แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ผู้ถาม (ชาย) : ขอกราบพระเดชพระคุณถาม แต่ว่าเป็นคำถามเกี่ยวกับในองค์กรในที่ทำงาน ในที่องค์กรเคยมีการทำสำรวจคนที่ลาออก แล้วคล้ายๆกับว่าเรียกมาสัมภาษณ์แบบนี้ แล้วก็ได้ความว่าเกินครึ่งหนึ่งของคนที่ลาออกไป เป็นเพราะว่าหัวหน้าหน่วยงาน คือหนึ่ง ในใจลึกๆ แล้วเขาบอกว่าเป็นเพราะหัวหน้าหน่วยงาน แต่ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าหัวหน้าหน่วยงานไปทำอะไรให้กับตัวลูกน้อง อะไรอย่างนี้นะครับ เขาก็เลยลาออก ก็เลยอยากถามว่า ในฐานะที่
หนึ่ง ผมก็เป็นลูกน้อง ควรจะทำยังไงถ้าเจอกับหัวหน้าแบบนี้
สอง ก็คือถ้าเกิดว่าในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลหัวหน้าอีกที ก็อาจะเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคล ควรจะทำยังไงที่จะให้หัวหน้ารู้ตัวแล้วหันกลับมาประพฤติพฤติกรรมใหม่ที่ไม่ให้มีปัญหานั้นเกิดขึ้นมา แล้วก็กว้างๆ ก็คงจะ 2 คำถามนี้ก่อนแล้วกันครับพระเดชพระคุณ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ตัวประเด็นมีสองเลยนะ หนึ่ง ย้ำซะอีกที หนึ่งเอาสั้นๆ สรุป เอาประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สอง
ผู้ถาม (ชาย) : หนึ่ง ก็คือจะทำยังไงให้คนที่เป็นหัวหน้าหันมาประพฤติพฤติกรรมที่ดี ที่ไม่ให้มีการลาออกเนื่องจากที่ลูกน้องโดน สอง คือถ้าเราเป็นลูกน้องแล้วเราเจอหัวหน้าแบบนี้ เราจะทำยังไง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เอาละ ได้ความ ฝ่ายหัวหน้ากับฝ่ายลูกน้อง อันนี้มันก็มองได้ 2 อย่างคือ ระยะสั้นกับระยะยาว การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่าง แล้วก็เรื่องระยะยาว รวมทั้งระยะยาวของสังคมประเทศชาติด้วย เฉพาะหน้านี่ก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน เพราะว่าคนนั้นเขาก็สะสมของเขามาอย่างนั้น ทางพระเขาเรียกว่า วาสนา วาสนาก็คือว่าการสะสมอบรมของแต่ละคน จนกระทั่งเกิดสภาพจิต พฤติกรรมที่เคยชิน เวลาคิดอะไรก็คิดอย่างนั้น นี่เรียกว่าวาสนา แล้วทำอะไรก็ทำอย่างนั้น ชิน คล้ายๆ วาสนานี้แก้ยากที่สุด กว่าจะลงตัว วาสนานั้นก็ลงตัวสำหรับคนนั้น แม้แต่ให้เขารู้ตัวยังยากจริงๆ เขาถึงได้มีวิธีการต่างๆ จัดฝึกอบรมอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เพื่อจะมาช่วย คือเตือนสติจะเตือนโดยตรงก็ไม่ได้ แล้วลูกน้องจะไปเตือนก็ไม่ได้ กลายเป็นยิ่งขัดแย้งหนักเข้าไปอีก ทีนี้มันก็มีว่ามันต้องมีระบบมาช่วย สร้างระบบในหน่วยงานในองค์กร ที่ว่ามันจะเป็นเหมือนกับเป็นวงจร ช่วยไม่ให้มันตัน ให้มันมีทางไหลเวียน ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่เดียว ทีนี้จะทำยังไงให้วนขึ้นวนลงได้ ตอนนี้เราจะไปติดทางนี้ ทำไงเราจะวนมาทางนี้ ให้ทางนี้มาลงนี้ได้ เช่นว่ามีผู้ที่อยู่ในสถานะ ตำแหน่งที่สูงกว่าเหนือกว่า หรือว่าเกือบเสมอกัน อะไรเนี่ย มาเป็นผู้พูดแทน แทนที่เราจะพูดเอง อันนี้ก็เป็นทางหนึ่ง จะสร้างได้ไหม ระบบอันนี้ นี่ก็เป็นอันหนึ่งนะ เพราะถ้าอยู่อย่างนี้มันก็ตันกันอยู่อย่างนี้ ติดขัด ไม่รู้จะไปพูดยังไง ไม่งั้นอีกอย่างก็คือ ต้องเป็นเรื่องของตัวผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ต้องมีความสามารถ ความเฉลียวฉลาดในการที่ว่าจะให้สติ โดยไม่ใช้วิธีตรงๆ ให้รู้ตัวโดยทางอ้อม ก็อย่างเรื่องการจัดอบรมนี่ก็อันหนึ่ง คืออย่างที่ใช้มา ก็มีมาแต่โบราณแล้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่านิทานชาดกอะไรเนี่ย ก็มาเตือนสติ อย่างคนที่เป็นพระราชาอย่างนี้ใช่ไหม ใครจะไปเตือนล่ะ ใช้ไหม เขาก็ใช้วิธีนี้ เอาตัวตลกบ้างอะไรบ้าง ตัวตลกนี่เขาก็เอาไว้มาพูดจาเป็นเล่น อะไรต่ออะไร เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเล่า เช่นให้พระราชารู้ตัวในเรื่องนั้น ไม่รู้จะพูอยังไงดี ให้รู้โดยนัย แล้วก็พอดูเรื่อง เห็นการแสดง หรือคำพูดคำจาเขาไปแล้ว มันโยงมาหาตัวเองได้ แต่ว่าไม่ให้รู้สึกว่าเตือน บอก หรือสอบ ต้องใช้วิธีนี้ นี่ก็เป็นแบบหนึ่ง เล่านิทานก็จะเป็นแบบนี้เยอะ ความมุ่งหมาย เพื่อจะให้ได้คิดได้สติ นี่ก็เป็นทางหนึ่ง ทีนี้การจัดอบรมอะไรต่างๆนี้ก็เหมือนกัน ก็คือให้ผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้าไปอยู่ด้วยกัน แล้วก็มีจุดปรารภ อาจจะมีคณะเล็กๆที่รู้กัน ปรึกษาหารือกันว่า เราต้องการจะแก้จุดนี้ของคนนี้ แล้วเราจะทำยังไง มีใครที่มาพูดเรื่องอย่างนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนใน มาพูดในแง่นี้ ถ้าสนิทกันก็อยากให้รู้ปัญหาของตัวเอง เขาก็มาพูดโดยที่ไม่ได้มาเจาะจงอะไร พูดแล้วก็โยงไปหาให้ได้ความคิด นี่ก็เป็นวิธีหนึ่ง ก็เป็นวิธีที่ใช้กันมาเรื่อยตลอด คือไม่สามารถจะบอกตรงๆได้ ก็เอานึกถึงพระราชาก็แล้วกันว่า ตอนนี้เราต้องเก่งขนาดเตือนพระราชาให้ได้ ลองดูนะ ไหวไหม สมัยก่อนหัวขาดนะ ใช่ไหม ??? สมัยนี้ยังเบา แต่สมัยก่อนเขายังเตือนเลย โดยใช้วิธีนี้ ตลกหลวงเขาก็มีหน้าที่ด้วยเหมือนกัน ให้มีตลกหลวง เขาให้มีประจำเลยตอนนั้น ตลกหลวงที่ฉลาดก็จะมาทำให้พระเจ้าแผ่นดินได้ ??? อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง นี่ก็เป็นเรื่องของหัวหน้า แล้วก็เป็นเรื่องของลูกน้องโดยตรง ทีนี้ลูกน้องก็วิธีปฏิบัติตัว อันหนึ่งก็คือให้มีความเป็นมิตร มีความปรารถนาดี สร้างความรู้สึกเป็นบรรยากาศไว้ไม่ให้มีความเป็นปฏิปักษ์ เราไม่ได้ตั้งใจ เป็นอะไร ความรู้สึกที่ไม่ดีไม่งามหรือว่าตั้งใจคิดไม่ดีอะไรทั้งนั้น ก็คิดดีต่อกัน เป็นมิตรต่อกัน บางอย่างถ้าไว้ใจกันสนิทดี บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องตามใจ พอถึงจุดหนึ่ง บางอย่างเราก็อาจมีการพูด แต่ไม่ได้พูดตรงๆ บอก เออ อันนี้ถ้าทำอันโน้นจะได้ไหมครับ อะไรอย่างนี้ ผมนึกขึ้นมาอันนี้ก็ได้เคยทำมา คนนั้นทำมา ที่นี้เขาเคยทำอันนี้ก็มี ถ้าจะเอาอันนี้ลองดูบ้างเป็นยังไง คล้ายๆให้มีทางเลือก เป็นการเสนอทางเลือกอย่างหนึ่ง มาร่วมกันพิจารณา ทีนี้ถ้าแกมีนิสัยไม่เผด็จการทีเดียว ก็จะพูดกันง่ายขึ้น แต่บางคนนี้จะมีนิสัยเผด็จการ จะต้องสั่งยังไงก็ต้องอย่างนั้น อันนี้ก็ยากหน่อย ก็มี แต่พวกนี้ก็อาจต้องใช้วิธีว่าทำยังไงจะชะลอให้ช้าลง แล้วก็หาวิธีที่จะมาแก้ ถ้ามันเป็นเรื่องร้ายจริงๆ ทำไปแล้วเสีย ต้องหาทางชะลอไว้ เป็นเรื่องที่ประสบปัญหากันมากมาย ลองหาแง่มุมดูสิ ตอนนี้ก็ยังคิดอะไรไม่ออกเพราะพูดระยะสั้น
ทีนี้ระยะยาวมันทำให้มองเห็นปัญหาของสังคมทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา การเตรียมคุณภาพพลเมืองของเราไม่ดีพอ ทำให้คนที่เจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว ก็มาอยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานต่างๆ แล้วปฏิบัติไม่ได้ผลดี นี่ถ้าเราสร้างพลเมืองมาดี มีความพร้อม ทั้งด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อันนี้ก็เรื่องแรกเลยนะ การศึกษาก็ต้องมาพัฒนาความสัมพันธ์ การอยู่ร่วมกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร อย่างเรื่องว่าเรามาเน้นการปกครองระบบประชาธิปไตย ให้เป็นสังคมประชาธิปไตย เสร็จแล้วมันก็การศึกษาไม่ได้ผลตามที่ว่าใช่ไหม แต่นี่ก็คือมันไม่เป็นสังคมประชาธิปไตย มันบอกเลย สังคมประชาธิปไตยมันก็ต้องพูดกันได้ แล้วก็ต้องมีจิตใจพร้อม นอกจากพร้อมที่จะอยู่ในสังคม ก็คือพัฒนาตัว จิตใจ ของคนนั้นเอง จิตใจของเขาที่มีคุณธรรม มีความดี แล้วก็เช่นว่า ไม่เอาแต่ใจตัวเอง มีความรับผิดชอบ มีความมุ่งหมายที่จะสร้างสรรค์เพื่อส่วนรวมเพื่อสังคมประเทศชาติ ไม่มุ่งที่ประโยชน์ของตัวเอง ไปมุ่งผลได้กับตัวเอง ผลประโยชน์ก็ตาม หรือความยิ่งใหญ่ของตัวเอง คือเอาแต่ใจตัวเอง 3 ตัว ตัณหา มานะ ทิฐิ มันต้องเบาลง คือมันต้องมุ่งไปที่ประโยชน์ส่วนรวม เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ มันก็ต้องเห็นแก่ส่วนใหญ่ ทีนี้เราก็ยังไม่ได้พัฒนาให้เป็นไปตามนั้น ฉะนั้นมันก็เป็นเครื่องส่อ ส่อแสดงว่าการศึกษายังไม่ได้ผลดี ไม่ได้ปฏิบัติตามที่ว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย มีแต่รูปแบบ แต่ว่าเนื้อหาสาระยังไม่เป็นประชาธิปไตยจริง เพราะฉะนั้นระยะยาวเราก็ต้องมาให้คุยกันเรื่องนี้ เรื่องที่ว่าการพัฒนามนุษย์ การพัฒนาคนด้วยการศึกษา ในเมื่อการศึกษาในระบบมันยังทำให้ได้ไม่ดีพอ ก็ต้องให้การศึกษาต่อในองค์กร เพราะฉะนั้นองค์กรเองก็ต้องมองในแง่หน่วยงานที่ให้การศึกษาด้วย เราก็จะต้องมองในแง่นี้ ไม่ใช่จะทำแต่งาน ต้องมีการศึกษาไปด้วย เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต เรื่องของการจัดอบรมนั่นก็เป็นเรื่องที่จัดการเป็นคราวๆ แต่ที่มีเรื่อยๆเนี่ย ก็คือหน่วยงานนั้นจะต้องมีการประชุมเนืองนิตย์ ตามภาษาพระ ที่นี่มีการประชุมบ่อยไหม
ผู้ถาม (ชาย) : ก็แล้วแต่ว่าหน่วยงานไหนเขาจะทำกันมากน้อยขนาดไหน บางหน่วยงานก็เรียกได้ว่าไม่มีประชุมกันเลย บางหน่วยงานก็มีอาทิตย์ละครั้ง เดือนละครั้ง อะไรอย่างนี้ ก็เป็นแล้วแต่หน่วยงาน เพราะที่ส่วนกลางเขาไม่ได้มีระบุออกมาเลยว่า ในหน่วยงานของคุณจะต้องทำอย่างนี้ๆ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เรามีทางเสนอไหม เพราะอันนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหานะ ??? เสนอไปที่ศูนย์กลางที่จะจัดการ หรือว่าบัญชาการให้เกิดอันนี้ขึ้นมา เพราะการประชุมนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง คือการแก้ปัญหาทั่วไปหมด ให้มีการประชุมกันเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยในเวลาเท่านั้น 1 ครั้ง จะเป็นเดือนละครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้ง ก็ว่าไป ต่อไปจะต้องให้มี แล้วทีนี้ก็ฝึกคนด้วยการประชุม การประชุมนี้ก็มีวิธีออกอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหา ถ้าเราไปประชุมอบรมอะไรอย่างนั้นบางทีทำไม่ได้บ่อยๆ ในการประชุมนี่มันเป็นเรื่องของหน่วยงานนั้นเอง แล้วก็ในองค์กรก็มาร่วมประชุมด้วยกัน หน่วยเล็กหน่วยใหญ่ก็แล้วแต่ ทีนี้ก็ให้สร้างนิสัยในการประชุม เราฝึกคนด้วยการประชุม จะได้มีการรับฟังกัน แล้วก็รู้ปัญหา หัวหน้างานเขาก็จะต้องฝึก เขาเองก็จะถูกฝึกด้วยการประชุม ให้รู้จักรับฟังคนอื่น แล้วก็จะได้ประโยชน์จากการประชุม จากความคิดเห็นผู้อื่น คนที่เข้าร่วมประชุม ??? ก็จะมีวิธีพูด พูดให้ไม่กระทบกระเทือนใจคนอื่น แต่ว่ามีจุดมุ่งหมายให้รู้ให้เข้าใจกัน นี่ก็เป็นช่องทาง ช่องทางที่ดีก็คือ
เรื่องการประชุม ทำยังไงจะให้มีได้ แล้วทีนี้ถ้าหน่วยงานนั้นมีปัญหาเรื่องหัวหน้าอย่างที่ว่า นี่เราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงทีเดียว แต่เรามีความรับผิดชอบที่โยงไปถึง อะไรอย่างนี้นะ เราก็ถึงกันกับคนในหน่วยงาน ที่ว่าดูคนไหนควรจะมีโอกาสหรือมีความสามารถในการที่จะมาช่วยให้เสนอแนะอะไรต่างๆ หรือว่าไปแสดงออกในที่ประชุมให้เกิดผลที่เราต้องการ การพูดจาหารืออะไรต่ออะไรอย่างนี้ ก็ต้องได้ด้วยวิธีอย่างนี้ พอจะเป็นไปได้ ก็คือไม่เข้าที่ตัวเองโดยตรง ใช้หมู่คณะมาช่วย ถ้ามีบุคคลก็เอาบุคคลนั้นเป็นกัลยาณมิตร ช่วยแก้ปัญหา ถ้าไม่ได้บุคคลก็เอาแบบเข้าที่ประชุม พอจะเห็นแนวทางไหม
ผู้ถาม (ชาย) : ครับ ก็พอเห็นครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : แต่ปัญหาเรื่องระยะยาวนี้เรื่องสำคัญ การศึกษา ระบบการศึกษาเวลานี้ก็ยอมรับกันอยู่ ก็พูดกันว่ามีปัญหามาก ไม่สามารถสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพที่พึงประสงค์ได้เท่าที่ควร ก็ทำต่อไป
ผู้ถาม (ชาย) : อันนั้นก็คือส่วนของคนที่เขาออกไปนะครับ คราวนี้พอถามคนในหน่วยงาน พอผมไปถามลูกน้องว่าหัวหน้าเป็นยังไง ลูกน้องก็ส่ายหัว บอกไม่ได้เรื่อง หน่วยงานเดียวกัน ผมไปถามว่าลูกน้องเป็นยังไง หัวหน้าก็ส่ายหัว บอกว่าลูกน้องไม่ได้เรื่อง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : แสดงว่าการสื่อสารไม่ดี การสื่อสารนี้สำคัญ มนุษย์อยู่ร่วมกันก็คือ การสื่อสารสัมพันธ์ รู้จักพูดจักจา พระพุทธเจ้าจึงได้ฝึกหัดมาเรื่องการพูดเนี่ย ฝึกพูดยังไงจะให้ได้ผลได้ดี ก็เป็นคุณสมบัติความสามารถของบุคคลไปด้วย พร้อมๆกันนั้นมันก็ช่วยสังคม มนุษย์นี่มีความพิเศษก็คือพูดได้ เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนานี้จึงถึงกับมีสิกขาบทห้ามเลยคือ ได้อ่านแล้วใช่ไหม มีพระมาจำพรรษากันในชนบท บอกพรรษานี้เราจะปฏิบัติให้เคร่ง คือจะให้เคร่งต้องไม่พูดกัน ตั้งกติกาคนนั้นมาทำหน้าที่นี้ เรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาก็มาทำ แต่ละองค์ก็ตั้งใจปฏิบัติตัวเอง ออกพรรษาก็จะมาเยี่ยมพระพุทธเจ้า ก็ทรงทักทายไตร่ถามว่าอยู่กันเป็นยังไง สบายดีหรือยังไง พระท่านก็คิดว่าเราปฏิบัติดีเต็มที่แล้วก็พระพุทธเจ้าต้องชมแน่เลย บอกว่าพรรษาที่แล้วนี่เกล้าทั้งหลายตั้งใจปฏิบัติจริงจังเต็มที่ ถึงกับตั้งกติกากันเลย ไม่พูดจา พอเล่าจบ พระพุทธเจ้าแทนที่จะทรงชม ทรงติเตียนตำหนิเลย บอกเธอนี่อยู่กันอย่างปศุสัตว์ อยู่อย่างกับแพะกับแกะ ท่านบอก แล้วก็บัญญัติสิกขาบทเลย ไม่ให้ประพฤติ
มูควัตร ก็คือการปฏิบัติอย่างคนใบ้ นี่พระพุทธศาสนาถึงกับขัน ในศาสนาลัทธิแต่ก่อนเขาจะมีวัดแบบนี้ เขาถือเป็นการบำเพ็ญพรต เป็นตบะต่างๆมากมาย พระพุทธเจ้าล้มเลิกหมดเลย ไม่เอา เป็นมนุษย์ก็ต้องพูดกัน แทนที่คุณจะเอาเวลาที่ไม่พูดกัน มาฝึกการพูดให้มันดี แล้วมันจะพัฒนาชีวิตขึ้นไป เพียงแต่ว่าทำยังไงจะพูดพอดีๆ พอประมาณ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ไม่กลายเป็นพูดมากไปก็เพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้ประโยชน์ พูดดีแต่พอดี ท่านเรียนว่า มัน-ตา-ภา-ษา พูดด้วยปัญญา แล้วก็พอดีด้วย มีหลักมาเรื่องเกี่ยวกับการพูดจา เพราะฉะนั้นท่านก็ต้องใช้อันนี้ ทำยังไงจะให้มีการพูดจา ถ้าในความเป็นอยู่ การทำงานประจำวัน ไม่ยอมพูด เราก็ต้องหาวิธีให้พูดด้วยกัน ตั้งขึ้นมาเป็นกติกา เป็นกฎเป็นระเบียบว่าต้องมีการประชุม อย่างนั้นเท่านั้น สัปดาห์เท่านั้น เดือนละครั้ง อะไรก็ว่าไป แล้วก็เอาการประชุมนี้แหละเป็นเครื่องมือสื่อสารในการแก้ปัญหา การประชุมนี่เป็นตัวแก้ปัญหาของกิจการส่วนรวม ไม่มีทางอื่นก็ต้องเอาการประชุม แล้วก็มาคิดวิธีว่าจะเอายังไง ที่จะทำให้การประชุมบรรลุผลที่ต้องการ แต่ผู้เข้าประชุมนี่ต้องรู้??? อย่างที่เขาใช้วิธีล็อบบี้ของฝรั่ง เอาเรื่องล็อบบี้เรื่องใหญ่ใช่ไหม อันนี้มันก็เป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก็คือไม่ใช่ว่าอยู่ๆไปประชุมแล้วก็เอา มันก็ต้องเตรียมการประชุม เตรียมการประชุมของเรามีเรื่องอะไร พูดคุยกันให้รู้เรื่องก่อน แล้วไปพูดกันในที่ประชุม มันก็ง่ายขึ้น ก็เหมือนอย่างบวช เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกับว่ารู้กันไปก่อนเล้วก่อนเข้าประชุม เข้าประชุมก็ทำเป็นพิธี แต่รู้กันแล้วว่าเรื่องนี้เรียบร้อย ก็ไปใช้การประชุมนั้นเป็นตัวลงมติที่สรุปยอดอีกทีหนึ่ง เป็นว่าจบการดำเนินการในการสื่อสาร เอาว่าให้เน้นเรื่องการประชุม แล้วก็หาทางให้การประชุมนี่
หนึ่ง ก็ได้ผลที่เราต้องการในการแก้ปัญหา
สอง ก็เป็นการพัฒนาคนในระยะยาว
ได้ทั้งสองอย่าง ??? เรื่องการใช้ภาษา เรื่องพูดจาเนี่ย ต้องคิดกันมาแต่ต้น ต้องฝึกกันตั้งแต่เด็ก ให้พยายามฝึก โบราณเราก็เน้นนักหนา ว่าไงในภาษิตโบราณ
ผู้ถาม (ชาย) : ปากเป็นเอก เลขเป็นโท
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี นั่นสิ เพราะฉะนั้นปากนี้สำคัญมาก ก็แค่อย่าง วัสสการพราหมณ์ ไปพูดจนกระทั่งวัชชีเสียเมืองเลยใช่ไหม แคว้นทั้งแคว้นย่อยยับ วาจานี้สำคัญมาก ทำลายก็ได้ แล้วก็สร้างสรรค์ได้ยิ่งใหญ่ ก็ฮิตเลอร์พูดเท่านั้นเอง สงครามโลกเลยใช่ไหม คนตายตั้ง 50 กว่าล้าน จากการพูดของฮิตเลอร์ พูดเก่งจริงๆ แต่ว่าเป็นการยั่วยุปลุกใจ แล้วทำยังไงเราจะให้ใช้วาจาในทางที่ดี ทีนี้ที่สำคัญมากก็คือนี่แหละในที่ประชุม การประชุมจะช่วยได้เยอะ แก้ปัญหาด้วยการประชุม ในพุทธศาสนาก็เน้นมากใช่ไหมเรื่องการประชุม บริหารจริยธรรมก็ขึ้นข้อแรก หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เนืองนิตย์คือประจำนั่นเอง เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม ??? แล้วก็ สังฆะ ก็คือจุดเน้นที่นี่ สังฆะก็คือมีการประชุมนั่นเอง ก็ชีวิตสังฆะ สังฆกรรม ก็คือการประชุมนั่นแหละ เรื่องของพุทธศาสนา เรียกว่าพระสงฆ์ก็มีแต่การประชุม จะทำอะไรต่ออะไรก็ประชุม ต้องเอาอันนี้ไปใช้แก้ปัญหาด้วยการประชุมให้ได้ ทั้งระยะสั้น ทั้งระยะยาว ปัญหาต่างๆ ก็อย่างที่ว่าจะพูดตรงๆกับบุคคลนั้นไม่ได้ ใช้วิธีมาประสานกันในที่ประชุมของบุคคลที่รู้กัน มาหาทาง มันก็ต้องมีวางระบบอีกอย่าง คือถ้าหากว่าเป็นส่วนรวมทั้งหมด เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วก็คนในหน่วยงาน ถ้าพร้อมใจกันแล้ว ถ้าเป็นไปโดยชอบธรรมก็ต้องให้มีอำนาจต่อรองต่อผู้บังคับบัญชาได้ด้วย แล้วก็อย่างในเรื่องชาดกเนี่ย พระเจ้าบดินทร์สมัยโบราณ ไม่ใช่เผด็จการนะ อ่านในชาดกจะมีเรื่องเยอะ ข้าวยากหมากแพง เอาล่ะสิ ประชาชนพากันมาแล้ว ประชุมที่หน้าพระลาน เอาละสิ พระราชาก็เดือดร้อน ต้องสำรวจพระองค์ ว่าเรามีความบกพร่องอะไร นี่เป็นมาแต่โบราณ เราอาจจะต้องมาถือศีล ถืออะไรกันใหญ่ ก็เป็นอย่างนี้ อย่างพระเวชสันดรเขาถูกประชาชนขับนะ ใช่ไหม ประชาชนพากันมาชุมนุมเรียกร้อง ว่าทำไมพระเวชสันดรนี้มาให้ช้างที่สำคัญของแคว้นไปให้แก่รัฐอื่น พระเวชสันดรก็มองว่าคนนั้น ประชาชนยังไม่เข้าใจความคิดของท่าน แต่ถึงอย่างนั้นต้องยอมรับ ก็ต้องยอมรับมติของประชาชน แล้วต้องเนรเทศตัวเองไปอยู่ป่า อะไรอย่างนี้นะ นี่ก็เป็นวิธีที่ทำกันมาแต่โบราณ ในสมัยก่อนพุทธกาลมาแล้ว มีมาเรื่อย ในชาดก มีเยอะเรื่องที่เวลามีปัญหาอะไรของบ้านเมืองแล้วประชาชนจะมาชุมนุมกันที่หน้าพระลาน แล้วพระราชาจะต้องสำรวจพระองค์ แต่นี่มันก็เป็นประชาธิปไตยอยู่กึ่งหนึ่งนะ เผด็จการจริงๆเพิ่งจะมายุคหลังๆ พระราชชาสมัยเดิมไม่ค่อยมีอำนาจ สมัยพุทธกาลเองก็ยังเหลือแคว้นที่ปกครองด้วยวิธีที่คนไทยเรียกสามัคคีธรรม ฝรั่งเรียน republic สาธารณรัฐ ก็คือผู้ปกครองก็หมุนเวียน ก็แคว้นวัชชีนี้เป็นตัวอย่าง เป็นมหาอำนาจที่ยังเหลืออยู่ที่ปกครองแบบนี้ มีกษัตริย์ที่เขาเรียกว่า ลิจฉวี พระเจ้าลิจฉวี มาปกครองกันโดยมีทั้งหมด 7,777 หรืออะไรต่ออะไร แล้วก็หมุนเวียนไป 7,777 นี่คือจำนวนเต็ม ทีนี้ก็หมุนเวียนไป พวกนี้ต้องมาประชุมกัน เวลามีเรื่องของส่วนรวม การที่จะทำสงครามกับต่างประเทศอะไรเนี่ย หรืออย่างที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน นั่นก็พวกมัลละ มัลละตอนนั้นตกเป็นเมืองขึ้นไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการปกครองตัวเองอยู่ ในส่วนของตัวเอง เมื่อมีข่าวว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานในแคว้นของตัวเอง พวกกษัตริย์มัลละก็ต้องมาประชุมกัน เพื่อตกลงกันว่าจะจัดการเกี่ยวกับพระบรมศพอย่างไร ก็ต้องเป็นมติที่ประชุม ก็ใช้อย่างนี้ จริงๆใหญ่ที่สุดก็คือแคว้นวัชชีที่เหลืออยู่ ก็เป็นคู่แข่งกับแคว้นมคธ ใหญ่มากวัชชี มีอำนาจมหาศาล พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสเตือนไว้ไง ตรัสวัชชีอปริหานิยธรรม ตรัสให้แก่พวกวัชชีก่อน แล้วก็ตรัสกับพระสงฆ์ ก็เป็นวัชชีอปริหานิยธรรมชุดหนึ่ง แล้วก็ภิกขุอปริหานิยธรรม หลายชุด ของพระภิกษุนี้หลายชุดเลย มีภิกขุอปริหานิยธรรม 7 ภิกขุอปริหานิยธรรม 6 ก็มี ไม่เฉพาะ 7 อย่างเดียว ทีนี้พวกวัชชีก็ใช้วิธีนี้ประชุมกัน แล้วก็มีการฝึกซ้อมอะไรต่ออะไรกัน เก่งมาก แคว้นมคธแม้เป็นมหาอำนาจ แต่เป็นราชธิปไตย ก็ครั่นคร้าม พระเจ้าอาชาตศัตรูคิดหนักหนาว่าจะทำยังไงจะเอาแคว้น
วัชชีลงให้ได้ แคว้นอาณาเขตก็ติดต่อกัน นี่จะยกทัพไปสู้ หยั่งเชิง วัสสการพราหมณ์ ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับพระพุทธเจ้าปราม ว่าเราเคยแสดงธรรม ก็ตรัสถามพระอานนท์ว่าสมัยก่อนครั้งนั้นเราเคยแสดงธรรมแก่พวกวัชชีไว้ว่าอย่างนี้ๆ ถ้าตราบใดวัชชียังรักษาหลักการนี้ไว้ ไม่มีทางที่ใครจะเอาชนะได้ นี่ก็ทำให้วัสสการพราหมณ์ ก็ไปปรึกษากับพระเจ้าอาชาตศัตรู ไม่ได้ ต้องยั้งไว้ก่อน ยั้งสงคราม พระพุทธเจ้าพอวัสสการพราหมณ์กลับไป ตรัสให้พระอานนท์เรียกประชุม แสดงเหตุการณ์ใหญ่เลย พระองค์ก็ประชุมสงฆ์แล้วก็เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง แล้วก็ตรัสย้ำเรื่องหลักธรรม เรื่องอปริหานิยธรรม ก็เท่ากับว่าให้ข่างออกไปหาตัววัชชีด้วย ใช่ไหม ทั้งนี้ก็ให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ใครจะอยู่ใครจะไป รักษาตัวเองก็แล้วกัน ฉันบอกเธอแล้ว วัชชีก็เท่ากับพระพุทธเจ้าตรัสในที่ประชุมว่า พระองค์ได้ตรัสกับพวกวัสสการพราหมณ์ ไปอย่างนั้นแหละ อ้าว ก็หน้าที่ของเธอต้องรักษาไว้ให้ดีนะ ใช่ไหม ทีนี้ก็ใครจะได้กับใครก็เอา ฝ่ายวัสสการพราหมณ์ ยั้งสงครามไว้ ก็คิดอยู่นั่น ทำยังไงจะแก้ไข ถ้าอย่างนี้มันต้องทำลายสามัคคีของพวกกษัตริย์ลิจฉวีให้ได้ ก็เลยคิดแผน พระเจ้าอาชาตศัตรูที่ว่า แต่กลายเป็นว่า ทำอุบายเป็นว่าวัสสการพราหมณ์ ทำอะไรไม่ถูกพระทัย พระเจ้าอาชาตศัตรูก็ให้ลงโทษเฆี่ยนตี ??? แล้วก็ไล่ออกไป ทีนี้ว่าวัสสการพราหมณ์ก็เลยไปขอพึ่งกษัตริย์ลิจฉวี ทางโน้นก็ดีใจว่ามหาอำมาจยิ่งใหญ่เห็นว่าเก่งกาจเหลือเกิน แตกจากทางโน้นมาอยู่กับเรา ก็ดีสิ ใช่ไหม คิดในทางที่ด้านเดียว ผิด รับเขาไว้ พออยู่แล้วทีนี้ก็ทำลายวัสสการพราหมณ์ ก็วางแผนทำลายความสามัคคี ก็เป็นพวกครูอาจารย์ พวกวัชชีก็ต้องการให้ลูกหลานมีความรู้ ก็เลยให้วัสสการพราหมณ์เป็นอาจารย์สอน แกสอน แกก็เสี้ยมสอนอะไรต่างๆ ทำให้ยุแยกไปถึงพ่อแม่แตกกันไปหมด ก็เลยเกลียดกันไปหมด ในที่สุดสงครามา วัชชีก็สลาย อันนี้ก็อยู่ที่ว่าใครจะฉลาดกว่ากัน ก็ทำได้แค่นั้น ทำได้แค่ให้รู้ว่ารักษาตัวไว้ หลักการมีอยู่แล้ว ตัวเองรักษาหลักไม่ได้ ก็จบ ในพุทธกาลนี่ก็ยังเป็นยุคที่ยังแข่งขันแย่งชิงอำนาจกัน ในที่สุดพระราชาธิปไตยก็เป็นใหญ่ เป็นการปกครอง ในแถบตะวันออกนี่ไม่มีนะ เหลือมีแต่ราชาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนกระทั่งมาได้ระบบของตะวันตก ของตะวันตกก็เหมือนกัน republic ของโรมัน ในที่สุดของล้ม ก็ต้องกลายเป็นจักรพรรดิ ก็ตอนจูเลียส ซีซาร์ ก็ยังเป็น republic แล้วในที่สุดก็ชิงอำนาจกันใน republic นั่นแหละ ซีซาร์เองก็โดนฆ่า โดนรอบฆ่า แล้วก็มาหลาน ออกัสตัส ซีซาร์ ดี จูเลียส ซีซาร์ ตั้งให้เป็นทายาท แล้วก็ได้ตั้งตัวขึ้นมาสำเร็จ แล้วไปหลบปราบ ??? ลงได้ ปราบมาร์คแอนโทนีได้ ออกัสตัส ซีซาร์ ก็ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิโรมัน เขาเปลี่ยนจาก republic จากสาธารณรัฐ สาธารณรัฐก็ไม่มีมาอีกนาน นี่แหละคือเรื่องของมนุษย์ สภาพของสังคมมนุษย์ ก็แสวงหาทางกันไป พร้อมกันนั้นก็มีกิเลสก็แข่งขันกันไป ชิงกันไปด้วย นี่ก็พยายามที่จะตั้งระบบที่มันจะมาจัดการ ที่จะคุมคนให้ไม่สามารถที่จะมาตั้งตัวขึ้นมาใหญ่มีอำนาจผู้เดียวได้ ประชาธิปไตยก็พยายามตั้งระบบอันนี้ ระยะนี้ก็นับว่ายั่งยืนพอสมควร ที่นี้ว่าทำยังไงจะพัฒนาคนให้มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย แล้วก็จะได้รักษาระบบประชาธิปไตยไว้ได้ ถ้าหากว่าคนไม่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ไม่มีคุณภาพ ในที่สุดประชาธิปไตยก็ล้มเหลว เป็นมหาชนที่อย่างพระพุทธเจ้าตรัส คนโง่พันคนประชุมกันอยู่พันวัน คิดไม่ออก คนฉลาดคนเดียวมาแป๊บเดียวบอกแก้ปัญหาได้เลย ใช่ไหม ประชาธิปไตย คนโง่หมู่มากก็ไม่ได้เรื่องได้ราว เพราะฉะนั้นมันต้องพัฒนาคน ประชาธิปไตยก็คือต้องให้คนจำนวนมากส่วนใหญ่มีคุณภาพ ก็เคยพูดบ่อยๆ สมัยก่อนนี้ คือเสียงส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดสินความจริง ตัดสินได้แต่ความต้องการว่าเราจะเอาอะไร ก็ยกตัวอย่างบ่อยๆ 200 ปีก่อนนั้น คนมีสักพันล้านหรือเปล่าก็ไม่รู้ สมัยนั้นถึงยังไม่รู้ ไม่รู้กี่ล้านก็แล้วแต่ ต่างก็บอกว่าโลกแบน โลกแบนทุกคน คนเดียวบอกว่าโลกกลม ปรากฏว่าคนเดียวถูก??? เสียงข้างมากจะไปลงมติความจริงได้ยังไง เขาไม่ได้เอาเสียงข้างมากไว้ตัดสินความจริง แต่ความจริงมันอยู่ที่ต้องรู้ คนมากมายมายไม่รู้ มันกก็ไม่จริง ใช่ไหม มันไม่รู้ ฉะนั้นถ้าพลเมืองมาก ไม่พัฒนา ไม่มีสติปัญญา เหลว ไม่ดีทั้งหมด การศึกษา พฤติกรรม จิตใจ ปัญญาไม่ดีสักอย่าง ในที่สุดประชาธิปไตยก็เสื่อม ไปไม่รอด ฉะนั้นต้องมีความไม่ประมาทตลอด ที่เห็นมาหน่วยงานต่างๆก็นี่เลย เป็นตัวอย่างว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่าเวลานี้ อยู่ในสภาพอย่างไร ถ้าในหน่วยงานเป็นอย่างนั้นมันก็ส่อแสดงถึงสภาพประชาธิปไตยของประเทศนี้เลย ซึ่งเตือนเราแล้วว่าต้องสังเกต แก้ไข อย่างที่ว่าระยะสั้นระยะยาว ระยะสั้นก็หาทางเอาระบบนี้ ระบบของประชาธิปไตยก็คือระบบการประชุม เอามาแก้ปัญหาให้ได้ในระยะสั้น ระยะยาวต้องพัฒนาคุณภาพของมนุษย์พลเมืองให้ดี มีทางไหม ใช้การประชุม
ผู้ถาม (ชาย) : น่าจะมีทาง แต่ว่าเด็กๆที่เข้ามายุคใหม่นี้นะครับพระเดชพระคุณ เข้ามาก็มักจะทำเฉพาะหน้าที่ของตัวเอง ระบุไว้ทำแค่นี้ ถ้าทำมากกว่านั้นหน่อยก็จะถามว่าจะได้เงินไหม อะไรอย่างนี้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เนี่ย จิตใจประชาธิปไตยไม่มีเลย มันหมด ก็ระบบการปกครองมันต้องการคนที่มีลักษณะนิสัย มีพฤติกรรมแบบประชาธิปไตย อันนี้พฤติกรรมประชาธิปไตยมันไม่มี แล้วมันจะไปยังไง มันก็ขัดแย้งตัวเอง มันก็เห็นอยู่ชัดๆ ว่ามันกำลังกัดกร่อนตัวเองในสังคม เพราะฉะนั้นท่านต้องฟื้นให้ได้ ถ้ามองในแง่นี้ก็การแก้ไขปัญหาในหน่วยงานหรือองค์กรของตัวเอง ก็คือส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาส่วนรวม และท่านต้องคิดแก้อันนี้ให้ได้ก่อน ต้องพัฒนาระบบประชาธิปไตยให้ฟื้นขึ้นมาในองค์กรของเรา เอาประชาธิปไตย การประชุม??? ก็สังฆะ พุทธศาสนาอย่างที่ว่าเป็นเรื่องที่แปลกมากนะไม่มีหรอกประวัติพุทธกาล คำว่าสังฆะเป็นคำที่แปลกอยู่แล้ว คือพุทธศาสนาก็เป็นในบรรดาศาสนาหนึ่งในลัทธิมากมายในพุทธกาล แต่แปลกว่าไม่มีในลัทธิศาสนาอื่น คำว่าสังฆะ เป็นระบบที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้น เป็นความริเริ่มใหม่ แล้วก็มีระบบมีประมวลกฎหมาย มีปาฏิโมกข์อะไรต่างๆนี้นะ นักบวชสมัยนั้นก็ว่ากันไปคล้ายๆว่า สารพัด หลากหลาย ต่างแบบ ต่างพวกอะไรต่ออะไร มีภรรยามีครอบครัวก็มี ไม่มีก็มี แล้วก็มีลัทธิความเชื่อถืออะไรต่างๆหลากหลาย อย่านึกว่าเป็นนักบวชแล้วถือพรมจรรย์ เป็นนักบวชในสมัยพุทธกาลก็มีทั้งพวกมีครอบครัวมาอยู่ด้วยกัน หรือว่าเป็นนักบวชแล้วนั่นแหละ เลยยิ่งมีคนบำเรอเยอะเลย แล้วประกอบการค้าก็มี อะไรอย่างนี้ เป็นชฎิล แต่เป็นพ่อค้าใหญ่ เป็นปาริพาชก ก็มีคู่ครองมีภรรยา แล้วก็มีนางบำเรอ สภาพสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงเห็น ตอนแรกก็ไปบำเพ็ญตบะอะไรต่ออะไรกับเขา ก็ได้เห็นหมด มันไม่ไหว ตบะนี่เป็นความนิยมมากในพุทธกาล พระพุทธเจ้าละเลิกมา ฉะนั้นคนไม่ค่อยนึกว่าพุทธศาสนานี้ถือหลักอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องความสุข ก็เลยพูดซะนิดนึง คือพวกบำเพ็ญตบะโดยเฉพาะพวกนิครนถ์ เขามีหลักของเขาว่า ความสุขไม่สามารถบรรลุด้วยความสุข ความสุขจะลุถึงได้ด้วยความทุกข์เท่านั้น ฉะนั้นต้องบำเพ็ญตบะ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เล่าว่าพระองค์เองก่อนที่จะเสด็จออกผนวชก็มีความคิดอย่างนี้ ว่าความสุขจะลุถึงได้ด้วยความทุกข์ จะลุถึงด้วยสุขไม่ได้ จึงได้เสด็จออกผนวชแล้วก็ไปศึกษาในสำนักอาฬารดาบส อุทกดาบส แล้วก็ไปบำเพ็ญตบะอะไรต่างๆ นั้น ในที่สุดก็ทรงสรุปว่านี่ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ทางแห่งโพธิ ว่างั้นนะ แล้วก็ทรงพิจารณาว่าทางคงมี แล้วก็ทรงพิจารณาแล้วก็ระลึกถึงที่พระองค์ประทับนั่งเมื่อยามเป็นเด็ก เป็นราชกุมาร พระชนม์ 7 ขวบ ที่ว่านั่งใต้ต้นหว้าแล้วได้ความสงัดเงียบ ก็ได้ปฐมฌาน พระองค์ระลึกแล้วก็บอกว่า นี่เป็นทาง แล้วยังถามพระองค์ว่าเรากลัวไหมต่อความสุขแบบนี้ แล้วตอบพระองค์ว่าไม่กลัว ก็จึงเริ่มทางนี้ พุทธศาสนานี่ก็คือแนวคิดที่ไม่ยอมรับว่าความสุขบรรลุถึงด้วยความทุกข์ แต่ถือว่าสุขบรรลุถึงด้วยความสุข นี่พุทธศาสนานะ แต่เป็นสุขที่พัฒนาอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ถือว่าความสุขนี้พัฒนาได้มากมาย ความสุขที่พระองค์ตรัสในที่นี้เรียกว่าความสุขที่ปลอดกาม ปราศอกุศล และเป็นอิสระจากความสุขด้วย หมายความว่ามีความสุขตลอด แม้แต่การปฏิบัติและบรรลุความสุข แต่ทั้งหมดนั้นไม่ตกอยู่ใต้การครอบงำของความสุข ความสุขครอบงำไม่ได้ ด้วยอะไร ด้วยปัญญา มีปัญญาที่จะเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแม้แต่ความสุข แต่ก็มีความสุขเต็มเปี่ยม คือไม่ให้ความสุขเป็นพิษเป็นภัยด้วย แต่ว่าไม่ได้ปฏิเสธความสุข ไม่เหมือนลัทธิสมัยนั้น ลัทธิสมัยนั้นเขาปฏิเสธความสุข ทีนี้คนไทยเราชาวพุทธเองบางทีก็ไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ มองพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความทุกข์ก็เยอะเลย อะไรๆก็พูดแต่ความทุกข์ พอพูดถึง เอ พุทธศาสนาสอนโน่นก็ทุกข์ นี่ก็ทุกข์ ใช่ไหม อริยสัจข้อหนึ่งก็ทุกข์ ทุกขังอริยสัจจัง ก็เลยฝรั่งมาอ่านคำสอนพุทธศาสนา โอย พุทธศาสนาเป็น pessimism มองโลกในแง่ร้าย อะไรๆ ก็ทุกข์ไปหมด ชาวพุทธเองก็ชี้แจงไม่ถูก โดนฝรั่งว่า จริงสิ พุทธศาสนาสอนนั่นก็ทุกข์ นี่ก็ทุกข์ ฝรั่งว่าถูก เรานี้ไม่ได้เรื่อง ??? อะไรอย่างนี้ต้องชี้แจงได้นะ เป็นยังไง ชี้แจงยังไง ทุกขังอริยสัจจัง อย่าลืมนะต้องตอบปริญเญยยัง ทุกขังอริยสัจนี้เป็นสิ่งที่จะต้องปริญญา รู้เข้าใจ รู้เท่าทัน ทุกข์นั้นสำหรับปัญญารู้เท่านั้น เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องสำหรับปัญญา ท่านต้องจัดการกับทุกข์ด้วยปัญญา อย่าให้มันเข้ามาหมกในจิตใจ อย่าให้ทุกข์เข้ามาหมกในจิตใจเป็นอันขาด ผิดเชียวนะ ก็หมายความว่าทุกข์มาต้องรับหน้าด้วยปัญญา เอาปัญญารับหน้ามัน แล้วจัดการด้วยปัญญา อย่างนี้ถูก นี่คือพุทธศาสนา หน้าที่ต่อทุกข์ คือหน้าที่ของปัญญาเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ของจิตใจนะ ท่านแยกให้ จิตใจไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ ใครเอาจิตใจไปทุกข์ก็เสร็จ อย่าเอาทุกข์หมกไว้ในใจ ส่งให้ปัญญาไปจัดการ ก็เป็นอันว่าชัด พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัด สุขเป็นเรื่องของจิตใจได้ แต่ว่าทุกข์เป็นเรื่องของปัญญา ถ้าใครไม่มีปัญญาก็แก้ทุกข์ไม่ได้ ต้องแก้ด้วยปัญญา ก็คือถ้าเอาจิตใจไปอยู่กับทุกข์ แย่เลย ตัน แล้วทุกข์ก็เพิ่มขึ้น อัดอั้น บีบคั้น ไม่รู้จักจบ ฉะนั้นก็ต้องจำกิจอริยสัจให้แม่นนะ ??? ทุกขัง อริยสัจจัง ปริญเญยยัง ทุกข์ อริยสัจ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องปริญญา แล้วก็ ทุกขสมุทโย อริยสัจจัง ปหาตัพพันติ ทุกขสมุทัยนั้นต้องประหาร ก็คือ ละ กำจัด กำจัดเหตุแห่งทุกข์ แล้วก็ ทุกขะนิโรโธ อริยสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ เป็นสิ่งที่พึง สัจฉิกิริยา แปลว่าทำให้ประจักษ์แจ้ง ทำให้เป็นจริง ให้เกิดมีขึ้นมาจริงๆ แล้วก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสัจจัง ??? มรรคก็ต้องภาวนา ก็คือปฏิบัตอ ลงมือทำ แล้วก็แยกภาวนา ก็คือเจริญไตรสิกขา ให้เกิดเป็นภาวนา 4 กายภาวนา จิตภาวนา ศีลภาวนา ปัญญาภาวนา หลัก 4 ประการ ภาวนา 4 นี้ใช้ได้หมดทั้งโลกนี้เลยนะ พัฒนามนุษย์ก็อยู่ในนี้ อ้าว ได้พูดเรื่อยไป ทานมีอะไรจะถามต่อ จะพอเห็นทางก็เอาแล้วเนอะ มันก็ต้องยอมรับความจริงว่ายาก แต่ยากต้องสู้ อย่าไปท้อ เอาระบบนี้ ประชาธิปไตยนี่ เราอยู่ในระบบนี้ก็ต้องประชาธิปไตยไปแก้มัน ระยะสั้น ระบบการประชุม ท่านเอกพงษ์ก็ถามแล้วนี่ปัญหา วันก่อนถาม แล้วท่านปรมัตรมีอะไรไหม ที่จริงน่าจะถามให้ครบอย่างน้อยคนละคำถามนะ ถามอะไรก็ได้ สบายๆ เดี๋ยวให้เวลาท่านปรมัตรค่อยๆ นึกคำถาม เมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้ วันหน้า