แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:00] ขอเจริญพร อาตมาภาพในนามของพระสงฆ์ทั้งหมดในที่ประชุมนี้ ซึ่งขออ้างทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยด้วย โดยมีท่านเจ้าคุณอธิการบดีเป็นผู้นำ พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภาวิชาการ และท่านผู้บริหาร คณะอาจารย์ นิสิต แล้วก็พร้อมทั้งญาติโยมสาธุชน โดยเฉพาะคือในนามพระสงฆ์ทั้งหมด ขอเจริญพรอนุโมทนา ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้สละเวลามาในที่ประชุมนี้ โดยท่านได้เมตตา ทำหน้าที่ในนามของฝ่ายรัฐ คือราชการ อ่านประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ รัฐบาลที่ได้ปฏิบัติงานนี้ ก็เป็นการรับสนองพระบรมราชโองการในการที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ซึ่งในกรณีนี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับการพระศาสนา หรือระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักร ในฐานะที่ทรงเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก แลทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนี้ อนุวัตน์ตามโบราณราชประเพณี ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ ซึ่งเป็นการแสดงออกซึ่งพระราชธรรม มีทศพิธราชธรรม เป็นต้น พร้อมด้วยธรรมะข้ออื่น ๆ อันแสดงไว้ตามหลักการปกครองในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะก็คือหลักที่เรียกว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ ในหมู่ชาวพุทธนั้น ย่อมทราบกันดีว่า อาณาจักรกับพุทธจักรนั้น มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยตลอดมา
[02:51] โดยเฉพาะในประเทศไทยของเรานี้ ซึ่งได้ถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ธรรมะที่ว่าด้วยการปกครองซึ่งองค์พระมหากษัตริย์จะทรงอุปถัมภ์คณะสงฆ์และการพระศาสนานั้น มีทั้งธรรมะสำหรับการปกครองแบบที่เราเรียกว่า “เอกราช” คือมีพระราชาองค์เดียว และการปกครองที่เรียกว่า “คณะราช” คือมีพระราชาเป็นคณะ
[03:33] ความสัมพันธ์ของการปกครอง การพระศาสนา และการศึกษา
[03:33] ทีนี้ว่าถึงการปกครองสมัยพุทธกาล ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ หรือแว่นแคว้นต่าง ๆ แยกได้เป็น ๒ แบบ แบบที่เรียกว่าคณะราช การปกครองเป็นคณะนั้น ซึ่งฝรั่งไปแปลเป็น republic หรือ สาธารณรัฐ เช่น อย่างแคว้นวัชชี แคว้นมัลละ เป็นต้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงหลักธรรมไว้ เรียกว่า วัชชีอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ในหมวดธรรมสำหรับการปกครองแบบนี้ก็มีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระศาสนา ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์จะทรงคุ้มครองสมณพราหมณ์ ปรากฏอยู่ในข้อสุดท้ายคือข้อที่ ๗ ที่ว่ากษัตริย์จะทรงจัดสรร อารักขาความคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรม ในพระอรหันต์ทั้งหลาย
คำว่า “พระอรหันต์” ในที่นี้ก็คือ พระสงฆ์ที่เป็นแบบอย่าง คือกล่าวเอาท่านผู้เป็นอุดมบุคคลสูงสุดนี้เป็นหลัก ก็หมายถึงว่า ให้ความคุ้มครองดูแลปกป้องพระสงฆ์ทั้งหลาย ที่เป็นหลักใจหลักทางธรรมะของประชาชนของสังคม โดยตั้งใจว่าพระอรหันต์ที่ยังไม่มาก็ขอให้มา ที่มาแล้วก็ขอให้อยู่ผาสุก อันนี้เป็นหลักธรรมสำหรับการปกครองแบบคณะราช เช่น แคว้นวัชชี ที่กล่าวแล้ว ซึ่งก็มีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระศาสนานี้เป็นข้อสำคัญคุมท้าย
[05:37] ส่วนการปกครองอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกำลังรุ่งเรืองมากในชมพูทวีปสมัยนั้น คือระบบเอกราช มีราชาผู้เดียว พระพุทธเจ้าก็ตรัสหลักธรรมไว้ การปกครองระบบเอกราชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ ระบบที่เราเรียกว่า พระเจ้าจักรพรรดิ พระองค์ก็จัดจักรวรรดิวัตรไว้ เรานับเป็น ๑๒ ประการ ในจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการนี้ ข้อสุดท้ายก็ลงด้วยความสัมพันธ์ของรัฐกับพระศาสนาเช่นเดียวกัน แต่ก็มีตั้งแต่ข้อ ๓ ที่ว่า องค์พระเจ้าจักรพรรดิทรงจัดการอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่จัดการคุ้มครองป้องกันแก่หมู่ชนเหล่าอื่น ๆ ในแว่นแคว้น
แต่ว่าสำคัญที่ข้อสุดท้าย ข้อสุดท้ายนั้นตรัสว่าพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จไปทรงพบปะ เยี่ยมเยือนสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะ ผู้ฝึกตนให้สงบ โดยเข้าไปปรึกษาสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นสิ่งมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ ไม่ควรเสพ การใดที่กระทำแล้ว จะเป็นไปเพื่อความทุกข์ เพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ การใดที่กระทำแล้ว จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขตลอดกาลนาน เมื่อได้ทราบว่าอันใดเป็นโทษ เป็นสิ่งที่ควรงดเว้นก็ละเสีย อันใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข ยั่งยืนนาน ก็บำเพ็ญสิ่งนั้นให้สมบูรณ์ อันนี้คือหลักที่เรียกว่า “หลักจักรวรรดิวัตร”
[08:09] จะเห็นว่าหลักธรรมในพุทธศาสนานั้นสอนเตรียมไว้พร้อม ทั้งระบบคณะราชและเอกราช คณะราชนั้นก็เป็นการปกครองที่คล้ายกับระบบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” บางทีเราเรียกกันว่า “ระบบสามัคคีธรรม” คือใช้สภาที่ประชุมเป็นที่ตัดสินกรณีต่าง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับอาณาจักรนี้ ถ้าดำเนินไปด้วยดี ก็จะทำให้บ้านเมืองอยู่ร่มเย็นเป็นสุข การที่มีการแต่งตั้งผู้ที่ทำงานทางด้านการศึกษา ทางด้านเกี่ยวกับธรรมะ เกี่ยวกับการให้ความรู้ ปัญญา แก่สังคม แก่ประชาชนนี้ ก็จัดอยู่ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในข้อนี้นั่นเอง ซึ่งฝ่ายรัฐก็ได้รับสนองพร้อมทั้งได้สืบทอดประเพณีของราชธรรมนี้ หมายความว่าเมื่อเรามีการปกครองในระบบประชาธิปไตย รัฐบาลก็เป็นผู้สืบทอดธรรมะสำหรับการปกครองนี้ จากองค์พระมหากษัตริย์ มาทำหน้าที่สืบต่อไป
[09:40] ในสมัยก่อนนั้นการศึกษากับเรื่องของพระศาสนานั้นไม่ได้แยกกัน เพราะฉะนั้นที่ว่ารัฐหรือพระราชา พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงอุปถัมภ์คุ้มครองป้องกัน แก่พระสงฆ์สมณพราหมณ์พระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ก็หมายถึงผู้ทำหน้าที่ทางการศึกษาด้วย สมัยก่อนนั้นการแบ่งแยกทางด้านวิชาการนั้น คงไม่เหมือนสมัยปัจจุบัน เพราะสมัยก่อนนี้พวกวิชาชีพต่าง ๆ นั้นเรียกกันว่า “สิปปะ” พวกสิปปะนี้ถ้ามองดูในสมัยนั้น ก็ยุคเดียวกับสมัยกรีก ซึ่งกลายเป็นว่าเขาจัดเป็นวิชาชั้นต่ำ เรียกว่า วิชาการชั้น ขอประทานอภัย ชั้นทาส เรียกว่า servile arts ส่วนพวกวิชาทางด้านใช้สติปัญญา สมอง ก็จึงจะเป็นวิชาพวกเสรีชน เป็น liberal arts วิชาประเภทนี้ปกติในชมพูทวีปก็อยู่กับสมณพราหมณ์
[10:58] ฉะนั้นการที่อุปถัมภ์บำรุงทางด้านพระศาสนานั้น ก็หมายถึง การอุปถัมภ์บำรุงทางด้านการศึกษาไปด้วยในตัว ก็ถือว่าการศึกษากับเรื่องของธรรมะเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะว่าลำพังเฉพาะศิลปะวิทยาวิชาชีพนั้น หาได้เป็นเครื่องมือที่แท้จริงของการปกครอง ที่จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข แต่เป็นเรื่องของด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่าตัวกำหนดวิถีทางของสังคมที่แท้ การบริหารสังคมนั้น จะต้องอาศัยสติปัญญา ที่ประกอบด้วยธรรมะ ดำเนินไปพร้อมกัน
[11:42] ฉะนั้นประเพณีการปกครอง ที่การศึกษากับพระศาสนา หรือธรรมะ มาด้วยกันนี้ จึงยั่งยืนตลอดมา เป็นเรื่องของประเพณีมาแต่ดั้งเดิม การที่ทางรัฐได้ปฏิบัติภารกิจในวันนี้ ซึ่งเป็นการสนองพระบรมราชโองการ ก็ถือว่าได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ตามโบราณราชประเพณีนี้ อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาด้วย
[12:17] ปลุกจิตสำนึกด้วยคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา
[12:17] และเมื่อพูดแคบเข้ามา คือกล่าวถึงรัฐบาลนั้น ก็เป็นการกล่าวถึงรัฐทั้งหมด ที่ทำการในนามของประเทศชาติ แคบเข้ามาก็คือสถาบัน สถาบันผู้เป็นเจ้าของเรื่อง ในวันนี้ก็คือมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มีกรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งวันนี้ท่านเจ้าคุณอธิการบดีได้เป็นผู้นำมา ทางมหาจุฬาฯ นั้น ที่ได้มาแสดงความเอื้อเฟื้อในวันนี้ กระผมก็ขอขอบพระคุณในการที่มีน้ำใจ ทั้งต่อผมในฐานะเป็นบุคคล เป็นพระองค์หนึ่ง นั้นก็ขอบคุณในสถานหนึ่ง และอีกสถานหนึ่งก็คือ ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยด้วย ก็เป็นการขอบคุณในสถานะของศิษย์เก่าต่อทางมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
[13:28] เมื่อเป็นเรื่องของศิษย์เก่าก็เลยขอโอกาสพูดคุยแบบเป็นกันเอง วันนี้ที่ท่านรัฐมนตรีได้กรุณาอ่านประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ ๒ ท่าน ก็เลยขอโอกาสเล่าย้อนไปเมื่อตอนก่อนเพลนี้เอง หลวงลุงที่วัดนี้ท่านอยู่ ๆ ก็ถือเอาหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมาให้อ่าน อ่านดูก็เป็นข่าวเรื่องตั้งศาสตราจารย์พิเศษนี่ ในนั้นบอกว่าตั้งพระธรรมปิฎกเป็นศาสตราจารย์พิเศษคนแรก อันนี้ก็เลยเป็นจุดที่จะนำมาขอกล่าวในที่นี้ ที่กล่าวในที่นี้คือแก้ข่าว เพราะว่าความจริงนั้น ท่านแรกที่แท้ก็คือท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ทำไมจึงว่าอย่างนี้ คือที่ประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี และที่หนังสือพิมพ์นำไปลงนี้ ก็เป็นเรื่องของความดีความงามของพุทธบริษัท หมายความว่าในพุทธบริษัทเหล่านี้ เราก็ให้ความสำคัญแก่ภิกษุบริษัท ให้ความสำคัญแก่พระสงฆ์นั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อมีเรื่องราวมาพูดด้วยกัน ก็ให้พระสงฆ์เป็นอันดับแรก แต่ว่าโดยรัตตัญญุตา หรือรัตตัญญูภาวะ แล้วก็ต้องถือว่าท่านอาจารย์จำนง ทองประเสริฐ เป็นลำดับที่ ๑ เพราะว่าท่านเป็นครูอาจารย์ ก็เป็นครูอาจารย์ของกระผมเองด้วย
[15:22] นั่นก็เป็นเหตุการณ์เมื่อนานมาแล้ว ตั้ง ๔๐-๕๐ ปีแล้ว ผมได้เข้ามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ก็เป็นเณรเล็ก ๆ องค์หนึ่ง ตอนนั้นท่านอาจารย์จำนง ทองประเสริฐ เป็นท่านเจ้าคุณกวีวรญาณ ท่านเป็นผู้บริหารมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาที่เล่าบ่อย ๆ ก็ถือโอกาสเอามาเล่าซ้ำอีก สมัยก่อนนี้เวลาจะเข้าชั้นเรียน ก่อนเข้าชั้นเรียนก็จะมีการประชุมกันที่ลานอโศก ที่หน้าหอสมุดกลาง ท่านคณะผู้บริหารมหาจุฬาฯ ครูอาจารย์ก็จะผลัดกันมา จัดลำดับกันมา มาพูดให้โอวาทแก่นิสิตนักเรียน ที่ลานอโศก หน้าหอสมุดกลางนั้น ท่านอาจารย์จำนง ทองประเสริฐ ก็เป็นศูนย์กลาง หรือเป็นแกนของการให้โอวาทนี้ กระผมเองก็ได้ฟังโอวาทของท่านเป็นประจำ
[16:43] แล้วก็คำกล่าวของท่านนี้มีความหมายสำคัญมาก เพราะว่าเป็นเครื่องปลุกเตือนจิตใจให้พระของเรา เณรของเรา ได้เห็นความสำคัญของการทำกิจพระศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ให้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา แล้วก็ให้สำนึกในหน้าที่ ที่จะออกไปทำประโยชน์แก่ประชาชน ด้วยการนำธรรมะไปเผยแผ่ ทำให้เกิดอย่างที่เขาเรียกกันว่า “ไฟ” ความรู้สึกความสำนึกที่จะเล่าเรียนศึกษาพระพุทธศาสนาให้จริงจัง เกิดความซาบซึ้งเห็นคุณค่าของธรรมะ ของคำสอนของพระพุทธเจ้า และปรารถนามีใจใฝ่ที่จะนำเอาหลักธรรมคำสอนนี้ ไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป
[17:41] คิดว่าการศึกษานี้ มีภารกิจอันหนึ่งที่ควรจะต้องทำให้ได้ ก็คือการที่จะต้องปลุกจิตสำนึกของนักเรียน ของนักศึกษานิสิตทั้งหลาย เวลานี้บ่นกันมากว่า นิสิตนักเรียนไม่ค่อยมีจิตสำนึกในเรื่องสังคม หรือจิตสำนึกต่อพระศาสนา อย่างเรื่องในวงการพระสงฆ์เอง ความรักพระศาสนาก็ไม่ค่อยมี ฉะนั้นแรงใจที่จะทำกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็อ่อนแอ แม้ในฝ่ายของบ้านเมืองก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีจิตสำนึกต่อสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดกำลังและความอาจหาญ กล้าหาญ ที่จะสร้างสรรค์ ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป มิฉะนั้นก็อาจจะถูกสิ่งล่อเร้า ยั่วยวน ชักจูงออกไปให้เขว ลงไปจมอยู่ในการเสพบริโภค ในเรื่องที่เราเรียกกันว่า บริโภคนิยม ตลอดจนอบายมุขต่างๆ ได้ง่าย สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่มีความหมกมุ่นมัวเมา มีอบายมุขมากจนต้องจัดระเบียบสังคมกันนี้ ก็คงจะเป็นเพราะเหตุนี้ การศึกษาเราไม่สามารถที่จะปลุกจิตสำนึกในทางสังคมให้เกิดขึ้นได้
[19:13] ในการที่จิตสำนึกในทางสังคม หรือจิตสำนึกต่อส่วนรวม จิตสำนึกต่อพระศาสนานี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้เล่าเรียนศึกษา ว่าสิ่งที่เล่าเรียนศึกษา อย่างพระเณรก็คือพระวินัยนี้ เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาได้ ทำประโยชน์สุขนั้นให้สำเร็จได้อย่างแท้จริง มีความเชื่อมั่น เมื่อเห็นคุณค่าก็จะมีความเชื่อมั่น แล้วก็จะหนุนจิตสำนึกนั้นให้ออกมาเป็นผลในทางปฏิบัติได้
[19:49] เมื่อใดเห็นความจริงแท้ เมื่อนั้นจึงสำเร็จประโยชน์
[19:49] แล้วลึกลงไปก่อนที่จะเห็นคุณค่า ก็คือการที่ต้องเห็นความจริง เล่าเรียนอย่างพระพุทธศาสนา หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เล่าเรียนพระธรรมวินัย ก็ต้องเห็นความจริงของธรรมะนั้น ถ้าไม่เห็นความจริง ก็ไม่เห็นความหมายว่า จะมีคุณค่าเป็นประโยชน์ได้อย่างไร แรงใจจิตสำนึกต่างๆ ก็ไม่ออกผลเป็นการปฏิบัติ
[20:17] เพราะฉะนั้นเบื้องต้นทีเดียวก็ต้องมองเห็นความจริง เล่าเรียนแล้วมีความซาบซึ้งว่า พระพุทธศาสนาสอนหลักที่เป็นความจริง ความจริงนี้ก็ไม่ใช่หมายถึงความจริงเพราะท่านสอน หลักพระพุทธศาสนาก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงมันก็มีอยู่ตามธรรมดาของมันอย่างนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักเรื่องไตรลักษณ์ หรือ ปฏิจจสมุปบาท ก็ตาม ตถาคตได้มาค้นพบความจริงนี้แล้ว จึงได้นำมาเปิดเผยแสดงชี้แจง ทำให้เข้าใจง่ายว่าดังนี้ ๆ หมายความว่าท่านผู้สั่งสอน แม้แต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ก็ทรงเป็นสื่อชี้ให้เราดูไปที่ตัวความจริงนั้น
[21:10] ความหมายอยู่ที่ความจริง ไม่ใช่ติดอยู่กับตัวผู้แสดงหรือสอน การสอนที่มัวแต่บอกว่า คนนั้นพูดว่าอย่างนี้ นักปราชญ์คนนี้ว่าอย่างนั้น คงไม่ไปไหน นักปราชญ์เหล่านั้นแน่นอนมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็มีความสำคัญในฐานะเป็นสื่อ ที่จะช่วยให้เรามองไปที่ความจริง เมื่อใดเห็นตัวความจริงที่แท้ ซึ่งมีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ เมื่อนั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์ของการศึกษาที่แท้จริง และภารกิจของท่านผู้แสดงก็ถึงจุดหมาย
[21:46] เวลานี้เป็นที่น่าสังเกตเช่นเดียวกัน บางทีก็มาติดอยู่กับเพียงว่า ใครพูดว่ายังไง นักปราชญ์คนนั้นว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จบอยู่ที่นั้นเอง ถ้าหากว่าพูดอย่างเซน ก็คล้ายๆ บอกว่า มีมือชี้ไปที่พระจันทร์ แทนที่จะมองไปที่พระจันทร์ ก็มองไปที่นิ้วที่ชี้ ก็เลยไม่ถึงพระจันทร์สักที แต่บางทีเราก็อาจจะไม่ได้มองที่นิ้วชี้ด้วยซ้ำ มองไปที่มือ หรือมองไปที่ตัวคนชี้ เลยไม่เห็นแม้กระทั่งนิ้วที่ชี้ ทีนี้ถ้าใกล้เข้าไปหน่อย ก็มองไปที่นิ้วชี้ ต่อจากนิ้วชี้ถ้ามองให้แน่ให้ตรง ก็คือมองไปที่พระจันทร์ อันนี้เรื่องของศิลปะวิทยาการต่าง ๆ แน่นอนว่ามีความมุ่งหมายเพื่อให้ถึงความจริงแท้
[22:38] ถ้าตามหลักพระศาสนาก็คือ ความจริงตามธรรมชาติ หรือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เมื่อเรามองเห็นความจริงนี้แล้ว เราก็จะมองเห็น อ๋อ สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างนี้ ๆ จะต้องแก้ไขอย่างนั้น ๆ ว่าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลอย่างนั้น ความจริงมันก็จะทำให้เกิดความหมาย แล้วก็มองเห็นคุณค่า และจิตสำนึกต่อส่วนรวมก็จะออกผล
[23:04] ทั้งนี้เมื่อทำได้สำเร็จ ก็จะสอดคล้องกับจุดหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวพุทธเราโดยเฉพาะพระสงฆ์นั้น ได้พูดถึงกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะก็คือ ถือว่าเป็นจุดหมาย หรือจะเรียกเป็นอุดมการณ์ ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่เราอ้างกันบ่อยๆ ว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” ว่าเธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่พหูชน เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลกที่ ลงท้ายก็คือ โลกานุกมฺปาย
[23:50] แท้จริงอันนี้ก็ไม่ใช่เพียงเป็นพุทธพจน์สำหรับผู้ประกาศเผยแผ่พระศาสนาเท่านั้น อันนี้เรามักจะอ้างจุดนี้ แล้วการที่ว่าจาริกนั้น เดี๋ยวนี้ก็อาจจะไม่ได้จาริกไปด้วยตัวแล้ว เพราะเป็นยุคของสื่อสารข้อมูล ข่าวสารข้อมูลก็ไปได้ด้วยไอที ซึ่งเราสามารถเผยแผ่ไปได้กว้างขวาง แม้ไม่ต้องเดินทางไป ไม่ต้องเดิน ไม่ต้องขึ้นเครื่องบิน ไม่ต้องไปรถ ไปเรือ แต่ว่าการจาริกทั้งหมดนี้ จะจาริกไปเอง หรือจาริกไปโดยไอทีก็ตาม ก็ยังไม่ใช่จุดหมายขั้นสมบูรณ์ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้ ไม่ใช่เฉพาะตรัสเป็นภารกิจของพระสงฆ์เท่านั้น แต่ว่าตรัสว่าตัวพระศาสนานี้เอง พระศาสนานี้จะดำรงอยู่ยั่งยืนนาน ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก
[24:50] อย่างเช่นเมื่อจะกล่าวถึงการสังคายนา การสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อให้พระศาสนานี้ ยั่งยืนอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก แม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเองที่ดำรงพระชนม์อยู่ พระสารีบุตรปรารภเรื่องนี้ตอนที่พระอานนท์ได้กล่าวขึ้นมา ถามว่าถ้าหากว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอันเป็นอะไรไป ท่านจะว่ายังไง พระสารีบุตรก็ได้กล่าวตอบว่า ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง แต่ว่าท่านก็จะเห็นว่า ถ้าหากว่าองค์มหาบุรุษจะดำรงอยู่ยั่งยืนนาน ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน และเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก ก็หมายความว่า พระพุทธศาสนาทั้งหมด องค์พระศาสดา การทำงานของพระศาสนาของเราทั้งหมดนี้ มีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอยู่ที่นี่เอง ก็คือการบำเพ็ญประโยชน์สุขต่อชาวโลก อันนี้เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา เป็นจุดหมายในระดับที่เป้าหมายขั้นปลาย ซึ่งเป็นจุดหมายเพื่อส่วนรวม
[26:06] ทีนี้จะมีจุดหมายที่มาสนองรับ เป็นฐานให้กับจุดหมายนี้อีกขั้นหนึ่ง ก็คือจุดหมายขั้นบุคคล จุดหมายของบุคคลนั้น แต่ละชีวิตแต่ละบุคคลก็คือนิพพาน จุดหมายแห่งนิพพานของบุคคลนี้ก็จะไปสัมพันธ์กับจุดหมายการบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อชาวโลก เพราะผู้ใดไม่นิพพาน ผู้นั้นไม่สามารถจะบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลกได้เต็มที่ เป็นธรรมดาว่ามนุษย์ก็ยังมีกิเลส ก็ยังมีอะไรต้องทำเพื่อตน อย่างน้อยก็คือการที่จะมีความสุขเพื่อตน แต่ถ้าผู้ใดนิพพานก็คือดับหมดแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวอีก เต็มอิ่มมีความสุขเป็นคุณสมบัติประจำตัว แม้แต่ความสุขก็เป็นคุณสมบัติประจำตัวแล้ว ไม่ต้องหาความสุข ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเองอีก บุคคลที่นิพพาน ดับได้แม้กระทั่งเรื่องตัวตน เพราะไม่มีตัวตนต้องยึดถือ มีความสุขเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว ท่านผู้เช่นนี้แหละ จึงจะเป็นผู้พร้อมที่บำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อชาวโลกได้เต็มที่
[27:17] คตินี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ว่า จุดหมายของพระพุทธศาสนาที่เป็นสองขั้น คือจุดหมายเพื่อตัวบุคคล กับจุดหมายเพื่อส่วนรวมนี้ รับกันอยู่และสอดคล้องหนุนซึ่งกันและกัน เราจะต้องเน้นย้ำเรื่องหลักการนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาครั้งแรก ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น พระองค์ก็ตรัสว่าทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ ทั้งพระองค์เองด้วย ล้วนแต่เป็นผู้พ้นแล้วจากบ่าว ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ อันนี้ก็คือว่านิพพานหมดแล้ว ไม่มีตัวตนที่จะไปติดข้องอะไรทั้งสิ้น เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ก็เป็นอิสรเสรี แล้วก็ไปเพื่อชาวโลกได้เต็มที่
[28:10] การศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต
[28:10] ฉะนั้นการศึกษาต้องทำได้ทั้ง ๒ ขั้น คือการศึกษาที่จะทำให้คนนิพพาน แล้วเขาจะได้ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกได้โดยสมบูรณ์ ทั้งสองอย่างนี้รับกัน ถ้าการศึกษาไม่สามารถทำให้สำเร็จวัตถุประสงค์สองอย่างนี้ โดยเฉพาะขั้นแรก กิเลสไม่น้อยลง จะทำประโยชน์สุขแก่สังคม แก่ส่วนรวม แก่โลก มันเป็นไปได้ยาก
[28:38] เวลานี้ก็เป็นเรื่องที่เรามาถึงระยะของวิกฤตการณ์ต่างๆ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ทางสังคม แล้ววิกฤตการณ์ขณะนี้ก็เป็นถึงระดับโลก ตอนที่เกิดสงครามที่อัฟกานิสถาน ประเทศสหรัฐอเมริกาก็บอกตอนนี้เกิดสงครามชนิดใหม่แล้ว เป็น new kind of war สงครามชนิดใหม่นี้ก็มาอยู่ในยุคที่เพิ่งเกิด new economy เศษฐกิจแบบใหม่ ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องเตรียมรับสถานการณ์ ในการที่ว่าถ้าเรามีจุดมุ่งหมายที่จะบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลก ทำให้โลกนี้มีสันติสุข ก็จะต้องแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพียงตื่นเต้นแล้วก็ผ่านไป สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่คุกคามต่อสันติสุข ความอยู่ร่มเย็นของชาวโลกนั่นเอง
[29:34] มี new economy มา ดีหรือเปล่า แล้วก็มี new war มา อันนี้ไม่ดีแน่นอน แต่ทั้งสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เวลานี้เราเข้ามาอยู่ในสภาวะที่โลกนี้มีความซับซ้อนสับสน จนกระทั่งว่ามองปัญหาอะไรต่างๆ ได้ยาก คลำปมไม่ถูก ไม่รู้จะแก้ยังไง จุดไหน แต่ที่จริงมันก็ไม่ไปไหนหรอก ที่ว่าซับซ้อนสับสน มันก็อยู่แค่เดิมนั่นเอง ว่าไปในแง่หนึ่งก็คือการที่มนุษย์เราแปลกแยกกับตัวเอง มองง่ายๆ ก็คือว่ามนุษย์เรา คนเรานี่แหละเป็นตัวก่อปัญหา แล้วก็เป็นผู้ที่จะแก้ปัญหา มนุษย์ที่ว่าก่อปัญหาขึ้นมานี่ ก็ก่อปัญหาตั้งแต่ที่ตัวเองนั่นเอง ก่อปัญหาที่ตัวเองก่อน แล้วก็ก่อปัญหาไปข้างนอก ตัวเองก็ไม่รู้จักตัวเอง
[30:34] มนุษย์นั้นถ้าว่ากันไปแล้ว พื้นฐานก็มีง่ายๆ มนุษย์แต่ละคนนี้มี ๒ สถานะพร้อมกัน หรือมองได้ ๒ ด้าน ด้านหนึ่งคนแต่ละคนนี้เป็นชีวิต ชีวิตนั้นเป็นธรรมชาติ ด้านนี้เป็นด้านที่โยงเราเข้ากับธรรมชาติ แน่นอนว่าโดยพื้นฐานแล้ว เราทุกคนเป็นชีวิต ชีวิตของเรานี้เป็นธรรมชาติ เกิดมาตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ของธรรมชาติ ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมมาประชุมกัน อันนี้คือตัวคนด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมนุษย์เรานี้เป็นบุคคล พอเป็นบุคคลก็กลายเป็นผู้อยู่ในสังคม เป็นส่วนร่วมในสังคม เข้าไปมีความสัมพันธ์กับคนโน้นคนนี้ เสร็จแล้วก็มีการอยู่ร่วมกันด้วยดีกับไม่ได้ดี โดยมากมันจะไม่ค่อยด้วยดี เพราะว่าแต่ละคนก็จะต้องดิ้นรนเพื่ออยู่ตนรอดเป็นต้น ตอนนี้ก็จะเกิดการแย่งชิง การทะเลาะวิวาทกัน เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องบุคคลนี้มีมาก ออกไปสู่สังคม
[31:43] เวลานี้ที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งก็คือ พื้นฐานที่มนุษย์นี้แปลกแยกจากตัวเองด้านชีวิต มีแต่ด้านบุคคลอย่างเดียว เชื่อมตัวเองเข้ากับความจริงพื้นฐานที่เป็นธรรมชาติไม่ถูก ตั้งแต่กินอาหารเป็นต้นไป ตั้งแต่กินอาหารก็กินไม่ถูกแล้ว กินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล แทนที่จะต้องกินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต เมื่อมนุษย์แปลกแยกจากตัวเอง โยงไม่ถึงแม้แต่ชีวิตของตัวเองที่เป็นธรรมชาติ แน่นอนมันก็ต้องเกิดปัญหา เวลานี้ส่วนที่เป็นบุคคลที่อยู่ในสังคมนั้นเป็นส่วนที่เด่น แล้วในกระบวนการทางสังคมนั้น กระบวนการสำคัญทั้งหมดที่เป็นไปอยู่ในสังคมที่เด่นในปัจจุบันนั้น ส่วนที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมามากก็คือด้านเศรษฐกิจ กระบวนการทางสังคมด้านเศรษฐกิจนี้กำลังขึ้นมาใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง และมีอิทธิพลครอบงำระบบอื่นๆ ในทางสังคม
[32:46] แต่แค่นั้นมันยังไม่หยุด เวลานี้เรื่องของเศรษฐกิจนี้ กำลังจะมีอำนาจแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบงำเรื่องของด้านชีวิตมนุษย์ด้วย ด้านชีวิตแท้ๆ ที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า แม้แต่การศึกษาเอง การศึกษานี้ที่เป็นก้ำๆ กึ่งๆ นักการศึกษาตะวันตกบางคนก็จัดเข้าเป็นสังคมศาสตร์ บางคนก็ไม่จัด ไม่รู้จัดเข้าอันไหนดี บางทีก็จัดแยกเป็นอิสระ คือจัดไม่ถูก ไม่ลงกัน เพราะว่าเวลานี้เราก็จัดศาสตร์ต่างๆ ในโลก เป็น ๓ หมวด เป็นมนุษยศาสตร์ เป็นสังคมศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เสร็จแล้วการศึกษานี้ไม่รู้จะอยู่ในหมวดไหนดี บางคนก็เอาไปอยู่ในสังคมศาสตร์
[33:36] ทีนี้การศึกษานั้นแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องของชีวิต เป็นเรื่องพื้นฐาน เพราะว่าในทางพระศาสนาก็คือ คนเราต้องมีชีวิตอยู่ เมื่อชีวิตมีอยู่เป็นไป เราก็ดำเนินชีวิตก้าวไป ก้าวไปก็คือจะเป็นอยู่ดำเนินไป แล้วเราก็ต้องเจอสถานการณ์ใหม่ ประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งเราจะต้องปรับตัว จะต้องเรียนรู้ จะต้องพัฒนาชีวิตนั้น การที่จะพยายามดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี แม้แต่ให้เป็นไปด้วยดี ดีในสถานการณ์นั้น ๆ หรือประสบการณ์นั้น ๆ ก็คือการศึกษานั่นเอง เพราะฉะนั้นเรามีชีวิตอยู่ เราก็มีการศึกษาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนานี้จึงให้ความสำคัญว่า ชีวิตกับการศึกษาเป็นอันเดียวกัน แต่หมายถึงว่าเป็นชีวิตที่ดี
[34:30] ถ้าเป็นชีวิตที่ไม่พยายามปรับตัว ไม่พยายามเรียนรู้ ไม่พยายามที่จะดำเนินไปให้บรรลุจุดหมายที่สูงขึ้นไปได้เนี่ย ก็สักแต่ว่ามีลมหายใจ ท่านเรียกความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่สักแต่ว่ามีลมหายใจว่า “พาล” คนพาลก็คือคนที่เป็นอยู่สักแต่ว่ามีลมหายใจ ถ้าไม่เป็นอยู่แบบพาล ไม่เป็นอยู่สักแต่ว่ามีเพียงลมหายใจ ก็ต้องมีการศึกษา การศึกษาก็คือการที่พยายามอยู่ให้ดี พยายามที่จะรับประสบการณ์ให้ได้ผล มีการเรียนรู้ จะอยู่อย่างไรให้รอด จะปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นอย่างไรจึงจะได้ผลดี นี่คือการศึกษาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต
[35:15] เศรษฐกิจเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการศึกษา เกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตสู่ความงอกงาม
[35:15] เวลานี้เราอาจมองข้ามไป เรามองการศึกษาในความหมายต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ว่า น่าเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจที่มีอำนาจครอบงำเด่นในสังคมศาสตร์เนี่ย ในด้านบุคคลที่อยู่ในสังคม กำลังจะก้าวเข้ามามีอิทธิพลครอบงำแม้แต่การศึกษา เช่นว่า เรามีการมองมนุษย์เป็นทรัพยากร เอาเป็นทรัพยากรมนุษย์ นี่ก็เป็นการที่ เริ่มที่เศรษฐกิจจะเอาการศึกษาเข้าไปเป็นเครื่องมือแล้ว หมายความว่าการศึกษานี้ต้องมาสนองรับใช้เศรษฐกิจนะ มาพัฒนาคนเพื่อในฐานะเป็นทรัพยากรมนุษย์ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือกว้างไปก็พัฒนาสังคม อย่างนี้เป็นต้น
[36:10] หรือแม้แต่ว่ากว้างออกไปก็คือ การไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งเศรษฐกิจนี้เป็นตัวนำ ก็มีกระบวนการอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือ เป็นทางให้เพื่อจุดหมาย สนองจุดหมายทางเศรษฐกิจ อันนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาก็คือการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน อย่างที่เราประสบกันอยู่ปัจจุบัน เพราะว่าเศรษฐกิจนี้ก้าวไปรุกราน แม้แต่ในธรรมชาติ โดยทัศนะของการพิชิตธรรมชาติ เอาชนะธรรมชาติ เอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อจะได้มาเข้าโรงงานอุตสาหกรรม มาทำผลิตภัณฑ์เพื่อเสพบริโภค สนองความต้องการของมนุษย์ในทางเศรษฐกิจ ไป ๆ มา ๆ ธรรมชาติรอบตัวก็อยู่ไม่ได้ ก็เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
[37:00] ที่ผ่านมานี้ก็หมายความว่า เศรษฐกิจกำลังเป็นตัวเด่น เป็นตัวครอบงำไปหมด ก็กำลังเข้ามาครอบงำการศึกษา ทีนี้การศึกษาจะสามารถดำรงตนเป็นอิสระได้หรือไม่ โดยที่แท้จริงแล้ว ถ้าว่าตามหลักพระพุทธศาสนา การศึกษานั้นเราถือเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเกื้อหนุน เกื้อหนุนการศึกษาอย่างไร ก็คือเอาเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิต คนจะอยู่ได้จะมีชีวิตอยู่ดี จะมีการศึกษาพัฒนาได้งอกงาม ก็ต้องอาศัยเศรษฐกิจด้วย แต่ว่ามองเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเกื้อหนุน
[37:41] แต่เวลานี้เศรษฐกิจจะมาเอาการศึกษาไปเป็นเครื่องมือ ก็จะไปเป็นผลิตทรัพยากรของสังคมเป็นต้น ก็เป็นเรื่องที่ว่าจะต้องมาคิดกันให้มาก ว่าจะทำอย่างไร การศึกษาจะเป็นใหญ่ หรือเศรษฐกิจจะเป็นใหญ่ ถ้าหากว่าเราถือชีวิตเป็นใหญ่ โดยที่บุคคลแต่ละคนที่เป็นมนุษย์นี้ มี ๒ ด้าน มีชีวิตกับบุคคล ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ บุคคลอยู่กับสังคม บุคคลในสังคมนี้ไม่มีชีวิต อยู่ได้ไหม แน่นอนว่าชีวิตเป็นฐานของบุคคลอีกที แล้วบุคคลจะอยู่ดีโดยไม่คำนึงถึงชีวิต เป็นไปได้หรือไม่ เวลานี้เรากำลังให้ความสำคัญเอาใจใส่เรื่องบุคคลมาก จนกระทั่งลืมเรื่องความเป็นชีวิต เมื่อลืมความเป็นชีวิต ก็จะลืมคุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วย แล้วต่อจากนั้นอะไรต่ออะไรก็จะวิปลาสคลาดเคลื่อน
[38:42] ถ้าหากว่าเราให้เศรษฐกิจเป็นใหญ่ ซึ่งมีความหมายต่อไปว่าธุรกิจเป็นใหญ่ ความสำเร็จต่าง ๆ ก็มุ่งสนองความสำเร็จทางเศรษฐกิจนี้ จุดหมายของพุทธศาสนาที่ว่า จะให้การศึกษาเพื่อให้คนนิพพาน และเพื่อให้แต่ละคนนี้ไปบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลกนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าแนวคิดทางเศรษฐกิจนั้น ก็จะเป็นเรื่องการสนองความต้องการของบุคคล ไม่ใช่สนองความต้องการของชีวิต เมื่อสนองความต้องการของบุคคล บุคคลแต่ละคนก็จะเอา เมื่อเข้าไปอยู่ร่วมกันก็จะแย่งชิง
[39:20] ฉะนั้นการศึกษาที่มีเศรษฐกิจเป็นใหญ่ ต้องการที่จะสร้างผลิตภัณฑ์อะไรต่าง ๆ ให้มาก แน่นอนว่าจะต้องเอาเพื่อตัวพวกตัว ก็จะต้องมีการแย่งชิงกัน จะให้โลกนี้มีสันติสุขคงเป็นไปไม่ได้ ก็จะต้องให้การศึกษานี้เป็นไปเพื่อเอาเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนพัฒนาชีวิต หรือเกื้อหนุนการศึกษาให้ได้ แล้วอันนี้คนที่ได้มีการศึกษาที่แท้แล้วนี้ ก็จะมีความพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลกต่อไป ซึ่งจะเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ที่สอดคล้องกัน ที่ให้บุคคลนิพพาน แล้วก็สามารถไปบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลกได้อย่างแท้จริง
[40:12] วันนี้ก็เป็นวันที่ได้ปฏิบัติภารกิจอันหนึ่ง เพื่อสนองวัตถุประสงค์ทางการศึกษา ซึ่งในวงที่จำเพาะก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระศาสนา แล้วก็หมายถึงรัฐกับการศึกษาด้วย ในกรณีนี้การศึกษากับการพระศาสนา หรือเรื่องธรรมะ กับการพัฒนาชีวิต ได้มาโยงเป็นเรื่องเดียวกัน โดยทางสัญลักษณ์หรือรูปแบบ ก็ขอให้ความสัมพันธ์โดยสัญลักษณ์รูปแบบนี้ มีความหมายโยงลงไปถึงตัวเนื้อแท้ ที่เป็นแก่นสารด้วย ถ้าหากลงไปถึงขั้นนั้นได้อย่างแท้จริง ก็จะเป็นไปตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้แต่ความเป็นศาสตราจารย์พิเศษนี้เอง ก็ย่อมไปสื่อได้ทั้ง ๒ อย่าง คือจะไปสื่อระบบการศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือของเศรษฐกิจก็ได้ หรือจะเป็นสื่อของการศึกษาที่เอาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตก็ได้
[41:21] แต่เราก็คงจะหวังว่าอย่างไรก็ตาม ก็ขอให้กิจกรรมที่ได้ทำกันนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยเกื้อหนุนให้เดินหน้าไปในวิถีทางคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักธรรมที่สอนความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาตินั้นว่า ให้เราสามารถเอารูปแบบต่าง ๆ ระบบการต่าง ๆ สิ่งที่มนุษย์จัดตั้งวางบัญญัติขึ้นมานี้ เป็นสื่อเป็นเครื่องมือที่จะนำเข้าถึงสาระที่แท้จริง โดยเฉพาะก็คือการศึกษา ในความหมายที่เราเอาปัจจัยด้านอื่น ๆ ซึ่งมิใช่เฉพาะเศรษฐกิจเท่านั้น ปัจจัยสังคมอื่น ๆ ด้วย มาเกื้อหนุนในการพัฒนาชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์นั้นมีชีวิตที่เจริญงอกงามขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีกิเลสน้อยลง มีทุกข์น้อยลง แล้วก็สามารถที่จะไปบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกกว้างขวางออกไป ไม่ใช่ว่าอยู่ไปก็ยิ่งต้องเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนทุกข์ แล้วก็เลยต้องเอามาให้แก่ตนมากยิ่งขึ้น ก็เลยเบียดเบียนกันใหญ่
[42:23] ฉะนั้นก็หวังว่ากิจกรรมในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการที่จะปฏิบัติให้เกิดผลตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของการศึกษา ดังที่ได้กล่าวมานี้ ก็ขออนุโมทนาทางท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในนามของฝ่ายรัฐที่รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นการปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่กล่าวแล้ว ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระศาสนา หรืออาณาจักรและพุทธจักร พร้อมกันนี้ก็เป็นความมีน้ำใจปรารถนาดีของทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสนองตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยเองด้วย ซึ่งเป็นสถาบันทั้งการศึกษาและสถาบันพระศาสนา ซึ่งจะได้บำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน แก่ชาวโลกทั้งหมด ตามอุมคติของชาวพุทธ ซึ่งอนุวัตน์ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ขอให้ความมุ่งหมายความปรารถนาดีนี้ ได้จงสัมฤทธิ์ผลโดยลำดับและยิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงจุดหมายโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นไปได้ ก็ด้วยอาศัยเรี่ยวแรง กำลังกายกำลังใจ กำลังปัญญาของทุกท่านร่วมกัน ก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง
และขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรอภิบาลรักษา ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งสาธุชนทุกท่าน ผู้มีความปรารถนาดี หวังดี โดยเฉพาะก็เริ่มที่ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มีกรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภาวิชาการ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา นักเรียน ทั้งหลาย ขอให้ทุกท่านจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความก้าวหน้างอกงามรุ่งเรือง ในการดำเนินชีวิต และการประกอบกิจหน้าที่การงาน ให้ก้าวหน้าไปบรรลุจุดหมายสมดังที่ตั้งไว้ จงมีสุขภาพกาย สุขภาพใจสมบูรณ์ เพื่อสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขให้สำเร็จ ทำให้สังคมประเทศชาติ ตลอดจนโลกนี้ทั้งหมด ร่มเย็นเป็นสุข ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ
..................................................จบ...........................................
สำหรับธรรมบรรยายวันอาทิตย์
ชุดธรรมะกับการศึกษา เรื่องที่ ๑๑ การศึกษากับเศรษฐกิจ-ฝ่ายไหนจะรับใช้ฝ่ายไหน
ช่วงที่ [15:23-40:12] https://youtu.be/WZpO1maZXz0?t=923
ประเด็นสำคัญ
[00:00] บทกล่าวนำ
[03:33] ความสัมพันธ์ของการปกครอง การพระศาสนา และการศึกษา
[12:17] ปลุกจิตสำนึกด้วยคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา
[19:49] เมื่อใดเห็นความจริงแท้ เมื่อนั้นจึงสำเร็จประโยชน์
[28:10] การศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต
[35:15] เศรษฐกิจเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการศึกษาและการพัฒนาชีวิตสู่ความงอกงาม
คำโปรย
[29:47] ...ในภาวะที่โลกนี้มีความซับซ้อนสับสน จนกระทั่งว่ามองปัญหาอะไรต่าง ๆ ได้ยาก คลำปมไม่ถูก ไม่รู้จะแก้ยังไง [31:44] ...ที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งก็คือ พื้นฐานที่มนุษย์นี้แปลกแยกจากตัวเองด้านชีวิต มีแต่ด้านบุคคลอย่างเดียว เชื่อมตัวเองเข้ากับความจริงพื้นฐานที่เป็นธรรมชาติไม่ถูก ...แน่นอนมันก็ต้องเกิดปัญหา
[32:46] แต่แค่นั้นมันยังไม่หยุด เวลานี้เรื่องของเศรษฐกิจกำลังจะมีอำนาจแผ่อิทธิพล เข้ามาครอบงำเรื่องของด้านชีวิตมนุษย์ด้วย ด้านชีวิตแท้ ๆ ที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า แม้แต่การศึกษา [37:43] ...เศรษฐกิจจะมาเอาการศึกษาไปเป็นเครื่องมือ ... ก็เป็นเรื่องที่ว่า จะต้องมาคิดกันให้มากว่าจะทำอย่างไร การศึกษาจะเป็นใหญ่ หรือเศรษฐกิจจะเป็นใหญ่
[38:42] ถ้าหากว่าเราให้เศรษฐกิจเป็นใหญ่ ...จุดหมายของพุทธศาสนาที่ว่า จะให้การศึกษาเพื่อให้คนนิพพาน และเพื่อให้แต่ละคนนี้ไปบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลกนั้น คงเป็นไปไม่ได้ [39:38] ... ก็จะต้องให้การศึกษา เป็นไปเพื่อเอาเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนพัฒนาชีวิต หรือเกื้อหนุนการศึกษาให้ได้ ...คนที่ได้มีการศึกษาที่แท้แล้ว ก็จะมีความพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลกต่อไป ซึ่งจะเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา …ที่ให้บุคคลนิพพาน แล้วก็สามารถไปบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลกได้อย่างแท้จริง
คำคม
[17:41] การศึกษามีภารกิจอันหนึ่งที่ควรจะต้องทำให้ได้ ก็คือการที่จะต้องปลุกจิตสำนึกของนักเรียน ของนักศึกษานิสิตทั้งหลาย
[19:13] ...จิตสำนึก ...จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้เล่าเรียนศึกษา ... เมื่อเห็นคุณค่าก็จะมีความเชื่อมั่น แล้วก็จะหนุนจิตสำนึกนั้นให้ออกมาเป็นผลในทางปฏิบัติได้
[19:49] … ถ้าไม่เห็นความจริง ก็ไม่เห็นความหมายว่า จะมีคุณค่าเป็นประโยชน์ได้อย่างไร
[21:10] ความหมายอยู่ที่ความจริง ไม่ใช่ติดอยู่กับตัวผู้แสดงหรือสอน …ถ้าหากว่าพูดอย่างเซน ก็คล้ายๆ บอกว่า มีมือชี้ไปที่พระจันทร์ แทนที่จะมองไปที่พระจันทร์ ก็มองไปที่นิ้วที่ชี้ ก็เลยไม่ถึงพระจันทร์สักที แต่บางทีเราก็อาจจะไม่ได้มองที่นิ้วชี้ด้วยซ้ำ มองไปที่มือ หรือมองไปที่ตัวคนชี้ เลยไม่เห็นแม้กระทั่งนิ้วที่ชี้ ทีนี้ถ้าใกล้เข้าไปหน่อย ก็มองไปที่นิ้วชี้ ต่อจากนิ้วชี้ถ้ามองให้แน่ให้ตรง ก็คือมองไปที่พระจันทร์
[21:33] เมื่อใดเห็นตัวความจริงที่แท้ ซึ่งมีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ เมื่อนั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์ของการศึกษาที่แท้จริง
[26:06] ...บุคคลที่นิพพาน…เป็นผู้พร้อมที่บำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อชาวโลกได้เต็มที่
[27:17] ...จุดหมายของพระพุทธศาสนาเป็นสองขั้น คือจุดหมายเพื่อตัวบุคคล กับจุดหมายเพื่อส่วนรวม … [28:10] ฉะนั้นการศึกษาต้องทำได้ทั้ง ๒ ขั้น คือการศึกษาที่จะทำให้คนนิพพาน แล้วเขาจะได้ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกได้โดยสมบูรณ์
[30:34] ... มนุษย์แต่ละคนนี้มี ๒ ด้าน ด้านหนึ่งคนแต่ละคนนี้เป็นชีวิต ชีวิตนั้นเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ อีกด้านหนึ่งมนุษย์เรานี้เป็นบุคคล พอเป็นบุคคลก็กลายเป็นผู้อยู่ในสังคม เป็นส่วนร่วมในสังคม
[33:36] ...เรามีชีวิตอยู่ เราก็มีการศึกษาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญว่า “ชีวิตกับการศึกษาเป็นอันเดียวกัน”
[34:30] ... คนพาล คือคนที่เป็นอยู่สักแต่ว่ามีลมหายใจ
[35:14] การศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต
[37:00] ...ตามหลักพระพุทธศาสนา ...คนจะอยู่ได้จะมีชีวิตอยู่ดี จะมีการศึกษาพัฒนาได้งอกงาม ก็ต้องอาศัยเศรษฐกิจด้วย แต่ว่ามองเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเกื้อหนุน