แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร วันก่อนนี้ที่บ้านโยมหมอ อาตมภาพได้พูดเกี่ยวกับพุทธคุณบท สุคโต ซึ่งเกี่ยวกับการเดิน ทาง หรือเป็นการจาริกของพระพุทธเจ้า อันนั้นก็เกี่ยวด้วยโอกาสที่โยมหมอจะเดินทางไปต่างประเทศ ทีนี้ หลังจากนั้น โยมผู้หญิงได้ปรารภว่า ถ้าพูดเรื่องพุทธคุณก็คงจะดีเหมือนกัน อะไรทำนองนี้ อาตมภาพก็เลย ไปพิจารณานำเรื่องพุทธคุณนี้มาพูดต่อ วันก่อนที่ไปพูดบทสุคโตนั้น เป็นบทที่ 4 ทีนี้เมื่อจะพูดในเหตุการณ์ ทั่วไป หรือตามปกติอย่างนี้ ก็ต้องพูดไปตามลำดับ ก็กลายเป็นว่าต้องย้อนกลับมาข้อที่ 1
พุทธคุณข้อที่ 1 นั้น ก็คือบทว่า อรหํ ที่แปลว่า เป็นพระอรหันต์ นี้คำว่า พระอรหันต์ นี้ใช้ไม่เฉพาะ พระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ว่าใช้กับพระสาวกของพระองค์ที่ได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายเช่นเดียวกันด้วย เรียกกันว่า พระอรหันต์ แต่เป็นอรหันตสาวก ไม่ใช่อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความแตกต่างก็มีเพียงว่า สำหรับ พระพุทธเจ้าเราเรียกว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับพระสาวก เราก็เรียกว่า พระอรหันตสาวก แต่โดย เนื้อหาสาระแล้ว ก็คือเป็นผู้ที่บรรลุมรรคผลสูงสุดเช่นเดียวกัน
การกล่าวถึงพุทธคุณต่างๆ นั้น ก็เป็นเครื่องที่จะเจริญศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ทำให้เห็นว่า พระ พุทธเจ้าทรงคุณความดีพิเศษอย่างไร นอกจากจะเจริญศรัทธาแล้ว ก็จะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธ ศาสนามากขึ้น ให้รู้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เนื่องอยู่กับพระคุณเหล่านั้น เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจ แล้ว ก็น้อมเข้ามาในตน น้อมเข้ามาในตน คือพยายามที่จะสร้างคุณความดีหรือคุณสมบัติเหล่านั้นให้มีขึ้นด้วย โดยประพฤติ ปฏิบัติตามพระพุทธปฏิปทาหรือพระจริยวัตรของพระองค์ พระคุณของพระองค์มีอย่างไร เราก็พยายาม ปฏิบัติให้ได้ตามนั้น
แต่พระคุณของพระพุทธเจ้านั้น บางด้านก็อาจจะเหมาะสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่จะดำเนินตาม บาง ด้านก็เหมาะสำหรับทุกๆ คน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ คือทั้งชาววัดและชาวบ้าน ก็จะต้องพิจารณาเลือกเอา นำเอาไปปฏิบัติให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตน
ในวันนี้ อาตมภาพก็จะพูดถึงพุทธคุณบทว่า อรหํ นั้น
อรหํ หรือพระอรหันต์ ท่านบอกว่ามีความหมายถึง 4 หรือ 5 ประการด้วยกันแล้วแต่ว่าจะพิจารณา ตามต้นศัพท์ คือคำว่า อรหันต์ นั้น แยกศัพท์ออกไปได้หลายอย่าง อย่างที่ 1 นั้น ท่านบอกว่า มาจากคำว่า อารกะ
อารกะ นี้แปลว่า ไกล พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าเป็นผู้ไกล ไกลยังไง คือไกล จากกิเลสทั้งหลาย ห่างไกลจากกิเลส กิเลสไม่ได้มาเกลือกกลั้วใกล้ชิดพระองค์เลย ห่างไกลมากนี่ก็คือหลุด พ้นไปแล้วนั่นเอง หลุดพ้นจากกิเลสนี่ก็คือไปอยู่ซะไกลกิเลส กิเลสเข้าไปไม่ถึงพระองค์
กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เศร้าหมอง ทำให้เดือดร้อนวุ่นวาย ถ้าเข้าไปอยู่ในใคร ในบุคคลใดก็ตาม ทำให้ เกิดความเร่าร้อน เกิดความวุ่นวายภายใน แล้วก็ระบายความเดือดร้อนวุ่นวายนั้นออกมาภายนอก ภาย นอกก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย เรียกว่าเร่าร้อนทั้งภายใน เร่าร้อนทั้งภายนอก
แต่ตรงข้าม ถ้าหากว่าห่างไกลกิเลส กิเลสไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว มีความบริสุทธิ์ ก็จะมีความรื่นรมย์ จิตใจของตนเองก็รื่นรมย์ เพราะว่าไม่มีกิเลสมารบกวน ใจคอก็สบายมีความผ่องใสเบิกบานอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่มีความโลภ ใจก็ไม่วุ่นวายด้วยความโลภนั้น ไม่มีความโกรธหรือไม่มีโทสะ ใจก็ไม่วุ่นวายเพราะโทสะนั้น ไม่มีโมหะ ไม่มีความหลง ใจก็ไม่วุ่นวายด้วยความหลงนั้น ก็มีความผ่องใส เมื่อผ่องใสก็เบิกบาน เบิกบานก็มี ความสุขได้ เรียกว่าเป็นรื่นรมย์
รื่นรมย์ภายในตัวเองแล้ว ไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ใกล้ชิดก็ตาม ไกลก็ตาม ก็พลอยให้เกิดความรื่นรมย์ ไปหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสพระคาถาบทหนึ่งบอกว่า คาเม วา ยทิวารญฺเญ นินฺเน วา ยทิวา ถเล ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ ตํ ภูมิรามเณยฺยกํฯ ก็แปลว่า ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม ไม่ว่าที่ดอน ท่านผู้ ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้เป็นสถานอันรื่นรมย์ฯ
เพราะว่าพระพุทธเจ้าหมดกิเลสแล้ว ไกลกิเลส ท่านไปอยู่ในป่า หรือแม้แต่พระสาวกของพระองค์ ที่เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบไปอยู่ในป่า ป่านั้นก็รื่นรมย์ ใครเข้าไปก็รู้สึกสบาย ไม่ต้องหวาดระแวงภัย
แต่ถ้าหากตรงข้าม โจรร้ายผู้เต็มไปด้วยกิเลสไปอยู่ในป่านั้น คนที่จะเข้าป่านั้นก็มีแต่ความหวาด ระแวงภัย มีแต่ความกลัว เดินแต่ละย่างละก้าวไม่มีความสุขเลย นี่ก็คือลักษณะที่ตรงกันข้าม
เพราะฉะนั้น ในจิตใจที่มีกิเลสหรือไม่นี่แหละ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เกิดความรื่นรมย์ แม้ว่าสถานที่ภายนอกอาจจะไม่รื่นรมย์นัก จะมีสิ่งรบกวนหรือสิ่งความไม่สงบ เป็นต้น แต่ว่าถ้าจิตใจคน รักษาไว้ได้ก็ยังมีความรื่นรมย์อยู่ แต่ถ้าสถานที่แม้จะน่ารื่นรมย์ แต่ถ้าใจคนไม่มีความรื่นรมย์ ไม่มีความ สะอาดบริสุทธิ์ เต็มไปด้วยกิเลสเร่าร้อนอย่างที่ว่า ไปที่ไหนแม้แต่จะเป็นสวนที่ร่มรื่น แต่ว่าเราเกรงกลัว ต่อภัยอันตรายจากโจรผู้ร้าย เป็นต้น ความรื่นรมย์นั้นก็หมดไปทันที
เพราะฉะนั้น ความรื่นรมย์นี้มาจากความไม่มีกิเลส หรือห่างไกลกิเลสก่อนอื่น ถ้าหากว่ามีความ รื่นรมย์ทั้งภายในใจและสถานที่ภายนอกก็รื่นรมย์ด้วย นั่นก็เป็นความรื่นรมย์ที่สมบูรณ์ ก็เป็นอันว่าในพุทธคุณบทที่ 1 นี้ ในความหมายที่ 1 นั้น ท่านเน้นความหมายที่ว่า เป็นผู้ห่างไกลจาก กิเลส พุทธศาสนิกชนก็พึงประพฤติปฏิบัติตาม คือทำใจของตนให้พยายามห่างไกลจากกิเลส จะได้เป็นใจที่ บริสุทธิ์ ผ่องใส เบิกบาน สร้างความรื่นรมย์ทั้งภายในตนเอง ทั้งความรื่นรมย์ทั้งภายนอก นี้เป็นความหมาย ประการที่ 1
ประการที่ 2 ท่านบอกว่า คำว่า อรหันต์ นั้น มาจากคำว่า อริ แปลว่า ศัตรู อร (อะระ) มาจาก อริ
อริ ศัตรู บวกกับคำว่า หน (หะนะ) แปลว่า กำจัด ก็แปลรวมว่า กำจัดศัตรู
คำว่า อรหันต์ ก็แปลว่า ผู้กำจัดศัตรูได้แล้ว ศัตรูนี้คืออะไร ศัตรูนี้ก็คือกิเลสนั่นแหละ กิเลสนั้นเป็น เท่ากับศัตรูของเรา มันคอยเบียดเบียนล้างผลาญเรา มันทำให้เราไม่มีความสุข มันอาศัยอยู่ในใจของเรา ใคร มีใจที่ประกอบด้วยกิเลสก็เท่ากับว่ามีโจรผู้ร้ายหรือศัตรูอาศัยอยู่ภายใน จะทำร้ายให้ตัวเองไม่มีความสุข จะ ทำร้ายให้ตัวเองต้องเดือดร้อนวุ่นวายด้วยประการต่างๆ เรื่อยไป
สำหรับพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ได้กำจัดศัตรูที่มาแอบแฝงอยู่ในใจของพระองค์แล้ว คือกิเลสนี้หมด สิ้นไป ตัณหา มานะ ทิฏฐิ หมดสิ้นไป โลภะ โทสะ โมหะ หรือกิเลสทั้งหลาย ที่เป็นบริวารทั้งหมดทั้งสิ้น กำจัดหมดแล้ว ก็ไม่มีศัตรูที่จะเข้าครอบงำห้ำหั่นพระองค์ได้ อันนี้ก็เป็นความหมายอันหนึ่งที่ทำให้พระองค์ได้ดำเนินพระชนม์ชีพอย่างผู้บริสุทธิ์เป็นอิสระ เป็น อิสระเพราะไม่มีศัตรูมาคอยเฝ้าทำร้าย ไม่มีศัตรูมาบังคับบัญชาให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ มาประทุษร้ายตน ก็เป็นอิสระภายใน ก็ปลอดโปร่งตลอดเวลา
อันนี้เป็นความหมายประการที่ 2
ต่อไปประการที่ 3 อรหันต์ มาจากคำว่า อร (อะระ)
อร (อะระ) แปลว่า กำ
กำ ในที่นี้หมายถึง กำที่แปลว่าซี่ของล้อรถ คือล้อรถ ล้อเกวียนสมัยโบราณนั้น ขอให้นึกดูถึงล้อ เกวียน ล้อเกวียนก็มีอะไร มีอันกลางที่กลมๆ เขาเรียกว่า ดุม แล้วก็วงขอบนอกเขาเรียกว่า กง แล้วที่เป็นซี่ ต่อระหว่างดุมกับกงนั้นเรียกว่า กำ
กำนี่เป็นตัวที่ต่อระหว่างดุมกับกง ก็ทำให้ล้อหมุนไปได้ ถ้าไม่มีกำหรือซี่ ซี่ไม้ที่ต่อระหว่างดุมกับกง แล้ว ล้อรถก็หมุนไม่ได้ ก็เป็นล้อรถที่ไม่มีความหมาย คือไม่เป็นล้อต่อไป ทีนี้ พระพุทธเจ้านั้นได้ทรงหักกำ
กำในที่นี้ก็หมายถึงซี่ของล้อรถอย่างที่กล่าวมาแล้ว ล้อรถนี้คือล้ออะไร ล้อที่หมุนไปในที่นี้ หมายถึง ล้อแห่งสังสารวัฏ เขาเรียกว่า สังสารจักร กงล้อแห่งสังสารวัฏ
คือมนุษย์เราเนี่ย วนเวียนว่ายไปในความทุกข์ ในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องพูดถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ตายจากชีวิตนี้หรอก แม้แต่ในปัจจุบันนี้ มนุษย์เราทั้งหลาย ก็เวียนว่ายวนอยู่ในวงจรของความ ทุกข์ ความเดือดร้อน มีกิเลส แล้วก็ทำกรรม ทำกรรมแล้วก็ได้รับผลต่างๆ ก็ประสบสภาพที่เรียกว่าเป็นวงจร อันนี้เรื่อยไป เรียกว่าเวียนว่ายอยู่ในนี้ เวียนว่ายอยู่ในวงจรของกิเลสและความทุกข์
นี้สำหรับพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ได้หักกำ ซี่ของล้อแห่งสังสารวัฏนี้แล้ว ในระยะยาวพระองค์ก็ไม่ เกิด แก่ เจ็บ ตายต่อไปอีก แม้แต่ในปัจจุบันนี้ พระองค์ก็ไม่เวียนว่ายอยู่ในวงจรของกิเลสและความทุกข์
สำหรับพุทธศาสนิกชน ถ้าหากว่าเรารู้ทันกิเลส กิเลสเกิดขึ้นในใจ นั่นก็แสดงว่า เรามีตัวสำคัญที่มี กงล้อมีซี่กำที่จะมาพาเราให้หมุนไปในสังสารวัฏแล้ว คือจะเวียนว่ายไปในวงจรของกิเลสและความทุกข์ ถ้า หากว่าเรารู้ทันกิเลสนั้น รีบหักกิเลสกำจัดมันเสีย ก็คือกำจัดซี่กำของวงล้อนั้น พอซี่กำนั้นหัก เราก็ไม่ต้อง หมุนวงล้อ วงจรนั้นก็ขาดสะบั้นลง ไม่หมุนเวียนไปในวงจรของกิเลสและความทุกข์ต่อไป
เพราะฉะนั้น ความหมายของพุทธคุณข้อนี้ก็นำมาใช้ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อใดที่มีกิเลสเกิด ขึ้นในใจให้เรารู้ทัน พอเรารู้ทันแล้ว เรากำจัดมันเสีย หรือหักห้ามไม่ให้มันเกิดไม่ให้เจริญต่อไป การหมุน เวียน หรือวงจรที่จะไปในกิเลสและความทุกข์ก็จะจบลิ้นลงในบัดนั้น เราก็จะอยู่ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระเบิก บานผ่องใสทันที พุทธคุณบทนี้ก็นำมาใช้ในความหมายง่ายๆ ได้ดังที่กล่าวมานี้
ความหมายข้อต่อไป อรหันต์ ท่านว่ามาจากศัพท์ว่า อรห (อะระหะ)
อรห แปลว่า ผู้ควร ควรยังไง ท่านบอกว่า ควรแก่ปัจจัยทั้งหลาย หรือ การบูชาทั้งหลาย ที่ชาวโลกได้ กระทำต่อพระองค์ คือชาวโลกนั้น มีผู้ที่ตนเห็นว่ามีคุณธรรมสูงก็มีความเคารพนับถือ ไปพบพระพุทธเจ้าก็มี ความเลื่อมใสศรัทธา ก็นำเอาเครื่องสักการะ นำเอาอาหาร ปัจจัย 4 มาถวาย พระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ ทรงพระคุณธรรมมากมาย จึงเป็นผู้สมควรแก่การบูชาและสิ่งของปัจจัย 4 เหล่านั้น ไม่เหมือนกับว่าบุคคล ที่ไม่บริสุทธิ์แท้จริง คนที่ไม่บริสุทธิ์แท้จริงนั้น เขากราบไหว้บูชาก็เป็นผู้ไม่สมควรแก่การบูชาเช่นนั้น แต่พระ พุทธเจ้าของเรานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส เป็นผู้มีคุณธรรมแท้จริง จึงเป็นผู้ควรแก่สักการะบูชา
คุณธรรมข้อนี้สำคัญมาก ท่านกล่าวสอนไว้ อันนี้เป็นข้อพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะได้เตือนใจตน เอง แม้แต่การที่ว่า จะได้รับสิ่งของปัจจัย 4 จากญาติโยมมาถวาย ที่ถวายนำมาฉัน นำมาบริโภคนั้น การ บริโภคนั้น ก็มีความหมายต่างกันไป
ท่านแยกการบริโภคของพระสงฆ์ออกไปถึง 4 ประเภท การบริโภค 4 ประเภท คือ
ที่ 1. ท่านเรียกว่า สามิบริโภค บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ ถ้าได้ปัจจัย 4 มาก็ฉันเหมือนเป็นเจ้าของ
ข้อที่ 2. ทายัชชบริโภค บริโภคของอย่างเป็นทายาท
ประการที่ 3. อิณบริโภค บริโภคอย่างเป็นหนี้
ข้อที่ 4. ไถยบริโภค บริโภคอย่างเป็นโจรขโมย หรือลักของเขา
4 อย่างนี้ ขอแจงความหมายสักหน่อยหนึ่ง
ข้อที่ 1. สามิบริโภค บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ ท่านบอกว่าถ้าจะให้ความหมายสมบูรณ์ต้องเป็นพระ อรหันต์ พระที่เป็นพระอรหันต์นั้น ญาติโยมเขานำของมาถวาย เขาย่อมมุ่งหมายจะถวายแก่ผู้บริสุทธิ์ ถ้ายิ่ง เป็นผู้หมดกิเลสก็ยิ่งดี ผู้ที่บริสุทธิ์แท้จริง เป็นผู้สมควรแก่การที่จะได้รับของที่เขาถวาย ก็คือพระอรหันต์ เมื่อ เขาถวายด้วยตั้งใจอย่างนั้น ผู้ที่มีคุณสมบัติอย่างนั้นแท้จริง ก็นับว่าเป็นเจ้าของของที่เขาถวายนั้น ผู้บริโภคก็ บริโภคอย่างเป็นเจ้าของได้แท้จริง หรือนัยอีกความหมายหนึ่งก็บอกว่า บริโภคอย่างเป็นเจ้าเป็นนาย หมาย ความว่า ไม่เป็นทาสกิเลสแล้ว ตัวท่านไม่เป็นทาสกิเลส ท่านก็บริโภคอย่างเป็นนาย เอาล่ะ อันนี้เป็นการ บริโภคอย่างที่ 1 ที่ใช้สำหรับพระอรหันต์ ผู้ทรงคุณธรรมสูงสุด
ประการที่ 2 เรียกว่า ทายัชชบริโภค บริโภคอย่างเป็นทายาท หรือเป็นของที่เป็นมรดก ท่านอธิบาย ว่า ของที่ประชาชนถวายแก่พระสงฆ์เนี่ย ก็ได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ความจริงก็ได้เลื่อมใสพระพุทธเจ้านั่น แหละ จึงมาถวายพระสงฆ์
พระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติ ก็เท่ากับเป็นทายาท เป็นพระโอรสของพระพุทธเจ้า ก็บริโภคของที่ญาติโยม นำมาถวายนั้น ด้วยจิตใจที่เขาเลื่อมใสในพระรัตนตรัยนั้น ก็เหมือนกับเป็นทายาทมาบริโภคของของพ่อแม่ พระสงฆ์ที่จะมีคุณสมบัติสมเป็นทายาทนี้ ท่านว่าได้แก่พระเสขะทั้ง ๗ คือต่ำกว่าพระอรหันต์ลงมา ก็เป็น พระอริยบุคคลทั้งหลายอีกทั้งหมด ที่เหลือจากพระอรหันต์ ท่านเหล่านี้เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า ถ้าได้ รับของเขามาบริโภคแล้ว แล้วฉัน ก็มีความหมายว่าเป็นบริโภคอย่างทายาท
แม้ไม่เป็นพระอริยบุคคล แต่เป็นพระปุถุชนที่มีความประพฤติดี ดำรงอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา กำลัง ฝึกฝนตน เพื่อจะเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ท่านก็สงเคราะห์ให้ว่าเป็นทายาทของพระพุทธเจ้าได้ เมื่อฉันของที่เขานำมาถวาย ก็บริโภคอย่างเป็นทายาท เป็นลูกหลานของพระพุทธเจ้า
ต่อไป ประการที่ 3 เรียกว่า อิณบริโภค บริโภคอย่างเป็นหนี้ อันนี้ก็คือพระปุถุชนทั้งหลายที่บริโภค ของที่ญาติโยมมาถวาย คือถวายด้วยความเลื่อมใส เมื่อถวายแล้ว พระจะฉันก็ต้องฉันให้บริสุทธิ์ การที่จะบริสุทธิ์ก็คือฉันด้วยรู้เท่าทัน ด้วยพิจารณาว่าของนี้ควรฉันเพื่ออะไร เพื่อดำรงชีวิตร่างกายให้เป็นไปได้ จะได้ ประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรม เป็นต้น ถ้าฉันด้วยความรู้ตระหนัก เข้าใจด้วยการพิจารณาอย่างนี้ การฉัน ของตนเองนั้นก็บริสุทธิ์
แต่ถ้าหากว่าฉันด้วยความเห็นแก่เอร็ดอร่อยเป็นต้น หรือใช้ของโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงของที่ญาติโยมนำ มาถวายว่ามีความมุ่งหมายอะไร อย่างไร ในทางที่เป็นคุุณธรรม ท่านบอกว่าบริโภคไปเท่ากับเป็นหนี้ โบราณ ท่านเขียนกลอนบอกว่า ถ้าหากว่าบริโภคอย่างเป็นหนี้อย่างนี้ เวลาสิ้นชีวิตไปแล้ว ขออภัย จะไปเป็นควายให้ ชาวบ้านใช้ นี่ว่ากันมาแต่โบราณ
เพราะฉะนั้นก็ ท่านก็สอนพระสงฆ์ให้ต้องคอยเตือนตนเองว่า ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ต้องฉันด้วยการ พิจารณา ฉันด้วยสติที่รู้เท่าทัน ตามความเป็นจริง ฉันให้รู้ว่า ฉันเพื่อยังชีพให้เป็นไปจะได้ทำหน้าที่ของตนได้ บำเพ็ญสมณธรรม ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง นี้เป็นประการที่ 3
ต่อไปประการที่ 4 เรียกว่า ไถยบริโภค บริโภคอย่างเป็นของขโมยเขามา อันนี้ก็คือว่าตัวเองเป็น พระทุศีล ไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีคุณธรรม เป็นพระที่ไม่ดีนั่นเอง ประพฤตินอกรีตนอกรอย ฉันของที่โยมถวาย ซึ่งเขาถวายแก่ผู้บริสุทธิ์ด้วยเจตจำนงค์ความเลื่อมใสต่อพระรัตนตรัย ถ้าฉันไป พระองค์นั้นก็ฉันอย่างเป็น ขโมย ก็เป็นการฉันที่ถือว่าต่ำทรามที่สุด ไม่ดีไม่งาม เพราะฉะนั้น การดำรงตนเป็นพระภิกษุที่ดีนี่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายนัก จะประพฤติปฏิบัติให้ก้าวหน้าในพระธรรมวินัยก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกหลัก
ทีนี้ สำหรับพระพุทธเจ้านั้นนะ พระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้มีพระคุณสูงสุด พรั่งพร้อมด้วยทั้งพระเมตตา กรุณาคุณ ทั้งพระปัญญาคุณและวิสุทธิคุณ เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เป็นผู้สมควรแก่การบูชาและ ปัจจัย 4 ที่พุทธศาสนิกชนและชาวโลกทั้งหลายนำมาถวายแด่พระองค์
อันนี้ก็เป็นความหมายข้อที่ 4 ที่ว่า ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์เพราะเป็นผู้สมควรแก่การบูชาและปัจจัย 4 เป็นต้น ที่เขานำมาถวาย
ต่อไปประการที่ 5 อรหันต์ มาแต่คำว่า รห (ระหะ)
รห แปลว่า สถานที่ลี้ลับ สถานที่ลับ อรห (อะระหะ) ก็แปลว่า เป็นผู้ไม่มีสถานที่ลี้ลับในการกระทำ ชั่ว หมายความว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์แท้จริง ตรงไปตรงมา เปิดเผย พระองค์ปรากฎพระองค์แก่ชาว โลก หรือประกาศพระองค์ว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ มีความดีงามอย่างไร พระองค์ก็เป็นเช่นนั้น ทั้งในที่ลับและ ที่เปิดเผย ไม่เหมือนกับบุคคลบางประเภทที่ประพฤติตนเป็นเสมือนว่าผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม แสดงอาการ ปรากฎภายนอกเป็นผู้ที่ดีงาม แต่ว่าเมื่อถึงสถานที่ลี้ลับก็กระทำความชั่ว พระพุทธเจ้าไม่กระทำเช่นนั้น เป็น ผู้มีความดีงามสม่ำเสมอตลอดทั้งในที่เร้นลับและเปิดเผย เพราะฉะนั้น พระองค์ก็ได้พระนามว่าเป็นพระอรหันต์
พระอรหันต์ก็มีความหมายดังที่อาตมภาพกล่าวมานี้ 5 ประการด้วยกัน ซึ่งคิดว่าก็คงเป็นประโยชน์ ในการที่จะนำมาพิจารณาให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระองค์บ้าง หรือให้เกิดความเข้าใจในคำสอนของพระ องค์บ้าง หรือตลอดจนการที่จะนำมาเป็นแบบอย่างในการที่จะประพฤติปฏิบัติ น้อมเข้ามาไว้ในใจของตน เอง และอันนี้ อรหันต์ก็เป็นพระคุณส่วนที่เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ แสดงถึงความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ที่ หมดกิเลสไม่มีบาป เป็นต้น
วันนี้ก็ อาตมภาพนำความหมายของพุทธคุณข้อที่ 1 มาแสดงแก่โยม ก็คิดว่าวันนี้ยาวพอสมควรแล้ว ก็หวังว่าจะได้ประโยชน์แก่โยม ก็ขออนุโมทนาเพียงเท่านี้ ขอเจริญพร