แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขออนุโมทนาที่ท่านทั้งหลายได้มีน้ำใจเป็นบุญเป็นกุศล มาร่วมในโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ วันนี้ได้รับนิมนต์ให้มาพูดเรื่องสู่ยุคใหม่ของสังคมไทย เมื่อกี้ได้ยินประกาศเป็นยุคใหม่ของสังคมไทย เติมสักนิดหนึ่งข้างหน้าว่าสู่ยุคใหม่ของสังคมไทย ขอทำความเข้าใจกันนิดหน่อย เวลานี้เมืองไทยจะต้องเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว แต่พอพูดว่ายุคใหม่นี่หลายท่านก็คงคิดว่า อ๋อ ตอนนี้ยุคใหม่แล้ว คือยุค IMF แต่ก่อนนี้ไม่มี เดี๋ยวนี้มี แต่เดี๋ยวนี้มี ฉะนั้นก็คงนึกว่าที่พูดกันบ่อยๆ ว่า IMF คือยุคใหม่ ความจริงไม่ใช่ IMF ไม่ใช่ยุคใหม่ หรือแม้จะพูดให้เต็มว่าเป็นหนี้ IMF ก็ยังไม่ใช่ยุคใหม่ แต่ที่เป็นหนี้ IMF นี่ เป็นยุคเก่า เป็นฉากสุดท้ายของยุคเก่า หรือเป็นอวสานของยุคเก่า เป็นจุดจบ ที่ว่ายุคเก่ากำลังจะสิ้นสุดลง ยุคเก่าก็คือยุคที่ทำกรรมมาจนกระทั่งรับผลวิบากให้มาเจอ IMF ฉะนั้นตอนเป็น IMF นี่ก็คือตอนรับผลกรรมที่ทำมา ก็เป็นจุดจบของยุคเก่า ทีนี้เราจะต้องไปสู่ยุคใหม่แล้ว ยุคใหม่นี้เราต้องสร้างขึ้น ไม่ใช่มันจะมาได้เฉยๆ เพราะฉะนั้นที่พูดว่าสู่ยุคใหม่ของสังคมไทย ต้องมองเลย IMF ไป ถึงการที่เราจะต้องมาช่วยกันสร้างยุคใหม่ขึ้นมา ให้สังคมก้าวต่อไป ไม่ใช่มาหยุดอยู่แค่ IMF แล้วอันนี้ต้องถือว่าเป็นอวสานของยุคเก่า พอพูดเรื่องนี้ก็มาเกี่ยวข้องกับโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ก็ต้องขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำพูด คำว่าปฏิบัติธรรมก็ดี เฉลิมพระเกียรติก็ดี เป็นคำที่มีความหมาย พอพูดว่าปฏิบัติธรรม พุทธศาสนิกชนจำนวนมากก็นึกถึงการที่จะมาประชุมกันจำนวนมากๆ อย่างนี้ ไปอยู่ที่วัดใดวัดหนึ่ง แล้วก็ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง 5 วัน 10 วัน 15 วัน หรือแม้แต่เดือนนึง แล้วก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม หนึ่ง-จำกัดโดยสถานที่ เช่นเป็นวัดวาอาราม หรือเป็นสถานที่จัดเฉพาะ สอง-จำกัดโดยกาลเวลา เช่นว่า 5 วัน 10 วัน เป็นต้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็หมายความว่า นอกวัดนอกสถานที่นี้เราไม่ปฏิบัติธรรมกันหรือไง แล้วนอกเวลาที่ว่า นอก 5 วัน 10 วัน ไม่ปฏิบัติธรรมหรือไง มาปฏิบัติธรรมกันอยู่แค่เฉพาะที่เฉพาะเวลาอันจำกัด ญาติโยมก็ต้องเถียงว่าไม่ใช่ ฉันปฏิบัติธรรมตลอดเวลา แต่เถียงต้องมีหลักนะ จริงหรือ แล้วทำไมเราต้องมาพูดว่านี่มาปฏิบัติธรรม ทำให้รู้สึกว่าเวลาอื่นไม่ได้ปฏิบัติ ปีหนึ่ง 365 วัน มาปฏิบัติกัน 5 วันเท่านั้นเอง ถ้าอย่างนั้นท่าจะแย่ ปฏิบัติธรรม 5 วัน 360 วัน ไม่ได้ปฏิบัติ แถมยังจำกัดด้วยสถานที่อีกด้วย ถ้าอย่างนี้พุทธศาสนาเห็นจะทรุดนะ ถ้าพุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม 5 วัน แล้วก็เฉพาะต้องมาที่วัด ที่สถานที่ใดที่หนึ่ง ก็ขอทำความเข้าใจว่าอย่างญาติโยมที่มาในที่นี้ก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา การมาในสถานที่นี้เป็นการปฏิบัติธรรมเป็นกรณีพิเศษ ถ้าจะใช้คำให้ชัดเจนหรือตรงยิ่งขึ้น ก็คือมาฝึกเข้มกัน เราปฏิบัติธรรมกันเป็นธรรมดาในชีวิตของเราเสมอ ทุกวัน ทุกเวลาทุกสถานที่ แต่ตอนนี้เรามาฝึกเข้มเพื่ออะไร เพื่อเราจะได้ความรู้ ได้ธรรมะเพิ่มเติม เพื่อจะได้หลักแนวทางที่จะนำไปใช้ปฏิบัติให้ได้ผลดียิ่งขึ้น อันนี้ที่สำคัญ ฉะนั้นชวนทำความเข้าใจกันซะใหม่ ว่าที่มานี่เป็นการฝึกเข้ม ปฏิบัติกันอยู่เสมอ แต่ถ้าไม่มีฝึกเข้าซะบ้างแล้วบางทีก็เลยชักย่อหย่อนลง หรือว่าอย่างน้อยก็ทรงอยู่ ถ้าไม่ทรุดก็ทรง ก็ไม่เจริญก้าวหน้า ก็จำเป็นจะต้องหาความรู้ หรือมาฝึกฝน เป็นกรณีพิเศษอย่างนี้ พอเรามาฝึกเข้ม เราก็ได้ความรู้ ได้แนวทางวิธีการเพิ่ม ก็ไปปฏิบัติให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นก็คือการนำธรรมะไปปฏิบัติ นำธรรมะไปใช้ในการดำเนินชีวิต เอาธรรมไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ในความเป็นอยู่ประจำวัน เช่นว่าเป็นพ่อแม่ก็ไปเป็นพ่อแม่ที่ดี เลี้ยงลูกให้ดี ทำหน้าที่พ่อแม่อย่างในทิศ 6 ก็มีแล้วว่าพ่อแม่นั้นทำหน้าที่อะไรบ้าง ห้ามปรามลูกจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ศึกษาศิลปะวิทยา เป็นธุระในการให้มีคู่ครองที่เหมาะสม มอบทรัพย์สมบัติให้เป็นกาลสมัยเป็นต้น หรือลูกก็เช่นเดียวกัน ก็มีหน้าที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมต่อพ่อแม่ ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบแทน ช่วยเหลือกิจธุระการงานของท่าน ดำรงรักษาวงศ์ตระกูล แล้วก็ประพฤติตนให้สมกับความเป็นทายาทหรือทรัพย์มรดก เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศให้แก่ท่าน นี่ปฏิบัติธรรมทั้งนั้น เป็นใครเป็นใครก็ทำหน้าที่ของตัวเอง หลักพุทธศาสนามีให้ทั้งนั้นเลย นี่เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรม หรืออย่างทำการงานอาชีพ ก็ประกอบสัมมาอาชีวะ มีความขยันหมั่นเพียร ทำการอาชีพโดยสุจริต มีความรับผิดชอบ ตั้งหน้าตั้งตาทำให้การงานอาชีพนั้นเกิดประโยชน์แก่สังคม อย่างนี้ก็ปฏิบัติธรรม หรือเอากันอย่างง่ายๆ ก็อย่างน้อยก็ถือศีล 5 กันเป็นประจำ บ้านเมืองก็จะร่มเย็นเป็นสุข ไม่ต้องติดยาบ้ากัน เป็นต้น ปฏิบัติธรรมจำเป็นตลอดทุกเวลา ฉะนั้นก็ต้องทำความเข้าใจกันบ่อยๆ เพราะว่าคำพูดที่ใช้กันเวลานี้ชวนให้เข้าใจผิด เป็นว่าต้องจำกัดเวลาเท่านั้น ไปสถานที่นั้น แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมกัน เวลาอื่นก็กลายเป็นไม่ปฏิบัติธรรม ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจว่าปฏิบัติธรรมต้องใช้ธรรมะในการดำเนินชีวิตเป็นอยู่ตลอดทุกเวลา เหมือนอย่างใจเรานี่ไม่ได้อยู่ที่นี้ ใจเรามีสุขมีทุกข์ตลอดเวลา พออยู่บ้านก็มีสุขมีทุกข์ ใจไม่มีธรรมะเดี๋ยวก็ทุกข์อีก ธรรมะไม่ไปช่วยในบ้านหรือ ช่วยแม้กระทั่งนอนนั่นแหละ จะนอนก็ต้องนอนด้วยจิตใจที่เบิกบานผ่องใส มีความสุข จิตใจสงบ มีสมาธิ ต้องทำกันเรื่อยไป ตอนนี้เรามาฝึกเข้มแล้ว เพื่ออย่างที่ว่าจะได้ความรู้ความเข้าใจ ได้หลักเป็นต้นเพิ่ม เอาไปใช้ปฏิบัติให้ได้ผลดียิ่งขึ้น แล้วเราก็จะช่วยให้ธรรมะมีความหมาย ช่วยชีวิตและสังคมได้อย่างแท้จริง
ทีนี้อีกคำหนึ่งก็คือว่า เฉลิมพระเกียรติ ก็หมายความว่าเชิดชู ทำให้ปรากฏ เป็นความดีความงาม ทีนี้ว่าจะเชิดชูทำให้ปรากฏในทางที่ดีนี้ที่เรียกว่าเฉลิมพระเกียรตินี่ เราจะเอาอะไรไปเฉลิม จะไปช่วยให้พระเกียรติของพระองค์ขจรขจาย เป็นไปในทางที่ดีงาม ผู้คนแซ่ซ้อง นิยมสรรเสริญ เคารพบูชา เราเอาอะไรไปเฉลิม ก็ต้องเอาความดี ก็ถูก ได้แค่หนึ่ง เราเพราะฉะนั้นที่พูดกันว่า สำนวนมาปฏิบัติธรรม ก็มาทำความดี ทำความดีนี้เฉลิมพระเกียรติกถูกขั้นหนึ่ง แต่ว่าแค่นี้ยังไม่พอ ในพระเกียรติปรากฏเด่นชัดขึ้นมานี่ ต้องสามารถทำให้ความดีนี้เกิดผลเป็นจริงเป็นจังออกมา ในการแก้ปัญหาชีวิต ในการสร้างสรรค์สังคมให้เจริญงอกงามได้ดีด้วย ไม่ใช่มาทำความดีเฉพาะตัวเฉพาะตน ก็จบ ต้องสามารถทำให้ความดีนี้เกิดมีผลออกมา อันนั้นจึงจะกลายเป็นการเฉลิมพระเกียรติได้ แล้วตรงนี้จะต้องคิดกันให้มาก ว่าทำไงเราจะให้ความดีที่เราได้เล่าเรียนก็ตาม ได้ปฏิบัติก็ตามเกิดผลจริงจังมาในชีวิตของเรา ชีวิตของเราก็ดีขึ้น สังคมของเราก็ดีขึ้น อย่างนี้จึงจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติ แล้วเรื่องการเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถนั้น ก็เป็นเรื่องระดับชาติ เพราะทรงเป็นคู่บุญขององค์พระประมุขของชาติ ก็เป็นเรื่องระดับชาติ จะต้องให้ชาติไทยนี้ปรากฏความดีเด่นขจรออกไป ก็ทำให้เกียรติคุณของประเทศชาตินั้นแพร่ออกไปด้วย การเฉลิมพระเกียรติในระดับชาติ ก็คือการที่เราจะต้องสามารถเอาธรรมะ เอาความดีนี้มาสร้างสรรค์ประเทศชาติสังคม ให้เป็นสังคมที่ดีงาม มีความร่มเย็นเป็นสุข มีศีลธรรมเจริญก้าวหน้า ให้คนอื่นเขานิยมว่าประเทศไทยนี้ สังคมไทยนี้ เป็นสังคมที่ดี เป็นสังคมที่เจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง เป็นสังคมที่เก่ง แต่ไม่ใช่เก่งเฉยๆ ดีด้วย ทั้งเก่งทั้งดี หรือเก่งในความดีถ้าทำได้อย่างนี้ก็เป็นการเฉลิมพระเกียรติที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าเรามานั่งกัน แล้วก็มาปฏิบัติอย่างที่เรียกๆ กัน แล้วก็จบไป จบไปที จบไปที ต้องคิดก้าวต่อไปอย่างนั้น มันมีผลกว้างไกลระยะยาว ไม่ใช่ว่ามาแค่ 5 วันจบ แต่ว่าให้ 5 วันนี้ส่งผลไปตลอดปี ตลอด 10 ปี 20 ปี ส่งผลกว้างขวางจากพุทธมณฑลนี้อออกไปทั่วกรุงเทพฯ ทั่วประเทศไทย ทุกจังหวัด ออกไปจนกระทั่งว่าปรากฏในโลกได้ อย่างนั้นจึงจะเป็นที่น่าพอใจ ถึงจะชื่อว่าเฉลิมพระเกียรติ ไม่งั้นก็จะไปเฉลิมพระเกียรติอะไรใคร ก็เป็นเพียงว่าเรามาร่วมอาศัยพระเกียรติ เพราะฉะนั้นก็ต้องทำให้ดี เป็นผู้เฉลิมพระเกียรตินี้ต้องเก่ง แล้วก็ขอทำความเข้าใจกันว่า จะต้องทำให้ได้ในระดับนี้
ทีนี้ก็หันมาพูดกัน ยุคเก่า ยุคใหม่ ตอนนี้บอกแล้วว่าเป็นเวลาที่จะสิ้นสุดยุคเก่า เอา IMF มาเป็นเครื่องหมายของฉากสุดท้ายของยุคเก่า หรืออวสานของยุคเก่า ต่อไปนี้ก็มาสร้างยุคใหม่กัน แล้วยุคเก่านี้เป็นอย่างไร ยุคเก่านี่เป็นยุคที่ลองมองไปลองทวนความจำ ลองนึกทบทวนเหตุการณ์สภาพเมืองไทยที่ผ่านมาซิเป็นอย่างไร ที่นำมาสู่ฉากสุดท้ายที่มาเป็นหนี้ IMF ยุคเก่าที่ผ่านมาสังคมไทยนี่พูดกันบ่อยก็คือเป็นยุคที่มีความลุ่มหลง เพลิดเพลิน มัวเมากับการกินการใช้ การเสพการบริโภค ปรากฏทั่วไปหมด แล้วก็หลงใหลค่านิยมตะวันตก ชื่นชมกับวัฒนธรรมตะวันตก อยากใช้ของดีๆ เอามาอวดกัน พร้อมกับการเป็นนักบริโภคด้วย ชอบบริโภค พร้อมกับแข่งกัน คลั่งไคล้ในสิ่งฟุ้งเฟ้อ หรูหรา เป็นตั้งแต่ผู้ใหญ่จนกระทั่งเด็กนักเรียน แข่งกันเรื่องเสื้อผ้าเป็นยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ กระเป๋ายี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ราคาแพงๆ ประโยชน์ใช้สอยแทบไม่มี ไม่ได้เป็นประโยชน์มากกว่าของราคาถูกๆ ของราคาหมื่นหนึ่ง มีค่าในการใช้สอยเท่าของราคาร้อยบาท แล้วบางทีไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตนเองด้วย แล้วใช้กันไปเพราะค่านิยมเท่านั้น อันนี้นี่แหละเป็นจุดสำคัญที่นำประเทศชาติมาสู่ความที่เรียกว่าย่อยยับ แล้วเดี๋ยวนี้ขนาดเกิดเหตุเภทภัยอย่างนี้แล้ว ก็ยังมีทำกันอยู่ ไม่สำนึก ถ้าแก้อันนี้ไม่ได้ ยุคเก่ามันไม่พ้น ฉะนั้นจะต้องรีบ แล้วก็นึกว่านี่ตัวเองเจริญอย่างตะวันตก ที่ไหนได้ นึกว่าตัวเองเอาอย่างเขาจะเป็นอย่างเขา เปล่า เอาอย่างก็เอาแต่สิ่งที่ฉาบฉวยผิวเผิน สิ่งที่เป็นของแท้จริง ที่เป็นดี เป็นสาธารณะเป็นประโยชน์ก็ไม่เอา ก็ขอเล่าแทรกนิดหนึ่ง ปีก่อนๆ บางปีอาตมาก็ได้รับนิมนต์ไป ก็ไปเจอกับญาติโยมที่เมืองอเมริกา ครอบครัวคนไทยนี่แหละที่ไปอยู่นานๆ ลูกเขาก็เกิดในอเมริกาแล้ว สัญชาติเป็นฝรั่ง เป็นอเมริกันไป โตขึ้นก็ไปเรียนหนังสือในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยของฝรั่ง นานๆ ก็จะมีญาติจากเมืองไทยไปเยี่ยม พ่อแม่ครอบครัวไทยที่อยู่นี่ก็พูดเล่าบ่นให้ฟัง บอกว่าพี่น้องของเขามาจากเมืองไทย แปลก มาเที่ยวหาซื้อของราคาแพงๆ ฟุ่มเฟือยไปให้ลูก อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่นว่ากระเป๋าแพงๆ ยี่ห้อนั้นยี่ห่อนี้ ลูกเขาอยู่เมืองนั้นไม่เห็นมีเลย ไม่เห็นเคยใส่ เสื้อผ้าก็ใช้พอให้ใช้ประโยชน์เป็นเสื้อผ้า ปกปิดร่างกาย เป็นป้องกันหนาวกันร้อนอะไรไป กระเป๋าก็ไม่เห็นจะมีความสำคัญอะไร ก็ไปเรียนหนังสือกัน ภาระก็คือว่าเขาสั่งงานมาให้ค้น ให้เรียนอะไรก็ไปค้นหาความรู้ ก็ต้องแข่งกันในเรื่องความรู้ ในเรื่องวิชา เพราะตัวเป็นนักเรียน ทีนี้พ่อแม่เมืองไทยนี้แปลก ไปเที่ยวหาของแพงๆ ให้ลูก เขาก็ประหลาดใจ เนี่ยเรานึกว่าเราเอาอย่างฝรั่ง เปล่า เอาอย่างก็ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นแม่แต่วัฒนธรรมตะวันตกที่เราเกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องเกี่ยวข้อง เราก็จะต้องวิเคราะห์ให้ถูกต้องด้วยปัญญา ว่าอะไรเป็นเหตุแห่งความเจริญของเขา อะไรเป็นตัวแท้ตัวจริง จับเหตุให้ได้ เลือกเอาสิ่งที่ดีมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่จะไปหลงจับเอาผิวๆเผินๆ เป็นผลผลิต สิ่งบริโภค มาเสพ มาฟุ่มเฟือย กลายเป็นเหยื่อล่อของเขา เขาก็ล่อให้เขาซื้อสินค้าของเขาสบายไป ก็ซื้อสิ ตัวเองเงินทองก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว แล้วก็ไปซื้อสินค้าของเขาเพิ่มความร่ำรวยกับผู้ผลิต คนที่รวยอยู่แล้วก็ยิ่งรวยหนักเข้าไปใหญ่ ยิ่งเดี๋ยวนี้ด้วย ไปกู้เงินเขามา แล้วก็เอาเงินกู้ไปซื้อของเขา เขาได้ 2 ชั้น เขาเป็นเจ้าหนี้ด้วย ต้องเอาเงินจากเราแล้ว แล้วเงินที่ไปกู้เขามาก็ไปซื้อของเขา เพิ่มความรวยให้เขาอีก 2 ชั้น ขออภัย นี่เป็นคนโง่ หรือคนฉลาด พฤติกรรมของคนไทยแบบนี้อันตรายต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง เราไม่ได้คิดว่าเราทำด้วยปัญญาหรือโมหะกันแน่ ฉะนั้นพฤติกรรมแบบนี้จะต้องเลิกเชิดชูซะที เป็นเด็กเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียน นึกว่านี่เป็นความโก้ ที่ไหนได้เป็นความโง่ โก้กับโง่ ใกล้ๆ กันอยู่ ฉะนั้นต้องคิดซะใหม่ เปลี่ยนโก้ เป็นโง่ ไปแล้ว เพราะว่าไอ้ที่จะโก้จริงๆ นี่ ต้องโก้อย่างฉลาดด้วย ด้วยปัญญา ไม่จำเป็นต้องไปเอาโก้หรอก พุทธศาสนาไม่ได้สรรเสริญอะไร เอาชีวิตที่ดีงามที่เกิดจากปัญญาความรู้จริง อะไรเป็นเหตุของประโยชน์ที่แท้ อันนั้นแหละสำคัญ เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง อาตมาก็ขอเล่าแทรกว่า แม้แต่เราจะไปเอาวัฒนธรรมตะวันตก เราก็ยังจับไม่เป็น ไมได้จับมาด้วยปัญญา ถ้าเราจับมาด้วยปัญญา วิเคราะห์ อะไรเป็นเหตุของความเจริญแท้จริงของเขา แล้วเราเอามาใช้ประโยชน์ซะ เราก็มาสร้างสรรค์ประเทศชาติของเราให้เจริญงอกงาม ของดีของเราก็มี ของนอกก็เอามาใช้ได้ ก็ขอย้ำอีก เรื่องนี้พูดบ่อยๆ ดีที่เรามีต้องรักษาไว้ให้ได้ ดีใหม่ที่ยังไม่มีก็ต้องไปเอา อย่างนี้จึงจะเป็นคนที่เก่งจริง ไอ้นี่ดีที่มีก็ทิ้งซะ ดีที่ยังไม่มีก็ไปเอาไม่ได้ ดีใหม่ก็ไม่รักษา ดีใหม่ก็เอาไม่ได้ ก็แย่สิ สังคมไทยในขณะที่เป็นอยู่นี้ เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าระดับใหญ่ระดับเล็ก ระดับใหญ่ก็เช่นว่าดีเก่าที่ตัวมีรักษาไว้ไม่ค่อยได้ อย่างการเกษตรที่ดี เก่งเดิมเนี่ย รักษาไว้ไม่ค่อยได้ ดีใหม่ อุตสาหกรรมจะไปเอา ก็ไม่สำเร็จ ตอนนี้แย่ไปเลย อุตสาหกรรมฉะนั้นถ้าเก่งจริง ดีที่ตัวมีก็ต้องรักษาได้ ดีใหม่ที่ยังไม่มีก็ต้องก้าวไปเอามาให้สำเร็จ อย่างนั้นจึงจะเก่งจริง พฤติกรรมก็เป็นไปอย่างที่ว่า คือสภาพของความลุ่มหลงคลั่งไคล้มัวเมาในการเสพบริโภค แล้วก็หลงใหลเพลิดเพลินในค่านิยมวัฒนธรรมตะวันตก ในทางจิตใจ ก็อ่อนแอ พอเป็นนักเสพนักบริโภคก็จะเกิดความอ่อนแอ คนที่ชอบการบริโภคนี่เป็นคนชอบการรับความบำรุงบำเรอ ก็บริโภคนี่ก็ต้องได้กินได้ใช้ เป็นผู้เสพ ให้เขาบำรุงบำเรอ เป็นผู้เอาผลสำเร็จมาบริโภค แต่ว่าเรื่องทำยังไงไม่ต้องพูด เมื่อคนนี่เป็นนักเสพบริโภค เสวยผลนี้ ก็ย่อมอ่อนแอลงเพราะไม่ทำ คนที่จะเข้มแข็งนั้นต้องเป็นคนทำ เมื่อมีการทำก็ต้องมีความเพียรพยายาม คนก็เข้มแข็งขึ้น เขาเรียกว่าเป็นคู่กันระหว่างนักผลิตกับนักบริโภค นักบริโภคต้องอ่อนแอลง นักผลิตก็เข้มแข็งขึ้น เมืองไทยนี่ต้องยอมรับตัวเองว่าเป็นนักบริโภค นักผลิตหายาก เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนให้เป็นนักผลิตให้ได้ ในเมื่อเป็นนักบริโภคแล้วไม่ผลิต ไม่ทำขึ้นมา ก็รอพึ่ง เอาอีกแล้ว รอหวังพึ่งคนอื่น ให้เขาดลบันดาลให้เอามาให้ รอลาภ โดยเฉพาะลาภลอย ให้เขาบันดาลให้สำเร็จ รอโชค คือไม่คิดจะทำ แต่คิดจะเสพผล เป็นนักเสวยผล จะเอาแต่ผล ไม่ทำเหตุ ชอบเอาผล ไม่ทำเหตุ อันนี้ไปไม่ไหว มองอะไรก็มองแค่ผล เหมือนอย่างมองฝรั่งก็มองผลความเจริญของเขา ไม่มองเหตุว่าฝรั่งสร้างความเจริญมาอย่างไร คนไทยเรามองแบบนักบริโภคหมด เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นมองคำว่าเจริญอย่างฝรั่ง คนไทยอยากเจริญอย่างฝรั่ง พอบอกเจริญอย่างฝรั่งคืออะไร เจริญอย่างฝรั่งมี 2 แบบ แบบนักบริโภค กับนักผลิต มองอย่างนักบริโภค คือมองอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง มองอย่างนักผลิตคือ เจริญอย่างฝรั่งคือ ฝรั่งทำอะไรได้ ฉันก็ต้องทำได้ด้วย ทีนี้คนไทยเรามองอย่างนักผลิตหรือนักบริโภค แค่เจริญอย่างฝรั่งแค่นี้ ก็มองแบบนักบริโภค ไปถามเด็กก็ตอบอย่างนี้ ถามเด็กมัธยมก็ตอบอย่างนี้ บอกว่าให้พิจารณาดูสิ คนไทยเรามองความหมายของคำว่าเจริญอย่างฝรั่งนี้ มองอย่างนักผลิต หรือนักบริโภค เด็กบอกว่ามองแบบนักบริโภค คือว่าเจริญแบบฝรั่งคือมีกิน มีใช้ อย่างฝรั่ง ฝรั่งมีทีวี ฉันมีด้วย ฝรั่งมีคอมพิวเตอร์ ฉันมีด้วย ฝรั่งมีมือถือ ฉันมีมือถือด้วย แต่ไม่มองแบบนักผลิตว่าฝรั่งทำอะไรได้ ฉันต้องทำได้อย่างนั้นด้วย ถ้าอย่างนี้ละก็ ชาติไทยพัฒนาแน่ แล้วต้องเปลี่ยนที่จะเข้ายุคใหม่ต้องอย่างนี้แหละ เช่นมองความเจริญอย่างฝรั่งเนี่ย ต้องมองว่าเจริญอย่างฝรั่งคือฝรั่งทำอะไรได้ ฉันต้องทำอย่างนั้นได้ ถ้าจะให้ดีจะต้องบอก ฉันจะต้องทำให้ดียิ่งกว่าฝรั่งอีก ถ้าอย่างนี้ละก็ ไปได้แน่ นี่แหละที่ต้องการให้เข้ายุคใหม่คือเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนท่าที เปลี่ยนการมองความหมายของสิ่งต่างๆ เปลี่ยนกันอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือกันไปเลย ตอนนี้เราเปลี่ยนพลิกหลังมือมาเป็นหน้ามือ จะไปเปลี่ยนพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เปลี่ยนให้มันถูก เปลี่ยนให้ดี ที่ผ่านมาอีกอย่าง ยุคเก่า เครื่องหมายอะไรเต็มไปหมดเมืองไทย ลัทธิรอผลดลบันดาล รอผลดลบันดาลโดยไม่ต้องทำ อยากให้เขาทำให้ รอผู้วิเศษ รอเทวดา รอเจ้าพ่อเจ้าแม่ รออิทธิฤทธิ์ไสยศาสตร์มาบันดาผล นี่รอผลดลบันดาล จนกระทั่งรอผลดลบันดาลจากผู้มีอำนาจ ผู้มีทรัพย์ภายนอก ไม่คิดจะทำเหตุด้วยตนเอง อันนี้สำคัญมาก ที่ผ่านมานี่ทั่วไปหมดสังคมไทยเรา เราจะต้องพิจารณาตัวเอง พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้แล้วว่า อัตตนา โจทยัตตานังอัต จงเตือนตนด้วยตนเอง จงโจทย์ตนตัวตนเอง ปฏิมํเสตมตฺตนา พิจารณาตนด้วยตน ตอนนี้เราจะต้องมาพิจารณาตัวเอง แล้วแก้ไขซะ ใครจะช่วยเราจริงๆไม่ได้หรอก ถ้าเราแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นดีที่สุด ลัทธิรอผลดลบันดาลหนึ่ง ความเป็นนักเสพนักบริโภคหนึ่ง การติดยากล่อมหนึ่ง สังคมไทยนี่ยากล่อมเยอะ สุรา ยากล่อม การพนันกับยากล่อม มีทุกข์มีร้อน ไปพึ่งยากล่อม ยากล่อมจนกระทั่งว่าไปๆ มาๆ ก็ยาบ้า ตอนนี้ยากล่อมนี้ร้ายแรงมาก ทำอันตรายกับสังคมอย่างยิ่ง แล้วก็การพนัน ยากล่อม หวยเบอร์ ทั้งนั้น แม้แต่มาปฏิบัติสมาธิก็ยังมาปฏบัติเป็นยากล่อม คือกล่อมใจให้หายทุกข์ชั่วคราว แทนที่จะเอาสมาธิเป็นพลังในการที่จะไปแก้ปัญหา สร้างสรรค์ชีวิต ทำชีวิตให้ดีงาม เป็นเครื่องเจริญปัญญา ทำจิตให้เป็นกัมมนียัง ให้เหมาะกับการใช้งาน สมาธินี่คุณค่าประโยชน์ที่แท้คือทำจิตให้เป็นกัมมนียะ คือเหมาะกับการใช้งาน จะเจริญปัญญายังไงก็ใช้ต่อไป แต่ไม่ใช่ไปนั่งซึม กล่อมตัว คือยากล่องเขาต้องใช้ชั่วคราว เช่น ยานอนหลับ เวลาเรามีปัญหามากๆ มีทุกข์มีร้อนกระวนกระวายใจ ว้าวุ่นนอนไม่หลับ เอามาใช้ชั่วคราว พอให้หลับ แก้ปัญหาแล้วเลิกใช้ อย่าไปกล่อมต่อ ถ้าอยู่ด้วยยากล่อม ไม่ไหว มีเสื่อม ฉะนั้นเอายากล่อมมาพักใจ ถ้าใช้สมาธิแบบยากล่อมก็ต้องใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถ้าใช้เป็นยากล่อมต่อไปนี่พลาด จะตกอยู่ในความเสื่อม กลายเป็นผู้ประมาท ท่านเตือนไว้แล้วนะสมาธิเป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ ใช่ไหม ญาติโยมที่ศึกษาเนี่ย สมาธิเป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ หมายความว่ามันพวกเดียวกับความขี้เกียจอันหนึ่ง สมาธินี่มันมีผลดีมาก ต้องใช้ให้เป็น ถ้าใช้เป็นแล้วเพิ่มพลัง แล้วก็ทำให้จิตนี้ใส ปัญญาเกิด แต่ถ้าใช้ไม่เป็นนะ มันเป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ ชวนให้เกียจคร้าน ซึม สบายแล้ว พอมีความสุข ฉันก็ไม่ไปไหนแล้ว นอน ทีนี้ก็เสื่อมสิ ก็ต้องอยู่ในความประมาท เพราะฉะนั้นมันเป็นจุดเหมือนกับว่า จุดเส้นคาบเกี่ยวต่อแดนระหว่างกุศลกับอกุศล สมาธิใช้ไม่เป็นก็เป็นปัจจัยแก่อกุศล หลักท่านมีอยู่แล้ว กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลก็ได้ ไม่ต้องพูดว่ากุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล แล้วก็อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล เราใช้ไม่เป็นกุศลก็เป็นปัจจัยแก่อกุศล บางคนใช้สมาธิไม่เป็น ใจเป็นของความเกียจคร้าน หรือบางคนใช้ไม่เป็นก็เอาไปสนันสนุน เพิ่มพลังเหมือนกัน การที่จะไปทำการทำงานให้เก่งเพื่อจะได้ไปหาผลประโยชน์ให้แก่ตน เบียดเบียนผู้อื่นก็มี อย่างที่ฝรั่งเอาไปใช้ไง เวลานี้ฝรั่งฝึกสมาธิจำนวนมากเลย เดี๋ยวนี้โฆษณากัน เข้าคอร์สทีหนึ่งเป็นพันเป็นหมื่นเลยนะ โฆษณาบอกว่านั่งสมาธิแล้วเนี่ย จิตสงบ มั่นคงเข้มแข็ง จะไปทำงานทำการ เป็นนักธุรกิจก็ได้สำเร็จ ประสบความสำเร็จในการธุรกิจ ได้ผลประโยชน์กำไร สูงสุด แต่ใจที่คิดหาผลประโยชน์ธุรกิจนี่มันเป็นนโลภะ ประกอบด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น ก็เลยกลายเป็นว่าเอาสมาธิไปใช้เป็นเครื่องหนุนธุรกิจในการที่แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตน แล้วเบียดเบียนผู้อื่นในการแข่งขันกันเป็นต้น ฝรั่งเอาไปใช้แบบนี้ อย่าไปชื่นชมเขาเลย ฝรั่งเวลานี้ที่พลาด ตื่นสมาธินี่มีหลายพวก พวกที่ปฏิบัติผิดก็เยอะ พวกหนึ่งก็คือว่าเอาเป็นยากล่อม เพราะฝรั่งนี่ทุกข์ในมาก จิตใจมันสับสนกระวนกระวาย แข่งขันกัน เบียดเบียนกันไป ก็เลยจิตใจเครียดมาก ก็เอาสมาธิไปช่วยเป็นยากล่อมให้หายเครียด พวกนี้ก็ได้ไปขั้นหนึ่ง แต่อย่าไปหลงเพลิดเพลินกับเขาเลย มันได้แค่ขั้นที่หนึ่งขั้นต้นเท่านั้นเอง ทีนี้ถ้าไปหลงอย่างนี้ก็ผิดแล้ว ผิดทาง แล้วอีกพวกหนึ่ง ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ โฆษณากันสำนักนั้นสำนักนี้ เอาสมาธิไปปฏิบัติเพื่อจะหนุนระบบธุรกิจของเขา ให้เก่งในการหากำไร ฉะนั้นก็เบียดโลก พวกนี้ก็เป็นสมาธิแบบที่ใช้ผิดทาง ถ้าเรียกอย่างแรงก็เรียกว่ามิจฉาสมาธิ ก้แล้วกัน เพราะฉะนั้นญาติโยมอย่าไปหลงเพลิน เรานี่เป็นผู้ที่ชำนาญกว่าในเรื่องพุทธศาสนา ไฉนจึงไปเพลิดเพลินหลงไปกับฝรั่ง เห็นเขามาชอบพุทธศาสนาอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องสอนเขา เขาปฏิบัติผิดปฏิบัติถูก ฝรั่งรู้จักพุทธศาสนาก็ดีแล้ว คุณควรจะรู้จักให้มันดีขึ้น ถูกต้อง แต่ไม่ใช่เตือนเขาอย่างเดียวนะ เราก็ต้องเตือนตัวเองด้วย เตือนตัวเองให้ปฏิบัติให้ถูก เอาล่ะ เดี๋ยวจะออกนอกทางไป ก็เป็นอันว่ายากล่อมนี้มีเยอะในสังคมไทย เดี๋ยวไปติดยากล่อม ยากล่อมก็อ่อนแอ ก็หยุด ไม่ไปไหน และไม่เจริญก้าวหน้า แล้วก็ยังมีปัญหาอีกลึกลงไปก็คือทิฐิ ความหลงผิดเข้าใจผิด แม้แต่เรื่องในทางธรรมะ เยอะเลยเวลานี้ แม้แต่ถ้อยคำธรรมะก็มาใช่กันเข้าใจผิดๆ หมด วาสนา บารมี กรรมเก่า อะไรต่ออะไร เข้าใจกันผิดหมด ควรจะสัคายนากันสักที มีเวลาน้อย อาตมาจะยกตัวอย่างเรื่องการถือกรรมเก่า คนไทยชาวพุทธไม่น้อยเลย ยังนับถือกันผิดๆ เรื่องกรรมเก่า โอย มันจะเป็นยังไงก็แล้วแต่กรรมก็แล้วกัน หรือว่านี่เป็นผลกรรมเก่าก็รับกรรมไป ก้มหน้ารับกรรมไป แล้วก็ไม่แก้ไข ไม่ปรับปรุง ไม่เพียรพยายาม ก็ปล่อย ใช้คำว่าปลงก็ปลง กรรมเก่า บอกแล้วแต่กรรมก็เลยจบกันไม่ต้องทำอะไร เรื่องนี้เป็นมาตั้งหลายร้อยปีในสังคมไทย อาตมาก็เลยจะเล่าเรื่องให้ฟัง สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นเอง ได้มีพระราชปุจฉา ก็คือคำถามของพระราชา ตั้งถามคณะสงฆ์ พระนารายณ์มหาราชนี่นานเท่าไหร่แล้วโยม พ.ศ.2199 -2231 ครองราชย์อยู่ 32 ปี นับคร่าวๆ ถึงปัจจุบันนี้ก็ 300 ปีเศษ นี่ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช ทรงมีพระราชปุจฉา จะมาเตือนชาวพุทธปัจจุบันให้มองตัวเองสำรวจตัวเอง ทรงถามว่ายังไงนะ โยมลองฟังดู มีพระราชโองการสั่งให้พระศรีศักดิ์ถามพระสงฆ์ทั้งปวงว่า มีคนผู้หนึ่งเข้าไปป่า แลพบช้างก็ดี เสื้อก็ดี แลผู้นั้นก็ถือว่าแล้วแต่กรรม ช้างและเสือก็จะทำร้าย ถ้าหากรรมมิได้ ช้างและเสื้อก็จะไม่ทำร้าย แลผู้นั้นก็เข้าไปหาช้างและเสือ ช้างเละเสือก็เบียดเบียนผู้นั้นถึงชีวิต เมื่อกระนั้นจะหาว่ากรรมมี หรือหากรรมมิได้ โยมฟังนะ เข้าไปป่า บอกแล้วแต่กรรมก็แล้วกัน ถ้ากรรมเรามีโดนเสือกินก็กินไป ถ้ากรรมเราไม่มีเสือมันก็ไม่กิน ช้างก็ไม่ทำร้าย คิดว่าอย่างนั้น นี่ก็เขาเรียกว่าแล้วแต่กรรม ทีนี้ฟังพระเถระวิสัชชนา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขอถวายพระพรจำเริญพระราชสิริสวัสดี สมเด็จบรมบพิธพระราชสมภาร พระองค์บรมิกราชาธิราชผู้ประเสริฐ ว่า บุคคลผู้ใดแลถือว่าแล้วแต่กรรมกระทำแต่ก่อนสิ่งเดียวนั้น แลหาวิจารณปัญญาพิจารณาเห็นคุณและโทษในชาตินี้มิได้ แลผู้นั้นชื่อว่าบุพเพกตทิฐิอันวิปลาส ว่าอย่างนี้เลยนะ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่า แล้วท่านก็บรรยายต่อไป ทีนี้ยาว อาตมาจะมาอ่าน ยังมีอีก พระเถระผู้ใหญ่อีกองค์ก็วิสัชนาเหมือนกันบอกว่า พระธรรมไตรโลกถวายพรว่า บุคคลอันถือเอาซึ่งกรรมนั้นแล มิได้พิจารณาซึ่งเหตุผิดและชอบนั้น ได้ชื่อว่าบุพเพกตเหตุทิฐิ เป็นคนถือผิดคำพระพุทธเจ้า เป็นประโยชน์วิบัติ ประกอบกรรมอันผิด หาปัญญามิได้ เหตุโมหะมีกรรมหลัง ซึ่งกรรมแต่ก่อนหามิได้นั้นก็จะให้มีไปใหม่ คือกรรมอันใหม่ยังไปมิได้นั้นก็จะให้มีไปเล่า แลบุคคลผู้นี้ประพฤติผิด สำนวนของพระธรรมไตรโลกนี่ คนสมัยใหม่ฟังยากหน่อย แต่ก็จับความได้ เป็นอันว่าผิดชัดเจน อันนี้แหละเอามาทบทวนกันซะก็ดี ที่ท่านอ้างเนี่ยญาติโยมไม่ค่อยได้ยินเลย บุพเพกตเหตุทิฐิ มีอยู่ในพระไตรปิฎก มีทั้งในพระสูตรและในอภิธรรมเลย ท่านเรียกว่า
ติตถายตนะ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย ติตถายตนะ ลัทธิเดียรถีย์ เอาง่ายๆ ติตถายตนะ โยมฟังแล้วอาจจะไม่เข้าใจ แปลเป็นไทยว่าลัทธิเดียรถีย์ มี 3 ต่อไปนี้ อะไรบ้าง
หนึ่ง- บุคคลมามีความเห็นมาเชื่อ มาถือว่าผู้ใดจะประสบทุกข์ก็ดี สุขก็ดี หาสุขหาทุกข์มิได้ เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่หนหลัง กรรมปางก่อน หนึ่งแล้วนะ นี่ละลัทธินี้ที่ท่านอ้างบุพเพกตเหตุวาท หรือเรียกสั้นๆว่าบุพเพกตเหตุทิฐิ หรือเรียกสั้นๆไปอีกว่า บุพเพกตวาท โยมฟังให้ดีนะ นี่เราโดนเข้าแล้วมั้ง หรืออาจจะเถียงว่าแล้วพุทธศาสนาไม่ได้สอนเช่นนี้หรือ ต้องแยกให้ดีทำไมท่านบอกว่าเป็นลัทธิเดียรถีย์
สอง- ผู้ใดมามีทิฐิยึดถือว่าบุคคลจะประสบสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุข มิใช่ทุกข์ก็ดี เป็นเพราะการดลบันดาลของเทพผู้ยิ่งใหญ่ ลัทธินี้เรียกว่า อิสสรนิมมานเหตุวาท คือลัทธิอิศวรบันดาล พระผู้เป็นเจ้าบันดาล เทพเจ้าบันดาล อะไรจะเป็นยังไงก็แล้วแต่เทพเจ้า ก็อ้อนวอนเอา
สาม- บุคคลที่มามีความเชื่อถือทิฐิว่าจะประสบสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุข มิใช่ทุกข์ก็ดี ย่อมแล้วแต่โชค หาเหตุหาปัจจัยไม่ได้ ถึงคราวมันจะดีก็ดีเอง ถึงคราวมันจะร้ายก็ร้ายเอง นี่ 3 ลัทธินะ ลัทธิที่เรียกว่าลัทธิ
อเหตุอปัจจัยวาท ลัทธิหาเหตุหาปัจจัยไม่ได้
เนี่ยติดอายตนะ 3 อันนี้ จะต้องเอามาย้ำกัน มีทั้งในพระสูตรและในอภิธรรมเลยนะ แต่ว่าเราก็ไม่ค่อยมองกัน ก็ย้ำอีกทีว่ามี 3 ลัทธิ ลัทธิที่หนึ่ง-ลัทธิบุพเพกตเหตุวาท ลัทธิกรรมเก่า อะไรต่ออะไรจะเป็นไงเพราะกรรมเก่าที่ทำไว้ชาติปางก่อน สอง-ลัทธิอิศวรนิรมิตวาท หรือ อิสสรนิมมานเหตุวาท ลัทธิที่ถือว่าอะไรจะเป็นยังไง เพราะเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ดลบันดาล สาม-อเหตุอปัจจัยวาท ลัทธิที่ถือว่าแล้วแต่โชค ลัทธิเหล่านี้จะเป็นเหตุให้ไม่กระทำ ท่านเรียกว่าเป็นไปเพื่ออกิริยา อาการไม่กระทำ ก็ถือว่าเป็นเพราะกรรมเก่าก็รอแล้วแต่บุญแต่กรรมจะดลบันดาลเหมือนคนเขาว่ามีกรรมเสือก็กินเอง อย่างนี้ก็แล้วแต่กรรม ก็เลยไม่ขวนขวายทำการที่ควรทำ เป็นไปเพื่ออกิริยา ถือว่าเทพเจ้าดลบันดาลก็เหมือนกัน ให้ท่านดลบันดาล เราก็ต้องไปอ้อนวอน เราจะทำอะไรได้ อันนี้ก็ไม่เป็นไปเพื่อการกระทำ แล้วแต่โชคก็เหมือนกัน ถึงคราวดี ดีเอง เราจะไปทำอะไรได้ ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ แล้วก็เลยไม่ทำ เป็นไปเพื่ออกิริยา เป็นมิจฉาทิฐิหมด เรียกว่าลัทธิเดียรถีย์ อันนี้โยมจำให้แม่น ที่กล่าวมานี้มิได้ปฏิเสธกรรมเก่าแต่กระการใด แต่มองกรรมเก่าให้ถูกต้อง มองกรรมเก่าให้มันอยู่ในกระบวนการของการกระทำเหตุ และก่อเกิดผลวิบาก ที่มันต่อเนื่องกันสืบไป ตลอดทุกขณะทุกเมื่อ ทุกเวลานาที ไม่ใช่ว่าตัดตอนไปเป็นกรรมเก่า แล้วท่านก็ไปรอผลกรรมเก่าอยู่ อันนั้นเป็นการถือหลักกรรมที่เอียง แล้วก็เลยพลาด แล้วก็เลยผิดไปเข้าลัทธินิครนถ์ไป ลัทธินิครนถ์ เขาถือหลักกรรมของนิครนถ์เป็นอย่างนี้ นิครนถ์ กับ นาฏบุตร กับศาสนาเชน มหาวีระ เขาถืออย่างนี้ ในพระสูตรหนึ่งชื่อ
เทวทหสูตร พระไตรปิฎกเล่ม 14 พระพุทธเจ้าตรัสแก้วาทะของนิครนถ์ในเรื่องนี้โดยตรงเรื่อง เรื่องบุพเพกตวาท ฉะนั้นถือกรรม อย่าถือให้ผิด เรื่องถือกรรมผิดนี่มีเยอะเลย ทีนี้กรรมเป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นจะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน เช่นอย่างบางคนก็บอกว่า เราทำดีมาตั้งนาน ไม่เห็นได้ดีอะไรเลย เลิกธรรมดีกว่า เจ้าคนโน้นไม่เห็นมันทำดีเลย ทำแต่ความชั่ว มันได้ดี อะไรทำนองนี้ นี่ก็แสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องกรรม ไม่ต้องไปมองเขาหรอก มองตัวเราเอง ทำดีไม่ได้ดีเนี่ย เราก็มัวแต่พูดว่าทำดีไม่ได้ดี ไม่เคยพัฒนากรรมดีเลย กรรมดีที่ตัวมีก็ต้องพัฒนาไปด้วย กรรมดีที่จะทำให้เกิดผลเราก็ต้องวิเคราะห์ เราเคยวิเคราะห์กรรมดีของเราไหม กรรมดีของเราอันนี้ เราทำไปแล้วเราต้องการผลอันนั้น ผลที่เราต้องการ กับกรรมที่เราทำ มันสมกันไหม ต้องวิเคราะห์แล้ว แต่กรรมดีของเรานี่องค์ประกอบเพียงพอไหม ปัจจัยด้านโน้นด้านนี้เพียงอไหม จะใก้เกิดผลที่ต้องการอะไร มันขาดมันวิ่นมันแหว่งอะไร จะต้องเติมอะไร ก็พัฒนาแก้ไขปรับปรุงกรรมดีของเรา ไม่ใช่พูดขาดตอนอยู่แค่ทำดีแล้วไม่ได้ดี มันด้วน ต้องมองอย่างที่ว่า ต้องรู้จักพัฒนากรรมดี กรรมดีมันจะได้สมบูรณ์ไปเลย กรรมดีอย่างที่ว่าต้องเริ่มใช้ปัญญาะวิเคราะห์ ที่เราทำกรรมดีนั้นไม่ได้ผลดีนั้น เราต้องการผลอะไร กรรมของเรานี้มันเป็นเหตุพอกับผลไหม เพื่อจะให้ผลเกิดขึ้น ถ้าเหตุปัจจัยมันพอ ผลก็ต้องเกิด แสดงว่ากรรมดีของเรานี่มันยังกระพร่องกระแพร่ง ขาดเว้าแหว่งส่วนนั้นส่วนนี้ก็เราพอวิเคราะห์แล้วเราจับได้เราก็จะได้ปรับปรุงกรรมดีของเราเรียกว่าพัฒนากรรมดี ฉะนั้นคนที่ทำดีนั้น มัวแต่ว่าอ้างกรรมดี ทำดีไม่ได้ดี ต้องมาพัฒนากรรมดีด้วย ถ้าอย่างนี้แล้วเจริญแน่ กรรมดีนั้นมันก็งอกงาม คนเราไม่ใช่จะพัฒนาจากแค่กรรมชั่วมาเป็นกรรมดี กรรมดีก็ต้องพัฒนาให้เป็นกรรมดียิ่งๆ ขึ้นไป ตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุด ไม่เคยวิเคราะห์ ไม่เคยวิจัยกรรมดีของตัวเอง มันขาดตกบกพร่องยังไง พอแก่ผลไหม ไม่รู้จักพัฒนากรรมดี เพราะฉะนั้นอันนี้ต้องเน้นกันว่าให้รู้จักพัฒนากรรมดีของตัวเองด้วย แล้วมันจะได้ผลดียิ่งขึ้น เราก็ต้องดูว่าเราต้องการผลยังไง เราต้องการผลเป็นวัตถุหรือกรรมดีนี้ หรือต้องการผลเป็นเสียงสรรเสริญ นิยมชมชอบ หรือต้องการผลเป็นว่าแก้ไขปรับปรุงสังคม หรือต้องการผลเป็นว่าให้เราเชื่อว่าทำดีก็แล้วกัน แม้แต่ผลที่ต้องการก็ยังไม่ชัดกันเลย แล้วก็มาพูดว่าทำดีไม่ได้ดี ก็ตัวต้องการผลอันไหน ทำกรรมที่ให้เหมาะกับผลนั้นหรือเปล่า เอาละนะ หนึ่ง-ให้รู้จักพัฒนากรรมดี สอง-ก็ไปติดอยู่กับกรรมเก่าที่ว่า กรรมเก่าชาติก่อน กรรมเก่ามันมาต่อเนื่องมาไม่เฉพาะชาติก่อน ต่อเนื่องมาจนถึงวินาทีที่ล่วงไปแล้วเท่านั้น พูดอยู่เดี๋ยวนี้ พอผ่านไปวินาทีหนึ่งก็เป็นกรรมเก่า ที่อาตมาพูดปั๊บ ผ่านไปวินาทีหนึ่งเป็นกรรมเก่าแล้ว ใช่ไหม เราก็ต้องนึกว่ากรรมเก่ามันก็เดินหน้าอยู่เรื่อยเหมือนกันนะ ไม่ใช่กรรมเก่าเฉพาะชาติก่อน ทีนี้กรรมเก่ามันก็เดินหน้าตามกรรมที่เราทำใหม่ พอเราทำกรรมใหม่ปั๊บ เดี๋ยวมันเก่าแล้ว อันนี้เราก็อย่าไปเอาแต่กรรมเก่า รุ่นเก่าสิ เราก็ต้องทพกรรมเก่ารุ่นใหม่เติมเข้าไป ถ้ากรรมเก่ารุ่นเก่าเราไม่ดีใช่ไหม เราก็ทำกรรมเก่ารุ่นใหม่ให้มันดี ต่อไปกรรมเก่ารุ่นใหม่ของเรามันดี มันดีเยอะๆๆ กรรมเก่ารุ่นเก่าก็หมดกำลัง กรรมเก่ารุ่นใหม่มันดีกว่า มันมากกว่า มันเหนือกว่า มีพลังเยอะ ตกลงกรรมเก่ารุ่นใหม่เนี่ย มีกำลังกลบกรรมเก่ารุ่นเก่าหมดเลย เพราะฉะนั้นโยมจะไปมัวรอกรรมเก่ารุ่นเก่าชาติก่อนเท่านั้น กรรมเก่ารุ่นใหม่นี่สำคัญนักเพราะเราทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าชอบคำว่ากรรมเก่า ก็จงทำกรรมเก่ารุ่นใหม่ให้มันดี ใช่ไหม เติมกรรมเก่ารุ่นใหม่ให้มันดีที่สุด แล้วกรรมเก่ารุ่นเก่าก็หมดความหมาย ฉะนั้นอย่าไปมัวรออยู่แล้วก็หมดหวังสิ้นหวังอยู่กับกรรมเก่ารุ่นเก่า ตอนนี้มาเน้นกันเรื่องกรรมเก่ารุ่นใหม่ ตอนนี้ทำกรรมเก่า สร้างกรรมเก่ารุ่นใหม่นี้ให้ดีที่สุด เติมเข้าไป ถ้ามิฉะนั้นแล้วเราเคยมีกรรมเก่าที่ไม่ดีอย่างไร ก็มีแต่กรรมเก่าที่ไม่ดูอยู่อย่างนั้นใช่ไหม มีแต่กรรมเก่ารุ่นเก่าที่ไม่ดี ของเสียของเน่า ของดีไม่เคยทำเพิ่มขึ้น เปลี่ยนซะใหม่ทีนี้ สาม-พวกที่มัวปลงกรรมเก่า มันแล้วแต่กรรมเก่า เป็นยังไงก็ทำไป ก้มหน้ารับกรรมไป การปลงว่าแล้วแต่กรรมเก่าเนี่ย ลืมตัวไปว่า เวลานี้เราทำกรรมอยู่ทุกขณะนะ เราจะพูดเราจะปลงใจ เราจะคิดว่ากรรมเก่าก็ยังไงก็แล้วแต่ ขณะที่คิดอย่างนั้นก็คือทำกรรมทั้งนั้น ใช่หรือเปล่า แล้วเราทำกรรมอะไรอยู่ ขณะนั้นที่ไปปลงกรรมเก่า ก็คือทำกรรมที่ไม่ทำอะไร คนที่ทำกรรมคือไม่ทำอะไร ปล่อยเวลาให้ล่วงไปนี่เขาเรียกพวกคนประมาท เป็นกรรมใหม่ที่เป็นอกุศล หลงไปรอกรรมเก่า ตัวเองก็ทำกรรมใหม่ที่วิปริตผิดพลาดเป็นอกุศลเข้าไป หนักเลย คือทำความประมาทเข้าไปแล้วสิ ใช่ไหม ฉะนั้นคนที่ปลงกรรมเก่า ขณะนี้ทำกรรมใหม่คือความประมาทเข้าไปแล้ว เป็นอกุศล ต่อไปตัวจะต้องรับผลของอกุศลนี้ คือความประมาท เพราะฉะนั้นโดยไม่รู้ตัวเลย ทำกรรมใหม่ที่เป็นอกุศล เพิ่มกรรมเก่าที่เป็นอกุศลเข้าไปอีก ฉะนั้นไม่ได้ จะนึกว่าตัวเองไม่ทำอะไร ไม่ทำนี่แหละเป็นทำเหมือนกันนะ ไม่ทำอะไรก็เป็นความขี้เกียจ ความขี้เกียจก็เป็นอกุศลอีกแล้ว เป็นความประมาทก็เป็นอกุศลอีกแล้ว ละเลย ทอดทิ้ง ผัดเพี้ยน เป็นอกุศล เป็นความประมาทไปหมด เพราะฉะนั้นโดยไม่รู้ตัวก็ทำกรรมใหม่ที่เป็นอกุศลคือความประมาท เพราะฉะนั้นคนที่มัวแต่ปลงกรรมเก่านี่ใช้ไม่ได้ ต้องทำกรรมใหม่คือไม่ประมาท เอากรรมเก่ามาเตือน แล้วมาเร่งรัดตัวเองทำกรรมใหม่ที่เป็นความดี มีความไม่ประมาท แก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้มันดีขึ้น ก็จะไปสอดคล้องกับที่พูดไปเมื่อกี้ว่าพัฒนากรรมของตัวเองอยู่เรื่อยไป อย่างนี้แหละเจริญก้าวหน้า กรรมจะเป็นประโยชน์ จะไม่มีโทษเลยถ้าถือผิด ไปเข้าหลักลัทธิเดียรถีย์ล่ะก็ เกิดปัญหาแน่นอน นี่ก็ขอผ่านเป็นตัวอย่างเท่านั้นนะเรื่องกรรมเนี่ย เข้าใจผิด วาสนา บารมี ตอนนี้เข้าใจผิดหมดเลย ต้องมาฟื้นฟูปรับปรุงตรวจชำระสังคายนากัน ไม่งั้นเข้ายุคใหม่ไม่ได้ เวลานี้สังคมไทยต้องเข้ายุคใหม่ เข้ายุคใหม่ที่แท้ก็คือ กลับไปสู่สังคมที่ถูดต้อง ไม่ได้ทำอะไรใหม่พิเศษพิสดารหรอก คือกลับไปสู่หลักที่มันถูกต้องนั่นเอง มันขาดเคลื่อนวิปริตมาซะนาน กลับไปหาหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนา แล้วก็ไปตามอย่างพระพุทธเจ้าให้มันถูกให้มันจริง เราเป็นชาวพุทธแล้วก็ต้องตามอย่างพุทธจริยาพระพุทธเจ้า ทั้งตอนที่ตรัสรู้แล้ว ทั้งก่อนตรัสรู้เป็นพระโพธิสัตว์ ก็บำเพ็ญแต่ความดี บำเพ็ญบารมีเป็นต้น แล้วเราทำตามหรือเปล่า ทำตามอย่างพระพุทธเจ้าไหม ยกตัวอย่างง่ายๆ พระพุทธเจ้าก็อธิษฐานเรา เราก็อธิษฐาน แต่ว่าเราอธิษฐานอย่างพระพุทธเจ้าหรือเปล่า พระพุทธเจ้าอธิษฐานยังไง เราอธิษฐานยังไง พระพุทธเจ้าอธิษฐาน ถ้าจะใช้คำสั้นๆ พระพุทธเจ้าอธิษฐานที่จะทำ แต่ชาวพุทธจำนวนมาก อธิษฐานเพื่อจะได้ นี่ต่างกันแล้วนะ โยมแยกให้ดีนะ สองอันนี้มันตัวตัดสินชะตากรรมสังคมเลยนะ พระพุทธเจ้าอธิษฐานเพื่อจะทำ เราอธิษฐานเพื่อจะได้ อธิษฐานตามความหมายของท่านแปลว่าอะไร อธิษฐานแปลว่าตั้งใจเด็ดเดี่ยว ตั้งใจแน่วแน่มั่นคงว่าจะทำอะไร ต้องทำให้สำเร็จ ไม่สำเร็จไม่ยอมหยุด ต้องทำให้สำเร็จ ต้องให้บรรลุจุดหมาย มิฉะนั้นไม่ยอมหยุด นี่เรียกว่าอธิษฐาน อธิษฐานเพื่อจะทำ คือคิดจะทำอะไรแล้ว เห็นแล้วว่าดี ถูกต้องเป็นประโยชน์ ต้องทำให้สำเร็จ อย่างนี้เรียกว่าอธิษฐานที่แท้ คนไทยอธิษฐาน เจ้าประคุณขอให้เทวดาบันดาลให้ฉันได้ลาภได้ผล โน่น นี่เรียกว่าอธิษฐานเพื่อจะได้ ไม่ต้องทำ คือไม่คิดจะทำเลย ขอให้ใครมาบันดาลให้ ให้ผลมันลอยมา เพราะฉะนั้นมันตรงข้ามเลย ต้องแก้ใหม่ กลายเป็นว่าคนไทยจำนวนมาก เข้าใจคำว่าอธิษฐานเป็นว่าตั้งจิตปรารถนาอยากได้โน่นได้นี่ แต่ของพระพุทธเจ้าตั้งจิตแน่วแน่เด็ดเดี่ยวที่จะทำการนั้นการนี้ให้สำเร็จให้ได้ เช่นอย่างเมื่อประทับใต้ต้นโพธิ์ตอนที่ตรัสรู้ พระองค์ทรงอธิษฐานพระทัยว่ายังไง พระองค์ว่าเราจะเพียรพยายามจะบรรลุโพธิญาณ ด้วยบำเพ็ญสมาธิใช้ปัญญาอย่างยวดยิ่ง พระองค์ก็อธิษฐานพระทันตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่า เราจะตั้งความเพียรพยายามนี้จนกว่าจะบรรลุผลที่พึงบรรลุได้ด้วยความเพียรของบุรุษ ถ้าหากยังไม่สำเร็จผล ไม่บรรลุจุดหมาย ก็พูดง่ายๆ ว่าไม่บรรลุโพธิญาณ แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดไปเหลือแต่เส้นเอ็นกระดูก ก็จะไม่ลุกขึ้นเป็นอันขาด นี่ใช่ไหม นี่คือการอธิษฐานของพระพุทธเจ้า คือการอธิษฐานเพื่อทำ คนไทยมาอธิษฐานเพื่อจะได้ อธิษฐานเจ้าประคุณอย่างที่ว่าให้ได้โน่นได้นี่มา แล้วมันจะไปไหวอะไรล่ะ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า แต่ทำตรงข้ามกับพระพุทธเจ้าเลย ฉะนั้นต้องแก้กันให้ได้เรื่องอธิษฐานเพื่อได้ กับอธิษฐานเพื่อทำ ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ เข้ายุคใหม่ไม่ได้ ต้องอธิษฐานเพื่อทำ นี่เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เด็ดขาด ก็อย่างที่ว่าเข้าหลักที่ว่าต้องทำเหตุ ไม่ใช่ว่าเอาผล ฉะนั้นเอาผลนี่ไปไม่รอด ถ้าติดอย่างฝรั่งก็จะไปเอาผลผลิตที่เขาทำเสร็จแล้ว ถ้านักทำเหตุนี่ต้อง ฝรั่งมันทำอะไรได้ มันผลิตคอมพิวเตอร์ได้ เราก็ต้องผลิตได้ ต้องทำให้มันได้อย่างนั้นสิ ฉะนั้นเรื่องการทำเหตุกับเอาผลเนี่ย เป็นเรื่องสำคัญของสังคมไทย สังคมไทยยุคเก่าที่กำลังจะผ่านไปคือยุคจะรอเอาผล แต่ยุคใหม่จะต้องเป็นยุคทำเหตุ สร้างสรรค์เพื่อความเจริญที่มันเกิดเหตุปัจจัยของความเพียรพยายามของเรา ทีนี้พระพุทธเจ้าเนี่ย พระองค์มีลักษณะสำคัญคือสามารถรอผลที่จะเกิดขึ้นจากการทำความเพียร คือพยายามระยะยาวได้ พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีกี่ร้อยกี่พันชาติ เอนกอนันตชาติ เพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ต้องรอผลมาเป็นไม่รู้เท่าไหร่ กี่แสนโกฏิกัลป์ รอได้ แต่รอผลความเพียรของพระองค์ที่ทำอย่างเต็มที่นี่ ไม่ใช่จะเอาแต่ผลแล้วไม่ต้องทำเหตุ คนไทยนี่รอผลแห่งความเพียรพยายามที่หนักไม่ได้ จะเอาผลปัจจุบันทันด่วนเฉพาะหน้า จะเอาผลฉับพลันก็เลยเป็นนักรอลาภลอย หรือรวยทางลัด อย่างนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน อย่างนี้ต้องเปลี่ยนถ้าจะเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ต้องสามารถรอผลแห่งการบำเพ็ญเพียรพยายามอย่างยวดยิ่งตลอดกาลยาวนานได้ ผลจะมาเมื่อไหร่ให้ทำเหตุให้มันเต็มที่ หน้าที่ของเราคือเพียรพยายามไป ท่านจึงเรียกว่าบารมี ใช่ไหม พระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพียรตลอดเวลา ไม่รู้กี่ชาตินี่คือบำเพ็ญบารมี บารมีก็คือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยวดยิ่ง อย่างที่คนธรรมดาทำไม่ได้ บำเพ็ญทาน เสียสละอะไรก็เสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต ทำอะไรต่ออะไรก็จริงจัง มีความเข้มแข็ง มีความอดทน มีความเสียสละทุกอย่าง อันนี้เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า มิฉะนั้นจะบรรลุโพธิญาณไม่ได้ ทีนี้เราจะมีความเข้มแข็ง มีกำลังสู้ เสียสละอย่างพระพุทธเจ้าไหม ท่านเล่าชาดกไว้เพื่อเตือนใจเราว่าถ้าเราท้อ ไปอ่านชาดกปั๊บ เราจะสู้ขึ้นมาทันที โอ เราเจอแค่นี้ อุปสรรคนิดหน่อย ไม่เท่าไหร่ทำไมจะถอย พระพุทธเจ้าเจอมากกว่าเรา โดนเขากลั่นแกล้ง เอาตายเลยนะ พระองค์ยังไม่ยอมท้อเลย พอไปอ่านชาดกขึ้นมา ฮึดสู้ต่อไป อย่างนี้จึงจะเรียกว่าใช้ประโยชน์จากพุทธศาสนา นี่กลับตรงข้าม มีพระโพธิสัตว์มาช่วย ไปขอความช่วยเหลือท่านซะแล้ว พระโพธิสัตว์มีไว้สำหรับดูปฏิปทา แล้วก็จะได้เป็นคติเตือนใจว่าท่านสู้ ท่านเพียร เข้มแข็ง เราก็ต้องเข้มแข็งอย่างนั้น เอาไว้ปลุกใจตัวเอง นี่ก็เป็นเรื่องของการรอผลที่เกิดจากความเพียรพยายามระยะยาว อย่างที่ว่าพระพุทธเจ้าแสวงหาสัจธรรม แม้แต่ในชาตินี้ 6 ปี
สู้หมด ทุกรกิริยา เขาว่าต้องทำอย่างนี้ ฉันสู้ อดอาหารจนกระทั่งว่าหนังท้องติดกระดูกสันหลังเลย มันต้องสู้อย่างนั้นสิ คนไทยขณะนี้สู้ไหม ขณะนี้ สู้ภัย IMF สู้ขนาดพระพุทธเจ้าไหม พระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพียรขนาดที่ว่าท้องติดกระดูกสันหลังยังสู้ พวกเรานี้อดตายขนาดนั้นไหม ถึงเลย เพราะฉะนั้นต้องเอาว่าเรายังไม่ถึงขนาดจะอดตายอย่างพระพุทธเจ้า แล้วจะไปกลัวอะไร IMF แค่นี้ ฉะนั้นมันต้องมีกำลังใจลุกขึ้นมาสู้ เข้มแข็ง แล้วนอกจากนั้นก็คือว่า พระพุทธเจ้าทำไปได้ผลทีละนิด เก็บสะสม อดออม ทีละนิดก็เอา ก็บำเพ็ญเพียรบารมีตั้งแต่บำเพ็ญทีละนิดละหน่อย ไม่รู้สะสมเท่าไหร่กว่าจะได้ไปเป็นพระพุทธเจ้า เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว อย่างนี้แหละจึงจะไปรอด ตอนนี้สู่กับภัยยุค IMF นี่มัน คนไทยต้องเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว มั่นคงอย่างพระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี คนไทยมองคำว่าบารมีแทนที่จะมองเป็นการทำเหตุคือเป็นคุณธรรมที่จะสำเร็จเป็นโพธิญาณ กลับมองเอาผลที่จะไปพึ่งบารมีคนนั้นเก่ง คนนั้นมีเงินมาก มีอำนาจมาก ความหมายของบารมีก็เพี้ยนไป เป็นกำลังทรัพย์กำลังอำนาจ แทนที่จะหมายถึงคุณธรรมความดีที่เป็นเหตุ ที่บำเพ็ญอย่างเข้มแข็งเสียสละ มองคำว่าบารมีก็พลาดไปแล้ว ก็ลัทธิเอาผลไม่ทำเหตุ ทำให้เสียหมด นึกถึงเมื่อวานนี้เจอกับโยมท่านหนึ่ง ท่านก็พูดถึงเรื่องพระเจ้าตาก ตอนพระเจ้าตากนั้นกรุงแตกใช่ไหม แล้วพระเจ้าตากกู้กรุงได้ ใช่ไหม แล้วคนไทยเวลานี้มีความสามารถจะกู้เมืองไทยได้ไหม ก็ต้องกู้ให้ได้ แล้วพระเจ้าตากทำยังไง พระเจ้าตากเข้มแข็งใช่ไหม เสียสละบุกฝ่าได้ ตอนแรกเห็นว่าอยุธยาไปไม่รอด นำทหารจำนวนหนึ่งซึ่งมีไม่มาก บุกฝ่ากำลังทัพพม่าออกมาจะกรุงได้ ใช่ไหม เอาล่ะ เราต้องไปสะสมกำลังข้างนอก สู้กันใหม่ อย่างนี้มันต้องคิดวางแผนระยะยาว ตอนแรกต้องเข้มแข็งก่อน ใช้ปัญญา ถ้าเราขึ้นอยู่ในนี้ตายแน่ พาทหารจำนวนหนึ่ง บุกฝ่าทหารพม่า ออกจากอยุธยาไป ไปตั้งกองกำลังขึ้นมา ต่อมากรุงแตกจริงๆ แล้ว ตอนนี้ต้องกู้เมืองไทย พระเจ้าตากทำยังไง โน่น เข้าตีเมืองต่างๆ ไปตีจันทบุรี บอกว่ายังไง จันทบุรี มื้อนี้กินข้าวกินปลากันให้อิ่ม มื้อสุดท้ายเรานอกเมืองนะ มื้อต่อไปไปกินในเมือง กินเสร็จมือนี้ ทุบหม้อข้าว เตาไฟหมด ถ้าเข้าเมืองไม่ได้ ตาย เพราะฉะนั้นมื้อต่อไปอย่างที่ว่า กินในเมือง แล้วพระเจ้าตากไม่ใช่ว่าปล่อยให้ลูกน้องทำนะ นำทัพเข้าที่เมืองจันทบุรีสำเร็จใช่ไหม นี่มันต้องเด็ดขาดแน่วแน่ มุ่งหน้าบุกฝ่าไป คนไทยเวลานี้ก็ต้องบุกฝ่าเหมือนกัน ตีฝ่าความวิกฤติ IMF ไปให้ได้ แล้วมันจะคณามือคนไทยรึ ใช่ไหม ถ้าเรามีความเข้มแข็ง เวลานี้มัวแต่อ่อนป้อแป้โอดครวญ ระทดระทวยกันไป จะไปรอดอะไร เข้มแข็ง มองไปข้างหน้า บุกฝ่าให้ได้ ทีนี้มาวกวนทะเลาะกันอยู่เนี่ย ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมา แทนที่จะมองเป้าหมายข้างหน้า เราจะทำยังไง จะแก้ไขปัญหา บุกฝ่ากันยังไง รวมกำลังกันให้เต็มที่ อย่างนี้มันก็เห็นอยู่ชัดๆแล้ว ชาติไทยเราจะไปรอดที่นี่ จุดหมายเป้าหมายชัดเจนบุกไปข้างหน้า แล้วรวมกำลังกันในการที่จะบุกฝ่าไปให้สำเร็จ แล้วมันไม่เหลือกำลัง เมืองไทยนี่พื้นฐานก็ดี ข้าวปลาที่ดินอะไร อุดมสมบูรณ์ ในโลกนี้หาได้ยากใช่ไหม การเกษตรอะไรพื้นฐานเราดี ก็อย่างที่ว่าตอนที่แล้ว ของดีที่มีก็ปล่อยให้หลุดมือ แต่ตอนนี้มันไม่สายที่จะฟื้น ก็กลับฟื้นมันขึ้นมาใหม่สิ ดินดี แม่น้ำดี หรือว่าดินฟ้าอากาศเรามันยัวช่วยยังเอื้ออำนวย ฉะนั้นฐานที่ดีเรามีเราก็ฟื้นขึ้นมาสิ มันก็มีกำลังฐานอยู่แล้วที่จะทำได้ แต่ว่าเราจะใช้มันหรือไม่เท่านั้น เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องเดินหน้ากันต่อไป ฉะนั้นเรื่องหวยพนัน ปัญหาลาภลอย รอคอยเทวดา คอยหายากล่อมตรงนี้ ไปไม่รอด แก้ปัญหาไม่ได้ จะต้องอวสานอยู่กับยุคเก่านี่แหละ ถ้าเกิดขืนอยู่อย่างนี้ ถ้าจะขึ้นยุคใหม่ต้องเปลี่ยนใหม่ เริ่มตั้งแต่ในครอบครัวเลย เลี้ยงลูกก็ต้องเลี้ยงลูกให้ถูก ปฏิบัติธรรมก็ในครอบครัวแหละ เลี้ยงลูกก็ปฏิบัติธรรมแล้ว อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส เลี้ยงลูกให้ดีสิ ถ้าเป็นพ่อแม่เลี้ยงลูกให้ดีไม่ได้ เราก็บกพร่องในการปฏิบัติธรรมแล้ว เวลานี่คนไทยเลี้ยงลูกกัน ก็ต้องยอมรับความจริงว่าเลี้ยงกันผิดเยอะๆ ไปสุดโต่ง 2 อย่าง พวกหนึ่งก็ทอดทิ้งเลย ทอดทิ้งลูก ไม่เอาใจใส่ ละเลยหน้าที่ของพ่อแม่ อีกพวกหนึ่งก็ไปสุดโต่งตรงกันข้าม พะเน้าพะนอบำรุงบำเรอเกินไป ก็แสดงว่าไม่มีพรหมวิหาร ไม่มีพรพรหม พระพรหนั้นท่านมีธรรมะ 4 ข้อไว้ให้มีดุลยภาพให้ดี คือใช้ทั้งความรู้สึกและใช้ทั้งความรู หรือใช้ทั้งคุณธรรมและใช้ทั้งปัญญา พ่อแม่นี่มีหลายแบบ แต่ว่าพูดอบ่างหนึ่งก็อย่างที่ว่า พวกเลี้ยงด้วยความรู้สึก เอาแต่ความรู้สึก พวกที่รู้สึกไม่ดีนี่เราไม่ต้องพูดถึงนะ เกรี้ยวกราดอะไรต่ออะไร ไม่มีความรู้สึกที่ดี ไม่มีความรักลูก แต่รู้สึกที่ดีก็คือรู้สึกที่มีคุณธรรม เช่นความรัก แต่เลี้ยงด้วยความรู้สึกนี้ไม่พอ สักแต่ว่ารักโอ๋ไป บำรุวบำเรอปรนเปรอเข้าไป เลี้ยงลูกแบบปรนเปรอ ก็แสดงว่าไม่ใช้ปัญญาเท่าที่ควร พอเสร็จแล้วเป็นยังไง ก็ด้วยการบำรุงบำเรอปรนเปรอนั้น ก็ทำให้ลูกเป็นนักบริโภค ติดนิสัยเป็นนักเสพนักบริโภค อ่อนแอ ไม่สู้งาน ทำอะไรไม่เป็น อันนี้มันจะมาด้วยกันคือ เป็นนักเสพ เป็นนักบริโภค ก็อ่อนแอ ถ้าเป็นนักบริโภคก็ต้องอ่อนแอเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเป็นนักผลิตมันก็ต้องเข้มแข็งเพราะมันเป็นคนทำ ทีนี้เราเลี้ยงดูลูกแบบเป็นนักบริโภค ไม่ได้เลี้ยงให้เป็นนักผลิต ปรนเปรอไปก็ยิ่งใฝ่เสพ อยากบริโภคมากขึ้น ก็ยิ่งอ่อนแอลงไป ตามใจ เอาใจ มีอะไรจะต้องทำ กลัวเหน็ดกลัวเหนื่อย กลัวทุกข์ยากลำบากทำแทนลูก ลูกทำไม่เป็น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า เลี้ยงต้องทั้งด้วยรู้สึกและรู้ ฝ่ายรู้สึกนั้นคือรู้สึกที่ดีมีเมตตา กรุณา มุทิตา ยามเขาอยู่เป็นปกติก็รักใคร่เลี้ยงดูให้เป็นสุข นี่ท่านเรียกว่าเมตตา ยามเขาเจ็บไข้ได้ทุกข์มีปัญหา ก็ช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์นั้น ท่านเรียกว่ามีกรุณา ยามลูกได้ดีมีความสุข ประสบความสำเร็จสอบได้ที่ดีๆ เข้างานเข้าการได้ เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง พ่อแม่ก็พลอยมีความยินดีส่งเสริม เรียกว่ามีมุทิตา อันนี้คุณธรรมสามข้อนี้คนไทยพร้อมที่จะทำ อันนี้ด้านความรู้สึก เป็นความรู้สึกที่ดีมีคุณธรรม อีกข้อหนึ่ง ข้อสุดท้ายก็คือ ข้อปัญญา ก็คือมองดูให้เขาทำ ตอนแรกสามข้อแรกนี้ทำให้เขานะ พ่อแม่ เมตตา กรุณา มุทิตา ทำให้เขา พอเข้าอุเบกขา ดูเขาทำแล้ว ตอนนี้เป็นที่ปรึกษา ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ลูกต่อไปจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ตลอดไป พ่อแม่จะไปช่วยตลอดก็ไม่ได้ ลูกต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต กฎธรรมชาติของโลกและชีวิตนี้มันไม่เข้าใครออกใคร ทุกคนจะต้องมีปัญญารู้จักรักษาตัว รับผิดชอบตัวเองให้ได้ ลูกต่อไปจะต้องรับผิดชอบตัวเอง จะต้องทำอะไรเป็น ก็คิดแต่บัดนี้ ลูกเราจะต้องรับผิดชอบตัวเองยังไงบ้าง ลูกของเราจะต้องทำอะไรเป็นบ้าง พอใช้ปัญญาพิจารณาแล้วก็ทีนี้ก็มาดูให้เขาทำแล้ว ไม่ทำแทนให้ พอดูให้เขาทำก็อุเบกขา ดู วางเฉย ดู พิจารณาว่าเขาทำถูกไหม ทำไม่ถูกจะได้ช่วยแนะนำปรึกษาแก้ไขปรับปรุงทำให้ถูก เขาทำเป็นแล้ว พ่อแม่ก็เบาใจ ตอนนี้เราตายตาหลับแล้ว เพราะเขาทำเป็นแล้ว ไม่ใช่ว่ารักลูกซะแทบตาย ต่อไปตายตาไม่หลับ เพราะห่วง ทีนี้ลูกทำไม่เป็น เราไม่ได้อยู่ด้วย มันต้องตายตาหลับเพราะรู้ว่าลูกของเราแข็งพอ ทำเองได้ ฉะนั้นอุเบกขาเป็นตัวปิดท้ายรายการที่จะทำให้พ่อแม่ตายตาหลับ พ่อแม่คนไหนที่เอาแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ขออภัย ตายตาไม่หลับหรอก เพราะมันต้องห่วงว่าลูกจะไปรอดหรือเปล่า ฉะนั้นต้องมีสี่ข้อ ข้อที่สี่มาจากปัญญา พอปัญญารู้ว่าลูกจะต้องรับผิดชอบตัวเองอย่างนี้ ทำอย่างนี้เป็น หัดเขา ให้เขาทำ ตัวเองดู อย่างที่บอกเมื่อกี้ เป็นที่ปรึกษา คอยบอก คอยชี้ จนกระทั่งเขาทำเองเป็น หน้าที่อุเบกขาก็สมบูรณ์ รับผิดชอบตัวเองได้ พระพรหมก็เป็นพระพรหมสี่หน้าพักตร์สมบูรณ์ซะที ไม่ก็เป็นพระพรหมกระพร่องกระแพร่ง มีสามหน้า พระพรหมอะไรใช้ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เป็นตัวอย่าง เรื่องของการเลี้ยงดูของพ่อแม่นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมไทยของเราเนี่ย ทีนี้ถ้าหากว่าพ่อแม่ฝึกให้ลูกรู้จักทำอะไรเป็น หัดรับผิดชอบ ก็ฝึกให้ลูก เช่นตั้งแต่ดูทีวี ก็ดูให้เป็นนะ ลูกดูนี่เพื่อหาความสนุกสนาน เรียกว่าใช้ทีวีเพื่อเสพ หรือว่าลูกรู้จักดูทีวีเพื่อหาความรู้เพื่อศึกษา เราก็จะได้ดู แล้วดูว่าลูกนี้ใช้เพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ใช้เพื่อศึกษากี่เปอร์เซนต์ ถ้าลูกใช้ทีวีเพื่อเสพหาความสนุกสนานบันเทิงอย่างเดียว 100% ก็แสดงว่าพลาด แล้วเด็กส่วนมากเดี๋ยวนี้จะเป็นอย่างนั้น ใช้เพื่อศึกษาหายาก ก็ขอเล่าอีกทีหนึ่ง เด็กไปวัด เด็กประถม อาตมาก็ถามว่าหนูที่บ้านดูทีวีวันละกี่ชั่วโมง เด็กก็บอกว่าถ้าวันธรรมดาก็ดูเท่านี้ๆ ถ้าวันเสาร์อาทิตย์ก็ดูมากหน่อย บางทีตลอดวันเลย ทีนี้ที่หนูดูทีวีเนี่ย หนูดูเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ดูเพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ เด็กงงนะ ดูเพื่อเสพยังไง ดูเพื่อศึกษายังไง แต่เดี๋ยวเด็กก็เข้าใจ หนูดูเพื่อเสพ 90% แล้วดูเพื่อศึกษาแทบไม่มีเลย เด็กรับสารภาพ แล้วถามเด็กว่าดูอย่างไหนจึงจะถูก ดูทีวีเพื่อเสพกับเพื่อศึกษา อย่างไหนถูกต้อง ให้เด็กคิดเองนะ เราไม่ต้องไปสอนเขา เด็กก็บอกว่าดูเพื่อศึกษาถูกต้อง อ้าว แล้วที่หนูทำนี่มันถูกไหม เด็กบอกไม่ถูก แล้วถ้าไม่ถูกทำไง เด็กบอกว่าต้องแก้ไข แล้วแก้ไขเอาไงมาตกลงกัน ต่อไปนี้หนูจะดูทีวีเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ เด็กคิดไปคิดมาบอก 50/50 บอกพระเห็นใจเด็ก เดี๋ยวนี้สังคมผู้ใหญ่ก็ทำตัวอย่างด้วย ฉะนั้นไม่ต้องเอาขนาดนี้หรอก เพียงแต่ว่าให้ศึกษามันมากขึ้นมานิด ลดเสพลงไปหน่อย ในที่สุดก็ตกลงกันว่า หนูจะดูเพื่อเสพ 70% ดูเพื่อศึกษา 30% เอาละ แค่นี้ใช้ได้ เด็กไทยนะตอนนี้ ถ้าดูทีวีเพื่อเสพ 70% ดูเพื่อศึกษา 30% เมืองไทยเริ่มตีตื้น พอจะเดินเข้ายุคใหม่ได้ พ้นจากภัย IMF ได้ แต่ถ้ายังขืนดูเพื่อเสพ 90% ล่ะก็ ไปไม่รอด ฉะนั้นผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน เราต้องเริ่ม ไม่ใช่เรียกร้องให้ดูเพื่อศึกษาอย่างเดียว ก็ไปไม่ไหวเหมือนกัน ต้องค่อยเป็นค่อยไป พอเด็กหันมาดูเพื่อศึกษา 30% ต่อไปเด็กก็จะรู้จักเพิ่มเอง เด็กก็จะเริ่มพัฒนาไปได้ อันนี้เป็นตัวอย่างเลยที่พ่อแม่เลี้ยงลูกต้องใช้ปัญญา ต้องพิจารณา โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคของการเสพบริโภคมาก เพราะฉะนั้นจะต้องเปลี่ยน เริ่มตั้งแต่ให้เด็กเนี่ย เป็นนักผลิต นักสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นเพียงนักบริโภค มีความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก สามารถเพียรพยายามหวังผลแห่งการเพียรพยายามของตนในระยะยาวได้ เป็นคนเข็มแข็ง ถ้าอย่างนี้เราจะสร้างชาติกันได้ ถ้ามาติดค่านิยมบริโภค มัวแต่อวดโก้อวดฟุ้งเฟ้อกันอยู่อย่างนี้ ไปไม่รอดหรอก เพราะจะเอาให้ได้อย่างประเทศที่เราชอบ ก็ยังทำไม่ได้ ไปเอาอะไรฉาบฉวยผิวเผิน มองประเทศที่เจริญ ก็มองไม่เป็น ฉะนั้นเรื่องเลี้ยงลูกนี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็รการปฏิบัติธรรม อย่าไปมองละเลย เดี๋ยวจะเลยมาปฏิบัติธรรมกันอยู่ที่วัดแล้วบ้านปล่อยซะที เพราะฉะนั้นปฏิบัติธรรมต้องทุกสถานที่ ทุกกาลเวลา เอาธรรมะไปใช้ประโยชน์ ตอนนี้ก็คิดว่าจะจบสักที พูดมาก็ได้ดูนาฬิกาว่านานไปเท่าไหร่ ก็ยังมีเวลาเยอะเหมือนกันแต่ว่า คิดว่าจะต้องขอโอกาสจะกลับไปไวๆ หน่อย วันนี้ก็จะพูดไม่ให้มากนัก เพราะที่จริงนั้นถ้าจะพูดกันจริงๆ เรื่องมันเยอะเหลือเกิน อย่างเรื่องที่พูดเมื่อกี้ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลัก หรือแม้แต่คำศัพท์พุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพูดกันนาน อย่างวาสนาเดี๋ยวนี้มีใครรู้บ้างว่าพุทธศาสนามีความหมายว่าอย่างไร ไปพูดกันว่าแข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้ หรือแข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่คำในพุทธศาสนา เป็นลัทธิภายนอก ถ้าพูดแรงๆ ก็บอกใช้ไม่ได้ ถ้าพูดตามภาษาพุทธศาสนา ท่านบอกว่าวาสนามีไว้สำหรับแก้ไข มิใช่มีไว้สำหรับแข่งขัน ท่านไม่เคยให้ไปแข่งขันกับใคร วาสนาเราก็ต้องแก้ไขปรับปรุงสิ มัวแต่ไปแข่งกับใครทำไม ปรับปรุงตัวเอง แก้ไขพัฒนาตัวเอง ต่อไปวาสนามันก็ดีขึ้น แต่ว่าตอนนี้สำคัญก็คือคนไทยไม่รู้ว่าตัววาสนาอยู่ที่ไหน ไปนึกว่าวาสนามันลอยลงมาจากฟ้าโน่น ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ที่จริงวาสนามันเป็นเรื่องของกระบวนการของกรรมนี่แหละ อยู่ที่ตัวเรา เราแก้ไขปรับปรุงได้ ถ้าเป็นพระอรหันต์ท่านละวาสนาด้วยนะ พระพุทธเจ้านี่ละวาสนาหมดเลย ละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้หมด พระพุทธเจ้า ถ้าวาสนาดีอุตส่าห์มาแข่งแทบตาย พระพุทธเจ้าละหมด เรื่องอะไรกันเนอะ แล้วโยมเคยประหลาดใจไหมว่า เราแข่งวาสนา เราอยากจะแข่งแล้วว่าเขาไม่ให้แข่ง ก็เป็นของดีแท้ๆ ทำไมพระพุทธเจ้าละวาสนาหมด แล้วพระอรหันต์ก็ละวาสนาหมดเลย เหลือแต่วาสนาที่มันละเอียดอ่อน ละไม่ได้หมด ไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้า ละวาสนาได้หมด ฝากให้โยมเอาไปพิจารณา ว่าวาสนาที่แท้คืออะไร ทำไมเราอยากจะมีวาสนานัก พระพุทธเจ้ากลับละวาสนาหมด แล้วทำไมพระจึงบอกว่าวาสนานั้นมีไว้สำหรับแก้ไข ไม่ใช่มีไว้แข่งขัน จะว่าเป็นปริศนาก็แล้วแต่ ให้โยมเอาไปพิจารณา วันนี้จะไม่อธิบายเรื่องนี้ ทีนี้ก็ขอฝากเป็นเรื่องสุดท้ายว่าสังคมมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือการที่มาพยายามแก้ปัญหา การพยายามแก้ปัญหานั้นก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ด้วยตัวของมันเอง ปัญหาเราเยอะแยะ อย่างเวลานี้ ยาบ้า เป็นต้น เป็นปัญหา เรื่องอาชญากรรม โรคเอดส์อะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมด ปัญหาสังคมไทยมากมายตลอด จนกระทั่งทะเลาะกันไม่เว้นวัน ทีนี้ปัญหาต่างๆ เราก็พยายามแก้ ในที่สุดการแก้ปัญหานั้นกลายเป็นตัวปัญหา อย่ามัวสาระวนอยู่กับการแก้ปัญหา แล้วก็อยู่เนี่ย วนกันไป แก้ไม่ตก วิธีแก้ปัญหาที่ดีนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือแก้ปัญหาโดยไม่ต้องแก้ ทำไง ปัญหาเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องทางลบ เราต้องการจะให้หมดไป แต่เราจะมัวมารบกับเรื่องไม่ดีอยู่เนี่ย มันก็วุ่นวนอยู่เนี่ย ไปไม่รอด แต่ไม่ได้หมายความว่าทิ้งนะ ไม่ได้หมายความว่าไม่เอาใจใส่ ก็แก้ไป หรือว่ามอบหมายหน้าที่หรืออะไรก็ทำไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำที่แก้ปัญหาแท้ คือการทำอะไรใหม่ๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์ขึ้นมา การทำการสร้างสรรค์ที่ดีงามยิ่งใหญ่ มีอะไรให้คนทำขึ้นมาเนี่ย พอเอาจริง ถ้าคนเห็นคุณค่าสิ่งนั้นจริงนะ มาระดมกันไปทำสิ่งนั้นนะ สิ่งที่เป็นปัญหาที่มันยุ่งมันวุ่นไปหมดอยู่นี่มันเลิกไปเอง มันลืมทำ มันลืมสร้างปัญหา ที่มันมัวยุ่งปัญหาอันหนึ่งเพราะมันไม่มีอะไรจะทำ เมื่อมันไม่มีอะไรจะทำ มันก็มายุ่งทำปัญหาอยู่นี่ เราก็มัวไปรบกับปัญหา ไม่รู้จักจบ ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาของท่านที่สำคัญคือ ทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาที่เป็นการสร้างสรรค์อย่างสำคัญ จนกระทั่งคนนี่ไปเอาใจใส่กับสิ่งนั้น เพราะเรามัวไปทำการสร้างสรรค์นั้นมา เราก็ไม่มีเวลาจะทำปัญหา ใช่ไหม อย่างนี้ปัญหามันจึงจะหมดไป เช่นเด็กตีกันมันไม่มีอะไรจะทำ มามอง
หน้ามองตากัน ขัดแย้งกระทบกระทั่งกันไปมา มันก็ทะเลาะกันไป ถ้ามันมีอะไรจะต้องทำ กลายเป็นมาร่วมสามัคคีด้วยกัน เลิกกันไปซะที ทะเลาะ ฉะนั้นอย่ามัวไปหาทางสาระวนอยู่กับการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ต้องทำคือคิดว่าจะให้ทำอะไร อันนี้ยากที่สุดเลย แต่เป็นหน้าที่ของผู้นำหมู่ชนสังคมทั้งหมดที่จะต้องคิดว่าจะทำอะไร ที่จะให้สังคมมีทางเดินไปข้างหน้า ที่จะให้คนรวมใจ รวมความคิด รวมปัญญา มาสละเรี่ยวแรงกำลังร่วมกัน แล้วสังคมจะเดินหน้าไป ปัญหาต่างๆ จะลดน้อยไปเอง จนกระทั่งบางอย่างนี้ลืมไปเลย ไม่รู้ว่าปัญหาหายไปเมื่อไหร่ แต่ถ้ารบกับปัญหาอยู่อย่างนี้ สาระวนอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักจบ ฉะนั้นแก้ปัญหาด้วยการทำการสร้างสรรค์ จะเป็นทางที่สัมฤทธิ์ผล ดีกว่า
วันนี้ก็ขออนุโมทนาญาติโยม อุบาสกอุบาสิกาทุกท่านที่ได้มีน้ำใจ ต่อสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ก็ถือเป็นการจงรักภักดี ในฐานะที่ทรงเป็นคู่บุญขององค์พระประมุข ก็เป็นตัวแทนของประเทศชาติ ท่านทั้งหลายก็เท่ากับว่าต้องมีน้ำใจ หวังดีต่อประเทศชาติ ก็ต้องมาช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ขณะนี้สังคมกำลังมีปัญหา กำลังมีทุกข์ภัย พุทธศาสนาสอนว่า ทุกข์ภัยแม้แต่ความตาย เอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้นเรามาเจอทุกข์ภัยคราวนี้แล้วเป็นเคราะห์ ก็ต้องพลิกผัน ทำเคราะห์นี้ให้เป็นโอกาส พูดกันมานักหนาว่าวิกฤติเป็นโอกาส พูดกันมานานตอนนี้ควรก้าวต่อไป คือไม่ได้พูดอยู่แค่ว่าวิกฤติเป็นโอกาส หรือทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส แต่ทำไงเราจะใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์ ให้เป็นผล มันติดอยู่แค่โอกาส แล้วบอกเป็นโอกาสไม่ใช้โอกาสซะที ก็บ่นอยู่นี่เหมือนกัน โอกาส ถ้าไม่รู้จักใช้ คนเราไม่ใช้โอกาสทั้งๆ ที่มีโอกาส ก็ตกอยู่ในความประมาท พอตกอยู่ในความประมาท โอกาสที่มีก็กลายเป็นเคราะห์ ก็เสื่อมอีก เพราะฉะนั้นอย่าไปมัวเพลิดเพลินว่ามีโอกาส อย่านึกว่าวิกฤติเป็นโอกาสก็พอแล้ว โอกาสนี้อาจเป็นโอกาสแห่งความเสื่อมก็ได้ คือเป็นโอกาสที่ไม่ใช้ ก็หลงมัวเมาประมาทเสื่อม เพราะฉะนั้นจึงต้องก้าวอีกขั้นหนึ่ง จากวิกฤติเป็นโอกาส ก็คือตอนนี้จะใช้โอกาสอย่างไร ต้องมาพูดกันให้มากว่าจะใช้โอกาสกันอย่างไร ก็คือการเกิดก้าวหน้า โอกาสอย่างหนึ่งก็คือ โอกาสในการพัฒนาคุณภาพคนไทย และสร้างยุคใหม่ของสังคมไทย อย่างที่กล่าวมาแล้ว นี่แหละจึงจะเดินหน้าไปได้ ไม่งั้นก็พูดกันแต่โอกาสๆ แล้วก็ไม่ไปไหน ขอให้เรามาใช้โอกาสกันสักที สร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงดูเด็กในบ้าน อย่าเลี้ยงดู หนึ่ง-ไม่เลี้ยงดูทอดทิ้ง สอง-เลี้ยงดูแบบสุดโต่ง ปรนเปรอบำรุงบำเรอให้เป็นนักบริโภค เป็นผู้ใฝ่เสพ อ่อนแอ แต่ต้องให้เป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ สู้สิ่งยาก มีความเพียรพยายามที่จะทำการให้สำเร็จ แม้แต่ทีละเล็กละน้อย แล้วรอรับผลระยะยาวได้ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าของเรา ทรงบำเพ็ญบารมีจนกระทั่งสำเร็จ มีกำลังใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว และใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา แล้วพลิกสถานการณ์ที่เป็นปัญหา ให้เป็นปัญญา ให้เกิดประโยชน์ให้สำเร็จได้ ก็ขอโมทนาอีกครั้งหนึ่ง ต่อญาติโยมทุกท่าน ก็ขอให้ทุกท่านซึ่งมีพื้นดีอยู่แล้ว คือมีกุศลเจตนา มีคุณธรรม ก็ขอให้คุณธรรมเหล่านี้ เจริญงอกงามแบ่งบายออกมาผลิดอกผลออกมาให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม อย่างแท้จริง ก็ขอคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษาให้ญาติโยมสาธุชน อุบาสกอุบาสิกาทุกท่าน ทั้งในที่นี้แล้วทั่วประเทศชาติ สังคมไทย และแผ่จิตใจไปยังมนุษยชาติทั่วโลกด้วย ขอทุกคนที่เป็นเพื่อนร่วมกฎธรรมชาติ คติธรรมดา เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน จงมีจิตใจปรารถนาดี มีเมตตาดีต่อกัน และช่วยกันสร้างสรรค์ ทำประโยชน์สุขให้แก่ชีวิตและสังคม ก็ขอให้ทุกท่านเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคี ที่จะแก้ไขปัญหา และทำการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้บรรลุผลอันดีงาม มีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน ทุกเมื่อ เทอญ