แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ซีดีธรรมบรรยายชุด เล่าเรื่องให้โยมฟัง ชุดที่ 1 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม
เรื่องที่ 10 ทำกิจ ทำจิต บรรยายเมื่อช่วงวันที่ 18 – 26 ตุลาคม พ.ศ.2528
เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ คิดว่าจะพูดเรื่อง ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์มีลักษณะ 3 ประการ ก็คือ เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โยมได้ยินกันอยู่เสมอ เวลาเราทำอะไรหล่นแตก บางทีคนเก่าๆ อาจจะบอกว่า อนิจจัง หรือว่าเวลามีการสูญเสีย พลัดพราก อะไรต่างๆ นี่ก็ออกอุทานได้ว่า อนิจจัง คือไม่เที่ยง ก็พระพุทธเจ้าสอนไว้ ถึงหลักธรรมดาอย่างนี้ มันเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่เราเรียกว่า สังขาร เพราะสังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวตนของเรา เราบังคับตามปรารถนาไม่ได้
ทีนี้พระพุทธเจ้าสอนเรื่องไตรลักษณ์นี้ไว้ เพื่ออะไรบ้าง ถ้ากล่าวโดยย่อนี่ พระพุทธเจ้าทรงสอน เพื่อประโยชน์ 2 ประการ ประการที่ 1 นั้น เพื่อจะให้เราทำใจให้เป็นอิสระ หลุดพ้น ไม่ยึดติด ถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย คือความยึดติด ถือมั่นในสิ่งต่างๆ นั้นเป็นเหตุให้เรามีความทุกข์ อย่างที่อาตมาภาพเคยกล่าวแล้วว่า เราเอาจิตของเราไปยึดมั่นในสิ่งใด เท่ากับเอาจิตของเราไปให้ถูก ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสิ่งนั้นบีบคั้นเอา คือหมายความว่า เมื่อสิ่งนั้นแปรปรวนไป แตกสลายไป พลัดพรากไปตามหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น จิตใจของเราก็พลอยถูกบีบคั้นไปด้วย แล้วก็จะเกิดความทุกข์ขึ้น แต่ทีนี้ถ้าหากเรารู้เท่าทันแล้ว จิตใจของเราก็เป็นอิสระอยู่ได้ แม้หากจะมีความทุกข์บ้าง ตามธรรมดาของปุถุชน ความทุกข์นั้นมันก็น้อย เรียกว่าพอปรับใจได้รวดเร็ว ประโยชน์ด้านนี้ของพระธรรม อาจจะเรียกว่า ประโยชน์ในด้านการทำจิต ทำจิตก็คือทำใจ ทำใจให้หลุดพ้น ไม่ให้เป็นทุกข์ ให้มีความปลอดโปร่ง เบิกบาน ผ่องใส อยู่ได้
ทีนี้ประโยชน์ที่ 2 ประโยชน์ที่ 2 นั้น เพราะเหตุที่ว่าสิ่งทั้งหลาย มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็คือว่า มันจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ แล้วแต่เหตุของมัน แล้วมันก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา มันเป็นไปของมันอยู่ตลอดทุกเวลา ทุกขณะ มันไม่รอฟังใครทั้งนั้น เราจะปรารถนา บอกว่าขอให้มันรอสักหน่อย อย่าเพิ่งเปลี่ยนแปลงไป มันก็ไม่รอ ถ้าเหตุปัจจัยมันมี จะให้มันเปลี่ยน มันก็ต้องเปลี่ยน มันต้องมีอันเป็นของมันไป ในเมื่อสิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทุกขณะ มันไม่มีความแน่นอน แม้แต่ชีวิตของเรานี้ก็ไม่แน่นอน เรารู้อยู่ว่ามันมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่รู้แน่นอน เมื่อเราไม่รู้แน่นอน แต่สิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแน่ๆ สิ่งที่เราจะทำได้ ก็คือ มีความไม่ประมาท
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนหลักความไม่ประมาทเสมอ เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนั้น ได้สอนหลักธรรมสำคัญไว้ เป็นพุทธดำรัสครั้งสุดท้าย เราเรียกว่า ปัจฉิมวาจา ปัจฉิมวาจา หรือคำพูดครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก็คือบอกว่า “วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” บอกว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หรือจงบำเพ็ญกิจของตนและผู้อื่นให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท นี่พระพุทธเจ้าสอนความไม่ประมาท
พระพุทธเจ้าสอนย้ำสอนเน้นให้ไม่ประมาท ไม่ประมาท ก็คือว่า ไม่รอเวลา ไม่ปล่อยปละ ละเลย ผัดเพี้ยนไม่ได้ มีสิ่งอะไรที่ควรทำ ก็เร่งทำ เช่นว่า จิตของเรายังไม่หลุดพ้น ยังไม่เจริญก้าวหน้าในธรรมนัก เราก็จะนอนใจไม่ได้ เราต้องรีบขวนขวาย เพียรพยายามปฏิบัติ หรือกิจหน้าที่การงานภายนอกก็เหมือนกัน จะผัดเพี้ยนเวลาไป ตอนนี้ยังสบายอยู่ ไม่มีอะไรหรอก ก็ยังไม่ต้องทำ แต่ว่าเหตุการณ์ข้างหน้ามันไม่แน่นอน ถ้ารู้ว่าควรทำแล้วก็ ควรจะรีบทำเสีย เพราะฉะนั้นไม่ควรประมาท พระพุทธเจ้าจะสอนหลักความไม่ประมาทนี้ ถือว่าเป็นหลักสำคัญมาก อย่างที่ว่าเป็นปัจฉิมวาจา ย้ำเตือนก่อนที่จะปรินิพพาน
แล้วก็ธรรมดาก็ตรัสว่า “ความไม่ประมาทนี้เป็นธรรมใหญ่ เปรียบเหมือนกับรอยเท้าช้าง” เป็นที่รวมลงของธรรมะข้ออื่นๆ ทั้งหมด เพราะว่าธรรมะอื่นๆ นั้น ถ้าไม่มีความไม่ประมาท หรือขาดความไม่ประมาทเสียอย่างเดียวแล้ว เราก็ไม่ยกเอาธรรมะเหล่านั้นขึ้นมาปฏิบัติ เราจะปฏิบัติต่อเมื่อเราไม่ประมาท ก็เป็นอันว่าพุทธศาสนาสอนหลัก 2 อย่าง ด้านความไม่ประมาทนี้ ก็เป็นเรื่องของการทำกิจ หรือทำหน้าที่ เรียกว่า เป็นคุณประโยชน์ของหลักไตรลักษณ์ในด้านทำกิจ มี 2 อย่าง ประโยชน์ของไตรลักษณ์ ข้อที่ 1 คือทำจิต ข้อที่ 2 คือทำกิจ ต้องมีคู่กันไป
ข้อที่ 1 ทำจิต ก็ทำให้เราสบายใจ จิตใจปลอดโปร่ง ผ่องใสได้ตลอดเวลา
ข้อที่ 2 ทำกิจ ก็ทำให้เราทำหน้าที่ของเราได้บรรลุผลสำเร็จ สิ่งที่ควรทำก็ทำได้ ปัญหาก็แก้ตกไป จะต้องให้พร้อมทั้ง 2 อย่าง ถ้าไม่พร้อมแล้วอาจจะเกิดปัญหา คนที่ทำแต่จิต ทำจิตอย่างเดียวก็ทำให้ใจสบาย เวลามีอะไรเกิดขึ้น ไม่เที่ยงแท้ แน่นอน ผันแปรไป แตกสลายไป ก็ทำใจได้ก็สบาย สบายแล้วก็เลยไม่แก้ไขข้างนอก ปัญหาก็ยังคงอยู่ ก็อาจจะเกิดโทษเกิดภัย ต่อไปภายหน้า
ฉะนั้นทำจิตได้แล้ว สบายใจแล้ว ก็ต้องทำกิจด้วย ทีนี้คนที่ไม่ทำจิต ทำแต่กิจ มีความไม่ประมาท ทำงานการต่างๆ มีใจยึดติดถือมั่นมาก ใจก็ไม่สบาย ทำอะไรต่างๆ ด้วยความทุกข์ ด้วยจิตใจที่เดือดร้อน กระวนกระวาย ก็ขาดประโยชน์ไปอีกด้านหนึ่ง ถ้าจะทำให้สมบูรณ์ ต้องทำทั้ง 2 อย่าง ต้องทำทั้งทำจิต แล้วก็ทำกิจด้วย ใจสบาย แล้วก็ไม่ประมาท เวลาทำกิจก็ทำจิตให้สบายด้วย เวลาสบายก็ไม่ละเลยที่จะทำกิจ ถ้าอย่างนี้เรียกว่า ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์
เดี๋ยวนี้บางทีเรามาพิจารณาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้ากันไม่ครบด้าน มันก็เลยได้ผลไม่สมบูรณ์ บางท่านก็ทำแต่จิต ปล่อยละทิ้งกิจไม่ทำ บางท่านก็ทำแต่กิจ ไม่ทำจิต จิตใจก็ไม่สบาย ไม่ปลอดโปร่ง ผ่องใส จึงควรทำให้ได้โดยสมบูรณ์
ทีนี้ในเรื่องการทำกิจโดยไม่ประมาทนั้น ก็มีเรื่องเล่าอันหนึ่ง เป็นชาดก ให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไม่เที่ยงแท้ แน่นอน ผัดเพี้ยนเวลา นอนรอคอยเวลา หรือจะให้เป็นไปตามปรารถนาของเราไม่ได้
ท่านเล่าว่า มีเรือเดินสมุทรลำหนึ่ง แล่นไปในทะเลใหญ่ แล้วก็เกิดพบลมพายุใหญ่ ก็แตกลงกลางทะเลนั้น พอดีเรือแตกนั้นอยู่ใกล้กับเกาะใหญ่เกาะหนึ่ง คนทั้งหลายก็เลยว่ายน้ำไปขึ้นเกาะนั้น คนจำนวนมากนั้นก็ไปอยู่เกาะ แล้วเรือก็ไม่มี จะกลับบ้านก็กลับไม่ได้ ก็เลยอาศัยเกาะนั้นอยู่มากันเป็นเวลานาน คนที่มาจากเรือแตกนั้นมีจำนวนมาก แล้วก็มีลูกมีหลานต่อกันมาอยู่กันมีความสุขสบายพอสมควร
แต่ทีนี้เมื่อคนอยู่กันมากๆ เข้า ก็มีความเป็นอยู่ที่จะไม่ค่อยสะอาดเรียบร้อย ทำให้เกาะสกปรก ยกตัวอย่างเช่นว่า ไปฆ่าสัตว์เอามาทำอาหาร แล้วก็ปล่อยศพของสัตว์ทิ้งไว้ เหลือเศษอาหารทิ้งไว้ หมักหมมเน่าบูด หรือตลอดจนกระทั่งว่าการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะอะไร ทำให้เกาะนั้นเริ่มสกปรก เหม็น
ฝ่ายเทวดาที่อยู่บนเกาะนั้นก็ไม่พอใจ เทวดาที่เป็นคนโหดร้าย ก็ไม่พอใจมาก ก็คิดว่าพวกมนุษย์พวกนี้ มาทำให้เกาะของเราสกปรก แต่ก่อนเราอยู่สบาย เดี๋ยวนี้ก็ทำให้วุ่นวายมาก น่าจะกำจัดมันไปเสียให้หมด ต้องล้างเกาะนี้ให้สะอาดเสียที ให้เหมือนอย่างเดิม ล้างมันทั้งคน ทั้งของ ที่มันสกปรกนั้นแหละ
ก็ทำอย่างไรดี ก็ต้องบันดาลให้เกิดพายุใหญ่ขึ้นมา แล้วก็พัดเอาคลื่นใหญ่เข้ามา ให้น้ำท่วมกวาดเอาคน และก็ข้าวของสิ่งสกปรกนี้ลงทะเลไปให้หมด ฉะนั้น เทวดานี้คิดอย่างนี้แล้วก็บอกกัน นัดแนะพวกเรา ถึงวัน ดูเหมือนจะเป็นวัน 15 ค่ำ เราจะบันดาลให้มีลมพายุใหญ่มา แล้วก็พาคลื่นใหญ่มาท่วมเกาะนี้ กวาดลงทะเลไปให้หมด
นี้ฝ่ายเทวดาบางตนนั้น ก็เป็นผู้มีเมตตากรุณา มีความสงสารมนุษย์ทั้งหลายที่อยู่บนเกาะ ก็เลยคิดว่าจะต้องหาทางช่วยเหลือ แต่ก็จะไปบังคับไปห้ามเทวดาที่จะมาทำอันตราย ก็ห้ามไม่ได้ ก็เลยหาทางมาบอกมนุษย์ ก็มาแสดงตนบนท้องฟ้า แล้วบอกแก่มนุษย์ว่า “ท่านทั้งหลาย อีก 15 วันนะ ก็จะมีคลื่นใหญ่พายุใหญ่มา แล้วน้ำจะท่วมเกาะ ท่านทั้งหลายจะเดือดร้อน ถ้าเตรียมตัวแก้ไขอย่างไรได้ ก็ขอให้เร่งทำ”
นี้ฝ่ายมนุษย์ที่อยู่บนเกาะนั้น เมื่อได้ยินก็มีความตกใจเป็นอันมาก ก็หวาดกลัวกันต่างๆ มนุษย์พวกหนึ่งก็คิดว่าจะต้องแก้ไขเหตุการณ์ ก็ปรึกษาหารือกันอยู่ พอดีฝ่ายเทวดาที่ใจร้าย ก็กลัวว่ามนุษย์เหล่านี้จะหาทางป้องกันตัว หรือแก้ไขเหตุการณ์ได้ ก็จะพ้นอันตรายไป ก็เลยมาแสดงตัวอีก เทวดาร้ายก็มาแสดงตัว มาบอก “ท่านทั้งหลาย อย่าได้ไปเชื่อเทวดาที่มาบอกเมื่อกี้ ที่ว่าฝนจะตก น้ำจะท่วมใหญ่นั้น จะมีแต่ว่า น้ำฝนตกพอดีๆ ท่านทั้งหลายจะอยู่กันสุขสบาย ข้าวปลาอาหารผลไม้จะดกบริบูรณ์”
เอ...มนุษย์ทั้งหลายฟังแล้วก็ไม่รู้จะเชื่อใครดี มนุษย์ก็เลยแตกเป็น 2 พวก พวกหนึ่งก็คิดว่า พวกหนึ่งนั้นมีหัวหน้าดี เป็นคนมีความคิด คิดว่าถึงอย่างไรเราไม่ควรประมาท เราคิดแก้ไขเหตุการณ์ไว้ดีกว่า การที่เทวดา 2 ตน มาพูดขัดกัน แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่าง ถึงอย่างไร เราต้องไม่ประมาท ก็ทำการณ์ไว้ เตรียมแก้ไขไว้ ถ้าหากเตรียมการณ์ไว้แล้วมันไม่เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น มันก็ไม่เป็นไร เราก็อยู่ได้ต่อไป แต่ถ้ามีเหตุการณ์ขึ้นมา เราก็จะได้พ้นจากความทุกข์ พ้นจากภัยอันตรายไปได้ ก็เลยชวนเอาพวกที่เชื่อถือ มีคนจำนวนมากเหมือนกันที่เชื่อถือหัวหน้าคนนี้ แล้วก็ช่วยกันสร้างเรือลำใหญ่ขึ้นมาลำหนึ่ง
ทีนี้ส่วนฝ่ายพวกอื่นนั้นก็มีหัวหน้าเหมือนกัน หัวหน้านี่บอก โอ้ย...จะทำทำไมเสียเวลาเปล่าๆ พวกเราอยู่กันสุขสนุกสนาน เลี้ยงดูกันให้สบายดีกว่า จะมีความสุข เกาะนี้จะอุดมสมบูรณ์ ก็ไม่เชื่อฟัง ก็ไม่ทำ ไม่ร่วมมือด้วย เวลาก็ผ่านไปจนกระทั่งฝ่ายที่มีหัวหน้าดี เป็นบัณฑิตนั้น ก็ได้สร้างเรือใหญ่สำเร็จ ก็พอดีถึงวัน 15 ค่ำ ตอนแรกก็มีลมเบาๆ มา มีเมฆมา ฝนตกพอดีๆ พอพรำๆ พวกฝ่ายที่ประมาท ก็มีความสบายใจว่า โอ...นี่ก็คงจะทำให้เกาะของเรานี้อุดมสมบูรณ์ มีน้ำมีฝนร่มเย็น ก็สนุกสนานกัน ดีใจกันใหญ่ แต่ต่อมาก็มีลมพายุแรงขึ้นๆ เรื่อยๆ แล้วก็มีคลื่นลูกใหญ่ คลื่นลูกใหญ่ คลื่นน้ำ สูงขึ้นๆ มาตามลำดับ จนในที่สุดน้ำก็ท่วมเกาะ ฝ่ายพวกคนที่เชื่อหัวหน้าที่เป็นบัณฑิต ก็ขึ้นไปอยู่บนเรือหมด แล้วพอน้ำท่วมเกาะหมด พวกนี้ก็ปลอดภัยไปได้ ฝ่ายพวกที่ไม่เชื่อ พวกที่เชื่อหัวหน้าที่ประมาท ก็เลยจมน้ำตายกันหมด
นี่เรื่องก็จบลงเป็นคติสอนในเรื่องความประมาท หมายความว่า ถ้าเห็นว่าสิ่งใดควรจะทำแล้ว ควรจะรีบทำ อย่าผัดเพี้ยน ไม่ควรนอนใจ จะวางใจในสิ่งทั้งหลายมิได้ เมื่อเรามีความไม่ประมาทแล้ว ก็จะพาตนพ้นจากภัยอันตรายไปได้
อันนี้ก็เป็นคติธรรมต่างๆ พระพุทธเจ้าเน้นเหลือเกินเรื่องความไม่ประมาท แม้แต่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานก็ยังเตือนท่านทั้งหลายเป็นคำพูดสุดท้าย เป็นปัจฉิมวาจาว่า “ท่านทั้งหลายจงยังคงความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” ความไม่ประมาทนี้มาพร้อมกับการทำจิตด้วย หมายความว่าให้ทำกิจด้วยความไม่ประมาท และทำจิตของตนให้หลุดพ้นเป็นอิสระด้วย ก็จะได้ทำกิจไปพร้อมทั้งจิตใจที่มีความสุข มีความเบิกบาน ผ่องใส ก็จะได้ผลสมบูรณ์ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่ก็มีคุณค่าของหลักธรรมเรื่องไตรลักษณ์ ดังที่อาตมภาพได้แสดงมา
สำหรับวันนี้ก็ขออนุโมทนาโยม และขอให้โยมได้ผลจากการรู้เข้าใจหลักไตรลักษณ์ เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติ ให้ได้ทั้งทำกิจ และทำจิต ให้เกิดความไม่ประมาท แล้วจะได้ความสุขใจ มีความเบิกบาน ผ่องใส ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ