แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
(คำถาม) ฆารวาสหรือญาติโยมที่ผมรู้จักหลายคนได้อ่านผลงานของท่านเจ้าคุณมาเยอะนะครับ ผลงานของท่านเจ้าคุณก็เป็นร้อยๆเล่มนะครับ สมมรติว่าเขาต้องเลือกสักสามถึงห้าเล่ม ไว้อ่านเป็นประจำ ญาติโยมคนนี้ก็ถือศีลห้าอยู่แล้ว สิ่งที่เค้าถามก็คือว่า ถ้าจะไปถึงเรื่องสมาธิหรือเรื่องปัญญา
(ตอบ) ก็ตอบยากเหมือนกันนะ บางทีก็ไม่ได้นึก พองานมาถึงก็ทำไป หนังสือจำนวนมากไม่ได้เกิดจากผมคิดจะพิมพ์ สมัยก่อนยังออกไปพูดข้างนอก เมื่อพูดไปแล้ว ผู้จัดการนั้นก็บอกว่า จะขอพิมพ์อันนี้ แล้วจะส่งลอกเทปไปให้ตรวจ ก็ลอกเทปส่งมา ก็ตรวจกันไป แล้วเขาก็ทวงๆบางทีเขาก็มีงานกำหนด เมื่อวันนั้น วันนี้ ก็ทำให้เสร็จให้ทันแล้วก็พิมพ์ ก็เป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าภาพ คือผู้จัดงานนั้นเอง หนังสือจำนวนมากก็จะเป็นแบบนั้น คือไปในงานนั้น เจ้าของงานก็ขอพิมพ์ เรื่องมันก็ออกมาอย่างนี้ แม้แต่ว่าจะพูดเรื่องนี้ เจ้าภาพเขาก็ขอเรื่องนี้อะไรแบบนี้ เขากำหนดชื่อเรื่องมา นิมนต์พูดเรื่องนี้ ที่พูดเรื่องนั้นก็เป็นไปตามประสงค์ของผู้จัด เสร็จแล้วจะพิมพ์ก็เป็นไปตามประสงค์ของผู้จัดอีก หนังสือที่ตัวเองคิด ที่จะเขียนก็พุทธธรรม พจนานุกรมพุทธศาสน์อย่างนี้ ก็มีหนังสือที่เป็นงานเขียนจริงๆก็มีพวกนี้ ส่วนมากแทบทั้งหมด จะเป็นงานจากบทลอกเทป ถอดจากเสียง เขียนโดยตรงนี้ ยิ่งยุคหลังแทบเป็นไปไม่ได้ มีน้อยมาก มีบ้าง แต่น้อย เพราะฉะนั้น ตามเหตุผลที่ว่าอย่างนี้ หนังสือเหล่านั้นมันก็เป็นการสนองวัตถุประสงค์ในแต่ละสายในแต่ละด้าน แต่ละวงงาน หรือวงวิชาการ มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องของหลักการส่วนรวมทีเดียว เหมือนอย่างการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็เป็นเรื่องของคุณหมอประเวศน์ เป็นผู้ตั้งชื่อ เป็นผู้นิมนต์ อย่างนิติศาสตร์แนวพุทธ นี่ก็เป็นเรื่องของอัยการสูงสุดเป็นผู้นิมนต์ ดร.คณิต ณ นคร ท่านเป็นผู้นิมนต์เอง และก็เป็นความประสงค์ของท่าน เสร็จแล้วท่านก็ให้คนของท่านลอกเทปมา แล้วก็ส่งมาบอกว่าเดี๋ยวพิมพ์ ก็ทำตามที่ท่านต้องการ เรื่องอื่นๆก็จะเป็นทำนองนี้ หรือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ก็เป็นเรื่องของธรรมศาสตร์ จัดงานอายุหกสิบปีหรือไงของ ดร.ป๋วย ก็นิมินต์พูดในวันเกิด ก็เป็นเรื่องตามที่เจ้าภาพต้องการ อย่างนี้นะ มันก็เป็นเรื่องแต่ละด้านๆไปเลย นิติศาสตร์แนวพุทธ แล้วก็มีการพัฒนาที่ยั่งยืน มีอะไรๆแนวพุทธอีกจำไม่ได้แล้ว หรือศิลปศาสตร์แนวพุทธ หรือเปล่าไม่รู้อันนั้น เป็นคณะศิลปะศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็เกิดขึ้นมาแบบนี้ ก็กลายเป็นเรื่องของวงวิชาการแต่ละสายแต่ละด้านไป ถ้าเอาแบบที่ครอบคลุมก็ต้องอย่างที่ว่า มุ่งไปที่หลักธรรมเลย ก็พุทธธรรม ก็พัฒนามาเป็นฉบับขยายความ ที่มีจำนวนหน้าราวๆพันหน้า แล้วก็ฉบับเดิมที่มีการปรับเพิ่ม เป็นฉบับเล็กลงไปอีก ถ้าจะให้อ่านคลุมก็อ่านพุทธธรรมสิ ทีนี้พุทธธรรมก็เลือกได้ ก็อ่านฉบับเดิมเล็กหน่อย หรืออ่านฉบับปรับปรุงขยายความก็ได้ ถ้าอย่างเห็นว่าเล่มใหญ่มันหนาเกินไปมากไปก็อ่านเล่มเล็กหน่อย เล่มฉบับเดิม อย่างเล่มหนึ่งที่อาจจะครอบคลุมหลักพอสมควรก็อย่างเล่ม ทุกข์สำหรับเห็น สุขสำหรับเป็น พอชื่อเดิมคือแก่นแท้ของพุทธศาสนา อันนั้นเป็นกรมการศาสนานิมนต์ ทางนั้นท่านจะตั้งชื่อเรื่องมาด้วยหรือยังไง ผมก็จำไม่แม่น พอออกมาเป็นเล่มก็คือ แก่นแท้ของพุทธศาสนา อันนั้นกรมศาสนาเขาขอพิมพ์ อันนั้นก็มีความครอบคลุมหลักอยู่พอสมควร ชื่อมันก็บอก เล่มอื่นก็ อย่างเรื่องความสุขก็เป็นวิธีเข้าถึงพระพุทธศาสนาโดยตั้งเป้าในแง่ความสุขก็ได้ เพราะอย่างที่เคยพูดว่าพุทธศาสนานี้ สามารถจะพูดสาระสำคัญออกในแง่ต่างๆ แม้แต่ที่ว่าความหมายของพุทธศาสนาคืออะไร พูดได้ตั้งหลายอย่าง แต่จุดบรรจบคืออันเดียวกัน มองลึกลงไปแล้วความหมายก็อันเดียวกัน อย่างที่พูดครั้งที่แล้วเนี่ย เรื่องความสุข ว่าไปในแง่หนึ่งมันก็ครอบคลุมนะ เพราะว่าเมื่อมองพระพุทธศาสนาก็เป็นการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขในระดับต่างๆ พอถึงความสุขในระดับสูงสุด ที่เป็นความสุขที่เป็นอิสระ พอมันไปถึงจุดหมายสุขมันก็ต้องมีสันติ มีวิมุติ หลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากทุกข์ มันก็ต้องมีนิพพานนั่นเอง จึงจะเป็นสุขได้ จริงอย่างนั้นนั่นแหละ นี่ก็เป็นอิสรภาพ อยู่ในนี้เสร็จ ความสุขแท้ก็ต้องเป็นอิสระด้วย มันก็เลยไปบรรจบกันหมด เพราะฉะนั้นเราจะพูดกันในแง่สุข ในแง่วิสุทธิ์ วิมุติ ในแง่สันติ ในแง่นิพพาน ก็อันเดียวกันหมด แล้วคำเหล่านี้ก็เป็นไวพจน์ หรือที่ถือว่าเป็นความหมายของนิพพานทั้งนั้น ชื่อนิพพานนี่เยอะเหลือเกิน เคยอ่านใช่ไหม ชื่อนิพพานเรียกได้เป็นร้อยเลย ต้องศึกษาแต่ละชื่อ บางชื่อมันยากสำหรับคนสมัยนี้ แต่เป็นคำที่คนสมัยนั้นชอบใจหรือมันลึกซึ้งสำหรับจิตใจเขามาก แม้แต่คำว่านิพพานเอง ในความรู้สึกของคนสมัยนั้น ก็คือพระพุทธเจ้าเนี่ยทรงจับเอาคำที่ดีที่สุดแล้ว บางคนเขาได้ยินคำว่านิพพาน มันก็หมายความว่าหมดทุกข์หมดร้อน สบายใจชื่นใจ เหมือนอย่างที่เคยพูด ท่านบอกว่าให้พูดถึงเรื่องนิพพานสำหรับชาวบ้านหน่อย เหมือนกับว่าชาวบ้านไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยอยากถึงนิพพานเลย หนึ่งก็คือไกลตัว สองเขาก็รู้สึกว่าเป็นอีกอย่างที่ตรงกับความรู้สึกชอบใจเลย ทั้งไกล ทั้งไกลจากความชอบใจ อย่างคุณมีลูก แหม ไม่เอาใจใส่เล่าเรียน ประพฤติก็ไม่ดี หนีไปเที่ยวกับเพื่อน น่ากลัวจะไปติดยาเสพติดด้วย นี่ก็เป็นเรื่องเดือดร้อนใจของพ่อแม่เหลือเกิน ไม่มีความสุขเลย ใช่ไหม อยู่มาวันหนึ่งเนี่ย ลูกเนี่ยกลับใจ มาประพฤติดีแล้วก็บอกพ่อแม่ด้วยความเด็ดขาด แล้วก็ทำให้พ่อแม่มั่นใจว่า ไม่ประพฤติเสียหายจะตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ แล้วแถมยังรักพ่อรักแม่ แสดงออกให้เห็นชัดเจน เนี่ย พ่อแม่นิพพานเลย ภาษาสมัยนั้นใช้อย่างนี้ ดีไหมครับอย่างนี้ นิพพานก็คืออย่างนี้ คือหมายความว่ามีทุกข์มีร้อนมีอะไรขุ่นข้องหมองใจระคายอยู่ มันโล่งหมดเลย ชื่นใจเต็มที่เลย อย่างนี้เรียกว่านิพพาน เข้าใจไหมฮะ มันหมดอะไรทุกอย่างที่มันไม่ดี จิตมันเต็มเปี่ยมเลย ท่านจึงใช้คำบางครั้ง ติโต แปลว่าผู้อิ่มแล้ว อิ่มหรือเต็ม โปร่งโล่ง เบาสบาย สงบ เคยวุ่นวายเดือดร้อนใจก็สงบหมด (มันเลยปิติขึ้นไป?) ปิติก็คือได้สมปรารถนา ต่อจากปิติสมปรารถนา ได้สมจริงก็จะสุข ทีนี้สุขมันก็เป็นเฉพาะเรื่องๆ แต่ที่มันเป็นเรื่องใหญ่ มันโล่งไปเลย มันหายหมด หมดความเป็นปัญหาเลย สิ้นปัญหาว่างั้นเถอะ อันนี้เป็นเพียงยกตัวอย่างในกรณีเล็กๆ เนี่ย ชีวิตจิตใจที่มันหมดความระคายเคือง หมดปัญหา วางตัววางใจกับทุกสิ่งทุกอย่างลงตัวหมด ปิตินี่ก็คือ ได้สมปรารถนา ปิติแปลว่าอิ่มใจ กายเราหิวเราก็ได้กินอาหาร เราก็อิ่มใช่ไหม ก็อิ่มกาย ทีนี้ใจเราเนี่ย เราก็มีความปรารถนาอะไรบางอย่าง หิว พอได้มาก็อิ่มใจใช่ไหม ต่อจากนั้นก็สุข เคยฟังคำเปรียบเทียบใช่ไหม หนึ่งความต่างระหว่างปิติกับสุข เคยไหม เล่าให้ฟังอีกที ท่านก็อุปมาให้ฟัง ฟังอุปมาแล้วจะทำให้เราเข้าใจชัดอย่างน้อยก็มองเห็นภาพ บอกว่า มีคนหนึ่ง เดินทางมาท่ามกลางแดดร้อน ร้อนมากๆอย่างกับทะเลทราย ทางก็ไกลไม่รู้เมื่อไรจะถึง ร้อนก็ร้อน หิวน้ำก็หิวน้ำ แห้งโหยเหลือเกิน ก็เดินทางมาอย่างนี้ เหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย แล้วใจก็หวิวโหวงไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไร พอเดินมาถึงจุดหนึ่ง มองเห็นข้างหน้ามีคนเดิน คล้ายๆคนเดินทางสวนมา ตอนนี้ชักดีใจนิดๆแล้ว ดีใจว่า ยังไงๆ ก็จะได้ข่าวมีทางถามว่า มาจากชุมชนหรือบ้านหรือมีเมืองอะไรอยู่ใกล้ๆ อย่างน้อยก็อาจจะรู้ว่าที่นี่มันเป็นที่ไหน มันมีทางที่จะได้รู้อะไรขึ้นบ้าง เนี่ยเริ่มดีใจขึ้นหน่อยละ เนี่ยแหละ ปิติชักเกิดละ พอเขาเดินใกล้เข้ามาแล้ว ปิติก็จะมากขึ้นๆ แต่มันยังไม่ชัดหรอก แต่ยังไม่ชัด เพราะตอนนี้ ความหวังก็จะมีปิติ หวังก็คือหิว มันยังไม่แน่ใจเพราะไม่รู้ว่าคนนี้เป็นใครมาจากไหน จะให้ข่าวที่มั่นใจได้หรือเปล่า ปิติยังไม่ชัดขึ้นมาได้ พอเดินเข้ามาใกล้ๆก็ได้ทักทายปราศรัย ก็ถามไถ่ มาจากไหน จะไปไหนกัน ต้นทางที่ผ่านมานี้ เห็นอะไรที่เป็นแหล่งน้ำอะไรไหม คนที่เดินสวนมาก็บอกว่า โชคดีคุณ ไม่นานแล้ว ดูให้ดี จ้องไปไกลๆ เห็นอะไรตะคุ่มๆหน่อยไหม นั่นแหละ ผมมาจากนั้น ที่นั่นเป็นแหล่งน้ำใหญ่เลย เป็นสระโบกขรณี อีกไม่นานแล้วคุณไปถึงนั่น อีกไม่นาน จะได้หายร้อน หายทุกข์ หายลำบากสักที จะได้กินน้ำกินผลไม้อย่างน้อยก็สบาย พอได้ยินอย่างนี้ ปิติเกิดเลย ดีใจขึ้นมา ทีนี้ก็มุ่งหน้าไป ยิ่งใกล้เข้าไปก็เห็นชัดขึ้น พอใกล้เข้าไป ต้นไม้ก็ใบเขียวใช่ไหม ทีนี้แน่ใจเลย ปิติมากเลย ปิติมากขึ้นทุกทีๆ จนกระทั่งไปถึงที่นั่นเลย พอถึงที่นั่นก็เข้าไปที่มีสระโบกธรณี มีต้นไม้ มีผลไม้ ตอนนี้ปิติ ไปจนกระทั่งถึงฝรั่งสระโบกธรณี ตอนนี้ตัวก็ร้อนแล้วก็หิวน้ำเหลือเกิน นั่นแหละ ปิติเต็มที่ตอนไปถึงสระโบกธรณี แล้วก็กระโจนโครมลงไปในน้ำ พอลงน้ำได้เย็นสบายได้ดื่มน้ำนั่นสุข อย่างท่านบอก พอจะเห็นไหม ปิติกับสุขมันต่อเนื่องกันอยู่ ปิตินี่ก็สมใจหวังแต่มันยังไม่ได้ผลที่ต้องการแท้ พอได้ผล เสวยผล ก็สุขเลย ก็ได้สนองความต้องการ เพราะสุขนี้มันจะสงบ ปิตินี้มันจะพุ่งๆ มันจะแรง เช่นว่า ปิติแบบขนลุกขนพอง ซาบซ่า น้ำตาไหล อิ่มใจ ปลาบปลื้ม น้ำตาไหล มันก็ร้องไห้เลยนะ บางคนนี่ แทบจะกระโดดเลย บางคนสอบได้ไปอ่านประกาศ พอสอบได้นี่ แหม ตัวลอยเลยใช่ไหม นี่คือพวกปิติอิ่มใจ ตัวลอย ปิติชนิดหนึ่งตัวลอย ปิติชนิดหนึ่งซาบซ่านไปทั้งกาย ท่านจึงแบ่งปิติไว้ 5 ชนิด ปิติแล้วก็มาสุข พอสุขสงบแล้วทีนี้ก็เป็นปัจจัยแก่สมาธิ จึงได้พูดถึงองค์ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเสมอให้ปลูกฝังไว้ในใจ หนึ่งก็ให้มีปราโมทย์ หรือมีพื้นใจเป็นปราโมทย์ มันก็ไม่มีเหตุให้ปิติตอนนี้ แต่ว่าเป็นพื้นใจ เป็นใจที่ร่าเริงเบิกบาน แล้วก็ต่อไปก็ปิติ ทำอะไรไป แม้แต่กวาดบ้านเช็ดบ้าน ทำไปมันก็ก้าวหน้าไปเนี่ย ถ้าวางจิตใจเป็นนะ มันก็จะได้ปิติ ทีละน้อยๆ แล้วใจมันก็จะชิน เหมือนกับว่ามีวาสนา ต่อไปก็เป็นคนที่เกิดปิติง่ายขึ้น พอปิติง่ายขึ้นก็จะสุขง่ายขึ้นด้วย พอปิติแล้วต่อด้วยสุข ต่อด้วยปัสสัทธิ ก็คือสงบลง ผ่อนคลาย พอคนมีปิติแล้วก็จะผ่อนคลาย ตอนนี้เหมือนกับว่าท่านแยกให้ละเอียดอีก ให้เห็นชัดยิ่งขึ้น ปกติเราก็จะพูดว่าปราโมทย์ แยกไปอันหนึ่ง ปิติบางทีก็พูดต่อกับสุข แต่ตอนนี้ท่านแยกละเอียดเลย ปราโมทย์ ปิติแล้วยังแทรกปัสสัทธิไอ้ตัวเชื่อมกลาง เป็นเชื่อมระหว่างกายกับใจ เวลาจิตผ่อนคลาย กายก็ผ่อนคลายด้วย ปัสสัทธิแล้วก็สุข แล้วก็สมาธิ สมาธิก็คือจิตได้ที่ จิตอยู่ตัวได้ที่ จะทำอะไรก็ได้ผลหมด เรียกว่า มันเป็นตัวของมันเองแล้วตอนนี้ ไม่มีใครกวนมันแล้ว ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิก็คือมีอะไรกวนมัน ระคายมัน พอมันได้ที่ทีนี้มันทำงานได้เต็มที่ สมาธิจึงสำคัญมาก สมาธิทีนี้ท่านก็บอกว่า ใช้ให้ถูกนะ ไม่ใช่ว่าได้ที่แล้วสบายเลย นอนซะอีก พอสบายแล้วก็มีความสุข ไม่มีอะไรกวนเราแล้ว ก็สุขที่สุด ก็เลยไปติดตรงนี้ซะอีก ท่านก็บอกเนี่ย ถ้าคุณเข้าตัวนี้มาขี้เกียจแล้ว แล้วก็ประมาท บางพวกก็จิตได้ที่มีกำลังดี ก็ไปมุ่งฤทธิ์ ปาฏิหาริย์อะไรไป แล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้สมควรแก่ความเป็นมนุษย์ มนุษย์นี่ถึงอาจจะต้องพัฒนาปัญญาให้ได้ ท่านก็บอกว่า จิตได้ที่แล้ว ท่านเรียกว่ากัมมะนียังคือจิตที่เหมาะกับงาน เหมาะกับการใช้งาน พระพุทธเจ้าก็ทรงบรรยายจุดนี้ ตอนที่ทรงจะตรัสรู้ไง พระองค์ก็บำเพ็ญเข้าฌาน ถึงฌานที่สี่ จิตถึงกัมมะนีญาน พระองค์ก็น้อมจิตไปทางปัญญาแล้วก็เจริญปัญญาขึ้นมา ก็ตรัสรู้ เพราะฉะนั้นก็จุดนี้ พอเราเอาไปใช้ทางปัญญาเนี่ย ในแง่ของความสงบเราก็เอามาช่วยเสริม แล้วก็ในแง่ของกำลัง ก็เอามาใช้เสริมในการทำงานนั่นเอง เพราะว่าจิตที่จะทำงานได้ดีมีสมาธินั่นก็คือจิตที่สงบ ไม่มีอะไรกวน เป็นตัวของตัวเอง ทำงานได้เต็มที่ด้วย แล้วก็มีกำลังเต็มที่ด้วย ถ้าใช้งานถูกทางก็ใช้ทางปัญญาก็เลยได้ผลดี ก็เลยเหมือนกับจุดบรรจบ เรื่องหลักธรรมต่างๆก็บางทีไม่ต้องมากหรอกครับ บางทีพระพุทธเจ้าสอนบางคนก็ตรัสแค่ไม่กี่คำ เขาก็ตรัสรู้แล้วใช่ไหม โยมก็ไม่ต้องไปเคร่งครัดว่าต้องเล่มไหนนะ บางทีไปเจอเล่มที่เหมาะอัธยาศัยของตัวเองเข้า ดีกว่าเล่มที่บรรยายหมดอีกเชื่อไหม ไปอ่านนั่งอ่าน ตัวเองจะจับหลักพุทธศาสนาเอาให้หมดทั้งหมด ไปนั่งอ่าน ตัวเองก็ไม่เคยรู้จุดเกี่ยวกับพุทธศาสนาเลย ก็เหมือนกับเริ่มคลำใหม่ ก็เริ่มไปทีละเล็กละน้อย มันยังไม่ถึงจุดที่ประสานกับภูมิหรืออินทรีย์อะไรของตัวเองเลย ไม่เข้ากันเลย ฉะนั้นถึงไปอ่านหลัก ก็ยังไม่ได้อะไรชัดเลยใช่ไหม สู้คนที่ว่าไปอ่านหนังสือแม้แต่เพียงไม่มากเท่าไร แต่มันไปเจาะตรงกับพื้นของตัวเองนะ ระดับอินทรีย์กับเรื่องของแง่มุมของอธิมุติ สองอย่างนี้ ที่บอกมาเคยเล่าพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนเป็นพระศาสนาได้เนี่ย ทรงมีทศพลญาณ เราเรียกกัน เราเรียกเป็นภาษาไทย ภาษาบาลี ท่านไม่เรียกหรอก ท่านเรียก (ตะถาคะตะพะละญาณ) มีเลขว่า 10 ตัด ตถาคต ในฐานะเป็นของพระพุทธเจ้าก็เหลือ พละญาณ ญาณที่เป็นกำลัง แล้วมีสิบก็เติม ทศ เป็นทศพลญาณ ทีนี้ ทศพลญาณก็ให้รู้กันในตัวว่า กำลังในที่นี้หมายถึงญาณ ก็ตัดคำว่าญาณอีก เหลือทศพล ก็เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า ถ้าเรียกตัวหลักธรรมก็เป็นทศพลญาณ เรียกองค์พระพุทธเจ้าในฐานที่ทรงมีญาณสิบนี้ ก็เรียกสั้นๆว่า พระทศพล ญาณสิบประการนี้ ผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีก็ทำงานสอนไม่ได้ ทีนี้ญาณสิบประการก็มีหลายข้อ แต่มีสองข้อที่รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่อย่างนั้นสอนเขาก็เจาะจุดไม่ถูก ให้ทุกคนมาเริ่มอย่างเดียวกันหมดไม่ได้ พื้นฐานอะไรก็ไม่เท่ากัน แนวโน้มที่จะเข้าใจก็ไม่เหมือนกัน แต่ละคนพระพุทธเจ้าก็ต้องทรงทราบ หนึ่งที่ว่า อินทริยปโรปริยัติญาณ แปลว่า ญาณหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีอินทรีย์ไม่เท่ากัน มีศรัทธาไม่เท่ากัน มีปัญญาไม่เท่ากัน มีสติไม่เท่ากัน มีกำลังทางจิตทางสมาธิอะไรไม่เท่ากัน เรียกว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไม่สม่ำเสมอกัน ทีนี้พระพุทธเจ้าต้องทรงทราบความแตกต่างกันระหว่างบุคคล เช่น เอาง่ายๆ ระดับปัญญาเนี่ย อินทรีย์ต่างกัน สอนเรื่องที่คนนี้รู้เรื่อง สอนอีกคนรู้เรื่อง สอนเรื่องที่คนนี้พอจะรู้เรื่อง คนนี้รำคาญ ก็ไม่รู้จะพูดทำไม ดังนั้น ความแตกต่างของอินทรีย์เนี่ยสำคัญมาก แต่ทางอินทรีย์อย่างเดียวไม่พอ นานาธิมุตติกญาณ ญาณหยั่งรู้ความแตกต่างของอธิมุติ ก็พวกแนวโน้มความสนใจอัธยาศัย แม้แต่คนอินทรีย์ระดับเดียวกัน เรียนมาระดับเดียวกัน มีปัญญาระดับเดียวกันก็สนใจคนละเรื่อง คนละแง่ คนละมุม บางทีคนนี้สนใจธรรมชาติ คนนี้สนใจดนตรี คนนี้สนใจเรื่องประเภทตลก คนนี้สนใจเรื่อง ผจญภัยอะไรอย่างนี้ใช่ไหม นี่ไม่เหมือนกันเลยใช่ไหม คนระดับอินทรีย์อย่างเดียวกัน ทีนี้ต้องรู้ทั้งสองแบบ เรียกว่าความแตกต่างของบุคคลทั้งแนวตั้งและแนวนอน แนวตั้งก็คือระดับอินทรีย์ แนวนอนก็คืออธิมุติ พระพุทธเจ้าก็ทรงมีญาณทั้งสองข้อนี้ อย่างยวดยิ่ง อย่างสูง ฉะนั้นก็ พอพบใคร เดี๋ยวพระองค์ก็ทรงทราบว่าเขามีอินทรีย์ระดับไหน มีแนวโน้มความสนใจเป็นต้นอย่างไร แค่ว่า คนนี้มาเป็นพราหมณ์ คนนี้มาเป็นนักปกครอง คนนี้เป็นเจ้าชาย อำมาต เสนาบดี ชาวนา กรรมการ วรรณะศูทร วรรณะอะไร นี่ทั้งการที่พระองค์ ทรงทราบเฉพาะหน้า ทั้งเรื่องความรู้ในทางสังคมว่ามีวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่กันอย่างไร ความรู้ทั้งหมดมันเอามาใช้ได้ทั้งหมดเลย ถ้าเขาเป็นศูทร พระองค์ก็รู้แล้วเขาอยู่อย่างไร สิ่งที่เขาจะสนใจคืออะไร แล้วก็อินทรีย์เขาน่าจะอยู่ระดับไหน ฉะนั้นพอมา พระองค์ก็ทรงทราบ พระองค์ทรงสนทนาซักถามคุยกัน เรียกว่าคุยกันเดี๋ยวเดียวพระองค์ก็ทรงทราบว่าคนนี้มีอินทรีย์แค่ไหน มีอธิมุติสนใจแนวโน้มทางใด พระองค์ก็ตรัสให้บอกใช่ไหม มันก็ได้ผลใช่ไหม มันก็ลัดเวลาไปตั้งเท่าไร ไม่อย่างนั้นก็นั่งคุยอยู่นั่น ไม่รู้ไม่ไปไหน ดังนั้นญาณก็สำคัญ เดี๋ยวนี้ก็เน้นกันในการศึกษาในการสอน ต้องรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล จะเห็นว่าเขาไม่แยกแนวตั้งแนวนอน พูดถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ต้องอย่างนี้แยกซอยไปอีก แนวตั้งแนวนอน เป็นอย่างไรก็ดูคน ก็เอาเป็นว่า ถ้าว่าถึงหนังสือ เท่าที่ผมนึกออกตอนนี้นะ ก็มีเล่มเป็นหลักก็พุทธธรรม พจนานุกรมก็เป็นเครื่องประกอบในการเล่าเรียนศึกษาค้นคว้า ไม่ใช่ไปเรียนโดยตรง แต่บางท่านก็กลับชอบอ่าน บางท่านก็ใช้วิธีอ่านพจนานุกรม อ่านไปเรื่อยเลย ได้ไปหมวดหนึ่งก็ได้ความรู้ไปแบบหนึ่ง ถ้าอ่านไปอีกหมวดหนึ่งก็ได้อีกความรู้หนึ่ง ก็เป็นความสบายใจอย่างหนึ่งที่จะอ่านอย่างนั้น ก็ไม่ว่าอะไร บางท่านก็อ่านประมวลศัพท์ ก็ได้ความรู้ไปอีกแบบหนึ่ง ก็อ่านไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีเป้าหมายชัดเจน แต่ถ้าผมนึกออกแล้วค่อยบอกอีกที ตอนนี้ยังนึกไม่ชัดว่ามีเล่มไหนที่ประมวลความได้ดี