แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อนุโมทนาทุกท่านที่ได้เดินทางมาเยี่ยมที่วัดนี้ และก็มี(กุด-สะ-ระ-เจตนา) มีความตั้งใจดี จะมาฟังธรรม
เมื่อพูดว่าฟังธรรม ก็เป็นเรื่องหลัก เป็นเรื่องตัวความจริง ความดีความงามต่างๆ ไม่จำเพาะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ใดที่ไหนทั้งนั้น แต่เรื่องหลักกลางนี่หละสำคัญ เมื่อได้มีหลักกลางแล้วละก็ นำไปใช้กับตัวเอง เป็นบุคคลก็ตามหรือเป็นกลุ่มชนเป็นสังคมก็ตามได้ทั้งนั้น ก็ดีที่ว่าให้โอกาสพูดบอกว่าให้พูดธรรมะ ที่ให้พูดตัวหลัก เพราะว่าท่านที่มานี้ อยู่ในชมรมเกษตรกร ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับองค์กร และก็มีชีวิต มีความเป็นอยู่ แนวทางของตน ซึ่งพระก็อาจจะไม่ค่อยทราบ มีก็แต่อาตมาจะเข้าไปพูดเรื่องที่เกี่ยวกับชมรมเกษตรกรก็ความรู้ไม่พอ ให้โอกาสพูดธรรมะก็ค่อยเบาใจหน่อย นี่ได้ทราบอย่างหนึ่งว่า วัตถุประสงค์ของชมรมนี้เน้นเรื่องการพึ่งตนเอง เรื่องการพึ่งตนเองนี่ก็เข้าหลักธรรมอยู่แล้ว ทุกท่านทราบดี พอพูดว่าพึ่งตนเอง เราก็นึกถึงพุทธภาษิตว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่านี่เป็นเพียง เรายกมาท่อนเดียว ความจริงพระองค์ตรัสไว้ยาวกว่านี้ นี่ถ้าเราจะเอามาครบ เนี่ยเราก็ท่องกันไม่ค่อยไหว ค่อนเดียวสั้นๆง่ายหน่อย ความจริงที่เราท่องไว้ท่อนเดียวเนี่ยก็เพื่อไว้เป็นหัวข้อเริ่มต้นจำได้แม่น แต่เวลาเอาจริงเนี่ยเราต้องไปขยายต่อ พอเริ่มว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เราก็ไปศึกษาต่อ และก็ เมื่อศึกษาแล้วอาจจะจำให้หมดเลย ข้อความต่อจากนี้ยังมีบอกว่า โกหิ นาโถ ปโร สิยา คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้จริงแท้ และก็ยังไม่จบอีก ยังมีอีกท่อนหนึ่งว่า อัตตนา หิ สุทันเตนะ นาถัง ละภะติ ทุลละภัง บอกมีตนที่ฝึกดีแล้ว นั่นแหละ ชื่อว่าได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก ความสำคัญนี่อยู่ที่ท่อนสุดท้าย เวลาเราพูดว่าตนเป็นที่พึ่งของตนเนี่ย ถ้าเราไม่ศึกษาให้ตลอดเนี่ย บางทีไปใช้ผิดๆ ยกตัวอย่างเช่น ใครเค้าอ่อนแอ ใครเค้าคลาดแคลน เราไปเจอเขา เราก็บอกว่า พระบอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน เธอก็ช่วยตัวเองสิ ฉันจะไปช่วยทำไม เออว่างั้น ใช่ปะ เนี่ยเอาหละสิ มันก็กลายเป็นว่า ไม่ต้องช่วยกันละ ตัวใครตัวมัน นี่คือ ถ้าเราท่องท่อนเดียวเนี่ย แล้วเราไม่ศึกษาให้ดีเนี่ย อาจจะเข้าใจผิดได้ ธรรมะทุกข้อเนี่ย ปกติพระพุทธเจ้าตรัสไว้เนี่ย 1. เพื่อแสดงหลักความจริง 2. เพื่อแสดงวิธีปฏิบัติ ทีนี้การปฏิบัติเนี่ย ก็เน้นที่มองความรับผิดชอบของตน ไม่ใช่ไปซัดทอดคนอื่น ธรรมะต่างๆนี่ถ้าไปมองในแง่ เรียกร้องจากคนอื่นละก็ยุ่งหมด เสียหมดเลย อย่าง อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เราไปเรียกร้องจากคนอื่นก็คุณก็พึ่งตัวเองสิ ว่างั้นนะ ฉันไม่ช่วยหรอก นี่อย่างพระพุทธเจ้าสอนอีก เมตตากรุณาบอกว่าให้มีเมตตากรุณา ต้องมีความรักความสงสาร อยากให้คนอื่นเป็นสุข อยากช่วยให้เค้าให้พ้นทุกข์ เราก็ไปขอเงินเขา บอกคุณต้องมีเมตตากรุณาฉันนะ ว่างั้นนะ ฉันขอคุณต้องให้ อันนี้เรียกว่าใช้ธรรมะแบบว่าเรียกร้องจากผู้อื่น พออัตตา หิ อัตตโน นาโถ ก็เรียกร้องเขาบอกให้คุณต้องช่วยตัวเองฉันไม่ช่วย แต่ทีจะอยากให้มาช่วยตัว ก็ไปบอกเขาอ้างเมตตา คุณต้องช่วยฉันนะ คุณต้องมีเมตตา อย่างนี้ไม่ไหวตัวเองก็ไม่พัฒนา อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติผิด ธรรมะทุกข้อ ให้เรียกร้องจากตัวเอง ก็คือต้องรับผิดชอบ มองจากความรับผิดชอบของตนเอง อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน นี่ก็ไว้ใช้เตือนตัวเราเองว่าเราต้องพยายามพึ่งตนเอง แต่ไม่ใช่ไปซัดคนอื่น บอกว่าแกต้องพึ่งตัวเองสิฉันไม่ช่วยแกละ ว่างั้นนะ หรืออย่างเมตตากรุณา ที่ว่าเมื่อกี้ ก็ไปขอเขาให้เขาช่วยเราแล้วเวลาเค้าต้องการความช่วยเหลือ เราก็เอา อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ก็ช่วยตัวเอง เวลาเราจะขอความช่วยเหลือเขา เราก็อ้างเมตตา อย่างนี้เรียกว่าแปลธรรมะเข้าข้างตัวเองหมด ต้องมองจากความรับผิดชอบของตัวเอง เรียกร้องจากตัวเอง ก็เตือนตัวเองว่าตนเป็นที่พึ่งของตน เราต้องพยายามพึ่งตน แล้วก็มีเมตตากรุณาก็ต้องเตือนตัวเองว่าพยายามช่วยเหลือเขา ใครมีทุกข์มีเดือดร้อนก็ไปช่วย ถ้ามองจากความรับผิดชอบของตัวเอง เรียกร้องจากตนเองนี่ก็ เริ่มเดินหน้าถูกต้องละ ปฏิบัติธรรมะได้ถูก แล้วก็จะได้ฝึกตัวเองด้วย ทีนี้มองในเรื่องตนเป็นที่พึ่งของตนเนี่ย ก็ยังไม่จบเท่านั้นนะ ตอนแรกนี่ก็บอกว่าต้องมองจากความรับผิดชอบของตนเอง ใช้เตือนตัวเอง เรียกร้องจากตนเองให้พึ่งตนเอง แต่ว่ายังมีข้อที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีก ที่ว่าตนเป็นที่พึ่งของตนเมื่อกี้บอกแล้วเป็นเพียงคำนำเท่านั้นนะ บอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน เอ้ ก็ฉันไม่มีกำลังไปตกน้ำว่ายน้ำไม่เป็น บอกตนเป็นที่พึ่งของตนแล้วจะทำไง ก็ตนเป็นที่พึ่งของตนตัวเองไม่มีความสามารถแล้วจะไปช่วยตัวเองได้ไงจะพึ่งตนได้ยังไง นี่แหละจึงได้บอกว่าอย่าไปหยุดแค่ท่อนแรก ว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ท่อนนี้เป็นเพียงยกขึ้นมาสำหรับเตือนใจ เตือนจิตสำนึกเบื้องต้น แต่ตัวจริงมันอยู่ท่อนต่อไปนู้น ท่อนไหนหละ อาตมาจะสรุปง่ายๆคือหลักพุทธศาสนาเนี่ย ที่แท้ท่านเน้นที่การทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ตนเป็นที่พึ่งของตนจะไปพึ่งตนได้ยังไงเล่า ก็ตัวเองยังไม่มีความสามารถจะเอาอะไรมาพึ่งตัว ก็ต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ แล้วทำไงจะพึ่งตัวเองได้ทำไงตนเองจะเป็นที่พึ่งได้หละ ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาตัวเองขึ้นไป จุดนี้แหละที่สำคัญ ข้อปฏิบัติพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ อยู่ที่การทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ เราเพียงแต่เตือนตัวเองนะบอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน อันนี้เป็นความจริง ตนเป็นที่พึ่งของตนเนี่ย มันเป็นหลักสัจธรรมอันนึง ที่ท่านบอกต่อไปว่าคนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแท้จริงได้หละ คือคนอื่นแม้จะรักเราขนาดไหน อย่างพ่อแม่เนี่ย รักเราแทบจะตายแทนได้เนี่ย แต่ในที่สุดท่านก็ช่วยเราได้ไม่เต็มที่ ไม่ได้จริงหรอก เอาง่ายๆอย่างความรู้หรือปัญญาเนี่ยรู้แทนกันได้ไหม ไม่ได้ เขาจะรักเรายังไงก็ตามเขาก็มารู้แทนเราให้ปัญญาเรายัดปัญญาใส่สมองเราไม่ได้ เพราะนั้น ในที่สุดเราก็ต้องรู้ด้วยตนเอง เสวยสุขเสวยทุกข์นี่คนอื่นเสวยแทนได้ไหม ไม่ได้ เราต้องเสวยสุขเสวยทุกข์ด้วยตนเอง ความดีงามความสามารถทุกอย่างในที่สุดต้องทำให้เกิดมีในตนเอง แล้วเป็นของที่มายัดเยียดใส่ให้กันไม่ได้ งั้นคนอื่นก็ได้แต่มาช่วยมาเกื้อกูลมาแนะนำมาบอกวิธีให้เราฝึกตัวเองขึ้นไป แล้วเราก็พึ่งตนเองได้ ก็แค่เนี่ยแค่ภายนอกแค่ช่วยกันเวลาตกน้ำนี่ยังช่วยไม่ได้เต็มที่เลย บอกว่าพ่อแม่รักเราเหลือเกิน เพราะนั้นเราไม่ต้องฝึกว่ายน้ำหรอก ถ้าไปตกน้ำเดี๋ยวท่านก็ช่วยเราเองแหละ เอาเข้าจริงท่านก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา เกิดเหตุขึ้นมาท่านไม่อยู่ด้วยทำไง ก็ไม่มีคนช่วย ถึงแม้อยู่ในเรือลำเดียวกันไปอยู่คนละส่วน คนหนึ่งอยู่หัวเรือคนหนึ่งอยู่ท้ายเรือ ตอนที่เดินไปเดินมาเกิดเรือล่มขึ้นมาตอนที่อยู่คนละตอนก็ช่วยกันไม่ทัน ถึงแม้จะอยู่ด้วยกันก็ยังช่วยไม่ได้เต็มที่อีกแหละ ดีไม่ดีเราก็พาท่านแย่ไปด้วย งั้นถ้าเราว่ายน้ำเป็นเองย่อมดีที่สุด แต่ว่าพ่อแม่ช่วยได้ช่วยยังไง ช่วยที่ดีที่สุดไม่ใช่ไปรอช่วยตอนตกน้ำใช่ไหม ช่วยให้เราฝึกตัวเองให้ว่ายน้ำเป็น นี่แหละดีที่สุด ก็คือว่าพ่อแม่ก็เป็นห่วงลูก รักลูก ก็รีบฝึกให้ลูกว่ายน้ำให้เป็นซะ จัดเตรียมการต่างๆ ไปอาบน้ำด้วยกัน ไปว่ายน้ำด้วยกันพ่อแม่ก็ช่วย เนี่ยอย่างเนี้ยเรียกว่ารักจริง เพราะนั้นการที่จะให้เราพึ่งตัวเองได้เนี่ยก็ต้องฝึกตัวเอง แต่คนอื่นช่วยได้แต่ก็มาช่วยเกื้อหนุน เกื้อหนุนในการฝึกจัดสภาพแวดล้อมให้ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ ที่สุดแล้วดีที่สุดก็คือการฝึกตัวเองขึ้นไป เพราะนั้นพุทธภาษิตเนี่ยจึงต้องพูดให้เป็น ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแท้จริงได้ อันนี้เป็นหลักความจริงเลย ทีนี้ มีตอนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ ได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก ตรงนี้เป็นข้อปฏิบัติ หมายความว่าข้อปฏิบัติอยู่ที่ฝึกฝนพัฒนาตนเอง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของการฝึกตน เราจะพึ่งตนเองได้เมื่อเราฝึกฝนพัฒนาตัวเองให้ดี แต่ว่าพร้อมกันนั้น ท่านก็บอกว่าเราเนี่ยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว อย่างที่ว่าไม่ใช่มาเกี่ยงกันว่าแกพึ่งตัวเองนะ ตนเป็นที่พึ่งของตนเองก็พึ่งตัวเองสิไม่ใช่อะไรเอาไว้เกี่ยงกัน แต่ว่ามีไว้เพื่อจะได้เตรียมตัวฝึกตัวเองขึ้นไป แต่ในการฝึกตัวเองนั้น เราจัดระบบสังคมที่เกื้อหนุนกัน อันนี้คือเป็นความดีของการอยู่ร่วมหรือการจัดตั้งสังคม ทำไมพระพุทธเจ้าจัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา ทั้งๆที่ทรงทราบว่าทุกคนเนี่ยต้องพึ่งตัวเอง ก็ก่อนที่เขาจะพึ่งตัวเองเนี่ยเขาต้องฝึกตัวเองให้ดี เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ตั้งชุมนุมที่อยู่รวมกันของพระเป็นสงฆ์เป็นสังฆะขึ้นมาเนี่ย ก็เพื่อจัดสภาพแวดล้อม จัดครูอาจารย์ จัดเพื่อนกัลยาณมิตรต่างๆให้ เพื่อให้คนที่อยู่ร่วมกันนั้นมาเกื้อหนุนกัน มาช่วยแนะนำ มาช่วยสั่งสอน มาช่วยทุกอย่างทุกประการแหละ รวมโดยเฉพาะก็คือ ไม่เฉพาะคน ระบบการเป็นอยู่ การสัมพันธ์กัน กฎเกณฑ์กติกา ในสังคมที่อยู่ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้เท่านั้น คือเพื่อให้เกิดโอกาสในการที่เราจะได้พัฒนาตัวเอง เพราะนั้นสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน คือหนึ่งตัวบุคคลต้องมีความสำนึกที่จะฝึกตัวเองอยู่เสมอ สอง สังคมต้องจัดระบบการอยู่ร่วมกันที่มีความสามัคคี มีความเมตตากรุณา มีความเอื้อเฟื้อกัน ช่วยเกื้อหนุนกัน เป็นกาลยาณมิตรต่อกันในการที่จะให้แต่ละคนนั้น ได้โอกาสในการฝึกตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และสองอย่างนี้เรียกว่าเป็นหัวใจของระบบชีวิตที่ดีงาม ไม่ว่าจะไปใช้ที่ไหน ถ้าใช้ระบบนี้ เผื่อตัวเองต้องฝึกตัวเองให้พึ่งตัวเองได้ โดยทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อย่าไปเริ่มจบ อย่าไปจบแค่ตนเป็นที่พึ่งของตน แล้วเราก็เลยถือแต่ตัวเองว่าต้องพึ่งตนเอง จะพึ่งได้ยังไงอย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า ถ้าเราไม่มีความสามารถที่จะพึ่งตัวเองได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นที่ว่า ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ แล้วก็การที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ เราก็จัดระบบสังคมการอยู่ร่วมกันเนี่ยให้เกื้อหนุนกัน ในการที่แต่ละคนจะได้มีโอกาส พัฒนาชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น แต่ละคนเนี่ยจึงไม่แยกจากชุมชนหรือสังคมของตนเอง อาตมาคิดว่าที่เรามีชมรมอะไรต่างๆเนี่ยเราก็ถือหลักนี้ด้วย ก็พึ่งตนเองเนี่ย ก็เอาและ มองที่ความรับผิดชอบซึ่งลงไปถึงแต่ละคนเลย ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ แต่พร้อมกันนั้น เราก็ไม่ได้โดดเดี่ยว ชมรมก็คือระบบการอยู่ร่วมกัน ที่ว่าจะมาเกื้อหนุนกันช่วยเหลือกัน และก็หัวใจของการอยู่ร่วมกันก็คือความสามัคคี ในชีวิตพระสงฆ์เนี่ย พระพุทธเจ้าจึงเน้นเรื่องนี้ หนึ่ง แต่ละคนต้องมีไตรสิกขาใช่ไหม ไตรสิกขาก็คือการศึกษา พัฒนาตัวเอง ในแต่ละชีวิตแต่ละคนต้องฝึกตัวเอง เรียนรู้ศึกษาไป สอง มีสงฆ์ที่อยู่ร่วมกันเน้นความสามัคคี พระพุทธเจ้าจะตรัสย้ำเรื่องสังฆสามัคคี ถ้าใครทำให้ สงฆ์คือส่วนรวมหมู่ชน แตกแยกกันถือนี่เป็นกรรมหนัก เรียกว่าสังฆเภท สังฆเภทนี่เป็นอนันตริยกรรมเลย ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เพราะว่าเมื่อสงฆ์ชมรมชุมนุมส่วนรวมมันแตกกันไปซะแล้วเนี่ยมันก็สูญเสียโอกาส แต่ละคนก็กระจัดกระจายเสียโอกาสในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเอง เพราะนั้นมันต้องไปด้วยกัน เอาคติพุทธศาสนามาใช้นี่ใช้ได้หมด แต่ที่อาตมาพูดมาก็เป็นอันว่า สาระสำคัญก็มีเท่าเนี้ย คือว่าแต่ละคนต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง แต่ว่าแต่ละคนนั้นก็ไม่โดดเดี่ยว เราต้องจัดระบบการอยู่ร่วมกันที่เป็นชมรม เป็นชุมนุม เป็นสังคมให้ ทุกคนเนี่ยมาเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้แต่ละคนนั้นมีโอกาสได้ปัจจัยเพื่อที่จะได้พัฒนา ฝึกฝนตนเองได้ดียิ่งขึ้น พอตัวเราเนี่ย พอเราพัฒนาดีขึ้นไปเนี่ย เราก็ยิ่งกลับไปเกื้อหนุนส่วนรวมคือชุมชนของเราได้อีก คนไหนพัฒนามาก มีความรู้ความสามารถมาก หรือแม้แต่ภายนอกมีทุนทีรอนดีขึ้นแล้วกลับไปช่วยส่วนรวมช่วยเกื้อหนุนคนอื่นอีกใช่ไหม เพราะนั้นตัวเราแต่ละคนเนี่ยพัฒนายิ่งขึ้น ก็ไปเกื้อหนุนส่วนรวมสังคมอีก สังคมดีก็กลายเป็นสภาพเอื้อเกื้อหนุนให้แต่ละคนพัฒนาตัวเองได้ดี เนี่ยต้องให้ไปเป็นปัจจัยของกันและกัน ให้บุคคลกับสังคมเป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน นี้ที่มันน่ากลัวที่เป็นอันตรายมากในปัจจุบันก็คือ แทนที่มันจะมาเอื้อเกื้อหนุนกันเนี่ย มันกลับตรงข้าม มาขัดขวางกันมาบั่นรอนกัน เนี่ยดูสังคมปัจจุบันเนี่ยเป็นยังไง ปัญหามากคือว่าแต่ละคนก็จะเอาเพื่อตัวเองเอาหละสิ ไม่คิดพัฒนาตัวเองแต่คิดเอาจากคนอื่น แล้วเมื่อจะเอาแต่ละคนจะเอาก็ต้องเบียดเบียนแย่งกันซึ่งกันและกันใช่ไหม ยิ่งคนไหนเอามาก มีกำลังมีความสามารถมากก็เอาเปรียบข่มเหงคนอื่นได้มาก สังคมก็เดือดร้อนยุ่งเหยิง พอสังคมเดือดร้อนยุ่งเหยิง แต่ละคนก็ไม่ได้เป็นอันฝึกฝนพัฒนา ทำกิจการหน้าที่ของตัวเองและ เกิดอันตรายอุปสรรคไปหมด ก็กลายเป็นว่าสังคมก็คือคนอื่นหนะแหละ คนที่อยู่ร่วมกันมาขัดขวางกัน เพราะนั้นสังคมที่จัดสรรไม่ดีเนี่ย ผิดหลักเนี่ย ก็กลายเป็นเครื่องขัดขวางการพัฒนาของแต่ละคนนั่นแหละ คือเสียทั้งสองอย่าง สังคมเองก็อยู่กันเดือดร้อนระส่ำระส่ายไม่เป็นสุข แล้วแต่ละคนนั้นก็สูญเสียโอกาส นอกจากอยู่เป็นทุกข์แล้วก็สูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองด้วย นั้นเพราะฉะนั้นต้องหาทางว่าจะทำยังไง จึงจะให้ได้ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เนี่ย คือต้องให้บุคคลพัฒนาตัวเองฝึกตัวเอง แล้วให้สังคม ชุมชนเป็นสภาพเอื้อเกื้อหนุน การพัฒนาตนของแต่ละคนนั้น และก็เมื่อแต่ละคนพัฒนาตัวเองดี ก็กลับมาเอื้อสังคมมากขึ้น เพราะมีความสามารถมาช่วยเกื้อหนุนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น แล้วก็สังคมยิ่งดีบุคคลก็ยิ่งได้โอกาสพัฒนาตนเอง เพราะนั้นอันนี้ก็คือหลักการที่ไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง นั้นน้ำใจต่อส่วนรวมความรู้สึกรับผิดชอบ อะไรต่ออะไรต้องมี ในพระพุทธศาสนาท่านจึงพยายามเน้นเรื่องนี้ อย่างเรามีคติพระโพธิสัตว์ไว้ทำไม ก็เพื่อเป็นตัวอย่าง ว่าเนี่ยพระพุทธเจ้าเนี่ย ที่พระองค์ฝึกตัวเองมาเนี่ยจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าได้เนี่ย เพราะองค์ทำเพื่อผู้อื่น การทำเพื่อผู้อื่น การช่วยผู้อื่นเนี่ยเป็นการฝึกตน การพัฒนาตนเราพัฒนาได้หลายอย่าง เราพัฒนาในตนเองด้วย พัฒนาด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย การช่วยเหลือผู้อื่นก็เป็นการพัฒนาตัวเอง เป็นการฝึกตัวเอง แล้วพระโพธิสัตว์นี่ก็ พัฒนาพระองค์เองด้วยการช่วยผู้อื่น เวลาเราจะช่วยคนอื่นนี่ สารพัดเราต้องฝึกตัวเอง หนึ่งก็ฝึกความคิด ฝึกสติปัญญา จะไปช่วยเขาได้ยังไงเขามีปัญหาเขาเดือดร้อน คิดเยอะแล้ว กว่าจะคิดเสร็จแก้ปัญหาเขาได้นี่ปัญญาตัวเองพัฒนาเยอะเลยนะ ไปช่วยเขาน่ะตัวเองได้พัฒนาตัวเอง และไม่ใช่เฉพาะแค่นั้น ต้องฝึกการพูดจา พฤติกรรม ต้องฝึกให้เกิดทักษะในการใช้มือใช้เท้า ใช้กำลังร่างกายต่างๆ คือพฤติกรรมกาย วาจา จะได้รับการฝึกเพื่อให้สำเร็จผล แล้วอีกส่วนหนึ่งที่ฝึกไปด้วยคือจิตใจ จิตใจก็จะมีความเข้มแข็ง มีความเพียร มีสมาธิ มีสติ ต้องคอยระลึก ต้องคอยจับเรื่องราวมาพิจารณา ต้องมีสมาธิมากขึ้น จิตใจมีคุณธรรมต่างๆ พัฒนาไปมีเมตตากรุณามีศรัทธามีความเชื่อมั่นในความดี มีจุดมุ่งหมายแน่วแน่ มีอธิษฐาน มีความตั้งมั่นเด็ดเดี่ยวต่อจุดหมายอะไรต่างๆเหล่านี้ มาเสร็จ เวลาเราทำเพื่อส่วนรวมหรือทำเพื่อผู้อื่นเนี่ย เราฝึกตัวเองไปด้วย เพราะนั้นเรื่องทั้งหมดนี้มันก็อยู่ในหลักการที่ว่าสิ่งทั้งหลายเนี่ย มันสัมพันธ์กันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเป็นปัจจัยแก่กัน เพราะนั้นถ้าเราอย่างนี้แล้ว ใจเราก็จะกว้างขึ้น เราก็ไม่มองเฉพาะตัวเอง เราอยู่ในสังคมเราก็อยู่ในระบบสัมพันธ์กัน แต่ละคนก็เป็นปัจจัยแก่กัน เกื้อหนุนกัน ทำไม่ดีก็เป็นปัจจัยร้าย ก็กลายเป็นแทนที่จะเกื้อหนุนก็ก่อความเดือดร้อนสังคมก็อยู่ไม่ได้ ถ้าเราทำดีเป็นปัจจัยที่ดี เกื้อหนุน สังคมของเราก็อยู่เย็นเป็นสุข แต่ละคนก็มีโอกาสพัฒนาอย่างที่ว่า ระบบเหตุปัจจัยนั่นเอง แล้วเราก็มามองแม้แต่เรื่องข้าวปลาอาหารเงินทอง พระพุทธเจ้าหรือพระเรานี้เรียกว่าปัจจัยทั้งนั้น พระท่านเรียกเงินทองปัจจัย ที่จริงมันเป็นตัวแทนของปัจจัยนะ ไม่ใช่ปัจจัยหรอก เดี๋ยวนี้เรียกรวบรัด เวลาบอกว่าได้เงินมาก็เรียกปัจจัยว่างั้น ที่จริงเงินทองไม่ใช่ปัจจัย มันเป็นตัวแทนของปัจจัย แต่ทีนี้คำว่าปัจจัยเองมันก็มีความหมายลึกซึ้ง ปัจจัยเนี่ย เป็นเครื่องเกื้อหนุน ช่วยให้ผลเกิดขึ้นมา หรือช่วยให้อะไรอย่างอื่นมันดำเนินไปได้ ทีนี้เงินทองก็เป็นตัวแทนของปัจจัย๔ใช่ไหม ปัจจัย๔ คือวัตถุ สิ่งเสพบริโภคต่างๆเนี่ย พูดง่ายๆก็คือเรื่องของเศรษฐกิจนี่แหละ ในพุทธศาสนาท่านมองว่ามันเป็นปัจจัยนะ คำว่าปัจจัยเนี่ยเป็นคำพูดที่มีความหมายสำคัญ เรายังมองผ่านๆไป บางทีเราพูดแล้วเราก็ไม่ได้เข้าใจความหมาย หรือว่าเราเข้าใจแต่เรามองข้ามไป ปัจจัยเนี่ย เราเรียกพวกวัตถุต่างๆ ก็คือพุทธศาสนาบอกว่าเรื่องเศรษฐกิจเรื่องวัตถุเนี่ยเป็นปัจจัยนะ คำว่าปัจจัยก็อาจจะตรงข้ามกับคำว่าจุดหมาย ท่านบอกให้รู้ว่า ความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ เงินทองเป็นต้น สิ่งเสพบริโภคไม่ใช่จุดหมายนะ เป็นปัจจัยนะ ขาดไม่ได้ จำเป็น แต่ว่ามันไม่ใช่จุดหมาย มันเป็นเครื่องเกื้อหนุน หมายความว่ามันมีความดีงามที่สูงกว่านั้นที่เราจะต้องทำ ถ้าเราไม่มีปัจจัยไม่มีวัตถุ ไม่มีเศรษฐกิจช่วยนี่เราทำไม่ได้ แต่ว่าเศรษฐกิจ วัตถุเนี่ยไม่ใช่จุดหมายไม่จบเท่านั้นนะ ไม่ใช่ว่าเราหาเงินหาทองมาเสพบริโภคพรั่งพร้อมแล้วเราก็นอนสบาย บอกว่าจบแล้วนี่ได้จุดหมาย ถ้าสังคมเป็นอย่างนี้ หรือชีวิตเป็นอย่างนี้ ครอบครัวเป็นอย่างนี้ ล่มจม ไม่ช้าเสื่อม เพราะอะไร เพราะว่ามัวเมา โลกปัจจุบันนี้ที่น่ากลัวเพราะว่ากำลังจะมองผิด เอาวัตถุเศรษฐกิจอะไรต่างๆนี้เป็นจุดหมาย ตรงข้ามกับที่พระท่านสอน พระท่านสอนว่าให้มองเป็นปัจจัย ว่างั้นนะ ถ้ามองเป็นปัจจัยละมันมีทางไปต่อ ก็หมายความว่าเออจำเป็นนะ เราต้องสร้างเศรษฐกิจให้ดี เราต้องมีเงินทองต้องมีวัตถุเสพบริโภคกินใช้ แต่ว่ามันไม่ได้จบเท่านั้นนะ ไม่ใช่จุดหมายนะ เราเอามันมาเป็นเครื่องเกื้อหนุนนะ เราต้องก้าวไปสู่ความดีงามที่สูงกว่านั้น ชีวิตของเราก็มีความดีงามที่สูงขึ้นไปซึ่งเราจะอาศัยร่างกายของเรา อาศัยวัตถุเสพบริโภคเศรษฐกิจอะไรเนี่ยมาช่วยเกื้อหนุน แล้วเราก็สามารถก้าวต่อไป สังคมของเราก็มีสิ่งที่ดีมีการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม มีวัฒนธรรม มีอารยธรรม มีสิ่งงดงาม มีความประเสริฐเลิศทางจิตใจทางปัญญามากมายที่จะต้องสร้าง เราจะหยุดแค่นี้ เวลานี้คนกำลังมองเอาเศรษฐกิจ เอาวัตถุเสพบริโภคเป็นจุดหมาย สังคมอย่างนี้ตัน พอสร้างเงินทองมีกินมีใช้สิ่งเสพบริโภค ถ้าเป็นตัวคนก็ลุ่มหลง มัวเมาแล้วทีเนี้ย ก็เริ่มเสื่อม ถ้ามองกว้างเป็นสังคมก็มัวเมา ลุ่มหลง เพลิดเพลินก็อ่อนแอลง แล้วก็เสื่อมเหมือนกัน แล้วก็จะตกอยู่ในความประมาท ประมาทก็คือเฉื่อยชา เรื่อยเปื่อย แล้วก็หลงระเริง จมหมกมุ่นอยู่ในความสุข แทนที่จะเอาความพรั่งพร้อม เอาวัตถุ เอาเรื่องเศรษฐกิจเนี่ยมาเป็นปัจจัย เครื่องเกื้อหนุน แล้วเราก็สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามสูงขึ้นไป นั้นอันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ว่า ชีวิต ครอบครัว สังคมอะไรต่างๆเนี่ยที่มันเข้าวงจรเสื่อมๆเจริญอะไรต่างๆเนี่ย มักจะเป็นอย่างนี้ มันมองไม่ตลอด มองไปแค่เป้าหมายที่ตัน เช่นอย่างนี้ อย่างเรื่องวัตถุ ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ น่าจะพูดได้ว่าสังคมปัจจุบันกำลังหลง กำลังมองเอาความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย ทีนี้ถ้าเรามองอย่างนั้น แต่ละคนก็มีทางที่จะมุ่งไปในทางแก่งแย่ง เพราะจะต้องเอาให้มาก เพราะว่าวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อมเงินทองมาก มันเป็นจุดหมายใช่ไหม ถึงจะต้องเอาให้มากที่สุด มันก็ต้องมาแย่งชิงกันจนได้ นี้ถ้าเรามองเป็นปัจจัยซะเราก็บอกว่า จะต้องให้มีมันมีอย่างมีความหมายที่แท้จริงก็คือว่า มาเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เราก้าวไปสู่สิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้น เราจะสร้างสรรค์ชีวิต สร้างสรรค์สังคมยังไงต้องคิดกันละนะ อย่าไปคิดว่าจบแค่ให้มีวัตถุเสพบริโภค ไม่ใช่ แต่เราจำเป็นต้องมี เอามันมาเป็นปัจจัยเกื้อหนุน เพราะนั้นสังคมที่ดีต้องไม่ได้คิดจบอยู่แค่มีกินมีใช้ ต้องคิดต่อไปว่ามีกินมีใช้แล้วจะสร้างสรรค์อะไรให้ดีงามสูงขึ้นไป นั่นแหละสังคมจึงเจริญก้าวหน้าได้ ยิ่งสังคมพระนี่จะเห็นได้ชัด ท่านบอกชัดเลยว่า วัตถุ ปัจจัย๔ จำเป็น เวลาท่านพูดให้ชัดแคบเข้ามาเนี่ย พระบวชเสร็จเนี่ย ท่านบอกอนุศาสน์๘โยมเก่าๆนี่คงพอจะรู้นะอนุศาสน์๘เนี่ย เป็นคำสอนเบื้องต้นสำหรับผู้บวชใหม่ อนุศาสน์๘ แบ่งเป็นไร แบ่งเป็น๒ นิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ นิสัย ๔ ก็คือ วัตถุที่พระจะต้องพึ่งพา แล้วก็อกรณียกิจ ๔ สิ่งที่พระทำไม่ได้ ถ้าทำแล้วขาดจากความเป็นพระ พอบวชเสร็จปั๊บ วินัยบอกเลยเข้าอุปัชฌาย์ต้องรีบบอก จะให้พ้นไปจากอุปัชฌาย์แล้วไปบอกทีหลังอุปัชฌาย์เป็นอาบัติแล้ว มีความผิดต้องบอกทันที ทีนี้บอกนิสัยเนี่ย อันนี้อาตมาจะพูดเฉพาะนิสัย ก็คือปัจจัย๔ นั่นเอง ปัจจัย๔ นี่สำหรับพระนี่ท่านเรียกว่านิสัย นิสัยของพระนี่ไม่ใช่หมายความว่าเราเคยชินยังไงแล้วเป็นนิสัยนะ เออ ฉันมีนิสัยชอบทำอย่างนั้นอย่างนี้ ชอบวิ่งเล่น ชอบพูดไม่ดีไรนิสัยอย่างนั้นไม่ใช่นิสัยในความหมายของพระ คำว่านิสัยที่พระใช้เนี่ย มี ๒ อย่าง ที่ใช้มากนะอะไรบ้าง ๑.เวลาบวชนี่ต้องถือนิสัยนะ จริงไหม ใครเคยบวชแล้วบ้าง บวชนี่ต้องถือนิสัยใช่ไหม นิสัยอันนั้นคือใครหละ ถือนิสัยเนี่ย เวลาบวชตั้งแต่ในโบสถ์ละ ถึงโยมที่ไม่ได้บวชก็ได้ยิน คนที่เค้าขอบวชเนี่ย เค้าต้องกล่าวคำขอนิสัยกับอุปัชฌาย์ บอกว่า ...(๓๑:๔๖) ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอจงให้นิสัยแก่ข้าพเจ้า นี่นะ ๑ ละนะ นิสัย๑ นี่ขอนิสัยจากครูอาจารย์อุปัชฌาย์ นี่ขอกับคน ก็หมายความว่า ๑.นิสัยนั้นอยู่ที่คนนี่หละ ๒.อุปัชฌาย์บวชเสร็จก็บอกนิสัย๔ อีก นิสัย๔ นั้นคือได้แก่อาหารบิณฑบาต จีวร บังสุกุล เป็นต้น อันนั้นนิสัยอยู่ที่ของ ตกลงมีนิสัย ๒ ประเภทละนะ นิสัย ๒ ประเภท นิสัยที่คนกับนิสัยที่ของ พระต้องอาศัย ๒ อย่างนี้ เลยบอกความหมายไปซะเสร็จเลย นิสัยนี่ก็แปลว่าอาศัยนี่เอง ชีวิตของพระนั้นมีที่อาศัยสำหรับผู้บวชใหม่ ๒ อย่าง ๑.นิสัยที่อยู่ที่ตัวคนอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็คือการอาศัยอุปัชฌาย์อาจารย์นั้นช่วยในการที่จะได้เป็นพระ ได้ฝึกอบรบในไตรสิกขาต่อไป พระจะเจริญในไตรสิกขา จะฝึกตนเรียนรู้ศึกษาก้าวหน้า ต้องอาศัยอุปัชฌาย์อาจารย์มาเป็นผู้แนะนำแนวทางเบื้องต้น๑. ๒.นิสัยอยู่ที่ของก็คือปัจจัย๔ อาหารเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น ท่านต้องอาศัยเหมือนกันนะ ถ้าท่านไม่ได้อาศัยอาหารเป็นต้นนี่ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ตกลงว่านิสัยที่พระอาศัยนี่มี ๒ อยู่ที่ของกับอยู่ที่คน แล้วต้องมีทั้ง ๒ อย่าง ทีนี้ลักษณะที่ท่านบอกเนี่ย ท่านชัด คือว่าทุกอย่างเป็นระบบความสัมพันธ์ พอบอกว่านิสัยอยู่ที่คนอาศัยคนเพื่ออะไร เพื่อการศึกษา เพื่อให้ท่านช่วยเกื้อหนุนในการที่ว่าจะได้เจริญในไตรสิกขาต่อไป นิสัยอยู่ที่ของก็เหมือนกัน อาศัยปัจจัย๔ อาศัยอาหารบิณฑบาต เป็นต้น แล้วท่านจะได้สามารถศึกษาเจริญไตรสิกขาต่อไปเหมือนกัน ตกลงว่าทั้งสองอย่างนี้มาเป็นนิสัย เป็นที่อาศัย โดยมีจุดหมายเพื่อก้าวไปในไตรสิกขา แต่นิสัยของพระ ๑.การอุปัชฌาย์อาจารย์ก็เป็นเรื่องของเมตตา กรุณา เรื่องความสัมพันธ์ที่ดีเป็นกัลยาณมิตร แล้วท่านรู้มาก่อน ท่านพัฒนามาก่อน ท่านศึกษามามากท่านก็มาช่วยเรา แต่ก็อยู่ในระบบที่ว่าในที่สุดต้อง อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ท่านช่วย ก็คือเพื่อเกื้อหนุนให้เราต้องฝึกตัวเองขึ้นไปนะ เสร็จแล้วก็เราเนี่ยต้องพึ่งตัวเอง ปัญญาจะมีเราจะรู้เราก็ต้องรู้ด้วยตัวเอง เราจะเสวยสุขเสวยทุกข์ก็ต้องเสวยด้วยตนเอง เป็นต้น อย่างที่ว่าไปแล้ว อันนี้ท่านก็มาช่วยให้เราฝึกตัวเองให้พึ่งได้ ให้พึ่งตัวเองได้ พร้อมกันนั้นเราก็ต้องอาศัยอาหาร ปัจจัย๔ ที่ว่า ที่เรียกว่าเป็นนิสัย แต่ว่านิสัยของพระเนี่ย ที่บอกเมื่อกี้นะมันชัด คือนิสัยของพระเนี่ย อาศัยวัตถุเท่าที่จำเป็นจริงๆ พอวัตถุมีพออาศัยอยู่ได้แล้ว ท่านเน้นไปที่ชีวิตด้านจิตด้านปัญญาใช่ไหม ให้เจริญงอกงามในด้านนั้น ก็เป็นการเตือนชาวบ้านให้รู้ว่าชีวิตของเราเนี่ยไม่ได้อยู่แค่วัตถุเสพบริโภคนะ มันมีสิ่งอื่นที่สูงขึ้นไป ยิ่งพระแล้วนี่ยิ่งต้องอาศัยวัตถุให้น้อยที่สุด ท่านก็เลยให้วุ่นวายให้ยุ่งกับเรื่องวัตถุน้อยที่สุด เพราะเหตุที่พระอาศัยวัตถุน้อย ก็เลยยกภาระด้านท้อง ด้านปัจจัย ๔ ไปให้กับญาติโยมซะ ก็คือว่าอาศัยญาติโยมมีศรัทธาแล้วก็บำรุงเลี้ยง เอาเท่าที่จำเป็น อยู่ได้ พอ อาศัย แล้วท่านก็ไปทำกิจหน้าที่ของตัวเอง เอาเวลาเอาแรงงานของตัวเองไปทุ่มเทอุทิศให้แก่การบำเพ็ญไตรสิกขา เจริญในพระธรรมวินัยของท่านไป ทีนี้พอท่านเจริญงอกงามในไตรสิกขาท่านก็รู้เข้าถึงธรรมะ รู้ธรรมะ ก็เอาธรรมะนั้นมาให้กับโยม ก็เป็นระบบตอบแทน ก็เป็นระบบตอบแทน ก็โยมก็คล้ายๆเค้าเรียกว่า อามิสทาน ให้วัตถุสิ่งของ ถ้าพระก็ให้ธรรม เรียกว่าธรรมทาน ก็เป็นระบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอีก เนี่ยเห็นไหม เต็มไปหมด ระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน ระบบในสงฆ์แล้วก็พึ่งพาอาศัยกันอยู่แล้ว ทีนี้มาพระสงฆ์กับคฤหัสถ์ก็ระบบพึ่งพากัน ท่านใช้คำว่า (อุ-โภ-อัน-โยน-อะ-นิ-สิต-ตา) ทั้งสองฝ่ายอาศัยซึ่งกันและกัน ทางฝ่ายพระก็พึ่งโยมด้านวัตถุ ปัจจัย๔ เรียกว่า อามิสทาน ฝ่ายญาติโยมก็อาศัยพระในด้านธรรมทาน อาศัยธรรม ทั้งสอบฝ่ายนี่เป็นผู้ให้แก่กันและกัน พระนี่ก็ต้องให้นะ และก็พระนี่เป็นผู้ให้มากซะด้วย คือให้ธรรม ให้ธรรมนี่ให้ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก แต่ถ้ารับวัตถุนี่รับได้น้อย พระจะรับวัตถุนี่มีวินัยกันไว้หมดเลย จะไปเที่ยวรับของจากญาติโยม เช่นอย่างบอกว่า ภิกษุ ไม่เจ็บป่วยไม่อาภาส ขออาหารมาเพื่อตนฉันเป็นอาบัติ เอาหละสิ ผิดและ แม้แต่อาหารยังขอฉันไม่ได้เลย บิณฑบาตนี่หมายความว่า เดินไปใครมีศรัทธาเขารู้ เขาต้องการถวายรับได้ แต่จะไปบอกขอเค้าไม่ได้เว้นแต่อาภาสเท่านั้นนะ หรือขอมาเพื่อผู้อื่น อะไรต่างๆขอไม่ได้ รับก็อาหารบิณฑบาตก็รับได้อย่างมาก ๓ บาต กันไว้หมด หมายความว่าพระท่านนี้ให้ฝากท้องไว้กับญาติโยมก็จริง แต่ว่าระวังมาก ไม่ให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมาในวัตถุ ให้พึ่งพาวัตถุแต่น้อย และไม่รบกวนชาวบ้าน เพราะนั้นชีวิตพระนี่ท่านบอกว่าให้เหมือนกับผึ้ง หรือแมลงภู่ เป็นยังไง เป็นคาถาซะด้วย (ยะ-ถา-ติ-พระ-มะ-โร-ปุบ-ผัง-ภัน-ทัง-มะ-เห-ทะ-ยัง) ว่างั้นนะ บอกว่าเปรียบเหมือนแมลงผึ้งแมลงภู่ ไปเที่ยวเก็บเอาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ในหมู่ไม่ในสวนในป่า เที่ยวบินไปแสวงหาน้ำหวานรวบรวมมาโดยไม่ทำดอกไม้ให้ชอกช้ำแม้แต่สีและกลิ่น ว่างั้นนะ มุนีพึงเที่ยวไปในหมู่ชนฉันนั้น ท่านบอกว่าอย่างนี้นะ พระก็ต้องไปในหมู่ชนในหมู่ประชาชนนี้ อย่าไปทำให้เขาเกิดความชอกช้ำนะ มีหลักของพระศาสนานะ อันนี้ถ้าทำได้ตามนี้ก็เป็นไง ก็มีแต่ทำให้สังคมนี้เจริญงอกงามนะใช่ไหม ผึ้งนี่ไปเอาน้ำหวานมา ผึ้งเองก็สามัคคีกัน ทำให้รังผึ้งก็เติบโตใหญ่อยู่ได้ แต่พร้อมกันนั้นก็ผึ้งก็ไม่ทำให้ดอกไม้เสีย แม้แต่สีและกลิ่น กลับช่วยแพร่พันธุ์ให้ซะอีก ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามใช่ไหม อันนี้ชีวิตของพระก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเตือนไว้แล้วก็คืออย่างนี้ ว่าอยู่ในหมู่ประชาชน อย่าทำให้เขาชอกช้ำ ชอกช้ำศรัทธา ชอกช้ำวัตถุทั้งสองอย่างแหละ ตัวดอกไม้ก็ไม่ชอกช้ำใช่ไหม และก็แน่นอนแหละ ตัวดอกไม้ก็วัตถุ แล้วสีและกลิ่นนี่ก็คือศรัทธาจิตใจของเขา อย่าทำจิตใจของเขา เช่นศรัทธาให้ชอกช้ำ ต้องบำรุงทำให้สังคมนั้นเจริญงอกงามขึ้น ถ้าพระสงฆ์ไม่อยู่ในสังคมได้อย่างดีแล้ว ก็ทำให้ทุกอย่างดีงามหมด พระก็อยู่ได้ ญาติโยมก็มีศรัทธาบำรุง พระก็สอนธรรม ทำให้ญาติโยมก็มีจิตใจดีงาม เจริญงอกงามในศีลในธรรม ในทาน ในศีล ในภาวนา มีความร่มเย็นเป็นสุข สังคมก็อยู่ร่มเย็น นี่แหละ เรียกว่าเป็นเหมือนแมลงผึ้งที่ว่าไปในหมู่ไม้แล้วก็ทำให้งอกงามไปด้วยกัน หลักการนี้อาตมาคิดว่าเอามาใช้ได้หมดแหละ ท่านที่มารวมกันนี่ก็เป็นกุศลเจตนา เป็นความดี เราใช้หลักนี้แหละ ใช้หลักที่ว่า เออเราแต่ละคนนี่ต้องพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามนะ แต่การที่ชีวิตเราแต่ละคนที่เจริญงอกงามนี้ เราต้องจัดระบบชุมชน สังคม ให้เกื้อหนุนกันนะ ให้แต่ละคนแทนที่จะมาขัดขวางกัน ก็มาเกื้อหนุนกัน แล้วเมื่อเกื้อหนุนกัน แต่ละคนก็ยิ่งมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้น พอเราพัฒนาตัวเอง เราก็ยิ่งปรับไปมีความสามารถช่วยเหลือชุมชนของเรามากยิ่งขึ้น ชุมชนก็ยิ่งพัฒนา กลับมาส่งเสริมให้เราเนี่ยมีความสุขร่วมกัน ตัวเองก็พัฒนายิ่งขึ้น แล้วทีนี้ที่มากกว่านั้น ชมรมของเราก็กลับไปเป็นส่วนร่วมที่ช่วยให้สังคมใหญ่เจริญงอกงามอีก เหมือนอย่างกับ สังคะ ชุมนุมพระสงฆ์เนี่ย ช่วยให้สังคมใหญ่เจริญงอกงาม ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วเนี่ย มันเป็นระบบที่แต่ละหน่วยย่อยเนี่ย มาเกื้อหนุนระบบส่วนรวมใหญ่ให้เจริญงอกงามไปด้วยกัน ก็มีแต่ดีอย่างเดียวเลย งั้นทำไงเราถึงจะสร้างสังคมอย่างนี้ได้ ก็เป็นเรื่องที่ญาติโยมทุกคนต้องช่วยกันแล้ว ถ้าเราทำได้ตามนี้ นี่แหละปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาเนี่ย เป็นศาสนาที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ทางสายกลางเนี่ยก็คือว่า เอาตรงตามความเป็นจริง พอดีกับความจริง พอดีกับความจริงก็คือความจริงธรรมชาติเขาให้ไว้อย่างนั้น บอกว่าธรรมชาติก็คือระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายที่อยู่ในธรรมชาติล้วนแต่เป็นองค์ประกอบ เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ถ้าหากว่าเป็นไปในทางไม่ดีก็เป็นปัจจัยขัดขวาง ส่งผลร้ายต่อกัน ถ้าหากว่าดำเนินดี ทำดี เช่น เป็นมนุษย์ทำดีก็เป็นปัจจัยที่ดี ส่งเสริมให้เกื้อหนุนให้เกิดความเจริญงอกงามไปด้วยกัน เนี่ยระบบความสัมพันธ์อันนี้ มันเป็นความเป็นจริงตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าก็เอาหลักนี้แหละมาใช้ มาวางให้เรา ก็เลยเรียกเป็นระบบ มัชฌิมา ก็คือ พอดี ตรงกับความจริง ความจริงมีเท่าไหนก็พอดีเท่านั้น ทีนี้ถ้าทำไม่ตรงไม่ตามกฎธรรมชาติ มันไม่พอดี ก็เกิดผลร้าย อย่างเรื่องการจัดระบบชุมชน แล้วมาสัมพันธ์ระหว่างชีวิตส่วนรวมกับชีวิตส่วนตัว มันก็เป็นระบบความสัมพันธ์ที่เอื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะนั้นพระพุทธเจ้าเนี่ย ก็จะให้หลักที่ว่า แต่ละคนเนี่ยจะต้องไม่โดดเดี่ยว ใช่ไหม แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าไปหวังพึ่งผู้อื่น จะไปหวังพึ่งพา พึ่งผู้อื่นตัวเองก็อ่อนแอก็ไปไม่รอดเหมือนกัน มันต้องทั้งสองอย่าง เราก็พัฒนาตนเองพึ่งตนเอง แต่เราก็ไม่โดดเดี่ยว ชุมชน สังคมของเราทุกคนก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วก็ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ก็มาด้วยกันก็เมตตากรุณา ใช่ไหม ไปด้วยกันได้ เพราะนั้น เพราะเมตตากรุณาเนี่ยไม่ได้จบแค่นั้น วันนี้ก็เลยไหนๆก็ให้พูดธรรมะแล้วนะ ก็เลยพูดต่อไปซะอีกหน่อย จะได้เข้าใจหลักธรรมมากขึ้น ความจริงหลักเมตตากรุณาเนี่ยไม่ได้จบแค่เมตตากรุณา อันนี้เราพูดว่าเมตตากรุณากันเรื่อยเลย คนไทยเนี่ยถนัดนักเมตตากรุณา แต่ไม่ครบนะ ถ้าจะปฏิบัติแค่เมตตากรุณาเนี่ย ดีก็จริงแต่ดีเลยเถิดนี่ก็เสียเหมือนกันนะ เป็นยังไงหละ ดีแล้วมันเสียได้เหมือนกัน คือ ๑.ดีแต่ใช้ผิดก็เสีย ๒.ดีแต่ว่า ข้ออื่นๆที่จะต้องมาด้วยกันมาไม่ครบ ก็เสียอีกเหมือนกันนะ อันนี้เรื่องเมตตากรุณาอันนี้เป็นความดี ใช้ผิดเสีย ๑.ละนะ ๒.ใช้ไม่ครบเสีย ใช้ไม่ครบเสียเป็นยังไง ญาติโยมจะต้องรู้ว่าเมตตากรุณาเขามาในชุดของเขานะ ชุดของเขามีกี่ข้อ ท่านที่ชำนาญธรรมะตอบในใจได้เลย ๔ ข้อใช่ไหม อะ ๔ ข้อ ก็ต้องมีชื่อสิ ธรรมะในพระพุทธศาสนานี่มักจะมาเป็นชุดๆๆๆๆ เป็นหมวดๆ มี ๓ มี ๔ มี ๕ มี ๖ มี ๗ มี ๘ เป็นชุดเป็นหมวดไป ทีนี้ ชุดนี้มี ๔ ข้อ ๔ ข้อนี้มีชื่อเรียกว่าอะไร ญาติโยมที่ชำนาญก็ตอบได้เลยว่า เรียกว่า พรหมวิหาร ๔
พรหมวิหาร ๔ เอาละ แสดงว่าไม่จบแค่เมตตากรุณา อะแล้วมีอะไรอีกหละ เมตตากรุณาก็ต่อสิ ต่อด้วยอะไร ต่อไปข้อ ๓ มุทิตา ข้อ ๔ อุเบกขา วันนี้มาเรียนเรื่อง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา กันนิดนึงนะ เพราะทุกท่านอยู่ในชุมชน ขาดไม่ได้ ชีวิตที่อยู่ในหมู่ อยู่ในสังคม ในโลกมนุษย์เนี่ย ขาด ๔ ข้อนี้ไม่ได้ ทำไมขาดไม่ได้หละ ถ้าขาดแล้วจะสร้างโลกได้ยังไงหละ เพราะว่าท่านบอกว่า พรหมวิหารก็แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม พระพรหมคือใคร พรหมคือผู้สร้างโลกใช่ไหม ไม่ได้สร้างโลกอย่างเดียวนะ คอยบำรุงรักษาดูแลด้วย เรียกว่า อภิบาลโลก พระพรหมเป็นผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก โลกจะอยู่ดีด้วยพระพรหมสร้างสรรค์บรรดาล แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้เอาอย่างนั้นนะ นั่นพระพรหมเทพเจ้านะ พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องมีพรหมวิหารกันทุกคน มนุษย์นี่แหละ ให้มาประพฤติตามหลักพรหมวิหาร ให้มีธรรมประจำใจของพรหม ๔ ข้อ พอมีเสร็จ เป็นพรหมทุกคนเลย พระพุทธเจ้าก็ต้องการให้เราทุกคนเนี่ย มาสร้างสรรค์สังคมของเรา โดยไม่ต้องรอพระพรหม ว่างั้นนะ ให้มนุษย์เนี่ยเป็นพรหมซะเองด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรม ๔ ข้อนี้ เมื่อเรามีธรรม ๔ ข้อนี้เราก็เป็นพรหม หมายถึงเราเป็นผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลกด้วยตัวของเราเองทุกคนเลย ทีนี้ถ้าหากว่ามนุษย์ไม่เป็นพรหม เราก้ได้แต่ทำลายโลกสิ รอให้พระพรหมมาสร้างใช่ไหม อย่างนี้แย่ไปไม่รอด เพราะนั้นพระพุทธเจ้าเนี่ย ไม่ทรงนิยมยกย่องสรรเสริญชีวิตที่ประมาท รอคอยความช่วยเหลือ ให้เขาบันดาลให้ ให้เทพเจ้าบันดาล รอผลดลบัลดาล พระองค์ไม่ทรงปรารถนา ไม่ทรงพระประสงค์ ทรงมีพระประสงค์ให้เราพึ่งพากัน หลักพุทธศาสนานี่ตรงข้ามกับหวังผลจากการดลบันดาล คือให้หวังผลจากการกระทำ จึงต้องมีความเพียร ทีนี้เนี่ยเมื่อเราปฏิบัติตามหลักธรรม ๔ ข้อ เราก็เป็นพรหม เราทุกคนก็เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์อภิบาลโลก ทีนี้เราจะทำยังไง ปฏิบัติธรรม ๔ ข้อ เราเป็นพรหมได้ เอ้า ดูกันให้ครบ ๑. มีเมตตา ๒. มีกรุณา ๓. มีมุทิตา ๔. มีอุเบกขา เอาละนะ อันนี้จะปฏิบัติได้ถูกต้องรู้เข้าใจความหมายและเหตุผล ๑. เมตตาคืออะไร ญาติโยมตอบในใจก่อน ๒. กรุณาแปลว่าอะไร ตอบในใจก่อน ๓. เมตตา กรุณาต่างกันอย่างไร ตอบในใจก่อน ตอนแรกนี่บางท่านบอก เมตตา แปลได้ กรุณาพอแปลได้ พอถามว่า เมตตา กรุณา ต่างกันอย่างไร อันนี้จนแล้ว หลายคนตอบไม่ได้เลย ใช่ไหม