แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้คิดว่าเป็นธรรมกถาปิดรายการ เพราะว่ารายการที่ไปเยี่ยมเยือนสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือว่าจบลงในวันนี้ ด้วยการไปชมถ้ำอชันต้า และต่อจากนี้เป็นเรื่องของการเตรียมเดินทางกลับประเทศไทย พรุ่งนี้ไปเดลี กรุงเดลีไม่ได้มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นเพียงสถานที่ไปขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทยเท่านั้นเอง โยมบางท่านอยากจะฟังเรื่องธรรมปฏิบัติ เรื่องกรรมฐาน แต่เพราะเวลาของเราน้อย เรื่องเกี่ยวกับเฉพาะโอกาสนี้อาตมาว่าจำเป็นกว่า ควรจะพูดถึงเรื่องที่เราไปเยี่ยมเยือนมาก่อน ต่อจากนั้นถ้ามีเวลาเหลือค่อยมาพูดกันเรื่องธรรมปฏิบัติ
สำหรับรายการที่ไปมา เรื่องถ้ำอชันต้าเอลโลร่า ยังไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสที่จะพูดพร้อมกันกับโยมทุกท่าน ตอนที่มาถึงวันแรก หรือวันที่สอง ตอนไปถ้ำอชันต้า อาตมาพูดบนรถคันที่ 1 เล็กน้อย ไม่พร้อมกัน ในประการหนึ่งเป็นเพียงว่า พูดคร่าวๆ เพราะฉะนั้นวันนี้ โยมพร้อมกันควรจะได้พูดเรื่องนี้อีกหน่อยหนึ่ง แต่อย่างที่อาตมาได้ออกตัวไว้บนรถแล้วว่า เรื่องถ้ำอชันต้าเอลโลร่านี้ อาตมาเองมีความรู้น้อย เพราะเป็นเรื่องพระพุทธศาสนายุคหลัง ไม่มีในคัมภีร์ และในเมืองไทย เราไม่ค่อยรู้เรื่องพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย แม้แต่ประเทศอินเดียที่เป็นต้นแหล่ง เราเรียนพุทธประวัติแค่ความเป็นมาในพระชนมชีพ หรือพุทธกิจของพระพุทธเจ้า แค่ปรินิพพาน ต่อจากนั้นเราจะเรียนเรื่องการสังคายนาเล็กๆ น้อยๆ พอให้รู้ว่ามีสังคายนาสำคัญกี่ครั้ง แต่ละครั้งนั้นปรารภเหตุอะไร และทำที่ไหน และก้าวข้ามไปเลย จะไม่เล่า ไม่เรียนเหตุการณ์ในระหว่างนั้น อย่างประวัติพระพุทธศาสนาในอินเดีย พระสงฆ์ในประเทศไทยแทบไม่รู้เรื่องเลย ต้องเป็นการค้นคว้าเอาเอง
สำหรับเรื่องถ้ำอชันต้าเอลโลร่า เป็นเรื่องของพุทธศาสนาในอินเดียยุคหลัง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพระพุทธศาสนาของอินเดียโดยเฉพาะ เราเลยมีความรู้น้อย แต่ว่าถึงแม้จะรู้น้อย เราหาอ่านเอกสารอะไรต่างๆ เอา แล้วไม่ใช่ว่าอินเดียเองเขาจะรู้มาก เขารู้น้อยเหมือนกัน เพราะว่าชาวอินเดียแทบไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้เลย ที่มีบ้างอาศัยฝรั่งมากกว่า เพราะว่าถ้ำอชันต้าเอลโลร่า เป็นสถานที่สำคัญถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลาคิดว่า 700-800 ปี จนกระทั่งกลายรกชัฏเป็นป่า เพราะอยู่ในหุบเขาอยู่แล้วเป็นถ้ำ และแถบนั้นสมัยก่อนสันนิษฐานว่าจะมีต้นไม้มาก
ในพ.ศ. 2462 หรือ ค.ศ. 1819 มีทหารอังกฤษมาล่าสัตว์ และมีเรื่องเล่าทำนองว่าล่าสัตว์ไปตอนหนึ่ง ไปตามกวาง แล้วมาหนีไปในถ้ำ ตามมาเจอเอาถ้ำอชันต้าเข้า พบสิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ เป็นเรื่องของคนอังกฤษที่มาเป็นผู้ปกครองอาณานิคม ตอนอินเดียตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และพวกอังกฤษได้มาค้นพบ
แสดงว่าชาวอินเดียไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย เมื่ออังกฤษมาค้นพบ ได้มีการศึกษาค้นคว้าตามวิชาการแบบพวกโบราณคดี ทำนองเดียวกันกับสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา เรียกได้ว่าทั้งหมดในประเทศอินเดีย ถูกทอดทิ้งรกร้างไปหมด อย่างเรื่องพระเจ้าอโศก คนอินเดียก่อนอังกฤษมาปกครอง ไม่รู้จักพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกนั้นหายไปกับประวัติศาสตร์หมด ฝรั่งมาค้นพบสถานที่สำคัญหลักศิลาจารึกอะไรต่างๆ ฝรั่งอังกฤษทั้งนั้นเลยมาค้นพบ เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในยุคเก่าๆ มองในแง่หนึ่งก็เป็นหนี้นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีของตะวันตก พวกอังกฤษมากพอสมควร ในเมื่อเขาศึกษาค้นคว้ากันไป
สำหรับถ้ำอชันต้าเอลโลร่าได้ความรู้มาพอสมควรที่จะพูดต่อไปนี้ ส่วนหนึ่งจะพูด ตามที่เขาได้ค้นคว้าและสันนิษฐานกันมา สิ่งเหล่านี้พูดได้ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องของการสันนิษฐาน ยังไม่มีความรู้ชัดเจนมากนัก แต่การสันนิษฐานมีเหตุมีผลพอสมควร และพูดไปตามแนวนั้น จะเป็นเรื่องทางด้านประวัติศาสตร์ เรื่องของศิลปะ เรื่องของโบราณคดี ท่านที่สนใจในทางศิลปะจะมีมากหน่อย ปัจจุบันจะไปให้ความสำคัญในแง่ศิลปะมาก จะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมบ้าง เรื่องของปะติมากรรมแกะสลักบ้าง และเรื่องของจิตรกรรม ภาพวาดต่างๆ จะให้ความสำคัญ ไปงานที่เด่นในด้านศิลปะมาก แต่ว่าอีกด้านหนึ่งที่สำคัญ คือ ด้านศาสนา ซึ่งคนอาจจะมองไม่มากนัก ในด้านของศาสนาเองมองในแง่ของ เรื่องภาพทางโบราณคดีหรือสิ่งที่ปรากฎทางโบราณคดีบางอย่าง ไม่ค่อยลึกซึ้งอะไร อาตมาว่าสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับชาวพุทธ คือ เรื่องบทเรียนมากกว่า บทเรียนสำหรับชาวพุทธน่าจะมีประโยชน์มาก แต่ก่อนที่จะพูดถึงบทเรียน ต้องดูเรื่องราวที่เป็นมาทางประวัติศาสตร์และมาเชื่อมโยงว่า เรื่องบทเรียนเหล่านี้ได้พอเป็นแง่คิดบางอย่างเท่านั้น ไม่ใช่ถึงกับแน่นอนไปเลย เพราะเราไม่ได้รู้ความจริงชัดเจน เอาเป็นว่าบทเรียนนี้ถ้าหากว่า จะเป็นแง่คิดที่ทำให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน ที่จะเอามาใช้ในการเตือนสติให้ไม่ประมาทได้ ก็เป็นสิ่งที่ดีงาม มาทำความเข้าใจกันเล็กน้อย เกี่ยวกับเรื่องถ้ำเหล่านี้ก่อน ตามหลักฐานที่ท่านเหล่านั้นหรือนักวิชาการ นักโบราณคดี เป็นต้น ได้แสดงไว้ ซึ่งโยมหลายท่านได้อ่าน ได้ศึกษาจากหนังสือ เอามาสรุปก่อนที่จะพูด
ที่เรามาชมเริ่มจากถ้ำเอลโลร่า เอลโลร่านั้นเป็นถ้ำใหม่ คือ ตามที่นักปราชญ์สันนิษฐานกันว่าเริ่มสร้างจากพ.ศ. 1100 โดยประมาณ มาจนกระทั่งถึงประมาณพ.ศ. 1300 หรือ 1400 ส่วนการอยู่ อาจจะอยู่เลยมามากกว่านั้นก็ได้ ถ้ำเอลโลร่านี้มีถึง 3 ศาสนา อย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว ว่ามีทั้งหมด 34 ถ้ำ และเป็นถ้ำพุทธอยู่ชุดแรก คือ ถ้ำที่ 1-12 ต่อไปถ้ำที่ 13-29 เป็นถ้ำฮินดู ถ้ำพุทธกับถ้ำฮินดูต่อกันไป ต่อจากนั้นถ้ำที่ 30-34 เป็นถ้ำศาสนาเชน หรือศาสนามหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร ในพุทธศาสนาเรียกศาสนานี้ว่า ลัทธินิครนถนาฏบุตร แต่ในการศึกษาปัจจุบันนี้เขาจะเรียกกันว่า ศาสนาเชน เป็นถ้ำที่ 30-34 ถ้ำ 30-34 นี่เป็นอีกชุดหนึ่งต่างหากออกไป เมื่อวานซืนนี้ที่ไป เราไม่มีเวลา เราไปติดที่ถ้ำฮินดูแล้วหมดเวลา เลยไม่ได้ไปดูถ้ำเชน ซึ่งไม่ได้อยู่ต่อกัน ห่างออกไปถึงประมาณหนึ่งกิโลเมตร
ทำความเข้าใจกันคร่าวๆ ก่อนว่า ที่เอลโลร่ามี 3 ศาสนา ของพุทธศาสนาเริ่มประมาณพ.ศ. 1000 เศษ หรือ 1100 จนกระทั่งถึง 1300-1400 ของฮินดูเริ่มหลังพุทธศาสนา 100-200 ปี และมาสิ้นสุดลงระยะเวลาไม่ห่างไกลกันเท่าไร และของเชนหลังสุด คาบเกี่ยวกับของฮินดู อาจจะเริ่มสักพ.ศ. 1300-1350 มาสิ้นสุดประมาณพ.ศ. 1600 มีอยู่ 5 ถ้ำด้วยกัน
ที่ให้ทราบเวลาจะได้รู้ว่า เริ่มต้นเป็นของพุทธศาสนาก่อน แล้วจึงมีศาสนาฮินดู ศาสนาเชน สำหรับพุทธศาสนาที่เอลโลร่ามีแต่พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นสิ่งที่ควรจะต้องทราบ ถ้ำเอลโลร่าที่เราไปชมก่อนเราย้อนจากของใหม่ไป แล้วจึงไปดูถ้ำเก่าที่อชันต้า เป็นถ้ำพุทธศาสนาล้วนๆ เดิมนั้นมีแต่พุทธศาสนาที่สร้างศิลปกรรมในถ้ำ คือ ถ้ำอชันต้า
ถ้ำอชันต้ามีที่แสดงไว้ทั้งหมด 30 ถ้ำ 30 ถ้ำเริ่มตั้งแต่ประมาณพ.ศ. 350 ถ้ำแรกเก่ากว่าเอลโลร่า หมายความว่า ถ้ำแรกที่อชันต้าก่อนถ้ำแรกที่เอลโลร่าประมาณ 800 ปี เก่ากว่ากันมากมายเหลือเกิน ที่อชันต้าเริ่มประมาณพ.ศ. 350 มาจบที่ประมาณพ.ศ. 1200 จบสิ้น และต่อจากนั้นไปมีที่เอลโลร่า เอลโลร่ามาคาบเกี่ยวกับทางอชันต้าในตอนปลายๆ หน่อย ที่ต้องสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ที่อชันต้านั้น ชื่อว่าเป็นถ้ำพุทธศาสนาล้วนๆ แบ่งเป็นสองส่วนอีก คือส่วนของหีนยานหรือเถรวาท พูดง่ายๆ คือสายแบบของเรา แบบพุทธศาสนาที่ไปเมืองไทย มีอยู่ 6 ถ้ำด้วยกัน คือ ถ้ำที่ 8, 9, 10, 12, 13 และ 30 สามสิบนั้นไปไม่ถึง เห็นว่าไม่มีทางไป หรือว่าจะมีแลนด์สไลด์??? (Landslide) แผ่นดินถล่มไปแล้ว มี 6 ถ้ำที่เป็นถ้ำของสายหีนยาน สายพวกเรา เหลือจากนั้นเป็นฝ่ายมหายาน หลายถ้ำเป็นถ้ำผสม คือเป็นของหีนยานแต่เดิม ฝ่ายมหายานมาแต่งเติมทีหลัง เช่นว่า ทำสร้างถ้ำไว้แล้วทางด้านสถาปัตยกรรม และปะติมากรรมทำไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่ แล้วทางฝ่ายมหายานมาเติมพวกจิตรกรรม ภาพวาด เพราะภาพวาดจะมีการลบเลือนได้ไว เมื่อผ่านไปหลายๆ ร้อยปี ภาพเก่าที่ทางฝ่ายเถรวาทวาดไว้อาจจะเลือนไป ลบไป ฝ่ายมหายานไปแต่ง ไปเติม ไปวาดใหม่ หรือจะลบทำใหม่ก็ไม่ยาก เอาเป็นว่า ถ้ำเป็นของหีนยานหรือเถรวาทและมีบางถ้ำที่ปะปน พระสงฆ์หีนยานเก่าแล้วมหายานมาผสมตอนหลัง เหลือจากนั้นอีก 24 ถ้ำเป็นของมหายาน
หีนยานหรือเถรวาทที่ว่า 6 ถ้ำเก่ามาก ประมาณพ.ศ. 350 ถึงประมาณสัก 500 หรือ 550 เท่านั้น ถ้ำของหีนยานหรือเถรวาททำอยู่ประมาณ 200 ปี แล้วขาดช่วงตอน ขาดช่วงตอนไปประมาณ 400 ปี ของมหายานจึงมาเริ่มหายไป 400 ปี ขาดช่วง แล้วมหายานมาต่อ อันนี้เป็นเรื่องที่แปลก คงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป ไม่รู้ว่าจะมีทางศึกษาค้นคว้าได้สำเร็จหรือเปล่า ทำไมหายขาดตอนไป 400 ปี และมหายานมาต่อ หมายความว่ามหายานมาต่อตั้งแต่พ.ศ. 800-900 ปี ต่อมาจนกระทั่งจบยุคเลย เป็นเรื่องของความรู้ทั่วไปเบื้องต้นที่ควรจะทราบ
อันนี้สิ่งที่ควรจะได้พิจารณา เป็นข้อสังเกต และมาเชื่อมโยงกับเรื่องบทเรียน คือ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความเจริญและความเสื่อมของพุทธศาสนาด้วยอย่างแน่นอน แต่ว่าเรื่องความเป็นเหตุปัจจัยในความเสื่อมความเจริญนั้น เรายังไม่อาจจะค้นคว้าให้ได้ชัดเจน อาจจะเป็นความมืดอยู่ตลอดไปได้ แต่อย่างน้อยเราพบความแตกต่าง อย่างที่บอกว่า เบื้องต้นเถรวาทก่อนมามหายาน แล้วมาเอลโลร่า มหายานเริ่มต้นแล้ว มามีศาสนาฮินดู และศาสนาเชน
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าสังเกต เอาข้อสังเกตในเรื่องระหว่างศาสนาก่อน คือ เรื่องการที่อยู่ถ้ำนี่เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพระในพุทธศาสนา ในพระวินัยนั้นสถานที่สำหรับพระอยู่อาศัย พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว เวลาพระบวช พระอุปัชฌาย์ท่านจะบอก อนุศาสน์ หมายความว่า คำสอนเบื้องต้น สำหรับพระใหม่ ต้องบอกทันทีเมื่อบวชเสร็จ ว่าพระนี้จะดำเนินชีวิตอย่างไร และมีวินัยข้อห้ามอะไรสำคัญที่ทำไม่ได้ จะขาดจากความเป็นพระ
ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของพระจะมีบอก ท่านเรียกว่า นิสัย 4 คือ ปัจจัย เครื่องอาศัย ปัจจัย 4 สำหรับพระอาศัยเรียกว่า นิสัย ปัจจัยที่พระอาศัยเรียกว่า นิสัย มี 4 อย่าง คือ 1. บิณฑบาต 2. จีวร 3. เสนาสะนะ 4. เภสัชหรือคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร
ในข้อเสนาสะนะที่อยู่อาศัยนั้น พระอุปัชฌาย์จะบอกว่า พระนั้น สถานที่ อยู่เป็นพื้นฐานที่สุด คือ รุกขมูลเสนาสนะ คือ โคนไม้ พระจะจาริกไปเรื่อย และอยู่ตามตามโคนไม้ พระยุคแรกจะจาริกไปเรื่อย พระพุทธเจ้าของเราอยู่โคนไม้ จาริกไปในสถานที่ต่างๆ และค่ำที่ไหนพักที่นั่น หรือว่าร้อน เดินทางไปพักไป ท่านเดินทางจาริกปฏิบัติศาสนกิจไปเรื่อยๆ โบราณเวลาหน้าออกพรรษาไปแล้ว พระยังนิยม ท่านเรียกว่า “ไปรุกขมูล” แต่ก่อนนี้ไม่นิยมใช้คำว่าธุดงค์ เพราะคำว่าธุดงค์เป็นคำที่เพี้ยนความหมาย ใช้คำว่า รุกขมูล แปลว่า ออกไปจาริกนั่นเอง เดินทางไปพักตามโคนไม้ เมื่อมีพระสงฆ์อยู่มากแล้ว พระพุทธเจ้าห้ามจำพรรษารุกขมูล ห้ามจำพรรษาใต้ร่มไม้ เพราะว่าไม่เหมาะสม และไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นต้น แต่ว่าเวลานอกพรรษาแล้วไปได้ รุกขมูล หมายความว่า พระออกจาริกไป ไปพักตามโคนไม้ ต่อมาถือว่าเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง
ธุดงค์ แปลว่า ข้อปฏิบัติสำหรับขัดเกลากิเลส มี 13 ข้อ เป็นข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องจีวรบ้าง เกี่ยวกับเรื่องอาหารบ้าง เกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัยบ้าง แล้วเรามาเข้าใจกันผิดไปว่าธุดงค์นั้น คือ ออกเดินจาริกไป
พระออกบิณฑบาตเป็นประจำทุกวัน เป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง พระถือจีวรใช้เพียง 3 ผืน ชุดเดียวไม่ใช้ผ้าที่เขาเรียกว่า อดิเรก เกินกว่าชุดหนึ่ง สามผืนนั้นไม่ใช้ ถือเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง พระถือใช้จีวรที่ไปเก็บของเค้าทิ้ง เอาผ้าที่เค้าทิ้งมาแล้วมาต้ม มาตัด มาเย็บ มาย้อมเอง ใช้เอง เป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง ถึงไม่รับจีวรที่ญาติโยมถวาย ไม่รับนิมนต์ อย่างบิณฑบาต ฉันแต่อาหารบิณฑบาตอย่างเดียว อย่างนี้เรียกว่า “ธุดงค์” ทั้งนั้น
เรามาใช้เข้าใจผิดไปว่า ธุดงค์นั้นออกเดินทางไป เรียนเลือนกันไปหมด ศัพท์ในพุทธศาสนา เลือนกันไปมาก แต่อยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นประจำอันนั้นถือ เป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง อย่างมหากัสสะปะ อยู่โคนไม้ถือเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง ธุดงค์บางข้อถือได้เรื่อย แต่ธุดงค์บางข้อถือได้จำกัดเวลา เช่น การอยู่ใต้ร่มไม้ โคนไม้ มีบัญญัติว่า ห้ามไม่ให้จำพรรษาใต้ร่มไม้ ถือธุดงค์ข้อนี้อยู่ได้จำกัด ไม่ได้ถือได้ตลอดปี อันนี้เป็นความรู้แทรกเข้ามา เป็นอันว่า รุกขมูล เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของพระ
พระอุปัชฌาย์จะบอกว่า มีเสนาสนะที่พระจะอยู่อาศัยได้เป็นส่วนที่เรียกว่า “อดิเรก”
ส่วนที่เป็นอดิเรกนี้ท่านจะบอกว่า “วิหาโร อัฑฒะโยโค ปาสาโท หัมมิยัง คุหา” เสนาสนะที่อยู่อาศัยที่เป็นส่วนอดิเรก ที่เป็นส่วนเพิ่มเข้ามา ซึ่งอนุญาตให้พระอยู่ได้มีวิหาร คือ กุฏิ ที่อยู่อาศัย ที่พัก คำว่า วิหาร แปลว่า ที่อยู่อาศัย ตัวตรงแปลว่า ที่อยู่อาศัย ภาษาไทยมาใช้เข้าใจเป็นว่า อาคารที่สร้างคู่กับโบสถ์
วิหาร แปลว่า ที่อยู่ของพระ ต่อมาเมื่ออยู่กันมากๆ สร้างเป็นกลุ่มวิหารขึ้น เรียกทั้งกลุ่มนั้นเป็นวิหารด้วย คำว่าวิหารเลยหมายถึงวัด อย่างเชตวันมหาวิหาร เป็นต้น วิหารในความหมายกว้าง หมายถึงวัดทั้งวัด คือกลุ่มที่อยู่ของพระ ในเมืองไทยทำไมวิหารจึงเป็นชื่อกลุ่มของอาคาร อันหนึ่งที่คู่กับโบสถ์ เข้าใจว่า เราจะสร้างที่อยู่ถวายพระพุทธเจ้า เราเคารพพระพุทธเจ้ามาก แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้ว เราสร้างที่อยู่ถวายพระองค์ จะเห็นว่าเราจะเอาพระพุทธรูปที่เกินใช้เกินจำเป็น หรือสร้างพิเศษขึ้นมาเป็นที่บูชา ไปเก็บไว้ในวิหาร และพระพุทธรูปมากมายเอาไปเก็บไว้ในวิหาร เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นวิหาร ความหมายหนึ่ง คือ เป็นที่อยู่ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เราสร้างขึ้นหรืออุทิศต่อพระองค์ แต่ความหมายนี้กลายเป็นแคบไป ไม่ตรงความหมายเดิม เป็นกุฏิ ที่อยู่อาศัยของพระ “วิหาโร”
“อัฑฒะโยโค” เรือนมุงครึ่งเดียว คล้ายๆ เพิงหมาแหงน เรือนที่มุงข้างหน้าสูง ข้างหลังต่ำ ที่เป็นหลังคาอย่างเดียวเทลงไปข้างเดียว
“ปาสาโท” แปลว่า เรือนชั้นปราสาท คำว่า ปราสาทในอินเดีย หมายถึง เรือนชั้น หมายความว่า มี 2, 3, 4, 5, 6, 7 ชั้น ก็เรียกว่า เป็นปราสาท สมัยก่อนนี้พวกเศรษฐีอยู่ปราสาท พระอยู่ปราสาทได้ แต่ปราสาทไม่ใช่ปราสาทไทย ในภาษาไทยเอาปราสาทมาใช้กับที่อยู่พระราชา เป็นวัง หรือที่อยู่ของพระเทวดา
“หัมมิยัง” ท่านแปลกันว่า เรือนโล้น อันนี้ยังเป็นที่ไม่ชัดเจนนัก อันนี้อาตมาก็ไม่ค่อยถนัดทางด้านสถาปัตยกรรม เป็นเรือนชนิดหนึ่งที่ให้พระอยู่ได้
และสุดท้าย “คุหา” คือ ถ้ำ นี่แหละเป็นที่มาของอชันต้าเอลโลร่า หมายความว่า พระตั้งแต่พุทธกาลเป็นต้นมา อาศัยพุทธบัญญัติในวินัยที่อนุญาตไว้ ที่ท่านต้องการวิเวก แสวงหาที่วิเวกไปอยู่ถ้ำ ถ้ำอยู่ป่า อยู่เขา บางองค์อยู่ป่าเป็นวัตร แต่อยู่ป่าเข้ากับข้ออื่น คือ ต้องมีที่พักเป็นวิหาร เป็นกุฏิอีก อันนี้เป็นเรื่องที่มาตามวินัย ชีวิตของพระสงฆ์มีอยู่จำนวนหนึ่งที่อยู่ถ้ำมาตลอด จึงเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับพระสงฆ์ในพุทธศาสนาที่อยู่ถ้ำ
อาจจะเป็นไปได้ว่า เมื่อท่านอยู่ไป ท่านอยู่นานๆ แล้ว ท่านที่อยู่นั้น บางท่านเป็นคนที่มีฝีมือ บางท่านอาจจะเป็นพวกช่างเก่า บางท่านเป็นอำมาตย์ เป็นคนชั้นสูงมาบวช มีกำลังมีความสามารถ ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีการแกะสลัก ทำให้สวยงามขึ้นมา วิวัฒนาการอย่างนี้คงจะค่อยเป็นค่อยไป
อาจจะมีพระราชา มหากษัตริย์ มหาอำมาตย์ต่างๆ มีความเลื่อมใส อาจจะเห็นว่า อันนี้ดี มาสนับสนุน ต่อมามีการอุปถัมภ์ ด้วยพระราชาหรือพวกขุนนางผู้ใหญ่ ออกทุนออกรอนในการที่จะมาแกะสลักถ้ำเหล่านี้ ให้เป็นที่งดงามและเต็มไปด้วยศิลปกรรม คงจะต้องใช้เวลานาน เพราะอย่างที่ว่า พระอยู่กันเป็นเวลาเป็นร้อยๆ ปี วิวัฒนาการอย่างนี้จะอย่างไรไม่ชัดเจน สันนิษฐานกันไป
แต่อันนี้มันมีข้อที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่ง คือ พระที่อยู่ป่าอยู่ถ้ำ ปกติแสวงวิเวก อยู่ในที่สงบ หลีกเร้น จนกระทั่งว่าพระในพุทธศาสนา ในยุคหลังพุทธกาลมาถึงลังกา มีการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ พระฝ่ายหนึ่งเรียกว่า พระคามวาสี พระอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า อรัญวาสี พระคามวาสี คือ พระอยู่บ้านหรือวัดพระใกล้บ้าน วัดท่ามกลางหมู่บ้าน และอรัญวาสี พระอยู่ป่า
คตินี้เกิดหลังพุทธกาล ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการแบ่ง ในสมัยพุทธกาลถือว่า พระบวชเข้ามาแล้ว มีชีวิตที่มีการฝึกฝนพัฒนาตน ต้องอยู่ตามความเหมาะสม ในตอนแรกอาจจะต้องการที่สงัด เพื่อจะได้ฝึกฝนตนเอง ต้องการบำเพ็ญกรรมฐานอะไรต่างๆ ไปอยู่ป่าเป็นครั้งคราวหรืออยู่ระยะแรก แล้วพอมีความสามารถ ออกมาอยู่ใกล้ๆ พระพุทธเจ้า อยู่กับพระผู้ใหญ่บำเพ็ญศาสนกิจเกี่ยวข้องกับประชาชน ชีวิตปะปนกันไป เรื่องการอยู่บ้านอยู่ป่าไม่ได้แยกเด็ดขาด นอกจากบางองค์ที่ท่านถือธุดงค์ อย่างมหากัสสะปะ ท่านถือธุดงค์ ข้ออยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต บางองค์ถืออยู่ป่าเป็นธุดงค์เหมือนกัน ท่านไม่ได้ห้าม ในพุทธศาสนายืดหยุ่นมาก จะถืออยู่ป่า 3 เดือน, 7 เดือน ปีหนึ่ง สองปี สามปี ได้ แต่อย่างมหากัสสะปะถือตลอดชีวิตเลย ฉะนั้นมีความยืดหยุ่นหลากหลายมาก
ต่อมาหลังพุทธกาล เริ่มมีความชำนาญพิเศษ อาจจะเกิดจากเรื่องของการที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว มีภาระของพระสงฆ์เพิ่มขึ้นในการรักษาพระศาสนา เพราะว่าเมื่อพระพุทธเจ้าดำรงอยู่นั้น พระองค์เป็นผู้แสดงธรรมวินัยเอง เป็นมาตรฐาน ที่จะวัดความถูกต้องของธรรมวินัย คำสั่งสอน ความประพฤติปฏิบัติ ความเชื่อ เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว พระสงฆ์มีภาระเพิ่มขึ้น คือ การทรงจำธรรมวินัย รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อรักษาคำสอนต้องมีการเล่าเรียนคำสอน สืบทอดกันมา มีการสังคายนาธรรมวินัย รวบรวมเป็นแบบหมวดหมู่มีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ ต่อมารวมเป็นพระไตรปิฎก ได้พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม อย่างที่มาพิมพ์ในเมืองไทยได้ตั้ง 45 เล่ม มากมายเหลือเกิน
เริ่มตั้งแต่สังคายนามามีภาระในการทรงจำ เมื่อมีการทรงจำต้องมีครูอาจารย์ที่เป็นหัวหน้า และมีการเล่าเรียน พระสงฆ์แบ่งกัน เช่น พระชุดนี้ กลุ่มนี้รักษาคำสอนส่วนนี้ เช่น ท่านแบ่งในพระสูตรเป็นทีฆนิกาย พระกลุ่มนี้รักษาส่วนทีฆนิกาย พระกลุ่มนี้รักษามัชฌิมนิกาย พระกลุ่มนี้รักษานิกายอื่นๆ ทำให้มีความชำนาญพิเศษแบ่งกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนมีหัวหน้าทรงจำ
การศึกษากลายเป็นเรื่องใหญ่ พระจำนวนหนึ่งกลายเป็นพระที่มีหน้าที่ในการศึกษา เมื่อมีหน้าที่ในการศึกษาจะต้องอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน อยู่กันใกล้หมู่บ้าน รวมตัวกัน มีศัพท์ที่เรียกว่า คันถธุระ ธุระในการศึกษาพระคัมภีร์, คันถะ แปลว่า คัมภีร์, ธุระ แปลว่า ธุระในการศึกษาพระคัมภีร์ พระที่อยู่ในฝ่ายคันถธุระมักจะเป็นพระคามวาสี อยู่วัดในบ้าน พระอีกพวกหนึ่งจะแยกไป มุ่งไปในการปฏิบัติทางกรรมฐานออกไปอยู่ป่า หาวิเวก เพราะการปฏิบัติในเรื่องของกรรมฐานนั้นเหมาะแก่การที่จะอยู่ในที่วิเวกหลีกเร้น ค่อนข้างจะปลีกตัว เกิดมีธุระอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า วิปัสสนาธุระ ธุระในการเจริญวิปัสสนา รวมไปถึงการปฏิบัติตั้งแต่สมถะเป็นต้นไปด้วย เพราะวิปัสสนาถือเป็นสุดยอด เมื่อมีวิปัสสนาธุระ ไปอยู่ป่า เป็นอรัญวาสี กลายเป็นเรื่องของการงานแบ่งเป็นสองส่วน คือ คันถธุระ ธุระในการศึกษาพระคัมภีร์ และวิปัสสนาธุระ ธุระในการบำเพ็ญกรรมฐานโดยเฉพาะวิปัสสนา ส่วนในด้านตัวพระภิกษุ แบ่งเป็นสองพวก คือ พระคามวาสี อยู่บ้าน และ พระอรัญวาสี อยู่ป่า
พระที่อยู่ถ้ำเป็นประเภทเดียวกับพระอยู่ป่า น่าจะเป็นพวกหลีกเร้นแสวงหาความสงบ อันนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ต่อมาที่มีการทำศิลปกรรมต่างๆ ขึ้นในถ้ำนี้ เป็นไปได้ไหมที่ว่า วัดในถ้ำเหล่านี้ได้วิวัฒนาการมาจนกระทั่งจะกลายเป็นวัดบ้าน ข้อสันนิษฐานอย่างนี้ไม่รู้ว่ามีความเป็นไปอย่างไรชัดเจน เช่น ภูเขาเหล่านี้ ต่อมาถิ่นใกล้ๆ นี้อาจจะเจริญได้ เกิดมีบ้านเมืองขึ้นมาไม่ไกล และประชาชนมีชุมชนใหญ่ มีประชาชนจำนวนมากไปวัด พระสงฆ์มีความเกี่ยวข้องกับประชาชน เรียกอย่างภาษาปัจจุบันว่า บริการประชาชนมากขึ้น มีการแสดงธรรม มีการสั่งสอน ที่เกี่ยวกับประชาชนมากขึ้น อาจมีการผลิตอะไรขึ้นมาเป็นสื่อ เพื่อถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า มีการเขียนภาพพุทธประวัติแกะสลักเรื่องของพุทธประวัติและมีภาพวาดนิทานชาดกอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของคติธรรมสอนประชาชน แล้วต้องการความสวยความงาม แสดงว่าเป็นที่ๆ ประชาชนมาทำบุญทำกุศล เป็นเครื่องที่บำรุงขวัญบำรุงจิตใจประชาชน แสดงว่าถ้ำเหล่านี้จะต้องเป็นที่ๆ ประชาชนไปมาเสมอ กลายเป็นว่าถ้ำเหล่านี้ไม่ใช่ที่วิเวกแล้ว กลายเป็นที่ๆ คล้ายๆ วัดบ้านเหมือนกัน และอาจจะมีบ้านเมืองมาอยู่ใกล้ๆ แถวนั้น อันนี้เราไม่สามารถรู้ชัดเจนได้ ถ้าเป็นอย่างนี้จริง แสดงถึงความเปลี่ยนแปลง ในเรื่องของวิถีชีวิตของพระเหมือนกันและจะเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ความเสื่อมด้วยหรือเปล่าไม่ทราบ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกต อาจจะเป็นทั้งส่วนหนึ่งของความเสื่อมและเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญได้ แต่อันนี้คือเรื่องของความเป็นมาในเรื่องของพุทธศาสนา แล้วเดิมนั้นเป็นเรื่องของเถรวาทก่อนมาสร้างขึ้น พระเดิมเป็นพระแบบเก่า คือ พระหีนยานหรือเถรวาท
ต่อมาพุทธศาสนาแบบเถรวาทนี้ ได้เสื่อมไปจากอินเดียก่อน แค่ประมาณพ.ศ. 400-500 นี่เสื่อมมากแล้ว ไปตั้งหลักมั่นเอาในลังกา พุทธศาสนาแบบเถรวาทของเราที่มีมาถึงปัจจุบันนี้ เรารับสายลังกา เดิมนั้นรับสายพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกนั้นเก่ามาก ตั้งแต่พ.ศ. 218 และสังคายนาประมาณพ.ศ. 234 หรือ 235 ท่านส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนาครั้งหนึ่งแล้ว ว่าไปถึงสุวรรณภูมิ คือ ประเทศไทยของเราด้วยในยุคนั้น คนไทยว่ายังมาไม่ถึง ยังเป็นดินแดนทวาราวดี อันนี้เป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ แต่แบบปัจจุบันนี้เพิ่งเริ่มสมัยสุโขทัย สมัยสุโขทัยเอาพุทธศาสนาจากลังกา ตอนนั้นลังกาเป็นที่มั่นของพุทธศาสนาเถรวาท ส่วนในอินเดียนั้นพุทธศาสนาเถรวาทแบบของเรานั้นเสื่อมไปแล้ว
พอถึงพ.ศ. 600 เป็นยุคมหายาน พุทธศาสนาแบบมหายานเจริญรุ่งเรือง ตั้งแต่ประมาณพ.ศ. 500 หลังจาก พ.ศ. 600 ถือว่ามหายานชัดเจนแล้ว เป็นยุคมหายานเรื่อยมา
เห็นได้ว่าถ้ำเหล่านี้มียุคเถรวาทอยู่ถึงประมาณพ.ศ. 550 ต่อจากนั้นขาดตอนมามหายานตอนต้นไม่สนใจหรือไงไม่ทราบ ถึงได้ทิ้งไปตั้ง 400 ปี แล้วเกิดนึกยังไงมาต่อ มาสร้างถ้ำเหล่านี้ขึ้นมา ตอนที่เป็นถ้ำมหายานนี้จะมีความวิจิตรพิสดารมากขึ้น เพราะตอนนี้ฝีมืออะไรต่างๆ ย่อมต้องเก่งขึ้นเป็นธรรมดา แล้วพระยุคแรกมุ่งในการที่ยังมีความสืบต่อจากประเพณีเดิมของฝ่ายเถรวาท พระที่มาอยู่อาศัยมีความสงบ มีความวิเวก หลีกเร้น
เชื่อมต่อมามหายาน มหายานจะสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น จะมีความประสานกลมกลืนกับลัทธิของศาสนาฮินดูมากขึ้นๆ มาถึงตอนหลัง คือ มีถ้ำของฮินดูและเชน
ตอนนี้แหละที่อยากจะตั้งข้อสังเกตอีกหน่อยหนึ่ง สำหรับพระในพระพุทธศาสนานั้น เรื่องการอยู่ถ้ำนั้นเป็นวิถีชีวิตของท่านเลย เป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการเป็นอยู่ แต่เป็นที่ประหลาดใจมากว่า ทำไมฮินดูจึงมาสร้างถ้ำเหล่านี้ขึ้นมา เพราะว่าฮินดูนั้นไม่ได้มีเรื่องของการที่จะอยู่ถ้ำ ไม่มีวิถีชีวิต ไม่มีพระสงฆ์ที่จะมาอยู่ถ้ำ แล้วเขาสร้างถ้ำนี้ทำไม? อันนี้เป็นปริศนาที่น่าพิจารณา พระนั้นสร้างเพราะตัวอยู่ แม้ญาติโยม พระราชา มหากษัตริย์ อำมาตย์มาสร้างเพื่อถวายให้พระอยู่ แต่ว่าฮินดูมาสร้างทำไม? เมื่อมาสร้างกลายเป็นเทวาลัย เป็นที่อยู่ของเทวดาไม่ใช่ที่อยู่ของคน สร้างถ้ำให้เป็นที่อยู่ของเทวดาไป เป็นเทวสถาน ไม่เกี่ยวกับเรื่องของนักบวชหรือคนที่จะมาอยู่อาศัย เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าสร้างทำไม? ในแง่หนึ่งอาจจะเป็นได้ว่า เพื่อจะข่มพุทธศาสนาและแสดงความยิ่งใหญ่ อาจจะเป็นอย่างนี้ได้ แต่อันนี้เป็นเพียงจุดสังเกตอันนึง ที่สำคัญกว่านั้น คือ คติความแตกต่างที่ปรากฎอยู่ในถ้ำเหล่านี้ระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาฮินดู และเชน ซึ่งแสดงไปถึงหลักการของตัวศาสนา อันนี้แหละเป็นข้อพิจารณา มีอะไรอยู่ในนี้แฝงอยู่หลายอย่างทีเดียว
เริ่มต้นจะเห็นว่าในการสร้างถ้ำเหล่านี้ ศิลปกรรมต่างๆ ในพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นเรื่องของการอยู่กับธรรมชาติ เป็นเรื่องของคุณธรรม เราจะสร้างถ้ำเหล่านี้ เราต้องมีภาพพุทธประวัติ มีภาพนิทานชาดกเพื่อสั่งสอนคติธรรม คติธรรมเหล่านี้ นิทานชาดก เป็นต้น จะเป็นเรื่องของการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อยู่กับป่า กับเขา กับต้นไม้ อยู่กับสิงห์สาราสัตว์ มีนิทานชาดกเล่าเรื่องคติธรรมที่แสดงความอยู่ร่วมกันได้ดีระหว่างมนุษย์ด้วยกันและสัตว์ทั้งหลายให้มีเมตตากรุณา อย่างในนั้นจะมี เช่น สีวิราชชาดก อาตมาจะยกมาเล่าเป็นตัวอย่าง
สีวิราชชาดกจะพูดถึงว่า เหยี่ยวตัวหนึ่งไล่นกพิราบมา พระราชาไปช่วยนกพิราบไว้ ไปช่วยนกพิราบนี่เมตตากรุณา ช่วยนกพิราบให้พ้นจากเหยี่ยว เหยี่ยวมาทวงว่า มาแย่งเหยื่อของตัวไป แย่งเหยื่อของตัวไปไม่ได้ ไม่ชอบธรรม พระราชาตกลงว่า ฉันจะยอมเสียสละเนื้อในตัวของฉัน เท่าเนื้อของนกพิราบให้แก่เหยี่ยว เป็นความเสียสละของพระราชาไม่เอาเปรียบเหยี่ยว อุตส่าห์เสียสละก้อนเนื้อในตัวเท่ากับเนื้อของนกพิราบ เพื่อจะช่วยชีวิตนกพิราบ อย่างนี้เป็นเรื่องของความเสียสละ
หรือนิโครธมิคชาดก เราพูดกันที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ดูเหมือนจะมีในนี้ด้วย อาตมาคล้ายๆ เคยเล่า มีอยู่ในนี้เหมือนกัน ชาดกจะเล่าซึ่งความเสียสละของเนื้อโพธิสัตว์ ตอนนั้นมีเนื้อตกลงกับพระราชาเพื่อที่จะสงวนพันธ์เนื้อไว้ เพราะพระราชาล่าสัตว์ตลอดเวลา เหล่าสัตว์เลยไปตกลงกันว่า ยอมเสียชีวิตให้แก่พระราชาวันละ 1 ตัว และจัดวาระจัดเวรกันเข้ามาให้เนื้อหรือกวางได้สละชีวิตของตน มายอมให้ถูกฆ่าวันละตัวๆ มาคราวหนึ่งถึงเวรของแม่เนื้อลูกอ่อนหรือแม่กวางลูกอ่อน กวางโพธิสัตว์เลยสละชีวิต ขอเข้าไปแทนลำดับนั้น ให้แม่เนื้ออยู่เพื่อจะเลี้ยงลูกต่อไป อันนี้เป็นเหตุให้พระราชาแปลกใจ เรื่องไปถึงพระราชา เลยมีการสนทนากันและเนื้อโพธิสัตว์ได้โอกาสแสดงธรรมแก่พระราชา ทำให้พระราชามีจิตเมตตากรุณา ให้อภัยกับเนื้อ ไม่ฆ่าอีกต่อไป
เรื่องความมาอันนี้เป็นคติธรรมเรื่องของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ การมีคุณธรรม ความเสียสละ มีเมตตากรุณา เป็นคติของพุทธศาสนา
พอมาดูของฮินดู โยมเห็นชัดๆ แล้วใช่ไหม?
ภาพของฮินดู คือ เทพเจ้าต่างๆ แผลงฤทธิ์ มีมือให้มากที่สุด มีแขนให้มากที่สุด มีฤทธิ์ให้มากที่สุด มีอาวุธที่ร้ายแรงที่สุด เอามาฆ่ากัน เอามาปราบปรามกัน
หนึ่ง คือ เต็มไปด้วยเรื่องฤทธิ์ เรื่องปาฏิหาริย์ เรื่องเหนือธรรมชาติ พุทธศาสนาอยู่กับธรรมชาติ เป็นเรื่องของมนุษย์ มนุษยธรรม แต่ของฮินดูนั้นเป็นเรื่องที่เรียกฝรั่งว่า supernatural เหนือธรรมชาติ เทวดาเก่งไม่อยู่ธรรมดาและไม่เป็นธรรมชาติ ต้องเก่ง พิเศษ มีฤทธิ์ ปาฏิหาริย์
สอง คือ กิเลส เต็มที่เลย เทพเจ้าเหล่านั้น มีโลภะ มีโทสะ มาปราบกัน มาข่มกัน มาทำร้ายกัน เพื่อแสดงความเก่งกล้าสามารถ
นี่คือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่อถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดียด้วย
อันนี้ให้คติอย่างหนึ่ง คือ แสดงความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาฮินดูว่า พุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของการที่มนุษย์จะพยายามพัฒนาตนเอง ประกอบด้วยคุณธรรม พยายามที่จะฝึกฝนในด้านคุณธรรม มีความเสียสละและช่วยเหลือกันเองในหมู่มนุษย์ ด้วยคุณธรรม
แต่เรื่องของฮินดูนั้นเป็นเรื่องของเทพเจ้า การหวังอำนาจดลบันดาล เมื่อเราไปนับถือแบบของฮินดู นับถือเทพเจ้า ต้องหวังอำนาจดลบันดาลจากเทพเจ้า นำไปสู่ความเพ้อฝัน อาตมาคิดว่าอย่างนั้น เพ้อฝันรอคอยอำนาจดลบันดาลของท่าน ตัวเองไม่ต้องคิดทำอะไร จะอะไร จะสำเร็จอยู่ที่เทพเจ้ามาบันดาลให้ นอกจากว่ารอเทพเจ้ามาบันดาลให้ เป็นการที่ฝันเพ้อไปแล้ว ทำให้มีเทพนิยายที่น่าตื่นเต้น สิ่งที่น่าตื่นเต้นเหล่านี้ เอามาเล่าแล้ว ทำให้ครึ้มใจ เวลาฟังเรื่องเทพเจ้ายิ่งใหญ่ พระนารายณ์เก่งอย่างนั้น พระอิศวรเก่งอย่างนั้น ครึ้มใจ พอครึ้มใจทำให้สบายใจไปแบบหนึ่ง ให้ทำเป็นอย่างที่เคยพูดแล้วว่า เป็นเครื่องกล่อม กล่อมให้สบายใจ ไม่ต้องขวนขวายไม่ต้องทำอะไร ในแง่หนึ่งสบายใจแล้วว่า ท่านจะมาช่วย นอนรอความหวังไป สองรู้สึกว่าท่านมีฤทธิ์มีอำนาจ เก่งขนาดนี้ครึ้มใจ ในความเก่งของท่าน เราเลยสบายไม่ต้องคิดขวนขวายอะไร ไม่ต้องดิ้นรนปลอบใจตัวเองสบายใจไปทีๆ หนึ่งดีเหมือนกัน
อันนี้เป็นเรื่องน่าสังเกต เป็นหลักการที่พุทธศาสนาได้พยายามแก้ไข อย่างที่เคยพูดว่า อินเดียมีสภาพนี้มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล พระพุทธเจ้าประสูติขึ้นมา ที่อาตมาพูดไว้ที่ลุมพินีแล้วว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมานี้ สัญลักษณ์การประสูติของพระพุทธเจ้า คือ อาสภิวาจาที่พระองค์ได้เปล่งขึ้นว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส” เป็นต้น ว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก” วาจาอันนี้ เมื่อเรารู้ภูมิหลังของสังคมอินเดีย เราบอกว่าเป็นวาจาประกาศอิสรภาพของมนุษย์ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นตัวแทนของมนุษย์ แต่ก่อนนี้คนมุ่งแต่จะรอความหวังการดลบันดาลของเทพเจ้า พระพรหมผู้สร้างจะบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างมนุษย์มาในวรรณะสี่ มนุษย์จะเป็นอย่างไรอยู่ภายใต้อำนาจดลบันดาลนั้น ต้องอ้อนวอนเอาใจเทพเจ้าด้วยการบูชายัญ บวงสรวงอะไรต่างๆ พระพุทธเจ้าดึงประชาชนกลับมาบอกว่า ให้มาดูความจริงของกฎธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นเพราะการดลบันดาลของสิ่งภายนอก ฉะนั้นให้เรารู้เข้าใจเหตุปัจจัยและทำตามเหตุปัจจัยด้วยเพียรพยายามของเรา เมื่อเราต้องการผล ทำเหตุ ประกาศหลักธรรมและหลักกรรมขึ้นมา
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศอิสระภาพให้แก่มนุษย์ วาจาที่ใช้นั้นคือคำว่า เชฏฺโฐ เดิมเขาใช้สำหรับพระพรหม คำแสดงคุณสมบัติของพระพรหม คือ เชฏฺโฐ ผู้เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าเอาคำนั้นมาใช้สำหรับ “พุทธะ” คำว่าพุทธะไม่ใช่หมายถึงตัวบุคคล เป็นคำแสดงภาวะของมนุษย์ มนุษย์ที่ได้พัฒนาตนสูงสุดแล้ว บรรลุความหลุดพ้นแล้ว เราเรียกว่า เป็นพุทธะ พุทธะเป็นเชฏฺโฐ เป็นผู้เป็นใหญ่ เอาคำของพระพรหมมาใช้สำหรับพระพุทธเจ้า หมายความว่า พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ ให้มนุษย์นี้หันมา กระทำการตามเหตุปัจจัย ทำการต่างๆ ด้วยความเพียรพยายามของตน
หลังพุทธกาลพอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้ว ศาสนาฮินดูเสื่อม แล้วพราหมณ์เสียอำนาจไป เสียอิทธิพล เสียผลประโยชน์ ได้ปรับปรุงพัฒนาตนขึ้นมา หลังพุทธกาลได้เอาคำสอนในพุทธศาสนาเข้าไปใช้ในศาสนาฮินดู เช่น เอาหลักในธรรมบท อย่างในพระพัตศิตา??? พระพัตศิตา???เป็นคัมภีร์สำคัญในศาสนาฮินดู คัมภีร์ที่เขาถือว่าเป็นยอด ถ้าไปตรวจดูจะเห็นว่า มีพุทธพจน์ในพระธรรมบทเข้าไปอยู่ด้วย แสดงว่าเขามาเอาไป หลักธรรมสิ่งต่างๆ ที่ดีเอาไปนี้เป็นข้อสังเกต
อาตมากำลังจะโยงว่า ตอนฮินดูมาสร้างถ้ำเหล่านี้ประมาณสักเกือบพ.ศ. 1200 เป็นไปได้ไหมระยะนั้นคือ ยุคที่ฮินดูเขาฟื้นตัว เขาพยายามจะฟื้นฟูอำนาจ เมื่อพุทธศาสนาเจริญขึ้นมา พราหมณ์เสื่อมอำนาจ จนกระทั่งหลังพุทธกาล พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มายิ่งได้พระเจ้าอโศกอุปถัมภ์ด้วย พุทธศาสนาแพร่หลายไปทั่ว แต่พระเจ้าอโศกเป็นชาวพุทธ ไม่เบียดเบียนศาสนาไหน ให้ความคุ้มครองทั่วหมด พวกพราหมณ์มาเป็นพวกอำมาตย์อะไรต่างๆ อยู่ในราชวังด้วย เมื่อพระเจ้าอโศกสวรรคต ล่วงไปถึงหลานหรือเหลนนี้ พวกพราหมณ์ที่อยู่ในราชวังได้คิดการใหญ่ ได้จับหลานหรือเหลนพระเจ้าอโศกปลงพระชนม์ แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อว่า ราชวงศ์สุงคะ ขึ้นครองอำนาจ ราชวงศ์สุงคะของพราหมณ์นี้ ได้ล้างผลาญชาวพุทธ ถึงกับมีประวัติศาสตร์ว่า ให้ค่าหัวชาวพุทธ กำจัดชาวพุทธเป็นการใหญ่ แต่พอดีว่าชาวพุทธรอดมาได้ เพราะหลังพระเจ้าอโศกมาถึงลูกหลานเหลนแล้ว ราชวงศ์สุงคะตอนนี้ไม่สามารถรักษาอาณาจักรไว้ได้ อาณาจักรของพระเจ้าอโศกนั้นยิ่งใหญ่ไพศาลมีอาณาเขตมากกว่ายุคปัจจุบันอีก พอสิ้นพระเจ้าอโศกไปไม่นานอาณาจักรเหล่านี้ค่อยๆ แตกสลาย อาณาจักรอื่นๆ ยังรักษาพุทธศาสนาไว้อยู่ ฉะนั้นพวกราชวงศ์สุงคะไม่สามารถจะมีอำนาจไปทั่วดินแดนเก่าของพระเจ้าอโศก อย่างดินแดนของพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ต่อมา เรียกว่า พระเจ้ามิลินทะ เป็นพวกเชื้อชาติกรีกยังเป็นชาวพุทธอยู่ ต่อมาพวกดินแดนสืบสายจากกรีก สร้างพุทธรูปขึ้นมาเป็นพวกแรก
พราหมณ์เขาจะมีอำนาจขึ้นมา ใช้อิทธิพลการเมือง แล้วอีกด้านหนึ่ง คือ หลักคำสอนปรับปรุง มาเอาคำสอนในพุทธศาสนาไปใช้ แล้วปรับตัวขึ้นมา เราเรียกศาสนาพราหมณ์ที่ปรับตัวใหม่นี้ว่า ศาสนาฮินดู พราหมณ์กับฮินดูจึงเรียกแทนกันได้ เป็นศาสนาเดียวกัน แต่เรามักจะเรียกศาสนาพราหมณ์ คือ ศาสนาเดิม ศาสนาพราหมณ์ที่ปรับตัวใหม่แล้วเรียกว่า ศาสนาฮินดู เพราะฉะนั้นศาสนาฮินดู เป็นคำเรียกศาสนาพราหมณ์หลังพุทธกาล ก่อนพุทธกาลไม่เรียกว่าฮินดู อันนี้เป็นข้อสังเกตอันหนึ่ง
ถ้าพูดกันในแง่หนึ่งของฮินดูเกิดหลังพุทธศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์ที่ปรับตัว ต่อมาในระยะพ.ศ. 1200 กว่ามีบุคคลสำคัญคนหนึ่งในศาสนาฮินดูเกิดขึ้นชื่อว่า ศังกราจารย์ ศังกราจารย์ผู้นี้อาจจะได้มาปลอมบวช ไปศึกษาที่นาลันทา แล้วมาเลียนแบบของพุทธศาสนาทั้งคำสอนและระบบการสถาบันด้วย ศังกราจารย์นี้ได้ไปตั้งคณะสงฆ์ฮินดูขึ้น ในศาสนาพราหมณ์นั้นเดิมเขาไม่มีนักบวชแบบของเรา นักบวชเป็นพราหมณ์อยู่บ้านเขามีลูกมีเมียครองเรือน พราหมณ์นั้นอยู่บ้าน พอมาถึงศังกราจารย์นี้ได้ตั้งคณะสงฆ์ของฮินดูขึ้นมา ได้ตั้งให้สร้างวัดให้เลียนแบบพุทธศาสนาขึ้นมา คำสอนให้เรียนคล้ายๆ กัน มีสถาบัน มีวัด มีคณะสงฆ์ขึ้นมา คล้ายๆ พุทธศาสนา
อาตมาเคยเล่าที่นาลันทาแล้วว่า พุทธศาสนายุคหลังนี้ พอเจริญมากขึ้นไปรวมตัวกันที่ศูนย์กลางใหญ่ๆ เช่น มหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นต้น ได้รับการอุปถัมภ์จากญาติโยม จากมหากษัตริย์ มัวแต่ยุ่งกับเรื่องภายในของตัวเอง ขาดการสัมพันธ์กับประชาชน แล้วชนบทอ่อนแอ อันนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ว่า เมื่อวัดพุทธในชนบทอ่อนแอพวกฮินดูเข้าครอง แล้วคล้ายๆ กันอยู่แล้ว อาจจะช่วยเข้ามาทำหน้าที่แทนบ้างอะไรบ้าง ต่อมากลืนหมดไป พุทธศาสนามาอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ต่อมาพอมุสลิมยกทัพมากำจัดฆ่าที่ศูนย์กลางหมด ชนบทไม่มีเหลือหมดกำลัง อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเสื่อมสูญของพุทธศาสนา
ขอย้อนกลับมาพูดถึงว่า เมื่อศังกราจารย์ได้ตั้งคณะสงฆ์เลียนแบบพุทธศาสนา และถ้ำของฮินดูนี้สร้างขึ้นในช่วงพ.ศ. 1200 จะเป็นไปได้ไหม? เป็นช่วงที่ฮินดูได้เลียนแบบพุทธศาสนา อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ว่าอาจจะเชื่อมโยงกันได้ แต่เมื่อสร้างขึ้นมาเป็นเทวสถาน เทวาลัย เป็นที่อยู่ของเทวดา ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดที่ถ้ำไกรลาศ ไม่ใช่ที่อยู่ของคนตัดเขาออกมาไม่เหมือนเดิม เดิมเป็นถ้ำ เจาะเข้าไปมีถ้ำ ข้างบนยังเป็นหุบเขา และจะได้เป็นหลังคา ที่ไกรลาศไม่ได้เป็นถ้ำ เจาะลงมาให้สว่างเป็นฟ้า เป็นเทวาลัยอยู่กลางภูเขา คนละลักษณะและเปลี่ยนแปลงไปหมด ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นข้อสังเกต
อาตมาจะขอยกไปพูดถึงเชนบ้าง พูดถึงเทียบกับฮินดูนิดหน่อย ทางฝ่ายศาสนาเชนของมหาวีระนั้น เป็นศาสนาที่มีมาแต่พุทธกาลเหมือนกัน เกิดอาจจะก่อนพระพุทธเจ้านิดหน่อย ศาสนาเชนเดิมไม่เห็นมีเรื่องมาอยู่ถ้ำแบบนี้ อยู่ๆ มาโผล่ แต่เชนนั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งเรียกว่า นิครนถนาฏบุตร คำว่า นิครน แปลว่า ไม่มีกิเลสเครื่องผูกรัด ไม่มีกิเลสผูกรัด หมายความว่า ไม่ยึดถืออะไรทั้งสิ้น ไม่มีกิเลส ไม่มีความยึดถือ ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย แม้แต่ผ้าไม่ต้องนุ่งห่ม ฉะนั้นพวกเชนหรือนิครน เขาถือว่าเขาไม่ยึดติดถือมั่นในอะไร เขาเลยไม่นุ่งผ้า เพราะว่านุ่งผ้าแสดงว่า ยังยึดติดถือมั่นในอะไรอยู่ เขาสละความยึดติดถือมั่นถึงขนาดไม่ต้องนุ่งผ้าเลย เพราะฉะนั้นศาสดามหาวีระหรือเชนนั้นไม่นุ่งผ้า ถ้ำของเชนสร้างแบบของพุทธเหมือนกัน รูปของมหาวีระเหมือนพระพุทธรูปเลย ชาวพุทธมาไม่รู้จักแยก นึกว่าเป็นพระพุทธรูป เหมือนกันหมดทุกอย่าง มีอย่างเดียวที่ต่าง คือ ไม่นุ่งผ้า เสียดายโยมไม่ได้ไป ไม่ได้เห็นรูปมหาวีระหรือนิครนถนาฏบุตร ที่ว่าเหมือนพระพุทธรูป แต่ว่าไม่นุ่งผ้า ศาสนานี้เป็นอันว่า มีลักษณะอย่างนี้ ถือว่าตนเอง ไม่มีความยึดติดถือมั่นในอะไรทั้งสิ้น ปล่อยวางทั้งหมด แม้แต่ผ้าก็ไม่นุ่ง มารุ่นลูกศิษย์ได้แตกเป็นสองนิกาย เพราะอีกนิกายหนึ่งเห็นจะไม่ไหวไม่นุ่งผ้า เลยนุ่งผ้าขึ้นมาเป็นนุ่งผ้าขาว เกิดเป็นสองนิกาย นิกายหนึ่งเป็นทิฆัมพร นุ่งลมห่มฟ้า อีกนิกายหนึ่ง เศวตัมพร นุ่งผ้าขาว อย่างที่เราไปเห็นที่สาทวี???(53.24) ที่นาลันทา ไปนั่งในพิธี ที่อาตมาไป เป็นผู้หญิงสองคน เป็นนักบวชของนิครนถนาฏบุตร นักบวชนิกายเศวตัมพร นุ่งผ้าขาว ไม่ถึงกับแก้ผ้า อันนี้เป็นเรื่องของศาสนาเชน ศาสนาเชนมาสร้างถ้ำนี้ด้วยในยุคหลังประมาณสักพ.ศ.1300-1400
มีคติอย่างหนึ่งที่เราให้มาพิจารณาว่าพุทธศาสนานี้ เราบอกว่าไม่ยึดติดถือมั่นเหมือนกัน ศาสนาเชนเขาไม่ยึดติดถือมั่นอยู่อย่างธรรมชาติ ถึงขนาดที่ไม่นุ่งผ้า แต่พุทธศาสนาเราเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ความไม่ยึดติดถือมั่นนั้น หมายถึงโดยจิตใจที่เป็นอิสระ ไม่เป็นทาสของวัตถุ ของสิ่งทั้งหลาย แต่ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงนั้น รู้เหตุรู้ผลในสมมติ ปฏิบัติต่อสมมติให้ถูกต้อง ปฏิบัติต่อสมมติด้วยความรู้เท่าทัน ทำไปตามเหตุผล ฉะนั้นในพุทธศาสนาจะมีลักษณะที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ
อย่างที่อาตมาได้เคยพูดไปแล้วว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่หมายความว่า ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร ถ้าเราศึกษาพระพุทธศาสนาให้ครบ เราจะเห็นได้จากด้านพระวินัยว่า พุทธศาสนาที่แท้นั้นเป็นอย่างไร ถ้าเราไปศึกษาในแง่ธรรมะแล้ว เราไม่รู้จริง เราจะมองพุทธศาสนา สอนธรรมะว่า อะไรต่ออะไรไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรต่ออะไร เป็นไปตามธรรมดาของมัน เรียกว่า ไม่ยึดติดถือมั่น บางทีไปศึกษาธรรมะอย่างเดียว พลอยโน้มเอียงไปทางนั้น ไม่มีเครื่องเตือนสติ
แต่พอมาศึกษาพระวินัยแล้วจะเห็นชัด อย่างที่อาตมาพูดแล้วว่า ชีวิตของพระ ซึ่งจะต้องเป็นแบบอย่าง หมายความว่า ชีวิตของพระอยู่ตามวินัย เอาชีวิตของท่านผู้หลุดพ้นเป็นแบบ วินัยแสดงถึงความมุ่งหมายว่า การดำเนินชีวิตของพระที่เป็นอยู่ในโลกนี้เป็นอย่างไร การยอมรับความจริงของสมมติ อย่างพระมีจีวรสามผืน แต่ว่าท่านต้องมีความรับผิดชอบ ในสิ่งที่ท่านเกี่ยวข้อง พระแม้จีวรจะขาด ถ้ามีรูโหว่เท่าหลังตัวเรือด ปล่อยไว้ไม่ปะชุนต้องอาบัติมีความผิด ความรับผิดชอบขนาดไหน ตรงข้ามเลยใช่ไหม? ถ้าเราไปนึกว่า ไม่เอาเรื่องเอาราว ไม่ยึดมั่นถือมั่น จีวรจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน สกปรกก็ช่างมัน มันจะขาดจะผุ อาตมาว่าคนอินเดียท่าจะไม่ยึดมั่นถือมั่น อยู่ง่าย อย่างไรก็ได้ มันจะขาดอย่างไร มันจะสกปรกอย่างไร...ช่าง แต่ว่าวินัยของพระไม่ได้เลย
อย่างที่ว่า แม้แต่ขาดรูโหว่เพียงหลังเรือดไม่รีบปะชุน ต้องอาบัติมีความผิด ปล่อยไม่ได้ สกปรกไม่ได้ เดี๋ยวจะเห็นว่า พระองค์ไหนสกปรก ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่นและเลื่อมใสไปกันใหญ่ นี่แหละธรรมวินัยจึงคู่กัน
พุทธศาสนาไม่ยอมรับการปฏิบัติของเชน ที่ไม่นุ่งผ้าแล้ว แสดงความไม่ยึดมั่นถือมั่น พุทธศาสนาบอกว่า เราต้องเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย แต่เรามีใจเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุเหล่านั้น เรายอมรับความจริงโดยเหตุผลว่า สิ่งที่มนุษย์ได้วางการเป็นสมมตินี้ เป็นไปตามความมุ่งหมายการใช้ประโยชน์ในสังคม ต้องปฏิบัติไปตามเหตุผลด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นพระอรหันต์กลายเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามสมมติ กลายเป็นว่าพระอรหันต์ถือสมมติสำคัญ เอาจริงเอาจังกับเรื่องสมมติ แต่รู้เท่าทันว่า สมมติเป็นเรื่องสำหรับรู้เท่าทัน และปฏิบัติด้วยความรู้เท่าทัน แต่ไม่ใช่หมายความว่า เป็นสิ่งเหลวไหล หลายท่านเข้าใจสมมติเป็นเหลวไหลไป
การเทียบเรื่องคำสอนในพุทธศาสนากับศาสนาฮินดู และศาสนาเชน ถ้ามองในแง่นี้แล้ว เหมือนกับเป็นสุดโต่งสองอย่าง ของศาสนาฮินดู คือ เรื่อง Super natural พวกไม่เอากับเรื่องธรรมชาติเลย พวกนี้ถือว่ามีแต่เทวดายิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ บันดาลทุกอย่างได้ เอาอะไรก็ได้ ไม่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้จะมีเรื่องสัตว์อยู่บ้าง สัตว์เหล่านั้น ไม่มีสัตว์ธรรมดา จะเป็นพาหนะของเทพเจ้าต่างๆ ไม่ใช่สัตว์ธรรมดา ไม่ใช่ชีวิตที่อยู่กันในท่ามกลางธรรมชาติ ที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์แบบคุณธรรมต่างๆ ไม่มีไปคนละแบบกันเลย เป็นความแตกต่างในแบบที่ว่า ศาสนาฮินดู ไปเลยเหนือธรรมชาติไป ส่วนพวกเชนนั้น ฉันอยู่ตามธรรมชาติ กลายเป็นไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยตัวไปจนกระทั่งไม่นุ่งผ้าไป พุทธศาสนาถ้ามองในแง่เทียบกับสองศาสนา เห็นความเป็นทางสายกลางแบบง่ายๆ อย่างหนึ่ง แต่ที่จริงๆ มีความหมายที่ลึกซึ้งลงไปอีก
หลักการของพุทธศาสนาที่พูดมาในตอนนี้นั้น ขอย้ำทวนไปถึงหลักการที่พูดมาอีกครั้งหนึ่ง เราจะเห็นหลักการพุทธศาสนาเมื่อเทียบกับศาสนาฮินดูและเชน
หนึ่ง พุทธศาสนาให้อยู่กับความเป็นจริง ให้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ที่รู้และเข้าใจถึงความจริงของธรรมชาติ ที่เป็นไปตามกฎของมัน คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วปฏิบัติไปตามเหตุปัจจัย ด้วยความมีเหตุมีผล อันนี้เราเรียกว่า “ตัวธรรมะ” ธรรมะ คือ ตัวหลักความจริง กฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พุทธศาสนาให้อยู่กับตัวธรรมะ อยู่กับความเป็นจริง ไม่หนีความจริงมาอยู่นอกเหนือธรรมชาติ
สอง ให้หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม ไม่ใช่มัวหวังจากการดลบันดาลของเทพเจ้า อันที่หนึ่งของฮินดูนั้น เขาอยู่กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ แต่ของพุทธศาสนาอยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาติ เรียกว่า “ธรรมะ” อันที่สองนี้เขาหวังผลจากการดลบันดาลของเทพเจ้าผู้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ของพุทธศาสนานั้น ให้หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม เราเรียกว่า “หลักกรรม” พระพุทธศาสนาจึงเรียกว่า เป็นกรรมวาทะ วิริยวาทะ พระพุทธเจ้านั้นมีพระนาม เรียกว่า กรรมวาทีวิทย์ วิริยวาทีวิทย์ ผู้ถือหลักกรรม คือ การกระทำและถือหลักความเพียร
สาม ให้มนุษย์ฝึกฝนพัฒนาตนเอง จนกระทั่งสามารถพึ่งตนเองได้ ให้มีคุณสมบัติมีความพร้อม มีพฤติกรรมดีงาม มีจิตใจที่มีความเจริญงอกงามขึ้นมา มีความสามารถ มีความสุข เป็นต้น และมีปัญญาที่รู้เข้าใจความจริง รู้เข้าใจตัวธรรมะ และจะสามารถพึ่งตนเองได้ ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ให้พึ่งตนเองได้ เราเรียกว่า หลักสิกขา
สี่ พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์ที่พัฒนาแล้ว จะมาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ที่ดีงามขึ้นมา ช่วยกันเองได้ดีที่สุด ดีกว่าที่จะไปรอให้เทพเจ้ามาช่วย หมายความมนุษย์เราเองที่มาพัฒนากันให้ดีแล้ว พวกเราจะช่วยกันได้ดีที่สุด จะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้ ไม่ต้องอาศัยอำนาจของพระพรหมเทพเจ้า เป็นระบบกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรมาเป็นสังคมของคนที่พัฒนาแล้ว คือ “สังคะ” ระบบสังคะเป็น ระบบของการที่ถือว่ามนุษย์เราพัฒนากันดีแล้ว มนุษย์เราจะช่วยกันเองได้ดีที่สุด อย่ามัวไปหวังเทพเจ้า มนุษย์ที่ไปนับถือเทพเจ้า ต่างกลุ่มต่างพวกนับถือเทพเจ้าคนละองค์แล้ว เสร็จแล้วมาทำลายกันเอง มนุษย์มาทำลายกันเอง เบียดเบียนล้างผลาญกันเอง เพราะนับถือเทพเจ้าคนละองค์ แม้แต่นับถือเทพเจ้าองค์เดียวกันยังแบ่งกันและทำลายกันอีก พวกนี้บอกว่า พวกฉันนะเป็นที่โปรดของเทพเจ้าของเรา อีกพวกหนึ่งไม่ได้รับการโปรดหรืออีกนิกายหนึ่งว่า อีกนิกายหนึ่งเป็นพวกทรยศต่อพระเจ้า แล้วล้างผลาญรบกัน มนุษย์มารบกัน ทำลายกันเพราะเทวดา เพราะไปนับถือเทวดาคนละองค์ หรือนับถือคนละแบบ อย่างนี้เป็นต้น
แต่พุทธศาสนาบอกว่า ให้มนุษย์พัฒนากันเอง พัฒนามนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ที่พัฒนาแล้วนี่แหละที่จะช่วยกันเองได้ดีที่สุด ทำอย่างไรเราจะให้มนุษย์มาพัฒนา แล้วมาช่วยกันเอง จะดีกว่ามัวไปหวังเทพเจ้า แล้วมาฆ่ากันเองระหว่างมนุษย์
อันนี้เป็นหลักการพุทธศาสนา ซึ่งมารวมประสานกับหลักพระรัตนตรัยที่พูดไปแล้ว ด้วยการเข้าถึงธรรมะ ที่มีอยู่ตามธรรมดา จะทำให้เกิดพุทธะ มนุษย์พัฒนาเป็นพุทธะขึ้นมา พุทธะเป็นผู้เข้าถึงธรรมะ ธรรมะในข้อหนึ่งที่ว่า เป็นหลักการแห่งความเป็นจริง ตามเหตุปัจจัยกฎธรรมชาติ และมนุษย์พัฒนาตนเองกลายเป็นพุทธะ มาสร้างสังคมที่เป็นกัลยาณมิตรขึ้นมาเป็นสังคะ เป็นสังคมที่มนุษย์พัฒนา แล้วมาช่วยเหลือกันเองได้ดีที่สุด เป็นกัลยาณมิตรแก่กัน เป็นหลักของพุทธศาสนาที่เราไม่ควรจะละทิ้ง
แม้แต่ความเข้าใจเรื่องพระรัตนตรัย ถ้าไม่มองเห็นหลักเรื่องเหล่านี้แล้ว บางทีมองลางเลือนมาก เดี๋ยวนี้ความหมายของพระรัตนตรัยไม่ค่อยเข้าใจกันว่าอย่างไร นับถือเป็นแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรต่ออะไรไป
เรื่องความนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีข้อน่าพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง บอกแล้วว่า การที่เราไปนับถือเทพเจ้าต่างๆ หวังผลจากการดลบันดาลของเทพเจ้าเหล่านั้น ท่านมีฤทธิ์มีอำนาจ ทำให้รู้สึกว่า สบายใจดีเหมือนกัน เคยบอกว่าเป็นเครื่องกล่อม สิ่งกล่อมใจ ความจริงไม่ใช่เสียไปทั้งหมด
ในพุทธศาสนาเอง มีเครื่องกล่อมแต่ละขั้นๆ แม้แต่สมาธิเอง เป็นเครื่องกล่อมชนิดหนึ่ง แต่ทำอย่างไรเราจะใช้เครื่องกล่อมอย่างรู้เท่าทันและไม่ให้เกิดโทษ เครื่องกล่อม กล่อมแล้วทำให้สบายใจ อุ่นใจขึ้นมา พออุ่นใจขึ้นมาแล้ว จะเสียตอนที่ว่า แล้วนอนใจ พออุ่นใจขั้นสบายใจ นอนใจ ทีนี้ไม่ใช่นอนใจอย่างเดียว กายจะนอนด้วย คือไม่ดิ้นรนขวนขวาย ถ้าหากว่าความนับถือ เชื่อถือในสิ่งเหล่านั้น แม้เป็นสิ่งกล่อม แต่ไม่ใช่กล่อมอย่างเดียวปลุกใจด้วย ทำให้มีกำลังใจเข้มแข็ง และเพียรพยายามทำการจริงจัง อันนี้ท่านไม่ว่าสำหรับมนุษย์ที่อยู่ในระดับปุถุชน ยังต้องการสิ่งที่มาหล่อเลี้ยงจิตใจ อย่าให้เสียหลักกรรมแล้วกัน
การนับถือสิ่งที่เรียกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ถ้าตราบใดยังไม่เสียหลักกรรมแล้ว ยังไม่ตกจากพุทธศาสนา แต่ถ้าผิดหลักกรรมเมื่อไหร่ หลุดจากพุทธศาสนาทันที หลักกรรมเป็นหลักตัดสินสำหรับมนุษย์ เพราะว่ากรรมนี้เป็นตัวธรรมะที่โยงหามนุษย์ ไม่เสียหลักกรรมอย่างไร คือ ถ้าเราไปเชื่อ เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว เราหวังผลจากการดลบันดาล ไม่เพียรพยายามกระทำการตามเหตุปัจจัย ไม่กระทำการ นั่นคือเสียหลักกรรม ถ้าเชื่อถือแล้วทำให้มีความมั่นคงในการกระทำ มีการทำการเข้มแข็งยิ่งขึ้น มันยังไม่หลุดไปจากหลักกรรม ยังหวังผลจากการกระทำ ถ้าเมื่อไรเลิกหวังผลจากการกระทำ ไปหวังผลจากการดลบันดาล การอ้อนวอนนอนรอคอยนั้น เป็นอันว่าไม่ถือหลักกรรมแล้ว ถ้ายังหวังผลจากการกระทำ ด้วยความเพียรพยายามยังมีหลักกรรมอยู่ อันนี้เป็นตัวตัดสินที่สำคัญ
ชาวพุทธบางทีเรานับถือแม้แต่พระรัตนตรัยแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่ายังเป็นปุถุชนอยู่ พอให้มีอะไรมาเป็นเครื่องลวงใจ ปุถุชนจะมีลักษณะอ่อนแออย่างหนึ่ง จิตใจถ้าไปเจออะไรเข้า ที่น่าตื่นตระหนกหวาดกลัว เป็นต้น แล้วใจจะเสียสมาธิ จะพร่า จะกระวนกระวาย ใจจะรวมไม่ติด ถ้าใจรวมไม่ติด ไม่ตั้งมั่นขึ้นแล้วเสีย ทำอะไรไม่ได้ผล กระวนกระวาย ทุรนทุราย กระสับกระส่าย ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องหาอะไรมาช่วยรวมใจ พอรวมใจให้ตั้งเป็นศูนย์รวมได้ พอตั้งหลักตั้งตัวได้ มีสมาธิขึ้นมา เริ่มทำการได้ ถ้าสิ่งใดมาช่วยให้จิตมารวมได้ ยังพออาศัย แต่ว่าขออย่างเดียว อย่าให้กล่อมจนกระทั่งว่าอุ่นใจและนอนใจ แล้วนอนรอ ถ้าอย่างนั้นละผิดแน่ ถ้าหากว่ามารวมใจให้มีกำลังแล้ว เรายิ่งมีกำลังใจในการกระทำการ ในความเพียรมากยิ่งขึ้น เรียกว่า ไม่เสียหลักกรรม รวมความ คือ พุทธศาสนาเราไม่ควรจะทิ้งหลักการสำคัญ 4 ประการ
หนึ่ง ตัวธรรมะเป็นหลักใหญ่ ที่เคยพูดไปแล้ว พุทธศาสนาพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นสิ่งแรกที่พระองค์กระทำ คือ ดึงจากเทพสู่ธรรม ดึงจากการมองไปที่ปัจจัยภายนอกสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เทพเจ้าที่จะมาดลบันดาล ให้มองมาที่ตัวความจริงของธรรมชาติ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แทนที่จะหวังผลจากการไปอ้อนวอน ให้มากระทำการด้วยความเพียรพยายาม
หลักที่หนึ่ง ตัวธรรมะ ตัวความจริงของธรรมชาติ
หลักที่สอง กรรม คือ การกระทำของมนุษย์ด้วยความเพียร
หลักที่สาม เพื่อให้กระทำการได้ผล เป็นไปตามเหตุปัจจัยด้วยความรู้ธรรมะต้องพัฒนาคนขึ้นมา เป็นสิกขาข้อที่สาม เมื่อมนุษย์พัฒนาได้สิกขาขึ้นมาแล้ว มนุษย์จะมาเป็นกัลยาณมิตรกัน และช่วยกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามขึ้นมาได้
หลักการอันนี้เดิม แต่ว่าชาวพุทธเราถ้าไม่มั่น เราจะเอียง จะพร่า จะเขวออกไปได้ วันนี้อาตมาเลยยกเรื่องนี้ขึ้นมา พูดย้ำขึ้นไว้อีกครั้งหนึ่ง
ถือว่าเรื่องถ้ำอชันต้าเอลโลร่ามีคติธรรมที่สำคัญในทำนองที่กล่าวมานี้ มีความเสื่อมความเจริญพุทธศาสนาอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ด้วย แต่อย่างน้อยเราควรจะทราบ ความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนา ศาสนาฮินดู ในเรื่องเหล่านี้มีสิ่งที่ซ่อนอยู่
พุทธศาสนายุคแรกเป็นเถรวาท และต่อมายุคหลังเป็นมหายาน สิ่งที่จะเห็นได้ชัดในระหว่างพุทธศาสนาเถรวาทกับมหายาน ในพุทธศาสนาเถรวาทยุคแรกนั้นไม่มีพระพุทธรูป ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นไม่มีพระพุทธรูป เพราะว่านับถือมาก ชาวอินเดียโบราณนั้นนับถือพระพุทธเจ้ามากจนไม่กล้าสร้างรูป ไม่ใช่หมายความว่ารังเกียจรูป เคารพมากจนไม่กล้าสร้างรูป เกิดมีประเพณีของพวกกรีก กรีกที่สืบสายมาจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ แม่ทัพต่างๆ ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทิ้งไว้ มาเป็นมหากษัตริย์ปกครองดินแดน ถิ่นแคว้นต่างๆ ในอินเดียสืบกันมา พวกกรีกพวกหนึ่งมีความนิยมมาจากแนววัฒนธรรมเดิมของตนเอง ในการสร้างรูปเคารพ สร้างรูปปั้นต่างๆ เลยสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา ประมาณกันว่าในราวพ.ศ. 500 เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาตามแบบกรีก
ถ้ำของเถรวาทนั้น บอกแล้วว่า สร้างประมาณพ.ศ. 350 ถึง 500 หรือ 550 ในยุคนั้นเริ่มตั้งแต่ยังไม่มีพระพุทธรูป มีแต่พระสถูป มาตอนหลังพอถึงยุคมหายานมีพระพุทธรูปชัดเจน แต่อันนี้ยังไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะว่าเถรวาทเดี๋ยวนี้เรามีพระพุทธรูปเหมือนกัน และเรายังมีตำนานแม้แต่สมัยพระพุทธเจ้า ตำนานที่ว่ามีภายหลังนะ ไม่ใช่ตำนานของเก่าแท้ ที่ว่ามีการสร้างพระพุทธรูปแก่นจันทน์ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังอยู่ แต่ถึงแม้ไม่มีพระพุทธรูปมี สิ่งที่เป็นอนุสรณ์เป็นเครื่องเตือนใจเป็นเครื่องที่ระลึกแทนพระพุทธเจ้า เช่น ต้นโพธิ์ เป็นต้น
ตอนพระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่พระเชตวัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีคิดถึงพระพุทธเจ้า จะทำยังไงดี จะได้มีอะไรเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าเป็นองค์แทนไว้ พระอานนท์เลยปลูกต้นโพธิ์ขึ้นต้นหนึ่ง ต้นโพธิ์นั้นอยู่ที่วัดเชตวันเรียกว่า “อานันทโพธิ” ต้นโพธิ์ของพระอานนท์ สำหรับได้เป็นเครื่องระลึกแทนองค์พระพุทธเจ้า แต่ว่าคตินี้ที่สำคัญคือเรื่องที่มีพระโพธิสัตว์ เรื่องพระพุทธรูปยังไม่สำคัญเท่าไหร่ อันนั้นเป็นเรื่องประวัติศาสตร์เท่านั้น เพราะว่าชาวพุทธเถรวาทมีพระพุทธรูปได้
ที่สำคัญ คือ คติโพธิสัตว์ที่โยมไปทุกถ้ำของมหายานจะมีพระโพธิสัตว์ เป็นเหมือนองครักษ์อยู่สองข้าง และโดยทั่วไปจะมีองค์ขวาเป็นปัทมปาณี ซ้ายเป็นวัชรปาณี
ปัทมปาณี แปลว่า มีดอกบัวอยู่ในมือ ปาณี แปลว่า มือ, ปทุมะ หรือ ปัทมะ แปลว่า ดอกบัว
วัชรปาณี แปลว่า มีสายฟ้าอยู่ในมือ วชิระ แปลว่า สายฟ้า
เป็นพระโพธิสัตว์สององค์ ที่เป็นเหมือนองครักษ์พุทธเจ้าอยู่
คติพระโพธิสัตว์นี่แหละที่เป็นเรื่องที่น่าสังเกต และเป็นเรื่องที่สันนิษฐานว่า เป็นวิวัฒนาการพุทธศาสนายุคที่จะเริ่มกลมกลืนเข้ากับศาสนาฮินดู แล้วอาจจะเป็นเรื่องของการเสียหลักของพุทธศาสนา
อย่างที่กล่าวแล้วว่า ศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์นั้น ถือเรื่องเทพเจ้าเป็นใหญ่ และมีพิธีบูชายัญ ตัวเทพเจ้าเองนั้นเป็นสิ่งสูงสุดมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเหล่านั้น คือ การอ้อนวอน เพื่อให้เกิดผลแก่ตนเอง
ในพุทธศาสนาเถรวาทเดิมแท้ ได้ดึงจากเทพมาสู่ธรรม ถือคติของกฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุผล ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับกฎธรรมชาติ คือ การกระทำเหตุ นั่นคือตัวหลักใหญ่ ศาสนาพราหมณ์ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพ การอ้อนวอนเอาอกเอาใจ
ความสัมพันธ์ของพุทธศาสนากับตัวธรรมะ คือ กรรม อันนี้โยมคงแยกได้ ของเขามีเทพ มนุษย์สัมพันธ์กับเทพโดยวิธีบูชายัญ ของพุทธศาสนานั้น พุทธศาสนาสอนธรรมะตัวกฎธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมะ คือ กรรม การกระทำตามเหตุผล ด้วยความรู้ธรรมะนั้น ถ้าเรายิ่งรู้ธรรมะด้วยปัญญาเท่าไหร่ เราพัฒนากรรมของเราให้ดีขึ้น เราพัฒนากรรมด้วยการที่มีสิกขา คือ การฝึกฝนพัฒนาตน
พุทธศาสนาแบบเดิมนี้มีหลักการมาอย่างนี้ ต่อมาพุทธศาสนายุคหลัง ต้องแข่งกับฮินดูมากขึ้น ฮินดูนั้นมีเทพเจ้าไว้ให้ชาวบ้านอ้อนวอน บวงสรวง และอิทธิพลเดิมฐานของศาสนาพราหมณ์นั้น เรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เขามีพิธีบูชายัญขนาดเอาคนบูชายัญ สภาพความเชื่อถือแบบนี้ล้างยากมาก คนจำนวนมากชอบที่จะให้คนมาช่วย เรื่องจะเพียรพยายามด้วยตัวเอง ใช้ปัญญาแสนยาก มีความโน้มเอียงที่จะหันไปหาการอ้อนวอนขอผลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นไปได้ว่าพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนี้ พยายามที่จะเริ่มเอาอกเอาใจประชาชน สนองความต้องการบ้าง โดยที่ว่าจะทำอย่างไรดี หาอะไรมาช่วยปลอบขวัญประชาชนให้เขามีสิ่งที่มาช่วยบ้าง เอาละคิดไปถึงคติโพธิสัตว์
เรามีคติโพธิสัตว์อยู่เดิม พระโพธิสัตว์ คือ พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ บำเพ็ญเพียรบารมีมา พระโพธิสัตว์นี้ตั้งใจบำเพ็ญความดีอย่างยอดยิ่ง อย่างสูงสุด โดยไม่เห็นแก่ความลำบากยากแค้น และเสียสละตนเองแม้แต่ชีวิตเพื่อบำเพ็ญความดี ในการบำเพ็ญความดีนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การช่วยเหลือผู้อื่น อย่างที่เห็นในชาดกต่างๆ เสียสละตัวเอง เสียสละทรัพย์สินสมบัติ เสียสละเลือดเนื้อ เสียสละแม้แต่ชีวิตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือคนอื่นได้ เป็นอันว่า พระโพธิสัตว์มีความเสียสละที่จะช่วยผู้อื่น แต่คติโพธิสัตว์เดิมนั้นเรามีความหมายอย่างไร
คติโพธิสัตว์เดิมนั้น มีความหมายว่าพระโพธิสัตว์นี้ เป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธในการทำความดี ให้ชาวพุทธเอาอย่างพระโพธิสัตว์ ทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่นไม่เห็นแก่ตัวเอง ยอมเสียสละแม้แต่ชีวิตของตัวเอง เพื่อทำความดี และเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ เป็นคติสอนเพื่อให้เอาอย่าง
แต่มหายานมาคิดว่า คติโพธิสัตว์นี้ มองในแง่ว่าพระโพธิสัตว์ท่านเป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่น มนุษย์เราหวังความช่วยเหลือเราไปหาพระโพธิสัตว์ให้ท่านช่วยได้ ตกลงเลยมีคติโพธิสัตว์ขึ้นมา แต่ว่าพระโพธิ์สัตว์ที่เราพูดถึงทั่วไป คือพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้ว พระโพธิสัตว์นั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว โพธิ์สัตว์นั้นสิ้นไปหมดแล้ว พระโพธิ์สัตว์ของเถรวาทมุ่งเอาสำหรับพระโพธิ์สัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งได้ทำความดีไว้เป็นแบบอย่างให้เราทำอย่างนั้นบ้าง แต่ท่านสิ้นชีวิตไปหมดแล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้าองค์นี้ก็สิ้นชีวิต ปรินิพพานไปแล้ว จะทำอย่างไรให้มีพระโพธิ์สัตว์ที่ช่วยอยู่ เอาหลักการมาว่า พระพุทธเจ้ามีได้เรื่อยไป พระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ครั้งหน้า ยังบำเพ็ญบารมีเป็นโพธิ์สัตว์อยู่ เพราะฉะนั้นยังช่วยเหลือสัตวโลกอยู่ ถ้าอย่างนั้นเราเอาพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้ามา จะได้มาช่วยมนุษย์ในปัจจุบันได้ ตกลงมหายานไม่เอาพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ไปเอาพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ตรัสรู้ ยังไม่เป็นพุทธะ ที่ยังมีอยู่ ซึ่งยังบำเพ็ญบารมีอยู่ เอามาให้นับถือ จะได้มาช่วยเหลือคนอื่นได้ ตอนนี้เหมือนกับว่า ทางพุทธศาสนามหายานมีคู่แข่ง ที่จะมาชดเชยความเชื่อ ที่จะอ้อนวอนเทพเจ้า มีพระโพธิสัตว์มาช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ต้องการความช่วยเหลือพระโพธิสัตว์ เช่น พระอวโลกิเตศวร เต็มไปด้วยพระมหากรุณา ท่านจะมาช่วยเรา ฉะนั้นเราไปขอร้อง ไปอ้อนวอนท่าน ท่านมาช่วยเหลือ คุณไม่ต้องไปอ้อนวอนเทพเจ้าฮินดู ไม่ต้องไปอ้อนวอนพระพรหม ไม่ต้องไปอ้อนวอนพระนารายณ์ มาหาพระโพธิสัตว์ได้ พระโพธิสัตว์ก็ช่วยได้
พุทธศาสนามหายานมีพระโพธิสัตว์มาแข่งกับฮินดู แข่งกับเทพเจ้า แต่แข่งของพุทธแข่งไม่ได้เต็มที่ เพราะว่าเทพเจ้าของฮินดูนั้น เขาแสดงกิเลสได้เต็มที่ โลภะ โทสะเต็มที่ ใช้ฤทธิ์ประหัตประหารคนอื่น มนุษย์ที่เป็นปุถุชนอยากจะทำร้ายผู้อื่นบ้าง อะไรบ้าง อาศัยเทพเจ้ามาช่วย จะมาได้รบกัน ช่วยกัน สู้กันให้เต็มที่ แต่มหาพระโพธิสัตว์ท่านมีคุณธรรม ท่านไม่ทำสิ่งที่ร้าย มีแต่เมตตากรุณา เพราะฉะนั้นการอ้อนวอนโพธิสัตว์ ไม่สามารถจะแทนเทพเจ้าของฮินดูได้จริง เพราะยังจำกัดอยู่ด้วยคุณธรรม มีเมตตากรุณา ช่วยแต่เรื่องคุณธรรม เรื่องของมหากรุณาเท่านั้น แต่ว่าตอนนี้เท่ากับเสียหลักแล้ว
คติโพธิสัตว์เดิมนั้น คือการเป็นแบบอย่างให้ชาวพุทธทุกคนจะต้องทำความดีอย่างนั้น เสียสละตนเองได้เพื่อทำความดีอย่างเต็มที่ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้เราเห็นว่ามีพระโพธิสัตว์ไว้ช่วยเราแล้ว เราไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์เราไม่ต้องทำ อันนี้ละพลิกเลยความหมายของพระโพธิสัตว์
ขอให้เรามาดูปัจจุบันนี้ ที่นับถืออย่างเจ้าแม่กวนอิม เรานับถือกวนอิม คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อวโลกิเตศวรนั้นเป็นพระโพธิสัตว์เดิม ที่มีในอินเดียและไปจีน แปลเป็นจีน แล้วศัพท์กร่อนเหลือแค่กวนอิม กวนอิม อวโลกิเตศวรอันเดียวกัน และเพศกลายเป็นหญิงไป ด้วยตำนานเคยเล่าว่าตำนานหลายตำนาน
ตำนานหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งพระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนนั้น ประชวรหนักแล้วไม่มีแพทย์หลวง แพทย์ราษฎร์ที่ไหนจะรักษาได้ เลยร้อนถึงพระอวโลกิเตศวรกวนอิมนี้ จะมาช่วยรักษา ในราชสำนักนั้นผู้ชายเข้าไปไม่ได้ พระอวโลกิเตศวรเลยต้องแปลงร่างเป็นสตรี แล้วเข้าไปรักษาพระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนให้หาย แล้วแปลงร่างกลับไม่ได้ เลยเป็นผู้หญิงสืบมา
รวมแล้วเป็นคติของการไปอ้อนวอนขอผล ถ้าเราไม่ระวังหลักของพุทธศาสนา จะไปโน้มเอียง ไปทางเป็นศาสนาฮินดู มหายานได้เสียหลักไป และการที่เสียหลักอันนี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่ง ที่ทำให้กลืนกับศาสนาฮินดูได้ต่อมา การที่ไปเสียหลัก จากการใช้ความเพียรพยายามทำกรรมดีต่างๆ ด้วยวิริยะ อุตสาหะเลยไป เป็นลัทธิอ้อนวอนขอผลต่างๆ ไปใกล้กับศาสนาฮินดู ไปๆ มาๆ ฮินดูเอาพระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์ปางที่ 9 เป็นพระนารายณ์อวตาร เดี๋ยวนี้ฮินดูสร้างเทวาลัยแล้วเขาวางรูปพระนารายณ์ไว้ตรงกลาง แล้วเขาเอารูปพระพุทธเจ้าไปวางไว้ข้างๆ เป็นบริวาร อันนี้เป็นเรื่องของวิวัฒนาการ ซึ่งอาจจะมีความสัมพันธ์กัน เรื่องที่มีในถ้ำที่อชันต้าเอลโลร่าด้วยเป็นได้ แต่ว่าอาตมาเล่าไปโดยสัมพันธ์กับเรื่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาทั่วไป เรื่องของการหวังฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาเห็นได้จากพุทธศาสนาที่เจริญสืบมา
ขอย้อนไปพูดถึงพุทธศาสนา โดยประวัติส่วนรวมในอินเดียทั้งหมดครั้งหนึ่งว่า พุทธศาสนาในอินเดียนี้ แบ่งได้เป็นยุคๆ ยุคแรกประมาณ 500 ปี เป็นยุคของพุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่งเรือง พุทธศาสนาแบบที่มาถึงเรา พุทธศาสนาเถรวาทรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 500 ปี ต่อจากนั้นเป็นยุคของมหายานตั้งแต่ประมาณหลังพ.ศ. 500 ไปจนกระทั่งถึงพ.ศ. 1000 เป็นมหายานแบบที่ยังดีอยู่พอสมควร
หลังพ.ศ. 1000 เริ่มเกิดศาสนามหายานแบบลัทธิตันตระ ลัทธิตันตระจะมีเรื่องมนต์ เรื่องเวทย์มนต์คาถามาก มาถึงหลังพ.ศ. 1500 เป็นตันตระยุคเสื่อมโทรมมาก ทรามมากจนกระทั่งถึงพระพุทธเจ้ามีคอนสอด???(เวลา 1:22:12) มีชายาอะไรทำนองนั้น มีนางตารา มีอะไรต่างๆ เหล่านี้ มีการเสพสุรา มีการเสพกาม ถือเป็นการบรรลุนิพพานได้ต่างๆ เหล่านี้อยู่ด้วย ฮินดูตอนนั้นเหลวเละมากเหมือนกัน ฮินดูก็มีตันตระ พุทธก็มีตันตระแข่งกัน
พ.ศ. 1500-1700 มุสลิมยกทัพเข้ามา พ.ศ. 1700 กวาดเรียบหมด และมีเรื่องเล่าไว้ เพราะเมื่อมุสลิมยกกองทัพมาฆ่าเผา ฆ่าเผานั้น พระที่อยู่ในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาต่างๆ หนี ที่ถูกฆ่าก็ฆ่าไป ที่หนีได้ ไปลงเรือไปพม่า และหนีขึ้นเหนือไปเนปาล ไปทิเบต ไปมีหลักฐานอยู่ที่ทิเบตเล่าถึงเรื่องของ ตอนนาลันทาหรือมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแถบนั้นถูกทำลาย ตอนกองทัพมุสลิมจะยกเข้ามา มีเรื่องเล่าถึงความเชื่ออิทธิปาฏิหาริย์ เรื่องเวทย์มนต์ พระองค์หนึ่งมีเวทย์มนต์คาถาขลัง พอกองทัพมานะ ฉันจะใช้พัดนี้โบก กองทัพจะแตกพ่ายกระจัดกระจายกระเจิงกันไปหมด เรื่องหลักฐานยังค้างอยู่ที่ทิเบต แสดงว่าตอนนั้น พุทธศาสนาได้เสื่อมโทรมมีความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์ เรื่องของเวทย์มนต์คาถาต่างๆ มนตรยานตอนนั้น ตันตระมีเรื่องมนตรยานด้วย เขาเรียกมนตรยาน ชื่อพุทธศาสนาแบบมนตรยานลัทธิเวทย์มนต์ สามารถบรรลุไปถึงจุดหมายได้ด้วยเวทย์มนต์ พุทธศาสนาเสื่อมไปถึงขนาดนี้ เรียกว่า กลืนกับศาสนาฮินดูได้มากมาย เชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เรื่องของเวทย์มนต์ต่างๆ เหล่านี้ อาตมาว่าเป็นคติสอนใจชาวพุทธที่ดี เราต้องมีเกณฑ์ในการที่จะนับถือสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ อย่างชาวพุทธเชื่อพระรัตนตรัยแบบสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ เราจะต้องมีเกณฑ์
หนึ่ง ต้องไม่ให้เสียหลักกรรม หมายความว่าถ้าเชื่อแล้วเป็นเครื่องรวมใจให้เกิดสมาธิตั้งมั่นได้ ใจหายกระวนกระวาย หายกระสับกระส่าย มีสมาธิตั้งใจกระทำการด้วยความเข้มแข็งจริงจัง เรียกว่า ไม่เสียหลักกรรมพอใช้ได้
สอง ไม่เสียหลักสิกขา คือ ไม่เสียการพัฒนาตน เมื่อนับถืออย่างนี้แล้ว ต้องไม่เลิกพัฒนาตัวเอง ไม่ไปฝากความหวังไว้ ฝากชะตาไว้กับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหล่านั้น จนกระทั่งว่าไม่ได้คิดว่าตัวจะต้องทำอะไร และจะต้องทำอะไรกับตัวเอง อันนี้จะเป็นหลักที่ทิ้งไม่ได้
สาม ความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาอยู่ที่คุณธรรมและความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าศักดิ์สิทธิ์แบบฤทธิ์ของเทพเจ้าที่เต็มไปด้วยกิเลสโลภะโทสะ แต่พุทธศาสนาความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ความบริสุทธิ์
แล้วเราใช้หลักที่อาตมาเคยพูดไว้แล้วว่า เราใช้อธิษฐานแทนการอ้อนวอน และอธิษฐานในความหมายของเรา คือ การตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะทำการอะไร เพื่อบรรลุจุดหมายอย่างใดที่ชัดเจน ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายอะไร ตั้งใจเด็ดเดี่ยวจุดหมายนั้น อธิษฐานจิตแล้วทำให้เกิดสมาธิได้ผลดีได้ ถ้าเราไปหวังผลจากพวกเวทย์มนต์คาถาแล้ว ไปทางลัทธิฮินดู
ประเทศเขมรมีชื่อในเรื่องของเวทย์มนต์คาถา แต่ว่ารักษาประเทศไม่ไหว เพราะพวกที่เชื่อในเวทย์มนต์คาถามากๆ เก่งนักนะเขมร เก่งเหลือเกินเรื่องเวทย์มนต์คาถาแล้วประเทศเขมรเป็นอย่างไร ไม่อยู่กับเหตุผล ไม่อยู่กับเรื่องของความจริง อันนี้ไปไม่ไหว อินเดียเป็นมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ พุทธศาสนาของเราในอินเดียเสื่อมลงไป เสียหลักของตัวเองเข้าไป พุทธศาสนาในเมืองไทย ถ้ารักษาหลักไว้ไม่ได้คงไปเหมือนกัน
การมาอินเดียครั้งนี้ อาตมาว่าเป็นเครื่องเตือนใจอย่างหนึ่ง อย่างน้อยเรื่องเหล่านี้ให้เรารักษาหลักการของพุทธศาสนาไว้ให้ได้ อย่าให้เสียหลัก แล้วมาทบทวนว่า หลักของพระพุทธศาสนาที่แท้คืออะไรกันแน่ เพื่อจะได้วัด ตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุงเรื่องความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัติในหมู่ชาวพุทธ อันนี้อาตมาว่าพูดไปยาวมากแล้ว ไม่ทราบว่าจะมีเวลาเหลือที่จะตอบปัญหาบ้างหรือเปล่า วันนี้เรามาปิดรายการกันด้วยเรื่องถ้ำอชันต้าเอลโลร่าแต่ว่าไม่ได้พูดหยุดเลย เพราะแค่เรื่องตัวถ้ำเท่านั้น แต่ว่าได้โยงมาหาเรื่องของความเป็นมาเป็นไปของพุทธศาสนาในอินเดียทั้งหมดโดยย่อ และโยงมาหาเรื่องหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาเรื่องบทเรียนที่เราควรจะได้จากความเป็นมาของพุทธศาสนาในประเทศอินเดียทั้งหมดนี้ และอาตมาขอฝากเป็นปัญหาไว้ขบคิดว่าพุทธศาสนามีอะไร ที่มองดูคล้ายๆ ขัดกัน เป็นตรงข้าม แต่ถ้าโยมตีแตก จะเข้าใจพุทธศาสนาชัดและปฏิบัติได้ถูก วันนี้ฝากไว้สัก 4 ข้อ ที่จริง 2 ข้อพูดไปแล้ว
อันที่หนึ่งที่พูดไปแล้ว คือ เรื่องอนิจจัง ความไม่ประมาท พุทธศาสนาบอกว่า “สิ่งทั้งหลายนี้ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป” คำสอนอีกอันบอกว่า “ถ้าเราไม่ประมาทแล้ว จะไม่มีทางเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญเท่านั้น” คำสอนสองคำนี้เป็นพุทธพจน์ใหญ่ ด้วยกันทั้งคู่ขัดกันไหม? ที่จริงไม่ขัดกันและสนับสนุนกันด้วย แต่สนับสนุนกันอย่างไร? ถ้าหากว่าไม่สามารถมองพุทธศาสนาได้ครบสองด้านแล้วจะพลาด
อันที่หนึ่งว่า พุทธศาสนาสอนหลักความจริงของสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง เกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา แต่อีกด้านหนึ่งบอกว่า ถ้าไม่ประมาทแล้วมีแต่เจริญ ไม่มีเสื่อม ในแง่ความจริง อนิจจัง สิ่งทั้งหลายเกิดดับธรรมดา แต่ในแง่การปฏิบัติของมนุษย์ คือความไม่ประมาท ต้องรักษาความเจริญไว้ไม่ให้เสื่อม สองอันนี้ไม่ได้ขัดกันสนับสนุนกัน
สอง เรื่องคู่ระหว่างธรรมะกับวินัยที่ว่า เช่น ธรรมะเวลาเราศึกษาเราได้คติ สิ่งทั้งหลาย เช่น หลักอนิจจัง เป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นได้ จะต้องรู้จักปล่อยวาง ธรรมะจะสอนเราคล้ายๆ อย่างนั้น สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามพระไตรลักษณ์ ไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นได้ ต้องปล่อยวาง
ฝ่ายวินัยบอกว่า ต้องมีความรับผิดชอบ แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สมมติตกลงกัน ยอมรับสมมติเต็มที่อย่างที่ อาตมาบอก เช่น อย่างภิกษุจีวรขาดเป็นรูแม้แต่เท่าหลังตัวเรือด ไม่รีบ ไม่จัดการแก้ไขปะชุนเสีย ปล่อยทิ้งไว้ เป็นอาบัติมีความผิด พระอรหันต์เวลามีเรื่องของส่วนรวมเกิดขึ้น ไม่เข้าที่ประชุม ไปอยู่ป่าเสีย ที่ประชุมลงโทษพระอรหันต์ วินัยพระอรหันต์ต้องเคารพสงฆ์ หลักของวินัย คือ ถือสงฆ์เป็นใหญ่ พระอรหันต์หลายองค์ในประวัติศาสตร์ถูกสงฆ์ลงโทษ พระอรหันต์จะเข้านิโรธสมาบัติ มีข้อหนึ่งที่ต้องเตรียมใจไว้เลย ถ้าสงฆ์เรียกเมื่อไร ต้องออกจากนิโรธสมาบัติทันที กิจการของส่วนรวม การใดที่เป็นเรื่องของความสุขทุกข์หรือความเสื่อมเสียของส่วนรวมแล้ว จะต้องเอาใจใส่เป็นผู้นำ พระอรหันต์จะมีลักษณะเป็นอย่างนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าวางวินัยให้สวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน พระมหากัปปินะเป็นพระอรหันต์มาพิจารณา พระพุทธเจ้าวางวินัยข้อนี้ เราต้องไปหรือเปล่า? เพราะเราเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว จะต้องไปทดสอบ ตรวจสอบวินัยอะไรกัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปหาพระมหากัปปินะด้วยพระองค์เองทันทีเลย บอกเธอเป็นพระอรหันต์เป็นผู้นำต้องไป ถ้าเธอไม่ไปแล้วใครจะไปล่ะ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์จึงมีคติที่ถือประโยชน์สุขของส่วนรวม ถ้ามีอะไรเป็นเรื่องกระทบกระเทือนส่วนรวมเกิดขึ้น พระอรหันต์เป็นผู้นำ เช่น พระมหากัสสะปะ พระมหากัสสะปะริเริ่มชวนพระอรหันต์ทั้งหลายทำสังคายนา
ในเมืองไทยมีการยึดถือกันมาทำนองว่า พระองค์ไหนไม่เอาเรื่องเอาราว อะไรเกิดขึ้นไม่เอาใจใส่ คือ ไม่มีกิเลส เข้าใจกันอย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะไม่เข้าใจหลักการคู่นี้ คือ หลักการเรื่องธรรมะกับวินัย
พุทธศาสนาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ธรรมะกับวินัย ถ้าเข้าใจพุทธศาสนาให้ครบต้องทั้งธรรมะและวินัย
วินัยจะแสดงชีวิตของพระอรหันต์ในโลกที่เป็นจริงของมนุษย์ที่อยู่ในสมมติ พระอรหันต์ คือ ผู้รู้ความจริงของปรมัตถ์ความจริง แต่เข้าถึงจนกระทั่งจิตไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าเพราะจิตไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ จึงปฏิบัติตามสมมติได้อย่างถูกต้องตามเหตุผลที่สุด ด้วยความรับผิดชอบ
สาม พุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ แต่ว่าเมื่อสอนแล้วเวลาปฏิบัติมีแต่เรื่องสุขทั้งนั้น เป็นศาสนาแห่งความรู้เท่าทันทุกข์ แต่ให้มีชีวิตที่เป็นสุข
หน้าที่ต่อทุกข์ คือ รู้เท่านั้น
หน้าที่ต่อทุกข์ คือ “ทุกขัง ปริญเญยยัง” อาตมาเคยพูดไปแล้ว
หน้าที่ต่ออริยสัจถ้าผิดแล้ว พลาดทันทีเลย พุทธเจ้าตรัสอริยสัจ ไม่ได้ตรัสไว้ลอยๆ ตรัสหน้าที่ไว้ด้วย ทุกข์นั้นเรามีหน้าที่ ปริญญา คือ รู้ทันมัน แต่เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ รู้จักทุกข์ไม่ใช่เป็นทุกข์ เมื่อปฏิบัติพุทธศาสนาแล้ว มีแต่ห่างทุกข์และเป็นสุขมากขึ้น มีพระสูตรหนึ่ง ที่ตรัสเวลาพระพุทธเจ้าไปโต้กับพวกนิครน นิครนเขาถือว่า คนเราจะหมดกิเลส จะพ้นจากทุกข์ ร่างกายมันยุ่งยาก ไปตามใจมัน เราเลยไม่พ้นไปจากทุกข์ เพราะฉะนั้นต้องทรมาน ต้องบำเพ็ญตบะ พุทธเจ้าตรัสให้หลักไว้
หลักในการปฏิบัติต่อทุกข์และสุข 4 ประการ
1. ไม่เอาทุกข์ทับถมตน ที่ไม่เป็นทุกข์
2. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม
3. แม้แต่สุขที่ชอบธรรมนั้น ไม่ติดหลงเพลิดเพลิน
4. ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป จนถึงบรมสุขหรือนิพพาน
หลักพุทธศาสนาในเรื่องสุขทุกข์ โยมอาจจะไม่ได้มองเรื่องนี้ ข้ามไป อันนี้เป็นหลักอันหนึ่ง
ว่าไปตามลำดับ เรื่องสุข เรื่องทุกข์ ตีให้แตกว่าคล้ายๆ ขัดกันแต่ที่จริงอันเดียวกัน
และอีกข้อหนึ่ง คือ เรื่องอัตตา อนัตตา พุทธศาสนาสอนว่า ถ้าเราพูดเป็นภาษาธรรมดาคล้ายๆ ว่า อัตตาที่ไม่มีนั้น ท่านสอนให้พัฒนาไปเถิด จะประสบพบสิ่งที่เลิศประเสริฐยิ่ง อัตตาที่ไม่มี ให้พัฒนาไปเถิด แล้วจะได้พบสิ่งที่เลิศประเสริฐยิ่ง แต่อัตตามีขึ้นเมื่อไร เป็นปัญหาทุกที เกิดอัตตาขึ้นมาเมื่อไร ยุ่งทุกที มีปัญหา เกิดทุกข์ เกิดการกระทบกระทั่งต่างๆ แต่อัตตาที่ไม่มี ใช้มันเถิดได้เต็มที่ พุทธศาสนาคำสอนว่าด้วย อัตตาหรือตัวตนนี้มากมายเหลือเกิน เช่น
“อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งของตน
“อัตตทีปา อัตตสรณา” จงมีตนเป็นที่พึ่ง จงมีตนเป็นเกราะ
พุทธศาสนาสอนในระดับตนสมมติ ที่ไม่มีนี่แหละ พุทธศาสนาพูดเต็มที่เลย ให้ใช้ ให้ปฏิบัติ ให้พัฒนา เป็นประโยชน์ดีเหลือเกิน พุทธศาสนาท่านไม่ได้มาเที่ยวพูดยุ่งในระดับสมมติว่า ไม่มีอัตตาหรอก แต่ว่าอัตตาในระดับปรมัตถ์ ท่านให้รู้เท่าทันว่ามันไม่ได้เป็นของจริงและถ้ามีขึ้นเมื่อไร เกิดยึดถือขึ้นเมื่อไร การยึดถือนั้นเกิดโทษขึ้นทุกที เกิดปัญหา จึงบอกว่าอัตตาที่ไม่มีนั้นพัฒนาไปเถิดจะประสบสิ่งที่เลิศประเสริฐยิ่ง แต่อัตตามีเมื่อไร เกิดปัญหาทุกที อันนี้ตีให้แตกด้วย
วันนี้อาตมาพูดมาเลยไปอีกเยอะ จะพูดปริศนาทิ้งไว้นิดหน่อย อธิบายยืดยาว คิดว่า วันนี้พูดมาใช้เวลาของโยมมากมายแล้ว ความจริงมีโยมบางท่าน ฝากบางคำถามใส่ย่ามไว้ให้ตอบด้วย แต่คิดว่าไม่มีเวลาที่จะตอบแล้ว เพราะว่ามันเป็นเวลาที่สมควรที่โยมจะได้รับประทานอาหารและพักผ่อนกันบ้าง
ฉะนั้นในโอกาสนี้อาตมาขออนุโมทนาโยมทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ที่ได้มีจิตศรัทธามาด้วยความเลื่อมใส และมีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล มาจาริก เรียกว่า เป็นบุญจาริก จาริกที่เป็นบุญเมื่อมานมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล นอกจากนั้นยังได้ไปเยือนสถานที่สำคัญในทางพุทธศาสนา ที่เชตวัน สาวัตถี และตลอดจนกระทั่งมาลงท้ายที่ถ้ำอชันต้าเอลโลร่านี้ โยมได้รู้ได้เห็น สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและประวัติศาสตร์พุทธศาสนาพอสมควร ถ้าเราได้น้อมนำโยงเอาเรื่องสิ่งที่เราได้ผ่านมานี้ มาบรรจบกับเรื่องของหลักการของพุทธศาสนาประกอบด้วยความรู้เข้าใจความเป็นมานั้นคิดว่าจะได้คติธรรม จะได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์และได้บทเรียนต่างๆ ที่จะเอาไปใช้ในการปฏิบัติ จะเป็นส่วนชีวิตของตนตาม หรือในการดำรงพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติสังคม และมนุษยชาติทั้งปวงตาม จะเป็นสิ่งที่นำไปใช้ได้มีผลดีทั้งสิ้น อาตมภาพขออนุโมทนาด้วย และด้วยการที่โยมญาติมิตรทุกท่าน มีจิตศรัทธาเป็นบุญเป็นกุศลนี้ ขอให้ทุกท่านได้ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นมงคลยิ่งขึ้นไป อย่างน้อยให้ได้เจริญด้วยปิติ ความอิ่มใจปราบปลื้มใจในการเดินทางมาจาริกได้ทำพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาครั้งนี้ และขอให้บุญที่เจริญขึ้นในจิตใจ ขอให้ปิติตั้งขึ้นในจิตใจนี้เจริญเพิ่มพูนขึ้น นำมาซึ่งความสุขล่วงหน้ายิ่งขึ้นไป ขอทุกท่านจงได้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัยมีความเจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ ในการดำเนินชีวิตและในการประกอบกิจหน้าที่การงานให้บรรลุประโยชน์สุขทั้งแก่ตนและแก่สังคม และจงได้มีความร่มเย็นงอกงามในร่มพระบารมีของพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนานี้ โดยทั่วกันทุกท่านตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ