แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพุทธเจ้าเนี่ยไม่ทรงนิยมยกย่องสรรเสริญชีวิตที่ประมาท รอคอยความช่วยเหลือให้เขาบันดาลให้ ให้เทพเจ้าบันดาล รอผลดลบันดาล พระองค์ไม่ทรงปรารถนา ไม่ทรงพระประสงค์ ทรงมีพระประสงค์ให้เราพึ่งพาการกระทำของตนเอง ให้หวังผลจากการกระทำ หลักพุทธศาสนานี่ตรงข้ามกับหวังผลจากการดลบันดาล คือให้หวังผลจากการกระทำ จึงต้องมีความเพียร ในเมื่อเราปฏิบัติตามหลักธรรม 4 ข้อ เราก็เป็นพรหม เราทุกคนก็เป็นผู้ร่วมกันสร้างสรรค์อภิบาลโลก นี้เราจะทำยังไง เราปฏิบัติธรรมสี่ข้อเราเป็นพรหมได้
หนึ่ง มีเมตตา สองมีกรุณา สามมีมุทิตา สี่มีอุเบกขา เอาล่ะนะ จะปฏิบัติให้ถูก ก็ต้องรู้เข้าใจความหมายและเหตุผล
หนึ่ง เมตตาคืออะไร ญาติโยมตอบในใจก่อน
สอง กรุณาแปลว่าอะไร ตอบในใจก่อน
สาม เมตตากรุณาต่างกันอย่างไร ตอบในใจก่อน
ตอนแรกนี่ บางท่านบอกเมตตา เอ้าแปลได้ กรุณาพอแปลได้ พอถามว่าเมตตากรุณาต่างกันอย่างไร ตอนนี้จนแล้ว หลายคนตอบไม่ได้เลย ใช่มั๊ย ถ้าเรารู้หลักนะ ง่ายนิดเดียวเลย มันไม่ต้องตอบ มันชัดอยู่ในใจ ไม่ต้องพยายาม พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะสี่ข้อนี้ไว้เพื่อให้ครบสถานการณ์ที่เพื่อนมนุษย์เขาจะต้องประสบ จะตรัสไว้ให้เหลือเฟือทำไม คือถ้าหากว่าคนเป็นอยู่ แล้วปฏิบัติอย่างไรต่อเขาอย่างเดียวครบ มันก็พอกันละ แต่ทีนี้คนเราเนี่ยมันมีสถานการณ์ต่างไป เดี๋ยวเขาประสบสถานการณ์อย่างนั้น เดี๋ยวเขาประสบสถานการณ์อย่างนี้ พระองค์ก็ตรัสธรรมะให้ใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสถานการณ์นั้น
ปรากฏว่าคนเนี่ยมีสถานการณ์อยู่สี่สถานการณ์ นี่คนอื่นนะ เรามองจากตัวเราไปคนอื่น คนอื่นเขาจะต้องประสบสี่แบบ แล้วเราก็ใช้ธรรมะสี่ข้อนี้ตามสถานการณ์นั้นๆ เค้าถามว่าสถานการณ์สี่ที่คนทั้งหลายเขาต้องประสบมีอะไรบ้าง เอ้า ตอบ
ถ้าตอบได้ละก็ ความหมายของธรรมะสี่ข้อนี้มาทันที
เฉลยนะ เฉลยให้ เพราะว่าไม่มีโอกาสที่จะมาถามตอบกัน เดี๋ยวก็จะได้ยินได้ฟังไม่ถนัดเพราะหลายท่านอยู่ห่างกัน
สถานการณ์ที่หนึ่งก็แน่นอนมันต้องเริ่มจากสถานการณ์ปกติก่อนใช่มั๊ย ปกตินี่ก็เป็นสถานการณ์หนึ่งนะ
สถานการณ์ที่หนึ่งคือสถานการณ์ปกติ เช่น เรานั่งกันอยู่อย่างนี้ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไร ไม่ได้มีความวุ่นวาย เดือดร้อนอะไร คนไหนก็ตาม เขาก็อยู่เป็นปกติของเขา พออยู่ในสถานการณ์ปกติ พระพุทธเจ้าก็ให้ธรรมะข้อที่หนึ่งมาเรียกว่าเมตตา เมตตาแปลว่าอะไร เมตตามาจากคำเดียวกับมิตตะ มิตตะแปลงอิ เป็นเอ เป็นเมตตะ แล้วก็ มิตตะมันเป็นคน ทีนี้ เมตตาเป็นคุณธรรม ก็ใส่สระอาเข้าไป ว่าง่ายๆ มิตตะแปลงเป็นเมตตะ ใส่สระอาเป็นเมตตา มิตตะแปลว่าอะไร มิตตะก็แปลว่ามิตร ใช่มั๊ย มิตร มิตรภาษาบาลีท่านเรียกว่ามิตตะ เมตตาก็คือคุณธรรมของมิตร หรือความเป็นมิตร ความรู้สึกของมิตรนั่นเอง ไมตรี ความเป็นมิตร เรียกว่าเมตตา ความเป็นมิตรคือยังไง คือปรารถนาดีต่อเขา อยากให้เขาเป็นสุข นี่เรียกว่าเมตตา เพราะงั้นเราก็แปลว่า ความรักความปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นเป็นสุข ใช้ในสถานการณ์ที่เขาอยู่เป็นปกติ เอาละนะหนึ่งละ
ต่อไป สถานการณ์ที่สอง อะไรเอ่ย ก็ต้องผิดปกติสิ ใช่มั๊ย หนึ่งสถานการณ์ปกติ สอง ก็ผิดปกติ แต่ผิดปกติมันมีหลายแบบ ผิดปกติในทางดีก็มี ผิดปกติในทางไม่ดี เอาผิดปกติในทางไม่ดีก่อน ผิดปกติในทางไม่ดีก็คือ ตกต่ำเดือดร้อน ถ้าเพื่อนมนุษย์เค้าอยู่ในสถานการณ์ไม่ดี ตกต่ำเดือดร้อนมีปัญหาทุกข์ยาก เดือดร้อนขาดแคลน ไฟไหม้น้ำท่วม เป็นต้น ยากจนไม่มีอาหารไรอย่างนี้ เราก็มาถึงสถานการณ์ที่สอง พระพุทธเจ้าก็ให้ธรรมะข้อสองมาแล้ว พรหมวิหารข้อสองคือ กรุณา กรุณาก็คือ ความมีใจพลอยหวั่นไหวไปกับความทุกข์ของผู้อื่น กรุณาน่ะแปลอย่างนี้นะ ความมีใจพลอยหวั่นไหวไปกับความทุกข์ของผู้อื่น แล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้จึงต้องขวนขวายช่วยแก้ไข ปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ของเขา นี่ข้อที่สอง กรุณา ต่างโดยสถานการณ์แล้วการปฏิบัติก็ต่างกันเอง ใช่มั๊ย ชัดยัง ความแตกต่าง เมตตากรุณา
เอาละ ต่อไป สถานการณ์ที่สาม เมื่อกี้บอกผิดปกติมีสองอย่าง ผิดปกติร้าย กับผิดปกติดี เมื่อกี้สำหรับกรุณาคือผิดปกติร้าย คราวนี้ก็ผิดปกติดีสิ ผิดปกติดีเป็นไง คือ เมื่อกี้นี้ ตกต่ำเดือดร้อน ตอนนี้ก็ขึ้นสูงสิ ได้ดีมีสุข เขาได้ดีมีสุข ประสบความสำเร็จ ทำอะไรได้ดี ได้ผลดี เราก็มุทิตา มาแล้วข้อที่สาม มุทิตาก็แปลว่า ความมีใจพลอยยินดี บันเทิงใจด้วยกับความสุขความสำเร็จของเขา พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ว่างั้น
สามแล้ว เนี่ยพระพุทธเจ้าให้ไว้สามสถานการณ์นี้ชัดเลยใช่มั๊ย ทีนี้คนไทยชอบเอามาใช้เมตตากรุณา แล้วก็แถมไม่แยกกันซะด้วย แปลไม่ออก ไม่รู้ต่างกันอย่างไร ก็เลยไม่รู้จักมุทิตาเลย มุทิตาจะไปรู้จักยังไง เมตตากรุณายังไม่รู้จักพอเลย นี้เลยไม่ค่อยใช้ด้วยมุทิตา มุทิตานี่ไม่ค่อยได้ยิน มุทิตาเนี่ยเอาไว้ส่งเสริมคนดี นี้สังคมไหนไม่ส่งเสริมคนดีก็อิจฉาริษยากันมาก ใช่ไหม อันนั้นก็จะเกิดปัญหาความแตกแยก เพราะฉะนั้นเลยต้องมีมุทิตาด้วย สามแล้วพลอยยินดีส่งเสริมคนดี
ข้อสองข้อสามเนี่ยให้สังเกต มันพลอยทั้งคู่เลยนะ อันนี้ข้อสองก็คือ เขาทุกข์เราพลอยมีใจหวั่นไหวในทุกข์ของเขา แล้วก็ ข้อสามนี่เขาสุข เขาสำเร็จ เราก็พลอยมีใจบันเทิงยินดีด้วย นี่แหละข้อสองสาม
เอาละ สามข้อสามสถานการณ์แล้ว ครบหรือยัง ยัง ก็เมื่อกี้บอกแล้วมีสี่ข้อ ต้องมีสี่สถานการณ์
นี้ทายละ อะไรเป็นสถานการณ์ที่สี่ ตรงนี้แหละจะยากใช่มั๊ย ก็เราคิดดูมันไม่น่าจะเกินสาม หนึ่งสถานการณ์ปกติ สองก็ตกต่ำ สามก็ขึ้นสูง แล้วจะเอายังไงกันอีก เนี่ยจะให้เห็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้าว่าแค่ไหน เราคิดได้แค่สามอย่างก็นึกว่าครบแล้ว พระพุทธเจ้าบอกไม่ครบ สถานการณ์ที่สี่เนี่ยใครคิดออกละก็ คิดถึงข่ออุเบกขาได้ ใครคิดไม่ออก แล้วแปลไม่เป็น เสียหมดเลย อุเบกขาเนี่ยคนไทยแปลไม่ค่อยออก แปลได้อย่างเดียวว่าเฉย พอแปลว่าเฉยทีนี้ก็ เฉยมันมีหลายอย่าง เฉยเมยก็มีใช่ไหม เฉยไม่รู้เรื่องน่ะ เป็นคนเฉื่อยๆเฉยๆ ทีนี้ก็เลยกลายเป็นว่าไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่เอาใจใส่ อะไรทำนองเนี้ย เฉยแบบนี้นะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอกุศลนะ ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีว่า อัญญานุเบกขา แปลเป็นภาษาไทยว่า เฉยโง่ ว่างั้น งั้นญาติโยมต้องระวัง ถ้าใครเฉยเพราะไม่รู้เรื่องเรียกว่าเฉยโง่ เป็นอกุศล เรียกว่า อัญญานุเบกขา ตัวเฉยในอุเบกขาเนี่ยต้องมากับปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วมีอุเบกขาที่ถูกต้องไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ระหว่างนี้ก่อนที่จะคิดสถานการณ์ที่สี่ออก อาตมาก็จะพูดเรื่อยๆไปในแง่อื่นๆเป็นเรื่องของเบ็ดเตล็ดปลีกย่อย ว่าสามอย่างแรกเนี่ย เมตตากรุณาเนี่ย มันเด่นด้านความรู้สึก ใช่มั๊ย เรารู้สึกรักใคร่พอใจปรารถนาดี เรารู้สึกพลอยหวั่นไหวในทุกข์ของผู้อื่น สงสาร เรารู้สึกพลอยยินดีด้วย ดีใจด้วยเมื่อเขาประสบความสุข ความสำเร็จ เนี่ยมันเป็นด้านความรู้สึก มันหนักในด้านนี้ แต่เป็นความรู้สึกที่ดีใช่มั๊ย รักปรารถนาดี ก็เป็นความรู้สึกที่ดี ตรงข้ามกับความรู้สึกที่ชิงชังเคียดแค้น กรุณาก็รู้สึกดี สงสาร เนี่ย มุทิตาก็รู้สึกดี พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาประสบความสำเร็จ ก็ตรงข้ามกับอิจฉาริษยา แต่รวมแล้วแม้มันจะดี มันก็อยู่แค่ความรู้สึก นี้หลักธรรมในด้านพุทธศาสนาให้สังเกต ว่าเมื่อมาเป็นหมวดแล้วเนี่ย จะต้องมีข้อใดข้อหนึ่งที่มีปัญญามากำกับ ให้สังเกตไปเลย มนุษย์เราจะอยู่แค่ความรู้สึกไม่ได้ จะต้องมีความรู้ด้วย ความรู้สึกต้องดุลด้วยความรู้ หรือต้องคุมด้วยความรู้ จึงจะพอดี นั้นแม้ความรู้สึกดีก็อาจจะเสียได้ เพราะงั้นเมตตากรุณามุทิตาเป็นความรู้สึก ที่แม้จะดีแต่ก็อาจจะเสียได้ ความรู้สึกว่า เขาประสบความสำเร็จได้ดีมีสุข เราก็พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน
เด็กคนหนึ่งไปลักของเขามาได้ห้าพันบาท เด็กดีใจเหลือเกินประสบความสำเร็จ ได้ดีมีสุข มีสุขละ ประสบความสำเร็จ เป็นยังไง เราใช้มุทิตาเป็นยังไง พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุนแล้วเป็นไงล่ะ ดีมั๊ย ไม่ดีใช่มั๊ย ทีนี้เป็นผู้พิพากษา เป็นผู้พิพากษาขึ้นศาลแล้ว นายคนนี้เขาไปฆ่าคนโน้นมา อันนี้มีโทษจะต้องลงโทษอย่างแรง ผู้พิพากษาก็สงสารคนนั้น ก็เลยด้วยความสงสารก็เลี่ยงซะ ไม่ยอมลงโทษ ไม่ยอมตัดสินให้เป็นธรรม แล้วเป็นไง ใช้ได้ไหม มีกรุณาเหมือนกัน อ้างกรุณาไม่ได้ อ้างกรุณาอ้างเมตตาไม่ได้ เพราะงั้นแค่ความรู้สึกแม้จะดีต้องมีขอบเขต จึงต้องมีข้อที่สี่ นี่แหละจึงมีสถานการณ์ที่สี่ขึ้นมา อันนี้นะ จะเห็นละนะว่าเมตตากรุณามุทิตาไม่พอนะ สังคมมนุษย์จะอยู่ดีได้มีเมตตากรุณามุทิตาไม่พอ เพราะมันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นด้านความรู้สึกที่ดีงามต่อกัน มนุษย์นั้นไม่ได้อยู่กับมนุษย์ ไม่ได้อยู่กับสังคมตัวเองอย่างเดียว สังคมมนุษย์นั้นจะอยู่ได้ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักการความถูกต้อง ความจริง ใช่มั๊ย ตัวธรรมะ ความจริง ความถูกต้อง ดีงาม หลักการนั้นต่างหากมารองรับสังคมไว้อีกทีหนึ่ง เราอยู่ด้วยกันเนี่ย เราอยู่ระหว่างมนุษย์ เราก็มีเมตตา กรุณา มุทิตา มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ถูกต้องแล้ว แต่ว่าเราต้องไม่ลืมว่า เบื้องหลังสังคมของเราเนี่ยมีธรรมะ กฏของธรรมชาติ ความจริงของธรรมชาติ มารองรับอยู่อีกชั้นนึงนะ สังคมมนุษย์จะตั้งอยู่ไม่ได้ลำพังด้วยตัวเอง ต้องตั้งอยู่บนธรรมะอีกชั้นหนึ่ง เพราะงั้นโลกกลมๆเนี่ยมันหมุนไปได้ดี เพราะมันมีกฎธรรมชาติรองรับใช่มั๊ย ถ้าไม่มีกฎธรรมชาติอยู่ มันเดี๋ยวพระอาทิตย์ก็ดูดไปเลย นี่มันมีความสมดุลอะไรต่างๆ มันอยู่ไม่ได้ โลกแกว่งเกวื่องวุ่นวายไปหมด มันต้องมีกฎธรรมชาติมารองรับอยู่ เพราะฉะนั้นสังคมมนุษย์ก็ต้องมีธรรมะเป็นฐาน ท่านจึงให้ข้อที่สี่ไว้เพื่อกำกับอันนี้ ข้อที่สี่นี่แหละสำคัญที่สุดเลย ก็ตกลงพอพูดอย่างนี้แล้ว ก็มาสถานการณ์ที่สี่ได้แล้ว ลองซิ ฟังว่าสถานการณ์ที่สี่คืออย่างไร
ขอย้ำอีกทีนะ ทวนบอกว่าเมตตากรุณามุทิตาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน หรือมนุษย์กับมนุษย์เป็นเครื่องรักษาสังคม เป็นเรื่องหนักในด้านความรู้สึกเท่านั้น จะอยู่ดีได้ สังคมมนุษย์ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมะอีกชั้นหนึ่ง เพราะงั้นก็จะต้องมีปัญญารู้ธรรมะตัวนี้ รู้ความจริงรู้หลักการ คือเรื่องธรรมะเป็นเรื่องอยู่แค่ความรู้สึกไม่ได้แล้ว ถ้าความรู้สึกคนกับคน เรามีความรู้สึกที่ดีต่อกัน แต่ธรรมะเป็นเรื่องหลักการ เป็นเรื่องกฏเกณฑ์ เป็นเรื่องกติกา เป็นเรื่องความจริงที่ต้องใช้ปัญญา ต้องรู้ เพราะงั้นข้อที่สี่เป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวกับต้องรู้ ก็คือว่าเอาง่ายๆก่อน สี่ข้อ สามข้อต้นเราสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ แต่ข้อที่สี่นี่เราสัมพันธ์กับธรรมะด้วย สัมพันธ์กับมนุษย์แต่โยงไปถึงธรรมะ ก็สรุปได้ว่าสถานการณ์ที่สี่ ก็คือสถานการณ์ที่ว่าในกรณีใดก็ตามที่ความสัมพันธ์ในสามข้อต้นจะไปละเมิดต่อธรรมะ สามข้อต้นต้องหยุดแล้วข้อที่สี่มา นี่ข้อที่สี่เนี่ยสำคัญมาก เป็นตัวดุลเลย คุมด้วย แล้วก็ดุลให้พอดี พอบอกว่าจะใช้เมตตา จะใช้กรุณา จะใช้มุทิตาแล้วไปละเมิดธรรมะ เสียหายต่อธรรมะ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความสมเหตุสมผลอะไรต่างๆนี้ไม่ได้แล้ว หยุดเลย ท่านบอกว่าต้องอุเบกขาไม่เอียงข้างใดทั้งนั้น xxx เลย ตั้งอยู่ในธรรมะ ธรรมะว่าอย่างไรอยู่อย่างนั้นเลย เอาความจริงความถูกต้อง เอาหลักการ กติกาอะไรต่ออะไร ความดีงามเหตุผลอะไรเป็นใหญ่ละทีนี้ ตอนนี้ล่ะเรียกว่าอุเบกขา อุเบกขานี่เป็นตัวรักษาธรรม เมตตากรุณามุทิตานี่เป็นตัวรักษาคน พอคนไปเกี่ยวข้องกับธรรมะ ต้องรักษาธรรม แล้วธรรมะจะมารักษาสังคมไว้อีกทีหนึ่ง เพราะถ้าคนไม่รักษาธรรมะไว้ถึงแม้เราจะมีเมตตากรุณาสัมพันธ์กันดี มันก็เอาสังคมไว้ไม่อยู่ใช่มั๊ย เพราะสังคมมันต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ นี่แหละข้ออุเบกขา ข้อสำคัญมาก พูดง่ายๆ ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือว่า ในกรณีที่เขาจะต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา เราจะต้องมีอุเบกขา แล้วปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรรม ว่างั้น ก็ต้องใช้ปัญญาข้อสี่ มองได้หลายแง่ มองในแง่ว่าคนกับธรรมะ สามข้อต้น รักษาความสัมพันธ์กับคน ข้อที่สี่ รักษาธรรมะ หรือมองในแง่อีกอย่างว่า สามข้อต้นหนักในด้านความรู้สึก ส่วนข้อสี่นี้หนักในด้านปัญญา ต้องมีปัญญา ยิ่งมีปัญญามากเท่าไหร่ยิ่งวางใจพอดีได้เท่านั้น จิตมันจะลงตัวเลย นี้ถ้าเราไม่มีปัญญาเนี่ย เราจะหนักใจที่เรามีเมตตากรุณา เขามีปัญหา เราไม่ได้ช่วยเขาเราก็เป็นทุกข์ เราพลอยทุกข์ใจ ใจเป็นทุกข์เพราะความเดือดร้อนของผู้อื่น แต่ถ้าเรามีปัญญาเนี่ย เราจะช่วยโดยวางจิตพอดี ช่วยด้วยเมตตากรุณาเต็มที่ แต่พร้อมกันนั้นจิตของเราก็รู้ทันความเป็นจริง ว่าทุกอย่างนี้ต้องเป็นไปตามความเป็นจริงของเหตุปัจจัยนะ อย่างนี้เป็นต้น เพราะรู้ว่าทุกอย่างมันเป็นไปตามเหตุผล ตามเหตุปัจจัย เราก็จะเริ่มลงตัวได้ ใช่มั๊ย จะไม่แกว่ง จะไม่หวั่นไหวอะไรมาก เราจะวางจิตได้พอดี เพราะงั้นปัญญาเป็นตัวที่ทำให้เกิดตัวอุเบกขามารักษาดุลไว้ จึงต้องครบสี่ข้อ เมื่อรักษามีธรรมะสี่ข้อนี้ได้เราก็เป็นพรหม ถ้ามีไม่ครบก็เป็นพรหมยังไม่ได้ เพราะว่ายังสร้างสรรค์อภิบาลโลกหรือสังคมของเราไม่ได้ ทีนี้สี่ข้อนี้คงต้องเน้นกันมาก ว่าเวลานี้เราเข้าใจกันกระพร่องกระแพร่ง และก็ประพฤติกันผิดพลาดไขว้เขวคลาดเคลื่อนกันเยอะเหลือเกิน นั้นก็ยุ่ง สังคมมันก็ยุ่ง ถ้าหากว่าไปมีเมตตากรุณามากแล้วขาดอุเบกขา เราก็ลืมหลักอัตตา หิ อัตตโน นาโถใช่มั๊ยว่าในที่สุดแล้วทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ใครไปทำแทนไม่ได้นะ พอเราคำนึงถึงอัตตา หิ อัตตโน นาโถเราก็ต้องตั้งอุเบกขา ใช่มั๊ย เพราะฉะนั้นอัตตา หิ อัตตโน นาโถเนี่ยมาเชื่อมกับหลักพรหมวิหารที่ข้ออุเบกขานี่เอง ไปๆมาๆไม่หนีไปไหนหรอก ต้องมีเมตตากรุณามุทิตา เสร็จแล้วก็มาอุเบกขาเพื่อให้อัตตา หิ อัตตโน นาโถมาทำหน้าที่ ใช่มั๊ย พออุเบกขาปั๊บ ต้องรู้จักพึ่งตัวเอง ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ใครจะมาทำแทนให้หมด แม้แต่เป็นพ่อแม่รักเท่าไหร่ก็ทำแทนให้ไม่ได้หมด ใช่มั๊ย นั้นท่านจึงเน้นเรื่องพ่อแม่ว่าต้องเป็นผู้ปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ก่อนคนอื่น ก็ขอโอกาสเลยไหนๆมาในที่นี้ ญาติโยมหลายท่านก็เป็นพ่อเป็นแม่ละนะ หรือหลายท่านก็จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ต่อไป ก็เลยเอาพรหมวิหาร 4 มาพูดเลยในระดับของพ่อแม่ เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่าบิดามารดาเป็นพรหมของลูก ใช่มั๊ย เป็นพระพรหม เป็นผู้ให้กำเนิด สร้างชีวิตเขามา แต่สร้างไม่พอนะ ต้องอภิบาลดูแลดำรงรักษาเลี้ยงเขาด้วย แม้แต่สร้างก็มีความหมายไม่ใช่แค่สร้างให้ชีวิตเขาเกิดมา ต้องสร้างให้เขาเป็นคนดีด้วยนะ ทีนี้เราจะสร้างโลกด้วยการสร้างลูกได้อย่างไร ก็ต้องสร้างให้ดี ก็ต้องปฏิบัติตามพรหมวิหาร 4 ปฏิบัติตามพรหมวิหาร 4 ก็เอาละ ดูสิพ่อแม่จะปฏิบัติต่อลูกด้วยพรหมวิหาร 4 อย่างไร และลูกที่ได้รับพรหมวิหาร 4 สมบูรณ์เนี่ยจะเป็นลูกที่เจริญงอกงามอย่างดีที่สุดเลย แต่พ่อแม่ของเราเนี่ยมักจะกะพร่องกะแพร่ง ทีนี้ดูว่าเราก็กะพร่องกะแพร่งยังไง ก็มาดูว่าสี่ข้อนี่ทำไงบ้าง ก็เอาสถานการณ์สี่นี้ล่ะมาจับ
หนึ่ง ลูกอยู่เป็นปกติ ก็มีเมตตา ก็มีความรักปรารถนาดี เลี้ยงดูเขาให้เป็นสุข ใช่มั๊ย นี่ อันที่หนึ่งละ ลูกก็มีชีวิตดีงาม มีความอบอุ่น มีจิตใจอ่อนโยน ดีละ
สอง สถานการณ์ที่สอง ลูกเดือดร้อน มีความทุกข์ มีปัญหา พ่อแม่ก็กรุณา ก็ต้องช่วยปลดเรื่องความทุกข์เขา เขาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องรักษาพยาบาล เป็นต้น
สาม สถานการณ์ที่ลูกขึ้นสูง ได้ดีมีสุข สอบได้ดี เรียนดี ได้งานดี เป็นต้น พ่อแม่ก็เป็นไง ก็สนับสนุน ส่งเสริม พลอยยินดีด้วย มีมุทิตา
สามข้อและ สามข้อเนี่ย พ่อแม่คนไทยเราเนี่ย เก่ง โดยเฉพาะพ่อแม่ไทย เราเนี่ยเก่งมาก กับลูก เก่งมาก ทีนี้ข้อสี่ พ่อแม่ไทยคะแนนตก เป็นอย่างไง ข้อสี่ สถานการณ์ที่สี่ อะไรที่จะอุเบกขา คอยพิจารณาให้ดีนะ จะเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวกับธรรมะ ธรรมะก็คือความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม
ชีวิตของคนเราเนี่ย ทุกคนแหละ มันอยู่กับสองด้าน หนึ่งเราอยู่กับเพื่อนมนุษย์ เด็กๆ ลูกก็อยู่กับพ่อแม่ ใช่มั๊ย สอง ชีวิตนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อยู่กับความจริงของธรรมชาติ เด็กเนี่ยไม่ได้อยู่กับพ่อแม่อย่างเดียวนะ ไม่ได้อยู่กับเราอย่างเดียวนะ เขาอยู่กับความเป็นจริงของโลกกับชีวิตด้วย พ่อแม่อย่ามองข้ามนะ และในแง่ความจริงของชีวิต ในแง่ของกฎธรรมชาติ เราอย่าลืมนะ ในแง่กฎธรรมชาติ ความจริงของชีวิต เราไปรับผิดชอบแทนเขาไม่ได้ด้วย เราช่วยเขาได้ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่เราได้แต่เกื้อหนุนให้เขาสัมพันธ์กับกฏธรรมชาติให้ถูกต้องด้วยตัวเขาเอง เขาต้องรับผิดชอบกับความจริงของชีวิตนั้น กฏธรรมชาติเล่นงานเขาเอง ในเมื่อเรามองอย่างนี้แล้ว ข้อที่สี่ก็มาละ สถานการณ์ที่ลูกต้องสัมพันธ์กับความเป็นจริงของชีวิต นี่แหละข้อที่สี่มา เริ่มต้นพ่อแม่ก็ต้องใช้ปัญญาแล้ว บอกแล้ว ข้อสี่นี่ปัญญาต้องมา พ่อแม่ก็ต้องคิดว่า ลูกของเราไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป เราจะอยู่ช่วยเหลือเขาด้วยเมตตากรุณามุทิตาตลอดชีวิตไปก็หาไม่ ต่อไปเขาต้องรับผิดชอบตัวเอง ถ้าเราไปทำแทนให้เขาหมด เนี่ยเขาทำไม่เป็นนะ ต่อไปเราไม่อยู่ด้วย เขาทำไม่ถูกนะ เกิดเหตุที่จะต้องทำ แล้วทำไม่เป็นนะ แย่เลย พ่อแม่ก็มาคิดว่าเขาจะต้องเตรียมรับผิดชอบตัวเองอย่างไรบ้าง เขาจะอยู่ชีวิต ชีวิตเขาจะดีจะเจริญงอกงาม เขาต้องทำอะไรเป็นบ้าง ตอนนี้ล่ะ พ่อแม่ต้องคิดเลย พ่อแม่เริ่มคิดว่าลูกต้องฝึกหัดอะไรบ้าง นี่เรียกว่าข้ออุเบกขากำลังมาละ พ่อแม่ก็เตรียมแบบฝึกหัดให้ลูก อะไรที่ลูกต้องทำให้เป็น ตอนนี้เราอยู่ด้วย เราจะมีโอกาสฝึกเขาช่วยเขาฝึกตัวเอง เราจะมีโอกาสแนะนำเขา ต่อไปถ้าเราไม่อยู่นะ เขาไปเจอเรื่องทำละ ทำไม่เป็น เราก็หมดโอกาสไปแนะนำเขา หนึ่งเขาก็ทำไม่ได้ สองก็ไม่มีคนช่วยแนะอีกด้วย ทำก็ไม่ได้ดีอีก ทีนี้เราก็เก่ง เราทำเป็น เราทำได้ดีเนี่ย เรารีบถือโอกาสฝึกเขาเลย เขาจะต้องเก่งเรื่องไหนบ้าง ฝึกให้เขาทำให้เป็น ตอนนี้อุเบกขามา เรียกว่าคอยดูให้เขาทำ
อุเบกขาเนี่ย ตัวศัพท์แปลว่า คอยดูอยู่ใกล้ๆ มาจากคำว่าอุปัติ แปลว่าใกล้ๆ เอกขะ แปลว่ามองดู อุปัติ เอกขะ เป็นอุเบกขา แผลงเป็นไทยแปลว่าอุเบกขา คอยดูอยู่ใกล้ๆ คอยดูอยู่ให้ใกล้ๆก็หมายความว่า เขาจะต้องทำอะไร เราคอยดูอยู่ เขาทำไม่เป็นเราก็แนะ เขาทำไม่เป็นเขาถามเรา เราก็คอยเป็นที่ปรึกษา ตอนนี้ละลูกจะเก่งก็ตอนนี้แหละ ถ้าลูกได้แค่พ่อแม่ที่มีเมตตากรุณามุทิตาเนี่ย ไม่เก่งล่ะ แล้วเสียดุล เสียดุลยังไง มีเมตตากรุณามุทิตานี่ดีนะ ทำให้จิตใจสุภาพอ่อนโยน อบอุ่น มีความสุข แต่ว่าถ้าไม่มีข้อสี่มาดุลจะอ่อนแอ ความอ่อนโยนจะกลายเป็นความอ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็น
สองพึ่งพา ต้องคอยพึ่งพ่อแม่ ทำเองไม่ได้นี่ใช่มั๊ย พ่อทำให้หน่อย แม่ทำให้หน่อย ทำเองไม่ได้ ทีนี้พ่อแม่ทำให้หน่อย พอโตแล้ว พ่อแม่ไม่อยู่ทำให้หน่อย ทำไงละทีนี้ ถ้าไม่เป็นไม่รู้จักโต ทีนี้พ่อแม่ไม่อยู่ด้วยทำเองไม่ได้ พึ่งตัวเองไม่ได้ อันนี้เดือดร้อนละ เพราะฉะนั้นอุเบกขาจะทำให้คนพึ่งตัวเองได้ มันถึงมากับอัตตา หิ อัตตโน นาโถเป็นตัวให้โอกาส เอาละทีนี้ ก็อุเบกขา เมื่อกี้บอกว่าเมตตากรุณา ไม่มีอุเบกขามาคุม ทำให้เสียดุล หนึ่งทำให้เด็กอ่อนแอ สองทำให้เด็กพึ่งพา พึ่งตัวเองไม่ได้
สาม ถ้าเลยเถิดไป เป็นนักเรียกร้อง จะเอาอย่างเดียว ทีนี้เสียนิสัย ไปอยู่ในสังคมก็จะเรียกร้องเขาอย่างเดียว ไม่รู้จักทำเพื่อผู้อื่น เขาให้มีเมตตากรุณา ให้พ่อแม่มีเมตตากรุณา เพื่อฝึกนิสัยเด็ก เด็กก็จะได้มีเมตตากรุณาคนอื่นบ้าง คือว่ารู้จักว่าพ่อแม่รักเรา เพื่อนมนุษย์อยู่ด้วยกันได้ดีมีจิตใจเมตตา เราก็ไปรักคนอื่น ลูกก็ไปรักคนอื่นต่อ อันนี้ถูกต้อง ทีนี้พอปฏิบัติผิดก็กลายเป็นนักเรียกร้อง จะให้คนอื่นทำให้ ก็เสีย เพราะงั้นระวังมากนะ เด็ก ไม่รู้จักโต อ่อนแอ พึ่งพา เรียกร้อง เสียดุล เพราะมีแต่เมตตากรุณามุทิตา พออุเบกขามา ได้ดุลพอดีเลย เด็กจะมีความรัก ความอบอุ่น ความอ่อนโยน ความเป็นสุข พร้อมกันนั้นก็เข้มแข็ง มีปัญญาพึ่งตนเองได้ รู้จักทำอะไรได้ด้วยตนเอง เป็นคนฝึกตน เพราะงั้นพ่อแม่ที่รักลูกจริง รักลูกระยะยาว รักลูกมองการณ์ไกล จะมีอุเบกขามาคุม เพราะอุเบกขามันเรียกร้องปัญญาให้ต้องมาทำงานว่า ต้องไปคิดว่าลูกเราจะเก่งจะดี จะต้องหัดฝึกอะไร ทำอะไรเองบ้าง ก็ต้องมาเตรียมหาแบบฝึกหัดให้ลูกทำ ใช่มั๊ย แล้วทีนี้ตัวเองก็มีโอกาสที่จะฝึกลูก จะช่วยแนะนำลูก อะไรตัวเองเป็นที่เก่งที่ดี ถ่ายทอดลูกหมดด้วยอุเบกขานะ เมตตากรุณามุทิตามันถ่ายทอดไม่ได้หรอก ได้แต่ไปช่วยทำแทนอย่างเดียว นี่พอมาอุเบกขาเนี่ย พ่อแม่มีดีเยอะแยะ มีคุณสมบัติ มีความเพียร มีสติปัญญา ความสามารถ จะถ่ายทอดให้ลูกได้ก็ตอนอุเบกขาเนี่ย อันเนี่ยมาสัมพันธ์กัน ลูกจะทำอะไร ลูกจะทำยังไง พอเขาเริ่มทำเราก็มองเห็นจุดที่จะต้องแนะได้แล้ว เขาก็จะต้องถามเรา อุเบกขาก็คอยดูอยู่ใกล้ๆ ก็ช่วยหมดเลย ทีนี้ล่ะลูกพัฒนาจริง เรียกว่ารักลูกระยะยาว ต้องรักด้วยพร้อมอุเบกขา ไม่ใช่จบด้วยเมตตากรุณามุทิตา
เอาละทีนี้อาตมาก็ยกตัวอย่างให้ดูว่าอุเบกขาเนี่ยสำคัญอย่างไร แล้วก็การเลี้ยงลูกจะต้องครบ อุเบกขาเนี่ยแยกย่อยเป็นสามสถานการณ์
หนึ่ง ก็ที่พูดไปแล้ว หนึ่ง ว่าลูกจะต้องฝึกหัดรับผิดชอบตัวเอง ก็คือฝึกตัวเองให้พึ่งตัวเองได้
สอง เมื่อลูกอยู่ในบ้านอยู่ในครอบครัว ก็เหมือนอยู่ในสังคม สังคมนั้นต้องมีกฎเกณฑ์มีกติกา มีความเป็นธรรมมากำกับ ใครทำถูกก็เป็นถูก ทำผิดก็เป็นผิด เรียกว่ามีความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเขาจะต้องรู้จักรับผิดชอบการกระทำของเขา ใช่ไหม ลูกทะเลาะกัน ลูกทำอะไรไม่ดี มีกติกาในบ้าน เราวางไว้เพื่อจะฝึกลูก ถ้าเขาทำผิดก็ต้องรับโทษ ทำถูกก็ได้รับผลดีไป อันนี้เรียกว่ารับผิดชอบการกระทำของเขา ก็เป็นอุเบกขาแง่สอง
สถานการณ์ที่สาม เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เรียนสำเร็จแล้ว มีงานมีการทำแล้ว มีครอบครัวของเขาแล้ว เขาต้องรับผิดชอบตัวเอง ถือว่ารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว พ่อแม่ก็วางอุเบกขา จบ ก็คือไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตครอบครัวเขา ไม่ใช่ว่าตามไปเมตตากรุณาเรื่อย แต่งงานไปแล้วก็ไปดูในครอบครัว ไปบ้าน เอ๊ย ตรงนี้แกจัดไม่ถูกแล้ว แกอยู่อย่างนี้ไม่ได้ สามีภรรยาเขาก็เดือดร้อนใช่มั๊ย อึดอัด นั้นพ่อแม่ก็มีอุเบกขา สถานการณ์ที่สามก็คือว่า เมื่อลูกรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ก็วางอุเบกขาไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง
เห็นมั๊ยว่าแค่อุเบกขาข้อเดียว ก็สามสถานการณ์แล้ว ทวนให้อีกทีหนึ่ง เอาสี่ข้อเลยก็ละกันนะ เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา
หนึ่ง สถานการณ์ปกติ มีเมตตา ให้เขาเป็นสุข
สอง เขาตกต่ำเดือดร้อน เป็นทุกข์ มีกรุณา ขวนขวายช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของเขา แก้ไขปัญหาให้เขา
สาม เขาทำดีงาม ประสบความสุขความสำเร็จ พลอยยินดีด้วยส่งเสริมสนับสนุน
สี่ สี่นี่จะแยกย่อยเป็นสามนะ สี่ ในกรณีใดก็ตามที่สามข้อแรกจะทำให้ละเมิดธรรม เสียธรรมะ ให้หยุดขวนขวายเข้าข้อที่สี่อุเบกขา
ทีนี้ อุเบกขาก็แยกย่อยเป็นสามสถานการณ์
สถานการณ์ที่หนึ่งสำหรับพ่อแม่กับลูกก็คือว่า เมื่อลูกจะต้องฝึกหัดรับผิดชอบตัวเอง ก็จะต้องฝึกให้เขาทำใช่มั๊ย ดูให้เขาทำ
สอง เมื่อเขาจะต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา ตามกฎเกณฑ์กติกาของครอบครัว ของสังคม ตามวินัย เป็นต้น ก็ต้องให้เขารับผิดชอบการกระทำนั้น
สาม เมื่อเขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว มีครอบครัวของตัวเอง เป็นต้น ก็วางอุเบกขาไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง
จบละนะ เจริญพร ทีนี้ก็เติมนิดหนึ่ง เมื่อกี้บอกแล้วว่าในชีวิตที่มีแต่เมตตากรุณา แม้แต่มุทิตาเนี่ยจะทำให้เด็กอ่อนแอ พึ่งพา และก็อาจจะเรียกร้องอย่างที่ว่า ทีนี้ถ้าขาดสามข้อแรก หนักในอุเบกขาจะเกิดอะไรขึ้น ก็เสียดุลเหมือนกัน หนักในอุเบกขามักจะเป็นอุเบกขาแบบอัญญานุเบกขา คือ เฉยโง่หรือเฉยไม่รู้เรื่อง คือปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยถูกอุเบกขามากๆ จะมีคติเป็นสอง หนึ่งเสียคน สองเก่งมาก แข็งเลย แต่เอนไปในทางแข็งกระด้าง พอโดนอุเบกขาเข้าแล้วนี่ ไม่มีใครเอาใจใส่ ไม่มีใครเอาเรื่อง ต้องรับผิดชอบตัวเอง ตอนนี้แหละเด็กบางคนจะแข็งมากเลย เก่งเพราะว่ามันฝึกตัวเองใช่มั๊ย แต่ว่ามันแข็งกระด้าง จิตใจไม่ค่อยอ่อนโยน ไม่ค่อยมีความรักผู้อื่น นี่ก็เสียในแง่นี้ แง่ความแข็งกระด้าง แต่ว่ามันได้ดีในแง่เข้มแข็ง ถ้าไม่เสียคนนะ ถ้าเสียคนก็เสียไปเลย ทีนี้ถ้าเด็กรู้จักคิดจะเป็นคนเข้มแข็ง แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นสังคมจะรักษากฎกติกาได้ สังคมที่หนักในอุเบกขา จะรักษากฎกติกา เอากฎเกณฑ์กติกาเอาหลักการเป็นใหญ่ เพราะงั้นสังคมแบบนี้นะ บางทีตัวใครตัวมัน ช่วยตัวเอง เอาอัตตา หิ อัตตโน นาโถไปใช้ผิดๆ ไปซัดทอดกัน เอ้า คุณก็ช่วยตัวคุณเองสิ ตัวใครตัวมัน ทีนี้พอโดนอุเบกขาอย่างนี้เข้าก็ต้องดิ้น พอดิ้นก็เก่ง ก็เข้มแข็ง พอเข้มแข็งนี่ สังคมแบบนี้ไม่มีเมตตากรุณา ก็ต้องเอาเปรียบกัน ใครแข็งก็เบียดเบียนข่มเหงคนอื่น ก็ต้องอยู่ด้วยกฎกติกาใช่มั๊ย เอากฎกติกามาวาง แกทำไงทำไปอย่าละเมิดกติกาก็ละกัน สังคมอย่างนี้ต้องอยู่ด้วยกฎกติกา สังคมอย่างนี้ก็จะเก่งในแง่รักษากฎกติกา เพราะถ้าไม่เก่งแล้วอยู่ไม่ได้ สังคมที่อุเบกขามากถ้ารักษากฏกติกาไม่เก่ง ก็เป็นสังคมที่อยู่ไม่ได้เหมือนกัน งั้นสังคมที่หนักในอุเบกขา ก็จะหนึ่งคนเข้มแข็ง แต่ว่ามีความค่อนข้างแข็งกระด้าง ไม่ค่อยมีน้ำใจ
สอง ต้องถือกฏกติกาเป็นใหญ่ รักษากติกาได้ดี ทีนี้สังคมที่เอียงในเมตตากรุณา แกรักษากฏกติกาไม่ค่อยได้ เดี๋ยวพอ มาช่วย ช่วยกันหน่อย เอาส่วนตัวเป็นหลัก รักษากติกาไม่ได้ กฎไม่อยู่ใช่มั๊ย อันนี้มันยุ่ง รักษายาก มนุษย์เนี่ย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าถึงต้องให้พัฒนาคนว่าหยุด กว่าจะได้ดุลสี่ข้อเนี่ยแย่เลยนะ ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ จะให้ได้ดุลสี่ข้อเนี่ยยากมาก เพราะถ้าไปหนักในเมตตากรุณามุทิตา ไอ้อุเบกขาก็รักษายาก ใช่มั๊ย เพราะอุเบกขามันต้องรักษาธรรม ต้องรักษากฎกติกา รักษาหลักการ เดี๋ยวต้องช่วยเป็นส่วนตัวกันอีก กฏกติกาไม่อยู่ เมตตากรุณามา พึ่งพาอีก อ่อนแออีก พอเป็นสังคมที่มีน้ำใจ ช่วยเหลือกันก็ บางคนแกก็คิดว่าถ้าเราเดือดร้อนเราก็ไปพึ่งพา ไปขอยืม ไปหาผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้ แกก็เลยไม่ขวนขวายอีก เพราะงั้นเลยต้องมีอุเบกขาไว้ดุล อุเบกขาก็จะไม่ช่วยถ้าไม่สมเหตุสมผล แม้แต่จะมาช่วยเหลือ เรามีเมตตากรุณาแต่ถ้าช่วยไปแล้วเสีย เสียธรรมะ แม้แต่เสียชีวิตเขาเอง ทำให้เขาไม่พึ่งตัวเอง เราก็ต้องแนะนำสั่งสอนให้เขารู้จักพึ่งตัวเอง
รวมความแล้ว สำหรับสังคมไทยเราหนักในสามข้อแรก เราจะต้องพัฒนาข้อที่สี่ขึ้นมาด้วย มาคุม ใช่มั๊ย เพื่อจะให้สังคมเราอยู่ได้ดี สังคมฝรั่งนี่เท่าที่สังเกตดูอย่างสังคมอเมริกันจะหนักในข้อสี่ หนักในอุเบกขา แต่อาจจะเป็นอุเบกขาโง่ก็ได้นะ คือเป็นอัญญานุเบกขา คือแกไม่ได้ตั้งใจหรอก แกเฉยเพราะว่าไม่เอาใจใส่กัน ทีนี้พอเป็นอุเบกขา คนก็ต้องช่วยตัวเอง ตัวใครตัวมันก็ต้องเข้มแข็ง แล้วก็เอากฎกติกามาวาง ต้องอยู่ด้วยกฎกติกา ทีนี้ก็ไม่มีน้ำใจ ตัวใครตัวมัน ทุกคนก็ดิ้นรนขวนขวายก็เข้มแข็งดี แต่ว่าทำให้กระด้าง มันก็ได้อย่างเสียอย่าง เพราะงั้นเราต้องพัฒนาคนเรื่อยไป แม้แต่ตัวเราเองถ้าเรามีเมตตากรุณามาก ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้แล้ว ทีนี้พอเห็นใครทุกข์เดือดร้อน จะต้องรักษาธรรมะไว้ จะช่วยเขาไม่ได้ ตัวเองก็เป็นทุกข์อีกใช่มั๊ย เมตตามันก็กลายเป็นสเน่หาไปใช่มั๊ย เพราะงั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ละเอียดว่าเมตตาต้องระวังนะอย่าให้กลายเป็น สเน่หา พอเป็นสเน่หาปั๊บทุกข์มาทันทีเลย ทีนี้กรุณาก็เหมือนกัน พอเห็นเขาทุกข์ปั๊บ ใจเราพลอยหวั่นไหว เราก็เกิดความโศกเศร้าตาม ใช่มั๊ย เพราะงั้นกรุณาก็ต้องระวัง ท่านบอกว่า กรุณามีโศกะเป็นศัตรู ความเศร้าโศกเป็นศัตรูของความกรุณา พระอรหันต์ท่านพัฒนาปัญญาพร้อมแล้วด้วย ท่านมีเมตตากรุณามุทิตาแต่ท่านไม่มีทุกข์ ไม่มีเศร้าโศก เพราะท่านมีปัญญา วางอุเบกขาพอดีอีก ทุกอย่างลงตัวหมด พอลงตัวหมดแล้วมันก็ดีไปหมดแหละ สังคมก็อยู่ได้ อันนี้อาตมาพูดเรื่อง พึ่งตนเอง ก็เลยเข้ามาเรื่องพรหมวิหาร 4 เพราะว่าเราเนี่ยไม่ได้มีหน้าที่เพื่อตัวเองอย่างเดียวนะ เราต้องมาช่วย เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนกันด้วยในสังคม ใช่มั๊ย เราก็เลยต้องสร้างสรรค์สังคมที่ดี ด้วยพรหมวิหาร 4 แล้วมันจะมาหมด พอพรหมวิหาร 4 เราก็ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วย เสร็จแล้วเราก็ไม่เกินธรรมะ ไม่เกินเหตุเกินผล ทำให้ทุกคนรู้จักรับผิดชอบ พัฒนาตนเองไปได้ด้วย อุเบกขาก็มาช่วย ทุกอย่างลงตัวหมด อุเบกขาก็มาให้โอกาส อัตตา หิ อัตตโน นาโถ อัตตา หิ อัตตโน นาโถก็เลยมาสัมพันธ์ได้ดุลกันเรื่องพรหมวิหาร 4 เข้ากันดีไปหมดเลย อัตตา หิ อัตตโน นาโถจะสำเร็จได้จริง ก็ต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ตนจะเป็นที่พึ่งได้ ก็ต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ยังไง ก็ต้องพัฒนาตัวเอง พัฒนาตัวเองยังไงก็ต้องรู้จักศึกษา พัฒนาพฤติกรรมจิตใจและปัญญาของตนเอง งั้นไม่ว่าใครวันนี้ แม้อาตมภาพจะพูดกับญาติโยมชมรมเกษตร ก็เอาหลักธรรมนี้มาใช้ได้เหมือนกัน เราอยู่ในชมรมไหนองค์กรไหนเราก็ต้องอยู่กับชีวิตของตัวเอง และเราก็ต้องอยู่กับเพื่อนมนุษย์ หลักธรรมที่กล่าวมานี้ใช้ได้หมด ยิ่งเรามาจะจัดตั้งกันเป็นชมรมอย่างนี้ ยิ่งต้องเอามาใช้ให้เต็มที่เลย
แล้วก็อีกชุดหนึ่ง พอมีพรหมวิหาร 4 ท่านบอกให้ต่อด้วย สังคหวัตถุ 4 พรหมวิหาร 4 เนี่ยเป็นด้านคุณธรรมในใจนะ เวลาออกปฏิบัติการมันต้องออกมารับด้วย สังคหวัตถุ 4 สังคหวัตถุ 4 มีทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา พอสี่ข้อนี่มันมาปฏิบัติการ มีสังคหวัตถุ 4 ปั๊บ สังคมเจริญงอกงาม แต่วันนี้ไม่มีเวลาแล้ว แต่บอกให้ทราบไว้ก่อน แล้วญาติโยมไปค้นเองก็ได้
พรหมวิหาร 4 นี่เป็นคุณธรรมในใจ ทำให้พร้อมที่จะออกปฏิบัติการ แต่เวลาปฏิบัติการต้องปฏิบัติการด้วยสังคหวัตถุ 4 ข้อ สี่ข้อนี้มันรับกันเปี๊ยบเลย ต่อกันเปี๊ยบทันที่ได้ที่เลย แล้วญาติโยมไปคิดไปศึกษาต่อว่าจะเอาสังคหวัตถุ 4 มาต่อยังไง สังคหวัตถุ 4 เนี่ยมันจะมาอยู่ร่วมกันให้เกื้อหนุนกันด้วยแล้วแต่ละคนก็ต้องพึ่งตัวเองได้ด้วย แล้วตัวมันเองก็คือประสานให้สังคมยึดเหนี่ยวกันอยู่ มีความสามัคคี มีเอกภาพ แล้วเจริญมั่นคงไปด้วยกัน ต้องมีการช่วยเหลือกันด้วยวัตถุสิ่งของ วิทยาการใช่มั๊ย มีการให้แก่กัน ต้องมีการช่วยเหลือด้วยถ้อยคำ คำแนะนำ การปลอบประโลมใจ ให้กำลังใจ การช่วยแนะนำ การแก้ปัญหา เป็นต้น ช่งยด้วยวาจา และก็ต้องช่วยด้วยกำลังความสามารถ มีเรี่ยวแรงกำลังกายใดๆมามีส่วนร่วมช่วยกัน
ข้อหนึ่งเรียกว่า ทาน ข้อสองเรียกว่า ปิยวาจา ข้อที่สามเรียกว่าอัตถจริยา ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลัง ต่อไปข้อที่สี่ สมานัตตา ต้องมีความเสมอภาค ทำตัวให้เข้ากันได้ ไม่ถือเนื้อถือตัว มีความเสมอภาคก็คือ ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แล้วก็ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ต้องมีความเสมอภาพชนิดประสาน ไม่ใช่เสมอภาคชนิดแก่งแย่ง เสมอภาคแบบแก่งแย่งคือยังไง แกได้สิบ ฉันต้องได้สิบ แกได้ร้อย ฉันต้องได้ร้อย ถ้าอย่างนี้ล่ะก็แย่งกันตายเลย ทะเลาะกัน ทีนี้เสมอภาคแบบร่วมสุขร่วมทุกข์คือ เธอสุข ฉันก็สุขด้วย เธอทุกข์ ฉันก็ทุกข์ด้วย มีปัญหาร่วมกันช่วยแก้ไข อย่างนี้เรียกว่ามีความเสมอภาคเชิงประสาน ทีนี้สังคมปัจจุบันนี้เป็นสังคมที่เน้นธุรกิจ เศรษฐกิจ จะเป็นสังคมที่เน้นความเสมอภาคเชิงแก่งแย่ง จะคอยจ้องกันว่าใครได้มากกว่า แกได้สิบ ฉันต้องได้สิบด้วย คอยจ้องอย่างนี้ อย่างนี้ก็ยุ่ง
ในพุทธศาสนาในความเสมอภาคเน้นเชิงประสาน เพราะฉะนั้นคำว่าเสมอของท่าน บาลีว่าอะไร ทราบมั๊ย คำว่าเสมอในภาษาบาลีว่า สมานะ สมานะอ่านเป็นไทยว่าสมาน ใช่มั๊ย สมานแปลว่าอะไร ในภาษาไทยก็คือต้องประสาน เชื่อม นี่แหละมาจากบาลีว่าเสมอ เสมอ สมาน สมานเพราะว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ มีทุกข์เสมอกัน มีสุขเสมอกัน ไม่ใช่มีสุขเอาด้วย มีทุกข์ฉันไม่เอา มีทุกข์ฉันทิ้งเลย อย่างนี้เรียกว่าไม่สุขทุกข์เสมอกัน ฉะนั้นต้องมีความเสมอสมาน เสมอในทางพระหมายถึงเสมอทางประสาน สมานร่วมกัน ถ้าเราสุขทุกข์ร่วมกัน ร่วมกันแก้ปัญหาแล้ว สังคมของเราจะดีแน่นอน อย่ามัวแก่งแย่ง ถ้ามองแบบนักเศรษฐกิจปัจจุบันแล้ว มองเสียดุล แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราทิ้งนะ คือความเสมอภาคเนี่ยแหละ แต่ว่าให้เน้นเชิงสมาน คือความประสานแล้วมันจะดี ก็คือเน้นร่วมสุขร่วมทุกข์นั่นเอง
ก็เป็นอันว่า สังคหวัตถุ 4ว่าจะให้ไปศึกษาเอง เลยพูดซะแล้ว ก็พูดโดยย่อ เอาเป็นว่าในแง่รายละเอียดต้องไปศึกษาต่อ
ธรรมะต่างๆเนี่ยต้องโยงกันหมดนะ ต้องโยงอัตตา หิ อัตตโน นาโถให้เข้าพรหมวิหาร ให้เข้าเมตตากรุณาให้ได้ว่าไปประสานโยงกันที่ไหน แล้วมันมาคุมกันยังไง มาดุลกันยังไง แล้วส่งต่อกันยังไง พรหมวิหาร 4 มาส่งต่อสังคหวัตถุ 4 อีก ใช่ไหม สังคหวัตถุ 4 มันก็ก็ดำรงอยู่ได้ด้วยเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาแหละ แล้วมันก็ให้โอกาสอัตตา
หิ อัตตโน นาโถไปด้วย ใช่ไหม มันก็ไปด้วยกันดีหมด ลงตัว
อาตมาก็ได้พูดมายาวนานพอสมควรแล้ว ก็คิดว่าน่าจะยุติซักที ถ้าหากว่าไม่ได้ตรงเรื่องของชมรมก็ต้องขออภัย แต่ว่าอย่างที่กล่าวแล้วว่าเป็นการพูดเรื่องธรรมะซึ่งคิดว่าใช้ได้ทุกกรณี ในฐานะที่เราทุกคนทุกท่านมีชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติ และเราทุกคนเป็นบุคคลที่อยู่ร่วมในสังคม ชีวิตของเรามีสองด้าน คือด้านที่อยู่ในธรรมชาติ และด้านที่อยู่ในสังคม แยกกันไม่ออก ถ้าท่านใดประสานด้านที่เป็นธรรมชาติ และด้านที่อยู่ในสังคม ตัวบุคคลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่แปลกแยก ชีวิตจะดีงาม แล้วจะทำอะไรผิดพลาดได้ยาก
วันนี้ก็ขออนุโมทนา ก็ขอฝากธรรมของพระพุทธเจ้าไว้เป็นพรแก่ทุกท่านชาวชมรมเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินของประเทศไทยทุกท่าน ก็ขอตั้งจิตปรารถนาดี ก็อนุโมทนาในการที่ทุกท่านมีน้ำใจเป็นกุศล ว่าได้ร่วมใจกันคิดพึ่งตนเอง และยังพึ่งตนเองในรูปที่ร่วมกันพึ่ง โดยมีความสามัคคีเป็นชมรมอย่างนี้ด้วย ก็ขอให้เจริญงอกงามในการทำ ในการปฏิบัติ ในการเพียรพยายามเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่เป็นจุดหมายนั้น และในการดำเนินงานทำหน้าที่เพียรพยายามให้ก้าวหน้าไปนี้ ก็ขอให้ทุกท่านมีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา กำลังความสามัคคี พรั่งพร้อมที่จะได้ทำกิจทั้งหลายให้ก้าวหน้าบรรลุความสำเร็จตามความมุ่งหมาย มีความร่มเย็นเป็นสุข ยังประโยชน์ให้สำเร็จทั้งแก่ชีวิตตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคมส่วนรวม ตลอดจนทั้งโลก โดยทั่วกันทุกท่านทุกเมื่อ เทอญ