แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นี่ก็ท่านบวชกันมา 2 เดือนแล้วนะ แล้วเพิ่งพบคุยกันได้ 4 ครั้ง พอมานึกอย่างนี้แล้วไม่ไหวแล้ว อะไร 2 เดือนได้พบกันแค่ 4 ครั้งอีกเดือนเดียวก็จะออกพรรษา ทำไงดี น่ากลัวต้องพบถี่ขึ้น แต่ทีนี้ร่างกายสิ ที่มันเนิ่นช้ามา กว่าได้พบกันทีก็ 7-8 วันก็เพราะเรื่องรอ เรื่องร่างกาย เหลือเวลาอีกเดือนเดียว ก็มาคุยกันต่อ เดี๋ยวก็ถามกันอีก แต่ทีนี้ว่าก่อนจะถาม ก็นึกถึงเรื่องคราวที่แล้ว บางทีพูดไปๆ บางเรื่องพูดแล้วก็ค้างทิ้งไว้ไม่ครบ เช่น อย่างตัวเลข อย่างวจีสุจริต4 วจีทุจริต4 บางทีพูดแล้วไปอธิบาย เสร็จแล้ว ยังไม่ทันเต็มเรื่องก็เลยไปเรื่องอื่น อย่างนี้ท่านต้องช่วยทักด้วย บอกยังไม่ครบครับ ว่าอย่างงั้นนะ
อย่าง วจีทุจริต 4 อะไรบ้าง 1. พูดเท็จ 2. พูดคำหยาบ 3. พูดส่อเสียดก่อความแตกแยก 4. พูดเพ้อเจ้อ พูดพล่อยๆ พูดเรื่อยเฉื่อย พูดไม่มีสาระอันนี้เป็นฝ่ายทุจริต 4 อย่าง ว่าจะใช้วจี โดยเฉพาะระบบประชาธิปไตยนี้จะใช้วจีมาก มุ่งให้ใช้ในการพูดจากัน คือแทนที่จะเอามือมาตีกัน ก็ให้ต้องมาพูดกัน อะไรเจรจากันได้ก็เจรจากันสะ แก้ไขปัญหาด้วยวิธีเจรจามันจะได้เอาปัญญาออกมา เพราะวาจานี่เป็นทางการสื่อสารที่เป็นช่องทางของปัญญา มือนี่มันเพียงเป็นเพียงเครื่องสนองของปัญญา สนองมติว่างั้นเถอะ เรามีมติว่าจะเอาไงแม้แต่มติในตัวเอง สมองเรามีมติว่าอย่างนี้ก็ให้มือรับใช้ แต่ว่าปากหรือวาจานี่มันแสวงมติ มือได้แค่สนองมติ แต่วาจานี่แสวงมติ เรามาพูดจากันเราก็จะได้ความรู้ ข้อมูล และจะลงมติด้วยปัญญาได้ดีขึ้น ทีนี้ระบบประชาธิปไตยนี้ต้องอยู่ด้วยกันปัญญา เพราะจะต้องเอาความต้องการ เป็นต้น มาปรับเข้าหากัน แล้วความต้องการที่ดีนั้น ต้องเป็นความต้องการที่ถูกต้อง เกิดจากปัญญา รู้เข้าใจเหตุ เข้าใจผล เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริง ฉะนั้นมันก็สำเร็จด้วยวาจา ทีนึ้คนก็ต้องฝึกเรื่องวาจาเพื่อการใช้วาจาอย่างได้ผล ท่านก็ให้เว้นวจีทุจริต4ที่ว่าเมื่อกี้ วาจาเท็จ วาจาหยาบคาย วาจาส่อเสียด ยุยงแล้วก็วาจาเพ้อเจ้อ
ส่วนวจีสุจริต ความสุจริตทางวาจา หรือคำพูดที่สุจริตก็มี 4 ตรงข้ามกัน คือ 1.วาจาจริง 2.วาจาสุภาพอ่อนโยนอ่อนหวานไพเราะอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ 3. วาจาสมานสามัคคี ตรงข้ามกับ ส่อเสียด ยุยง ก่อความแตกแยก ก็เป็นวาจาสมานความสามัคคี แล้วก็ 4. วาจาที่พูดด้วยปัญญาหรือพูดด้วยความคิด บางทีท่านก็แปลว่า พูดแต่พอดีด้วย เพราะภาษาบาลีท่านใช้คำว่า มันตราวาจาก็มี มัตตาวาจาก็มี มันตราก็แปลว่า ความคิด ที่ว่าเป็นรัฐมนตรีก็เนี่ย มาจาก มันตระ ตัวนี้ มันตระ ไม่ใช่เป็นแค่เวทมนตร์ มันตระ ความคิด แสดงออกภายนอกก็เป็นการปรึกษาหารือ ก็เรียก มันตระ เป็นสันสกฤตก็เป็น มันตระ มันตรี มาจากคำว่า คิด ปรึกษาใช้ความคิด ดำเนินกิจการของรัฐไป หรือว่าเป็นระบบการใช้ปัญญามาปรึกษากัน เพื่อให้กิจการของรัฐดำเนินไป ก็เป็นอันว่า วจีสุจริต4 นี่ว่าให้ครบ นี่ถ้ามัตตาวาจา ก็วาจาที่พอประมาณ คือพูดพอประมาณ พูดรู้จักประมาณ ไม่ใช่เลยเถิด เพ้อเจ้อมันก็มีลักษณะ 2 อย่างคือ 1. มันเรื่อยเปื่อยไม่ได้ใช้ความคิด ไม่ได้ใช้ปัญญา 2. เพ้อเจ้อ มันไม่พอดี มันเกินไป พูดมาก ไม่มีขอบเขตไม่รู้จักจบ พูดอยู่นั่นแหละ แล้วก็ไม่ได้สาระอะไร ก็เลยต้องพูดให้พอดีด้วยใช้ปัญญา ก็เป็นมันตราวาจา วจีสุจริตข้อที่4 นี่สำคัญ อันนี้ก็เรื่องหนึ่ง
แล้วอีกอันหนึ่ง คือ ได้ยินท่านพูดถึงว่า จะปล่อยไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ก็อยากเอามาพูดเหมือนกัน ต้องระวังนะ คำพระเอาใช้เสีย มันจะทำให้เกิดปัญหา เหมือนกับคำว่า ยถากรรม ทีนี้ก็เสียไปคำหนึ่งแล้ว คนไทยใช้ยถากรรมนี้เป็นเรื่องไม่ดี ยถากรรมเป็นไปตามกรรม ก็เป็นหลักธรรมดา ธรรมชาติ เป็นไปตามกรรม เช่นท่านพูดถึงว่า คนไปรับจ้างได้ค่าแรง ยถากรรม ก็คือ กรรม ตามกรรม กำลังการงานที่ตัวทำ เอ้าล่ะถ้าไม่ให้ได้ค่าแรงตามยถากรรม แล้วจะให้ตามไหนล่ะ ใช่ไหม แล้วคนตายไป ก็ไปตามยถากรรม ก็หมายความว่า ก็ไปตามกรรมของตน ก็ตรงไปตรงมา ทีนี้ภาษาไทยนี่กลายเป็นว่า ยถากรรม นี่ปล่อยเรื่อยเฉื่อย ไม่เอาเรื่องเอาราว นี่ภาษาไทยเพี้ยนหมด คำพระเอามาใช้เสีย ก็เลยให้ระวังอีก บอกว่า เดี๋ยวปล่อยไปตามเหตุปัจจัย คือสิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันอยู่แล้ว มีแต่ว่า ถ้ามีเหตุปัจจัยมากมาย แล้วในกรณีนั้น เราควรจะทำด้วย เราไม่ทำเหตุปัจจัย คือมนุษย์นี่ก็เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเหตุปัจจัย เราจะไปทำเหตุปัจจัย หรือเป็นเหตุปัจจัยด้วยในกระบวนการนั้นหรือไม่ ทีนี้ถ้าเราสมควรจะทำ เราไม่ทำ เราก็อาจจะพูดได้ว่า เราก็ปล่อยไปตามเหตุปัจจัยอื่น อย่างนี้พูดได้
ถ้าเราควรจะร่วมเป็นเหตุปัจจัย เราควรจะทำเหตุปัจจัยแล้วเราไม่ทำ เราปล่อยไปตามเหตุปัจจัยอื่นทั้งหลาย เช่น ปัจจัยภายนอก ก็เรียกว่าเป็นคนประมาท เนี่ย การปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลาย ที่มันเป็นไปของมัน โดยที่ทั้งๆ ที่เราควรจะเป็นเหตุปัจจัย ทำเหตุปัจจัย ก็ไม่ทำเนี่ย เรียกว่าความประมาทแล้ว เพราะฉะนั้นคำว่าปล่อยตามเหตุปัจจัยเฉยๆ จึงไม่มี เพราะสิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย อยู่ที่ว่าเหตุปัจจัยในกรณีนั้น มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราไหม เราควรจะมีส่วนร่วมต้องทำหรือเปล่า แล้วเราไม่ทำ ก็ปล่อยปละละเลยก็เป็นประมาท ก็ต้องเติมคำมาต่อท้ายว่า ปล่อยไปตามเหตุปัจจัยอื่น อย่างนี้เรียกว่าประมาทแล้ว อ้าวอันนี้ก็ปล่อยผ่านไป ก็ช่วยกันด้วยเรื่องศัพท์ ว่าจะต้องดึงศัพท์ที่มันเพี้ยนไปแล้ว เข้ามาสู่ทางที่ถูกต้อง
ในพุทธศาสนาถือเรื่องเหตุปัจจัยนี่สำคัญมาก แล้วมนุษย์เนี่ยเป็นองค์ประกอบหรือเป็นปัจจัยพิเศษเลย ในกระบวนการของเหตุปัจจัย เพราะว่ามีคุณสมบัติพิเศษกว่าเหตุปัจจัยอื่น เช่น มีปัญญา มีเจตจำนง อันนี้ที่สำคัญมาก เหตุปัจจัยอย่างอื่นมันขาดเจตนา ขาดปัญญา อย่างสัตว์หลายชนิดมันก็มีเจตนาเหมือนกัน แต่ มันก็ไม่มีปัญญาอีก มนุษยนี่มีทั้งเจตนาหรือเจตจำนง และก็มีปัญญา ทีนี้ถ้าเจตนามีมารับใช้ปัญญาที่ทำตามธรรมแล้ว ก็จะเกิดประโยชน์มากมาย ก็จะหันเอนกระบวนการของเหตุปัจจัยไปในทางที่ดี เหมือนที่เกิดเหตุวิกฤตการเมืองปัจจุบันนี้ก็กำลังทำเหตุปัจจัยกัน แต่ทีนี้จะทำด้วยปัญญาแค่ไหนอีกเรื่องหนึ่ง
นอกนั้นก็เรื่องปลีกย่อย เช่น อย่างเรื่องเขมรแดง เค้าเรียกเขมร Rouge เขมร Rouge นี่ที่ ผมเล่าว่า พรพจน์ ขึ้นครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี เขียว สัมพันเป็นประธานาธิบดี ตอนนั้นก็อยู่ในช่วงที่แกชนะล้ม ลอน นอล ลงได้เนี่ย ค.ศ.1975 1975 ก็เท่าไหร่แล้วล่ะ 33 ปี แล้วแกก็ครองอำนาจอยู่ได้ 3 ปี 1978 เวียดนามก็ส่งทัพมาสู้ สู้กัน 1979 ก็แพ้เวียดนามก็หนีเข้าป่า ก็สู้กันมาอีก แต่ระยะที่พรพจน์ขึ้นครองอำนาจแค่ 3 ปี ถึงปีที่ 4 ก็รบกับเวียดนาม ก็ฆ่าชาวเขมรไปที่ว่า บางท่านก็ว่า ล้านเศษ บางท่านก็ว่าสองล้าน บางท่านก็ว่าสามล้าน ไม่ได้ตัวเลขที่แน่นอน ตีสะว่า 1.5 ล้านขึ้นไป วันก่อนนี่ผมบอกว่า ตอนนั้น เขมรมีประชากรประมาณ 6 ล้านคน เพราะอันนั้นมันต้อง 33 ปี มาดูตัวเลขสถิติปัจจุบันนี่ เค้าว่าประมาณ 15 ล้าน ก็แสดงว่าเพิ่มตั้งเยอะนะ ไปดูเมื่อปี 1990 นี่บางตำราก็ว่าห้าล้านเศษ เกือบหกล้านเอ้าหกล้าน แล้วบางตำราก็ว่าแปดล้าน แต่ถึงยังไงมันก็แค่สิบแปดปีมานี่ ถ้าเอาว่าแปดล้านตอนนั้นเมืองไทย ห้าสิบหกล้าน ไทยก็มากกว่าเขมรเจ็ดเท่า ตอนนี้เขมรเป็นในราวสิบห้าล้าน ไทยเราหกสิบห้าล้านกี่เท่าละทีนี้ สิบห้าสี่ หกสิบ ก็ได้แค่สี่เท่าเศษ แสดงว่าไทยเราคุมกำเหนิดได้ดีกว่า ก็แสดงว่าเขมรเลื่อนขึ้นมาเยอะ อันนี้ก็เป็นเรื่องเกร็ดๆ เอาละครับ มีอะไรเล็กๆ น้อยๆ นึกขึ้นมาได้ก็ค่อยพูด นี่ท่านมีอะไรจะถามอีกบ้าง นิมนต์
(เสียงพระนวกะ) จะเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อนะครับ ไม่แน่ว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อจะตอบไปรึยัง เรื่องค้างครั้งที่แล้ว แล้วก็ ก็จะมีเรื่องใหม่ที่ว่า สถานการณ์ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร คือตอนนี้สภาก็เริ่มที่จะเลือกหานายกคนใหม่แล้ว เพราะว่า นายกก็โดนศาลพิพากษาแล้วว่า ไม่มีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็พยามยามผลักดันเรื่อง การเมืองแบบใหม่ การเมืองใหม่ก็คือ พยายามที่จะเอา นักการเมืองเก่าๆ นั้นออกไปจากระบบ และจะตั้งการเมืองใหม่ คือ เบื่อแล้วที่ว่าจะมีระบบเดิมอะไรอย่างนี้ ก็เลยไม่แน่ใจว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อจะมีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง กับสถานการณ์ปัจจุบันนี้น่ะครับ
(หลวงพ่อ) ผมก็ไม่ค่อยมีความเห็นอะไรมาก เพราะว่าในแง่หนึ่ง ในแง่ข้อมูลเนี่ย ผมก็รู้ไม่เพียงพอ แล้วก็เราก็ไม่เข้าไปยุ่งกับตัว การเมืองเอง คือพระนี่ไม่เข้าไปยุ่งกับคนการเมือง ทุกคนอยู่ในรัฐก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ว่ามีบทบาทในการเมืองไม่เหมือนกัน พระนี่ก็มีบทบาทในทางการเมืองไปอีกแบบ โดยเฉพาะจะเป็นบทบาทในด้านปัญญา ทีนี้พระก็จะเกี่ยวข้องกับประชาชนส่วนใหญ่ บทบาทของพระก็คือการสั่งสอนอยู่แล้ว ทีนี้จะทำไงจะสั่งสอนประชาชนให้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องต่อสถานการณ์นี้นั้นก็แง่หนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือให้ปัญญา ให้เขามีหลักที่จะคิด เพราะตอนนี้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยประชาชนเป็นใหญ่บอกแล้ว เราไม่ได้พิจารณาเฉพาะพวกที่ทะเลาะกัน เรามองที่ประชาชนส่วนใหญ่สำคัญกว่า แล้วก็จะต้องให้คนประชาชนส่วนใหญ่เนี่ยตัดสินใจได้ดี ถ้าแม้ไปยุ่งกับพวกสองฝ่ายนั้น แล้วประชาชนตัดสินใจไม่เป็น เนี่ยตัวสำคัญปัญหา ทีนี้แทนที่เราจะไปคลุกกับพวกสองฝ่ายนั่นน่ะ เราทำไงให้ประชาชนนี่แหละ มาตัดสินปัญหาด้วยปัญญา มีความคิด ความเข้าใจ รู้จักที่จะตัดสินใจให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็จึงน่าจะเน้นเรื่องนี้ แล้วไม่เฉพาะพระหรอก แม้แต่ ผู้รับผิดชอบต่อสังคมเนี่ยก็ควรจะต้องเอาใจใส่เรื่องนี้ เพราะมองได้หลายแง่ อย่างน้อยก็เราพูดกันนักกว่า วิกฤตเป็นโอกาส
อ้าวก็ตอนนี้มันวิกฤตก็น่าจะทำเป็นโอกาส โอกาสอะไร โอกาสถมไป โอกาสต้องเยอะเลย โอกาสที่สำคัญที่สุดก็คือ เราบอกประชาธิปไตยเมืองไทยนี่ ขออภัยนะ ประชาชนขาดคุณภาพ หรือยังด้อยคุณภาพ ก็เป็นโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพประชาชนน่ะ เวลานี้สำคัญที่สุดเลย เป็นเวลาที่ควรที่จะใช้โอกาสนี่ในพัฒนาคุณภาพประชาชน แล้วคุณภาพที่สำคัญที่สุด ก็คืออะไร ก็คือปัญญา เค้าจะได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง ถ้าประชาชนตัดสินใจได้ดีนะ ก็จะทำหน้าที่ต่อสองฝ่ายนี้ได้ด้วย ไม่ใช้ต้องรอให้สองฝ่ายนี้มาตัดสินใจแทน ก็ตัวเองตัดสินใจได้ดี ก็ไปเป็นสภาพแวดล้อมหรืออะไรก็แล้วแต่ กระบวนการที่จะมาตะล่อมหรือมาบีบก็แล้วแต่ ให้สองฝ่ายนี่ตัดสินใจทำในทางที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นแล้ว กลายเป็นว่าสองฝ่ายนี้จะกลายมาเป็นตัวกำกับ หรือบงการประเทศชาติไป ประชาชนควรจะมีความสามารถอันนี้ ทีนี้ตอนนี้ประชาชนไม่มีความสามารถเลย เหมือนกับอยู่ในฐานะเป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลา แทนที่ประชาชนเป็นผู้กระทำแต่ตอนนี้เป็นผู้ถูกกระทำ ใช่ไหม ก็รอให้เค้าพูด ให้เค้าว่า ให้เค้าอะไรต่ออะไรกันไป ตัวเองไม่ได้เป็นผู้กระทำ มันก็ผิดสถานะแล้ว ทีนี้พัฒนาประชาชนเนี่ย พัฒนาคุณภาพ แล้วพัฒนาอะไรดีที่สุด ดีที่สุดก็พัฒนาปัญญา แล้วอันนี้เข้าหลักพุทธศาสนาเลย พุทธศาสนาบอกว่าพัฒนาปัญญาเป็นสุดยอดแห่งการพัฒนาทั้งปวง เอาพุทธพจน์ก็ได้นะ เอตทคฺคํ ภิกฺขเว วุฑฺฒีนํ ยทิทํ ปญฺญาวุฑฺฒิ บอกว่า การพัฒนาปัญญาเป็นสุดยอด หรือเป็นเอตทัคคะในบรรดาการพัฒนาทั้งปวง เนี่ยพุทธศาสนาคืออย่างนี้
เพราะฉะนั้นเราจะพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ ให้ดีที่สุด ต้องพัฒนาปัญญา แล้วตอนนี้มันเป็นโอกาสเลย เราควรจะถือโอกาสนี้ อย่างน้อยระดมให้ความรู้ประชาชนเข้าไป ให้ประชาชนได้ความรู้ แล้วก็รู้จักคิด คิดบนฐานความรู้ ตอนนี้เนี่ยสถานการณ์เนี่ยมันเหมือนกับมาเป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นการทดสอบประชาธิปไตยด้วยนะ ที่ว่าวิกฤตเป็นโอกาสเนี่ย หนึ่งสถานการณ์นี้ มันเป็นเครื่องทดสอบความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทย ก็เราบอกเราจะเป็นประชาธิปไตย เอ้าเราจะดูได้เลยว่า ประชาชนเนี่ยมีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน มีคุณภาพในความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน ก็ดูเมื่อเกิดสถานการณ์นี้ขึ้น คนมีท่าทีปฏิกิริยาอย่างไร แค่เจอกัน เถียงกัน ทะเลาะกัน พูดกันไม่ได้ ก็จบแล้ว อันนี้ก็ผิดแล้ว อันนี้เป็นบทสอบความเป็นประชาธิปไตย
ถ้าเป็นประชาธิปไตยจริงนะ มันต้องเถียงกันได้ เอ่อ เจอกัน ถ้าจะเอาความจริงกัน ใช้ปัญญา แล้วต้องพูดด้วยปัญญาตามหลักวจีสุจริต แล้วพูดเท่าไหร่ พูดเท่าไหร่เท่ากันนะ ไม่ทำร้ายกัน เป็นบททดสอบเลย ว่าประชาธิปไตยจะเป็นไปได้ไหม ถ้าประชาธิปไตยเป็นไปได้นะ เกิดเหตุการณ์อย่างนี้แล้ว ประชาชนแม้จะมีความเห็นต่างกัน พบกันก็ต้องพูดกันได้ สามารถรับฟังกันได้ นี่คือความเป็นประชาธิปไตย ถ้าแค่นี้คุณยังไปไม่ได้ แล้วประชาธิปไตยเมืองไทยจะไปได้อย่างไร นี่แหละเป็นโอกาสพิเศษเลย ที่จะหนึ่งที่ทดสอบความเป็นประชาธิปไตยในประชาชน ตั้งแต่แต่ละคนไปเลย ว่าเขาสามารถรับฟังกันได้ไหม เถียงกันได้ไหม คนในสังคมประชาธิปไตย มันต้องใช้ปากเถียงกัน หาความจริงกันได้จนถึงที่สุด โดยไม่เอามือมาตีกัน ว่าถึงอันนี้นะ หลวงลุงเนี่ย หลวงลุงที่อายุ 94 แล้ว ตอนไปอินเดีย เอ่อท่านไปติดใจอันนี้ เกิดความประทับใจอันหนึ่ง คือไปเห็นคนอินเดีย คนอินเดียนี้มีอันหนึ่งที่แปลก คือเค้าทะเลาะกันเนี่ย เค้าจะพูดกันมายืนเถียงกันน่ะ เถียงกันเป็นชั่วโมง จนกระทั่งเอาปากมาจ่อจนหน้าติดกัน เค้าก็เถียงกันอยู่นั่นแหละ ไม่มีลงมือหรอกครับ ในที่สุดก็เลิกลากันไป ปากจะจูบกันแล้ว เถียงกันแล้วก็เลิกกันไป เอ่อ หลวงลุงท่านจำแม่น อันนี้ท่านเอามาพูด แสดงว่ามันเป็นจุดเด่นของอินเดีย คนไทยไม่ได้ พูดกันสองสามคำ ลงมือลงไม้แล้ว ใช่ไหม ฉะนั้นอันนี้คนไทยจะต้องฝึกตัวเองให้ได้ จะต้องพูดกันได้ พูดกันไป แต่อย่าใช้มือใช้เท้า อันนี้แหละที่เรียกว่า Nonviolent แล้วก็วาจาก็ต้องฝึก ใช้วาจาก็ดีขั้นหนึ่งแล้วคือ ไม่ทุบ ถอง ตี แต่ว่าวาจานั้นก็ต้องฝึกให้เป็นวจีสุจริตอีก ถ้าอย่างนี้ยัง ยังไม่พัฒนาเพียงพอ แต่อินเดียนี่ก็แปลกนะ ถ้าเป็นเรื่องศาสนามันเอากันตายง่ายๆอีก มันก็ตรงข้ามสุดโต่งไปอีกแบบ เค้าตีกันตายเรื่องศาสนานี่ทุกปี เท่าที่ทราบนี่หนักเหลือเกิน นี่ก็เป็นปัญหาทิฐิที่เราพูดเมื่อกี้ หนึ่งละนะครับเป็นบททดสอบประชาธิปไตย คนไทยจะต้องฝึกตัวเองให้ได้
สองก็เป็นแบบฝึกหัด ก็นี่แหละ เราใช้วิกฤตการณ์นี้เป็นแบบฝึกหัด ในการพัฒนาคน ในการพัฒนาตั้งแต่ตัวเองของแต่ละคน พัฒนาความเป็นประชาธิปไตย ถ้าเรารู้หลักอันนี้จับจุดได้ มันทดสอบเราว่าไม่ผ่าน มันตกสะแล้ว เราก็ต้องรีบมาใช้เป็นแบบฝึกหัด เอ้าแบบฝึกหัด ต้องเถียงกันได้ ต้องฟังกันได้ ถ้าไม่เถียง ก็ฟังได้ก่อน ไม่ใช่ว่า พอขึ้นแท็กซี่ แท็กซี่ฟังไม่ได้ก็ไล่ลง เข้าร้านอาหารพูดไม่ถูกหู เจ้าของร้านเป็นคนละฝ่ายเจ้าของร้านไล่ออก อย่างนี้ก็แสดงว่า ยังรับฟังกันไม่ได้ อย่างน้อยต้องรับฟังได้ เราก็ต้องตั้งท่าทีให้ถูก คนที่จะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องสามารถรับฟังคนอื่นได้ จะมีความคิดเห็นแตกต่างอย่างไร ฟังได้ทั้งนั้น ตั้งท่าทีให้ถูกก่อน อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ถึงอย่างไรเราก็ยังเป็นประชาชน แล้วก็ยังมีผลประโยชน์ร่วมกัน มีความรักชาติเหมือนกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตอนนี้แทนที่เราจะมองแบบว่าเป็นคนละฝ่าย เราก็มองว่า เราเป็นประชาชนด้วยกันมาร่วมกันคิด แก้ปัญหา ก็มองเป็นสองฝ่ายนั้น เค้ามีอะไรกัน เอ้อ อีตาคนนี้มา พูดนี่เหมือนเป็นตัวแทนของฝ่ายนั้น เราก็จะได้รับฟังว่าเขามีความเห็นอย่างไร แทนที่เราจะฟังด้วยความรู้สึก ชอบใจ ไม่ชอบใจ จิตต้าน เราฟังหาความรู้เลย เราฟังแบบเรียนรู้ เราก็จะรู้ว่า เดี๋ยวนี้ สถานการณ์เป็นอย่างไร ฝ่ายนั้นมันคิดไปแค่ไหน ชาวบ้านที่เข้าฝักฝ่าย ฝ่ายโน้นน่ะ คิดอย่างไร ตอนนี้นี่เราเปลี่ยนท่าทีอย่างนี้ ปั๊บ เปลี่ยนเป็นเรียนรู้ทันทีเลย เอ่อ เราจะรับฟัง ฟังดูสิพวกนี้ คิดกันยังไงตอนนี้ คิดไปถึงไหนแล้ว แล้วถ้ามองส่วนรวมประเทศชาติ คนคิดถึงขั้นนี้แล้วจะมีปัญหาอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร เอาเป็นข้อมูลในการคิดพิจารณาแก้ปัญหา หรือไม่งั้นถ้ามันไม่ไหวก็คิดปลงไปเลย แหมเราได้คนนี่มันน่าสงสาร ดูสิหน้าตาเป็นอย่างนี้นะ ดุเดือดจะกินเลือดกินเนื้อ แหมมองแล้วน่าสงสาร เราก็เลยปลงไปเลย
ฉะนั้น มองอีกแง่หนึ่งก็น่าเรียนรู้ เขาจะเป็นฝ่ายไหนมาพูดก็แล้วแต่ ฉะนั้น ฟัง แล้วก็ขำแล้วทีนี้ ขำในใจ อีตาคนนี้นี้จะกินกินเนื้อ อะไรกันเรื่องแค่นี้ใช่ไหม เราอย่าไปเป็นผู้ถูกกระทำสิ เอ่อ เค้ามาพูดแล้วไม่ถูกใจเราคนละข้าง โอ้ว เอากันแล้ว ต้องเถียงกับมันตอนนี้แหละ นี่เรียกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ผิด เราต้องเป็นผู้กระทำ เราก็ตั้งท่าทีใหม่ เราก็มองอีตาคนนี้ เนี่ยได้แค่นี้เอง พูดไม่ได้เกิดปัญญา ฟังดูสิ เขาจะว่าอย่างไร เราก็ได้เรียนรู้มนุษย์ด้วย รู้ว่าผู้คนในสังคม เป็นกันอย่างไรตอนนี้ ในสถานการณ์อย่างนี้ ประเทศเป็นอย่างไร มองกว้างออกไป มองเห็นสังคมเป็นอย่างไร จะได้เอามาเป็นข้อมูล ข้อพิจารณาในการแก้ปัญหาของส่วนรวม ถ้าไม่มีคนคิดแบบนี้มันแก้ไม่ได้หรอกครับ ตั้งท่าทีใหม่ เพราะฉะนั้นประชาชนเนี่ย ตั้งท่าทีให้ถูก ตั้งท่าทีอย่างนี้แล้ว คุยกันได้ ถ้าหากว่าเขา กำลังแรงมา เราก็ให้เขาพูดไป บางทีเค้าอาจจะถามเราว่า เอ้อ แล้วคุณเข้าข้างใคร หรืออยู่ข้างไหน เราก็อาจจะตอบแบบสุภาพ ดูว่าสมควรตอบก็ตอบ ไม่สมควรตอบก็ไม่ตอบ ก็อยากฟังดูคุณก่อน หรือไม่งั้นก็อาจจะพูดว่า ฉันถือธรรมเป็นใหญ่ อะไรถูกก็ว่าไปตามถูก อะไรผิดก็ว่าไปตามผิด เราก็ว่าแค่นี้พอ อย่างนี้ก็ได้ แต่ฉันฟังคุณ คุณจะพูดอะไรฉันก็ฟัง อย่างเงี้ย ประชาชนต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา ก็มองว่าเราเนี่ยนะ เราก็เป็นอันว่าเป็นประชาชน แล้วอันที่จริงเนี่ย ประชาชนจะต้องเป็นผู้คงสติไว้ เพราะว่าเราอยู่นอกเหตุการณ์ เราไม่อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง เราไม่ได้คลุกอยู่ในนั้น เราเป็นประชาชนที่อยู่ในบ้านในเมือง เรา ร่างกายอะไรต่ออะไรของเราค่อนข้างคล่องแคล่วกว่า เป็นอิสระกว่า เราก็ต้องคงสติได้ดีกว่า ไม่เหมือนกับคนอยู่ในเหตุการณ์นั้นนะ คนอยู่ในเหตุการณ์ที่อยู่เป็นฝักเป็นฝ่ายน่ะ มันมีโอกาสที่จะสติไม่ค่อยดี ขออภัย สติไม่ค่อยมี สติไม่ค่อยดีเดี๋ยวเข้าใจเสีย เดี๋ยวจะบอกว่าเสียสติ อ้าวมันก็จริงนะ บางทีสติมันก็เสียไป หรือสติไม่ค่อยมี เพราะอะไร เพราะว่าบางคนก็ฟุ้งซ่าน บางคนวุ่นวายใจ บางคนก็กังวล บางคนก็ใจมุ่งจะไปต่อสู้กับฝ่ายโน้น สติสตัง ไม่ค่อยดี สตังค์มีแต่สติไม่ค่อยดี ทีนี้สติไม่ค่อยมีเนี่ย เค้าก็คิดอะไรได้ไม่ค่อยสมบูรณ์หรอก ทีนี้เราน่ะเป็นประชาชน เราอยู่ข้างนอก เราควรจะเป็นหลักให้แก่เขา เราควรจะมองคนเหล่านั้นด้วยความสงสาร เห็นใจ ว่าเอ่อ คนจำนวนมากในนั้นน่ะก็เป็นคนที่หวังดีต่อประเทศชาติ แต่เค้าอยู่ในสถานการณ์นี้น่ะ บางทีมันมืดมัวมองอะไรไม่ออก ฉะนั้นเราเนี่ยจะต้องเป็นหลักให้แก่เขา เขาขาดสติบ้าง สติไม่ค่อยมีบ้าง เราก็ให้สติเขา เราต้องรักษาสติของเราให้ดี เมื่อเรารักษาสติดี เราก็ต้องไปเป็นที่พึ่งให้คนเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง ถูกไหม เนี่ยคนไทยทั่วไปเนี่ยมองตัวเองสะให้ถูก เรานี่ควรจะไปเป็นที่พึ่งให้คนเหล่านั้น ให้สติ พูดมาไม่ถูกก็ไม่ถูก แล้วก็ย้อนกลับไป ควรจะแก้ไขตัวเอง อันนี้ไม่ดี คุณจะแก้ไขปัญหาหวังดีต่อประเทศชาติน่ะดีแล้ว แต่ว่าทำให้มันถูก อะไรถูกก็ว่าไปตามถูก อะไรผิดก็ว่าไปตามผิด ใช่ไหม คือกลายเป็นผู้ถูกกระทำไปสะหมด แทนที่จะตั้งตัวเป็นผู้กระทำ เอานะประชาชนต้องตั้งตัวขึ้นมาให้ได้ เป็นหลัก ตอนนี้ประชาชนต้องตั้งตัวเป็นหลัก พอตั้งตัวเป็นหลักแล้วเนี่ยประชาชนเหล่านี้จะไม่ทะเลาะกัน ก็จะมาร่วมกันคิดฟังกันได้ ตั้งแต่ในบ้านน่ะแหละ พ่อแม่ลูกอะไรก็ฟังกันได้หมด เอ้อตั้งท่าทีใหม่ ในฐานะที่เราเป็นประชาชน เป็นฝ่ายที่จะเป็นหลักให้แก่สังคม ที่จะต้องช่วยพวกสองฝ่ายนั้นให้ได้สติให้ถูกต้อง ทั้งสองฝ่ายนั้นอาจจะทำถูกบ้าง ทำผิดบ้าง ยิ่งสถานการณ์อย่างนี้แล้ว มีโอกาสพลาดได้เยอะ อะไรที่เป็นประโยชน์ก็ยอมรับฟัง อ้าวผมก็เลยพูดเรื่อยเปื่อยไป นิมนต์ครับ ท่านรอถามนานแล้ว
(เสียงพระนวกะ) กราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า ระบอบประชาธิปไตยเนี่ยเหมาะสำหรับประชาชน ชาวไทยหรือเปล่า เพราะระบอบนี้เนี่ย ได้มาจากต่างประเทศ
(หลวงพ่อ) คือเราก็มองในแง่ของความเป็นมนุษย์ ว่าโดยหลักการทั่วไปเนี่ย มันก็ดี แต่ว่า ไอ้รูปแบบ รายละเอียดเนี่ยที่อาจจะต้องมีการปรับให้เหมาะ แล้วมันไม่ใช่เหมาะกับมนุษย์พวกโน้นพวกนี้หรอก แม้แต่ในมนุษย์พวกเดียวกันในระดับของพัฒนาการก็ต้องปรับ เราไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับฝรั่งหรอกนะ เพราะฝรั่งกับเราการพัฒนาในแง่ต่างๆ ก็ไม่เท่ากัน บางแง่เช่น จิตใจ บางแง่เราก็ดีกว่า แต่บางแง่เราก็แพ้เขา เช่น ปัญญาในทางวิทยาการ ทีนี้ไอ้จะเหมาะกันจริงๆ ก็คือเราต้องรู้เข้าใจสังคมของเรา โดยหลักการทั่วไปแล้ว ถือว่าการปกครองประชาธิปไตยเนี่ยก็น่าจะดีที่สุด หรืออย่างที่นักปราชญ์ท่านว่า บอกเลวน้อยที่สุด มีเลวน้อยที่สุดก็คือ คนที่อยู่ร่วมในสังคมเนี่ยมันก็พอจะมีส่วนร่วมใช่ไหม ประชาธิปไตยก็คือ การปกครองที่ คนที่อยู่ในสังคมทุกคนนั้นมีส่วนร่วมด้วย อ้าวมีส่วนร่วมด้วยมันก็ดีน่ะสิ แต่ว่าการจัดที่จะให้มีส่วนร่วมน่ะจะทำอย่างไร มันก็เลยต้องมาวางรูปแบบให้เหมาะ เราอาจจะพูดว่า รูปแบบประชาธิปไตยที่เป็นรูปแบบของฝรั่ง บัดนี้เหมาะกับเราไหม อันนี้ก็คงยังไม่ถึงกับเหมาะโดยแท้ ร้อยเปอร์เซนต์เป็นไปไม่ได้ แต่จะปรับอย่างไรให้เข้ากับสังคมไทย เราเอาหลักการว่าประชาธิปไตยเหมาะ เพราะว่าถ้าเราไปดูแล้ว ตั้งแต่มนุษยชาติเกิดมาถ้าว่าตามหลักการหรือประวัติศาสตร์หรือพุทธศาสนา คำสอนในพระไตรปิฏก ระบบประชาธิปไตยเนี่ยเกิดก่อน แล้วก็ต่อมา พวกที่ขึ้นมามีอำนาจอะไรนี่ก็เลยยึดถืออำนาจกันขึ้น แล้วมันก็เป็นวิวัฒนาการของการปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องเยอะแยะ ประวัติศาสตร์ยาวนาน
เอ้าผมเล่าสักนิดหนึ่ง ท่านจะได้มองเห็นว่า ทำไมพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเล่าอย่าง ในอัคคัญญสูตร ในทีฆนิกาย เป็นพระสูตรที่ยาว ก็พูดถ้าเทียบกับศาสนาอื่นก็เรียกว่า พระสูตรว่าด้วยกำเหนิดโลก แต่พุทธศาสนาไม่ได้ถือว่า มีใครมาสร้างอะไรนะ ก็พูดถึงว่าตอนนั้นเนี่ย พระอาทิตย์ พระจันทร์ มันยังไม่ขึ้น มืดมิดไปหมด แล้วก็มีแต่น้ำ ทีนี้ก็มีสัตว์ สัตว์ที่เรียกว่า มีแสงในตัวเอง สว่างในตัวเอง ตอนนั้นมันมืด เหาะเหินไปในอากาศ แล้วพวกนี้ก็มากินง้วนดิน ตอนนั้นก็โอชะจากดินอร่อย แล้วพวกนี้ต่อมาก็มีร่างกายหยาบขึ้นๆ ก็อยู่บนดิน เหาะไม่ได้แล้วทีนี้ อยู่บนดินแล้วก็วิวัฒนาการมาจนกระทั่งเป็นมนุษย์ พอเป็นมนุษย์แล้วทีนี้ต่อมา พวกมนุษย์ทำมาหากินอย่างไร ก็ไม่ได้ทำมาหากิน ก็คือมนุษย์ก็มีชีวิตเป็นสัตว์เนี่ย จะกินก็ออกไปตามที่เกิดของพืชพันธุ์ ธัญญาหาร แล้วก็ไปเก็บเอามา แล้วก็กิน ก็ไปมื้อหนึ่งๆ ต่อมามนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่มีปัญญาก็รู้จักคิดน่ะ ปัญญาของเขามันก็นำมาสู่ปัญหาด้วย ปัญญานี่มันก็ทำให้ทั้งแก้ปัญหาและสร้างปัญหาในคนละแง่ เพราะมันเป็นปัญญาในระหว่างพัฒนา แล้วมันมีกิเลสเข้าไปประกอบกำกับอยู่ ไอ้เจ้ากิเลสมันก็มาเอาปัญญาไปใช้ มันก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา แล้วปัญญาก็ต้องมาแก้ปัญหากันอยู่เนี่ย ทีนี้มนุษย์นี่ไปเก็บพืชพันธุ์กินกัน ต่อมาก็มีเรื่องสร้างบ้านที่อยู่อาศัย คือ เกี่ยวกับการสืบพันธุ์อะไรด้วย ก็เป็นส่วนหนึ่ง ก็ทำให้หาที่ปกปิดอะไรต่างๆ ต่อมาก็มีการสร้างบ้านอยู่ แล้วไปหาอาหาร บางคนก็มีความคิดว่า เราจะต้องมาหากินทีละครั้ง พอหิวทีก็มีเก็บกินที ทำไม เราก็เอาไปให้พอที่จะกิน เท่าที่อาหารมันจะอยู่ได้ มันยังไม่เหี่ยว ไม่แห้ง ไม่เน่า ไม่เสีย ก็เอาไปเก็บไปกิน พอเอาไปเก็บไปกิน ตอนนี้มันชักจะเป็นปริมาณที่มันไม่เฉพาะกินคราวนั้น ต่อมามันก็มีปัญหาว่า คนมาเก็บกินๆ ต่างคนก็จะเก็บเอาไปในที่ของตัว ก็เริ่มแย่งกันใช่ไหม ต้องการมากขึ้น ไอ้ความโลภมันก็เกิด ก็แย่งกัน ทีนี้ก็เลยเหมือนกับว่าแบ่งเขตกัน เอานะเธอแค่ส่วนนี้ ฉันส่วนนี้ เริ่มๆ แล้ว เริ่มจัดระบบสังคมมนุษย์ เอ้าแกเก็บแค่นี้นะ แค่นี้ฉันเก็บ ก็เรียกว่าในสมัยนี้ก็คือแบ่งเขตสิทธิกัน ทีนี้ต่อมาบางคนไปเก็บ ในเขตที่ตัวตกลงว่าตัวจะได้น่ะ มันไม่งอกงาม มันไม่เพียงพอ เหลียวซ้าย แลขวา ไอ้ฝ่ายโน้นไม่มีใคร มันไม่มีใครอยู่ ก็ดอดไปเก็บเอาในฝ่ายโน้นมา เอ่อเอาละสิ ชักไม่ได้เรื่องละ นี่อธิบาย อทินฺนาทาน เกิดละ ทีนี้ต่อมาไอ้ฝ่ายโน้นมันเห็นเข้า ทีนี้ก็ทะเลาะกันทะเลาะกันทีนี้พูดปด มุสาวาท เอาละมาแล้ว ผิดละ ต่อมาๆ ก็ทะเลาะตีกัน เอาอีกแล้ว ปาณาติปาต เกิด เนี่ยละครับที่ละปัญหาเรื่องมนุษย์ สังคมมนุษย์ ทีนี้พอมีปัญหามากขึ้นๆ มีทั้ง อทินฺนาทาน ลักของ ทั้งมุสาวาท พูดเท็จ หลอก โกหก ทั้งปาณา ฆ่ากันอะไรๆ อย่างน้อยก็ทำร้ายร่างกาย เบียดเบียนกัน ทีนี้มนุษย์ที่ฉลาดในหมู่ ชุมชนเหล่านี้ก็มาคิดกันว่า เราจะอยู่กันอย่างนี้ไม่ได้แล้ว เราเอาอย่างนี้ไหม มาประชุมกันตกลงว่า เราหาหมู่พวกเรานี่ คนไหนเป็นคนมีบุคคลิกลักษณะดี แล้วพูดจาดี มีสติปัญญาน่าเชื่อถือ แล้วมอบหมาย ขอให้เขานี่เป็นผู้มีอำนาจตัดสิน เวลามีกรณีพิพาท ทะเลาะกัน ขัดแย้งกันอะไรต่างๆ เนี่ย ก็เลยตกลงเป็นมติที่ประชุม มติร่วมกันนี่เรียกว่า สมมต สมมต แปลว่า มติร่วมกัน มติ มี สังข้างหน้า สังนั้นแปลงหลักไวยากรณ์เป็น สม แล้วก็มติ เป็น สมมต แปลว่ามีมติร่วมกัน ที่ประชุมนั้นก็มีมติร่วมกันให้ คนนี้ที่เขาคัดเลือกมาเนี่ย ขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจที่จะตัดสินกรณีพิพาท แล้วเพื่อให้เขาได้ทำหน้าที่ได้สะดวก ไม่ต้องมาลำบาก มัวไปเก็บอาหารกับคนอื่นมันก็ต้องไม่เป็นอันทำหน้าที่ใช่ไหม มีเรื่องมา ก็เลยจัดสรร ให้เขามีอำนาจในเขต แล้วก็มีอาหารเลี้ยงเขา แล้วก็ให้อำนาจเหมือนกับเขาเป็นเจ้าใหญ่ในเขตแดนนี้เลย คนพวกนี้ก็จะช่วยให้ประชาชนเนี่ย ได้แก้ปัญหาที่ทะเลาเบาะแว้ง เกิดความโศกเศร้าเสียใจ ก็จะได้เกิดความชื่นใจ ก็เลยเกิดชื่อบุคคลผู้นี้ในฐานะที่เป็นผู้ที่มหาชนเลือกตั้งขึ้นมามีมติร่วมกัน ก็เรียกว่า มหาสมมต มาจากคำว่า มหาชนะสมมต แปลว่า ผู้ที่มหาชนมีมติร่วมกัน อย่างนั้น คือ แต่งตั้ง เลือกตั้งขึ้นมา เนี่ยเห็นไหม ระบบเลือกตั้งนี่มาก่อนที่สุดเลย เนี่ยประชาธิปไตยไหมฮะ ทีนี้ ในฐานะที่ท่านผู้นี้ เป็นผู้ที่ทำประชาชนให้ชื่นใจ มีกรณีพิพาทมาก็แก้ปัญหาให้เขา ก็เลยเรียกว่า ราชา แปลว่า ผู้ทำประชาชนให้ชื่นใจ แล้วก็ในฐานะที่มอบให้ท่านเป็นผู้มีอำนาจเหนือเขตแดน ที่นาตอนนั้นเขตที่ดินจะมุ่งไปที่ๆนา เพราะมันเกิดจากที่แปลงธัญญาหาร แล้วก็ให้ท่านเป็นใหญ่ในเขตเหล่านี้ก็ให้ชื่อว่า ขัตติยะ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในเขต เป็นสันสกฤต ก็กษัตริยะ ท่านผู้นี้ก็เลยได้ชื่อสามอย่าง ในฐานะที่มหาชนเลือกตั้งขึ้นมา มหาชนะสมมต หรือ มหาสมมต ในฐานะที่เป็นผู้ที่ทำให้ประชาชนหายเดือดร้อน หายโศกเศร้า เสียใจ ชื่นใจขึ้นมา เรียกว่า ราชา ในฐานะที่มีผู้มีอำนาจเหนือเขตแดนเรียกว่า กษัตริย์ หรือ ขัตติยะ นี่ก็คือกำเหนิดผู้ปกครอง อ้าวท่านเห็นไหมฮะ
ทีนี้ผู้ปกครองเนี่ย ทีนี้ต่อมาเกิดหวงแหนอำนาจ ต่อมามันก็เป็นวิวัฒนาการสังคมอะไรต่ออะไร อันนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงแล้วนะ เอ้าละครับ จะเห็นได้ว่าประชาชนมีส่วนร่วมมันก็ดี ตอนแรกเราจะเห็นว่าพอผู้ปกครองขึ้นมีอำนาจปกครอง ก็ต้องตั้งกติกา กฎหมายก็เกิด ว่าอันนี้ทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ ใช่ไหมประชาชนจะได้รู้ว่า เอายังไง ทำอย่างไร อันนี้เขตนั้นของคนนั้นคนนี้ให้ตกลงละเมิดไม่ได้ ละเมิดจะให้ลงโทษยังไง ใช่ไหมนี่ มีกฏหมาย กติกาเกิดขึ้นมาแล้ว จากการปกครองก็เกิดกฏหมาย กฏหมายก็เกิดจากผู้ปกครอง ทีนี้ต่อมาผู้ปกครองก็เกิดปัญหา ที่ว่าก็เห็นแก่ตัว ใช่ไหม ปกครองเขาไปเอาเปรียบเขา ต้องการข่มเขา บังคับ กดขี่ เอาไว้ในอำนาจ วิวัฒนาการของการปกครองก็มาในเรื่องตัณหา มานะ ทิฐิอีก ผู้ปกครองเองเกิดขึ้นมามากๆ ก็ทะเลาะกัน แย่งอำนาจกัน ที่เล่าไปคราวที่แล้ว ตัณหา มานะทิฐิ มีหมู่ชน เชื้อชาติ เชื้อชาตินี้ เชื้อชาติโน้น ก็มีทิฐิในเชื้อชาติของตนเอง ว่าเชื้อชาติของตนเองยิ่งใหญ่กว่า ถึงกับขนาดที่ว่าไม่ยอมแต่งงานกันใช่ไหม ถือชนชาตินั้นต่ำอะไรอย่างนี้อีก ก็เลยยุ่งกันใหญ่ ก็เลยทะเลาะกัน ฆ่ากันเพราะตัณหาแย่งผลประโยชน์ มานะแย่งอำนาจ ทิฐิการเรื่องของยึดถือ ในเชื้อชาติ เผ่า ชนชั้น ชนชั้นก็สีผิวไง สีผิวเนี่ยต่อมาก็เป็นเรื่องใหญ่มาก สงครามทิฐิ แล้วก็ลัทธิศาสนา อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง เป็นหมดเลยนี่ ทิฐิมาเนี่ย อ้าวผมก็เลยเรื่อยเปื่อยไปอีกแระ แต่เรื่องนี้น่ารู้ มันมาเกี่ยวกันเนี่ย ถ้าประชาชนรู้เข้าใจ ประชาชนจะมาช่วยการปกครองนี้ได้ดีขึ้น เราพูดแล้วว่า การปกครองประชาธิปไตยเนี่ย คนต้องมีคุณภาพ ต้องมีปัญญา เมื่อคุณจะมีส่วนร่วมในการปกครอง คุณก็ต้องรู้หลัก รู้เหตุ รู้ผล รู้อะไรเป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ ไม่งั้นจะไปปกครองได้อย่างไร เอ้าผมตอบที่ท่านถามรึยัง เมื่อกี้ถามว่าไงนะฮะ
(เสียงพระนวกะ) ถามว่า ระบอบประชาธิปไตย เหมาะกับคนไทยหรือเปล่า
(เสียงหลวงพ่อ) ครับ ก็เป็นอันว่า มันเหมาะกับความเป็นมนุษย์ก็ว่าได้ ที่มีส่วนร่วม แต่ว่าจะต้องจัดรูปแบบให้เหมาะกับพัฒนาของมนุษย์ในสังคมนั้น ทีนี้จะต้องดูคนที่จะจัดระบบสังคมประชาธิปไตยสังคมไทย ก็ต้องเข้าใจคนไทยใช่ไหม รู้พัฒนาการของคนไทยเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะไปเอาทิฐิของตัวเอง นึกถึงรูปแบบอะไรที่ตัวอยากได้ นึกว่าดีแล้ว แล้วลองเอารูปแบบนั้นมาจัด แล้วมันไม่เข้ากับพัฒนาของมนุษย์ในสังคมนี้ มันไปไม่รอด ฉะนั้นจึงว่ามันมองข้างเดียวไม่ได้ เค้าบอกเนี่ย จะจัดระบบใหม่เนี่ย คุณเข้าใจพัฒนาการของคนไทยดีพอไหม มันต้องจัดทั้งรู้พัฒนาการของคน แล้วก็จัดเพื่อพัฒนาคน มันต้องทั้งสองด้าน คือหมายความว่าต้องดูฐานที่เป็นอยู่ ว่าฐานเค้าเป็นอย่างไร พื้นฐานขณะนี้เขาเป็นอย่างนี้ จัดให้เหมาะ แต่ไม่ใช่จัดเพื่อให้เขาคงอยู่อย่างนี้นะ จัดให้เอื้อต่อการพัฒนามนุษย์พวกนี้ด้วย จะให้ประชาชนพวกนี้ไปอย่างไร แล้วคนที่จัดรูปแบบอย่างนี้ได้เก่ง ระบบอย่างนี้ได้ จะต้องเก่งขนาดไหน หนึ่งต้องรู้เข้าใจสังคมมนุษย์นี้ คนไทยพัฒนาแค่ไหน ด้านไหนด้านจิตใจ ด้านความประพฤติ วัฒนธรรมประเพณี ด้านสติปัญญา และก็แนวทางในการพัฒนาสังคมไทยนี่จะพัฒนาไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร จุดไหนจุดอ่อน จุดแข็ง แล้วก็มีเหตุปัจจัยอะไรที่มาช่วยเอื้อ ในการจัดสรรให้เค้าเกิดการพัฒนาที่ดี มันต้องรู้หมดแหละ ไม่ใช่มาพูดแค่ว่า เอ้ยฉันชอบระบบนี้นะ รูปแบบนี้ดี จะเอามาใส่ มันก็กลายเป็นเอาทิฐิของตัวเองมายัดเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่พอหรอกครับ มันต้องมาช่วยกันคิด นั่นแหละ ถ้าจะให้ดีประชาชนต้องมีสติปัญญา ทีนี้ตอนนั้นเท่ากับว่า ตอนที่เกิดตอนแรกในการปกครอง ก็เหมือนกับว่า ประชาชนเนี่ยตั้งมหาสมมตขึ้นมา แต่มอบอำนาจให้มหาราชา กษัตริย์ นั่นมีอำนาจใช่ไหม ต่อมาประชาชนก็เหมือนตกอยู่ในความประมาท ก็ปล่อยสิ แล้วแต่ท่านผู้มีอำนาจคิดให้ก็แล้วกัน ต่อมาท่านก็หาที่ปรึกษา อะไรต่ออะไร ก็อยู่ในกลุ่มของท่าน ก็เกิดอมาตยาธิปไตย อะไรก็ว่าไป คนเหล่านี้ก็มาคิดกันที่จะจัด การปกครองบางทีก็หวังดีต่อมนุษย์บ้าง บางทีก็หวังดีต่อตัวเองบ้าง ก็เลยมีผู้ปกครองดีบ้าง ร้ายบ้าง อะไรนะ เลยท่านก็บอกว่า ยังไงก็ตาม จะเป็นการปกครองระบบไหน ต้องธรรมาธิปไตยไว้ก่อน ให้ถือธรรมเป็นใหญ่ คือถือหลักการ ถือความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่
อันนี้คุณจะอยู่ในระบบไหน ต้องเอาธรรมาธิปไตยเป็นหลัก ถ้าคุณพัฒนามาเป็นประชาธิปไตย คุณก็ต้องเอาธรรมาธิปไตยเป็นแกนของประชาธิปไตย คือธรรมาธิปไตยต้องแกนของการปกครองทุกแบบที่มันจะดีได้ คือมันมาบรรจบ ธรรมาธิปไตยเหมือนกับเป็น สาระเป็นแก่นของการปกครองที่ดี ทีนี้ในแง่ระบบหรือว่ารูปแบบเนี่ย การปกครอง ระบบบุคคลเดียวสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ราชาธิปไตย เราก็ว่าหัวเดียวมันไม่ดีหรอก สู้หลายหัวไม่ได้ บางทีได้หัวเดียวที่เลิศไปเลยก็ดีไป แต่หัวเดียวนี้เกิดเลิศเหมือนกันแต่ไปทางหายนะ จะเอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่ จะเอาแต่ผลประโยชน์บำรุงบำเรอ เลยแย่ไปเลยใช่ไหม หรือเป็น oligarchy เป็นคณาธิปไตย มันก็อีกแหละ ก็ยังไม่ดี เป็นระบบอะไรก็ สู้ให้ประชาชนเนี่ย มาปกครองกันเองดีกว่า ถึงแม้ว่ามันยังมีข้อจุดอ่อน ก็ยังมีจุดอ่อนน้อยที่สุด แต่ว่าประชาธิปไตย นี่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพนี่ ก็เลวที่สุดเหมือนกัน ก็เลวเพราะว่าโง่ที่สุด ไม่รู้เรื่องรู้ราวเลย เพราะฉะนั้นก็เลย คู่กันกับประชาธิปไตยก็คือ พัฒนาประชาชนเนี่ยให้มีคุณภาพ ประชาชนมีคุณภาพก็เหมือนกับว่า แทนที่เราได้ราชาองค์เดียวที่ดีคุณภาพ เราได้ราชาทั้งประเทศเลย มาช่วยกันปกครอง แล้วท่านเหล่านี้ ก็มีแกนของแต่ละคน ทุกคนก็มีธรรมาธิปไตยเป็นแกน คือคุณสมบัติทุกคนเนี่ยเป็นธรรมาธิปไตยหมด แล้วระบบเป็นประชาธิปไตยก็ประสานเลย ตอนนี้แหละได้การปกครองที่ดีที่สุดจริง นิมนต์ถามครับ
(เสียงพระนวกะ) ถามต่อว่า ฟังดูแล้วนี่ก็คือว่า จะต้องมีผู้ที่ดี มีคุณภาพที่จะเป็นใหญ่ แล้วก็จะต้องคัดเลือก ผู้ที่จะมาทำงานต่อใช่ไหมครับ จะต้องมีกลุ่มผู้ที่ทำงาน (เสียงหลวงพ่อ) คล้ายๆอย่างนั้น (เสียงพระนวกะ )จะเป็นบัณฑิต หรือนักปราชญ์ เนี่ย ทีนี้ใครล่ะจะเป็น
(เสียงหลวงพ่อ) เดี๋ยวๆ เอาตามวิวัฒนาการของการปกครอง อย่างที่ว่าที่พูดเมื่อกี้นะ คือมันต้องอาศัยสภาพเหตุปัจจัย สิ่งแวดล้อมพื้นฐานที่มีอยู่ด้วย ก็ตอนแรกมันก็คิดว่า เราเลือกเอาคนที่มีบุคคลิกดีที่สุด ฉลาดที่สุด เจรจาพูดเก่งที่สุด ก็มีสติปัญญาดีที่สุด พูดให้คนยอมความกันได้ เข้าใจกันได้ แล้วก็ตัดสินให้เป็นธรรมเนี่ย ก็ตั้งขึ้นมาเป็นมหาสมมตเป็นพระราชาองค์แรก แล้วทางสันสกฤต ทางฮินดูเค้าเรียกว่าท่านผู้นี้ชื่อ มนู พระราชาองค์แรกของมนุษย์นี่ชื่อ มนู แล้วท่านมนูนี่ก็เป็นต้นกำเหนิดของมนุษย์ พวกมนุษย์ก็คือผู้ที่เป็นเผ่าพันธุ์ของพระมนู พวกมนุษย์เนี่ยมาจากท่าน มนู ทีนี้ท่านมนูนี่ใช่ไหม เป็นกษัตริย์ เป็นองค์แรก ท่านก็เป็นผู้บัญญัติกฎหมาย ก็เลยเป็นมนูธรรมศาสตร์ กฎหมายของไทยเราเนี่ย เรียกมนูธรรมศาสตร์ใช่ไหม เรียกเป็นสันสกฤต เรียกว่า มานวธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายของพระราชามนูนี่แหละ กษัตริย์องค์แรกของมนุษย์เนี่ย นับถือกันมาอย่างนี้ ตอนแรกมันก็มีอย่างนี้ ทีนี้เมื่อประชาชนมีสติปัญญา ก็ช่วยกันอย่างที่ว่า เราก็ดูสังคมแต่ละสังคม มันมีวิวัฒนาการ อาจจะไม่เหมือนกันทีเดียว เหมือนอย่างในยุโรปนี่ใช่ไหม ทีนี้กษัตริย์ได้ปกครองก็อย่างที่ว่า แย่งอำนาจกัน แย่งผลประโยชน์กัน ในราชวงศ์เองก็ฆ่ากัน ล้มล้าง เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่บ้างอะไรบ้าง นัวเนียไปหมด แล้วก็ต่อมามีอำมาตย์ มีขุนนางเอง ก็กดขี่ประชาชน แย่งอำนาจกัน ต่อมามีนักบวชอีก นักบวชก็ไปเข้าข้างนักปกครองพวกนี้อีก ไปเป็นเครื่องมือบ้าง หาผลประโยชน์ตัวเอง แย่งอำนาจกับนักปกครองอีก ว่ากันนัวเนียอย่างนั้น ฝรั่งเศสเนี่ย บาทหลวงเนี่ยนะ เป็นอัครมหาเสนาบดี แล้วก็บาทหลวงก็เป็นเจ้าเมือง เป็นเจ้าเมืองเลยนะครับ ตอนแรกแกก็เข้าไปในการเมือง ก็แบบหวังดีต่อประชาชนว่า อุ้ย พวกราชา พวกขุนนาง อำมาตย์เนี่ยมันปกครอง มันไม่มีศีลธรรม ไม่เชื่อฟังพระเจ้า พวกเราบาทหลวงนี่ เป็นผู้มีศีลมีธรรม ก็จะเชื่อฟังพระเจ้าจะดีกว่า แล้วพวกราชาบางท่านก็หวังดีต่อประเทศชาติ ก็เอ้อ เห็นบาทหลวงท่านดี ก็เอามาเป็นที่ปรึกษา ต่อมาก็มีอำนาจในบ้านเมือง ต่อมาบาทหลวงมันไม่ได้ดีดีคนเดียวนี่ คนต่อมามันไม่ดีอย่างนั้นใช่ไหม มันก็คิดหาอำนาจ ต่อมาระบบมันก็ไปสนองความต้องการของคนบ้าง อะไรบ้าง วิวัฒนาการมากลายเป็นว่า บาทหลวงก็เป็นเจ้าเมืองได้ มีที่ดินมากมาย กดขี่ประชาชน ก็เลยอย่างฝรั่งเศสนี่เป็นตัวอย่าง ที่เคยพูดว่ามี Estates ฐานันดร ฐานันดรที่หนึ่งก็ มี Nobility ขุนนาง แล้วสอง Clergy แปลว่า นักบวช บาทหลวง แล้วต่อมาก็ The Commons สามัญชน นะก็เป็นฐานันดรที่สาม ฐานันดรที่สี่ยังไม่มี ฐานันดรที่สี่ก็มาเป็นพวกสื่อมวลชน ทีนี้ฐานันดรที่สามก็มองเห็นว่าพวก Nobility พวกขุนนางกับพวกนักบวช Clergy มันกดขี่ข่มเหง มันเห็นแก่ผลประโยชน์ พวกเราแย่ถึงได้เกิดปฏิวัติฝรั่งเศส เรียกว่าเป็นปฏิวัติประชาธิปไตยเลยนะ หรือจะ หนึ่งปี 1786 เดี๋ยวขออภัยไปสับสนกับอเมริกาเกิดสงครามกับอังกฤษน่ะ ประกาศเอกราชในราวปีนี้ ในราว 1776 1789 ก็ปฏิวัติฝรั่งเศส ปฏิวัติฝรั่งเศสก็พอดีรัฐธรรมนูญอเมริกาก็มีประกาศสิทธิมนุษยชนขึ้นมาอยู่ใน Amendment อยู่ในอนุบัญญัติของรัฐธรรมนูญอเมริกัน ก็ประกาศรัฐธรรมนูญอเมริกันใช้ ช่วงเดียวกันกับปฏิวัติฝรั่งเศส ปฏิวัติฝรั่งเศสก็มีคติประชาธิปไตยขึ้นมา
ก็จะเห็นว่าพวกนี้ก็มี กิเลส ตัณหา มานะ ทิฐินั่นแหละ ก็เกิดปัญหาขึ้นมา ก็เลยประชาชน The Commons ตอนนั้นมีปัญญาขึ้นมาแล้ว ทีนี้ประชาชนมีปัญญาขึ้นมาถึงได้ปฏิวัติไง ก็เป็นอันว่า ไม่ใช่จะต้องรอ แต่ว่าหมายถึงว่า ต้องมีการพัฒนาประชาชน ทีนี้ก็อยู่ที่การทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม ชอบธรรมเหมือนอย่างพระเนี่ย ถ้าพระทำหน้าที่ชอบธรรม ก็สั่งสอนให้ปัญญากับประชาชน ตอนนี้ก็คือ หน้าที่ของพระด้วย ตอนนี้สังคมมันเป็นอย่างเงี้ย ก็เป็นตัวอย่างว่า ใครก็ตามที่รับผิดชอบต่อสังคมต้องให้ปัญญาแก่ประชาชน ให้ความรู้ ความเข้าใจ ถือโอกาสตอนนี้ มันสถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้ว อย่ามัวไปยุ่งอยู่กับวิจารณ์ ข้างโน้นจะแพ้ ข้างโน้นจะชนะ ใครมันผิด มันถูกอะไรไม่พอหรอก ต้องให้ความรู้ เพื่อให้ประชาชน มีปัญญามีความรู้ที่จะคิด วินิจฉัยด้วยตนเอง เราให้ข้อมูล ให้ความรู้ที่เขาจะคิด แล้วก็วินิจฉัย เราไม่ใช่ไปตัดสินให้เขา คือการพัฒนา ประชาชนในระบบประชาธิปไตยก็คือ เพราะอำนาจตัดสินใจในที่สุดนี่อยู่ที่ประชาชนใช่ไหม เพราะฉะนั้น คนก็ต้องตัดสินใจเป็น คือคิดเป็น เค้าจะคิดเป็นอย่างไร ก็ต้องคิดบนฐานของความรู้ มีปัญญา เพราะฉะนั้นเราก็ไม่คิดให้เขา แต่เราให้ความรู้ และชี้ช่องทาง แง่มุมของการคิด เพื่อฝึกคน เพราะฉะนั้นโอกาสนี้ก็เป็นโอกาสในการพัฒนาปัญญาของประชาชน ถ้าเราคิดอย่างนี้เราพัฒนาประชาชนกันเข้าไป ตั้งท่าทีให้ถูกต้องอย่าไปทะเลาะกันเลย เนี่ยมันทดสอบตัวเองและความเป็นประชาธิปไตย มีไหม ถ้าหากว่าคุณเถียงกันไม่ได้ ลงมือลงไม้ แสดงว่าผิดแล้ว ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเถียงกัน ต้องฟังกันได้ ข้อสำคัญต้องรับฟังกัน