แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพรท่านอาจารย์ผู้เป็นประธาน ท่านคณาจารย์ นักศึกษา และท่านผู้สนใจใฝ่รู้ ใฝ่ธรรมทุกท่าน วันนี้ชื่อหัวข้อเรื่องปาฐกถาที่จัดให้พูดนั้น ดูเหมือนเป็นการจะให้วิทยาศาสตร์มาพบกันกับพุทธศาสนา ก็มาพบกันก็ดี ก็ยิ่งพบกันบ่อยๆ ก็ยิ่งดี แล้วก็บางทีต่อไปอาจจะมีการพบกันมากขึ้นก็เป็นได้ แต่ว่าดูดูไปแล้วก็ไม่เชิงเป็นการให้มาพบกัน ดูหัวข้อเรื่องนี้ที่บอกว่าการพัฒนาวิทยาศาสตร์มองจากแง่มุมของพระพุทธศาสนา ก็เป็นการเหมือนกับว่าให้วิทยาศาสตร์มายืนให้ดูฝ่ายเดียว พุทธศาสนาเป็นฝ่ายมอง วิทยาศาสตร์ไม่ได้มองด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยไม่เชิงเป็นการพบกัน ทีนี้เมื่อให้พุทธ ศาสนามอง มองจากแง่มุมของตนเอง ถ้าจะใช้ศัพท์สมัยใหม่ที่นิยมกันก็อาจจะเรียกว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์จากมุมมองของพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้ชอบใช้คำว่ามุมมอง แต่ว่าถ้อยคำเหล่านี้อย่าถือเป็นหลักฐานสำคัญอะไรนัก เพราะว่าถ้าหากว่าไปติดในถ้อยคำก็อาจจะให้เกิดความเข้าใจที่แคบ มุมมองนั้นอาจจะเป็นมุมเดียว ทีนี้ถ้าเราจะใช้ศัพท์ให้กว้างอาจจะเป็นทำนองว่าในสายตาของพระพุทธศาสนา คืออาจจะเป็นเพียงตาเดียวหรือสองตาแต่ไปมองหลายแง่หลายมุม ก็ได้ จะเอายังไงก็ตามทั้งนี้ก็เป็นเรื่องเพียงชื่อ เพราะฉะนั้นรวมแล้วก็คือว่าไม่ให้ถือเป็นสำคัญนักพอให้จับความได้ว่าให้พุทธศาสนามามองดูวิทยาศาสตร์ แล้วโดยเฉพาะไม่ใช่มองดูตัววิทยาศาสตร์เท่านั้น มองดูการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทีนี้เมื่อให้พุทธศาสนามามองดูวิทยาศาสตร์ ก็จะมีข้อสงสัยว่าเรามีเหตุผลอะไรที่จะให้บุคคลวงการอื่นหรือตัววงการอื่นมาดูวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิทยาศาสตร์ก็มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองคล้ายๆ อย่างนั้น ทำไมจะต้องให้คนอื่นมามอง อันนี้เราก็น่าจะพูดถึงเหตุผลเป็นการทำความเข้าใจกันก่อนนิดหน่อย โดยเฉพาะเรื่องศาสนากับวิทยาศาสตร์นั้นหลายคนอาจจะพูดว่าเป็นคนละเรื่อง ศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องคนละประเภท มันก็ไปกันไม่ได้ แล้วจะเอามายุ่งกันทำไม อันนี้ก็จะขอตอบง่ายๆ ว่าวันนี้เรามาพูดกันในเชิงวิชาการซึ่งมุ่งเอาความรู้เอาความจริง เราไม่มาติดในตราหรือในป้ายชื่อ ความรู้สึกที่ว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นคนละเรื่องโดยมากจะเป็นเรื่องของการติดในป้ายชื่อ แล้วก็เลยไม่เข้าถึงตัวเนื้อของมัน ถ้าเราพูดกันในทางวิชาการเอาตัวความรู้เป็นสำคัญมุ่งที่นั่นแล้ว เราจะมองเห็นว่าทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาต่างก็เป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ในการที่จะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ หรือที่จะเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิต อันนี้หมายความว่ามันมีสาระร่วมกัน คือต่างก็มุ่งหาความจริงของธรรมชาติ หรือโลกและชีวิตนั้น หรือเราอาจจะพูดต่อไปอีกด้วยบอกว่าแล้วต่างก็เป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ในการที่จะช่วยกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่ชีวิตและสังคมอะไรทำนองนี้ สำหรับท่อนแรกนั้นเป็นความจริงมากกว่า คือท่อนที่บอกว่าเป็นความเพียรพยายามในการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ หรือโลกและชีวิต ส่วนท่อนที่สองที่บอกว่าเป็นความเพียรพยายามในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่มนุษย์เนี่ยอาจจะมีการคัดค้านได้โดยเฉพาะในความหมายของวิทยาศาสตร์ เพราะว่าวิทยาศาสตร์อาจจะไม่ได้มีความหมายในท่อนที่สอง แต่อย่างน้อยมันก็มีความหมายร่วมกันในแง่ที่หนึ่ง อันนี้ท่อนที่สองนั้นเป็นท่อนที่น่าสนใจซึ่งเราอาจจะได้พูดกันต่อไป นี้ในแง่ที่ว่าพุทธศาสนาในทีนี้หมายถึงพุทธศาสนาก็มีเรื่องที่ควรจะซักถามเพิ่มขึ้นไปอีกว่าทำไมเอาพุทธศาสนา ก็เพราะว่าพุทธศาสนานั้นเป็นระบบการคิดค้นและแสดงความจริงสายหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษของตนเอง ในเมื่อมีเป็นระบบการค้นคว้าแสดงความจริงที่มีลักษณะพิเศษของตนเองเมื่อมามองวิทยาศาสตร์ก็จะมีแง่คิดแนวความเห็นอะไรต่างๆที่เป็นแบบของตนซึ่งอาจจะทำให้เกิดอย่างที่เรียกว่ามุมมองแง่คิดที่ต่างออกไปซึ่งอาจจะเป็นที่น่าสนใจ แล้วพุทธศาสนาที่บอกว่ามีลักษณะพิเศษเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า อย่างฝรั่งเมื่อมาศึกษาพุทธศาสนาจะรู้สึกว่าเป็นศาสนาที่แปลกถึงกับบอกว่าพุทธศาสนานี่ไม่ใช่ศาสนา ที่ว่าไม่ใช่ศาสนานั้นก็เพราะเขาไปเทียบกับศาสนาในความหมายที่เขาเข้าใจ เราก็ต้องตอบบอกว่าพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นศาสนาในแบบที่ฝรั่งเข้าใจ ตามความหมายของเขา แต่ว่าไอ้ศัพท์ว่าศาสนาเราใช้ของเรามาก่อน มันก็เกิดการสับสนในเรื่องศัพท์ เช่นว่าเราเอาคำว่าศาสนาไปแปลคำว่า religion ของฝรั่งเข้า religion ของฝรั่งไม่ได้มีความหมายเหมือนพุทธศาสนา แล้วเอาพุทธศาสนาไปแปลเป็น religion หนึ่งมันก็เลยยุ่ง ฝรั่งเค้าบอกว่า ฝรั่งเค้าบอกว่าพุทธศาสนานั้นไม่เป็น religion เรามาแปลเป็นไทยเราบอกว่าฝรั่งบอกว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนา อ้าวมันก็ยุ่งหละสิ พุทธศาสนาเป็นศาสนาเป็นศัพท์ของเราเองหนิเราใช้มาก่อน แล้วเรื่องอะไรจะไม่เป็นศาสนา เราต้องบอกว่าพุทธศาสนาไม่เป็น religion ถ้าอย่างนี้หละก็ไปกันได้ ก็เอาละรวมความว่านี่ก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลซึ่งเกี่ยวข้องเข้ามาที่ทำให้เราเห็นว่าสมควรจะให้พุทธศาสนามามองวิทยาศาสตร์ แล้วก็ยังจะมีลักษณะแง่มุมบางอย่างเช่น บางคนก็อาจจะพูดถึงความสอดคล้องต้องกันบางประการระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ เช่นบอกว่าพุทธศาสนานั้นก็มุ่งความรู้ที่เป็นระบบซึ่งได้จากการสังเกต และการทดลอง คล้ายๆกับทางวิทยาศาสตร์เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นเหตุผลในส่วนหนึ่งจะขอผ่านไป ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ นี้อาจจะมีคนพูดอีกเยอะแยะ อาตมาจะขอยกตัวอย่าง เช่นบางคนบอกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของ fact แต่ศาสนาเป็นเรื่องของความคิด จิตใจ มันเป็นคนละเรื่อง คนละแนว ก็ไม่สามารถจะนำมาพูดให้บรรจบกันได้ คำพูดที่ว่านี้ใช้ได้สำหรับความเข้าใจเบื้องต้นเท่านั้น ที่ว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของ fact ศาสนาเป็นเรื่องของความคิดจิตใจเนี่ย ใช้ได้ในความรู้ความเข้าใจเบื้องต้น แต่ถ้ามองให้ลึกแล้ว คำพูดนี้ใช้ไม่ได้ อย่างน้อยด้วยเหตุผล 3 ประการด้วยกัน ประการที่ 1 ในแง่การบรรจบของวิชาการ การแสวงหาความรู้ความเพียรพยายามของมนุษย์ในการเข้าถึงความจริง ในที่สุดแล้วจะต้องให้มันมาบรรจบลงตัว ต้องหาข้อยุติให้ได้ ว่าอะไรคือตัวความรู้ อะไรคือตัวความจริง ซึ่งก็หมายความว่าในที่สุดวิชาการต่างๆนั้น จะต้องมาหาจุดยุติบรรจบกัน ตอนนี้เรายังไม่สามารถจะทำอันนี้ แต่เรายังต้องเพียรพยายามอยู่ วิชาการหรือความเพียรพยายามอะไรก็ตามที่มันไปไม่ถึงระดับสูงสุด มันก็ต้องถูกทิ้งถูกตัด ล้มไปในระหว่าง แต่ตอนนี้บางทีเรายังล้มกันไม่ลง มันก็ยังอยู่คล้ายๆ ควบคู่กันไปก่อนจะถือว่าแข่งกันก็ได้ ในการที่จะเข้าถึงความจริงนั้น นั้นในแง่ของการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ในการเข้าถึงจุดหมายของความเป็นมนุษย์เนี่ย เราจะต้องหาข้อยุติอันนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้นเราจะยอมละเว้นวิชาการหรือความรู้อะไรไม่ได้เลย จะต้องมาสังสรรค์บรรจบกัน มาถกเถียงกันให้ได้ อันนี้ก็เป็นประการที่ 1 ประการที่ 2 ในแง่ของสาระของวิทยาศาสตร์เอง ตัวเนื้อหาของวิทยาศาสตร์ในที่สุดแล้ว มันไม่ได้อยู่ที่ fact เราไม่ได้มาพูดกันอยู่แค่ว่า แสงนี่มีความเร็วเท่าไร เสียงมีความเร็วเท่าไร ดาวดวงนั้นอยู่ไกลออกไปกี่ปีแสง มีความร้อนอุณหภูมิกี่องศา มีความใหญ่โตอะไรเท่าไหร่ เราไม่ได้มาพูดกันอยู่แค่นี้ วิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่แค่นั้น ในที่สุดแล้ววิทยาศาสตร์ทำอะไร เพื่อไม่ให้เสียเวลา อาตมาจะยกคำพูดของ โปรเฟสเซอร์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ท่านผู้นี้ก็เป็นผู้ที่เขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าทำงานจนได้ผล ได้รับรางวัลของ American Institute of Physics คือสถาบันฟิสิกส์แห่งอเมริกา แล้วก็ได้รับรางวัล American Institute for the Advancement of Science ก็คือสถาบันเพื่อการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา ท่านผู้นี้ก็ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขา สรุปความตอนหนึ่งบอกว่า สิ่งที่วิทยาศาสตร์ทำก็คือการสร้างแบบจำลองของกระบวนการธรรมชาติขึ้นในความคิดจิตใจ ตกลงไปมาสิ่งที่วิทยาศาสตร์ทำแท้ๆ นั้นเป็นเรื่องความคิด มันไม่ได้อยู่แค่ fact ถ้าวิทยาศาสตร์อยู่แค่ fact ไปไม่รอด แต่ทีนี้ทำไงจะไปให้หาจุดจบที่ลงตัว เพราะฉะนั้นในขณะนี้วิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า มันไปอยู่ในขั้นความคิด ฉะนั้นก็เหตุผลข้อที่ 3 ก็คือว่าในแง่ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการของวิทยาศาสตร์เอง ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์ได้มาถึงจุดที่คล้ายๆว่า จะพูดไปในแง่หนึ่งจะเรียกว่าจุดตันก็ได้ ในการแสวงหาความจริงในโลกแห่งวัตถุ แล้วก็เห็นว่าจำเป็นจะต้องมาเข้าถึงโลกแห่งจิตด้วย ในการที่จะเข้าถึงความจริงต่อไปได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้วิทยาศาสตร์ก็ได้หันมาสนใจเรื่องจิตกันมาก มีการศึกษาว่า mind คืออะไร consciousness คืออะไร ซึ่งอันนี้เราจะได้พูดกันต่อไป เพราะฉะนั้นผู้ที่ตามทันเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกันอยู่แค่ fact หรอก เพราะวิทยาศาสตร์มันเลยไปแล้วตอนนี้ มันเลยไปถึงด้านโน้นแล้ว ระดับความคิดจิตใจแล้ว อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง หรือบางคนก็เอาไปอีก นี่อาตมาก็ยกตัวอย่างให้เห็นว่าคนที่จะมาค้านว่าไม่น่าจะมาพูดกัน บางคนก็บอกว่าศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องส่วนตัว อย่าเอามาพูดกันจะทำให้เกิดความแตกแยก หมายความว่าเรื่องศาสนาก็ดี เรื่องการเมืองก็ดีอย่าเอาพูดกัน นี้ในการพูดนี่บางทีเราพูดถึงพุทธศาสนา มันก็จำเป็นต้องอ้างอิงเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องศาสนาอื่นๆ บ้าง มันเป็นเรื่องธรรมดาในการพูดถึงความจริง นี้คำพูดที่บอกว่าศาสนาก็ดี การเมืองก็ดีเนี่ย อย่าเอามาพูดกันจะทำให้แตกแยกอะไรเนี่ย เป็นคำพูดที่ใช้ได้ในแง่ความสัมพันธ์ทางสังคม คือในการอยู่ร่วมกันทางสังคมนี่ เราต้องมีความสมัครสมานไมตรี บางทีต้องเคารพนับถือกัน เกรงความแตกแยกไม่อยากจะกระทบกระทั่ง แต่ในแง่ความสัมพันธ์กับความจริงของธรรมชาติแล้ว คำพูดที่ว่านี้ใช้ไม่ได้ ในการที่จะแสวงหาสัจธรรมหรือเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ เราไม่สามารถละเว้นอะไรได้ทั้งนั้น เพราะถ้าหากว่าเราละเว้นมัน ก็คือการที่เราหยุดยั้งการพัฒนาปัญญา ฉะนั้นไม่มีอะไรที่เราจะยอมละเว้นในการพูดถึง ในการที่จะหาความจริง ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาจะต้องเอามาพูดได้ทั้งนั้น ฉะนั้นก็อยู่ที่การวางท่าทีให้ถูกต้อง คือเราจะต้องมองว่าขณะนี้เรากำลังพูดเรื่องศาสนาในแง่ของการแสวงหาความจริงหรือตัวสัจธรรม ตั้งท่าทีของการแสวงหาความรู้หรือความใฝ่รู้ หรือจะเรียกว่าท่าทีวิทยาศาสตร์ก็ได้ และก็ในเวลาเดียวกันเพื่อประโยชน์ในทางสังคมก็ให้มีเมตตาต่อกัน คือพูดด้วยความรู้สึกปรารถนาดี มุ่งประโยชน์ ประโยชน์ต่อกันในการที่จะทำความเข้าใจ ในการที่จะส่งเสริมปัญญากันให้เข้าถึงความจริงนั้น ทีนี้ในเรื่องของทางสังคมนั้นมันเป็นธรรมดา ความจริงทางสังคมนั้น บางอย่างเราสงวนท่าทีเราไม่พูดก็ได้ แล้วความจริงทางสังคมนั้นส่วนหนึ่งเป็นความจริงแท้ ส่วนหนึ่งเป็นความจริงตามสมมติของมนุษย์ หมายความมนุษย์ตกลงกัน เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพูดถึงก็ได้มันเป็นเรื่องสมมติ เราตกลงกันว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปเอาเรื่องเอาราวอะไรกับมันกับเรื่องสมมติเหล่านั้น นี้ความจริงของธรรมชาติเนี่ย เราจำเป็นจะต้องเข้าถึงในการที่มนุษย์จะมีปัญญาให้ถึงที่สุด ฉะนั้นก็เลยเป็นอันว่าเราละเว้นไม่ได้ แล้วเราก็มองว่าทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนาเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งๆ ที่สัมพันธ์กันมาในวิวัฒนาการของอารยธรรมหรือการพัฒนาปัญญาของมนุษย์ ถ้าเรามองในแง่นี้แล้วยิ่งจะต้องพูดถึง ขอให้ท่านนึกดูให้ดีว่าจริงมั๊ย ทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนานี่แต่ละอย่างเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่ง หรือเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งอย่างหนึ่งที่สัมพันธ์กันมาในกระบวนการแห่งวิวัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ แล้วมันมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเรื่อย ถ้ายิ่งเราได้มองลึกซึ้งลงไปเท่าไร เราก็จะยิ่งเห็นชัดเท่านั้น นี้ในการที่พูดอย่างที่กล่าวแล้วเนี่ยเมื่อพูดถึงพุทธศาสนา แม้จะเป็นศาสนาที่ฝรั่งไม่ยอมรับว่าเป็น religion ไม่เป็นศาสนา เรามันจำเป็นจะต้องพูดถึงศาสนาอื่นด้วย อันนี้อาตมาก็เพื่อความสัมพันธ์ทางสังคม ก็หลีกเลี่ยงเท่าที่สมควร แต่ว่าก็ต้องพูดถึงตามที่จำเป็น ฉนั้นก็ขอให้เราทำความเข้าใจกันว่าเป็นการพูดเพื่อสติปัญญา เพื่อบำรุงส่งเสริมปัญญา แง่ต่างๆ เหล่านี้ถ้าพูดกันไปก็เสียเวลามาก เอาว่าทำความเข้าใจเบื้องต้นกันไว้ก่อนอย่างนี้ แต่ก่อนจะพูดอะไรต่อไปก็ขอให้เข้าใจว่า เรายอมรับอยู่แล้วถึงคุณค่าของวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะพูดว่าวิจารณ์วิทยาศาสตร์เนี่ย ต้องให้เข้าใจว่าผู้พูดเองก็ตาม หรือวงการทั่วไปก็ตาม ยอมรับอยู่แล้วถึงคุณค่าของวิทยาศาสตร์ หรือจะเรียกว่าคุณูปการของวิทยาศาสตร์ที่มีต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ เพราะวิทยาศาสตร์นั้นได้นำความรู้มาให้ ได้ค้นพบความจริงอะไรต่างๆ ในธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์ได้มีสติปัญญาก้าวหน้ามาเป็นอันมาก แล้ววิทยาศาสตร์ก็อาจจะพูดว่าฉันทำหน้าที่ของฉันแล้วคือให้ความรู้ ค้นคว้าความรู้มาให้ แล้วใครจะเอาความรู้มาใช้อย่างไรก็เรื่องของเขา ก็เรื่องของผู้นั้น ทีนี้อย่างน้อยวิทยาศาสตร์ก็ช่วยให้มนุษย์ได้เป็นคนที่มีความคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น แล้วอันนี้ก็อาจจะมีผลกระทบมาถึงในวงการพุทธศาสนาด้วย บางครั้งก็มาเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นเตือนชาวพุทธเองที่บางทีก็คลาดเคลื่อนไปจากแนวความคิดของศาสนาของตน บางทีก็กลายเป็นเรื่องหลงงมงายอะไรออกไป วิทยาศาสตร์ก็จะมีคุณประโยชน์ที่มาช่วยกระตุ้นเตือนชาวพุทธให้มามองดูคำสอนหรือหลักการที่แท้จริงของศาสนาของตนว่าเป็นยังไง อันนี้ก็เป็นประโยชน์ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องมีข้อสงวนไว้ บอกว่าที่ว่ารู้นั้นมันก็ยังมีปัญหาอีก ว่ารู้ผิดหรือรู้ถูก รู้จริงหรือรู้ไม่จริง รู้ทั่วถึงหรือไม่รู้ทั่วถึง แล้วก็ไอ้ความรู้ที่ผิดที่ถูก ทั่วถึงไม่ทั่วถึงเนี่ย มันก็มีคุณมีโทษในตัวของมัน ในแง่ที่ว่าในเวลาที่ออกมาถึงมนุษย์ในการใช้ประโยชน์เป็นต้น มันก็มีความหมายในแง่คุณค่าขึ้นมา เอาละรวมความก็คือว่าถ้าเรามองกว้างๆ การจัดพูดแบบนี้ที่ให้คนนอกวงการมามองวิทยาศาสตร์นั้น เป็นการที่วิทยาศาสตร์เปิดใจกว้างออกไปนอกวงการของตนเอง ซึ่งก็เป็นทั้งการที่ว่าวิทยาศาสตร์ก็จะได้มองออกไปนอกวงการ แล้วคนนอกวงการวิทยาศาสตร์ก็จะได้เข้ามามองดูวงการวิทยาศาสตร์ เกิดการสังสรรค์กันขึ้น การที่จะต้องมีการสังสรรค์อย่างนี้ก็ขอพูดจาถึงเหตุผลอีกบางประการ อันนี้ก็เหมือนกับย้อนเก่าอีกทีหนึ่งก่อนที่จะผ่านไป ว่าทำไมเราจะต้องมีการทำอย่างนี้ซึ่งไม่เฉพาะในแง่วงการวิทยาศาสตร์ คิดว่าในวงการอื่นก็เช่นเดียวกัน ก็คือก็คงจะต้อง ควรจะต้องได้มีการที่คนในวงการวิชาการนี้ไปมองดูวงการอื่นภายนอก แล้วก็ให้วงการภายนอกมามองดูตนเองด้วย ทำกันอย่างนี้ไป เพราะอะไร เพราะว่าอย่างน้อยประการที่ 1 กิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์มีผลกระทบต่อกัน แล้วก็มีผลต่อชีวิตและสังคมของมนุษย์ ที่มีผลกระทบต่อกันก็อย่างง่ายๆเนี่ย ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ก็มีผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการอื่นๆด้วย ไม่ต้องพูดกันมากหรอก อย่างวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมาในยุคที่ผ่านมานี้ ได้รับความเชื่อถือมาก จนกระทั่งว่าคนนี่เอาเป็นมาตรฐานของความจริง พอคนยอมรับเอาวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานของความจริงนี่วิทยาการต่างๆ พากันทำตัวเป็นวิทยาศาสตร์ หรืออย่างน้อยแสดงตัวว่าเป็นวิทยาศาสตร์ วิชาการต่างๆบอกว่า โอย ฉันนะมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ บางทีชาวพุทธยังแถมกับเขาด้วย ฉันก็มีหลักการสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ อ้าวไปอย่างนั้น เลยกลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อวงการวิทยาการทั้งหลาย เศรษฐศาสตร์บอกว่าฉันนะเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิทยาศาสตร์ทางสังคม วิชาการอะไรก็ตาม จิตวิทยาก็ต้องทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าทำตัวเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ก็แสดงตัวเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เป็นกันมาอย่างนี้ นี่เรียกว่า นี่ก็เห็นชัดชัดแล้ว อ้าวทีนี้ในทางกลับกัน ความเชื่อถือค่านิยมกิจกรรมด้านอื่นในสังคมมนุษย์นี้ก็มีผลกระทบต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เช่น ให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าได้ช้าได้เร็วด้วย อย่างในสังคมที่มีความเชื่อถืองมงายบางอย่าง นี่ก็การพัฒนาวิทยาศาสตร์ก็เป็นไปได้ช้า หรือว่าค่านิยมบางอย่าง ผลประโยชน์ความต้องการของสังคมนี่ ก็ทำให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์นี่ มีการเน้นว่าจะพุ่งไป ก้าวหน้าไปในด้านไหน ทิศไหน เน้นแง่ไหนมาก อย่างผลประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมเป็นต้น ก็อาจจะมาเป็นตัวอิทธิพลที่ทำให้กำหนดทิศทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าในด้านนั้นด้านนี้เป็นต้น ซึ่งอันนี้ก็รวมถึงความต้องการของสังคมมนุษย์ทั่วๆไปในวงกว้างด้วย ซึ่งอันนี้เราเห็นชัดเจน วิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่โดยปราศจากอิทธิพลจากภายนอก ไม่ได้มีความเป็นตัวของตัวเองโดยสิ้นเชิงหรอก มันถูกอิทธิพลอื่นมากำหนดอยู่ โดยเฉพาะในยุคที่แล้วมานี้ บางทีถึงกับมีการพูดว่าวิทยาศาสตร์รับใช้อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมมีอิทธิพลมากนะ วิทยาศาสตร์ก็อ้างว่าฉันนี่แหละเป็นตัวที่เปิดทางให้อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้า ก็ถูก มองจากแง่ของวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์บอกว่าฉันทำให้อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้า ถ้าหากว่าไม่มีวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมจะไปไหนได้ ก็วิทยาศาสตร์ก็ทำให้สามารถประดิษฐ์เทคโนโลยีได้ เทคโนโลยีก็ทำให้อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้าไป ฉะนั้นอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์ แต่เขามองอีกทีหนึ่ง เขาหาอย่างนี้ เขาบอกว่าคืออุตสาหกรรมเป็นฝ่ายพูดบ้าง เขาบอกว่าวิทยาศาสตร์รับใช้อุตสาหกรรม เอาหละสิทีนี้ ถ้ามองอย่างนี้ ฉันจะว่ายังไง ละทีนี้ก็อุตสาหกรรมก็มีอิทธิพลส่งผลสะท้อนกลับมาทำให้ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ เบนไปในทิศทางนั้นบ้างนี้บ้าง ตลอดจนเน้นแง่ด้านนั้น อ้าวนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง พูดสั้นๆแค่นี้ก็พอ ทีนี้มองอีกอย่างหนึ่ง มองในแง่ความรับผิดชอบ มองในแง่ความรับผิดชอบความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ได้มีผลต่อมนุษย์ทั้งชีวิตและสังคม แล้วก็มีผลมีเป็นคุณและโทษต่อโลกด้วย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยตรงนั้นไว้พูดกันทีหลัง แต่โดยอ้อมที่เห็นชัดก็ผ่านเทคโนโลยี เทคโนโลยีปัจจุบันนี้มีผลยังไง ทำให้เกิดคุณเกิดโทษยังไง เดี๋ยวนี้ชักกันมากแล้ว ทีนี้ที่เราจะเห็นนั้นก็คืออย่างที่ว่าเมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น ความรู้วิทยาศาสตร์ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็ได้มีผลต่อความเชื่อถือ ค่านิยม ในทางชีวิตจิตใจ เช่นความเชื่อถือทางศาสนาอาจจะถูกกระทบกระเทือนจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ค่านิยมต่างๆในทางสังคมก็เปลี่ยนไป จากค่านิยมทางศาสนา จากทางวัฒนธรรมก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นค่านิยมทางวิทยาศาสตร์ ค่านิยมทางถ้าเข้าไม่ถึงค่านิยมวิทยาศาสตร์ก็จะมาเป็นค่านิยมในระดับเทคโนโลยีก็ได้ แล้วก็แม้แต่ในการพัฒนาประชาธิปไตยนี่ วิทยาศาสตร์ก็มีผลด้วย อย่างเราจะบอกว่าคนในสังคมประชาธิปไตยนี่จะพัฒนาได้ หรือว่าเราจะพัฒนาประชาธิปไตยได้สำเร็จ คนจะต้องมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าคนมีความคิดแบบหลงงมงายแล้วการพัฒนาวิทยาศาสตร์ก็ไปไม่ได้ดี อย่างได้ข่าวได้ทราบได้ยินบ้างเหมือนกันว่า นายกรัฐมนตรีท่านนี้ก็พูดถึงเรื่องที่ว่าในระบบประชาธิปไตยจะต้องให้คนมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ อะไรจะต้องให้การศึกษาด้านนี้ อันนี้ก็เพราะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับเรื่องของความเป็นไปของวิถีชีวิตของมนุษย์และสังคม ซึ่งวิทยาศาสตร์นี้ส่งผลสะท้อนมามาก มีทั้งข้อดีข้อเสีย อย่างการที่โลกและอารยธรรมของมนุษย์เจริญก้าวหน้ามาจากยุคเกษตรกรรมมาสู่ยุคอุตสาหกรรม แล้วก็กำลังจะก้าวเข้าหรือในสังคมที่พัฒนาแล้ว เขาบอกว่าเขาก้าวเข้าแล้วสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร หรือข่าวสารข้อมูลเนี่ย อันนี้มันเป็นจากอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ผ่านเทคโนโลยีเป็นอันมาก ทำไมเราจึงผ่านเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรมได้ อุตสาหกรรมมาเป็นสังคมข้อมูลข่าวสารเนี่ย ถ้าวิทยาศาสตร์ไม่เอื้อแล้วไปได้มั๊ย เพราะฉะนั้นมันมีผลต่อโลกมนุษย์มาก จนกระทั่งมาถึงปัญหาปัจจุบันที่เราบอกว่าธรรมชาติแวดล้อมเสียอะไรต่างๆ จนเป็นภัยอันตรายต่อโลกมนุษย์มาก อันนี้ก็มีผลสะท้อนจากความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ด้วยซึ่งตอนนี้แทนที่จะเป็นผลในแง่บวกก็กลายเป็นผลในแง่ลบ แล้วตกลงว่ามีทั้งคุณและโทษ เพราะฉะนั้นในเมื่อกิจกรรมของมนุษย์ทุกอย่างมันมีอิทธิผลมีผลกระทบต่อกัน แล้วก็ในที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสังคมมนุษย์ทั้งหมดอย่างนี้ มันจำเป็นที่เราจะต้องมามองดูซึ่งกันและกัน เพราะว่าเรามีความสัมพันธ์ต่อกัน ถ้าเราไม่เข้าไปพูดสังสรรค์กันแล้ว ไอ้ประโยชน์ที่จะได้แก่มนุษยชาติมันก็อาจจะไม่เกิด แล้วก็ตัวเองก็ไม่ได้รับประโยชน์นั้นด้วย เพราะว่าถ้าหากว่าไม่ให้เขามามอง เราก็อาจจะเพลินอยู่ในวงแคบๆ ของเรา แล้วก็มองแง่เดียวโดยไม่รู้ว่าขณะนี้เราได้ส่งผลอะไรที่ทำให้เกิดขึ้นในโลกมนุษย์ เราได้เป็นตัวอิทธิพลที่ส่งผลกระทบอะไรต่อชีวิตและสังคมมนุษย์บ้าง นี้เมื่อให้คนอื่นมามองดูนี้เขาก็จะ เราก็จะได้รู้ว่าคนอื่นเขาเห็นเราอย่างไร แล้วก็จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์นั่นเอง คือพูดไปแล้วผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็คือวิทยาศาสตร์นั่นเองมากที่สุด แล้วถ้าเรามามองในแง่ว่าปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตร์เองเจริญก้าวหน้ามาถึงจุดหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในการที่จะพัฒนาต่อไป การที่ให้วงการอื่นมามองดูนี้ก็อาจจะได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เองด้วย อย่างน้อยเราก็ได้รู้ถึงปัญหาความเป็นไปในสังคมมนุษย์นี้ ที่เราจะต้องมีส่วนช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันสร้างสรรค์ต่อไปด้วย อันนี้ก็ขอพูดถึงเหตุผลไว้ ก็กินเวลาไปมากมายแล้ว ต่อไปนี้ก็จะมาพูดถึงเรื่องของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ต่อไป นี้ในการที่จะพูดถึงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ต่อไป ว่าต่อไปจะพัฒนาอย่างไร เราก็ต้องพูดถึงความเป็นมาในอดีตก่อน ว่าที่ผ่านมานั้นพัฒนามาอย่างไร เมื่อพูดถึงพัฒนามาอย่างไรแล้ว จึงจะพูดว่าแล้วทีนี้ต่อไปเราจะพัฒนาไปอย่างไร ต้องเข้าใจอดีตความเป็นมาที่เป็นพื้นฐาน เมื่อชัดแล้วเราจึงจะมองเห็นภาพ เราจึงจะเห็นจุดเห็นแง่เห็นมุมที่จะทำกันต่อไปได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะพูดจะว่าจะพัฒนาวิทยาศาสตร์อย่างไรต่อไป ก็มาดูว่าวิทยาศาสตร์ได้พัฒนามาแล้วอย่างไร แต่นี้เมื่อกี้นี้ขอย้อนกลับไปนิดหนึ่ง คือได้บอกว่ายอมรับกันแล้วว่าวิทยาศาสตร์นั้นได้ก่อคุณประโยชน์แก่สังคมมนุษย์เป็นอย่างมาก ทีนี้คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ถ้าพูดให้ถูกแล้ว เท่าที่มองเห็นเห็นกัน ที่คนทั่วไปเข้าใจที่บอกว่าวิทยาศาสตร์ได้ก่อคุณประโยชน์แก่สังคมมนุษย์เป็นอย่างมาก เวลาคนมองเห็นเนี่ยที่จริงไม่ใช่เป็นคุณประโยชน์ของวิทยาศาสตร์เองหรอก เพราะอะไร เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเพียงตัวความรู้ ไอ้ที่ก่อคุณประโยชน์ทำความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคมมนุษย์มากเนี่ย ที่จริงเป็นประโยชน์ของเทคโนโลยี เท่าที่มนุษย์ธรรมดามองเห็นนะ ที่เราเห็นๆแล้วก็พูดกันนี่ ที่บอกเป็นประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ ที่จริงเป็นประโยชน์ของเทคโนโลยี เป็นแต่เพียงว่าเทคโนโลยีนั้นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เอื้ออีกทีหนึ่ง ฉะนั้นในที่นี้มีข้อสังเกตที่พูดกันขึ้นมานี้ก็เพื่อให้เป็นแง่ที่จะสะดุด ว่าเดี๋ยวนี้เรามีความสับสนกันมากในความหมายของวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี เวลาพูดถึงคำว่าวิทยาศาสตร์เนี่ยคนจำนวนมากมองที่เทคโนโลยี ฉะนั้นจะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดว่าอันไหนเป็นวิทยาศาสตร์ อันไหนเป็นเทคโนโลยี สำหรับผู้ที่เรียนวิทยาศาสตร์แล้วก็คงจะเข้าใจ วิทยาศาสตร์คืออะไร ตัววิทยาศาสตร์ที่แท้ที่เป็นตัวความรู้ การเพียรพยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แล้วก็วิทยาศาสตร์ประยุกต์นั่นอีกตอนหนึ่ง นี่หละตอนนี้ที่จะมาต่อกับเทคโนโลยีในการที่เอาความรู้ของวิทยาศาสตร์นั้นมาใช้สร้างสรรค์ทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์อีกทีหนึ่ง อันนี้ก็แยกกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี เวลาเราพูดถึงความเจริญก้าวหน้าก็ตาม เรื่องคุณประโยชน์อะไรนี่เราต้องแยกตรงนี้ให้ชัดด้วย ว่าอันไหนเป็นของส่วนไหน นี้ประการที่ 2 ที่ว่าเทคโนโลยี เอาละเราตกลงให้เป็นเทคโนโลยีนี่ตามภาพที่คนทั่วไปเข้าใจ ว่าเทคโนโลยีนี่ก่อคุณประโยชน์อย่างมากแก่สังคมมนุษย์นั้น คุณค่านี้ยังเป็นที่น่าสงสัยในปัจจุบัน เป็นคุณค่าที่ถูกสงสัยมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้เริ่มมีฝ่ายที่ต่อต้านและมีปฏิกิริยามากขึ้น จนกระทั่งคนบางพวกนี้ในสังคมที่พัฒนาแล้วนี่เป็นคนที่เป็นฝ่ายต่อต้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ถึงขนาดที่ตั้งกลุ่ม ตั้งชมรม ตั้งสมาคมหรืออะไรที่ไม่ยอมรับเทคโนโลยี ไม่ยอมใช้เทคโนโลยีเลย เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ก่อโทษให้แก่สังคมมนุษย์ จนกระทั่งจะพาสังคมมนุษย์และอารยธรรมไปสู่ความพินาศ อันนี้ก็อาจจะเป็นสุดโต่งหรือไงก็แล้วแต่ แต่ว่าก็เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่ได้เกิดขึ้นแล้ว อันนี้ประการที่ 3 ก็จะต้องถามว่า ถ้าหากประโยชน์ที่พูดมานั้น เป็นประโยชน์ของเทคโนโลยีแล้ว ตัวประโยชน์ของวิทยาศาสตร์นั้นอยู่ตรงไหนแน่ อันนี้เป็นคำถามอันหนึ่งที่ท่านจะต้องตอบให้ได้ หรือว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะอะไรเพราะวิทยาศาสตร์บอกตัวเอง บอกแก่ใครๆ บอกว่าฉันเป็นศาสตร์ที่ปราศจากคุณค่า วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ปราศจากคุณค่า ประโยชน์นั้นเป็นคุณค่าอย่างหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นวิทยาศาสตร์ก็เป็นศาสตร์ที่ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าไม่มีคุณค่า แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องพูดกันต่อไป แล้วท่านทั้งหลายจะต้องจับให้ได้ว่าตัวประโยชน์ของวิทยาศาสตร์อยู่ทีไหน ต้องตอบให้ชัดด้วย แต่ตอนนี้เพื่อความสะดวกมาตกลงกันไว้พลางก่อนว่า ที่ปัจจุบันคนจำนวนมากกำลังมองในแง่ร้ายมากขึ้น ว่าวิทยาศาสตร์อาจจะทำลายล้างโลกและมนุษยชาติได้นั้นที่จริงเป็นเรื่องของเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์บอกว่าฉันหาให้แต่ตัวความรู้ ใครจะเอาไปใช้อย่างไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็พูดอย่างนี้คือไม่รับผิดชอบ เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ไปทำเอง อันนี้แต่ฝ่ายโน้นเค้าบอกว่า ถึงยังไงไอ้ตัววิทยาศาสตร์ก็เป็นตัวเอื้ออำนวย คือเอื้ออำนวยตัวความรู้ที่ทำให้เขาไปใช้