แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พูดเล็กๆน้อยๆ สติ พูดมาหลายครั้งแล้ว คราวที่แล้วนี่พูดสติโยงไปหา ความไม่ประมาท ก็เลยพูดเรื่องสติกับความไม่ประมาทไว้นิดหน่อยเพิ่มเติม อย่างที่บอกไปแล้วว่า คนเรานี่ย่อมมีความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชีวิต เก็บไว้อยู่ในความทรงจำ ทีนี้ถ้าเราเอาประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจเหล่านั้นมาใช้ก็เป็นประโยชน์ แก่ชีวิตของเรา สตินี่เหละเป็นตัวที่นำเอามาใช้ ถ้าไม่มีสติ ความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านั้น ก็สักแต่ว่าจำไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวสตินี่แหละที่ว่าช่วยให้สิ่งที่ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ ความรู้ ความเข้่าใจทั้งหลาย เป็นประโยชน์ในชีวิตของเรา ในสติก็คอยระลึก เมื่อมีอะไรเกี่ยวข้องที่จะใช้เติมความรู้ หรือประสบการณ์เก่า ให้เป็นประโยชน์ได้โยงกันได้ สติก็ระลึกเอามา เมื่อสติระลีกเอาความรู้นั้น มาแล้ว บางทีก็ใช้ประโยชน์ได้เลย บางทีก็ต้องอาศัยปัญญาที่มาพิจารณา จัดปรับความรู้ หรือประสบการณ์นั้น ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อใช้แก้ปัญหา หรือทำการ ดำเนินการ แก้ไขจัดการ สร้างสรรค์ใหม่ๆ ทีนี้สตินอกจากระลึกเรื่องเก่าๆแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ละเรื่องๆ เช่น เหตุการณ์ในบ้านเมืองในสังคม ความเป็นไปต่างๆ นี่ก็มีผลกระทบต่อ ชีวตของเรา คนที่เราดูแลรับผิดชอบ ครอบครัว ตลอดจนกระทั่งว่า สังคมหมู่คณะที่อยู่ร่วมกัน นี้คนที่มีสติก็จะไม่ปล่อยปละละเลยสิ่งเหล่านั้น ต้องไปจัดไปดึงเอาสิ่งเหล่านั้นมา แล้วก็ให้ปัญญาพิจารณา แล้วมันก็จะไปโยงกับเรื่องความรู้ประสบการณ์เก่าๆ ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา อันนี้ก็เป็นลักษณะที่สติทำงานแล้วก็ทำให้เกิดความไม่ประมาทขึ้น เพราะฉะนั้น สตินี่ก็ทำให้เป็นคนทันต่อเหตุการณ์ การที่ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ใช่หมายความว่าไม่รู้จักปล่อยวาง การปล่อยวางเป็นเรื่องของปัญญา ปัญญารู้เท่าทันก็วางใจได้ถูกต้อง ไม่อยู่ด้วยวามยึดติด แต่ว่าอยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เข้าใจและจัดการให้ถูกต้อง สติมันไปจับ ไม่ปล่อยปละละเลย ต้องแยกให้ได้กับเรื่องการรู้จักปล่อยวาง เดี๋ยวจะบอกว่า เออปล่อยวาง เลยไม่เอาใจใส่อะไรต่างๆ กลายเป็นคนขาดสติมีความประมาทตรงกันข้าม ธรรมะนี่บางทีคนแยกไม่เป็น ทีนี้สตินี่ไม่ปล่อยปละละเลย อะไรเกิดขึ้น จะมีผลกระทบในทางดีทางร้าย คนมีสติก็จับเอามาพิจารณา ถ้ามันจะเกิดผลเสียหาย สถานการณ์นี้ไม่ดี เราจะต้องรีบแก้ไขจัดการ ก็จะได้แก้ไขจัดการ สถานการณ์นี้เป็นโอกาสที่จะทำอะไรให้เกิดผลดีขึ้นมา ก็ไม่ปล่อยทิ้งไป ไม่ละเลย ก็เอาสถานการณ์นั้นมาเป็นโอกาส ทำให้เกิดประโยชน์ นี่เป็นเรื่องของสติทั้งนั้น สติที่ทำงานแบบนี้ นี่เข้าลักษณะที่เรียกว่า ไม่ประมาท และก็เป็นคนที่ตื่นตัวอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นมีพุทธภาษิตแสดงลักษณะของสติอยู่บทหนึ่งว่า สติโลกสมิ ชาคโร แปลว่า สติเป็นธรรมเครื่องตื่นในโลก สติทำให้ตื่นนั่นเอง อันนี้สติที่ทำให้ตื่นนี่ ที่ทำให้เราไม่ปล่อยปละละเลย ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันการ และทำให้รู้จักใช้โอกาสที่เกิดขึ้น ก็จะโยงไปหาความตระหนักรู้ ในความจริงของธรรมชาติ คือ เรื่องของอนิจจัง ตัวสัมปชัญญะ ตัวปัญญา ที่รู้เข้าใจ ความจริงของกฎธรรมชาติที่ไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้แต่ชีวิตของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า จะนอนใจวางใจยังไม่ได้ มีอะไรจะทำก็ต้องรีบทำเสีย ไม่ผลัดเพี้ยน อันนี้ก็เป็นลักษณะความไม่ประมาท มันสัมพันธ์กับเรื่องความตระหนักรู้ใน ความไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับความไม่ประมาทนี่ จะมีเรื่องเกี่ยวกับความไม่เที่ยงเยอะ บางทีก็ปรารภเรื่องความไม่เที่ยงก่อน แล้วก็ต่อด้วยความไม่ประมาท อย่างง่ายๆ ก็อย่างที่จะปรินิพพาน เป็นปัจฉิมวาจา วาจาสุดท้ายที่ตรัสว่า “หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” วะยะธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา นี่คือบอกอนิจจัง อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ก็แสดงว่า จากความไม่เที่ยงต้องมาเตือนให้เราไม่ประมาท หลักไม่เที่ยงกับไม่ประมาท นี่เป็นหลักที่จะต้องโยงมาใช้กันอยู่เสมอ เพราะความไม่ประมาทนั้น จะเกิดจากความรู้ ตระหนักในความไม่เที่ยงนี้เอง เพราะคนที่รู้เรื่องความไม่เที่ยงจะให้นอนใจไม่ได้ อะไรจะเปลี่ยนแปลงไป ยังไงๆนี่ เราจะมัวนอนใจอยู่ยังไง นิ่งเฉยอยู่ยังไง เดี๋ยวมันเปลี่ยนแปลงไป แก้ไขไม่ทัน นั้นทำให้ต้องเร่งรัดต้องนำเอาเหตุการณ์ สถานการณ์ ปัจจัยต่างๆ เอามาพิจารณาแล้วก็แก้ไขจัดการซะ นี่ก็แง่หนึ่ง ทีนี้คนไทยนี่จะใช้เรื่องอนิจจังนี่ผิดในแง่นี้เยอะ คือพอว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง อืม จะทำไงได้ สิ่งทั้งหลายก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป เจริญแล้วมันก็ต้องเสื่อม เดี๋ยวเสื่อมแล้วมันก็เจริญเองแหละ นี่แสดงว่าเป็นคนที่ไม่รู้จักใช้ธรรมะ เป็นคนตั้งอยู่ในความประมาท แล้วก็เข้าใจเป็นว่า เออต้วปฎิบัติถูก รู้จักปล่อยวาง นี่ปล่อยวางอะไร นี่ปล่อยวางแบบนี้คือ ประมาท ปล่อยวางคือปัญญารู้ความจริง ว่าไอ้สิ่งทั้งหลายที่มันเป็นไปแล้วนี่ เช่น พลัดพรากจากกัน ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ รู้ทันแล้วไม่มากระทบต่อจิตใจ นี่คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้ไม่กระทบจิตใจ คนที่ไปยึดมั่นถือมั่น แล้วเกิดเหตุพลัดพรากเป็นอนิจจังขึ้นมา ก็เกิดความทุกข์มาก พอรู้เท่าทันความจริงก็ปล่อยวางได้ หรือไม่ยึดติดถือมั่น ปฎิบัติไปตามปัญญา ให้ตรงจุดนี้เรียกว่าปล่อยวาง ปล่อยวางคือด้วยความรู้เท่าทันและปัญญา และไม่ทุกข์ แต่ว่าตอนที่ปล่อยวางเรื่อง ไม่จัดการนี่แสดงว่าผิด อันนั้นเป็นประมาท ก็ตรงนี้มันซ้อนกันอยู่นิดเดียว ถ้าปล่อยวางในทางจิตใจ ไม่ยึดมั่น ไม่ทุกข์ มันถูกต้องด้วยปัญญา แต่พอเรื่องของปัญหาแล้ว ปล่อยวางไม่ได้ ปล่อยวางกลายเป็นปล่อยปละละเลย ไอ้ปล่อยวางกับปล่อยปละ ละเลย นี่มันคนละตัว ปล่อยวางมันเป็นเรื่องปัญญารู้เท่าทัน ปล่อยปละ ละเลย ก็เป็นเรื่องขาดสติ ไม่ใช้ๆ สติให้เป็นประโยชน์ ก็ตกอยู่ในความประมาท อันนี้ก็ปล่อยปละ ละเลยไม่ได้ เอามาจัดการแก้ไข นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของความไม่ประมาทที่เกี่ยวกับเรื่องของความไม่เที่ยง และความไม่เที่ยงก็ทำให้ต้องกระตือรือล้นขนขวายตื่นตัวอยู่เสมอ ทันเหตุทันการณ์ แก้ไข และดำเนินการจัดการสร้างสรรค์ ให้ทันต่อเหตุการณ์ นี้พอพูดถึงเรื่องความไม่ประมาทและการจัดการกับ???ความไม่เที่ยง ก็เลยโยงต่อไปหากาลเวลา พอมีเรื่องความไม่เที่ยงความเปลี่ยนแปลงเข้ามา ก็มีเรื่องกาลเวลาเพราะว่า เวลาพูดถึงความเปลี่ยนแปลงนี่ เราก็จะพูดถึง ความเปลี่ยนแปลงนั้นในท่ามกลางกาลเวลา หรือว่าพูดถึงกาลเวลาคู่กับ การเปลี่ยนแปลงว่า กาลเวลาผ่านไปก็คือว่าสิ่งทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไป ได้พูดถึงเรื่องวันคืนล่วงไปๆ เพราะสิ่งทั้งหลายก็คืบหน้าเคลื่อนไป อันนี้ก็คือ เรื่องของความไม่เที่ยง นี้ในเมื่อเวลาผ่านไปก็คู่กับความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นเราก็เลยเห็นความสำคัญของกาลเวลา ผู้ไม่ประมาทก็จะต้องถือเรื่องของเวลานี่เป็นสำคัญ ลักษณะที่เห็นความสำคัญ ของกาลเวลา ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ ก็คือไม่ทันเที่ยง ก็ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ มากที่สุด เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธศาสนสุภาษิต อย่างที่เคยยกบ่อยๆว่า อะโม ฆัง ทิวะสัง กะยิรา อัปเปนะ พะหุเกนะ วา เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปป่าว ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง นี่ก็คือการโยงเรื่องกาลเวลามาสู่ ความไม่ประมาท พุทธภาษิตแบบนี้จะมีเยอะ เอาเวลาทั้งชีวิตก็มี เวลาทั้งชีวิตก็หมายถึง เวลาชีวิตของเรานี่ ก็มีแต่ความไม่เที่ยงอยู่เสมอ เราก็ต้องใช้เวลาของชีวิตทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ แคบเข้ามาสั้นเข้ามา ก็แต่ละวัน สั้นเข้าไปอีกแต่ละขณะ คะโว คะโน โวมา ปฎิฆาา??? เวลาขณะหนึ่งๆอย่าได้ล่วง ท่าน???ไปเสีย ใช้เวลาในแต่ละขณะนี่ ให้เป็นประโยชน์ การใช้เวลาแต่ละขณะนี่มันรวมไปถึง การปฎิบัติ และฟอกจิตใจของตนเองอยู่ ซึ่งเหมือนกับเราอยู่นี่ เรามีชีวิตแข่งกับกาลเวลา เพราะว่าเวลาผ่านไป จิตและร่างกาย ทั้งรูปธรรม นามธรรมนี้ มีความไม่เที่ยง เกิด ดับ อยู่เสมอ เมื่อรูปธรรม นามธรรม เกิด ดับ อยู่เสมอ เราก็นับเป็นขณะของกาลเวลา เพราะเราไม่รู้จะนับยังไง เพราะฉะนั้น เราก็ต้องใช้แต่ละขณะนี่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ถ้าสามารถทำให้ทุกขณะนี่ เป็นขณะที่ดีหมด ตกลงว่าทั้งชีวิตก็ดีหมด ตอนนี้ก็เรียกว่า ว่ากันมาถึงแต่ละขณะเลย เห็นจะพอละ ถ้าว่าได้ทุกๆขณะ เรียกว่าขณะหนึ่งนี่ ไม่มีเสียเลยดีหมด ถือว่าทำได้ด้วย เช่นว่าทำจิตแต่ละขณะนี่ให้มันดีหมด พอทำจิตแต่ละขณะนี่ให้ดีก็หมดปัญหา ในที่สุดแล้วก็ต้องมาถึงขั้นนี้ นั่นก็รวมอยู่ในเรื่องความไม่ประมาท คือ อยู่โดยไม่ปราศจากสติ มีชีวิตอย่างมีสติ แล้วก็ถ้าหากว่าแสดงออกในขั้นยากก็อย่างที่ว่า เช่น ไม่ผลัดเพี้ยน เป็นต้น ลักษณะของคนประมาทที่เห็นมาก ก็คือ เรื่องความผลัดเพี้ยน คนที่ผลัดเพี้ยนอยู่ในอำนาจกิเลสขาดสติก็เลยต้องอาศัย เหตุภายนอกมาบีบบังคับ ถูกความกลัว ถูกภัยอันตรายภายนอกมาคุกคาม ก็ผลัดเพี้ยนไม่ได้ ลุกขึ้นดิ้นรนขนขวาย นี่คือ วิสัยของปุถุชน ที่ว่าปุถุชนนั้น เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็ลุกขึ้นดิ้นรนขนขวาย พอผ่านพ้นภัยอันตรายไป ก็นอนสบาย หยุด นี้คนที่ไม่ประมาทก็ไม่ต้องตกอยู่ใต้ภาวะ หรือ วิสัยของปุถุชนอันนี้ จะมีทุกข์ มีภัย มาบีบคั้นคุกคามหรือไม่ ไม่ต้องเกี่ยวข้อง อยู่ด้วยสติ อยู่ด้วยปัญญา อะไรที่มีเรื่องจะต้องทำต้องเกี่ยวข้องต้องจัดการก็ สติจับมาให้ปัญญาดู เห็นว่าสมควรจะทำก็ทำ ไม่ต้องไปนึกว่าถึงเวลาพรุ่งนี้ยังมี มะรืนยังมี ยังอีกนานไม่ต้องไปพูดถึง เอาความสมควรตามเหตุปัจจัยที่เห็นได้ ด้วยปัญญานั้นมาจัดการเลย เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เป็นความไม่ประมาท ที่เกิดจากปัญญาทำงานกับสติ อย่างนี้เป็นความไม่ประมาทที่เป็นตัวจิต ถ้าหากว่าไปถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามแล้วจึงเป็นเหตุจำเป็นบีบคั้น ต้องลุกขึ้น ดิ้นรนขนขวายผลัดเพี้ยนไม่ได้ อันนั้นไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้ เป็นความไม่ประมาทเทียมๆ คือเพราะเหตุจำเป็นมันบังคับ นี้คนธรรมดาเห็นว่า ถ้าจะอยู่อย่างที่ว่า อยู่แบบคนไม่ประมาทเทียม คือ ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคามจึงลุกขึ้นดิ้น ถ้าสบายก็ผลัดเพี้ยนต่อไป ตรงนี้ที่ยากที่สุด มนุษย์ปุถุชนนี่ จะให้ผ่านขั้นนี้แหมยากเหลือเกิน อย่าให้ตอบดีกว่า ถ้าไม่ต้องถูกทุกข์บีบคั้น ไม่ต้องถูกภัยคุกคาม ก็สามารถกระตือรือล้นขนขวาย ทำการได้ ไม่ผลัดเพี้ยนเวลา อย่างนี้ไม่นอนใจไม่ปล่อยปละ ละเลย ตรงนี้ยากมาก ท่านถือว่าแม้แต่ว่าเรากระทำการต่างๆ ด้วยความเพียรพยายาม ประสบความสำเร็จไป เกิดความพอใจทำให้เฉื่อยลง ก็ถือว่าประมาท เช่นอย่าง พุทธพจน์ที่ตรัสเตือน พระอริยะบุคคลเป็นระดับ โสดาบัน สกิทาคามี ได้บำเพ็ญเพียรฝึกตนในไตรสิกขาก้าวหน้ามาก บรรลุธรรม เกิดความยินดี พอใจว่า โอ้นี่ เราได้ประสบความสำเร็จ อาจจะเรียกว่า แก้ไขกิเลส หรือ บรรลุความเจริญงอกงามในไตรสิกขามาได้แค่นี้ เกิดความยินดีพึงพอใจ เรียกว่า เกิดสันโดษขึ้น ก็เฉื่อยลงพระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอเป็นปมาทวิหารี แปลว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทไม่ถูกต้อง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ให้ เดินหน้าต่อ จึงมีพุทธพจน์อยู่ในธรรมบทอยู่คาถาหนึ่ง ที่บอกว่า ถึงแม้จะได้เล่าเรียนเป็นพหูสูตร ถึงแม้จะได้บำเพ็ญสมาธิ ได้สมาธิขั้นสูง ได้สุขขั้นอนาคามี เก่งอย่างนั้นอย่างนี้ตราบใดยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ อย่าได้นอนใจ วิสาสมาปาทิ อัปปะโต อาสวักขะยัง ??? ตราบใดยังไม่สิ้นอาสวะอย่าได้ถึงความนอนใจ นี่พระพุทธเจ้าสอนนัก เรื่องความไม่ประมาท ก็เป็นหลักที่เตือนใจพุทธศาสนิกชน ที่ให้ต้องนำเอา เรื่องสติมาใช้ในการเตือนตนเพื่อให้เร่งร้ด กระตือรือล้น ขนขวายอยู่เสมอ แล้วก็พุทธภาษิตอีกบทหนึ่งก็มารับกันบอกว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญ แม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ว่าแม้แต่ว่าตั้งมั่นอยู่ได้ในกุศลธรรม ก็ยังไม่สรรเสริญ ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียว แต่ความก้าวต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย อันนั้นพุทธภาษิต นี่ก็มาย้ำเรื่องความไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็เดินหน้า ในไตรสิกขาได้ ถือว่าชีวิตคนจะดีงามได้ด้วยการฝึกฝน พัฒนา การที่จะฝึกฝนพัฒนาได้ ก็คือ ดำเนินตามไตรสิกขางอกงามขึ้นในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ความไม่ประมาทก็รับกับไตรสิกขาก็เดินหน้าต่อ เพราะฉะนั้น ธรรมะอะไรมาทำให้นอนใจ ทำให้เพลิน ทำให้หยุด ทำให้สันโดษ ในความหมาย อย่างที่ว่า ท่านเรียกว่าสันโดษในกุศลธรรมเป็นความประมาท ท่านให้สันโดษในวัตถุเสพบำรุงบำเรอ เพื่อจะได้ไม่ลุ่มหลงมัวเมา จะได้เอาเวลาที่สันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอนั้น มาใช้ในการเพียรพยายาม ปฎิบัติกิจหน้าที่ เพราะฉะนั้นถ้ามาเิกิดสันโดษในกิจหน้าที่ในการบำเพ็ญ ความเพียรก็เป็นการประมาท เพราะฉะนั้นสันโดษในกุศลธรรมนี่ผิดเลย เป็นความประมาท อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระอริยะบุคคลที่ไปสันโดษ พอใจในธรรมที่บรรลุว่าเป็น ปมาทวิหารี แล้วก็ธรรมะพวกนี้ท่านก็มันมี เยื้องๆกันอยู่ นิดๆ นึงต้องระวังให้ดี แต่ถ้าจับหลักการได้แล้วไม่มีพลาด คือหลักใหญ่ก็คือ ไตรสิกขา สิกขาก็ฝึกเดินหน้าไปเรื่อยๆในความดีงาม ก็มีหลักธรรมที่โยงไปเรื่องความไม่ประมาทเยอะ พูดไปๆก็เดี๋ยวมีแง่มีมุม แตกออกไปจบซะดีกว่า ก็เอาเป็นว่าให้มีสติดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ก้าวหน้าเรื่อยไป แล้วก็จะไม่มีเสื่อม แล้วก็ถ้าปฎิบัติได้อย่างนี้ก็จะ มีแต่ความเจริญไม่มีเสื่อม แล้วก็ไม่ขัดกับหลักอนิจจังด้วย อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ว่า บางคนก็บอกว่า เอ๊ะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีเจริญแล้วมันก็ต้องเสื่อม เสื่อมแล้วมันก็เจริญได้ นี่ก็ทำให้บางคนนี่ไปตกอยู่ในลัทธิแล้วแต่โชค ลัทธิแล้วแต่โชคก็คือว่า มันกลายเป็นว่าอะไรมันจะเสื่อมก็เสื่อม อะไรมันจะเจริญก็เจริญ เจริญแล้วมันก็เสื่อมเองแหละ เสื่อมแล้วมันก็ต้องเจริญไปเอง เลยอยู่ด้วยความหวังอันเลื่อนลอย แทนที่จะทำเหตุปัจจัย ก็เรียกว่าประมาท ไปคิดแบบนั้นน่ะนึกว่าเป็นพุทธศาสนา พลาดอีกแล้ว เพราะว่า เจริญๆแล้วเดี๋ยวก็เสื่อมอะไรอย่างนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าปล่อยปละละเลย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าปฎิบัติถูกต้องหวังได้แต่ความเจริญไม่มีเสื่อม พอพูดอย่างนี้ก็บอกว่า อ้าว ทำไมขัดหลักอนิจจัง อนิจจังก็เปลี่ยนแปลง ไม่ขัดสิ ไม่ขัด จะบอกว่า ไม่ขัดกันเลย สอดคล้องกันเป็นอย่างดี นี่เหตุผลในเรื่องนี้ก็คือว่า ที่เราเข้าใจผิดว่า เจริญแล้วต้องเสื่อมอะไรนี่ มันเป็นเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับ ถ้อยคำไปหลงในถ้อยคำ คำว่าเจริญนี่ หนึ่งก็คือ เป็นคำที่แสดงความเปลี่ยนแปลงในตัวอยู่แล้ว คำว่าเจริญ ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ คำว่าเสื่อมก็เป็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวของมัน มันไม่ใช่คำประเภทอยู่นิ่งๆ ดังนั้นคำว่าเจริญนี่ ก็หมายถึง ความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง นี่เป็นแง่ที่ ๑ เพราะฉะนั้น คำว่าเจริญหรือคำว่าเสื่อม มีความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เป็นอนิจจังอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้คำอื่น ไม่ต้องๆเปลี่ยนจากเจริญมาเป็นเสื่อมซะที เป็นเปลี่ยนแปลง หรือจากเสื่อมมาเจริญเปลี่ยนแปลงเปล่า เจริญก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมมันก็เปลี่ยนแปลง ทีนี้เปลี่ยนจากเจริญมาเป็นเสื่อมมันก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมมาเจริญก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมหนักเข้าไปอีกก็เปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเจริญยิ่งขึ้นไปก็เปลี่ยนแปลง หนึ่งละคำว่าเจริญหรือคำว่าเสื่อม เป็นคำที่มีความเปลี่ยนแปลงในตัว สอง,คำว่าเจริญและความเสื่อมนี่ เป็นคำพูด ประเภทที่เกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ เกี่ยวกับการสนองความปรารถนา ค่านิยม ที่มนุษย์ตกลงกัน มันไม่ใช่คำกลางๆ อย่างที่พระท่านเรียกว่า ไม่ใช่ คำประเภทแสดงสภาวะความจริงที่ไม่ขึ้นต่อใคร อย่างคำว่าเปลี่ยนแปลงนี่เป็น คำกลางๆ แต่คำว่าเจริญนี่เป็นคำแสดงความหมายที่เกี่ยวกับความปรารถนา ของมนุษย์ คือความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มนุษย์ชอบ เป็นผลดีกับตัวเอง เราก็เรียกว่าเจริญ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่สนองความปรารถนาของตนเอง เราไม่ชอบเราเรียกว่าเสื่อม คำพวกนี้ไม่ค่อยแน่นอน บางทีที่เรานึกว่าเจริญน่ะ แต่เป็นความเสื่อมของคนอื่น นึกว่าเป็นผลดีกับตนเองก็เป็นผลร้ายกับคนอื่น อันนี้บางทีเจริญด้านหนึ่งแต่ไปเสื่อมด้านอื่นไม่รู้ตัว อย่างความเจริญของ สังคมมนุษย์ที่ผ่านมานี่ ที่เราเรียกว่าเจริญน่ะ กว่าจะรู้ตัวว่า ธรรมชาติมันเสื่อมโทรมก็แทบแย่ใช่มั๊ย ในขณะที่มนุษย์สร้างตึกรามบ้านช่อง สร้างบ้านสร้างเรือน ปรากฎว่าในขณะที่บ้านเมืองมนุษย์เจริญนี่ ธรรมชาติแวดล้อมมันเสื่อมตลอดเวลา หมดไปเท่าไหร่ เราไม่ได้มอง เรามองด้านเดียวแบบที่ตัวชอบ เพราะฉะนั้นพร้อมความเจริญมันก็มี ความเสื่อมอยู่ด้วย หรือเป็นเพียงพลิกมองคนละด้านเท่านั้นในเรื่องเดียวกัน เรื่องเดียวกันด้านหนึ่งมองเป็นความเจริญ อีกด้านหนึ่งเป็นความเสื่อม เพราะฉะนั้นคำว่าเจริญหรือเสื่อมนี่เป็นเรื่องเป็นถ้อยคำสมมุติของมนุษย์ เกี่ยวกับการวัดสิ่งที่ตนเองต้องการ หรือว่าเกี่ยวกับค่านิยม นี่ก็เรียกว่า เป็นคำเกี่ยวกับคุณค่า ทีนี้เมื่อเข้าใจรู้อย่างนี้แล้วก็เป็นอันหมดปัญหา คำว่าเจริญหรือเสื่อมก็เลยเป็นคำที่ไม่เชิงเป็นธรรมชาติ เป็นคำที่มักจะใช้ เกี่ยวกับเรื่องสังคมมนุษย์ หรือว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปในชีวิต และสังคมมนุษย์ อันนี้การที่จะเจริญหรือเสื่อมทั้งหมด ก็คืือ ความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง เราต้องการความเจริญเราต้องศึกษาให้ชัดว่า อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์แก่เราอย่างแท้จริง ถ้าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง อันนั้นเป็นความเจริญที่แท้ เพราะฉะนั้นมันก็จะมีปัญหาสำหรับมนุษย์อีกก็คือ การที่จะต้องรู้ให้ชัดว่า อะไรเป็นความเจริญที่แท้จริง หรือบางทีเป็นแต่เพียง ความเสื่อมที่เข้าใจเป็นความเจริญ แต่ที่แท้ก็คือพอพูดให้ชัดก็บอกให้เป็น ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีแก่ชีวิตและสังคม โดยศึกษาให้ชัดอย่าให้พลาด อย่าให้หลงผิด นี้ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ที่เรียกว่า เจริญหรือเสื่อม จะเจริญแท้หรือเจริญไม่แท้ เสื่อมแท้หรือไม่แท้นี่ ทั้งหมดไม่ใช่เกิดขึ้น โดยเลื่อนลอย ก็มาถึงอาการสำคัญอีกอัน คือทั้งหมดนี่จะต้องเกิดจากเหตุปัจจัย เมื่อมันเกิดจากเหตุปัจจัยก็มนุษย์ก็เข้าไปเกี่ยวข้องได้ เหตุปัจจัยหลายอย่าง มนุษย์มีความสามารถ โดยเฉพาะเหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวเอง ที่เกี่ยวกับ การกระทำของตนเอง อันนี้ล่ะที่เราเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง เหตุปัจจัยอะไร ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่เป็นผลดี ที่เราเรียกว่า เสื่อม เราก็ป้องกัน กำจัด แก้ไข อะไรจะเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นผลดี ที่เป็นความเจริญอย่างแท้จริง เราก็เข้าไปสร้าง ไปทำ ไปจับ ให้มันดีขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ประมาท เมื่อทำได้อย่างนี้ ถ้าเรามีปัญญา รู้แท้จริง เราจัดการกับเหตุปัจจัยเหล่านั้นได้ถูกต้อง มันก็เปลี่ยนแปลงไปในทาง ที่เป็นผลดีกับตัวเรื่อยไป ก็เป็นความเจริญได้โดยไม่เสื่อม แต่มันก็คือ การเปลี่ยนแปลงอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อท่านปฎิบัติ ถูกแล้วก็มีแต่เจริญไม่มีเสื่อม มันก็ไม่ได้ขัดกับหลักอนิจจังแต่ประการใด ก็สอดคล้องกันเป็นอย่างดี เพราะว่าเป็นการที่ว่ามนุษย์รู้จักใช้กฎธรรมชาติ หรือความรู้ในอนิจจังนี่ มาทำให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ อันนี้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ คือว่า เอาความรู้ในกฎธรรมชาติ มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของตนเอง ก็เลยมี ๒ ขั้น ก็คือ หนึ่งกฎธรรมชาติ ที่เป็นกลางๆไม่เข้าใครออกใคร เราจะต้องไปรู้มัน แล้วก็ปฎิบัติให้ถูกต้องก็คือเอามาใช้ประโยชน์ สอง ก็คือขั้นที่เกี่ยวกับ การใช้ประโยชน์นั่นแหละ หนึ่งรู้จักกฎธรรมชาติ สองนำมาใช้ประโยชน์ ถ้าใช้ประโยชน์ถูกต้องก็เป็นผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตนก็เป็นความเจริญ อันนี้มีเหตุปัจจัยนี้ เมื่อเราทำถูกต้องก็อย่างที่ว่าก็เจริญได้โดยไม่เสื่อม แต่ว่าบางครั้งเหตุปัจจัยบางอย่างก็อยู่พ้นวิสัยของเรา ก็อยู่ที่ว่าเราจะมี สติปัญญาความสามารถเท่าไหน ที่จะไปรู้แล้วไปจัดการกับมัน ถ้าอย่างไหนที่มันพ้นวิสัย เราก็ต้องยอมรับความจริง แล้วเราก็พยายาม ปรับปรุงตัวเอง พัฒนาตัวเอง??? ถ้าเรามีความสามารถมากขึ้น เราอาจจะไปจัดการกับมันได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้มนุษย์ก็ต้องระวังอย่างที่ว่า มนุษย์ที่พลาดมาในยุคที่แ้ล้วก็คือ มนุษย์คิดว่าตนเองจะมีความสามารถ จนกระทั่งพิชิตธรรมชาติ จัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา แล้วก็ปรากฎว่า มนุษย์นี้รู้ไม่ทั่วถึงระบบของธรรมชาติ เหตุปัจจัยในธรรมชาติมีมากมาย เกินกว่าที่มนุษย์รู้ รู้ไปได้เพียงแค่นี้ ทำไปได้ตามที่ตัวเองรู้ ปรากฎว่า ผลกระทบที่มันส่งต่อกันไปในระบบของธรรมชาติที่กว้างไกลนั้น ไม่รู้อีกเยอะแยะ ก็เลยกลับมาเป็นผลร้ายกระทบตนเองก็เกิดปัญหา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนเสมอให้ไม่ประมาท แต่การไม่ประมาทนี้ เราจะทำการด้วยความรอบคอบด้วยการที่ใช้ปัญญาอย่างเต็มที่ ศึกษาเหตุปัจจัยแล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ แล้วก็จะตามไปแก้หรือ ป้องกันผลร้ายได้ดีขึ้น แล้วก็สร้างสรรค์ความเจริญได้สำเร็จอย่างที่ว่า ถ้ามนุษย์ทำได้ดีอย่างที่ว่านี่ก็จะสามารถเจริญได้โดยไม่มีเสื่อม แต่ในวันนี้ที่พูดเพราะต้องการเพียงแต่ให้เห็นว่า คำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ถ้าเราปฎิบัติถูกต้องสามารถเจริญได้โดยไม่มีเสื่อม คำตรัสอันนี้ไม่ได้ขัดกัน แต่ประการใด กับหลักอนิจจังเป็นเรื่องเดียวกัน สอดคล้องกันเป็นอย่างดี อันหนึ่งเป็นสภาวะความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ ด้วยความจริงที่เป็นกลางๆ อีกอันหนึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ ในการนำความรู้นั้นมาประยุกต์ เพื่อผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตนของมนุษย์ แยกได้อย่างนี้แล้วก็หมดปัญหา ก็วันนี้พูดเรื่องนี้ก็ในแง่ความไม่ประมาท ในประเด็นเฉพาะเรื่องที่ว่าเจริญได้โดยไม่เสื่อม ไม่ขัดกับหลักอนิจจัง ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้ ก็ขอนิมนต์ ฯ
ชอบใจไม่ชอบใจอะไรก็เป็นความเคยชินของจิต ถ้าเจอสิ่งนี้เราชอบ ต่อมาเราก็มีความโน้มเอียงที่จะไปหาสิ่งแบบนั้น เจอสิ่งนั้นไม่ชอบ ต่อไปก็เจอ ก็ไม่ชอบ แล้วเจอคล้ายๆๆอย่างนั้น อาการลักษณะแบบนั้น เราเคยไม่ชอบไว้ ต่อไปก็จะไม่ชอบ นี่วาสนาส่วนใหญ่นี่ก็เกิดมาโดยที่เราไม่ได้ระแวดระวัง สังเกต ก็ปล่อยตามเรื่องเรื่อยๆไป นี้ก็จะมีความบกพร่องได้มาก บางทีก็เสีย เราเคยพูดอย่างไร ถ้าเราไม่ใช้สติมานึกถึงแล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณา เราก็ปล่อยไปตามนั้น แล้วลักษณะอาการพูดเป็นต้น การใช้ถ้อยคำเป็นต้น ของเรานั้นอาจจะไม่เหมาะ ไม่ดีก็ได้ เราก็ไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นคนเรานี่ก็จะมี ลักษณะเรื่องของกิริยาอาการ เช่น แม้แต่การเดินนี่ ก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็เดินเร็ว บางคนก็เดินช้า บางคนก็เดินเอียงไปเอียงมา บางคนก็เดินคนอื่นอยากจะเห็น อยากจะดู อยากจะชม บางคนก็เดินแล้ว คนอื่นก็ไม่ชอบใจ เห็นแล้วบางคนถึงกับขัดใจก็มี นี่อย่างวาจานี่ชัด บางคนพูดไปก็หัวเราะไป บางคนพูดไปก็ยิ้มไป บางคนพูดไปก็หน้าบึ้งไป บางคนพูดไปแล้วคนอื่นได้ยินแล้ว ฟังไม่ได้อยากจะหนี บางคนเขาฟังแล้วเขาอยากฟังต่อ ก็อยู่ที่การสั่งสมอบรมจนกระทั่งเป็นวาสนา วาสนาก็เลยมีผลต่อชีวิตของแต่ละคน อย่างน้อยก็หนึ่ง ต่อความชอบใจ ไม่ชอบใจ คนอื่นเขาชอบใจเรา ไม่ชอบใจเราในเบื้องต้นนี่ นอกจากรูปร่างหน้าตา สิ่งหนึ่งก็คือ กิริยาอาการลักษณะแสดงออกก็คือ วาสนา แล้วก็ เช่น คำพูด กิริยาอาการ ท่าทาง วิธีพูด ถ้อยคำที่พูด เป็นต้น ซึ่งกลาย???เป็นเรื่องวาสนาความเคยชินที่สั่งสมอบรมทั้งนั้น นี่ชอบใจไม่ชอบใจแล้ว มันก็ก้าวไปสิ่งอื่นด้วย เช่น ในการงาน ก็อาจจะ อยากจะทำงานด้วย อยากจะใกล้ชิด หรืออยากจะห่าง อยากจะหนี อยากจะใช้งาน งานเรื่องนี้จะใช้คนอย่างไหนเหมาะก็ต้องคิด พิจารณา ลักษณะบุคคล การกระทำ คำพูด อะไรเป็นต้นนี่ ก็เลือกคนให้เหมาะกับ การใช้งาน วาสนาก็เลยมีผลต่อเรื่องของความเจริญก้าวหน้าในการงาน เป็นต้นด้วย มันมีผลมากเหลือเกินน่ะในชีวิตของคนน่ะ แล้วก็เป็นเรื่องที่ เรานี่เองเป็นผู้ทำและเราเองเป็นผู้แก้ไขได้ ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ลอยมาจากฟากฟ้า ในภาษาไทยเราคำว่า วาสนานี่ มันกลายเป็นสิ่งที่เราไม่เกี่ยวข้อง มันมาควบคุม หรือครอบงำเรา เราจะได้ดีก็ตามแต่ว่าเราจะมีวาสนาหรือไม่ แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ในทางพระนี่ วาสนานี่เป็นเรื่องของเราเองนี่ เราทำมันขึ้นมา แล้วก็ถ้าเรารู้ตัว เราก็ปรับปรุงแก้ไข ทีนี้วาสนานี่ เป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นของที่เกิดขึ้นมาจากความเคยชิน ซึ่งไม่ได้เกิดจากการฝึกฝน อบรม เพราะฉะนั้นมันก็ไม่อยู่ในข้อปฎิบัติในพระพุทธศาสนา เป็นเพียงคำพูด ถึงเรื่องสภาพที่ตามที่มันเป็นตามที่มันเกิดมีอยู่ ไม่เหมือนอย่างศีลนี่ เป็นความประพฤติที่เราตั้งใจฝึก แล้วก็รู้อยู่ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีงาม เราก็ตั้งใจฝึกขึ้นมา วาสนาในเมื่อมันเป็นสิ่งที่ว่า ไม่ได้เกิดจากความรู้ ความเข้าใจ ตั้งใจในการฝึกฝน มันเกิดขึ้นมาเองโดยมากไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นมันก็มีความโน้มเอียงที่จะไม่ดีหรือว่ามีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อน ตอนนี้ในเมื่อมันมีจุดอ่อนเราก็ควรจะปรับปรุงแก้ไข สำหรับท่านผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว ก็จะเป็นอยู่ด้วยสติปัญญามากขึ้น คือหมายความว่า จิตนี่มันนึก มันระลึกได้ทันกับการกระทำของตนเอง นี่ก็ลักษณะเริ่มต้นที่ต่างกัน คนทั่วไปนี่ทำไปโดยที่ไม่เคยนึกถึงว่าตัวเองทำอะไรไป ทำถูกต้องไม่ถูกต้อง น่าเกลียด น่าชม หรือเปล่า ไปนึกได้แต่เรื่องใหญ่ๆ เรื่องเล็กๆน้อยๆก็ปล่อยไป นี้คนที่ฝึกตนก็จะทันในเรื่องเหล่านี้ ตอนแรกอาจจะไม่ทัน เพราะว่า ทำอะไรไป ตามความเคยชิน แต่พอทำไปปุ๊ปเดียวบางทีนึกทันละ โอ้เราพลาดไปแล้ว เมื่อนึกได้สติมา คือการนึกได้ จิตมันทันกับเรื่องนั้นแล้ว ปัญญาก็จะพิจารณา รู้ว่าอ้อ อันนี้ไม่ดี ควรจะแก้ไขปรับปรุงยังไง นั่นก็ทำให้เราฝึกตนได้ เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เมื่อเป็นพระอรหันต์ สติก็จะตามทันมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจะอยู่ใต้อำนาจความเคยชินอย่างนี้น้อยลง ทีนี้ความเคยชินบางอย่างที่ท่านเรียกว่าหยาบ มันก่อความเสียหาย อาจจะเสียหายกับตนเอง หรือเสียหายกับผู้อื่น อันนั้นท่านจะละกำจัดได้ แต่พระอรหันต์ที่เป็นพระสาวกทั่วไปก็กำลังของสติปัญญาก็ไม่บริบรูณ์ เพราะฉะนั้นวาสนาที่ละเอียดอ่อน ความเคยชินติดตัวเล็กๆน้อยๆ อย่างอาการกิริยาที่พูด ลักษณะการพูด อันนี้จะแก้ไขไม่ได้ ก็มีพระพุทธเจ้าที่ทรงละวาสนาได้หมด คือหมายความว่า ทำอะไรไม่ทำไป สักแต่ว่าตามความเคยชิน ทำไปโดยมีสติระลึกรู้ ระลึกได้เวลานี้เราควร จะทำยังไง ควรจะแสดงอาการอย่างไร เช่นทำการโดยมีความมุ่งหมาย เป็นต้น รู้??? ความเข้าใจว่าทำเพื่ออะไร ก็เป็นความแตกต่างระหว่าง ท่านผู้บรรลุธรรมกับผู้ที่เป็นปุถุชนอย่างหนึ่ง นี้สำหรับปุถุชนเราก็พยายามที่จะ ใช้สติให้มากขึ้น ระลึกให้ทันถึงกิริยาอาการ ลักษณะของเราที่มีการแสดงออก หรือแม้แต่จิตใจที่มีความเคยชิน เพราะวาสนานี่ไม่ใช่เฉพาะการแสดงออก ทางกาย วาจา แต่รวมทั้งด้านจิตใจด้วย เช่น ชอบอะไร ไม่ชอบอะไรนี่ เป็นไปตามความเคยชิน แล้วก็ชอบคิดปรุงแต่งอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรนี่ เรามีสติเราทัน เรานึกได้ขณะนี้เรากำลังทำอะไร พอนึกว่าทำอะไรอยู่นี่ ปัญญาจะมาพิจารณาว่า สิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ถูก เมื่อไม่ถูก เราก็จะปรับปรุงแก้ไข ก็จะเกิดเป็นการฝึกขึ้นมา การฝึกนี่ก็มาช่วยเหลือชีวิต ทำให้เรามีพฤติกรรมดีขึ้น จิตใจดีขึ้น มีปัญญารู้เข้าใจละเอียดละออยิ่งขึ้น ก็ชีวิตก็ยิ่งดีงามเจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งของการฝึกก็คือ ฝึกเรื่องเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของเรานี่เอง นี้ถ้าเราใช้สติ แล้วก็พร้อมด้วยปัญญาพิจารณาอยู่เสมอ เราก็อาจไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์ส ฝึกอบรมอะไรมากมาย บางทีนี่จะฝึกการพูดกันต้องไปเข้าคอร์สเสียตังส์ เยอะเลย หรือบางทีมีคอร์สทางบุคคลิกภาพ เรื่องวาสนาก็เป็นบุคคลิกภาพด้วย เกี่ยวข้องอย่างมากทีเดียวกับเรื่องของบุคคลิกภาพ นี้บางทีเราก็ต้องไป เข้าคอร์สฝึกอบรมเรื่องบุคคลิกภาพ บุคคลิกลักษณะ ยิ่งถ้าเป็นคอร์สที่ฝรั่งจัด ยิ่งแพงใหญ่เลย ก็จะมีประโยชน์เพราะว่างบางทีเราไม่รู้ตัว เราแก้ไขตัวยาก ก็ไปเข้าวิธีฝึกอบรมที่มีระบบมีกระบวนการก็ทำให้ได้ผลดี แต่ว่าเราจะไปรอเข้าคอร์สนี้ก็นานๆจึงจะมี แล้วก็ไม่เพียงพอ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ฝึกตัวเอง ถ้าเราใช้สติพร้อมทั้งปัญญาอยู่เสมอ ก็จะทันต่อ การกระทำของตนเอง ทั้งในทางความรู้สึก ความนึก เรื่องคิดจิตใจ เรื่องกิริยาอาการ การเคลื่อนไหว กาย วาจา แล้วก็จะมีการปรับปรุง แก้ไขยิ่งๆขึ้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตร้สว่า คนมีสตินี่เจริญขึ้นทุกวัน เพราะอะไรเพราะว่ามันทันต่อสิ่งที่กระทำ ที่เคลื่อนไหว ในแง่ของตัวเองก็เจริญแหละ เพราะว่าทำให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ วาสนาก็เป็นอันว่าในทางพุทธศาสนานี้ ถือว่ามีทั้งดีและร้าย แต่ว่ารวมแล้ว อยู่ข้างที่เป็นข้อบกพร่อง เพราะว่าถึงจะเป็นฝ่ายดี มันก็ไม่ได้เกิดจากการที่มีสติ มันก็ดีไปตามที่เคยชิน นี่ถ้าเรามีสติ มีปัญญา มันก็ทำให้ที่ดีนั้นดียิ่งขึ้น ส่วนที่บกพร่องก็จะแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นวาสนาอย่างที่กล่าวแล้วพระพุทธเจ้า ก็ทรงละเสีย เราทั้งหลายก็แก้ไข ปรับปรุง ไม่ยอมปล่อยตัวไปตามวาสนา พยายามที่จะรู้ทัน แล้วก็แก้ไขปรับปรุงทำให้ดียิ่งขึ้นไป ชีวิตก็จะเจริญก้าวหน้า อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง วันนี้ก็เลยเอาเรื่องวาสนามาพูด เพราะว่าเรามักจะติดในความหมายแบบภาษาไทย มันก็เลยกลายเป็นว่่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเรา เราต้องรอมัน ถ้ามีวาสนาเราก็คงเจริญ ใช่มั๊ย ก็เลยรออยู่นั่นเอง ไม่เหมือนอย่างภาษาพระนี่เราไม่ต้องไปรอวาสนา วาสนามันอยู่ที่ตัวเรา เราก็จัดการกับมัน แ้ก้ไข ในภาษาไทยพูดถึงกันว่า แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญวาสนาไม่ได้ ทางพระท่านไม่ได้ให้เอามาแข่งกัน ถ้าพูดภาษาพระก็คือ วาสนานั้นมีไว้สำหรับแก้ไข ไม่ใช่มีไว้แข่งขัน ถ้าเราแก้ไข ปรับปรุงเราก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ก็อยู่ที่ตัวเราเป็นอันว่า ในทางพุทธศาสนานี่เรื่องของชีวิต ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ด้วยการฝึก เราก็เรียนรู้ฝึกฝนปรับปรุงได้เรื่อยไป ชีวิตก็เจริญงอกงามยิ่งขึ้น เข้ากับหลักเรื่องไตรสิกขาที่เป็นหลักใหญ่ที่ว่าไปแล้ว วันนี้ก็ได้พูดมาเรื่องวาสนาก็คิดว่าคงจะพอทำให้เกิดความเข้าใจ อย่างน้อยก็แก้ไขความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำที่คลาดเคลื่อนในภาษาไทย คือในภาษาไทยนี่เรานำศัพท์ในพระพุทธศาสนามาใช้ พอใช้ไปๆนี่ ตอนแรกมันก็ได้แง่ความหมายของเดิมไปหน่อย พอพูดต่อกันไปๆ ค่อยๆเพี้ยนไปเรื่อยๆ ก็อย่างที่เคยยกตัวอย่างไว้แล้วก็เห็นๆชัดๆ ก็คำว่า มานะ มานะ แปลว่าความถือตัว อยากใหญ่ อยากโต อยากเด่น มาเป็นภาษาไทยปัจจุบันแปลว่า เพียรพยายาม มุ่งมั่นจะทำการให้สำเร็จ ไปคนละเรื่อง แต่สืบไปสืบมาก็พอจะได้ความว่า ทำไม มานะที่อยากใหญ่ อยากโต มาความหมายเป็นเพียรพยายาม อ๋อก็เพราะคนไทยนี่ เอามานะมายุเด็ก มาปลุกใจกัน บอกว่าหนูตั้งใจพากเพียร เล่าเรียนไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน ไอ้ตัวที่ว่าจะได้เป็นเจ้าคนนายคนอันนั้นคือ มานะ ความอยากใหญ่ แล้วก็มายุ อยากเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน ก็ให้เล่าเรียนขยันหมั่นเพียร ใช่มั๊ย ก็เป็นตัวเหตุมาปลุกใจให้ขยัน ต่อไปตัวปลุกใจให้มาขยัน กลายเป็นมีความหมายว่าขยันไปเลย มานะก็กลายเป็นว่า พากเพียร ขยัน มุ่งมั่น ซึ่งไกลไปจากความหมายเดิมของพระมาก ก็นานๆก็ต้องทวนกันที ถ้าไม่ทวนแล้วศัพท์ต่างๆก็ความหมายก็เพี้ยนคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ มานะก็ คือ ความถือตัวอยากมีอำนาจ อยากเป็นใหญ่ อยากเหนือคนอื่น แล้วก็อาจจะมายุทำให้พากเพียรได้ แต่ทางพระไม่มี ??? ทางพระบอกให้มีฉันทะ อยากจะให้ชีวิตของเราดีงาม อยากจะไปทำสิ่งที่ดีงาม เป็นการสร้างสรรค์ช่วยเหลืิอเพื่อนมนุษย์ิอยากให้ดี ให้โลกนี้มีความสุข ให้ประเทศชาติเจริญงอกงาม นี่เรียกว่า ฉันทะ แล้วก็ไ ปเล่าเรียน ขยันเรียน อย่างนี้เรียกว่าเอาฉันทะมาปลุกให้เพียรพยายาม อันนี้ก็เป็นเรื่องของถ้อยคำ ที่ความหมายเคลื่อนคลาดไป พูดไปก็เดี๋ยวจะยืดยาว เอาละวันนี้พูดเรื่องวาสนา ก็สมควรแก่เวลาก็อนุโมทนา โยมญาติมิตรทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ก็ขอให้ทุกท่าน เจริญงอกงามด้วยวาสนาที่ดีๆ ด้วยการที่เรามามีสติ แล้วก็ช่วยกันแก้ไข ปรับปรุง โดยเฉพาะเจ้าของวันเกิด หนูนิว???ก็ขอให้ มีวาสนาดีๆ ด้วยการที่เราตั้งใจฝึก ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความเพียรพยายาม ด้วยสติ ปัญญาของเรา แล้วเราก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน เราก็อาจจะสามารถที่จะกำเอาความเจริญ ก้าวหน้าำไว้ในกำมือของเรา ไม่ใช่ปล่อยไปให้สิ่งที่อยู่ภายนอก อำนาจดลบันดาลมาทำให้ เราทำได้เอง ก็วาสนาอย่างนี้เมื่อทำไปทำมาก็เลย ในที่สุดก็ไม่ต้องมีวาสนา เพราะว่ามันเกิดจากสติปัญญาของเราเอง ที่ทำด้วยความรู้ ความเข้าใจ และการที่เรามีจิตใจที่ทันต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ฝึกกันไป ก็ขอให้ทุกท่านเจริญงอกงามดังที่กล่าวมานี้ จนบรรลุความสำเร็จ ความเข้าถึงจุดหมายแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยทั่วทุกท่าน ต่อจากนี้ไปก็เชิญรับพรเป็นภาษาบาลี ฯ
********************************************************************