แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : วันนี้ก็คุยกันไม่มาก มาบวชแล้วก็มีธรรมะบางเรื่องอยากจะให้แม่นสักหน่อย อย่างน้อยแม่นในความเข้าใจ เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องหลักใหญ่ๆ อีกเรื่องหนึ่งก็เกี่ยวกับการใช้ธรรมะในชีวิตประจำวัน ปกติมีการเข้าใจคลาดเคลื่อนผิดพลาดในสังคมไทย อันนี้ถ้าว่าไปแล้วมันก็มี 3 อย่าง ต้องทวนอีกที หนึ่ง-ธรรมะที่เป็นหลักสำคัญ หลักใหญ่ๆ ซึ่งพอรู้แล้วเห็นโครงรูปพระพุทธศาสนา หรือภาพรวม อย่างนี้ก็สำคัญ สอง-หลักธรรมที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถ้าเข้าใจผิดพลาดแล้วก็มีโทษ ธรรมะของดี แต่ปฏิบัติผิดก็มีโทษมาก อย่างเช่นสมาธิอย่างนี้ ปฏิบัติผิดก็เกิดโทษ หรือว่าพวกเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยเฉพาะอุเบกขา เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด ก็เสียหาย แล้วอันนี้ก็โยงมาที่สาม-ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นอันเดียวกับข้อสองก็คือธรรมะที่คนไทยนำมาใช้พูดถึง แต่ว่ามันเพี้ยนไป คลาดเคลื่อน วันนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงหลักใหญ่ๆ พูดถึงธรรมะที่นำมาใช้กันบ่อย เรารู้ในสังคมไทย แต่รู้โดยบางทีก็เข้าใจไม่ถูก ก็หมวดหนึ่งที่อยากจะย้ำ คิดว่าท่านก็คงเข้าใจพอสมควร ว่าคนไทยนี้ยังคลาดเคลื่อนมาก คือเรื่องพรหมวิหาร 4 ตอนนี้ได้ฟังเทปกันเยอะแล้วใช่ไหม เรื่องนี้ฟังหรือยัง อ้าว ทวนกันก็ได้ พรหมวิหาร 4 ก็แปลว่าธรรมประจำใจของพรหม ก็คือผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่ หรือผู้ประเสริฐนั่นเอง พรหมแปลว่าผู้ประเสริฐ มีจิตใจประเสริฐ มีจิตใจยิ่งใหญ่ คนที่จิตใจยิ่งใหญ่ ใจกว้างขวางอย่างพรหม ก็คือเป็นผู้ที่สามารถที่จะสร้างสรรค์สังคม รักษาสังคม หรือรักษาให้โลกนี้ดำรงอยู่ด้วยดี อย่างพระพรหมสร้างโลก แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ต้องไปรอพระพรหม ขืนไปรอพระพรหม มนุษย์ก็เรื่อยเปื่อย กลายเป็นผู้ทำลายโลก แล้วรอพระพรหมมาสร้าง พระพุทธเจ้าก็บอกว่าเนี่ยเราเองมนุษย์นี่แหละเป็นผู้สร้างสรรค์สังคม แล้วก็ดำรงรักษาสังคม ก็โดยที่ตัวเองมีความสามารถ มีคุณสมบัติ เป็นคนมีคุณภาพนั่นเอง มีความดีงาม เราก็เรียกว่ามีคุณธรรม ทีนี้เรื่องของการที่จะสร้างสรรค์สังคมก็คือการอยู่ร่วมกัน ใช่ไหม การอยู่ร่วมกันก็ต้องมีหลัก หรือคุณสมบัติ ในการที่จะอยู่ร่วม คุณสมบัติหรือคุณธรรมในการอยู่ร่วมกัน หลักง่ายๆ ก็หนึ่ง-ก็คืออยู่ตามปกติ ก็เป็นมิตร มีความปรารถนาดี เห็นคนอื่นเขาอยู่ตามธรรมดาเราก็เป็นมิตร ปรารถนาดีอยากให้เขาเป็นสุข อันนี้เมตตานี้เป็นคุณธรรมพื้นฐาน เพราะเราถือว่าอยู่ตามธรรมดาก็เป็นปกติ ก็เป็นมิตรไมตรี เจอกันก็ปรารถนาดียิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ไปคิดเบียดเบียนทำร้ายเขา ทีนี้ว่าคนไม่ได้อยู่สถานการณ์เดียว ชีวิตเขา สภาพแวดล้อมเขาเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ให้ธรรมะมา ให้เราใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ เวลาคนเขาไปอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ชีวิตเขาตกต่ำเดือดร้อน เขาประสบปัญหาอะไรอย่างนี้ ท่านก็ให้คุณธรรมมาปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้น ก็เปลี่ยนจากเมตตาที่ใช้ในยามปกติ ไปเป็นอะไร ก็เป็นกรุณา กรุณาก็แปลง่ายๆ แปลว่าความพลอยมีใจหวั่นไหวไปกับความทุกของคนอื่น ตัวกรุณานี้คือใจหวั่นไหว เห็นเขาทุกข์แล้ว ทนอยู่ไม่ได้ไม่ใช่นิ่งเฉย นิ่งดูดายซะ อย่างนี้เรียกว่ามีกรุณา เราก็แปลกันว่าสงสาร สงสารก็อยากจะช่วยเหลือเขา เพราะฉะนั้นเมตตานี้ อยากให้เขาเป็นสุขตามปกติ พอกรุณาก็อยากช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์ เพราะฉะนั้นเจ้าตัวกรุณานี่ไปเกี่ยวกับทุกข์ ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความตกต่ำหรือปัญญา อยากไปแก้ปัญหา
อีกสถานการณ์หนึ่งก็คือว่ามนุษย์บางคนก็จะได้ประสบความสำเร็จ มีความก้าวหน้า ทำอะไรต่ออะไรได้ดี เราเห็นเขาก็ถือว่าเปลี่ยนไปอีกสถานการณ์หนึ่ง สถานการณ์นี้เขาเรียกว่าขึ้น ตอนกรุณานี่เขาตกต่ำลง ตอนนี้เขาขึ้นสูง พอเขามีความสุข เราพูดภาษาไทยเรามักจะพูดว่าได้ดีมีสุข ก็ย้ายมาคุณธรรมข้อที่สาม เรียกว่าอะไร มุทิตา ก็แปลว่าพลอยยินดีด้วย พลอยสองอันแล้วนะ กรุณานั่นพลอยมีใจไม่หวั่นไหวไปกับทุกข์ของเขา มุทิตานี่พลอยยินดีกับเขาด้วย ใจร่าเริงเบิกบานแล้วก็พร้อมที่จะสนับสนุน อันนี้มุทิตาก็ทำให้เราสนับสนุนคน สามสถานการณ์แล้ว ตามปกติก็ถือว่าครบแล้วใช่ไหม คนก็มีสามสถานการณ์ หนึ่ง-ปกติ สอง-ตกต่ำ สาม-ขึ้นสูง ก็ครบแล้ว แต่ท่านบอกยังไม่ครบ นี่แหละที่มาถึงข้อที่สี่ซึ่งเป็นข้อที่ยากที่สุด คนไทยนี่นะได้ข้อหนึ่งข้อสองเก่ง เมตตาก็เก่ง กรุณาก็เก่ง แล้วเราก็มาใช้สองข้อนี้เมตตา กรุณา เมตตา กรุณา แต่พอข้อที่สามข้อที่สี่ ตอนนี้ชักไปไหนไม่รู้แล้วทีนี้ มุทิตาก็ไม่ค่อยมุทิตาแล้ว อิจฉาริษยาไปเลย นี่ตรงข้ามใช่ไหม ต้องส่งเสริมสนับสนุนกัน เพราะฉะนั้นการนำพุทธศาสนามาปฏิบัติในสังคมไทยนี้จึงมีปัญหา ข้อที่สามก็เป็นอันว่าบกพร่อง ทีนี้ข้อที่สี่ไม่เข้าใจเลย ไม่รู้เรื่อง รู้แต่เพียง อุเบกขา เฉย นี่ยังไง วางเฉย แยกไม่เป็นว่าที่เฉยนี่เพราะอะไร แล้วมีความหมายอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจ เราเฉย ก็หมายความว่าใครจะเป็นยังไงก็เฉย ใช่ไหม อย่างนี้เฉยโดยไม่ได้มีความรู้ความคิดอะไร ก็เฉยไปเฉยๆ เฉยโดยไม่รู้นั่นเอง เฉยโดยไม่รู้เรื่องรู้ราว สักแต่ว่าเฉย ท่านเรียกว่าเฉยโง่ เพราะฉะนั้นใครเป็นอย่างนี้ต้องไปเติมให้เขา อย่าไปพูดเฉยๆ ต้องเติมว่าเฉยโง่ เฉยไม่รู้เรื่อง ก็เฉยโง่ เฉยเมย เฉยไม่เอาใจใส่ เฉยที่เป็นอุเบกขา คือเฉยด้วยปัญญา เฉยด้วยปัญญายังไง คือว่าทำไมจึงเฉย เฉยในตัวนี้แปลว่าเฉยมอง ไม่ใช่เฉยเมิน หรือเฉยเมย เฉยมอง เพราะอะไร ท่านบอกว่าอุเบกขามาจากคำว่า อุ-ปะ-อิ-ขะ อิ-ขะแปลว่ามองดูอยู่ อุ-ปะแปลว่าใกล้ๆ มองดูใกล้ คอยดูเพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ใช่สถานการณ์ที่เราจะเข้าไปยุ่มย่าม แทรกแซง เช่น เขาจะต้องรู้จักรับผิดชอบตัวเอง เช่นพ่อแม่อย่างนี้ เวลาไหนที่ลูกควรจะรับผิดชอบตัวเอง เฉยมองก่อน อย่าเพิ่งเข้าไปยุ่มย่ามแทรกแซง ไปทำให้อะไรเนี่ย เอาแต่เมตตา กรุณา มุทิตา คอยรักลูก ทำให้อย่างนี้ ลูกจะหัดเดิน อุ้มท่าเดียว กลัวล้มใช่ไหม นี่กลัวเจ็บ ลูกก็เลยเดินไม่เป็น ลูกจะทำแบบฝึกหัด ทำการบ้าน กลัวลูกปวดสมองว่างั้นนะ ก็เลยไปทำแทน แล้วลูกจะทำเป็นไหม ไม่เป็น ฉะนั้นตอนนี้อะไรที่เขาจะต้องฝึกหัดรับผิดชอบตัวเองเนี่ย ตอนนี้พ่อแม่เฉยมอง เฉยมองดูว่าเขาทำได้ไหม แล้วคอยเป็นที่ปรึกษา คอยแนะ แล้วก็ดูให้เขาทำ สามข้อแรกนี่ทำให้ แต่ที่สี่นี่ดูให้เขาทำ ใช่ไหม ดูให้เขาทำเราก็ไม่ใช่ทิ้งนะ เราไม่ได้ทอดทิ้งเลย อันนี้คือข้อที่มันรักษาสมดุล แล้วทำให้ลูกหรือคนอื่นนี่พัฒนาตัว ถ้าหากว่าพ่อแม่ใช้แต่lข้อแรกเนี่ย ลูกจะไม่พัฒนา ทีนี้สามข้อแรกมันไม่ต้องใช้ปัญญามาก ใช้ความรู้สึก หมายความว่าพ่อแม่รักลูกใช่ไหม ฉะนั้นก็พร้อมอยู่แล้ว ลูกอยู่เป็นปกติก็รักอยู่แล้ว พอลูกมีความทุกข์ พ่อแม่ก็ต้องเดือดร้อน กรุณา ทีนี้ลูกได้ดี สอบได้ดี พ่อแม่ก็ดีใจ ความรู้สึกมาง่าย ถ้าเป็นคนอื่นเราก็ต้องพัฒนาความรู้สึกนี้ที่เป็นความรู้สึกที่ดี ถึงยังไงสามข้อนี้เป็นด้านความรู้สึก ส่วนข้อที่สี่นี่ต้องอาศัยความรู้ เพราะฉะนั้นข้ออุเบกขามันอยากตอนที่ต้องอาศัยปัญญา ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้ก็ใช้แต่ความรู้สึก ทียี้พอข้อที่สี่ก็จะใช้ความรู้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าเรื่องนี้ลูกเขาจะต้องรับผิดชอบ จะต้องฝึกต้องหัด ฉะนั้นเราอย่าไปทำแทน แล้วดูว่าเขาทำได้ไหม ทำถูกหรือไม่ถูก แล้วเราก็ไปคอยแนะ อย่างนี้ลูกก็จะพัฒนาได้ดี นอกจากจะไปคอยดูแล้วก็คิดให้ด้วยว่าลูกจะเจริญได้ดี ต่อไปข้างหน้าต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง จะต้องเก่งอะไร หาแบบฝึกหัดมาให้ทำเลย แล้วก็คอยดู แล้วก็คอยแนะนำ เป็นที่ปรึกษา อย่างนี้อุเบกขา เป็นข้อที่จะทำให้ลูกพัฒนา ถ้าพ่อแม่คนไหนเก่งในอุเบกขานี้ ลูกจะเก่งมาก ถ้าพ่อแม่คนไหนหนักในสามข้อแรก ลูกจะอ่อน เพราะฉะนั้นท่านก็ให้สมดุล ลูกได้สามข้อแรกชีวิตก็อบอุ่น มีความอ่อนโยน ใช่ไหม ดี แต่ถ้าไม่มีข้อสี่ อ่อนโยนจะกลายเป็นอ่อนแอ แล้วก็จะตามใจตัวเอง เรียกร้อง พอมีข้อสี่ก็จะมีสมดุล ทำให้เขาเนี่ย มีความเข้มแข็ง ฝึกหัดทำอะไรรับผิดชอบตัวเองได้ ที่ท่านสอนมาอย่างนี้ มันก็เป็นไปตามหลักความจริง คือสามข้อแรกเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ และต้องมีความรู้สึกที่ดี มนุษย์อยู่ร่วมกัน เรามีใจรักกันได้ มนุษย์มีความรู้สึกนี่ ใช่ไหม แล้วก็มีการช่วยเหลือกันได้ แต่ทีนี้มันมีอีกด้าน ชีวิตของมนุษย์นี่คืออย่างที่บอกแล้ว คนนี้มันแบ่งเป็นสองด้าน หนึ่ง-เป็นบุคคลอยู่ร่วมผู้อื่น ท่านเรียกว่าบุคคล ทีนี้คนอีกด้านหนึ่งเป็นชีวิต ชีวิตนี้เป็นธรรมชาติ ใช่ไหม ธรรมชาตินี่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของเหตุปัจจัย เป็นไปตามธรรมดาของมัน มันไม่ได้เอากับใคร ธรรมชาติมีความรู้สึกไหม มีไหมความรู้สึก ไม่มี เมื่อธรรมชาติไม่มีความรู้สึก มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ มันไม่มาคำนึงถึงคน ฉะนั้นเราจะต้องรู้มัน แล้วทำให้ถูก แล้วทำให้ถูกตามเหตุปัจจัยของมัน เช่นการปฏิบัติต่อสุขภาพร่างกายของเรา ชีวิตของเราก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูก เราไม่รู้เข้าใจ เราทำผิด เราก็เกิดโทษตัวเอง ฉะนั้นในแง่ที่เป็นบุคคลนี่เราก็มีเมตตา กรุณา มุทิตา อยู่ร่วมกัน ด้วยดี แต่ในแง่ที่เป็นชีวิต เป็นไปตามกฎธรรมชาติ อันนี้จะต้องรู้ความจริงว่าร่างกายของเราก็ตาม จิตใจของเราก็ตาม อย่างที่เคยยกตัวอย่างนะ ร่างกายของเรา พ่อแม่มาย่อยอาหารแทนเราได้ไหม ไม่มีทาง ใช่ไหม หรืออย่างปัญญาความรู้นี่ พ่อแม่มาคิดให้แทนได้ไหม รู้แทนได้ไหม ไม่มีทาง ใช่ไหม ฉะนั้นในแง่นี้ ทั้งรูปธรรมนามธรรมที่เป็นชีวิต เป็นกฎธรรมชาติ มันต้องรู้ ต้องศึกษาด้วยตนเอง ต้องฝึก พ่อแม่มาทำให้ไม่ได้ ตอนนี้ถ้าพ่อแม่รู้ด้วยปัญญาก็บอก ฉะนั้นชีวิตต้องฝึกลูก ฝึกให้เขารับผิดชอบตัวเองได้ รับผิดชอบชีวิตของเขาได้ เขาต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ไม่เข้าใครออกใคร และไม่มีความรู้สึกใยดีอะไรทั้งนั้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้นนี่แหละคือการที่จะต้องใช้อุเบกขา แล้วก็การที่มีความสมดุล ก็ทวนอีกทีว่าคนเราแต่ละคนเนี่ย มีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นบุคคล อยู่ร่วมสังคมมนุษย์ ให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา ต่อกัน ความรู้สึกที่ดี อีกด้านหนึ่งเป็นความคิดที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ทีนี้เมื่อมนุษย์อยู่ในกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง-ต้องรู้ สอง-รู้แล้วปฏิบัติให้ถูกตามนั้น ใช่ไหม ไม่ต้องเอาความรู้สึก ตอนนี้ต้องเอาความรู้ พอทำด้วยความรู้ เข้าใจ ทำถูกต้อง ผลเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยนั้น ทีนี้คนที่ไม่ฉลาดเอาแค่ความรู้สึกก็ไม่พัฒนาแล้ว ก็แย่ นอกจากนั้นก็คือว่า เหนือขึ้นไปอีก เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกัน ความจริง กฎธรรมชาติมันมาถึงความเป็นไปของโลกมนุษย์ของสังคมด้วย มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ดีต้องอยู่ภายใต้ความจริงของเหตุปัจจัย คือธรรมะ หลักความจริงของสิ่งทั้งหลาย ถ้ามนุษย์ไม่รักษา แม้แต่สังคมนี้ก็จะปั่นป่วน เช่นกฎธรรมชาติ ความจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วก็กฎนั้นเรารู้ความจริงของกฎธรรมชาติเราก็วางเป็นหลักเกณฑ์ของสังคม ทีนี้หลักเกณฑ์ของสังคมนี้เราก็เรียกว่าธรรมะด้วย อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนวิชาธรรมะ ในที่นี้เราหมายถึงหลักธรรม หลักการในหมู่มนุษย์ ได้แก่กฎหมาย เป็นต้น ทีนี้พวกกฎเกณฑ์กติกาอะไรต่างๆ ที่มนุษย์วางกันไว้ ที่รักษาสังคมนี่ มนุษย์ก็มีหน้าที่ด้านหนึ่งก็จะต้องรักษาคน อยู่ร่วมกันให้ดี ใช่ไหม อีกด้านหนึ่งมนุษย์จะอยู่ได้ดีต้องรักษาธรรมด้วย จะรักษาคนอย่างเดียวไม่ได้ ตอนนี้แหละอุเบกขาก็มาอีก ถ้าเขาอยู่ปกติ มีเมตตาไม่ตรี พอเขาทุกข์เดือดร้อนก็มีกรุณาคอยช่วยเหลือ พอเขาสำเร็จทำดีก้าวหน้า ส่งเสริม ทีนี้ถ้าการที่เขาได้ดีมีสุข หรือเขาปฏิบัติผิดตกต่ำเกิดปัญหา มันเป็นการละเมิดต่อธรรมะ กฎหมายกติกาสังคม ตอนนี้จะไปช่วยเรื่อยเปื่อยไม่ได้แล้ว นี่มนุษย์ต้องรักษาธรรมะด้วย เพราะว่าสังคมส่วนรวมจะอยู่ได้ด้วยตัวธรรมะ หลักเกณฑ์กติกา หลักความจริงต่างๆ เหล่านี้ หลักความถูกต้อง ความเป็นธรรม ทีนี้มนุษย์ก็ต้องดูว่า ถ้าหมอนี่มันประพฤติผิดละเมิดธรรมะแล้ว ต้องดูก่อน จะเอาแต่กรุณา มุทิตา เจ้านี่ไปลักขโมยเขามาสำเร็จได้เงินมา 10,000 จะไปส่งเสริมได้ไหม นี่มุทิตา แค่ความรู้สึกใช้ไม่ได้แล้ว ตอนนี้ต้องมาข้อที่สี่ อุเบกขา หยุด อุเบกขาแปลว่าไม่ขวนขวาย ไม่ขวนขวายที่จะไปช่วยเหลือสนับสนุน ต้องหยุดแล้วต้องใช้ธรรมะมาปฏิบัติ ในกรณีก็คือรักษาธรรม ใช่ไหม สามข้อแรกนี่รักษาคน เมตตา กรุณา มุทิตา ข้ออุเบกขา รักษาธรรม ใช่ไหม ซึ่งใหญ่กว่า รักษาคนแต่ละคนๆ อยู่กันได้ แต่พอธรรมะนี่รักษาโลกมนุษย์ รักษาโลกมนุษย์ รักษาสังคมทั้งหมด ก็เลยต้องเอาธรรมะไว้ ฉะนั้นถ้าอย่างนี้ก็สมดุล ใช่ไหม ถ้าเป็นเรื่องธรรมดา เขาไม่ได้ทำเสียหายอะไร เขาตกต่ำเดือดร้อนก็กรุณา ถ้าหากว่าเขาทำดีก็ส่งเสริม แต่ถ้าเกิดแกไปได้ดีมา ใช่ไหม โดยไม่ถูกต้อง โดยละเมิดธรรมะ เราก็หยุด แล้วก็ว่ากันไปตามธรรมแล้วทีนี้ อุเบกขานี่คือรักษาธรรม ว่ากันไปตามธรรม ว่าไปตามกฎเกณฑ์กติกา หลักความชอบธรรม เป็นธรรม หลักความถูกต้อง นี่แหละโลกมนุษย์ก็อยู่ได้ด้วยสี่ข้อ ข้อสี่นี่ยากที่สุด เป็นอันว่าแยกได้แล้วนะ สามข้อแรกรักษาคน ข้อที่สี่รักษาธรรม แล้วสามข้อแรกหนักในความรู้สึก ข้อที่สี่หนักในความรู้และปัญญา ใช่ไหม นิมนต์
พระผู้ฟัง : แล้วถ้าเกิดว่า บุคคลนั้นได้ผลประโยชน์มาโดยผิดกฎหมาย แล้วจะใช้อุเบกขาในการจัดการใช่ไหมครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อุเบกขา คือไม่ไปสนับสนุน ไม่ไปช่วย คือต้องดูว่าเรื่องนี้ธรรมะจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ความถูกต้องจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วใครมีหน้าที่ปล่อยให้เขาดำเนินการ ใช่ไหม ไม่ใช่ไปเที่ยวยุ่มย่าม ไปขัดขวาง ไปแทรกแซง ถ้าเราไปช่วย เราก็ไปแทรกแซง กระบวนการยุติธรรม ความเป็นธรรมเขาเสียหมด ทีนี้ก็ดูสิ ตอนนี้พอถึงธรรมะ มันก็จะมีเลยกระบวนการของธรรมะมา ใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ใครมีหน้าที่จัดการยังไง นี่เราอย่าไปแทรกแซง ปล่อยให้กระบวนการมันดำเนินไป
พระผู้ฟัง : บทลงโทษมี
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อะไรก็แล้วแต่ว่าไปตามนั้น กระบวนการของมนุษย์ต้องเก่งสิ เรื่องปัญญาอะไรนี่เขา ก็แล้วแต่มนุษย์จะต้องวางไว้เลย กระบวนการยุติธรรมเป็นต้น จะดำเนินการยังไงๆ นี่คือตัวถูกต้องแหละ
พระผู้ฟัง : แล้วถ้าอย่างในปัจจุบันที่กฎเกณฑ์มันบิดเบี้ยว มาตรฐานมันบิดเบี้ยวล่ะครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ถ้าพูดกว้างๆ ก็สังคมไทยมันข้อที่สี่ไม่เป็น เอาแต่ข้อที่หนึ่ง สอง สาม เอาหนึ่ง สอง สามไม่ค่อยถึง ใช่ไหม ถ้าสามก็คือช่วยพวกคนที่เป็นพวก สนับสนุนพวก ใช่ไหม ก็เสียหมด ข้อที่สี่ไม่มา ฉะนั้นสังคมประเภทนี้จะทำให้คน หนึ่ง-อ่อนแอ สอง-คนชอบพึ่งพา ไม่พึ่งตนเอง ก็อ่อนแอกับพึ่งพามันก็ไปด้วยกันนั่นแหละ เพราะพึ่งพาก็อ่อนแอ สาม-เสียความเป็นธรรม สังคมที่หนักในเมตตา กรุณา แม้แต่มุทิตา เราขาดอุเบกขา หนึ่ง-อ่อนแอ สอง-พึ่งพา สาม-เสียความเป็นธรรม ทีนี้ตรงข้าม บางสังคมนี่ข้อหนึ่ง สอง สาม อ่อน ไปหนักข้อสี่ อุเบกขา ตัวใครตัวมัน ข้าไม่เอาด้วย แกทำแกเอง ใครแข็งใครรอด ไม่ช่วย สังคมแบบนี้ หนึ่ง-เข้มแข็ง รักษาตัวได้ แล้วก็ต้องอยู่ด้วยกฎกติกา ถ้ากฎกติกาไม่มี อยู่ไม่ได้สังคมนี้ ก็เลยรักษากฎกติกาได้ดี ข้อที่สี่ ก็เพราะว่าเมื่อตัวใครตัวมันแล้วก็ต้องเอากฎกติกามาเป็นบรรทัดฐานใช่ไหม แล้วก็ว่ากันไปตามกฎกติกา แกจะทำยังไงก็เรื่องของแก แต่แกอย่ามาละเมิดกฎก็แล้วกัน ถ้าละเมิดกฎเมื่อไหร่ ฉันจัดการทันที นี่สังคมอุเบกขา แต่อุเบกขาส่วนมากจะเป็นอุเบกขาโง่ คือหมายความว่าเฉยโง่ คือไม่เอาเรื่องเอาราว เป็นแต่เพียงตั้งกฎกติกาไว้ แล้วแกเป็นไงเรื่องของแก แล้วก็จัดการไปเลย เป็นไงพอจะเห็นไหมสังคมแบบนี้ สังคมไหนหนักในเมตตา กรุณา สังคมไทย สังคมไหนหนักในอุเบกขา อเมริกาฉะนั้นคนอเมริกานี่จะเข้มแข็ง ใช่ไหม เพราะว่าต้องดิ้นรนเอง ตัวใครตัวมัน เพราะฉะนั้นต้องแข่งขัน ใครเข้มแข็ง แข่งขันเก่ง ชนะ อยู่รอด ก้าวหน้า แล้วกฎกติการักษาได้ดี ใช่ไหม เพราะมันอยู่ได้ด้วยกฎกติกา ถ้ามันไม่มีกฎกติกา สังคมนั้นก็หมดเลย เหลวเละเลย มันจะเป็นเอง สังคมแบบนั้นมันจะเรียกร้องกฎกติกาเองเลย เพราะว่าเมื่อไม่ช่วยกันแล้ว มันก็จะเล่นงานกัน ใช่ไหม จะแข่งขัน มันก็จะเอาเปรียบกัน มันก็ต้องตั้งกฎกติกามาเป็นเกณฑ์สำหรับกันไว้ ไม่ให้มาเอาเปรียบ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นสังคมแบบนั้นมันเกิดจากธรรมชาติเรียกร้อง เขาเรียกว่าสังคมมาจากกฎป่า กฎป่าก็หมายความว่าก็นั่นแหละใครแข็งใครรอด พอเห็น ท่านสงสัยอะไรไหม
พระผู้ฟัง : เป็นคำถามที่ท่านได้ตอบไปแล้ว มีข้อสังเกตขึ้นมาว่าเมืองไทยที่มีเรื่องของเส้นสาย ก็เพราะว่าเราใช้เรื่องเมตตา กรุณา มุทิตาแค่นั้น แต่ไม่หยุดเมื่อควรจะวางเฉย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อุเบกขาไม่รู้เรื่องเลย ถ้ามีก็เฉยโง่ไปเลย เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยเมย เฉยเมิน แล้วก็เนี่ยเฉยมอง เฉยเมย เฉยเมิน
พระผู้ฟัง : คือในลักษณะของอุเบกขา แบบอเมริกา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อุเบกขาโง่ อุเบกขาเฉยโง่ คือไม่ได้เอาใจใส่กันหรอก เฉยเมย แต่ว่าปล่อยว่าตัวใครตัวมัน ฉะนั้นต้องดิ้นรนเอาเอง ที่นี้เพราะว่าดิ้นรนเอา ใครเก่งก็เอาได้มาก ก็ต้องกลัวการเอารัดเอาเปรียบ คนที่มันเก่งมันก็จะเอารัดเอาเปรียบคนอื่นใช่ไหม ก็ต้องตั้งกฎกติกามากันไว้ ก็ต้องอยู่ด้วยกฎกติกา ใช่ไหม ก็เข้มแข็งและรักษากฎกติกาได้
พระผู้ฟัง : อย่างนี้ก็ต้องพยายามพัฒนาปรับปรุงเรื่องกติกาของหมู่ชนให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ต้องพัฒนาจิตใจคนแล้วก็ตั้งกฎกติกาให้ดี ให้เป็นธรรม ให้กระบวนรักษาความเป็นธรรมนี้ดำเนินไปด้วยดี มันต้องอยู่ที่คนด้วยใช่ไหม อย่างถ้าคนมันไม่เอาอุเบกขา ไม่รักษาธรรมะ มันเห็นแก่คนอย่างเดียว เห็นแก่บุคคลที่รักที่เข้าเป็นพวก มันก็ไม่เข้าในข้อรักษาความเป็นธรรม เพราะอุเบกขามันไม่มา มันก็อยู่แค่หนึ่ง สอง สาม ใช่ไหม มันก็จะไปสนับสนุน เอื้อโอกาสให้กับพวกอย่างเดียวเลย ความเป็นธรรม กฎเกณฑ์กติกาจะตั้งยังไง ไม่เอา สังคมเราก็มีนะ กฎกติกาน่ะ ถูกไม่ถูก แต่มันไม่เอา ถูกไม่ถูก นี่แหละ เพราะว่าจิตไม่มีอุเบกขา
พระผู้ฟัง : คือในเรื่องคนที่ประสบความสำเร็จเนี่ย แล้วเราก็อยากจะสนับสนุนเนี่ย มันอยู่ในส่วนของ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มุทิตา พระพุทธเจ้าให้ไว้ครบ เข้าใจนะ เข้าใจดีหรือยังหลักเนี่ย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
พระผู้ฟัง : คืออย่างลูกนักการเมืองที่อยู่หน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงนี้ คงจะเป็นตัวอย่างที่ดี
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นี่แหละ ตั้งแต่เลี้ยงดู ก็บอกแล้วไง เมตตา กรุณา มุทิตา อย่างเดียว อุเบกขาไม่มานี่ เลี้ยงลูก หนึ่ง-ลุกแทนที่จะเกิดความรักใคร่ผู้อื่น เป็นมิตร กลายเป็นเรียกร้องเลย เมตตากลายเป็นตามใจ บอกแล้วไงเมตตาไม่ใช่ตามใจใช่ไหม เมตตาคือรักปรารถนาดี แต่ว่าต้องคุมด้วยอุเบกขา ใช่ไหม อุเบกขาจะยั้งว่าเกินขอบเขตแล้วนะ เกิดขอบเขตความรู้สึก ต้องเอาความรู้ปัญญามาคุมไว้ ถ้าหากว่าเกินไป รักเขา ใช้ความรู้สึกมากเนี่ย มันจะไม่อยู่กับความจริง ความถูกต้อง เสียหลัก ฉะนั้นคนที่ไม่ใช้ข้ออุเบกขา เอาปัญญาความรู้มาคุม ก็เตลิดไปในข้อตามใจ เพราะตามใจเนี่ย เด็กแทนที่จะเกิดคุณธรรม คือความปกตินี่ถ้าเรามีเมตตาใช่ไหม เด็กก็เป็นมิตรด้วย ความรู้สึกที่ดีก็เกิด ก็จะรู้จักรักผู้อื่น แต่ทีนี้พอตามใจๆๆๆ ไป คราวนี้ไม่แล้ว เอาใจตัวเองเลย เรียกร้องอย่างเดียว ต้องให้คนอื่นมาตามใจฉัน คราวนี้แทนที่จะรักเพื่อนมนุษย์ ไม่รักแล้ว แกต้องยอมฉันอย่างเดียว ต้องเอาตามใจฉัน ใช่ไหม นี่มันไม่สมดุล มันเสียไปหมดเลย อันนี้นอกจากว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อครอบครัวต่อลูกเป็นต้น ต่อไปในสังคมนี่เสียเลย ใช่ไหม ระบบอุปถัมภ์ ระบบเห็นแก่พวก ระบบเอาแต่คนที่ตัวจะรัก หรือเป็นคนของตัวเองเนี่ย มันก็มา สังคมไทยก็เป็นสังคมหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของการที่ขาดอุเบกขา แล้วก็ไม่ค่อยยอมสร้างความเข้าใจด้วยนะ อุเบกขาเนี่ย แล้วก็นึกแต่อุเบกขาเฉยเลย ไม่รู้เรื่อง เฉยเมย เฉยเมิน เฉยไม่เอาใจใส่ ฉะนั้นต้องเน้นกันให้มากอุเบกขา ชัดหรือยังล่ะ
พระผู้ฟัง : ขอคำอธิบายอีกครั้งนะครับว่า ถ้ากรณีที่เราเห็นความไม่เป็นธรรม เราในฐานะคนไทย อุเบกขา คือคนไทยส่วนใหญ่ก็จะ มันก็ปล่อยเขาทำไป
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ไม่ อุเบกขาอย่างนั้น เฉยโง่ ไม่ใช่เฉยใช้ปัญญา คือหมายความว่าต้องให้กระบวนการที่จะให้เกิดความเป็นธรรมเนี่ย ดำเนินไปตามกระแสธรรม ไม่ใช่ว่าเอาตัวความรู้สึกเป็นหลัก อย่าเอาความรู้สึกเป็นหลัก เอาความรู้หรือปัญญาเป็นหลัก ทีนี้ความรู้หรือปัญญาเนี่ย มันจะดำเนินไปได้โดยที่ต้องมีความสมดุล คือตัวเองต้องวางตัวเป็นกลางก่อน อุเบกขาก็คือวางตัวเป็นกลางนั่นละที่จริง ทางพระท่านไม่อธิบายเป็นเฉยหรอก คำว่าเฉยเราเอามาจากคำว่าไม่ขวนขวาย ไม่ขวนขวายที่จะไปช่วยคนผิด แต่แปลจริงๆ ท่านแปลว่าเป็นกลาง ความเป็นกลาง วางตัวเป็นกลางเพื่อให้ดำเนินไปตามความจริง ความถูกต้อง กระบวนการของเหตุปัจจัย ก็เนี่ยกระบวนการของธรรมะมันมีแล้วใช่ไหม ดำเนินไปตามนั้น อย่าเอาความรู้สึก เข้าใจนะ วันนี้ก็คงจะเอาข้อพรหมวิหารนี่ก็พอแล้วนะ ถ้าชัดแล้วก็ใช้ได้ หนึ่ง-หมวดนี้สำคัญ เพราะว่าสังคมไทยเราพูดถึงกันมาก เลี้ยงลูกเราต้องให้ได้
พระผู้ฟัง : เกี่ยวกับเรื่องเลี้ยงเด็กเนี่ยครับ ผมมีลูกอยู่สองคน จากประสบการณ์ของผม เป็นลูกผู้ชายทั้งสองคน คนแรกจะงอแง ผมก็เฝ้าสังเกตดู จะแย่แน่ต่อไปในอนาคต พออายุสัก 8-9 ขวบ ผมก็ให้ฝึก เอากีฬาเข้าแทรกไปเลย เพื่อไม่ให้มีช่องว่างในเวลาที่เขาเสร็จจากเรียน ผทก็เอาไปฝึกเอากีฬาเข้าไปเลย จนกระทั่งในที่สุดให้เขาแข่งเลย เขาแข่งขันด้วย ไปจนกระทั่งไม่มีเวลาที่จะไปเที่ยวไปอะไรกับสังคม ไม่ทราบจะถูกไม่ถูกนะ แทบจะไม่ได้สังคมกับใครเลย เข้าสนามเล่นกีฬา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ต้องระวังเหมือนกัน อย่าให้เสียดุล คือมันก็ต้องให้ครบทั้งสี่ข้อ แต่อย่างน้อยความสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่นี่ได้แล้ว ช่วยในเรื่องข้อเมตตา กรุณา มุทิตา เพราะพ่อแม่มีความรักอยู่ ทีนี้ถ้าเราแสดงแต่พอดีใช่ไหม มันก็ได้แล้วความรู้สึกจิตใจ แล้วก็เด็กไปแข่งกีฬาเองเขาก็มีเพื่อน มีผู้เล่นกีฬาด้วยกัน คนที่มาดู เราก็ต้องสอนไปด้วย ไม่ให้เขานึกแต่กีฬาเล่นแข่งอย่างเดียว ต้องให้นึกไปถึงเพื่อนร่วมเล่นด้วย คนที่ดูที่เขาเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้อง ต้องให้เขานึกด้วย แล้วค่อยๆ สอดไป คล้ายๆ ว่าเอากีฬานี้มาเป็นหลัก แล้วก็ให้ส่วนอื่นนี้แทรกเข้าไป ไม่ให้เขามองข้ามนะ ไม่งั้นจิตมันจะเป็นมุ่งแต่อย่างเดียว ดีไม่ดีก็จะมุ่งแต่เอาชนะ ต่อไปก็เป็นจิตใจแบบประเภทที่จะต้องเอาชนะ จะต้องเหนือคนอื่น จะต้องเอาข่มเขา ถ้าเลยเถิดไปจะคิดเอาเปรียบเลย ทำยังไงจะชนะท่าเดียว อย่างนี้แล้วก็เสียเลย ฉะนั้นก็ให้มีตัวนี้ถ่วงดุลไว้ คือความรู้สึกเป็นมิตรไมตรี อะไรต่ออะไรต่อคนอื่น เพราะว่าความคิดที่จะแข่งขันนี่มันเป็นด้านตรงข้ามกัน ต้องให้สมดุลนะ ต้องไปด้วยกัน
พระผู้ฟัง : พอไปถึงระยะหนึ่ง อายุ 16 เขาก็สอบเทียบ ม.6 แล้วเขาก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เก่งในการแข่งขันแล้ว
พระผู้ฟัง : พอเข้ามหาวิทยาลัย เขาบอกขอไม่เล่นกีฬาได้ไหม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : แสดงว่าไม่ได้ติดในกีฬา ชักเบื่อ อาจจะมากไป ก็เรียนได้ ก็ดีแล้ว แต่ว่าทีนี้ในด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์เป็นไง
พระผู้ฟัง : รู้สึกว่าเขาจะสัมพันธ์ได้ดี
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ดีแล้ว อาจจะเป็นได้ว่าตอนเป็นเด็ก เล่นกีฬา มันก็ต้องสัมพันธ์กันกับผู้ร่วมเล่นทีมเดียวกันบ้าง อะไร คนอื่นที่มาดูบ้าง มันเลยไปด้วยกัน พลอยดีไปเลย เพราะว่าบรรยากาศแวดล้อมมันมาเอง แต่ว่าอยู่ที่เขาตั้งท่าทีให้ถูกต้อง ก็คล้ายๆ ว่าหาอะไรมาอย่างที่ให้มันเดินหน้าไปได้ แล้วในเวลาเดินหน้ามีอะไรเกี่ยวข้องก็ปฏิบัติให้ถูก
พระผู้ฟัง : มาที่อุเบกขานะครับ ถ้ากลไกของธรรมในสังคมนี้มันไม่ทำงาน แล้วในคนธรรมดาคนหนึ่งอย่างพวกเราคนหนึ่ง จะต้องดิ้นรนที่จะต้องสู้กับทั้งคนในสังคมที่มีกลโกง ที่มีวิธีการที่ไม่ถูกต้อง แล้วเราใช้กลโกงไปด้วยนี่ผิดไหมครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ผิดสิ ความผิดใครทำมันก็ผิดทั้งนั้น เป็นแต่เพียงว่าบางคนอาจจะทำด้วย เราไม่มีวิธีอื่นที่จะดีกว่านี้ แต่ว่ายังมีความหวังดีอยู่ว่าทำเพื่อแก้เกม แต่ว่าเป้าหมายเราดี คือหมายความว่าเราไม่ได้มุ่งว่าเราจะโกงเรื่อยไป แต่ว่าเรายังคิดวิธีที่ดีกว่านี้ไม่ออก ก็เลยต้องสู้เขาด้วยวิธีนี้ ในขั้นหนึ่งก่อน เพื่อจะก้าวไปสู่การที่จะแก้ปัญหา อย่างนี้ต้องเรียกว่าต้องจัดดีเป็นเกรด คนที่ดีเยี่ยมก็คือเป้าหมายดี และวิธีปฏิบัติก็ดี ทีนี้อันดับเกรดที่ดีน้อยลง ก็คือว่าเป้าหมายดี วิธีปฏิบัติไม่ดี ใช่ไหม พระพุทธเจ้าท่านใช้วิธีวิภัชชวาท คือแยกให้คะแนนเป็นแง่ๆ ไม่ใช่ว่าติทีเดียวตีขลุม หรือว่าติเรือทั้งโกลน ต้องแยกเป็นแง่ๆ แง่นี้เขาดี แง่นี้เขาไม่ดี ทีนี้ถ้าคนที่มีเป้าหมายก็ไม่ดี เจตนาในก็ไม่ดี เป้าหมายมันก็จะเอาเพื่อตัวเองเป็นต้น แล้วก็ใช้วิธีโกง อย่างนี้เรียกว่าร้ายเต็มที ทีนี้บางคนก็เอาแค่ว่าตัวเองมันนึกวิธีอะไรไม่ออก ก็เอาแล้ว เป้าหมายนั้นดี จะแก้ปัญหา แต่ทีนี้ต้องให้ชนะหมอนี่ก่อน เลยใช้วิธีไม่ดี ใช่ไหม อย่างนี้ก็เรียกว่ายังดีที่จุดหมาย วิธีปฏิบัติไม่ดี ทีนี้คนที่เก่งจริงๆ ต้องได้ทั้งเป้าหมายก็ดี วิธีปฏิบัติก็ดี แต่คนอย่างนี้ยากจริงๆ ต้องเก่งจริงๆ ต้องพัฒนาตัวอย่างเลิศเลย ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เตือนใจเราว่าคนที่จะแก้ปัญหาของโลกมนุษย์นี้ด้วยธรรมะที่เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดีงามแท้นั้น ต้องพัฒนาตัวอย่างดีที่สุด ตกลงสรุปว่า เมตตาใช้ในยามปกติ กรุณาใช้ในยามเขาตกต่ำเดือดร้อนมีปัญหา สาม-มุทิตา ใช้ในยามเขาทำดีทำถูกต้องก้าวหน้าสำเร็จ แต่ทั้งหมดนั้นต้องหยุดเมื่อมันจะไปเกี่ยวข้องกับธรรมะ ความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ถ้าละเมิด เอาไม่ได้สามข้อนี้ ต้องใช้ข้อสี่ ข้อสี่ก็คือใช้ความจริงความถูกต้องความดีงาม หลักการ กฎกติกา ใช่ไหม แล้วไม่อยู่แค่ความรู้สึก ต้องก้าวไปสู่ปัญญา แล้วพ่อแม่เลี้ยงดูลูกก็ให้ครบถ้วน เมตตาก็อย่างที่ว่า เขาอยู่ปกติก็เมตตา พอเขาเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย ก็กรุณา พอเขาได้ดี สอบได้ ส่งเสริม สนับสนุน แต่ว่า หนึ่ง-เรื่องใดที่เขาต้องฝึกต้องหัดต้องรับผิดชอบตัวเอง ใช้อุเบกขา คอยดู เฉยมอง แล้วดูจังหวะ แล้วดูว่าเขาอ่อนจุดไหน ทำไม่ได้จุดไหน จะต้องแนะนำปรับปรุงอะไร เป็นที่ปรึกษาให้ ถ้าเราไม่หยุดนะ เราดูไม่ออกว่าเขาขาดตกบกพร่องอะไร ใช่ไหม ทีนี้ หนึ่งก็คือว่าเมื่อเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ฝึกหัด สอง-เมื่อจะรักษาความเป็นธรรม เช่นวินัยในบ้าน เช่นระหว่างลูกด้วยกัน ต้องมีกฎกติกาในบ้าน ใครทำอะไรผิดเป็นผิด ทำถูกเป็นถูก ต้องรับผิดชอบต่อกฎกติกา ใช่ไหม รับผิดชอบต่อกฎกติกได้ถูกต้อง สาม- เมื่อลูกรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว พ่อแม่หยุด ไม่ไปแทรกแซง คือว่าลูกโตแล้ว เรียนจบแล้ว ได้การได้งานทำแล้ว มีครอบครัวแล้ว อย่าไปแทรกแซงวุ่นวายในครอบครัวเขา นี่คืออุเบกขาข้อสุดท้าย เพราะนั้นถ้าพ่อแม่ไม่หยุด เอาแต่รักลูก เขาไปจัดในบ้านเขาใช่ไหม เขามีภรรยา เขามีสามีแล้ว ลูกต้องอยู่อย่างนี้ จัดบ้านอย่างนั้น ด้วยความรักจริงๆ แต่ว่าผิด เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงแล้วเสียเลย ถูกไหม นี่อุเบกขาสำหรับพ่อแม่สามสถานการณ์ ให้ครบ เมื่อลูกจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ฝึกหัด ทำสิ่งที่ควรทำ สอง-เมื่อเขาจะต้องรับผิดชอบต่อความจริงความถูกต้องความดีงาม สาม-เมื่อเขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว นี่ถ้าชาวพุทธคนไทยนะ ปฏิบัติได้ตามนี้ ประเทศไทยสังคมไทยดีแน่ จริงไม่จริง แต่ทีนี้ไม่เข้าใจเลยนี่ ???สอนผิดด้วยใช่ไหม
พระผู้ฟัง : จำได้ว่าอุเบกขา นี่พูดกันว่าวางเฉย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : นี่แหละเฉย เฉยก็เฉยไม่รู้เรื่องด้วย ตอนนี้ชัดยัง เฉยนี่มันต้องไปสัมพันธ์กับธรรมะ เพราะอะไรเราจึงเฉย เพราะว่าจะต้องรักษาธรรม ธรรมทั้งในแง่กฎเกณฑ์กติกาหลักความเป็นจริง หลักการต่างๆ เฉยทั้งในแง่ความจริงของกฎธรรมชาติที่มีต่อชีวิตของเรา ใช่ไหม ซึ่งเราไปก้าวก่ายกฎธรรมชาติ เขาไม่เอาด้วยกับเรา ท่านเรียกว่าไม่เข้าใครออกใคร มีแต่ต้องรู้และทำให้ถูก ใครมีอะไรสงสัยไหมในเรื่องพรหมวิหาร 4 ที่จริงพรหมวิหารมีอีกแง่หนึ่งนะ คือมันเป็นคุณธรรมประจำใจ มันต้องมีภาคปฏิบัติมารับ ภาคปฏิบัติมารับเนี่ยชุดปฏิบัติมันจะ 4 เท่ากัน ใครนึกออกบ้างว่าชุด 4 ที่มารับช่วงออกสู่การปฏิบัติจริงเนี่ย ในสังคมมนุษย์ รับช่วงจากพรหมวิหารคืออะไร ใช่ สังคหวัตถุ 4 นี่ชุดนี้เป็นชุดที่รับช่วงออกสู่สังคม ฉะนั้นเราควรมีให้ครบ คือถ้าว่าตามแปลความหมายให้เข้มงวด กะทัดรัดจริงๆ เนี่ย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่ ยังอยู่ในใจนะ เป็นท่าที แสดงออกต้องออกสู่สังคหวัตถุ ทำไม หนึ่ง มนุษย์จะแสดงออกในสังคมในการอยู่ร่วมกันเนี่ย สังคหะ ท่านแปลว่าประมวล รวบรวม ประสาน ยึดเหนี่ยว คือสังคหะ ก็คือสังเคราะห์นั่นเอง ไทยเรามาใช้สังเคราะห์ ใช้ความหมายพิเศษ คือรวมเข้ามา แต่สังเคราะห์ของเรามีความหมายว่าทำให้เกิดอะไรใหม่ ทีนี้สังเคราะห์ในที่นี่ก็คือประมวล รวมเข้ามาให้คนไม่แตกกระจัดกระจาย เริ่มตั้งแต่ยึดเหนี่ยวใจ สังเคราะห์ สงเคราะห์ ยึดเหนี่ยว ทีนี้ยึดเหนี่ยวให้ประสาน เกิดสามัคคี แล้วให้เกิดเอกภาพ อย่างนี้เรียกว่าสังคหะ ทีนี้สังคหวัตถุก็คือหลัการสังเคราะห์ การสร้างสามัคคี หลักการประสานสังคม ยึดเหนี่ยวจิตใจกัน ทำให้เกิดเอกภาพ ก็แสดงออกจากพรหมวิหาร 4 ข้อ หนึ่ง-มนุษย์เราจะปฏิบัติต่อกันในการที่จะให้อยู่ร่วมกันได้ดีเนี่ย จะต้องมีการให้แก่กัน เมตตาก็มาแสดงออก เรามีความเมตตาปรารถนาดี พ่อแม่รักลูกก็ให้แก่ลูก ใช่ไหม เรารักเพื่อนเราก็มีการให้ แม้แต่เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร ก็มีการให้แสดงน้ำใจกัน อย่างโบราณที่ว่าบ้านใกล้เรือนเคียง ทำกับข้าวอะไรก็แจกกันบ้าง เนี่ยแสดงน้ำใจ แม้แต่เขามาหาก็มีการต้อนรับด้วยน้ำ ด้วยอะไรต่างๆ ทีนี้เขาเดือดร้อน มีความทุกข์ ประสบภัยพิบัติ น้ำท่วม ไฟไหม้ ขาดแคลนปัจจัยสี่ นี่ให้ในยามทุกข์ เรียกว่าให้ด้วยกรุณา เมื่อกี้นี่ให้ด้วยเมตตาใช่ไหม ให้ในยามปกติ เชาทุกข์ให้ด้วยกรุณา ทีนี้ต่อไปเขาทำความดี ขาดแคลนทุน ให้เพื่อส่งเสริม นี่ ทานให้ด้วยมุทิตา ใช่ไหม นี่ครบแล้วสามสถานการณ์ ทีนี้ต่อไปข้อที่สองของสังคหวัตุ ข้อที่หนึ่ง-ทาน ให้ ข้อที่สอง-ปิยวาจา พูดดี พูดด้วยน้ำใจรัก เขาอยู่เป็นปกติ เจอกัน ก็สวัสดี ทักทาย ด้วยความรักใคร่ ต่อไปพอเขาเดือดร้อนตกต่ำ ปลอบโยน ใช้ปิยวาจา แนะวิธีแก้ปัญหา คุณมีปัญหาอย่างนี้ เราก็ไป นอกจากปลอยโยนก็บอกวิธี ฉัมีประสบการณ์เรื่องนี้แก้ยังไง ต่อไปเขาทำความดี หรือทำประสบความสำเร็จ เราก็ใช้ปิยวาจา พูดส่งเสริมสนับสนุน ให้กำลังใจยิ่งขึ้น แล้วไปชักชวนไปพูด อะไรต่ออะไร เกื้อหนุนกันนะ อันนี้ปิยวาจา ใช้ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา สาม-อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ด้วยเรี่ยวแรงความสามารถ มีกำลังร่างกายความสามารถอะไร เวลาอยู่ด้วยกันตามปกติ ก็มาเอื้อเฟื้อกัน ใช่ไหม แม้แต่ว่าเดินไปด้วยกัน คนหนึ่งถือของหนักหน่อย เขาถือไหวแหละ แต่เรามือเปล่า เราก็เอาแบ่งๆ มาช่วยถือให้ อะไรอย่างนี้ใช่ไหม นี่ก็อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือในยามปกติ ด้วยเมตตา สอง-ช่วยบำเพ็ญประโยชน์ด้วยกรุณา คือยามเขาทุกข์มาลำบากเดือดร้อน เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นเขาตกน้ำ เรามีกำลังเราก็กระโดดลงไปช่วย หรือเขาติดไฟอย่างนี้ เข้าไปช่วย คนแก่นี่ลุกไม่ไหวก็ไปพยุง ใช่ไหม พาคนข้ามถนน อะไรต่ออะไรนี่เรียว่าอัตถจริยาด้วยกรุณา ทีนี้อัตถจริยาด้วยมุทิตาก็หมายความว่าเขาก้าวหน้า ทำความดีประสบความสำเร็จ ทำในสิ่งที่ดีงามนี้ เราก็เอาแรงเข้าไปช่วย เอาความสามารถเข้าไปหนุนให้มันประสบความสำเร็จ ก้าวไปดียิ่งขึ้น สมัยก่อนนี้คือช่วยงานวัด อัตถจริยา เวลาเขามีงานวัดก็ไปช่วยจัดช่วยเตรียมอะไรสละแรงงานให้ ทำความดีก็บำเพ็ญประโยนชร์ อันนี้อัตถจริยาด้วยมุทิตา ใช่ไหม อันนี้ข้อสี่ก็อุเบกขา ออกมาที่สมานัตตตา แปลว่ามีตนเสมอ อุเบกขามารักษาความเป็นธรรมนี่ ก็ต้องมีตนเสมอ ใช่ไหม สมานัตตตามีตนเสมอ เสมอภาคกัน หนึ่ง-ไม่ดูถูกดูหมิ่น ไม่เหยียดหยามกัน สอง- ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน สาม-ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง นี่คืออุเบกขาออกที่สมานัตตตา สี่-ร่วมสุขร่วมทุกข์ นี่คือเข้าด้วยกัน คราวนี้ก็พอสมานัตตตา อยู่ร่วมสุขร่วมทุกข์นี้ได้หมด ตั้งแต่เมตตาถึงอุเบกขา รวบยอดจบ นี่ท่านให้ไว้สี่ข้อ สามข้อแรกนี่ยังปฏิบัติต่อกัน ทานให้กัน ปิยวาจา พูดดีต่อกัน อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน สมานัตตตา เข้าคลุกเลย อยู่ร่วมกันด้วยความเสมอภาค ด้วนการร่วมสุขร่วมทุกข์ สุขก็ร่วม ทุกข์ก็ไม่ทิ้ง มีปัญญาก็ร่วมกันแก้ นี่ก็อยู่ดีสิสังคมอย่างนี้ มันมีความเป็นธรรมอยู่ด้วยแล้ว สังคมไหนแม้แต่ช่วยเหลือกัน แต่ถ้าเสียความเป็นธรรมนี่แตกทันที ใช่หรือเปล่า สมานัตตตาก็ตรึงไว้หมดเลย ด้วยอุเบกขา อุเบกขาอยู่ในใจ มีที่สมานัตตตา เสมอภาค ใช่ไหม พระพุทธเจ้าให้ไว้ทั้งคุณธรรมในจิตใจ ทั้งภาคปฏิบัติ ครบหมด ฉะนั้นหลักในพุทธศาสนาจะมาเป็นชุด ไม่ใช่สอนกระจัดกระจายเป็นข้อๆ ทีนี้คนไทยนี่เราชอบเอาธรรมะมาใช้เป็นข้อๆ ก็เสียสิ มันไม่มีระบบ เสียระบบเลย ดุลภาพหมดเลย องค์รวมไม่มี ของท่านนี่องค์รวม บูรณาการ ใช่ไหม สี่ข้อนี่ต้องเข้ามาประสาน ครบเลย เอานะ เป็นอันว่าพรหมวิหาร ต้องต่อด้วยสังคหวัตถุ 4 มีอะไรสงสัยไหม ไม่มี ก็แล้วอย่างน้อยได้ชุดนี้ ช่วยสังคมไทยเยอะเลย ขอให้ช่วยกันจริงๆ ให้เกิดความรู้เข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติ