แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพรท่านผู้เจริญภาวนาทุกท่าน วันนี้ก็จะได้บรรยายในหัวข้อต่อไป ว่าด้วยวิธีการทำจิตภาวนาโดยเลือกจากกรรมฐาน ๔๐ เมื่อพูดถึงเรื่องจิตภาวนาและกรรมฐานก็มีศัพท์ที่จะต้องทำความเข้าใจกัน ก็เริ่มตั้งแต่คำว่าจิตภาวนานั่นเอง ความจริงนั้นอาตมาได้เคยพูดอธิบายความหมายศัพท์เหล่านี้ไปบ้างแล้ว แต่ก็เห็นว่าเมื่อมาพูดเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือเข้าถึงตัวประเด็นแท้ ๆ ก็คงจะต้องทบทวนความหมายของศัพท์เหล่านี้กันอีกครั้งหนึ่ง เริ่มด้วยคำว่าภาวนา ภาวนานั้นก็เป็นศัพท์ที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ ในวงการที่เรียกกันว่าการปฏิบัติธรรม แต่ว่าน้อยท่านที่จะเข้าใจความหมายของคำว่าภาวนาอย่างบริบูรณ์ ภาวนานั้นตัวศัพท์เองก็แปลกันว่าการเจริญ ซึ่งเราจะใช้ต่อท้ายคำศัพท์ในพระพุทธศาสนามากมาย อย่างในที่นี้ก็จิตภาวนา ก็แปลว่าการเจริญจิตหรือการทำจิตใจให้เจริญ หรือว่าปัญญาภาวนา ก็การทำปัญญาให้เจริญหรือการเจริญปัญญา มีเมตตาภาวนา การเจริญเมตตา และก็มีศัพท์อื่น ๆ อีกมากมาย คำว่าเจริญในที่นี้ก็หมายถึงการปฏิบัติตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ทำให้เกิด ให้มี ให้เป็นขึ้นมา จนกระทั่งทำให้เพิ่มพูนขึ้นไป บางทีเราก็แปลกันว่าการฝึกอบรม หรือในที่สุดก็ได้แก่การปฏิบัตินั่นเอง เคยพูดถึงเรื่องอริยสัจสี่ และในข้อสุดท้ายคือมรรค ก็มีข้อความที่บอกให้ไว้ว่า เรามีหน้าที่ต่อมรรคก็คือภาวนา ภาวนาก็คือการปฏิบัติหรือลงมือทำ เพราะฉะนั้นภาวนาเป็นคำที่ใช้สำหรับมรรคทั้งหมด มรรคก็เป็นข้อปฏิบัติทั้งหมดในทางพระพุทธศาสนา ด้วยความหมายอย่างนี้ก็จะเห็นว่า ภาวนานั้นก็หมายถึงการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนานั่นเอง หรือจะหมายถึงว่าความดีงามที่พึงปฏิบัติทั้งหมด เพราะฉะนั้นคำว่าภาวนาจึงมีความหมายครอบคลุมข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา อันนั้นก็เป็นความหมายอย่างกว้างที่สุด ซึ่งเราจะเห็นได้ในกรณีต่าง ๆ อย่างที่มีการแบ่งภาวนาออกไปอย่างเต็มรูปเต็มระบบเป็น ๔ อย่าง คือ กายภาวนา เจริญกายหรือพัฒนากาย ศีลภาวนา เจริญศีลหรือพัฒนาศีล จิตภาวนา เจริญจิตหรือพัฒนาจิตใจ แล้วก็ปัญญาภาวนา เจริญปัญญาหรือพัฒนาปัญญา คำว่าเจริญนั้นก็คือคำว่าพัฒนา ปัจจุบันนี้เรานิยมใช้คำว่าพัฒนา เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดภาวนาเป็นศัพท์เก่า เราจะใช้คำว่าพัฒนาแทนก็ได้ นี้ก็เป็นความหมายแบบกว้าง ทีนี้ในวงจำกัด บางทีเราใช้แบบเจาะจง ในความหมายที่จำกัดแคบเข้ามา ก็จะมีความนิยมใช้ภาวนาในความหมายที่เป็นเรื่องข้อปฏิบัติในทางที่เกี่ยวกับจิตใจโดยเฉพาะ ซึ่งข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับจิตใจในที่นี้ ถ้าพูดให้ถูกต้องแล้ว จะต้องพูดว่าข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับจิตและปัญญา ก็คือว่าจะเข้าสู่ความหมายที่ใช้ในที่นี้ เป็นจิตภาวนา และก็จะคู่กับคำว่าปัญญาภาวนา เพราะฉะนั้นในความหมายที่จำกัด ซึ่งนิยมในวงการปฏิบัติธรรมนี้ คำว่าภาวนาเราจะใช้ในความหมายที่มักจะเจาะจง ถึงภาวนาที่แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือเป็นจิตภาวนาอย่างหนึ่ง กับปัญญาภาวนาอย่างหนึ่ง ในเมื่อภาวนาแปลว่าการฝึกอบรม การเจริญหรือการลงมือปฏิบัติ จิตภาวนาก็หมายถึงการปฏิบัติที่เกี่ยวกับเรื่องจิตหรือการฝึกอบรมจิตใจ การทำจิตใจให้เจริญงอกงาม พัฒนาจิตใจนั่นเอง ก็คู่กับปัญญาภาวนา ซึ่งหมายถึงการพัฒนาปัญญา ทำปัญญาให้เจริญงอกงาม เป็นข้อปฏิบัติในด้านที่เกี่ยวกับปัญญาหรือฝึกอบรมปัญญา นี่ก็เป็นเรื่องของศัพท์ที่ใช้คู่กัน เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ เราจะต้องพูดถึงเรื่องจิตภาวนานี้ แล้วก็โยงไปหาปัญญาภาวนาด้วย จึงควรทำความเข้าใจเบื้องต้นกันไว้อย่างนี้ก่อน ทีนี้ จิตภาวนากับปัญญาภาวนานี้ก็เป็นศัพท์ที่ใช้กันในระดับหนึ่ง แต่มีศัพท์ที่บางครั้งจะนิยมมากกว่ามาใช้แทน ๒ ศัพท์นี้ ซึ่งถือว่าเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ หรือเป็นไวพจน์ ศัพท์นั้นบางทีเราได้ยินบ่อยกว่า คือ อย่างที่หนึ่ง สมถภาวนา ใช้แทนคำว่าจิตภาวนา และอย่างที่สอง วิปัสสนาภาวนา ใช้แทนคำว่าปัญญาภาวนา การที่ใช้คำทั้ง ๒ นี้มาแทน ก็เป็นการใช้แบบพูดเจาะจงให้ตรงเป้ายิ่งขึ้น คล้าย ๆ จำกัดแคบเข้ามาให้ตรงจุดมุ่งหมายของเราหรือการปฏิบัติ กล่าวคือจิตภาวนาที่ว่าฝึกอบรมเจริญจิตใจหรือพัฒนาจิตใจนั้น เป้าหมายอยู่ที่ความสงบจิตใจ ความสงบจิตใจอันนั้น ท่านเรียกว่าสมถะ เพื่อพูดให้เข้าสู่เป้าหมายเลย ก็ใช้คำว่าสมถะมาแทนคำว่าจิต ก็เป็นสมถภาวนา การฝึกอบรมสมถะ คือการฝึกอบรมทำให้เกิดความสงบจิตใจขึ้น และสมถะในที่นี้ก็เป็นคำที่ใช้แทนกันได้กับคำว่าสมาธิ เพราะฉะนั้นสมถภาวนาก็อันเดียวกับสมาธิภาวนานั่นเอง บางครั้งเราก็ใช้คำว่าสมาธิภาวนา เมื่อเห็นศัพท์เหล่านี้แล้ว ก็ขอให้เกิดความเข้าใจชัดเจน ไม่ให้งง จะได้ยินจิตภาวนาก็ตาม สมถภาวนาก็ตาม สมาธิภาวนาก็ตาม ก็ให้เข้าใจเหมือนว่าเป็นคำเดียวกัน เอาละ นี่ก็สายหนึ่งละ ทีนี้สายที่สอง ก็ปัญญาภาวนา ปัญญาภาวนานั้น เจริญปัญญา ทีนี้ถ้าใช้ศัพท์ให้ตรงเป้ายิ่งขึ้น ท่านจะใช้คำว่าวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนานั้นก็เป็นปัญญาในความหมายจำเพาะ คือปัญญานั่นเองจะใช้ในความหมายที่เป็นเรื่องของความเห็นแจ้งในสัจธรรม เห็นแจ้งตัวความจริง เห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายที่มันเป็นตามสภาวะ ก็เรียกว่าวิปัสสนา เพราะฉะนั้นการที่เราเจริญปัญญานี้ เรามุ่งให้เกิดปัญญาที่เรียกว่าวิปัสสนา ก็เลยใช้คำว่าวิปัสสนาภาวนา การฝึกอบรมเจริญวิปัสสนา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเจริญวิปัสสนานั่นเอง สองอย่างนี้ เมื่อพูดสั้น ๆ บางทีเราก็ตัดคำว่าภาวนาออกได้ ก็เรียกสั้นที่สุดว่าสมถะกับวิปัสสนา ซึ่งเราจะได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ เป็นอันว่าตอนนี้ถ้าเราต้องการจะพูดสั้น ๆ ก็พูดแค่ว่าสมถะกับวิปัสสนา แล้วการเจริญจิตภาวนาที่เป็นหัวข้อในวันนี้ก็คือการเจริญสมถะนั่นเอง ทีนี้เมื่อพูดถึงสมถะกับวิปัสสนาตอนนี้ยังคู่กันอยู่ ยังไม่แยกลงไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็อยากจะพูดถึงสาระสำคัญหรือหลักการของทั้ง ๒ อย่างนี้ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง เพราะความแตกต่างจะช่วยให้เกิดความเข้าใจชัดเจน เวลาเราพูด ๒ อย่างมาเทียบเคียงกันแล้ว เห็นความแตกต่างแล้วแต่ละอย่างก็กลายเป็นเด่นชัดขึ้นมา สมถะนั้นเป็นเรื่องจิตใจ ทีนี้การเจริญสมถะหรือการพัฒนาจิตใจนั้น เป้าหมายที่สำคัญที่เป็นตัวแกนกลางของการปฏิบัตินี้ เราต้องการอะไร เป้าหมายที่สำคัญที่ต้องการก็คือสมาธิอย่างที่กล่าวแล้ว สมาธิคืออะไร ก็คือภาวะที่จิตแน่วแน่ลงไปเป็นอันหนึ่งอันเดียว คือกำหนดอะไรก็อยู่กับสิ่งนั้นได้ เรียกว่าภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว อันนี้เรียกว่าสมาธิ จะทำยังไงก็ตาม จะมีวิธีการยังไงก็ตาม ก็ขอให้เป็นไปตามหลักการนี้ ก็คือว่าให้จิตนี้รวมเป็นหนึ่งอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป ภาวะที่จิตอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวได้ต่อเนื่องกันไป นี้เรียกว่าเป็นสมาธิ เป็นสาระ เป็นหลักการของสมถะหรือจิตภาวนา ส่วนวิปัสสนาภาวนานั้น สาระอยู่ที่การพัฒนาปัญญา ก็คือเราต้องการให้เกิดปัญญาที่เห็นแจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลายตามสภาวะ นี่ก็เป็นข้อแตกต่างที่เป็นส่วนสาระสำคัญ ถ้าแยกจุดนี้ได้แล้วเราจะเข้าใจการปฏิบัติทั้ง ๒ สาย อันนี้ส่วนที่เรามาพูดในที่นี้บอกว่าเจริญภาวนานั้น ความจริงคำว่าเจริญก็เป็นศัพท์ที่เติมเข้ามาข้างหน้าให้เป็นกิริยา ซึ่งที่จริงคำว่าภาวนาก็แปลว่าการเจริญอยู่แล้ว ก็เหมือนพูดซ้อนกันว่าเจริญการเจริญ เหมือนกับเราพูดในภาษาไทยบอก พูดคำพูด ทำนองนั้น เจริญก็เป็นกิริยา ก็คือการปฏิบัติภาวนานั่นเอง แล้วภาวนาที่กำลังพูดในที่นี้ก็จิตภาวนา ก็เป็นอันว่าในวันนี้เราจะพูดเจาะจงเฉพาะเรื่องจิตภาวนาหรือเรื่องสมถะ เรียกเต็มว่าสมถภาวนา หรือจะเรียกว่าสมาธิภาวนาก็ได้ เอาละ นี่เป็นเรื่องของคำว่าภาวนาที่เข้าสู่เป้าของเราคือจิตภาวนา
ต่อไปก็คือคำว่ากรรมฐาน ในที่นี้บอกว่าวิธีทำจิตภาวนาหรือเจริญสมถะนี้ โดยเลือกจากกรรมฐาน ๔๐ กรรมฐานคืออะไร ก็ดูตามรูปศัพท์ก่อน กรรมฐานก็มาจากคำว่า “กรรม” บวกกับ คำว่า “ฐาน” กรรมคืออะไร กรรมก็คือการงาน การงานในที่นี้ก็คือการงานภาวนานั่นเอง คือการทำภาวนานั่นแหละเป็นการงาน ซึ่งเป็นการงานทางด้านจิตใจ เป็นอันว่ากรรมในที่นี้หมายถึงการเจริญภาวนา ทีนี้ฐานแปลว่าอะไร ฐานแปลว่าที่ตั้ง เมื่อรวมกันเข้า ๒ ศัพท์ กรรมฐาน ก็แปลว่าสิ่งที่เป็นที่ตั้งของการทำงานภาวนา อะไรเป็นที่ตั้งของการทำงานภาวนา การที่เราจะทำงานภาวนา เราก็ต้องมีสิ่งที่ทำ สิ่งที่เอามาใช้ในการกระทำนั้น นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่ากรรมฐาน อันนี้ เป้าหมายของการเจริญภาวนาหรือการทำสมถะ ก็คือการที่ให้จิตเราอยู่แน่วแน่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว สิ่งอะไรก็ตามที่เอาให้จิตกำหนดจับ สิ่งนั้นนั่นแหละคือสิ่งที่เป็นที่ตั้งของการทำงานภาวนาละ เอาละ นี่คือความหมายที่หนึ่ง สิ่งใดที่ใช้สำหรับการทำงานภาวนา เป็นที่ตั้งของการทำงานภาวนา สิ่งนั้นก็เรียกว่าเป็นกรรมฐาน นี่ความหมายที่หนึ่ง ต่อไปความหมายที่สอง ความหมายที่สอง กรรมฐานก็จะแปลอีกอย่างหนึ่งว่า การทำงานนั้นหรือการทำงานภาวนานั้น ในฐานะที่เป็นฐาน เป็นฐานของอะไร ก็เป็นฐานของการบรรลุธรรมชั้นสูงขึ้นไปนั่นเอง หมายความว่าการเจริญภาวนานั่นแหละเป็นกรรมฐาน ในฐานะที่มันเป็นฐานของการบรรลุธรรมขั้นสูงขึ้นไป ตกลงว่ากรรมฐานก็จะมีความหมาย ๒ อย่าง อย่างที่หนึ่งก็หมายถึงสิ่งที่ใช้ในการเจริญภาวนา ในฐานะที่มันเป็นที่ตั้งของการทำงานภาวนา และในความหมายที่สอง กรรมฐานก็หมายถึงตัวการเจริญภาวนานั่นแหละ เพราะการทำงานภาวนานั้นเป็นฐานของการบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไป โดยนัยนี้เราจะเห็นว่า บางทีเราก็ใช้คำว่ากรรมฐานมาแทนคำว่าภาวนาเลย แทนที่จะเรียกว่าสมถภาวนา ก็เรียกว่าสมถกรรมฐาน แทนที่จะเรียกว่าวิปัสสนาภาวนา ก็เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเราจะได้ยินได้ฟังบ่อยครั้ง อันนี้เมื่อเข้าใจความหมายอย่างนี้แล้วจะได้มีความชัดเจน ที่จริงคำว่ากรรมฐานนี้เป็นศัพท์รุ่นหลัง ใช้ในรุ่นอรรถกถา ศัพท์เดิมในยุคพระไตรปิฎกนั้น ใช้คำว่าภาวนา ก็เอาละ จะใช้คำไหน ก็ให้รู้ว่ามีความหมายแทนกันได้ เป็นอันว่าเมื่อใช้ในความหมายว่า กรรมฐานคือการทำงานในฐานะที่เป็นฐานของการบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไป กรรมฐานนั้นก็หมายถึงตัวการเจริญภาวนา ก็เวลาเราพูดว่าสมถกรรมฐานก็หมายถึงว่า การทำงานสมถะในฐานะที่เป็นฐานของการบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปนั่นเอง อันนี้ ที่บอกว่ากรรมฐาน ๔๐ ในหัวข้อของเรานี้ เราจะใช้ในความหมายที่หนึ่ง คือใช้ในความหมายว่าสิ่งที่เป็นฐานของการทำภาวนานั้น หรือสิ่งที่ใช้เป็นฐาน เป็นที่ตั้งของการทำงานภาวนา สิ่งที่ใช้เป็นที่ตั้งของงานทำภาวนานี้ หรือตัวสิ่งที่เรามาใช้กำหนดให้จิตใจเป็นสมาธินั่นเอง สิ่งนี้ถ้าหากว่าใช้ในศัพท์ทางพระ ท่านเรียกว่าอารมณ์ เราก็มีคำว่าอารมณ์กรรมฐาน สิ่งที่ใช้สำหรับกำหนดให้จิตเป็นสมาธิ เราก็เรียกว่าอารมณ์ของสมาธิ เมื่อจิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว เราก็เรียกว่าจิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์อันเดียว คำว่าอารมณ์ในที่นี้จะต้องทำความเข้าใจทวนกันอีกครั้ง คือว่าอารมณ์นี้ไม่ได้ใช้กันในความหมายอย่างที่เข้าใจในภาษาไทย เคยพูดครั้งหนึ่งแล้วบอกว่าอารมณ์นั้นก็คือสิ่งที่ใจรับรู้นั่นเอง สิ่งที่ถูกจิตรับรู้ ถ้าแปลอย่างภาษาพระบอกว่า สิ่งซึ่งเป็นที่ยึดหน่วงของจิต หรือสิ่งที่จิตยึดหน่วง ก็คือสิ่งที่จิตรับรู้นั่นแหละ ซึ่งจะเป็นการรับรู้ทางตา สิ่งที่รับรู้ทางตาก็คือรูป เราก็เรียกว่ารูปนั้นเป็นอารมณ์ของตา ทีนี้สิ่งที่รับรู้เข้ามาทางหู ก็เป็นอารมณ์ทางหู ได้แก่เสียง แล้วก็กลิ่นที่เข้ามาทางจมูก ก็เป็นอารมณ์ของจมูก อารมณ์ของจิตที่รับรู้ทางจมูกนั้น เพราะฉะนั้นกลิ่นก็เป็นอารมณ์ของความรับรู้ทางจมูก แล้วก็รสก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นอารมณ์ของการรับรู้ทางลิ้น แล้วก็สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นต้น ก็เป็นอารมณ์ของการรับรู้ทางด้านกายสัมผัส จนกระทั่งในที่สุดก็คือสิ่งที่อยู่ในใจ สิ่งที่ใจคิด สิ่งที่ใจรับรู้ทั้งหมด ก็เรียกว่าเป็นอารมณ์ของจิตใจ ที่เราเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ก็คงจะเป็นเพราะเราไปนึกถึงสิ่งที่ใจรับรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นในใจ เช่น ความโกรธ ความจริงจะต้องแยกความหมายให้ถูก ตัวความโกรธนั้นที่จริงไม่ใช่เป็นอารมณ์ แต่ในภาษาไทยเราใช้เป็นอารมณ์ ความโกรธนั้นเป็นกิเลส กิเลสเกิดขึ้นในจิตแล้ว เวลาความโกรธนั้นถูกจิตรับรู้ เช่นเราพิจารณาความโกรธ ความโกรธนั้นกลายเป็นอารมณ์ของจิต อย่างนี้ความโกรธก็กลายเป็นอารมณ์ได้ในภาษาพระด้วย แต่ถ้าเป็นอารมณ์ในภาษาไทย เช่นมีความโกรธ แล้วมีอารมณ์โกรธ อย่างนั้นไม่ใช่เป็นอารมณ์ในภาษาพระ เป็นอารมณ์ในภาษาไทย ก็เป็นอันว่า แม้แต่คำว่าอารมณ์ในภาษาไทย นี้ก็เป็นอารมณ์ในภาษาพระได้ ในเมื่อเราเอามันไปเป็นสิ่งที่ให้จิตพิจารณารับรู้ เกิดความโกรธขึ้นมา เอาความโกรธนั้นไปให้จิตพิจารณารับรู้ ความโกรธนั้นก็กลายเป็นอารมณ์ของจิตไป คิดว่าเท่าที่พูดมานี้คงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้นเราเอาอะไรก็ตามที่เข้ามา ที่จิตรับรู้ ให้จิตจับแน่วอยู่กระทั่งอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งเดียว เราก็เรียกว่าอยู่กับอารมณ์เดียว นั่นคือสมาธิ บางทีก็เป็นสิ่งที่เรารับรู้ทางตาเช่นว่าอาจจะเป็นรูปภาพ หรืออย่างบางคนใช้พระพุทธรูป พระพุทธรูปก็เป็นอารมณ์ทางตา เป็นรูปชนิดหนึ่ง แล้วเราก็เป็นอารมณ์ของจิต จิตก็กำหนดจับอยู่กับพระพุทธรูปนั้น จนกระทั่งว่าจิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว อยู่กับพระพุทธรูปอย่างเดียว อันนี้ก็เรียกว่าจิตนั้นเป็นสมาธิ คือมีพระพุทธรูปเป็นอารมณ์อย่างเดียว นี่ก็พูดขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจคำว่าอารมณ์ เพราะว่าเรามักจะใช้คำว่าอารมณ์นี้ซ้อนกับคำว่ากรรมฐาน กรรมฐานนั่นแหละ เวลาเราเอามาจิตกำหนดแล้ว ตัวกรรมฐานนั้นเองก็กลายเป็นอารมณ์ของจิตไป เราก็เลยเรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน ก็เป็นอันนว่าในตอนนี้ ให้ทำความเข้าใจว่า คำว่ากรรมฐานที่ใช้ ในหัวข้อกรรมฐาน ๔๐ นั้น หมายถึงสิ่งใดก็ตามที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำงานภาวนา คือสิ่งที่ใช้ในการกำหนดให้จิตใจนี้เป็นสมาธิ หรือเรียกว่าอารมณ์ที่ให้จิตกำหนด เพื่อให้จิตแน่วแน่เป็นสมาธิ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็จะได้เดินหน้ากันต่อไป