แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร ในการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ อาตมภาพคิดว่าจะพูดเรื่องวินัยของพระ ทั้งนี้ ก็ปรารภคำถามของโยมคุณหญิงเมื่อ 2 - 3 วันมาแล้ว ได้ถามเรื่องอาบัติของพระว่าคืออะไร เรื่องอาบัติของพระนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระวินัย เพราะฉะนั้นจึงพูดเรื่องพระวินัย
พระพุทธศาสนานั้น เดิมทีเดียวท่านมักจะเรียกชื่อว่า พระธรรมวินัย คำว่า “ธรรมวินัย” นี้ มีปรากฏในพระไตรปิฎกอยู่เสมอ เช่นว่า “ออกบวชในธรรมวินัย” หรือ “ภิกษุในธรรมวินัยนี้” ชื่อที่เรียกว่า “ธรรมวินัย” นี้ แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นคืออะไร “ธรรมวินัย” นั้นมาจากคำ 2 คำ คือคำว่า “ธรรมะ” กับคำว่า “วินัย” “ธรรมะ” บวกกับ “วินัย” ก็เป็น “ธรรมวินัย” แสดงว่าพุทธศาสนานั้นมีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ ธรรมะ กับ วินัย ธรรมะนั้นก็หมายถึง หลักความจริงที่ควรรู้ และหลักความดีงามที่ควรจะประพฤติ ส่วนวินัยนั้นก็หมายถึงระเบียบแบบแผนสำหรับกำกับความประพฤติของคนที่มาอยู่ร่วมกันให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
วินัยนั้นก็มีทั้งวินัยของพระสงฆ์และวินัยของฆราวาส วินัยของพระสงฆ์นั้น ก็ที่เราเรียกกันว่า ศีล 227 ซึ่งเดี๋ยวอาตมภาพจะได้อธิบายต่อไป และอันที่จริงยังมีบทบัญญัติอื่นๆ อีก มิใช่แค่มีเพียงแค่ศีล 227 เท่านั้น ส่วนวินัยของฆราวาส หรือวินัยของคฤหัสถ์นั้น อย่างง่าย ๆ ที่สุดก็หมายเอาศีล 5 แต่ว่าในคัมภีร์ที่ท่านอธิบาย อย่างในคัมภีร์อธิบายมงคลสูตร ท่านบอกว่าวินัยของคฤหัสถ์หรือวินัยของชาวบ้าน ได้แก่กุศลกรรมบถ 10 ประการ หรือถ้าหากจะให้กว้างออกไปกว่านั้น ก็ได้แก่ สิงคาลกสูตร สิงคาลกสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่สิงคาลกมาณพ บางทีก็เรียกว่า สิงคาลโลวาทสูตร ซึ่งมีคำสอนหลายเรื่องเช่นเรื่องการคบมิตร มิตรแท้มิตรเทียม ตลอดจนกระทั่งไปถึงเรื่องอบายมุข เรื่องทิศ 6 พวกนี้รวมอยู่ใน สิงคาลกสูตร ท่านบอกว่าเป็นเรื่องของวินัยของคฤหัสถ์
ส่วนที่มุ่งหมายกันทั่วไปเวลาเราบอกว่าวินัยนี่เรามักจะหมายถึงวินัยของพระ แต่จะเป็นวินัยของพระหรือวินัยของคฤหัสถ์ก็ตาม ก็มุ่งให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย นับเป็นส่วนรวมส่วนสำคัญ คือคนที่มาอยู่ร่วมกัน ถ้าเป็นเฉพาะแต่ละบุคคลก็ทำให้รู้จักควบคุมตนเอง วินัยนั้นแหละก็คือตัวที่ทำให้เกิดศีล วินัยนั้นถ้าหากว่าหมู่คณะได้ประพฤติเป็นแบบแผนเดียวกัน ปฏิบัติตามก็จะเกิดความสม่ำเสมอกันโดยศีล ที่ท่านเรียกว่า สีลสามัญญตา เป็นคู่กับด้านธรรมะ ธรรมะนั้นเป็นเรื่องที่รู้เข้าใจ ถ้าหากว่าได้รู้เข้าใจธรรมะถ่องแท้ก็มีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านเรียกว่าเป็น ทิฎฐิสามัญญตา สามัญญตาคือความสม่ำเสมอกัน สองอย่างนี้เป็นหลักสำคัญสำหรับหมู่คณะจะให้ดำรงอยู่ ได้สามัคคีพร้อมเพรียง คือทิฎฐิสามัญญตา สม่ำเสมอกันโดยทิฎฐิความคิดเห็น และก็สีลสามัญญตา สม่ำเสมอกันโดยศีล ความประพฤติ นอกจากนี้แล้วก็จะอาศัยคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น ความมีเมตตากรุณาอะไรต่ออะไรมาเป็นเครื่องประกอบ แต่ว่าสามัญญตาสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาหมู่คณะไว้ นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมะและวินัยที่เป็นส่วนรวม ส่วนในแง่ตัวบุคคลนั้น ถ้ามีความเข้าใจธรรมะถูกต้องถ่องแท้ดี และประพฤติตามพระวินัยแล้ว ก็จะทำให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ให้บรรลุคุณวิเศษเบื้องสูงได้โดยง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น ธรรมะกับวินัยนี้ก็เป็นหลัก 2 ประการคู่กันที่ประกอบกันเข้าเป็นพระศาสนานี้
ทีนี้ ในที่นี้จะกล่าวถึงพระวินัยของพระสงฆ์โดยเฉพาะ วินัยของพระสงฆ์นั้นก็อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าเป็นระเบียบสำหรับกำกับความประพฤติของพระภิกษุทั้งหลาย ให้เรียบร้อยสม่ำเสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านบอกว่าพระภิกษุทั้งหลายนั้นก็ออกบวชจากชาติตระกูล ถิ่นฐาน ภูมิหลังต่าง ๆ กัน เพราะพื้นเพที่ต่าง ๆ กันนี้ ก็ต้องมีเครื่องกำกับความประพฤติ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดความไม่สม่ำเสมอ หมู่คณะก็จะกระจัดกระจายไม่เรียบร้อย แต่เมื่อมีวินัยเป็นหลักแล้ว ก็จะทำให้พระสงฆ์พระภิกษุเหล่านั้น แม้จะมีพื้นเพภูมิหลังต่าง ๆ กัน ก็มามีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามเปรียบเสมือนดังว่านำเอาดอกไม้นานาสีนานาพรรณมาจัดใส่พาน ตกแต่งให้เรียบร้อยก็ดูสวยงาม นำมาตั้งในที่บูชา ก็ทำให้ที่บูชานั้นน่าดู เหมาะแก่การที่จะถวายบูชาพระ พระพุทธรูป หรือบูชาพระรัตนตรัย ทำจิตใจให้ผ่องใสเบิกบานได้ พระสงฆ์ที่เป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยวินัยแล้ว ก็ทำจิตใจของประชาชนให้ชื่นบานผ่องใสได้
ทีนี้ พระวินัยของพระสงฆ์นั้น ก็เกิดขึ้นจากมีบทบัญญัติต่าง ๆ บทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ให้เป็นข้อสำหรับจะต้องยึดถือประพฤติแต่ละข้อ ๆ ๆ รวมกันทั้งหมดเข้าเราเรียกว่าพระวินัย ทีนี้ บทบัญญัติแต่ละข้อของพระก็มีชื่อเรียกเฉพาะ เรียกว่า “สิกขาบท” สิกขาบทก็มาจาก สิกขากับบท “บท” ก็คล้าย ๆ กับคำว่าข้อ “สิกขา” ก็แปลว่า การศึกษาหรือการฝึกฝนอบรม สิกขาบทจึงแปลว่าข้อสำหรับฝึกตน หรือข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับฝึกตน ก็ได้แก่บทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าวางไว้นั่นเอง เมื่อวางไว้แล้วอย่างไรพระก็ถือตามนั้น แต่ละข้อ ๆ ก็เรียกว่าสิกขาบท แม้แต่ศีล 5 แต่ละข้อ ถ้าเราเอามาใช้ในการปฏิบัติฝึกฝนตน เราก็เรียกว่าสิกขาบทเหมือนกัน เรียกว่า “สิกขาบททั้ง 5” ส่วนของพระนั้นที่เรารู้กันก็มี สิกขาบท 227 ที่เราเรียกว่า ศีล 227 นั้น ก็เป็นศัพท์ที่ไม่เป็นทางการ ถ้าเป็นศัพท์ที่เป็นทางการก็เรียกว่า “สิกขาบท 227”
ทีนี้สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้นี้ถ้าหากว่าใครละเมิด การละเมิดนั้นมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “อาบัติ” อาบัติก็คือการละเมิดสิกขาบท หรือการละเมิดบทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าวางไว้ในพระวินัย เมื่อละเมิดแล้วก็มีความผิด หรือมีโทษ เพราะฉะนั้น คำว่าอาบัติเนี่ยก็แปลว่า ความผิดหรือโทษก็ได้ คือความผิดหรือโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทอันเป็นพระบัญญัติของพระพุทธเจ้า ทีนี้ อาบัติ ความผิดหรือโทษนั้นก็มีลดหลั่นกันไปหลายขั้นหลายระดับ แม้แต่สิกขาบทหรือบทบัญญัตินั้น พระพุทธเจ้าก็วางไว้ จัดเป็นหมวดเป็นหมู่ มีสิกขาบทชื่อโน้นชื่อนี้ อะไรหลายอย่างซึ่งอาตมภาพในที่นี้จะยังไม่เอามาแจกแจงเพราะว่าเดี๋ยวจะทำให้เกิดความสับสน จะพูดแต่เรื่องอาบัติ ทีนี้ อาบัติก็อยู่ที่การละเมิดสิกขาบทนั้น ก็มีโทษหนักโทษเบาต่าง ๆ กัน อย่างในบ้านเมืองเขาก็มีการจัดเป็นครุโทษ ลหุโทษ ความผิดของพระก็เหมือนกัน ที่เป็นอาบัติหนัก เขาก็เรียกว่า “ครุกาบัติ” ของไทยนี่เราเรียกว่าครุโทษ ของพระเรียก ครุกาบัติ ถ้าเป็นโทษเบา ปัจจุบันนี้เราเรียกว่า ลหุโทษ ของพระก็เรียกว่า “ลหุกาบัติ” ก็คล้าย ๆ กันนั้นเอง คือเปลี่ยนคำว่าโทษเป็นอาบัติ โทษหนักโทษเบานี้เป็นเพียงจัดคร่าว ๆ ถ้าจัดอย่างละเอียดท่านบอกว่ามีทั้งหมด 7 อย่างด้วยกัน มี 7 ขั้น หรือ 7 สถาน ของพระเรียกว่า “อาบัติ 7 กอง” ถ้าปัจจุบันนี้ก็เรียกว่า โทษสถานต่าง ๆ สถานหนัก สถานเบา สถานโน้น สถานนี้ โทษขั้นประหารชีวิต โทษขั้นจำคุก โทษขั้นต้น โทษขั้นปรับ อะไรเป็นต้น นี่ก็โทษต่าง ๆ ก็มีหลายสถาน ทั้งหมดท่านจัดไว้เป็น 7 ระดับ ด้วยกันทางพระเรียกว่าอาบัติ 7 กอง มีอะไรบ้าง
ก็มี 1) อาบัติปาราชิก นี่หนักที่สุด ถ้าพระต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ก็ขาดจากความเป็นพระทันที 2) อาบัติสังฆาทิเสส นี่เป็นอาบัติหนักเหมือนกันอยู่ในระดับรองลงมา เป็นอาบัติที่ต้องเรียกว่าอยู่กรรมจึงจะพ้นได้ “อยู่กรรม” นี่หมายความว่าจะต้องเป็นผู้ที่เหมือนกับบวชใหม่ หมดเกียรติหมดยศลงไปปฏิบัติข้อวัตรเบื้องต้นนะ แล้วก็ต้องอาศัยสงฆ์ ในตอนแรกก็ให้สงฆ์สวดประกาศในที่ประชุม แล้วก็รับโทษ แล้วก็อยู่ เค้าเรียกว่าอยู่กรรม ประพฤติวัตรต่าง ๆ เช่นว่า ไม่สามารถจะรับการไหว้ของพระที่พรรษาต่ำกว่าเป็นต้น และจะต้องประพฤติอะไรต่าง ๆ ที่เป็นการที่เรียกว่าทำความลำบากให้แก่ตัวเองอยู่พอสมควรระยะหนึ่ง จนกระทั่งในที่สุดเมื่อจะพ้นจากอาบัติแล้ว ก็จะต้องไปขอให้สงฆ์ยอมรับตัวเองเข้าหมู่คณะใหม่ สงฆ์ก็จะสวดประกาศอีกครั้งหนึ่ง เลยเรียกว่าอาบัติสังฆาทิเสส หรือว่าอาบัติที่ต้องการสงฆ์ทั้งในตอนต้นและในตอนสุดท้าย ทั้งในตอนต้นและตอนที่เหลือทั้งหมด ก็อันนี้เป็นอาบัติที่ 2 สองอย่างนี้คือปาราชิกกับสังฆาทิเสสนี้ โยมเรียกว่าครุกาบัติ คืออาบัติหนัก
ต่อจากนี้เขาเรียกว่าเป็น ลหุกาบัติ อาบัติเบา ก็มาถึงข้อต่อไป เป็นข้อที่ 3) คือถุลลัจจัย ถุลลัจจัยก็เป็นอาบัติที่รองลงมา อาบัติตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมานี้เป็นอาบัติที่ใช้วิธีมาสารภาพความผิดกับพระด้วยกัน สารภาพกับสงฆ์ก็ได้ สารภาพกับพระองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ จะเห็นว่าเวลาพระไปลงโบสถ์เราเห็นพระปลงอาบัติ โยมคงเคยได้ยินคำว่า “ปลงอาบัติ” “ปลงอาบัติ” ก็คือไปแสดงอาบัติ ศัพท์ทางการเรียกว่า “แสดงอาบัติ” คือไปบอกแก่พระองค์อื่นองค์ใดองค์หนึ่ง หรือบอกแก่ทั้งสงฆ์ก็ได้ว่า ฉันได้ทำความผิดอันนั้นและจะสังวรระวังไม่กระทำต่อไป อันนี้ก็เป็นการแสดงอาบัติ โทษตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมาก็ใช้วิธีแสดงอาบัติอย่างนี้ ก็พ้น ก็มีถุลลัจจัยถัดจากนั้นก็มี 4) ปาจิตตีย์ แล้วก็ไป 5) ปาฏิเทสนียะ แล้วก็ 6) ทุกกฏ 7) ทุพภาสิต เบาลงไปตามลำดับ โยมได้ยินว่า ทุกกฏ ๆ บางท่านบอกว่า เอ๊ะ! ทุกกฏ น่ากลัวหนักจัง หมายความว่าทุกกฎ กฎทุกข้อเลยที่จะผิด ที่จริงเปล่า ไม่ได้หนักหรอก เบาเกือบสุดท้ายเลย แต่ถุลลัจจัยนั้นยังหยาบกว่า ปาจิตตีย์ก็เบาลงไป ปาฏิเทสนียะก็ถือว่าเบา แล้วก็ทุกกฏ ทุกกฏนี่ไม่ได้แปลว่ากฎทุกข้อหรอก “ทุกกฏ” แปลว่า ทำไม่ดี แล้วก็ “ทุพภาสิต” แปลว่าพูดไม่ดี ไปคู่กัน ทุกกฏกับทุพภาสิต ทำไม่ดีกับพูดไม่ดี
เพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นก็จะแจกแจง อย่างอาบัติปาราชิกนั้นก็คืออาบัติหนักที่สุดของพระภิกษุ ได้แก่การละเมิดสิกขาบท 4 ข้อ สี่ข้อก็มีอะไรบ้าง มี 1) ร่วมประเวณี 2) ลักของ หรือถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ตั้งแต่ เขาถือกันว่าตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป แล้วก็ 3) ฆ่ามนุษย์ แล้วก็ 4) อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ก็เช่นว่า อวดว่าฉันได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้เป็นพระอริยบุคคล ได้เป็นพระโสดาฯ ได้เป็นพระอรหันต์อะไรก็ตาม นี่เรียกว่าอวดคุณวิเศษ ถ้าไม่มีจริงนี่ก็ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุ มีโทษร้ายแรงมาก แม้แต่อวดว่าได้ฌานก็ไม่ได้ นี่เป็นอาบัติหนัก ต่อจากนี้ก็มีอาบัติเบาลงไปแล้ว อย่างสังฆาทิเสสที่เป็นแล้วหนักเหมือนกัน แต่ว่ายังไม่ขาดจากเป็นพระต้องอยู่กรรมจึงพ้น ก็มีทั้งหมด 13 ข้อ ยกตัวอย่างเช่นว่า ไปชักสื่อให้ชายหญิงเป็นสามีภรรยากัน นี่ก็ต้องอาบัติสังฆาทิเสส หรือไปโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล เขาไม่ได้ต้องอาบัติปาราชิกเลย ไปโจทว่าต้อง หรือหาเล่ห์ใส่ความอย่างนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทีนี้ก็เป็นตัวอย่าง โยมก็คงจะพอเห็นรูปเค้า
ทีนี้ต่อไปอาบัติถุลลัจจัย อาบัติถุลลัจจัยนั้นโดยมากก็เป็นเรื่องของการต้องอาบัติที่เป็นปาราชิกหรือสังฆาทิเสสนั่นเอง แต่โทษไม่ถึงที่สุด เช่นว่า ยกตัวอย่างเช่นอย่างว่า ไปฆ่าคนนี้ ฆ่าคนถ้าเขาตายตัวพระนั้นก็เป็นปาราชิก แต่ถ้าเขาไม่ตายก็เป็นอาบัติถุลลัจจัย จะเห็นว่ารองลงมา หรืออย่างชักสื่อให้ชายหญิงเป็นสามีภรรยากันเป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่ไปชักสื่อให้กะเทยเป็นสามีภรรยากันเป็นอาบัติถุลลัจจัยเบาลงมา ก็แสดงว่าอาบัติถุลลัจจัยเป็นอาบัติประเภทที่ว่าอาบัติที่หนักอยู่นั่นเองแต่ไม่ถึงที่สุด แต่ที่เป็นอาบัติต่างหากก็มีเช่นอย่างว่าพระไปนุ่งห่มหนังเสืออย่างพวกเดียรถีย์อย่างฤาษีชีไพรอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มของพระ ก็ต้องอาบัติถุลลัจจัย นี่ก็เป็นตัวอย่าง
ทีนี้ต่อไปอาบัติปาจิตตีย์ ยกตัวอย่างเช่นพระว่ายน้ำเล่น อย่างนี้ หรือว่าพระไปจี้พระให้สนุก เช่นว่าไปจี้สะเอวให้หัวเราะให้ขำให้ดิ้นอะไรอย่างนี้ นี่อย่างนี้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ หรือพระไปด่าพระอย่างนี้ ไปพูดปดธรรมดาอย่างนี้ หรือเอาของสงฆ์ไปใช้ในที่กลางแจ้งแล้วไม่เก็บอะไรอย่างนี้ มีเยอะแยะไปหมดเลยเรื่องนี้มีตั้ง 92 สิกขาบท ปาจิตตีย์แยกเป็น 2 อย่าง ปาจิตตีย์ชนิดที่หนึ่งเขาเรียกว่า นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปาจิตตีย์ที่ต้องสละของก่อนจึงจะปลงอาบัติได้ ยกตัวอย่างเช่นว่า ไตรจีวรพระ 3 ผืนเนี่ย ถ้าหากว่าตามปกติยังไม่ได้อานิสงส์กฐินหรือไม่ได้อานิสงส์พรรษานี่จะขาดจากตัวในตอนรุ่งอรุณไม่ได้ จะต้องอยู่ใกล้ตัว อยู่ในที่อยู่อาศัย อยู่ในห้อง หรืออยู่ในที่หัตถบาส อันนี้หากปล่อยให้รุ่งอรุณไปแล้วผ้าไปอยู่ที่อื่นอย่างนี้ต้องอาบัติปาจิตตีย์ชนิดที่ต้องสละจีวรนี้ก่อน ต้องเอาไปสละให้แก่พระองค์อื่นแล้วจึงจะแสดงอาบัติได้ หรืออย่างมีจีวร 3 ผืน แล้ว ได้จีวรพิเศษมา เค้าเรียกว่า จีวรอดิเรก จีวรอาศัย นั่นก็เก็บไว้ได้แค่ 10 วัน เกิน 10 วันไปแล้ว กลายเป็นของที่ต้องสละ ต้องเอาไปสละแก่พระรูปอื่นแล้วปลงอาบัติ อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ อย่างปาจิตตีย์ที่ล้วน ๆ ไม่ต้องสละของก็เป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ว่ายน้ำเล่น จี้พระอื่น ด่าพระอื่น อย่างนี้ไม่ต้องสละของ ก็ปลงอาบัติไปเลย
ต่อไปอาบัติทุกกฏ ทุกกฏเป็นอาบัติเบา ก็คืออาบัติที่ต้องอาบัติหนัก ๆ แต่ว่าอาบัติที่หนักนั้นเองแต่ไม่ถึงที่สุด แล้วก็เป็นขั้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ยกตัวอย่าง เช่นว่า พระด่าพระด้วยกันอย่างนี้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ทีนี้ไม่ถึงกับด่า เป็นเพียงพูดเปรียบเปรยให้อัปยศ โทษก็เบาลงมาเป็นทุกกฏ หรือว่าเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น เช่นว่า ฉันอาหารไม่เรียบร้อย ห่มจีวรไม่เรียบร้อย เข้าไปในบ้านแทนที่จะห่มจีวรให้เรียบร้อย แหวกจีวรขึ้นมาพาดบ่าอย่างนี้ นี่เรียกว่าต้องอาบัติทุกกฏแล้ว หรือฉันข้าวไม่เรียบร้อย ฉันมูมมาม ฉันหก ฉันหล่น ฉันดังจั๊บ ๆ เคี้ยวดังจั๊บ ๆ นี่ก็ต้องอาบัติทุกกฏเลย อาบัติประเภทอย่างนี้เป็นเครื่องคุมพระให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ทีนี้ต่อไปสุดท้าย อาบัติทุพภาสิต อาบัติทุพภาสิตก็คืออาบัติที่พูดไม่ดี เป็นอาบัติที่ว่าไม่ถึงที่สุดอีกแหละ คืออย่างปาจิตตีย์เมื่อกี้ ที่เมื่อกี้ยกตัวอย่างว่า พระด่าพระเป็นปาจิตตีย์ ที่นี้ไม่ได้ด่า พูดเปรียบเปรยให้อัปยศเป็นอาบัติทุกกฎ ทีนี้ไม่ได้ต้องการให้อัปยศ ล้อเล่นเป็นทุพภาสิต โยมจะเห็นว่ามันเบาลงมาตามลำดับเป็นอย่างนี้ ท่านให้เรื่องที่วินิจฉัยไว้อย่างเช่น พระองค์หนึ่งออกบวชจากวรรณะจัณฑาล เพื่อนพระด่า ท่านเป็นจัณฑาลอย่างนี้ หรือขออภัย อาจจะเรียกว่าไอ้จัณฑาลอย่างนี้ เรียกว่าต้องอาบัติปาจิตตีย์แล้ว ด่า ทีนี้ไม่ได้พูดอย่างนั้นไม่ได้ด่าโดยตรง แกล้งพูดเปรียบเปรยให้อัปยศบอกว่าพระที่นั่งกันอยู่นี่บางองค์ก็เป็นจัณฑาลว่างี้ อย่างนี้เป็นอาบัติทุกกฏ เบาลงไปหน่อย ทีนี้ แกล้งล้อเล่นไม่ได้ให้อัปยศอะไร เช่นว่า พูดว่า เออดีนะที่พวกเราไม่เป็นจัณฑาล อย่างนี้พูดล้อ ๆ อย่างนี้ก็เป็นทุพภาสิต อ้อ แล้วข้ามไปอาบัติหนึ่ง คือ อาบัติปาฏิเทสนียะ เพราะว่ามีปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะอีกอันหนึ่ง ปาฏิเทสนียะก็เป็นอาบัติเบาลงมาระหว่างปาจิตตีย์กับทุกกฏ มีน้อย ยกตัวอย่างเช่นว่า พระไปรับอาหารของตระกูลที่เขาสมมุติว่าเป็นพระเสขะมาฉัน อันนี้โยมก็คงงง ตระกูลยังไงที่สมมุติว่าเป็นเสขะ คือมีพุทธานุญาตอยู่อันหนึ่ง คือมันมีเรื่องเกิดขึ้นมาว่ามีตระกูลที่เขามีศรัทธามาก เมื่อมีศรัทธามากแต่มีทรัพย์น้อยเขาก็ให้ไม่อั้น เมื่อให้ไม่อั้นแล้วตัวเองของตระกูลนั้นก็ลำบาก อย่างมีครอบครัวหนึ่งมีทรัพย์สมบัติน้อยแต่ว่ามีศรัทธาเหลือเกิน พระองค์ไหนมาก็ถวายของฉันจนหมด บางวันตัวเองไม่มีกิน ของที่เตรียมจะรับประทานพอเห็นพระก็ถวายหมด พระพุทธเจ้าก็ต้องการอนุเคราะห์ ก็เลยอนุญาตให้สงฆ์บอกว่า ถ้าหากว่าตระกูลไหน ครอบครัวไหนเขายากจนแต่มีศรัทธามาก ให้ทำพิธีกรรมหรือสังฆกรรมประกาศสมมุติว่าเป็นเสขะ เสขะโยมคงเข้าใจนะ คล้าย ๆ เป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น ๆ อย่างพระโสดาบันอะไรอย่างนี้ก็เรียกว่า พระเสขะ คือตั้งแต่พระโสดาฯ ถึงพระอนาคามีเป็นพระเสขะคือยังต้องศึกษายังต้องฝึกตนอยู่ นี้พระพุทธเจ้าอนุญาตให้สงฆ์เนี่ยประกาศสมมุติครอบครัวที่เขายากจนแต่มีศรัทธามากนี่ให้เป็นเสขะ เมื่อสงฆ์สมมุติไว้แล้วนี่ห้ามมิให้พระภิกษุรูปใดไปรับของมาฉัน มียกเว้นแต่ว่าเขานิมนต์หรือตัวเจ็บป่วย พระนั้นอาพาธอย่างนี้อนุญาตให้ฉันได้ แต่ตามปกติไม่ให้รับของเขามาฉัน ถ้ารับของเขามาฉันแล้วเป็นอาบัติปาฏิเทสนียะ หรืออย่างพระไปอยู่ในป่าเป็นที่เปลี่ยวน่ากลัวภัยอันตราย จะรับของฉันเขาโดยเขาไม่ได้บอกไว้ก่อนก็ไม่ได้เป็นอาบัติปาฏิเทสนียะ นี่เพื่อความปลอดภัยของเจ้าภาพก็ให้บอกล่วงหน้าไว้ก่อน
นี่ก็อาตมภาพยกตัวอย่างให้ดูให้เห็นว่าอาบัติคืออะไรแล้วว่ามันมีอะไรบ้าง โยมคงจะพอเห็นภาพพอสมควร ที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติสิกขาบทไว้ให้เป็นข้อบัญญัติ แล้วก็บัญญัติเรื่องอาบัติว่า ถ้าต้องล่วงละเมิดสิกขาบทเหล่านั้นแล้วจะมีความผิดสถานนั้นสถานนี้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้พระภิกษุทั้งหลายมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อประพฤติด้วยดี มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ตนเองก็มีจิตใจสุขสบาย แล้วก็ไม่มีห่วงกังวลอะไรต่าง ๆ ไม่ฟุ้งซ่านก็จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่ที่เรียกว่าบำเพ็ญสมณธรรมได้เต็มที่ ฝ่ายส่วนรวมนั้นเมื่อพระภิกษุทุกรูปประพฤติปฏิบัติดีแล้ว หมู่คณะนั้นก็สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้ามองในแง่ที่เกี่ยวข้องกับญาติโยมประชาชน พระแต่ละองค์ก็ดี สงฆ์ก็ดี ที่มีวินัยก็ทำให้จิตใจของประชาชนแช่มชื่นผ่องใส
หลักของพระศาสนามีอยู่อันหนึ่งว่า เหมือนกับเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องทำจิตใจของประชาชนให้ผ่องใส นี่เป็นเบื้องต้น ความผ่องใสเบิกบานใจนี้ก็เกิดจากเห็นสิ่งที่ดีงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อเห็นสงฆ์งดงามเป็นระเบียบเรียบร้อย จิตใจของญาติโยมคฤหัสถ์ก็แช่มชื่นเบิกบานผ่องใส ต่อจากนั้นพระสงฆ์ก็มีหน้าที่ต่อไปในการที่จะประกาศธรรมคำสั่งสอนให้ญาติโยมคฤหัสถ์นั้นได้เจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป
วินัยกับธรรมก็อิงอาศัยกัน ในเมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยดีแล้ว ตนเองเรียบร้อยดีงามไม่มีความฟุ้งซ่านกังวลก็ตั้งใจศึกษาธรรมะ ตั้งใจปฏิบัติ ก็บรรลุความเจริญในธรรม และก็สามารถเอาธรรมะนั้นมาประกาศธรรมให้ญาติโยมคฤหัสถ์หรือประชาชนนั้นได้รับฟังคำสั่งสอน สามารถประพฤติดีปฏิบัติชอบสังคมก็จะสงบเรียบร้อยยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงประกอบด้วยส่วน 2 อย่าง ที่เรียกว่า ธรรมะกับวินัย ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมานี้ เพราะฉะนั้น พระศาสนาจะยั่งยืนอยู่ก็ด้วยมีธรรมะกับวินัยเป็นของคู่กันไป “วินัย” เป็นพื้นฐานทำให้ธรรมะดำรงอยู่ได้ และ “ธรรมะ” ก็เป็นหลักความจริงที่อาศัยให้พระวินัยนั้นได้เป็นเครื่องคุ้มครองหมู่คณะ หรือว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยก็อาศัยความประสงค์ในแง่ธรรมะนั้นเอง คือความดีงามในทางธรรม แล้วก็เอาความดีงาม หรือความมุ่งประสงค์ที่ดีงามนั้นมาเป็นหลักในการที่จะบัญญัติวินัย เมื่อมีทั้งธรรมและวินัยแล้ว นั่นก็คือความสมบูรณ์ของพระศาสนา
เพราะฉะนั้นในวันนี้อาตมภาพได้แสดงมาในเรื่องธรรมะและวินัย โดยเฉพาะก็ได้เน้นเรื่องวินัยเป็นพิเศษ ก็ขออนุโมทนาโยมที่ได้ปฏิบัติในธรรมะ ได้สนใจศึกษาธรรมะ แล้วก็ในแง่วินัยก็ได้บำเพ็ญศีลซึ่งเป็นวินัยของคฤหัสถ์ แล้วก็ยังได้สนับสนุนพระสงฆ์ ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สามารถดำรงธรรมวินัยสืบต่อไป ก็ขอให้โยมได้มีส่วนแห่งความดีงาม ความเจริญงอกงามในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป และประสบจตุรพิธพรชัยตลอดกาลนาน