แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ : ย้อนกลับมาตอบท่านไพศาล ที่ท่านถามไว้เรื่องว่าสามีภรรยา บุตรธิดา ครอบครัว จะไปเกิดใหม่โดยที่ยังเป็นคู่ครองกันหรือครอบครัวกันสืบต่อไปทุกชาติๆไปอย่างไร หลักมันก็มีอยู่แล้วบอกว่าคนที่จะไปเกิดร่วมกันได้ อันที่หนึ่งต้องมีระดับจิตเดียวกัน นี่คือหลักการทั่วไป ถ้าไม่ใช่จิตระดับเดียวกันก็แยกกันไปคนละภพละภูมิ ดังนั้นอันนี้จิตต้องอยู่ในระดับเดียวกัน หนึ่งถ้ามีคุณธรรมความดีก็มีคุณธรรมความดีอยู่ในระดับใกล้ๆกัน ไม่ใช่คนหนึ่งอยู่ในศีลในธรรม อีกคนหนึ่งเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ก่อเวรก่อภัยมาก อะไรอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าจิตคนละระดับแล้วไปด้วยกันไม่ได้ ฉะนั้นเวลาไปก็ภพคนละระดับจิต ภูมิแปลว่าระดับจิตนั่นเอง ภู-มิ แปลว่าชั้น เช่นชั้นของตึกเรียกว่าภูมิ ชั้นหนึ่งเรียกว่าภูมิหนึ่ง อย่างชั้นที่ไปเกิดก็เรียกภูมิเหมือนกัน อย่างภูมิของสัตว์ก็คือชั้น ก็ต้องให้อยู่ในระดับเรียกว่าเป็นภูมิเดียวกัน หนึ่งจิตอยู่ในระดับเดียวกัน สองกลมกลืนกันหมายความว่าอัธยาศัย แนวความโน้มเอียง จริต หรืออะไรต่ออะไรพอไปกันได้ พอกลมกลืนกันมันก็ทำให้ประสานกันด้วยดี ถ้าไม่งั้นมันก็กระจัดกระจาย มีความขัดแย้งแตกแยกกันอะไรต่างๆแล้วก็ไปคนละทิศละทาง ถึงแม้ระดับเดียวกันก็ไม่อยู่ด้วยกันแล้ว เรียกว่าสภาพจิต นอกจากระดับจิตแล้วสภาพจิตต้องกลมกลืนผสานไปกันได้ ถ้าชิดเข้ามาอีกก็คือว่าความผูกพันกัน เมื่อกลมกลืนไปกันได้แล้วก็ผูกพันกันอีก มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน ระลึกถึงกันอยู่เสมอ อยู่ที่ไหนอีกคนหนึ่งก็อยู่ในใจด้วยอะไรแบบนี้ ความผูกพันแน่นแฟ้นอย่างนี้มันก็โยงถึงกันเลย เพราะว่าคนจะไปเกิดก็ไปเกิดด้วยจิต จิตถึงกันแล้ว เพราะฉะนั้นสามอันนี่ก็ใช้เป็นหลักการได้แล้ว ทีนี้อะไรที่จะมาช่วยให้สามอันนี้ให้ได้ตามหลัก จิตก็มาอยู่ระดับเดียวกัน สภาพจิตก็กลมกลืนกัน แล้วก็มีความผูกพันกันรักกันไม่เสื่อมคลาย มันก็ต้องมีข้อปฏิบัติมีหลักที่จะมาช่วย พระพุทธเจ้าก็ตรัสธรรมะไว้ชุดนึง นี่ล่ะที่โยงไปหาท่านนกุลปิตา นกุลมารดา ที่ท่านบอกว่าแม้จากภพนี้ไปแล้วเกิดชาติไหนก็ปรารถนาให้ได้พบกันเป็นคู่ครองทุกชาติไป ท่านก็จะไปเกิดได้แค่อีกเจ็ดชาติเป็นอย่างมากเพราะท่านเป็นโสดาบันแล้วทั้งสองท่าน พระโสดาบันจะมีครอบครัว เป็นอริยบุคคลที่เรียกว่าอยู่ในสองฝั่งได้คือถือพรหมจรรย์หรือไม่ถือพรหมจรรย์ก็ได้ สกคาทามีก็ยังมีคู่ครอง อนาคามีก็มีได้แต่ว่าไม่ยุ่งกับคู่ครองแล้ว ก็ยังครองบ้านครองเรือนอยู่แต่จิตนี่ไม่โน้มไปแล้ว อย่างท่านจิตตคหบดีก็เป็นเอตทัคคะทางธรรมกถิกะแสดงธรรมให้พระฟังเป็นครั้งคราว จิตตคหบดีก็เป็นบุคคลสำคัญที่พระพุทธเจ้ายกย่องเชื้อเชิญ นกุลปิตา นกุลมารดา นี่ก็เป็นเอตทัคคะในแง่เป็นคนที่คุ้นเคยสนิทสนมกับพระพุทธเจ้า รักพระพุทธเจ้าเหมือนลูก ทั้งสองท่านนี้แก่กว่าพระพุทธเจ้า รักพระพุทธเจ้าเหมือนลูก แล้วคราวที่ท่านแก่เฒ่านี้ท่านก็เลยพูดถึงเรื่องนี้ด้วยว่าท่านก็รักกันไปไหนก็อยากจะไปอยู่ด้วยกันทำอย่างไร พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสธรรมะบทหนึ่งเรียกว่า สมชีวิธรรม ธรรมะของผู้มีชีวิตสมกัน สม (สะ มะ) ภาษาบาลีแปลว่าเสมอ แล้วมันมาเป็นคำไทยเราก็อ่านว่าสม สมก็เลยกลายมาเป็นความหมายแบบไทยไม่ใช่เสมอแล้วแต่เป็นว่าเหมาะกัน ไปกันได้ เข้าชุดกันอะไรทำนองนั้น สม ที่จริงก็คือจากเดิมภาษาบาลีนั่นล่ะ เสมอ ทีนี้ธรรมะสี่ประการที่เรียกว่าสมชีวิธรรมมีอะไรบ้าง หนึ่งสมศรัทธา มีศรัทธาสมกันหรือมีศรัทธาเสมอกัน เช่นว่ามีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยเหมือนกัน ใจไม่แยกกันแล้ว ถ้าไม่งั้นใจก็แยกกันไปคนละทิศคนละตนเลยใช่ไหม เพราะศรัทธานี้เป็นจุดรวมสำคัญของจิตใจ มีศรัทธาสมกัน เสมอกัน ตรงกัน นอกจากนั้นถ้าลึกลงไปก็มีจุดหมายชีวิต มีความเชื่อในการกระทำสิ่งที่ดีงามอะไรต่างๆเป็นต้น แนวความคิดความเชื่อไปกันได้ลงกัน ไอ้เรื่องศรัทธานี่สำคัญแตกแยกกันง่ายมาก ศรัทธานี่มันก็ใกล้กับทิฐิ พอยึดถืออย่างนั้นก็เป็นทิฐิเอาติดเป็นความเห็นของตัวเอง ทีนี้แม้แต่คนที่ใกล้ชิดกันก็ทะเลาะกันแล้ว ทิฐินี่เป็นตัวเหตุสำคัญที่ทำให้คนทะเลาะกันได้มาก ตัณหา หนึ่งแย่งกัน ต่างคนต่างก็อยากได้ ฉันก็จะเอา คุณก็จะเอา ทำอย่างไร ก็ต้องแย่งกัน ตัณหาก็ทำให้ทะเลาะกันอันที่หนึ่ง สองมานะ ใครจะใหญ่กว่ากัน ก็ข่มกันใครจะเหนือกว่ากัน ทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันเบียดเบียนกันต้องการความยิ่งใหญ่ แค่ว่าใครจะใหญ่กว่ากันแค่นี้ก็ยุ่งแล้ว มานะความถือตัวไม่ยอมกัน หรือแม้แต่ว่ากล่าวแนะนำเกิดถือตัวไม่ยอมรับก็เกิดมานะขึ้นมาก็แตกกันแล้วใช่ไหมทั้งๆที่เป็นคนอยู่ใกล้ชิดกัน ฉะนั้นมานะก็เป็นตัวสำคัญ แล้วก็ทิฐิการยึดติดยึดมั่นในความคิดเห็นความเชื่อของตัวเอง สามตัวนั้นเป็นกิเลสสำคัญเลยชุดนี้ ชุดโลภะ โทสะ โมหะ นั่นเป็นอกุศลมูล แต่ชุดตัณหา มานะ ทิฐิ นี่เป็นชุดที่จะออกโรงมากกว่า ท่านเรียกชื่อว่าปัญจธรรม เป็นกิเลสตัวปั่น ปั่นมนุษย์วุ่นไปหมดเลยทั้งโลก เวลานี้ที่ทะเลาะกันทำสงครามกัน สงครามโลก หรือสงครามอะไร ก็ตัณหา มานะ ทิฐิ เดี๋ยวนี้เวลาทำสงครามอุดมการณ์ สงครามศาสนาก็คือสงครามทิฐิ อันนี้ยืดเยื้อยืนยาว ทิฐิในเรื่องของเชื้อชาติเผ่าพันธุ์แค่นี้ก็ยุ่งแล้ว ยิวกับอาหรับรบกันไม่รู้จักเสร็จกี่พันปีก็ไม่จบนี่แหล่ะสงครามทิฐิ
นี่แหล่ะสมศรัทธา ต้องมีศรัทธาสมกันจึงจะไปกันได้ มีความเชื่อในการกระทำสิ่งที่ดีงาม พอใจ ชอบ จิตใจมุ่งไปในเรื่องเดียวกัน ศรัทธามันเป็นสิ่งที่สร้างเป้าหมายทำให้เกิดแรงพุ่งเลยนะ จิตใจแล้วมีศรัทธามันก็ไปได้ เหมือนอย่างญาติโยมอยู่บ้าน จะไปวัดไหนดี ก็มีศรัทธาวัดไหนก็ไปที่นั่น เกิดไปศรัทธาวัดไกล สิบกิโลยี่สิบกิโล ศรัทธาแรงแล้วถึงไกลหน่อยก็ไปได้ แต่เกิดหมดศรัทธาถึงวัดอยู่ติดบ้านก็ไม่ไปแล้วหมดแรงเลย นี่แหล่ะศรัทธาสำคัญ ศรัทธาทำให้มีแรงมีกำลังพุ่ง ดังนั้นอันที่หนึ่งก็คือมีศรัทธาสมกัน อันที่สองสมศีลา มีศีล มีความประพฤติ แนวทางการดำเนินชีวิตไปกันได้ สอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน อย่างที่ว่าอย่างหยาบๆเช่นคนนึงกินเหล้าเมายาตลอด อีกคนก็เกลียดคนกินเหล้าเมายา ความประพฤติทางนั้นก็ไม่เอาด้วยหรอกเรื่องอย่างนี้ มันก็ไปกันไม่ได้ตั้งแต่ชาตินี้แล้วไม่ต้องไปชาติหน้าหรอกใช่ไหม ฉะนั้นก็ต้องให้สมศีลา ถ้าหากว่ามันไม่สมศีลาชาตินี้ก็อยู่ด้วยกันด้วยความจำใจฝืนใจมีความทุกข์ไม่ยั่งยืน ก็เลยต้องมีสมศีลา มีแนวทางความประพฤติ ชีวิต ความเป็นอยู่ไปกันได้ เขาเรียกว่ารักษาศีลให้เสมอกันได้เป็นดีที่สุด ถ้าเรามีหลักคือเราอยู่ในหลักชั้นศรัทธาเราก็มีหลักนับถือพระรัตนตรัย นับถือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ฉันก็ศรัทธา คุณก็ศรัทธา แสดงว่ามันมีหลักจับของศรัทธา ไม่ต้องไปเคว้งคว้างวัดกันอีก ได้หลักแล้ว แล้วก็สมศีลาก็มีหลักจับเช่นว่ารักษาศีลห้า หรือเกิดมีศรัทธามาพ่วงด้วย ศรัทธาก็มาหนุนว่าเรารักษาศีลแปดอุโบสถด้วยอีกใจก็พร้อมกันอีก รักษาอุโบสถศีลด้วยกันอีกก็ไปกันได้ดี ถึงวันจะรักษาอุโบสถก็เตรียมการ พอใจด้วยกัน พูดกันเรื่องนี้ด้วยความนิยมชมชอบสบายใจ อย่างนี้นะคือสอดคล้องกันสมศีลา แล้วก็มาสมจาคา มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละที่สอดคล้องกันไปกันได้ อันนี้ก็เป็นตัวที่เป็นปัญหาได้ถ้าเกิดความขัดแย้ง คนหนึ่งขี้เหนียวมาก อีกคนหนึ่งก็สละมาก คนหนึ่งก็จะไปถามนู่นถามนี่ อีกคนหนึ่งก็โกรธ ไม่พอใจ แล้วก็เป็นทุกข์ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งไปบริจาค ไปช่วยเหลือ ไปทำอะไรต่างๆ มันก็จิตใจไม่ไปด้วยกัน คนหนึ่งจะสุขอย่างนี้แต่อีกคนหนึ่งบอกถ้าอย่างนี้ฉันทุกข์ฉันต้องสุขแบบโน้น พออีกคนหนึ่งสุขแบบโน้นคนนี้ก็ทุกข์ ขัดแย้งกันตั้งแต่ในใจ ขัดแย้งกันแต่สุขทุกข์ใจมันก็ร่วมกันไม่ได้ ฉะนั้นถ้ามีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีเสียสละอะไรต่างๆไปด้วยกันได้ คนหนึ่งก็อาจจะไม่ถึงกับเอาใจใส่มากแต่เห็นว่าคนนี้ไปทำประโยชน์แล้วก็อนุโมทนาด้วยแสดงว่าใจไปกันได้เป็นสมจาคา ต่อไปก็สมปัญญา มีปัญญาสมกัน มีความรู้ความเข้าใจที่อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง บางคู่นี่พูดกันไม่รู้เรื่อง พอพูดกันไม่รู้เรื่องก็ต้องทะเลาะกัน พูดกันเข้าใจกัน มีระดับสติปัญญาที่จะเจรจาปราศรัย และมีเรื่องอะไรก็ปรึกษาหารือกันได้ ก็อยู่เป็นสามีภรรยานี่ก็เป็นที่ปรึกษาที่สำคัญที่สุดก็ร่วมสุขร่วมทุกข์ มีปัญหา มีเรื่องราวเกิดขึ้นก็คุยกันรู้เรื่อง นี่ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องมีปัญหาร่วมกันก็ไม่ได้เรื่องเลยใช่ไหม ยุ่งหมดแล้ว แค่พูดกันก็ไม่รู้เรื่องแล้ว ความคิดอะไรต่ออะไรก็ไปไม่ทันกัน จิตไม่ยอมรับกันก็ทำให้จิตแตกแยก ฉะนั้นต้องให้มีสมปัญญา ถ้ามีข้อแตกต่างในเหล่านี้ก็ต้องมีอีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นใจและยอมรับ อันนั้นก็เรียกว่าเป็นตัวมาช่วยแก้ให้ไปกันได้ ต่างกันกลายเป็นว่าสงสารเห็นใจเขา ก็กลายเป็นว่าความเห็นใจ ความสงสาร เมตตากรุณาก็มาช่วยปรับจิตให้มันไปกันได้ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ดีเท่ากับการสมกันจริงๆ พอจะเป็นไปได้ไหม มีรายละเอียดอย่างไรก็นิมนต์ถามมา
พระนวกะ : เกี่ยวกับคู่ครองกระผมก็เข้าใจชัดเจนดีแล้วครับ แล้วถ้าเกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร?
พระพรหมคุณาภรณ์ : บุตรธิดานี่ก็ต้องยอมรับว่ายากขึ้นหน่อยเพราะเขามีวิถึชีวิตของเขาซึ่งมันไม่ได้อยู่แค่สั้นๆ ระยะที่อยู่กับคุณพ่อคุณแม่นี่เทียบได้กับระยะยาวของชีวิตทั้งหมดเลย บางทีนิดเดียวนะ เขายังไปของเขาเยอะและจิตของเขานี่ยังไปพบคนอื่นอีก อย่างง่ายๆเขาก็มีคู่ครองของเขาและเขาก็อยากไปอยู่กับคู่ครองเขาแล้วทำอย่างไร แล้วทำอย่างไรจะให้จิตมาอยู่กับพ่อแม่จะไปกันได้ไหม ฉะนั้นก็ต้องใช้ความเพียรมากขึ้นแล้ว ความผูกพันกับลูกนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ผูกพัน ทีนี้ฝ่ายลูกล่ะจะรักษาความผูกพันนี้ไว้ยืดยาวไหม ในตอนแรกลูกก็มีความผูกพันรักคุณพ่อคุณแม่มากก็อยู่ด้วยกันนี่แหล่ะ ต่อไปก็ไปมีชีวิตมีครอบครัวของตนเอง ไปทำการงานอาชีพแยกย้ายออกไป ไปมีประสบการณ์ชีวิตต่างหาก ตอนนี้คนเราก็จิตเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นในเรื่องบุตรธิดานี้เราต้องมองในแง่ว่าเอาที่เราก่อน มันต้องอยู่ที่ตัวเราเองก่อน ฉะนั้นถ้าจิตเราดีเรารักเรามีเมตตายั่งยืนมั่นคงต่อลูกซึ่งธรรมดาพ่อแม่ก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เฉพาะแค่นั้นแต่เรามีความปรารถนายืดยาวกว่านั้นเราก็เลยตามดูในชีวิตของเขาแบบค่อนข้างเอาใจใส่มากหน่อย คือเอาใจใส่อยู่แล้วแต่ว่ามีแง่มุมอันนี้เพิ่มเข้าไป แง่มุมที่มีความปรารถนาในเชิงที่จะมีชีวิตร่วมกันอยู่ด้วย ก็ทำให้เอาใจใส่ดูแลความเป็นไปในชีวิตของเขาและการที่จะไปเอาใจใส่ในแง่ของการที่มีการสื่อสารเพิ่มขึ้นที่จะทำให้มีการกระชับความผูกพันอันนี้ไว้ ซึ่งเมื่อจิตมันตั้งอยู่แล้วมันก็มีทางเป็นไป แต่ทีนี้ตัวเราเองก็ต้องรักษาได้ตลอดด้วย พอไปเห็นลูกก็มีชีวิตความเป็นไปของตัวเขาเองอันนี้ก็อย่าไปถือเลย ก็เอาเป็นว่าโดยหลักการก่อน หลักการก็คือว่าทำอย่างไรจะให้มีจิตในระดับเดียวกัน สภาพจิตกลมกลืนกันและก็มีความผูกพันกัน ถ้าท่านรักษาอันนี้ไว้ได้มันก็มีทาง ทีนี้ก็ต้องอาศัยทั้งสองฝ่าย ตัวคุณพ่อคุณแม่อันนี้ก็อาจจะง่ายกว่า แต่ว่าก็ต้องถามต่อไปว่าลูกเขามีความปรารถนานี้ด้วยหรือเปล่า ถ้าเขาไม่มีความปรารถนามันก็เสียข้อผูกพันไปแล้ว และระยะยาวประสบการณ์ชีวิตอะไรต่างๆมันก็จะพาแปรไปได้ง่าย ฉะนั้นถ้าพ่อแม่มีความปรารถนาจริงๆก็ต้องไปสร้างแนวโน้มให้แก่ลูกที่ลูกจะมีความปรารถนานี้ด้วย ถ้าเขาไม่มีความปรารถนามันยาก จิตมันไม่เอา ก็เอาเป็นว่าฝ่ายเรานั้นดีแล้วเราก็ทำของเราให้ดีที่สุด ส่วนฝ่ายของเขาเราก็พยายามโดยมีความตั้งใจอันนี้ที่เป็นความตั้งใจที่ดีงาม เป็นคุณธรรม เป็นเมตตากรุณา ปรารถนาดี ก็ทำให้มีความเอาใจใส่มีการสื่อสาร โน้มน้าวจิตใจอะไรต่างๆก็เป็นไปได้อยู่ อย่างนี้เขาเรียกว่าพื้นวางไว้ดี แต่ว่าก็อย่าไปทำจนเป็นเหตุให้ตัวเองทุกข์ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าตั้งความปรารถนาอย่างนี้ไว้มากแรงแล้วทีนี้พอรู้สึกว่าไม่สมใจตนก็รู้สึกไม่สบายใจก็กลายเป็นทุกข์ได้จากความปรารถนานี้ เราก็ต้องตั้งให้เป็นในแง่ยินดีอย่างเดียว ในแง่ดีเราตั้งไว้ดีแต่เราก็ต้องป้องกันไว้ด้วยไม่ประมาท อันนี้ก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย นี่เห็นไหมปัญญามาบอกแล้ว เราตั้งใจดี มีความปรารถนาดี มีเมตตากรุณารักใคร่อย่างนี้เต็มที่และมีจุดมุ่งหมายวางไว้อย่างนี้ และเราก็จะพยายามของเราเต็มที่ แต่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ให้แล้วแต่เหตุปัจจัย เหตุปัจจัยบางอย่างอยู่ในวิสัยของเรา เราควบคุมได้ทำได้ แต่เหตุปัจจัยหลายอย่างมันอยู่นอกเหนือวิสัยของเรา ในส่วนนั้นเราไม่อาจจะรู้ได้ และเราก็ไม่สามารถตามไปทำได้หมด ฉะนั้นก็เอาเป็นว่าปัญญาต้องมาช่วยกำกับพร้อมไว้ไม่ให้เกิดพิษภัย ไม่ให้เกิดทุกข์นั่นเอง ก็ตั้งใจให้ดีที่สุด ใช้หลักการนี้แหละ เมื่อเขาไปอยู่ของเขาดำเนินชีวิตแยกไปแล้วจิตใจของเขามีสิ่งแวดล้อมชักจูงมาก ทีนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นสิ่งแวดล้อมหลักอีกจึงจะสามารถโน้มน้อมจิตใจเขาอยู่ได้ ฉะนั้นเราก็เป็นสิ่งแวดล้อมอันหนึ่งของเขาแต่ว่าอาศัยความผูกพันเดิมเป็นต้นทุนมาก ถ้ายังสืบต่อได้ดีเหนียวแน่นอยู่ก็จะยั่งยืนไปได้ แล้วก็คอยโน้มน้อมจิตใจกันไว้ เมื่อจิตใจมาในแนวทางเดียวกันไปกันได้ดีก็กลมกลืนกันไปแล้วก็ความผูกพันก็มาทำให้เกิดความแน่นแฟ้น แต่อย่าไปหวังเกินควร อันนี้ก็เป็นอย่างที่ว่าคือเราต้องอยู่อย่างรู้เท่าทัน คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยมันแน่นอนอันนี้ก็เป็นด้านปัญญา ปัญญาเป็นตัวรู้เหตุปัจจัย เมื่อรู้เท่าทันเหตุปัจจัยว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยก็อย่าเอาแต่ความอยากความปรารถนาของเรา คือสิ่งทั้งหลายจะเป็นไปย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามใจ เมื่อมันไม่เป็นไปตามใจเราแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เราก็ต้องทำเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นไปตามใจ ใจเราต้องการอย่างไรก็คือมีความปรารถนา เราก็ดูว่าเมื่อเรามีใจปรารถนาอย่างนี้ ความปรารถนาของเรานั้นต้องการอย่างนี้ แล้วผลที่เราต้องการจะเกิดขึ้นได้ด้วยทำเหตุปัจจัยอะไรเราก็ไปทำเหตุปัจจัยนั้น ตอนนี้ปัญญาจะมาช่วย ก็หมายความว่าให้ความปรารถนากับปัญญามาคู่กัน ความปรารถนาจะสำเร็จได้ก็ด้วยปัญญาบอกให้ แล้วถ้าเกิดไม่สมปรารถนาปัญญาก็จะช่วยแก้อีกแหล่ะ จะช่วยแก้ทุกข์อีกที แต่มันคลุมตั้งแต่ต้นแล้วถ้ามีปัญญาแต่ต้น เรารู้อยู่แล้วว่าเราต้องการอย่างนี้ ปรารถนาอย่างนี้ ใจเราจะเอาอย่างนี้ เราก็พยายามไปศึกษาเหตุปัจจัยทำเหตุปัจจัยไปให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ พร้อมกันนั้นก็มีสติระลึกไว้แล้วปัญญาก็จะบอกว่าจะทำได้แค่ไหนผลก็แล้วแต่เหตุปัจจัยนะทั้งเหตุปัจจัยที่เราทำและเหตุปัจจัยนอกวิสัยของเรา เท่ากับว่าใจเราก็พร้อมอยู่แล้ว เราก็ไม่ไปยึดมั่นจนทำให้เกิดความทุกข์แต่ว่าเราก็ทำได้ดีที่สุดด้วย บางคนที่ทำแบบสักแต่ว่าทำด้วยความยึดมั่นนี่นอกจากเป็นทุกข์แล้วยังทำไม่ค่อยได้ผลด้วยนะ สักแต่ยึดมั่นไม่ได้ศึกษาไม่ได้ใช้ปัญญาดูเหตุปัจจัย ตัวเหตุปัจจัยก็ทำไม่ถูก แต่จะให้ยึดมั่นจะให้เป็นดั่งใจแต่ไม่ทำตามเหตุปัจจัยแล้วมันจะไปได้เรื่องอะไร ทีนี้ก็มาทุกข์แล้วก็มาเรียกร้องอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็กลายเป็นไม่ใช่เรียกร้องอยู่แต่ในใจของตัวเองแต่ไปเรียกร้องกับเขาอีก แทนที่จะได้ตามใจตัวเองกลับโกรธกันเสียอีกนะ ไปเรียกร้องเขามากด้วยความยึดมั่นเขาเลยขัดแย้งขึ้นมาอีก ทีนี้ทุกอย่างนี่ต้องมีปัญญาคุมตลอด ปัญญาจะมาจัดมาปรับอะไรต่างๆ ขั้นแรกก็คือจุดหมายที่เราปรารถนานั้นจะสำเร็จด้วยเหตุปัจจัยอะไร อันนี้ต้องรู้ต้นทางของมันแล้วก็ทำเหตุปัจจัยนั้น นี่ก็เข้าหลักที่ว่าทำอย่างไรจะรักษาให้ผู้ที่เราอยากให้อยู่ด้วยมีระดับจิตขั้นเดียวกันแล้วก็มีสภาพจิตที่กลมกลืนไปกันได้แล้วก็มีความผูกพันต่อกันอยู่ อย่างรักกัน แค่ลูกรักคุณพ่อไปจนตลอดชีวิตนี่ก็ได้ไปขั้นนึงแล้วนะ และเขาก็มามีระดับจิตเดียวกัน ถ้าเขาเกิดไปทำกรรมอะไรไม่ดีก็เลยกลายเป็นไปออกไปอีกทางหนึ่ง ไปเกิดคนละภพเลย ถึงจะปรารถนารักผูกพันแต่ก็ไปกันไม่ได้เพราะจิตต่างระดับแล้ว เราต้องยกขึ้นมาอีกว่าถ้าเกิดลูกของเราไปเจริญฌาณขึ้นมานี่ ได้ฌาณสมาบัติเขาเลยไปเกิดเป็นพระพรหม แล้วจะไปเกิดอย่างไรกับเราล่ะ มันก็ไม่ได้ เราต้องยอมรับความจริง เราก็อย่าไปถือ เราก็อนุโมทนาเขาไป เพราะได้ครุกรรมฝ่ายกุศลเลยนะ เป็นครุกรรมเหมือนกันนะแต่ว่าเป็นฝ่ายกุศล ได้ฌาณสมาบัติเป็นพระพรหมไปแล้ว เราไปเป็นเทวดาเท่านั้น ทำอย่างไร เราก็อนุโมทนาพระพรหมไป อย่าไปถือสาอะไรมากแต่ว่าทำดีเข้าไว้ ทำจิตใจของเราให้ดี เราตั้งใจดีแล้วเราก็มีสิทธิ์ที่จะมีความสุข ฉันตั้งจิตไว้ถูกต้องแล้วเป็นจิตที่ดีงามเราก็มีความสุขความพอใจนี้ แล้วเราก็ตั้งจิตปรารถนาดีต่อคู่ครองต่อบุตรธิดา อย่างที่ว่านี้ความตั้งจิตไว้ดีนี่เป็นฐานที่สำคัญนะที่จะช่วย เพราะว่าจิตที่ตั้งไว้ดีแล้วเป็นจุดเริ่มที่มีกำลังที่จะทำให้มันเดินหน้าไปได้ดี เพราะนั้นท่านจึงมีหลักที่เรียกว่าอธิษฐาน อธิษฐานไม่ใช่หมายความว่าเจ้าประคุณขอให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ อธิษฐานคือตั้งจิตเด็ดเดี่ยวตั้งจิตมั่นตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวเรียกว่าอธิษฐาน เมื่อเราอธิษฐานพรรษาก็หมายความว่าตั้งใจที่จะจำพรรษาที่นี่ อย่างพระพุทธเจ้าอธิษฐานพระทัยก็หมายความว่าจะต้องทำความเพียรให้บรรลุจุดหมายนี้ให้ได้ ที่เคยพูดบ่อยๆว่าพระพุทธเจ้าสอนให้อธิษฐานเพื่อจะทำ คนไทยมักจะเพี้ยนเป็นอธิษฐานเพื่อจะเอา อธิษฐานเพื่อจะได้ เจ้าประคุณให้เทวดามาบันดาลนั่นนี่ อย่างนี้ใช้ไม่ได้แล้วไม่ใช่อธิษฐานแล้ว อธิษฐานก็คือตัวเองนี่จะทำอะไรต้องมีจุดมุ่งหมายและตั้งจิตแน่วแน่มั่นคงมุ่งสู่เป้าหมายนั้นอย่างนี้เรียกว่าอธิษฐาน ตั้งใจเด็ดเดี่ยวฉันจะเดินทางให้ถึงเมืองนั้นเมืองนี้อะไรอย่างนี้ หรือว่าจุดหมายในชีวิตจุดหมายในงานการของเรานี่ถ้าเราไม่มีความตั้งใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเป็นพลังแล้วเนี่ยมันทำให้ง่อนแง่นคลอนแคลนง่าย บางทีก็เหยาะแหยะทำไม่เอาจริงเอาจัง พออธิษฐานขึ้นมานี่ทำให้มีกำลังตั้งแต่ต้นเลย แล้วก็เดินหน้าไปแล้วมันจะมาเป็นตัวกำกับจิตว่าจุดหมายของเรานั่นมันสร้างพลังที่เชื่อมจุดหมายไว้ ทีนี้อธิษฐานอันนี้สำคัญ ตั้งจิตมั่นเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ก็เลยเป็นบารมีของพระพุทธเจ้าอันหนึ่งคืออธิษฐาน แต่อธิษฐานเพื่อทำนะไม่ใช่อธิษฐานเพื่อจะได้ ไม่ใช่ให้ใครมาช่วยแต่เราทำของเรา อธิษฐานแล้วเราก็จะมีกำลังและปัญญาก็จะมาบอกว่าคุณตั้งใจอย่างนี้จะทำให้สำเร็จจะต้องทำเหตุปัจจัยอะไรบ้างเราก็ทำของเราไป แล้วก็แก้ไขได้เรื่อยปัญญาก็จะมาช่วยแก้ไข สติก็จะมาคอยเตือนคอยช่วยตรวจสอบคอยกำกับไว้ให้อยู่กับเรื่องที่เป็นจุดหมายไม่พลัดพรากไม่หนีไปไหนไม่เคว้งคว้างเลื่อนลอย
พระนวกะ : แล้วอย่างสามีภรรยาที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อว่ามีสมชีวิตาสี่ ส่วนบิดามารดากับบุตรธิดานี่มีองค์ธรรมทำนองนี้ที่ชัดเจนบ้างไหมครับ แล้วก็อย่างทั้งสามีภรรยาแล้วก็บิดามารดาบุตรธิดาเราพึงปฏิบัติหน้าที่ให้เหมือนในทิศหกด้วยดีไหมครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ : อันนั้นมาหนุนอันนี้อีกทีนึงคือข้อปฏิบัติ ทีนี้คือหลักการ หลักการในที่นี้มันเป็นตัวคุณธรรมเลย ส่วนในทิศหกนั้นเป็นข้อปฏิบัติใช่ไหม สมชีวิธรรมสี่เนี่ยมันเป็นหลักคุณสมบัติในใจแล้ว สมศรัทธา สมศีลา ก็เป็นคุณสมบัติของเราที่จะประพฤติดีมาเป็นคุณสมบัติในตัว สมจาคะ สมปัญญา นั่นเป็นคุณธรรม ที่นี้ว่าเมื่อมีคุณธรรมเหล่านี้หรือจะให้มีคุณธรรมเหล่านี้ หรือจะให้คุณธรรมเหล่านี้ยั่งยืนอยู่ได้จะต้องปฏิบัติอย่างไร นี่แหล่ะครับออกไปทิศหก ทิศอะไรเหล่านี้ ทีนี้สามีภรรยาจะให้มีสมศรัทธา สมศีลา สมจาคะ สมปัญญา มันอยู่มันมั่นคง ก็ต้องไปปฏิบัตินั่นแหล่ะ ข้อปฏิบัติหน้าที่ต่อคู่ครองอย่างในทิศหกนะ สามีจะปฏิบัติต่อภรรยาอย่างไร ภรรยาปฏิบัติอย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติตามนั้นเดี๋ยวก็แตกสมศรัทธา สมศีลา มันก็ไปหมดใช่ไหม อันนั้นคือข้อปฏิบัติมาหนุน ซึ่งหนึ่งมันก็เป็นไปตามนี้ สองก็มาหนุนให้แน่นแฟ้นขึ้น ทีนี้สำหรับบุตรธิดาก็ใช้หลักการเดียวกันแหล่ะคือจิตใจมันจะต้องมีอันนี้อยู่ ก็หมายความว่าสมศรัทธา
สมศีลา สมจาคะ สมปัญญา นี่เป็นตัวมาช่วยจิตให้มาอยู่ตามหลักที่ว่าเมื่อกี้ ที่ว่าหนึ่งจิตก็อยู่ระดับเดียวกันแล้วนะ สมศรัทธา ศีลา จาคะ ปัญญา นี่ทำให้จิตมาอยู่ระดับเดียวกันแล้วก็จิตก็กลมกลืนกันด้วย แล้วก็ท่านก็ไปเสริมเอาไอ้เรื่องความผูกพันนี่ ทีนี้ลูกก็เหมือนกันจะมายึดหลักนี้ไว้ได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกตามหน้าที่ ถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ต่อมาพวกนี้ก็ไปหมด ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ก็ถือว่าใช้หลักการเดียวกัน ส่วนข้อปฏิบัติเราก็ไปดูว่าใครอยู่ในสถานะอะไรก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสถานะนั้น เราก็จะมีข้อปฏิบัติที่ท่านสอนไว้ให้อยู่แล้ว เราก็ทำหน้าที่ต่อกันให้ถูกนะ เป็นลูกก็ตั้งอยู่ในหลักนี้ในทางทิศเบื้องหน้าใช่ไหมคู่แรก พ่อแม่และลูก อันนี้ก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อกันให้ถูกมันก็จะมาช่วยสมศรัทธา สมศีลา สมจาคะ
สมปัญญา มาหนุนกันไว้อย่างน้อยจิตก็จะไม่แตกแยก ไม่ขัดแย้ง กลมกลืนกันได้แล้ว ก็เป็นอันว่าในส่วนข้อปฏิบัติที่จะมาหนุนเราก็ไปค้นคว้านะ มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อจะให้ไปด้วยกันได้ดีก็ทำ ท่านมีอะไรที่จะถามก็นิมนต์ ลองถามดูก่อนก็ได้ ดูว่าจะต้องตอบยาวไหม
พระนวกะ : ถ้างั้นก็ถามเป็นแนวให้สอดคล้องกับหัวข้อที่พระไพศาลได้ถามไว้นะครับว่า สำหรับหลักธรรมสมชีวิตานี่สามารถนำมาใช้กับบุคคลที่จะหาคู่ครองที่เหมาะสมกับตัวเองได้ด้วยหรือเปล่าครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ : ก็ใช่ เป็นส่วนหนึ่ง ก็เป็นคู่ครองที่สมกันอยู่แล้วไง เป็นคุณธรรมที่เป็นว่ามีชีวิตสมกัน
สมชีวิธรรมนะ ไม่ใช่สมชีวิตา ถ้าสมชีวิตาก็อยู่ในหลักทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรมสี่ เลี้ยงชีวิตพอเหมาะพอสม แต่อันนี้สมชีวิธรรม ธรรมที่ทำให้มีชีวิตสมกัน ก็ใช้หลักนี้แหล่ะทั่วๆไป ไปได้กว้างๆ ทีนี้เราคิดในแง่นี้สิว่า ขนาดคู่ครองที่ประสานใกล้ชิดสนิทสนมที่สุดก็ยังต้องใช้หลักนี้ แล้วคนอื่นล่ะก็ต้องแน่นอนใช่ไหม ขนาดคู่ที่ต้องสนิทที่สุด คนอื่นก็ถ้าทำตามนี้มันก็ไปได้สิใช่ไหม ขนาดคู่ครองยังได้แล้วคนอื่นจะไม่ได้ได้อย่างไรใช่ไหม แต่ถ้าจะมีอีกเช่นการเลือกภรรยาสามีแบบว่า ภรรยาเจ็ดชนิดรู้จักไหม เราก็ต้องดูด้วยว่าเราจะพอใจภรรยาแบบไหน บางคนเขามีนิสัยที่มันจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม เราชอบอย่างไร ภรรยาแบบเพื่อน เป็นที่ปรึกษาคุยกันสบาย หรือเป็นภรรยาแบบแม่ คอยดูแลเอาใจใส่ลูก หรือเป็นภรรยาแบบเจ้านายจะคอยสั่งเรื่อยเลย จะเอาอย่างไรก็เลือกทีท่านก็แนะไว้ให้ใช่ไหมอันนี้ก็ด้วยนะ อันนั้นเป็นคุณธรรมที่จะทำให้สมกัน แต่ทีนี้ลักษณะเฉพาะนี่ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ภรรยาแบบไหน มีแง่มุมอะไรไหมก็นิมนต์ถาม
พระนวกะ : พอดีเห็นท่านพระเดชพระคุณหลวงพ่อพูดเกี่ยวกับว่าศรัทธา ทิฐิ ผมก็เลยคิดมาได้ว่าพระโสดาบันนี่ก็ละศักยทิฐิไปได้ คืออยากจะเข้าใจคำว่าศักยทิฐินี่คือท่านไม่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องอะไรหรือเปล่า หมายถึงว่าเลยไม่ทะเลาะกับคนอื่น คือเห็นสวรรค์มีจริงไหมอย่างนี้ก็เหมือนกับว่ามันเป็นสมมติก็ไม่มีความเห็นหรืออย่างไรครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ : ศักยทิฐิ นี่คือความเห็นเรื่องตัวตน ไปเรื่องอัตตา หมายความว่าหมดความยึดถืออัตตา ถือว่าถ้าแยกขันธ์ห้า เห็นรูปเป็นอัตตา เวทนาเป็นอัตตา สัญญาเป็นอัตตา สังขาร วิญญาณเป็นอัตตา คือไม่มองเห็นอะไรเป็นอัตตาแล้ว ไม่มีความยึดถืออัตตาในระดับที่จะทำให้ทำความชั่วได้รุนแรงก็เลยสลัดได้ แต่ยังไม่ถึงกับว่ามีปัญญาหมดอวิชชาหรอก อวิชชายังมีอยู่ยังไม่หมด แต่ว่าขั้นที่จะเกิดทิฐิที่ผิดอย่างนี้ไม่มีแล้ว เหมือนกับปัญญาพอเพียงที่จะละความเห็นผิดเกี่ยวกับเรื่องการยึดถืออัตตาตัวตน ทีนี้พอสละความยึดถืออัตตาตัวตนไปได้ มันก็ทำให้การที่จะทำเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา มานะ ทิฐิ เบาหมด เพราะคนเรานี่ตัวสำคัญก็คือความยึดถือตัวตนอัตตา โลภเพราะอะไร โลภก็เพราะตัวตนใช่ไหม โทสะไปทำร้ายเขาก็เพราะตัวตน เรื่องตัวตน โมหะลุ่มหลงก็เรื่องตัวตนนี่แหล่ะ ทีนี้พอมีปัญญาพอแล้ว กิเลสเบาบาง ความยึดถือตัวตนสลายไปได้ ความที่ยังไม่รู้อันนั้นก็ถือว่าเล็กน้อยแล้ว บางเบาแล้วที่จะไปทำอะไรผิดพลาดก็เรียกว่าแทบไม่มี ก็เรียกว่าโสดาบันก็ดีกว่าคนดีทั่วไปอยู่แล้วเพราะงั้นก็ไม่มีการทำความชั่วแล้ว ก็มีแต่ว่าท่านยังมีติดอยู่ อย่างติดในบุญอย่างนี้ พระอรหันต์ท่านไม่ติดแล้วแม้แต่ในบุญ พระโสดาบันก็ยังติดบุญได้นะ ยังติดบุญติดกุศลอะไรต่ออะไรอยู่
พระนวกะ : ก็คือมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อย่างความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกายะ
พระพรหมคุณาภรณ์ : ความยึดถือตัวตนนั่นเอง ทิฐิที่เป็นเหตุให้ยึดถือตัวตน ความเห็นผิดในเรื่องตัวตน ส่วนเรื่องอื่นๆก็ถ้าหากว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิเลสมันจะมาเนื่องกับตัวตนหมด แต่ถ้าเป็นความเห็นที่มันเป็นข้อมูลความรู้เฉยๆนั่นไม่เกี่ยวแล้ว พอแยกออกไหม กิเลสเกี่ยวกับเรื่องตัวตนก็คือหมายความว่ามันมาจากความยึดถือตัวตนเป็นฐานแล้วก็ไปยึดถืออะไรต่างๆ ความเห็นผิดไปตามอิทธิพลของความยึดถือตัวตน แม้แต่เถียงกันเรื่องอื่น เรื่องที่มันไม่เกี่ยวกับตัวตน แต่ความยึดถือตัวตนมันมี พอฉันว่าอย่างนี้แล้วคนอื่นว่าไม่ได้แล้วใช่ไหม อันนี้ก็แสดงว่าศักยทิฐิมีไหม มีใช่ไหม เพราะงั้นท่านต้องแยก คือเถียงเรื่องทั่วไปนี่แหล่ะแต่ว่าศักยทิฐิมันตามไป ทีนี้ถ้าเราไม่มีศักยทิฐิ ความเห็นยึดถือตัวตนไม่มี เราอาจจะมีทิฐิเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ เข้าใจไปเท่าที่เรามีความรู้ มันก็เป็นเรื่องความเห็นบริสุทธิ์ไป ทีนี้พอเราไปเถียงไปหาความรู้เราอาจจะแก้ทิฐินั้นไปได้ใช่ไหม อันนั้นก็อยู่ที่ปัญญาแล้ว ทิฐิพวกนั้นก็อยู่ที่ปัญญามาโดยตรง ปัญญามาก็แก้ไปเลยไม่ต้องมีตัวยึดอยู่ ทีนี้เจ้าทิฐิตัวตนนี่มันร้ายกว่านั้นก็คือว่าทั้งๆที่รู้แล้วปัญญาบอกแล้วแต่มันไม่ยอมใช่ไหมเพราะว่ามันยึดถือตัวตน ทีนี้ถ้าเราทำลายตรงนี้ได้พระโสดาบันนี่ท่านก็ประเสริฐสิเพราะท่านไปอยู่ในโลกท่านไม่ทะเลาะกับใคร ท่านอาจจะมีทิฐิของท่านในเรื่องอย่างนี้เพราะท่านรู้มาแค่นั้นท่านก็ยึดไว้ใช่ไหม แต่ท่านไม่ได้ไปทะเลาะกับใครนี่เพราะมันไม่มีการยึดถือของตัวตน แล้วพอเขาอธิบายมา เขามีความรู้ปัญญามา ท่านก็ว่าไปตามข้อมูลความรู้ใช่ไหมก็ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นพระโสดาบันท่านก็ไม่เกิดปัญหาเรื่องนี้ พอแยกได้นะ
พระนวกะ : รบกวนพระเดชพระคุณฝากคำถามไว้ว่า จากการที่ผมได้เข้ามาบวชก็พอจะได้ทราบหลักธรรมอยู่ว่าแนวทางในการดำเนินชีวิตเมื่อสึกออกไปนะครับ ที่พระเดชพระคุณสอนไว้ว่าคือให้พยายามว่ายทวนกระแส แต่ว่าอย่าไปว่ายต้านกระแสมัน ทีนี้ก็เท่าที่ผมเข้าใจคือว่าการว่ายทวนกระแสนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว แล้วก็อย่างที่ผมบวชเข้ามาก็คือช่วงเวลาไม่นานแค่เพียงสามสี่เดือน คือรู้ตัวว่าสิ่งที่ทำนี่ดีแล้วแต่ว่าก็ยังอาจจะมีปัจจัยภายนอกที่มากระทบในจิตใจทำให้การทำดีนั้น แต่ว่าในจิตใจอาจจะขุ่นมัวหรือไม่ผ่องใส ก็อยากจะเรียนถามว่าพอจะมีแนวคิดหรือหลักธรรมอะไรที่จะช่วยให้การว่ายทวนกระแสนั้นเป็นการว่ายด้วยจิตใจที่ผ่องใสไม่ขุ่นมัวครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ : คือเราก็ยอมรับความจริงว่าเราก็ยังมีกิเลสอยู่มันก็ต้องมีขุ่นมัวบ้าง ได้อย่างใจบ้าง ไม่ได้อย่างใจบ้างเป็นธรรมดา เราก็ฝึกตัวเราไปสิ ก็ถือเป็นเรื่องการฝึกตัวไป เจอกิเลสเจอทุกข์ก็ถือเป็นฝึกตัวเหมือนกัน เกิดกิเลสไม่พอใจขึ้นมาเราก็ได้ฝึกอีก ฝึกที่จะแก้กิเลสนี้ เป็นสนุกไปซะ มันเข้ามาก็แก้มันไป นี่แหล่ะมันคือเรื่องปกติของมนุษย์ที่มีการฝึกฝนพัฒนา มันก็ต้องเจอปัญหาต้องแก้ต้องไขไป บางทีเป็นทุกข์เป็นปัญหามากก็กลายเป็นทำให้เราได้ฝึกมากดีเสียอีก ก็อย่าไปท้อให้มองในแง่โยนิโสมนสิการมาใช้เสีย มองเป็นฝึกนะ อะไรๆเป็นฝึก เคยบอกไว้แล้วว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก อันไหนมันยากมากก็ฝึกอย่างน้อยเราก็เข้มแข็งมากกว่าจะสำเร็จ ปัญญาก็มามาก เราก็ใช้โยนิโสมนสิการให้เยอะ โยนิโสมนสิการก็จะมาเป็นตัวพลิกสถานการณ์จากร้ายให้เป็นดี จากโทษก็กลายเป็นประโยชน์ได้ สิ่งที่จะเกิดพิษเกิดภัยเราก็พลิกให้มันเป็นประโยชน์เสีย เพราะงั้นพวกทุกข์พวกอะไรก็เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เอามาใช้ในแง่ใช้ฝึกตัวเองก็ได้ประโยชน์แล้ว นอกจากนั้นโยนิโสมนสิการยังได้ประโยชน์จากมันอีกเยอะเลยนอกจากการฝึก ได้ปัญญาเป็นเบื้องต้นเลย ได้ความรู้ความเข้าใจ ถ้าคนไม่เจอปัญหา ปัญญาเกิดยาก ปัญหาเป็นที่ลับปัญญา ก็เอาเป็นว่าปัญหานี่เป็นที่ลับมีดก็คือปัญญาของเรา ถ้ามันไม่มีที่ลับมีด เล่มมีดของเราก็จะไม่คม เราก็จะให้ปัญญาของเราคมก็มองเป็นประโยชน์หมด พอได้นะไม่ต้องไปท้อ แต่ทีนี้ว่าทวนกระแสคือเราไปมองแง่หนึ่งว่าเอากระแสตอนนี้ว่าเป็นกระแสใหญ่ไม่ดี สร้างปัญหา เราก็ไม่ยอมรับกระแสนี้ ก็กลายเป็นว่าเราไม่ตามกระแสแล้วเราจะทำอย่างไร ก็กลายเป็นว่าเราก็ไปอีกทิศหนึ่งก็คือสวนกันก็กลายเป็นทวนกระแสไปใช่ไหม ทีนี้ถ้าเราทวนกระแสไปแล้วถ้าคนเห็นชอบกับเรามากๆ ความดีเพิ่มขึ้นนั่นแหล่ะ หมายความว่ากระแสแห่งความคิดความเข้าใจดีงามมันเพิ่มขึ้น ต่อไปไอ้ที่เราทวนมันจะกลายเป็นกระแสหลักได้เหมือนกัน พอเป็นกระแสหลักมันก็ไม่ต้องทวนแล้วใช่ไหมก็ไปด้วยกันเลย ทีนี้ทำไงจะพาให้คนอื่นไป นี่แหล่ะเราก็ต้องเป็นกัลยาณมิตรให้กับเพื่อนมนุษย์เรา พยายามที่จะให้สร้างกระแสใหม่ที่ถูกต้องแล้วก็ไปด้วยกันให้เป็นกระแสหลักไปซะ แต่ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้เป็นกระแสหลักที่ไม่ดีเราก็ยินดีจะทวนแต่ว่าอย่าไปมัวต้าน ก็เหมือนกับปลาเขาก็ไม่ได้ต้านกระแสใช่ไหม ปลาเป็นเขาก็ว่ายทวนกระแสเหมือนกันนะ เขาก็ว่ายของเขาไป เมื่อทวนกระแสไปมันก็ไม่เป็นไรเราก็ไม่ได้ไปเกิดปัญหาต้านที่จะไปทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งอะไรโดยไม่จำเป็น ถ้าไม่มีอะไรวันนี้ก็เอาเท่านี้นะ แล้วค่อยมาคุยกันต่อ มีคำถามอะไรค้างหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ปิดท้ายของท่านไพศาลนิดนึง เพราะท่านถามแล้วก็พูดกันมาสองวัน ปิดท้ายก็คือว่าเรื่องที่ท่านพูดถึงนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความปรารถนา ความปรารถนานี่ก็ต้องให้แรงด้วยอธิษฐานนี่แหล่ะ อธิษฐานจะเป็นตัวสร้างแรงส่งมุ่งสู่จุดหมาย เพราะว่าอธิษฐานก็คือตัวที่มองไปที่จุดหมาย ตั้งให้แน่วลงไปเด็ดเดี่ยว แต่ว่าอธิษฐานในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะขอให้ใครบันดาลให้แต่เป็นการตั้งจุดหมายของเราเอง ก็อย่างที่ว่าเป็นแรงส่งสู่จุดหมาย เวลาเราอธิษฐานเช่นบอกว่าเรามีความรักปรารถนาดีต่อกันอยู่ด้วยกันมีความสุข เกิดไปก็อยากจะพบกันอีกก็ตั้งจิตอธิษฐาน คือพอตั้งจิตอธิษฐานจิตมันมุ่งสู่เป้าหมายแล้ว มันก็เหมือนกับมาเป็นตัวกำกับจิตไปเลย เวลาจะทำอะไรต่ออะไรต่อไปเหมือนกับแม้จะไม่ได้ตั้งใจนะมันก็เหมือนกับทำเพื่อจุดหมายนั่นไปเลย แล้วมันก็กันอันอื่นออกไปด้วย ฉะนั้นการอธิษฐานจิตนี่ก็สำคัญ ทั้งเป็นจุดกำหนดที่ใจมันจะมานึกถึงอยู่เรื่อย และทั้งเป็นตัวอย่างที่บอกเมื่อกี้คือสร้างแรงส่งมุ่งสู่จุดหมาย อันนี้ก็เรื่องของอธิษฐานที่มากำกับความปรารถนา เป็นตัวสร้างพลัง ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าในเมื่อเป็นเรื่องความปรารถนาเราก็ต้องรู้เท่าทันความจริงด้วยปัญญาว่ามันก็สำเร็จได้มั่ง ไม่สำเร็จได้มั่ง อย่างที่ว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย เราก็ต้องมีความพร้อมที่จะไม่ให้มันกลายเป็นเหตุปัจจัยของความทุกข์หรือปัญหา ทีนี้วิธีหนึ่งที่ดีก็คือว่าให้ความปรารถนานี้มาเป็นตัวปัจจัยในการทำสิ่งที่ดีงามเป็นกุศล หมายความว่าถ้าเรามีความปรารถนานี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงามต่อกัน ก็ชวนกันทำบุญทำกุศลทำสิ่งที่ดีงามทั้งหลายเอาเป็นตัวฐานหรือเป็นตัวปัจจัย เป็นตัวปรารภ เป็นข้อปรารภที่จะทำความดีต่างๆ เมื่อตัวความปรารถนานี้กลายเป็นตัวปัจจัยให้ทำความดีกันสร้างสรรค์อะไรต่างๆมาเยอะแยะ แม้หากว่าจะเกิดความผิดหวังอะไรก็แล้วแต่สิ่งที่ทำดีงามพัฒนาขึ้นไปก็ชดเชยให้เสร็จ เรียกว่าได้คุ้ม ก็ได้สองอย่างนะ หนึ่งก็คืออธิษฐาน สองก็ให้เป็นปัจจัยกับการทำสิ่งที่ดีงาม เหมือนกับว่ามีสองแรงมาร่วมกันแล้ว ชวนกันทำความดีงามมันก็เดินหน้าไปด้วยดี มันก็ยิ่งช่วยให้มีความหวังมากขึ้นในการที่จะสำเร็จตามปรารถนา เพราะความปรารถนานี้สำเร็จด้วยการกระทำสิ่งที่ดีงามที่มันจะมาเป็นตัวสร้างจิตใจที่มันกลมกลืนผสานเป็นอันเดียวกัน เพราะเมื่อทำด้วยกัน ทำอะไรก็ทำด้วยกันจิตมันเป็นอันเดียวกันไปแล้ว คนที่จะทำอะไรด้วยกันก็อย่างที่เขาชอบมาใช้สมัยนี้มีสมานฉันท์หรือสมานฉันทะ อ่านได้สองอย่าง สมานฉันทะ ก็แปลว่ามีฉันทะเสมอกันร่วมกัน มีความปรารถนามีความยินดีพอใจร่วมกัน คนมีสมานฉันท์จึงทำอะไรร่วมกันด้วยดี คนจะมาทำบุญมาบำเพ็ญประโยชน์อะไรก็ต้องมีสมานฉันท์ มีความปรารถนา มีความยินดีพอใจร่วมกัน ทีนี้พอสร้างอย่างนี้ไอ้ตัวนี้แหล่ะที่ทำให้จิตมีสภาพกลมกลืนกันไปเลยกลายเป็นว่าได้ทั้งสองด้าน ปรับสภาพจิตให้เหมือนกันเข้ากันได้ด้วย พร้อมกันนั้นก็ทำความดีงามไปด้วยให้พัฒนาชีวิตของตัวเองดีอย่างเดียว เอาล่ะอนุโมทนา