แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร วันนี้ โยมหมอจรูญปรารภเรื่องการที่จะเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย และประเทศ นิวซีแลนด์ และก็ได้นิมนต์อาตมภาพมาฉันภัตตาหาร ก็วันนี้ก็เลยมีการรับประทานอาหารร่วมกันในหมู่ญาติ สนิทมิตรสหายด้วย เพราะโยมมีใจเป็นกุศล เมื่อมีเหตุการณ์เรื่องราวอะไรสำคัญขึ้นมาก็ปรารภเป็นโอกาสที่ทำ บุญทำกุศลไปด้วย
ในโอกาสนี้ อาตมภาพก็เลยจะขออัญเชิญพุทธคุณสักบทหนึ่ง มาเป็นเครื่องอวยพร พุทธคุณที่ตรงกับ เหตุการณ์อันนี้ก็มีอยู่ คือบทที่ว่า สุคโต พระพุทธเจ้ามีพุทธคุณที่เราเรียนกันในบทอิติปิโส 9 ประการ มี อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน แล้วก็ สุคโต บท สุคโต นี้ก็แปลว่า ผู้เสด็จไปดีแล้ว แสดง ว่าเกี่ยวข้องกับการเดินทาง
ตามเรื่องในพุทธประวัติก็จะเห็นชัดว่า พระพุทธเจ้านั้นเสด็จจาริกไปไหนมาไหนเสมอ ถ้าจะเรียกอย่าง ภาษาสมัยนี้ก็เรียกว่าเป็นนักเดินทางอย่างแท้จริง เดินทางไม่ทราบว่าปีหนึ่งเป็นระยะทางเท่าไร กว่าจะถึง จำพรรษาแล้วจึงจะหยุดพักประจำที่ ท่านเสด็จไปทั้งนี้ก็เพื่อจะโปรดเวไนยชน คือไปสั่งสอนธรรมะเพื่อ ประโยชน์แก่ประชาชน ให้มีความสุข ให้มีความสงบ ทั้งทางกายและทางใจ ทั้งส่วนบุคคลและก็ส่วนรวมที่อยู่ ร่วมกัน พระองค์ก็ได้พระนามว่า สุคโต แปลว่า ผู้เสด็จไปดีแล้ว
ทีนี้ความหมายของ สุคโต นี้ ก็ยังมีลึกซึ้ง ไม่ใช่เฉพาะเพียงว่า หมายความไม่เฉพาะว่าได้เสด็จไปที่โน่น ที่นี่เท่านั้น แต่มีความหมายลึกซึ้งลงไปในทางจิตใจด้วย อาตมภาพลองแยกดู ความหมาย สุคโต ที่ว่าเสด็จไปดี แล้วนะ ดีถึง 7 ดีด้วยกัน 7 ดีมีอะไรบ้าง
ข้อที่ 1. เสด็จไปดีแล้วในความหมายว่า เสด็จไปโดยทางที่ดี คือทางที่ดีงาม ทางที่ดีที่พระพุทธเจ้า ได้เสด็จไปนี้ ก็ได้แก่ทางที่เราเรียกว่าทางสายกลาง หรือภาษาพระเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทานั้น ก็คือทางที่ไม่ข้องแวะที่สุด 2 อย่าง
ที่สุด 2 อย่างนั้นได้แก่ 1) กามสุขัลลิกานุโยค ทางที่หย่อนเกินไป มุ่งแต่การปรนเปรอบำรุงบำเรอ ตนเองถ่ายเดียว ทางที่ 2) ก็คือ อัตตกิลมถานุโยค ทางแห่งการทรมานตนเอง ทำตัวเองให้ลำบาก เช่น พวก ลัทธิบำเพ็ญตบะทั้งหลายในสมัยพุทธกาลที่มีมากมาย อย่างที่ว่านอนบนหนาม อดอาหารจนแทบจะตาย กลั้นลมหายใจจนกระทั่ง อย่างที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกกรกิริยา จนกระทั่งปวดศีรษะไปหมด หรือว่ายืนขาเดียว อาบน้ำในฤดูหนาว เวลาหนาวที่สุดแล้วก็ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำอะไรงี้ หรือว่ายืนกลางแดดทั้งวัน นอนบนตะปู มีวิธีการมากมาย ตลอดจนกระทั่งเอาเท้าเหนี่ยวกิ่งไม้เอาหัวห้อยลงมา อะไรงี้อยู่อย่างงั้น ทางอะไรนั้น พระพุทธ เจ้าก็ถือว่าเป็นทางที่ทรมานตัวเองให้ลำบากเปล่า แล้วก็ได้ทรงค้นพบวิถีทางที่เรียกว่า สายกลาง คือ มัชฌิมา ปฏิปทานี้ ซึ่งได้แก่มรรคมีองค์ 8 ประการ มีสัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบเป็นต้น ไปจนกระทั่งถึงข้อสุดท้าย ก็คือ สัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้อง หรือสมาทานตั้งจิตมั่นชอบ
นี่คือทางที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไป เรียกว่าเสด็จไปโดยทางที่ดีงามที่ถูกต้อง ก็ได้ในความหมายที่ 1 ทีนี้เมื่อเสด็จไปโดยทางที่ดีแล้ว ก็จะไปบรรลุถึงสิ่งที่ดีงาม เขาเรียกว่าไปสู่สิ่งที่ดี เป็นความหมายที่ 2
เสด็จไปสู่สิ่งที่ดีงามที่เป็นจุดหมาย ก็คือพระนิพพาน หรือการที่ได้บรรลุโพธิญาณิ อันเป็นจุดมุ่งหมาย ของพระองค์ เพราะการที่ได้บรรลุพระนิพพานนี้ ก็ทำให้จิตของพระองค์หลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย และหลุด พ้นจากความทุกข์ เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เลยได้พระนามอีกอย่างว่า พุทโธ แปลว่า ผู้ตื่นแล้ว ตื่นจากความ หลับใหล พ้นจากกิเลสทั้งหลาย มีความสุข มีความเบิกบาน มีความผ่องใสได้ตลอดเวลา ที่ว่าจิตหลุดพ้นนั้น ก็คือจิตหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ จิตใจก็เบิกบานและผ่องใส เพราะฉะนั้นคำว่า พุทโธ นอกจากแปลว่า ตรัสรู้ หรือว่า ตื่นแล้ว ก็แปลว่าเบิกบานได้ด้วย
เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นมีลักษณะพระหฤทัยที่เบิกบานผ่องใสตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากว่าไม่หมดกิเลสแล้ว ก็ยากที่จะทำได้ และนอกจากนั้น ก็เพราะการที่หมดกิเลสก็ทำให้พระองค์เป็นผู้บริสุทธ์ เราก็จะเห็นว่าพระองค์ นั้น ทรงไว้ซึ่งพระบริสุทธิคุณ หรือวิสุทธิคุณ คือความบริสุทธิ์นี้ด้วย เป็นคุณสมบัติสำคัญของพระพุทธเจ้า
นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าความหมายที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่ที่ดีงาม เป็นความหมายอย่างหนึ่งของสุคโต
นี้ต่อไป นัยยะที่ 3 ข้อว่าเสด็จไปด้วยดี เสด็จไปด้วยดีนี้ มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปบรรลุผล สำเร็จอะไรแล้ว พระองค์ก็ไม่หวนหลังกลับ ไม่ร่วงหล่นลงมาจากผลสำเร็จนั้น เช่นว่า บรรลุโพธิญาณบรรลุ พระนิพพาน ได้ถึงความหมดทุกข์หมดกิเลสแล้ว พระองค์ก็ไม่หวนกลับมาหากิเลสไปหาความทุกข์อีก นี้เรียก ว่าเสด็จไปด้วยดีแล้ว ไม่หวนหลังกลับจากผลสำเร็จที่ตนได้บรรลุ ไม่กลับมามีกิเลสและความทุกข์อีก
นี้ต่อไป ประการที่ 4 ว่าเสด็จไปดี เวลาเรามีคนแปลกหน้ามานี้ มักจะมีการสงสัยว่าเขามาดี หรือมาร้าย เพราะพุทธเจ้าเสด็จไปดี เพราะฉะนั้น ไปถึงไหน ที่นั่นเขาก็จะรู้สึกว่าพระองค์เสด็จมาดี คือไม่ได้มาเพื่อความ ประสงค์ร้าย หรือจะมาทำอันตรายใคร แต่มาเพื่อทำให้เขาเกิดประโยชน์และความสุข เพราะพระองค์มาเพื่อ จะมาช่วยเหลือเขา พระองค์ได้นามว่าเป็น โลกนาถ เป็นที่พึ่งของโลก ก็เพราะว่าเสด็จไปเพื่อช่วยเหลือ เพื่อให้ ความสุขแก่ผู้อื่น จึงมีคำแสดงพระจริยาของพระพุทธเจ้าว่า ทรงบำเพ็ญอรรถประโยชน์ต่างๆ ถึง 3 ประการ ข้อสำคัญก็คือทรงบำเพ็ญเป็นโลกัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก ไปที่ไหน ก็นำเอาคำสอนคำแนะนำที่ ถูกต้องดีงามให้คนรู้จักที่จะประพฤติให้ถูกต้อง และก็ให้รู้จักเข้าถึงสัจธรรมความจริง
ถ้าในวงแคบเข้ามา พระองค์ก็บำเพ็ญ ญาตัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ หมายความว่า ในหมู่ ที่เป็นพระญาติ พระองค์ก็บำเพ็ญประโยชน์แก่เขา เช่นว่า เขาจะรบราฆ่าฟันกัน อย่างญาติพี่น้องของพระองค์ โกลิยะกับศากยะที่จะทำสงครามแย่งแม่น้ำกัน พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปโปรด ก็เสด็จไปดี ไปช่วยเขา ทำให้เขาเลิก ทะเลาะวิวาทกัน หรือว่าในหมู่พระสงฆ์หรือพระศาสนาที่พระองค์ตั้งขึ้น พระองค์ก็ทำหน้าที่บำเพ็ญประโยชน์ ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า อย่างที่เรียกว่า พุทธัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์สมตามที่เป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า บัญญัติพระวินัย ตั้งคณะสงฆ์ สั่งสอนพระสงฆ์ให้ประพฤติตนเป็นสมณธรรม ตั้งอยู่ในธรรมวินัย ทำให้พระสงฆ์ นั้นเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส และก็ดำรงพระพุทธศาสนามาได้ นี่ก็เรียกว่าเป็น พุทธัตถจริยา
ก็รวมเป็นจริยา 3 ประการ แสดงว่าพระองค์นั้นได้เสด็จไปดี เสด็จไปเพื่อประโยชน์และความสุข
นี้ต่อไป ประการที่ 5 มีความหมายว่า เสด็จไปโดยสวัสดี เมื่อเสด็จไปโดยสวัสดี ก็คือเสด็จไปไหน ก็มีแต่ ความปลอดภัย ใครๆ จะทำ ไม่มีใครคิดทำร้ายพระองค์ เพราะว่าอำนาจพระมหากรุณาเป็นต้น แต่ถึงจะมีคน คิดร้ายบ้าง พระองค์ก็ปลอดภัย ก็ไปโดยสวัสดิภาพ
อย่างที่ ที่ไปเจอช้างนาฬาคีรีที่พระเทวทัตปล่อยมา นั่นก็เรียกว่า จะให้พระองค์ไม่มีสวัสดิภาพ จะให้ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จะให้เสด็จปรินิพพานที่นั่น ช้างกำลังดุร้ายเมามันมา แต่ด้วยอำนาจพระมหากรุณา ช้าง ได้หยุด ไม่ทำร้ายพระองค์ หรือว่าพระองค์เสด็จไปที่ภูเขาที่พระเทวทัตจ้างนายขมังธนูมาคอยซุ่มยิง นายขมังธนู ก็เตรียมจะยิงพระพุทธเจ้า แต่พอมาเห็นพระองค์มีพระลักษณะที่ทรงเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา เขาก็ยิงไม่ลง ยิงไม่ ลง ก็เลยกลับเป็นว่าเข้ามากราบขอประทานอภัยโทษ พระองค์ก็พ้นภัย
เสด็จไปพบโจรองคุลีมาล ไปถึงปากทางที่จะเดินไปทางนั้น ชาวบ้านเขาก็บอกว่า โอ นี่ทางนี้ไม่ปลอดภัย นะท่าน มีโจรร้ายอยู่ อย่าว่าแต่คนเดียวเลย มากันเป็นกองเป็นหลายสิบ โจรร้ายนี่มันก็ยังทำร้ายได้ มันฆ่าคน ตัด เอานิ้วมือไปแขวนคอ ร้อยเป็นพวงมาลัย นี่เป็นองคุลีมาล ขอพระองค์อย่าได้เสด็จไปเลย พระองค์ก็ว่าไม่เป็นไร พระองค์จะเสด็จไปโปรดเขา แล้วพระองค์ก็เสด็จไปจนกระทั่งพบองคุลีมาล แล้วพระองค์ก็โปรดองคุลีมาลสำเร็จ โจรองคุลีมาลแทนที่จะทำร้ายพระองค์ ก็กลับกลายมาเป็นสาวก เป็นลูกศิษย์ มาบวช จนกระทั่งได้บำเพ็ญ สมณธรรม เป็นพระอรหันต์ไป เขาเรียกว่า พระองค์เสด็จไปโดยสวัสดี ไปที่ไหนก็ปลอดภัยไปหมด
ต่อไป ข้อที่ 6 ว่าเสด็จไปประสพความสำเร็จที่ดี ก็อันนี้ก็หมายความว่าพระองค์จะทำการงานอะไร พระองค์ก็เสด็จไป ตั้งความมุ่งหมายว่าจะไปทำเรื่องนั้นที่นั่น ที่นั่น แล้วพระองค์ก็เสด็จไป แล้วพระองค์ก็ทำ สำเร็จทั้งนั้น ที่สำคัญก็คือตอนประดิษฐานพระพุทธศาสนา ตอนนั้นพระองค์ไม่มีกำลังเลย คนจำนวนมากก็ไม่ รู้จักพระองค์ แต่พระองค์จะไปทำ ก็ทำให้สำเร็จจนได้
เริ่มไปประดิษฐานพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ก็ไปหาชฎิลซะก่อน ชฎิลตั้งพัน พระองค์ก็ โปรดได้สำเร็จ ตอนแรกเขาก็ถือว่าเขาเก่งกว่า เขาก็ไม่ยอม พระองค์ก็จะต้องไปหาทางแก้ทิฏฐิมานะ สมัยนั้น ใช้ศัพท์พระเรียกว่า ทรมาน พระองค์ก็ทรมานชฎิล หมายความว่าไปฝึก จนกระทั่งเขากลับใจ มานับถือพระองค์ ได้ แล้วเสด็จเข้าเมืองราชคฤห์ ก็โปรดพระเจ้าพิมพิสารได้สำเร็จอีก ก็ทำงานอะไรต่างๆ พระองค์ก็ประสพความ สำเร็จไปทั้งนั้น เรียกว่าประสพความสำเร็จที่ดี ไม่เป็นผลสำเร็จในทางที่ร้ายอย่างใดทั้งสิ้น
และก็มาถึงดีข้อที่ 7 เสด็จไปดีข้อที่ 7 ก็คือเสด็จผ่านพ้นไปด้วยดี ตอนไปก็ไปดีแล้วล่ะ แต่พอผ่านพ้น ไป ก็ทิ้งสิ่งที่ดีงามไว้ให้กับคนที่นั่นอีก ที่สำคัญก็คือว่า ทิ้งธรรมะคำสอนไว้ให้ ทำให้คนที่นั่นได้รับรสพระธรรมมี ความร่มเย็นเป็นสุข หรือพูดในระยะยาวก็คือ การที่พระองค์ได้ทิ้งพระพุทธศาสนาไว้เบื้องหลัง ให้พุทธศาสนิกชน ได้รับพระธรรมวินัย และก็สืบต่อกันมาจนกระทั่งบัดนี้
อันนี้ก็คือประโยชน์ที่เกิดจากการเสด็จด้วยดีของพระพุทธเจ้า รวมเป็นความหมาย สุคโต แยกเป็นดี 7 อย่าง อาตมภาพขอทบทวน
อันที่ 1 ก็คือ เสด็จไปโดยทางที่ดี ได้แก่มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ 8
ข้อที่ 2 ก็ เสด็จไปสู่ที่ดี ได้แก่เสด็จไปสู่สัมโพธิญาณ หรือพระนิพพาน และ
ข้อที่ 3 ก็ เสด็จไปด้วยดี หมายความว่า ได้บรรลุถึงจุดหมายแล้วก็ไม่ถอยหลังกลับ เป็นอันว่าเรียบร้อยดี
และก็ประการที่ 4 ก็เสด็จไปดี เสด็จไปเพื่อประโยชน์สุขของคนในที่นั้นๆ และ
ประการที่ 5 ก็ เสด็จไปโดยสวัสดี คือมีความปลอดภัย และ
ประการที่ 6 ก็ เสด็จไปประสพความสำเร็จที่ดี ก็ทำความมุ่งหมายที่พระองค์จะต้องการทำนั้นให้สัมฤทธิ์ ผลเป็นอย่างดี เพื่อประโยชน์สุขดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
และประการสุดท้าย ประการที่ 7 ก็คือ เสด็จผ่านพ้นไปด้วยดี แม้พ้นไปแล้ว ที่นั้นๆ ก็ได้รับสิ่งที่เป็น ประโยชน์เอาไว้ใช้ได้ต่อไป รวมถึงว่ามีพระพุทธศาสนาไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังตลอดมาเป็นเวลาถึง 2500 กว่าปีจนบัดนี้
นี่ก็เป็นพุทธคุณในข้อ สุคโต อาตมภาพก็ถือโอกาสนำมาชี้แจงอธิบายไว้ เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การจาริก หรือการเดินทาง แต่ในการเดินทางครั้งๆ หนึ่งๆ นั้น ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้ได้ผลสำเร็จ เป็นการไปที่ดี ทั้ง 7 ประการนี้ ก็แล้วแต่เรื่องที่ทำแต่ละครั้ง ก็ อย่างน้อยก็ให้ได้ 2 ประการ อันหนึ่งก็คือได้สวัสดี คือไปโดย สวัสดีมีความปลอดภัย และประการที่ 2 ก็คือว่าประสพความสำเร็จที่ดี หมายความว่า การเดินทางครั้งนั้นมี ความมุ่งหมายอย่างไร เช่นว่า จะไปเพื่อการพักผ่อน ไปเพื่อได้รู้ได้เห็น ได้มีความสบายจิตสบายใจ ก็ให้ได้รับ ความสุข ความสำเร็จสมตามนั้น
นี้อาตมภาพนำเอาพุทธคุณมานี้ ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นที่เคารพสักการะ ก็จะได้ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะพระคุณข้อสุคโตนี้ มาเป็นเครื่องอภิบาลรักษาคุ้มครองคุณโยมหมอ ทั้งสองท่าน ในการที่เดินทางครั้งนี้ ก็ขอให้ได้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และก็ประสพความสำเร็จสมความมุ่ง หมายของการเดินทางนั้น จะเป็นการงานก็ให้การงานสำเร็จด้วยดี
และก็ ในการที่ว่าเป็นการจะพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศ ก็ขอให้ทั้งกายทั้งใจมีความสุขมีความเบิกบาน ผ่องใส แล้วก็กลับมาก็จะได้ทำกิจทำหน้าที่ ตลอดถึงดำเนินชีวิตให้มีความสุข ความก้าวหน้า ทั้งในด้านทั่วไป และในด้านของธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้งอกงามในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าตลอดกาลนาน
อาตมภาพก็ขออนุโมทนาโยมในพุทธคุณข้อสุคโต โดยเชื่อมกับการเดินทางของคุณโยมหมอ ขอให้ พุทธคุณนั้นจงประสิทธิ์ผลสำเร็จแก่คุณโยมสมดังที่กล่าวมานี้ทุกประการ