แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ต่อไปข้อสี่ –สมานัตตตา มีคนเสมอ แปลว่ามีความเสมอภาค เสมอแบบ เสมอต้องระวังให้ดี เวลานี้กำลังเสมอแบบแบ่งแยก ความเสมอของยุคปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยที่มันกำลังพลาด เสียหลัก เพราะว่าเป็นวามเสมอภาคในเชิงแบ่งแยกและแก่งแย่ง ว่าแกได้สิทธิ์ ฉันต้องได้สิทธิ์ แกได้ 500 ฉันก็ต้องได้ 500 แบบนี้เขาเรียกว่าเป็นแนวคิดแบบแย่งชิงผลประโยชน์ ความเสมอภาคแบบนี้จะทำให้สังคมนี้แบ่งแยก ทีนี้เสมอภาคของพระ สมานัตตตา ความมีตนเสมอ ภาษาพระ เสมอ นี้ท่านเรียกว่า สมานะ สมานะที่แปลว่าเสมอนี้ มาเป็นไทยเป็น สมาน สมานในภาษาไทยนี้ ความหมายได้กลายเป็นว่าประสานกลมกลืน คำเดิมของพระ สมานะแปลว่าเสมอ ทำไมเข้ามาสู่ภาษาไทยได้กลายเป็นประสานกลมกลืน ก็เพราะคำว่าเสมอของพระเนี่ย มันเป็นการเสมอเชิงประสานกลมกลืน ทำไมจึงเสมอแบบประสานกลมกลืน มีทุกข์ร่วมทุกข์ด้วยกัน สมานัตตตา ความมีตนเสมอ ท่านอธิบายว่า สมานะ สุขะ ทุกขะตา ความเป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกัน เขาสุขก็สุขด้วย เขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย มีปัญหาร่วมกันแก้ เรียกว่าเสมอในสุข และเสมอในทุกข์ ถ้าแบบนี้เสมอแบบประสานแน่นอน ใช่ไหม มีสุขก็สุขด้วย แต่มีทุกข์ทิ้งกัน อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ บอกไม่เสมอในทุกข์ เขามีสุขก็สุขด้วย เขามีทุกข์เราก็ทุกข์ด้วย อย่างนี้ร่วมสุขร่วมทุกข์ ความเสมอแบบนี้ทำให้เกิดความประสานกลมกลืน เป็นความเสมอที่กลายเป็นว่าสมานในความหมายว่าประสานกลมกลืน ร่วมกันแก้ปัญหาสิ อย่าทิ้งกัน มีภัยอันตรายก็ช่วยกัน นี่อย่างนี้ สมานัตตตาเป็นตัวสำคัญมาก ถ้าเป็นความเสมอที่ถูกต้องแล้ว จะประสานกลมกลืนยึดเหนี่ยวสังคมให้รวมกันได้ แล้วเสมอโดยไม่ดูถูกดูแคลนกัน เสมอแบบนี้ก็ประสานทั้งนั้น เสมอโดยไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ไม่ใช่ว่าเอาคนโน้น ไม่เอาคนนี้ เลือกที่รักผลักที่ชัง ต้องเสมอภาค ต้องเสมอแบบไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ก็ทำให้สมานได้ แล้วก็เสมอแบบไม่เอารัดเอาเปรียบ ก็ทำให้ประสานกันได้ ใช่ไหม ความเสมอภาคที่ถูกต้องจะเป็นความเสมอภาคแบบประสานกลมกลืน ไม่ใช่เสมอภาคแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง เวลานี้สังคมกำลังเสียหลัก เพราะว่าเป็นความเสมอภาคแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง อย่างที่ว่ามา ฉะนั้น สมานัตตตาก็เป็นตัวสุดท้ายเลย เป็นธรรมให้เข้ากันได้ มีตนเสมอกัน มีความเสมอภาค ซึ่งอาศัยอุเบกขาเป็นตัวสำคัญ เพราะเป็นตัวรักษาธรรม ใช่ไหม ฉะนั้นพอเรามี 4 ข้อ สัวคหวัตถุ 4 ก็มารับกับพรหมวิหาร 4 สอดคล้องกันเลย พรหมวิหารอยู่ในใจ เป็นฐานออกมาสู่สังคหวัตถุ 4 ข้อ ในเชิงปฏิบัติการ ก็ยึดเหนี่ยวสังคมให้มีอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็เป็นหลักธรรมในการปกครองที่สำคัญ ที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังมีหลักที่สำคัญอีกก็คือ อปริหานิยธรรม ตั้งแต่การหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม อะไรอย่างนี้ อันนี้อาตมาจะไม่ลงรายละเอียดแล้ว มีการให้เกียรติสตรีด้วยนะ ในอปริหานิยธรรม ข้อสำคัญก็คือต้องให้เกียรติสตรี คุ้มครองป้องกันไม่ให้ถูกข่มเหง แล้วก็สาราณียธรรม 6 ประการ ก็เป็นหลักที่สำคัญของประชาธิปไตยเลย ก็คือท่านบอกว่าให้มีกายกรรมด้วยเมตตา วจีกรรมด้วยเมตตา แล้วก็มโนกรรมด้วยเมตตา ท่านบอกว่าทำการด้วยเมตตา ทำการด้วยปรารถนาดีต่อกัน พูดก็พูดด้วยกิจเมตตาปรารถนาดีต่อกัน แล้วก็คิดดี คิดต่อกันด้วยความปรารถนาดี ด้วยเมตตา แล้วต่อไปก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ได้มาแบ่งกันกินใช้ ถ้าของพระท่านเรียกว่า
สาธารณโภคี แปลว่าความเป็นผู้บริโภคเสมอกัน ร่วมกัน หมายความว่ามีของเข้ามาให้เป็นของร่วมกัน ก็ได้มาแบ่งกันกินใช้ หมายความว่าจัดสรรรายได้ให้มันทั่วถึง แล้วต่อไปท่านก็เรียกว่า สีลสามัญญตา รักษากฎเกณฑ์กติกาเสมอหน้ากัน อย่างเดียวกับที่เขาเรียกว่าเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย ต้องมีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย แล้วรักษากฎเกณฑ์กติกาอย่างเสมอหน้ากัน แล้วต่อไป ทิฏฐิสามัญญตา มีทิฐิเสมอกัน มีความคิดเห็นร่วมในหลักการใหญ่อุดมการณ์เดียวกัน สังคมประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการยึดถือในหลักการของประชาธิปไตย ก็ไปไม่รอด ทะเลากัน อุดมการณ์แตกกัน ก็แยกเป็นสองค่าย ก็ทะเลาะกันไม่รู้จักจบ ฉะนั้นคนที่จะอยู่ในสังคมไหน ต้องมีการยึดถือในหลักการร่วมกัน มีทิฐิพื้นฐาน แนวความคิดพื้นฐานอันเดียวกัน อันนี้เป็นหลักการของการปกครองทั้งสิ้น
นี่อาตมาก็จะว่ามากไปซะแล้วในเรื่องของตัวหลักธรรม ทีนี้เราออกมาสู่หลักการทั่วๆ ไปแล้ว มาวิเคราะห์ในเชิงของวิชาการแบบสมัยใหม่ แต่ก่อนที่จะพูดถึงอันนั้น ขอแทรกเข้ามานิดหนึ่งว่า เรื่องของรัฐศาสตร์ วิชาการปกครองปัจจุบันนี้ก็เช่นเกี่ยวกับศาสตร์อื่นๆ ที่จะต้องขยายขอบเขตกว้างขวางออกไปตามยุคสมัย อย่างวันนี้ปัญหาของโลกได้ขยายกว้างออกไป ด้านหนึ่งก็คือเวลานี้ปัญหาของโลกจะไม่อยู่เฉพาะในเรื่องชีวิตและสังคม จะออกไปถึงธรรมชาติแวดล้อมด้วย ทีนี้จะเห็นตัวนี้ชัด สมัยก่อนคนจะพูดแค่ชีวิตและสังคม แต่ยุคนี้นั้นปัญหามันจะขยายไปถึงธรรมชาติแวดล้อม ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดซะด้วย ฉะนั้นรัฐศาสตร์ก็จะต้องขยายขอบเขตออกไปถึงเรื่องของการที่รัฐจะต้องมีการปกปักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย เพราะฉะนั้นอันนี้จะต้องคิดให้ดี เวลานี้อย่างวิชาธุรกิจก็ขยายขอบเขตออกไป มีจริยธรรมธุรกิจ จะต้องคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมนี้เป็นสาระสำคัญเลย วิชาเศรษฐศาสตร์ก็จะต้องขยายความหมายออกไปให้ครอบคลุมเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสิ่งแวดล้อม ระหว่างเรื่องมลภาวะ ปฏิบัติการทางเศรษฐกิจก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ กลายเป็นบางทีแทบจะเป็นอันดับหนึ่งเลย ฉะนั้นรัฐศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ก็จะต้องขยายขอบเขตออกไปคลุมเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เอาละ ทีนี้ต่อไป สอง-วิชาการปกครองก็เช่นเดียวกับศาสตร์อื่น ที่ต้องขยายอย่างหนึ่งก็คือว่าเวลานี้เนื่องจากเป็น globalization เป็นโลกาภิวัตน์ ที่ว่าโลกนี้ถึงกันหมด เพราะฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีเป็นต้น และระบบไอที คือเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร หรือตัวข่าวสารข้อมูลต่างๆ นี้ ทำให้โลกนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา ระบอบการปกครองเก่าๆ สถาบันการปกครองเก่าๆ เนี่ย ถ้าไม่ปรับปรุงตนให้ดีนี่ จะพังทลายเลย เวลานี้การปกครองกำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงได้พูดแต่ต้นว่าเนี่ยเรื่องของการให้ข้อคิดความเห็น เป็นสิ่งที่สำคัญในระยะนี้ เพราะวิชาการต่างๆ ขณะนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ในสถานะเดิมแล้ว รัฐศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน จะต้องเปลี่ยนแปลง การปกครองระบอบเก่าๆ นี่กำลังจะเปลี่ยนหมด การปกครองแม้แต่ประเทศประชาธิปไตย ผู้นำอย่างอเมริกา ขณะนี้ก็กำลังหวั่นไหว ว่าการปกครองระบบเก่าจะไร้ประสิทธิภาพลงตามลำดับ จะต้องหาแนวทางการปกครองใหม่ว่าจะทำยังไงจึงจะปกครองได้ดี แล้วความเป็นสากลได้เกิดขึ้นมา ก็คือว่าการที่มนุษย์นี่ได้รู้เข้าใจ และมีความสัมพันธ์ แล้วก็มีกิจกรรม พฤติกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อกันทั้งหมดทั้งโลก เพราะฉะนั้นรัฐศาสตร์ต้องก้าวไปถึงจุดนี้ ก็คือความเป็นสากลด้วย ว่าทำยังไงจะให้การปกครองนี้มันมีความหมายที่สื่อถึงการที่มนุษย์อยู่ร่วมกันทั้งโลกได้ดีด้วย และขณะนี้ก็เป็นปัญหาจุดนี้ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ดี เพราะมีการแบ่งแยกมาก ขณะที่โลกเป็น globalization แปลว่าเป็นโลกาภิวัตน์ แต่ในหมู่มนุษย์นั้นเป็น ??? ก็คือเป็นลัทธิที่แบ่งแยกเป็นหมู่เป็นเหล่าเป็นเผ่าชนมากขึ้น ฉะนั้นมันก็สวนทางกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่อันหนึ่งของเรื่องของรัฐศาสตร์ด้วยที่จะต้องพิจารณา เอาละ เป็นอันว่ามนุษย์ทั้งโลกปัจจุบันนี้ มีผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว ซึ่งจะต้องมาคิดแก้ปัญหาว่าจะมีการปกครองที่ดีได้อย่างไร ถ้าพูดถึงขั้นนี้ รัฐศาสตร์เท่าที่ผ่านมานี้ไม่เพียงพอแล้ว ที่จะมารองรับอารยธรรมที่ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เพราะฉะนั้นรัฐศาสตร์ที่อยู่กับความคิดเก่าๆ ที่ทำมา ไม่พอ ฉะนั้นการที่เรามาพูดเรื่องนี้คือการที่เรามาแสวงหาแนวความคิดที่จะมาสนองความต้องการและแก้ปัญหาของยุคสมัยนี้ด้วย ให้ทันกับความเจริญของโลก ทีนี้ขอมาพูดถึงหลักการ ตอนนี้มาพูดถึงหลักการพื้นฐานเลย หลักการใหญ่ที่ครอบคลุมเรื่องของตัวรัฐศาสตร์และรวมไปถึงสังคมศาสตร์ทั่วไป รัฐศาสตร์นั้นถือว่าเป็นวิชาสังคมศาสตร์วิชาหนึ่ง แล้ววิชาหมวดสังคมศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในบรรดาศาสตร์ใหญ่ของโลกปัจจุบันที่ฝรั่งนิยม แบ่งเป็น 3 หมวดคือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากแนวคิดในยุค reductionism คือแนวคิดแบบแบ่งแยก หรือแบ่งซอยแยกส่วนทั้งสิ้น ขณะนี้แนวความคิดของผู้นำทางความคิดบอกว่าแนวคิดแยกส่วนแบ่งซอย
ใช้ไม่ได้ แก้ปัญหาโลกไม่ได้ แต่ในเชิงวิชาการก็ไม่สามารถถปรับตัวได้ทัน ก็ยังอย่ใต้อิทธิพลของความคิดแบ่งซอยแยกส่วน ซึ่งแบ่งเป็นหมวดๆ อย่างนี้ แล้วไม่สามารถจะเชื่อมโยงวิชาเหล่านี้เข้ามาถึงกันได้ ทีนี้การแบ่งซอยแยกส่วนในเชิงวิชาการนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาในเชิงหลักการ เริ่มตั้งแต่วิชาสังคมศาสตร์ทั้งหมดนี้ได้พยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ เราจะเห็นว่าวิชาสัมคมศาสตร์นี้เดิมก็มาจากวิชาจำพวกมนุษยศาสตร์นั่นเอง แต่เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาก็อยากจะให้การศึกษาวิชาการเหล่านี้ได้ถูกต้องตามมาตรฐานของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ก็นำเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ เมื่อเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้กับวิชาการพวกใดก็เรียกวิชานั้นเป็นสังคมศาสตร์ได้ ฉะนั้นสังคมศาสตร์ก็เกิดขึ้นประมาณ 200 ปีมานี้ เป็นศาสตร์ที่เกิดช้าที่สุด หลังสุด มนุษยศาสตร์คือวิชาการเก่าอยู่แต่เดิมก็ตกอันดับไป ถูกเรียกมนุษยศาสตร์ แล้ววิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาเป็นอันดับสอง แล้วก็สังคมศาสตร์ก็เกิดตามมาอันดับสาม แต่ตัวเนื้อวิชานั้นมาก่อนวิทยาศาสตร์ แต่ว่าตัวศาสตร์มาเกิดทีหลัง เพราะต้องเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาเป็นมาตรฐาน ทีนี้ก็มาศึกษาโดยแยกออก ก็เกิดมองสังคมศาสตร์โดยการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ ก็มองคนเป็นสมาชิกของสังคม เราก็จะมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เกิดเป็นสังคมขึ้นมา เราก็มอง 2 อย่าง องค์ประกอบสำคัญในวิชาสังคมศาสตร์ ก็คือ คนกับสังคม แค่นี้ก็หลักการเสียแล้ว เพราะอะไร ถ้ามองในสายตาของพุทธศาสนา เรามอง 3 ไม่มอง 2 ทำไมจึงว่ามอง 3 ถ้ามิเช่นนั้นไม่สามารถบูรณาการได้ แล้วความคิดนี้จะบกพร่องเว้าแหว่งไม่มีการแก้ปัญหาได้ ทำไมต้องมอง 3 องค์ประกอบอะไรขาดไป เมื่อเรามองคนกับสังคม แนวคิดของสังคมศาสตร์ทั้งหมดนี้ มองคนกับสังคม แต่ว่าหลักการพุทธศาสนาบอกว่ามอง 3 คืออะไรอันหนึ่ง ขอให้คิดอันนี้ก่อน คนนี่เอาตัวคนก่อน คนหนึ่งๆ เนี่ยมีสองด้านในเวลาเดียวกัน คนนั้นด้านหนึ่งเขาเป็นคนที่เป็นสมาชิกของสังคม เป็นยุคคลที่อยู่ในสังคม แต่อีกด้านหนึ่งตัวเขาแท้ๆ นะ เขาเป็นชีวิตนะ คนนี่แต่ละคนเป็นชีวิต แล้วชีวิตของเขานี่เป็นธรรมชาติ ใช่ไหม ส่วนนี้ไม่มีทางที่จะแยกออกไปได้เลย คนนั้นด้านหนึ่งของเขาตัวแท้ตัวจริงเขาเป็นธรรมชาติ เขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ตัวเขาเองเป็นธรรมชาติ ส่วนร่างกายชีวิตจิตใจของเขามาจากธรรมชาติทั้งสิ้น และเป็นไปตามกฎธรรมชาติ อันนี้ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ ฉะนั้นในเมื่อคนเดียวมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นชีวิตที่เป็นส่วนของธรรรมชาติ แล้วอีกด้านหนึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ใจสังคม ถ้าเราไปมองเฉพาะคนกับสังคมนี่ เราจะเสียหลัก คือเราจะตัดส่วนที่เป็นชีวิตที่เป็นธรรมชาติไปเสีย การศึกษาสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่จะขาดอันนี้ มนุษย์ไม่สามารถจะแยกคภาคออกไปเด็ดขาดเป็นสองส่วนได้ ชีวิตกับความเป็นบุคคล ใช่ไหม เขาเป็นชีวิตในธรรมชาติด้วย เขาเป็นบุคคลในสังคมด้วย และความเป็นไปในส่วนชีวิตที่เป็นธรรมชาติของเขานั้นส่งผลต่อการเป็นบุคคลในสังคม แล้วควมเป็นบุคคลของเขาจะเป็นอย่างไรนี้ ได้รับอิทธิพลของชีวิตในส่วนหนึ่งของธรรมชาติด้วย แล้วการที่เราจะสนอง เช่นว่าในการที่มีบทบาทในสังคม หรือการพิจารณาจุดหมายในทางสังคม เราบอกว่าต้องการสนองความต้องการของคนเนี่ย เรามองแค่ไหน เรามองว่าสนองความต้องการของคนนี่มองในแง่ของความต้องการของคนที่เป็นคนหรือมองไปถึงความต้องการของชีวิตด้วย ถ้าเรามองไม่ถึงความต้องการของชีวิต ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่การกิน กินเพื่ออะไร คนในฐานะเป็นบุคคลในสังคมนี่ เขาอาจจะต้องการมีเงินมีทองมาก กินมาก กินให้เอร็ดอร่อย มีสถานะดี อะไรต่างๆ มีมาตรฐานการครองชีพสูง นี่จะวัดกันแบบทางสังคม ในยุคที่ผ่านมา ยุคก่อนนี้จะพูดถึง เช่นในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสังคมศาสตร์สาขาหนึ่ง ก็จะมอง standard of living มาตรฐานการครองชีพ ก็วัดด้วยฐานะในการเป็นบุคคลในสังคม มีเงินมีทอง มีอะไรต่างๆ มีทรัพย์สินที่ครอบครอง แต่ว่าการมีมาตรฐานการครองชีพสูง ไม่เป็นหลักประกันว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีหรือไม่ ใช่ไหม ปรากฏว่าอาจจะมีสถานะทางเศรษฐกิจดี กินดี อยู่ดี มีเงินทองมาก กินอาหารมื้อละหมื่นมื้อละพันก็ได้ แต่ว่าเสียสุขภาพ เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ยิ่งแย่ไปอีก ต่อมามนุษย์เริ่มสำนึก แต่ยังจับอยู่ให้ตรงทางความเป็นจริงไม่ได้ คือรากฐานทางวิชาการยังโยงไม่ได้ แต่เห็นความจำเป็น ในระยะไม่กี่ปีมานี้ ได้เกิดศัพท์ใหม่เรียกว่า quality of life คุณภาพชีวิต ใช่ไหม ตอนหลังนี่คำว่ามาตรฐานการครองชีพไม่ค่อยพูดแล้ว ตอนหลังมานิยมพูดคำว่าคุณภาพชีวิต เพราะมาตรฐานการครองชีพนี้ไม่เป็นเกณฑ์วัดที่แท้จริงว่าคนจะมีชีวิตที่ดีงาม ฉะนั้นก็เลยต้องมาวัดกันใหม่ เกิดเป็นศัพท์ quality of life คุณภาพชีวิตนี่ลึกลงไปถึงตัวคนที่เป็นธรรมชาติแล้ว แต่ความคิดนี้ยังไม่ชัด แต่เริ่มเห็นตระหนัก ฉะนั้นบางทีคนมีมาตรฐานการครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตเสีย นี่เป็นเรื่องของอันหนึ่ง การสนองความต้องการในการกินการบริโภคเนี่ย เราจะเอาว่าถ้ากินสนองความต้องการของคนเนี่ย ต้องให้คนเนี่ยอย่างที่ว่าเขาอยู่ดีกินดีมีมาตรฐานแค่ไหน กำหนดกันไม่ได้สักที เพราะว่าเชิงสังคมมันกำหนดไม่ถูกว่าจะเอาแค่ไหน แต่ถ้าเราไปมองความต้องการของชีวิตนี่เราบอกได้เลย กิน สนองความต้องการของชีวิตคืออะไร ให้มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ใช่ไหม กินปริมาณเท่าไหนพอดี บอกได้เลย แล้วกินประเภทอาหารแค่ไหนพอดี บอกได้เลย ศาสตร์ทางสังคมที่ผ่านมานี้ มองคน มองแค่คนกับสังคม มองไม่ถึงธรรมชาติ เพราะฉะนั้นต้องมองใหม่ ต้องมีองค์ประกอบ 3 คือ ธรรมชาติ คน แล้วก็สังคม แยกไปไม่ได้ แล้วเมื่อคนเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คนจะรู้ที่จะมาจัดการแก้ไขปัญหาสังคมได้ดีขึ้นด้วย ถ้ามิฉะนั้นคนจะถูกหล่อหลอมโดยสังคม แล้วจะต้องตกอยู่ใต้อำนาจความเป็นไปของกระแสสังคม หรือค่านิยมของสังคมเป็นต้นอย่างเดียว คนที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ กลับมาแก้ปัญหาสังคมได้อย่างแท้จริงด้วย อันนี้ก็เป็นข้อที่หนึ่งที่เราจะต้องพูดกันว่าระบบบูรณาการใหญ่ได้ถูกทำลายไปโดยความคิดแบ่งซอยแยกส่วนของศาสตร์ในยุคสมัยที่แล้วมา อย่างเรื่องของปัญญาเราจะเห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้ให้แค่ fact ใช่ไหม ให้แค่ knowledge เท่านั้น ไม่สามารถให้ wisdom ได้ แล้ว wisdom คือตัวปัญญาที่แท้จริงนี่ไปอยู่ในมนุษยศาสตร์ อันนี้มนุษย์ก็ไปแยกส่วนเป็นในเรื่องของวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็ได้ให้แค่ fact เท่านั้น แต่ตัวยักวิทยาศาสตร์เองที่แกจะมีปัญญาปรีชาญาณที่แท้ เข้าไปถึง wisdom นั่นคือแกต้องไปอยู่ในฝ่ายมนุษญศาสตร์ แต่เพราะการแบ่งซอยแยกส่วนความรู้นี้ทำให้วุ่นไปหมดเลย คราวนี้ถึงเวลาที่จะต้องมาโยงกัน ต้องมาประสาน ต้องมาบูรณาการ อย่างที่ว่า ความคิดเป็นระบบนี่ ระบบต้องมีองค์ประกอบพร้อม ถ้าไม่มีองค์ประกอบที่เข้ามาสัมพันธ์พร้อมบริบูรณ์ มันเป็นระบบไม่ได้ ความคิดที่เป็นระบบ จะเอาอะไรมาประกอบในระบบ ฉะนั้นระบบในการพิจารณาเรื่องปัญหาสังคมนี่เราจึงแยกไม่ได้ อย่างรัฐศาสตร์จะไปเอาองค์ประกอบทางด้านชีวิตธรรมชาติออกไม่ได้ รัฐศาสตร์ที่เป็นมานี่ ก็คือจะต้องศึกษาเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในระบบการปกครอง โดยศึกษาด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ได้ ก็เลยมีความโน้มเอียงจะไปเป็นพฤติกรรมศาสตร์ ก็มีความโน้มเอียงที่จะจัดวิชา social science ทั้งหมวด มีนักวิชาการพวกหนึ่งจะไปตั้งชื่อใหม่เรียกว่า behavioral sciences เป็นพฤติกรรมศาสตร์หมด ก็เลยมีความโน้มซึ่งไม่รู้จะชนะหรือไม่ เขาก็บอกว่าไม่รู้ต่อไปนี่ คำใหม่ที่เรียกว่าพฤติกรรมศาสตร์ ไม่ใช่หมายความว่าเฉพาะจิตวิทยานะ จิตวิทยาก็เป็นส่วนหนึ่งด้วยในพฤติกรรมศาสตร์นี้ พฤติกรรมศาสตร์นี้จะมาแทนที่คำว่า social science หรือไม่ แต่ว่านี่คือการที่มองแนวโน้มของการที่ศาสตร์ต่างๆ นี่ไปอยู่ใต้อิทธิพลแนวคิดของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติหมด แล้วนำวิธีการของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาเป็นตัวมาตรฐาน เป็นบรรทัดฐานในการศึกษา ก็ทำให้วิชาการพวกหนึ่งถูกเรียกเป็นสังคมศาสตร์มา พอเป็นสังคมศาสตร์ก็ศึกษามนุษย์แยกออกมาจากธรรมชาติ จากชีวิตจิตใจของเขา ก็กลายเป็นคนกับสังคมเท่านั้น ไม่ถึงธรรมชาติ มันก็เลยกลับมาตอนนี้วิทยาศาสตร์รู้ตัว ก็กลับมาศึกษาเรื่องจิตใจ กลายเป็นพวกวิชาจิตวิทยาซึ่งจะเป็นวิทยาศาสตร์ก็แยกตัวไปเป็นพฤติกรรมศาสตร์เป็นต้น ห่างเกินออกไปจากเรื่องจิตใจที่แท้จริง ส่วนฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้นกลับเป็นฝ่ายที่รู้ตัวก่อนว่าการศึกษาในแง่วิธีการธรรมชาติแบบที่ทำมานี้ไม่ถูกต้องไม่เพียงพอ กลับเป็นพวกที่กลับไปศึกษาเรื่องจิตใจ เรื่อง mind เรื่อง consciousness ก่อน เวลานี้วิทยาศาสตร์ใหม่ กลับเป็นพวกที่ไปบุกเบิกในแดนนี้ แล้วพวกวิทยาศาสตร์กลับมาอวดเลยทีนี้ ภูมิใจตัวเองว่าตัวเองจะเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่ง เพราะตัวเองเคยเป็นผู้นำแล้ว ในการทำให้พวกศาสตร์ทั้งหลาย พากันอยากเป็นวิทยาศาสตร์โดยใช้วิธีการทางวัตถุ เกณฑ์ที่วัดได้ด้วยตัวเลขมาศึกษา พวกศาสตร์อื่นๆ ก็ไปภูมิใจตามศาสตร์อื่นๆ จนกระทั่งไปสุดโต่งละทิ้งแดนของตนเองออกไปหมด พอเสียตัวไปแล้ว วิทยาศาสตร์กลับมานำการศึกษาเรื่องชีวิตจิตใจ ตอนนี้วิทยาศาสตร์กำลังเริ่มแล้ว ศึกษาเรื่องจิตใจว่า ถ้าไม่เข้าใจเรื่องจิตใจแล้ว จะไม่เข้าใจแม้แต่เรื่องวัตถุได้เต็มที่ อันนี้ตอนนี้พวกศาสตร์อื่นกลับหนี้จากความเป็นตัวของตัวเองเดิมไป นักวิทยาศาสตร์ก็เลยภูมิในว่าเขาเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่งในการศึกษา ซึ่งต่อไปศาสตร์อื่นๆ ก็จะตาม อันนี้เป็นตัวอย่างของการที่ว่าได้เสียหลักเรื่องการบูรณาการ เพราะฉะนั้นศาสตร์ต่างๆ จะต้องกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันว่าในเรื่องของรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัมคมศาสตร์นั้น พุทธศาสนานั้นให้มอง 3 ด้าน ไม่ใช่มองแค่ 2 องค์ประกอบ ในระบบความสัมพันธ์ คือต้องมองทั้งธรรมชาติ คน และสังคม โดยคนเป็นตัวสื่อกลาง คนเป็นตัวสื่อกลางเพราะอะไร เพราะด้านหนึ่งคนนั้นเป็นธรรมชาติคือชีวิต แล้วอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นคนในสังคม แล้วตัวคนนี่แหละเป็นตัวที่ไปสัมพันธ์ทั้งกับธรรมชาติและทั้งกับสังคม แล้วเป็นตัวศูนย์กลางความสัมพันธ์อันนี้ แล้วศึกษาคนให้ดี แล้วเราก็จะได้หาทางจัดการกับสังคมได้ด้วยดี แล้วโยงไปถึงธรรมชาติแวดล้อมด้วย ยิ่งเวลานี้ปัญหามันไปถึงปัญหาของโลก ไม่ได้อยู่แค่ชีวิตสังคมแล้ว มันเป็นปัญหาธรรมชาติแวดล้อมด้วย การที่จะบูรณาการอันนี้ก็จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย ทีนี้ต่อไป เวลาหมดแล้ว ทีนี้หลักการสำคัญอีกอันหนึ่งที่ศาสตร์ต่างๆ จะต้องระวังมาก คือหลักการคู่ เรื่องหนึ่งด้านหนึ่งคือความจริงของธรรมชาติ พร้อมทั้งความรู้ในความจริงของธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาตินั้น กับการนำมาจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์ สองอันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองอันนี้ที่แยกจากกันไม่ได้ แล้วเมื่อมนุษย์ไม่รู้ตัว นี่ก็จะแปลกแยกจากธรรมชาติโดยที่เสียอันที่หนึ่งไป ย้ำอีกทีหนึ่งนะ คือตัวสองอันที่จะบูรณาการเนี่ย ในการที่จะมาเป็นวิชาสังคมศาสตร์ที่ดีทุกอย่างทุกสาขา รวมทั้งรัฐศาสตร์ด้วย คือหนึ่ง-เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ก็คือตัวปัญญาที่รู้ความเป็นจริงของธรรมชาติ กฎธรรมชาติอะไรต่างๆ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน แล้วสอง-ก็คือการนำความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นมาจัดตั้งวางระบบแบบแผนสังคมมนุษย์ เรามักจะพูดถึงการจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์ โดยไม่ได้มองว่าที่จริงการจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์นั้นจะต้องตั้งอยู่บนฐานของการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ถ้าถึงจุดนี้จะมีความแปลกแยก แล้วเป็นไปมากด้วย คือการจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์โดยไม่ได้รู้เข้าใจถึงความจริงในธรรมชาติ แต่นี่พิจารณาในแง่ด้านสังคมในระดับการอยู่สัมพันธ์กันของมนุษย์ในสังคมเนี่ย แล้วนึกว่าตัวเองจะวางจัดระบบอะไรต่ออะไรได้ดี ไม่มีทางเป็นไปได้ แล้วมนุษย์กำลังจุดพลาดอันนี้ จากอันนี้มันจะมีอันหนึ่งขึ้นมา จากความจริงของธรรมชาติ การจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์มันก็จะมีคู่เกิดขึ้นอันหนึ่งว่ากฎธรรมชาติกับกฎมนุษย์ เดี๋ยวนี้คนแยกไม่ได้แม้แต่ระหว่างกฎธรรมชาติกับกฎมนุษย์ว่าต่างกันอย่างไร ยกตัวอย่าง กฎธรรมชาติกัยกฎมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ในสังคมที่มีอารยธรรมเนี่ย จะต้องสัมพันธ์สองอันนี้ให้ได้ แล้วเขาจะสามารถจัดสรรสังคมของเขาให้เป็นไปด้วยดี แต่ถ้าเขาแปลกแยกเมื่อไหร่ เขาเข้าไม่ถึงความจริงของกฎธรรมชาติ ความวิปริตจะเกิดขึ้นทันที ยกตัวอย่างบ่อยๆ ง่ายๆ สังคมมนุษย์นี่เรามีอารยธรรม มีความเจริญ มีความสามารถในการจัดตั้งวางระบบแบบแผนเป็นวัฒนธรรมอารยธรรมขึ้นมา อันนี้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ แต่ว่าความสามารถพิเศษนี้ถ้าลืมไปเราก็หลง แล้วก็แยกจากธรรมชาติ เราจัดตั้งกฎมนุษย์ขึ้นมามากมาย เช่นอย่างการทำงานในสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ จัดตั้งวางระบบสังคม เช่นการทำงาน เวลาทำงานแล้วก็มีเงินเดือนให้ ใช่ไหม มีผลตอบแทนให้ เราก็จัดเป็นกฎใช่ไหม เป็นกฎมนุษย์เช่นว่า คนมาทำสวน เมื่อมาทำสวน 1 เดือน เราให้เงินเดือน 5,000 บาท สมมติว่าอย่างนั้น เราก็จะมีกฎเกิดขึ้นว่าการทำสวน 1 เดือนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน 5,000 บาท เป็นผล เป็นกฎมนุษย์แล้ว ถูกไหม จริงไม่จริง การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน 5,000 บาท เป็นผล จริงไม่จริง จริงนี่คือกฎ อันนี้เป็นกฎมนุษย์นะ ระวังให้ดี จริงไม่จริง จริง จริงแน่ไหม ไม่แน่ ทำไมไม่แน่ กฎมนุษย์นี้ตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับร่วมกัน การยอมรับร่วมกันนี่ ภาษาพระเรียกว่าสมมติ อย่างที่ตั้งกษัตริย์องค์แรกบอกแล้วมหาสมมติ สมมติแปลว่ามติร่วมกันหรือว่าการยอมรับร่วมกัน ข้อตกลงร่วมกัน ทำไมกฎมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของสมมติ คุณทำสวน 1 เดือน ได้เงินเดือน 5,000 บาท การที่คุณได้เงินเดือน 5,000 บาทนั้น ตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับร่วมกันนี้ ถ้าไม่มีการยอมรับร่วมกัน การยอมรับร่วมกันหายเมื่อไหร่ กฎนี้หายทันที เชื่อไหม ใช่หรือเปล่า ใช่แน่นอน คุณทำสวน 1 เดือน ฉันไม่ยอมรับด้วย เงินเดือน 5,000 บาทไม่ไปถึงคุณแล้ว ถูกไหม นี่คือกฎมนุษย์ มนุษย์กำลังหลงนึกว่าเป็นจริง มันเป็นกฎจริงๆ เลยนะ การทำสวน 1 เดือนเป็นเหตุ เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผล ดูเป็นกฎจริงๆ เป็นเหตุเป็นผล แต่ว่าอะไรรองรับกฎมนุษย์นี้ สิ่งที่รองรับคือสมมติ คือการยอมรับร่วมกันนี้ ถ้าตัวสมมติคือการยอมรับร่วมกันนี้หายเมื่อไหร่ กฎมนุษย์นั้นหายทันที เบื้องหลังกฎมนุษย์นี้เราต้องการอะไร นี่คือสิ่งที่มนุษย์กำลังจะแปลกแยก ทำไมเราตั้งกฎว่าการทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผล อันนี้เป็นความฉลาดของมนุษย์ที่จะต้องการผลที่ซ้อนคือความจริงตามกฎธรรมชาติ เราต้องการผลที่แท้อันนั้น มนุษย์ที่ฉลาดจึงตั้งกฎสมมติขึ้นมา เพื่อจะไปหนุนให้ปฏิบัติตามกฎธรรมชาตินั้น ได้เกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา มีประสิทธิภาพได้ผลดี กฎธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลับกฎมนุษย์ในกรณีทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผล นื้คืออะไร ถามว่าตามกฎธรรมชาติ การทำสวนเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ผลที่ใครเถียงไม่ได้เลย เป็นผลที่เป็นจริงตามกฎธรรมชาติ ตอบว่าต้นไม้งอกงามเป็นผล ถูกไหม การทำสวนเป็นเหตุต้นไม้งอกงามเป็นผล อันนี้เป็นเหตุเป็นผลตามกฎธรรมชาติ ไม่มีใครเถียงได้ นี่แหละกฎธรรมชาติที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังกฎมนุษย์ ในการทำสวน 1 เดือน ได้เงินเดือน 5,000 บาท เป็นผล แล้วที่จริงนั้นมนุษย์ที่ฉลาดต้องการผลตามกฎธรรมชาติใช่หรือเปล่า เขาต้องการต้นไม้เจริญงอกงาม เขาจึงหาทางให้มีการทำเหตุ คือการทำสวน แต่มนุษย์ฉลาด เพื่อจะให้คนทำสวนคนนี้ทำอย่างจริงจัง ใช่ไหม ก็จัดระบบสังคมขึ้นมา วางกฎเกณฑ์ซ้อนเข้าไปอีกชั้นเรียกว่ากฎสมมติของมนุษย์ การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผล เมื่อคนทำงานได้เงินเดือน 5,000 บาท เขาก็จะได้ไม่ต้องไปยุ่งยาก ไม่ต้องไปห่วงกังวลเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำสวน ก็จะได้ผลตามกฎธรรมชาติ คือต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้ามนุษย์ยังไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ คือเขาเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ ต้องการผลตามกฎธรรมชาตินี้ สังคมจะไม่วิปริต แต่เมื่อไหร่มนุษย์แปลกแยกจากความจริงของกฎธรรมชาติ ไปทำสวนเป็นเหตุ ต้องการเงินเดือน 5,000 บาทเป็นผลอย่างเดียว แล้วไม่ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เมื่อนั้นพินาศหมดเลย วิบัติมาเลย หนึ่ง-วิบัตทางจิตใจ เขาจะไม่มีความรักงาน ไม่มีความสุขในการทำงานนั้น เขาจะทำสวนด้วยความจำใจ ฝืนใจ ทรมานใจในการทำ เพราะเขาไม่ได้รักผลที่ต้องการตามกฎธรรมชาติใช่ไหม เขาไม่ได้ต้องการให้ต้นไม่เจริญงอกงาม เขาต้องการเงิน ต้องมาทำสวน เหนื่อยแรง เสียเวลา เมื่อไหร่เงินจะมาสักที รอแทบแย่ ใช่ไหม ฉะนั้นเขาก็ทำงานด้วยความทุกข์ แต่ถ้าเขาต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เขาต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม เขาก็รักงานทำสวน เขาจะทำงานทำสวนด้วยความสุข มีปิติ มีอิ่มใจในการทำงานตลอดเวลาเลย แล้วผลตามกฎสมมติของมนุษย์ก็เป็นเครื่องเอื้ออุปถัมภ์เกื้อหนุนให้เขาทำงานตามกฎธรรมชาติได้ผลดี นี่คือการที่มนุษย์ยังเข้าถึงความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ ไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ แต่มนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ กำลังแปลกแยกจากกฎธรรมชาติอันนี้ แล้วแยกไม่ออกจนกระทั่งหลงไปว่ากฎสมมติของมนุษย์นั้นเป็นความจริงแท้เลย ฉะนั้นสังคมศาสตร์นี้ ดีไม่ดีนี่จะทำให้มนุษย์แย่เลยนะ คือว่าพรากออกจากความเป็นจริงของธรรมชาติ แล้วแทนที่จะเข้าถึงความเป็นจริงเนี่ย ก็คือการที่สูญเสียความรู้ในความจริงนั้นไป สังคมศาสตร์กำลังใช้วิธีของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาความเป็นจริงแท้ตามกฎของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ใช่ไหม วิทยาศาสตร์นั่นศึกษาความจริงตามกฎธรรมชาติ เพราะวิทยาศาสตร์นั้นศึกษาธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราเรียกว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สังคมศาสตร์นิยมวิธีการของวิทยาศาสตร์ ไปเอาวิธีการวิทยาศาสตร์มาใช้ ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาธรรมชาติ แต่เสร็จแล้วตัวเองกลับไม่ศึกษาธรรมชาติ นี่คือความจริงที่ย้อนแย้งในตัว เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะเข้าถึงความจริงได้ เพราะมันจับผิดจับถูก ย้ำอีกทีนะ สังคมศาสตร์ไปนิยมวิธีการของวิทยาศาสตร์ เอาวิธีการวิทยาศาสตร์มาเป็นมาตรฐานวัดศาสตร์ของตัวเอง เอาวิธีการมาใช้ เอาวิธีการวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาธรรมชาติมาใช้ แต่ตัวเองไม่ศึกษาธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเป็นความคลาดเคลื่อนที่สำคัญมาก ก็ย้อนกลับมาว่านี่คือหลักความจริงที่มนุษย์จะต้องตระหนักตลอดเวลาว่า แท้จริงแล้วกฎเกณฑ์ความเป็นไปในสังคมมนุษย์นั้นไม่สามารถจะแยกออกจากความเป็นจริงในกฎธรรมชาติได้ เช่นกฎมนุษย์นั้นมีขึ้นมาเพื่อจัดระบบสังคมโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาตินั่นเอง ฉะนั้นจึงได้หลักการนี้ในทางพุทธศาสนาเราเรียกหลักการนี้ว่าอะไร หลักการนี้คือหลักการพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดของพุทธศาสนา เป็นชื่อของพุทธศาสนาเลย คือหลักการที่ชื่อว่า ธรรมวินัย ธรรมะคือความจริงของกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าตรัวไว้เอง ตถาคตทั้งหลายจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตามความจริงมันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น สิ่งทั้งหลายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตถาคตทั้งหลายได้มาค้นพบความจริงนี้แล้วจึงมาเปิดเผยแสดงชี้แจงทำให้เข้าใจง่าย นี่ความจริงนี่ธรรมชาติมีอยู่ตามธรรมดาของมัน เสร็จแล้วจากการที่เข้าถึงตัวธรรมะ ความจริงในกฎธรรมชาตินี้ พระพุทธเจ้าก็เอาความรู้ในความจริงนี้ มาจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์ เช่น จัดตั้งสงฆ์ขึ้นมาเป็นต้น เป็นชุมชนที่จะให้มีความเป็นอยู่อย่างนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างนี้ มีระเบียบในการบริหารปกครองอย่างนี้ การจัดระบบสังคมอย่างนี้ ให้มีความเป็นอยู่ เช่นเศรษฐกิจ การปกครอง การเมือง อะไรต่างๆ เหล่านี้ การจัดระบบนี้เรียกว่าวินัย ไม่ใช่ความหมายที่แคบอย่างปัจจุบัน ที่ว่าเป็นระเบียบเท่านั้น การจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์นี้ต้องมาจากฐาน คือการรู้ความจริงของกฎธรรมชาติ คือตัวธรรมะ การจัดระบบนั้นก็เพื่อให้มนุษย์นั้นได้ประโยชน์จากตัวธรรมะ คือความจริงของกฎธรรมชาตินั้นอีกที เพราะว่ามนุษย์นี้อยู่กันไปนี่ ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงจากความจริงของกฎธรรมชาติได้ สังคมมนุษย์ก็ตาม ชีวิตแต่ละคนก็ตามอยู่ใต้กฎธรรมชาติ แต่ถ้าเรารู้ความจริงของกฎธรรมชาติ เราสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ ดำเนินชีวิตของเราให้ดีงาม ให้สังคมของเราอยู่ดีที่สุด เราก็เอาความรู้ในความจริงก็คือตัวธรรมะนั้น มาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมมนุษย์ ว่าเราอยู่กันอย่างนี้นะ จัดสรรปัจจัยสี่อย่างนี้นะ มีความสัมพันธ์มีการปกครองอย่างนี้ เพราะฉะนั้นธรรมะคือตัวความจริงในกฎธรรมชาติ ก็มาเป็นฐานให้กับการวางระบบในสังคมมนุษย์ ที่เรียกว่าวินัย แล้วการจัดตั้งมนระบบสังคมมนุษย์ที่เรียกว่าวินัย ก็มีเพื่อจะให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากตัวธรรมะคือความจริงของกฎธรรมชาติ นั่นเอง เพราะฉะนั้นธรรมะคือความจริงในกฎธรรมชาติ เป็นทั้งเหตุ เป็นทั้งฐาน และเป็นทั้งจุดหมาย เป็นทั้งผลของวินัยด้วย คือการจัดระบบในสังคมมนุษย์ นี่คือความสัมพันธ์สองส่วน เป็นบูรณาการขั้นพื้นฐานเลย ถ้ามันเสียอันนี้แล้ว บูรณาการอะไรล่ะ มันไม่มีอะไรจะมาบูรณาการ ฉะนั้นการบูรณาการขั้นฐานที่สุดต้องได้ความจริงของกฎธรรมชาติกับความจริงของสังคมมนุษย์ ทำไงจะมาประสานกันได้ ให้สอดคล้อง อันนี้คือหลักที่เรียกว่าธรรมวินัย พุทธศาสนาถือเป็นสำคัญเลย ฉะนั้นมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ พยายามเหมือนกันที่ว่า การที่เขาจะจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์ จะเป็นระบบเศรษฐกิจก็ตาม ระบบการเมืองการปกครองก็ตามเนี่ย เขาต้องพยายามเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ เขาหาความจริงนี้ เขาถึงสร้างเป็นทฤษฎีต่างๆ ขึ้นมา การที่มีทฤษฎีก็เพราะเขามีการเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วก็วางระบบของสังคมขึ้นบนบานของทฤษฎีนี้ แต่ทฤษฎีนี้ไม่มาจากประสบการจริง มาจากการสันนิษฐาน การคิดหาเหตุผลในเชิงของ intellectual ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดการหาว่าเกิดทฤษฎีต่างๆ ขึ้นมา ในเรื่องของเศรษฐกิจก็หลายทฤษฎี แล้วทฤษฎีการเมืองกับเศรษฐกิจก็ไม่ลงกันอีก กลายเป็นว่าเรื่องของสังคมมนุษย์อันเดียว การที่มนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกันเนี่ย ไปเป็นด้านการปกครองมีทฤษฎีหนึ่ง เรื่องเศรษฐกิจมีทฤษฎีหนึ่ง แล้วทฤษฎีอันไหนเข้าถึงความจริงแท้ล่ะ ทฤษฎเหล่านี้เช่นเศรษฐกิจกับการเมืองไม่ลงกันประสานกันไม่ไดเ แสดงว่าผิดแล้ว ใช่ไหม มนุษย์ก็ไม่สามารถจัดระบบสังคมที่ดีได้ เพราะสังคมมนุษย์นี้มันเป็นอันเดียวทั้งหมด มนุษย์ที่มาอยู่ร่วมกันสมัมพันธ์ก็เป็นชุดเดียวกัน ชีวิตอันเดียวกัน ใช่ไหม มันต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงอันเดียวกัน ที่รู้ได้อย่างเดียวกัน มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่รู้ทั่วถึงตลอดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ถ้าไม่รู้ความจริงที่ทั่วตลอดเป็นอันเดียวกันนี้ จะจัดตั้งวางระบบสังคมที่ดีได้อย่างไร ฉะนั้นตอนนี้จะต้องมาถึงจุดนี้ที่ทฤษฎีต่างๆ นี้ไม่เพียงพอ แล้วทฤษฎีนี้เป็นตัวสร้างความขัดแย้ง หรือเป็นความพยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แต่ไม่ถึงจริง แล้วขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นระบบสังคมจะต้องมีปัญหา เมื่อระบบสังคมมีปัญหาแล้วสังคมมนุษย์ก็อยู่ด้วยดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องพยายามเข้าถึงอันนี้ ตัวธรรมะ คือตัวความจริงที่ครอบคลุมความเป็นจริงของกฎธรรมชาติที่รองรับความเป็นอยู่ร่วมกัน ในความสัมพันธ์ของมนุษย์ทั้งหมดนี้ เพื่อจะจัดวางระบบสังคมที่ดีได้ จะเป็นระบบเศรษฐกิจก็ตาม สังคมก็ตาม การเมืองก็ตาม ต้องมีฐานอันนี้อยู่ นี่คือบูรณาการขั้นพื้นฐานที่สุด
ทีนี้เป็นอันว่าเวลาหมดแล้ว ไม่สามารถจะพูดต่อไป ความจริงเรามีเรื่องต้องพูด เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างธรรมาธิปไตยกับประชาธิปไตย อย่างนี้เป็นต้น แล้วเรื่องหลักการของประชาธิปไตยขณะนี้ที่กำลังคลาดเคลื่อน เวลานี้หลักการสำคัญประชาธิปไตย หนึ่ง-เสรีภาพ สอง-เสมอภาค กำลังถูกอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเข้ามาครอบงำ ก็เลยทำให้ความหมายหลักการใหญ่ของประชาธิปไตย คือเสรีภาพ และความเสมอภาคเนี่ย เป็นเสรีภาพและความเสมอภาคเชิงแบ่งแยกและแก่งแย่ง แทนที่จะเป็นเสรีภาพในเชิงที่นำเอาศักยภาพของมนุษย์มาร่วมกันสร้างสรรค์ ถ้าขาดหลักการสำคัญ หลักการที่สาม-ภราดรภาพ ก็หายไป ฉะนั้นเวลานี้สังคมอเมริกันก็กำลังเสียภราดรภาพเช่นว่า ???ความเป็นเบ้าหลอมก็กำลังจะแตก ทีนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐศาสตร์ทั้งหมด แต่เป็นอันว่าเวลาหมดแล้ว อาตมาก็ต้องยุติตรงนี้ก่อน แต่ขอฝากไว้ว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาอีกมากมาย ก็ขอย้ำจุดที่ว่าเวลานี้ศาสตร์ต่างๆ กำลังมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องปรับปรุงตัวเอง ว่าจะทำยังไงจะสนองความต้องการของโลกที่ขณะนี้มีปัญหาในระดับโลกาภิวัตน์ ที่ทั้งโลกนี้จะต้องมัผลประโยชน์ร่วมกัน แล้วต้องแก้ปัญหาร่วมกัน รัฐศาสตร์จะมาสู่จุดนี้ จะมาสนองความต้องการได้อย่างไร รัฐศาสตร์จะต้องพัฒนาตัวเอง ในขณะนี้เรามีแนวความคิดที่จะเสนอได้ ถ้าท่านจะเรียกว่าพุทธรัฐศาสตร์ ก็อยู่ตรงนี้ ต้องเอาแนวความคิดที่เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติที่แท้จริงนำมานำเสนอแก่มนุษย์ในการที่จะจัดสรรวางระบบซะใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงที่แท้จริงขของธรรมะ ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น วันนี้ก็ขอจบการบรรยายในเรื่องพุทธรัฐศาสตร์ไว้เป็นแง่คิดฝากกับท่านอาจารย์ทุกท่านเพียงเท่านี้ ก็ขออนุโมทนา แล้วขอทุกท่านจงประสบความสุขความสำเร็จในการที่ช่วยกันสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ แล้วก็ทำให้ชีวิตและสังคมดำรงอยู่ด้วยดี ประสบสันติสุข รวมทั้งธรรมชาติแวดล้อม คือโลกนี้ เป็นที่อยู่ได้ด้วยดีของชีวิตและสังคมนั้นสืบไป ขอทุกท่านจงประสบจตุรพิธพรชัยโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนานเทอญ
(นาทีที่ 42.56)
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : เกี่ยวกับเรื่องพระศาสนานะคะ เกี่ยวกับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด แล้วก็ความคิดต่างๆ ไม่ทราบว่าได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูหรือเปล่า เพราะว่าตำราบางเล่มก็บอกว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เพราะว่าแนวปรัชญาต่างกัน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เราต้องมองกว้างๆ ว่าศาสนาพราหมณ์นั้นเป็นภูมิหลังของสังคมอินเดียที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เป็นธรรมดาที่จะต้องไปเกี่ยวข้อง เกี่ยวข้องในทางบวกและทางลบ ในทางบวกก็คือว่าอันใดที่ดีท่านก็ยอมรับไม่ได้ปฏิเสธ แต่อันใดที่ท่านเห็นว่าไม่ดีไม่ถูกท่านก็ปฏิเสธ เพราะฉะนั้นจึงเห็นชัด อย่างเรื่องวรรณะไง ทำไมพุทธศาสนาสอนเรื่องวรรณะ ก็เพราะศาสนาพรหมณ์-ฮินดู เขาสอนเรื่องวรรณะ แล้วท่านก็ขัดแย้งเลย ใช่ไหม เจริญพร นี่เรียกว่าในทางปฏิเสธว่าไม่เอาด้วย หรืออย่างบูชายัญอย่างนี้ พุทธศาสนาก็เกิดขึ้นสภาพสังคมที่เขาบูชายัญ แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนใหม่ว่าบูชายัญนั้นไม่ควรจะทำอย่างนั้น ไม่ให้มีการเบียดเบียน ให้ความหมายใหม่ในการบูชายัญ เป็นต้น หรืออย่างเรื่องกรรม เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ก็จะมีแง่มุมที่ว่าเกิดขึ้นในสภาพอย่างนั้น ถ้อยคำที่เขาพูด ท่านก็ต้องใช้ แต่ก็ใช้แล้วก็อธิบาย แก้ไขความเข้าใจ โดยอันหนึ่งบางอย่างก็บอกว่าที่จริงเดิมนั้นไม่ใช่อย่างนี้ แล้วมาวิปริตคลาดเคลื่อนไป ขอให้กลับไปเข้าใจให้ถูกต้องอย่างเดิม บางอย่างพระองค์ก็แก้ใหม่หมดเลย ว่ามันต้องไม่ใช้อย่างนั้น แต่ว่าศัพท์ที่ใช้ต้องใช้ศัพท์เดียวกัน เพราะว่าเกิดในท่ามกลางสังคมอย่างนั้น คำพูดถ้อยคำพูดจาอย่างนั้น ใช่ไหม เหมือนอย่างกรรมเนี่ย ศาสนาพรหมณ์เขาก็มี ศาสนานิครนถ์เขาก็มี พุทธศาสนาก็สอน แต่ว่าสอนไม่เหมือนกัน อย่างนิครนถ์ เขาสอนลัทธิ ปุพเพกตเหตุ ว่าเขาถือว่ามนุษย์จะได้สุขได้ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ จะยังไงก็ตามเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน อันนี้นิครนถ์เขาว่าอย่างนั้น พระพุทธศาสนาปฎิเสธอันนี้ว่าไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน แต่ว่ากรรมในความหมายของพุทธศาสนาก็คือกระบวนการที่มีเจตจำนงที่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่คิดอยู่ในใจ การบวนการแห่งกรรมที่เกิดจากเจตจำนงของเรานี้ต้องให้มันดี ใช่ไหม เจริญพร ไม่ใช่ไปปล่อยมัน ถ้าเราไปปล่อยว่าอะไรจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ที่ทำไว้ชาติปางก่อน ก็แสดงว่ามันไม่ใช่กฎแห่งกรรมแท้จริง เพราะกฎแห่งกรรมก็คือกระบวนการที่มีเจตจำนงที่เป็นเหตุปัจจัยที่มันคืบเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้ก็เป็นส่วนสำคัญ แล้วขณะนี้แหละที่เราต้องเอาใจใส่ เพราะเป็นส่วนที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการได้ แต่ว่าเราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องสืบเนื่องมาจากเก่า เพราะว่าตัวเราทั้งตัวนี้ก็เป็นผลจากส่วนที่ผ่านมาแล้ว แต่ว่าเราจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้หรือ ถ้ามันไม่ดี ใช่ไหม แล้วจะไปรอว่าแล้วแต่กรรมที่ทำไว้ชาติก่อน ไม่ได้แล้ว ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ เราก็จะได้มีโอกาสสำรวจว่า อ้อ มันดีหรือไม่ดีล่ะ น่าพอใจไหม ถ้ามันไม่น่าพอใจ เป็นเพราะอะไร แล้วจะแก้ที่จุดไหนที่ควรจะละเลิก อันไหนที่ควรจะทำซะใหม่ เราก็จะทำให้มันเป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น ก็คือการที่ว่ามีการปรับปรุงพัฒนาได้ ที่เรียกว่าสิกขา ถ้าเราไม่ยอมรับอันนี้ การที่พุทธศาสนาเรียกว่าสิกขา ก็หมดกัน หมดความหมายเลย เรื่องสิกขาคือการที่เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ตอนนี้เป็นหลักการใหญ่ เราเรียนรู้อดีต เราเรียนรู้ผลกรรมในอดีต ก็เพื่อมาสิกขา เพื่อมาแก้ไขปรับปรุงพัฒนา ใช่ไหม เจริญพร เพราะฉะนั้นมันเป็นประโยชน์อันนี้ กรรมเก่าก็เป็นบทเรียน แล้วก็เป็นฐานสำหรับปัจจุบันว่าจะทำยังไงต่อไป แล้วถ้าเราไปบอกว่า อะไรต่ออะไรมันจะเกิดยังไงก็แล้วแต่กรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน ก็แสดงว่าเราทำกรรมใหม่ เพราะว่าการไม่ทำก็คือการกระทำชนิดหนึ่ง ก็คือกรรม การที่เราไปคิดอย่างนั้นเราก็ทำกรรมเข้าไปแล้ว ก็คิดว่ามันจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ชาติปางก่อน ก็รอผลกรรมไป ก็ตกอยู่ในความประมาท ความประมาทก็เป็นการทำกรรมอย่างหนึ่ง เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่เราบอกว่าเราไม่ ทำอะไร ก็คือทำกรรม แล้วเป็นอกุศลกรรม ก็คือกรรมในความประมาท แล้วกรรมแห่งความประมาทที่เป็นอกุศลนี้ก็จะเป็นปัจจัยให้เราได้รับผลร้ายต่อไป ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ประมาท มีหลายคนไปติดตรงนี้ ไปปลงว่าเป็นแล้วแต่ผลกรรมเก่า แล้วก็ประมาทเลย ทำกรรมแห่งความประมาทแล้ว ใช่ไหม
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ที่บอกว่าเราเกิดมาใช้กรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นี่ต้องระวังมาก ต้องพูดให้ดี คือเราไม่พูดอย่างนั้นดีกว่า มันเป็นสำนวนพูดที่ถ้าไม่ระวังแล้วจะเข้าใจไขว้เขว จริงอยู่ในแง่หนึ่งนี่เราต้องรับผลจากกรรม ซึ่งเป็นอดีตนี่เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ท่านไม่ให้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ก็คือปัจจุบัน อยู่ที่ว่าเราจะเอายังไงกับมัน เราจะเอายังไงกับมัน หลักสิกขาบอกให้พัฒนาให้ดีขึ้น เราก็ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ใช่ไหมเจริญพร ทั้งพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา ต้องพัฒนาทั้งนั้น สิกขาเข้ามาบอกให้เราดีขึ้น พอเราสิกขาเราก็มาทำกรรมที่ดีขึ้นด้วย เราจะปล่อยไปให้ตัวเรามีความสามารถคงอยู่เท่าเดิมหรือ ใช่ไหม ความสามารถเดิมมันไม่ดี เราก็ต้องแก้ไข ปรับปรุงให้มันดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นหลักการพุทธศาสนาที่สำคัญมากก็คือหลักสิกขา เป็นภาคปฏิบัติทั้งหมดของเรา ใช่ไหม เพราะเราให้พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา พอเราพัฒนาไป กรรมของเราก็ดีขึ้น ก็ทำกรรมดีขึ้นเรื่อย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : อาจารย์ค่ะ อย่างการฆ่าตัวตาย แล้วก็บอกว่าทำเพื่อผู้อื่น ในทางพุทธศาสนาจะบอกว่าไง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : หมายความว่าไง ทำเพื่อผู้อื่น ฆ่าตัวตายเพื่อผู้อื่นได้ยังไง
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ก็อย่างมีพระในนิกายมหายาน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ๋อ อันนั้นเป็นเพียงวิธีการสร้างปัจจัยทางสังคม เช่นว่าสร้างแรงบีบคั้นหรือกดดันในทางสังคม ใช่ไหม ให้คนบางคนต้องยอมปฏิบัติตาม เพราะว่าอาจจะเป็นแรงบีบทางสังคม เช่นว่า ถ้าคุณไม่ยอมตามนะ ฉันฆ่าตัวตายนี่ คนจำนวนมากนี่ก็จะไม่พอใจคุณ หรือจะทำอะไรกับคุณ หรืออะไรอย่างนี้ หรือคุณถูกติเตียนในวงกว้างในทั่วโลก อย่างนี้ อันนี้เป็นการสร้างเหตุปัจจัยในทางสังคม ก็เป็นไปตามระบบเหตุปัจจัย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : เป็นบูญหรือเป็นบาป
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มีทั้งเจตนาบางส่วนก็คละกัน มีทั้งบุญทั้งบาป อย่าไปตัดสินใจแง่เดียวไม่ได้ ในการกระทำเดียวกัน บางทีมีทั้งบุญทั้งบาป
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : แล้วในทางพุทธศาสนาจะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็แยกได้เลย ก็วินิจฉัย อย่างนี้อย่างที่ว่าเด็กคนหนึ่ง แม่เจ็บ ไม่มีเงิน ไปลักเงินมารักษาแม่ ถามว่านี่ถูกหรือผิด ตอบแบบพุทธศาสนาต้องแยกแยะตอบ ท่านเรียกว่า วิภัชชวาท ที่ไปลักของน่ะไม่ถูก แต่ที่มากตัญญูรักษาพ่อแม่นี่ ถูก ดี ใช้คำว่าดีเป็นกุศล การตอบอย่างนี้ หนึ่ง-ว่าไปตามความเป็นจริงของแต่ละส่วน ไม่ตีขลุม ไม่ใช่แบบตะวันตก ตะวันตกจะตีขลุมเลย ว่าอย่างนี้หักลบกลบกันดี เช่น โคลเบิร์ก จะยกตัวอย่างว่าจริยธรรมแบบเหตุผล สติปัญญา ภรรยาเป็นโรคมะเร็ง สามีจะไปซื้อยามะเร็งที่ร้าน ร้านนี้ขายแพง ไม่มีเงินจะซื้อ สามีก็เลยไปขโมยเอายามารักษาภรรยา ให้นักจริยธรรมพิจารณาวินิจฉัย ว่าอย่างนี้ถูกหรือผิด โคลเบิร์ก ก็บอกว่าถูก เพราะชีวิตสำคัญกว่าเงิน อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้ไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา พุทธศาสนาจะแยกได้เลย ส่วนที่ไปลักขโมยนั้นไม่ถูก ไม่ดี แต่ส่วนที่รักษาภรรยานั้นดี การที่เราแยกได้อย่างนี้ หนึ่ง-ตรงความจริง สอง-จะเป็นทางให้คนพัฒนาได้ต่อไป ถ้าไปตีขลุมว่าถูก ต่อไปก็ทำได้อีก ใช่ไหม ถ้าเราบอกว่าส่วนนี้ดี ส่วนนั้นยังไม่ดี เขาจะได้มีทางพัฒนาแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรม ต่อไปจะทำสิ่งที่ดีได้โดยไม่ต้องใช้วิธีการที่ไม่ดี ถูกไหม เหมือนอย่างเด็กคนนี้กตัญญูกับพ่อแม่ เราบอกว่าดีแล้วที่เธอรักพ่อแม่ รักษาพ่อแม่ แต่วิธีการเธอไปหาเงินมานี่ยังไม่ดี เธอจะต้องพัฒนาความสามารถในการที่จะให้หาเงินได้ในทางที่ดีด้วย แล้วจะได้มาทำดีได้สมบูรณ์ เขาก็จะมีทางพัฒนาได้ เป็นสิกขา ถ้าตอบแบบว่า ดี ก็จบเลย ทีนี้ก็ทำยังไงก็ได้ ทำได้ตามนี้เลย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ในกรณีนี้ที่ทำไปแล้ว ทำให้ส่วนของกรรมจะต้องเป็นยังไง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ให้ไปตามส่วนนั่นแหละ คือให้ทั้งดีทั้งร้าย ??? ลักษณะมนุษย์อย่างหนึ่ง มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีกรรมดีกรรมชั่วคละกันไป ลักษณะพิเศษของมนุษย์ มนุษย์เป็นอย่างนี้ ทีนี้เราก็พยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อเราจะได้มีกรรมชั่วทำน้อยลงไง เพราะมนุษย์ต้องยอมรับว่ามนุษย์นี้ยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นเรายังมีการทำอกุศลกรรมอยู่ ใช่ไหม ก็ที่เราอยู่มีชีวิตปฏิบัติธรรมก็เพื่อเราจะได้ขัดเกลา เราจะได้สิกขา เราจะได้ฝึกฝนพัฒนา เราจะได้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น ทำกรรมชั่วน้อยลง ใช่ไหม เจริญพร
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ??? ไม่มีการว่าจะเอามาชั่งกัน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ๋อ ไม่ชั่ง แต่ว่ามันมีอิทธิพลต่อกัน มีอิทธิพลที่ว่า ไม่ใช่หักลบกลบหนี้ แต่ว่ามันเป็นไปโดยธรรมชาติ ก็คืออิทธิพลของกรรมที่มันแรง ใช่ไหม มันทำให้อีกฝ่ายไม่มีโอกาส แต่ไม่ได้หายไป ไม่ได้ลบ คำว่าไม่มีโอกาส ไม่ใช่หมายความว่าลบหมดไป ??? ตามโอกาส คือไอ้ตัวนี้มันแรงใช่ไหม เมื่อมันแรงมันก็เลยทำให้ตัวนั้นหมดโอกาส ใช่ไหม เจริญพร
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : กรณีอย่างนี้ไม่ทราบอันไหนจะแรงกว่ากัน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อันไหน ??? อันนี้ก็ต้องดูสถานการณ์ บางครั้งในกรณีทั่วไปนี้มันก็แรงด้วยกันทั้งคู่ บางครั้งอาจจะแรงพิเศษ เช่นออกมาในเชิงสังคมนะ ถ้าเป็นความดีพิเศษนี้บางที คนทุกคนฟังแล้วเห็นใจหมดเลย ใช่ไหม แล้วเจ้าของเงินบอก อย่างนี้ฉันไม่เอาเรื่องแล้ว
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : อย่างนี้ยาก
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ไม่ใช่ อย่าไปพิจารณาว่ายากง่าย พิจารณาว่ามันเป็นความจริงของธรรมชาติ ถ้ามองอย่างนี้แล้ว เราเป็นแต่เพียงว่าศึกษามันให้รู้ความจริงของมัน เพราะว่าธรรมชาติคือสิ่งที่ยากที่สุด ถ้าว่ากันไป ธรรมชาติคือสิ่งที่ธรรมดาที่สุด แต่ธรรมดาที่สุดคือสิ่งที่ยากที่สุด แล้วเราก็พยายามเข้าใจ ธรรมดา
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ร็สึกเหมือนกับว่ามีการ???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เราต้องนึกว่านี่คือความจริงในธรรมชาติ เราเพียงแต่พยายามศึกษามัน ถ้าเราไม่โยงกับความจริงในธรรมชาติ เราก็จะพลาด คือเวลาเราศึกษา เราพยายามตระหนักในใจตลอดเวลา นี่เรากำลังศึกษาความจริงในธรรมชาตินะ แล้วธรรมชาติก็จะเป็นตัวตัดสินความจริงของมัน ไม่งั้นมันจะกลายเป็นการศึกษาเชิงทฤษฎี เป็นตัวหนังสือ ตัดขาดแยกออกจากความเป็นจริงไป ถ้าเราไม่ตระหนัก
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : อันนี้หลวงพ่อดีขึ้นไหมคะ ที่เป็น
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็โดยทั่วไปดีขึ้น ใช้ได้ แต่วันนี้เมื่อกี้ก็เสียงเริ่มแหบแล้วเหมือนกัน ??? กับนับว่าใช้ได้ ก็อยู่ในขั้นไปได้
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ??? ในพุทธศาสนาสอนเรื่องเกิดมาทำไม ???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ๋อ เกิดมาทำไม ชีวิตมันไม่รู้ด้วยหรอก เราต้องว่าไปตามธรรมชาติ ชีวิตของเราเราไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ถูกไหม แต่เราพยายามหาจุดหมายให้มัน ใช่ไหม เราพยายามศึกษาพัฒนา เราเกิดปัญญา เรารู้เข้าใจว่าชีวิตที่ดีเป็นยังไง อะไรที่เป็นของดีกับชีวิต เราก็เลยได้หาจุดหมายให้มันด้วย เจริญพร แต่ถ้าตอบในแง่ว่า อย่างนี้ท่านก็ให้จุดหมายได้ เราก็บอกได้ชัดว่านิพพานนั่นเป็นจุดหมายชีวิต ใช่ไหม
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ??? ค้นพบนิพพานคือเป้าหมาย???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เจริญพร ทีนี้เรามองในมุมกลับ ท่านบอกว่านิพพานเป็นจุดหมาย แต่ว่าตัวเราจะไปเอานิพพานมาเป็นจุดหมายนี่ นิพพานที่เราเข้าใจมันไม่ตรงความจริงนะ ใช่ไหม เจริญพร ??? ก็ท่านตอบตามหลักการพ้นทุกข์เนี่ยนะ ถ้าเอาแค่บำเพ็ญบารมีนั้นเป็นเพียงแค่วิธีการ ใช่ไหม บำเพ็ญบารมีก็เป็นวิธีการ พูดถึงวิธีการ เพราะฉะนั้นทำอะไร บารมี ต้องมีจุดหมายอีกที ถ้าตามหลักท่านบอก บำเพ็ญบารมี จุดหมายก็เพื่อเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันต์เป็นต้น แล้วจะเป็นพระบารมีของพระพุทธเจ้า เป็นสาวกกับบารมี ก็กลายเป็นว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็นอุปกรณ์ หรือเป็นวิถีทาง ไม่ใช่เป็นจุดหมาย พ้นทุกข์ เราเป็นจุดหมาย ??? อันหนึ่งตอบแบบวิธีการ อันหนึ่งตอบแบบจุดหมาย ??? จะถูกได้ไง ถ้าเป็นวิธีการก็ยังไม่ใช่จุดหมาย ใช่ไหม
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : อาจารย์คะ แล้วในการสอนเด็กเนี่ย เราควรจะสอนให้เด็กถึงนิพพาน หรือว่ายังไงคะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : สำหรับเด็กเนี่ย ในใจเราต้องรู้ว่าเรามุ่งให้เขามุ่งนิพพาน แต่ว่าเราจะไปพูดทันทีนี่ ถ้าเขาไม่เข้าใจถูกต้อง ก็จะเกิดโทษ เพราะฉะนั้นจะต้องระวัง บางทีเราอาจจะไม่พูด แต่ว่าเรารู้ตระหนักในใจ แล้วเราก็ค่อยๆ สร้างพื้นฐานความเข้าใจในลักษณะที่ง่ายๆ ที่เด็กพอจะรู้เรื่อง ให้เห็นว่าชีวิตที่ดีงามมันอยู่ที่อะไร เช่นว่าชีวิตที่ดีงามคือการที่จิตใจของเธออปลอดโปร่งผ่องใส ไม่มีอะไรขุ่นมัวเศร้าหมองอย่างนี้ ใช่ไหม อะไรอย่างนี้ใช่ไหม เจริญพร เพราะว่านอกเหนือจากการที่เธอหาความสุข การที่ได้สิ่งโน้นสิ่งนี้แล้วเนี่ย เธอมีอันนี้ไหม แล้วอันนี้ดีจริงไหม เธอได้ของโน่นนี่แล้ว จิตใจเธอขุ่นมัวเศร้าหมองวุ่นวายตลอเวลาเนี่ย เธอจะดีจริงหรือยัง คือเราไม่ไปปฏิเสธการที่เขาจะได้สิ่งของ ได้สิ่งนั้นที่เขาอยากได้ เราไม่ปฏิเสธ แต่เราจะต้องให้เขารู้ตระหนักว่า แค่นี้ไม่พอนะ มันมีสิ่งดีงามที่เราจะต้องเข้าถึงกว่านั้น แล้วอันนั้นแหละเป็นเนื้อเป็นตัวของเธอที่แท้จริงนะ ใช่ไหม เธอได้ของได้อะไรมา มันก็ได้ชั่วคราว บางทีเธอได้มาแล้วเกิดทะเลาะกับเขาก็เกิดเรื่องวุ่นวาย เป็นปัญหาเดือดร้อนใจ เธอก็ไม่มีความสุข แต่ว่าถ้าเธอมีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใส มีความสุข อะไรเนี่ย มันแน่นอน เป็นของตัวเธอเอง ใช่ไหม เจริญพร เพราะฉะนั้นยังไงก็ให้เธอเอาอันนี้ยันไว้ก่อน เป็นตัวเป้าหมายสำคัญ แล้วเธอได้โน่นได้นี่มา เธอก็จะมีชีวิตที่มีความสุขอย่างดีเลย ถ้าหากว่าเธอไปหาความสุขจากสิ่งภายนอก จิตใจเธอเป็นอย่างนี้ เรียกว่าเป็นผู้ไม่พร้อมที่จะมีความสุข แม้เธอจะได้สิ่งเหล่านั้นมา เธอก็ไม่ปลอดโปร่ง เธอก็ถูกรบกวน ไม่ได้ความสุขเต็มที่จากสิ่งเหล่านั้น แต่ถ้าเธอมีจิตใจดีงาม สบายแล้ว เธอได้สิ่งนั้น เธอก็มีความสุขสมบูรณ์ ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นเต็มที่
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ดิฉันขอเรียนถามค่ะ คำว่า นิพพาน ดิฉันไปเจอตำราบางเล่ม เขาพูดถึง???นิพพาน เป็นนิพพานที่ยังมีอุปาทานหลงอยู่???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ท่านใช้คำว่า อุปาทิ แปลว่า ขันธ์5
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : อ๋อ อุปาทิ หมายถึง ขันธ์ 5 บางท่านอธิบายเหมือนเป็นอุปาทาน???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อันนี้ต้องเป็นขันธ์ 5
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : คนที่เป็นชาวพุทธนี้ แต่ละวันควรพิจารณาอะไรบ้างคะ เพราะคำสอนกว้างเหลือเกิน เวลาที่จะกำหนดให้นักศึกษาหรือเด็กฟัง จะไม่ค่อยได้หลักที่กะทัดรัด
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็มองได้หลายอย่าง คืออันนี้ท่านจัดให้เราไปใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตของแต่ละคนด้วย แต่หลักการใหญ่ๆ เช่นว่า ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น อย่างนี้ก็ได้ นี่ก็หลักใหญ่ จะทำอะไรนี่ก็ให้ประโยชน์ตนได้ด้วย ประโยชน์ผู้อื่นด้วย เราก็ต้องเข้าใจความหมายของประโยชน์ตนให้ถูกนะ ประโยชน์ตนที่แท้มันไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ภายนอก วัตถุ ประโยชน์ก็คือการที่ชีวิตของเราเนี่ยมีการพัฒนาดีขึ้น ใช่ไหม นี่คือประโยชน์ที่แท้จริง เช่นว่าจิตใจของเราก็มีความสุข เบิกบาน หายขุ่นมัว ไม่วุ่นวาย ไม่เศร้าหมอง ดีขึ้น มีคุณภาพ มีสมรรถภาพ จิตใจเข้มแข็งยิ่งขึ้น มีสติมากขึ้น มีปัญญา มีความรู้เข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น อย่างนี้เรียกว่าประโยชน์ตนที่แท้ มันเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ถ้าหากว่าเราไปได้วัตถุทรัพย์สินเงินทอง ไม่เป็นหลักประกันว่า จะเป็นผลดีกับชีวิตหรือไม่ ใช่ไหม แต่ถ้าเราได้จิตใจปลอดโปร่งผ่องใส เราได้ปัญญารู้เข้าใจอย่างนี้ ประโยชน์นี้แน่นอน อันนี้คือประโยชน์ที่แท้ เราได้ไหม เพราะฉะนั้นเราจะต้องดำเนินชีวิตให้ได้ประโยชน์ตนนี้ ก็คือพัฒนาในเรื่องประโยชน์ตนอย่างนี้ขึ้นเรื่อยๆ สอง-พร้อมกันนั้นก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อย่างน้อยไม่เบียดเบียนผู้อื่น แล้วก็ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย เท่าที่เราสามารถ แค่นี้ก็เป็นหลักดำเนินชีวิตได้แล้ว ใช่ไหม เจริญพร หรือเราจะพูดในแง่ไตรสิกขาก็ได้ มันก็อันเดียวกัน เพราะเราจะบอกว่าคนเรานี้เราเป็นสัตว์พิเศษต่างจากสัตว์อื่นนะ สัตว์ชนิดอื่นเขาอยู่ด้วยสัญชาติญาณนะ มนุษย์อยู่ด้วยสัญชาติญาณไม่ได้ มนุษย์เราที่มีชีวิตอยู่ได้ เราต้องเรียนรู้ฝึกฝนทั้งนั้นเลย ทีนี้เราจะมีชีวิตที่ดีเนี่ย มนุษย์ต้องฝึกฝันพัฒนา ต้องเรียนรู้ ฉะนั้นเราต้องใช้ชีวิตของเราในการเรียนรู้ ศึกษาพัฒนายิ่งขึ้นไป ฉะนั้นท่านจึงสอนให้เราเนี่ย พัฒนาชีวิตของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราดำเนินชีวิตแต่ละวันเราก็อาจจะถามตัวเองว่าเราพัฒนาขึ้นบ้างไหม ในแง่ของพฤติกรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นก็ตาม หรือว่าในจิตใจของเราพัฒนาขึ้นไหม มีคุณธรรม มีความสุขขึ้นไหม มีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสไหม มีความเข้มแข็งอย่างที่ว่าเมื่อกี้ไหม พัฒนาปัญญาขึ้นไหม ก็เข้าหลักประโยชน์ตนเมื่อกี้นี้แหละ ตอบในแง่ไตรสิกขาก็ได้
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ที่อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือ ที่พูดถึงประโยชน์ 3 แล้วแบ่งเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น แล้วก็ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน ไม่ทราบมันสัมพันธ์กันยังไง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็หมายความว่า ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น แล้วก็ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มองตามแนวขวาง หรือตามแนวระนาบ เป็นเรื่องเดียวกัน ทีนี้ประโยชน์ขั้นกลาง ขั้นสูง หรือประโยชน์ตามองเห็น ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์อนาคต อันนี้มองแนวตั้ง ทีนี้ในแนวตั้ง สำหรับตัวเราก็แนวตั้งชุดนี้ สำหรับคนอื่นก็แนวตั้งชุดเดียวกันนี้ ใช่ไหม คือว่าถ้าเราไปพูดในแง่ของ
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ไม่ค่อยเข้าใจคำว่าแนวตั้งแนวนอนค่ะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : แนวตั้งก็หมายความว่า สำหรับแต่ละคน เราต้องถือประโยชน์แต่ละระดับนี้ไว้ หนึ่ง- เราต้องได้ประโยชน์ปัจจุบันที่ตามองเห็น แต่แค่นี้ไม่พอนะ ประโยชน์ที่ตามองเห็น เช่นทรัพย์สินเงินทอง การมีครอบครัว การมีเพื่อนฝูงบริวาร การมีสุขภาพดีเนี่ย ก็เป็นประโยชน์ในระดับหนึ่งที่สำคัญ แต่แค่นี้ไม่พอนะ คุณจะต้องขึ้นขั้นที่สอง ก็คือประโยชน์ที่ตามมองไม่เห็น ที่เลยเหนือไป ก็คือประโยชน์ทางจิตใจ ความมีชีวิตที่มีคุณค่า ความภาคภูมิใจในการมีค่าแห่งชีวิตของตนเอง การได้ใช้ชีวิตนี้ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น การที่มีสติปัญญาเพิ่มขึ้น มีคุณธรรม มีความสุขทางจิตใจเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นประโยชน์ที่เลยจากตามมองเห็นในขั้นที่สอง เสร็จแล้วขั้นท่าม-ก็คือความมีอิสรภาพ จิตใจมีอิสระ หลุดพ้น ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของการผันผวนปรวนแปรของสิ่งทั้งหลาย ใช่ไหม ถ้านี่เป็นแนวตั้ง 3 ขั้น แต่ละคนก็เอาให้ได้ ทีนี้เราจะให้คนอื่น ทีนี้เรามองในแง่ตัวเองก็ต้อง 3 ขั้นนี้ ทีนี้เรามองในแง่ประโยชน์ผู้อื่น เราก็ให้เขาได้ 3 ขั้นนี้เหมือนกัน ถูกไหม เข้าใจแล้วนะโยม แนวนอน แนวตั้ง
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : รู้สึกว่าของศาสนาคริสต์เขามีคัมภีร์อะไรเขา น้อยดีจังเลย เวลาคนพุทธจะเข้าศาสนาพุทธ???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ของเราคัมภีร์ใหญ่มาก 45 เล่ม ขนไปเถอะ
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : คัมภีร์เรามี 45 เล่ม อยากให้ท่านเจ้าคุณย่อลงมา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ทำมาหลายปีแล้ว มันค้าง เจริญพร อาตมาทำไว้ตั้งแต่ปี 2507 แล้วก็เลยค้างอยู่นั่นแหละ ไม่ได้ทำต่อ ไม่มีเวลา คือจะทำฉบับเล็กๆ มันจะเป็นชุด 3 เล่ม เล่มธรรมนูญชีวิต แล้วก็เล่มพุทธพจน์ เป็นพระไตรปิฎกฉบับที่พกพาได้ แล้วก็เรื่องของพุทธสุภาษิต ที่เป็นคถาสั้นๆ จะเป็นชุด 3 เล่ม เวลานี้ออกมาได้ 2 เล่ม คือเล่มพุทธสุภาษิต ก็ออกแล้ว เล่มธรรมนูญชีวิต ก็ออกแล้ว แต่เล่มพระไตรปิฎกฉบับเล็ก ยังไม่ได้ออก??? ก็จะพยายาม ???
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : อยากจะขอนิมนต์ท่านไปราชภัฏจันทรเกษมบ้าง อยากให้พูดในแนวที่ว่า พุทธศาสนารากฐานของวิทยาศาสตร์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อันนี้ก็ออกเป็นเล่มแล้ว
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ค่ะ ออกเป็นเล่ม ที่ได้อ่าน ก็อยากจะให้พวกนักศึกษาที่เชาหลงใหลในทางนี้ เขาได้มารู้ว่าตอนนี้ตะวันตกหมุนมาหาทางเราแล้ว แต่เรานี่กำลังหมุนไปหาเขา ??? อยากให้เขาได้สนใจกันบ้าง ??? ตอนนี้ก็มีฉายแสงออร่า ???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นักวิทยาศาสตร์เองเขาเรียกวิธีการนี้ว่า วิทยาศาสตร์เข้าถึงเงาแห่งความจริง ก็มาถ่ายออร่า อันนี้คือไม่เข้าถึงตัวจริง แต่เอามาดูปรากฏการณ์ที่มันเป็นผลพ่วงกับสิ่งนั้นอีกที
ปรากฏการณ์ที่มันออกมาจากตัวนั้นอีกที นั่นเป็นเรื่องเงาแห่งความจริง
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) :??? เดิมสอนวิทยาศาสตร์ ตอนหลังมาสนใจเรื่องพุทธศาสตร์ ก็เลยไปดูช่วยเขา ??? ที่มหิดลเขาก็จะเป็นกราฟ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ที่มหิดลของ ด็อกเตอร์นายพินิจ นั่นทำเรื่องกราฟ ฝรั่งเขาก็ศึกษากันเยอะ แล้วที่ศิริราช ก็ตั้งแต่อาจารย์ด็อกเตอร์โรจน์ สุวรรณสุทธิ ก็ศึกษาเอานักศึกษาของแพทย์ไปนั่งสมาธิ แล้วก็ทำเครื่องวัดคลื่นสมองกัน เขาทำกันมานาน
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) :???เขาบอกว่า ออร่าในต้นไม้ก็ได้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มันก็มีทั้งนั้นแหละ เจริญพร พวกนี้ ??? ไม่ใช่จิต เพราะว่านิยามกฎธรรมชาติมีหลายอัน บางแสงมันก็อาจเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งอาจจะมีเหตุปัจจัยมาได้ตั้งหลายอย่าง ตัวแสงที่ออกจากคนมันก็ไม่ใช่แสงที่ออกจากจิตโดยตรง แต่มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกาย เวลาจะออกมา มันต้องออกมาผลกระทบกับกายก่อน แล้วผลจากกายก็ออกมาเป็นรังสีนี่ ไม่ใช่แสงออกจากจิต จิตมันไปส่งผลต่อกาย เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต แล้วการเปลี่ยนแปลงทางกายนั่นแหละ ทำใหเกิดเป็นรังสีนี้ออกมา ไม่ใช่แสงออกจากจิต จิตเป็นนามธรรม ไม่มีแสง
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : เขาบอกว่าจิตมีพลัง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นี่เป็นวิธีพูด หมายความว่าจิตนี่นะ มันสัมพันธ์อยู่กับกายใช่ไหม เจริญพร ทีนี้พอจิตเข้าสู่สภาวะอย่างนี้ ผลทางกายก็ออกมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกาย ใช่ไหม พอความเปลี่ยนแปลงทางกายเกิดขึ้นมา ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ส่งผลออกมา เป็นปรากฎการณ์เช่นเรื่อแสง เรื่องสี เป็นต้น
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ท่านอาจารย์คะ เป็นไปได้ไหมคะที่ว่าจิต เป็นเหมือนตัวแบตเตอรี่ในรถยนต์ ที่จะไปทำให้กระแสประสาท ระบบสมอง เปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วไปทำงานในกาย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มันเหนือกว่านั้นอีก มันเป็นธรรมชาติของจิต ซึ่งไม่เหมือนระบบกาย ระบบทางวัตถุไปเทียบไม่ได้ คือเราไปเทียบแบบแบเตอรี่ มันไม่เหมือนหรอก เพราะนี่เป็นระบบฝ่ายวัตถุ นั่นเป็นธรรมชาติของจิต ซึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติของจิต แต่ว่าความเป็นไปทางจิตนั้นเมื่อมันมาสัมพันธ์กับกายอยู่ มันสัมพันธ์กันตลอดเวลา มันก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายด้วย ความเปลี่ยนแปลงนี่แหละที่ปรากฏผลออกมาอย่างที่ว่า เช่นมีพลัง มีอะไรต่างๆ เหล่านี้
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : หรือมันจะเป็นกระแสจิตออกมาสั่งสมอง ระบบประสาท หรือยังไง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ถ้าเราจะพูดในภาษารูปธรรม จะพูดทำนองนั้นก็ได้ คือว่าเป็นวิธีพูดโดยใช้ศัพท์ทางรูปธรรม เพราะเวลาเราพูดถึงเรื่องนามธรรม บางทีเราไม่มีศัพท์จะใช้ เราก็ต้องเอาศัพท์รูปธรรมไปใช้ เช่นคำว่า พลังงาน ที่จริงมันเป็นศัพท์รูปธรรม แต่เราพยายามอธิบายนามธรรม เราไม่รู้จะใช้ศัพท์อะไร เราก็ใช้ลักษณะที่คล้ายกันนี่ของรูปธรรมนี่ ไปอธิบายนามธรรม ความมีพลัง เข้มแข็ง มีแสงสว่าง
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : จิตก็มีแสงสว่าง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คล้ายๆ อย่างนั้น เป็นวิธีพูด คือใช้ศัพท์รูปธรรมไปอธิบาย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : จากที่ได้ฟังในพระอภิธรรม บางท่านบอกว่า???หมอบางคนก็บอกว่าไปอยู่ใต้ฐานสมอง ??? แล้วมันอยู่ตรงไหนกันแน่ ก็เลยกราบเรียนพระอาจารย์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ในพระไตรปิฎกได้บอกระบุไว้ในอภิธรรม ในคัมภีร์อภิธรรมปิฎกมีอยู่หน่อย คือท่านพูดว่าวัตถุ วัตุก็หมายความว่าตัวที่ตั้งของจิต แต่ไม่มีคำว่าหทัย แล้วมาถึงอรรถกถาจึงเติมคำว่าหทัยลงไป
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ??? ทีนี้เราจะว่ายังไงละคะพระอาจารย์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ??? อยู่ในคูหาสยัง อันนั้นเป็นคาถาพระธรรมบท ??? คูหาท่านก็อธิบายว่าคือกาย หมายความว่าจิตนี้อาศัยร่างกาย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : จะว่าหทัยวัตถุจะไม่ถูกใช่ไหมคะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็นี่แหละตอนเดิมมีศัพท์คำว่า วัตถุ เฉยๆ พอต่อมามีศัพท์ว่า หทัยวัตถุ ก็คือหัวใจ ทีนี้ในขั้นอรรถกถาเนี่ย ท่านอธิบายแบบที่ว่าอย่างที่อาจารย์ว่า ก็คือบอกว่าจิตนี่อยู่ที่หัวใจ เพราะฉะนั้นจะมีเรื่องว่าน้ำเลี้ยงหัวใจอย่างนั้นๆ อะไรต่างๆ ??? นี่คำอธิบายของอรรถกถา คือคัมภีร์รุ่นหลังที่อธิบายพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฏกเองจะไม่ระบุลงไป
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ทีนี้ถ้าเราจะพูดให้เป็นแบบพระไตรปิฎก เราจะว่ายังไงคะ อย่างเด็กนักศึกษาเนี่ยเขาก็สงสัยว่ามันอยู่ยังไงกันแน่ อย่างนี้ค่ะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ถ้ามองอีกทีมันไม่จำเป็นต้องไปอยู่ตรงไหน ก็มันอยู่อาศัยกายเราอยู่เนี่ยมันใช้กายเรานี่ได้หมดเลย แต่ว่าสำนักงานใหญ่เราอาจจะพูดได้ว่าสมอง ??? อ๋อ ความสัมพันธ์กันมาอาศัยอุปาทานด้วย เป็นความยึดถือ แล้วก็มันใช้กายนี้ได้หมด แต่ว่าสำนักงานใหญ่เราพูดได้ว่าอยู่ที่สมอง เราอย่าไปพูดว่าต้องอยู่ที่นั่น เหมือนอย่างคนเรานี้ เราจะไปอยู่สำนักงานก็ได้ เราจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ถูกไหม เจริญพร ทำไมเราจะต้องไปอยู่ที่สำนักงานอย่างเดียวด้วย ถ้าเราบอกว่าอยู่ที่สมอง ก็ต้องไปประจำสำนักงาน
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ??? มันจะเหมือนกับอากาศที่เรามองไม่เห็นหรือเปล่าคะ มันอาจจะอยู่ตรงใดก็ได้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือไม่จำเป็นจะต้องไปกำหนดว่าอยู่ที่ไหน แล้วถ้าหากอย่างนั้นเราไปกำหนดมัน เดี๋ยวมันมองเป็นรูปธรรมไป จิตมันเป็นนามธรรม มันเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ??? อะไรกำหนด อนัตตา ได้ง่าย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อนัตตานั้นเป็นลักษณะทั่วไปอยู่แล้ว ??? ในแง่นั้นก็ได้ แต่ว่าเอากันในแง่สภาวะ เราคงไม่จำเป็นต้องไปบอกว่ามันอยู่ตรงไหนแน่นอน เพราะว่าเราจะใช้คำภาษาชาวบ้านว่ามันมีสิทธิ์จะอยู่ไหนก็ได้ ใช่ไหม ??? มันเป็นนามธรรม
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ทีนี้สมองทำงานด้วยจิต โดยได้รับคำสั่งจากจิต ???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ๋อ ความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์อันนี้พูดยากว่าเราจะบอกว่ามันสั่งยังไงนี่ มันก็ได้แต่ว่าอาศัยร่างกายที่แหละอยู่ แล้วก็ทำงาน หรือเราจะพูดว่าแสดงออก มันแสดงออกมาทางกาย ??? จิตเป็นผู้สั่ง
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ที่ว่าเป็นสัญญาณ บันทึกเหตุการณ์ต่างๆไว้หมด ข้อมูลไว้หมด
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มันก็อาศัยร่างกาย อาศัยสมอง
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : บันทึกในส่วนสมองไหมคะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : บันทึกในส่วนสมองด้วย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : สมองเหมือนฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ที่บันทึกข้อมูล
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ??? นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งบอก พอไปจิ้มตรงนั้นตรงนี้ ก็มีข้อมูลต่างๆ มา บันทึกในสมอง หรือบันทึกในจิต
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ้าว จิตมันอยู่ที่ไหนก็ได้อยู่แล้วนี่ เราก็ใช้สำนักงานมันให้เป็นประโยชน์ ใช่เครื่องมือ ใช้อุปกรณ์ให้เป็นประโยชน์
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : คือสมอง ส่วนต่างๆของร่างกายทั้งหมดเนี่ยรับใช้จิต เป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องรับใช้จิตหมด เพราะฉะนั้นอะไรเข้าไปจิตรับรู้หมด แต่สิ่งที่ออกจากจิตก็ต้องผ่านทางร่างกาย ??? เช่น เราเอามือไปตบเขา กายตบ หรือว่า ใจตบ ที่จริงใจเป็นผู้สั่ง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : แต่ทีนี้ว่าถ้าระบบของร่างกายไม่เอื้อ จิตก็สั่งงานไม่ได้ เช่นเส้นประสาทเสีย ก็จะสั่งยกมือก็ยกไม่ได้
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ??? มันบันทึกได้ทั้งในจิตทั้งในสมองไหมคะพระอาจารย์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ในตัวแท้จริงต้องอยู่ที่จิต ต้องลงภวังคจิต เป็นที่สะสม สะสมทุกอย่าง??? ใจเป็นคำไทย แปลจากคำภาษาบาลีว่าจิต จิตเป็นคำบาลี ใจเป็นคำไทย ??? วิญญาญก็เป็นคำที่ใช้ในเชิงวิชาการมากกว่าคำว่าจิต อย่างในอภิธรรมนี้ใช่ไหม จะใช้คำว่าวิญญาณ แต่ว่าในพระไตรปิฎกจะมีบางแห่งบอกไว้ว่า จิตหรือวิญญาณ หมายความว่าบางแห่งใช้แทนกันได้ แต่ว่าคำว่าจิตนี่มักจะใช้แบบคลุมๆ คือพอพูดถึงจิตนี่หมายถถึงทั้งคุณสมบัติอะไรต่ออะไรด้วย แต่วิญญาณจะพดเฉพาะแง่ตัวรู้ ตัวภาวะรู้เท่านั้น แต่ทีนี้พูดว่าจิตนี่รวมคุณสมบัติที่ประกอบกันด้วย พูดรวมไปเลย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) :??? ได้ยินคำว่า วิญญาณธาตุ แสดงว่ามันเป็นธาตุดั้งเดิม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เป็นสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ ก็เป็นธาตุ 6ไง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุวิญญาณธาตุ
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ถ้าเช่นนั้น สงสัยมานานแล้ว ว่าที่เป็นพระนิพพาน ก็เป็นเพราะว่าจิตเราไม่มีกิเลสตัณหา แต่ถ้าเราตายไปแล้วเนี่ย วิญญาณธาตุจะไปสู่ที่ที่มาจากที่เดิมหรือเปล่าคะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : วิญญาณธาตุ ท่านไม่ใช้คำว่าไปว่ามาหรอก เพราะว่ามันเป็นสภาวะนามธรรมซึ่งมันมีธรรมชาติของมันแบบหนึ่ง ไม่มันเหมือนศัพท์ทางรูปธรรม ไปไหน มาไหน เดินไปวิญญาณธาตุ มันไม่ต้องไป ถ้ามันต้องไป มันคงต้องใช้เวลาเยอะ นี่มันไม่ต้องใช้เวลาเลย วิญญาณธาตุไม่ต้องใช้เวลา ใช่ไหม เจริญพระ ถ้าปรากฏในทางรูปธรรม เป็นอวกาศ ใช่ไหม มีที่โน่น ที่นี่ ที่ไทย ที่อเมริกา แต่ว่าวิญญาณธาตุนี่ไม่ต้องเดินทาง เพราะฉะนั้นหมายความว่าสมมติว่าวิญญาณธาตุนี่เราจะใช้ศัพท์รูปธรรมว่าปรากฏที่ห้องตรงข้ามกับเรานี่ กับปรากฏที่อเมริกานี่ ไม่มีความแตกต่างในเรื่องเวลา หมายความว่าไม่มีความแตกต่างในเรื่องเวลาด้วย ไม่ใช่ว่า เอ๊ะ วิญญาณธาตุเราไปอเมริกา วิญญาณธาตุเราไปฝั่งถนนข้างโน้นเนี่ย ถ้างั้นไปอเมริกาก็ต้องนานสิ ใช่ไหม เจริญพร นี่มันไม่มีความแตกต่าง ไม่มีความแตกต่างในเรื่องเวลา เพราะฉะนั้นใช้ศัพท์รูปธรรมไม่ได้ เพราะมันไปนี่พูดไม่ได้
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ท่านอาจารย์คะ อย่างเช่นที่จิตเป็นพระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้ว ทีนี้เมื่อสังขารแตกดับไป ตัวพลังจิตนี่ควรจะสูงมากใช่ไหมคะ ควรจะสูงมาก หรือควรจะดับไปทั้งตัววิญญาณธาตุ ถ้าดับ คิดว่าจิตของผู้สิ้นกิเลสน่าจะมีพลังสูง แล้วเมื่อแตกดับจากขันธ์นี่ โยมเข้าใจว่าพลังสูงก็น่าจะหลุดออกจากโลกไป
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นี่แหละๆ เรามาติดในศัพท์รูปธรรม ก็บอกเมื่อกี้แล้วว่าวิญญาณธาตุมันไม่ต้องไปต้องมา มันเป็นสภาวะที่มีธรรมชาติคนละอย่างกับรูปธรรม มันไม่ต้องไปต้องมาอย่างนี้ ??? เราไม่ใช้คำว่ามันมีอยู่ทั่วไป มันมีอยู่ ซึ่งมันไม่ขึ้นต่อกาลเทศะ ไม่ขึ้นกับเหตุปัจจัย ไม่ขึ้นต่อกาลเทศะ เพราะฉะนั้นเราไปพูดว่ามีอยู่ทั่วไป เราก็มาใช้ศัพท์รูปธรรมว่าเป็นกาละ เป็นเทศะไป คือพูดว่ามีอยู่ตามสภาวะ ถ้าเราจะใช้ศัพท์ธรรมดา เราก็ไปเอาศัพท์สามัญ เอาศัพท์รูปธรรมไปประยุกต์ใช้ ก็เลยกลายเป็นว่ามีอยู่ทั่วทุกแห่ง
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : แสดงว่ามีอยู่ในธรรมชาติทั่วทุกแห่ง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เป็นธรรมชาติเลย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ถ้างั้นจิตของพระอรหันต์เมื่อดับขันธ์ วิญญาณธาตุนี้จะดับหรือว่าจะไปสู่ธรรมชาติ
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : ผมขออีกคำถามครับพระคุณเจ้า ถ้าไม่มีวิญญาณธาตุ สิ่งมีชีวิตจะเกิดขึ้นได้ไหม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มันจะมี ตอนนี้แยกตอนพีชนิยาม กับ จิตนิยาม มันจะมีชีวิตที่เป็น พีชนิยาม ส่วนหนึ่ง ระดับนั้นไม่ใช่วิญญาณธาตุ เป็น พีชนิยาม แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือ จิตนิยาม อันนี้ส่วนนี้ชีวิตบางชีวิตต้องอาศัยจิตนิยาม ด้วย ก็หมายความว่ามีชีวิต 2 แบบ ชีวิตที่เป็นไปโดยอาศัยพีชนิยาม ก็จะเป็นชีวิตระดับหนึ่ง แล้วก็ชีวิตที่อาศัยจิตนิยาม เพราะฉะนั้นท่านจึงแบ่งกฎธรรมชาติ เป็นนิยาม 5 มี อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม ธรรมนิยาม เป็นนิยาม 5 ก็ตกลงว่า จิตนิยาม นี่เป็นตัวสำคัญ ของชีวิตในระดับที่เป็นมนุษย์ที่มีการทำกรรมได้ แล้วมีพีชนิยาม เป็นชีวิตอีกด้าน
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : ถ้าเขาถามวิญญาณมีจริงไหม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มี เป็นธรรมชาติเลย ก็มีธาตุ 6 ไง ที่มี ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ส่วนพระอรหันต์ละคะอาจารย์ ตรงวิญญาณธาตุนี่ น่าจะมีพลังสูงอย่างที่ว่านะคะ แต่ทำไมไม่ไป???
จะว่ามีพลัง ก็มีพลังอยู่ในตัวเองแล้ว เหมือนกับจิตของเรานี่ มันเป็นสภาวะจิตอย่างนี้ แต่ว่าเพราะการที่รับอารมณ์มาก อารมณ์เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น แล้วเราก็ไว เพราะจิตของเรามันธรรมชาติในนั้นแล้ว จิตของเราที่ไวนี้ก็ไปกับอารมณ์ที่เข้ามาทางตา หู จมูก จากความทรงจำอะไรต่ออะไรเนี่ย เดี๋ยวๆ เราไปทั่วหมด อาการที่มันรับอารมณ์ทั่วไปหมด มันทำให้เหมือนกับอ่อนกำลัง ทีนี้ถ้าหากว่าเราสามารถให้มันอยู่กับอันเดียวที่เราต้องการ มันก็กลายเป็นมีพลัง เพราะมันมีความชัดไง เหมือนกับเรามีความถี่สูง ของเราจิตที่มีเกิดดับนี่มีความถี่สูง อยู่กับจุดเดียว เพราะฉะนั้นมันก็ชัดไปเลย ทีนี้ความถี่สูงแต่ว่ามันกระจายไปอยู่โน่นอยู่นี่ไปหมด มันก็ไม่มีกำลัง ใช่ไหม เจริญพร ก็เหมือนกับพวกรูปธรรมเหมือนกัน พวกรูปธรรมก็ต้องมีความถี่สูงใช่ไหม แล้วพุ่งไปที่เดียว ถ้าความถี่นี่กระจัดกระจาย มันก็ไม่มีพลัง จิตก็เหมือนกัน เจริญพร เมื่อใช้ศัพท์รูปธรรม มันก็เลยอาศัยว่าให้มันมาอยู่กับสิ่งที่กำหนดน้อยลง ถ้ายิ่งมีสิ่งที่กำหนดน้อยลง ความชัดก็เพิ่มขึ้น ใช่ไหม เจริญพร ทีนี้จิตของเรานี่มันมีความไวอยู่แล้ว เกิดดับตลอดเวลา แต่ว่ามันไปจับสิ่งโน้นสิ่งนี้ๆ เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น จากความทรงจำ ไม่รู้เท่าไหร่เลยในช่วงเวลา 1 นาทีนี่ มันเท่ากับกระจายไปหมด ใช่ไหมเจริญพร ทีนี้เราให้มันอยู่กับอันเดียว ความถี่ทั้งหมดอยู่ที่อันเดียว ชัดเลย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : พระอรหันต์ตอนที่จะดับขันธ์ ทำยังไงถึงได้ไปปฏิสนธิ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ๋อ ท่านเรียกว่าถึงภาวะวิสังขาร คือสังขารก็หมดปัจจัยปรุงแต่ง เพราะว่ามันไม่มีตัวปรุงแต่งแล้ว มันก้กลายเป็นบริสุทธิ์หมด ที่ไปเกิดนี่หมายความว่า
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ??? หมด ก็ไปอยู่ในธรรมชาติใหม่
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ในธรรมชาติของมันเอง ก็พูดง่ายๆ ว่าเป็นธรรมชาติของมันเอง ทีนี้ตอนที่มันยังมีกิเลสเนี่ย กิเลสเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งมัน ใช่ไหม ปรุงแต่งมันก็ทำให้มันไปทางโน้นทีไปทางนี้ที ถ้าอาจารย์จะว่าเหมือนไปเกิดโน่นเกิดนี่ ก็หมายความว่าไปเกิดตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งมัน ใช่ไหม เจริญพร เหตุปัจจัยชัด มันไป มันไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง มันถูกเหตุปัจจัยพาไป ตอนที่ว่าไปเกิด ตอนนี้มันหมดเหตุปัจจัยที่จะปรุงแต่งแล้ว
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : เมื่อมีสิ่งนี้ก็มีสิ่งนี้
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ก็ไม่มีเหตุปัจจัย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) :ไม่มีเหตุปัจจัยที่มาปรุงแต่งมัน
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ไม่ได้ไปอยู่ในแดนหนึ่ง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ไม่มีแดนแล้ว ๆไม่มีแดน แต่อย่างน้อยก็กลายเป็นว่าถูกจำกัดอยู่ ใช่ไหม เจริญพร
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ในหนังสือบางเล่มนะอาจารย์ บางเล่มเขียนไว้ว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่ พระอรหันต์ก็หมดกิเลส แต่เมื่อดับขันธ์ไปแล้วก็ฝากตัววิญญาณธาตุนี้ จิตก็จะไปอยู่ที่ที่หนึ่ง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ทำไมจะต้องไปถูกกักอยู่ละ ไม่มีล่ะ เจริญพระ
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : เหมือน หรหมมัน ปรมาตมัน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ไปรวมกับธรรมะอะไรอยู่เนี่ย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้ชาย) : ??? พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ จะอยู่เบื้องบน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ๋อ ไปอยู่แดนหนึ่ง อย่างบางนิกายก็ไปอยู่สุขาวดีไง อยู่สวรรค์ทิศตะวันตก หมายความว่าพอใครอยากจะไปอยู่กับพระพุทธเจ้า ??? พระ ก็ให้ทำตามที่เขากำหนด ตายแล้วไปอยู่สวรรค์แดนตะวันตกกับพระ??? แล้วกลายเป็นว่าถูดจำกัดอยู่ที่นั่นเลย
ผู้ร่วมฟัง (ผู้หญิง) : ครุ ??? บางครั้งก็ใช้เรียก
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ครุ??? มันเป็นอนาคามี เท่านั้น ไม่ได้เป็นพระอรหันต์