แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ท่านพระเถรานุเถระ ท่านพระผู้บวชใหม่ คือท่านพระนวกะทุกรูป วันนี้เป็นวันสำคัญ ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสำคัญเป็นพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ และก็เป็นวันสำคัญทางพระวินัย ดังที่เราทราบกันอยู่ว่าวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้น แยกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือวันสำคัญที่เกี่ยวกับการบูชา และการบูชานั้นก็โยงถึงการบูชาพระรัตนตรัย และการบูชาพระรัตนตรัยนั้นก็โยงต่อไปถึง เนื่องด้วยเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธประวัติ คือเหตุการณ์ในประวัติของพระพุทธเจ้า หมายความว่าเราระลึกถึงเหตุการณ์ในการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธองค์ แล้วก็มีเหตุการณ์ไหนที่สำคัญ เราก็มาจัดขึ้นเป็นวันที่ระลึก และทำพิธีบูชา งั้นวันสำคัญประเภทนี้จึงมีคำว่าบูชาลงท้าย เช่นที่สำคัญที่สุดเป็นหลักสำคัญก็คือวันวิสาขบูชา อันนี้เป็นหลักมาแต่เดิม แต่เดิมก็มีวันเดียวเท่านั้นคือวิสาขบูชา อยู่ที่องค์พระพุทธเจ้าเลย วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน
ต่อมาก็มีนักปราชญ์ที่ท่านเห็นว่า เหตุการณ์อื่นก็สำคัญ แม้จะน้อยกว่าก็ควรจะมีพิธีบูชา หรือมีการทำพิธีระลึกถึงด้วย ก็เลยเกิดวันสำคัญขึ้นมา ในเมืองไทยก็มีวันอัฐมีบูชา สมัยก่อน คือสืบเนื่องจากพระพุทธเจ้า มีวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานแล้ว เมื่อหลังปรินิพพานไปได้ ผ่านเจ็ดวันแล้ว ก็มีพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ก็เลยจัดเป็นวันสำคัญขึ้นมาด้วยเรียกว่าวันอัฐมีบูชา คือวันแรม 8 ค่ำเดือน 6 ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีปฏิบัติแล้ว นั่นกลับมีมานาน ก็คือเนื่องไปจากวันวิสาขบูชา ที่ว่าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน หลังปรินิพพานก็ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ
นี้ต่อมาก็สมัยรัชกาลที่ 4 ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์กับประชุมสงฆ์ที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาตในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ก็ถือว่าสำคัญมากเหมือนกัน เพราะพระสาวกมาประชุมใหญ่ และก็แสดงหลักการสำคัญเป็นเครื่องนัดหมาย่ให้พระสงฆ์ได้นำไปปฏิบัติ และนำไปสั่งสอนเป็นแบบเดียวกัน แล้วตกลงก็จัดให้มีพิธีบูชาขึ้นก็เลยเรียกว่ามาฆบูชา นั่นวันเพ็ญเดือน 3 ก็เกิดรัชกาลที่ 4 นี่เอง ไม่ใช่ของดั้งเดิมเหมือนวิสาขบูชา
นี้ต่อมาถึง พ.ศ. 2500 ประเทศที่นับถือพุทธศาสนาที่สำคัญๆ ก็พากันจัดงานใหญ่ เรียกว่า ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ แม้แต่ประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่าพุทธศาสนาสูญสิ้นไปแล้ว แต่ว่ามีความสำคัญในประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก รัฐบาลยุคนั้นมีนายกรัฐมนตรีคือท่านเนรู ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรักในพระพุทธเจ้ามาก ตั้งแต่เป็นเด็กๆ และก็เอาใจใส่พระพุทธศาสนา แม้จะว่าอยู่ในสายของศาสนาพราหมณ์ แต่ตัวเองก็เอาใจใส่ รัฐบาลอินเดียก็เลยจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษด้วยเรียกว่า พุทธชยันตี ประเทศต่าง ๆก็จัดงาน เมืองไทยก็จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
พอจัดงานเสร็จแล้วก็คณะสงฆ์ได้มองเห็นว่าวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เทศน์ครั้งแรกก็ต้องถือเป็นสำคัญเหมือนกัน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงปฐมเทศนา ไม่มีเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ไม่มีการประดิษฐานพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็ไม่มีการสืบต่อมา อาจจะไม่ได้เจริญรุ่งเรืองอย่างนี้ก็ได้ ก็เลยเสนอรัฐบาล ว่าน่าจะให้ประกาศวันเพ็ญเดือน 8 วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ถ้าเทียบก็คือเมื่อวานนี้เอง ให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาด้วยเรียกว่าอาสาฬหบูชา รัฐบาลก็มีมติเห็นชอบก็จึงประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ
เวลานี้ก็เมืองไทยก็วันสำคัญประเภทบูชาก็มี 3 นี่แหละ วิสาขบูชาเป็นหลักแต่เดิม และก็มาฆบูชา รองลงมา แล้วก็อาสาฬหบูชา นี่เรียกว่าวันสำคัญประเภทบูชา ที่ระลึกถึงพระรัตนตรัย เกี่ยวด้วยเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาสืบเนื่องจากพระประวัติขององค์พระบรมศาสดา
ทีนี้วันสำคัญอีกประเภทหนึ่งก็คือวันสำคัญที่เกี่ยวกับพระวินัย ก็อย่างวันนี้ วันนี้วันเข้าพรรษานี่ไม่มีคำว่าบูชา เป็นวันที่เกิดจากพระวินัย คือพุทธบัญญัติ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระสงฆ์ เมื่อเข้าฤดูฝนแล้วให้อยู่ประจำที่ มาอยู่ประจำที่ในฤดูฝน ฤดูฝนภาษาบาลีเรียกว่า วัสสะ เป็นสันสกฤตมาเป็นไทยก็กลายเป็นพรรษา พรรษาก็คือวัสสะนั่นเอง พรรษาก็แปลว่าฤดูฝน ให้อยู่ประจำที่ในฤดูฝน ก็เรียกสั้นๆว่าจำพรรษา จำพรรษาก็คืออยู่ประจำที่ในฤดูฝน มาจากพุทธบัญญัติ
เมื่อพระสงฆ์ถือปฏิบัติตามพระวินัยนี้ เมื่อถึงวันนี้กิจกรรมต่าง ๆก็เลยเกิดมีขึ้นมา เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพุทธบัญญัตินั้น เมื่อพระสงฆ์มีการปฏิบัติทำกิจกรรม การอธิษฐานพรรษา เตรียมการต่างๆ พุทธบริษัทได้รู้ได้เห็นก็มาร่วมมือ เพราะว่าพุทธบริษัทนั้นอุปถัมภ์พระสงฆ์อยู่ ก็มาอุดหนุน มาร่วม มาจัดอะไรต่างๆ ก็เลยเกิดเป็นประเพณีขึ้นมา มีการทำบุญ เช่น เลี้ยงพระ แล้วก็มีอุปกรณ์วัตถุสิ่งของอะไรที่พระจะต้องใช้ในการอยู่จำพรรษา ญาติโยมก็จัดมาถวาย จัดไปจัดมาอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญ ในที่สุดก็เกิดเป็นประเพณีขึ้นมา เรียกว่า เรื่องของพระนั่นเองที่ว่าจะต้องอยู่ประจำที่
สาระสำคัญก็คือเมื่อถึงวันนั้นพระสงฆ์ก็มาประชุมกัน ตกลงว่าอยู่วัดไหนแล้ว ก็มาทำกิจกรรมที่เราเรียกว่าพิธีอธิษฐานพรรษา ก็คือกำหนดใจหรือตั้งใจว่าจะอยู่ประจำในที่นี้ตลอด 3 เดือน
คำว่าอธิษฐานก็แปลว่าตั้งใจแน่นอนลงไป ไม่ได้มีความหมายอย่างในภาษาไทย ภาษาไทย อธิษฐานนี่กลายเป็นว่า ตั้งความปรารถนา กลายเป็นว่าอยากได้โน่นได้นี่ ขอให้ได้นั่นได้นี่ ความหมายก็ค่อยๆเพี้ยนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผิดแม้แต่ธรรมะไปเลย อธิษฐานเดี๋ยวนี้คนไทยก็กลายเป็นขอโน่นขอนี่ จนจะต้องล้อว่า ของพระนี่อธิษฐานเพื่อจะทำ แต่ของชาวบ้านคนไทยทั่วไปกลายเป็นอธิษฐานเพื่อจะได้ ของพระไม่มีอธิษฐานเพื่อจะได้ อธิษฐานเพื่อจะทำ หมายความว่า ตั้งใจว่าจะทำอะไร คิดว่าจะทำแน่ลงไปและก็อธิษฐานจิต
พุทธศาสนานี่ไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้ตั้งความปรารถนาเพื่อจะได้จะเอาโดยให้คนอื่นทำให้ แต่ว่าให้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงว่าจะทำอะไร เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทรงแน่พระทัยว่า ทางนี้ถูกต้องแล้ว ตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวก็ต้องไปให้สำเร็จ อย่างนี้เรียกว่าอธิษฐานจิต อธิษฐานเพื่อทำ ทีนี้ของเรานี่ก็อธิษฐานพรรษาก็คือ ตั้งใจกำหนดตัดสินแน่วแน่ลงไปว่าจะอยู่ที่นี่ ก็คือทำนั่นเอง การอยู่ก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่ง ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าอยู่ที่นี่ อธิษฐานไตรจีวร อธิษฐานบาตร ก็คือกำหนดลงไปว่า เอาอันนี้เป็นของใช้ประจำตัว นี่คือความหมายของอธิษฐาน
เนี่ยอธิษฐานพรรษาก็ไม่มีอะไรมากก็ตั้งใจแน่ลงไปว่าอยู่ที่นี่ตลอดเวลา 3 เดือนก็กล่าวลงไปว่า อิมัสมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ ก็แปลว่า อุเปมิ แปลว่า ข้าพเจ้าตกลงเข้าอยู่ วัสสัง พรรษา ก็คืออยู่ประจำฤดูฝน อิมัง เตมาสัง ตลอดไตรมาสนี้ ไตรมาส เตมา ก็คือไตรมาส สามเดือนนี้ อิมัสมิง อาวาเส ในวัดนี้ ก็เท่านี้เอง ก็รวมความก็บอกว่า ข้าพเจ้าตกลงเข้าอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาสในวัดนี้ แล้วก็ยังถือว่าเวลากลับไปกุฏิแล้วจะไปอธิษฐานซ้ำอีกก็ได้ ก็เปลี่ยน อิมัสมิง อาวาเส เป็น อิมัสมิง วิหาเร ก็แปลว่าอยู่ตลอดไตรมาสในวิหาร คำว่าวิหารแปลว่าที่อยู่ ไม่ใช่หมายความว่าเป็นวิหารในภาษาไทย ภาษาไทยวิหารก็เพี้ยนอีก คือภาษาไทยนี่คำพระนี่เพี้ยนแทบทั้งหมดแทบจะไม่มีเหลือ ความหมายมันกลายกลายกลายไป
ทีนี้ไม่มีการศึกษา พุทธศาสนานี้อยู่ได้ด้วยการศึกษา เมื่อไม่มีการศึกษา พูดต่อกันไปก็เพี้ยนหมด อย่างน้อยความหมายก็แคบลงบ้าง หรือว่าเลือนรางลงไปบ้าง ถ้าไม่งั้นหนักเข้าก็เคลื่อนคลาดไปเลย กลายถึงตรงข้ามก็มี กับของเดิม ก็เอาเป็นว่าอธิษฐานพรรษา ก็อธิษฐานทั้งวัดก่อน จะไปอธิษฐานที่กุฏิก็ได้ แต่จะไม่จำเป็น เพราะว่าเดี๋ยวก็จะเกิดความลังเลไม่สบายใจอีก เกิดรุ่งอรุณขึ้นมานอกกุฏิอีก
ความจริงคำว่าอาวาเส กับวิหาเร นั้นเดิมท่านให้ใช้แทนกันได้ด้วยซ้ำ วิหาเรก็หมายถึงทั้งวัดนี่แหละ ก็ใช้แทนคำว่าอาวาเสได้ คำว่าวัดนี่มีหลายคำ อาวาเส ก็แปลว่าวัด วิหาเรก็วัด อาราเมก็วัด และคำที่เก่าที่สุดตอนพระพุทธเจ้าอนุญาตวัด ใช้คำว่าอาราม พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราอนุญาตอาราม นี่คือคำอนุญาตให้มีวัด อารามก็คือสวน สวนก็คือเต็มไปด้วยต้นไม้ที่รื่นรมย์
ต่อมาก็ในสวนนั้นนะมีกุฏิที่อยู่ มีอาคารก่อสร้างเป็นหลังๆ อาคารที่ก่อสร้างเป็นหลังๆนั่นแหละเรียกว่าวิหาร คือที่อยู่ซึ่งอยู่ในอารามอีกทีหนึ่ง ทีนี้ตอนแรกก็เป็นที่อยู่แบบเป็นหลังเล็กเล็กเล็กเล็ก ต่อมาก็เรียกรวมหมู่วิหารนั้น ก็เรียกรวมกันทีเดียวว่าวิหาร คำว่าวิหารก็กลายเป็นสมุหนาม คล้ายๆ collective noun เป็นชื่อรวมไป ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่ากุฏิทั้งหมด อาคารทั้งหมดก็เลยรวมเป็นทั้งวัดนั้นแหละเรียกว่าวิหาร นี่คือจะเรียกว่าวิวัฒนาการก็ได้
ทีนี้อีกศัพท์หนึ่งคำว่าวิหารนี้ ถ้าใช้ศัพท์ภาษาบาลีนี่วิหารก็แปลว่าที่อยู่ และอีกศัพท์คำว่าอาวาส อาวาเส ก็แปลว่าที่อยู่เหมือนกัน ก็เลยเอาคำว่า อาวาเส มาใช้แทนก็ได้ ก็เกิดมีอีกคำ ก็คือ อาวาเส ก็กลายเป็นว่าคำว่าวัดนี่มีคำที่ใช้กันมาทั่วไปตอนนี้ก็เท่ากับ 3 คำ แต่ว่ามีความเป็นมาตามลำดับอย่างที่ว่า และยังมีคำเดิมบางทีอย่างที่ว่า วน ( วะ-นะ ) วนก็แปลว่าป่าเลย อย่างเชตะวันอย่างงี้ เวฬุวันอย่างงี้ ชื่อเป็นป่าทั้งนั้น ชีวกัมพวัน อัมพวัน ป่า หรือญาณเวศกวัน ก็ป่าทั้งนั้นน่ะนะ บางทีก็ใช้ตัววันเนี่ยก็หมายถึงวัดไปด้วย แต่ว่ามันเป็นศัพท์ที่ไปซ้ำกับป่าทั่วไป ก็เพื่อจะให้ชัดลงไปก็ระบุ ก็ใช้เป็นอาราม วิหาร อาวาส และปัจจุบันนี่ก็เลยมานิยมก็เป็นยุคสมัย บางครั้งก็จะนิยมใช้ว่า อิมัสมิง วิหาเร และตอนนี้มานิยมใช้ อิมัสมิง อาวาเส ก็จะใช้คำไหนก็ใช้ได้ ก็ให้รู้ความเป็นมาอย่างนี้
รวมความก็คือว่าเรามากำหนดใจและก็เลยมาทำเป็นกิจกรรมของส่วนรวม เพราะเราอยู่กันเป็นชุมชนเป็นสงฆ์ ก็ทำเป็นกิจกรรมส่วนรวม ก็เลยมาประชุมกัน กล่าวเป็นถ้อยคำออกมาพร้อมๆกันว่า เราซึ่งอยู่ในชุมชนนี้ มาตกลงกันว่าทุกองค์ที่อยู่ในชุมชนนี้ เป็นสมาชิกนี้ จะอยู่ประจำที่วัดนี้ตลอดสามเดือน สามเดือนก็เริ่มแรม 1 ค่ำเดือน 8 คือของพระนี่เริ่มเดือนนี่ท่านใช้แรม 1 ค่ำแล้วพอไปถึงวันเพ็ญนี่ถือเป็นสุดเดือน ของเรานี่เราเรียกสิ้นเดือน วันแรม 15 ค่ำ มันก็ยุ่งเหมือนกันการนับเดือนของท่านกับของเราก็ไม่เหมือนกัน ท่านนับฤดูอะไร ท่านก็ไปสุดที่วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ
แรม 1 ค่ำก็แปลว่าวันแรกที่จะเข้าสู่การจำพรรษา เริ่มนับการเข้าจำพรรษาฤดูฝนของเรา ก็ถือเป็นวันเริ่มฤดูฝนด้วย วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 แล้วก็นับไป 3 เดือน ก็ไปสิ้นสุดที่วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ก็เป็นวันสุดท้าย ก็เป็นวันสิ้นสุดพรรษา ก็เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่าวันออกพรรษา นี่ถ้าไม่เข้าใจก็นึกว่าวันขึ้น 15 ค่ำ นี่ออกพรรษาแล้วก็เลยจะไปไหนก็ผิดอีก เพราะว่าก็ต้องดูอีกว่าแล้วนับพรรษาไปนี่สามเดือน ก็ต้องนับแยกรายละเอียดไปเป็นวันวันวันวันวันไป แล้วไปครบจำนวนวันที่เป็น 3 เดือนเมื่อไหร่ ก็วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ที่ว่า แล้วก็ต้องดูว่าวันเริ่มเวลาไหนสิ้นสุดเมื่อไหร่ก็ต้องมีวิธีกำหนดอันนี้เป็นเรื่องของข้อตกลง
ก็ตกลงกันตามแบบแผนมาแต่เดิม ตามวินัยซึ่งเป็นเรื่องประเพณีเดิมของชนชาวชมพูทวีปด้วย ว่านับวันก็นับว่ารุ่งอรุณเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และซึ่งมันก็เป็นไปตามธรรมชาติ ดูง่ายพระอาทิตย์ขึ้นก็เริ่มวัน ก็ไปสิ้นสุดก็ตัดสินด้วยพระอาทิตย์นี่แหละ เพราะว่าพระอาทิตย์ขึ้นมันก็ทั้งจบวันเก่าแล้วก็ขึ้นวันใหม่ เพราะฉะนั้นก็ตัดสินกันด้วยพระอาทิตย์ขึ้น ก็เรียกว่ารุ่งอรุณ รุ่งอรุณก็คือ อรุณก็คือการที่พระอาทิตย์ขึ้น เพราะฉะนั้นวันสิ้นสุดพรรษา ขึ้น 15 ค่ำไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ ก็ต้องไปสิ้นสุดตอนที่ว่าไปขึ้นวันใหม่ที่จะขึ้นแรม 1 ค่ำเดือน 11 เช้าวันนั้นแหละ เพราะฉะนั้นวัน 15 ค่ำตอนกลางวันนั้นก็ยังไม่สิ้นสุดพรรษาจริง ต้องไปสิ้นเอาตอนที่ไปถึงพระอาทิตย์ขึ้น ก็ไปเอาพระอาทิตย์ขึ้นก็เป็นอันบอกว่านี่ขึ้นวันใหม่แล้วนะ วันขึ้น 15 ค่ำก็จบไป
นั้นก่อนที่จะขึ้นแรม 1 ค่ำ ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น สิ้นสุดวันขึ้น 15 ค่ำเนี่ยก็ยังถือว่ายังไปไหนไม่ได้ ต้องจำไว้ด้วย ไม่งั้นแล้วเดี๋ยวขาดพรรษาอีก แต่ท่านก็มีอีก ท่านบอก อันนี้เป็นเรื่องรายละเอียดไม่ต้องไปจำ ท่านบอกว่า ถ้ามีธุระก็ให้ออกไปเลยก่อน 7 วันออกพรรษา ไปได้เลย ก็ไม่ถือพรรษาขาด ฉะนั้นก็ต้องมีการผูกใจตกลงว่าไปแล้ว เอาเป็นว่าโดยทั่วไปก่อน หลักใหญ่ก็อยู่ไปจนกระทั่งถึงสิ้นสุดราตรีของวันขึ้น 15 ค่ำ จนกระทั้งพระอาทิตย์ขึ้น รับอรุณเข้าสู่วันแรม 1 ค่ำ อันนั้นก็จะไปหมดพรรษาจริง หมดพรรษานี่ก็หมดเวลาไตรมาสหรือ 3 เดือนตามที่ตกลงกัน แต่ฤดูฝนยังไม่หมดนะ
ฤดูฝนนี่ ถ้านับแบบเดิมก็คือนับตามแบบชมพูทวีป ฤดูฝนมี 4 เดือนเพราะว่าแบ่งปีหนึ่งเป็น 3 ฤดู เมื่อแบ่งเป็น 3 ฤดูก็มีฤดูละ 4 เดือน 4 เดือน เพราะฉะนั้นฤดูฝนหรือวัสสะแท้เนี่ยก็จะต้องอีกเดือนหนึ่ง ก็ไปสิ้นสุดเอาขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ก็หมายความว่าแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นวัสสา ฤดูฝน อ้าวแล้วทำไมให้จำพรรษาแค่ 3 เดือน ท่านให้จำพรรษา 3 เดือนแล้วให้อีกเดือนหนึ่งเป็นเดือนเตรียมตัว
พระสมัยก่อนก็ไม่อยู่ประจำที่ พอ หมดฤดูฝนแล้วก็ออกจาริกต่อ ทีนี้สมัยก่อนนี้เวลาไปก็ไม่ให้มีภาระอะไรมาก ก็เตรียมตัวให้พร้อม เตรียมตัวก็บริขารสำคัญอันหนึ่งก็คือผ้าไตรจีวร ก็ถือโอกาสเตรียมผ้าใหม่ ก็เลยพระพุทธเจ้าให้เวลาหนึ่งเดือนท้ายฤดูฝนคือเดือน 12 เป็นเวลาตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปถึงกลางเดือน 12 คือขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นจีวรกาล เป็นเวลาสำหรับแสวงหาและทำจีวร ก็พูดง่ายๆคือเตรียมจีวรสำหรับไปจาริกใหม่ เวลาไปจาริกก็จะได้ไม่ต้องกังวล นั้นก็เลยมีเวลา 1 เดือนขึ้นมานี้และก็มีพุทธบัญญัติมาทำให้ได้ผลหนักแน่นขึ้นอีกก็เลยมีการทอดกฐิน
ทอดกฐินเป็นเรื่องของโยมที่มาอุปถัมภ์พระ ของพระก็คือการ ท่านเรียกว่ากรานกฐิน คือ ทำผ้ากฐินให้สำเร็จ ผ้ากฐินก็คือผ้าที่ตามพุทธบัญญัติว่า เมื่อจำพรรษาแล้วก็ให้พระสงฆ์ที่อยู่ด้วยกันเนี่ยมาทำผ้าขึ้นผืนหนึ่ง ผ้าจีวรแล้วก็มาประชุมให้แก่กันมอบให้แก่องค์หนึ่ง และเนี่ยเป็นการแสดงน้ำใจด้วย และก็แต่ละองค์ก็มีภาระของตนเองในการที่จะแสวงหาและก็ทำจีวรของตัวเอง และก็พอผ่านกาลเวลานี้ไปแล้วก็ออกจาริกกันไป อันนี้เป็นเรื่องที่ควรทราบไว้โดยย่อ
จะเห็นว่าในตอนที่จะเข้าพรรษา พระก็มีกิจที่จะต้องเตรียมการต่างๆ เช่น พวกกุฏิ เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย อะไรต่างๆก็ต้องเตรียม ญาติโยมซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ต้องการอุปถัมภ์พระสงฆ์ และบางทีก็มาเลี้ยงดูอุปถัมภ์อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อพระมีการตระเตรียมอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญก็เลยยิ่งมาเอาใจใส่ดูแล ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ พระต้องใช้อะไรมั่ง อ้าว แต่ก่อนนี้อาบน้ำฝน ฤดูฝน โยมก็เลยถวายผ้าอาบน้ำฝน ก็เกิดประเพณีขึ้นมา ก็ถึงเวลานี้เป็นอันว่าทำพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝนกัน
แล้วก็พระอยู่กันมากๆ เวลาจำพรรษามีกิจกรรมเวลาค่ำอย่างทำวัตร สวดมนต์ หรือพระต้องเรียนหนังสือสมัยก่อนก็ใช้ดวงประทีปใช้เทียน ใช้อะไรพวกนี้ ไม่มีแสงของไฟฟ้า ญาติโยมก็จัดเตรียมพวกประทีปโคมไฟ พวกเทียนอะไรต่ออะไรมาช่วย พระจะได้ปฏิบัติศาสนกิจสะดวก เกิดประเพณีถวายเทียนพรรษาขึ้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของฝ่ายญาติโยมมาอุปถัมภ์ กลายเป็นประเพณีทำบุญเนื่องในวันเข้าพรรษานี่แหละ ที่อย่างที่เมื่อวาน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่มีในพระวินัย เป็นเรื่องภาระของพระสงฆ์เองแต่ว่าญาติโยมมาอุปถัมภ์ อย่างนี้เรียกว่างานบุญที่เนื่องจากพระวินัยสำหรับพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง นี้ก็ให้ทราบกันไว้ ก็แปลว่านี่ก็เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาตามพระวินัยบัญญัติ
ทีนี้เมื่อเป็นวินัยบัญญัติก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัย ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องหนึ่ง กาลเวลา กาลเวลา ก็บอกแล้วว่าเริ่มแรม 1 ค่ำ วันนี้เป็นต้นไป จนกระทั่งถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 แล้วก็หมายถึงว่าสิ้นสุดราตรีของขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 นั้น รุ่งสว่างรับอรุณของวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ก็ครบ 3 เดือน นี่เป็นเรื่องกาลเวลา ก็อยู่ประจำที่ เขาเรียกว่าเวลาอรุณแล้วต้องให้อยู่ในเขตวัดนี้ กลางคืนอาจจะไปไหนมาไหนก็ต้องมีกำหนด ตกลงว่าเวลาไหนที่เราจะเอาเป็นแน่นอนว่าอยู่ ก็คือกำหนดด้วยอรุณ อาจจะมีธุระไปแล้วกลับมากลางคืนก็มาให้ทันรับอรุณ นี่ก็เป็นหลักการ แล้วก็ จะออกไปไหนก็เช่นเดียวกันก็ไปออกไปต้องให้อรุณแล้วก่อน ถ้าไม่อรุณก่อน ก็ถือเคร่งครัดก็เป็นขาดพรรษาไปก่อน อันนั้นก็สำคัญ
ทีนี้เมื่ออยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือนไม่ไปค้างแรมที่ไหน ก็มียกเว้นให้อีก ถ้ามีธุระจำเป็นเช่นว่า โยมพ่อโยมแม่ป่วย อาจจะอยู่ไกลต่างจังหวัดหรืออุปัชฌาย์ไม่ได้อยู่ด้วย พอบวชแล้วก็แยกไปอยู่วัดอื่น อุปัชฌาย์ป่วย จะไปพยาบาลรักษา เป็นต้น หรือมีกิจนิมนต์ของญาติโยมซึ่งเป็นเรื่องของผู้ศรัทธา เป็นกิจพระศาสนา อย่างงี้ถือเป็นกิจสำคัญที่ยกเว้น ก็ให้ไปได้ แต่ให้กลับภายใน 7 วัน ก็เลยเกิดมีพุทธบัญญัติยกเว้นในเรื่องนี้ว่า ถ้ามีกิจก็เรียกว่ากรณียนั่นเอง คำว่ากิจนี่มันคู่กับกรณีย ในที่นี้เรียกว่ากรณีย เป็นกรณียก็คือสิ่งที่ต้องกระทำ กรณียก็แปลว่าสิ่งที่พึงกระทำหรือต้องกระทำ ทีนี้สิ่งที่ต้องกระทำขึ้นมานี่ก็เลยอนุญาตว่าให้ไปได้ แต่ก็มีกำหนดเวลา ว่าให้ไปได้แค่ 7 วัน ก็เลยตกลงว่าถ้ามีกิจอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ให้ไปได้โดยกำหนดใจว่าเราจะไปทำให้เสร็จและกลับมาภายใน 7 วัน ก็นับ 7 วันก็นับด้วยวิธีที่ว่าเมื่อกี้นี่ รับอรุณที่ 7
และทีนี้คำว่า 7 วันก็เรียกเป็นภาษาบาลีว่า สัตตาหะ มาเป็นไทยเรียกตามสันสกฤตว่า สัปตาหะ คำเดียวกัน สัตตาหะ สัปตาหะ ทีนี้ไทยเราใช้ตามสันสฤตก็เป็นสัปตาหะ แผลงเป็นไทย ต เป็น ด เป็นสัปดาห์ การันต์ที่ตัว ห ซะ นี้บาลีก็ยังสัตตาหะ กรณีย สิ่งที่ต้องกระทำ สัตตาหะ ในเวลา 7 วัน ก็รวมเรียกว่า สัตตาหกรณีย ก็คือกิจหรือสิ่งที่หรือเรื่องที่จะพึงกระทำให้เสร็จใน 7 วัน ก็ถ้ามีเรื่องอย่างที่ว่า เช่น อุปัชฌาย์ป่วย ไปกิจนิมนต์สำคัญก็เลยเรียกกันว่าทำสัตตาหะไป ก็คือสัตตาหกรณีย เรียกให้สั้นลงไป มาให้ทันภายใน 7 วัน
นี้ถ้าไม่เสร็จใน 7 วัน ท่านบอกให้กลับมาก่อน แล้วสัตตาหะไปใหม่ ก็ทำเป็นช่วงๆไป เช่น อุปัชฌาย์อาจจะป่วยเรื้องรังอย่างนี้ เป็นต้น ก็ไป อันนี้ก็เป็นเรื่องพิเศษยกเว้นขึ้นมา แต่ก็มีอีก บอกว่าถ้าเกิดวัดถูกน้ำท่วมใหญ่อย่างงี้เป็นต้นนะฮะ ท่วมทั้งวัดอยู่ไม่ได้ทำไง งี้ท่านก็ยกเว้น บอกว่าเป็นอันว่าให้ไปได้เลย ก็แปลว่าขาดพรรษาแต่ว่าไม่เป็นอาบัติ เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจพูดเท็จ แต่ก็เป็นเรื่องรายละเอียด อันนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้รายละเอียดมากนัก
นี้นอกจากกาลเวลา ก็ต้องรู้สถานที่ หนึ่ง ก็จำพรรษา ก็ต้องรู้เรื่องเวลา ธรรมดา ที่นี้จำพรรษาที่ไหน ก็ต้องรู้เกี่ยวกับสถานที่ ก็ต้องรู้กำหนดเกี่ยวกับสถานที่ว่า อ้อ เราจำพรรษาในวัดญาณเวศกวัน ก็กำหนดเขต สมัยก่อนก็ต้องจะต้องบอกกันละเอียด เพราะว่าวัดสมัยก่อนไม่ค่อยมีกำแพง ไปดูเถอะวัดโบราณตามต่างจังหวัดนะ ก็เป็นวัดของชุมชนนั้นมันก็เป็นที่สาธารณะ ถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็ยังถือว่าวัดเป็นที่สาธารณะอยู่ เป็นที่ของประชาชน วัดก็ต้องรู้กันว่า เออ แค่ไหนเป็นเขตวัด
แต่ประชาชนจะให้ความสำคัญมาก เพราะถือเรื่องบาปบุญเนี่ยเป็นเรื่องใหญ่ ก็พอเข้าเขตวัดนี่เขาก็จะให้ความสำคัญ เช่น เรื่องการใส่รองเท้า ถอดรองเท้า แม้แต่เรื่องการที่ว่าจะมีทรายติดไปกับรองเท้าอะไรเงี้ยนะฮะ กลัวมาก ปีหนึ่งก็ต้องเอาทรายมาชดใช้ถวายวัด เกิดประเพณีก่อเจดีย์ทรายอะไรเงี้ย ชาวบ้านก็ถือมาก ถือเป็นเรื่องสำคัญ นี้เก่าก่อนก็เลยต้องบอกว่าวัดของเรามีเขตแค่ไหน ต้องรับอรุณภายในเขตนั้นนะ อย่าไปรับอรุณนอกเขต ถ้าไปนอกเขตแล้วอรุณขึ้นก็กลายเป็นว่าขาดพรรษา อย่างวัดเราเวลานี้ก็เลย พูดง่ายก็เอากำแพงเป็นที่กำหนด ก็เท่านั้นเองใช่มั้ย เวลานี้ แล้ววัดตอนนี้ก็กำลังขยายกำแพง เพราะโยมถวายที่เพิ่ม ตกลงว่าเรื่องสถานที่กำหนดเขตนี่ก็ไม่ต้องอธิบาย ก็รับอรุณกันภายในนี้
เมื่อจำพรรษาครบสามเดือนแล้วก็จะได้อานิสงส์ อานิสงส์ก็คือสิทธิพิเศษ สิทธิพิเศษที่ได้จากการที่ได้จำพรรษา ก็มีข้อต่างๆ เช่น ได้รับกฐิน รับกฐินได้ เป็นต้น เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ไปไหนไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ เป็นต้น อันนี้เอาไว้เรียนกันอีกที เพราะว่าบอกในทีนี้ก็ทำให้มากมายจำฟั่นเฝือ เอาว่านี้ก็คือเรื่องเกี่ยวกับพระวินัย เรื่องเป็นเรื่องของพระสงฆ์เท่านั้นเองแท้จริง แต่ว่าโยมก็มาอุปถัมภ์
ทีนี้พอเกิดเรื่องข้อบัญญัติทางพระวินัยแล้วเนี่ย เราก็ต้องพยายามทำวินัยให้เกิดประโยชน์ที่สุด เพราะวินัยนั้นก็เป็นเรื่องของการจัดตั้งวางระเบียบระบบ เป็นเรื่องของบัญญัติ เป็นเรื่องของสมมติ วินัยนี่เป็นเรื่องสมมติบัญญัติทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องความจริง เรากำหนดวันจำพรรษา พระจะต้องอยู่อย่างงี้อะไรมันมีที่ไหนโดยธรรมชาติ ใช่มั้ยฮะ เพราะฉะนั้นวินัยนี่ก็เป็นเรื่องการจัดตั้งของมนุษย์ ก็เรียกว่าสมมติบัญญัติ
แต่สำคัญ ไม่ได้เหมือนในภาษาไทย คนไทยถือว่าสมมติแล้วไม่สำคัญ แทบจะมองเป็นเหลวไหล แต่ของพระนี่สมมติสำคัญมาก ท่านบอกว่าสัจจะมี 2 อย่าง สัจจะความจริง หนึ่ง สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ สอง ปรมัตถสัจจะ ความจริงโดยความหมายอย่างยิ่ง หรือความหมายสูงสุดที่มนุษย์จะเข้าใจได้ เป็นสภาวะสัจจะหรือปรมัตถสัจจะ ก็คือความจริงตามธรรมชาติแท้ๆของมัน เหมือนอย่างเรามาเรียกว่าพาน มันก็เป็นคำของมนุษย์ตกลงกันเรียก ธรรมชาติมันไม่มี เรามาจัดทำ รูปร่างอย่างงี้ ใช้เพื่อประโยชน์อย่างงี้ เราก็เรียกชื่ออย่างงี้ แล้วก็หมายรู้กัน อย่างงี้เรียกว่าสมมติ
สมมติแปลว่าอะไร สมมติมาจากสังบวกมติ มติแปลว่ามติ การยอมรับ การรับรู้ ข้อตกลง และสังแปลว่าร่วมกัน สมมติ ก็แปลว่ามติร่วมกัน หรือข้อตกลง หรือการหมายรู้ร่วมกัน ยอมรับร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล ก็เป็นความฉลาดของมนุษย์ การที่มีสมมติก็คือเป็นที่มาของอารยธรรมเลย ถ้ามนุษย์ไม่มีสมมติแล้ว ความเจริญของโลกเกิดไม่ได้ มนุษย์เนี่ยรู้จักสมมติจึงทำให้เกิดความเจริญต่างๆในวัฒนธรรม อารยธรรมขึ้นมา
ดังนั้น สมมตินี่สำคัญอย่างยิ่ง เอาเป็นว่าสมมตินี้แปลว่ายอมรับร่วมกัน ตกลงกัน ภาษาเกิดได้ด้วยสมมติ เราตกลงกันว่าเอานะอันนี้เรียกว่ากระดาน อันนี้เรียกว่าพรม อันนี้เรียกว่าจีวร แม้แต่ตัวคน องค์นี้เรียกชื่อว่าอย่างงี้ เรียกชื่อว่างั้น สมมติทั้งนั้น มีมติร่วมกัน ถ้าตกลงกันแล้วไม่ถือตาม ยุ่งเลย ถูกมั้ย ดังนั้น เมื่อตกลงกันยังไงแล้วก็ต้องยอมรับ
อย่างพระสงฆ์นี่ท่านมีพิธีสมมติ อย่างสีมาเนี่ย เวลาทำพิธีเขาเรียกว่าสมมติสีมา ภาษาบาลีเรียกว่าสีมาสัมมติ การสมมติสีมาก็คือตกลงกันกำหนดว่าเอานี่ เขตนี้เป็นที่ประชุมสงฆ์ หรือว่าเวลาแต่งตั้งพระทำหน้าที่ ก็มาประชุมกัน แล้วก็ตกลงกันว่า เอานะองค์นี้ มติที่ประชุมให้เป็นผู้ทำหน้าที่จัดกิจนิมนต์สำหรับภัตตาหาร เป็นต้น เรียกว่า ภัตตุเทสก์ หรือเรื่องจีวร ก็มีพระแบ่งจีวร พระเก็บจีวร สมัยก่อนนี้ต้องมีหน้าที่แบ่ง ก็ต้องมาสำเร็จด้วยการประชุม ประชุมก็มีมติร่วมกัน มติร่วมกันเรียกว่าสมมติ การที่มติที่ประชุมแต่งตั้งพระเนี่ยเรียกว่า สมมติทั้งนั้น พิธีสมมติ
สมมติเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกิจกรรมของส่วนรวมของชุมชน ของสังคม เมื่อมีมติร่วมกันเป็นสมมติอย่างไรแล้วต้องยอมรับตามนั้น ถ้าไม่งั้นแล้ว สังคม ชุมชนอยู่ไม่ได้ แต่ว่าขอให้สมมตินั้นตั้งอยู่บนฐานของความชอบธรรม เกิดขึ้นจากเหตุผลที่เรียกว่ามีธรรมะเป็นเครื่องรองรับ อันนี้เรียกว่าสมมติ วินัยก็เป็นเรื่องสมมติ คือเป็นมติตกลงกันว่าเอาอย่างงี้
เมื่อสมมติกันแล้วก็ยังมีคำว่าบัญญัติ คำว่าบัญญัติเนี่ยที่จริงมันมาจากภาษารูปธรรม แปลว่าจัดตั้ง เช่นเรามา จะมาประชุมกันเนี่ย ทำไงจะให้มันประชุมกันได้เรียบร้อย มานั่งเป็นที่เป็นทาง ทำกิจกรรมได้สะดวก ก็มีการขนอาสน์สงฆ์มาจัดเข้าที่ จะนั่งประชุมแบบไหน จัดเป็นแบบนั้น แล้วจัดพรม ตั้งอาสนะ อะไรทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นคำเดิม ความหมายเดิม ของคำว่าบัญญัติ
คือคำว่าบัญญัติเนี่ยมาจากภาษาวัตถุก่อน คือภาษาต่างๆ ธรรมะเนี่ยมาจากภาษารูปธรรมก่อน เช่น อย่างมรรคเนี่ยก็คือทางเดินนั้นแหละ แล้วมันกลายมาเป็นทางชีวิต คำว่าบัญญัตินี่เดิมก็ปัญญา ปนะ คือจัดตั้ง วาง ปู ลาด อาสนะอะไรต่างๆเนี่ย จัดตั้ง วางให้มันเข้าที่เข้าทางให้เหมาะกับการทำกิจกรรมนั้น กิจกรรมนั้นจะได้ดำเนินไปด้วยดี นี้มาใช้เป็นภาษาที่เป็นเรื่องของสังคม แล้วเป็นนามธรรมมากขึ้น แล้วกลายเป็นคำว่าบัญญัติก็คือจัดตั้งวางระบบระเบียบต่างๆ คำว่าบัญญัตินี่คือคำว่าจัดตั้ง
นั้นเรื่องวินัยก็เป็นเรื่องของสมมติและบัญญัติ สมมติก็คือมติร่วมกัน ยอมรับ รับรู้ร่วมกันว่าเอาอย่างงี้ แม้กระทั่งใช้ภาษาเรียกอันนี้ว่าอย่างนี้ แล้วก็บัญญัติก็คือวาง จัดตั้งลงไปว่าเอาอย่างงี้นะ เป็นข้อกำหนดเลย ว่าต่อไปนี้นะ ต้องให้ทำอย่างงี้ ทำอย่างงั้นไม่ได้ ผิด เช่น บัญญัติว่าถึงวันแรม 1 ค่ำให้พระภิกษุตกลงใจหาที่อยู่ให้แน่นอนลงไปแล้วก็กำหนดใจว่าจะอยู่จำพรรษาที่นั่น อย่างเนี่ยเรียกว่าบัญญัติ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วก็คือจัดตั้งระเบียบข้อบัญญัตินี้ไว้
ทีนี้ข้อบัญญัติสำหรับพระสงฆ์เนี่ย ต้องมีไว้เพื่อการฝึก เพราะชีวิตของพระสงฆ์นี่เป็นชีวิตที่บอกแล้วเป็นชีวิตแห่งสิกขา การฝึกฝนพัฒนาชีวิตทั้งนั้น ดังนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เนี่ยก็จะเชื่อมโยงไปสู่ความมุ่งหมายในการฝึกฝนเรียนรู้พัฒนาชีวิตทั้งนั้น ดังนั้น ข้อที่บัญญัติแต่ละข้อเนี่ยก็เลยเรียกว่าสิกขาบท จะเห็นว่าข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าวางวางไว้เนี่ยเป็นข้อข้อข้อข้อข้อข้อจะเห็นว่าเรียกว่าสิกขาบท ก็แปลว่าข้อศึกษา
ให้เห็นว่าวินัยที่พระพุทธเจ้าวางเนี่ยมีจุดมุ่งหมาย เพราะว่าพุทธศาสนานี้มีขึ้นเพื่อจะพัฒนามนุษย์ ให้มนุษย์ศึกษา ฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตน ในการจัดตั้งวางระบบระเบิบต่างๆ การจัดสรรความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การจัดสภาพแวดล้อมอะไรต่างๆ มันก็โยงมาหาเรื่องความมุ่งหมายอันนี้ จัดเพื่อการศึกษา แต่ละข้อที่บัญญัติขึ้นมาก็เลยกลายเป็นอย่างที่ว่า เรียกว่า สิกขาบท
ก็เราจะเห็นว่าบัญญัติในทางพุทธศาสนา มีเพื่อการศึกษา ทุกคนจะต้องมีจิตสำนึกว่า อ้อมีไว้สำหรับฝึกตัวของเราน่ะ เพื่อความดีงาม เพื่อชีวิตที่งอกงาม ไม่ใช่เป็นข้อบังคับ บัญญัติในทางพุทธศาสนาไม่ใช่ข้อบังคับ เรามักจะไปแปลกันว่าข้อบังคับ พอไปแปลกันข้อบังคับแล้วมันทำให้รู้สึกอึดอัด ใช่มั้ยฮะ ท่านไม่ได้ถือเป็นข้อบังคับ เป็นข้อฝึก สิกขาบท ข้อฝึก ข้อศึกษา ข้อเรียนรู้ ถ้าใครไปถือข้อบังคับก็รู้สึกโดนบีบแหละ พระพุทธเจ้ามาบีบเรา หรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็ไม่สบายใจ มันต้องทำตามด้วยความจำใจ และมันไม่มีจุดหมาย ใช่มั้ย มันถูกบังคับ มันก็แล้วแต่คนที่บังคับเขามีจุดหมายยังไง เราไม่มีความมุ่งหมายของเราเอง ความมุ่งหมายมันอยู่ที่คนบังคับ
แต่ถ้ามันเป็นข้อศึกษาแล้ว จุดหมายมันอยู่ที่เราเลย ก็คือเพื่อพัฒนาชีวิต เมื่อเราเข้าใจอย่างงี้แล้วเราจะต้องเอาประโยชน์จากวินัย กฎระเบียบกติกา แม้แต่ในทางบ้านเมืองสังคม ถ้าใช้หลักการอันเดียวกันเนี่ย ถ้าเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ก็จะเป็นทำนองเดียวกัน ก็คือเราต้องรู้ว่าที่เรา อ้อ ที่เรามีสังคมขึ้นมาอย่างงี้ ทำไมเราต้องมีสังคม และสังคมนี้จะตั้งอยู่ได้ด้วยอะไร ตั้งอยู่ได้ด้วยหลักการ หลักการที่มาจากความจริง ที่เราเรียกว่า ความถูกต้อง ความชอบธรรมต่างๆ
ความจริง ความถูกต้อง ความชอบธรรมที่เป็นหลักการนี้มาจากไหน ก็สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์อะไรเป็นต้น ที่มุ่งไปในแง่ที่ว่าเพื่อจะให้ชีวิตนี่มันดีงามขึ้น จะต้องปฏิบัติอย่างไรมันจึงจะเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยที่ถูกต้องทำเหตุปัจจัยยังไงชีวิตจึงจะเป็นไปในทางที่ดี เรามุ่งเอาเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นไปในทางที่ดี ตัดเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลเสียออกมา
เราก็วางระบบขึ้นมาในทางสังคมเนี่ย เพื่อจะให้ชีวิตดีมาหนุนชีวิตให้อยู่ดีเจริญงอกงาม ก็วางระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา ในทางสังคม ในทางชุมชน เพื่อตัดเหตุปัจจัย หรือช่องทางแห่งเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อชีวิต แล้วก็ตั้งวางระเบียบ ระบบ ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่จะมาเกื้อหนุนให้โอกาสแก่เหตุปัจจัยที่จะมาหนุนให้ชีวิตเจริญงอกงาม เท่านั้นเอง อันนี้สังคมเองที่จริงก็ต้องทำแบบนี้ อันนี้คือความหมายของวินัยในทางพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น พอเรามองอย่างงี้ เราจะเห็นว่าวินัยมันตั้งอยู่บนธรรมะอีกที วินัยตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ก็หมายความว่าการที่มีวินัยนี้ ต้องมีธรรมะเป็นฐาน ธรรมะก็คือความจริง ความถูกต้อง หลักการต่างๆ เริ่มตั้งแต่ความจริง ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เหตุปัจจัยความจริงตามสภาพชีวิตของมนุษย์ เป็นต้น แล้วก็เอาเหตุปัจจัยในแง่ที่ว่ามาหนุนให้เกิดความเจริญงอกงาม แล้วก็พยายามปิดกั้นเหตุปัจจัย หรือกำจัดเหตุปัจจัยในฝ่ายที่จะทำให้เกิดผลเสีย ใช่มั้ย อันนี้ก็คือวินัยมาอาศัยธรรมะ
เพราะฉะนั้นคนที่จะวางวินัยได้ผลก็ต้องรู้ธรรมะ รู้ความจริงของธรรมชาติว่า ความจริงเช่นเหตุปัจจัยยังไงมันจะทำให้เกิดผลเสีย เหตุปัจจัยยังไงทำให้เกิดผลดี แล้วก็วางวินัยได้ วางวินัยก็เกิดที่ว่าเนี่ย วินัยก็มาปิดกั้นช่องทางที่จะให้เกิดผลเสีย ตัดเหตุปัจจัยฝ่ายร้ายออก แล้วก็เปิดโอกาสหนุนเหตุปัจจัยฝ่ายดีฝ่ายสร้างสรรขึ้นมา นี่ก็คือการวางวินัยบนฐานของธรรมะ ก็ต้องรู้ธรรมะ รู้ความจริงของธรรมชาติ เป็นต้นก่อน
และเมื่อวินัยนี่เกิดจากเจตนาที่ดีโดยรู้เข้าใจมีปัญญาเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ มันก็เรียกว่าวินัยและชอบธรรม และจะได้ผลจริง ถ้าวินัยไม่ถูกต้องตามหลักความจริงของธรรมชาติ ไม่เป็นไปโดยชอบธรรมเพื่อผลดีของชีวิต เป็นต้น มันก็ง่อนแง่นแหละ ใช่มั้ยฮะ นั้นวินัยก็ต้องตั้งบนฐานของธรรม และก็ที่จริงวางขึ้นเพื่ออะไร ก็เพื่อธรรมะนั่นเอง ก็คือว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักการความเป็นจริง แล้วก็จำกัดแคบลงมา ให้เป็นไปตามหลักการความจริง เช่นเหตุปัจจัยในทางที่จะให้เกิดผลดีกับชีวิต เพราะมนุษย์ต้องการผลดี ก็นี่แหละก็เลยเรื่องของวินัยกับธรรมะก็คู่กัน ตกลงว่าวินัยก็เพื่อธรรมะ และก็ตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ทั้งอาศัยธรรมะและเป็นไปเพื่อธรรม
นั้นเมื่อเราอยู่อย่างงี้แล้วเนี่ย เราก็จะเป็นว่า อ๋อ วินัยเนี่ย ตอนแรกอาจจะเกิดจากเหตุแวดล้อมมาทำให้มีขึ้น อย่างเรื่องเข้าพรรษาเนี่ย เหตุแวดล้อมที่จะมาทำให้เกิดวินัยข้อนี้ก็เพราะว่าเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม ฤดูกาล เรื่องของการเดินทางไม่สะดวกในฤดูฝน ดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย หนทางเฉอะแฉะ เป็นต้น แล้วการเดินทางสมัยนั้นก็ไม่ได้สะดวก ไม่มียานพาหนะ ไม่มีถนนหนทางเรียบร้อยอย่างสมัยนี้ แล้วก็เดินทางก็ลำบาก แล้วก็เขาเองพวกคนข้างนอกเขาก็นิยมอยู่ประจำที่ นักบวชลัทธิอื่นก็อยู่ประจำที่ อันนี้ก็เหมือนกับว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่เข้ามา จะเรียกว่าบีบก็ได้นะฮะ ให้พระเนี่ยควรจะต้องอยู่ประจำที่
พระพุทธเจ้าก็อนุวัตรตามเรื่องของสภาพแวดล้อมและประเพณีของชนสมัยนั้น ก็จึงบัญญัติอันนี้ขึ้น นะฮะ แต่ว่าอันนั้นก็คือมองสั้นๆ ในแง่ของเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง แต่ทีนี้ว่าทำยังไงจะให้วินัยข้อเนี้ย เมื่อเกิดขึ้นแล้วมามีความหมายในทางธรรมะที่ได้ผลแก่ความมุ่งหมายของชีวิตพระสงฆ์คือสิกขาด้วย ก็เลยต้องจัดกันว่า เอ้า เมื่อวินัยนี้ เมื่อพระสงฆ์อยู่ประจำที่แล้ว เรามาจัดระบบชีวิตในพรรษาในการอยู่ประจำที่เนี่ยให้มันเกื้อหนุนต่อชีวิตแห่งการศึกษายิ่งขึ้น
ตอนนี้แหละมันก็อยู่ที่ว่าใครจะจัดได้เท่าไหร่ ก็เกิดมีพัฒนาเรื่อง เช่น ในชุมชนสงฆ์เอง ก็จะให้พระเนี่ยได้อยู่ประจำที่แล้ว มีพระที่เป็นรุ่นผู้ใหญ่ เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ จะได้เป็นกัลยาณมิตรแก่พระรุ่นหลัง พระรุ่นหลัง พระที่มีพรรษาน้อย หรือได้ร่ำเรียนมาน้อยก็จะได้มีที่ปรึกษา ได้ร่ำเรียนมากขึ้น ต่อมาก็เกิดกิจกรรมว่าเวลาในพรรษาเวลาที่เหมาะที่สุดแล้ว ตั้งชั้นเรียน ทำโรงเรียน สอนกันเอาจริงเอาจัง
ต่อมาก็พัฒนาไปอีก พุทธศาสนาเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป ชาวบ้านก็นับถืออยู่แล้ว มาวัดมาฟังธรรม เป็นต้น เออ คนหนุ่มของเรานี่ ตอนนี้พระก็อยู่ประจำที่กัน เอื้ออำนวยต่อการเล่าเรียนสั่งสอน เกิดประเพณีขึ้นมาอีก ให้คนหนุ่มเนี่ยมาบวชอยู่กับพระในตอนนี้ จะได้มาเล่าเรียนศึกษาธรรมะเพราะมีพระรุ่นเก่ามาอยู่ประจำที่ ท่านไปไหนไม่ได้ก็จะได้ทำงานนี้ได้เต็มที่ วินัยก็เข้ามาหนุนในเรื่องกิจกรรมในการศึกษาที่เป็นเรื่องของธรรมะนี่เข้าไป
แล้วก็กิจกรรมของฝ่ายญาติโยมก็หนุนเข้ามาว่า เออ ทำไงญาติโยมทั่วไปจะได้ประโยชน์ด้วย นอกจากว่าคนหนุ่มได้บวชเรียนแล้ว ก็เลยมีว่า อ้าว โยมก็พระก็อยู่ประจำกันพร้อม ท่านผู้เทศน์ผู้สอนก็อยู่ อย่างงั้นในพรรษาก็มาถืออุโบสถกันที่วัด มาค้างแรมที่วัดกัน อ้าว ญาติโยมก็มารักษาศีลกันอยู่ที่วัดในพรรษา แล้วก็มีการทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อให้ท่านอยู่ได้สะดวกในพรรษา มีการทำบุญ ถ้าตามต่างจังหวัดนี้ จะทำบุญทุกวันพระเลย เลี้ยงพระกัน
แล้วก็เมื่อเลี้ยงพระแล้วก็จะได้โยมรับศีลแล้วได้ฟังธรรมด้วย ก็จะได้รับการศึกษาด้วย พระนอกจากว่าจะสอนกันเอง ก็สอนญาติโยมไปด้วย โยมก็อาจจะจัดชั้นเรียนอะไรต่ออะไรพิเศษขึ้นมา ก็คือกิจกรรมในทางการศึกษาก็เพิ่มขึ้นมา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าทำยังไงจะให้วินัยเนี่ย มาเป็นเครื่องช่วยอุดหนุนส่งเสริมวัตถุประสงค์ในทางธรรมวินัยก็คือสิกขา การพัฒนาชีวิตของบุคคลเนี่ยให้มากที่สุด ก็พยายามจัดกันขึ้นไป
อันนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างวินัยกับธรรมะ พระพุทธศาสนาก็มีสองอย่าง ธรรมะกับวินัย และต้องรู้ว่าธรรมะกับวินัยนี้เป็นเรื่องของสมมติ เป็นของบัญญติ แล้วก็มีขึ้นบนฐานแห่งธรรมะ และมีเพื่อธรรมะ ถ้าไม่มีธรรมะมาเชื่อม ไม่มีธรรมะรองรับ และไม่เป็นไปเพื่อธรรมะ วินัยนั้นก็จะหมดความหมายไป นี้คนที่ถือสักแต่ว่ารูปแบบต่อไปก็จะไม่มีความหมาย ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร มองไม่เห็นธรรมะที่อยู่กับวินัยนี้ ในที่สุดก็จะเพี้ยน จะคลาดเคลื่อน วินัย รูปแบบจะกลายเป็นประเพณีที่ไม่รู้อะไรกลายเป็นเรื่องโชคลาง กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีความหมาย บางทีดีไม่ดีก็ออกไปทางไสยศาสตร์อะไรไปเลย อย่างที่เราจะเห็นกันหนะ เพราะฉะนั้นการศึกษานี้สำคัญที่จะรักษาพุทธศาสนา
และเอาเป็นว่าวันนี้ก็เลยได้พูดซะยืดยาว ให้เห็นว่า ที่แท้แล้ว ก็เป็นเรื่องว่าเรามาจำพรรษาตามพุทธบัญญัติที่เป็นเรื่องวินัย แต่ว่าวินัยนั้นก็เพื่อธรรมะนั่นเอง ธรรมะในความหมายจำเพาะในที่นี้ก็โยงมาที่ข้อปฏิบัติ ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตของเราก็คือสิกขา นั้นก็วินัยในการจำพรรษาก็เป็นสิกขาบทข้อหนึ่ง ก็เป็นข้อศึกษาที่จะฝึกฝนชีวิตของเรา และเราก็พยายามที่จะเอาวินัยทั้งหมดเนี่ยมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดโดยโยงเข้าหาธรรมะด้วยการที่มาสิกขา ศึกษา เรียนรู้ ศึกษา ฝึกหัด พัฒนาชีวิตของเรา แล้วก็ฤดูกาลนี้ก็เป็นฤดูแห่งการศึกษามากขึ้นยิ่งกว่าปกติ และก็ท่านบวชเข้ามาก็สอดรับกับวัตถุประสงค์นี้ก็คือเป็นการบวชเรียน
การบวชเรียนของเราก็เพื่อการศึกษา นั้นต่อแต่นี้ไปวันนี้เริ่มต้นแล้ว ว่าที่ท่านบวชมา ที่จริงก็บวชเพื่อจะมาช่วงเข้าพรรษา และก็พรรษามาเริ่มวันนี้ ที่เรามาบวชกันนั้นเริ่มจริงวันนี้เอง ทีนี้วันเริ่มก็คือเริ่มชีวิตแห่งการศึกษาในพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง ก็ขอให้ทุกท่านเนี่ยตั้งใจว่าต่อไปนี้เราจะได้ดำเนินชีวิตในช่วงอย่างน้อย 3 เดือนนี้สำหรับท่านที่อธิษฐานพรรษา สำหรับท่านที่ไม่อธิษฐานพรรษาก็สุดแต่ว่าอยู่นานเท่าไหร่ ก็ตั้งใจให้ใช้เวลานั้นให้เป็นประโยชน์มากที่สุดในการศึกษานี้นะ
ศึกษาที่แท้นั้นก็คือชีวิตของเรานี้ ชีวิตนั้นก็ดำเนินไปถูกทางก็เป็นมรรค แต่การที่ชีวิตจะดำเนินไปถูกทางเป็นมรรคได้ก็ต้องไปฝึกมัน ฝึกมันก็ฝึกด้วยสิกขา เมื่อฝึกมันด้วยสิกขา มันก็เป็นชีวิตที่ดีก็เข้าสู่มรรคไป นะฮะ เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา เอามาฝึกเป็นสิกขา พอเดินไปชีวิตของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นก็กลายเป็นมรรคไป ก็ทำให้สองอย่างเนี่ยมันรับกันอยู่ เอาสิกขามาฝึกตัวเราให้เข้ามรรค เดินหน้าไปในมรรคเรื่อยไป และจนกระทั่งสิกขากับมรรคก็อันเดียวกันนั่นแหละ เพราะเราฝึกยังไงมันก็ได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาก็เลยอยู่ทั้งฝ่ายมรรค ทั้งอยู่สิกขาด้วย เราก็ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา นี้มาเป็นหลักการของชีวิตของเรา แล้วก็วัดตัวเราด้วย เดินหน้าไปเรื่อยๆ
ในการศึกษาของเรานี้ ให้เวลา 3 เดือนแห่งฤดูฝน หรือจำพรรษานี้เป็นประโยชน์มากที่สุด ก็ตั้งใจกันไว้อย่างนี้นะฮะ ก็ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปและก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องของชีวิต มันก็เป็นทุกเวลา ไม่เฉพาะในชั้นเรียน ชั้นเรียนนี้เป็นเพียงของเสริม เป็นเรื่องตามยุคสมัย สมัยก่อนท่านก็ไม่ได้เรียนแบบนี้ แต่ว่าชีวิตที่แน่นอนก็คือว่า ในทุกเวลา เริ่มต้นตั้งแต่ท่านตื่นมา การศึกษาก็เริ่มทันที การที่มาทำกิจวัตร การสวดมนต์ทุกอย่างนั้น ก็เราก็ตั้งใจให้เป็นการศึกษา เราจะมองทุกอย่างเป็นการฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนเอง แล้วเราก็จะพยายามทำให้ดี ใช่มั้ย เมื่อสวดมนต์เราก็จะพยายามทำสวดให้ดี สวดยังไงจึงจะได้ผลดีที่สุดทั้งแก่ตนเองแก่ผู้อื่น
สวดให้ได้ผลดีแก่ตนเองก็ เออ ทำยังไงจะมาช่วยให้การสวดมนต์นี้มาเป็นเครื่องนำจิตสู่ความสงบ เป็นต้น เพราะว่าการสวดมนต์นี้เขาใช้เป็นเครื่องเตรียมจิต จิตมันวุ่นวายคิดโน่นคิดนี่ พอไปสวดมนต์เข้าจิตมันเริ่มรวมได้ มาอยู่กับคำสวดซึ่งเป็นคำที่เป็นกุศลดีงาม จิตมันก็สงบผ่องใสชื่นบาน แล้วเตรียมจิตให้ดี เข้าสู่สมาธิได้ และก็ถ้าพิจารณาไปอีกก็เกิดปัญญา
แล้วก็ไปสัมผัสกับผู้อื่นอย่างไร อ้าว เป็นเรื่องของชุมชน เราเป็นส่วนร่วมของชุมชนนี้ สังฆะนี้ นะเราจะต้องมาช่วยกันสร้างสรรทำให้ชุมชนนี้ดีงาม นะฮะ ให้ชุมชนนี้เป็นระเบียบ ท่านเรียกว่าทำให้สงฆ์นี้งาม เพราะฉะนั้น เราก็สวดมนต์ให้ดี ให้เป็นระเบียบ แล้วสังฆะของเรามีความพร้อมเพรียงเป็นระเบียบงดงาม ท่านเรียกว่าเป็นสังฆโสภโณ เป็นผู้ทำสงฆ์ให้งาม สงฆ์ก็พลอยดีไปด้วย เราก็คำนึงถึงส่วนรวมไปในตัว
เสร็จแล้วเมื่อสงฆ์งามนี้ สงฆ์นี้ก็จะพร้อมเพรียงกัน เช่นทำกิจหน้าที่ต่อประชาชนได้ เพราะสงฆ์นี้อยู่เพื่อประชาชน เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกให้เขามีความสุข เมื่อพระสงฆ์สวดเรียบร้อยดี ประชาชนได้ฟัง จิตก็ปลื้มใจ มีปสาทะศรัทธา มีความผ่องใส เขาก็มีความสุข เห็นพระสงฆ์สวดกันเรียบร้อยดี ก็ยิ่งชื่นบานมีปีติมากขึ้น แล้วพระสงฆ์ก็ยิ่งมีความพร้อม เมื่อฝึกหัดตัวเองมีระเบียบในกิจหนึ่งๆแล้วต่อไป ก็ไปทำกิจอื่นก็เรียบร้อยไปด้วยนะ จะไปเดินไปบิณฑบาตอะไรก็เรียบร้อยสงบ
เราไปบิณฑบาตก็ไม่ใช่ไปเพื่ออาหารของตัวเองเท่านั้นนะฮะ อันนั้นมันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างญาติโยมกับพระ ที่ท่านบัญญัติให้พระเนี่ยต้องไปบิณฑบาต บิณฑบาตก็โยมเขาได้เห็นว่า เออ ท่านผู้นี้ทำหน้าที่รักษาธรรมะเอาไว้ให้แก่สังคม เราจะต้องช่วยกันดูแล ก็ช่วยถวายอาหาร พระก็มีหน้าที่ให้ธรรมะแก่ประชาชน ก็ต้องตั้งใจดีต่อประชาชนว่า ทำไงจะให้เขามีชีวิตที่ดีงามมีความสุขมีความเจริญขึ้นไป อย่างน้อยก็เมื่อเห็นพระปรากฎขึ้นที่ไหนก็ให้จิตใจเขาผ่องใส จิตใจเขารู้สึกปลาบปลื้ม นะอย่างน้อยก็ไม่มัวหมอง ให้ได้เรียกว่า ปสาทะ ความผ่องใสของจิตใจ เพราะฉะนั้นก็ต้องตั้งใจดีต่อญาติโยม จะออกไปบิณฑบาตก็นึกถึงว่า เออ ขอให้ประชาชน ญาติโยมที่ตักบาตร และแม้ไม่ได้ตักบาตร เขาได้ชื่นใจมีความสุข ตั้งใจดี ตั้งใจดีเราก็สบายใจด้วย เราก็ออกไปบิณฑบาตแล้วก็อยู่สำรวมในกายวาจา แล้วก็ห่มผ้าอะไรต่ออะไรให้ดี ให้ประชาชนเห็นแล้วก็จิตใจผ่องใสเบิกบาน ให้เขาเริ่มต้นวันด้วยมงคล
เนี่ยที่เราทำกิจกรรมทุกอย่างเนี่ย ทั้งฝึกตนเอง ทั้งเป็นไปเพื่อชุมชนสงฆ์ แล้วทั้งเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ต้องทำให้ได้ทั้งสามนะฮะ ทุกกิจกรรม แล้วเมื่อท่านทำอย่างงี้นะฮะ ก็เป็นการฝึกตัวเองหมดทั้งสามอย่างนั่นแหละ พอดีเพื่อตัวเองหมด หน้าที่ของพระต่อประชาชนก็ ให้ธรรมะ ให้ธรรมะก็โดยพูดและโดยไม่ต้องพูด ถ้าโดยไม่ต้องพูดก็คือปรากฏตัวเมื่อไรให้จิตใจประชาชนผ่องใส ร่มเย็นเป็นสุขเมื่อนั้น
เอาละครับอันนี้นะฮะ ก็เป็นอันว่าชีวิตของเรานี้นะ ตั้งแต่เช้าตื่นนอนมาก็ตั้งใจฝึกอย่างที่ว่าเนี่ย จะดีหมด จิตของเราก็เป็นกุศล แล้วก็เจริญงอกงาม แล้วเป็นผลดีแก่สงฆ์แก่ประชาชนแก่ประเทศชาติไปหมดเลย จนกระทั่งว่าเล่าเรียนศึกษาอะไร คิดแต่ว่าเราฝึกตัว อย่าไปคิดเป็นข้อบังคับนะ เป็นข้อกำหนด เขาบังคับเราให้ต้องทำงั้นงี้ ถ้าอย่างนั้นจิตใจก็ไม่ชื่นบาน อึดอัด แล้วก็ไม่ได้ผลดีเสียสุขภาพจิต แต่ถ้านึกว่าฝึก โอ้ชีวิตของเรานี่ต้องฝึกเราจึงจะดี ใครยิ่งฝึกมากยิ่งได้มาใช่มั้ยฮะ เพราะฉะนั้นอันไหนที่มันยากเราก็ยิ่งได้โอกาสฝึกกันใหญ่เลย ท่านบอกยิ่งยากยิ่งได้มาก ยิ่งยากก็ยิ่งต้องฝึกตัวมาก ถ้ายิ่งฝึกตัวมากก็ยิ่งได้มาก เรายิ่งพัฒนา เรายิ่งเข้มแข็ง ยิ่งจะมีความสามารถ คุณสมบัติดีงามก็ยิ่งพัฒนา
นั้นก็เป็นกระบวนการที่เป็นไปในทางสร้างสรรทั้งนั้นเลยนะฮะ ทั้งกับชีวิตตนเองและผู้อื่น ทั้งสังฆะและทั้งประชาชนทั้งหมด เอาละครับต่อไปนี้ก็เราก็เริ่มชีวิตแห่งการศึกษากันไป และก็ขอให้ทุกท่านได้ก้าวหน้าประสบผลสำเร็จในการศึกษาทั่วกัน และก็ให้การศึกษานี้ก็เป็นทุนต่อไปเป็นพื้นฐานให้ท่านมีชีวิตที่เจริญงอกงามในความสุขทั้งตนเอง โยมพ่อแม่ที่ตั้งใจอุปถัมภ์การบวชครั้งนี้ โยมปู่ย่าตายายญาติมิตรทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งเพื่อนร่วมชาติร่วมโลกทั้งหมด ขอให้เป็นสุขทั่วกัน ก็ขออนุโมทนาทุกท่าน เอาละครับวันนี้