แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร ท่านรองประธานกรรมการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พร้อมด้วยคณะกรรมการและสมาชิกผู้ได้นัดหมายให้มีการประชุมฟังธรรมในวันนี้ กับทั้งชาวสถาบันบันลือธรรม ซึ่งได้มีกิจกรรมในการนำคณะมาฟังธรรมเป็นประจำที่วัดนี้ วันนี้พอดีว่ากำหนดการมาตรงกัน ก็จัดรวมเข้า เรียกว่ามาฟังธรรมด้วยกัน สำหรับธรรมกถาในวันนี้ ท่านรองประธานกรรมการมูลนิธิได้ตั้งหัวข้อมาให้เลือก ๓ ข้อ และก็ได้ทราบว่าท่านเห็นว่าน่าจะพูดในข้อที่ ๓ อาตมาภาพก็จะพูดตามที่ท่านคิดว่าเหมาะ ก็เลยจะขอโอกาสอ่านหัวข้อเรื่องที่ท่านได้ตั้งมา ซึ่งเป็นหัวข้อที่ประชาชนก็กำลังสนใจกันอยู่ ข้อความที่ท่านเขียนมาก็มีว่า ปัจจุบันมีเรื่องราวเหตุการณ์เกิดขึ้นในสังคมชาวพุทธ ที่มีผลกระทบทางด้านจิตใจของพุทธศาสนิกชน สถาบันสงฆ์ และพระพุทธศาสนาในส่วนรวม ตัวอย่างเช่น คำสอนและแนวปฏิบัติผิดเพี้ยนจากหลักพุทธธรรม วัตรปฏิบัติที่ออกนอกลู่นอกทางจนได้เห็นกับตา หรือจากสื่อสารมวลชน ในฐานะที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการรักษาพระพุทธศาสนา สมควรจะวางท่าทีที่เหมาะสมถูกต้อง ให้สมดังบทบาทของอุบาสกอุบาสิกาที่ดี โดยเฉพาะในประเด็นต่อไปนี้ หนึ่ง ความหมาย จุดเน้น และการปฏิบัติตามหัวข้อธรรม ๕ ประการ สอง ในสถานการณ์ของสังคมไทยยุคปัจจุบัน จะมีข้อแนะนำสังเกตอื่นๆ เพิ่มเติมอีกบ้างหรือไม่อย่างไร นี้ก็เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็เท่ากับว่าตั้งเป็นคำถาม ให้อาตมาภาพตอบ มีสองข้อที่ท่านขอให้ตอบ อยากจะพูดถึงข้อสองเสียก่อน ข้อสองนี้ก็ตอบเพียงสั้นๆ คือในเมื่อมีสถานการณ์อย่างนี้ เราควรจะวางตัววางท่าทีหรือว่าตั้งความคิด วางอย่างไร ก็ขอพูดสั้นๆไว้เป็นเบื้องต้นก่อน ทีนี้ถ้าจะเพิ่มเติมค่อยไว้ตอนท้ายๆ
ในแง่หนึ่ง การที่มีพฤติกรรมอะไรแปลกๆเกิดขึ้น อย่างที่เรียกว่า ที่โยมเรียกว่า นอกลู่นอกทาง อะไรนี่ เป็นเครื่องฟ้องถึงสภาพของวงการชาวพุทธ ว่าได้หมักหมมเชื้อแห่งปัญหาไว้นานแล้ว ความจริงข้อปัญหาหรือภาพที่มันเป็นเรื่องเสียหายที่เกิดขึ้นน่ะ มีต่อเนื่องกันมาหลายปี คิดว่าไม่ต่ำกว่าสิบปีล่ะ เดี๋ยวเรื่องโน้นเดี๋ยวเรื่องนี้ แล้วก็เคยพูดอยู่บ่อยๆ มันเหมือนกับว่า เรานี่มีเลือดไม่ดีมานานแล้ว จนกระทั่งว่าอยู่มาวันหนึ่งก็แผลพุพองก็ปรากฏขึ้นมา แผลพุพองนี่มันไม่ใช่ตัวสำคัญ ไอ้ตัวสำคัญก็คือว่าตัวเลือดไม่ดี หรือเชื้ออะไรต่างๆที่อยู่ข้างใน ซึ่งจะต้องไปช่วยกันแก้ไข สืบสาว ค้นให้ดีแล้วก็แก้ให้ตรงเหตุ ส่วนปัญหาที่ปรากฏภายนอกนี้ก็แก้กันไป แต่ว่าอย่าจบเท่านี้ เพราะว่านี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง การแก้ปัญหาที่แท้จริงก็ต้องลงไปให้ถึงเหตุปัจจัย ก็รวมความก็คือว่า สภาพปัญหาต่างๆเหล่านี้เป็นเครื่องฟ้องถึงสภาวะของวงการชาวพุทธของเรา ว่ามีความย่อหย่อนอ่อนแอ มีความขาดตกบกพร่องอะไรต่างๆ โดยเฉพาะก็คือว่า ชาวพุทธนี่ไม่รู้หลักพระพุทธศาสนา เหมือนกับว่าขาดการศึกษา นี่หมายถึงการศึกษาในแง่ของพระพุทธศาสนา จนกระทั่งไม่รู้ว่าตัวคำสอนของพระพุทธเจ้านี่อยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร เราเป็นชาวพุทธควรจะต้องประพฤติปฏิบัติอะไรนี่ไม่รู้เลย มันก็พร่ามัวอยู่ในความสับสน สภาวะอย่างนี้ก็เป็นตัวเอื้อโอกาสให้ปัญหาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นประการที่หนึ่งที่ตั้งเป็นข้อสังเกตได้
ทีนี้เมื่อรู้อย่างนี้แล้วว่าเชื้อปัญหาเราได้หมักหมมมานาน แล้วก็ตัวสำคัญก็คือการไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เรียนรู้หลักพระพุทธศาสนา ก็ต้องตื่นตัวขึ้นมาแล้วก็หันมาศึกษาให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร หลักการของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เราในฐานะชาวพุทธจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร การปฏิบัตินี้ก็คู่กับความเชื่อ จะต้องมีศรัทธา มีหลักที่เราจะต้องยึดเหนี่ยวยึดถือไว้อย่างไร แล้วก็ปฏิบัติให้เป็นไปได้ตามนั้น อันนี้ก็เป็นข้อที่ก้าวมาสู่การปฏิบัติแล้ว เพื่อที่จะก้าวไปสู่การแก้ปัญหา ทีนี้เมื่อมองกว้างๆก็คือการที่เราจะต้องหันมาพัฒนาชาวพุทธ การพัฒนาชาวพุทธนี้มีความหมายที่โยงไปหาประเทศชาติ สังคม ของเราทั้งหมด ในเมื่อชาวพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างที่มีสถิติว่าประมาณ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ การพัฒนาชาวพุทธให้เป็นชาวพุทธที่ดีก็เท่ากับพัฒนาคนไทยนั่นเอง ถ้าเราต้องการให้คนไทยเจริญงอกงาม แล้วคนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธก็ต้องพัฒนาชาวพุทธให้ดี ให้เป็นชาวพุทธที่ถูกต้องมีคุณสมบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เมื่อชาวพุทธเป็นชาวพุทธที่ดีแล้วก็จะทำให้ประเทศไทย สังคมไทยนี่ดีเจริญงอกงามไปด้วย ฉะนั้น การพัฒนาชาวพุทธก็มีความหมายเป็นการพัฒนาคนไทย หรือแม้แต่จะพูดว่าจะพัฒนาคนไทย ก็ต้องเอาใจใส่ที่จะพัฒนาชาวพุทธ เพราะว่าพระศาสนานั้นมีหน้าที่หรือตัวบทบาทโดยตรงก็คือการพัฒนามนุษย์ ทีนี้ถ้าพัฒนามนุษย์ให้เป็นชาวพุทธที่ดี เราก็ได้ประชาชนพลเมืองที่ดี ประเทศชาติก็เจริญงอกงาม จะบอกว่าถ้าพัฒนาประชาชนแล้วก็ละทิ้ง ไม่เหลียวแลความเป็นชาวพุทธ ปล่อยให้ชาวพุทธเป็นชาวพุทธที่ไม่มีคุณภาพ เห็นจะหวังได้ยากที่จะให้ประเทศไทยเจริญงอกงาม ฉะนั้นจะพัฒนาคุณภาพคนไทยก็ต้องหันมาพัฒนาคุณภาพชาวพุทธให้ดี อันนี้เป็นข้อสังเกตตั้งไว้ในเบื้องต้น
ทีนี้ขอกลับย้อนมาในข้อที่หนึ่ง ที่ท่านอาจารย์ได้เขียนว่า ความหมาย จุดเน้น และการปฏิบัติตามหัวข้อธรรม ๕ ประการ หัวข้อธรรม ๕ ประการที่ท่านรองประธานพูดมานี่อาตมาภาพเข้าใจ ว่าหมายถึงหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา หรือเราเรียกกันว่าองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา เพราะว่าชาวพุทธโดยทั่วไปนี่เราจะหมายถึงคฤหัสถ์ ญาติโยม ชาวบ้าน ทีนี้ญาติโยมชาวบ้านเป็นชาวพุทธที่ดีก็เป็นอุบาสกอุบาสิกา พอเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดีก็ต้องมีอุบาสกธรรมหรืออุบาสิกาธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ห้าประการด้วยกัน ตอนนี้ก็เข้ากับหลักโดยตรงเลย เข้ามาสู่การปฏิบัติ สอดคล้องกับที่พูดเมื่อตะกี้ที่ว่าการพัฒนาชาวพุทธ ก็พัฒนาชาวพุทธให้มีคุณสมบัติก็คือให้มีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา ๕ ประการนี้แหล่ะ ได้ ๕ ประการนี้แล้วก็ชาติไทยก็ไปได้ เดินหน้าแหล่ะ เวลานี้พร่าหมด ชาวพุทธที่เรียกว่าอุบาสกอุบาสิกาก็ไม่รู้ว่าคุณสมบัติของตัวคืออะไร ก็เลยเดี๋ยวก็จะเป็นอุบาสกอุบาสิกาแต่ในนาม วันนี้ก็เท่ากับว่ามาทบทวนคุณสมบัติของชาวพุทธ ที่เราใช้คำว่าอุบาสกอุบาสิกา
ทีนี้มาดูหัวข้อธรรม ๕ ประการนี้มีอะไร แต่ว่าย้ำไว้ก่อนว่า ต้องเอาจริงนะ ต่อไปนี้จะต้องหันมายึดถือปฏิบัติตามหลักอุบาสกอุบาสิกาธรรม ๕ ประการนี้ให้ได้ ผู้ที่มีธรรมะ ๕ ประการนี้พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นอุบาสกรัตนะ เป็นอุบาสิการัตนะเลย ภาษาโบราณเขาเรียกว่าอุบาสกแก้ว อุบาสิกาแก้ว ก็เลยเป็นคนที่ประเสริฐเป็นชาวพุทธที่ประเสริฐ ก็ขอให้หัวข้อก่อน หัวข้อนี้ก็ง่ายๆ แต่ความหมายนั้นค่อยขยายอีกที บางทีความหมายนี้เราก็นึกกันตื้นๆเผินๆ เกินไป เดี๋ยวลองมาขยายกันดู ก็มีข้อหนึ่ง มีศรัทธา ข้อสอง มีศีล ถ้าว่าเป็นภาษาบาลีก็ หนึ่ง สัทโท โหติ สอง สีลวา โหติ แล้วก็ข้อสาม อโกตูหลมังคลิกะ แปลว่าเป็นผู้ที่ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อการกระทำ ไม่เชื่อมงคล แล้วก็ข้อสี่ (นะ-อิ-โต พะ-หิด-ทา ทัก-ขิ-นัย-ยัง ภะ-เว-คะ-ติ) ไม่แสวงหาทักขิไนยภายนอกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็เป็นข้อห้า ลำดับสุดท้าย ก็เป็น (อิ-ทะ บุพ-พะ-กา-รัง กะ-โร-ติ) เอาสั้นๆ ว่า ขวนขวายเอาใจใส่ในกิจการของพระพุทธศาสนา ก็ห้าข้อเท่านี้ ทีนี้เรามาพิจารณากันตั้งแต่ข้อที่หนึ่ง ก็คือมีศรัทธา เรื่องศรัทธานี่เป็นเรื่องใหญ่ พระพุทธศาสนานั้นเราบอกว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราไม่ถือว่าศรัทธานี้เป็นสำคัญสูงสุด สำคัญเหมือนกันแต่ไม่สำคัญสูงสุด สำคัญรองลงมา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปมองข้าม บางทีเราบอกว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญาก็เลยจะไม่เอาใจใส่ศรัทธา ศรัทธาก็มีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีศรัทธานี่ปัญญามายากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เริ่มต้นด้วยศรัทธา ทีนี้เรื่องศรัทธาก็มีปัญหาสองประการ หนึ่ง ไม่มีศรัทธา สอง มีศรัทธาที่ผิด ไม่มีศรัทธาคือไม่รู้จักเชื่อ ไม่มีความเชื่อในหลักพระพุทธศาสนา สอง หรือมีความเชื่อแต่เชื่อในสิ่งที่ผิดๆ ทั้งสองอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ที่ว่ามีศรัทธาก็หมายถึงมีศรัทธาที่ถูกต้องด้วย ศรัทธานี่เป็นเรื่องสำคัญ มนุษย์เรามีจิตใจ จิตใจเรานี่ต้องมีหลัก ถ้าไม่มีหลักมันก็เคว้งคว้างเลื่อนลอย คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เชื่ออะไรก็เป็นคนที่เคว้งคว้าง แล้วก็จับจรด พอเสร็จแล้วไม่มีหลักอะไร ไม่มีจุดหมายที่ใจจะมุ่งไป ศรัทธานี่เราใจเราเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ เชื่อเลื่อมใสอะไรนี่ ใจเราจะพุ่งจะแล่นไปหาสิ่งนั้น พอใจเรามีจุดหมายที่จะพุ่งไปนี่เกิดกำลัง คนที่ดำเนินชีวิตอยู่อย่างเคว้งคว้างเลื่อนลอยไม่มีจุดหมาย จับจรดอ่อนแออย่างนี้ชีวิตเจริญได้ยาก ถ้ามองเป็นสังคม สังคมก็อ่อนแอ หมู่มนุษย์ที่ขาดศรัทธา ไม่มีความเชื่อ ยิ่งเป็นสังคมหมู่ชนใหญ่ๆนี่ควรจะมีหลักยึดเหนี่ยวเป็นอันเดียวกัน ถ้าใจมีหลักอันเดียวกัน มีจุดหมายรวมที่จะพุ่งไปเป็นอันเดียวกันแล้วเกิดพลังของสังคม คนก็สามัคคีกันได้ง่าย กำลังเกิดขึ้นก็ก้าวหน้าไปได้ ทีนี้สังคมไทยแล้วก็หมายถึงสังคมชาวพุทธด้วยเวลานี้ น่าจะต้องยอมรับว่าเราขาดศรัทธา พูดไปอย่างนั้นเองศรัทธาแต่ไม่รู้ว่าศรัทธาอะไร มีความหมายอย่างไร เชื่อในอะไร ทีนี้ก็กลายเป็นคนที่เลื่อนลอย พุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญามีเสรีภาพ จะเชื่ออย่างไรก็ได้ ปฏิบัติอย่างไรก็ได้ พุทธศาสนาก็ต้องมีหลักเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเชื่ออย่างไรก็ได้ปฏิบัติอย่างไรก็ได้ มันก็ต้องมีมาตรฐานที่จะวัดว่าอย่างไรเป็นหลักการของพุทธศาสนา เชื่ออย่างนี้ถูก ปฏิบัติอย่างนี้ถูก ทำไม่ตรงตามนี้มันก็ผิด อันนี้อย่างน้อยก็คือว่า เมื่อไม่มีหลักไม่มีจุดหมายที่มุ่งไปแล่นไปก็เคว้งคว้างเลื่อนลอยจับจรด ขาดกำลังอ่อนแอ คนที่ขาดศรัทธาไม่มีความเชื่อไม่เห็นคุณค่าของอะไรสิ่งที่จะทำนี่ แม้ถ้าร่างกายแข็งแรงก็ไม่มีกำลัง ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ผล ไม่ค่อยจริงจัง แต่คนที่เขามีศรัทธาแม้ร่างกายจะอ่อนแอ เขาทำได้ผลกว่า เพราะกำลังใจมันมี ทีนี้ชาวพุทธนี่ข้อสำคัญประการแรกคือ พร่าๆ มัวๆ นี่คือลักษณะที่ขาดศรัทธา ไม่ชัดไม่เจนลงไป หลักของพระศาสนาเป็นอย่างไร จะต้องเชื่ออย่างไร ฉะนั้นปัญหาก็เกิดขึ้น เป็นจุดปัญหาข้อที่หนึ่งเลยของชาวพุทธที่ขาดศรัทธา เมื่อไม่มีศรัทธาแล้วคนเรามันอยู่ไม่ได้โดยไม่มีความเชื่อ ก็เลยไปเชื่ออะไรต่างๆ ที่มันไขว้เขวนอกลู่นอกทางวิปริตผิดพลาดไป ตอนนี้แหละการไม่มีศรัทธามันก็เลยเปิดช่องให้กับการมีศรัทธาที่ผิด หรือเชื่อในสิ่งที่ผิด แล้วก็ไปเชื่อเอาเรื่องนอกพระศาสนา เชื่อในอำนาจดลบันดาลต่างๆ เชื่อในเทพเจ้า เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ทีนี้ก็ยุ่งสิ ก็กระจัดกระจาย คนนั้นเชื่ออย่างนี้ คนนี้เชื่ออย่างนั้น ไปคนละทิศละทาง ยิ่งทำให้สับสนและขาดกำลัง และเกิดความขัดแย้งกันได้ง่าย ฉะนั้นก็เลยเป็นปัญหาทั้งสองแง่เวลานี้ชาวพุทธ ทั้งในแง่ขาดศรัทธาที่ตรงตามหลักพระพุทธศาสนา แล้วก็มีศรัทธาที่ผิด เชื่อในสิ่งที่ผิดพลาด ฉะนั้นอันนี้จะต้องแก้ไข ทีนี้ในพระพุทธศาสนาศรัทธาก็คือความเชื่อในอะไร ก็ตอบได้หลายอย่างให้มันตรงหลักก็แล้วกัน แต่แน่นอนว่าเราสามารถเริ่มจากจุดสูงสุด แต่เดิมนั้นพระพุทธศาสนาเกิดในอินเดีย ทุกท่านทราบดี ในท่ามกลางอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์นั้นก็สอนความเชื่อในเทพเจ้าสูงสุดคือพระพรหมผู้สร้างโลก ผู้บันดาล ผู้จัดสรรสังคมมนุษย์ให้เป็นวรรณะต่างๆ แบ่งชนชั้นเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เป็นอย่างไรก็เป็นโดยกำเนิด แล้วก็มีเทพเจ้าต่างๆ อื่นๆ อีกมากมายซึ่งมีอำนาจดลบันดาล แล้วก็มนุษย์ก็ต้องไปเอาอกเอาใจ พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้วก็สอนหลักการที่เป็นหลักแกนของพระพุทธศาสนา ก็พูดกันสั้นๆก็คือว่า ให้ถือธรรมสูงสุด เราไม่ได้ลบหลู่ เราไม่ได้ลบล้างเรื่องเทพเจ้า แต่ว่าเทพเจ้าทั้งหลายจะสูงกว่าธรรมะไม่ได้ นี่เป็นหลักที่ชาวพุทธจะต้องแม่นยำ ว่าธรรมะสูงสุด เป็นมาตรฐานเป็นเกณฑ์วัด เทพเจ้าถ้าผิดธรรมะ เทพเจ้าก็ไป ก็ร่วงหล่น เทพเจ้าก็ลงนรกได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เทวดา พระพรหม อะไรก็ตามถ้าผิดธรรมะแล้วก็เสื่อม อันนี้ชาวพุทธจะต้องแม่นเพราะว่าเมื่อเราเอาธรรมะเป็นมาตรฐานแล้วนี่ จะมีกำลังใจเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่อคำขู่คำอะไรที่จะทำให้หวาดกลัว ทีนี้เมื่อเราไม่มีหลักยึดถือใจก็แกว่งไป เดี๋ยวเขาว่าอย่างนั้นเขาว่าอย่างนี้ เทพราหู เทพอะไร พระจันทร์พระอาทิตย์ อะไร เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็แกว่งกันไป เราไม่ได้ลบหลู่แต่ว่าจะต้องให้ธรรมะสูงสุด ใครจะมาเหนือธรรมะไม่ได้ ฉะนั้นเราก็ต้องดูเลยว่า การที่จะเชื่อไปในเรื่องของเทพเจ้าเหล่านั้นน่ะมันผิดธรรมะไหม ถ้ามันผิดธรรมะฉันไม่เอาด้วย จะเป็นเทพไหนก็ตาม ชาวพุทธจะต้องมีความมั่นคงในจุดนี้ ทีนี้เมื่อมีธรรมะสูงสุดแล้วก็เข้าสู่หลัก เราก็มีพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้าเป็นที่หนึ่ง ธรรมะเป็นที่สอง สังฆะเป็นที่สาม ธรรมะเป็นสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราเคารพธรรม พระพุทธเจ้าตรัสเอง เราเคารพธรรม แต่เราทั้งหลายรู้จักธรรมด้วยพระพุทธเจ้าเป็นผู้นำ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมนี้ แล้วก็ทรงนำเราเข้าหาธรรมะ ทำให้เรารู้จักธรรมะ เพราะฉะนั้นเราก็นับถือพระพุทธเจ้าเป็นอันดับที่หนึ่ง ในฐานะผู้ทรงเปิดตาของเรา นำเราเข้าหาธรรมะ นำเราให้เดินไปในธรรมะ แล้วก็เมื่อคนทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตามพระองค์ แล้วเอาธรรมะเป็นหลักเป็นที่ยึดเหนี่ยว ถือธรรมะสูงสุดแล้วเราก็จะมีชุมชนที่ประเสริฐขึ้นมาที่ตั้งอยู่ในธรรม ดำเนินตามธรรมนี้ที่เรียกว่า สังฆะ ก็จะเป็นชุมชนที่ดีงามที่ประเสริฐแท้จริง ไม่เป็นชุมชนที่สับสน เป็นสังคมที่วุ่นวาย มีความเดือดร้อนเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพราะว่าชุมชนสังคมนี้ตั้งอยู่ในธรรม ก็เป็นสังคมที่ดีมีสันติสุข เป็นคนที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นเราก็ยึดถือว่าเราต้องมีสังฆะ ซึ่งจะมาช่วยแนะนำชักจูงประชาชนให้ดำเนินตามตัวธรรมะ เพราะว่าธรรมะนี่พระพุทธเจ้าค้นพบก็จริง มีอยู่ตามธรรมชาติก็จริง แต่ถ้าไม่มีสังฆะมาช่วยสืบต่อกันมา และมาช่วยแนะนำสั่งสอนให้แก่เรา เราก็ไม่ได้ไม่ถึงไม่รู้ธรรมะเหมือนกัน ฉะนั้นสามประการนี้เป็นหลักสำคัญของชาวพุทธ แต่ว่าจุดสำคัญก็คือว่าตัวแกนนี่ก็อยู่ที่ธรรมมะ นี้ธรรมะสูงสุด เพราะฉะนั้นเราจะเรียกว่าจุดยืนก็ได้ คนไม่มีศรัทธาก็เป็นคนไม่มีจุดยืน ที่ว่าชาวพุทธถือธรรมะสูงสุดเราก็มีจุดยืนแล้ว ใครจะถือเรื่องเทพเจ้าอะไรต่ออะไร เราไม่หวั่นไหวล่ะ อันนี้เป็นข้อที่หนึ่ง พอถือธรรมะสูงสุดแล้ว ธรรมะนี้เป็นความจริง ความจริงนั้นก็เช่นว่าความเป็นไปของธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งต่างๆ ผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผล ทีนี้มนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่นี่เราต้องการผลที่ดีตามตัวธรรม ตามหลักธรรมนั้นเมื่อเราทำสิ่งเหตุที่ไม่ดีก็เกิดผลที่ไม่ดีทั้งแก่ตนและแก่สังคมเพื่อนมนุษย์ ถ้าเราทำเหตุที่ดีก็ทำให้เกิดผลที่ดี มนุษย์ต้องการผลดีเพราะฉะนั้นมนุษย์ต้องทำ ต้องทำเหตุที่ดี และเมื่อไม่ต้องการผลร้ายก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ทำการกระทำหรือเหตุที่เสียหาย เพราะฉะนั้นเราจะต้องพึ่งการกระทำของเรา เมื่อเราพึ่งธรรม ตัว ธอ รอ หัน มอ เราก็ต้องมาพึ่งการกระทำ ใช่ไหม เพราะว่าเราจะให้ผลดีเกิดแก่เรา เราก็ต้องทำเหตุที่ดี นี่ธรรมะสอนเราว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องการผลดีเราก็ต้องทำเหตุที่ดีเราก็ต้องกระทำ ชาวพุทธนี่มุ่งหวังผลจากการกระทำ ไม่มุ่งหวังผลจากการอ้อนวอนดลบันดาล ต้องมีความเพียรมีความเข้มแข้ง ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าเมื่อเชื่อธรรมก็เชื่อกรรม เชื่อธรรมเชื่อกรรมก็คือ เมื่อเชื่อธรรม ธอ ธง ก็มาเชื่อการกระทำ ทอ ทหาร ก็ตกลงว่าเชื่อสองอย่าง เชื่อธรรม ธอ ธง ธอ รอหัน มา ก็เชื่อทำ ทอ ทหาร สระอำนี่ ชาวพุทธต้องเชื่อสองอย่างนี้ เชื่อธรรมะคือความจริงที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมดาของธรรมชาติ ของสิ่งทั้งหลายทุกอย่าง อยู่ภายใต้ความจริงอันนี้ ไม่มีพ้นไป ธรรมะสูงสุด และเชื่อทำคือ ทอ ทหาร สระ อำ การกระทำ ว่าเราต้องการผลดีต้องทำ แล้วเราก็มีความเพียรพยามที่จะทำให้สำเร็จ นี้แหละหลักการของชาวพุทธ ฉะนั้นบางทีท่านก็พูดสำหรับชาวบ้านว่าให้เชื่อกรรม ก็คือเชื่อการกระทำ อันนี้เป็นหลักที่ชาวพุทธจะต้องชัด แล้วก็พยายามนำมาปฏิบัติ อย่าเขวออกไป
เอาละทีนี้ขอต่อไปข้อที่สองก่อน ข้อที่สองมีศีล มีศีล ศีลก็คือการรักษาความสุจริตทางกายวาจา หรือพูดให้ลึกไปกว่านั้น การฝึกฝนกายวาจาของเรานี่ให้เจริญดีงามยิ่งขึ้น ทีนี้เรื่องของการกระทำหรือพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายวาจาของคน นี่มันก็สืบเนื่องมาจากข้อที่หนึ่ง คือ เรื่องของความเชื่อ คนเราเชื่ออย่างไรก็ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตไปตามนั้น เรื่องปัญหาเรื่องการประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตในขั้นพฤติกรรม แสดงออกทางกายวาจา ก็มีปัญหาสองอย่างเหมือนกัน เมื่อกี้ศรัทธามีปัญหาเรื่อง หนึ่งไม่มีศรัทธา สองมีศรัทธาที่ผิด เรื่องศีลก็เช่นเดียวกัน ก็มีปัญหาสองอย่าง คือ หนึ่งไม่มีศีล สองมีศีลที่ผิดพลาด ไม่มีศีลคืออย่างไร ศีลเป็นหลักการในการฝึกพฤติกรรมกายวาจาของเราให้ดีงาม ให้เราประพฤติดี ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เราจะได้สามารถพัฒนาชีวิตของตัวเองขึ้นไป แล้วก็จะได้ช่วยให้สังคมของเรานี่อยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อย อยู่เย็นเป็นสุข ถ้าเราไม่มีศีลเราก็ละเมิดเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ละเมิดต่อชีวิตร่างกายในข้อปาณาติบาตบ้าง ละเมิดต่อกันในทางทรัพย์สิน ในข้ออทินนาทานบ้าง ละเมิดคู่ครองกันในข้อกาเมสุมิสฉาจารบ้าง ละเมิดด้วยวาจา เบียดเบียนกัน ทำลายผลประโยชน์ผู้อื่นด้วยคำเท็จคำหลอกลวงที่เรียกว่ามุสาวาทบ้าง ก่อความรู้สึกหรือทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแก่ผู้อื่นด้วยการที่ไม่สติ ด้วยเหตุที่ไปกินดื่มของเสพติดมึนเมา พอเราดื่มกินของเมายาบ้าสุราอะไรนี่ พอขาดสติแล้วคนอื่นเขาเสียความมั่นคงปลอดภัยทันที เขาไม่รู้ว่าคนนี้จะเอาอย่างไร ขับรถสวนทางมาก็ใจไม่ดีแล้ว รถสิบล้อคันนี้กินยาบ้าหรือเปล่า คนที่ขับรถสวนก็ใจเสีย เพราะฉะนั้นคนที่กินสุรายาเสพติดนี่ก็เป็นผู้ทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้ร่วมสังคม เพราะฉะนั้นศีลนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญในขั้นต้นเลยที่ว่า จะสร้างสังคมที่ดีงามให้เป็นสังคมที่อยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข มีความมั่นคงปลอดภัย ให้เป็นสภาพที่เอื้อต่อการที่แต่ละคนจะได้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม จะได้พัฒนาตนเอง จะได้แสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้แต่จะมีความสุขได้ ทีนี้เรามีศีลไว้เพื่ออย่างนี้ ถ้าเราไม่มีก็แน่นอนก็เกิดปัญหา ชีวิตก็ไม่สามารถพัฒนา ชีวิตตัวเองก็เป็นชีวิตที่ไม่ดีไม่งาม แล้วก็ทำให้สังคมเดือดร้อน อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีศีล แต่ทีนี้อีกอย่างหนึ่งคือมีศีลที่ผิด ถ้ามีศีลที่ผิดก็เป็นสีลัพพตปรามาส เพราะเชื่อผิดก็ประพฤติปฏิบัติอะไรต่างๆ ที่มันไม่ได้เข้าหลักเข้าเหตุเข้าผล ศีลเขามีไว้เพื่ออะไร ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ ศีลมีไว้เพื่อฝึกกายวาจาพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น จะได้รู้จักสัมพันธ์กับผู้อื่น จะได้รู้จักสื่อสาร จะได้รู้จักพูดจักจา ได้กระทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์อะไรต่างๆนี่ ฝึกตัวเองแล้วก็จะได้สร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม เขามีไว้เพื่ออันนี้ ทีนี้พอไม่รู้ไม่เข้าใจก็จะไปมีศีลที่ผิดเพราะไปเชื่อสิ่งที่ผิด ไปเชื่อว่าพระราหูมาแล้วจะทำให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆแปลกๆ เอาสิ่งดำ ๘ อย่าง ๑๐ อย่างอะไรอย่างนี้แล้วไปทำพิธีพิกลพิลึก ไอ้อย่างนี้มันก็กลายเป็นศีลเหมือนกัน เขาเรียก สีลัพพตปรามาส เป็น สีลพต ที่ไม่ถูกต้องคือไม่ทำด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจ ทีนี้เรื่องศีลในสังคมชาวพุทธเวลานี้ก็มีทั้งสองแบบนี่ คือ มีปัญหาทั้งขาดศีล ทั้งมีศีลที่ผิด เพราะฉะนั้นก็จึงจะต้องพัฒนาชาวพุทธนี่ให้มีศีลให้ถูกต้อง ที่ว่าศีลนี่เป็นเครื่องฝึกหัดกายวาจา พฤติกรรม ในการสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ในการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม ในการที่จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชีวิตจิตใจ ปัญญาของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ต้องมองให้ถูกต้อง มองความหมายของศีลและความมุ่งหมายของศีลให้ถูก และประพฤติปฏิบัติให้เข้าแนวทาง อันนี้เป็นข้อที่สองละ ซึ่งเอาแค่หลักขั้นต้นนี่ก็ใช้เป็นมาตรฐานวัดชาวพุทธได้เลย ว่าเวลานี้แค่สองข้อต้นนี่ก็สอบตกกัน อะไร ต้องเรียกว่า ระเนระนาดกันไปเลย
ทีนี้ต่อไปข้อที่สาม อโกตูหลมังคลิโก แปลว่าไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อการกระทำ เชื่อกรรมคือเชื่อการกระทำ ไม่เชื่อมงคล อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่เลยนะ อันนี้สืบเนื่องมาจากข้อต้น พอศรัทธาผิดก็ไปละ พอศรัทธาผิดก็ไปเชื่ออะไรต่างๆ เชื่อการดลบันดาลของเทพเจ้า เชื่อการที่จะได้รับผลจากการอ้อนวอน ก็แทนที่จะหวังผลจากการกระทำก็ไม่เอา อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ ก็คอยตื่นข่าว คอยรอฟังว่าจะมีข่าวขลังที่ไหน ข่าวศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน ฉันจะแล่นไปที่นั่น แทนที่จะมองดูที่การกระทำของตัวเอง ฉะนั้นก็เลยพร่ามัวไม่มั่นคงไม่เข้มแข้ง คนที่คอยรอฟังอยู่โน่นอยู่นี่ เป็นคนที่ฝากชตากรรมไว้กับสิ่งภายนอก ก็ขาดความมั่นใจในตัวเอง ฉะนั้นการที่จะมาพัฒนาตัวเองหรือการที่จะสร้างสรรค์สังคมทำชีวิตให้เจริญก้าวหน้าทางสังคมให้ดีนี่เป็นไปได้ยาก เพราะมันแกว่งไปหมดเลย คือมันไม่อยู่ที่ตัวเองไม่มีอิสรภาพ ไม่ยอมพึ่งตัวเอง คอยรอหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอก แล้วอำนาจดลบันดาลภายนอกนั้นท่านก็ไม่ฟังเรา เราก็ต้องคอยรอดูว่าจะมีที่ไหน เมื่อไร ข่าวขลัง ข่าวศักดิ์สิทธิ์มีที่โน่นที่นี่ เลยเป็นโอกาสให้หลอกกันสบายไปเลย พอได้ข่าวไป เดี๋ยวเอาแล้ว รายนี้ไปๆมา หลอกเสียแล้ว พอไปๆมาๆ เดี๋ยวหลอกเสียอีกแล้ว แล้วชาวพุทธหรือคนไทยจำนวนมากนี่โดนหลอกเท่าไรไม่รู้จักเข็ด ก็หลอกก็มาเดี๋ยวก็รู้ข่าวก็บอกอยู่แล้วว่าหลอก ได้ข่าวไปแล้ว เอาอีก เดี๋ยวมา มาตื่นอีกแล้ว ตื่นเต้นๆ กันอยู่นี่ ไม่รู้จักจบ อย่างนี้ไม่ไหว คือไม่มีจุดยืนของตัวเอง ไม่มีหลักของตัวเอง ฉะนั้นอันนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญของอุบาสกอุบาสิกา อโกตูหลมังคลิโก ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ก็คือไม่ถือโชคลาง เชื่อการกระทำ หวังผลจากการกระทำ ไม่หวังผลจากมงคล จะขอเล่าเรื่องในพุทธกาลสักเรื่องหนึ่ง ที่เมืองราชคฤห์ ก็มีพราหมณ์ผู้มั่งคั่งท่านหนึ่ง พราหมณ์ท่านนี้ก็เป็นคนที่เชื่อโชคลางอย่างที่ว่าน่ะ แต่เป็นคนร่ำรวย ท่านเก็บเสื้อผ้าชุดดีของท่านไว้ในหีบหนึ่ง ที่เรียกว่า ผ้าสาฎก มาวันหนึ่งไปเปิดหีบนี้ เอาผ้าสาฎกคู่นี้ขึ้นมาปรากฏว่าถูกหนูกัด ทีนี้พวกคนสมัยนั้นเขาถือกัน เขาถือโชคลางว่าถ้าถูกหนูกัดแล้วก็เป็นลาง จะมีเคราะห์ เพราะฉะนั้นเสื้อตัวนี้ใช้ไม่ได้ ผ้าชุดนี้ใช้ไม่ได้แล้ว พราหมณ์ท่านนี้ก็ไม่สบายใจ เอ้ ทำอย่างไร ที่จริงมันแพงมาก ผ้าชุดนี้ ก็เลยตัดใจ ทำอย่างไรก็ต้องทิ้งแหละ ขืนเอาไว้ละก็ครอบครัวของเรา ชีวิตของเรา ตระกูลของเราอะไรอาจจะเกิดภัยพิบัติ ก็เลยเรียกลูกมา บอก ลูกๆ มานี่หน่อย นี่เกิดปัญหาละ ไอ้หนูมันกัดผ้านี่ เป็นอัปมงคลแล้ว เป็นกาลกิณี ว่าอย่างนั้น ผ้านี้เป็นผ้ากาลกิณีแล้ว เป็นลางร้าย เพราะฉะนั้นลูกต้องเอาไปทิ้ง แล้วก็อย่าไปจับเชียวนะ อย่าเอามือไปถูกก็ไม่ได้ว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นลูกก็เลยต้องเอาไม้มาเขี่ย แล้วก็คีบ พอลูกเอาไม้คีบ คีบเสื้อผ้าชุดนี้ไปนะ ไปที่ป่าช้าผีดิบ ไปทิ้งที่นั้น พอทิ้งเสร็จแล้วนะ กลับมาต้องไปอาบ ล้างศีรษะให้เรียบร้อยเชียวนะ ล้างขออภัยเสนียดจัญไรให้หมดแล้วก็กลับมาบ้าน ว่าอย่างนั้น ก็ลูกชายก็ไป ก็เอาไม้คีบไปเลย ไปป่าช้าผีดิบ ไปถึงป่าช้าผีดิบปรากฏว่าพระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่ก่อนแล้ว ก็เข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าก็ตรัสทักถามว่า นี่ มานพ เธอมาทำไม แล้วทำไมถืออย่างนั้น ต้องคีบ เอาไม้มาคีบผ้านี้มา ดูชอบกล แปลกดี มานพก็เลยเล่าเรื่องกราบทูลถวาย ว่าเรื่องมันเกิดขึ้นอย่างนี้ หนูมันกัดแล้วก็ผ้านี้เป็นอัปมงคล เป็นกาลกิณี จะเกิดเคราะห์ภัยพิบัติ จะต้องทิ้ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า เธอทิ้งเหรอ ก็บอก ทิ้งๆ เขาก็ไปทิ้ง พระพุทธเจ้าพอเขาทิ้งพระพุทธองค์ก็หยิบขึ้นมา ว่า อ้าว เธอทิ้งนะ ฉันเอานะ ว่าอย่างนั้น มานพก็บอก ไม่ได้ๆ ท่านอย่าเอาไป เดี๋ยวท่านจะแย่ เคราะห์ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นกับท่าน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีเป็นไรหรอก ของทิ้งอย่างนี้เหมาะสมกับสมณะ ว่าอย่างนั้น สมณะใช้ของที่เขาทิ้งๆแล้ว มานพก็ทัดทานใหญ่บอก อย่าเชียวนะ ไม่ได้ ผ้านี้เป็นกาลกิณีอัปมงคล มันจะเกิดภัยพิบัติ พระพุทธเจ้าก็ไม่ฟัง เสด็จเดินไป ไปที่พระวิหารคือที่วัด ฝ่ายมานพนี้ก็รู้สึกไม่สบายใจ เอ้ พระพุทธเจ้าเสด็จเดินไปแล้ว พระดำเนินไปแล้ว ว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง มานพก็เลยกลับไปบ้านแล้วก็ไปเล่าเรื่องให้พ่อฟัง ท่านพราหมณ์ผู้เป็นพ่อก็ตกใจเหมือนกัน เอ ทำอย่างไรนี่พระพุทธเจ้าเอาผ้านี้ไปเป็นกาลกิณี อัปมงคล เดี๋ยววัดจะพัง วัดจะพินาศ เอาละสิ ท่านพราหมณ์ก็เป็นห่วง พราหมณ์นี่มีทั้งพราหมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา พราหมณ์ที่เลื่อมใสบ้างแล้ว หรือพราหมณ์ที่เป็นกลางๆ พราหมณ์ท่านนี้ก็พอจะเป็นมิตรกับพระพุทธศาสนา พราหมณ์ท่านนี้ก็เลย เอ เป็นห่วงพระพุทธเจ้า เดี๋ยวจะลำบากก็เลย เอ้า เราเอาผ้าดีไปถวายแทนดีกว่า เพราฉะนั้นก็เลยไปค้นผ้า หาผ้าได้หลายชุดเลยคราวนี้ ถวายให้พอเลย ก็ไปที่วัดที่พระวิหารแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็บอกว่า นี่ ได้ทราบว่าท่านเอาผ้าที่ลูกชายผมไปทิ้งที่ป่าช้ามาใช่ไหม บอกว่า ใช่ บอก ผ้ามันเป็นกาลกิณี เกล้ากระหม่อมเองเป็นผู้ทิ้ง เอาไว้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอก ไม่เป็นหรอก เพราะของทิ้งนี่เหมาะกับสมณะ ใช้ได้ พราหมณ์ก็ไม่ยอม บอกว่าไม่เป็นไร ถ้าอย่างนั้นท่านเอาผ้านี้ไปดีกว่า เอาผ้านั้นทิ้งไปเถอะ จะได้ไม่เกิดเหตุภัยพิบัติ พระพุทธเจ้าก็เลยได้ทรงปรารภ ถือโอกาสแสดงธรรมให้ฟัง อันนี้ก็เลยทำให้พราหมณ์นี้เข้าใจ แล้วก็เลิกความเชื่อถือมงคลถือโชคลางนั้นเสีย อันนี้ก็เป็นเรื่องในสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าต้องทรงประสบพบเห็นบ่อยๆ ก็ต้องทรงสอน แล้วก็ให้พระสาวกสอน ให้มีความมั่นใจในตนเอง คนที่ตื่นอยู่อย่างนี้ ชีวิตนี่มันจะปล่อยเวลาผ่านไปเปล่าๆ เยอะเลย คอยฟังโน่นคอยฟังนี่ ไอ้ระหว่างนั้น ข้อสำคัญมันก็คือตกอยู่ในความประมาท ปัญหาของคนขาดศรัทธา อันนี้ศรัทธา ศีล มาถึงข้อนี้มันโยงกันหมด ขาดศรัทธาก็เป็นอย่างไร หนึ่ง จับจรด ใช่ไหมที่ว่าแล้ว มันไม่มีจุดหมายไม่มีหลัก สอง มันก็ขาดกำลังเพราะว่าเมื่อไม่มีเป้าหมายไม่มีทางไปที่ชัดเจน แล้วคนก็ไม่มีกำลัง ก็อ่อนแอ มีความแข็งแรงก็เหมือนไม่มีแรง ทีนี้พอมีศรัทธาที่ผิด เชื่อผิดๆ ประพฤติปฏิบัติผิดๆ แล้วเกิดปัญหาอย่างไร เกิดปัญหาก็เกิดเป็นความงมงาย ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่พัฒนาปัญญา ตกอยู่จมอยู่กับความงมงายนั้น ไม่รู้จักศึกษา ไม่หาปัญญาไม่หาเหตุผลก็จม ฉะนั้นคนที่ไม่มีปัญญาจะเจริญได้อย่างไร คนที่พัฒนาชีวิตนี่มันต้องพัฒนาปัญญาด้วย ต้องรู้จักคิดเหตุผล แล้วก็เป็นคนที่ อย่างที่บอกเมื่อกี้ ก็แกว่ง แกว่งไปแกว่งมา แล้วก็เลยไม่มีอะไรที่จะจับให้มั่น ไม่ทำ ปล่อยเวลาให้ผ่านไป คอยมองคอยรอ เรื่องโน้นเรื่องนี้จะมีขลังมีศักดิ์สิทธิ์มีอะไรที่ไหน ท่านเรียกว่าตกอยู่ในความประมาท ตกอยู่ในความประมาทก็คือไม่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่รู้จักขวนขวายทำกิจที่ควรทำด้วยความกระตือรือร้นเอาจริงเอาจัง ทีนี้ถ้าเป็นชีวิตคนเราแต่ละคนก็เจริญก้าวหน้าได้ยาก ถ้าเป็นประเทศชาติก็ไม่เจริญก้าวหน้า ไม่รู้จักสร้างสรรค์นี่ คนทั้งหลายตกอยู่ในความประมาทกันไปหมด พอแล้วเคยข้ามไปอีกอันหนึ่งก็คือศรัทธาที่เชื่อผิดๆ นี่ มีอีกอันหนึ่งก็คือเชื่อดิ่งไปแล้วเกิดความรุนแรง พอเชื่อแล้วจะต้องเป็นอย่างที่ฉันเชื่อให้ได้ ก็ขัดแย้งคนอื่นก็ไม่พัฒนาปัญญา ถกเถียงกัน ใช้เหตุผลกันไม่ได้ก็ฟาดฟันห้ำหั่นกัน ก็มีปัญหาเรื่องศาสนาต่างๆ ที่รบราฆ่าฟันกันก็เพราะความเชื่อ ดิ่งไปอย่างเดียวนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ทีนี้คนเราจะต้องพัฒนาทั้งๆที่มีปัญญามีความเชื่อก็มีหลัก มีเหตุมีผล แล้วก็พัฒนาตัวเอง ก็เลยทำให้พูดกันได้ ต้องมีศรัทธาชนิดที่เถียงกันได้ ไม่ตีกัน ว่าอย่างนั้น คือเถียงกันอย่างไรได้ก็ได้ ไม่ตีกัน อย่างนี้ก็อยู่กันได้ พระพุทธศาสนาก็สนับสนุนศรัทธาแบบนี้ ศรัทธาที่เชื่อแต่ว่ามีเหตุผลแล้วสามารถมาวิเคราะห์วิจารณ์แล้วก็ไม่ตีกัน แต่ว่าต้องยึดถือความจริง เมื่อเจอความจริงแล้วต้องยอมรับด้วย ไม่ใช่ว่ารั้น จะเอาแต่ที่ตัวเชื่ออย่างเดียว
อันนี้เรื่องศรัทธาของพุทธศาสนามาสู่ศีล มาสู่เรื่องการเชื่อการกระทำไม่เชื่อมงคลนี่ก็สอดคล้องกันหมด ก็เลยต้องมีปัญญากำกับ ก็มีความรู้ความเข้าใจ คอยศึกษาหาความรู้ให้มั่นในหลักที่ว่า เราจะทำอะไรก็ตามนี่ เราจะต้องทำให้ตรงตามเหตุปัจจัย มันจึงจะได้ผล คนที่มั่นในหลักนี้แม้จะทำการในตอนแรกไม่สำเร็จ แต่เขาจะไม่หยุด คราวนี้พลาดไม่สำเร็จ คงเป็นเพราะเราจับเหตุปัจจัยไม่ได้ไม่ตรง ฉะนั้นเราทำไม่ตรงตามเหตุปัจจัยก็ศึกษาค้นคว้าต่อไป สติปัญญาก็เฟื่องฟู ก็เจริญก้าวหน้า ในที่สุดก็ทำได้ถูกต้อง ฉะนั้นชีวิตก็เจริญงอกงาม สังคมก็เจริญงอกงามได้ เรื่องเชื่อการกระทำไม่เชื่อมงคลนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องมาพิจารณาแก้ไขสังคมไทยและสังคมชาวพุทธในขณะนี้ เพราะว่าแล่นไปไกลมากแล้ว ชาวพุทธปัจจุบันนี่ หวังผลจากการอ้อนวอนรอคอยอำนาจดลบันดาลมาก แทนที่จะหวังผลจากการกระทำของตนเอง ทีนี้ความเชื่ออะไรก็ตามที่ทำให้คนเรานี่ไม่ขวนขวายกระทำการให้สำเร็จด้วยความเพียร ท่านถือว่าผิดหมด จะเป็นการไม่เชื่อกระทำ เราอาจจะต้องมีบ้าง คนที่ยังอ่อนแอ ใจยังไม่เข้มแข็ง มีอะไรมาปลุกปลอบใจ ทำให้มั่นใจ เช่น ในยามคับขัน มีหลักตัดสินง่ายๆ อะไรที่เชื่อแล้วทำให้มั่นใจมีกำลังเพื่อทำการ อันนั้นไม่เสีย แต่ถ้าเชื่อแล้วทำให้นอนรอล่ะก็อันนี้จบ ถือว่าผิด เพราะฉะนั้นเชื่ออะไรแล้วนอนรอผล อันนั้นเสียแล้ว ผิดหลักพุทธศาสนา ถ้าเชื่อแล้วทำให้เกิดกำลังใจ ทำให้เกิดความมั่นคงแล้วก็มีกำลังที่จะทำการนั้นอย่างจริงจัง อันนั้นพอรับได้ แต่ว่าอย่าลืมพัฒนาปัญญาให้ปัญญามันก้าวต่อไป เพื่อเราจะต้องไม่มัวขึ้นกับสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอกที่มองไม่เห็นเหตุเห็นผล เป็นสักแต่ว่าความเชื่อเปล่าๆไป ก็นี่ก็ข้อที่สาม ต่อไปก็ข้อที่สี่
ข้อที่สี่บอกว่า ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกคำสอนของพระพุทธเจ้า ในหนังสือเรียนมักจะแปลว่าเขตบุญ เขตบุญแต่ตัวบาลีน่ะ ทักขิไณย ในที่นี้ต้องการเอาศัพท์เดิมมาวิเคราะห์ เพื่อจะให้รู้เข้าใจ ทักขิไณยนี้ในพุทธศาสนาเราใช้เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายว่าเป็นทักขิไณยบุคคล แต่ศัพท์เดิมนั่นเป็นของพราหมณ์ ทักขิไณยแปลว่าอะไร ก็แปลว่าผู้ควรแก่ทักษิณา ทักษิณาคืออะไร ของพราหมณ์นั้นเขาหมายถึงค่าตอบแทนพราหมณ์ในการกระทำพิธีบูชายัญ คือพราหมณ์นี่เขาทำพิธีบูชายัญ สังเวยต่อเทพเจ้าแล้ว ผู้ที่ไปประกอบพิธีบูชายัญนี่ก็จะต้องให้ค่าตอบแทนเรียกว่า ทักษิณา พราหมณ์ก็พากันรวยด้วยทักษิณานี่ ทีนี้ในทางพระพุทธศาสนา ทางพุทธศาสนาไม่เชื่อเรื่องบูชายัญ ซึ่งเป็นการเซ่นสรวงอ้อนวอนต่อเทพเจ้าให้มาดลบันดาลให้ คือที่เราเซ่นสรวงอ้อนวอนนี่พูดภาษาเดิมก็คือบูชายัญนั่นแหละ ภาษาเดิมแท้ๆ แต่ว่าเราไม่เอามาใช้ คนไทยก็บูชายัญกันเยอะแยะกันไปหมด ทีนี้บูชายัญนี่ ถ้าบูชายัญกันไปไม่มีขอบเขตนี่จะฆ่าคน ฆ่าสัตว์ทั้งหลายไปบูชาสังเวย เหมือนอย่างในอินเดียสมัยโบราณ คือตอนแรกก็สังเวยอ้อนวอนบูชายัญบวงสรวงด้วยของอะไร ก็นึกว่าเทพเทวดาท่านจะชอบอะไรก็เอาสิ่งนั้นมาสังเวยอ้อนวอนไป ต่อมาก็นึกว่า เอ้ ถ้าเอาโน้นเอานี้มาเทวดาคงถูกใจยิ่งกว่านี้ ถ้าโปรดปรานจะให้เรามากกว่านี้ ไปๆมาๆก็เอาสัตว์บูชายัญ น้อยๆไม่พอก็เอาเป็นร้อย ต่อมาก็การบูชายัญเซ่นสรวงใหญ่ๆ นี่ต้องเอาวัว ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ มาฆ่าบูชายัญ พอเป็นพิธีบูชายัญใหญ่อย่างยิ่งก็เอาคนบูชายัญ อย่างเจ้าแม่กาลีนี่ชอบหญิงสาวพรหมจารี พวกคนอินเดียก็ลักลอบ แม้แต่ยุคนี้ ปัจจุบันที่เขาห้ามแล้วนี่ ที่ว่าเจริญแล้วนี่ บางทีหญิงสาวพรหมจารีก็หายไปจากบ้าน เพราะถูกคนลักตัวเอาไปบูชายัญ ฆ่าสังเวยเจ้าแม่กาลี เอาคอไปพาดที่แท่นบูชายัญ แท่นตรงนี้พอเขาตัดคอปั๊บ เลือดมันจะออกจากลำคอพุ่งไปเข้าปากเทวรูปเจ้าแม่กาลีตรงเป๋งเลย อันนี้พระท่านบอกว่า พระที่ไปอยู่อินเดียบอกว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังมีการลักลอบอยู่ ตอนอังกฤษเข้ามาอังกฤษก็ออกกฎหมายห้ามการเอาคนไปฆ่าบูชายัญ นี่การเซ่นสรวงต่างๆนี่ถ้าไม่ยับยั้งมันก็จะไปถึงขั้นอย่างนี้ เพราะว่ามันเป็นการเอาใจเทพเจ้าที่เราไม่รู้ใจท่าน ไม่รู้ว่าท่านจะโปรดแค่ไหน ต่อไปก็คิดจะให้ท่านโปรดมากที่สุด แค่นี้ท่านโปรดเท่านี้ ถ้าให้มากกว่านี้ท่านจะโปรดแค่ไหน ไปๆมาๆก็ฆ่าคนบูชายัญเลย นี่แหละสังคมไทยเราเป็นสังคมที่ไม่เชื่อการบูชายัญ เพราะเราเป็นสังคมพุทธ เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่แสวงหาทักขิไณยแบบนี้ คือ ผู้ที่จะรับทักษิณานอกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ทักษิณาในความหมายของพุทธศาสนาก็คือสิ่งที่ให้เพื่อสนับสนุนสิ่งที่ดีงาม เพื่อสนับสนุนการกระทำที่ดี เพื่อสนับสนุนผู้ที่ดำรงธรรมะไว้ให้แก่สังคม สังคมของเรานี่จะอยู่ดีได้ก็ด้วยธรรมะ ด้วยความดี ด้วยหลักคำสอนที่ถูกต้อง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตัวในทางที่เป็นการสร้างสรรค์ต่างๆ ทีนี้ผู้ที่มาสั่งสอนช่วยดำรงธรรมะไว้ให้แก่สังคมนี่ท่านเรียกว่าเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา จะแสวงหาทักษิณาก็ต้องหาผู้ที่มาช่วยดำรงธรรมะไว้ให้แก่สังคม ก็คือว่าช่วยบำรุงส่งเสริม อย่างส่งเสริมพระศาสนาต่างๆนี้ก็ถือว่าเป็นการถวายทักษิณาหรือว่าสิ่งที่ให้ด้วยการเชื่อกรรม เชื่อการกระทำ ไม่ได้เชื่อการอ้อนวอนดลบันดาลต่างๆ ก็ให้แสวงหาทักขิไณยให้ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเราจะได้สนับสนุนให้พระศาสนาที่สอนธรรมะนี่ดำรงอยู่ได้ สังคมของเราจะได้อยู่ในความดีงามร่มเย็นเป็นสุขได้
แล้วจากข้อนี้ข้อที่สี่ก็จะไปสู่ข้อที่ห้าที่ว่ากระทำบุพการ บุพการก็คือการกระทำการสนับสนุนส่งเสริมต่างๆ ในกิจการของพระศาสนา กิจการของพระศาสนาก็หมายถึงการกระทำที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาอย่างการบำเพ็ญทานศีลภาวนา การฟังสัจธรรมเทศนาต่างๆ การให้ความรู้ความเข้าใจในหลักความดีความชั่ว ให้ชักจูงกันให้ทำความดี ให้สร้างสรรค์ทำประโยชน์แก่สังคม แก่พระศาสนาอะไรต่างๆ เหล่านี้ กิจการต่างๆที่เป็นความดีงามที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนานี่ อุบาสกอุบาสิกาก็เอาใจใส่ขวนขวายคอยกระทำ ไม่ละทิ้ง ไม่ปล่อยปละละเลย สังคมของเรา พระศาสนาของเราจะเจริญดีงามมั่นคงได้ก็เพราะชาวพุทธนี้เอาใจใส่ ไม่ละเลย ไม่ปล่อยทิ้ง มีอะไรที่ควรจะทำก็มาช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสรรค์ บุพการอันนี้ก็เป็นตัวเดียวกับในคำว่าบุพการี เหมือนอย่างพ่อแม่ที่เป็นบุพการีก็กระทำบุพการแก่ลูก ก็ทำก่อนเลยไม่ต้องรอล่ะ เป็นคนที่คอยคิดคอยริเริ่มทำ ให้ประโยชน์แก่ลูก นี้เราก็เหมือนกัน กระทำบุพการในพระศาสนาก็หมายความว่าเราก็คิดริเริ่ม จะทำอะไรที่มันดีงามที่เป็นประโยชน์ ที่มันจะก่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิต แก่สังคม แก่ส่วนรวม ช่วยรักษาธรรมะไว้ให้ศีลธรรมแผ่ไปในสังคม ให้ประชานชนอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข อะไรนี่แหละ ที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาของสังคม เรื่องอบายมุข การติดยาเสพติด เป็นต้น อะไรพวกนี้ กิจการรมความดีงามนี้ต้องช่วยกันเอาใจขวนขวายที่จะทำ ถ้าอย่างนี้แล้วก็เราก็ได้ล่ะ ก็เป็นเรื่องคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา ๕ ประการ แค่นี้ก็พอแล้วที่จะทำให้สังคมของเราอยู่ดี พุทธศาสนาก็ไปได้ สังคมไทยก็อยู่ดี ทีนี้ปัญหาก็อย่างที่ว่านี่ มันเริ่มมาแต่ข้อหนึ่งเลย ข้อหนึ่งเราก็ตกเสียแล้ว มันก็เลยไม่ไปไหน ฉะนั้นชาวพุทธนี่อย่าอยู่อย่างพร่ามัว สับสน ไม่มีหลัก จะต้องฟื้นฟูตัวเองขึ้นมา แล้วก็มีความมั่นใจ ศรัทธาในความเชื่อแล้วก็มีความมั่นใจนะ ก็จึงจะมีความเข้มแข็ง จึงจะมีกำลังได้ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีกำลังหรอก ทีนี้ถ้าเรามีศรัทธาถูกต้องนี่ ธรรมะข้ออื่นก็จะมา เช่นเรามีศรัทธาในพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระสงฆ์ ศรัทธาในพระธรรม เราก็อยากจะฟัง เราก็อยากศึกษาค้นคว้า พอเราศึกษาค้นคว้า เราก็ได้ปัญญา เราก็รู้ธรรมะเราก็เข้าใจธรรมะเพิ่มขึ้น ศรัทธามันก็นำไปสู่ปัญญา ทีนี้ศรัทธาของท่านไม่ใช่ศรัทธาแบบงมงาย ไม่ใช่ฟังไปแล้วต้องคืออย่างนี้ แล้วก็จบ เธอทำก็แล้วกันไม่ต้องถาม อย่างนี้เขาเรียกว่าศรัทธาแบบงมงาย ทีนี้ศรัทธาแบบพระพุทธศาสนานี้ เชื่อเพราะว่าเห็นเหตุผลเชื่อว่า เออ ไปฟังท่าน ไปอ่านหนังสือธรรมะ ฟังคำสอนพระพุทธเจ้า เออ ท่าน เท่าที่เราจะเข้าใจได้นี่เพราะพระองค์ตรัสมีเหตุมีผล เป็นความจริงเป็นประโยชน์ อย่างนี้เขาเรียกว่าเริ่มเกิดศรัทธาแล้ว พอเริ่มเกิดศรัทธาแล้วก็อยากฟังต่อ อยากจะรู้เพิ่มเติม ศรัทธาก็นำไปสู่ปัญญา ทีนี้พอเราเห็นว่าอันนี้มีเหตุผล เราควรจะไปตั้งจุดที่นี่ จะต้องจับจุดในเรื่องนี้ ศึกษาในเรื่องนี้ให้เข้าใจ แสดงว่าศรัทธาทำให้ปัญญาของเรามีจุดหมายแล้ว มีทางไป ฉะนั้นศรัทธาก็สร้างจุดเป้าหมายให้แก่ปัญญาที่จะศึกษา แล้วพอเราเห็นคุณค่าว่าอันนี้นำไปสู่ความจริงแน่ เราจะต้องได้ปัญญาจากอันนี้แน่นอนก็เกิดพลัง ศรัทธาก็ทำให้เกิดกำลังในการสร้างปัญญา แล้วพอศรัทธานำช่วยหนุนปัญญาให้เดินหน้าไปถึงจุดหมายแล้วศรัทธาก็หมดภาระ เพราะฉะนั้นศรัทธานี่มาสัมพันธ์กับปัญญาในอย่างน้อย ๓ ประการ ประการที่หนึ่งก็คือเป็นตัวตั้งจุดเริ่มต้นให้ปัญญา สอง เป็นตัวที่สร้างเป้าหมายให้ปัญญา สามก็เป็นตัวสร้างกำลังให้ปัญญา แล้วพอปัญญาไปถึงจุดหมาย ศรัทธาก็บอก ฉันหมดหน้าที่ ส่วนหมดหน้าที่เพราะอะไร เพราะเห็นด้วยตาแล้ว เห็นด้วยตัวเอง ประจักษ์ ศรัทธาก็หมดหน้าที่ ฉะนั้นในพุทธศาสนานี่จึงคู่กัน ศรัทธากับปัญญา ไม่ใช่ว่าจะละทิ้งศรัทธาเสียเลย ฉะนั้นในเวลาเดียวกันก็ศรัทธาขาดปัญญาก็ไม่ได้ ก็เป็นแต่เพียงความงมงาย แล้วก็ถ้างมงายแล้วก็ชวนให้นำไปสู่ความรุนแรง เกิดความขัดแย้ง จะต้องบังคับคนอื่นให้เชื่ออย่างฉันอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นก็เราก็เป็นศาสนาแห่งปัญญานี้ก็หมายถึงว่าโดยมีศรัทธาเป็นตัวช่วยเริ่มต้นและหนุนนำให้ ได้ทั้งสองอย่างนี้ก็จะทำให้พุทธศาสนาเจริญงอกงามในตัวเรา ไม่ใช่หมายความว่า พุทธศาสนาเจริญงอกงาม แล้วก็ไปดูข้างนอก มันเจริญงอกงามที่ตัวเราก่อน ถ้าพระพุทธศาสนาเจริญงอกงามในตัวเราแต่ละคนแล้วนี่ ก็คือความเจริญงอกงามที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา เราจะไปเห็นพระพุทธศาสนาเจริญงอกงาม วัดที่อะไร บอกว่าวัดที่อะไรข้างนอกเห็นๆ ก็ไปเห็นมีอาคาร สิ่งก่อสร้างในวัดวาอารามใหญ่โต เราบอกว่าเป็นความเจริญงอกงามของพุทธศาสนา แล้วในตัวเราไม่เคยประพฤติปฏิบัติเลย จิตใจก็ไม่มีศรัทธาไม่มีปัญญาไม่มีคุณธรรม แล้วพุทธศาสนาเจริญงอกงามได้อย่างไร พุทธศาสนาเจริญงอกงามก็คือมันเจริญงอกงามในตัวแต่ละคนนี่แหละ ในชีวิตของเรา พอชีวิตของเราแต่ละคนเจริญงอกงามด้วยธรรมะ พุทธศาสนาเจริญงอกงามในตัวเรา รวมกัน รวมกันทั้งสังคมก็เป็นความเจริญที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา ตอนนี้คนที่มีพระพุทธศาสนาอยู่ในตัว ประพฤติปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาก็ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไปทำสิ่งที่ถูกต้อง จะสร้างก็สร้างสิ่งที่ถูกต้อง ใช่ไหม จะไปทำอะไรต่ออะไรก็ไปทำสิ่งที่ถูกต้อง มันก็เป็นความเจริญงอกงามที่แท้จริงก็เลยเจริญงอกงามทั้งภายนอกภายใน ท่านเรียกว่าเป็นความเจริญงอกงามทั้งวัตถุและทางธรรมะ ท่านให้คู่กัน ในที่สุดก็จะเกิดทั้งคู่ที่เรียกว่า ทั้งอามิสไพบูลย์และธรรมไพบูลย์ พุทธศาสนาบอกว่า อ้าว ให้ดูไพบูลย์ ไพบูลย์ก็คือความเจริญรุ่งเรือง ความแผ่ไพศาล ดูที่ไหน ท่านบอกว่าให้ดูสองด้าน คือ หนึ่ง อามิสไพบูลย์ ความเจริญพรั่งพร้อมรุ่งเรืองทางด้านวัตถุ แล้วสองธรรมไพบูลย์ ความเจริญงอกงามของธรรมะ ซึ่งมาดูที่จิตใจของคน ถ้าได้สองอย่างนี้แล้วก็ไปได้ อามิสไพบูลย์ก็จะเป็นฐานเป็นเครื่องเกื้อหนุนในธรรมไพบูลย์เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ธรรมไพบูลย์ก็จะทำให้อามิสไพบูลย์นี่อยู่ในกรอบของความดีงาม นำไปใช้ในสิ่งที่ถูกต้อง อย่างสังคมของเรานี่ถ้าเจริญในทางเศรษฐกิจก็เป็นอามิสไพบูลย์ ทีนี้ถ้ามีอามิสไพบูลย์ไม่มีธรรมไพบูลย์ คนก็ลุ่มหลงมัวเมาติดในค่านิยม เสพบริโภค ติดในอบายมุข แล้วก็เบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน มีแต่ความชั่วร้ายในสังคม เพราะฉะนั้นอามิสไพบูลย์อย่างเดียวไปไม่รอด ในที่สุดก็พินาศ จบ เพราะว่าอามิสไพบูลย์มันอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้าไม่มีธรรมไพบูลย์ ในที่สุดก็คนก็ทำลายความเจริญทางเศรษฐกิจเสียเอง เพราะตัวเองไม่มีคุณธรรม ไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เป็นนักผลิต เป็นแต่นักกินนักเสพนักบริโภค มันก็หมดเท่านั้นแหละผลที่สุดความเจริญทางเศรษฐกิจก็กลายเป็นวิกฤตไป เพราะฉะนั้นที่เรามีวิกฤตครั้งนี้เพราะมัวไปมุ่งลุ่มหลงในอามิสไพบูลย์ ตอนนั้นก็นึกว่าสังคมของเรานี่เจริญเหลือเกิน เศรษฐกิจดี ปีหนึ่งก็เศรษฐกิจขยายตัวตั้งแปดจุดห้า โอ่ ตอนนั้นลุ่มหลงกันใหญ่ ที่ไหนได้ พออยู่มาไม่เท่าไหร่ล่ะแฟบทีเดียวเลย นี่แหละเลยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตเศรษฐกิจเพราะว่ามีแต่อามิสไพบูลย์ไม่มีธรรมไพบูลย์ มันไม่มีฐานที่แท้จริง อามิสเจริญขึ้นมาโดยไม่มีฐานทางธรรมะ ก็คือไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตัวเอง แม้เจริญรุ่งเรืองมีขึ้นมาแล้ว ไม่มีธรรมะก็รักษาความเจริญทางเศรษฐกิจไว้ไม่ได้ ในที่สุดก็ย่อยยับไป ฉะนั้นเราจะต้องให้อามิสไพบูลย์คู่กับธรรมไพบูลย์ คนมีธรรมะแล้วมีพระศาสนาเจริญงอกงามในชีวิตจิตใจ ก็เป็นผู้พร้อมที่จะสร้างสรรค์ อย่างน้อยก็มีอริยทรัพย์ มีทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายในมีอะไร เอาง่ายๆ เอาแค่สองข้อ คือมันแยกแล้วได้สองอย่าง คือมีความรู้กับความดี ทรัพย์ภายในอันนี้สำคัญมาก ทุกท่านจะต้องมีให้ได้ ทรัพย์ภายนอกก็มีแล้ว แต่ว่าทรัพย์ภายในจำเป็นต้องมี ถ้าไม่มีแล้วสร้างก็ไม่ได้รักษาก็ไม่ได้ทรัพย์ภายนอก มันไม่อยู่หรอก ความรู้กับความดี หรือปัญญากับคุณธรรมต้องมี ธรรมะ คุณสมบัติทางด้านจิตใจต่างๆ นี่มีไว้ เราก็ทำให้คุณสมบัติทรัพย์ภายในนี้มีขึ้นมาเป็นทุนก่อน แม้จะมีทุนภายนอกทางทรัพย์วัตถุที่เป็นรูปียทรัพย์ ในที่นี้ให้แยกเป็นสองอย่าง รูปียทรัพย์ทรัพย์ภายนอก เป็นเงินเป็นทองเป็นเงินบาท เงินเหรียญ เงินรูปี แล้วก็ทรัพย์ภายในเป็นทรัพย์อันประเสริฐที่เรียกว่า อริยทรัพย์ รูปียทรัพย์กับอริยทรัพย์นี้ก็คู่กัน นี้แหละจะนำไปสู่อามิสไพบูลย์กับธรรมไพบูลย์ มีรูปียทรัพย์มากก็มีอามิสไพบูลย์ มีอริยทรัพย์มากก็มีธรรมไพบูลย์ ทีนี้ในแต่ละคนก็ถ้าเรามีรูปียทรัพย์ เราต้องนึกขึ้นมาทีเดียว เราต้องใช้รูปียทรัพย์เงินทองนี้มาเป็นฐานในการพัฒนาตัวเองให้เกิดอริยทรัพย์ เพราะมันไม่มั่นคง ไอ้รูปียทรัพย์นี่เดี๋ยวหมด ฉะนั้นอย่าประมาท เอารูปียทรัพย์นี้มาเป็นฐานแล้วก็รีบมาใช้ในการที่หาความรู้ศึกษาต่างๆ พัฒนาตัวเอง พัฒนาคุณธรรมความดีความรู้ความสามารถในตัวเอง รูปียทรัพย์ก็เกิดประโยชน์ ท่านเรียกว่าใช้มันเป็นปัจจัย ในพุทธศาสนานี่มองวัตถุมองเศรษฐกิจเป็นปัจจัย ไม่ใช่มองเป็นจุดหมาย เป็นสิ่งจำเป็นแต่ว่ามีความหมายเป็นประโยชน์คือการเป็นเครื่องเกื้อหนุน ที่อาศัยเพื่อให้เราก้าวไปสู่จุดหมายที่สูงประเสริฐยิ่งขึ้น เราก็อาศัยรูปียทรัพย์ เช่น เงินทองนี้มาเป็นเครื่องเกื้อหนุนเรา เราก็ก้าวไปสู่อริยทรัพย์ เราก็พัฒนาตัวเองให้มีความรู้และความดี ให้มีปัญญามีคุณธรรม เรียกว่าให้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ มีความรู้วิชาการ มีความรู้ในศิลปะวิทยา แล้วก็มีคุณธรรมมีความดีมีความสามารถมีความซื่อสัตย์สุจริตมีความขยันหมั่นเพียรมีความรับผิดชอบ มีความเข้มแข็งมีสติมีสมาธิ เอาใหญ่เลยที่นี้ มีคุณสมบัติพร้อมแล้วตอนนี้แหละ สร้างรูปียทรัพย์เกิดกันใหญ่เลย รูปียทรัพย์ที่ใช้เป็นฐานเบื้องต้นคราวนี้เราก็เอาทุนภายในคืออริยทรัพย์นี้มาสร้างรูปียทรัพย์ข้างนอก รูปียทรัพย์ข้างนอกยิ่งเกิดมียิ่งช่วยให้เราสร้างอริยทรัพย์ สร้างธรรมไพบูลย์ได้ดียิ่งขึ้น มันเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ฉะนั้นสังคมที่ฉลาดก็ใช้สองอย่างนี่มาเป็นปัจจัยหนุนซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เอารูปียทรัพย์เป็นจุดหมาย ถ้าอย่างนั้นก็จบ ในที่สุดก็เกิดวิกฤต แล้ววิกฤตพอแก้ตัวไม่ได้ ไม่รู้จักแก้อีกก็เป็นวิบัติ ฉะนั้นตอนนี้ก็จึงต้องย้ำบอกว่าเกิดวิกฤตแล้วถ้ามีปัญญา รู้จักคิดรู้จักพิจารณาเริ่มสร้างอริยทรัพย์ขึ้นมา วิกฤตก็เปลี่ยนเป็นวิวัฒน์ จุดวิกฤตนี่เปลี่ยนให้ดีจะเป็นวิวัฒน์ ถ้าเปลี่ยนไม่เป็นก็จะกลายเป็นวิบัติ ทีนี้สังคมไทยนี่กำลังอยู่ที่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าทำไม่ถูกแล่นต่อไปเป็นวิบัติ ถ้าหากว่าได้วิกฤตมากระตุ้น เกิดสติขึ้นมาพิจารณาแล้วก็ใช้ปัญญาหาทางแก้ไขให้ถูกต้อง ปฏิบัติในทางที่ดีงามตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็เปลี่ยนวิกฤตเป็นวิวัฒน์ ฉะนั้นตอนนี้เป็นตอนที่สำคัญที่สุดของชาติไทยของสังคมไทย ว่าจากวิกฤตเราจะเอาวิวัฒน์หรือจะเอาวิบัติ ก็ขอให้เรามาช่วยกันเปลี่ยนวิกฤตเป็นวิวัฒน์ ก็ด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้อง นี่ตอนนี้รูปีเราอ่อนด้อยลงไปแล้ว รูปียทรัพย์แย่ เราก็ต้องมาหันมาสร้างอริยทรัพย์ ความรู้และความดี สร้างขึ้นมาเถอะ เป็นทุนในภายในและไม่หายไปไหน ทรัพย์ภายนอกรูปียทรัพย์นี่เป็นภาระ ต้องแบกต้องกังวลในการดูแลรักษา ใช่ไหม แต่ทรัพย์ภายในอริยทรัพย์ ความรู้ความดีนี่ใครต้องรักษาบ้าง มันอยู่กับตัว ไปไหนมันติดไปเอง ไม่ต้องกลัวใครจะมาลักขโมย ฉะนั้นท่านบอกว่า ปุญญัง โจเรหิ ทูหะรัง บอกว่าความดีโจรลักไม่ได้ ว่าอย่างนั้น ไม่ต้องกลัวลัก แต่ถ้าเป็นเงิน ทรัพย์ภายนอกแล้วโดนลักหมดแหล่ะ ดีไม่ดีถ้าไม่มีทรัพย์ภายในรู้ไม่ทันเขา โดนหลอกด้วย ไม่ใช่โดนลักอย่างเดียว โดนหลอกให้เขาไปเสียเฉยๆ แน่ะ ฉะนั้นก็เลยต้องมีทรัพย์ภายใน ทีนี้ทรัพย์ภายนอกนี่ต้องระวังรักษาเป็นกังวล ทรัพย์ภายในไม่ต้องระวังรักษา ไปกับตัวเองตลอดเวลา ทรัพย์ภายนอกยิ่งใช้ยิ่งเปลืองยิ่งใช้ยิ่งหมด มีร้อยใช้ห้าสิบเหลือห้าสิบ ใช้อีกห้าสิบหมดเหลือศูนย์ แต่ทรัพย์ภายในนี่ความรู้และความดียิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม อ้าว คุณมีความรู้ลองไปสอนใครไปบอกใครสิ ตัวยิ่งชำนาญยิ่งมีความรู้มั่นคง ชำนาญชัดเจนยิ่งขึ้น มีความดียิ่งไปทำความดีนั้นยิ่งเพิ่มพูน ใช่ไหม ฉะนั้นทรัพย์ภายในยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มแต่ทรัพย์ภายนอกยิ่งใช้ยิ่งหมด อันนี้ก็เป็นตรงกันข้าม ทรัพย์ภายในสำคัญมาก ทีนี้ก็ไอ้ทรัพย์ภายนอกอย่างที่ว่าแล้ว ถ้าไม่มีทรัพย์ภายในเป็นฐานนี้รักษาไว้ไม่ได้ ไอ้ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เพราะอะไร เพราะว่าปัญญาก็ไม่มี คุณธรรมความดีความสามารถ ความขยันหมั่นเพียรก็ไม่มี ขี้เกียจ อะไรเป็นต้น เงินทองที่มีอยู่พ่อแม่ให้มา สมมติว่าพ่อแม่ร่ำรวยให้มาห้าล้านหกล้าน ไม่มีความรู้และความดีที่จะรักษาทรัพย์ที่เขาให้มาที่มีอยู่ก็หมดไป ทีนี้ทรัพย์ใหม่ก็สร้างไม่ได้เพราะไม่มีความรู้ความดีที่จะไปสร้าง ตกลงทรัพย์ภายนอกขาดทรัพย์ภายในก็อยู่ไม่ได้ แต่คนมีทรัพย์ภายในถ้าทรัพย์ภายนอกมีอยู่แล้ว อ้าวก็ดี รักษาได้ นอกจากรักษาได้ก็ทำให้เพิ่มอีกด้วย พ่อแม่ให้มาห้าล้านต่อไปเป็นห้าร้อยล้านเลย ทีนี้นอกจากนั้นก็คือถึงไม่มีเลย คนที่มีทรัพย์ภายในแม้ไม่มีทรัพย์ภายนอกเลยสักบาทเดียว สามารถสร้างขึ้นมาได้ คนที่มีปัญญามีความสามารถมีความขยันหมั่นเพียรนี่ไม่มีทรัพย์ก็สร้างทรัพย์ได้ ฉะนั้นทรัพย์ภายใน ความรู้ความดีนี่สำคัญที่สุดเลย ทรัพย์ภายนอกไม่มีก็สร้างได้ ท่านจึงบอกว่า ปัญญา วะ ธะเนนะ เสยโย ปัญญานั่นแหละประเสริฐกว่าทรัพย์ นี่จำไว้เลย อันนี้แน่นอนเลย ถ้าไม่มีปัญญาทรัพย์อยู่ไม่ไหวหรอกไปหมด ฉะนั้นอย่าลืม อย่าไปลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับไอ้รูปียทรัพย์ ทรัพย์ภายนอก ต้องสร้างทรัพย์ภายในให้ได้ ความรู้และความดี ท่านเรียกว่าอริยทรัพย์ ทรัพย์อันประเสริฐ อ้าว นอกจากว่ามันจะเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอก รักษาธรรมให้เพิ่มพูนแล้วนะ มันก็เป็นตัวที่ทำให้คนจะดีชั่ว เป็นตัวตัดสินความประเสริฐของมนุษย์ ไอ้ทรัพย์ภายนอกนี้ไม่ทำให้คนเป็นคนประเสริฐหรอก ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่ทรัพย์ภายในคือความรู้และความดี เอาอีกแล้ว ตัวตัดสินก็อยู่ที่นี่อีกแล้วทรัพย์ภายใน แล้วต่อไปคนจะพ้นทุกข์ได้ก็ด้วยทรัพย์ภายในคือความรู้และความดี จะพ้นทุกข์เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอริยบุคคลนี่เป็นด้วยทรัพย์ภายในทั้งนั้น เป็นด้วยทรัพย์ภายนอกไม่ได้ มีทรัพย์เท่าไรก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ จะมีกี่ร้อยล้านกี่โกฏิก็เป็นไม่ได้ แต่ว่าเราต้องใช้ให้เป็นก็คือเอาทรัพย์ภายนอกมาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนเพื่อเราจะได้สร้างสรรค์พัฒนาทรัพย์ภายในขึ้นมา ไอ้ตรงนี้แหละที่เป็นจุดสำคัญ เพราะฉะนั้นคนไทยนี้จะต้องมองทรัพย์มองเศรษฐกิจให้เป็นปัจจัยให้ได้ แล้วจะไปมัวลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาเอาเป็นจุดหมายแล้วก็ไปสยบอยู่กับแค่ทรัพย์ภายนอก แล้วก็ติดอยู่แค่การบริโภค หาความสุขจากความสนุกสนานมัวเมา ทำลายตัวเองทำลายสังคม ฉะนั้นเราจะต้องรีบตื่นขึ้นมาเอาทรัพย์เอาเงินทองนี้มาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการสร้างสรรค์ ถ้าเจอความขาดแคลนก็ถือเป็นบททดสอบตัวเอง คนเรานี้ต้องเจอบททดสอบ พุทธศาสนานี้ไม่ให้ย่อท้อ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ ไม่ใช่เป็นศาสนาแห่งการอ้อนวอน รอผลดลบันดาล ให้เราหวังผลจากการกระทำ เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม เป็นศาสนาแห่งความไม่ระย่อท้อถอย ความท้อแท้ถดถอยนี่ท่านเรียกว่าเป็นนิวรณ์ เป็นเครื่องบดบังกดทับจิตและปัญญาไม่ให้เจริญงอกงาม ฉะนั้นเราจะต้องมีจิตใจร่าเริงเบิกบานกระฉับกระเฉง มีความตื่นตัว แล้วก็กระตือรือร้น ทำการต่างๆ ด้วยความขยันหมั่นเพียร แล้วก็ใช้สติปัญญาเสมอ อย่างนี้มันจึงจะพัฒนาไปได้ แต่ตอนแรกมันอาจจะยากหน่อย ถ้าคนไม่เคยนะ ตอนแรกจะมาขยันนี่มันฝืนใจเหลือเกิน เพราะฉะนั้นชาวบ้าน คนปุถุชนนี่ท่านจึงมีหลักบอกว่า มนุษย์ปุถุชน โดยเฉพาะ ขออภัยนะท่านใช้คำหนักที่เรียกว่า อันธพาลและปุถุชน ต้องถูกทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคามจึงจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ท่านว่าอย่างนั้น นี่มนุษย์ปุถุชนนี่ต้องถูกทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคามจึงจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เมื่อไรสุขสบายก็จะนอนเสวยสุข จริงไหม ถ้าตอนทุกข์บีบคั้น ไม่มีจะกินแล้ว ภัยคุกคาม พวกต่างประเทศมันยกทัพมาบุกแล้ว ตอนนี้นอนไม่ได้แล้ว ผัดเพี้ยนไม่ได้แล้ว ลุกขึ้น นี้แหละ ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายเพราะว่าทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม พอสุขสบายพ้นภัยไปแล้ว นอน ทีนี้จะมีอะไรควรจะทำก็ผัดเพี้ยนแล้ว เอาไว้พรุ่งนี้ เอาไว้พรุ่งนี้ เอาไว้มะรืนก็ได้ ใช่ไหม อันนี้ก็เรียกว่านิสัยปุถุชน ก็เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่ประมาท ถ้าเป็นอย่างนี้ล่ะก็ไม่ไหว ชีวิตก็ไม่ก้าวหน้า สังคมก็ไม่เจริญงอกงาม เพราะแต่ละคนไม่รู้จักสร้างสรรค์ เราจะไม่ประมาทขยันหมั่นเพียรต่อเมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามอย่างนั้นหรือ อย่ารออย่างนั้นเลย ให้อยู่ด้วยสติปัญญา อยู่ด้วยสติปัญญาก็คือสติตื่นตัว สตินี่คอยจับคอยระลึก มีอะไรเกิดขึ้นก็ดู เออ อันนี้เกิดขึ้นมันจะมีผลกระทบต่อชีวิตต่อครอบครัวต่อสังคมของเราอย่างไร จะทำให้เกิดผลเสีย เราก็รีบเอาปัญญามาหาทางคิดแก้ไข กำจัด ป้องกัน นี้มีอะไรเกิดขึ้นจับมาพิจารณาด้วยปัญญาว่า อันนี้ เออ เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ก็ไม่ละทิ้ง ไม่ปล่อยปละละเลยโอกาสนั้นเสีย รีบขวนขวายดำเนินการจัดการเพื่อจะทำการสร้างสรรค์หรือให้ทำการนั้นให้สำเร็จ อย่างนี้ท่านเรียกว่าไม่ประมาทด้วยสติปัญญา ชาวพุทธนี่ก็ต้องไม่ประมาทด้วยสติปัญญาไม่ใช่ไม่ประมาทด้วยรอให้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย อันนี้ก็คือหลักของชาวพุทธ ซึ่งมันจะสอดคล้องกับการที่ว่าให้หวังผลจากการกระทำ เชื่อการกระทำ ไม่เชื่อเพียงโชคลาง ไม่เชื่อเพียงมงคลตื่นข่าว นี่เดี๋ยวนี้เป็นกัน ตื่นข่าวคอยรอฟังจะมีอะไรดีที่ไหน มีขลังที่ไหน มีวิเศษณ์ที่ไหน ก็เลยเกิดปัญหามาก มีสัตว์วิปริตขึ้นมาก็กลายเป็นวิเศษณ์ สัตว์พิการเกิดมาขาไม่ครบหรือขาเกิน สมองเกิน ศีรษะเกิน วิอะไรก็ตามที่เรียกว่าปริตหรือว่าพิการ คนไทยก็เห็นสิ่งวิปริตหรือว่าสิ่งพิการเป็นสิ่งวิเศษณ์ ไอ้วิการเลยกลายเป็นวิเศษณ์ หรือวิปริตเป็นวิเศษณ์ไปเสียนี่ อย่างนี้น่าจะไปเอาใจใส่เด็กพิการมากกว่าเพราะว่าสัตว์พิการยังวิเศษณ์ขนาดนั้น เด็กเกิดใหม่ที่พิการจะวิเศษณ์ขนาดไหน ใช่ไหม เพราะเป็นมนุษย์ ใช่ไหม อันนี้มนุษย์เกิดมาพิการมนุษย์ด้วยกันไม่เอาใจใส่ ทิ้งเลย นี่ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นควรจะหันมาเอาใจใส่ในทางที่ถูกต้องตามธรรมะ เราควรจะมีใจเมตตาช่วยเหลือมากกว่าที่จะไปมัวจะหวังผลจากเขา คือสัตว์มันพิการมันน่าสงสาร มันน่าจะไปช่วย ไอ้นี่จะไปหวังเอาผลประโยชน์จากมัน นี่มนุษย์ทำไมคิดอย่างนี้ เอาเปรียบสัตว์เหลือเกินแม้กระทั่งสัตว์พิการ เพราะฉะนั้นต้องคิดกันใหม่ อย่างนี้ไม่ใช่ชาวพุทธแล้ว ฉะนั้นตอนนี้ระวังให้ดีเราจะตกอยู่ในความบกพร่อง ขาดจากคุณสมบัติของความเป็นชาวพุทธทั้งห้าประการ ก็มาทวนกันใหม่นะ ตอนนี้ก็พูดมายาวนานแล้ว ชาวพุทธผู้เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี เป็นอุบาสกแก้วอุบาสิกาแก้ว หรือภาษาพระเรียกว่า อุบาสกรัตนะ อุบาสิการัตนะ นี่ จะต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการ หนึ่ง มีศรัทธา หมายถึงศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ศรัทธาที่ถูกต้อง เชื่อถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาก็หมายความว่า หนึ่ง ยึดถือหลักว่าธรรมะสูงสุด เพราะเวลานี้มันมีตัวแข่งอยู่เรื่อยนะ เทพสูงสุดนี่ เพราะฉะนั้นจะต้องยืนหยัดไว้เลย ธรรมะต้องสูงสุด จะให้อะไรมาสูงสุดไม่ได้ เหนือธรรมะไม่ได้ ธรรมสูงสุดแล้ว เพราะเชื่อธรรมะสูงสุดก็นำไปสู่ความเชื่อในพระรัตนตรัย ให้พระพุทธเจ้ามานำทางชีวิตเรา เพื่อให้เราเดินไปในธรรมะได้ เพราะเราจะธรรมะมาใช้ประโยชน์ เดินไปในธรรมะได้ต้องมีพระพุทธเจ้ามานำ แล้วพระสงฆ์ก็มาเป็นกัลยาณมิตร ช่วยประคับประคองเราให้เดินไปให้ได้ มาคอยเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาให้เรา เราก็เข้าไปร่วมในสงฆ์ได้ด้วย อันนี้ก็อันที่หนึ่งศรัทธา อย่าไปมีอย่าเป็นคนอยู่อย่างว้าเหว่ ล่องลอยเลื่อนลอย กวัดแกว่ง ไปทางโน้นทางนี้ทีหนึ่ง จับจรดไม่มีหลักมีเกณฑ์ ขาดกำลัง อ่อนแอ ไม่ได้ ข้อที่หนึ่ง มีศรัทธา แล้วก็อย่าไปศรัทธาผิดๆ แล้วข้อสองก็มีศีล ก็คือว่ารู้จักพัฒนาพฤติกรรมกายวาจาของตัวเองในการสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งหลายให้เป็นไปในทางที่ดีงาม ไม่เกิดการเบียดเบียน ให้เกิดการสร้างสรรค์ ให้เกื้อกูลต่อกัน เพื่อให้สังคมของเราอยู่ดีร่มเย็นเป็นสุข ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่ใช่ไปติดอยู่กับเรื่องสีลพตปรามาสที่มันไม่มีเหตุมีผลทั้งหลาย ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาชีวิต ไม่ช่วยให้พัฒนาสังคมอะไร แล้วก็ข้อสามก็อโกตูหลมังคลิโก ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือโชคลาง ไม่เชื่อในอำนาจดลบันดาล แม้จะมีสิ่งวิเศษณ์ก็ไม่หวังพึ่ง หวังพึ่งการกระทำของตัวเอง หวังผลจากการกระทำ มีความเข้มแข็ง เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ หวังผลจากการกระทำ เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม ทำการด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตัวเรา ช่วยกันสร้างสรรค์แล้วชีวิตก็เจริญงอกงาม สังคมก็จะเจริญผ่านพ้นวิกฤตไปได้ อย่ามัวอ่อนแอกันอยู่ คนที่กระทำนี่จะเป็นคนที่เข้มแข็ง คนไหนไม่ทำเป็นนักเสพนักบริโภคก็อ่อนแอลงไปทุกที แล้วคนที่เข้มแข็งนั้นจะทุกข์ได้ยากสุขได้ง่าย แต่คนที่อ่อนแอเห็นแก่เสพบริโภคนี่จะเป็นคนที่เสื่อมเลยที่ว่า ทุกข์ได้ง่ายแล้วก็สุขได้ยากเพิ่มขึ้นทุกที อ้าวทีนี้ก็ข้อสามละ เป็นอันว่าเชื่อการกระทำนะ หวังผลการกระทำ ไม่หวังผลจากโชคลาง สิ่งที่ตื่นกันว่าขลังว่าอะไร รอฟังที่โน่นที่นี่ แล้วก็ข้อสี่ก็แสวงหาทักขิไณย ผู้ควรแก่การบำรุง ผู้ควรแก่สิ่งของที่เราจะทะนุบำรุงได้แก่ ปัจจัยสี่ ให้การสนับสนุนนี่ ซึ่งผู้ที่ดำรงธรรมะไว้ให้แก่สังคม สร้างสรรค์ให้สังคมของเรามีธรรมะ อยู่ในศีลธรรม มีความร่มเย็นเป็นสุข ให้เราอยู่กันด้วยดี ไม่มัวไปเอา ตื่นอย่างที่ว่า ไปแสวงหาทักขิไณยแบบนักบูชายัญอะไรอย่างนั้น ทีนี้ก็ข้อห้าก็กระทำบุพการ ก็หมายถึงความว่ากระตือรือร้นขวนขวายในการที่จะทำการที่ดีงามในเรื่องทานก็ตามศีลก็ตามการภาวนาก็ตาม ที่จะเป็นเครื่องช่วยให้พระศาสนาเจริญงอกงามรุ่งเรือง ให้ธรรมะดำรงงอยู่ในสังคม ให้ชีวิตของเราดีงาม ให้สังคมของเรานี่อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ให้พระพุทธศาสนามาเจริญงอกงาม เริ่มต้นตั้งแต่ในชีวิตของเราแต่ละคน แล้วสังคมของเราก็จะได้เป็นสังคมที่ดีงาม เป็นสังคมพุทธอย่างแท้จริง วันนี้ก็คิดว่าได้พูดมาก็เป็นเวลายาวนานแล้ว ก็ขอให้เรามาช่วยกันปลุกใจชาวพุทธทั้งหลายให้ตื่นขึ้นมา รื้อฟื้นคุณธรรมซึ่งเป็นคุณสมบัติของชาวพุทธ ซึ่งอุบาสกอุบาสิกามีหน้าที่ต้องรักษาอยู่แล้ว ให้เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่แท้จริง มิใช่ชาวพุทธแต่ในนาม ถ้าได้อย่างนี้แล้วก็ เราก็จะมีความเจริญมั่นคง แล้วพุทธศาสนาก็จะเป็นศาสนาที่มีความหมายถูกต้อง ไม่ใช่ว่านับถือกันพร่าๆ มัวๆ แล้วก็ได้ประโยชน์ในการนับถือพุทธศาสนาก็คือเกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมของเรา สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้พระสงฆ์นี้จาริกไปประกาศพระศาสนา เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อความสุขแก่พหูชน คือชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก มันจะสมปรารถนาสมอุดมการณ์พุทธศาสนาก็ตรงนี้ เริ่มที่ตัวเราแต่ละคนเป็นชาวพุทธที่ดี มีคุณสมบัติถูกต้อง ก็กล่าวมามากมายยาวนาน ก็ขอจบตอนเพียงเท่านี้ ไม่ทราบว่าทางโยมจะมีเวลาหรือว่าจะมีข้อ หรือมีการให้โอกาสในที่จะซักถามกันอย่างไรหรือเปล่า ก็ขอตัดตอนตรงนี้แล้วก็ขอถามทางฝ่ายโยม เจริญพร
(ถาม) กราบเรียนท่านเจ้าคุณอาจารย์นะครับ ตามที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้กรุณาแสดงธรรมในเรื่องอุบาสกธรรม ๕ ประการ คณะที่ฟังนี้ก็ได้ความรู้และความเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วก็คงจะได้นำไปปฏิบัติให้เกิดผลประโยชน์ดังกล่าวต่อไป กระผมใคร่ขอเวลาอีกนิดเดียวสำหรับท่านเจ้าคุณอาจารย์นะครับ อยากกราบเรียนถามท่านเจ้าคุณอาจารย์ว่า มันมีคำกล่าวโบราณที่พูดว่า เรื่องของสงฆ์ก็ให้สงฆ์จัดการกันไป เรื่องของชีก็ให้ชีจัดการกันไป แล้วก็มีคำกล่าวสั้นๆ ว่า ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ ไม่ทราบว่าในทัศนะของท่านเจ้าคุณอาจารย์นี่ คำกล่าวนี้มีคำหมายที่จะต้องทำความเข้าใจกันใหม่ หรือทบทวนหรือไม่ ประการใดครับผม ขอกราบอาราธนาครับ
(ตอบ) เจริญพร อันนี้ก็คิดว่าถูกอยู่ในขอบเขตหนึ่ง ก็เรื่องพระสงฆ์ก็พระสงฆ์จัดการ แต่ญาติโยมก็มีสิทธิที่จะหนุนได้ ก็หมายความว่าญาติโยมก็มีสิทธิที่จะคอยรอฟัง คอยขอถาม คอยหนุน คอยกระตุ้น อะไรอย่างนี้ ก็มีสิทธินี่ เจริญพร ก็บอกว่าท่านจัดการ ว่าอย่างนั้น แต่ฉันไม่ทิ้งนะ ว่าอย่างนั้น ก็ถูกแล้ว เจริญพร ก็คำว่าจัดการมันมีความหมายที่ว่าต้องตีความให้ถูกใช่ไหม จัดการก็คือดำเนินการไปตามกฎตามระเบียบตามพระธรรมวินัย อย่าว่าแต่ว่าเรื่องของพระสงฆ์ให้สงฆ์จัดการเลย พระสงฆ์ด้วยกันก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ว่าจะไปจัดการเหมือนกันทุกองค์ใช่ไหม เมื่อเรื่องเกิดขึ้นแล้ว ท่านก็มีกระบวนการในทางธรรมวินัยว่าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว ให้จัดการดำเนินการอย่างนั้น อาจจะต้องตั้งคณะวินัยธร พระอื่นก็ไม่เข้าไปยุ่งไม่เข้าไปก้าวก่าย ใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เฉพาะญาติโยมหรอก ไม่ใช่บอกว่าเรื่องของพระสงฆ์ พระสงฆ์จัดการหรอก เรื่องของพระสงฆ์ผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการ ว่าอย่างนั้น พระสงฆ์อื่นก็คอยดูแลคอยเรียกร้อง หรือคอยกระตุ้นคอยหนุน ประเภทเดียวกับญาติโยมแหละ เป็นแต่เพียงว่าทำความเข้าใจคำว่าจัดการนี้ให้ถูกต้องนั่นเอง เพราะว่าในความหมายส่วนรวมสูงขึ้นไปก็คือ พุทธบริษัทนี่ต้องรับผิดชอบด้วยกันหมด เพราะว่าพุทธบริษัททั้งหมด ทั้งสี่บริษัทหรือรวมจัดเป็นประเภทสองประเภทก็คือคฤหัสถ์กับพระภิกษุสงฆ์นี่ ก็มีความรับชอบและมีส่วนในพระพุทธศาสนาด้วยกัน ฉะนั้นเราก็จะต้องมาช่วยกันทั้งนั้นแหละ อย่างสมัยก่อนนี้เราจะพูดอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้าเราเข้าใจอย่างที่ว่า ว่าเราไม่เกี่ยวนี่ สมัยก่อนนี่ก็ทางบ้านเมืองจะเข้ามาเกี่ยวข้องมากเหลือเกิน ถ้าอย่างนี้ก็กลายเป็นว่าเราไปต่อว่าโบราณผิดหมดสิ ใช่ไหม เพราะว่าสมัยก่อนนี้เรื่องของพระสงฆ์มีปัญหาแล้วบ้านเมืองเข้ามาเยอะเลย เรื่องพระเจ้าอโศกอย่างนี้ พระเจ้าอโศกมหาราชก็จัดสังคายนาขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของบ้านเมือง แล้วฝ่ายคฤหัสถ์นี้เข้ามา จะเรียกว่าจัดการหรือเปล่า ก็ใช่ ในความหมายที่กว้าง หรืออย่างสมัยพระนารายณ์มหาราช สมัยรัชกาลที่ ๑ อะไรทั้งนั้น ก็บ้านเมืองก็เข้ามาทุกยุคทุกสมัย ฉะนั้นเป็นความร่วมมือกันมากกว่า คืออาจจะพูดกว้างๆ ว่าเรื่องของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แม้แต่เรื่องของพระสงฆ์นี่ ก็เป็นเรื่องของพุทธบริษัททั้งหมดจะต้องร่วมกันแก้ไข ดำเนินการแต่ว่าให้เป็นขั้นเป็นตอนโดยผู้มีอำนาจหน้าที่นี้จะต้องเอาใจใส่ที่จะจัดการให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แล้วทุกคนก็มีส่วนรับผิดชอบด้วยกัน ก็เป็นการร่วมมือกันมากกว่า ฉะนั้นอย่าไปมองแบบแยก ต้องมองแบบร่วม ก็คือมาร่วมมือกันแก้ไข ปฏิบัติไปให้ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ ทีนี้ถ้าเกิดผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ทำ ญาติโยมก็จะถามแล้วใช่ไหมว่า เออ เอ๊ะเรื่องนี้ใครมีอำนาจหน้าที่หนอ ว่าอย่างนั้น โยมถามขึ้นมาพระก็จะต้องตอบแล้วทีนี้ ก็อย่างสมัยพระนารายณ์มหาราชก็ตาม สมัยก่อนนี้มีประเพณีพระราชปุจฉา เรื่องการพระศาสนา เรื่องของประเทศชาติสังคม อะไรต่างๆนี่ ในหลวงก็จะมีพระราชปุจฉามายังคณะสงฆ์เรื่อยเลย ว่าเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นมาคณะสงฆ์จะว่าอย่างไร อะไรอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นประเพณีแสดงความร่วมมือกันระหว่างพุทธจักรกับอาณาจักร หรือมองกว้างๆออกไปก็คือระหว่างพุทธบริษัททั้งสี่ เอาเป็นว่าร่วมมือกัน ไม่ใช่มามองแยกกัน
(ถาม) กราบเรียนพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ครับ แล้วตามที่มีพระบาลีปรากฏว่า (พะ-หู-นัง วัด-ตะ-อัด-ถา-ยะ สับ-ปัน-โย คะ-ละ-มา-วะ-ตัง) ที่แปลว่าเป็นฆราวาสสามารถทำประโยชน์แก่พหูชนได้ นี้มีขอบเขตหรือว่าจุดที่ควรเน้นตรงไหนครับผม
(ตอบ) คือคฤหัสถ์นี่ก็มีปัญญาครองเรือนก็ทำประโยชน์ได้มาก ก็มากในฐานะของคฤหัสถ์นั่นแหละ โดยเฉพาะคฤหัสถ์นี่ก็จะอยู่ในสังคมใหญ่ของชาวบ้านแล้วก็ยุ่งกับเรื่องเงินเรื่องทองเรื่องวัตถุมาก แล้วก็จะมีว่าคฤหัสถ์ที่เจริญในทางสังคมก็จะมี หนึ่ง ทรัพย์ สองก็ยศ คือคฤหัสถ์นี่ความเจริญงอกงามนี่มักจะอยู่ที่สองตัวนี่ คือ ทรัพย์กับยศ ทรัพย์ก็เงินทอง เรื่องทางเศรษฐกิจ มั่งมี ยศก็เรื่องอำนาจ มีบริวารมีตำแหน่งใหญ่โตอะไรต่างๆเหล่านี้ ทีนี้สองเรื่องนี้ ซึ่งเป็นความเจริญงอกงามของคฤหัสถ์นี่ ถ้าหากว่ามีปัญญามีคุณธรรมแล้วใช้เป็นนี่จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นเครื่องทำลายเป็นเครื่องเบียดเบียน เราก็เลยเอาพระเจ้าอโศกนี้เป็นแบบอย่าง ว่าพระเจ้าอโศกสมัยที่ไม่ได้ประพฤติธรรม ก็เป็นจันฑาโศก พระเจ้าอโศกผู้โหดร้าย ว่าอย่างนั้น แต่ก่อนนี่พระเจ้าอโศกนี่เขาเรียกจันฑาโศก จันฑะ ทอ มณโฑ นี่แปลว่าดุร้ายหรือโหดร้าย หรือจะเรียกว่าพระเจ้าอโศกจอมโหดก็ได้ คือพอพระราชบิดา พระเจ้าพินทุสารสวรรคต พระเจ้าอโศกก็กลัวว่าจะไม่ได้อำนาจ ก็รีบยกทัพไปปราบพี่น้อง เพราะพี่น้องมีตั้งร้อย เหลือไว้น้องร่วมท้องมารดาคนเดียว นอกนั้นฆ่าหมดเลย แล้วขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จพระเจ้าอโศกก็หวังจะครองชมพูทวีปแต่ผู้เดียว เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ฉะนั้นก็กรีฑาทัพไปรบ ปราบสำเร็จ ขยายดินแดนจนกระทั่งว่าอินเดีย ชมพูทวีปสมัยพระเจ้าอโศกนี่มีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งให้อินเดียปัจจุบันนี่ภูมิใจ แม้ว่าพระเจ้าอโศกต่อมาเป็นพุทธ แต่ว่าอินเดียปัจจุบันซึ่งเป็นฮินดูก็ยอมรับเอาตราธรรมจักรของพระเจ้าอโศกนี่มาเป็นตราธงชาติ แล้วก็เอาหัวสิงห์ที่ชูธรรมจักรของพระเจ้าอโศกในหัวศิลาจารึกนี่มาเป็นตราแผ่นดิน เพราะว่าอโศกนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดทำให้อินเดียนี่ลือชื่อเลยในประวัติศาสตร์ ทีนี้พระเจ้าอโศกนี่ก็ขยายดินแดนไปอย่างที่ว่านี้ รบไปรบไปชนะเรื่อย ก็สลดพระทัยว่าได้ฆ่าคนมากมาย ทำไปทำไม หันมานับถือพุทธศาสนาก็เห็นว่าไม่ถูกต้องละ แล้วเอาทรัพย์มาเพื่อบำรุงบำเรอหาความสุข แล้วก็มีอำนาจยิ่งใหญ่ก็เพื่อไปข่มเหงคนอื่น แล้วก็เป็นช่องทางเพื่อให้ได้ทรัพย์มากขึ้น โดยมากมันเป็นอย่างนั้น แล้วก็ยังได้ประกาศความยิ่งใหญ่ ว่าฉันเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ พระเจ้าอโศกพอนับถือธรรมะแล้วก็เห็นว่ากระทำอย่างนั้นไม่มีความหมาย เป็นการเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ แต่พระเจ้าอโศกก็ไม่ได้ละทิ้งทรัพย์และยศ ก็เปลี่ยนจากการเอาทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือสนองความเห็นแก่ตัวนี่หรือสนองตัณหามานะ เอาทรัพย์และยศมาเป็นเครื่องมือของธรรมะ ก็เลยว่า ธรรมะสอนอย่างไรก็ใช้ทรัพย์และยศอำนาจเพื่อการนั้น ทรัพย์มี อำนาจมี ข้าทาสบริวารมีมากก็สร้างสรรค์ทำความดีกันใหญ่ คราวนี้ก็บำเพ็ญประโยชน์ บำรุงความสุขแก่ประชาชน สร้างถนนหนทาง สร้างโรงพยาบาลคน สร้างโรงพยาบาลสัตว์ สร้างสวน ปลูกป่าขุดอ่างเก็บน้ำ อะไรต่างๆเหล่านี้ พระเจ้าอโศกก็ทำให้ประเทศอินเดียนี้เปลี่ยน พลิกไปเลย แล้วก็สร้างวัดวาอารามเป็นสถานศึกษาเป็นศูนย์กลางการศึกษาให้การศึกษาแก่ประชาชน ฟื้นฟูกันใหญ่เลย ประเทศอินเดียก็เจริญงอกงาม อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่าคฤหัสถ์อย่างพระเจ้าอโศกนี่เมื่อมีทรัพย์มียศมากก็ทำประโยชน์ได้มาก ใช่ไหม คนที่มีความคิดดีๆ มีคุณธรรมความดีแต่ไม่มีเงินทอง แล้วก็ไม่มีอำนาจ ไม่มีคนช่วยเหลือไม่มีบริวาร จะทำอะไรก็ทำได้นิดเดียว สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่ถ้าคนนั้นซึ่งเป็นคนที่คิดดีมีปัญญา มีคุณธรรมความดีนี่มีทรัพย์มีเงินมีทอง แล้วมีอำนาจ เขาก็จะทำความดีสร้างสรรค์ได้กว้างใหญ่ไพศาลและสำเร็จ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เลยต้องเอาทรัพย์และยศนี่มาเป็นเครื่องมือของธรรมะ ฉะนั้นคฤหัสถ์ครองเรือนนี่ถ้าหากว่าเป็นคนดี เจริญงอกงามด้วยทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์อย่างนี้ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ก็นี่มีเงินมีทองมีฐานะทางสังคม มีทรัพย์มียศมีบริวาร มีร่างกายอะไรต่ออะไรดีก็ทำประโยชน์ได้มาก ก็เกิดเป็นสัมปรายิกัตถประโยชน์ขึ้นมา ก็รับกันสอดคล้องกัน ถ้าอย่างนั้นคฤหัสถ์ก็ทำให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรื่อง พระเจ้าอโศกก็จัดให้มีการสังคายนา วัดวาอารามเกิดขึ้นเป็น ๘๔๐๐๐ วัด เป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชน ทำให้เกิดการศึกษามวลชนแพร่หลายออกไป เรารู้กันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ทำให้เกิดการศึกษามวลชน แล้วก็ทำให้พุทธศาสนาแผ่ขยายออกจากอินเดียไปสู่ประเทศต่างๆ นี่ประเจ้าอโศกทำประโยชน์ได้แค่ไหนลองคิดดู เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์ครองเรือนมีปัญญา ถ้าเป็นผู้มีคุณธรรมความดีก็ทำประโยชน์ได้มาก ก็ให้เอาทรัพย์และยศมาเป็นเครื่องมือของธรรมะ เท่านี้แหละก็สำเร็จ
(ถาม) พระโดยมากแล้วก็ยังปฏิบัติตนไม่ถูกตามหลักพุทธธรรมเท่าไหร่ ยังหลงในไสยศาสตร์ ยังสะเดาะปะเคราะห์อะไรซึ่งเป็นพี่ใหญ่นะท่านเจ้าคุณอาจารย์ ส่วนมาก็ที่ว่าเผยแพร่ธรรมก็มีแต่มีน้อยรูป มีจำนวนน้อยมาก ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ห่างกันมากเลยครับ ในฐานะที่ท่านเจ้าคุณเป็นพระนักเผยแพร่ธรรม ควรที่จะมีแนวความคิดเกี่ยวกับจุดนี้อย่างไร คือปล่อยปละละเลยหรือว่าควรจะยกเครื่องใหม่อย่างไรหรือเปล่าครับ ขอผมอยากทราบ
(ตอบ) อันนี้มันก็เกี่ยวกับการศึกษาของพระเองด้วย ที่ว่าให้พระนี่ได้รู้ตระหนักในหน้าที่ของท่านและก็รู้หลักพระพุทธศาสนาถูกต้อง เมื่อท่านได้หลักแล้วและท่านตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง ท่านทำหน้าที่ของท่าน แล้วก็นำเอาธรรมะไปเผยแผ่คือไม่กลายเป็นผู้มาชักจูงประชาชนให้เขวออกไป อย่างการที่ญาติโยมชาวพุทธไม่มีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกานี่จะต้องโทษพระเยอะเหมือนกัน ว่าพระนี่มาจูงให้เขว คือแทนที่จะให้ญาติโยมมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา กลับทำให้เถลไถลออกไปเสียนี่ เลยกลายเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติไป ไปเชื่ออะไรต่างๆ นอกลู่นอกทาง ทำให้เป็นคนอ่อนแอ คือเรื่องไสยศาสตร์นี่มันได้ประโยชน์อยู่อย่างหนึ่ง มันช่วยประโลมใจ ทำให้จิตใจชุ่มฉ่ำ มีหวัง แต่คนที่อยู่ความหวังนี่มันอ่อนแอ แล้วมันประมาท หนึ่งอ่อนแอแนะ อยู่เพียงด้วยความหวังนี่ คนที่มีความหวังกับคนที่อยู่ด้วยความหวังไม่ใช่อย่างเดียวกันนะ คนที่มีความหวังแล้วก็พยายามทำให้สำเร็จตามความหวัง ใช้ได้ แต่คนที่อยู่ด้วยความหวังนี้ไปไม่รอด อยู่ด้วยความหวังก็รอไป แล้วอะไรจะทำก็ไม่ทำ ก็เป็นอันว่า หนึ่งอ่อนแอ สองประมาท เวลาผ่านไปไม่ได้ทำ ไม่ได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ชีวิตของเราก็ไม่ยาวนานเท่าไร เดี๋ยวปีเดี๋ยวปีนี่ มัวไปรอฝากความหวังไว้กับสิ่งภายนอก เดี๋ยวมันก็หมดปี ถ้าเราเอาเวลาหนึ่งปี แม้แต่หนึ่งเดือนนี่มาทำอะไรมันได้เยอะแยะ ขอให้เพียรพยายามสักหน่อยเถิด มีกำลังใจ ฉะนั้นวันนี้ก็ฝากพุทธพจน์ที่พูดบ่อยๆ ให้ไม่ประมาท เอาไปใช้กัน อะโมฆัง ทิวะสัง กะยิรา อัปเปนะ พะหุเกนะ วา เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง ให้ได้ด้วยการกระทำนะ อย่าให้ได้ด้วยการที่ไปหวัง หวังมันไม่ได้ด้วยตัวเราเอง มันไม่ขึ้นต่อตัวเรานี่ ถ้าจะให้เมื่อไรก็ไม่รู้อย่างนี้แย่ พวกนี้หวังลาภลอย หวังลาภลอยรวยทางลัดนี่พยายามคนไทยเราอย่าเอา ให้ความสำเร็จเกิดจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของเรา ด้วยกำลังการสร้างสรรค์ของตัวเอง ถ้าคนไทยมีนิสัยอย่างนี้ ชาติไทยเจริญแน่นอน ไม่ช้า คนไทยเข้มแข็ง เป็นนักสร้างสรรค์ เป็นนักทำไม่ใช่เป็นนักเสพ เป็นนักสร้างไม่ใช่นักเสพนักบริโภค เวลานี้คนไทยที่จุดอ่อนมาก็นี่เป็นนักบริโภค หรือเป็นนักเสพบริโภค แล้วก็เป็นนักรอผลดลบันดาล สองข้อนี้เป็นตัวที่ทำให้สอบตกแล้วก็เลยไม่มีความเป็นอุบาสกอุบาสิกา มันแก้ให้ได้นะ อย่าเป็นนักรอผลดลบันดาล ต้องเป็นนักทำนักสร้าง ทำให้เกิดผลด้วยความเพียรพยายามของตนเอง แล้วก็อย่าเป็นนักเสพบริโภค เห็นแก่ความสุขในวัตถุ ต้องพัฒนาตัวเอง แล้วก็พัฒนาความสุขด้วย รู้สึกว่าจะพูดเลยเวลาไปเยอะ โยมจะเตือนแล้ว เอาละเจริญพรก็พูดไปเยอะแล้ว เชิญ เจริญพร