แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เดี๋ยวเวลามันจะผ่านไปรวดเร็ว นั่งคุยกันสบายๆ ก็อยากจะมาเยี่ยมพระใหม่แหละ เพราะว่าโอกาสพบน้อยเหลือเกิน พอดีร่างกายมันก็ไม่ค่อยอำนวย อ้าวทวนกันอีกทีหนึ่ง ทวนฉายาชื่อฉายา เริ่มตั้งแต่องค์หัวหน้าไปเลย องค์นำ องค์ที่หนึ่งวันบวช เอาชื่อฉายา ว่าดังๆจะได้ได้ยิน....???
ครบแล้วเหรอ เดี๋ยวเดียวครบสิบสององค์แล้ว ก็โมทะนา เพราะว่าโอกาสพบน้อยเหลือเกิน มาพบเดี๋ยวก็ใกล้วันท่านครบเดือนแล้ว อีกเดี๋ยวเดียว แล้วยิ่งเดือนนี้ เดือนที่แล้วกุมภา มันขาดไปสามวันใช่ไหม ขาดไปเท่าไหร่ ถ้าเทียบสามสิบเอ็ด ก็ขาดไปสามใช่ไหม ท่านชุดนี้นะ จะว่ากำไรก็กำไร ก็คือ ท่านที่ต้องการให้หมดวันไวๆก็กำไร ถ้าท่านที่ต้องการอยู่นานๆก็ขาดทุน เพราะครบเดือนแค่ยี่สิบแปดวัน เดี๋ยวท่านก็ต้องลากันไป แล้วก็อยากจะถามเรื่องสุขทุกข์ ว่าสุขสบายกันดีตลอดไหม เอาหัวหน้าตอบก่อน พระ???ใช่ไหม
ตอบ: สุขสบายดีครับ
ถาม: แล้วพอใจดีไหม
ตอบ: ดีครับ ???
ได้ประโยชน์ ดีแล้วอนุโมทนา ทุกท่านเห็นด้วยนะ ก็ดีคือ ได้ศึกษาเล่าเรียน แล้วก็ได้ประโยชน์ รู้สึกว่าได้ประโยชน์นะ เห็นคุณค่า ก็ดีแล้ว เรียนเราก็ เต็มตามหลักที่ว่าบวชเรียน บวชคือเรียน บวชก็เพื่อเรียน แล้วเราก็ได้เรียน ก็เป็นไปตามหลักแล้ว แค่นี้ก็อนุโมทนาได้แล้ว เมื่อถ้าเรียนก็ได้ความรู้ ก็เจริญงอกงาม ก็เรียกว่าอยู่ในธรรมวินัยนั่นแหละ ทีนี้ จริงๆก็รู้จักกันเป็นส่วนตัวเนี่ยะ ถ้าจะว่าเดิมก็องค์เดียว ท่าน(อัด ฉะ วิน) ท่านเป็นแพทย์ รู้จักกันหมดแล้วใช่ไหม นี่ก็ระลึกถึง นึกถึงเพราะว่า พูดง่ายๆก็ท่านเป็นหลานน่ะ นี่ก็นึกถึงโยมด้วย วันนั้นก็นึกว่าจะได้คุยกับโยมก็เลยไม่ได้คุย แล้วโยมสุขสบายดีเหรอ โยมมาบ่อยไหม ??? อยู่จนค่ำไม่ไหวแน่ นานจัด แต่ว่าให้ท่านมาแล้วก็สบายใจมีความสุขก็ดีแล้ว โมทะนาด้วย ทุกท่านก็ได้เรียกว่าทำบุญตลอดเวลา ทำบุญหลายอย่าง คืออย่างที่พูดแล้ว ทำบุญหนึ่งก็ เราถือกันว่าบวชเรียนก็เป็นบุญของตัวเอง บุญของตัวเองก็คือตัวเองได้เรียนรู้หลักธรรมวินัย ข้อธรรมะที่จะไปใช้ประโยชน์ทำให้ตัวเองเจริญพัฒนาอะไรต่างๆขึ้นมา สองก็บุญที่ทำบุญแก่พระศาสนา ถือกันว่า มาบวชนี่เป็นผู้สืบต่อพระพุทธศาสนา อย่างน้อยแค่ว่าให้พระศาสนามีพระอยู่วัด บางยุคบางสมัยไม่มีพระ พอไม่มีพระก็ขาดตอน ในแง่รูปแบบ แค่มีพระอยู่วัดก็ถือว่าได้มีรูปแบบของพระศาสนา ตัวพระศาสนาที่เนื้อแท้อาจจะน้อยก็ได้ แต่ก็ยังมีรูปอยู่ เหมือนกับยังมีขวด ถ้ามีขวด ขวดยังไม่หาย ยังไม่แตกไป ก็มีโอกาสเติมน้ำ ถ้าขวดมันแตกหมดแล้วก็จบกัน น้ำก็ไม่มีที่จะใส่ ถ้าอย่างนั้นก็เอาละ ได้รูปแบบ อย่างที่เรียกว่าพิธีเอาไว้ ก็ยังรักษาพระศาสนาไว้ได้แง่หนึ่ง รอเวลาคนที่มีจิตใจมีปัญญาดี มาเติมน้ำในขวดให้มันขึ้นมาเต็ม เพราะฉะนั้น ตอนนี้คือสำคัญว่าเราจะต้องไม่รักษาแค่ขวด ให้มีแต่ขวดเปล่า ต้องพยายามให้ขวดมีน้ำ หรือมีสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เราต้องการเอาไว้ การที่บวชแล้วเราไม่ใช่บวชเปล่าๆ บางยุคบางสมัย บางทีเดี๋ยวนี้ยังมีนะ บวชเฉยๆ บวชเป็นรูปแบบเฉยๆ ห่มผ้าเหลือง เสร็จแล้วก็ไม่ได้เรียน ไม่ได้รู้อะไรเลย อย่างนี้เรียกว่าขวดเปล่า ก็เรียกว่ายังดียังมีขวดอยู่ แต่ทีนี้ ถ้าเราบวชแล้ว เราก็ได้เล่าเรียนศึกษา ได้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอน ก็คือเราเป็นขวดที่สมบูรณ์ มีน้ำ มีน้ำอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ที่เราต้องการใส่ น้ำนี้ก็คือ พระธรรมวินัย นี่ก็คือ เรียกว่าทำบุญโดยการสืบต่อพระพุทธศาสนา เราก็ได้ทำหน้าที่แล้ว สมัยก่อนก็ถือว่า เอ้อคนผู้ชาย แล้วก็ถือว่าพุทธศาสนานี่เป็นมรดกของชาติ เป็นสมบัติของชาติ ทุกคนมีหน้าที่รักษาสืบต่อไว้ ก็เลยเป็นประเพณีมาว่าให้บวช การบวชก็ถือว่าทำหน้าที่นี้ด้วย สืบต่อรักษาพระศาสนาให้แก่คนรุ่นหลัง ลูกหลานต่อไปเขาจะได้มีพระศาสนาอยู่ ทีนี้ต่อไปก็ทำบุญในแง่ของโยมพ่อแม่ ก็อย่างที่บอกในวันบวชนั่นแหละ โยมพ่อแม่มีความรัก มีความปรารถนาดีอย่างยิ่งต่อลูก หลายๆท่านก็อยากให้ลูกบวช ลูกบวชก็แม้แค่ว่าได้บวช ท่านสมใจท่านก็มีความสุขแล้ว แค่นี้ท่านทำบุญทำให้โยมมีความสุขได้ ท่านก็ทำบุญแล้ว ทีนี้ยิ่งท่านบวชแล้วเล่าเรียนมีความรู้ มีธรรมะมาเล่ามาบอกให้โยมฟัง แล้วก็มาสอนใครต่อใคร แล้วก็ประพฤติปฏิบัติดี โยมเห็นสบายใจ มีปีติยิ่งขึ้น โยมก็ได้บุญทุกวันเลย โยมได้ปีติสุข เห็นลูก เห็นพระคราใด ก็ชื่นใจ ปลาบปลื้มใจทุกที ท่านก็ได้ทำบุญทุกครั้งไปที่โยมได้มีความสุข แล้วโยมได้มีความสุขที่เห็นพระประพฤติดีปฏิบัติชอบแล้ว ไม่ใช่เท่านั้น ได้มาวัดมารับบรรยากาศร่มรื่น อยู่ในทางของบุญกุศลนี่ จิตใจท่านก็ดีงาม ท่านก็เจริญในธรรมในความสุข ก็ใครทำให้ท่านมีความสุขเจริญงอกงามอย่างนี้ ก็คือพระลูก พระหลานที่บวช ท่านก็ทำบุญตลอด นี่ก็ทำบุญให้ ถ้าประพฤติดีปฏิบัติชอบ บวชเดือนหนึ่งก็เรียกว่าทำให้โยมได้บุญเยอะเลย ทีนี้ต่อไป ไม่ใช่บุญอย่าง???
ท่านมีความสุขด้วย ที่สำคัญ เป็นเรื่องที่ดี ทีนี้ต่อไปก็แก่ประชาชน วัดก็เป็นที่ที่ญาติโยมประชาชนมาทำบุญกุศล ทำบุญกุศลก็ไม่ใช่แค่กายวาจา แม้แต่ใจ พอใจมาแล้ว มาถึงวัดนี่ใจจะต้องเป็นบุญ ใจเป็นบุญก็คือ ใจรู้สึกมีความสงบ มีความสบายใจ โล่งๆใจ ใจร่าเริงเบิกบาน แล้วก็อยากจะได้ศึกษาธรรมวินัยอะไรต่างๆก็แล้วแต่ ใจโยมก็มีความสุข ทีนี้เห็นพระประพฤติดีปฏิบัติชอบ ท่านเรียกว่าเป็น “ปสาทนีย์” ถ้าสถานที่ก็เป็น “รมณีย์” ใครมาในที่วัดที่เป็นรมณีย์ก็คือสะอาดสะอ้าน มีร่มไม้ มีความร่มรื่นอะไรต่างๆ ดูแล้วเพลิดเพลินเจริญใจในทางที่เป็นบุญเป็นกุศล ก็เรียกว่าสถานที่ที่เป็นรมณีย์ วัดก็มีลักษณะสำคัญ ต้องเป็นรมณีย์ แล้วก็มีพระก็คือตัวบุคคลเป็นปสาทนีย์ ปสาทนีย์ก็เป็นที่น่าเลื่อมใส คือว่า พอใครเห็นก็ เอ้อ พระนี่ทำให้เราเกิดศรัทธา เชื่อว่าท่านมีดี หนึ่ง ท่านประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีศีล มีกายวาจาที่สงบเสี่ยมงามตามหลักปฏิบัติที่เรียกว่าศีลาจารวัตร ถ้าพบใครถามก็ปฏิสันถารดีอะไรอย่างนี้ ก็เรียกว่า คนญาติโยมใจดี เห็นพระก็เลื่อมใจ แล้วก็รู้สึกว่าพระนี่ นอกจากท่านมีความสงบเรียบร้อย งามในทางศีลาจารวัตรแล้ว ท่านยังมีความรู้ด้วย มีสติปัญญารู้เข้าใจธรรมะ เอ้อ เราจะถามธรรมะข้อสงสัยอะไร ท่านก็คงจะสามารถช่วยอธิบายให้ความกระจ่าง ให้ความรู้เข้าใจได้ นี่อย่างนี้เรียกว่าปสาทนีย์ ลักษณะของวัดที่ดีก็ สถานที่เป็นรมณีย์ แล้วก็ตัวบุคคลพระเณรเป็นปสาทนีย์ แล้วก็คนที่อยู่ในวัดก็เป็นผู้ฉลาดในปฏิสันถาร ก็หมายความว่า เห็นใครมาก็ยินดีต้อนรับ ตั้งแต่ตั้งเจตนาดีต่อผู้ที่มา ขอให้ท่านที่มานี่ได้ประโยชน์จากวัดนะ ตั้งแต่ประโยชน์ต่อจิตใจเป็นต้นไป ถ้ามีอะไรถามมาเลย ถามแล้วเราจะตอบได้ดี เราจะแนะนำให้เขาได้ประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่าปฏิสันถาร ก็ดีทั้งนั้นแหละ พูดได้แค่นี้ ก็ครบลักษณะวัดที่ถูกต้อง ที่รวมแล้วก็อย่างที่ว่า ก็อยู่ในคำว่ารมณีย์ ปสาทนีย์ แล้วก็ต้องมีปฏิสันถารดี ทีนี้ท่านก็ทำกิจเหล่านี้ แม้แต่ว่าท่านประพฤติดีปฏิบัติชอบออกมา โยมมาเห็น โยมสบายใจ ท่านก็ทำบุญแล้ว คือให้โยมได้ดีใจใจดี เรียกว่า ได้แสดงธรรมโดยไม่ต้องพูด แสดงธรรมมีสองอย่าง แสดงธรรมโดยพูด ก็คือว่าท่านแสดงธรรมพูดให้โยมฟัง หรือโยมมาถามก็อธิบายให้ฟัง ทีนี้ ธรรมะนี้ ตั้งแต่ว่าจิตใจที่เป็นบุญกุศล จิตใจที่ผ่องใสเบิกบาน ก็เป็นธรรมะในตัว ได้ศรัทธาก็เป็นธรรมะ ทีนี้พอเห็นพระแล้วเกิดศรัทธา เกิดจิตใจเบิกบานผ่องใส โยมก็ได้ธรรมะ ฉะนั้นพระแม้แต่ว่าเพียงตัวเองประพฤติดีปฏิบัติชอบ ปรากฎตัวให้โยมเห็นนี่ก็แสดงธรรมแล้ว แสดงธรรมหรือให้ธรรม ที่ถูกต้องเรียกว่าให้ธรรม อันนี้ไม่เรียกแสดงธรรม เรียกว่าให้ธรรม ให้ธรรมโดยพูดกับให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ตอนนี้ท่านให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ถ้าโยมมาถามอะไร อธิบายธรรมให้ฟังก็ให้โดยพูดด้วย ครบสองอย่าง แล้วท่านก็ออกเดินทางไปบิณฑบาต โยมก็ตั้งใจเอาบุญกุศล การที่จะทำทานนั้นต้องมีใจผ่องใส ทำด้วยใจที่เป็นบุญอยู่แล้ว ใจดี มีเจตนาที่เป็นกุศล เป็นบุญอยู่ในตัว ตั้งใจ พอเห็นพระประพฤติดีปฏิบัติชอบ งาม โยมก็มีความเลื่อมใส เจตนาที่จะถวายก็เป็นเจตนาที่จริงจัง ก็ทำให้ได้บุญมา ฉะนั้นท่านที่ออกไป เดินไป โยมได้ตักบาตรอะไรต่ออะไร ก็ช่วยให้โยมได้บุญ ก่อนจะไปทำงานอะไรต่ออะไร ได้ตักบาตร เห็นพระใจคอผ่องใส เริ่มวันใหม่ดีแล้ว ไปที่ทำงานก็เรียกว่ามีทุนดีไป ฉะนั้น พระก็ต้องปฏิบัติให้ถูกอย่างนี้ แล้วก็จะได้บุญเยอะ ทีนี้ได้บุญที่สำคัญก็คือ ท่านได้เรียนและศึกษา มีบุญระดับทาน ระดับศีล ระดับสมาธิ ระดับปัญญา นี่ที่สำคัญก็บุญระดับปัญญา ท่านได้เรียนรู้เข้าใจ รู้หลักธรรมคำสอน เอามาประพฤติปฏิบัติตนเอง ได้ฝึกตน พัฒนาตนขึ้นไป ที่เรียกว่าเจริญในศีล สมาธิ ปัญญา นี่ก็บุญแล้ว ทีนี้บุญนี้เป็นทุน ก็หมายความว่า ท่านมีความรู้อันนี้ แม้จะลาสิกขาออกไป หรือไม่ลาก็ตาม ในกาลเบื้องหน้าอนาคต ความรู้ความเข้าใจในธรรมะที่ท่านศึกษาไว้ก็เป็นทุนอยู่ในตัวแล้ว ท่านก็เอาไปฝึกฝนพัฒนาตนต่อ แล้วก็เอาไปพัฒนา ศึกษาค้นคว้าปฏิบัติให้เจริญเพิ่มพูนขึ้น ทุนก็มากขึ้น ทุนมากขึ้นแล้วทีนี้ท่านก็เอาไปเผื่อแผ่ ไปสั่งสอนแนะนำกับผู้อื่น ก็ทำบุญด้วยธรรมทานต่อ ก็เรียกว่า บุญที่เป็นทุนนี่ก็เอาไปใช้ประโยชน์ด้วย แล้วก็เอาไปแผ่ขยายบุญ แล้วก็ทุน ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป ก็ได้หลักที่ว่า พระพุทธเจ้าบอกให้เราดำเนินชีวิตให้พร้อมด้วยประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ตนเรียกว่า “อัตตัตถะ” ประโยชน์ผู้อื่นเรียกว่า “ปรัตถะ” ประโยชน์ตนนี้ ท่านเน้นที่เนื้อแท้ก็คือ ความเจริญงอกงามของชีวิต ชีวิตที่มีปัญญา รู้เข้าใจอะไรต่างๆ รู้จักประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตได้ดีขึ้น ทำให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้น มีความฉลาด มีความสามารถอะไรต่างๆ เรียกว่าประโยชน์ตน เป็นประโยชน์ที่แท้ ส่วนเงินทองเป็นต้นนั้น ก็เป็นประโยชน์ตน แต่ว่าเป็นระดับภายนอก ท่านต้องเรียนหลายอย่าง ประโยชน์ “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ใช่ไหม ทิฏฐธัมมิกัตถะเรียนแล้วใช่ไหม ทิฏฐธัมมิกัตถะก็เป็นประโยชน์ขั้นตาเห็น ก็หมายความว่าเรื่องเงินเรื่องทองนี่เป็นประโยชน์ขั้นตาเห็น ไปทำงานทำการได้เงินได้ทอง นี่ก็เรียกว่าประโยชน์ตนที่มองเห็น “ทิฏฐธัม” แปลว่ามองเห็น แล้วก็เป็นปัจจุบันทันตา หนึ่งเงินทอง สองก็สถานะทางสังคม เกียรติยศ ความเจริญก้าวหน้าในการงาน อะไรต่างๆเหล่านี้ นี่ก็เป็นประโยชน์ทิฏฐธัม คนที่อยู่ในโลกนี้ ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ในทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม สุจริต ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะมันจะเป็นทุนให้แก่ประโยชน์ที่สูงต่อไป ก็หนึ่ง ทรัพย์สินเงินทอง สองก็ยศศักดิ์ความก้าวหน้า เกียรติยศ ความยอมรับทางสังคมอะไรต่างๆเหล่านี้ แล้วก็สามก็ชีวิต คู่ครอง ครอบครัว ถ้ามีครอบครัวก็ให้ดี มีบุตรธิดาที่เจริญงอกงาม ทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุข แล้วก็ ต่อไปก็ข้อสี่ ก็คือตัวเอง สุขภาพร่างกาย ให้สมบูรณ์แข็งแรงดี มีสุขภาพดี นี่ก็เป็นประโยชน์ตนที่มองเห็น อย่างพระเจ้าปเสนธิโกศล วันหนึ่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เคยฟังไหม ทรงพระอ้วนมาก ทรงพระอ้วนก็เลยทรงนั่งลำบาก อึดอัด พระพุทธเจ้าก็ตรัส ก็ทรงทราบว่า ทรงเสวยจุ พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสคาถาหนึ่ง คือท่านไม่ได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินนะ พระองค์ก็ตรัสขึ้นมา ว่าผู้ที่มีสติแล้วก็รับประทานพอประมาณ ก็จะอยู่เป็นสุข สุขภาพดีอะไรทำนองนี้ ถ้าไปอ่านเอา พระเจ้าปเสนธิโกศลก็ว่าเอ้อดี อันนี้ตรงกับเราเลย ก็เลยมีคนสนิทที่ติดตามพระองค์มา ที่เค้าเรียกว่า???ราชวัลลภ หรือบางทีเรียกชื่ออื่นก็ได้ ก็เลยตรัสบอกว่านี่เธอ เรียนคาถาพระพุทธเจ้าไว้ แล้วเวลาเราจะเริ่มเสวยเมื่อไหร่ ให้ว่าคาถานี้ขึ้นมาเลย ทีนี้ คนนี้ก็เวลาพระเจ้าแผ่นดินจะเสวยทีไร แกก็จะพูดขึ้นมาก่อน พระเจ้าแผ่นดินก็ชะงัก พอว่าคาถานี้พระเจ้าแผ่นดินก็หยุดฟังก่อน ตั้งสติได้ ทีนี้ก็เสวยพอประมาณ ยับยั้งตัวเองด้วย พอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอีก พระพุทธเจ้าก็ทักว่ากะปรี้กะเปร่าขึ้น พระองค์ก็เลยตรัสแสดงความขอบพระคุณ ทราบซึ้งในพระคุณของพระองค์ว่าพระองค์ไม่ได้สงเคราะห์พระเจ้าแผ่นดินด้วยประโยชน์ชั้นสูงเท่านั้น ประโยชน์ชั้นสูงก็มี “สัมปรายิกัตถะ” ประโยชน์เบื้องหน้า ทางจิตใจ ทางปัญญา ไปสวรรค์ ไปนิพพาน ถึงปรมัตถ์ สัมปรายะนี่ต่อกับปรมัตถ์ ทีนี้พระองค์สงเคราะห์ข้ากระหม่อมด้วย“ทิฏฐธัมมิกัตถะ”ด้วย ประโยชน์ปัจจุบัน สุขภาพก็สำคัญ ก็เป็นประโยชน์
อย่างน้อย4ข้อแล้ว ที่ท่านต้องทำให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นคฤหัสถ์ เราจะต้องตั้งทิฏฐธัมมิกัตถะให้สำเร็จ หนึ่งมีเงินทอง อย่างน้อยพึ่งตนเองได้ แล้วก็เกื้อกูลคนอื่นได้ สองมีการยอมรับของสังคม มีความเจริญงอกงาม มียศ มีเกียรติยศอะไรต่างๆ และสามก็คือครอบครัว สี่ก็คือสุขภาพ ทีนี้ก็ก้าวไป อย่าไปหยุด ไปสู่“สัมปรายิกัตถะ” ประโยชน์ที่เลยตาเห็น ที่เรียกว่าประโยชน์เบื้องหน้า ก็ทางจิตใจ มีศรัทธา มีศีล มีสุตตะ ความรู้ จาคะ ความเสียสละ รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ในตอนนี้ นี่แหละดีแล้ว ก็คือ เช่นเรามีทรัพย์มีเงิน มันก็ไม่อยู่กับตัวอย่างเดียวแล้ว ทีนี้มันจะออกไปเป็นประโยชน์ เรามีเกียรติยศ เรามีชื่อเสียงมีฐานะดี เราทำประโยชน์ได้มาก เหมือนอย่างพระเจ้าอโศกได้ทรงปฏิบัติ คือพระองค์มีอำนาจขึ้นมานี้เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน แล้วก็หันมานับถือพระพุทธศาสนา แล้วพระองค์ก็ตรัส ความเป็นใหญ่เกียรติยศนี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้ามันไม่เป็นเครื่องช่วยให้เราได้ช่วยให้ประชาชนได้เจริญงอกงามในธรรมะ ก็เป็นอันว่า“ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ที่เป็นประโยชน์อย่างดีในชีวิตของเรานี้ มันจะไปเกื้อหนุนในการที่ทำ“สัมปรายิกัตถะ”ประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไปทางจิตใจ ทางปัญญา หนึ่งก็เอาไปบำเพ็ญประโยชน์ใช่ไหม เรามีเงินทอง เราก็ช่วยเหลือทำประโยชน์ได้มาก เรามีชื่อเสียงมีเกียรติยศมีฐานะดี เราก็ทำประโยชน์ได้กว้างขวาง เหมือนอย่างพระเจ้าอโศก เมื่อมีอำนาจ ก็เลยใช้อำนาจมาหนุนธรรมะไปเลย ก็เลยยิ่งทำประโยชน์ได้ใหญ่โตกว้างขวาง ถ้าเป็นคนเล็กคนน้อย จะทำได้หรือ ก็ทำอย่างพระเจ้าอโศกไม่ได้ พระองค์ก็ตรัสแบบนี้ ยศของพระองค์ ความยิ่งใหญ่ ไม่มีความหมาย ถ้าไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็เลยเป็นประโยชน์ถ้าใช้ให้มันถูก ฉะนั้นไม่ใช่ไม่มีความหมาย มียศก็ใช้ประโยชน์เสียให้มันดีกลายเป็นเครื่องหนุนธรรมไปเลย นี่เป็นตัวอย่างศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ข้อสำคัญก็คือปัญญา จาคะนี่ก็คือบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และปัญญาก็จัดการทั้งการช่วยเหลือผู้อื่นและตนเอง ตนเองก็จะได้พัฒนาชีวิตของตัวเองจนกระทั่งรู้ธรรม เข้าใจธรรม บรรลุธรรมสูงขึ้นไป พอสูงถึงที่สุดก็เป็นปรมัตถ์ อันนี้ไม่ต้องอธิบายรายละเอียดแล้ว เอาละเป็นอันว่าบวชมา เรามีชีวิตอยู่ ไม่ว่าเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นพระ ก็หนึ่ง“อัตตัตถะ”ประโยชน์ตน สอง“ปรัตถะ”ประโยชน์ผู้อื่น ให้ประโยชน์สองอย่างนี้มันเกื้อหนุนกัน เมื่อเราบำเพ็ญ“ทิฏฐธัมมิกัตถะ” มีประโยชน์ของชีวิตตนเอง เช่น ทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศ ก็ทำ“ปรัตถะ”บำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นไปด้วยคู่กันไป เมื่อเราบำเพ็ญ“ปรัตถะ”เนี่ยะ ความดีงามการพัฒนาชีวิตของเราก็ดีขึ้นด้วย “ปรัตถะ”เมื่อเราทำเนี่ยะ มันกลายเป็นพัฒนาตนเอง เราจะทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ดี เราก็ต้องมีปัญญา เราก็ได้พัฒนาปัญญาของตนเอง เราก็ยิ่งเก่ง เรายิ่งมีความสามารถด้านต่างๆในการสื่อสารพูดจาเป็นต้น ฝึกตนเองเยอะ กว่าคนจะทำประโยชน์ผู้อื่นได้สำเร็จดีเนี่ยะ พัฒนาตนเองเยอะเลยใช่ไหม ไม่รู้ตัว ที่จริงนี่คือพัฒนาประโยชน์ที่แท้เลย ที่เป็นเนื้อ เป็นตัว เป็นชีวิตเรา เพราะฉะนั้น การทำประโยชน์แก่ผู้อื่นนี้ ทำให้เรายิ่งพัฒนา เราต้องฉลาดในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็คู่กันไป ก็เป็นอันว่า “อัตตัตถะ” “ปรัตถะ” คู่กันไป พระพุทธเจ้าตรัสย้ำเรื่องนี้สองอย่าง เรามีชีวิตอยู่นี้ให้ทำ“อัตตัตถะ” “ปรัตถะ”คู่กันไป ให้เจริญไปด้วยกัน แล้วมันจะมีอันหนึ่งที่มารวมก็ “อุภยัตถะ” ประโยชน์ร่วมกัน ที่จริงมันก็อยู่ในนี้ ที่จริงพระพุทธเจ้าตรัสหลักใหญ่ก็แค่“อัตตัตถะ” “ปรัตถะ” ทีนี้พระสารีบุตรท่านก็มารวมให้อีก ท่านเติม“อุภยัตถะ”เข้าไป ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หมายความว่า การทำอะไรบางอย่างมันเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ทั้งตัวเราตัวเขา เช่นอย่างสิ่งที่เป็นสาธารณะ เช่นถนนหนทางนี่เป็นประโยชน์ร่วมกันใช่ไหม ทำให้แล้วก็เจริญงอกงาม ทำให้ใช้ประโยชน์ได้ด้วยกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ท่านสอนกันมา นี่ก็ด้านหนึ่งก็คือ“อัตตัตถะ” “ปรัตถะ”เติม“อุภยัตถะ”เข้าก็เป็นสาม อันนี้เป็นแนวราบ“อัตตัตถะ” “ปรัตถะ” “อุภยัตถะ” แนวราบสาม ทีนี้แนวตั้งก็สามเหมือนกัน “ทิฏฐธัมมิกัตถะ”ประโยชน์ปัจจุบันที่ตาเห็นที่ว่าก่อนหน้านี้ ทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศ นี่ขึ้นที่หนึ่ง ทีนี้ต่อไปขั้นที่สองก็“สัมปรายิกัตถะ”ประโยชน์ขั้นเลยตาเห็นที่เป็นนามธรรมมองไม่เห็น เช่นการที่เราพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา ทำบุญกุศล แล้วก็ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ แม้แต่สอนคนให้เขามีปัญญารู้เข้าใจนี่ขั้นที่สอง และพอถึงที่สุดในขั้นปลายของ“สัมปรายิกัตถะ” ที่จริงจบแล้วนะสองอย่างนี้ แต่ทีนี้บางทีท่านก็เอาแบบชุด อันนั้นเป็นสาม อันนี้ก็เป็นสามได้ ก็คือส่วนยอดของ“สัมปรายิกัตถะ” แยกเป็นส่วนหนึ่งเลยเป็นพิเศษเรียกว่า “ปรมัตถะ” สูงสุด หมายถึงระดับโลกุตร นิพพาน เราก็ทำสองชุดนี้ทำให้ครบ “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” “สัมปรายิกัตถะ” จะเติม “ปรมัตถะ”ก้ได้ นี่แนวตั้ง แล้วก็แนวนอนก็คือ “อัตตัตถะ” “ปรัตถะ” “อุภยัตถะ” ทำให้ได้ ก็เป็นการจบพระพุทธศาสนาแง่หนึ่ง หมายความว่า เป็นการพูดถึงพระพุทธศาสนา ถ้าท่านถูกถามว่าพระพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร ท่านสอนอย่างนี้ก็ได้ นี่ก็เป็นวิธีพูด คือหมายความว่า เราสอนพุทธศาสนาหรือตอบพระพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไรนี่มันพูดได้หลายแบบ นี่ก็แบบหนึ่ง คือสอนให้คนบรรลุอัตถะ คือจุดหมายของชีวิต อย่างนี้ สองชุด สองขั้น หรือสามขั้น สองด้านสามด้านอะไรก็แล้วแต่ได้หมด นี่ก็ว่าให้ฟัง ในแง่หนึ่งก็คือสรุปว่าท่านเรียนแล้วท่านเอาไปใช้ให้ได้อย่างนี้ก็จะดี ก็เป็นอันว่ารวมความก็คือท่านมาบวชนี่ได้ทำบุญเยอะ แล้วก็เป็นทุนอย่างที่ว่า ก็ขอให้ท่านไปเพิ่มทุนต่อ แล้วก็ไปใช้ทุนให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิตตนเอง แล้วก็ไปใช้ทุนที่ท่านได้ทำเจริญพัฒนาขึ้นมา ทั้งความรู้ความเข้าใจธรรมะเป็นต้น ประสบการณ์ต่างๆ เอาไปช่วยทำประโยชน์ ตั้งแต่คนใกล้ชิด ครอบครัว คนในสังคมต่างๆไปทั่ว อันนี้ก็จะเรียกว่า การบวชไม่จบอยู่แค่บวช จะเป็นการเจริญงอกงามต่อไปข้างหน้าด้วย เมื่อท่านทำอย่างนี้แล้ว การสืบศาสนาก็จะเป็นการสืบต่อพระศาสนาที่แท้จริง เมื่อสักครู่บอกว่า บวชมาสืบต่อพระศาสนา ก็ได้บวชแล้วก็มีพระอยู่ ทีนี้พอท่านบวชแล้ว ท่านเรียนมีความรู้ความเข้าใจ มีทุนอยู่ในตัว ตัวท่านก็มีพุทธศาสนาอยู่ข้างในแล้ว พุทธศาสนาอยู่ในตัวท่านแล้ว ก็เพราะชีวิตของท่านเป็นไปตามธรรมะ ปฏิบัติตามธรรมะ ท่านอยู่พุทธศาสนาก็อยู่ เพราะพุทธศาสนาเป็นเนื้อตัวของท่าน ชีวิตของท่านเป็นไปตามหลักพุทธศาสนา ท่านก็เลยสืบต่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ก็คือ ทั้งตัวทั้งชีวิตของท่านเป็นเครื่องสืบต่อพระพุทธศาสนา ทีนี้ถ้าหากว่าทุกคนทำได้อย่างที่ท่านทำ พระพุทธศาสนาก็อยู่ใช่ไหม อยู่เป็นเนื้อแท้จริงเลย การสืบต่อพระพุทธศาสนาก็ได้จริงด้วย วันนี้ก็คุยกันพอสมควร