แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ที่คุยกันหลังทำวัตรนี่ก็ ในหลักการสำคัญๆก็ได้พูดไปคลุมพอสมควร เราได้พูดกันมาเรื่องทานศีลภาวนา จนกระทั่งมาถึงข้อภาวนา ภาวนาหรือการพัฒนาก็มาลงที่ว่า ที่พระพุทธเจ้าเน้นสำหรับคฤหัสถ์ ก็เมตตาภาวนา แต่ภาวนานั้นมันก็กว้าง สามารถโยงไปถึงอย้างน้อยในความหมายที่จำกัดเอาภาวนาด้านในคือจิตใจและปัญญา ตอนนี้เราไม่ต้องพูดถึงกายภาวนา ศีลภาวนา ก็เอาจิตตภาวนาและปัญญาภาวนา ที่นี้ด้านจิตใจกับด้านปัญญาเราก็ออกไปสู่สมถะวิปัสนา ที่นี้เรื่องด้านจิตใจอันหนี่งที่สำคัญก็คือ เมื่อพัฒนาทางด้านจิตใจไปมันก็จะมีภาวะของจิตใจอันหนึ่งที่สำคัญ ก็คือเรี่องความสุข ซี่งมนุษย์เรานี่ก็เป็นยอดปรารถนาแล้ว ทีนี้ความสุขในพุทธศาสนานี้ก็จะมีความหมายพิเศษที่ว่าความสุขนั้นก็จะพัฒนาไปพร้อมกับจิตใจและปัญญาที่พัฒนาด้วย และความสุขที่มนุษย์ได้มีเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาชีวิตทางจิตใจและปัญญาจะเป็นความสุขที่เป็นอิสระมากขื้น มนุษย์ในตอนต้นนี่ความสุขของเขาจะขื้นกับสิ่งเสพวัตถุภายนอก ถ้าเขาไม่พัฒนาภายใน ต่อไปเขาจะยิ่งพึ่งวัตถุเสพภายนอกมากขื้นตามลำดับ จนกระทั่งทั้งชีวิตและความสุขของเขานี่ไม่สามารถมีความสุขด้วยตนเอง ต้องอาศัยความสุขจากวัตถุเสพภายนอก ก็เท่ากับว่าหมดอิสรภาพของชีวิต แต่ในพุทธศาสนานี้ลักษณะทั่วไปก็คือว่า เมื่อพัฒนาจิตใจและปัญญาขื้นมานี่เราจะสามารถมีช่องทางที่ได้มีความสุขเพิ่มขื้นๆ ความสุขจากการอาศัยสิ่งเสพกลับลดน้อยลง เราขื้นกับสิ่งเสพน้อยลงในการที่จะมีความสุข อันนี้ก็เป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องความสุขก็ควรจะนำมาเน้นกันด้วย ที่นี้ขอโยงกลับไปถึงตั้งแต่ต้นที่เคยพูดเรื่องอริยสัจ บอกว่าคนที่ไม่เข้าใจพุทธศาสนาชัดเจน พอเห็นหลักอริยสัจเริ่มด้วยทุกข์นี่ อย่างเช่นฝรั่งเราไปเปิดเอนไซโคลพีเดียของฝรั่ง ก็จะมองพุทธศาสนาว่า พุทธศาสนานี่เห็นชีวิตเป็นทุกข์มองโลกในแง่ร้ายอะไรทำนองนี้ มักจะเข้าใจอันนี้ไม่ถูกต้อง อย่างน้อยเราได้ทำความเข้าใจกันแล้วว่าพุทธศาสนาพูดถึงธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่เราต้องไปเกี่ยวข้องตามที่มันเป็นจริง ทีนี้ ตรัสทุกข์ไว้เป็นข้อแรก อันนี้เป็นจุดที่มนุษย์จะไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตของเขา ถ้าเขาตั้งท่าทีไม่ถูก ขาดปัญญาเมื่อไหร่ มันก็จะเป็นเหตุให้ทุกข์ที่มีอยู่ในภาวะธรรมชาติ เข้ามาเป็นทุกข์ในตัวคนเลย ทีนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสหน้าที่ต่อทุกข์ไว้แล้ว ว่า"ทุกขัง ปริญเญยยัง" ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับกำหนดรู้ ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับปริญญา คือรู้เท่าทัน รู้ตาสภาวะของมัน ฉะนั้น พูดง่ายๆก็คือ ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับปัญญารู้ สำหรับเรารู้จักเท่านั้น รู้เท่าทัน ไม่ใช่สำหรับเป็นทุกข์ ฉะนั้น ในการศึกษาพุทธศาสนา ถ้าในด้านของความรู้เรื่องปัญญา แล้วก็รู้เข้าใจเท่าทันทุกข์ มันจะออกมาในรูปธรรมชาติของมันเอง หรือออกมาในรูปที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราที่เข้าไปสัมพันธ์กับมันก็ตาม แต่ว่าในแง่ของการดำเนินชีวิตหรือปฏิบัติ พอเราเริ่มปฏิบัติพุทธศาสนานี่ มันจะกลายเป็นเรื่องของความสุข ศัพท์ในเชิงปฏิบัตินี้เป็นศัพท์ในเชิงของสุขเสียส่วนมาก ถ้าศัพท์ในเชิงปัญญารู้นี่มีเรื่องทุกข์ เพราะว่าอันนั้นเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยง เกิดดับ มันก็อยู่ในภาวะเดิมไม่ได้ ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นไปตามสภาวะของมัน มันก็สวนทางกับกระแสความยึดมั่นของมนุษย์ ทีนี้พอพูดถึงแนวทางของการปฏิบัติ คือการนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตนี้ พุทธศาสนาก็จะมีเรื่อง“สุข”นี่มากเหลือเกิน พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องสุขไว้มาก ขบวนการปฏิบัติที่เคยพูดไปแล้ว อย่างเราบอกว่าเราปฏิบัติเพื่อให้เกิดสมาธิ สมาธินี้ก็เป็นจุดสำคัญอันหนึ่ง คนเราจะมีสมาธิได้นี่ สุขต้องเป็นตัวสำคัญ จนกระทั่งท่านบอกว่า “สุขปทัฏฐาโน สมาธิ” สมาธิมีสุขเป็นบรรทัดฐาน บรรทัดฐานแปลว่าเหตุใกล้ คนเราจะมีสมาธิได้เมื่อจิตเป็นสุข ถ้าจิตมันเป็นทุกข์ จิตมันก็ดิ้นรน ดิ้นรนก็อยู่ไม่ได้ มันก็สงบไม่ลง มันก็กระวนกระวายพลุ่งพล่าน ฉะนั้นคนที่เป็นทุกข์นี่ สมาธิเกิดยาก ต้องสุข พอสุขมันก็สงบ แต่ก็อย่างที่ว่า สุขกับสมาธินี่ มันมีลักษณะอย่างหนึ่งก็คือว่า มันดีไม่ดีมันจะเพลิน สงบนิ่ง ก็เลยเฉื่อย พอเฉื่อยแล้วก็ขี้เกียจ เพราะฉะนั้นก็เข้ากันได้กับเรื่องนี้ ในพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้อยู่แค่นี้ ไม่ให้ติดอยู่กับสุข ฉะนั้น เรามีข้อปฏิบัติอื่นที่เกี่ยวข้องเยอะ เป็นกระบวนการเป็นระบบการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่มาอยู่แค่อันเดียว ทีนี้ เรื่องสุขก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจ อย่างในการปฏิบัติที่เจริญ แสดงถึงการพัฒนา แม้แต่เครื่องมือวัดผลการปฏิบัติ มันจะมีเรื่องสุขเยอะ อย่างชุดหนึ่งที่ผมพูดบ่อยๆ เวลาพระพุทธเจ้าตรัสถึงบุคคลกำลังปฏิบัติธรรม พอปฏิบัติธรรม มันเดินจิตถูก มันจะมีปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานใจ มี “ปีติ” ความอิ่มใจ ปลาบปลื้มใจ และ “ปัสสัทธิ” ความสงบเย็นผ่อนคลายกายใจ แล้วก็ “สุข” ก็หมายถึงความคล่องใจ โปร่งใจ โล่ง ไม่มีอะไรมาบีบคั้น ติดขัด คับข้อง แล้วก็สงบเป็นสมาธิ พอได้สุขเป็นบรรทัดฐาน จิตเกิดสมาธิ สมาธิก็ตั้งมั่นแน่วแน่ ไม่มีอะไรกวน ไม่กระวนกระวาย อยู่ตัว พออยู่ตัวดี ถ้าใช้เป็นก็เอาสมาธิไปเป็นฐานในการที่ว่า จิตเหมาะแก่การใช้งาน เพราะเป็นจิตที่อยู่ตัวของมันแล้ว ไม่มีอะไรกวน มันก็พร้อมที่จะใช้งานอะไรก็ได้ตามปรารถนา ก็นำจิตนี้ไปใช้งานในการพิจารณาสิ่งต่างๆให้เกิดปัญญา นี่จุดมุ่งหมายจะมาเผชิญ นอกจากนั้นแล้ว จิตที่เป็นสมาธินี้มันก็มีพลัง ทั้งสงบทั้งมีพลังด้วย ก็ไปเอื้อในการที่จิตมันใส มันทำงานในการพิจารณาให้เกิดปัญญาได้ผลดี เป้ามันก็จะไปประสานกัน สมาธิเป็นฝ่ายสมถะ ก็ไปเข้ากับปัญญาเป็นฝ่ายวิปัสนา ทำให้ได้ผล แต่ว่าตอนที่ถึงสมาธิ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสุขด้วย มันก็ต้องระวังเขว ถ้าเขวไปก็ไปมัวเพลินกับการที่ฝ่ายหนึ่งก็ใช้พลังจิตที่เป็นสมาธินั้นมุ่งฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือไม่ก็ไปเสวยสุข ก็เลยเพลินเกียจคร้านไปเลย ก็เลยจมอยู่นั่น เป็นสิ่งกล่อมไป พุทธศาสนาก็เรียกว่าทั้งเห็นคุณค่าของสุข แต่ในเวลาเดียวกันก็ให้ไม่ประมาทระวังโทษที่เกิดจากสุขด้วยเหมือนกัน ต้องระวังทั้งคู่ ก็ให้รู้จักใช้นั่นเอง แต่ว่าในกระบวนการของการปฏิบัติ เราจะเห็นเยอะเลยเรื่องสุขนี่ อย่างที่ว่า คุณสมบัติของจิต5ประการนี่เป็นสิ่งที่ควรจะปลูกฝังไว้เป็นประจำ เป็นคุณสมบัติที่ดี คือว่า “ปราโมทย์” ร่าเริง เบิกบานใจ “ปีติ” อิ่มใจ “ปัสสัทธิ” สงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ “สุข” คล่อง โล่งโปร่งใจ แล้วก็ “สมาธิ” ก็สงบแน่วแน่ อยู่ตัว ไม่มีอะไรกวนได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีไว้เป็นประจำแล้วจะทำให้พัฒนาก้าวหน้าในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าจะตรัสบ่อยเกี่ยวกับธรรมะชุดนี้ในกระบวนการปฏิบัติ ก็เลยมาวัดคนปฏิบัติธรรมได้ด้วยว่า ปฏิบัติไปแล้วมันได้หรือไม่ ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันไม่ได้สิ่งเหล่านี้ มันอาจจะเกิดความวุ่นวายจิต กลายเป็นแทนที่จะปฏิบัติแล้วจิตดี กลับเป็นจิตวุ่นหนัก แสดงว่ามันผิด มันเป็นเครื่องวัดในตัวเลย แต่ว่า ที่พูดในวันนี้มุ่งให้เห็นว่าความสุขนี้สำคัญมากในการปฏิบัติ ในแง่ของปัญญารู้จักทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับปัญญารู้ แต่ในแง่ปฏิบัติแล้วมันออกเรื่องสุข มันจะทุกข์น้อยลงตามลำดับ มันจะสุขมากขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้แห่งหนึ่ง บอกว่า “ถ้ามองเห็นนิพพานเป็นสุข มีทางเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ ถ้าเห็นนิพพานเป็นทุกข์ หมดทาง” ตรัสไว้อย่างนั้นเลยนะ ในพระไตรปิฎก ถ้าเห็นนิพพานว่าเป็นทุกข์ แสดงว่าไปไม่ได้แล้วในการปฏิบัติ ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น เรื่องสุขนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ บางทีชาวพุทธมองข้าม ไปเน้นเรื่องทุกข์ โดยจับผิด แล้วไม่รู้จักหน้าที่ต่ออริยสัจข้อหนึ่ง คือทุกข์ ต้องจำไว้ให้แม่นเลย หน้าที่ต่อทุกข์คือ “ปริญญา”รู้เท่าทันมัน ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับปัญญารู้ หน้าที่ต่อทุกข์เรามีแต่เรื่องรู้ เรื่องปัญญาเท่านั้น เราไม่มีหน้าที่ไปเป็นทุกข์นะ ถ้าเราไปเป็นทุกข์เมื่อไหร่แสดงว่าพลาดแล้ว เพราะฉะนั้นในการปฏิบัตินี่มันมีแต่ต้องหมดทุกข์ ทุกข์น้อยลง แล้วก็สุขมาขึ้น จนกระทั่งว่าสุขชนิดไม่มีทุกข์เหลือเลย ก็เป็นบรมสุข เพราะว่ามันไม่มีทุกข์เหลือนั่นเอง เพราะฉะนั้นท่านจะใช้คำว่าหมดทุกข์หรือไม่มีทุกข์ ก็เป็นอันว่าแสดงว่าเป็นภาวะที่สมบูรณ์ เพราะว่าสุขโดยทั่วไปนี้มันยังมีทุกข์เหลืออยู่ ลึกลงไปก็คือมีทุกข์แฝง พอทุกข์มันหมดจริงๆก็เป็นอันว่า ไม่ต้องพูดถึงคำว่าสุข ทีนี้ พระพุทธเจ้าจะตรัสเรื่องสุขไว้ มีเยอะแยะไปหมด อย่างในหมวด2นี่ สำหรับคฤหัสถ์ก็เป็นแต่เพียงว่าสุขของคนที่ควรจะมุ่งหมาย ควรจะทำให้มีให้เป็นขึ้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้นะ สุขคฤหัสถ์4 ไปดูในพระไตรปิฎก ตรัสไว้ด้วยว่าควรจะเข้าถึงอยู่เสมอ ที่ว่า หนึ่ง สุขจากการมีทรัพย์ “อัตถิสุข” สอง สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ “โภคสุข” สาม “อนณสุข” สุขจากการไม่เป็นหนี้ แล้วก็สี่ “อนวัชชสุข” สุขจากความประพฤติไม่มีโทษ ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทีนี้มาแปลกันว่า สุขอันเกิดจากการงานไม่มีโทษ เลยแปลความหมายกันเป็นการทำงานที่ไม่ผิดกฎหมายไปเลย ไปดูพระไตรปิฎกจะชัดเลย “อนวัชชสุข” สุขเกิดจากกระทำที่ไม่มีโทษ คือ มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่เป็นสุจริต พระไตรปิฎกอธิบายไว้ชัด ไม่ใช่หมายถึงว่าไปประกอบการงานอาชีพ
ถาม: ในหลักสูตรที่บอกประกอบการงาน
ตอบ: ก็นั่นแหละ มันยุ่งตอนที่ว่า สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบใช่ไหม ก็เข้าใจไปเป็นตัวเองประกอบอาชีพการงานไป คำว่าการงานในสมัยก่อนหมายถึงการกระทำ การกระทำทางกายนี่ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ หมายถึง เว้นจากปานาติปาต เว้นจากอทินาทาน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ถูกไหม อ้าวแล้วทำไมนี่การงาน การงานอะไรล่ะ มันเป็นการกระทำที่ถูกต้อง มันเป็นสำนวนโบราณ เราไปหลงเอง เราไปนึกว่าคำว่าการงานของท่านหมายถึงการประกอบอาชีพ แท้ที่จริงการงานหมายถึงการกระทำ สุขจากการงานไม่มีโทษหมายถึง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่สุจริต ใครติเตียนไม่ได้ทั้งกาย วาจา ใจ อันนี้เป็นสุขสำหรับคฤหัสถ์ แต่มันยังมีอีก อย่างในหมวด2 พระพุทธเจ้าตรัสสุขไว้ตั้งกี่คู่ เยอะแยะไปหมด อย่างเช่นว่า “คิหิสุข” “ปัพพชิตสุข” สุขของคฤหัสถ์ สุขของบรรพชิต แล้วก็มี “กามสุข” สุขทางกาม พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ปฏิเสธนะว่าสุขทางกามไม่มี มี ตรัสว่ากามสุข แต่ว่ามันมีปัญหาที่ว่ามันยังมีทุกข์มีโทษ กามสุขมี เป็นสุข สุขจากกาม มีข้อดีของกามด้วยนะ ท่านเรียกว่า อัสสาทะของกาม ส่วนดีของกามเป็นอย่างไร แต่ว่ามันมีส่วนเสีย ส่วนเสียของมันอาจทำให้เกิดโทษมากมาย ก็ต้องแก้ไขป้องกัน ถ้าคนจะเสพกาม มีสุขจากกาม ก็ต้องระวังโทษจากมันด้วย อย่าไปลุ่มหลงมัวเมา แล้วก็พยายามไม่ประมาท แต่ว่ามันยังมีสุขอื่นที่พัฒนาได้กว่านี้ ฉะนั้นมี “กามสุข” แล้วก็มี “เนขขัมสุข”ก็คู่กัน “เนขขัมสุข”คือสุขจากการออกจากกาม ไม่ต้องอาศัยกาม แล้วมีอะไรอีก มี “อุปธิสุข” สุขของคนมีกิเลส เป็นสุขโลกียะ แล้วก็ “นิรูปธิสุข” สุขไม่มีอุปธิ สุขแบบโลกุตร เป็นโลกุตรสุข “(สา-สะ-วะ-สุข)” สุขที่ยังมีอาสวะ “อนาสวสุข”สุขที่ไม่มีอาสวะ สุขที่มีอาสวะก็ยังทำให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ถ้าเป็นอนาสวสุข สุขที่ไม่ทำให้มาวนเวียนในสังสารวัฏ แล้วก็ยังมีอะไรอีก “อริยสุข” สุขของพระอริยะ “อนริยสุข” สุขของอนริยชน ท่านว่าอย่างนั้นนะ แล้วมีอะไรอีก มี “สามิสสุข” สุขที่อาศัยอามิส ต้องอาศัยเหยื่อล่อ อาศัยวัตถุเสพ แล้วก็ “นิรามิสสุข” สุขที่ไม่ต้องอาศัยอามิส ไม่ต้องขึ้นต่ออามิส ไม่ต้องมีวัตถุเสพก็มีสุขได้ มีอะไรอีก มี “กายิกสุข” สุขทางกาย “เจตสิกสุข”
สุขทางใจ เยอะแยะไปหมดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ “สาตสุข” สุขที่มีความอร่อย แล้วก็ “อุเปกขาสุข” สุขแบบอุเบกขา อุเบกขาก็เป็นสุข อย่างใน จตุตถฌาณ เป็นอุเบกขาที่มาประสานระหว่างภาวะจิตที่มีดุลยภาพกับเวทนาที่เป็นอุเบกขาด้วย มาประสานกัน อุเบกขาเวทนาปกติสำหรับมนุษย์ปุถุชน มันจะมากับโมหะ คือมันเพลินๆ ที่เคยเล่าอธิบายให้ฟัง คนที่เป็นมนุษย์ปุถุชนนี่มันจะเฉยๆเฉื่อยๆ มันก็สบาย ท่านบอกมันมากับโมหะ แต่ทีนี้ ถ้าเป็นพระอรหันต์นี่ อุเบกขาของท่านมากับปัญญา ตรงข้ามเลย แล้วอุเบกขาเวทนา ก็จะมากับอุเบกขาฝ่ายสังขารที่เป็นภาวะจิตที่ได้ดุลยภาพ เกิดจากปัญญารู้ความจริง เป็นจิตที่ลงตัวเลย มีดุลยภาพ เป็นกลาง อันนี้เพียงยกตัวอย่างว่าพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องสุขได้เยอะแยะ ฉะนั้น คำว่าสุขนี้มากมาย บางทีชาวพุทธเองไปปฏิบัติก็ไปรังเกียจสุขเลยก็มี บางคนเป็นอย่างนั้น เข้าใจไปว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ ให้เห็นทุกอะไรอย่างนั้น ก็เลยไปมองในแง่หาทางทำให้ตัวทุกข์ จะได้เห็นทุกข์ ฉะนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ
จะเทียบกับลัทธินิครนถ์ด้วย ในสูตรหนึ่งเรียกว่า “เทวทหสูตร” เคยเล่าให้ฟังแล้ว ในพระไตรปิฎกเล่ม14 เป็นสูตรแรกเลย พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องลัทธินิครนถ์ อ้อ ก่อนนี้ที่อื่นก็มี อันนั้นสั้นดี เล่าให้ฟังเสียก่อน พระพุทธเจ้าเคยตรัสบอกว่า มีบางลัทธิบางพวกเขาถือว่า สุขจะบรรลุถึงได้ด้วยทุกข์ คือลัทธินิครนถ์ พุทธศาสนาไม่ได้ถืออย่างนั้น ลัทธินิครนถ์เขาถือว่า คนเราจะบรรลุถึงสุขได้ด้วยทุกข์ เพราะฉะนั้นเขาจึงบำเพ็ญตบะ จะทรมานร่างกายอย่างที่ผมเคยเล่า แม้แต่จะโกนผมนี่เขาจะถอนทีละเส้นเลยนะ เอาแหนบถอนทีละเส้น เจ็บไหม ถอนผมทีละเส้นจนหมดหัว แล้วก็มีการทรมานร่างกายโดยวิธีต่างๆเยอะแยะ ทีนี้ เขาบอกว่าคนเราจะบรรลุสุขได้ ต้องด้วยทุกข์ เพราะฉะนั้นเขาจึงทรมานร่างกายเพื่อที่จะบรรลุสุขที่แท้จริง ทีนี้ในพระพุทธศาสนา ไม่ถือว่ามนุษย์จะบรรลุสุขได้ด้วยทุกข์ “ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา” “ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา” “สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา” “สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา” มีตั้งเยอะ หมายความว่า มนุษย์มีความแตกต่างกัน แต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ในเชิงข้อปฏิบัติ บางคนปฏิบัติยาก รู้ช้า บางคนปฏิบัติยากรู้เร็ว บางคนปฏิบัติสุขง่าย รู้ช้า บางคนปฏิบัติเป็นสุขแล้วก็รู้ไวก็มี แต่นี้เป็นเพียงแยกประเภทบุคคล แต่เอาหลักการ ในแง่หลักการพระพุทธศาสนาไม่ถือว่าสุขจะต้องบรรลุได้ด้วยทุกข์ สุขก็บรรลุได้ด้วยการทำเหตุแห่งความสุขสิ เหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นสุข ซึ่งเหตุปัจจัยนี้มันก็มีหลายอย่าง ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียว ทีนี้มาสู่เทวทหสูตร อันนี้จะขยายความเรื่อง สุขไม่จำเป็นต้องบรรลุด้วยทุกข์ให้ชัดยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า มีลัทธิอยู่พวกหนึ่ง เขาถือว่าคนเราจะได้สุขได้ทุกข์อย่างไร หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตาม เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน เป็นปุพเพกตเหตุวาท พระพุทธเจ้าตรัสว่า พวกนิครนถ์เขามีความเห็นอย่างนี้ ทีนี้ ในเมื่อถือว่าสุขทุกข์จะได้อย่างไรมันขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน พวกนิครนถ์ก็เลยจะต้องทำให้กรรมในชาติปางก่อนหรือกรรมเก่าหมดสิ้นไปเสีย ทำอย่างไรจะทำให้กรรมเก่าหมดสิ้นไป ก็ทำได้โดยการบำเพ็ญตบะ ฉะนั้นพวกนิครนห์ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ศาสนาเชน ก็จะบำเพ็ญตบะ ด้วยการบำเพ็ญตบะนั้นก็จะทำให้กรรมเก่าสิ้นไป แล้วก็ไม่ทำกรรมใหม่ เมื่อกรรมเก่ามันสิ้นไปแล้ว เราก็ไม่ถูกบังคับ เข้าใจไหม เพราะว่าที่เราจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นเพราะกรรมเก่ามันบังคับตัวเราอยู่ พอบำเพ็ญตบะแล้วทำให้หมดกรรมเก่า กรรมเก่าหมดไปแล้วกรรมใหม่ก็ไม่ทำ ก็ไม่มีอะไรมาบังคับ เมื่อเราไม่ถูกบังคับ กรรมสิ้นไป ทุกข์ก็สิ้นไปด้วย ทุกข์สิ้น เวทนาก็สิ้นไป ทุกข์ก็เป็นอันหมด นี่คือลัทธินิครนถ์ มองในทัศนะของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าถือว่าลัทธินิครนถ์นี้เอาทุกข์มาทับถมตนโดยไม่มีเหตุผล ก็ตัวเองอยู่ๆแล้วก็เอาทุกข์มาทับถมโดยการบำเพ็ญตบะ เป็นทุกข์ที่ว่าตัวเองไม่ได้มี ถ้าตัวเองมีทุกข์อยู่แล้วก็มีอยู่ แล้วแถมไปเอาทุกข์มาเพิ่มให้กับตัวเองโดยบำเพ็ญตบะทรมานร่างกาย ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสหลักเรื่องความสุขในพระพุทธศาสนาหรือเป็นข้อปฏิบัติต่อสุขและทุกข์ สรุปได้เป็น4ข้อด้วยกัน หนึ่ง ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่ได้เป็นทุกข์ สอง ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม ท่านใช้คำว่า (ทำ มิ กัง สุ ขัง นะ ปะ ริ จะ ฉะ ติ) ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม สาม ถึงแม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้น ก็ไม่สยบ ไม่ลุ่มหลงมัวเอา สุขที่ชอบธรรม เราก็ไม่ละทิ้ง แต่ก็ไม่สยบ ไม่หลงมัวเมาในสุข แม้แต่ที่เป็นธรรมนั้น แล้วก็สี่ เมื่อรู้เข้าใจอยู่ว่าเหตุของทุกข์ยังไม่หมดไป ก็เพียรพยายามปฏิบัติเพื่อให้ทุกข์หมดสิ้น อันนี้จะเห็นเป็นลำดับเลยนะ ของทวนอีกทีหนึ่ง หนึ่ง ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ สอง ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม สาม แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่สยบ ลุ่มหลงมัวเมา สี่ เมื่อรู้เข้าใจอยู่ว่าเหตุของทุกข์ยังไม่หมดไป ก็รู้จักปฏิบัติเพื่อให้ทุกข์หมดสิ้นไปเสีย สี่ขั้น ของนิครนถ์นี้ เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ ก็เลยละทิ้งสุขที่ชอบธรรมที่ควรจะมี แต่ว่าทีนี้คนที่ได้สุขที่ชอบทำแล้ว ก็มักสยบลุ่มหลงซะอีก ก็ติด แล้วก็ไม่ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งก็คือว่าเหตุของทุกข์ยังไม่หมดไป ไอ้คนที่มีสุข สุขทั่วไปนี้ ยังไม่หมดเหตุแห่งทุกข์ ใช่ไหม เมื่อยังไม่หมดเหตุแห่งทุกข์ มันก็ทิ้งศักยภาพเชื้อของการที่เป็นทุกข์ได้อยู่ เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาก็ปฏิบัติให้หมดทุกข์ ก็คือ ให้มันสิ้นเหตุของทุกข์ไปเสียเลย อันนี้ก็จึงต้องถึงขั้นที่ปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขา จนกระทั่งถึงกระบวนการภายในที่เรียกว่าเป็นสมถะ วิปัสนา ให้ปัญญารู้ความจริงของสัจธรรม จนกระทั่งว่าทุกข์มันเป็นภาวะอยู่ในธรรมชาติ ตามธรรมดาของสังขาร มันก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติ ไม่เข้ามาเป็นทุกข์ในตัวเรา จิตก็เป็นอิสระไปได้ นี่ก็กำจัดถึงเหตุปัจจัยของทุกข์เลย ก็เป็นอันว่าสี่ขั้นนี้ข้อปฏิบัติต่อทุกข์ในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นหลักที่สำคัญดี เราจะได้มองถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วการปฏิบัติต่อทุกข์ต่อสุขนี้อาจจะผิดพลาดได้ หลักใหญ่ที่ว่าไปตอนต้นก็คือว่า ทุกขังปริญเญยยัง ทุกขอริยสัจเป็นสิ่งสำหรับปัญญารู้นะ อย่าไปเป็นทุกข์ แล้วก็หลักนี้อีกสี่ข้อ ซึ่งช่วยได้เยอะเลย ทีนี้ เป็นอันว่าพวกนิครนถ์ก็เป็นพวกที่เอาทุกข์มาทับถมตน ก็เลยพลอยละทิ้งสุขที่ชอบธรรม ทีนี้คนที่ไม่ละทิ้งสุข บาทีก็เอาทั้งสุขที่ไม่ชอบธรรม อันนั้นก็พลาดแล้วใช่ไหม นี่ท่านให้เอาแต่สุขที่ชอบธรรม คนนี้แม้ได้สุขที่ไม่ชอบธรรมก็หลง ที่จริงสุขชอบธรรมก็หลงอีกแหละ หลงหมกมุ่นมัวเมาก็ไปไม่รอด และเชื้อแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ที่มีอยู่ก็ไม่แก้ไข ฉะนั้นจะต้องก้าวไปให้ครบ ทีนี้พอมาในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็สอนวิธีปฏิบัติต่อทุกข์ให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นท่าทีต่อทุกข์อย่างถูกต้อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปทำให้ตัวเองทุกข์ด้วยซ้ำ หนึ่งการปฏิบัติที่บอกว่าจะกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไปเลย การปฏิบัติแม้ในข้อสุดท้าย ข้อสี่ที่สูงสุดนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นทุกข์ แต่สอง ในบางกรณีมันก็มีอยู่ที่ว่า เราอาจจะต้องฝึกตนพัฒนาตน แล้วจะต้องยอมทุกข์บ้าง ในกรณีอย่างนี้ก็คือเพื่อฝึกตน เพราะว่า ถ้าไม่ยอม ก็คนเรามันจะเอาอย่างใจตน มันนึกแต่ในแง่ตัณหาใช่ไหม จะสนองตัณหาของตัวเอง ทีนี้พอไปฝืนตัณหาเข้ามันกลายเป็นทุกข์ โดยที่จริงนั้นถ้าคนที่ฝึกแล้วจะไม่ทุกข์ใช่ไหม แต่ว่าคนที่ยังไม่ได้ฝึกมันมองเห็นเป็นทุกข์ ฉะนั้น ในกรณีนี้ก็ต้องฝึก ยอมทุกข์บ้าง ฉะนั้น การที่ปฏิบัติ ในระหว่างนั้นอาจจะมีการทุกข์บ้างก็เป็นได้ พระพุทธเจ้าก็เปรียบเทียบในกรณีนี้เหมือนกับเราจะดัดลูกศรให้ตรง การที่จะดัดลูกศรให้ตรง คือหมายความว่าพัฒนาชีวิต ฝึกตนให้ดี ให้เป็นชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ เป็นชีวิตที่ได้ฝึกฝนพัฒนาดีแล้วนี้ บางทีมันก็ต้องมีการดัดกันบ้างว่าอย่างนั้น เหมือนกับลูกศรที่จะดัดให้ตรง คนโบราณเวลาเขาจะดัดลูกศร เขาใช้ไฟลน เขาเรียกว่า (ข่า) ผมก็ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น คือเอาลูกศรมาวางบน (ข่า) ก็คงจะเป็นที่สำหรับตั้งวางลูกศร แล้วก็เอาไฟลนแล้วก็ดัด เขาจะดัดลูกศรให้ตรง เขาต้องใช้ไฟลน ก็เหมือนกับผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้สิ้น ก็อาจจะต้องมีการที่มองในแง่ของตัวเองที่เคยมากับการเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นสุข หรือตามใจตัวเองแบบนี้ เมื่อมาปฏิบัติอย่างนี้ก็รู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ไป ก็ทำด้วยเจตนาเพื่อฝึกตนเอง มันก็อาจจะต้องลำบากหรือทุกข์บ้าง ในกรณีนี้ก็ถือเป็นเรื่องฝึกไป แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเอาทุกข์มาทับถมตน แต่เป็นเรื่องของกระบวนการฝึก ซึ่งมันอยู่ในเรื่องของตัวเองที่ว่า เมื่อเจอสภาพอย่างนี้ มันจะเอาแต่ใจของตัวเองตามสบาย ในความเคยชินตามอำนาจตัณหาหรือกระแสกิเลส ก็เลยมองเห็นการปฏิบัติอย่างนี้เป็นทุกข์ ซึ่งถ้าฝึกตัวเองดีแล้วก็จะไม่รู้สึกอะไร ฉะนั้นก็จะต้องมีการฝึกกันบ้าง ถ้ามองความยากลำบากหรือทุกข์นี้เป็นการฝึกตนเอง มันก็เป็นขั้นหนึ่งในกระบวนการปฏิบัติให้ผ่านไป เพื่อจะได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป นี่ให้หลักการทั่วไปก่อน พรุ่งนี้ถ้ามีเวลาก็จะต่อไปถึงสุขในระดับต่างๆ ว่าคนเรานี้สามารถพัฒนาชีวิตให้มีความสุขในลักษณะต่างๆประเภทต่างๆได้อย่างไรบ้าง ซึ่งที่จริงก็พูดไปเยอะแล้ว แต่คล้ายๆว่า เอามาพูดเฉพาะในเรื่องสุขกันอีกที คล้ายๆประมวลจากที่พูดไปแล้ว เพราะพูดไปแล้วกระจายอยู่นั่นอยู่นี่ ก็วันนี้ก็มีอะไรอีกไหม เฉพาะสำหรับวันนี้โดยตรงที่เป็นเรื่องคำถามข้อสงสัย ถ้าไม่มีก็จะผ่านไปก่อน