แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พูดถึงเรื่องพิธีกรรม ก็ถือว่าจบ อันนี้เรื่องพิธีกรรมก็เป็นเรื่องรูปแบบอย่างที่ว่ามาแล้ว เป็นด้านรูปธรรมที่มาสื่อนามธรรม สื่อหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ทีนี้เรื่องรูปธรรมนี่นอกจากพิธีกรรมที่เป็นด้านกิจกรรมแล้วยังมีที่เป็นรูปธรรมชัดยิ่งกว่ากิจกรรมอีก คืออะไร ก็คือสิ่งที่เป็นวัตถุโดยตรง ในเมื่อพูดถึงเรื่องพิธีกรรมที่เป็นกิจกรรมที่เป็นด้านรูปธรรมส่วนหนึ่งแล้วก็พูดเรื่องรูปธรรมต่อไปเลย รูปธรรมที่สื่อธรรมะ หรือสื่อนามธรรม แล้วก็เป็นด้านวัตถุเลย นี่คืออะไร ก็คืออย่างที่เราเรียกกันปัจจุบันว่าวัตถุมงคล คำว่าวัตถุมงคลนี้ก็เป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ ก็แปลกเหมือนกัน ใครเป็นคนคิดบัญญัติขึ้นมา สมัยก่อนนี่จะไม่ได้ยิน จะพูดกันว่าเครื่องรางของขลัง เครื่องรางของขลังก็จะมีเยอะแยะไปหมด แต่ว่าที่เด่นมากก็คือพระเครื่อง พระเครื่องนี่ก็เป็นของสำคัญ ทีนี้ปัจจุบันคนก็จะมีทรรศนะต่อเรื่องพระเครื่องแล้วก็เครื่องรางของขลังอย่างอื่นที่ปัจจุบันนี้เรียกรวมว่าวัตถุมงคล ก็มักจะมีเป็นสองฝ่ายเลย ฝ่ายหนึ่งก็คือว่าเอาจริงเอาจังถือเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นเรื่องสิ่งที่จะช่วยคุ้มครองให้โชคให้ลาภอะไรต่างๆบันดาลผลสำเร็จที่ต้องการ อีกพวกหนึ่งก็ติเตียนคัดค้าน แต่ก็ยังมีพวกที่สามก็ให้รู้จักใช้ประโยชน์ แต่ว่าจะหนักไปสองฝ่ายที่สุดขั้วสองด้านมาก
เรื่องวัตถุมงคลโดยเฉพาะพระเครื่องมีมาแต่โบราณเก่าแก่มาก ในการที่จะคิดเรื่องนี้เราน่าจะได้ศึกษาคนโบราณด้วย ถ้าเราบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเรามองเป็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีเลยเป็นโทษ ก็เท่ากับว่าติเตียนคนโบราณโดยส่วนเดียว ว่าคนโบราณเหล่านั้นถือผิดหรือโง่เขลา เราก็น่าจะพิจารณาศึกษาท่านเพื่อมองหาความจริง ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะไปนิยมยกย่องคนโบราณ หรือก็ไม่ใช่ว่าจะตั้งตาตำหนิเท่านั้น แต่ว่าหาความเข้าใจ
ในการหาความเข้าใจก็ 1) ดูความเป็นมาเท่าที่เราจะหาได้ 2) เรามีหลักการพระพุทธศาสนาที่เราจะใช้วัดเทียบอยู่แล้ว จะไปศึกษาท่านอย่างเดียวก็ไม่ถูก หลักการพุทธศาสนานี่เรามีคัมภีร์ที่จารึกพุทธพจน์ไว้โดยเฉพาะพระไตรปิฎก ก็ทำให้เราสามารถเข้าไปมองดูหลักการได้เลย จากการศึกษาสองด้านนี้จะทำให้เราสามารถมาพิจารณามาคิดมาวางแนวอะไรต่างๆได้ดีขึ้น
เรื่องของพระเครื่องก่อน พระเครื่องนี่มีมากและมีความสำคัญเหนือกว่าวัตถุมงคลอย่างอื่นสำหรับชาวพุทธ ถ้าเรามองดูในแง่โบราณคดีก็จะเห็นว่ามีมากมาย ในสมัยก่อนนั้นสำหรับชาวพุทธแล้วแทบจะไม่มีเรื่องวัตถุมงคลอื่น เรื่องพระเครื่องจะเด่นมาก พระเครื่องที่ทำสมัยก่อนเราจะเรียกว่าพระพิมพ์ใหญ่กว่า พระเครื่ององค์เล็กๆก็มี มีทุกขนาด ขนาดเล็กๆก็มี ขนาดใหญ่โตมากก็มี ความเป็นมาแต่เดิมก็เป็นแบบพระพุทธรูป ก็หมายความว่าทำพระพุทธรูปก็ทำพระในขนาดต่างๆ ความมุ่งหมายเดิมเราก็จะเห็นว่า อ้อ เป็นที่ระลึกแทนองค์พระพุทธเจ้า แต่เดิมทีเดียวตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้วคนนับถือพุทธศาสนาสำหรับปุถุชนก็ย่อมมีศรัทธา เริ่มต้นก็ศรัทธาในองค์พระพุทธเจ้า เมื่อศรัทธาแล้วความศรัทธาก็จะมีความรู้สึกผูกพัน หรือกระทั่งเป็นความรัก อย่างเช่นหลายๆท่านจะรักพระพุทธเจ้ามาก อย่างพระเจ้า(ประเสณธิโกศล)รักเหลือเกิน หรืออย่างมีเศรษฐีอายุมากผู้หนึ่งชื่อ นกุลปิตานกุลมารดา แก่มากแล้วรักพระพุทธเจ้าเหมือนลูก ก็มีความสนิทสนมมากกับพระพุทธเจ้า แม้พระพุทธเจ้าจะตรัสเสมอว่า อย่ามาติดในตัวบุคคล อันนี้ก็เพื่อจะให้เตือนสติ อย่าให้กลายเป็นว่ามาติดอยู่แค่นี้ เพราะว่าวัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนานั้นต้องการจะให้คนได้หลุดพ้นเป็นอิสระ พึ่งตนเองได้ พระพุทธเจ้าก็มาช่วยเป็นกัลยาณมิตร แต่บางทีก็มาติดในกัลยาณมิตรเสีย แต่ถึงอย่างไรก็ตามเราก็ยอมรับว่าในระดับหนึ่งก็เป็นประโยชน์ทำให้มาเอาใจใส่โน้มจิตเข้ามาสู่ธรรมะ ได้มาศึกษาจริงจังมาเชื่อฟังฟังตามคำสอนแล้วก็จะเป็นทางให้เดินหน้าไปได้ อันความเป็นกัลยาณมิตรที่ผูกไว้ด้วยศรัทธาก็เป็นประโยชน์เช่นนี้ เป็นเครื่องนำไปสู่จุดหมายที่สูงขึ้นไปสู่ปัญญาแล้วจึงหลุดพ้น ก็ต้องคอยเตือนคอยระวังอย่ามาติดอยู่แค่นี้ ไม่หลง ดังนั้นพระพุทธเจ้าก็เตือนไว้แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่ให้มีศรัทธา ศรัทธาเป็นตัวสำคัญที่จะช่วยเป็นตัวนำในเบื้องต้นเพื่อจะให้เดินหน้าได้ มีพลังมีกำลังทำให้เอาจริงเอาจัง ความผูกพันความศรัทธาต่างๆเหล่านี้ทำให้อยากจะอยู่ใกล้ชิด และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปไหนห่างไกล ท่านเหล่านี้ก็จะระลึกถึง และอยากจะมีอะไรเป็นองค์แทนที่ระลึก ก็เลยมีเหตุการณ์เช่นอย่าง อนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อพระพุทธเจ้าบางครั้งเสด็จไปที่อื่นก็อยากจะมีอะไรเป็นที่ระลึกแทนองค์พระพุทธเจ้าให้ได้มาเห็นทุกวันๆ เหมือนกับได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็เลยขอพระอานนท์ว่าอะไรไว้เป็นสิ่งที่แทนองค์พระพุทธเจ้าเป็นที่ระลึกก็จึงได้ปลูกต้นโพธิขึ้นต้นหนึ่งที่พระเชตวัน ต้นโพธิต้นนี้เวลาพระพุทธเจ้าไม่อยู่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้มาคอยบำรุงรักษาดูแลได้รู้สึกเหมือนกับว่าอยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าก็ได้เรียกชื่อต้นโพธินี้ว่า อานันทโพธิ ต้นโพธิ์ของพระอานนท์ อย่างนี้เป็นต้น แม้แต่พระอานนท์เองก็มีความรักพระพุทธเจ้ามาก จนกระทั่งก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระอานนท์ตรัสรู้ช้าเพราะความติดความผูกพัน คติโบราณมีอยู่อย่างหนึ่งว่าอย่างท่านที่ทำความดีหรือเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนเมื่อท่านจากไปแล้วก็จะเก็บสิ่งของที่เกี่ยวกับตัวท่านนั้นไว้เป็นตัวแทนไว้เป็นที่ระลึกโดยเฉพาะก็คืออัฐิ สำหรับพระพุทธเจ้าเราก็เรียกว่าพระบรมสารีริกธาตุ คตินี้มีมาตั้งแต่โบราณเป็นคติของการสร้างสถูป คือเมื่อท่านที่เคารพนับถือล่วงลับไปก็เอาอัฐิของท่านมาเก็บไว้ แล้วก็บรรจุไว้สร้างสถูปบรรจุไว้ โดยปกติก็จะสร้างไว้ ณ ทางสี่แพร่ง หมายความว่าเป็นจุดที่คนเดินมาพบปะได้พบเห็นอยู่เสมอก็จะได้กราบไว้บูชาเป็นที่ระลึกเตือนใจเราให้นึกถึงท่านที่เคารพบูชานั้นแล้วจิตใจจะได้โน้มไปสู่ความดีความงามไปด้วย ถ้าสำหรับพระพุทธศาสนาก็เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงคำสอนของพระองค์ คือเมื่อนึกถึงพระองค์ก็นึกถึงคำสอนของพระองค์ด้วย นึกถึงคำเตือนของพระองค์ให้เรามั่นอยู่ในคุณธรรมความดีงาม ในคติเรื่องสร้างสถูปบรรจุที่เราเรียกว่าพระธาตุนี้ก็มีมาแต่ก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงมีเรื่องในพระไตรปิฎกที่ว่ากษัตริย์เมืองต่างๆส่งทูตมาขอพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อจะไปบรรจุไว้แทนพระองค์ในเมืองของตนๆเป็นที่สักการะเคารพบูชาของประชาชน นี่เป็นคติโบราณ นอกจากพระอัฐิธาตุพระสรีระธาตุของพระองค์แล้ว แม้แต่สิ่งที่พระองค์ทรงใช้ เคยไปประทับที่ไหน คนก็จะเอาสถานที่นั้นเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า สถานที่สี่แห่งต่อไปนี้เป็นสังเวชนียสถาน เป็นสถานที่ที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช สังเวชหมายความว่าเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดพลัง ภาษาไทยในสมัยหลังเข้าใจคำว่าสังเวชผิด สังเวชกลายเป็นสลดหดหู่ สลดหดหู่เป็นอกุศลท่านเรียกว่าเป็นนิวรณ์ สังเวช มาจาก สังเวคะ เวคะแปลว่าพลัง สัง แปลว่าพรั่งพร้อมขึ้นมา พลังพรั่งพร้อมขึ้นมาขึ้นมา นึกถึงพระพุทธเจ้าก็คือเกิดพลังพรั่งพร้อมขึ้นมา ไปเห็นสถานที่ที่พระองค์เคยประทับมาก่อน ก็คือที่เกี่ยวข้องกับพระองค์เริ่มแต่ ที่ประสูติที่ลุมพินีวัน ที่ตรัสรู้ที่พุทธคยา โดยเฉพาะที่ต้นโพธิ ซึ่งเดี๋ยวนี้ต้นโพธิที่พุทธคยาก็ไม่ใช่ต้นเดิม ที่แสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่ปรินิพพานที่กุสินารา เหล่านี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่าเป็นที่ที่ชาวพุทธควรจะได้เห็นได้ดูเพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงว่าพระพุทธเจ้าของเราเคยเสด็จมาอยู่ที่นี่ เคยใช้สถานที่นี้ ก็จะได้เตือนใจให้นึกถึงพระองค์และคำสอนของพระองค์ เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง จิตใจก็จะได้น้อมเข้าไปสู่กุศลธรรม ที่เรียกว่าสังเวชนียสถาน ดังที่กล่าวแล้ว่า สังเวคะ แปลว่าเกิดกำลังพรั่งพร้อมขึ้นมา ไม่ใช่หมายความว่าสลดหดหู่ใจ (ในทางตรงข้าม)ปลุกใจนั่นเอง เป็นที่ที่ปลุกใจจะได้นึกถึงมีกำลังใจที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้น ไปเห็นแล้วเกิดปีติอิ่มใจ นี่พระพุทธเจ้าเคยอยู่ตรงนี้เราได้มาเห็นแล้วด้วยตนเอง ต่อไปนี้ตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ให้เต็มที่ อะไรต่างๆที่เคยอยู่ในความประมาทตอนนี้จะไม่ประมาทแล้ว เป็นต้น สังเวชนียสถานเป็นสถานที่ ส่วนสิ่งที่พระองค์เคยใช้สอยอาจจะเป็นบาตรหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ถือว่าเป็นเครื่องระลึกแทนพระองค์เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ท่านใช้คำว่า เจดีย์ มีการแบ่งพุทธเจดีย์ เจดีย์ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เป็นสี่อย่าง ในคัมภีร์รุ่นหลังๆก็จะจัดออกมาว่า เจดีย์นี้คือสิ่งที่เตือนใจระลึกถึงองค์พระพุทธเจ้าสำหรับชาวพุทธ มี 4 ประเภท 1) ธาตุเจดีย์ เจดีย์ที่บรรจุพระธาตุคือพระอัฐิของพระองค์ อันได้แก่พระสถูปต่างๆ 2) ธรรมเจดีย์ เจดีย์บรรจุพระธรรมคำสอน นำเอาคัมภีร์บรรจุ เช่นจารึก ปฏิจจสมุปบาท เย ธัมมา เหตุปัปพวา บรรจุไว้ เป็นเจดีย์ประเภทหนึ่งเตือนใจระลึกถึงธรรมโดยตรงคือคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระองค์ก็คือรำลึกถึงว่าพระองค์สอนไว้อย่างไรก็โยงไปหาพระพุทธเจ้าด้วย 3) บริโภคเจดีย์ คือเจดีย์ที่ได้แก่สิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย แม้แต่สถานที่อย่างเช่น สังเวชนียสถานทั้งสี่ เป็นบริโภคเจดีย์ บริโภคไม่ใช่หมายความจะต้องเอามาฉัน บริโภคในภาษาบาลีก็คือเคยใช้สอย สถานที่นั้นพระพุทธเจ้าใช้มาแล้วเช่น ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 4) อุทเทสิกเจดีย์ เจดีย์ที่สร้างเพื่ออุทิศ หมายถึงว่าเจาะจงเป็นเครื่องหมายถึงพระพุทธเจ้าก็ได้แก่พระพุทธรูป อุทเทสิกเจดีย์คือพระพุทธรูปนี้เกิดหลังสุด เพราะว่าสมัยก่อนนี้มีคติว่าท่านที่เคารพนับถือสูงสุดไม่กล้าแม้จะทำรูปแทนเพราะมีความเคารพมาก ถ้าไปทำรูปแทนแล้วรู้สึกว่าไม่เคารพ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีพระพุทธรูป เห็นได้ชัดคือในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งเป็นเวลาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วสองร้อยกว่าปี พระเจ้าอโศกมหาราชนับถือพระพุทธเจ้าและอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้สร้างสิ่งที่เป็นหลักเป็นฐานไว้เป็นถาวรวัตถุโดยใช้หินใช้ศิลา ดังนั้นโบราณวัตถุยุคพระเจ้าอโศกมหาราชจึงเหลือมามากอย่างยิ่ง ที่เราได้รู้จักพุทธศาสนาในอินเดียยุคหลังที่มาขุดค้นพบก็เป็นของพระเจ้าอโศกมหาราช ถ้าเป็นยุคอื่นที่สร้างด้วยไม้หรือวัสดุต่างๆก็ไม่มีเหลืออยู่ พระเจ้าอโศกสร้างด้วยศิลาเป็นหลักฐานที่คงเหลืออยู่มากมายเช่นศิลาจารึกเป็นต้น ทั้งสลักเสาศิลา และจารึกบนโขดหิน แผ่นหิน พระเจ้าอโศกมหาราชนับถือพระพุทธเจ้าจึงทำรูปภาพแกะสลักในศิลาไว้เป็นพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน แต่ปรากฎว่าในเหตุการณ์เหล่านั้นไม่มีองค์พระพุทธเจ้าอยู่ ว่างไว้และพยายามคิดสัญญลักษณ์เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่านี่คือเหตุการณ์ตอนนั้น เช่นตอนประสูติมีพระนางมายาโหนกิ่งไม้สาละ ทำให้คนดูรู้ว่าเป็นตอนประสูติ หรือมีภาพดอกบัวรองรับที่ทรงเหยียบ 7 ก้าว แต่ไม่มีองค์ ตอนตรัสรู้ก็ทำต้นโพธิไว้ มีพระแท่น และมีรูปอื่นประกอบให้ระลึกรู้ได้ว่านี่เป็นเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ ปรินิพพานก็มีพระแท่นใต้ต้นสาละ แสดงปฐมเทศนาก็มีรูปกวางหมอบอยู่ใต้พระแท่นเป็นที่รู้กันว่าเป็นป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพราะเป็นป่าที่เป็นที่อยู่ของพวกหมู่เนื้อหมู่กวาง ดังนั้นในสมัยพระเจ้าอโศกก็ยังไม่มีพระพุทธรูป อันนี้ชัดเจน จนกระทั่งมาถึงเมื่อประมาณพ.ศ.500 จึงเกิดมีพระพุทธรูป เพราะมีวัฒนธรรมอื่นเข้ามานั่นคือพวกกรีก กรีกความจริงเริ่มเข้ามาตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอโศกตั้งแต่ยุคปู่พระเจ้าอโศก นั่นคืออเล็กซานเดอร์มหาราช ทุกท่านคงเคยได้ยินชื่อ อเล็กซานเดอร์มหาราชกษัตริย์กรีกแห่งแมสิโดเนีย เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่มาก หนุ่มและมีความสามารถมาก ยกทัพแสดงแสนยานุภาพรบชนะดินแดนต่างๆมาจนประชิดชายแดนอินเดียซึ่งมีอารยธรรมที่รุ่งเรืองยิ่งใหญ่ภายใต้อาณาจักรมคธผู้รวบรวมอำนาจปราบอาณาจักรต่างๆที่รุ่งเรืองในสมัยพุทธกาลในคาบสมุทรอินเดียไว้ได้ทั้งหมด แต่ก็มีอาณาจักรเล็กๆหลายอาณาจักรที่ต้องการแย่งอำนาจมคธ อย่างเช่นผู้นำที่ชื่อจันทรคุปต์ ซึ่งอยู่ในวงศ์โมริยะหรือเมารยะ ที่เชื่อว่าอาจเป็นตระกูลที่เป็นพระญาติกับวงศ์ศากยะของพระพุทธเจ้า ซึ่งถูกกวาดล้างจากแคว้นโกศล ซึ่งเป็นเรื่องเก่าตอนสมัยพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่าเจ้าชายวิฑูฑภะเป็นลูกพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศลกับมเหสีที่สู่ขอมาจากวงศ์ศากยะ วงศ์นี้หวงแหนและถือตัวในเรื่องวรรณะเป็นอย่างยิ่งและรังเกียจพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าด้อยกว่าแต่ก็เกรงใจพระพุทธเจ้า จึงส่งธิดาที่เกิดแต่นางทาสมาให้โดยไมได้บอกความจริง เจ้าชายวิฑูฑภะได้ทราบความจริงเมื่อเติบโตแล้วและได้รับการเหยียดหยามจากพระญาติวงศ์ศากยะจึงมีความแค้น จนในที่สุดเป็นผู้ที่ยกทัพฆ่าล้างเผ่าพันธ์วงศ์ศากยะในสมัยพุทธกาล ญาติวงศ์ที่หนีรอดไปได้สืบเชื้อสายมาถึงจันทรคุปต์ จันทรคุปต์พยายามรบราต่อสู้กับมคธแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เมื่อสถานการณ์ประจวบเหมาะสำหรับอเล็กซานเดอร์มหาราชกับจันทรคุปต์ที่ต่างต้องการโจมตีอาณาจักรมคธ ทั้งสองฝ่ายจึงคิดร่วมมือกัน แต่สิ่งที่เรียกว่าขัตติยะมานะของทั้งสองฝ่ายจึงทำให้ไม่สามารถร่วมมือกันได้ แต่ในที่สุดไม่ทราบด้วยเหตุใดอเล็กซานเดอร์มหาราชจึงถอยทัพกลับเลิกล้มการเข้าโจมตีมคธ โดยเสด็จกลับทางเรือและสวรรคตกลางทาง แต่ก็ได้ให้แม่ทัพนายกองชาวกรีกส่วนหนึ่งอยู่ปกครองดินแดนที่ตีได้มาก่อนถึงชายแดนอินเดีย ส่วนจันทรคุปต์ประสบความสำเร็จในการยึดมคธได้ แต่ก็มีเรื่องราวยาวต้องเล่ากันทีหลัง จันทรคุปต์ตั้งตัวเป็นกษัตริย์สถาปนาราชวงศ์โมริยะครองแคว้นมคธ มีราชโอรสที่ต่อมาครองราชย์ชื่อพระเจ้าพินทุสาร เจ้าชายอโศกเป็นหนึ่งในโอรสจำนวนหนึ่งร้อยเศษของพระเจ้าพินทุสารและได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชครองแคว้นอวันตี เมื่อพระเจ้าพินทุสารสวรรคต เจ้าชายอโศกมีความโหดร้ายมากได้โจมตีเข่นฆ่าโอรสพี่น้ององค์อื่นๆจนหมดเหลือไว้แต่น้องที่ร่วมครรภ์มารดาองค์เดียวจนได้ขึ้นครองราชย์ในที่สุด และทำการรบพุ่งมากที่สุด แต่สุดท้ายก็กลับใจมานับถือพระพุทธศาสนาเปลี่ยนนโยบายจากสังคามวิชัย ชนะด้วยสงครามมาเป็นธรรมวิชัย ชนะด้วยธรรมะ เปลี่ยนจากการรบราฆ่าฟันมาสร้างสาธารณประโยชน์ สร้างถนนหนทาง สร้างโรงพยาบาลคน สร้างโรงพยาบาลสัตว์ สร้างวัดวาอาราม ให้การศึกษาประชาชน จัดทำศิลาจารึกอันเป็นอุบายการศึกษาแก่ประชาชนเพราะสมัยก่อนยังไม่มีกระดาษใช้ทั่วไป ใช้วิธีจารึกแล้วให้ผู้นำชุมชนมาเรียนมาศึกษาแล้วไปสอนต่อชาวบ้าน เป็นการครองราชย์ที่ยิ่งใหญ่มาก ทรงอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาให้แผ่ขยายไปทั่วทุกแคว้นของพระองค์ แต่หลังจากสวรรคตไม่กี่สิบปีพวกพราหมณ์ได้จับหลานหรือเหลนพระเจ้าอโศกมหาราชปลงพระชนม์ และตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อสุงคเป็นวงศ์ของของวรรณะพราหมณ์และกำจัดพุทธศาสนาขนานใหญ่ แต่การครองอำนาจของราชวงศ์สุงคะไม่ยิ่งใหญ่เท่าพระเจ้าอโศกมหาราช ปกครองไม่ทั่วถึงมีแตกเป็นแว่นแคว้นกระจัดกระจาย นับว่าเป็นบุญของพระพุทธศาสนาที่แว่นแคว้นกระจัดกระจายก็รักษาพุทธศาสนาไว้ บางแว่นแคว้นก็สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์กรีกที่สืบเชื้อสายมาจากแม่ทัพนายกองสมัยอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพมาประชิดพรมแดนอินเดีย หนึ่งในแว่นแคว้นเหล่านี้ต่อมาในระยะพ.ศ. 500 มีกษัตริย์กรีกชื่อว่า เมนันเดอร์ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า พระเจ้ามิลินทะ นับถือพุทธศาสนามากมีเรื่องราวว่าเป็นนักปราชญ์ที่ชอบถกเถียงเรื่องทางปรัชญา เมื่อได้พบกับพระนาคเสนจึงได้มาเลื่อมใสนับถือพุทธศาสนาและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง แว่นแคว้นนี้ก็มีวัฒนธรรมกรีกที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ กรีกนิยมปั้นรูปเคารพ จะเห็นได้ว่าในเมืองกรีกมีการปั้นรูปเทพเจ้าซีอุส อะไรพวกนี้มากมาย พอมานับถือพุทธศาสนาพวกกรีกจึงอยากปั้นรูปพระพุทธเจ้า จึงเอาแนวความคิดวัฒนธรรมกรีกมาปั้นพระพุทธรูปขึ้น เกิดเป็นพระพุทธรูปเป็นครั้งแรกจากพวกเชื้อสายกรีกที่มาปกครองอยู่ในอินเดีย เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปในยุคแรกๆจึงเป็นศิลปะฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย โดยเฉพาะศิลปะคันธาระ ซึ่งเป็นชื่อแคว้นของอินเดียหรือชมพูทวีปที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งสืบมาแต่สมัยพุทธกาล เล่ามาทั้งหมดถึงการเกิดพระพุทธรูปว่าที่พวกกรีกสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาก็เพื่อเป็นที่ระลึกแทนองค์พระพุทธเจ้า คติเรื่องการสร้างพระพุทธรูปก็มีเรื่อยมาสร้างไว้เป็นองค์แทนระลึกถึงพระพุทธเจ้า คนที่มีกำลังก็สร้างองค์ใหญ่ๆ คนที่ไม่มีกำลังก็สร้างองค์เล็กๆ หรือคนที่มีกำลังมากๆอยากจะแจกเผื่อแผ่ก็สร้างองค์เล็กๆแจกกันไป ทำให้ความนิยมสร้างพระพุทธรูปแพร่หลาย ต่อมาก็มีความคิดถึงว่า โอ้ ในอนาคตกาลเบื้องหน้าพุทธศาสนาอาจจะสูญสิ้นไปก็ได้เราจะต้องทำอะไรเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าแต่ก่อนในดินแดนนี้มีพระพุทธศาสนามั่นคงเจริญอยู่ ก็คิดว่า โอ้ต้องสร้างสถูปและบรรจุพระพุทธรูปไว้จะเป็นพระองค์ใหญ่บ้างเล็กบ้างเป็นพระเครื่องที่เราเรียกว่าพระเครื่องพระพิมพ์ ก็เลยเกิดมีคตินี้ขึ้นมาว่า สร้างสถูปบรรจุพระพุทธรูปใหญ่น้อยเพื่อไว้เป็นหลักฐานแสดงในอนาคตเมื่อพุทธศาสนาเสื่อมโทรมสูญสิ้นไปว่าได้เคยมีพุทธศาสนาเจริญอยู่ในดินแดนนี้ นี่จึงเกิดเป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งว่าทำไมจึงมีการสร้างพระเครื่องกันมากมาย นี่คือเล่าเรื่องในอดีตให้เห็นว่ามีความเป็นมาอย่างไร ตอนนี้คือได้ 2 ข้อ คือ 1)เป็นสิ่งที่เคารพบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้า ทำให้เตือนใจทำให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรมคำสอนของพระองค์เป็นเครื่องเจริญศรัทธาทำให้จิตมีปีติอิ่มใจน้อมจิตไปสู่ความสงบแม้จะใช้ในทางสมาธิก็ได้ เพราะว่าเราจะเริ่มบำเพ็ญสมาธิทำจิตใตให้สงบ ใจมันแกว่งนึกเรื่องโน้นเรื่องนี้เรามีสิ่งที่เคารพ มีพระพุทธรูปอยู่กับตัวเรา เรามองไปที่พระพุทธรูปเรานึกถึงแต่พระพุทธเจ้าอย่างเดียวและนึกถึงพระคุณของพระองค์ จิตใจของเราก็โน้มเข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิตั้งมั่น ได้ประโยชน์มากมาย แล้วก็มา 2) มีคติที่ว่าสร้างไว้บรรจุไว้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าพระพุทธศาสนาเคยมีที่นี่ เกิดเป็นความนิยมสืบกันมา เมื่อศาสนาพุทธมาสู่เมืองไทยก็ถือตามกันมาเช่นกัน เรื่องพระพุทธรูปนี้โดดเด่นมาก
เรื่องนี้จึงเป็นมาจนกระทั่งมีความคิดว่า การที่นับถือแทนองค์พระพุทธเจ้าก็ทำให้ในแง่หนึ่งเกิดกำลังใจ ถ้าสำหรับมนุษย์ปุถุชนซึ่งยังมีความหวั่นไหวมีความหวาดกลัวต่างๆ เมื่อมีสิ่งที่ระลึกแล้วก็ทำให้จิตใจเกิดกำลังขึ้นมาหายกลัว เรื่องนี้แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ตรัส แต่ตอนนั้นไม่มีพระพุทธรูป ในยุคพุทธกาล ยกตัวอย่างพระสูตรที่ชื่อว่า ธชัคคสูตรพระภิกษุจำนวนหนึ่งไปอยู่ในป่า ไปบำเพ็ญสมณธรรม ไปเจริญภาวนา เกิดความกลัวในเรื่องว่าบางทีเทวดามาแกล้ง เทวดาก็มีทั้งดีทั้งร้าย ไม่แน่ใจว่าเคยพูดบอกแล้วหรือยังว่าเทวดานั้นในพุทธศาสนาถือว่าเทพต้องไม่เหนือธรรม ธรรมต้องเหนือเทพในหลักพุทธศาสนาต้องจำไว้ให้ดี หลักการว่าธรรมต้องเหนือเทพ กลับมาในพระสูตรว่าเทวดาซึ่งก็มีฤทธิ์มีเดชอย่างที่เรารู้ๆกันอยู่แล้ว ชอบยกทัพรบกันด้วย ไม่ว่าตำนานกรีกหรือฮินดูอินเดียหรือประเทศไหนก็ตาม เทวดาชอบยกทัพรบกัน แย่งคู่ครองกัน ปราบปรามกัน มีโลภะ โทสะมาก โมหะเยอะ เทวดาก็เหมือนมนุษย์เช่นกันแต่เป็นระดับที่มีกำลังอำนาจ มีความดีในส่วนอื่นพอสมควร คือโดยเฉลี่ยแล้วถือว่าเทวดาสูงกว่ามนุษย์ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่มีกิเลสซึ่งบางทีกิเลสก็มากเพราะมีโอกาสหนุน หรือความฮึกเหิมใจในความมีกำลังอำนาจ เพราะฉะนั้นตำนานเทวดาไม่ว่าประเทศไหนโดยเฉพาะอินเดียก็จะมีเรื่องราวรบราฆ่าฟันกันมาก เทวดาก็มาเกี่ยวกับพระสงฆ์ไปปฏิบัติธรรมในป่าบางทีเทวดาก็โกรธไม่พอใจ เช่นทำไมอยู่ดีๆมีพระมาอยู่ในถิ่นนี้ ทำให้เทวดาต้องเกรงใจ เพราะพระประพฤติดีปฏิบัติชอบอยู่ในธรรมะ จะไปทำอะไรพระท่านก็ไม่ได้ เทวดาก็ต้องระวังตัวขึ้นเหมือนรู้สึกว่าทำอะไรตามสบายใจอย่างเคยไม่ได้ อึดอัดขึ้นมาก็เลยแกล้ง มาหลอกมานิรมิตรูปอะไรต่างๆให้น่ากลัว พระก็กลัวเพราะยังเป็นปุถุชนอยู่ หรือแม้แต่ว่าไม่มีเทวดาหลอก พระที่ไปอยู่ในป่าลึกป่าสงัดบางทีก็กลัวเองได้ พระก็ปุถุชนกลัวผีกลัวอะไรๆ ก็เลยมีการกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัส ธชัคคสูตรว่าเมื่อไปอยู่ในป่าในดงในที่น่ากลัวนั้น ให้มีหลักปฏิบัติเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจต้องดูกันว่ายึดเหนี่ยวอย่างไร คำว่าเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมากปัจจุบันก็พูดกันว่าศาสนาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ถ้าแค่นั้นก็ไม่ต้องมีพุทธศาสนา อันนี้ต้องกลับมาพูดอธิบายกันภายหลัง พระพุทธเจ้าตรัสว่าเรื่องเคยมีมาแล้ว ภูตะปุพพัง ภิกขะเว พระพุทธองค์ทรงเล่าตำนานของอินเดียว่าเทวดารบกับอสูรยกทัพรบกัน เทวดาก็มีทั้งแม่ทัพนายกองลูกน้องพลทหาร ฝ่ายอสูรก็เช่นเดียวกัน เมื่อรบกันพวกไพร่พลเทวดาก็มีความหวาดกลัว เพราะอสูรเป็นปุพพเทวดาเป็นเทวดาเก่าเป็นนักรบเก่งกล้าเหมือนกัน เมื่อรบกันพวกรี้พลเทวดาที่มีความหวาดกลัวก็จะมองดูธงของแม่ทัพ ธงของพระอินทร์ ธงของพระปชาบดี ฯลฯ พอมองดูธงก็เกิดใจฮึกเหิมสู้ มนุษย์ปุถุชนก็เป็นเช่นนี้ต้องมีอะไรมาเชียร์ แม้แต่ว่านักกีฬาไปสู้ในสนามก็ยังต้องอาศัยกองเชียร์ ปลุกใจขึ้นมา มนุษย์ปุถุชนเป็นเช่นนี้ ทหารเทวดาก็เช่นเดียวกันพอมองดูธงก็เกิดใจฮึกเหิมมีกำลังสู้ พระพุทธเจ้าตรัสว่านี่ พระอินทร์ เทพปชาบดี เทพอื่นๆที่เป็นแม่ทัพทั้งหลายต่างก็ยังมีกิเลสมีความสะดุ้งหวาดกลัว ทหารก็ยังนึกถึงเทพผู้นำเหล่านี้และก็เกิดกำลังใจฮึกเหิมสู้หายหวาดกลัวหรือบรรเทาความกลัวลง แต่นี่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หมดกิเลสแล้วไม่มีความกลัวเหลืออยู่เลย เพราะฉะนั้นพวกท่านไปอยู่ในป่าถ้าเกิดความหวาดกลัวให้ระลึกถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พวกเทวดานึกถึงแม่ทัพซึ่งยังมีกิเลสอยู่มีความกลัวอยู่แต่พวกเทวดาก็ยังมีกำลังใจ ฉะนั้นพระสงฆ์นึกถึงพระพุทธเจ้าซึ่งปราศจากกิเลสแล้วไม่มีความหวาดกลัวเลยแล้ว ก็จะมีกำลังใจหายหวาดหายกลัว และต้องระลึกถึงหลักการที่ว่า ธรรมนั้นเหนือเทพ ถ้าเราอยู่ในธรรมแล้วไม่ต้องกลัวอะไร นี่ก็เป็นเครื่องช่วยให้พระภิกษุที่ไปปฏิบัติธรรมในป่าหายกลัว การระลึกถึงพระพุทธเจ้ามีความหมายแบบนี้ขึ้นมา เป็นความหมายในเชิงกำลังใจหายหวาดหายกลัว จึงกลายเป็นแบบอย่างที่ว่า เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจโดยเฉพาะยามที่ขวัญเสียยามที่เสี่ยงภัยอันตราย ดังนั้นการระลึกถึงพระพุทธคุณที่ไม่มีวัตถุอยู่ก็เป็นหลักมีอยู่แล้ว เมื่อมามีวัตถุรูปเคารพก็ยิ่งเป็นสื่อที่เห็นได้ชัด ไม่มีพระพุทธรูปที่เป็นวัตถุใจต้องไปนึกเอา แต่เมื่อมีวัตถุมองเห็นได้เลยใจก็รำลึกได้เลย เมื่อใจนึกขึ้นมาได้เป็นจุดเริ่มต้นวัตถุหยาบทำให้มีที่เกาะของจิตได้ดีขึ้นก็จะทำให้ใจมั่นและเกิดกำลังใจได้ นี่คือส่วนหนึ่งที่โยงเข้ามาหา กลายเป็นความหมายอย่างที่สำคัญและเข้าใกล้กับความหมายที่ใช้ในปัจจุบันนี้แต่ต้องระวัง คือทำอย่างไรจึงจะแยกได้ว่าความหมายของพระพุทธศาสนาอยู่ในขอบเขตแค่ไหน และความหมายที่จะผิดพลาดนั้นอยู่แค่ไหน จึงต้องทำความเข้าใจให้ดีถึงจุดที่เครียด???กันแล้ว
อย่างไรก็ตามขอย้อนกลับไปเรื่องของความเข้าใจและการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปโดยเฉพาะพระเครื่องในสมัยโบราณก็สืบกันมาถึงเมืองไทยในความหมายต่างๆเหล่านี้ เช่นเมื่อมีสงครามใหญ่ๆแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็โปรดเกล้าฯให้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปไปเป็นกำลังใจ หรือการจะออกทัพก็นำทหารเข้าไปในโบสถ์ไปกราบไหว้สักการะพระพุทธรูป เกิดกำลังใจ แต่ว่าการใช้พระพุทธรูปในสังคมไทยก็ยังอยู่ในขอบเขต ใช้ในยามศึกสงครามเพราะต้องการกำลังใจ เวลานั้นจิตใจวอกแวกหวั่นไหวมีความหวาดกลัวก็เอามาช่วยได้มาก
44:05(โดยทั่วไปก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ) แต่ว่าการที่บรรจุไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายของการมีพระพุทธศาสนาในสมัยอดีตก็เป็นคติมาแต่โบราณแพร่หลาย ขอเล่าถึงคติที่ว่าสืบมาในระยะใกล้ๆ ถอยหลังไปประมาณหนึ่งร้อยปี ว่านึกถึงหลวงพ่อของอาตมาเอง หลวงพ่อที่เป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อตอนบวชเณรคือหลวงพ่อวัดบ้านกร่างเจ้าคุณเมธีธรรมศาสตร์ ท่านเป็นพระที่เลื่องลือกันว่าขลังมาก ท่านมรณภาพเมื่อตอนอายุในราว 90ปีนับถึงตอนนี้ก็ร้อยกว่าปีแล้ว ท่านเคยเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กให้ฟัง ที่วัดบ้านกร่างซึ่งเป็นวัดที่อาตมาบวชเป็นวัดที่มีชื่อในด้านพระขุนแผน พระขุนแผนวัดบ้านกร่างขึ้นชื่อและถือกันว่าเป็นพระขลัง หลวงพ่อท่านอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่เด็กๆ เคยเป็นเด็กวัด เราจะได้มองดูว่าคนสมัยก่อนมองพระที่คนสมัยนี้ว่าขลังอย่างไร ท่านเล่าว่าเป็นเด็กๆอยู่มาๆกรุที่บรรจุพระเครื่องต่างๆเกิดแตกขึ้น การแตกหักพังเป็นธรรมดา แต่ไม่มีใครเอาใจใส่ พระเครื่องวัดบ้านกร่างที่สมัยก่อนคนนิยม พระขุนแผน ฯลฯ สมัยหลวงพ่อท่านยังเป็นเด็กๆวิ่งเล่นกันอยู่ ท่านบอกว่าไม่มีใครเอาใจใส่ ท่านวิ่งเล่นกันกับเพื่อนๆ วัดบ้านกร่างอยู่ริมแม่น้ำตามธรรมดาของวัดในสมัยโบราณอยู่กับชุมชนใกล้น้ำ การคมนาคมการทำมาหาเลี้ยงชีพการอยู่กินปัจจัยสี่โดยเฉพาะน้ำต้องอาศัยแม่น้ำ เด็กๆก็ย่อมชอบเล่นในแม่น้ำ เอาเป็นว่าเช้าๆบางวันก็ไปกอบพระเครื่องในกรุที่แตกซึ่งก็อยู่ในสภาพดีๆ เอามาขว้างแข่งกันที่ริมแม่น้ำใครขว้างได้ไกลกว่ากัน ท่านเล่นกันแบบนี้ ท่านบอกว่าสมัยนั้นไม่มีใครเอาใจใส่ พระเครื่องเป็นของเล่นของเด็กเพราะเด็กก็ไม่รู้เรื่องอะไร เอาพระเครื่องขุนแผนวัดบ้านกร่างพิมพ์เดี่ยวพิมพ์คู่เอามาขว้างลงแม่น้ำท่าจีนแม่น้ำสุพรรณที่อยู่หน้าวัด สมัยก่อนก็ยังไม่มีประตูน้ำกั้น หน้าน้ำน้ำมาก หน้าแล้งน้ำน้อยจนบางแห่งเดินข้ามได้ แต่ก่อนหน้านั้นคนรุ่นก่อนๆรุ่นหลวงพ่อนี่ไม่รู้ว่าขว้างหมดไปเท่าไหร่ พอเหลือมารุ่นหลังๆมีคนเริ่มมานิยมชมชอบในแง่ขลังก็มาเอากันไปก่อนๆจนหมด ตอนหลังจึงเหลือแต่เศษ ตอนอาตมาไปบวชเณรยังลงไปในกรุ กรุไม่ได้อยู่เสมอดินข้างในมีการขุดลึกลงไปใต้ดิน ต้องกระโดดลงไปในนั้นพระเยอะแต่แตกทั้งนั้นไม่มีองค์ดีเลย หาไม่ได้เลยในกรุ เศษพระแตกหักเยอะไปหมด คนที่นิยมรุ่นก่อนๆเก็บองค์ดีๆไปหมดแล้ว ก็พยายามหากันเช่นไปเดินตามริมฝั่งแม่น้ำ หลายคนได้พระขุนแผนเต็มเลยเพราะในน้ำเป็นโคลนเลน พระก็ยังอยู่ในสภาพดี อาตมาไปได้มาองค์หนึ่งมีริ้วรอยตำหนินิดเดียวได้จากการเดินที่ริมฝั่งแม่น้ำ เราก็เลยรำลึกอ๋อนี่ที่หลวงพ่อเล่า อาจจะเป็นองค์ที่หลวงพ่อท่านขว้างก็ได้ ได้มาก็ไม่ได้ติดใจมากก็ได้ให้พี่ไป ท่านอื่นๆก็ได้จากการเดินไปตามริมฝั่งแม่น้ำเหมือนกัน นี่เป็นเรื่องสมัยเก่าที่ชี้ให้เห็นว่าในสมัยหลังๆมีการนับถือของขลังมากขึ้น ตอนต่อมาจากสมัยหลวงพ่อแล้ว ท่านสมภารองค์ต่อมาท่านชอบเรื่องทำพระเครื่องให้แก่ผู้คน ไม่เหมือนหลวงพ่อซึ่งท่านไม่เอาด้านนี้ ท่านมีแต่ทำเฉพาะให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาที่ท่านเลือกสรรแล้วหรืออะไรทำนองนั้น เดี๋ยวจะเล่าเรื่องคติซึ่งเกี่ยวกับหลวงพ่อ ที่คนเขาลือกันว่าท่านขลังเหลือเกิน และตัวท่านปฏิบัติอย่างไร เป็นเรื่องที่เราควรจะเข้าใจ ท่านพระครูสมภารหลังจากหลวงพ่อ ท่านเอามาทำมากมายโดยท่านไปหาพิมพ์องค์ที่สมบูรณ์มาทำเป็นแม่แบบไว้ ตอนแรกท่านไปขนเอาพระที่แตกๆที่อยู่ก้นกรุเอามาบดและใช้พิมพ์นี้ก็เป็นอันว่าพิมพ์เต็มแต่ใช้ดินเก่าดินจากองค์พระเครื่องเก่าก็เป็นของแท้เหมือนกัน คือเนื้อดินแท้จากพระที่แตกหักมาพิมพ์ ต่อมาเมื่อรุ่นนั้นหมดรุ่นหลังๆก็ต้องใช้เอาดินอื่น
หวนกลับไปเล่าถึงว่าสมัยก่อนเป็นอันว่าในสภาพอย่างนี้ก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของพระเครื่อง ที่คนรุ่นหลังนิยมว่าขลังมาตื่นมาหากันมากมาย ต่อมาในระยะหลังๆเมื่อมีความตื่นกันมากแล้วก็ถึงกับมีการทำขึ้นมาแล้วก็มีราคา ตั้งราคาว่าขนาดไหนพิมพ์อย่างไหนเนื้ออย่างไหนราคาเท่าไหร่ จนกระทั่งชักจะกลายเป็นการซื้อขาย มีการใช้ศัพท์ใหม่ “พุทธพาณิชย์”เป็นศัพท์ยุคหลังซึ่งยุคสมัยก่อนไม่มี เรื่องนี่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าเป็นมาอย่างไร จากจุดที่ว่าหลวงพ่อตอนท่านเด็กๆเอาไปขว้างเล่นกัน แล้วกลายมาเป็นเรื่องซื้อขายกันในสมัยต่อมา ถึงขั้นที่ว่าไม่เอาของเก่าที่มีในกรุแต่ทำขึ้นใหม่ เท่าที่จะระลึกความหลังไปได้จากที่อาตมาบวชมาก็มาเชื่อมต่อได้ว่าในยุคแรกน่าจะเป็นว่าในเมื่อกรุแตกเป็นต้นเรื่องแล้ว และคนเริ่มมีความนิยมอย่างน้อยก็อยากจะมีพระไว้เป็นที่ระลึก อย่างน้อยก็สวยงาม พระท่านทำไว้ รูปร่าง ขนาดต่าง ๆ มีความสวยงาม คนก็อยากจะได้ไว้ ในเมื่อยิ่งหายาก ไม่ใช่สมัยหลวงพ่อที่มีมากเกินไปก็เลยไม่มีใครติดใจอะไรจะเอาเมื่อไหร่ก็ได้ไม่ได้เอาใจใส่เด็กๆเอาไปเล่นกัน ทีนี้พอลดน้อยลงก็เริ่มเห็นคุณค่าแม้แต่ไม่มองในแง่ขลังศักดิ์สิทธิ์ก็มองได้ในแง่ของหายาก ความงดงามแทนองค์พระพุทธเจ้าก็มีค่าในตัวเอง พระท่านอยู่ในวัดสามารถนำพระเครื่องเหล่านี้มาเก็บไว้ มีใครไปมาก็แจกๆกันไป ต่อมามีน้อยลงก็ต้องคัดสรรว่าจะแจกใครดี แจกทั่วๆไปของก็จะหมด ก็หาทางแจกเพื่อให้ได้ประโยชน์มากขึ้น การคัดสรรก็โดยเลือกดูว่าคนไหนมีศรัทธา เป็นคนดี สมควรได้รับแจก เกิดเป็นเกณฑ์ขึ้นมา ต่อมาก็คิดเพิ่มขึ้นว่ามีศรัทธามาวัดมากคนไหนที่มาบำรุงวัดถวายปัจจัยสี่ หรือมาช่วยบริจาคสร้างโน่นสร้างนี่ ก็สมควรให้ จะได้เป็นการให้ที่เป็นประโยชน์ และได้เลือกคนที่ควรจะให้ เกิดเป็นการให้แก่คนที่มีศรัทธา เริ่มมีเป็นเงินบริจาค ไม่ได้หมายความว่าตอบแทน มีไว้แจกอยู่แล้วแต่มีเกณฑ์การแจกเพิ่มขึ้นโดยเลือกแจกคนที่มีน้ำใจศรัทธาเป็นคนดี ต่อมา ๆ ก็อาจจะต้องมีการแยกย่อยคนนี้ศรัทธามากให้องค์สวยๆหน่อย องค์อื่นก็ให้คนทั่วๆไป หรือองค์ใหญ่ องค์เล็กก็ต้องมีการแจกแจงมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อๆมาอีกก็กลายเป็นธรรมเนียมถ้าบริจาคก็ถึงจะให้ ถ้าไม่บริจาคก็ไม่ให้ เกิดความรู้สึกว่าเป็นของตอบแทน ต่อมาพระที่แจกของเดิมหมดอีกจะทำอย่างไรดี เกิดค่านิยมอยากได้พระเวลาที่มาบริจาค รู้สึกเหมือนได้ตอบแทน เกิดเป็นค่านิยมหรือความรู้สึกหรือธรรมเนียม เกิดภาวะพระเคยมีพระเครื่องแจกแต่หมดกรุแล้ว ก็ต้องทำใหม่แจก ทำไปๆก็กลายเป็นธรรมเนียม หลังๆคนไปบริจาคก็ต้องเป็นแรงจูงใจ ต้องมีแรงจูงใจว่าท่านจะแจกให้อันนี้แล้วจึงไปบริจาค ไม่ใช่การบริจาคด้วยความศรัทธาและด้วยความมีจิตเสียสละ กลายเป็นหวังผลตอบแทน หรือแรงจูงใจว่าอยากได้ของนั้นจึงไปบริจาค จุดนี้ความเสื่อมเริ่มเกิด ต่อมาพระที่ดีแต่ไม่รู้ตัวก็แจกในรูปแบบนี้ก็เลยกลายเป็นธรรมเนียม พระที่ไม่ดีก็มีก็คิดจะหาเงินเขาอยากจะได้เราก็ทำนอกเหนือจากทำเอาเงินเข้าวัด พระที่ดีอาจจะไม่ได้คิดมากแต่ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง คิดว่าเอามาสร้างประโยชน์ส่วนรวม สร้างวัดวาอาราม มีของแจกมีของตอบแทนสมณาคุณให้แก่ญาติโยมที่บริจาคก็สร้างพระเครื่องขึ้นมาหรือแม้กระทั่งหล่อพระบูชา ต่อมาพระที่ไม่ได้คิดเอาเงินเข้าส่วนรวมเข้าวัดหรือสร้างกุฏิวิหารเสนาสนะของวัด คิดหาเงินเข้าตัวเลย สร้างพระขึ้นมา ก็เลยไปกันใหญ่ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เป็นใบโฆษณาลงหนังสือพิมพ์ เป็นใบปลิวก็มี บรรยายสรรพคุณว่าพระเนื้ออย่างนี้ขนาดอย่างนี้มีขลังในทางนี้ราคาเท่านั้นอะไรต่างๆ กลายเป็นสินค้านี่คือที่เรียกว่าพุทธพาณิชย์จริงๆ ความเสื่อมได้เกิดขึ้นมาตามลำดับ สมัยก่อนไม่มีมูลค่าราคาเป็นเงินเป็นทองเป็นเรื่องของนามธรรมเป็นเรื่องทางจิตใจ นี่เล่าไล่เรียงให้เห็นว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร เข้าใจว่าคงจะพอเห็น
ถ้าเราไม่คิดถึงความหมายการปฏิบัติของคนโบราณบ้างเราก็จะเสียหลัก เราอาจจะนึกว่าคนโบราณก็ทำอย่างนี้ แต่ที่จริงไม่มีเลยเรื่องที่จะเอามาแลกเปลี่ยนเป็นเงินเป็นทอง
ขอเล่าไว้แค่นี้ก่อนสำหรับวันนี้เพราะว่าใช้เวลาไปมาก แล้วเราก็มาค่อยโยงเข้าหลักว่ามีหลักปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างไร เพราะฉะนั้นขอตัดตอนเล่าอดีตเพียงเท่านี้ มีอะไรสงสัยเฉพาะช่วงนี้ไหม
คำถาม – การทำหนังสือธรรมะจะเหมือนกับคล้ายๆการทำพระเครื่องไว้แจกไหม???
คำตอบ - ถ้าพระเครื่องสื่อธรรมะก็อาจจะมีความหมายบ้าง แต่ก็ไม่เหมือนกัน เพราะหนังสือธรรมะเป็นความจำเป็นในการที่เอาตัวหลักคำสอนไปถึงพระธรรม แล้วก็ต้องไม่ขาย ทีนี้ในการที่ไม่ขายนี้เป็นได้เฉพาะเราที่เป็นต้นเรื่องแต่ว่าสำหรับชาวบ้านเขาไม่สามารถที่จะอยู่ได้เราก็อยู่ที่ว่าจะมีนโยบายอย่างไร บางสำนักก็ไม่ยอมขายเด็ดขาดให้พิมพ์แจกอย่างเดียวแต่ถ้าเรามองในแง่ประโยชน์กว้างขวางการที่จะแจกไปจะอยู่ในวงแคบอย่างยิ่ง คนจำนวนมากทีเดียวจะไม่ได้รับหนังสือเหล่านี้เลย ก็ต้องอาศัยกิจการของยุคสมัยโดยอยู่ที่เจตนาเราเป็นอย่างไร เรามีเจตนาหาผลประโยชน์หรือเปล่า ถ้าหาผลประโยชน์ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องที่ว่าเราต้องอาศัยการเผยแพร่นี้โดยอาศัยกิจการหรือมือของชาวบ้านและชาวบ้านเขาเป็นอยู่เขามีกิจการถ้าเราไม่ถือเรื่องนี้ก็ให้โอกาสเขาแต่เราก็ต้องระวังว่าถ้าเขาตั้งใจเอาผลประโยชน์จริงๆเราอาจจะไม่เอา เหมือนอย่างที่นี่เคยมีบริษัทที่มาติดต่อขอจะพิมพ์ถ้าหากเรายอมเราต้องได้ค่าลิขสิทธิ์ ก็ไม่เอา เพราะเมื่อมีค่าลิขสิทธิ์แล้วเราก็ถูกจำกัด เพราะหนังสือนี้เราต้องการเผยแพร่ใครอยากพิมพ์พิมพ์ ใครอยากได้เงินพิมพ์แล้วได้เงินก็เอาไปแต่ว่าเราตามดูบ้างอย่าให้เห็นแก่ผลประโยชน์เกินไป เพราะฉะนั้นที่นี่คือ ใครอยากพิมพ์พิมพ์ ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ ดังนั้นจึงมีการพิมพ์วันเกิด วันแต่งงาน งานศพจะมาก ถ้าเราให้บริษัทเอกชนพอเขาจ่ายลิขสิทธิ์มาเราก็ไม่มีสิทธิ์แล้ว เราต้องการให้ใครอยากพิมพ์พิมพ์ อยากเผยแพร่ เพราะฉะนั้นก็ไม่ให้มีเรื่องค่าลิขสิทธิ์ ญาติโยมอยากจะพิมพ์ก็พิมพ์ได้ง่าย งานศพมากที่สุด พิมพ์ได้ตามสบาย แต่พิมพ์งานศพก็ได้เฉพาะงานหนึ่งขอบเขตจำกัด อย่างเช่นมีคนที่ตามอ่านหนังสือก็ไม่มีโอกาสไปทุกงาน ถ้าใช้วิธีนี้วิธีเดียวคนที่สนใจจริงๆก็อาจจะไม่มีโอกาสทุกคน จะมาที่นี่อย่างเดียวเราก็ตามพิมพ์ไม่ไหวไม่มีเวลาด้วย เราจึงปล่อยว่าใครอยากพิมพ์ขายก็พิมพ์ไป ใครจะหากำไรบ้างตามสมควรเพื่อกิจการของคฤหัสถ์ก็ทำไป และกลายเป็นโอกาสให้คนที่ต้องการศึกษาก็ตามอ่านได้ แต่พระเครื่องถ้าจะทำให้ถูกต้องก็ต้องทำแจกเพราะโบราณไม่มีเรื่องมูลค่าเป็นเงินเป็นทอง ถ้าจะมีเป็นเงินเป็นทองบริจาคก็แบบที่ว่าต้องระวัง ต้องหนึ่งเจตนาระวังให้ดีที่สุด
คำถาม – พระเดชพระคุณมีความเห็นอย่างไรการใช้ชื่อพระที่สร้างเช่นไพรีพินาศ ที่จริงผิดหลักการ ???ศาสนาโดยตรง
คำตอบ – ไม่ทราบว่าใครท่านคิดขึ้นมา อันนี้อาตมาไม่ได้ศึกษา ความเป็นมาเก่าเพราะเป็นเฉพาะจุดไม่ใช่เรื่องของหลักการใหญ่ ก็เลยไม่ได้ไม่ทราบประวัติ
คำถาม - อย่างพระธาตุที่บรรจุ ??? พระบรมสารีริกธาตุเยอะขนาดที่จะบรรจุไปถ้วนทั่ว อย่างประเทศไทยถ้าว่าพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นี่พูดเฉพาะพระบรมสารีฯ ก็หลายสิบแห่ง ก็เลยไม่ทราบว่าจริงๆ..
คำตอบ - ถ้าเป็นของแท้เดิมคงเป็นไปไม่ได้ แต่ทีนี้ก็มีความเชื่อกันที่เรียกว่า คล้ายๆว่าบางคนก็ถือเชื่อถึงขนาดว่าพระธาตุงอกได้ เกิดเพิ่มได้แต่ว่าถ้าเอาอย่างเคร่งครัดก็ต้องเอาองค์เดิมซึ่งมีได้เฉพาะที่สำคัญจริงๆ หายากมาก เพราะฉะนั้นจึงมีปูชนียสถานที่สำคัญของประเทศที่ถือว่าเป็นที่บรรจุพระธาตุแต่เดิม ซึ่งประชาชนและทางบ้านเมืองให้ความสำคัญแก่พระธาตุหรือพระเจดีย์นั้นๆ ส่วนองค์อื่นก็เป็นรองๆลงไป