยความระแวงซึ่งกันและกัน หลายโรงเรียนทำกันอยู่แล้วล่ะค่ะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ถ้าเรามองบทบาทในการมาประสานกันได้นะ มันก็จะมีช่องทางที่จะเดิน ก็จะดีขึ้น คล้ายว่าครูไปสัมพันธ์กับพ่อแม่ที่จุดไหน ทีนี้อยากจะเน้นเรื่องสร้างฉันทะให้ได้ ถ้าฉันทะไม่มา อาตมาว่าไม่ไหว แก้ปัญหาสังคม อบายมุข อะไรต่ออะไรไปไม่รอด เพราะตอนนี้หาความสุขจากการเสพบริโภคหมด หาความสุขจากการกระทำแทบไม่มี พอหาความสุขจากการกระทำแล้ว แล้วก็จะหาความสุขจากการหาความรู้ มาเองเลย คนที่จะทำอะไรให้ได้ผล การทำให้สำเร็จเรียกร้องการหาความรู้ มันมาเลย โอ นี่จะทำยังไงให้มันดี ต้นไม้ต้นนี้มันเฉา จะทำให้มันงามอย่างต้นนั้นใช่ไหม ก็ต้องหาความรู้ เดี๋ยวก็ไปหาความรู้มา แล้วก็มาทำ แล้วทั้งหาความรู้ทั้งทำเนี่ย เป็นความสุขไปหมด พอคนหาความสุขจากการรู้และการทำเนี่ย จะพัฒนาตลอดเวลา แล้วจะเข้มแข็ง
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ฉะนั้นมีสิ่งหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าจำเป็นสำหรับการจัดให้เป็นโรงเรียนแนวพุทธที่เป็นระบบดังนี้ก็คือ ผู้บริหารกับคณะครูต้องอยากทำ ต้องมีฉันทะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มีฉันทะ เจริญพร ถ้าเห็นคุณค่ามีประโยชน์ว่ามันจริงแท้ ฉันทะมันเกิดเลย มันอยากจะทำให้เป็นอย่างนั้น
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : คงไม่ใช่เป็นเพราะฉันทะของรัฐมนตรีช่วยแล้วค่ะ เท่านั้น คงจะต้องให้ผู้บริหารโรงเรียนเขามีฉันทะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ให้เกิด แต่ฉันทะตัวนี้จะเกิดจากการรู้เข้าใจจริง ถ้ารู้เข้าใจว่ามันเป็นความจริงอย่างนั้น มันมีคุณค่าเป็นประโยชน์แท้ ถ้าอย่างนี้ล่ะก็ ฉันทะก็เกิด
ท่านที่ปรึกษาบุญนำ : แล้วโยนิโสมนสิการจะได้เกิดใช่ไหมคะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : โยนิโสมนสิการ จะไปในกระบวนการนี้ตลอด จะใช้ตลอด ทีนี้ค่อยคุยกันอีกก็ได้เรื่องการพัฒนาความสุข เพราะความสุขนี้มันพัฒนาเยอะนะโยม คือเวลานี้คนมองความสุขมิติเดียว จากการเสพ จบ ความสุขจากการเสพ ก้าวไปสู่ความสุขจากการทำ จากการหาความรู้ ความสุขจากการให้ ความสุขจากการทำให้คนอื่นเป็นสุข นี่เป็นความก้าวหน้าทั้งต่อชีวิตตนเองที่มีความสุข ขยายขอบเขตมิติมากขึ้น พร้อมกับเป็นการเกื้อหนุนสังคมไปด้วย เพราะความสุขประเภทนี้ที่พัฒนาเหล่านี้ ไม่มีพิษมีภัยเลย มีแต่เป็นประโยชน์อย่างเดียว คนบางคนนี่เขามีความสุขในการทำให้ผู้อื่นเป็นสุข อย่างพระโพธิสัตว์ใช่ไหม ทำคนอื่นให้เป็นสุขได้ คนอื่นจึงจะเป็นสุข ชื่นใจ มีความสุข เพราะอยากให้เขาเป็นสุข ท่านก็เริ่มจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นสุขเมื่อเห็นลูกเป็นสุข พ่อแม่อยากทำให้ลูกเป็นสุข ทำให้ลูกเป็นสุข ตัวเองก็เป็นสุข ทำยังไงจะให้มีตัวนี้ขึ้น ความสุขจากการเห็นความจริงของธรรมชาติ โลก ชีวิต ความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันเยอะเหลือเกิน ความสุขที่จะต้องพัฒนา แล้วการพัฒนาความสุขก็คือการศึกษานี้เอง
ตัวแทนกระทรวงศึกษาฯ : ดิฉันฟังวันนี้นะคะ มีความคิดอยู่อย่างหนึ่งว่าเสียดายแทนสังคม เสียดายแทนประชาชนที่ไม่ได้มาฟังท่านเจ้าคุณพูดในวันนี้